แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การที่จะกำหนดเฝ้าดูอยู่อย่างนี้ เฝ้าดูด้วยอะไร คำตอบก็คือ เฝ้าดูด้วยจิต ทีนี้จิตมันไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อย่างที่ว่าแล้ว เอาอะไรมาเฝ้า ก็คือ เอาความรู้สึก ความรู้สึกที่มีสติพร้อม ถ้าปฏิบัติขั้น 1,2,3 ได้จริง สติมันต้องมี มีอยู่ในระดับหนึ่ง ก็เอาความรู้สึกที่พร้อมอยู่ด้วยสติ เรียกว่าให้ไวเชียว ไวมาก ไม่ใช่ทื่อๆอยู่เฉยๆ มันไวมาก พอลมหายใจผ่านเข้าปุ๊บ รู้ปั๊บ สมมติว่าเวลาเราหายใจเข้า จุดนี้ชัดที่สุด เอาจิตจดจ่อ หลับตาได้ ถ้าพร้อมที่จะหลับ ถ้ายังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องหลับ หลับตาแล้วก็เอาใจจดจ่ออยู่ตรงนี้อยู่ที่เดียว พอลมหายใจผ่านเข้า รู้ มันแตะ พอผ่านออกรู้ มันแตะ ตอนนี้ไม่ต้องตาม พอมันผ่านแล้วมันจะไปถึงไหน ถึงไหน ช่างหัวมัน ไม่ต้องสนใจติดตาม รอคอยอยู่ตรงนี้อย่างเดียว จนกระทั่งพอมันผ่านออกก็รู้ ผ่านเข้ารู้ ผ่านออกรู้ ในวิธีการปฏิบัติอย่างนี้ จิตมีงานทำน้อยลง คือมีเวลาว่างมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะสงบได้มากขึ้น ใช่มั้ยคะ เหมือนอย่างเวลาอยู่บ้าน ยายไม่ว่างเลย หลานมันซน พอหลานไปโรงเรียนแล้ว เออ คุณยายได้ว่างบ้าง คุณยายก็ได้พักบ้าง นี่ก็เหมือนกัน แบบเดียวกัน เกิดความว่าง มีโอกาสที่จะได้ว่าง และขณะเดียวกัน จิตที่พร้อมอยู่ด้วยสติ ความรู้สึกที่พร้อมอยู่ด้วยสติ ที่กำลังจดจ่อคอยอยู่อย่างนี้ ก็จะสามารถรู้ได้ด้วยว่า ลมหายใจที่กำลังผ่านเข้าผ่านออกอยู่นี้ เป็นลมหายใจอย่างไหน ตอนนี้เราไม่ค่อยสนใจนักล่ะ ว่าเป็นลมหายใจยาวหรือสั้น เพราะถือว่าเรารู้อยู่แล้ว แล้วมันรู้จริงๆ เราจะดูแต่เพียงว่ามันหยาบหรือละเอียด ลมหายใจที่ผ่านเข้าตอนนี้มันหยาบหรือละเอียด มันแรง หรือมันหนัก หรือมันเบา หรือมันช้า หรือมันเร็ว เราจะดูอยู่อย่างนี้ ในลักษณะที่ว่า หยาบ หรือว่าหนัก หรือว่าเร็ว หรือว่ามันถี่ มันสั้น หรือว่าแรง ถ้าหากว่ามันเป็นอย่างนี้อยู่ จิตจะสงบได้มั้ย ก็รู้ว่ายังสงบไม่ได้ เหมือนอย่างที่กำลังนั่งจะให้เพลินๆ แล้วก็เพลินๆ แล้วก็ถ้าหลับได้ก็จะหลับ ก็มีคนมาโยก โยกเก้าอี้ โยก ผลัก โยก ผลัก โยก ผลัก อยู่นั่นน่ะ จะไปหลับได้ยังไง มันก็หลับไม่ได้ ใช่มั้ยคะ ก็ต้องดุว่าเจ้าคนนั้น อย่ามายุ่ง อย่ามากวน ไล่ออกไป เพราะฉะนั้น ถ้าลมหายใจมันหนัก มันแรง มันหยาบ มันเร็ว เราก็ใช้ความสามารถจากการฝึกปฏิบัติอย่างดีแล้วในขั้นที่ 1,2,3 รู้แล้วนิคะ ใช่มั้ยคะ จากประสบการณ์ในการปฏิบัติ โดยเฉพาะในขั้นที่3 ว่าถ้าลมหายใจหยาบแรง เราจะใช้มันเมื่อไหร่ ตอนนี้เราไม่ต้องการใช้ เพราะว่าเราต้องการจะทำความสงบ เราจะทำอะไรล่ะ จะด้วยวิธีไหนที่จะขับไล่มันไป เราก็จะค่อยๆผ่อนลมหายใจนั้น ให้มันเบาลง แล้วก็ให้มันช้าลง ในขณะเดียวกัน จิตคงจดจ่ออยู่แถวจุดที่เลือกแล้ว จุดเดียวนะคะ อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อะ ตรงนี้เอาจุดนี้ ประเดี๋ยวคราวหน้าเอาจุดนั้น ประเดี๋ยวเอาจุดโน้น มันจะทำให้จิตที่กำลังจะเป็นสมาธิจดจ่อเนี่ย มันว่อกแว่ก วกวน เพราะฉะนั้นเลือกให้ชัดเลย จะเอาจุดไหนก็จุดนั้น แล้วก็จดจ่ออยู่ตรงจุดนั้นจุดเดียว
ทีนี้เราก็รู้ว่า ถ้ามันหยาบ มันเร็ว มันแรง มันหนัก ค่อยๆผ่อนให้มันช้าลง พร้อมๆกับรู้สึก แล้วก็ทำใจให้สบายๆไม่ให้หงุดหงิด ไม่ต้องนึกว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ แต่เรารู้วิธีแล้วเราก็ทำ แล้วเราก็ควบคุมอยู่ตรงนี้ เหมือนกันควบคุมอยู่ที่กองบัญชาการใหญ่ สวิตซ์ใหญ่ จนกระทั่ง ลมหายใจนั้นค่อยๆเบาลง บางลง แล้วก็ค่อยๆละเอียดขึ้น ความหยาบ สังเกตได้ยังไง มันแรง ที่เราเรียกว่าลมหายใจหยาบเนี่ยนะคะมีลักษณะอย่างไร มันแรง มันเร็ว มันหนัก แล้วความเคลื่อนไหวของมันก็แรง เหมือนอย่างคนเดินดัง คนเดินเบา เราจะสังเกตได้ เพราะฉะนั้นพอเราเห็นว่ามันมีอาการกระเทือน ความเคลื่อนไหวมาก เพราะความเร็ว ความแรง ความหนัก ก็ค่อยๆเปลี่ยนมันให้ช้าลง ให้เบาลง แล้วมันก็จะค่อยๆเปลี่ยนจากลมหายใจที่หยาบ เป็นลมหายใจที่เบาบาง แล้วก็ละเอียด ละเอียดก็คือ อาการกระทบที่มันเคยกระทบแรงๆ มันจะค่อยๆเบา เบาลงๆ จนกระทั่งเวลาที่ลมหายใจแตะตรงจุดที่เราตั้งใจคอยเฝ้าดูเนี่ย เกือบจะไม่รู้สึก เกือบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีลมหายใจมากระทบในขณะนั้น และบางท่านก็อาจจะรู้สึกเหมือนกับว่า ไม่มีลมหายใจก็มี ถ้าลมหายใจนั้นมันละเอียดมากเข้าๆๆ เหมือนกับไม่มีลมหายใจ ซึ่งผู้ใดที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ก็จะเข้าใจ เมื่อดิฉันพูดว่าเหมือนกับไม่มีลมหายใจ
ทีนี้สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่นะคะ ถ้าเกิดว่าลมหายใจบางเบา ละเอียด ถึงขนาดนั้น จนเหมือนกับไม่มีลมหายใจ ก็จงอย่าตกใจ อย่าตกใจนะคะ บางคนจะตกใจว่าเอ๊ะ ลมหายใจหายไปไหน พอเอ๊ะเท่านั้น นิวรณ์ตัวไหนเกิดขึ้น คะ? วิจิกิจฉา นะคะ เราต้องไว วิจิกิจฉาเกิดขึ้นแล้ว วิจิกิจฉาเกิดขึ้นเป็นนิวรณ์ตัวหนึ่ง นิวรณ์ตัวนั้นมาเป็นอะไรแล้ว เป็นอุปสรรคแล้ว อุปสรรคเครื่องกั้น จิตที่ตั้งใจจะจดจ่อเฝ้าดู มันชักจะรวนเร มันถอนออกมาจากจุดที่เฝ้าดู โดยไม่รู้ตัว เห็นมั้ยคะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเอ๊ะ ถ้าหากเราเฝ้าดูอยู่อย่างนี้ สติจะมั่นคงยิ่งขึ้น พอลมหายใจมันละเอียด จนเหมือนกับจะไม่มี ก็กำหนดรู้ รู้ว่าลมหายใจมันละเอียด เบาบาง แต่ไม่ต้องสงสัย เพราะลมหายใจนั้นก็มิได้หายไปไหน มันคงมีอยู่ อยู่ตรงนั้นเองแหละ ใช่มั้ยคะ พิสูจน์ได้ที่เรายังนั่งอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ ถ้าหากว่ามันหายไปไหน มันก็ล้มตึงละ ถ้ายังไม่ล้มตึง ไม่ต้องตกใจ ลมหายใจนั้นยังคงมีอยู่ ที่นี้ก็จะมีปัญหาว่า แล้วเราจะไปกำหนดจิตเฝ้าดูอะไรล่ะ ลมหายใจก็ไม่กระทบ เพราะมันเบาบางเหลือเกิน ไม่กระทบ ไม่แตะ แล้วจะดูอะไรต่อไป คำแนะนำก็คือว่าเฝ้าดูเฉยๆอยู่ตรงจุดนั้น มีความรู้อยู่ตรงจุดนั้น ให้เรื่อยๆ และคงกำหนดจิตจดจ่ออยู่ตรงจุดนั้น ไม่ให้จิตว่อกแว่ก วุ่นวาย ระส่ำระสายเลย คงให้เฉย ให้นิ่งอยู่อย่างนั้น แล้วผู้ปฏิบัติจะค่อยๆได้สัมผัสเองกับความสงบที่กำลังเริ่มมีขึ้นภายใน มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ทีละน้อย ท่านผู้ใดไม่รู้จักความสงบบ้าง มีมั้ยคะ ที่นั่งอยู่ที่นี่ ท่านผู้ใดไม่รู้จักว่าที่เรียกว่าความสงบมันเป็นยังไง มีมั้ยคะ? รู้แล้วนะคะความสงบ เมื่อมันรู้สึกเบาสบาย ความรู้สึกเบาสบายที่เกิดขึ้นข้างใน มันสบาย มันนิ่ง มันเย็น จิตที่มันเคยซัดส่ายไปไหนๆ ไหนๆ มันนิ่งมันเย็น มันมีอาการของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสมาธิ คือมีความนิ่ง ความสงบ ความรวมตัวกันเข้ามาเป็นอันเดียวกัน แล้วก็มีความเย็น แล้วก็มีความปลอดโปร่ง มีความผ่องใส ไม่ง่วงงุนนะฮะ ถ้าง่วงงุนซึมเซา นั่นไม่ใช่จิตสมาธิ จิตกำลังง่วง ถีนมิทธะ นะคะ นิวรณ์ตัวนั้นนะคะ ต่างกัน ต้องสังเกต ถ้าหากว่าจิตที่เป็นสมาธิล่ะก็ มันกำลังรวมตัวกันนิ่ง นิ่ง นิ่ง นิ่ง เฉย แต่มีความมั่นคง มั่นคง หนักแน่น เบาสบาย ปลอดโปร่ง แล้วจะรู้สึกถึงความเป็นอิสระขึ้นข้างในทีละน้อย คือ อิสระจากการเป็นทาสของความคิด เป็นทาสของความรู้สึก เป็นทาสของความจำได้หมายมั่นต่างๆ มันไม่มีสิ่งนั้นมารบกวน ถ้ามันสงบเป็นสมาธิจริงๆนะฮะ มันจะไม่มีสิ่งนั้นมารบกวน นี่คือภาวะของความสงบที่กำลังเกิดขึ้น เพราะผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมลมหายใจได้ คือพอลมหายใจเริ่มหยาบ จะควบคุมขับไล่มันไปทันที จะสังเกตได้ว่า พอจิตของเราเกิดวิจิกิจฉา สงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ ลมหายใจจะเริ่มหยาบทันที จะหยาบด้วยความหนัก ความเร็ว ความแรง ความสั้น ก็สุดแล้วแต่ รวมเรียกว่า มันเริ่มหยาบขึ้นทันที หรือ ความง่วง ความคิด ความรู้สึก เข้ามารบกวนข้างใน ลมหายใจก็เริ่มหยาบ ทำไมถึงเริ่มหยาบ ก็เพราะจิตนั้นเริ่มรวนเร ระส่ำระสาย ก็ปราศจากสติ ไม่ได้สามารถควบคุมลมหายใจได้ เห็นมั้ยคะ มันเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน หรือว่าต่อเนื่องกัน
นี่ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้เป็นข้อสังเกต ที่จะสังเกตตัวเองหรือสังเกตการปฏิบัติของตัวเอง ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติเริ่มรู้สึกลมหายใจเบาบางละเอียดจนไม่รู้ว่าไปไหน อยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องสงสัย คงกำหนดจิตจดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น ตรงจุดที่กำหนดแล้ว ดูมันอยู่เฉยๆด้วยจิตว่างๆ ไม่กังวล ไม่วุ่นวาย พอความสงบเริ่มเกิดขึ้นภายใน ผู้ปฏิบัติอาจจะใช้จิตนั่นแหละ สัมผัส จดจ่ออยู่ที่ภาวะของความสงบที่เกิดขึ้นข้างใน แล้วก็กำหนดจิตดูอยู่เฉยๆ ไม่ต้องนึก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรารถนา สงบเร็วๆ สงบมากๆ สงบให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็วๆ ลมหายใจจะเริ่มหยาบทันที เพราะนั่นเป็นนิวรณ์เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องทำอะไร ดูเฉยๆ ดูเฉยๆ ดูเฉยๆ ดูอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างเราอยากจะดูอะไรซักอย่างนึงให้เห็นจริง เราก็หยิบมันมา จะเป็นคนก็ตาม จะเป็นดอกไม้ ต้นไม้ จะเป็นวัตถุสิ่งของ เรานั่งดูมันเฉยๆ แล้วเราจะรู้สึกแปลกว่าเออ วันนี้ เราเพิ่งรู้จักสิ่งนี้ดี เพราะเราใช้เวลาดูมัน ดูอย่างใจจดใจจ่อ ฉะนั้นก็ดูมันอย่างนี้นะคะ จนกระทั่งจิตเริ่มสงบและก็เป็นสมาธิมากขึ้นๆ ที่มีคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตสงบมากสงบน้อยหรือว่าสงบถาวร นี่ล่ะค่ะ คือ อาการที่เราดู พอมันมานิดนึง เราก็รู้ว่ามันสบายนิดนึง แล้วประเดี๋ยวก็ไม่ค่อยจะสบายอีก แล้วเราก็เฝ้าดูด้วยความอดทนพากเพียร มันก็ค่อยๆสบายขึ้น สงบมากขึ้น เยือกเย็นผ่องใสมากขึ้น ผู้ปฏิบัติจะรู้เอง มันเป็นความสงบเป็นความสบายที่เราบอกว่าบอกไม่ถูก มันไม่เหมือนกับความสงบความสบายเมื่อได้เสื้อใหม่ หรือว่าเมื่อลูกสอบได้เกียรตินิยม หรือเมื่อได้เลื่อนชั้นตำแหน่งการงานใหม่ ความสบายอย่างนั้นน่ะ มันมีความลิงโลดตื่นเต้น แต่นี่มันสงบมันเย็น และมันก็จะรวมตัวกันหนักแน่นมากขึ้นๆ
อาการของสมาธินั้น ท่านบอกได้ว่ามี 3 ระดับ ระดับแรก เรียกว่า ขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิก็หมายถึงภาวะของจิตที่เริ่มจะรวมตัวกันได้เป็นครั้งแรก ทีละน้อย