แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม ขณะนั่งสมาธิจะปวดหลังมาก จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร
คำตอบ ก็เป็นโรคปวดหลังมาก่อนรึเปล่านะคะ ถ้าเป็นก็ต้องระมัดระวังรักษา อย่าให้การนั่งสมาธิเป็นการทำอันตรายแก่ร่างกาย แต่ถ้าไม่เป็นโรคปวดหลังมาก่อน ไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับร่างกาย แล้วมาปวดหลังเวลานั่งสมาธิ ก็ขอตอบว่า เพราะเกร็ง ตั้งใจมากเกินไป ก็เลยนั่งตัวตรงจนแข็ง จนเกร็ง ให้นั่งตัวตรงแต่ไม่ต้องเกร็ง คือนั่งตัวตรงอย่างสำรวมแล้วก็สบายๆ ให้ลมหายใจเข้าออกได้สะดวก แล้วถ้าเผอิญเกิดรู้สึกปวดมากจนเกินที่จะทน ก็จะถอยหลังไปหน่อยแล้วก็ไปยืน ไปยืนสมาธิอยู่ที่ข้างหลัง เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถให้หายปวดหลังก็ทำได้ค่ะ แล้วก็พอหายแล้วก็ถึงค่อยกลับมานั่งใหม่
แต่ถ้าท่านผู้ใดจิตใจเข้มแข็งจะลองทนดูนะคะ โดยดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ ไม่ให้จิตไปอยู่ที่ตรงหลังตรงจุดที่ปวด พอปวดดึงจิตกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ ให้นิ่งอยู่กับลมหายใจ บางทีความปวดที่มันอยากมาออเซาะน่ะ สงสารฉันหน่อย ฉันปวดจริงๆ ดูฉันหน่อย มันเห็นไม่สนใจกับมัน มันก็เลยเก้อหายไปเลยก็มีเหมือนกัน มีจริงๆนะคะ ถ้าสามารถจะทำจิตให้แข็ง ทำได้
คำถาม เวลานั่งสมาธิ จิตมักจะไปอยู่ที่อาการกระทบส่วนล่าง จิตไม่ค่อยจะอยู่กับลมหายใจ ให้ช่วยแนะนำด้วย
คำตอบ ก็แนะนำให้หายใจเข้า เอาหายใจอย่างสั้นๆ หายใจสั้นๆ เอาอย่างนี้ ให้หลายๆครั้ง มันจะไปอยู่ได้ไหมกับส่วนล่างนั่นน่ะ มันอยู่ไม่ได้ เพราะมันจะขาดใจ มันจะขาดใจ นี่ต้องมาอยู่กับลมหายใจแน่ๆ เลยนะคะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว หายใจเข้า หรือไม่เช่นนั้นก็ <-- เสียงหายใจออก แบบถอนหายใจสั้นๆ หลายๆ ครั้ง --> เอาให้เหนื่อยไปเลย ให้ตาย ไม่ตาย แต่มันจะหยุด หยุดสนใจกับส่วนล่าง มันจะมาสนใจอยู่นี่ แล้วพอมันหยุดแล้วเราก็ค่อยๆผ่อน เห็นไหมคะ หน้าจะค่อยๆ ยิ้มขึ้น มันมีแรงน้อยๆ ทีละน้อยๆ ยาวๆ ช้าๆ สบายๆ แล้วก็ให้มันอยู่กับลมหายใจ พอมันจะออกฤทธิ์อีก เอาอีกปราบกับมัน สู้กับมัน ลุยกับมัน ด้วยการใช้ลมหายใจในการที่จะทำให้เหนื่อย ที่จะทำให้ตื่น แล้วก็หยุดสนใจน่ะนะคะ
คำถาม ขณะที่นั่งสมาธิ มักจะเครียด ไม่สบายเลย
คำตอบ ก็เครียดทำไมล่ะคะ บอกแล้วว่าอย่าเครียด เวลาที่จะนั่งสมาธิที่จะเริ่มนั่งนี่ ดิฉันจะขอร้องเสมอว่าให้สบายๆ นะคะ นั่งสบายๆ ให้เป็นธรรมชาติ ก็หายใจมาตั้งแต่เกิด เครียดรึเปล่าคะ หายใจมาตั้งแต่เกิดน่ะ แล้วทำไมพอจะมารู้จักมันซะหน่อย เกิดเครียดขึ้นมาเชียว ก็ลมหายใจของเรานี่ ไม่ต้องกลัว ที่เครียดนี่เพราะตัวอัตตา กลัวว่าจะทำไม่ได้ เดี๋ยวดิฉันจะมองเห็นว่านี่นั่งสมาธิตามลมหายใจไม่ได้ ก็เลยแหม ตั้งท่าเกร็งใหญ่ ก็เลยเครียด
งั้นตัวตนนี่ ถึงได้บอกว่าอย่าให้มีตัวมายุ่งกับการปฏิบัติธรรม ให้มีแต่การกระทำ มีการกระทำที่ถูกต้อง เรารู้ว่าจะทำยังไง เราก็ทำตามนั้น แต่ไม่ต้องมีตัวฉันเข้ามาทำ ถ้ามีตัวฉันเข้ามาทำแล้วล่ะก็ มันจะเอาให้ถูก จะเอาให้ได้ ให้เร็ว ก็บอกแล้ว เล่านิทานว่า ยิ่งเร็ว..ยิ่งช้า ให้ฟังแล้ว ทีนี้เราไม่เอาเร็ว ทำยังไงวิธีทำทำยังไง เราจะทำสบายๆ แล้วก็บอกตัวเอง ได้ก็ดี ทำต่อไป ไม่ได้ก็เอาใหม่ ไม่มีการสอบตก ไม่มีการเลื่อนชั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวนะคะ ไม่มีการสอบตก ไม่มีการเลื่อนชั้น มีแต่การทำๆๆๆๆ ทำไปเรื่อย แล้ววันหนึ่งก็จะทำได้อย่างเรียบร้อยเอง เพราะฉะนั้นอย่าเครียด
คำถาม ถ้ามีผู้ที่คิดไม่ดีกับเรา โดยไม่ทราบเหตุปัจจัยจะแก้ไขยังไง
คำตอบ เขาคิดไม่ดีกับเรานี่นะคะ ไม่สำคัญเท่ากับเราคิดไม่ดีกับเขามั่งรึเปล่า นี่จะสำคัญตรงนี้ล่ะค่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาคิดไม่ดีกับเรา แล้วเราก็ยังไม่รู้เลยว่า ทำไมเขาคิดไม่ดีกับเรา แล้วเราจะไปเสียเวลาทำไม เสียเวลาคิดทำไม เอาจิตมาอยู่กับลมหายใจเพื่อให้สบายไม่ดีกว่าหรือคะ นี่เป็นวิธีตัดต้นตออันแรกเลยนะคะ ไม่ต้องไปนึกว่าเขาจะคิดยังไง
ทีนี้ถ้าจะแก้ไขยังไง ต่อไปอีกหนึ่งก็คือ หันมาดูตัวเราว่าเราได้กระทำอะไร เราประกอบเหตุปัจจัยยังไง ถึงได้ทำให้เขาคิดอย่างนั้น เราเคยพูดอะไรไม่ดีบ้างไหม เราเคยทำท่าอะไรไม่ดี ไม่น่าดูไม่งามบ้างไหม หรือว่าเราได้เคยทำอะไรให้เขาเข้าใจผิดบ้างไหม หันมาสำรวจการกระทำ วาจาของเรา ถ้าสำรวจแล้วอย่างถี่ถ้วน อย่างไม่เข้าข้างตัวเองนะคะ เอ้.. ไม่มีจริงๆ ไม่มีจริงๆ ไม่มีจริงๆ มันก็สบายใจได้แล้ว สบายใจได้แล้ว อยู่กับลมหายใจ มีลมหายใจเป็นเพื่อน แล้วก็ทำใจให้เป็นมิตรมีเมตตากับเขาเรื่อยๆคนนั้น ไม่ช้าก็จางหายไป
ส่วนใหญ่จะได้ยินว่าเขาโทษชาติก่อน มีเวรกันมา เห็นรึเปล่าคะชาติก่อนมีเวรกันกับเขาเรื่องอะไร ก็ไม่เห็น ชาตินี้ก็ยังมองไม่เห็นเลย ทั้งๆที่อยู่ด้วยกันนี่ก็ยังไม่เห็น ค้นหาไม่ได้ แล้วจะไปยุ่งอะไรกับเรื่องชาติก่อน มันเป็นอจินไตย เราไม่มีเวลาพอ เพราะฉะนั้นเขาจะว่าก็ยกให้เขา เราเอาเรื่องของเราที่เราสำรวจดูจริงๆ ประจักษ์ด้วยตัวเราเองจริงๆ ตามกาลามสูตร ถึงจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า การให้อภัยและการทำจิตจองเราเองให้มีสติเสมอ เพื่อรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป เป็นเพียงการตั้งรับเท่านั้น ไม่ใช่ตั้งรับค่ะ เป็นการสลัดคืนด้วย ฝึกการสลัดคืน เพราะในขณะที่เราฝึกใจให้รู้จักให้อภัย แล้วก็ทำจิตให้มีสติเสมอเพื่อรับเหตุการณ์ เพื่อรับเหตุการณ์ก็คือเพื่อทันต่อผัสสะ อย่างนี้ไม่ใช่เพียงแต่ว่าตั้งรับ ตั้งรับเหมือนกับก้อนหินหรือเหมือนกับกระดานที่เขาน๊อคลูกเทนนิสน่ะ เอ้าเขาน๊อคไป ก็น๊อคไปกระดอนไป กระดานก็ตึง ตึง ตึง อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่ใช่ ตั้งรับพร้อมกับที่จะผลักออกไป แต่ผลักด้วยสติปัญญาจะไม่เกิดอารมณ์ คือเป็นการฝึก ฝึกใจที่จะให้รู้จักตัดอารมณ์ที่จะเอาอย่างใจตัว มิให้เกิดเวทนาขึ้น เพราะฉะนั้นการฝึกไม่ใช่แต่เพียงการตั้งรับเท่านั้น แต่เป็นการฝึกการสลัดคืนทีละน้อย
คำถาม ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องสวดมนต์นะคะ ถามว่าบทที่ว่าอัพยาปัชฌา หนังสือบางเล่มแปลว่าอย่าได้มีความเจ็บไข้ ลำบากกายลำบากใจเลย บางเล่มก็แปลว่าอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่างไหนเหมาะสมกว่า
คำตอบ ก็ขอเรียนไว้ล่วงหน้าว่า ดิฉันไม่ใช่ผู้ชำนาญในเรื่องการสวดมนต์หรือว่าถ้อยคำนะคะ แต่ถ้าเราจะดูตามความหมาย ถ้าบอกว่า อเวรา ก็อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย ใช่ไหมคะ การที่ไม่มีเวรกัน ก็คืออย่าเบียดเบียนกันนั่นเอง ถ้าเบียดเบียนกันก็มีเวรกัน เป็นการสร้างเวรต่อกัน ทีนี้ก็บอกว่าแล้วอัพยาปัชฌานี่ ที่บอกว่าอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย กับอย่าได้มีความเจ็บไข้ ลำบากกายลำบากใจเลย จะเอาอย่างไหนดีกว่า
ถ้าเราดูอะนีฆาในบทต่อไป ก็บอกว่าอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมาแปลอัพยาปัชฌาว่า จงอย่าได้มีความเจ็บไข้ ลำบากกาย ลำบากใจเลย มันก็คล้ายคลึงใช่ไหมคะ คล้ายคลึงกับอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย เพราะฉะนั้นในความเห็นของดิฉัน ก็แปลว่าอย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย คงจะเหมาะกว่า
คำถาม แล้วก็ถามว่า คำว่า จรณะ ที่มาคู่กับ วิชชา ในบทสวดมนต์เขียนว่าสวดมนต์เย็น
คำตอบ ไม่ใช่สวดมนต์เย็นนะคะ สวดมนต์เช้า ทำวัตรเช้าในบทพุทธาภิถุติ ที่บอกว่าวิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชาก็คือปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนาภาวนา จนเป็นปัญญาญาณขึ้นมา หรือวิปัสสนาญาณ จรณะก็คือประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นด้วย จรณะก็หมายถึงข้อประพฤติปฏิบัติ
คำถาม คำถามต่อไปว่า ใช้กำหนดดูลมหายใจว่าเข้าออกโดยการกำหนดยุบหนอ พองหนอ อย่างนี้ถูกต้องไหม
คำตอบ ถ้าหากว่าใช้ จะลองฝึกหัดนะคะ ถ้าจะลองฝึกหัดอานาปานสติ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำบริกรรมเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นยุบหนอพองหนอ หรือว่าสัมมาอรหัง หรือว่าพุทโธ ไม่จำเป็น เพราะถ้าจะฝึกอานาปานสติก็คือการใช้ลมหายใจอย่างเดียว กำหนดจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า แล้วก็ตามอย่างที่ว่าแล้วน่ะนะคะ ตามเข้าตามออก รู้สึกมัน สัมผัสมันด้วยความรู้สึกอย่างเดียว แต่ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่ามันยากนะคะ การที่จะตามลมหายใจมันยาก จะใช้คำบริกรรมอะไรควบคู่ไปในตอนต้น สักวันนึงนะ แต่อย่าให้นานนัก ถ้านานนักมันติดค่ะ สักวันนึงพอให้ควบคุมใจ ก็ไม่เป็นไร แต่ให้ทราบว่า อานาปานสตินั้นคือจดจ่ออยู่ที่ใจ เป็นการสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง ถ้าหากว่าพลังใจไม่เข้มแข็งจะอยู่กับอานาปานสติยาก เพราะมันไม่มีอะไรให้จับเลยนะคะ เพราะฉะนั้นลองดูค่ะ ถ้าสามารถทำได้แล้วล่ะก็การเจริญจะไปตามลำดับขั้นก็จะง่ายเข้า
คำถาม การเดิน นั่งสมาธิทุกครั้ง เวทนาจะเกิด บางครั้งก็น้อย บางครั้งก็มาก เจ็บปวดจนแทบทนไม่ไหว ไม่ทราบจะแก้ด้วยวิธีใดถึงจะพ้นจากทุกขเวทนาได้
คำตอบ ก็เหมือนกับที่ตอบไปแล้วในตอนต้นที่ปวดหลังน่ะนะคะ ก็ใช้วิธีเดียวกัน การที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับเรื่องแข้งขาแล้ว แล้วก็ทำจิตใจให้เข้มแข็งอย่างชนิดที่ว่าตายเป็นตายน่ะ ไหนๆก็ได้ยินเขาพูดกันว่า เวลาคนจะตายนี่ แหม มันเจ็บปวดรวดร้าวไปหมดทุกสรรพางค์กายใช่ไหมคะ อยากจะรู้สิว่ามันจะเจ็บปวดสักแค่ไหน เรานั่งสมาธิ เราเจ็บปวดแค่นี้ เอ้า..ลองดูซิว่ามันจะเจ็บปวดถึงตายไหม ถ้ามันจะตาย ก็ให้มันรู้ตายในสมาธิ ลองทำใจให้เด็ดอย่างนี้ซะหน่อยเป็นไงคะ ใจเด็ดดูซะหน่อย จะเห็นผล ลองดูซิคะ
แล้วดิฉันลองดูแล้วนะคะ ที่พูดนี่ ไม่ใช่ไม่ลอง ดิฉันเป็นโรคหัวเข่ามาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว แล้วก็เป็นๆหายๆ ค่อยยังชั่ว ไม่ค่อยยังชั่ว แล้วพอนั่งสมาธิเข้านี่ เหลือหลายเชียว แล้วก็มันอักเสบมากเมื่อ 3-4 เดือนมานี่จนกระทั่งจะเดินไม่ได้เลย จะก้าวเท้าขึ้นบันไดนี่ รู้สึก เอ๊..น่ากลัวจะไปไม่ไหว มันยาก ทั้งปวด ทั้งยอกสารพัด แล้วดิฉันก็นั่งสมาธิคืนนั้น แล้วก็ตั้งใจว่า เอาล่ะ มันจะปวดแค่ไหน จะลองดูมันซิ ก็นั่งอย่างเต็มที่น่ะค่ะ แล้วขณะนั้น แหม มันปวดเหลือเกิน ต้องสารภาพว่าน้ำตาไหลเชียว แล้วไหลพรากเลยนะ ไม่ใช่ไหลน้อยๆแต่ดิฉันไม่ยอมแพ้ แล้วในใจบอกแบบที่ดิฉันพูด เอาล่ะวันนี้ตายเป็นตาย จะได้รู้ซะทีเวลาตายมันเจ็บปวดถึงขนาดไหน แล้วก็เอายากำลังใจ นึกถึงพระอรหันต์ที่ตายในปากเสือน่ะ ได้ทราบแล้วใช่ไหมคะ แหม..นี่ท่านตายในปากเสือ ท่านถูกเสือขบทีนึงนี่ แหมท่านจะเจ็บปวดขนาดไหน คงจะขบขาก่อน สมมติขบขา ขาก็ขาด ขบหัวเข่า ขบท่อนขา แล้วก็ตัว แล้วก็หัวจะเป็นยังไง เรานึกใจย้อนไปดู นี่เป็นการปลอบประโลมใจ แล้วก็น้อมจิตให้กำลังใจมาสู่ใจเรา ก็ปวดค่ะ ดิฉันก็ปวดมาก แต่ดิฉันไม่ยอมแพ้ นั่งอยู่นานเป็นชั่วโมงกว่า ร่วม 2 ชั่วโมง ความปวดนั้นค่อยๆ หายไป แล้วพอรุ่งขึ้นเชื่อไหมคะ ดิฉันเดินได้สบายเลย นี่ไม่ใช่ขี้ปด ก็คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ดิฉันเดินได้สบาย แล้วก็เดินได้สบายขึ้นจนเดี๋ยวนี้ แต่มันก็ไม่ได้หาย ที่ไม่ได้หายเลยเพราะว่าเราเป็นมานานแล้ว แล้วมันก็เป็นไปตามสังขารร่างกาย เราจะไปหวังให้เรากระชุ่มกระชวยเหมือนอย่างสาวๆ น่ะเป็นไปไม่ได้ เรายอมรับสภาพความเป็นจริง แต่จะแก้อะไรก็แก้ได้ เพราะฉะนั้นลองยอมตายดูหน่อยนึง แล้วดูซิว่ามันจะแก้ได้ไหม แต่ต้องดูว่าเรามีอะไรชำรุดอยู่มากรึเปล่านะคะ ถ้าชำรุดอยู่มากก็อย่าไปทำให้มันชำรุด รักษามันไว้ก่อน ผ่อนปรน แต่ถ้าไม่เป็นอะไรจนเหลือเกิน ลองดู จะสามารถชนะได้ ทีนี้ก็เหลือเวลาที่จะปฎิบัติธรรมด้วยกัน ก็คงจะเพลียก็ขอเชิญพักซะก่อนนะคะ