แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กว้างๆ ก็ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี่เป็นสิ่งที่เรามองเห็นง่าย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นสิ่งที่เรามองเห็นง่ายเหมือนกับว่าเป็นรูปธรรม จากนั้นก็ไปถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ยศ ศักดิ์ ชื่อเสียง ตำแหน่ง เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง บริวาร ข้าทาสชายหญิง อะไรทุกอย่าง ความหลงเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มีลูกก็เพลิดเพลินอยู่ในลูก มีหลานก็เพลิดเพลินอยู่ในหลาน พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้รักลูก ไม่ให้รักหลาน รักก็จงรักเถิดแต่อย่ารักด้วยความหลง เพราะถ้ารักด้วยความหลงเมื่อไหร่ทุกข์เกิดเมื่อนั้น
ฉะนั้นความหลงในความเพลิดเพลินที่เราเรียกได้ว่า เป็นกามฉันทะ เป็นกามฉันทะสิ่งนี้เราพึงที่จะลดมันอย่าให้ถึงกับมัวเมา จนกระทั่งลืมตาไม่ขึ้นแล้วก็จำไม่ได้ ในบรรดา ๓ อย่างที่พูดมานี้นะคะ การปรุงแต่งที่เรียกว่า สังขาร ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจที่เรียกว่า วิจิกิจฉา ความหลงเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เรียกว่า กามคุณห้า กามฉันทะที่มันลึกลงไปอีกกว่านั้น ในเรื่องของสิ่งที่เป็นนามธรรม อำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ อะไรเหล่านี้ ถ้าจะดูไปแล้วล่ะก็ใน ๓ อย่างนี้ สิ่งที่มันจะผสมอยู่ตลอดเวลาคือ วิจิกิจฉา หรือความลังเลสังสัย พอปรุงแต่ง ทำไมถึงต้องปรุงแต่งก็ปรุงแต่งเพราะมันไม่แน่ใจถ้าแน่ใจแล้วไม่ต้องไปปรุงแต่งให้มันเสียเวลา ทำไมถึงหลงก็เพราะมันไม่แน่ใจมันจึงหลง ถ้ามันแน่ใจแล้วไม่ต้องหลงเพราะมันรู้แล้วว่า อะไรคืออะไร แต่นี่เพราะไม่รู้ไม่แน่ใจ นี่เป็น ๓ อย่างที่ควรจะพึงลด
อย่างที่ ๔ ต่อไปก็คือ ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นมีมาก ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ คือหมายความว่ายิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่ ยิ่งศึกษาสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งปริญญายาวมากเท่าไหร่ ความยึดมั่นถือมั่นยิ่งมากเท่านั้น ในการประชุมในการอภิปรายกันเชื่อว่า ทุกท่านคงจะมองเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการประชุมการอภิปรายนั้นมาจากความยึดมั่นถือมั่นของผู้ที่พูด เช่นยึดมั่นถือมั่นในความรู้ของฉัน ความรู้ของฉันถูกกว่า แม้แต่เป็นความรู้ที่อยู่ในแขนงสาขาวิชาเดียวกันความรู้ของฉันก็ถูกกว่า ยิ่งสาขาวิชาต่างกันก็จะเห็นว่า ความรู้อย่างนั้น ปริญญาอย่างนั้นมันเรียนง่ายกว่าปริญญาของฉันเพราะฉะนั้นอย่ามาเทียบกัน นี่ความยึดมั่นถือมั่นใช่หรือไม่ หรือความยึดมั่นถือมั่นในความคิด ความคิดของฉันนั้น ถ้าฉันคิดอะไรแล้วไม่ผิดเราคงได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ท่านที่เชื่อว่าท่านไม่ผิด เราจะได้ยินบ่อยๆ ฉันคิดอะไรแล้วไม่ผิด ฉันว่าอย่างนี้จะต้องถูกมันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่หลายๆ ครั้งมันก็เป็นไปอย่างอื่น มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่ว่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดแต่ก็ถกเถียงกัน ทะเลาะกันอยู่นั่นแหละโดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ประชุม
ความยึดมั่นถือมั่นในความรู้ ในความคิด ในหลักเกณฑ์ ในมาตรฐานของเรา ฉันวางมาตรฐานอย่างนี้ ครูที่ดีต้องเป็นอย่างนี้ นักเรียนที่ดีต้องเป็นอย่างนี้ พนักงานที่ดีต้องเป็นอย่างนี้ อธิการบดีที่ดีจะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าผิดไปจากที่ฉันว่า ไม่ดี ใช้ไม่ได้ต้องแก้ไข เอาอะไรล่ะมาแก้ไข ฉันนี้แหละจะต้องเป็นคนแก้ไขเพราะฉะนั้นก็ขอได้โปรดสังเกตว่า ตัวอะไรที่เป็นตัวต้นเหตุ ที่เป็นตัวปัญหาทำให้เกิดการทะเลาะกัน วิวาทกันอยู่ทุกวันนี้ หรือบางทีก็ยึดมั่นในเชื้อสายวงศ์ตระกูล เชื้อสายวงศ์ตระกูลของฉันนะมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เธอไม่รู้เหรอ อ้าวของฉันนะเหรอก็อยู่สมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งยังเป็นเมืองหลวงอยู่เดี๋ยวนี้ ใครสำคัญกว่าใคร ก็ยังดีนะที่ไม่มีใครบอกว่า นี่มาจากสมัยสุโขทัย หรือสมัยน่านเจ้า เพราะบางคนก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น ก็ลองนึกดู นี่เป็นการยึดมั่นถือมั่นใช่หรือเปล่า หรือยึดมั่นถือมั่นในชื่อเสียง ในเกียรติยศของตน หรือบางทีก็ยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สินเงินทอง เชื้อสาย พี่น้อง วงศ์ญาติ เพื่อนฝูง บริวาร สรุปแล้วอยู่ที่ตรงไหน ตัวฉันนี่เอง ใช่หรือไม่ ตัวฉันใช่หรือไม่ที่เป็นตัวปัญหา ความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันใช่หรือไม่
ที่สวนโมกข์นะคะในโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งเจ้าประคุณท่านอาจารย์ หรือท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ ท่านได้รวบรวมภาพมาจากที่ต่างๆ ของจีน ของธิเบต ของญี่ปุ่น ของไทย และของประเทศอื่นก็มี นอกจากนี้ก็มี ท่านนำเข้ามารวมไว้เพื่อประโยชน์ที่จะให้ผู้ที่สนใจในธรรมแต่ว่าขี้เกียจอ่าน ขี้เกียจฟังแต่ว่าชอบดูก็จะได้ดูที่ภาพแล้วก็จะมองเห็นความหมายของธรรมะที่แฝงอยู่ในภาพนั้น แล้วแต่ละภาพส่วนมากจะมีคำอธิบายด้วย มีภาพๆ นึงที่ดิฉันอยากจะเอ่ยถึงตรงนี้นะคะ ก็คือภาพในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเราถือเป็นภาพที่สำคัญมากในโรงมหรสพทางวิญญาณ ได้รับคำขอร้องเวลาใครไป ก็มักจะขอให้ช่วยบอกซิว่า ภาพนี้มันเป็นอะไร ดิฉันจะเริ่มต้นด้วยคำถามว่า รู้ไหมตัวนั่นมันตัวอะไร ตัวนั่นถ้าเรามองหางเหมือนสิงโต ถ้าเรามองเท้าเหมือนเสือ ถ้าเรามองเล็บเหมือนหมี ถ้าเรามองหน้าจมูกมันเหมือนวัวก็ได้ เหมือนหมูก็ได้ ลูกนัยน์ตามัน แขนขามันสรุปแล้วมันเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถจะให้ชื่อได้ว่า มันคืออะไร แต่ก็สรุปได้อีกว่า มันเป็นสัตว์ที่น่าเกลียดที่สุดในโลกจนเราไม่สามารถจะให้ชื่อมันได้ว่ามันชื่ออะไร ฉะนั้นส่วนมากก็จะเรียกมันว่า เจ้ายักษ์
ยักษ์ที่น่าเกลียดน่ากลัวที่เหมือนปีศาจที่สุด ยักษ์ตัวนั้น แล้วดิฉันก็ถามว่า แล้วรู้ไหมว่ายักษ์ตัวนี้เป็นใคร ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าบอกว่า เคยส่องกระจกบ้างไหมในเวลาที่กำลังอยู่ในอารมณ์ที่ถึงขีด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์โลภะ อารมณ์ราคะ โลภะ โทสะ เคยส่องกระจกบ้างไหม เคยเห็นบ้างไหม ตัวเล็กๆ ที่มองดูสวยงาม ใกล้ๆ นางสาวไทย หรือว่า นางสาวจักรวาล หรือว่าหล่อสุดเหมือนอย่างพระเอกที่เขาเอาขึ้นป้ายบ่อยๆ นั้น แต่ถึงเวลาที่มันอยู่ในอารมณ์ที่ถึงขีดสุดนะ มันเหมือนตัวนี้ เคยสังเกตไหม แล้วตัวนี้มันอ้าปากแล้วมันก็กัดกินวงล้อ วงล้ออะไร คือวงล้อของชีวิต วงล้อของชีวิตของมนุษย์เราที่มันหมุนอยู่ทุกวันนี้มันไม่เคยอยู่กับที่เลย มันหมุนอยู่ตลอดเวลา หมุนช้าบ้าง หมุนเร็วบ้าง เร็วจี๋บ้างขึ้นอยู่กับอะไร ขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยง แรงเหวี่ยงของอารมณ์ หรือของความรู้สึกที่มันมีอยู่แล้วมันก็กัดกิน แล้วมันก็เหวี่ยงอยู่ตลอดเวลา ตัวนี้รู้ไหมตัวอะไร นี่แหละคือตัวฉัน ตัวฉันที่มีอยู่ ตัวฉันที่เอาออกมาทะเลาะกัน เอาออกมาตีกัน เอาออกมาแข่งขันกัน ตัวฉันตัวนี้ ถ้าไม่มีความยึดมั่นในตัวฉันเสียแล้วความทุกข์มันก็จะไม่เกิด เพราะอะไรล่ะ เมื่อเราจะพูดกัน จะอภิปรายกัน จะออกความเห็นกัน มันก็จะอยู่แต่บนพื้นฐานของความถูกต้องอันเป็นธรรม ไม่ใช่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องของฉัน แต่เมื่อใดที่เอาความถูกต้องของฉันออกมา แน่นอนที่สุดเมื่อนั้นวิกฤตการณ์เกิดขึ้น กลียุคเกิดขึ้น มันจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ถ้าหากว่า พูดถึงว่าสิ่งที่ต้องลดนะคะ ที่กล่าวมาแล้ว ๓ อย่าง การปรุงแต่งก็ดี ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจก็ดี หรือการหลงเพลิดเพลิน หลงใหลเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้วก็ดี ไม่มีความหมายเลยถ้าเราหยุดอันนี้ได้ ถ้าเราหยุดอันนี้ได้เท่านั้น คือหยุดความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันเท่านั้น เมื่อจะพูดอะไรต่ออะไรยกตัวฉันไปใส่หลุมปิดให้แน่นสนิทไว้เสียก่อน แล้วก็เอาแต่ความรู้เฉยๆ มาพูด เอาแต่ความคิดที่ถูกต้องอันเป็นธรรมมาพูดกัน เพราะฉะนั้นการต่อล้อต่อเถียง หรือการทะเลาวิวาท หรือความบาดหมางกัน มันก็จะไม่เกิดขึ้น ที่ประชุมนั้นจะเป็นที่ประชุมอันเต็มไปด้วยความสุข เหมือนอย่างบางเมือง บางประเทศในสมัยพุทธกาลที่มีการประชุมกันแล้วก็ประกอบไปด้วยธรรม ฉะนั้นความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันมันสำคัญมาก เพราะพอพูดออกไปเท่านั้น ไม่ถูกใจ เวทนาคือความรู้สึกจะเกิดขึ้น ความรู้สึกชอบไม่ชอบ ความรู้สึกเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ความรู้สึกคัดค้าน ความรู้สึกสนับสนุนมันจะเกิดขึ้นมาทันที พอมันเกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นความอยากที่จะทำตามความรู้สึกนั้น ถ้าคัดค้านก็จะคัดค้านเอาหัวชนฝา คัดค้านในห้องไม่พอไปคัดค้านนอกห้อง คัดค้านคนเดียวไม่พอชวนลูกศิษย์ลูกหามาคัดค้านด้วย ชวนเพื่อนฝูงมาคัดค้านด้วย กลับไปบ้านชวนลูกชวนเมียมาคัดค้านด้วย เพราะอะไร เพราะจะเอาให้ได้ ฉันว่าอย่างนี้ฉันจะต้องเอาให้ได้ หรือถ้าหากว่าเห็นด้วยก็เห็นด้วยอย่างชนฝาอีกเหมือนกัน มันจะเป็นธรรมหรือไม่ มันจะเป็นประโยชน์จริงๆ แก่ส่วนรวมหรือไม่ ไม่คิดไม่มอง ขอแต่ว่าให้มันเป็นไปตามที่ฉันต้องการ ขอได้โปรดเข้าใจนะคะว่า ที่เราวิ่ง เราเต้น เราเหนื่อย เราเศร้าหมอง เราขมขื่น เราชอกช้ำเพียงไรอยู่ที่ตรงนี้ที่มันพาเราวิ่งอยู่ตลอดเวลา มันอยู่ที่ตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ตรงอื่นเลย อยู่ที่ตรงนี้อันเดียวเท่านั้น ขอได้มองดู และมันเป็นสิ่งที่เส้นผมบังภูเขาอย่างที่ว่า หรือจะเป็นเส้นผมหนาไปก็จะเป็นไยบัวมันมาบัง จึงมองไม่เห็น ทั้งที่ตัวโตเหลือเกินแต่มองไม่เห็นเลย เพราะอะไร เพราะความรัก ความยึดมั่นในตัวเราที่มีมาแต่อ้อนแต่ออก แต่เล็กแต่น้อยมาจนบัดนี้
ในรูปนี้เป็นรูปที่ทำให้มองเห็นว่า วงเวียนชีวิตของมนุษย์เราที่หมุนอยู่ทุกวันนี้มันมีอะไรเป็นแกนหมุน สิ่งที่เป็นแกนหมุนคือ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉัน แล้วตัวฉันอันนั้น มันมองดูน่ารักเวลาที่อยู่ในความปกติ ก็หนูอย่างนั้น หนูอย่างนี้ หรือว่าเรียกชื่อตัวเอง โตอย่างนั้นนิดอย่างนี้ พอค่อยมีอะไรมาว่า มันไม่ค่อยจะชอบ ฉัน ฉันไม่ชอบนะที่เคยเป็นหนูก็กลายเป็นฉัน เคยเป็นน้องก็กลายเป็นฉัน แล้วก็เธอนะ อ้าวยังไม่ยึดติด จากเธอก็เป็นแก จากฉัน ข้า จากข้า ขอประทานโทษ กู พอกูขึ้นมาเมื่อไรมันออกมาเต็มรูปแล้วตัวฉันนี่ มันออกมาแผ่เต็มจอ มันพร้อมที่จะระเบิด ระเบิดตามอารมณ์ที่มันมากระทบนั่น เพราะฉะนั้นความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันสำคัญที่สุด แล้วมันฆ่าคนให้ตายแล้วตายเล่า วันหนึ่งๆ ตายไม่รู้กี่ร้อยครั้ง ไม่รู้กี่พันครั้ง ไม่ใช่ตายเพราะหยุดหายใจ แต่มันตายที่ข้างในจิต ในความรู้สึก ตายอยู่ที่ตรงนี้ ตายอยู่ตั้งเท่าไหร่ ร้องไห้คร่ำครวญตั้งเท่าไหร่ แต่ไม่รู้เข็ด ไม่รู้จำ เพราะไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมมองเห็นความจริงอันนี้ นี่คือสิ่งที่เราสมควรจะต้องลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉัน ความรู้ของฉัน ความคิดของฉัน มาตรฐานหลักเกณฑ์ของฉัน พี่น้องของฉัน วงศ์ญาติของฉัน เพื่อนฝูงของฉัน บริวารของฉัน อะไรของฉันต้องถูกหมด ขอได้โปรดสลัดมันทิ้งเสีย ถ้าสลัดมันทิ้งได้เมื่อไร นั่นแหละคือปัญญาชนที่แท้จริง ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ยังเป็นปัญญาชนที่จอมปลอม เพราะอะไร เพราะยังคงกระทำสิ่งที่ถูกต้องตามมาตรฐานของตนหาใช่สิ่งที่ถูกต้องโดยธรรมไม่
ทีนี้เมื่อเราลด เราก็หันมาดูว่าเราจะเพิ่มอะไร ที่จะเป็นโพธิ คือเป็นปัญญาที่จะเกิดขึ้นให้เกิดความกระจ่างแจ้งในใจ ข้อแรกก็คือเพิ่มการศึกษาธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นให้มองเห็นลงไปจนถึงความเป็นจริงของธรรมชาติว่า อันที่จริงธรรมชาตินั้นไม่มีอะไรเลย นอกจากความไหลเรื่อยไปตามธรรมชาติเท่านั้น พูดอย่างนี้มองเห็นไหมคะ แล้วก็ขอเรียนว่า ไม่ใช่แกล้งพูดให้เป็นสำนวนภาษาอะไรเลย แต่มันเป็นความจริง ถ้ายังมองไม่เห็น เชื่อว่าทุกท่านได้เคยไปเที่ยวชายทะเล อย่างน้อยที่สุดได้เคยไปยืนริมน้ำ เคยมองกระแสน้ำไหมคะ เวลาที่เราไปยืนอยู่ริมน้ำเราเคยมองกระแสน้ำไหม ไปดูแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ กระแสน้ำไม่มีอะไรมีแต่ไหลเรื่อย ไหลเรื่อยไปเท่านั้น กระแสน้ำไหลเรื่อยไปเท่านั้น มันกลับมาไหมมันไม่มีกลับมา มันไหลเรื่อยไปตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาติที่สร้างสรรค์มาเช่นนั้น ถ้าใครคิดอุตริขึ้นมาอยากจะหยุดแม่น้ำ หยุดการไหลเรื่อยของมันก็เอามือ หรือหาไม้มาขีดลงไปในแม่น้ำ เพื่อจะตัดสายน้ำให้มันขาดลงตรงนี้ มันก็ดูเหมือนว่า ตัดได้ในขณะที่เราเอาไม้ หรือเอามือขีดลงไปในสายน้ำนั้น แต่พอเรายกขึ้น สายน้ำมันก็คงไหลเรื่อยไปอีกตามปกติ มันไม่เคยหยุดได้เลย ชีวิตของคนเรา หรือความเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมามันเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างต้องไหลเรื่อยมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไหลเรื่อยมันคือหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่มันไม่คงที่ มันไม่อยู่กับที่ มันจะไหลเรื่อยไปเช่นนี้โดยตลอดมันไม่เคยอยู่คงที่เลยสักอย่างเดียว อย่างที่เราเคยมีต้นหมากรากไม้ เราปลูกต้นไม้ เวลาที่มันกำลังออกดอกเขียวชอุ่ม น่ารัก ดอกบานสล้าง เราก็บอกว่า อยู่แค่นี้นะ อยู่แค่นี้นะ อย่าโรย ดอกกุหลาบที่กำลังหอมกำลังสวย อย่าโรยนะ ใบที่มันกำลังเขียวชอุ่มขอเขียวอย่างนี้นะอย่าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลนะ ใครทำได้บ้าง ไม่มีใครทำได้เลยสักคน เราเลี้ยงลูกหมาลูกแมว ตอนเป็นลูกหมาลูกแมว มันน่ารักที่สุด เหมือนอย่างเด็กเล็กๆ มันน่ารักที่สุด พอโตเป็นวัยรุ่นมันน่าเกลียดที่สุด เพราะฉะนั้นเช่นเดียวกันกับลูกหมาลูกแมวพอมันโตใหญ่มันน่าเกลียด เราไม่อยากให้มันโต เราอยากให้มันอยู่เท่านี้นะ อยู่เท่านี้ ไม่เคยทำได้เลย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ธรรมชาติสร้างขึ้น หรือธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างในเมืองนี่เป็นธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น ใครหยุดได้บ้าง ในกรุงเทพมองเห็นได้ง่ายที่สุด เดินไปตามถนน หรือไม่ต้องเดินก็ได้เดี๋ยวรถทับตาย นั่งรถไปตามถนนดูเกาะซิ ดูเกาะกลางถนนเห็นไหมคะ อย่างดิฉันมานี่ ดิฉันเห็นที่ลาดพร้าวตั้งแต่ลาดพร้าวยังไม่ทำเกาะกลางถนน เดี๋ยวนี้ แล้วก็ทำกันใหม่ไม่รู้กี่ครั้ง บัดนี้กำลังจะรื้ออีกแล้ว แม้แต่ธรรมชาติ แต่อันนี้ดิฉันไม่ได้พูดว่า ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ขอให้อยู่ในวิจารญาณของทุกท่านเอง แต่นี่ก็แสดงความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่มันเป็นโดยธรรมมันก็เกิดจากคนเปลี่ยนแปลงที่มีธรรมะ ความเปลี่ยนแปลงที่มันเป็นไปโดยไม่เป็นธรรม มันก็เกิดจากคนกระทำโดยไม่มีธรรมในใจของตัวเองนั่นเอง มันก็เป็นสาเหตุที่จะดู เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า เราศึกษาดูความเป็นจริงของธรรมชาตินะคะจนกระทั่งมองเห็นว่า ความจริงของธรรมชาติที่แท้นั้น มันคือความเปลี่ยนแปลง ความคงที่ไม่มี มันเปลี่ยนแปลงไหลเรื่อยไปเหมือนกระแสน้ำตามเหตุตามปัจจัยของมัน แล้วเหตุปัจจัยจะเป็นอย่างไร ถ้าเหตุปัจจัยนั้นเกิดขึ้นจากผู้มีธรรม ผลที่เกิดขึ้นมันก็เป็นธรรม ถ้าเหตุปัจจัยนั้นเกิดขึ้นจากผู้ไม่มีธรรม ผลที่เกิดขึ้นมันก็ไม่มีธรรม แต่โปรดอย่าลืมว่าในความเป็นธรรมนั้นจะต้องไม่มีตัวฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้ามีตัวฉันขึ้นมามันต้องชักเย่อกันเสมอเลย มันจะอยู่ไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ต้องศึกษา แล้วก็ศึกษาได้ตลอด ศึกษาอย่างไร แม้นั่งในขณะนี้เราก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างคำพูดที่พูดไปแล้วมันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว นี่กำลังพูดคำใหม่ต่อไป แล้วก็จะพูดคำใหม่ต่อไป แล้วก็จะพูดเรื่องใหม่ต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันเป็นปัจจุบันนั้นมันไม่เป็นปัจจุบันที่คงอยู่ แม้แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัจจุบันอยู่ในขณะนี้มันก็ไม่อยู่ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดูสภาพของตัวเราเองมีอะไรคงที่บ้าง เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องการถ่ายรูปมาแล้ว ยกรูปของเรามาดูเรียงกัน หรือสภาพภายในจิตของเราเอง จิตของฉันฉันบังคับได้ไหม บังคับให้ชอบคนที่ฉันไม่เคยชอบหน้ามันเลย ชอบเขาเถอะดูความดีของเขาอย่าเอาความไม่ดีของเขามาเลย อะไรที่เขาทำให้เคยขัดใจมันก็แล้วไปแล้ว เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ทำแล้วแต่ความจำที่แสนเลวมันไม่ยอมปล่อย มันยึดมั่นอยู่นั่นแหละ เพราะเขาทำไม่ดี เพราะฉะนั้นจะต้องไม่ดีตลอดไป ดูจิตที่เป็นของฉัน บังคับได้ไหม เรายังบังคับไม่ได้ บังคับได้แต่จะให้ตามใจอยากของเราเท่านั้น แล้วเรายังจะบอกว่า อะไรเป็นของเรา อะไรเป็นของเราขอได้โปรดคิดนึกดู ใครที่บอกว่านี่ไงล่ะของฉัน โปรดยกมือชี้ให้ดูอะไรคือของฉัน ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว ฉะนั้นศึกษาดูความเป็นจริงของธรรมชาติที่มองเห็น นั่งรถในกรุงเทพฯดูจราจรในถนนจะเห็นมากที่สุด เราจะเห็นอนิจจังในชีวิตประจำวันได้ง่ายที่สุด ได้มากที่สุดตลอดเวลา ถ้าเราดูอันนี้อยู่เสมอจิตมันไม่ไปอื่น จิตมันจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่มันไหลเรื่อยไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งอื่นๆ ที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ มันก็เข้าไม่ได้เพราะในจิตดวงนี้มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาครองอยู่หมดแล้ว เนื้อที่ของจิตมันครองอยู่แต่เรื่องของการดูความเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ที่มันมีแต่ความเปลี่ยนเปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นโลภะมันอยากจะเข้ามาก็เข้าไม่ได้ โทสะอยากจะเข้ามาก็เข้าไม่ได้ โมหะอยากจะเข้ามาก็เข้าไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่เอาอันนี้ใส่เข้าไป แน่นอนที่สุดโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ที่มันพร้อมจะจู่โจมมันจะเข้าได้ทันที และเมื่อจิตใจนั้นถูกครอบงำด้วยกิเลสเช่นนี้แล้ว มันก็จะวิ่งโลดเต้นไปเหมือนกับยักษ์ร้ายตัวนั้น และก็กัดกร่อนให้วงเวียนชีวิตนั้นหมุนจี๋ไปอย่างชนิดไม่มีวันหยุด โดยที่ผู้ถูกหมุนนั้นหารู้ไม่ว่าเรากำลังถูกหมุนอย่างน่าสงสาร ทีนี้เมื่อเราฝึกการดูธรรมชาติให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติแล้ว ก็ควรที่จะต้องมีการปฏิบัติที่เป็นการลดกิเลส และเพิ่มโพธิไปด้วยในตัว เช่นอะไรบ้าง เช่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทั้งที่จริงในเวลาที่เราเรียนในเรื่องของการศึกษาเราก็ได้ยินเสมอว่า จงทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นะ แล้วก็รับมา แล้วก็ฟังไพเราะ แล้วก็น่าทำตาม แต่มีท่านผู้ใดสักกี่คนที่ได้ทำตามนี้บ้าง การที่จะทำตามหน้าที่เพื่อหน้าที่ได้อย่างแท้จริง ก็คือเอาตัวฉันไปทิ้งเสียอีกนั่นเอง หน้าที่ว่าอะไร ระเบียบว่าอะไร โครงการว่าอะไร รายละเอียดในการกระทำมีอะไร ทำตามนั้นให้ดีที่สุดที่จะดีได้ เมื่อเราพูดถึงว่ามีธรรมะ หรือว่าหาธรรมะเข้ามาใส่ใจแล้วจะกลายเป็นคนมืออ่อนเท้าอ่อน เป็นคนที่ไม่ต้องทำอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ตรงกันข้ามถ้าหากว่าท่านผู้ใดได้ฝึกจิต ให้เป็นจิตที่มีธรรมอยู่ในใจ เป็นจิตที่มีความสงบมีความเยือกเย็นแจ่มใส แน่นอนที่สุดจิตนั้นเป็นจิตที่พร้อมทั้งสติและปัญญา สติจะคอยบอกว่า ทำอะไรจะถูก ปัญญาจะคอยบอกว่า พูดอย่างไร ทำอย่างไร มันถึงจะเฉียบแหลม มันถึงจะคมคาย มันถึงจะใช้ได้ มันถึงจะเป็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ก็คือ จงทำให้ดีที่สุดให้เต็มฝีมือเต็มความสามารถที่จะทำได้เมื่อเสร็จแล้วก็หยุดได้แค่นั้น เพราะเราพอใจแล้ว พอใจแล้วภูมิใจแล้วว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด ใครจะว่าอย่างไรเป็นเรื่องของใครเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะเรารู้อยู่ในใจแล้วว่า เราได้ทำดีที่สุด ถ้าทุกคนพยายามที่จะทำงานของตนในหน้าที่ใดๆ ก็ตามทั้งทางบ้านและที่ทำงานด้วยความรู้สึกเช่นนี้ วิกฤตการณ์จะเกิดขึ้นได้ที่ไหน การทะเลาะวิวาท การบาดหมางกัน การอิจฉาริษยากัน การแก่งแย่งชิงดีกัน มันจะเกิดได้อย่างไร ถ้าทุกคนทำตามหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของตนเท่านั้น และมีการกระทำที่เป็นความถูกต้อง การทำตามหน้าที่เช่นนี้มันจะมีการกระทำที่เป็นความถูกต้อง ความถูกต้องคือประโยชน์มันจะเกิด ประโยชน์มันจะเกิดขึ้นแก่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วก็รวมทั้งตัวผู้กระทำด้วย ก็มีความพอใจมีความอิ่มเอิบใจที่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนคนอื่นจะว่าอย่างไรเป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันทำ ทุกคนต่างช่วยกันทำในสิ่งนี้ นอกจากนี้ก็ฝึกจิตให้มีการปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง พยายามฝึกจิตให้มีการปฏิบัติที่เป็นทางสายกลางก็คงจะทราบได้ว่า ความทุกข์ของคนที่เกิดนี่เพราะใจมันสุดเหวี่ยงตลอดเวลา มันเหวี่ยงซ้าย หรือมันเหวี่ยงขวา มันไม่เคยอยู่ตรงกลาง ประเดี๋ยวก็รักที่สุด ประเดี๋ยวก็เกลียดที่สุด ประเดี๋ยวก็ชอบที่สุด ประเดี๋ยวก็ชังที่สุด มันไม่เคยพอดีๆ มันไม่เคยมีความถูกต้อง
ในเรื่องของทางสายกลางนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงสอนเอาไว้เป็นเรื่องแรกอยู่ในปฐมเทศนา เมื่อตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์นะคะ เชื่อว่าหลายท่านคงจะทราบประวัติในตอนนี้แล้ว ในประวัตินั้นก็บอกว่า ท่านทรงแสดงธรรมเรื่องอริยสัจจ์๔ จริง ท่านทรงแสดงธรรมเรื่องอริยสัจจ์๔ แต่สิ่งที่ท่านพูดครั้งแรกที่สุดคือเรื่องทางสายกลาง ท่านทรงบอกว่าทางที่บรรพชิตไม่ควรเดิน ทางที่บรรพชิตไม่ควรเดินนั้นก็คือทางที่ตึงเกินไป แล้วก็ทางที่หย่อนเกินไป ทางที่ตึงเกินไปก็คือทางที่ทรมานตัวของตัวเองให้ได้รับความลำบาก กินก็ให้มันขาดๆแคลนๆ นอนก็บนตะปูแหลม อย่างที่พวกอินเดียสมัยโน้นเค้าชอบทำกัน นั่นคือทรมานตัวเอง เป็นทางที่ตึงเกินไป ทางที่หย่อนเกินไปก็คือเป็นทางที่สบายเกินไป กินสบาย ฉันต้องกินสบาย ฉันต้องนอนสบาย ฉันต้องทำอะไรสบายกว่าคนอื่น อยู่ดีกินดี นั่งรถยนต์ก็ต้องอย่างดีที่หนึ่ง นั่นก็เป็นทางที่บรรพชิตไม่ควรเดิน แต่ทางที่บรรพชิตเดินคือทางตรงกลางถึงจะควรเดิน เพราะถ้าเดินตรงกลางแล้วมันจะปลอดภัย มันจะไม่ต้องเบี่ยงซ้าย มันจะไม่ต้องเบี่ยงขวาแต่มันจะเป็นหนทางที่ปลอดภัย เหมือนอย่างได้ยินคนเขาเล่าเป็นนิทานว่า คนหัดขับรถใหม่ พอขับรถออกไปมองไปทางซ้ายก็เห็นหมามันอยู่ตรงนั้น มองไปทางขวาก็เห็นคนอยู่ตรงนี้ เอ๊ะจะเอายังไงดีถ้าขับซ้ายก็ชนหมา ขับขวาก็ชนคน เราจะไปทางไหนดี คนก็บอกว่า ก็ตรงกลางว่างๆ ทำไมถึงไม่ไปล่ะ เพราะฉะนั้นก็ไปตรงกลางว่างๆ มันก็ปลอดภัยเท่านั้นเอง นั่นก็คือทำจิตของเราไม่ให้รักเกินไป ไม่ให้เกลียดเกินไป ไม่ให้ชอบเกินไป ไม่ให้ชังเกินไป ไม่ให้อะไรมันถึงที่สุดให้มันอยู่ในความพอดีๆ ก็นึกดูวันไหนกินข้าวมากรู้สึกอิ่ม อึดอัด เหมือนชูชกเกือบจะท้องแตก พอวันไหนกินสักคำเดียวมันก็รู้สึกหิวกระวนกระวาย แต่ถ้าเรากินพอดีๆ ที่เขาบอกพอรู้สึกจะอิ่มให้อิ่ม เพื่ออะไรเพื่อเหลือเนื้อที่ในท้องเอาไว้เผื่อน้ำอีกสักสี่ห้าอึก แล้วเราก็จะสบายๆ ทำอะไรก็สบายๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่การกินที่เกี่ยวกับเรื่องของทางกายหรืออื่นๆ การใส่เสื้อคับไปมันก็อึดอัด ใส่เสื้อหลวมไปโครกเครกเปลื้องผ้า แต่ถ้าพอดีๆ มันก็ดูหล่อเหลางดงาม เพราะฉะนั้นอะไรที่พอดีๆ เราชอบ แต่ว่าอะไรที่พอดีๆ กับจิตเราไม่ค่อยคิด ในขณะที่เราเอาใจกายนี้เหลือเกินกายนี้คือบ่าว เราเอาใจมันเหลือเกิน แต่ความเป็นจริงแล้วกายไม่เคยบอก ลิ้นของใคร ปากของใครเคยบอกว่า วันนี้ฉันต้องการกินสเต็กโกเบ วันนี้ฉันต้องการกินไก่ย่างอบฟาง ลิ้นของใครเคยบอกบ้าง จิตต่างหากมันบอกวันนี้ต้องไปกินที่นั่น กายมันไม่เคยบอก หรือว่าจะต้องแต่งตัวเสื้อผ้ายี่ห้อนี้ รองเท้ายี่ห้อนี้ กายมันไม่เคยบอกจิตต่างหากมันบอก ต้องแต่งอย่างนี้มันถึงจะหล่อมันถึงจะไม่น้อยหน้าคนอื่นเขา แล้วก็เทียมเท่าทันสมัยกับคนอื่นเขา จิตทั้งนั้นเป็นนาย เพราะฉะนั้นจึงควรจะได้หันมาดูจิตแล้วก็พัฒนาบำรุงรักษาจิตให้จิตนี้มันมีความสุข โดยมันสามารถจะอยู่ตรงกลางได้
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสท่านจะบอกว่า มันเป็น ก ข ก กา ของพุทธศาสนาหรือเรียกว่า ABC of Buddhism ท่านบอกว่า เป็นพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนทีเดียว ซึ่งสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนคือเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ ทุกข์ของคนอยู่ที่ไหนเคยคิดไหมคะ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ไหนเคยคิดไหมคะ อย่างบางท่านนั่งสมาธิหลับตา เรานั่งสมาธิหลับตาแล้วบอก แหมสงบสบาย แล้วเวลาไปวัดไปบอกกับครูบาอาจาร์ยว่า ไม่มีเวลาเลย ไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรม เพราะว่างานมาก งานบ้านก็มาก งานหลวงก็มาก งานมหาวิทยาลัยก็เยอะไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ดิฉันจำได้ท่านอาจารย์หลวงพ่อชาท่านมักจะถามว่า แล้วมีเวลาหายใจหรือเปล่าล่ะ ที่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม มีเวลาหายใจไหม ทุกท่านก็ต้องตอบว่า หายใจ ถ้าไม่หายใจก็ตายไปแล้ว ไม่มีโอกาสมาบอกท่านว่า ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ท่านก็บอกนั่นแหละ ถ้ามีเวลาหายใจก็ต้องมีเวลาปฏิบัติธรรม เพราะอะไร เพราะว่าลมหายใจถือได้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะผูกจิตของเราไว้ ไม่ให้มันร่อนไปไหน ให้มันอยู่กับที่ ถ้าเราดูลมหายใจของเรา หายใจเข้าหายใจออกให้มันสัมผัสตรงช่องจมูกนี้ เรารู้ว่าทุกครั้งที่หายใจเข้ามันสัมผัสตรงนี้ ทุกครั้งที่หายใจออกมันสัมผัสตรงนี้ นั่นแสดงว่า สติของเราอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหนไม่ใช่คนสติหลุด อย่างนี้เราจะเรียกว่า จิตของเราจะมีทั้งความสงบ และก็มีทั้งปัญญา ทีนี้ความทุกข์ของคนเกิดตรงไหน ที่เมื่อกี้พูดถึงนั่งหลับตาฝึกสมาธิ ก็เพราะเหตุว่า ในขณะเรานั่งหลับตาเราคิดว่าจิตเราสงบ แต่บางทีก็ไม่สงบนะคะ จิตก็วิ่งพล่าน วิ่งพลานไปเที่ยวทั่วโลกเลยก็มี แต่ให้ลองนึกดูว่าความทุกข์เกิดเมื่อไหร่ เกิดเวลาเราหลับตาหรือเวลาลืมตา คำตอบก็คือ เวลาลืมตา พอเลิกจากสมาธิปุ๊บ ลืมตาขึ้น เห็นรูปที่เราไม่ชอบเดินผ่านมาเท่านั้นแหละ จิตมันวิ่งปุ๊บเข้าไปเกลียด ไม่ชอบ อยากจะตี อยากจะทุบ อยากทำลาย อะไรให้มันตายไปเสีย ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้รู้จักควบคุมผัสสะ ผัสสะคือสิ่งที่มากระทบ มากระทบอะไร อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอก อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกหนทางนี้แหละคือ ประตูที่รับความทุกข์เข้ามาสู่คน หรือมาสู่มนุษย์เรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หูไม่ได้ยินเสียง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส กายไม่ได้รับสัมผัส อารมณ์ต่างๆ มันก็ยังไม่เข้ามาสู่ใจ ฉะนั้นสิ่งที่ควรพึงระวังก็คือ จงพึงระวังผัสสะ ซึ่งจะมากระทบเช่น ตาเห็นรูป ถ้ามันอยู่อย่างนี้มันก็สักแต่ว่ารูป มันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าหากว่ามันมากระทบกัน แล้ววิญญาณคือการตามรับรู้ก็บอกว่า อ๋อนี่เป็นเพียงรูป นี่ก็เรียกว่าเป็นวิญญาณที่ฉลาด คือรู้แล้วว่ามันเป็นสักแต่ว่ารูปความเป็นจริงมันเป็นเพียงเท่านี้ แล้วจิตก็ไม่ไปชอบ หรือไม่เกลียด เฉยๆ แล้วก็สักแต่ว่ารูป เพราะได้ฝึกในการเห็นความจริงของธรรมชาติมาแล้ว อ๋อมันสักแต่ว่าเท่านั้นเอง มันเป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้นเอง ก็ไม่เกิดการวิวาทบาดหมางอะไรขึ้น หรือหูได้ยินเสียง เสียงชอบ เสียงดัง เสียงไม่ดัง ก็ไม่ชอบหรือชอบ เฉยๆ อยู่เหมือนกัน