แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เกิดมีความสำนึกขึ้นมาทันทีเดี๋ยวนี้หรือคะว่า สุขนั้นมันเป็นยังไง มันไม่ใช่สุขแท้ มันมักจะเป็นสุก ก.ไก่ ซะมากกว่า ไม่ใช่สุข ข.ไข่ ใช่รึเปล่า สุก ก.ไก่ มันเป็นยังไงคะ สุกไหม้ ข้าวสุก แกงสุก มันสุกไหม้ เพราะฉะนั้น ความสุขที่เราไม่แน่ใจก็คือสุขที่พอได้เดี๋ยวนี้ ก็คิดว่ามันสุข เหมือนอย่างคนที่แต่งงานแล้วไม่มีลูก อยากได้ลูก ไปหาหมอให้ช่วยในทางการแพทย์ ผลที่สุดก็มีลูกขึ้นมา แหม พอได้ลูกก็สุข สุขเหลือเกินแล้ว ไม่มีอะไรสุขกว่านี้อีกแล้ว ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี สุข ข.ไข่ นี่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสุก ก.ไก่ ในการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่ของง่าย เลี้ยงตั้งแต่เล็กๆกว่าจะโตแข็งแรง สุขภาพดี แล้วก็วาดอนาคตว่าต้องเฉลียวฉลาด ต้องเรียนหนังสือเก่ง ต้องเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาท แล้วก็เป็นเด็กที่เป็นหน้าเป็นตาของพ่อแม่ แล้วถ้าโตขึ้นไม่เป็นอย่างนั้นสักอย่างเดียว หัวใจของแม่ที่บอกว่าสุขนี่ก็ค่อยๆเกรียมลง เกรียมลง เกรียมลง เผาไหม้ บางทีอาจจะปรารภกันสองคนตายาย เราไม่มีลูกจะดีกว่านะ มันคงจะเป็นสุขดีกว่านะ แต่มันก็มีซะแล้ว
เห็นไหมคะ นี่จึงบอกว่าทุกข์นั้นอาจจะมาได้ 2 รูปแบบ แบบนึงก็คือมาอย่างเปิดเผย ถูกเขาตีหัวเข้าสักทีหนึ่ง นี่ชัดเลย ทุกข์แน่ ถูกรถชน ทุกข์แน่ ไฟไหม้บ้าน ทุกข์แน่ แต่พอแต่งงานก็สุข นี่เป็นสุข สุขจริงรึเปล่า พอตอนเช้าเขาก็ไปทำงาน เราก็ไปทำงาน พอเริ่มนั่งโต๊ะทำงาน เขากำลังทำอะไรนะ นี่มีใครมานั่งอยู่กับเขารึเปล่าก็ไม่รู้ เขาจะนึกถึงเรารึเปล่าก็ไม่รู้ หรือพอลับหลังเรานี่ แหม ทำหล่อ เห็นไหม ทำงานได้ไหม นิวรณ์เข้ามาแล้ว นิวรณ์เข้ามาสู่จิตแล้ว นี่สุขจริงรึเปล่า เพราะฉะนั้นจึงบอกว่านี่มันมาในรูปของการซ่อนเร้น มันซ่อนเร้นเข้ามา เวลาสุขก็รู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ในสวรรค์แต่ความจริงมันหาใช่ไม่ แต่ความทุกข์ในลักษณะนี้คนเราไม่ค่อยดูใช่ไหมคะ มีแต่ความตื่นเต้นลิงโลด เพราะฉะนั้น พอเวลามีชีวิตใหม่เกิดขึ้นที่ครอบครัวไหนก็ถือว่านี่เป็นนิมิตดี หรือว่าเป็นเรื่องดี ก็มีการไปอวยชัยให้พร แสดงความยินดี เอาของขวัญไปให้ แล้วก็ทำบุญเรียกขวัญกันต่างๆนานา แต่ความเป็นจริงแล้วมันหาใช่ความสุขไม่ กำลังเกิดมาก็คือกำลังมาพบกับปัญหาถ้าหากว่าไม่ได้รับการบอกเล่าหรือว่าการอบรมในสิ่งที่ถูกต้อง
ฉะนั้นการมาของความทุกข์ จึงควรรู้ด้วยว่ามันมาอย่างเปิดเผยบ้าง หรือว่ามาอย่างซ่อนเร้นบ้าง ถ้ามาอย่างเปิดเผย ไม่ค่อยน่ากลัวใช่ไหมคะ รู้ได้ แต่มาอย่างซ่อนเร้นนี่แหละที่เราจะต้องศึกษา แล้วก็มีความระมัดระวัง สิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถรู้เมื่อเวลามันมาอย่างซ่อนเร้นได้คืออะไร หรือว่าทันต่อการมาของมันเมื่อมันมาอย่างซ่อนเร้นได้ “สติ” สติอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีสติกำกับใจก็ต้องผวาไปกอดรัด คิดว่ามันดี คิดว่ามันใช่ ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าในเรื่องความจริงของความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้
ทุกขสัจอันแรกเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ รู้อะไร ก็คือรู้ลักษณะอาการของความทุกข์ว่าความทุกข์นั้นเป็นยังไงโดยมากมนุษย์เราก็มักจะรู้สึกว่า ถ้าเป็นความทุกข์ ก็คือความวิบัติต่างๆ ความวิบัติเช่น การล้มละลาย ลูกหลานสาวถูกเขาไปทำลาย เป็นข่าว เป็นคดี อาชญากรรมนั่นจะมองเห็นว่านี่เป็นความทุกข์ หรือว่าถูกไล่ออกจากงาน นี่เป็นความทุกข์ คืออะไรที่เป็นความวิบัติ ความสูญเสียใหญ่ๆ เรารู้ว่านี่คือความทุกข์ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นชีวิตประจำวัน เรียกว่าเป็นอาหารประจำวันของชีวิตก็ได้ นั่นก็คือความอึดอัด ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ความไม่ชอบใจ น้อยบ้าง มากบ้าง ซึ่งเป็นกันทุกคน นี่แหละคืออาการของความทุกข์ ท่านบอก
ฉะนั้นการที่เราจะยอมรับได้ว่านี่เป็นอาการของความทุกข์ เราก็ต้องทราบว่าลักษณะของจิตที่จะไม่มีความทุกข์จะเป็นจิตที่มีลักษณะอย่างไร ท่านก็บอกว่าต้องเป็นจิตที่มีความราบเรียบมั่นคง ว่าง เกลี้ยงเกลา สะอาด สว่าง สงบ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่มีอาการขึ้นๆลงๆ ไม่มีอาการเหวี่ยงไปซ้ายไปขวา มันมีความราบเรียบ สงบ เยือกเย็น ผ่องใส มีความยิ้มแย้มเบิกบานอยู่ภายใน นี่คือลักษณะของจิตที่เป็นปกติ หรือของใจที่เป็นปกติ มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จะกระแทกให้มันขึ้นลง หรือว่าให้มันโยนตัวไปมาซ้ายขวาเลย ทีนี้ก็ลองมาดูว่า เมื่อความอึดอัดหงุดหงิดรำคาญเกิดขึ้นในใจ ย้อนเข้าไปดูข้างใน จิตนั้นสงบไหม สงบไหม ราบเรียบอย่างนี้ไหม ราบเรียบไหม ไม่ราบเรียบ พอมีอาการของความหงุดหงิด อึดอัด ไม่ชอบใจเกิดขึ้น ถ้าเรามีความชำนาญในการสังเกตข้างในจะเห็นว่ามีอาการกระเพื่อม กระเพื่อมขึ้นข้างในทีละน้อย ถ้าหงุดหงิดน้อย มันก็กระเพื่อมน้อย หรือที่เรียกว่ามันกระดิก มันกระเพื่อม ถ้าจะถามว่าอะไรกระเพื่อม คือความรู้สึกข้างในที่มันกระเพื่อม ไม่ใช่หัวใจเต้น หัวใจเต้นมันเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยประกอบให้เข้าใจชัดอีกอย่างหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม หัวใจที่จริงแล้วก็เต้นตามธรรมดาปกติ มันก็อาจจะเต้นเร็วขึ้น ถี่ขึ้น ถ้ามาจับชีพจรตอนนั้นก็จะเห็นความผิดปกติ แต่อาการของความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันจะเริ่มกระดิก ในทางธรรมท่านมักจะพูดว่ากระเพื่อม มันกระเพื่อมเหมือนกับน้ำที่ถูกก้อนหินโยนลงไปแล้วมันก็กระเพื่อมเป็นระลอก มันเป็นเหมือนอย่างนี้เมื่อน้อยๆ
พออาหารวางตรงหน้าเบือนหน้าหนี เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ กินไม่ได้ จิตข้างในเป็นยังไง หงุดหงิดใช่ไหมคะ หงุดหงิดแล้ว อึดอัดแล้ว ไม่ชอบแล้ว นี่คืออาการของความทุกข์ พอได้ยินใครพูด คำพูดที่ไม่น่าฟัง แล้วก็ไม่ชอบฟังอย่างนี้ หงุดหงิด อึดอัด แล้วก็เก็บความหงุดหงิด อึดอัดนี่สะสมไว้ สะสมไว้ สะสมไว้ทีละน้อย เหมือนอย่างคำถามที่ถามเกี่ยวกับเรื่องของความเก็บกดเมื่อเช้านี้ นั่นแหละคืออาการของความอึดอัดหงุดหงิดรำคาญ เก็บไว้ทีละน้อย ทีแรกก็ไม่เป็นไร ยังแข็งแรงอยู่ ยังมีภูมิต้านทานมากมันก็ไม่เป็นไร หัวเราะได้ ทำเฉยซะบ้าง กลบทุกข์ซะบ้าง มันก็ไม่กระไรนัก แต่พออายุมากขึ้นก็สะสมความหงุดหงิด อึดอัด รำคาญไว้มากเข้าๆ ผลที่ตามมา ความอารมณ์เสีย ความที่อะไรถูกใจไม่ได้มันจะระเบิดออกไปเสมอ นี่คืออาการของความทุกข์ ที่ท่านบอกว่ามีอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ฉะนั้น มนุษย์ที่ไม่รู้จักอาการของความทุกข์ก็เลยคิดว่าตนไม่มีปัญหา แต่แท้ที่จริงอยู่กับข้าศึก คือถูกความทุกข์ที่ชื่อว่าข้าศึกทิ่มแทงข้างในตลอดเวลา ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ รู้อะไร ก็คือรู้ลักษณะอาการของความทุกข์ ลักษณะอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต แล้วจะรู้ได้อย่างไร ไม่มีวิธีอื่น นอกจากฝึกฝนการดูความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้นอย่างที่เรามาฝึกการปฏิบัติธรรม ก็เพื่อฝึกดูความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นอย่างไร อาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร เป็นความทุกข์อย่างไร ชนิดไหน
นอกจากนี้ท่านบอกอีกว่า ความทุกข์นั้นมีทั้งที่เป็นลักษณะและเป็นเวทนา ที่เป็นลักษณะก็คงจะเคยได้ยินที่เขาเรียกว่า ทุกขลักษณะ เหมือนอย่างเราเห็นคนที่ขาหัก จะขาหักเพราะหกล้ม หรือขาหักเพราะรถชน ตกกระได หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็หัก กระดูกหัก เผอิญมันผุมากหักเป็นท่อนๆ มองดูแล้วน่ากลัวต้องเข้าเฝือกอันยาว ขยับขยายไปไหนก็ไม่ได้ มองดูแล้ว มันน่าจะไม่สบายเลย มันน่าจะเป็นทุกข์ คงจะเจ็บปวดอย่างยิ่ง นั่นเป็นทุกขลักษณะ แต่ทีนี้อีกอย่างหนึ่งนั้นท่านเรียกว่า ทุกขเวทนา ทุกขเวทนา คือความรู้สึกเป็นทุกข์ คือความรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นน่ะในขณะที่ขาเขาหักอย่างนั้น ใจเขาเป็นยังไง ใจเขารู้สึกเป็นทุกข์หรือเปล่า เขารู้สึกเจ็บปวด ทรมาน ทนไม่ได้ร้องครวญคราง ถ้าหากว่าเขามีอาการอย่างนั้นนั่นคือทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าหากว่าเขายอมรับ ยอมรับสภาพว่ามันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่หน้าที่ที่เขาจะต้องทำก็คือการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ แล้วเขาก็รับการรักษาของแพทย์อย่างถูกต้องด้วยความอดทน แต่ใจเขามองเห็นว่ามันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนี้ ผลมันก็เป็นอย่างนี้ แล้วเขาก็รักษาใจของเขาให้อยู่ในความสงบได้ อย่างนี้ก็พูดได้ว่าใจเของเขาไม่มีทุกขเวทนา มันมีแต่ทุกขลักษณะที่แสดงอยู่ข้างนอกเท่านั้นเอง
ฉะนั้นทุกขลักษณะ ก็คือเมื่อเรามองดูอะไรแล้วมันน่าเกลียด มันไม่น่าดู มันน่าจะเจ็บปวด มันน่าจะไม่สบายเลย เช่น อาการของความเจ็บป่วยต่างๆที่เกิดขึ้น นั่นเป็นทุกขลักษณะ ส่วนทุกขเวทนานั้น คือความรู้สึกเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ เหมือนอย่างบางทีเราเห็นคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาน่าจะเป็นทุกข์มาก นี่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเองนานตั้ง 30-40 ปีมาแล้ว แล้วก็จำความรู้สึกของตัวเองได้ ตอนนั้นก็ขึ้นรถเมล์ เป็นครูอยู่สวนกุหลาบ บ้านอยู่ฝั่งธนบุรี ก็นั่งรถเมล์ไป รถเมล์มันก็แน่น ข้ามสะพาน มันก็แหม อึดอัด หงุดหงิด แต่ตอนนั้นไม่รู้หรอกนะคะว่านั่นคืออาการของความทุกข์ แต่รู้สึกอึดอัด หงุดหงิด ไม่ชอบใจอะไรต่อมิอะไรไปหมดทั้งๆ ที่เราก็มีที่นั่ง มีที่นั่งบนรถเมล์ รถเมล์สมัยก่อนก็ยังไม่แน่นมากถึงขนาดนี้ ก็เรียกว่าแน่น แต่มันอึดอัด หงุดหงิด มันไม่ชอบใจ แล้วก็อาจจะแช่งด่าอะไรไปตามเรื่อง ในขณะที่รถกำลังข้ามสะพานก็มองเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ขา.. มีขาอยู่ข้างเดียว แล้วเขาก็ใช้ไม้ค้ำ ไม้ค้ำ 2 ขา แล้วก็เดิน เค้าขาข้างเดียว เขาเดิน แต่ท่าทางที่เขาเดินนี่ เขายิ้มแย้มแจ่มใจ เขามองดูคนรอบข้าง วิวรอบข้างอย่างพอใจในสภาพของเขา เขาไม่รู้สึกว่าเขาเดือดร้อน เขาไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าเขาเป็นคนพิการ ไม่เหมือนคนอื่น เขาเดินขาข้างเดียว แต่เขาเดินอย่างชื่นชมยินดี สมัยนั้นก็ยังไม่รู้เรื่องของทุกขลักษณะหรือทุกขเวทนา แต่สิ่งหนึ่งที่มันเข้ามาในใจก็คือรู้สึกทันทีว่า แหม..น่าอาย เรานี่น่าอาย ขาเราก็มี 2 ขา ตัวเราก็แข็งแรง แล้วเรายังได้นั่งรถเมล์ เราไม่ต้องเดินข้ามสะพานอย่างเขา แล้วเราก็ยังมีที่นั่ง เราไม่ต้องยืนแล้วยังจะมากระบึงกระบอน หงุดหงิด อึดอัด นี่เรียกว่าติดตา ภาพของผู้หญิงคนนั้นน่ะ เป็นผู้หญิงสาวๆด้วย ภาพนั้นติดตา หน้าตาเขาแจ่มใส เขาไม่มีความรู้สึกไม่พึงพอใจในสภาพของเขาเลย ก็เลยรู้สึกละอายแล้วก็เกิดอารมณ์ดี หยุดบ่น หยุดหงุดหงิดข้างใน นี่คือไปเห็นทุกขลักษณะของเขาใช่ไหมคะ เห็นสภาพของเขา เห็นทุกขลักษณะของเขาก็รู้สึกว่า แหม เขาคงจะต้องเป็นทุกข์ แล้วก็น่าสงสาร น่าเห็นใจ แต่มองดูแล้วเขาไม่มีทุกขเวทนา เราเสียอีกไม่ได้มีทุกขลักษณะข้างนอก แข็งแรงทุกอย่างแต่ทุกขเวทนาเกิดอยู่ภายใน เห็นไหมคะ นี่คือความหมายว่าทุกข์นั้นมันมี 2 อย่างได้ ทุกขลักษณะ ถ้าเราสามารถทำใจให้เห็นว่าทุกขลักษณะก็สักว่าแต่ว่าทุกขลักษณะที่มันเกิดตามเหตุปัจจัย รักษาใจเอาไว้ ให้มั่นคงหนักแน่นด้วยสติ สมาธิ ทุกขเวทนาก็จะไม่มารบกวน
นอกจากนี้ความจริงของความทุกข์อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อทุกข์เกิดมันต้องมีเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตาเสมอทีเดียว ต้องมีเหตุปัจจัย มีไหมคะผู้ใดที่พบความทุกข์แล้วมันเกิดขึ้นลอยๆ ไม่มีเหตุเลย มีไหมคะ อยากขอทราบ มีไหมคะ ไม่กล้าบอก เมื่อใดที่เราโทษ เราโทษ พอทุกข์เกิด คือความรู้สึกไม่พอใจไม่ชอบใจเกิดขึ้นก็เพ่งโทษ เพราะคนนั้น เพราะคนนี้ เพราะหัวหน้างาน เพราะผู้บังคับบัญชา เพราะเพื่อน เพราะพ่อ เพราะแม่ เพราะอาจารย์ไม่ยุติธรรม เพราะไปเรื่องสารพัด แต่ไม่เคยดูตัวเอง นี่แหละคือการที่ไม่เข้าใจหรือไม่เคยรู้ว่าเมื่อทุกข์เกิดต้องมีเหตุปัจจัยเพราะกฎของธรรมชาติบอกไว้แล้วว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ มันต้องมีเหตุปัจจัยทั้งนั้น พอเรามาศึกษาเหตุปัจจัยเหมือนดั่งที่เราพูดกัน ความทุกข์ก็จะลดลงแล้วก็จะหันไปแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นเพื่อให้ถูกต้อง