PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
  • เราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ (2)
เราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ (2) รูปภาพ 1
  • Title
    เราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ (2)
  • เสียง
  • 11275 เราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ (2) /upasakas-ranjuan/2-19.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ชุด
URI 045
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • ใน​พระราชวัง​นี้หรือในบ้านเมือง​นี้อนุญาตทุกแห่งทุกหน​ ​แล้วก็ประกาศไม่ให้ใครทำร้าย​ ​พร้อมกับจัดข้าราชบริพาร​จำนวนหนึ่งให้คอยดูแลรักษา​พญาลิงเป็น​อย่างดี​  ​เรียกว่าให้อยู่เย็น​เป็นสุข​  ​ให้ได้กินสบายนอนสบายทุกอย่างทุกประการ​ พญาลิงก็อยู่ในพระราชวัง​กับ​พระราชา​ แล้วก็ออกไปเที่ยวตามบ้านตามเมือง​ จะเข้าห้องใครที่ไหนเมื่อไหร่​ ไปได้ทุกหนทุกแห่ง​ ก็อยู่ไปจนกระทั่ง​วันหนึ่ง​พญา​ลิง​ก็​เกิด​อาการ​ซึมเซา​ นอนเงียบเฉย​ ​ไม่ยอมกินอาหารเลย​ แล้วใครจะพูด​ด้วยยังไง​ก็​นอนซม​ท่าเดียวเป็น​เวลา​หลายวัน   บรรดาข้าราชบริพาร​ก็เกรงว่า​ถ้า​พญา​ลิง​เกิดเจ็บป่วย​ล้มตาย​ไปล่ะก็​ เขาคงจะต้อง​ถูก​ลงโทษ​แน่นอน​  ​เพราะ​พระราช​าโกรธ​มาก​ ก็​เลย​รีบไปกราบทูล​พระราชาให้ทรงทราบ​ว่าบัดนี้​พญา​ลิงนี่เป็น​อะไร​ก็​ไม่ทราบ​ ไม่ยอมกินข้าว​กินปลา​ คือไม่ยอมรับประทาน​อาหาร​เลย​  ​จะอ้อนวอน​อย่างไร​ก็​ไม่​ยอม​  พระราชาก็เสด็จ​มา​เยี่ยม​  แล้ว​ก็ถามว่าเป็นอะไรไปขอให้บอก​ จะต้องการอะไรจะหามาให้หมด​  จะเจ็บป่วย​เป็น​โรคอะไรก็จะหาหมอมารักษา​ ขอให้บอก​ พญา​ลิงก็เฉยไม่ยอมพูด​  ผลที่สุดท่านก็อ้อนวอน​ พระราชาก็อ้อนวอน​ พญา​ลิงก็เลยทูลว่าถ้าจะให้หาย  ขอได้ทรงโปรด​ปล่อย​ให้กลับไปอยู่ป่าตามเดิมเถิด​  เท่านี้แหละก็จะกินข้าวกินปลากินอาหารได้อย่างสนุกสนาน​ แล้วก็จะหายป่วยหายไข้ทันที​ พระราชาฟังแล้วก็สงสาร​ ก็​เลย​ให้ข้าราชบริพาร​นี่นำไปปล่อย​ในป่า​ แล้วก็เหมือนกับพระราชทาน​อนุญาต​เอาไว้ด้วยว่าไม่ให้มีใครไปทำร้ายแล้วก็รบกวนพญาลิงอีกต่อไป​  

    พอบรรดาลูกน้องลิงเห็นพญาลิงกลับมาในป่า​  ดีอกดีใจ​ต้อนรับ​ขับสู้เพราะว่าจากไปเป็นเวลานานพอสมควร​  ก็มีการประชุม​ปรึกษา​พูดจากันนี่นะคะ​  ​ก็​บอกให้พญา​ลิง​เล่าให้ฟังสิว่าที่เข้าไป​อยู่ใน​พระราชวัง ไปอยู่ในบ้านในเมือง ในบ้านในเมืองเขาเป็นยังไงบ้าง​  คนบ้านคนเมืองเขาเป็นยังไงบ้าง​   ​พญา​ลิง​ก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องบ้านเรื่องเมือง​  เรื่อง​ปราสาท​ราช​วัง​ มีความเป็นอยู่​อย่าง​ไรก็เล่าสารพัดนะคะ​​ แต่สิ่งที่ไม่เคยเล่าเลยก็คือไม่เล่าว่าทุก​คนชาวเมืองเขาคุยกันเรื่องอะไร​ ลูก​ลิง​ก็อยากฟัง​  บอกแหมเล่าอะไรตั้งหลายอย่างแล้ว​  ​บอกหน่อยสิว่าพวกคนเมือง​เขาคุยกันเรื่องอะไรบ้าง​  เวลาเขาพูดเขาคุยน่ะ​ เขาพูดกัน​เรื่อง​อะไร​  พอพญา​ลิงได้ยินอย่างนั้น​  มีรูปนะคะรูป​ในชาดกนี่​ ก็หันข้างให้ทันที​ หันข้างเบือนหน้าหนี​ ไม่อยากพูด​ ที่จะมาให้เล่าว่าชาวบ้านชาวเมืองเขาคุยกันเรื่องอะไร​ พูดง่ายๆ ​มนุษย์​เขาคุยกันเรื่องอะไร​ ไม่อยากเล่า​ ไม่อยากเล่าให้ฟัง​ แหมเจ้าพวกลิงก็ยิ่งสงสัยใหญ่​ แหมมันเรื่องลึกลับยังไงนะ​ แหมเล่าให้ฟังหน่อยเถอะ  อยากฟังๆ​ พญา​ลิงก็อด​ไม่ได้​ก็เลยบอกว่า​ อ้าวอยากฟังเหรอจะเล่าให้ฟัง​ พวกมนุษย์​น่ะนะเขาพูดกันอยู่อย่างเดียวแหละ​ ขอโทษนะ​  ของกู​ ของกู​ ของ​กู​ ของกู​ เขาไม่พูดอย่างอื่นหรอก​ พอเจ้าพวกลิงได้ยินเท่านั้น​  ​พอแล้วๆ ​หยุดๆๆ​ กระโจนลงจากกันหมดเลย​ ไปล้างหูที่ได้ยินถ้อยคำที่สกปรกอย่าง​นี้ เพราะว่าบรรดาลิงอยู่ในป่ามันบริสุทธิ์​ มันไม่เคยจะนึกว่านั่นเป็นของกู​ นี่เป็นของกู​ แล้วก็เบียดเบียนกัน​ แล้วก็แย่งกัน​ แล้ว​ก็​แบ่ง​กัน​ไม่ได้​  ไม่เคยพูด​ มันมีแต่ว่าอยู่ด้วยกันกินด้วยกัน​ รักกัน  แบ่งกันเป็นพี่เป็นน้อง​ ชีวิตธรรมชาติ​เป็นอย่างนี้​ แม้แต่เดี๋ยวนี้​ชีวิตธรรมชาติ​ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น​

    เพราะฉะนั้น​พอเจ้าลิงเหล่านี้มันได้ยินมนุษย์​พูดแต่ของกู​ ของกู​ ของกู​ โอ้ยทนไม่ได้​ ทำไมมันถึงได้สกปรกอย่างนั้น​ จึงต้องวิ่งลงสระเพื่อไปล้างหู​ อย่าได้ยินถ้อยคำอย่างนี้อีกต่อไปเลย​ อย่าให้มันเกิดขึ้นอีกต่อไปเลย​ เห็นไหมคะ​ อัตตา​ ความยึดมั่น​ถือ​มั่น​ในอัตตา​ เป็น​อุปสรรค​ไม่ให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา​ จึงยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน​ เมื่อมีตัวฉัน​ มันก็ต้องมีของ​ฉัน​ สารพัดจะของฉันนะคะ​ไม่ต้องจาระไน​ เพราะฉะนั้น​ยิ่งมีของฉันมากเท่าใด​ ก็ยิ่งหนักยิ่งเหน็ดเหนื่อย​ ยิ่งลำบาก เหนื่อยล้า​มากยิ่งขึ้น​เท่านั้น​ ที่จริงนิทานเรื่องนี้ิ​ ถ้าจะนึกไปแล้ว​ค่อนข้างตบหน้ามนุษย์​นะคะ​ ตบหน้ามนุษย์​เจ็บๆ เลยนะนี่ แต่ก็ไม่รู้​ว่า​มนุษย์​จะ​เจ็บ​รึเปล่า​ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องคิดกันมากๆ​ องค์สมเด็จ​พระสัมมาสัมพุทธ​เจ้า​ท่านทรงสอนเรื่อง​อนัตตา​ เพราะท่านทรงเห็นแล้วว่าตราบใดที่มนุษย์​ทั้งหลาย​ ยัง​มีความยึดมั่น​ถือมั่น​ในความเป็นตัวเป็นตน​ ต้องเป็นฉันต้องเป็นของฉัน​  มันจะต้องมีการเบียดเบียนอยู่ตลอด​ ตัวอย่าง​เห็น​อยู่​รอบตัว​เรา​ใช่ไหมคะ​ อ่านหนังสือ​พิมพ์​ทุกวัน​นี่​ มีบ้างไหมที่วันไหนอ่านหนังสือพิมพ์​แล้ว​มีแต่ความสดชื่น​ สดชื่นเบิกบานอิ่มอกอิ่มใจ​ มีไหมคะ​ ไม่มี​เลย​มีแต่ความเหี่ยว​แห้ง​ ทำไมถึงเหี่ยว​แห้งล่ะ​ ก็เพราะตัวกูของกูมันออกมาชนกันใช่ไหมคะ​ มันมาเบียดเบียนกัน​ มันมาแย่งกัน​ มันมาทำร้ายกัน​   มันมาพยายามที่จะข่มเหงยื้อแย่ง​ เพื่อเอามาเป็นของเรา​  

    องค์สมเด็จ​พระ​สัมมาสัมพุทธ​เจ้า​ท่านทรงเห็นแล้วว่าตราบใดที่มนุษย์​ยังยึดมั่นถือมั่น​ในความเป็นตัวตนอย่างเหนียวแน่น​ น้ำใจย่อมแห้งแล้ง​ แบ่งปันไม่ได้​ จะได้ก็แต่เฉพาะแก่ตัวฉัน​ ลูก​ฉัน​ ​เมียฉัน​ ครอบครัวของฉัน​ พี่น้องเพื่อนฝูงของฉัน​ พรรคพวกของฉัน​ มันจะมีแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องแก่ของฉัน​ อันอื่นไปก่อน​ เพราะฉะนั้น​​จึงทรงพยายามที่จะบอกให้รู้​ว่า​ ถ้าเราอยากจะอยู่กันอย่างไม่เป็นทุกข์​ อยากจะอยู่กันอย่างเป็นสุขให้ทั่วถึง​กัน​ ก็ควรที่จะได้ศึกษา​ถึงเรื่องของอนิจจัง​ ความไม่เที่ยง​ เหมือนอย่างนิทานชาวบ้าน​ มีดีในเสีย​  มีเสียในดี ให้เห็นทุกขัง​ สภาวะที่ทนอยู่​ไม่ได้​   แล้ว​ก็​ให้​เข้าถึง​อนัตตา​คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่แท้จริง​   อย่างเชื่อว่าท่านผู้ใหญ่​ทั้งหลาย​เคยไปงานศพทั้งนั้น​ใช่ไหมคะ​  ไปงานศพแล้วที่จะเห็นชัดที่สุดก็คือเวลาที่ไปเก็บกระดูก​ ไปเก็บอัฐิ​ เวลาที่ยังมีชีวิตอยู่​  ตัวใหญ่สง่าผ่าเผย​ รูปร่าง​ล่ำสันแข็งแรง​ พอถึงเวลาไปเก็บอัฐิ​ เก็บกระดูกเหลือเท่าไหร่คะ​ กำมือเดียวใช่ไหมคะ​ กำมือเดียว​ บรรดาลูกหลานอาจจะยังไม่เคยเห็นกันทุกคน​ แต่ถ้าใครเคยไปก็จะเห็น​  เหลือ​แค่กำมือเดียว​ ห่อผ้าเช็ดหน้า​ ผ้าเช็ดหน้าก็ยังห่อได้​   ยัง​เหลือว่างั้นเถอะ​ แล้วไปไหน​  ไปไหน​ที่ใหญ่ๆ​ โตๆ​ ​ล่ำสัน แข็งแรง​ ตั้งแต่​ศีรษะ​จรดเท้าหายไปไหน​ ผมเผ้า​ กระดูก​ หน้าตา​ แข้งขา​ เนื้อหนัง​ เลือดเนื้อ​ หายไปไหน​ นี่แหละคือความเป็นอนัตตา​ ความ​ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน​  เรื่องของอนิจจังความไม่เที่ยงนี้​   มีมานานแล้วคือพูดถึงกันมานานแล้ว  ตั้งแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธ​เจ้า​ยังมิได้อุบัติขึ้น​ คือในอินเดียเขาก็พูดถึงเรื่องอนิจจัง​ ความไม่เที่ยง​ เขาพูดกันมานานแล้ว​ แต่พระองค์​ก็ทรงเห็นว่าถ้าเราจะมาทำความเข้าใจเพียงแค่อนิจจังคือความไม่เที่ยงเท่านั้น​ ไม่พอ​ เพราะอะไร​จึงไม่พอ​ เพราะมันยังมีตัวคนที่เห็นความไม่เที่ยง​ ใช่ไหมคะ​  ฉันนี่แหละเห็นความไม่เที่ยง​  เธอยังไม่เห็นจริงหรอก​ ที่เธอพูดเธอยังไม่เห็นจริง​ เห็นไหมคะ​ มีตัวฉันมาทะเลาะกันอีก​ เพราะฉะนั้น​ถ้า​​เอา​เพียงแค่ความไม่เที่ยง​ มันยังไม่สิ้นสุด​ ยังไม่สิ้นสุดของต้นเหตุ​ ของสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์​ ท่านจึงสอนขึ้นไปถึงอนัตตา​ คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน​  ซึ่งไม่ใช่ท่านทรงแสร้งสอนคือแกล้งสอนแต่สิ่งนี้เป็นสัจธรรม​ ก็จงมองดูเถิดว่าอะไรที่มันเหลือ​ ที่มันเหลือให้เราเห็น​ ที่มันเหลือให้เรายึดมั่นถือมั่น​ เพราะฉะนั้น​ถ้า​หากว่าชาวพุทธท่านใดสามารถที่จะศึกษา​  ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง​ ละเอียด​ถี่ถ้วน​และรอบด้าน​ จนเข้าถึงสภาวะของสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง​ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา​ได้​เมื่อใด​ เมื่อนั้นความสงบระงับความดับเย็นสนิทก็จะเกิดขึ้นในจิต​  เกิดขึ้นในชีวิตตามลำดับ​ทีละน้อยๆๆ​

    ทีนี้เคล็ดลับ​ เคล็ดลับ​นะคะของการที่จะฝึกให้เข้าถึงไตรลักษณ์​คือลักษณะ​อันเป็นธรรมดา​ ​3​ ประการ​ ที่เรียกว่า​อนิจจัง​ ทุก​ขัง​ อนัตตา​นั้นจะต้องฝึกอย่างไร​ ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินนะคะ  เพียงแต่ลงทุนความอุตสาหะ​พากเพียร​  ​ตั้งใจ​  การที่จะเข้าถึงไตรลักษณ์​ให้ได้จะต้องเข้าถึงด้วยใจ​ ด้วยการดู​ ดูที่ใจ​   ด้วยการดู​ ดูที่ใจไม่ใช่การคิด​ การที่​จะศึกษา​อบรม​ปฏิบัติธรรม​จะต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษา​ จากการศึกษา​ใน​ห้อง​เรียน​ อย่างเวลาที่ศึกษาในห้องเรียนที่ครูอาจารย์เลคเชอร์ให้ฟังนี่​ ก็ศึกษา​ด้วยการฟังแล้วก็คิดตาม​ แล้วก็ใช้สมอง​ แล้วก็จดจำ​ แต่ในการศึกษา​ที่จะฝึก​อบรม​เพื่อให้เกิดธรรมะ​ขึ้นในใจนั้น​ จะต้องศึกษาเปลี่ยนวิธี​ศึกษา​จากการคิดเป็นการดู​ และการดูนี้ดูที่ใจ​ ใช้ใจนี่ดู  ใช้ใจให้สัมผัส​ สัมผัสกับความไม่เที่ยงหรือความเปลี่ยนแปลง​ ใช้​ใจนั้นให้สัมผัสกับความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น​  คือที่พูดถึงว่าใจนี่มันก็เป็นการยากหน่อยนึง​ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น​ เป็นนามธรรม​ แต่ใจนี้มีความสามารถที่รู้สึกได้​ ใช่ไหมคะ​ อย่างเรารู้สึกร้อน​ ร้อนที่ไหน​ เราก็บอกที่ใจ​ ใจฉันนี่แหมตอนนี้มันร้อนยังกับไฟ​   ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นรูปของใจ​ แต่ก็บอกใจนี่มันร้อนยังกับไฟ​  นั่นก็คือความรู้สึกของความร้อนที่มันเกิดขึ้น​ เวลานี้แหมใจฉันรู้สึกเย็น​ ใครจะเอาไฟมาลนฉันก็ไม่ร้อน​ เคยพูดไหมคะ​ นั่นแหละมันก็รู้สึกเย็นที่ใจอีกเหมือนกัน​ เพราะฉะนั้น​การที่เราจะดูก็คือดูที่ใจ​ ให้ใจนี้มันสัมผัส​ สัมผัสกับสภาวะของความไม่เที่ยง​ ที่มันจะเกิดขึ้นในใจ​ ทีนี้ที่ว่าจะสัมผัสนี่เอาใจสัมผัส​   สัมผัสอย่างไร​ ก็อยากจะขออุปมาให้ฟัง​ เหมือนอย่างเวลาที่รักกันนี่เขามองกันที่ไหนคะ​ที่ให้สัมผัส​ เขามองกันที่ไหน​ เขามองกันที่ดวงตาใช่ไหม แหมมองเข้าไปจ้องไปในดวงตา​ ฉันสัมผัสกับความรักของเขาที่มันฉายแสงออกมาเข้าสู่ใจฉัน​ ใช่ไหมวัยหนุ่มวัยสาว​ ท่านผู้ใหญ่ก็คงจะรำลึกได้ในวัยนั้น​ แหมมองเข้าไปแล้วนี่มันสัมผัส​    สัมผัส​กับความรู้สึกอันนั้น​  มัน​แสดง​ความ​รักนี่​ พอมองไปแล้ว​ แหมใจฉันอบอุ่นขึ้นมาเลย เพราะรู้สึกว่ามีเพื่อน​ มีเพื่อนร่วมชีวิต​ ที่จะอยู่ด้วยกัน​ สุขด้วยกัน​ ทุกข์ด้วยกัน​ มันอบอุ่นขึ้นมาเยอะแยะ​เลย​ นั่นแหละใจสัมผัส​ใช่ไหมคะ​ สัมผัส​ด้วยใจใช่ไหม​ ไม่ได้สัมผัสด้วยสมอง​ นี่แหละที่บอกว่าเอาใจสัมผัส​ ดูลงไปแล้วจะสัมผัส​ นี้ดูที่ไหนล่ะ​ ก็ดูเข้าไปที่ความรู้สึก​

    ความรู้สึก​ที่​เกิดขึ้นอยู่ภายในนี่​ ที่ภายในนี้ก็ชี้ไม่ได้นะคะว่าจะตรงไหน​ แต่ภายใน​  ​ภายในหัวอกนี่​ แต่ไม่ใช่ตับไตไส้พุงหรือไม่ใช่หัวใจไม่ใช่ปอด​ แต่มันเป็นความ​รู้สึก​ที่เกิดขึ้น​ภายใน​ เราก็สัมผัส​มันเข้าไป​ ดูเข้าไป​ แล้วก็สัมผัสมันเข้าไป​ จะสัมผัสตอนไหนล่ะ​ ก็ตอนที่ความรู้สึกมันเกิดขึ้น​ รู้สึกดี​ รู้สึกชั่ว​ รู้สึกได้​ รู้สึกเสีย​ รู้สึกสุข​ รู้สึกทุกข์​ สัมผัสเข้าไปในตอนนั้น​ แล้วก็ดูต่อไปอีกว่าความรู้สึก​ที่เกิดขึ้น​นี้มันคงที่ไหม​ มันเปลี่ยนไหม​ พอดูไปดูไปก็จะได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงที่มันค่อยๆ ​ ทีละเล็กทีละน้อย​มากขึ้นเรื่อยๆ​ ตามลำดับ​ นี่ล่ะค่ะที่ท่านหมายถึงว่าสัมผัส​ สัมผัสด้วยใจ​ ก็จะสัมผัสกับความไม่เที่ยง​ แล้วผลที่สุดเมื่อสัมผัสกับความไม่เที่ยงมากเข้า​ ไม่ช้าก็จะสัมผัสกับความเป็นอนัตตา​ คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน​ ทีนี้จะสังเกตได้อย่างไรว่าใจเราสัมผัสแล้ว​ สำหรับท่านผู้ใหญ่นะคะ​ หยิบเอาประสบการณ์​ที่​ผ่าน​มาในชีวิต​แต่ละอย่าง​ๆๆ ที่ผ่านมา​ แล้วก็นั่งเงียบๆ คนเดียว​ ไม่ต้องพูดไม่ต้องคุยกับใคร​ ยิ่งตอนดึกๆ สงัดที่ไม่มีอะไรรบกวน​ เราก็หยิบลงมา​ ใจมันว่าง​โปร่ง​จะสัมผัสเห็นความไม่เที่ยง​ ความเปลี่ยนแปลง​พร้อมๆ กับจะเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน​ คือเริ่มต้นด้วยความ​ที่บอกว่าไม่ใช่ของเรา​ มันไม่ใช่ของเรา​ มันถึงมาแล้วมันก็ไป​ มันถึงได้เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา​ มันจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยๆๆ​  และสิ่งที่จะเป็นข้อสังเกตที่จะทำให้รู้ตัวเองว่า​ นี่แหละเราได้สัมผัสแล้ว​ นั่นก็คือจะมีความรู้สึกสลดสังเวช​ สลดสังเวชตามมาในจิตใจ​ สลดสังเวชอะไร​ สลดสังเวชในความรู้สึกที่เราได้เคยรักเคยหลง​ เคยยึดมั่นถือมั่น​ เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า​ โอ้ยเราได้หลงยึดมั่น​ถือ​มั่น​ในสิ่งที่มันเป็นเงาเป็นมายาไม่ใช่สิ่งจริงเลย​   พอลืมตาขึ้นมันหายวับ​ หายวับ​ หายวับ​ มันไม่ได้อยู่กับเราจนเดี๋ยวนี้เลย​ นี่แหละ​ค่ะ​ความสลดสังเวชใจจะเกิดขึ้นมา​ พอเกิดขึ้น​มา​แล้ว​ อะไร​ตามมาอีก​ ตอนนี้​มัน​จะค่อย​ๆ ผ่อนคลาย​ ผ่อนคลาย​ความรู้สึก​ที่ยึดมั่น​ถือ​มั่น​ ว่าเป็นของฉันเป็นของฉันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง​ตลอดเวลา​ จะค่อยลดลงๆๆ​ตามลำดับ​ เมื่อลดลงตามลำดับ​ก็แสดงว่ากำลังค่อยๆ เข้าถึงความรู้ครบถ้วนเกี่ยวกับ​ไตรลักษณ์​ทีละน้อยๆๆ นี่คือการฝึกปฏิบัติ​  ทีนี้จะฝึก​ปฏิบัติ​อย่าง​​นี้จะทำอย่างไร​ อย่าใจร้อนนะคะ​ อย่ารีบ​ อย่าหวังว่าฉันจะต้อง​เห็นทันที​ ทำไปเรื่อยๆ​ ช้าๆ​ทีละน้อยๆๆ​ แล้วจะค่อยได้สัมผัส​

    แม้แต่บรรดานักเรียนก็ตาม​  เวลาที่นักเรียนเรียนหนังสือนี่​ ลองนึกดูนะคะ​ อย่างเรียนหนังสือ​ เช่น​ วิชาประวัติศาสตร์​ มองเห็นอนิจจัง​ใน​นั้นไหม​ มองเห็นทุกขังในนั้นไหม​  มองเห็นอนัตตาในนั้นไหม​ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์​ต่างประเทศ​หรือประวัติศาสตร์​ของ​ไทย​  เวลานี้เรามีกรุงรัตนโกสินทร์​เป็นนครหลวง​  เมื่อเริ่มต้นขึ้นเรามีกรุงอะไรเป็นนครหลวง​คะ​ นักเรียน​จำได้ไหมคะ​ เมืองอะไรเป็นเมืองหลวง​ สุโขทัย​ จากสุโขทัย​มาเมืองอะไร​ อยุธยา​ จากอยุธยามาเมืองอะไร​ ธนบุรี​ จากธนบุรีมารัตนโกสินทร์​ นี่แสดงถึงอนัตตา​รึเปล่า​ แสดงถึงความไม่เที่ยงรึเปล่า​ แสดงให้เห็น​ความไม่เที่ยง​ จากนั้น​ก็แสดงให้เห็น​​ความ​เป็น​อนัตตา​ คือความไม่ใช่สิ่งจริงเลยซักอย่างเดียว​ มันจะเปลี่ย​นแปลงไปตลอดเวลา​ เหมือนอย่างชื่อประเทศไทยนี่​ เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าประเทศไทย​ เมื่อก่อนนี้ท่านผู้ใหญ่​ที่นั่งอยู่ข้างหน้า​ย่อมจำได้​ ชื่อว่าประเทศอะไรคะ​ ประเทศสยาม​ เพลงชาติก็ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง​ บัดนี้เปลี่ยนเป็นประเทศไทย​ เห็น​ไหมคะมีอะไรแน่​ จากชาวสยามก็เปลี่ยนเป็นชาวไทย​ เราจะไปยึดเอาอะไรเป็นของเที่ยงเป็นของแน่​ไม่ได้เลยซักอย่าง​เดียว​ มันมีความเปลี่ยนแปลง​อยู่​อย่างนี้​ เพราะฉะนั้น​ในชีวิตประจำวัน​ของ​ลูก​หลานทั้งหลาย​นี่​  ที่บ้านก็ดี​ ​ที่โรงเรียนก็ดี​  ในขณะที่เรียนหนังสือ​นี่นะคะหรือเรียนวรรณกรรม​นี่​ อ่านสารคดี​ อ่านอัตชีวประวัติ​ให้สังเกตดูเถิดว่ามีอะไรคงที่บ้าง​ มีอะไรอยู่ได้ตลอดไปบ้าง​ นี่แหละ​คือการฝึกดู​ ฝึกดูให้เข้าถึงไตรลักษณ์​คือ​อนิจจัง​ ทุกขัง​ อนัตตาไปทีละน้อย​ๆๆ​  ​แล้วจะรู้สึกว่าเรานี้เป็นผู้มีความเป็นอิสระ​ เป็นไทแก่ตัวมากยิ่งขึ้น​ตามลำดับ​ สมกับชื่อที่ว่าเราเป็นคนไทย​

    ทีนี้ก็อยากจะพูดต่อไปอีกสักนิดหนึ่ง​นะคะว่า​ ทีนี้ถ้าหากว่าเราถึงซึ่งความเป็นอนัตตา​ นั่นก็ไม่ใช่ของเรา​ นี่ก็ไม่ใช่ของเรา​ ตัวเรานี้ก็ไม่ใช่ของเรา​ รู้สึก​เหงาว้าเหว่ไหมคะ​ รู้สึกวังเวงไหมว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน​ ถ้าหากว่าเราเข้าถึงจริงเราจะไม่วังเวงเลย​ แต่เราจะมีความมั่นคง​ มั่นคงยิ่งขึ้น​ หนักแน่น​ยิ่งขึ้น​  แล้วถ้าจะถามว่าแล้วตัวเราเดี๋ยวนี้จะเอาไปทิ้งเสียที่ไหน​ ตัวเราที่มองเห็น​ ที่จับต้องได้เดี๋ยวนี้จะเอาไปทิ้งที่ไหน​ คำตอบ​ก็คือเมื่อมีตัวอยู่เดี๋ยวนี้ก็จงใช้ตัวที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ให้ถูกต้อง​ที่สุด​ ถูกต้อง​อย่างไร​ ก็คือใช้ให้เกิดประโยชน์​ที่สุด​ เกิดประโยชน์ก็​คือทำสิ่งที่มีประโยชน์​ที่จะเกิดทั้งแก่ตนเอง​และ​แก่สังคม​ แก่เพื่อนมนุษย์​ แล้วเราก็จะมีแต่ความสุข​

    เพราะฉะนั้น​อะไรคือสิ่งที่เหลืออยู่​ ถ้าสมมติ​ว่า​ผู้​ใดที่เข้าถึงความรู้ครบถ้วน​ นี่พูดไปล่วงหน้าก่อนนะคะ​ เพื่อให้คิด​ ฝากไว้ให้คิด​ สิ่งที่เหลืออยู่นั่นก็คือหน้าที่​ เหมือนอย่างเช่นองค์สมเด็จ​พระ​สัมมาสัมพุทธ​เจ้า​ เมื่อตรัสรู้แล้วพระชนมายุ​ ​35 พรรษา​ พระองค์​สิ้นพระชนม์​คือเสด็จ​ปรินิพพาน​เมื่อใด​ เมื่อพระชนมายุเท่าไหร่​จำได้ไหมคะ​ 80​ ​พรรษา​ แล้วอีก​ ​45 พรรษานั่นน่ะ​ พระองค์​ทรงทำอะไร​คะ​ พระองค์​ทรง​ทำอะไร​  ​เสด็จ​ไป​ด้วย​พระบาทเปล่า​ จากเมืองนี้ไปเมืองโน้นด้วยพระบาทเปล่า​ ไม่ได้มีรถมีเรือที่จะขึ้นหรือว่าโดยสารเหมือน​อย่าง​เดี๋ยว​นี้​ ตลอดเวลา​ ​45 ​พรรษา​ทรงตรากตรำพระวรกายเพื่อตรัสสอน​ นำธรรมะมาสอน​แก่พวกมนุษย์​ทั้งหลาย​ที่ตกจมอยู่ในทะเลของความทุกข์​ ให้ได้รอดพ้นจากความทุกข์​ขึ้น​ ทั้งๆ ที่ถ้าพระองค์​จะไม่ทำล่ะ​ จะทรงอยู่เฉยๆ  ไม่ทำได้ไหม ได้​ ไม่มีใครไปบังคับ​  ​แต่พระองค์​ก็ทรงทำ​เพราะพระองค์​ทรงรู้ดีว่านี่คือหน้าที่ของผู้เป็นพระศาสดา​ พระศาสดาก็คือครู​ นี่เป็นหน้าที่ของครู​  ​ครูจะต้องสอนด้วยความเสียสละ​ อุทิศ​ชีวิต​ อุทิศ​ร่างกาย​ อุทิศ​เวลา​ อุทิศ​ทุกอย่าง​เพื่อที่จะให้ความดีงาม​ความเป็นสุขสงบเย็น​ ให้บังเกิด​ขึ้น​แก่มนุษย์​ทั้งหลาย​ที่เปรียบเสมือน​เป็น​ลูกศิษย์​ของพระองค์​ นี่เป็นหน้าที่​ พระองค์ทรงทำหน้าที่​ หรือสมเด็จ​พระบรมราชชนนี​ที่​​ได้เสด็จ​สวรรคต​ไป​ มองเห็น​ไหมคะ​ พระชนมายุ​ 90​ ​กว่าพรรษา​ แต่ตลอดเวลาทรงหยุดนิ่งไหม​ พระวรกายของพระองค์ก็ผอมบางนิดเดียว​ แล้วก็ไม่ทรงแข็งแรง​ โรคภัยไข้เจ็บ​รบกวน​ตลอดเวลา​ แต่ก็ไม่เคยทรงหยุดนิ่งจนวาระ​สุดท้าย​ นี่คือหน้าที่​ หน้าที่​ใน​ฐานะ​ที่​เป็น​พระบรมราชชนนีของพระบาท​สมเด็จ​พระเจ้าอยู่หัว​ แล้วก็เป็นเรียกว่าเป็นพระบรมราชชนนีของบรรดาชาวไทยทั้งปวง​  เพราะฉะนั้น​ที่ใดมีทุกข์ที่ใดมีความยากลำบากลำเค็ญ​เสด็จ​ถึงที่นั่น​ทุกหนทุกแห่ง​ นี่คือหน้าที่ของผู้ที่เป็นมนุษย์​ ยิ่งมนุษย์​ที่​อยู่สูงเพียงใด​ ทรงธรรมเพียงใดก็ทรงใช้คุณธรรมเหล่านั้น​ ที่จะมาช่วยเพื่อนมนุษย์​ให้มีความสุข​ มีความสงบเย็น​ ​พ้นจากความทุกข์ยาก​ลำบาก​ให้ได้ทั่วกันยิ่งขึ้น​ ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เหลืออยู่สำหรับมนุษย์​ที่จะต้องทำ​ นั่นคือการปฏิบัติ​หน้าที่​

    ทีนี้สิ่งที่อยากจะขอฝากเพื่อให้ได้คิดนะคะ​ เกี่ยวกับ​เรื่อง​ของ​พระพุทธศาสนา​ แล้วก็จะได้รู้สึกว่าการที่เราได้เป็นชาวพุทธ​เป็นพุทธศาสนิกชน​นั้น​ นับเป็นกุศลมหาศาลเพียงใด​ ก็คืออยากจะขอพูดถึงคุณลักษณะ​พิเศษ​ของพระพุทธศาสนา​สัก​ 2-3​ ข้อ​ มีมากแต่อยากจะยกมาเพียง​ ​2-3​ ​ข้อ​ ข้อแรกก็คือว่าพุทธศาสนา​นั้น​เป็น​พุทธ​ศาสตร์​  พุทธศาสตร์​ก็หมายความว่าเป็นศาสนา​ที่ใช้ปัญญา​เป็นเครื่องตัด ตัดอะไร​ ตัดความโลภ​ ความโกรธ​ ความหลง​ ไม่ไปใช้เวทมนตร์​คาถา​ แต่ใช้ปัญญา​ ปัญญา​ที่​เกิดจากการศึกษาจนมีความรู้ครบถ้วน​ดังที่เรากล่าวแล้ว​  นั่นแหละ​จะมาเป็นศาสตร์​คือเป็นศาสตรา​ที่​จะมีคม​ และก็ตัดสิ่งที่จะมารบกวนจิตคือโลภ​ โกรธ​  หลง​นั้นให้จางคลายไป​ จนกระทั่งตัดตัณหาอุปาทานที่เป็นความอยากและก็เป็นความยึดให้ลดลงด้วย​ นี่เป็นคุณลักษณะ​พิเศษ​ข้อที่หนึ่ง​ของพระพุทธศาสนา​ ​เป็นพุทธศาสตร์​ ข้อที่สอง​ก็คือพุทธศาสนา​เป็น​ศาสนา​ของ​ผู้​รู้​ ผู้​ตื่น​ ผู้​เบิกบาน​ อย่างที่เราพูดว่าพุทโธคืออะไร​ พุทโธก็คือผู้รู้​ ผู้ตื่น​ ผู้เบิกบาน​ ฉะนั้น​เราชาวพุทธนี้ก็เป็นลูกศิษย์​ของพระผู้รู้​ ผู้ตื่น​ ผู้เบิกบาน​   รู้อะไร​  ก็รู้ความรู้ครบถ้วน​  มีความรู้ครบถ้วน​ เพราะฉะนั้น​เมื่อพระองค์ทรงมีความรู้ครบถ้วน พระองค์​ก็​เป็น​ผู้ตื่น​ ตื่น​จาก​อะไร​ ตื่นจาก​การ​ตกเป็น​ทาส​ของกิเลส​ ตื่น​จาก​การ​ตกเป็น​ทาส​ของตัณหา​ความอยาก​ ​ที่ทำให้เกิดความดิ้นรนอยู่​ตลอดเวลา​  ตื่นจากความยึดมั่น​ถือ​มั่น​ในสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน​ จนกระทั่งทำให้มีความทุกข์​ ใครทุกข์​ ฉันทุกข์​ ถ้าละลายตัวฉันได้​  ใครล่ะจะทุกข์ใช่ไหมคะ​  นี่พูดเหมือนกับเล่นสำนวนแต่มันเป็นสัจธรรม​ ถ้าลองคิดแล้วจะเห็นว่ามันเป็นสัจธรรม​ เพราะฉะนั้น​พุทธศาสนา​เมื่อเป็นศาสนาของผู้รู้ก็ตื่นขึ้น​ เมื่อรู้แล้วก็ตื่นคือตื่นจากความหลับ​ ความหลับนั้นเป็นเรื่องของไสยศาสตร์​ ไสยะแปลว่าหลับ​ ไสยศาสตร์​คือศาสตร์ของความหลับ​ ความสะดุ้ง​ ความหวาดผวา​ ความสงสัยลังเล​ เมื่อได้เป็นผู้รู้แล้วก็จะตื่นขึ้นมาจากความหลับ​ เพราะอาการของความหลับที่เป็นความหวาด​ ความสะดุ้ง​ ความสงสัยลังเลเป็นอาการของความทุกข์​ เมื่อจิตเป็นมีความรู้สึกอย่างนี้มันจะระส่ำระสาย​  มันจะไม่มีความเป็นปกตินะคะ​  เพราะฉะนั้น​พุทธศาสนานี่ก็คือ​จึงเป็นศาสนาของผู้รู้​ ผู้​ตื่น​ แล้วก็เป็นผู้​เบิกบาน​  ฉะนั้น​ชาวพุทธ​ทุกคนจึงมีสิทธิ์​ มีสิทธิ์​ที่จะเป็นผู้รู้​ ผู้​ตื่น​ แล้วก็ผู้​เบิกบาน​ คุณลักษณะ​ของพิเศษข้อที่สามก็คือ​ พุทธศาสนา​เป็น​ศาสนา​เพื่อความอยู่เย็น​เป็นสุข​ในชีวิตปัจจุบัน​นี่อย่างทันตาเห็น​ จริงไหมคะ​ หรือยังไม่เห็น​ พุทธศาสนา​นะคะเป็นศาสนาเพื่อความอยู่เย็น​เป็นสุข​อย่างทันตาเห็น​ ยกตัวอย่าง​ก็เช่น​ หยุดอยากเดี๋ยวนี้ก็เย็นเดี๋ยวนี้​ จริงไหมคะ​ หยุดอยากเดี๋ยวนี้​ก็​เย็นเดี๋ยว​นี้​ กำลังอยากได้ที่ดินผืนนั้นเหลือเกิน​ ดิ้นรน​ ร้อน​ เงินไม่พอ​ จะไปกู้ใครดี​เพื่อให้ได้ที่ดินผืนนั้น​ แต่พอคิดขึ้นมาว่าได้มามันก็เท่านั้นแหละ​ ได้มาแล้วมันก็มีดีในเสีย​ มีเสียในดี​ เรื่องอะไรจะต้องไปลำบากให้มากนัก​ หยุดเสียเถอะ​ เย็นไหมคะ​ ใจที่กำลังร้อนอยู่นั้นน่ะ​  นี่แหละ​พุทธศาสนา​มีลักษณะ​พิเศษ​ตรงนี้​ ท่านต้องการจะบอกว่าอยู่เย็นเป็นสุขได้​ ทันตาเห็นเดี๋ยวนี้​ เพียงแต่หยุดอยาก​ หยุดอยากเดี๋ยวนี้ก็เย็นเดี๋ยว​นี้​  หยุดเอาเดี๋ยวนี้ก็สิ้นความร้อนเดี๋ยวนี้​ จริงไหมคะ​ หยุดเอาเดี๋ยวนี้ก็สิ้นความร้อนเดี๋ยวนี้​   เพราะฉะนั้น​พุทธศาสนา​จึง​เป็น​ศาสนา​ของ​เหตุและ​ผล​ ไม่ใช่ศาสนาของการคาดคะเน​ ไม่ใช่ศาสนาของการเดาเอา​ นึกเอา​ คิดเอา เป็นศาสนา​ที่สอนว่าให้อยู่กับปัจจุบัน​ ปัจจุบัน​ขณะ​นี่ที่กำลังหายใจอยู่​นี้​ ทำหน้าที่​ในปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดอย่างผู้​มีความรู้​ครบถ้วน​ทีละน้อย​ ​ละน้อย​  แม้ยังไม่ครบถ้วน​เดี๋ยวนี้​ก็ยังไม่เป็นไร​ แต่ศึกษา​ไป​ให้รู้ไปทีละน้อย​ ละน้อย​ ความรู้ครบถ้วน​ก็จะค่อยบริบูรณ์​ขึ้นตามลำดับ​ เพราะฉะนั้น​พระองค์​จึง​ทรง​สอนว่า​ พร่ำสอนแล้วสอนอีกว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง​ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา​ อย่างน้อยลองจำอันนี้ไว้​ เท่านั้นก็เชื่อว่า​จะมองเห็น​ว่า​จะเป็นชาวพุทธ​อย่างไรจึงจะสิ้นปัญหาคือไม่มีความทุกข์ได้ตลอดเวลา​  ก็อยากจะขอจบด้วยการฝากการบ้านให้ไปคิดสักหน่อยหนึ่งนะคะ​ อันนี้ก็เป็นร้อยกรองของท่านอาจารย์สวนโมกข์​  ซึ่ง​ชวนให้คิดมากนะคะ​ สั้นๆ ​แต่ชวนให้คิดไปได้หลายเรื่อง​ แล้วก็ลึกซึ้ง​ ท่านเขียนเอาไว้ว่า​ “ยามจะได้ได้ให้เป็น​ไม่เป็นทุกข์​   ยามจะเป็นเป็นให้ถูกตามวิถี​ ​ ยามจะตายตายให้เป็นเห็นสุดดี​ ​ ถ้าอย่างนี้ไม่มีทุกข์ทุกวันเอย​”

    พอจะมองเห็นไหมคะว่าหมายความว่าอย่างไร​  ก็อยากจะขยายความให้สักนิดนึงเพื่อเปิดหนทางให้ไปคิดต่อนะคะ​ ยามจะได้​ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์​  ​ ไม่ว่าจะได้อะไรทั้งนั้นเลย​ ได้เงินทอง​  ได้ตำแหน่ง​การงาน​ ได้โชคลาภ​ที่พอใจ​ ได้ลูก​ ​ได้คู่ครอง​ ได้ความรัก​ ได้อะไรก็แล้วแต่ที่ดีๆ นี่​ ได้ให้เป็นหมายความว่าไงคะ​ ได้ให้เป็น​ ก็เหมือนอย่างตาพ่อคนนั้น​  ตาพ่อในนิทานชาวบ้าน คือมีความรู้​เท่าทัน​อยู่​เสมอ​ เท่าทันในความไม่เที่ยง​ เท่าทันในความที่ไม่ใช่ของเรา​  เพราะฉะนั้น​เมื่อรู้ด้วยความเท่าทัน​ จะหลงรักยึดมั่น​ถือ​มั่น​กอดรัดเอามาเป็นของเราไหมคะ​ ยึดมั่น​ไหม​ ยึดมั่นเหนียวแน่นไหม​  ก็ยึดเหมือนกันแหละแต่ก็ยังไม่เหนียวแน่น​  ยังพอคลาย​ได้​  แต่ถ้าหากว่าไม่ได้หยั่งรู้ไม่เท่าทัน​ มันเหนียวแน่นมันแกะไม่ออก​ แล้วมันก็จะตายอยู่ตรงนั้นเอง​ เพราะฉะนั้น​จึง​บอกว่ายามจะได้​ได้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์​ ไม่มีใครเขาห้ามหรอกว่าไม่ให้เอานั่นไม่ให้เอานี่  เอาเถอะแต่ว่าเอาอย่างชนิดรู้เท่าทันก็จะไม่เกิดความประมาทใช่ไหมคะ​ ทีนี้ยามจะเป็นเป็นให้ได้ตามวิถี​ ไม่ว่าจะเป็นอะไร​ เขาจะแต่งตั้ง​ให้เป็นอะไร​  หรือเขาไม่ได้แต่งตั้ง​แต่เป็นตามธรรมชาติ​ เป็นลูก​ เป็นนักเรียน​ เป็นนักศึกษา​ เป็นครูบาอาจารย์​ หรือว่าเป็นรัฐมนตรี​ เป็นผู้​อำนวยการ​ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งนั้น​ เป็นให้ถูกตามวิถี​ ตามวิถีของอะไร​  สิ่งที่เหลืออยู่สำหรับ​มนุษย์นั้น​คืออะไร​  คือหน้าที่ใช่ไหมคะ​ ธรรมะคือหน้าที่​  ทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องให้เกิดประโยชน์​ เกิดประโยชน์แก่งาน​ เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม​ และเกิดประโยชน์​แก่​ตัวเอง​ ตรงไหน​ ตรงที่เราไม่เป็นทุกข์​ เพราะเราได้ทำหน้าที่​ถูกต้อง​ เราไม่เป็นทุกข์​  ​เรามีแต่ความสุข​ ความอิ่มเอิบใจ​ เราได้เป็นชาวพุทธ​แล้ว​ อย่างผู้​รู้​ ผู้​ตื่น​ ผู้​เบิกบาน​ ทีนี้ยามจะตาย ​ตายให้เป็น​เห็น​สุข​ดี​ ​ตายให้เป็นจะตายยังไง​ ​ก็มันกำลังจะตาย แล้วจะตายให้เป็นจะตายยังไง​ ที่ตายไม่เป็นคือเป็นยังไง​ ​ เราย้อนกลับนึก​ ที่ตายไม่เป็นคือตายยังไง ​ที่ตายไม่เป็น​ พอถึงเวลาจะตายเป็นยังไง​คะ​  พอรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา​ ​หวั่นหวาด​ สะดุ้ง​ กลัว​ ตัวสั่น​ เพราะอะไร​ เพราะไม่ศึกษา​ความรู้​ให้ครบถ้วน​ตามที่องค์สมเด็จพระศาสดาทรงสอน​ ถ้าเราศึกษา​ให้ครบถ้วน​ แก่ก็ไม่ชอบใช่ไหมคะ​ มีใครอยากแก่บ้าง​ ไม่อยากแก่​ แต่ก็ต้องแก่​ มันหนีความแก่ไปไม่พ้น​ เพราะฉะนั้น​ถ้าเราศึกษาให้ครบถ้วน​ เราก็จะฝึกใจของเราเองให้เป็นผู้แก่อย่างสง่า​ แก่ก็แก่เถอะแต่แก่อย่างสง่า​ แก่อย่างสง่าคือยังไง​ พูดง่ายๆก็คือว่าลูกหลานไม่เบื่อ​ ลูกหลานอยากมาหา​ ลูกหลานอยากมาเยี่ยม​ อยากอยู่ใกล้​ ไม่เบื่อเพราะอะไร​ เพราะคุณย่าคุณตาคุณยายไม่บ่นไม่จู้จี้​ ไม่จะเอานั่นไม่จะเอานี่​ นั่นแหละแก่อย่างสง่า​ เพราะยอมรับความแก่​ ที่บ่นที่จู้จี้ที่ขี้โมโห​ที่จะเอานั่นเอานี่เพราะอะไร​ เพราะพออยู่ในวัยแก่เฒ่า​ เริ่มรู้สึกว่าแหมเราจะเป็นคนไม่มีค่าแล้ว​ เดี๋ยวใครเขาจะไม่ชอบ​ เพราะเราทำอะไรให้ใครก็ไม่ได้​ นับวันจะหมดเรี่ยวหมดแรง​ จะเป็นคนที่เป็นภาระ​ เกิดความเหงา​ ความว้าเหว่​   ก็เลยชดเชยด้วยการบ่นจู้จี้​ใช้อำนาจของความเป็นปู่ย่าตายาย​ เป็นต้น​ นี่ก็ไม่ใช่แก่อย่างสง่า​ แก่อย่างขี้เหร่​ พวกเราก็แก่อย่างขี้เหร่​ ทำไมถึงขี้เหร่​ เพราะลูกหลานไม่อยากเข้าใกล้​  ใครๆก็ไม่อยากเข้าใกล้​ เบื่อหน่าย​ ใช่ไหมคะ​  เพราะฉะนั้น​ถ้าศึกษา​ความรู้ครบถ้วน​  ถึง​เวลา​แก่ก็แก่อย่างสง่าได้​ มีความสุข​ใน​ความแก่​ ถึงเวลาเจ็บก็อยากจะบอกว่าเจ็บอย่างสบาย  ก็จะว่าอีกนั่นแหละเจ็บแล้วมันจะสบายได้อย่างไร​ จริงแหละมันไม่สบายที่ตรงไหน​ ก็ตรงที่มันเจ็บ​ เจ็บขา​ ขามันก็เจ็บ​ เจ็บหัวใจเป็นโรคหัวใจ​ มันก็เป็นที่หัวใจ​ แต่ใจคือความรู้สึกนี้ไม่เจ็บไปด้วย​ ไม่เจ็บไปกับขา​ ไม่เจ็บไปกับปอด​ ไม่เจ็บไปกับลำไส้​ ไม่เจ็บไปกับอะไรในกายนี้ทั้งนั้น​ ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน​ รักษาใจเอาไว้​ ให้ใจนั้นยอมรับสภาวะของความเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้​ แต่หน้าที่ในการจะต้องรักษาความเจ็บไข้​อย่างไรก็รักษาเต็มที่​ ทำตามที่หมอพยาบาลเขาแนะนำ​ นี่ก็เรียกว่าแก่ได้อย่างสง่า​ เจ็บได้อย่างสบาย พอถึงเวลาตายก็จะตายได้อย่างสงบ​ใช่ไหมคะ​ ​ตายได้อย่างสงบ​ นี่แหละยามจะตายตายให้เป็น​เห็นสุดดี  เพราะมันเตรียมตัวมาตลอด​ เตรียมตัว​ตั้งแต่​ยัง​เล็ก​ๆ​  โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่​ แก่​  ​เพราะฉะนั้น​ความตาย​มาถึง​เมื่อไหร่​ก็​เมื่อนั้น​ มัน​เป็น​ของ​ธรรมดา​ หลีกเลี่ยงไม่ได้​ เรียกว่า​เตรียมตัว​รับ​ความตาย​ได้ด้วยความกล้าหาญ​ เพราะอะไร​ เพราะเห็น​แล้ว​ว่า​ของเรารึเปล่าคะ​ นี่ตามคำพูด​นะ​ ถึงแม้เรายังไม่ได้ก็ตาม​ แต่ตามคำพูดท่านสอนว่าอนัตตา​ มันไม่ใช่ของเรา​ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นเราจะตัวสั่น​ ที่เขาถามว่าจะไปสุขคติหรือทุกขคตินะคะ​ มัน​จะ​ทุกขคติแน่ๆ​ถ้าตัวสั่น​ หวาดผวา​กลัวความตาย​ แต่ถ้าตัวไม่สั่น​ ไม่หวาดผวาเพราะเตรียมตัวเอาไว้แล้วว่าแก่อย่างสง่า​ เจ็บอย่างสบาย​ ตายมันก็ไปอย่างสงบ​  ​แล้วก็ไม่ต้องถามหรอกว่าจะไปไหน​ ​สุขคติเป็นที่หมายได้แน่นอน​ เพราะฉะนั้น​ท่านจึงบอกว่ายามจะตาย​ตายให้เป็นเห็นสุดดี​ ถ้าอย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ทุกวันเอย​ นี่แหละ​ค่ะ​ชาวพุทธ​จะ​ไม่​เป็น​ทุกข์​ได้​อย่าง​ไร​ ก็​ไม่​เป็น​ทุกข์​ด้วยตรงนี้ค่ะ​  มีคำถามไหมคะ​ อันนี้สุดแล้วแต่​ท่านผู้ฟังนะคะ​ ดิฉันยัง​พร้อม​ที่จะ​ตอบคำถาม​ แต่ถ้าท่านรู้สึกเบื่อแล้ว​  นานแล้วก็เลิกกันได้ แต่ถ้ามีคำถามก็ยินดีจะตอบคำถาม​   มีไหมคะ

    คำถาม : คือกระผมเคยเป็นครู...ในขณะที่​เป็น​ครู​นั้นมีนักเรียนคนหนึ่งอายุค่อนข้างจะสูงแล้ว​ เขาถามว่าศาสนา​นี่ทำไมมันมีมากมายนัก​ มีทั้งศาสนา​พุทธ​ ศาสนา​คริสต์​ แล้วก็ศาสนา​อิสลาม​อะไร​ เขาก็ถามไป​ แต่ทีนี้เขาถามต่อไปว่าใครล่ะเป็นคนทำให้เกิดศาสนา​ ตอนนี้แหละงงยกใหญ่​  แต่ว่าผมตอบไปตอนนั้นคงจะตอบไม่ได้ดี

    ตอบ: ใครเป็นคนทำให้เกิดศาสนาเหรอคะ​ ถ้าหากว่าจะถามดิฉันและจะเอาคำตอบ​ให้ชัดเจน​ ก็ต้องขอเรียนว่าดิฉันก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน​ ว่าใครเป็นคนทำให้เกิดศาสนา​ แต่ก็ตอบได้ในแง่ที่ว่าศาสนา​เกิดขึ้น​ได้​อย่างไร​นะ​คะ​ ถ้าจะพูด​ว่า​เรา​มี​ศาสนา​ไว้ทำไม​ ก็อยากจะขอให้ทุกท่าน​คิดในแง่นี้​ บรรดา​ลูกหลาน​ทั้งหลาย​ที่อยู่​ข้างหลัง​น่ะค่ะ​ ฟังก่อนต้องฟังก่อน​ นี่ครูเก่านะคะนี่ เพราะฉะนั้น​ต้องบอกว่าให้ฟังก่อน​ ก็คือว่าอยากจะบอกว่าศาสนา​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่า​งไร​ ก็ให้นึกว่า​ เวลาเราหันเข้าหาศาสนานี่​ ตอนไหน​ เวลาไหนคะ​ ที่มนุษย์​เราหันเข้ามาหาศาสนา​ หรือเรียกว่าหันเข้ามาหาธรรมะ​ เมื่อเวลามีทุกข์​ เมื่อเวลามีความทุกข์​  แล้วก็ไปหาหมอดูก็แล้ว​ ไปรดน้ำมนต์​ก็แล้ว​ บนบานศาลกล่าวก็แล้ว​​ มันก็ไม่หายทุกข์​ ​ ตอนนี้ก็เลยหันเข้ามาหาศาสนามาเข้าวัดฟังเทศน์​ มาปฏิบัติสมาธิภาวนา​ เพราะ​เราคิดว่าศาสนาคงจะเป็นที่พึ่งได้ใช่ไหมคะ​ ศาสนา​คงจะเป็นที่พึ่งได้​ ธรรมะคงจะช่วยเราได้​ เพราะฉะนั้น​จะเข้ามาเมื่อไหร่​ ก็เข้ามาเมื่อมีความทุกข์​ เมื่อมีปัญหา​ เพราะฉะนั้น​ศาสนา​ก็เกิดขึ้น​ ดิฉันก็เข้าใจว่าเมื่อคนเราต้องการที่พึ่ง​ เพราะฉะนั้น​เมื่อต้องการ​ที่พึ่งก็จะต้อง​มีบุคคล​ที่เป็นคนฉลาด​ค่ะ​ เป็น​คน​ฉลาด​ใน​กลุ่ม​ เป็น​คน​ฉลาด​ในหมู่​ ท่านก็มีสติปัญญา​ที่จะให้คำแนะนำ​ต่างๆ เกิดขึ้น​ เพราะฉะนั้น​ก็จึงมีศาสนา​เกิดขึ้น​หลาย​ศาสนา​ ส่วนใครผู้ใด​จะนับถือศาสนาใดนั้นก็แล้วแต่​ความพอใจ​ ความสนใจ​หรือเผอิญไปตกอยู่ในที่แวดล้อม​ ในสิ่งแวดล้อม​เช่นนั้นก็จะนับถือศาสนาเช่นนั้น​ ซึ่งในความรู้สึก​ส่วนตัว​ของ​ดิฉัน​ ก็มีความรู้สึก​ว่า​การจะนับถือ​ศาสนา​ใดนั้น​ ไม่เป็นไร​ ขอให้​มี​ศาสนา​เถอะ​ เพราะ​อย่างน้อย​ที่สุด​ทุกศาสนา​ก็ตั้งใจสอนให้ทุกคนกระทำความดีและก็เห็นแก่ผู้อื่น​ ไม่เห็นแก่ตัวแต่ฝ่ายเดียว​ เพราะฉะนั้น​นี่เป็นจุดมุ่งหมาย​ของ​ทุกศาสนา​ แต่เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา​แล้ว​ ก็พูดได้ว่าเป็นศาสนา​ของปัญญา​ เป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์​ ที่ดิฉันเคยได้ยินท่านผู้รู้ท่านบอกว่า​ ต่อไปนี้โลก​ของ​เราซึ่งกำลัง​เป็น​โลก​ของ​วิทยาศาสตร์​ ความเจริญ​ก้าวหน้า​ทาง​วิทยา​ศาตร์​ทวีขึ้นทุกที​ และศาสนา​ที่สามารถจะรับมือกับวิทยาศาสตร์​ได้คือพุทธศาสนา​นี่เอง​  เพราะ​เป็น​ศาสนา​ของ​เหตุ​และ​ผล​ เป็น​ศาสนา​ที่สามารถพิสูจน์ได้​ คงทนต่อการพิสูจน์​ และพุทธศาสนา​นั้นก็มีลักษณะ​เป็น​วิทยาศาสตร์​ เป็นวิทยาศาสตร์​โดยนามธรรม​ เพราะที่เราพูดกันมานี้เป็นสิ่งที่มีเหตุและมีผล​ เช่น​ถ้าอยากเมื่อไหร่เป็นเหตุ​ ผลมันก็คือความทุกข์​ เพราะฉะนั้น​องค์สมเด็จ​พระสัมมา​สัมพุทธเจ้า​ก็ทรงให้ทฤษฎีมา​ ทฤษฎี​ที่​จะศึกษา​เพื่อความดับทุกข์​ ที่พระองค์ทรงสอนมาตลอดพระชนม์​ชีพ​ นั่นก็คือเรื่องของอริยสัจสี่​ และก็เรื่องของไตรลักษณ์​ เรื่องของกฎแห่งเหตุและผล​ ซึ่งมีอีกมากมายที่เราจะพูดกันนะคะ​ แต่วันนี้ก็ขอตอบเพียงเท่านี้ค่ะ​ ตามความรู้ที่พอมี

    คำถาม​: อาจารย์คะ​ ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งนะคะฝากถาม​ เรียนถามมาว่าในฐานะที่ดิฉันเป็นครู​ อยากทราบว่าจะสอนนักเรียนอย่างไร​ ด้วยธรรมะข้อใด​ เพื่อให้สังคมดีขึ้นกว่าทุกวันนี้​ อาจารย์ท่านนี้ชื่ออาจารย์วรรณภา​ เข้าใจว่าจะนามสกุลสรรพสิทธิ์​หรือเปล่าไม่ทราบค่ะ

    ตอบ​: เป็นคำถาม​ที่​น่าสนใจ​นะคะว่าครูจะนำธรรมะข้อใดเข้าไปสอนลูกศิษย์​ ถึงจะทำให้ลูกศิษย์​ไปช่วยสังคมได้​ อันนี้​อยาก​จะ​เรียนเชิญ​ท่านอดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู​ ท่านมาตอบอธิบายเพราะท่านได้ทำงานอันนี้มาเป็นอันมากเลย​ ที่จะพยายามที่จะใช้จริยธรรม​เป็น​รากฐาน​ในการศึกษา​ เพื่อที่จะให้เราได้มีนักเรียนที่มีจริยธรรม​อยู่​ในจิตใจ​ แล้วก็มีคุณธรรม​ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่​ต่อไปข้างหน้า​ ซึ่งท่านได้พยายามที่จะอบรมและฝึกครูให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม​จนสามารถ​นำจริยธรรม​ไปสอนลูกศิษย์​ได้​ ขอเรียนเชิญ​ท่านอดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู​คือ​อาจารย์​ ​ดร.​นิเชษฐ์ ค่ะ

    อ.ดร.​นิเชษฐ์​ : กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ​ คำถาม​เมื่อกี้นี้​ ผมต้องขอขอบคุณ​ที่ท่านกรุณา​ให้เกียรติ​ ถ้าฟังตลอดผมคิดว่าคำตอบก็อยู่​ที่ท่านพูด​ไปแล้วทั้งหมด​ ประเด็นที่ท่านพูดมาทั้งหมด​ที่เกี่ยวกับการที่นับถือพุทธศาสนา​และปฏิบัติ​อย่างไรนี่​ นั่นคือคำตอบครับ​ ขอให้ไปย่อยเอาเองละกันครับ​ ตอบยาวกว่านั้นไม่ได้แล้วครับ

    อุบาสิกา คุณรัญจวน​: ขอบพระคุณ​ค่ะ​ แต่ก็ที่ดิฉันเรียนเชิญ​ท่านก็เพราะว่าในสมัยที่ได้เคยติดต่อกันในเรื่องของการทำงานจริยธรรม​ ท่านเป็นอธิบดีที่ดิฉันชม​มากและก็สรรเสริญในที่หลายแห่งว่าท่านเป็นผู้ที่กล้าหาญ​ที่สุด​ในบรรดาอธิบดีของกระทรวงศึกษาธิการ​ ที่ท่านกล้าที่จะให้เรื่องของจริยธรรม​เข้าไปในวิทยาลัยครู​ เพื่อที่ให้นักศึกษา​ครูได้สนใจ​ และก็ได้มีหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องของจริยธรรม​ ซึ่งท่านได้พยายามทำอย่างเต็มที่​ในสมัยที่ท่านเป็นอธิบดี​ ก็เสียดาย​ที่ไม่มีการต่ออายุราชการ​ มิฉะนั้น​ในทางสถาบันราชภัฏ​ก็อาจจะมีเรื่องของจริยธรรม​เป็นหลักในการอบรมนักศึกษา​วิทยาลัยครูด้วย​ มีคำถามอีกไหมคะ​ ถ้าไม่มีเราก็น่าจะหยุดกันได้แล้วนะคะ​ เพราะว่าชั่วโมง​กว่า​แล้ว​ ก็ขอให้ธรรมะสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน​ ธรรมะ​สวัสดี​ก็คือมีความสวัสดีอยู่เย็นเป็นสุขด้วยพระบารมีของพระธรรม​ ธรรมะสวัสดีค่ะ​    

     

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service