แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แล้วก็ในการปฏิบัติเรื่องของมรรคนี้ท่านก็บอกว่า มรรคเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น จำได้ใช่ไหมคะ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง มรรคคือหนทาง ทางเดินอันประเสริฐนี้ต้องทำให้เกิดขึ้น นั่นก็หมายความว่านั่งอยู่เฉยๆ จะไม่เกิด ต้องปฏิบัติจนกระทั่งมันเกิดขึ้นอย่างถาวร ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ลบเลือน หรือว่าหายไป เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ทีนี้ทางที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นนั้น ท่านก็แยกให้ฟังเพื่อความเข้าใจง่ายแก่การปฏิบัติออกเป็น 8 องค์ด้วยกัน องค์แรกก็คือ ทิฐิ เราจะเริ่มต้นด้วย ทิฐิ ทิฐิก็คือความเห็น ความคิด แต่เรียกว่าความเห็นจะดีกว่า
ซึ่งมนุษย์เราทุกคนมีความเห็นอยู่แล้วตามธรรมชาติอย่างที่เคยพูด ทุกคนมีความเห็นอยู่ตามธรรมชาติที่มันเกิดจากความรู้ เกิดจากประสบการณ์ เกิดจากการอบรมความเคยชินที่กระทำมา แล้วก็สรุปสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นความเห็น คือเป็นทิฐิของตน ถ้าได้ยินเสียงพูดอย่างนี้อ่อนโยนน่าฟัง ทิฐิบอก เพราะทิฐิสรุปเอามาจากความรู้ จากประสบการณ์ของตน ถ้าหากว่าเสียงคำพูดวาจาอย่างนี้ ทิฐิก็บอกว่าใช้ไม่ได้ นี้เป็นเสียงของคนที่ขาดการอบรม ถ้าการกระทำอย่างนี้ กวาดเข้ามากวาดเข้ามา ทิฐิก็สรุปว่านี่เห็นแก่ตัว ถ้ารู้จักแบ่งปันช่วยเหลือ ทิฐิก็บอกว่านี่เมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็สรุปเอาตามความรู้ความเคยชิน ประสบการณ์ของตน รวมทั้งค่านิยมตามสมมติสัจจะที่กำหนดกันไว้ นี่เป็นสิ่งที่รวบรวมขึ้นมาเป็นทิฐิ โดยบุคคลผู้นั้นอาจจะไม่สำนึกเลย ไม่สำเหนียกเลยสักนิดหนึ่งว่า ที่พูดว่าฉันว่าอย่างนี้ ฉันคิดอย่างนี้ ฉันเห็นอย่างนี้ ฉันเชื่ออย่างนี้ มันมาจากอะไร โดยยึดมั่นเป็นตุเป็นตะขึ้นมาว่าฉัน เป็นตัวฉัน ฉันว่าฉันเห็น คือตัวฉัน สรุปขึ้นมาโดยไม่ได้เคยไปใคร่ครวญดูว่า ที่ว่าฉันเห็น ฉันคิด ฉันเชื่อ ฉันอะไรนี้ แท้จริงแล้วมันมาจากไหน มันเกิดจากอะไร ไม่ได้หันไปดูเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้นจึงพากันยึดมั่นถือมั่นในทิฐิของตน ว่าสิ่งที่ฉันเห็น ฉันคิด ฉันว่า ต้องถูก แล้วมนุษย์เราก็ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน มีปัญหากัน เบียดเบียนกัน เพราะเอาทิฐิของแต่ละคนมาสู้กัน เหมือนตุ๊กแกสองตัวที่มันเตรียมพร้อมจะกัดกัน เพราะเอาทิฐิเข้ามา ที่จะมาต่อสู้กัน แพ้ชนะกันด้วยทิฐิ แล้วก็ อีมานูเอล เชอร์แมน เขาก็เขียนเอาไว้ มีไม้กวาดอยู่ในรูปนั้นด้วย ไม้กวาดนี้เราใช้ทำอะไร ทำความสะอาดใช่ไหมคะ เราจะนึกถึงไม้กวาดเมื่อเราต้องการทำความสะอาดพื้นที่ใดที่หนึ่ง เราก็ต้องนึกถึงไม้กวาด ไม้กวาดก็เพื่อทำความสะอาด แล้วอีมานูเอล เชอร์แมนเขาก็มาเขียนรูปไม้กวาดเอาไว้ในรูปที่เป็นปริศนาธรรม ซึ่งมีหลายคนที่มีความรู้สึกว่าเรื่องที่เราพูดกันอย่างนี้ ที่เป็นเรื่องของศาสนาหรือเรื่องของธรรมะเป็นเรื่องสูง แล้วทำไมผู้เขียนคนนี้เอารูปไม้กวาดซึ่งเราถือว่าเป็นของต่ำ ที่ถือว่าเป็นของต่ำก็ถือตามไหน ตามสมมติสัจจะใช่ไหมคะ ตามสมมติสัจจะว่า ถ้าหากว่ากวาดพื้น อะไรที่มันเป็นพื้น แม้แต่เป็นสนามหญ้า มันต่ำ ถ้ากวาดอะไรสูงๆ ขึ้นไปบนฟ้า นั่นเป็นของสูง นี่ตามสมมติสัจจะ ก็ขัดเคืองมากว่าทำไมถึงเอารูปแบบนี้เข้ามาติด แต่ที่จริงก็ต้องชมฝรั่งคนนี้ว่าเขาเข้าใจหรือว่าศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง เขามองเห็นชัดเจนในใจเขา ไม่ได้มีใครไปบอก เพราะเมื่อใดที่จิตของมนุษย์เต็มไปด้วยตัณหาอุปาทาน ยึดมั่นในทิฐิของตน ขณะนั้นจิตสะอาดหรือสกปรกคะ สกปรกใช่ไหมคะ สกปรกแล้วเพราะเต็มไปด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง ตามทิฐิของตนอยู่เต็มอัตราเลย กิเลสก็แปลว่าสิ่งสกปรก สิ่งเศร้าหมอง เพราะฉะนั้นเมื่อจิตที่สกปรก มันก็ต้องทำความสะอาดใช่ไหมคะ
เขาจึงเขียนรูปไม้กวาดเป็นปริศนาธรรมไว้ แต่สิ่งที่จะมาทำความสะอาด ความสกปรกในจิตนั้น ถ้าจะสมมติกันว่าเป็นไม้กวาด ก็ต้องเป็นไม้กวาดอะไร ไม้กวาดธรรมดาได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นไม้กวาดอะไร ไม้กวาดธรรมะ ใช่ไหมคะ ไม้กวาดธรรมะ คือต้องเข้าใจธรรมะให้แจ่มแจ้งถี่ถ้วน จากการศึกษา แล้วก็จากการปฏิบัติ ก็ต้องเอาไม้กวาดธรรมนะนั้นแหละถึงจะมากวาด ไม้กวาดที่ใช้กันธรรมดานั้นมันกวาดไม่ได้ มันกวาดได้แต่สิ่งที่เป็นวัตถุที่อยู่ข้างนอก แต่ข้างในนี้ต้องใช้ไม้กวาดธรรมะ นี่ก็เป็นสิ่งที่พูดเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องของทิฐินั้นมีกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ทว่า แต่ละบุคคลที่นำเอาทิฐิของตนออกมาแสดง มันอาจจะเป็นทิฐิหรือความเห็นที่ถูกต้องก็ได้ หรือไม่ถูกต้องก็ได้ ถ้าถูกต้องเราก็เรียกสัมมาทิฐิ ถ้าไม่ถูกต้องเราก็เรียกมิจฉาทิฐิ ทีนี้เราจะเอาอะไรวัดล่ะว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อันไหนเป็นมิจฉาทิฐิ อันไหนเป็นสัมมาทิฐิ สัมมาแปลว่าถูกต้อง มิจฉาก็คือไม่ถูกต้อง ตรงกันข้าม เราจะเอาอะไรเป็นสิ่งวัดคะ เป็นมิจฉาทิฐิ เมื่อกระทำตามนั้นแล้ว มันก็นำมาซึ่งความทุกข์ นี่แหละคือเครื่องวัด ความทุกข์ก็คือเกิดปัญหาขึ้นมา มันมีปัญหาต้องโต้แย้ง ต้องขัดใจ แล้วก็ต้องเกิดการขัดแย้งว่าคนนั้นเสียประโยชน์ คนนี้ได้ประโยชน์ มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา และปัญหาที่ต้องเกิดการโต้แย้งขัดแย้งต่างๆ มันก็ทำให้จิตใจนี้หงุดหงิดอึดอัดรำคาญจนถึงปวดเจ็บทรมาน มันก็คือลักษณะอาการของความทุกข์เราเอาตรงนี้ตัดสิน
ไม่ใช่ตัดสินตรงที่ได้ ได้มาก ได้น้อย ไม่ใช่ เพราะในการได้ ถึงแม้จะเหมือนกับว่าได้ เป็นสุข แต่เราก็บอกแล้ว หรือพูดกันแล้วว่ามันเป็น สุก ไม่ใช่ สุข เพราะมันไม่ใช่สุขที่แท้จริง มันมีการเปลี่ยนแปลง มันนำความวิตกกังวลมา ฉะนั้นเราตัดสินกันด้วยทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา แต่ถ้าหากว่าทิฐิใด หรือมีความคิดเห็นใด ที่พอเห็นแล้วทำตามนั้น พูดตามนั้น มันไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่มันนำมาซึ่งประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่ปฏิบัติตามนั้นก็ไม่มีปัญหา มีแต่ความสุขใจ เบิกบานใจ อิ่มใจ นั่นก็เป็นสัมมาทิฐิ คือถูกต้อง ฉะนั้นมรรคองค์แรกในอริยมรรค คือหนทางอันประเสริฐนี้ ก็ต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฐิ ไม่ว่าจะทำกิจการใดทั้งนั้น ทิฐิคือความเห็นก่อนที่จะทำ ความคิดความเข้าใจก่อนที่จะทำสิ่งนั้นมีความสำคัญมาก จำเป็นมากที่จะต้องทำให้เข้าใจ ให้เรียนรู้ จนชัดเจนแจ่มแจ้งว่า มีเหตุอย่างไร ผลเป็นอย่างไรแล้วจึงค่อยทำ อย่างนั้นจึงจะเป็นสัมมา ทีนี้พูดถึงสัมมาทิฐินะคะ ก็อาจจะมีสัมมาทิฐิในระดับต่างๆ กัน เช่น สัมมาทิฐิอย่างโลกๆ การเป็นลูกที่ดี ทิฐิในความคิดเห็นว่า ถ้าเป็นลูกที่ดีจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าหากเด็กคนใดเห็นว่าการเป็นลูกที่ดีก็คือว่า ทำให้พ่อแม่รักมากๆ รักอย่างไร รักด้วยการรับใช้ เชื่อฟัง ดูแล ช่วยงาน แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่พ่อแม่จะชื่นใจ แล้วก็กระทำตามนั้น นี่ก็เป็นสัมมาทิฐิในระดับหนึ่งอย่างโลกๆ แต่ก็ยังมีความอยาก มีความต้องการ มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ หรือสัมมาทิฐิในการทำงาน ถ้าสมมุติว่าเป็นหมอพยาบาล สัมมาทิฐิของความเป็นหมอเป็นพยาบาลคืออย่างไร ก็ต้องพยายามที่จะช่วยเหลือ รักษาคนไข้ให้ได้หายจากโรคนั้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ พร้อมทั้งจะบอกให้รู้ว่าวิธีป้องกันรักษานั้นควรจะทำอย่างไรสำหรับในเวลาต่อไป หรือป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นควรจะทำอย่างไร ซึ่งหมอ แพทย์ พยาบาล ผู้ใด สามารถที่จะทำอย่างนี้ได้เป็นหมออันประเสริฐที่คนไข้บูชา ก็ต้องหายใจเป็นคนไข้ หมอพยาบาลผู้นั้นต้องหายใจเป็นคนไข้ เช่นเดียวกับครูอาจารย์
สัมมาทิฐิของครูอาจารย์ก็ต้องหายใจเป็นลูกศิษย์ ทำอย่างไรถึงจะให้ลูกศิษย์เรียนรู้อย่างถูกต้อง แล้วก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตรอดตามที่เราพูดกันแล้วในเรื่องของการศึกษา ให้มีชีวิตรอดทั้งทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญา นั่นก็คือสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีปัญหามากมาย ซับซ้อนจนชีวิตไหม้เกรียมอยู่ด้วยความทุกข์ ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ครูอาจารย์ต้องหายใจเป็นลูกศิษย์ ไม่ใช่หายใจเป็นอย่างอื่น ถ้าหายใจเป็นอย่างอื่น ลูกศิษย์ก็เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ที่จะให้ครูอาจารย์มีงานทำ คนไข้ก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งแก่หมอพยาบาล และหมอพยาบาลที่มีมิจฉาทิฐิบางคนที่ได้ยินมา ยังมีการถ่วงเอาไว้ ถ่วงคนไข้ เป็นการรักษาแบบถ่วง ไม่ให้หายเร็วๆ อย่างที่เขาเรียกว่ารักษาไข้เอาไว้ ชะลอเอาไว้ นั่นเป็นมิจฉาทิฐิ หาใช่สัมมาทิฐิไม่ เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือสัมมาทิฐิของนิสิตนักศึกษามีเป้าหมายว่าต้องเรียนให้สำเร็จ จะสำเร็จขนาดไหน และวิธีการที่จะเรียนสำเร็จทำได้อย่างไร ทุ่มเทความพากเพียรพยายาม ความตั้งใจ ความอุตสาหะ สติปัญญา ลงไปให้เต็มที่ ไม่ปล่อยกายปล่อยใจให้เป็นไปในทางสัมมะเลเทเมาหรือสูญเสียเวลาลุ่มหลงสิ่งต่างๆ โดยที่จะทำให้การเรียนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และทำให้ได้ตามนั้น นั่นก็เป็นสัมมาทิฐิ เพราะฉะนั้นสัมมาทิฐิมีหลายระดับนะคะ ในเรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 ถ้าหากว่าเราจะรู้จักมาใช้แล้วก็นำไปสอนลูกหลาน เด็กๆ หรือว่าลูกศิษย์ เราก็สอนได้ให้เหมาะสมแก่ระดับของเขา ถ้าเราฝึกฝนมาทีละน้อยๆ พอเราพูดถึงการที่จะฝึกฝนจิต เพิ่มพูนการเดินทางข้างในมันก็ง่าย ง่ายสำหรับความเข้าใจ ง่ายสำหรับการปฏิบัติ ที่เด็กๆ จะค่อยๆ เดินได้นะคะ ในที่นี้ก็อยากจะพูดถึงสัมมาทิฐิในระดับสูงคือหมายถึงสัมมาทิฐิในการที่จะสร้างทางเดินของชีวิตให้เป็นหนทางเดินอันประเสริฐ นั่นก็คือสัมมาทิฐิของผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่บวชหรือมิได้บวชก็ตาม แต่ถ้าสัญญาใจตั้งสัจจะกับใจว่าเราจะเป็นผู้ปฏิบัติธรรม โดยรู้จุดมุ่งหมายว่าเราจะปฏิบัติทำไมเพื่ออะไร แล้วก็เข้าใจอย่างที่เราได้พูดกันแล้วว่าปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร แล้วก็มีความเห็นสอดคล้อง มีความเข้าใจชัดเจนในใจว่าหนทางนี้เป็นหนทางที่ชีวิตควรดำเนิน นี่ก็สัมมาทิฐิในฐานะผู้ปฏิบัติธรรม เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เห็นว่าเป็นหนทางอันประเสริฐ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องเดิน แต่ยังไม่ได้เดินนะคะ สัมมาทิฐินี่ยังไม่ได้เดิน แต่มีความเข้าใจถูกต้องแล้วว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำในชีวิตนี้ ทีนี้พอเกิดความพอใจอยากจะกระทำเพราะมีความเข้าใจ มีความเข้าใจอันถูกต้องเกิดขึ้น