แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การที่จะ พอเราทำจุดสีขาวขึ้นมา ท่านเรียกว่าเกิดเป็น อุคหะนิมิต คือมันเกิดเป็นจุดอยู่กับที่ อุคหะนิมิต ทีนี้ผู้ปฎิบัติก็จ้องที่จุดนั้นเฉย ๆ ความเป็นสมาธิ ความสงบก็เพิ่มมากขึ้น พลังก็เพิ่มมากขึ้น และก็ค่อย ๆ ทดลองดู บังคับ บังคับด้วยพลังจิตที่อยู่ข้างในให้จุดเล็ก ๆ นี่มันไกลออกไป มันใกล้เข้ามา ให้มันใหญ่เข้า ให้มันเล็กลงไปอีก ลองดูซิว่าสามารถทำได้ไหม และนอกจากไกลออกไป จะไปอยู่ตรงนี้บ้าง อยู่ตรงนั้นบ้าง ถ้าผู้ใดสามารถบังคับได้ก็แสดงว่าจิตนั้นเป็นจิตที่มีพลัง พลังพร้อมที่จะควบคุมมัน ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับยิ่งขึ้น และจิตนี้ก็จะรวมดิ่ง เป็นสมาธิได้ถึง เอกัคคตาได้ในที่สุด ที่นี้ถ้าผู้ใดรู้สึกว่าทำจุดสีขาวมันไม่ค่อยถนัด ท่านก็จะแนะนำว่า เลือกอะไรก็ได้ ที่เราพอใจ ที่เราติดอยู่ในใจ แต่ก็แนะนำว่า อย่าไปเลือกสิ่งใดที่จะทำให้จิตเกิดการกระเทือน เช่น ไปเลือกเอาซากศพ ถ้าจิตใจยังไม่แข็งพอจะไปเลือกเอาคนตาย หรือเลือกคนที่รัก เอาหน้าของคนที่รัก มาเป็นจุดเพ่งพินิจนะ อุคคหนิมิต เพ่งอยู่ แล้วก็ทำปฏิภาคนิมิตให้มันใหญ่ขึ้น เล็กขึ้น อะไรอย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฎิภาคนิมิต มันก็ไม่ได้แล้วในขณะนั้นจิตมันก็สั่นสะเทือน หวนประหวัดคิดถึง นึกถึง วิตก กังวล เห็นไหมคะ จิตกระเทือนแล้ว ท่านจึงแนะนำว่าให้เลือกอะไรที่ไม่ทำให้จิตกระเทือน เหมือนอย่างเช่น ดอกบัว อย่างนี้เป็นต้น ดอกไม้ก็เลือกดอกบัว ดอกไม้ที่เป็นธรรมดา อย่าไปเอาดอกไม้ที่มีกลิ่นเหม็น หรือเป็นดอกไม้ที่เราไม่ชอบหรือเป็นดอกไม่ที่เราชอบมาก อย่างเช่น กุหลาบ นี้ชอบมาก พบเมื่อไหร่แล้วมันซาบซึ้งก็อย่าไปเอา อะไรที่มัน จะทำให้จิตกระเทือน เกิดความข้องเกี่ยวผูกพัน เช่นอย่างดอกบัวอย่างนี้ เราก็เลือกดอกบัว มองให้เห็นดอกบัวขึ้นมาในใจ แล้วก็จ้องอยู่ที่จุดนั้น อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ก็อย่ารีบหวังว่าจะทำได้โดยเร็วนะคะในขณะนี้ ค่อย ๆ ทำไปจนกระทั่งจิตเรานี้ อยู่ในสติสมาธิ คืออยู่ในความสงบมากยิ่งขึ้นจนมันค่อย ๆ มีพลัง นี่เป็นการทดสอบ แล้วก็อาจเป็นการที่จะทำให้เกิดความสงบ เพ่งพินิจนานเข้า จนกระทั่งถึง เอกัคคตาจิตได้ แต่อย่าเร่งร้อนนะคะ
ถ้าปฏิบัติถึงขั้น 4 ในหมวดที่ 1 แล้วเกิดความรู้สึกว่าจิตว่าง ต่อมาความคิดว่าจิตว่างก็ตามมาโดยอัตโนมัติ แต่ตามที่ได้บอกไว้ว่าห้ามคิด เพราะถ้าคิดจะกลายเป็นการปรุงแต่ง แล้วในกรณีนี้การคิดว่าจิตว่างถือเป็นการปรุงแต่งด้วยหรือเปล่า ถ้าหากว่าคิดนะคะ มันก็ปรุงแต่ง แต่ถ้าไม่คิด มันผุดขึ้นมาเองไม่ทราบว่าท่านผู้ใดใดเคยบ้าง ที่ปฏิบัติมาแล้ว มันผุดขึ้นมาเอง มันเป็นความรู้สึกผุดขึ้นมาเอง อย่างนั้นไม่ได้คิด อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นภาวะของความว่างที่มันเกิดขึ้น จะเร็วหรือช้าคือหมายความว่ามันจะอยู่ซักนาทีหนึ่ง หรือว่าสองนาที แต่มันสัมผัสกับอาการของความว่าง ลักษณะของความว่างที่เกิดขึ้นภายในและความรู้สึกในใจนี่มันสัมผัสเอง สัมผัสเองว่าว่าง โดยไม่ต้องคิด ถ้าคิดก็ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นต้องดูเองค่ะ ว่าเป็นสิ่งที่ปุ๊บขึ้นมาเองหรือเปล่า
เหมือนอย่างเราพิจารณาเรื่องอนิจจัง เวลานี้ทุกท่านนะ ถ้าดิฉันส่งกระดาษให้เขียน เอ้า เขียนเรียงความเรื่องอนิจจัง คงเยอะแยะยืดยาวอ่านไม่ไหว แต่เห็นอนิจจังหรือยัง นี่ที่ถาม ที่เขียนไว้ยืดยาวพรรณนาสารพัดนะ เห็นหรือยัง อนิจจัง ก็ต้องถามดิฉันอีก เห็น เห็นยังไง แน่นอนไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ มันเห็นด้วยตาใน ตาที่สามที่จะเกิดขึ้น ที่เขาเรียกเป็นธรรมะปัญญา มันเกิดความรู้สึกว่าพอเห็นประสบอะไรนะคะ พอประสบเหตุการณ์อะไรขึ้น สมมุติเอาข้างนอกก็ได้ ประสบเหตุการณ์อะไรขึ้นจิตนี่มันปุ๊บอนิจจังทันที โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องนึก ไม่ต้องพูด ที่พูด ๆ โธ่เอ้ย มันอนิจจัง ไม่เที่ยง นั่นนะอนิจจังที่ปาก เพราะถ้ามันรู้สึก อนิจจัง นี่มันเกิดความสลด สังเวช แล้วมันไม่ต้องพูด มันรู้อยู่ในใจ เรียกว่ามันปุ๊บขึ้นมาในใจเอง นั่นแหละเห็นแล้ว เห็นอนิจจัง และที่แวบของการเห็นขึ้นมาอย่างนี้ นี่แหละ คือการทำงานของเมล็ดพืชของโพธิ หรือเมล็ดพืชของพุทธปัญญา ที่มีอยู่ในใจของคนทุกคน เพียงแต่เราช่วยรดน้ำพรวนดินมันหน่อย นี่แหละก็ใช่อาณาปานสติ ใช้การฝึกตามลมหายใจ ใช้การใคร่ครวญทำ เป็นปุ๋ย เป็นน้ำ ที่จะให้เมล็ดพืชนี้มีโอกาสได้เติบโตขึ้น ฉะนั้นต้องดูเอง ถามใจเองว่าคิดหรือเปล่า
คำถาม: ขณะที่กำลังปฏิบัติกายานุปัสสนาขั้นที่3 ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ จะต้องเริ่มต้นขั้นที่1 อีกหรือไม่
คำตอบ: ขึ้นอยู่กับว่าจิตยังคงอยู่กับลมหายใจในการปฏิบัติขั้นที่3 หรือเปล่า ถ้าจิตสามารถอยู่กับลมหายใจได้ตลอด เพราะเปลี่ยนอิริยาบถด้วยสติ แล้วก็เมื่ออยู่ในอิริยาบถใหม่แล้วก็คงสามารถตามการปฏิบัติในขั้นที่ 3 ได้อย่างไม่ขาดตอน เช่นนี้ ก็เรียกว่าไม่มีปัญหาในการปฏิบัติ ไม่ต้องย้อนกลับไปขั้นที่ 1 อีก การที่จะย้อนกลับไปขั้นที่ 1 ก็หมายความว่าเมื่อการปฏิบัตินั้นเกิดการติดขัดแม้ว่าจะปฏิบัติไปจนถึงหมวดที่ 2 หรือว่าหมวดที่ 3 ก็ตาม แต่มันเกิดขาดตอน จิตมันเกิดวุ่นขึ้นมา ควบคุมไม่ได้เพราะมีกิเลส มีนิวรณ์ มีอะไรมากระทบ และก็มันอาจจะกระทบแรงจนไม่สามารถที่จะควบคุมได้ในขณะนั้น เช่นนี้ท่านแนะนำว่า ให้กลับไปตั้งต้นที่ขั้นที่หนึ่งใหม่ ไปช้า ๆ ดิฉันก็นึกถึงสมัยที่มีสามล้อในกรุงเทพ เคยได้ยินไหมคะ พอใครบอกว่าให้ไปส่งที่ใหน ขอไปสนามหลวงก่อน นั่นน่ะไปตั้งต้นที่สนามหลวงถึงจะรู้ทางที่จะไปใหน ดิฉันพอได้มาปฏิบัติอานาปานสติก็มานึกดู ออ เหมือนกับเราไปตั้งต้นสนามหลวง แล้วเขาจะได้ไปถูกทางต่อไป ฉะนั้น ที่ท่านให้ไปตั้งต้นขั้นที่ 1 แล้วก็ 2, 3 ไปตามลำดับ เหมือนกับเป็นการอุ่นเครื่องเพื่อไม่ให้เราหลงทาง และทีนี้เมื่อเรามีความชำนาญเราก็ไม่ต้องอยู่นานในขั้นที่ 1 เราก็ไปได้เร็วขึ้น คือ ผ่านไปเร็วขึ้น
คำถาม: สมาธิแบบฤาษี ที่สามารถดับเวทนาไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น นั่งตัวแข็งได้หลาย ๆ ชั่วโมง พอจะจัดเข้าระดับใดของสติปัฏฐานสี่ได้หรือไม่
คำตอบ: ก็หมายถึงการเข้าสมาธิแบบเข้าฌานแบบชนิดที่ไม่รับรู้กับอะไรทั้งสิ้นเรียกว่าอยู่ในระดับของสมาธิที่เรียกว่า สมถภาวนา
คำถาม: การพิจารณาธรรม โดยไม่ผ่านขั้นตอนของการพิจารณา กาย เวทนา จิต จะทำได้หรือไม่ ผลแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบ: ก็ทำไมถึงจะไม่ผ่านละคะ ต้องขอย้อนถามหน่อย มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ผ่านหมายความว่าจะไปพิจารณาหมวดธรรมเลยเช่นนั้นหรือ ถึงจะไปพิจารณาหมวดธรรมเลย ก็ต้องผ่านหมวดที่ 1 เสียก่อนเพื่อทำจิตให้ความสงบระงับ แล้วจึงจะสามารถพิจารณาธรรมได้ ถ้าจิตวุ่นวายเสียแล้วล่ะก็พิจารณาไม่ได้ ต้องเป็นจิตที่สงบเสียก่อน อย่างไรก็ต้องผ่าน โดยอัตโนมัติ ถ้าจะไปสอนการเดินจงกรมให้นักเรียน ครูจะบอกเทคนิคเพื่อให้การเดินมั่นคง หรือจะให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง การบอกว่าให้มีสติอยู่กับลมหายใจดูจะเป็นนามธรรมและเข้าใจยาก ข้อนี้ครูก็ต้องปฏิบัติให้ดูนะคะ แล้วก็สอนให้รู้จักการทำ การตามลมหายใจ อย่างชนิดที่ไม่ต้องมาตาม 16 ขั้น ใช้เทคนิคง่าย ๆ รู้ลมหายใจ ตามลมหายใจแล้วก็นั่งสมาธิสักวันละ 5 นาที แล้วก็แนะนำการเดินจงกรม ครูก็ต้องเดินให้ดู ข้อสำคัญต้องให้รู้การตามลมหายใจ นี้อยู่กับลมหายใจเสียก่อน แล้วจึงจะสอนการเดินจงกรมได้นะคะ ถ้าจะสอนให้เดินเลยทีเดียว ยาก ถ้าให้ยืนหรือให้นั่งง่ายกว่า เพราะมันเป็นอิริยาบถเดียวไม่ต้องเคลื่อนไหว การเดินไปด้วย ดูลมหายใจไปด้วย มันยากเป็นสองเท่า ถ้าด้วยการยืนหรือการนั่งพอจะไปได้นะคะ