แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
00:44สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกันในช่วงธรรมะชำระใจ ในการสนทนาธรรมะ หรือตอบข้อข้องใจของท่าน มีท่านผู้ฟังเขียนจดหมายถามปัญหาธรรมะเข้ามาในรายการนี้ ซึ่งท่านที่กรุณามาเป็นผู้ตอบปัญหาคือ ท่านศาสตราจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหงค่ะ และต่อจากนี้ไปท่านที่สนใจในรายการธรรมะจะได้รับฟังการตอบปัญหาธรรมะทุกๆวันพระนะคะ ขอเชิญติดตามรับฟังค่ะ
ในวันนี้นะคะซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา เราก็จะมาเรียนถามคุณแม่ถึงวันสำคัญของพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือวันอาสาฬหบูชา คืออะไร มีความสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรทราบอย่างไรบ้างคะ คุณแม่คะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
01:39คือเผอิญวันนี้ก็พอดีเป็นวันอาสาฬหบูชาใช่ไหมคะ เราก็ การที่เราจะได้พูดถึงเรื่องของอาสาฬหบูชาบ้าง ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม วันอาสาฬหบูชาคืออะไร แล้วก็มีความสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรทราบอย่างไรบ้าง วันอาสาฬหบูชานั้น ก็คือวันที่เรียกว่า มีการบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ อาสาฬห คือเดือนที่ ๘ ที่นับทางจันทรคติ โดยถือเอาการเดินของพระจันทร์เป็นหลัก การนับทางจันทรคติก็คงจะทราบแล้ว เช่น นับเป็นแรม เป็นแรมค่ำ สองค่ำ หรือว่า ขึ้น ๑ ค่ำ ขึ้น ๒ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน ๓ เดือน ๔ อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นการนับทางจันทรคติ ทีนี้เรามามีการบูชา คือการแสดงความเคารพบูชากัน ในวันเพ็ญ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งโดยมากก็จะตกอยู่ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งในปีนี้ก็ตรงกับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ นะคะ
03:05 วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นวันที่กล่าวได้ว่า เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศพระธรรมจักร หรือเรียกว่า เป็นวันประกาศพระธรรม วันที่เกี่ยวกับความสำคัญในทางศาสนา ท่านผู้ฟังก็คงทราบว่า มีอยู่ ๓ วัน คือ วันวิสาขบูชา ที่เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน โดยมากก็จะอยู่ในเดือนพฤษภาคม ตามทางจันทรคติก็คือ วันเพ็ญ เดือน ๖ นั่นเป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งจะเรียกได้ว่า เป็นวันของพระพุทธ คือของพระพุทธเจ้า เนื่องจากเป็นวันที่เกี่ยวกับการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านในที่นี้ก็เป็นพระองค์ท่านโดยสมมติอีกเหมือนกันนะคะ พระองค์ท่านจริงๆนั้น หาได้ทรงมีอยู่ไม่ แต่ก็ทรงปรากฎอยู่ในใจของเรา อันเนื่องมาจากอะไร ก็เนื่องมาจากพระธรรมนั่นเอง พระธรรมที่ท่านได้ทรงประกาศเอาไว้ แล้วก็มนุษย์ทั้งหลายที่ได้ศึกษา ได้เรียนรู้ นำมาฝึกปฏิบัติตาม ก็ชวนให้รำลึก เคารพ บูชา ถึงพระองค์ผู้ซึ่งทรงแสวงหาสัจธรรมนี้ มาบอกกล่าวแก่เพื่อนมนุษย์นะคะ ฉะนั้นในวันอาสาฬหบูชา ก็จึงถือว่าเป็นวันของพระธรรม ในขณะที่วันวิสาขบูชาเป็นวันของพระพุทธ วันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญ เดือน ๘ ก็เป็นวันของพระธรรม แล้วก็อีกวันหนึ่งก็คือวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันที่บรรดาพระอรหันตสาวก ได้มาประชุมพร้อมกัน ๑,๒๕๐ รูป โดยมิได้มีการนัดหมาย แล้วในวันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงปาฏิโมกข์ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นวันที่เรียกว่า เป็นวันของพระสงฆ์ วันสำคัญก็มีอยู่ ๓ วัน
05:38ทีนี้วันอาสาฬหบูชาคือวันนี้ ก็เป็นวันพระธรรม เพราะเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงปฐมเทศนา ปฐมเทศนาก็คือ เทศนากัณฑ์แรก ที่มีชื่อเป็นทางการว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นสูตรที่เปรียบเหมือนกับการยังธรรมจักรให้เป็นไป ธรรมจักรก็คือล้อแห่งธรรม ล้อแห่งธรรมะ ที่จะหมุนไปทุกทิศๆๆ อย่างที่ไม่มีใครต้านทานได้ ที่บอกว่า ธรรมจักรของพระองค์หมุนไปทุกทิศอย่างที่ไม่มีใครต้านทานได้ หมายความว่าอย่างไร ก็ไม่ได้เอากำลังเข้ามาต้านทาน หรือมาต่อสู้ แต่หมายความว่า พระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นำมาแสดงนั้น ไม่มีบุคคลใดที่จะมาโต้แย้งหรือคัดค้านว่าไม่ใช่ความจริง หรือไม่เป็นความจริง เมื่อบุคคลใดก็ตาม ได้มาศึกษาทดลองปฏิบัติแล้ว จะต้องยอมรับว่า สิ่งที่พระองค์ทรงนำมาสอน ที่เรียกว่าธรรมะนั้น เป็นสัจธรรม เป็นสัจธรรมที่แสดงความเป็นจริงของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ปฐมเทศนาที่แสดงเป็นกัณฑ์แรกนี้ ก็คือหลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงนึกว่าพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เป็นสิ่งลึกซึ้ง แสนยาก ไม่ใช่สิ่งที่จะเรียนรู้ได้ง่าย ๆ เลย คงอาจจะเกินกำลัง หรือว่าเกินศรัทธาความพากเพียรของมนุษย์ทั้งหลายก็ได้ จนเกิดความไม่แน่พระทัยว่า ควรที่จะได้นำมาสั่งสอน ให้ประชาชนทั้งหลายได้รับรู้ด้วยหรือไม่ แต่แล้วก็ด้วยพระมหาเมตตากรุณาของพระองค์นั่นเอง ก็ตัดสินพระทัยว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็อาจจะมีบางคนที่มีธุลีในดวงตาเพียงเล็กน้อย ก็คือหมายความว่า มีสติปัญญา ที่เฉลียวฉลาด ลึกล้ำ มีจิตใจที่เกลี้ยงเกลาสะอาดพอสมควร อ่อนโยน ประณีตพอที่จะรับฟังธรรมได้ และอาจจะรู้ธรรมและเข้าถึงธรรมได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงนึกว่า แล้วพระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ แก่ผู้ใดก่อนที่จะสมควรให้ได้ฟัง ก็ทรงรำลึกถึงผู้ที่ได้ทรงแน่พระทัยว่า เป็นบุคคลที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดพอสมควร เช่น อาฬารดาบส อุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยไปเรียนรู้ในเรื่องการปฏิบัติทางสมาธิด้วย แต่ก็ปรากฏว่า ๒ ท่านนั้นได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็ทรงนึกถึงพระปัญจวัคคีย์ ก็คือ สาวกที่ได้เคยดูแลอยู่ด้วยกับพระองค์ในระยะหนึ่ง ๕ คน แล้วก็เมื่อทั้ง ๕ คนนี้เห็นว่าพระองค์ได้เปลี่ยนจากการทรมานกาย ด้วยการอดอยากจนซูบผอม จนไม่มีพระกำลังจะเหลือเลย กลับมาฉันอาหารตามเดิม เพราะพระองค์ทรงมองเห็นแล้วว่า ตึงเกินไปก็ไม่ได้ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมต้องอาศัยร่างกาย ปัญจวัคคีย์ คือทั้ง ๕ คนนี้ ก็เลยนึกว่า พระสมณโคดมนี้คงจะไม่จริงจังละมั้ง ถึงได้ท้อถอยความเพียร หันกลับมาฉันอาหารตามเดิม ก็เลยพากันละทิ้งพระองค์ไป ไม่นับถือเคารพอีก แต่พระองค์ก็ทรงทราบดีว่า ทั้ง ๕ คนนี้ได้ศึกษา ปฏิบัติทำความเพียรมามากพอสมควร เชื่อว่าจะมีพื้นฐาน ที่สามารถรองรับ และก็เข้าใจพระธรรมเทศนาที่เป็นยอดของธรรมะ ที่พระองค์จะนำไปแสดงให้ฟังนี้ เข้าใจได้ แล้วก็คงจะเข้าถึงธรรมได้ ก็จึงได้ทรงเสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งทรงทราบว่า ปัญจวัคคีย์พักอยู่ที่นั่น แล้วก็เมื่อไปถึง ปัญจวัคคีย์ก็มีความรู้สึกว่า มาอีกแล้วพระสมณโคดมผู้ไม่รักษาคำพูด เราอย่าลุกขึ้นต้อนรับ เราอย่าแสดงกิริยาคารวะเคารพอะไรเลยนะ พูดกันเองอย่างนั้น แต่พอพระองค์เสด็จเข้าใกล้ไป ต่างคนต่างก็กุลีกุจอมาปูอาสนะรับรอง แล้วก็ล้างเท้าล้างพระบาท แล้วก็กราบทูลเชิญให้ประทับนั่ง พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ในครั้งแรกทั้ง ๕ คนนี้ก็จะไม่ยอมฟัง แต่เมื่อพระองค์แสดงสิ่งที่เป็นสัจธรรม ให้เห็นว่าพระองค์ไม่เคยกล่าววาจาเลยว่า พระองค์ทรงรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ สิ่งใดที่ไม่รู้พระองค์ก็ไม่เคยกล่าวเลย แต่บัดนี้พระองค์ประจักษ์แจ้งแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้มาบอกให้ฟัง ทั้ง ๕ คนนี้นึกถึงความหลังที่เคยอยู่กับพระองค์มาในระหว่างนั้น ก็เห็นจริงว่าองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นผู้ที่รักษาวาจาสัตย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นก็เลยตั้งใจฟัง พระองค์ก็แสดงธรรมที่เรียกว่าปฐมเทศนา หรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นให้ฟัง นี่ก็คือ เป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก ในวันเพ็ญ เดือน ๘ จึงเรียกว่า เป็นอาสาฬหบูชา คือการบูชาพระธรรมอันใหญ่ยิ่ง ที่ได้ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนาในวันนั้นนะคะ
12:19 ทีนี้ใจความสำคัญของปฐมเทศนานี้คืออะไร ที่พุทธศาสนิกชนควรจะได้ทราบ เพื่อที่จะได้ทราบว่า เมื่อเราเข้ามาเป็นพุทธบริษัท ก็ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรม ให้ธรรมะนั้นเป็นที่พึ่งแก่ชีวิต นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ใจ และใจความสำคัญของพระธรรมเทศนานั้นคืออะไร ใจความสำคัญของพระเทศนา ของพระปฐมเทศนา ที่ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น สิ่งแรกที่ทรงแสดงก็คือเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางก็ทรงแสดงให้เห็นว่า ทางที่ตึงเกินไป ก็ไม่ควรเดิน ทางที่หย่อนเกินไป ก็ไม่ควรเดิน ซึ่งหนทางทั้งสองนี้ พระองค์ได้เคยทรงทดลองมาแล้ว เมื่อพระองค์ทรงอยู่ในปราสาทพระราชวังกับพระราชบิดา กับพระชายา พระโอรสนั้น พระองค์ได้เสวยสุขที่เรียกว่าเป็นทางหย่อน หรือกามะสุขัลลิกานุโยโค หรือกามสุขัลลิกานุโยค อันเป็นทางหย่อนยาน คือเป็นทางที่ติดอยู่ในกาม ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ล้วนแล้วแต่ให้เป็นที่พึงพอใจทั้งสิ้น รูปสวย กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนโยน เสียงที่ไพเราะ เป็นต้น ก็ทรงติดอยู่ในสิ่งนั้น และการที่จะติดอยู่ในหนทางที่หย่อนนั้น หาได้ทำให้จิตใจนั้น สงบเยือกเย็น ผ่องใส รอดพ้นจากการรบกวนของกิเลสหรือตัณหา อุปาทานได้ไหม มีแต่จะยิ่งตกจมลงไป ลึกยิ่งขึ้นๆ ท่านจึงเปรียบการติดอยู่ในกามเหมือนกับไฟเปียก มันจะเปียก มันเป็นไฟเปียก ซึ่งมองดูเผินๆ มันน่าจะเย็นใช่ไหมคะ อะไรที่เปียกนี่มันน่าจะเย็น เพราะมันเหมือนกับมีน้ำอยู่ในนั้น ฉะนั้นผู้ที่ติดอยู่ในกามนี่ ก็จึงหลงแต่เพียงสิ่งที่ฉาบทาข้างหน้า ของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่ามันสบาย มันให้ความถูกอกถูกใจ โดยไม่ได้สำนึกว่า ในความถูกอกถูกใจพอใจนั้น มันมีความเร่าร้อนแฝงอยู่เป็นอันมากเลย หลงติดอยู่ในกามแต่อย่างเดียว แล้วก็คิดว่ามันสบาย แต่ที่จริงมันหาสบายไม่ มันยิ่งเผาไหม้ ทวีความร้อนรนยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นไฟเปียกนี่ เมื่อเวลาร้อน มันร้อนนาน แล้วก็เผานาน ไฟแห้งมันยังเผา แล้วก็มอดไหม้ไป แต่ไฟเปียกนี่มันเผาอย่างไม่รู้ตัวเลย คนถูกเผานั้นจะไม่ได้สำนึก เพราะมัวแต่หลงติดอยู่ พระองค์ก็ทรงสอนว่า ทางที่หย่อนเกินไป คือกามะสุขัลลิกานุโยโค หรือกามสุขัลลิกานุโยค การติดอยู่ในกามนี้ ไม่ใช่ทางที่สมณะจะพึงเดิน สมณะก็คือผู้ที่รักสงบ หวังจะพบความสงบภายใน ภายในจิตใจ ไม่สมควรที่จะเดินตามหนทางนี้ และเช่นเดียวกัน ทางที่ตึงเกินไป คืออัตตกิลมถานุโยโค หรืออัตตกิลมถานุโยค คือทางที่ตึงเกินไป ทางที่ตึงเกินไปก็คือทางที่พยายามทรมานกายด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งในอินเดียในสมัยโน้นมีมาก เช่น การไม่นุ่งห่มเลย เปลือยกาย การที่จะนอนบนตะปู เหล็กแหลม เพื่อทรมานกายให้เจ็บปวด หรือบางทีก็กำมือ ให้เล็บนี้ยาวแหลมจิกลงไปจนทะลุเนื้อทะลุหนัง หรือบางทีก็พยายามทำลายอวัยวะเพศของตนเพื่อให้หมดความรู้สึก ทรมานต่าง ๆ เหล่านี้เพื่ออะไร ก็เชื่อว่าบุคคลที่มาเดินตามอัตตกิลมถานุโยโคอันนี้ ก็เพราะคงจะได้มีความสำนึกว่า การตกลงไปในหลุมของกาม คือติดอยู่ในหลุมของกามนี้น่ากลัวมากเลย รูป เสียง กลิ่น รส นี้น่ากลัวมากเลย แต่ไม่รู้ว่าจะทำวิธีไหนถึงจะหนีรอดได้ ก็เลยเห็นว่า ตานี่แหละมันทำให้เห็นรูปสวย ๆ ติดในรูปสวย ๆ ทำลูกนัยน์ตาเสีย ให้มันเจ็บปวด ให้มันพิการ หรือว่า รสอร่อยในกาม คือกามารมณ์ มันก็ต้องใช้ในทางอวัยวะทางเพศ ก็พยายามที่จะทำลายให้มันหมดความรู้สึกเสีย หรือว่าเอาตัวไปอยู่กับความเจ็บปวด เช่นนอนบนตะปูเหล่านี้ ก็เพื่อที่จะให้มันมีความเจ็บปวดทรมานเสียจนกระทั่งมันหมดเรี่ยวแรงที่จะไปหลงติดอยู่ในกามได้ คนเหล่านี้อาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้ จึงได้ทรมานกายเพื่อไม่ให้หลงติดในกาม แต่เมื่อดูไปให้จริงๆ แล้ว มันเป็นทางที่ตึง ตึงเกินไป และมันเป็นการทรมานกาย มันไม่ใช่กายที่รู้สึกใช่ไหมคะ จะรู้สึกหลงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือจะรู้สึกเจ็บปวดเพราะทรมาน มันไม่ใช่ตัวกาย มันคือใจต่างหาก ใจต่างหากที่รู้สึก รู้สึกติด หรือว่ารู้สึกเจ็บปวดทรมาน เพราะฉะนั้นการที่จะไปจัดการกับเรื่องกาย ด้วยวิธีทางตึงอย่างนั้น มันหาใช่เรื่องไม่ ไม่ใช่หนทาง ไม่ใช่วิธี เพราะมันต้องจัดการกับใจ ให้ใจนี่มีปัญญาที่จะมองเห็นว่า เรื่องของกามนั้น มันมีโทษทุกข์ต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไร ซึ่งดิฉันเชื่อว่า เราผู้อยู่ในสังคมปัจจุบัน ได้มองเห็นโทษทุกข์ของกามมากเหลือเกิน ในปัจจุบันนี้มันมีสื่อต่างๆ ที่จะช่วยแพร่ ขยาย แล้วก็ทางเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมซ้ำ ที่จะให้มีอุปกรณ์ในการที่จะยั่วยุให้เกิดความติดในกาม ลุกโพลงในกาม ร้อนแรงในกามมากยิ่งขึ้นทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส วัตถุนิยมต่าง ๆ ที่เพิ่มพูนมากขึ้น เพราะฉะนั้น มันจะต้องมีพัฒนาที่ใจให้เกิดปัญญา ให้รู้ว่าเราจะทำอย่างไร เราถึงจะพัฒนาฝึกอบรมปัญญา ให้เข้าใจชัดแจ้งในโทษทุกข์ของกาม และในขณะเดียวกัน เพิ่มพูนสมาธิ กำลัง ให้เกิดขึ้นในใจ จนสามารถจะมีความเข้มแข็ง แกร่งกล้า ที่จะต้านทาน ยืนหยัด ไม่ตกไปเป็นเหยื่อของกาม หรือเป็นทาสของกาม แต่ตรงกันข้าม สามารถจะดึงใจขึ้นมาให้อิสระ เป็นผู้มีความเป็นอิสระจากกามได้ อย่างนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ
20:44เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงแสดงเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา เป็นตอนแรก คือหมายความว่า ในขั้นแรกของพระธรรมเทศนานั้นว่า ทางตึง ก็ไม่ควรเดิน ทางหย่อน ก็ไม่ควรเดิน คือทั้ง ๒ ทางนี้ ไม่ใช่ทางของสมณะจะพึงเดิน เพราะมันจะไม่ได้รับความสงบแน่นอน สมณะคือผู้รักสงบ อุตส่าห์สละชีวิตเข้ามาสู่ชีวิตของความเป็นสมณะ ก็เพื่อหวังจะได้รับความสงบ แต่ถ้าหากว่า ปล่อยให้ชีวิตของการปฏิบัติ ตกไปในหนทางที่หย่อนยาน คือหลงติดไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสแล้ว ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น แม้แต่หลงติดในรสอร่อยของอาหาร ที่มีผู้นำมาถวาย มีผู้นำมาให้ นั่นก็คือจะหลงติดไปในกามสุขัลลิกานุโยคโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ว่ามันจะไม่ทำให้เกิดความสงบ แต่มันจะทำให้จิตใจนั้นเกิดการกระวนกระวาย เพราะฉะนั้น หรืออย่างการดูโทรทัศน์ ยากนักที่จะบอกว่าจะดูแต่รายการข่าว มันจะมีอะไรที่ออกมา แล้วก็มันก็จะต่อไปถึงเรื่องของรายการบันเทิง ผลที่สุดก็จะติดลงไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โดยไม่รู้ตัว บางทีก็อย่างช่วยไม่ได้อีกเหมือนกัน นี่มันก็นำไปสู่ทางหย่อน ไม่ใช่หนทางที่สมณะจะพึงเดิน นี่ยกตัวอย่างที่พื้นที่สุดง่ายที่สุดนะคะ
22:38 นอกจากนี้แล้ว ที่จะต้องมีปัญญาให้มองเห็นโทษทุกข์ของรูป เสียง กลิ่น รส ก็ต้องมีปัญญาให้มองเห็นอีกว่า ความรู้สึกนั้นมันเกิดที่ใจ มันไม่ใช่เกิดที่กาย และในการที่จะปฏิบัติ เพื่อฝึกอบรมปัญญาให้เกิดขึ้นภายในใจนั้น ต้องอาศัยกำลัง กำลังทางกาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า อาศัยกายนี่แหละเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ในการปฏิบัติใช่ไหมคะ ท่านที่เคยฝึกปฏิบัติธรรมย่อมจะมองเห็นเอง จะมาฝึกสมาธิภาวนานี่ ต้องอาศัยกายที่แข็งแรง คือร่างกายที่แข็งแรง ถ้าหากว่า มาฝึกปฏิบัติเมื่อเวลาที่ค่อนข้างจะแก่ แก่เฒ่าเข้ามาแล้วนี่ แข้งขาก็แข็ง นั่งเข้าก็ปวด โอย นั่งไม่ได้นาน ๆ หรือเหนื่อย เพลีย สมองจะใคร่ครวญธรรม ใจจะใส่ลงไปในการดูธรรม มันไม่มีแรง มันคิดอะไรก็ไม่แหลมคม ไม่เฉียบแหลม เพราะฉะนั้นต้องรักษากายนี้เอาไว้ให้ถูกต้อง กายนี่มีไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ อย่างที่ในทางธรรมเราเปรียบว่า เพื่อใช้เป็นเรือพาไปให้ถึงฝั่ง คือฝั่งของความสงบเย็น หรือสูงสุดก็คือฝั่งของพระนิพพาน ต้องอาศัยกายนี้เป็นเรือ ถ้าหากว่ากายนี้มันพิกลพิการ ทุพพลภาพไปแล้ว เราจะอาศัยอะไรล่ะ เราก็หมดหนทาง เพราะฉะนั้น การที่จะไปทรมานกาย ด้วยวิธีอัตตกิลมถานุโยค ในลักษณะต่าง ๆ เพื่อจะบอกว่า มันมาอยู่กับความเจ็บปวด มันจะได้ไม่มีแรงไปหลงติดอยู่กับในกามนั้น มันไม่ถูก มันไม่ใช่นะคะ
24:35เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ทรงเน้นว่า ต้องปฏิบัติอย่างมัชฌิมาปฏิปทา นั่นก็คือการเดินตามทางสายกลาง การเดินตามทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป แล้วก็ไม่หย่อนเกินไป แต่การที่บอกว่าตามทางสายกลางนี้คืออย่างไร ยากมากนะคะ ยากมากทีเดียว เพราะว่าถ้าเป็นปุถุชนแล้วล่ะก็ ก็จะมีทางสายกลางของตัวเราเอง ตามทัศนคติ ตามความรู้สึกของเรา ทางสายกลางก็คือ ความที่พอดี ๆ ทางสายกลางก็คือหมายถึงว่า มันพอดี แต่ที่นี้อะไรพอดี ๆ พอดีของใคร คำตอบก็คือว่า พอดีนี้จะเป็นพอดีของใครไม่ได้ จะต้องเป็นพอดีของธรรมะ จะต้องเป็นความพอดีของธรรมะ ความพอดีของธรรมะนั้นก็คือ มันจะต้องมีความถูกต้องอยู่ในความพอดีนั้น และความพอดีที่ถูกต้องนั้นก็คือว่า มันเกิดประโยชน์ มันเกิดประโยชน์แก่ตนเอง โดยไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่เพื่อตนเองอย่างเห็นแก่ตัว แต่เป็นการที่ถูกต้องพอดีเพราะมันเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย มันเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วก็มีความชื่นบาน แจ่มใส ร่วมกันในหนทางนั้น ทีนี้ถ้าพูดถึงในเรื่องของการปฏิบัติ นั่นก็คือว่า การเดินตามทางสายกลาง ก็คือไม่ให้ตึงเกินไป ไม่ตึงเกินไปก็หมายความว่า ไม่บังคับข่มขี่ตัวเองจนเคร่งเครียด คือจนเครียดจนเกินไป พอเครียดเข้าไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้แล้ว ในขณะเดียวกัน ไม่หย่อนยานเกินไป จนสบายเกินไป ถ้าสบายเกินไปก็จะมัวเมาอยู่กับการกิน การนอน หรือบางทีก็การสรวลเสเฮฮาโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆที่ไม่ใช่วิสัยที่สมณะจะพึงปฏิบัติ ฉะนั้นทางสายกลางนี้ พระองค์จึงได้ตรัสว่า จะต้องขึ้นอยู่กับการสมาทานสัมมาทิฏฐิ สมาทานก็คือรับไว้ รับไว้ด้วยสติปัญญา รับไว้อย่างถูกต้อง ในเรื่องของสัมมาทิฏฐิ คือการมีทิฏฐิความคิดเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาว เราคงจะได้พูดกันในวันต่อไปนะคะ