แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...จัดสรรมาเหมือนกัน เมื่อผลที่สุด สุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่จะหยุดหายใจก็กลับไปสู่ที่เดิม สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นี้ ในส่วนที่เรียกว่าเป็นเนื้อ เป็นกระดูก เป็นเลือด เป็นหนอง เป็นน้ำลาย หรือว่าเป็นอะไรต่ออะไร ต่างก็กลับไปสู่ความเป็นธาตุเดิมของมัน และมันก็หมุนเวียนไปไหน มันก็อยู่ในจักรวาลนี้ มันไม่ได้ไปไหน มันก็กลายไปเป็นปุ๋ย มันเป็นปุ๋ยที่จะไปช่วยเหลือหล่อเลี้ยงพืชพรรณธัญญาหารอื่นๆ ต่อไป และพืชพรรณธัญญาหารอื่นๆ เหล่านั้นก็กลับมาเป็นประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย บางคนมันคงวนเวียนกันอยู่อย่างนี้โดยตลอด เพราะฉะนั้นเมื่อเราคิดดูให้ละเอียดถี่ถ้วนอย่างใจเป็นกลาง ก็จะมองเห็นว่า “ชีวิตนี้หาใช่ของเราไม่” แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตที่แท้จริงคือ ธรรมชาตินั่นเอง
ธรรมชาตินี่แหละ คือชีวิต คือเจ้าของชีวิต แต่ว่ามนุษย์ก็มักจะตู่ ตู่เอาว่าเราเป็นของเรา เพราะเหตุว่า ในขณะนี้เราอยากจะพูดอะไร เราก็พูดได้ เราอยากจะเดินไปไหน เราก็เดินได้ เราอยากจะทำอะไร เราก็ทำได้ โดยใช้อวัยวะต่างๆ ที่เรามีอยู่ ทำตามที่ใจต้องการ ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่รู้ความจนบัดนี้ เราก็เลยเผลอไผลไปถือเอาว่า “ชีวิตนี้เป็นของฉัน” ลืมเจ้าของเดิม และก็พยายามจะต่อต้าน ฝ่าฝืน ไม่ยอมรับความเป็นธรรมชาติ ที่ธรรมชาติพยายามจะบอกเราให้เรารู้อยู่ตลอดเวลาว่า “อย่ายึดมั่นถือมั่น” ถ้ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่าเป็นของเราแล้ว นั่นแหละปัญหามันเกิดขึ้นตรงนั้น ใช่ไหมคะ
ปัญหาของชีวิตเกิดขึ้นตรงนี้ ตรงความยึดมั่นถือมั่น บันได เอาง่ายๆ ขณะใดที่เราไปนั่ง ไปนั่งกินข้าว กินก๋วยเตี๋ยวที่ตามร้านข้างทาง เผอิญนั่งจะเดินทางไปต่างจังหวัด นั่งรถไปเกิดหิว หยุดรับประทานอาหาร เราก็ไปนั่งสั่งอาหาร สั่งก๋วยเตี๋ยวมารับประทาน รับประทานไปเฉยๆ ก็เอร็ดอร่อยดี มีความสุขสบายดี แต่พอมีรถอีกคันหนึ่งผ่านมา เผอิญมองเห็นคนในรถซึ่งเป็นคนที่รู้จักกัน แล้วก็เขาจะจำเราได้ ตายจริง! นี่ประเดี๋ยวเขาจะว่าว่าทำไมผู้อำนวยการถึงมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างร้านข้างถนนอย่างนี้ นี่เขาเอาไปพูดละก็เสียหายหมดเชียว ทำไมความรู้สึกจึงแตกต่างกัน ตอนแรกกินได้อย่างสบายๆ ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่พอมีคนเห็น ฉันผู้อำนวยการ เขาเห็นผู้อำนวยการมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างถนน มองดูมันไม่สมกับเกียรติยศของผู้อำนวยการ ใจมันรู้สึกไม่สบาย อยากจะวิ่งหนีขึ้นรถไปเลย ก็จงโปรดนึกดูว่า ทำไมความรู้สึกที่แตกต่างกันเกิดขึ้น ก็เพราะในตอนแรก ไปกินตามหน้าที่ ที่จะต้องบำรุงทางกาย เมื่อท้องมันต้องการอาหาร โดยไม่มีความรู้สึก ว่านี่ฉัน เป็นตัวฉันกิน แต่พอมีความรู้สึกว่าเป็นตัวฉันเกิดขึ้น มองเห็นความไม่เหมาะสมกันตามค่านิยม เกิดเป็นปัญหาขึ้นแล้ว ด้วยความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา
เพราะฉะนั้น อันนี้นะคะ ขอให้ดูให้ดีว่า เมื่อใดที่เกิดความรู้สึกว่า ชีวิตนี้เป็นของฉัน ปัญหาเกิดขึ้นทันที เหมือนอย่างเรื่องของลูก เราก็ได้ยินเรื่องของลูกของคนนั้น เหมือนอย่างเรื่องที่น่าสงสารมาก ที่อ่านจากหนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันที่หญิงสาวคนหนึ่ง แล้วก็อุ้มลูกไปนั่งที่โรงพัก และก็ไม่มีใครเขาไต่ถามว่า เรามีทุกข์อะไร ผลที่สุดก็มาที่นั่งตรงข้างถนน อุ้มลูกไว้แน่น และพอรถเมล์วิ่งมาด้วยความเร็วก็ตัดสินใจกระโดดเข้าไปให้รถทับ เชื่อว่าหลายท่านคงได้อ่านหนังสือพิมพ์ ตายทั้งแม่ทั้งลูก คาที่ พอเราได้ยินเข้าเรารู้สึกยังไง สลดใจ สังเวช สงสาร แล้วก็อาจจะวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาของสังคมต่างๆ นานา ว่าเพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนี้ แล้วก็ เสร็จแล้ว ลืม จบ ใช่ไหมคะ มีงานมีการของเรา เราก็ไปทำอะไรต่ออะไรต่อไป แต่ถ้าเผอิญแม่ลูกคู่นั้นเป็นญาติของเรา เป็นลูกหลานของเรา เป็นเพื่อนสนิทของเรา ความรู้สึกจะจบง่ายๆ ไหม ไม่จบง่าย ฟูมฟาย ร้องไห้ คร่ำครวญ และอาจจะพยายามเรียกร้องอะไรต่ออะไร เพื่อคิดว่าจะให้ความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ทำไมถึงทำอย่างนี้ ก็เพราะของเรา ลูกหลานของเรา เพื่อนของเรา ญาติของเรา เป็นคนที่เรารู้จัก แต่นี่เผอิญไม่รู้จัก เราก็สงสาร เราก็เห็นใจในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน แต่เรื่องนั้นมันก็จบ มันไม่มาติดค้างไปเป็นเดือนเป็นปี ไม่เป็นตราประทับลงไป แรงๆ ลึกๆ เพราะความยึดมั่นถือมั่น หรืออย่างเราได้ข่าวที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเมื่อสักปีก่อนนี้ ที่แม่ตั้งใจจะไปเอาลูกที่ตัวทิ้งเอาไว้ในโรงพยาบาล เพื่อจะมาฆ่าเสียให้ตาย เพราะว่าชีวิตนี้มันทุกข์นัก ผู้ชายเขาก็ไม่รับว่าเป็นพ่อ เป็นสามี และก็ไม่รู้ว่าจะไปหาที่พึ่งที่ไหน แต่เสร็จแล้วก็หยิบไปได้เด็กผู้หญิงที่มีป้ายชื่อว่าลูกของตัว หลายท่านคงเคยอ่านใช่ไหมคะ อ่านข่าวนี้ใช่ไหม ว่ามีป้ายชื่อนั้นบอกว่าเป็นเด็กคนนี้ เด็กทารกคนนี้เป็นลูกของตัว แล้วก็คงจะจำไม่ได้ เพราะว่าตอนเด็กเล็กๆ หน้าตาเขายังไม่ชัดเจนนัก นี่อายุก็เพียงไม่ทราบว่ากี่วัน จำไม่ได้เสียแล้ว และก็รับเอาไป และผลที่สุดก็ไปทำให้เด็กทารกคนนั้นตาย เพราะคิดว่านี่คือลูกของเรา เมื่อเราเลี้ยงให้เขาดีไม่ได้ เลี้ยงให้เขามีความสุขไม่ได้ ให้ตายเสียดีกว่า แต่แล้วก็ปรากฏว่า เด็กที่ตัวรับไปหาใช่ลูกของฉันไม่ แต่กลายเป็นลูกของผู้อื่น เพราะเกิดการสับกันที่ป้ายชื่อ และลูกของตัวที่ต้องการจะให้ตายน่ะก็ยังคงอยู่ แล้วก็เด็กคนที่ถูกฆ่าตายโดยคิดว่าเป็นลูกของตัว พ่อแม่เขาเอามาฝากที่ไว้โรงพยาบาล เพราะเห็นว่าทารกนั้นต้องการการพยาบาล เนื่องจากว่าเกิดมาไม่สมบูรณ์ พ่อแม่ก็นึกว่าลูกตัวฝากไว้โรงพยาบาลคงจะอยู่เรียบร้อยได้รับการดูแลดี ก็อยู่ที่บ้าน ก็ได้รับข่าวว่า อ้าว! อยู่ดีๆ มีคนมาลักเอาตัวไป และก็ทำลูกตัวตายเสียแล้ว เพราะเขาคิดว่าเป็นลูกของเขา แต่ลูกของตัวเองที่ผู้หญิงที่ต้องการจะฆ่าให้ตายยังคงอยู่ นี่เพราะอะไร เห็นไหมคะ สาเหตุปัญหาที่น่าสลดอย่างนี้ เพราะยึดมั่นว่าของฉันเท่านั้นเอง นี่เป็นลูกของฉันอะไรที่เกี่ยวกับฉันตัวฉัน ถ้าเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อไร มันเป็นปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้นเหตุของปัญหาของมนุษย์ ก็คืออยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวฉัน
แต่ถ้าหากว่าเรามาศึกษาความจริงให้เห็นว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่ของใครเลยเป็นของธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นคือเจ้าของ ธรรมชาติให้มา แล้วก็ให้มาใช้ ในระหว่างนี้ให้ใช้ ตัวตนเหล่านี้จะยึดถือว่าเป็นของตัวก็ยึดถือไป แต่ต้องรู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ จึงจะเรียกว่าเป็นความยึดถือที่ไม่เป็นโทษ แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้มันเกิดประโยชน์ ไปยึดมั่นถือมั่นให้มันเป็นทุกข์ นั่นเป็นความเขลา เป็นความไม่ฉลาด ไม่ได้ศึกษาให้เพียงพอ ทีนี้วิธีที่จะแก้ปัญหา หรือดับความทุกข์ อันนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตนี้มันรอดพ้นจากปัญหา ก็อยากจะเสนอว่า มันมีอยู่วิธีเดียวเท่านั้นนะคะ อะไรล่ะที่ทำให้ยึดว่าชีวิตนี้เป็นของฉัน นั่นก็คือ “ความคิด” ที่ท่านเรียกว่า “ทิฐิ” ความคิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะแก้ปัญหา หรือดับความทุกข์ ก็ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนทิฐินี้เสียใหม่ให้ถูกต้อง ให้เป็น “สัมมาทิฐิ” คือความเข้าใจถูกต้อง ความรู้ถูกต้อง ความคิดถูกต้อง ด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง ให้เป็นสัมมาทิฐิ อย่าไปมองอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของฉัน มองให้เห็นชัด จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจสิทธิของมนุษยชน ที่เขาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกัน จนกระทั่งมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ นานา แต่เมื่อเอามาใคร่ครวญดูแล้ว ดิฉันคิดว่าไม่ต้องพูดกันมาก ไม่ต้องพูดกันยาว สิทธิของมนุษยชนที่ถูกต้อง มีอยู่อันเดียว ข้อเดียว ประการเดียว ถ้าทำข้อนี้ได้ ประการนี้ได้ ปัญหาอย่างอื่นไม่ต้องพูดกัน สิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องก็คือ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีปัญหา หรือไม่มีความทุกข์ นี่คือสิทธิของมนุษย์ทุกคน เป็นสิทธิของมนุษยชนไม่ว่าเป็นชนชาติไหน ภาษาไหน นี่คือสิทธิที่จะต้องเกิดมาแล้ว ต้องมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีปัญหา หรือไม่มีความทุกข์ และนี่แหละคือเป้าหมายของชีวิตด้วย ที่ถามว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร เพื่ออันนี้ เกิดมาเพื่อทำสิทธิอันนี้ สิทธิของความเป็นมนุษยชนให้ถูกต้อง คือให้ชีวิตนี้ไม่มีปัญหา หรือไม่มีความทุกข์
นอกจากนั้น ก็จะต้องสามารถมีชีวิตเพื่อวันนี้ เพื่อขณะนี้ ตามภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาคน ที่ว่าตามภาษาธรรม ชีวิตเพื่อวันนี้ ขณะนี้ ไม่ใช่ภาษาคน ถ้าภาษาคนก็บอกว่า มีชีวิตเพื่อวันนี้ หรือว่าอยู่เพื่อวันนี้ ก็จะบอกว่า เอาเพื่อวันนี้แล้ว กินให้สบาย เล่นให้สบาย เที่ยวให้สบาย เสเพลให้สบาย นั่นเป็นภาษาคน เพราะมันไม่นานนี่ มันจะตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องไปทำอะไรให้มันดีทำไม ไม่จำเป็น นั่นเป็นภาษาคน ก็จะทำตามใจของตัว แต่ภาษาธรรมนั้น มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพื่อขณะนี้ อย่างไร ก็คือหมายความว่า มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ ขณะนี้ ด้วยความสามารถที่จะทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่โดยธรรมอย่างอิสระ อย่างความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นทาสของสิ่งใด ซึ่งการที่จะทำอย่างนี้ได้ ไม่ใช่ของง่าย ที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพื่อขณะนี้ ไม่ใช่ของง่าย เป็นของยากอย่างยิ่งเลยทีเดียวนะคะ
คำว่า “ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยธรรม” ทำอย่างไรถึงจะทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยธรรม นั่นก็คือ การกระทำที่ทำอย่างชนิดไม่มีตัวเราเป็นผู้ทำ อย่างที่ดิฉันเคยเล่าถึงภาพในโรงมหรสพทางวิญญาณที่เป็นภาพถ่ายของท่านอาจารย์สวนโมกข์ เป็นภาพของท่านยืนหันหน้าเข้าหากัน คือเป็นองค์ท่านทั้งสององค์นี่แหละ ทั้งสองภาพนี่แหละ เป็นตัวท่าน แล้วก็ยืนหันหน้าเข้าหากัน แล้วก็มีประโยคเขียนข้างล่างว่า “ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร” ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร เราก็ไม่เชื่อนะคะว่าท่านอาจารย์สวนโมกข์ไม่ได้ทำอะไร ทั้งวันก็นั่งเก้าอี้โยกเอนไปเอนมาอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร เราไม่เชื่อหรอก ก็ตลอดระยะเวลาหกสิบปีของสวนโมกข์นี้ ท่านอาจารย์ก็ทำงานอย่างเต็มที่ อย่างสุดกำลัง ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และกำลังแห่งพลังธรรมที่มีอยู่ในจิตของท่านตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งสวนโมกข์ฟากโน้น มีสถานที่ มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับผู้ที่สนใจจะมาปฏิบัติธรรม มีสวนโมกข์นานาชาติด้านนี้ เพื่อผู้คนทั่วโลก ไม่เลือกชาติ เลือกภาษาที่สนใจอยากจะมาศึกษาฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรมเพื่อความมีชีวิตเย็นเป็นประโยชน์ แต่กระนั้นท่านก็ยังเขียนว่าทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร มีความหมายอะไรที่ให้คิดบ้างไหมคะ ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร มนุษย์ส่วนมากนี่ ส่วนมากเกือบได้ว่าร้อยก็ทั้งร้อย พอพูดอะไรคุยอะไรก็มักจะชี้ นี่ก็ฉันทำ นั่นก็ฉันทำ โน่นก็ฉันทำ แต่ถ้าอะไรไม่ดีละก็ มันทำ ไม่ใช่ฉันทำ มันทำ อย่างที่เราเห็นตะโกนกันอยู่ทุกวันนี้ ในวงการต่างๆ ทุกวันนี้จากหน้าหนังสือพิมพ์จากข่าวสารโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่ ฉันทำ ฉันทำ ฉันทำ เป็นงานของฉัน เป็นงานของฉัน เพื่อประกาศความเป็นตัวตนทั้งนั้น และเราไปดูจริงๆ คนเหล่านั้นทำงานได้สักเท่าไร ไปดูจริงๆ สิคะ ทำงานได้สักเท่าไร นับชิ้นได้ไหม และก็ยิ่งแล้วกว่านั้น คนบางคนบอกว่า ฉันอุทิศเวลาเพื่อการทำงานตลอดเวลาเลย เช้ายันค่ำ ค่ำยันสว่าง ทำงานตลอด แต่ทำไมนะ งานมันถึงไม่เห็นผล ก็ลองไปเฝ้าดู หรือบางทีเกี่ยวกับตัวเราเอง ก็จะนึกได้ว่า ตัวนั่งอยู่กับโต๊ะทำงานที่ทำงานวันหนึ่งแปดชั่วโมง ก็นั่งอยู่กับโต๊ะทำงานไม่ได้ไปไหนหรอก มือก็จับปากกา ขีดเขียนอะไรต่ออะไรไป แต่งานที่จะต้องทำ นี่แหมมันยังคั่งค้างเป็นกองสูง มันไม่เสร็จในวันหนึ่ง เพราะอะไร ก็เพราะขณะที่มือจับปากกา ใจมันอยู่กับปากกาหรือเปล่า มันไม่อยู่ มันเร่ร่อนไปกับความคิด ความรู้สึกกับอดีต กับอนาคต ความวิตกกังวล ความลังเลสงสัย ความขมขื่นเจ็บปวด ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ความอยากได้ ความไม่อยากเสีย ใช่ไหมคะ สารพัด มันวิ่งวุ่นไปโน่น แต่เราก็บอก แหมฉันทำงานเต็มที่แปดชั่วโมง ทำไมงานมันไม่รู้จักเสร็จสักที ก็เพราะมันมีตัวฉันเป็นผู้ทำ และตัวฉันนี้ก็เต็มไปด้วยความวิตกกังวล เต็มไปด้วยความรู้สึกต่างๆ นานา ขึ้นๆ ลงๆ สารพัด เพราะฉะนั้น งานมันจึงไม่เดิน งานมันจึงไม่มีมาก แต่นี่ทำไมงานถึงมากมายก่ายกอง ไปดูงานในศาลาธรรมโฆษณ์ที่เป็นงานเขียนของท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้จะนับได้ยังไงว่าจำนวนหนังสือ จำนวนเทปที่ท่านพูดบรรยายมามากมายมหาศาล อย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นงานของบุคคลแต่ผู้เดียว นี่แหละประโยคที่บอกว่า ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร
พอเป็นดัชนีชี้ให้เห็นไหมคะว่า ถ้าอยากจะทำงานเพื่องานโดยธรรมจะต้องมีวิธีการทำงานอย่างไร แล้วปัญหาจะไม่เกิด หรือเกิดขึ้นก็เพียงแต่สักว่าเป็นปัญหา ที่เมื่อทำงานขึ้นมันต้องมีปัญหาทั้งนั้น แต่ปัญหานั้นมันก็เป็นแต่สักว่าปัญหา ทำไมถึงว่าสักว่าปัญหา เพราะมันไม่เข้ามาทิ่มแทงใจ มันไม่เข้ามาทิ่มแทงใจให้ใจนั้นมันหนักอึ้งเป็นภาระต้องแบกหามจนกระทั่งเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย มันเป็นสักว่าปัญหา ก็คือพอรู้ว่าปัญหาก็แก้ แก้ด้วยสติปัญญา ด้วยประสบการณ์ ถ้าประสบการณ์ไม่พอ สติปัญญาไม่พอ ไต่ถามผู้รู้ หาที่ปรึกษา หาผู้แนะนำ แต่ไม่เอามาทิ่มแทงหัวใจ ฉะนั้นพลังใจก็ไม่ต้องเสีย ไม่ต้องอ่อนเปลี้ย ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ทั้งความรู้ ทั้งสติปัญญา ทั้งประสบการณ์ก็ทุ่มเทลงไปในการทำงานได้เต็มที่ ฉะนั้นบุคคลเช่นนี้ถ้าทำงานแปดชั่วโมง งานมันก็ได้คุ้มค่าแก่การทำแปดชั่วโมง สิบชั่วโมงก็คุ้มค่าแก่สิบชั่วโมง ห้าชั่วโมงก็คุ้มค่าแก่ห้าชั่วโมง เห็นไหมคะ เมื่อใดที่ไม่เอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำ เมื่อนั้นผลมันจะออกมางดงาม เรียบร้อย รวดเร็ว และที่สุดก็คือ สบาย ด้วยความสงบสบายไม่หนักอกหนักใจ เอาง่ายๆ การมานั่งทำสมาธิ มาปฏิบัติสมาธินี่ เรียบร้อยดีไหมคะ พอนั่งเข้าจิตรวมสงบเป็นสมาธิพร้อมอยู่ด้วยสติปัญญา สบายดีไหม ไม่สบาย เพราะอะไร นึกไหมคะว่าเพราะอะไร พอนั่งสมาธิเข้า โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติใหม่จะมีความรู้สึกอยู่ในใจ “ฉันกำลังจะทำสมาธิ” เห็นไหม ฉัน ตัวฉัน เข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้นพอฉันจะทำสมาธินี่ อะไรตามมา ความเครียด เครียดเคร่ง เพราะเมื่อฉันจะทำ ฉันต้องทำให้ได้ ยิ่งฉันตัวเก่งๆ ไม่เคยเลยที่จะทำอะไรไม่ได้ ฉันทำอะไรมันต้องสำเร็จทุกอย่าง แล้วทำไมกับการนั่งสมาธิแค่นี้ มานั่งสงบหลับตา แล้วฉันทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เท่านั้นแหละ มันก็ทำไม่ได้ เพราะตัวตนมันเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่เห็นไหมคะ ความเป็นตัวฉันนี่
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรม แม้แต่ในการปฏิบัติธรรมที่มองดูเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องออกแรงลงทุนข้างนอกสักเท่าไร ท่านจึงบอกว่าต้องไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เอาตัวตนเข้ามาในขณะที่ทำสมาธิ ลืมความเป็นตัวตนเสีย ลืมความเป็นฉันเสีย ฉันจะเป็นอะไรมาจากไหน เป็นครู เป็นอาจารย์ หรือว่าเป็นแพทย์ เป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือว่าเป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นอะไรก็ตาม “ไม่เป็นอะไรเลย” แต่รู้ว่าวิธีทำ คือทำอย่างนี้ ตามที่ได้รับการบอกอธิบายมาก็ทำให้ถูกต้องตามวิธีนั้น โดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ เท่านั้นมันก็หมดปัญหา หมดปัญหาอย่างไร จะสังเกตได้เริ่มต้น ไม่มีความเกร็ง ใช่ไหมคะ ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องค่อยๆ เผยอตามองดูเพื่อนข้างๆ เขาทำอย่างไร เขานั่งเงียบ เขานั่งสงบดีไหม ถ้าเขานั่งสงบ เรายิ่งไม่สงบ ทำไมถึงไม่สงบ โกรธขัดใจ ทำไมถึงไม่สงบเหมือนอย่างเขา อันที่จริงที่เขาทำนั่งสงบข้างในเขาอาจจะวุ่นเต็มที่เลย แต่เขาก็แข็งใจทำเป็นสงบหลอกเพื่อน เพื่อนที่คอยดูคนอื่น ชอบเปรียบเทียบแล้วมีตัวตนมันต้องเปรียบเทียบก็เลยยิ่งวุ่นวายใหญ่ เห็นไหมคะ นี่คือความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นถ้าเอาความเป็นตัวตนนี่ออกมาเมื่อไร ไม่ว่าในกิจการอันใดทั้งนั้น ทั้งงานเล็ก งานใหญ่ งานขี้ปะติ๋ว แม้แต่การเข้าห้องน้ำ วันนี้จะต้องนั่งให้สบายเสียหน่อย เท่านั้นแหละ แหมมันเหนื่อย มันไม่ค่อยจะทำตามอย่างที่เราอยากเลย แล้วมันก็ไม่ค่อยจะเป็นอย่างที่เราต้องการเลย คนที่เป็นริดสีดวงนี่ก็เพราะเหตุนี้ เพราะความมีตัวตน จะต้องเอาให้มันรวดเร็ว มันเสร็จเร็ว แล้วก็ให้เกลี้ยง และก็เต็มที่เลย โรคริดสีดวงถึงถามหา เห็นไหมคะ
ความมีตัวตน ความเป็นฉันนี่มันก่อปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตทุกหนทุกแห่งเลย แต่ถ้าหากว่ารู้จักทำตามหน้าที่ เพื่อหน้าที่โดยธรรม โดยธรรมก็คือว่า ไม่เอาความเป็นตัวตนเข้าไป เมื่อรู้ว่างานสิ่งนี้เป็นงานที่จะต้องทำ ทำอย่างไร ใช้ความรู้ ใช้ประสบการณ์ ใช้ความสามารถของตนทุ่มเทลงไปให้เต็มที่เพื่อการกระทำอันนั้น โดยไม่เอาตัวฉันเข้าไป มันก็จะเสร็จเรียบร้อย เหมือนอย่างที่ดิฉันเห็นรูปภาพนี้ที่ในโรงมหรสพครั้งแรกก็ย้อนนึกไปถึงตัวเองสมัยที่ทำงาน และก็เปรียบเทียบใคร่ครวญ ก็มองเห็นว่า อ๋อ! เราก็เคยนะ วันไหนที่เราทำงาน และเราก็บอกเพื่อนว่า แหมวันนี้งานเสร็จไม่รู้ตัว เคยใช่ไหมคะ แหมวันนี้ทำไมทำงานเสร็จไม่รู้ตัว และเมื่อวันไหนที่เราบอกว่าวันนี้งานเสร็จไม่รู้ตัว วันนั้นมันสบาย มันเบิกบาน มันสดชื่น มันแจ่มใส มันก็ทำงานเท่าเดิม มากเท่าเดิม แต่ความเหนื่อยไม่ค่อยมี โดยเฉพาะเหนื่อยใจมันไม่มี มันมีก็มีแต่เหนื่อยกาย เคยไหมคะ คนที่ทำงาน แหมวันนี้งานเสร็จไม่รู้ตัว เพราะอะไร เพราะวันนั้นไม่ได้เอาตัวเข้าไปทำ มันก้มหน้าก้มตาทำ มันอยากจะให้งานเสร็จ ก้มหน้าก้มตาทำ ใช้สติปัญญาความสามารถ ไม่ค่อยไปมองดูว่า เพื่อนร่วมงานคนนั้นขี้เกียจ คนนั้นถ่วงงาน คนนั้นโง่ ทำงานไม่ใช้สติปัญญา อย่างนี้มันไม่ได้ดั่งใจ แล้วผลที่สุด โอ๊ยตาย! วันนี้ทำงานเท่าไรไม่เสร็จสักที พอสิ้นวันก็ต้องอุทานอย่างนั้น เพราะใจมันมัวไปเสียเวลาอยู่กับความครุ่นคิด เพ้อเจ้อต่างๆ การเปรียบเทียบ การวิเคราะห์วิจารณ์ การตัดสิน การแบ่งแยก แล้วผลที่สุดกำลังที่จะใส่ลงไปในการทำงานมันก็หดหายไป ผลก็คืองานก็ไม่เสร็จเท่าที่ควรจะเสร็จ และใจก็อ่อนเปลี้ยเหน็ดเหนื่อย
ที่พูดอย่างนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การทำงานอย่างมีตัว ก็คือการทำงานอย่างที่เราบอกว่า ไม่ใช่โดยธรรม คือโดยธรรมะ ไม่ใช่เป็นการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แต่ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถจะมีชีวิต คือบังคับฝึกฝนอบรมใจของตนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่สามารถมีชีวิตเพื่อวันนี้ เพื่อขณะนี้ โดยธรรมะก็จะพยายามทำแต่หน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เต็มฝีมือความสามารถ โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนผู้ทำ ดิฉันขอย้ำนะคะว่า โดยภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาคน อย่าเอามาปนกัน ถ้าภาษาคนก็ กิน เที่ยว เล่นนี่มันสบาย วันนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก หรือบางคนเป็นเศรษฐีมีเงินมาก เอาเงินมาโปรยแจกเขาไปหมดเลย เพราะว่ามันก็อยู่แค่วันนี้ นั่นก็มองดูเหมือนกับว่าเป็นการทำทาน แต่อันที่จริงแล้วเป็นการทำทานอย่างโง่เขลา ไม่ได้ใช้สติปัญญา มันไม่ถูกต้องนะคะ เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่โดยธรรม มันก็ต้องมีจุดมุ่งหมาย มาทำหน้าที่โดยธรรมเพื่ออะไร ก็เพื่อความมีชีวิตเย็น และเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และเพื่อนมนุษย์ มันต้องมีจุดมุ่งหมายอยู่ตรงนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดได้พยายามฝึกจนกระทั่งมองเห็นปรับเปลี่ยนทิฐิ ให้เป็นสัมมาทิฐิจนเห็นว่าชีวิตนี้เป็นของธรรมชาติ มาจากธรรมชาติ และผลที่สุดก็จะกลับไปสู่ธรรมชาติ ก็จะสามารถเข้าใจสิทธิของมนุษยชนว่า จะต้องมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างชนิดไม่มีปัญหา หรือไม่มีความทุกข์ แล้วก็จะสามารถมีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ ขณะนี้ ในภาษาธรรม นั่นคือ สามารถทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายว่า เพื่อความมีชีวิตเย็น และเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ เพราะนี่คือหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ทุกคน และนอกจากนั้นก็จะสามารถสร้างสรรค์ความรักที่ดิฉันอยากจะเรียกว่าเป็นความรักที่เป็นสุญญตา
รู้จักคำว่าสุญญตากันแล้วใช่ไหมคะ สุญญตา ก็คือความว่าง ด้วยสุญญตาธรรม ความรักที่เป็นความที่เป็นสุญญตา มันเป็นอย่างไร นึกออกบ้างไหมคะ บางท่านอาจจะบอกว่า จืดชืด ไร้รสชาติ ความรักอย่างนี้ไม่มีรสชาติ ไม่จริงหรอก มี มีรสชาติ แต่เป็นรสชาติอีกอย่างหนึ่ง ความรักที่เป็นสุญญตาธรรม หรือประกอบไปด้วยสุญญตาธรรม คือความรักที่เป็นอย่างไร ถ้าหากว่าสามารถปรับจิต คือปรับทิฐิให้เป็นสัมมาทิฐิ และกระทำข้อที่หนึ่งได้ ข้อที่สองได้ ข้อที่สามจะตามมาโดยอัตโนมัติ ข้อที่สาม คือการสร้างสรรค์ความรักที่เป็นสุญญตาธรรม มันจะตามมาโดยอัตโนมัติ ความรักที่เป็นสุญญตาธรรมก็คือ ความรักที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความจำกัด ไม่มีความจำกัดว่า นี่เป็นเพื่อน นี่เป็นลูก นี่เป็นพ่อแม่ นี่เป็นพี่น้อง นั่นเป็นคนอื่น นั่นเป็นคนไม่ชอบ นั่นเป็นศัตรู นี่คนละชาติคนละภาษา ไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ความรักที่เป็นสุญญตา ก็คือความรักที่ประกอบไปด้วยความเมตตา ความกรุณา ที่ไม่มีความจำกัด เพราะสามารถที่จะเห็นได้ว่า ทุกชีวิตเป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนร่วมแก่ ร่วมเจ็บ ร่วมตาย ด้วยกันทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น เราก็ช่วยกัน ถ้าเราสามารถช่วยกันได้อย่างนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างที่เราพบอยู่ทุกวันนี้ อย่างที่เขาบอกว่าทางสถิติของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ทำการวิจัยในขณะนี้คนในกรุงเทพฯ นี่คิดฆ่าตัวตาย หรืออาจจะฆ่าตัวตายไปแล้วชั่วโมงละสองคน นี่เป็นสถิติที่เขาพูดกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง ทำไมถึงจะคิดฆ่าตัวตายชั่วโมงละสองคน มันไม่น่าเชื่อ ก็เพราะเขาเห็นว่าชีวิตนี้มันเป็นปัญหา ทำไมถึงเป็นปัญหา ก็เพราะเขายึดว่าชีวิตนี้เป็นของเขา แต่ถ้าเราเปลี่ยนทิฐิเสีย มันไม่ใช่ของใคร มันเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ต่อกัน ถ้านึกได้อย่างนี้เท่านั้น ปัญหาก็หมด ศิลปะของการปฏิบัติ หรือฝึกฝนอบรมใจ เพื่อที่จะให้เข้าถึงความหมดปัญหา หรือหมดทุกข์ ทำอย่างไร ภายในเวลาอันสั้นนี้ก็ขอเรียนไว้สั้นๆ แต่เพียงว่า “จงศึกษาธรรมชาติ” ศึกษาธรรมชาติให้ประจักษ์ชัดในสัจธรรมของกฎของธรรมชาติ ได้ทราบเรื่องกฎของธรรมชาติแล้วใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าเราศึกษาธรรมชาติ ไม่ต้องไปเอาธรรมชาติข้างนอก ธรรมชาติข้างในที่ตัวนี้ ที่ตัวเรานี้ ศึกษาธรรมชาติข้างในที่ตัวเรานี้ให้เห็นชัด ให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น เราก็จะเห็นกฎของธรรมชาติ ที่ธรรมชาติบอกเอาไว้แล้ว ตั้งแต่ให้มา ให้ชีวิตนี้มาตั้งแต่ทีแรก ธรรมชาติบอกเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น ว่าชีวิตนี้ไม่เที่ยงหนอ กายนี้ก็ไม่เที่ยง จิตนี้ก็ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรคงที่เลย มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ เพียงแต่ว่ามนุษย์ไม่อยากมอง
ถ้าหากว่าเราศึกษาธรรมชาติของร่างกายนี้ ถ้าไม่กล้า นั้นก็ไปบ้านพักคนชรา เสียสละเวลาไปบ้านพักคนชรา เข้าไปในโรงพยาบาล ไปในสถานคนพิการ นี่จะมองเห็นเอง ตัวความเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติบอกเอาไว้ บอกเอาไว้ตั้งแต่ให้ชีวิตนี้มา มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยทุกระยะๆๆ ไม่มีอะไรคงที่ ทั้งภายนอก และภายใน ถ้าหากว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงอันเป็นกฎของธรรมชาติ คือ “อนิจจัง” ไม่ช้าก็จะเห็น “ทุกขัง” คือความทนอยู่ไม่ได้ ความทนอยู่ไม่ได้ของร่างกายนี้ เหมือนอย่างที่พูดเมื่อครู่ว่า พยายามจะต่อต้านธรรมชาติด้วยการไปหาแพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้ แต่ก็หาคงอยู่ได้ไม่ มันก็ไม่อยู่ ต้องกลับไปทำซ้ำอีกๆๆ จนกระทั่งมันเละไปหมด เพราะฉะนั้น นี่แสดงถึงทุกขัง คือความทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลง ถ้าผู้ใดฝืนก็คือทุกข์ และเป็นปัญหา และเมื่อใดที่ศึกษาธรรมชาติอันนี้ ดูไปซ้ำไปให้ลึกเข้า ละเอียดเข้า ไม่ช้าก็จะเห็นความเป็น “อนัตตา” ซึ่งตรงกันข้ามกับอัตตา คือความเป็นตัวตนที่ยึดอยู่ จะเห็นความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นตัวตนตามสมมติที่มองเห็นเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้ว มันหามีอะไรเป็นตัวตนสักอย่างไม่ ไม่ว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม นี่คือกฎของ “ไตรลักษณ์” ที่มันมีอยู่ในธรรมชาติ จะมองเห็นกฎของธรรมชาติ แล้วก็จะมองเห็นอีกด้วยว่า ทุกอย่างเมื่อมีเหตุ มันก็มีผล เมื่อมีผลเกิดขึ้น มันต้องมาจากเหตุอันนั้นแหละ ที่เรียกว่า “กฎอิทัปปัจจยตา” ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาลอยๆ ในโลกนี้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ ทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุ รูปธรรม และสิ่งที่เป็นนามธรรม นี่เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงศึกษา
ถ้าสามารถศึกษาธรรมชาติจนกระทั่งประจักษ์ชัดในสัจธรรมของกฎของธรรมชาติอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้า และหายใจออกแล้ว ก็แน่นอนที่สุดจะสามารถดำรงชีวิตนี้อยู่ได้อย่างไม่มีปัญหา และก็อย่างไม่มีความทุกข์ และก็แน่นอนที่สุดนะคะที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติ “จิตตภาวนา” เหมือนดังที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติจิตตภาวนา นี่คือเป็นศิลปะของการพัฒนาชีวิตที่จะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในความถูกต้องได้ และนี่แหละก็คือ ชีวิตอันประเสริฐของมนุษย์ หรือเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ ฉะนั้นถ้าเราพูดกันถึงเรื่องของชีวิต เราก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีอะไรมากเลย พูดง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ทำใจให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต ดูความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นทุกขณะด้วยใจเป็นกลาง ด้วยความสงบใจ ก็จะเห็นชัดด้วยใจเองว่า “เมื่อใดหมดตัว ก็หมดทุกข์” แต่หมดตัวนี่ก็อีกเหมือนกัน เป็นภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาคน ถ้าภาษาคน ไม่เอาหมดตัว ก็คือคนไม่มี สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีบ้าน ไม่มีช่อง ไม่มีเงินทองข้าวของ ไม่มีลูกหลาน ทรัพย์สิน บริวาร นั่นคือ หมดตัวภาษาโลก แต่นี่หมดตัวภาษาธรรม ก็คือ หมดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน หมดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนเมื่อใด ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น หมดน้อย คือหมดตัวตนน้อย มันยังอยู่อีกมาก ก็หมดทุกข์น้อย มันยังมีทุกข์อีกมาก แต่ถ้าสามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนให้ลดลงๆๆ ได้เท่าใด ความทุกข์ หรือปัญหาของชีวิตก็จะลดลงๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นทุกท่านที่ปรารถนาชีวิตเย็น และเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ก็ขอได้โปรดลองคิดดูนะคะ เพื่อให้คุ้มค่าแก่การที่ได้อุตส่าห์สละเวลามา เพื่อมาฝึกฝนอบรมจิตตภาวนาซึ่งไม่ใช่งานที่ง่าย ไม่ใช่งานที่สบาย มาอยู่อย่างลำบาก มาอยู่อย่างชนิดที่ต้องบังคับควบคุมกาย วาจา ใจของตนเป็นอย่างยิ่งทีเดียว แต่ก็จงโปรดฝึกปฏิบัติจนกระทั่งเห็นชัดว่า ถ้าเราทำจริง ก็ได้ผลจริง และก็จะคุ้มค่าแก่เวลาที่ได้อุทิศ หรือว่าเสียสละเวลามา แล้วก็อยากจะกล่าวด้วยว่า นี่คือหน้าที่ของชีวิต และเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ น่าเสียดายที่มนุษย์เราละเลยหน้าที่อันนี้ ปัญหาของชีวิตจึงเกิดขึ้น และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเอง แต่ไปเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับผู้อื่น และก็มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันดังที่เราเห็นแล้ว
ฉะนั้นถ้าหากว่า เราหนึ่งชีวิตทำชีวิตเราให้เย็นได้ แล้วก็แผ่ความเย็นไปยังผู้ใกล้เคียง จากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด แปดเป็นสิบหก สิบหกเป็นสามสิบสอง ไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่าความสุขสงบเย็นจะเกิดตามมาในสังคมอย่างรวดเร็ว แล้วก็ที่จะถามว่า แล้วจะทำให้บุคคลอื่น จะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย คุณย่า คุณปู่ หรือว่าเพื่อนฝูงที่เขาร้อนๆ ที่เขามีความทุกข์ ที่เขามีความเจ็บปวด เขาอยู่ด้วยความวิตกกังวล ให้เขามีความชีวิตเย็นได้อย่างไร คำเสนอแนะของดิฉันก็คือว่า อย่าพยายามไปสอนไปอบรมเขาเลยนะคะ กลับไปนี่ยังไม่ต้องไปสอนไปอบรมใคร แต่ทำให้เขาดู ทำให้เขาดูว่าชีวิตเย็นนะมันเย็นอย่างไร ใจสงบสงบอย่างไร ทำประโยชน์เพื่อตนเอง และเพื่อนมนุษย์ทำอย่างไร ทำให้เขาดู นี่คือการบอก หรือการแนะนำธรรมะต่อเพื่อนมนุษย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปบอก ไม่ต้องไปสอน ยิ่งบอกยิ่งสอน เรานั่นแหละจะร้อน เพราะมันจะเกิดความเป็นตัวตน ฉันบอกแล้วไม่เห็นทำตาม ฉันสอนแล้วก็ไม่เห็นทำตาม ให้ทำวัตรก็ไม่ทำ ให้นั่งสมาธิก็ไม่นั่ง แล้วเราเองล่ะ เพราะฉะนั้นจงทำให้เขาดู แล้วอันนี้แหละค่ะ คือวิธีที่สร้างความมีชีวิตเย็นให้เกิดขึ้นในใจของเรา แล้วผลที่สุดก็จะเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ให้เกิดความเย็นได้ทั่วกัน ก็ขออนุโมทนาต่อทุกท่านนะคะ ที่ได้มาร่วมการปฏิบัติจิตตภาวนาด้วยความตั้งใจมั่น และก็เชื่อว่าพวกเราทุกคนที่ได้อบรมจิตตภาวนาไปนี้ ย่อมจะต้องมีจิตที่เจริญอันเป็นความเจริญที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ ก็ขอให้ทุกท่านจงได้มีความเจริญสุขอยู่ด้วยธรรมทั้งกายและใจ ธรรมะสวัสดีทุกคนค่ะ