แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: คำถามแรกก็ส่งร้อยกรองมาให้ฟัง แล้วบอกเข้าใจว่าร้อยกรองบทนี้พูดถึงเรื่องของสมมติสัจจะ หรือว่ามีปริศนาธรรมอื่นซ่อนอยู่อีก มีความว่า
“เงาไผ่ไหววาดกวาดบันได ฝุ่นฟุ้งไฉนฤาก็เปล่า
เงาจันทร์ในสระสุกสกาว มีหรือเล่ารอยชำแรกแทรกแห่งจันทร์”
ฟังแล้วเข้าใจไหมคะ ฟังอีกครั้ง
“เงาไผ่ไหววาดกวาดบันได ฝุ่นฟุ้งไฉนฤาก็เปล่า
เงาจันทร์ในสระสุกสกาว มีหรือเล่ารอยชำแรกแทรกแห่งจันทร์”
ผู้ถามถามว่าเข้าใจว่าเป็นการสอนเรื่องสมมติสัจจะใช่ไหม หรือว่ามีปริศนาธรรมอื่นซ่อนไว้อีก
ตอบ: ก็เหมือนอย่างเรานั่งชมธรรมชาติในสวนคืนเดือนหงาย ต้นไผ่ก็ละเอียด กิ่งมันก็ไหว มีต้นไผ่ปลูกอยู่ใกล้ๆ บันได เวลาที่มันไหวไปตามลมและแสงจันทร์ที่มีอยู่บนฟ้าสาดลงมา ก็ทำให้มองเหมือนกับว่าเงาไผ่ที่มันไหวอยู่นั้นกวาดบันได กวาดบันไดให้สะอาด “ฝุ่นฟุ้งไฉนฤาก็เปล่า” มันมีการกวาดขึ้น ก็มีฝุ่น มองไปๆ เหมือนกับว่ามีฝุ่น แล้วก็อีกอันหนึ่ง “เงาจันทร์ในสระสุกสกาว” มองดูในสระน้ำที่อยู่ไม่ห่างก็มองเห็นเงาของจันทร์ ดวงจันทร์นั้นสุกสว่าง มีหรือเล่ารอยชำแรกแทรกแห่งจันทร์ เมื่อจ้องลงไปดูจริงๆ ในนั้นมีไหม รอยชำแรกแทรกแห่งจันทร์ คือเงาของจันทร์ที่จะแทรกออกมา มีหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นที่ถามมาว่า สอนเรื่องสมมติสัจจะใช่ไหม มันก็เหมือนใช่เพราะเหตุว่าตามสมมติสัจจะ ก็คือความจริงที่สมมติกัน ถ้ามีการกวาดมันก็ต้องมีฝุ่น แต่ความจริงนั้นเงาไผ่ที่ไหววาดกวาดบันได มันมีจริงหรือเปล่า มันก็ไม่มี มันมีแต่ต้นไผ่ซึ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ พอถูกลมพัดมันก็ต้องไหวตามเหตุปัจจัย ลมพัดนั่นคือเหตุปัจจัยที่มันพัดมาไหว มันพัดมาถูกกิ่งไผ่ กิ่งไผ่นั้นก็ไหว แล้วลักษณะที่มันไหวไปตามกิ่งไผ่ ที่มันยาวแล้วมันก็อ่อน มองดูเหมือนมันกวาด เผอิญมันอยู่ใกล้บันไดก็ดูเหมือนกับว่ามันกวาดบันได แต่ความเป็นจริงแล้วมันหาได้กวาดอะไรไม่ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นเอง แต่จิตของมนุษย์ที่ติดอยู่กับการปรุงแต่ง ติดอยู่กับความสมมติว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็เลยคิดเห็นไปว่า นี่ไม้ไผ่ เงาไผ่นี่กำลังกวาดนะ แล้วก็มองดูสิเหมือนกับมีฝุ่น แต่ว่าผู้ร้อยกรองนี่ก็มองเห็นความจริงในนั้น จึงบอกว่า “ฝุ่นฟุ้งไฉน ฤาก็เปล่า” ความจริงแล้วมันไม่มีอะไรเลย มันเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง มันไม่ได้มีอะไรเลย เงาจันทร์ในสระสุกสกาว มีหรือเล่ารอยชำแรกแทรกแห่งจันทร์ ก็ไม่มีอีกเหมือนกัน ที่มองดูว่าพระจันทร์อย่างนั้นอย่างนี้ มีเงาจันทร์กระทบอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ตามแต่สังขาร การปรุงแต่งที่แต่ละคนจะคิดคำนึงไป ฉะนั้นร้อยกรองบทนี้ก็เท่ากับจะชี้ให้เห็นถึงความหลงของจิตของมนุษย์ที่มีอวิชชาครอบงำ ก็มักจะปรุงแต่งไปตามความเคยชิน ตามความคิดของตน แต่ความเป็นจริงนั้นเมื่อเราจ้องดูธรรมชาติ ก็คือธรรมชาติ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่กฎอิทัปปัจจยตาก็ชัดขึ้น
คำถาม: เมื่อแรกฝึกตามลมหายใจ เกิดนึกภาพเห็นในช่องท้องเป็นหลอดลม ปอด ตลอดเวลา เพราะจินตนาการตามหรือเพราะคิดตาม มันเลยเกิดนิมิตภาพเพราะเคยปฏิบัติเรื่องนิมิตภาพมาก่อน ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ ก็พยายามขจัดไป แต่ต่อมาก็นึกภาพอีกคือมันอดนึกไม่ได้ เพราะเคยนึกภาพสมมติขึ้นมาเป็นภาพนิมิตต่างๆ ก็เห็นเป็นสองช่อง เข้าช่องออกช่อง คือลมหายใจเข้าช่องออกช่อง แล้วก็ยังแถมท่องคำว่า เข้าออก เข้าออกด้วย ต่อมาก็รู้สึกว่าไม่ใช่
ตอบ: นี่ก็แสดงว่าผู้ถามมีสติ ถึงได้บอกตัวเอง เตือนตัวเองได้เรื่อยๆ เป็นระยะๆ เวลาเข้าก็เข้าทั้งสองช่อง ออกก็ออกทั้งสองช่องก็ถูกแล้ว แต่ทีนี้เพราะความที่เคยติดกับการนึกภาพก็เห็นเป็นภาพช่องเดียว เข้าออกสลับกัน ถ้าหากว่าเห็นอยู่อย่างนี้แล้วก็อยากจะแก้ แก้ให้หาย ก็ลองนึกไปว่านี่ที่เราเห็นภาพนิมิต ที่เราบอกว่าเป็นนิมิตที่เราเห็น แต่นิมิตที่เห็นนี้ก็หาคงที่ไม่ มันเปลี่ยนอยู่เรื่อย เกิดดับๆ นี่คือดูอนิจจัง ถ้าผู้ใดรู้สึกว่านิมิตรบกวนเหลือเกิน แก้ไม่ค่อยจะได้เลย ก็ดูอนิจจัง และเมื่อดูอนิจจังมากๆ ก็จะเห็นอนัตตาในนิมิตนั้นเอง ที่เราว่าเป็นช่องท้องเป็นหลอดลมเป็นปอด มันก็หาจริงไม่ มันเป็นแต่เพียงสิ่งเกิดขึ้น สักแต่ว่าตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง หรือประเดี๋ยวเห็นเป็นสองช่องเข้าออก ประเดี๋ยวก็เห็นเป็นช่องเดียว นี่แหละคือการปรุงแต่ง มันก็เกิดดับๆๆ ตกอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง ดูไปแล้วก็จะเห็นความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นนิมิตก็เป็นเพียงสักว่านิมิต หาใช่จริงจังไม่ ก็ลองใช้ไตรลักษณ์เข้าไปจับ เข้าไปใคร่ครวญอีกแรงหนึ่ง นอกจากจะใช้ลมหายใจขับไล่ไปนะคะ เช่นเดียวกันกับการติดตามดูความคิด ถ้าผู้ใดมีความคิดที่จดจ่อไหลเข้ามาในใจอย่างไม่ขาดสาย เดี๋ยวคิดอย่างนี้ เดี๋ยวคิดอย่างโน้นต่อกันๆๆ อย่างไม่ขาดตอน ดูอนิจจัง อนิจจังของความคิด แม้แต่กำลังคิด ความคิดนั้นก็ไม่เคยเป็นอย่างเดียว ดูเถอะค่ะ เรานั่งคิดอยู่สักชั่วโมงหนึ่งคือมันคิดไม่หยุดเลย ภายในหนึ่งชั่วโมงนั้นความคิดเปลี่ยนไปหลายสิบอย่าง ไม่ต้องเอาหนึ่งชั่วโมง เอาสักห้านาที มันก็คิดเปลี่ยนแม้บางคนจะเถียงว่าไม่เปลี่ยนมันเรื่องเดียว แต่ในเรื่องเดียวนั่นแหละ อย่างน้อยประเดี๋ยวก็เปลี่ยน เป็นเวทนาบ้าง เป็นความรู้สึก ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นความคิด สังขาร คิดปรุงแต่งไป ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนมาเป็นความจำนึกย้อนไปถึงนั่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดึงมันกลับมา เห็นไหมคะ แม้แต่คิดเรื่องเดียวกันก็ยังไม่ใช่คิดในลักษณะเดียวกันตลอดไป มันเปลี่ยนตลอดเวลา แล้วบางทียิ่งกว่านั้นก็คิดเรื่องนี้ กระโดดไปเรื่องโน้น กระโดดไปเรื่องโน้น ยิ่งเห็นชัดยิ่งขึ้น ฉะนั้นถ้าผู้ใดที่บอกว่าสลัดความคิดความวิตกกังวลไม่ได้ เอาไตรลักษณ์เข้าไปจับให้เห็นอนิจจังในนั้น แล้วจะค่อยๆ เห็นอนัตตา แล้วผลที่สุดก็จะเห็นความเขลาของตัวเอง โธ่เอ๋ย เรานี่โง่จริงๆ เสียเวลามานั่งคิดทำไม ไม่เห็นได้อะไรสักอย่าง ไม่เป็นแก่นไม่เป็นสาร ทำไมไม่รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ในทางอื่น ก็จะรู้จักปรับเปลี่ยนของตัวเองนะคะ ก็เอาไปใช้ได้
คำถาม: เข้าใจว่าให้ตามความรู้สึก ก็คือที่บอกว่าให้ตามลมหายใจด้วยความรู้สึก ไม่ให้นึกภาพ ถูกแล้ว แต่มันติดอยู่จะขจัดอย่างไร
ตอบ: ก็ขจัดด้วยวิธีที่ได้พูดไปเดี๋ยวนี้ คือใช้ลมหายใจกำจัด แล้วก็ใช้วิปัสสนาภาวนาเข้ามาช่วย ด้วยการดูอนิจจัง อนัตตา
คำถาม: เทคนิคการตามความรู้สึก และการขจัดภาพในห้วงคิดทั้งหลาย
ตอบ: ขจัดภาพในห้วงคิดทั้งหลายนี่ก็พูดแล้วนะคะ ทีนี้การตามความรู้สึก ขอเทคนิคทำอย่างไร ก็ที่พูดมาแล้วทั้งหมด ที่พูดมาแล้วตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งการปฏิบัติ นี่คือเทคนิควิธีการ
อันแรกที่สุดก็คือ ต้องปล่อยให้หมดเสียก่อน พอเราจะใช้ความรู้สึกทำงาน เราต้องปล่อยให้หมด คำว่า “ปล่อย” ปล่อยอะไร ก็คือปล่อยอารมณ์ ปล่อยความคิด อารมณ์ที่ข้องเกี่ยวผูกพัน ปล่อยความรู้สึกนึกคิด ความวิตกกังวล ความอะไรต่ออะไรทั้งปวงที่ข้องเกี่ยวอยู่ในใจ ปล่อยให้เป็นอิสระ เหมือนอย่างถ้าทางกายเหนื่อยเหลือเกิน ลงนอน กางแขนอย่างนี้ขาอย่างนี้เพื่อให้เกิดการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ขณะนั้นให้ร่างกายนี้ผ่อนคลาย เบาสบายเต็มที่ ไม่เอาความหนักเหน็ดเหนื่อยที่ใช้แรงงานมา ไม่เอา นั่นเป็นทางกาย ทีนี้ทางใจข้างในที่จะใช้ความรู้สึกได้อย่างเกิดผล ต้องปล่อย ปล่อยนั้นคือกวาด นี่โดยสมมติหรืออุปมา ก็คือกวาด กวาดความรู้สึกวิตกกังวล ความคิด ความยุ่ง ความวุ่น ความสับสนที่มีอยู่ในใจ กวาดมันออกไป บางคนก็อาจจะกวาดด้วยการนั่งเฉยๆ เหนื่อย เพลีย หลับตาไม่ต้องพูดกับใคร แล้วก็ค่อยๆ หายใจยาวทีละน้อยๆ เป็นยาวลึก ถ้าผู้ที่มีความละเอียดอยู่ในจิตพอสมควรก็จะใช้วิธีนี้ได้ เฉยๆ อย่างนี้ โดยวาง พออะไรเข้ามา วาง ไม่เอา วางออกไปข้างนอก วางออกไปข้างนอกโดยใจนี่ไม่เปิดรับ ถ้าหากว่าผู้ที่พื้นจิตยังไม่ละเอียดก็ต้องใช้ลมหายใจหยาบที่จะขับไล่มันออกไป แรง ลมหายใจที่แรง ที่หนัก ที่เร็วที่สั้น แต่สั้นนี่อาจจะใช้ได้ผลน้อยเพราะว่ามันสั้น คือระยะมันสั้น มันทำงานไม่ได้มาก ไม่ได้นาน ก็ใช้ยาวแรง ยาวหนัก ยาวลึก พวกนี้ ความหยาบของมันก็จะช่วยขับออกไป เสร็จแล้วก็เข้ามาอยู่กับลมหายใจที่ยาวลึก ที่มีความละเอียดเข้าแล้วก็ปล่อยใจให้สัมผัสกับความสบายที่กำลังเกิดขึ้นข้างใน เหมือนอย่างบ้านที่รก ห้องที่รก ใครอยู่ห้องที่รกได้ สุมๆ จนไม่เห็นตัวคน พอถึงเวลาก็ทุ่มตัวลงไปนอน ลืมตาขึ้นก็หยิบๆๆ ออกไป ก็ไม่เป็นไร ซึ่งคนปัจจุบันเดี๋ยวนี้ทำอย่างนั้นกันเยอะแล้วก็อ้างว่าไม่มีเวลา ที่จริงคือขี้เกียจ เห็นแก่ตัว ถ้าวันใดวันดีคืนดี เอาล่ะวันนี้ได้ฤกษ์ดี ทำการปัดกวาด เช็ดล้าง ขัดถูเกลี้ยง เคยบ้างไหมคะ วันนั้นรู้สึกใจเป็นอย่างไร แหมมันโปร่ง โล่ง มองไปทางไหนสะอาด เบา เกลี้ยง จะนอนตรงไหนก็เย็นตัว มันก็สะอาดตัว สบายตัว หายใจก็ดูคล่องขึ้น แล้วมันก็คล่องจริงๆ เพราะไม่ต้องหายใจขี้ฝุ่นที่อยู่ในนั้น ก็คล่องก็สบาย เคยไหมคะ นั่นแหละเหมือนกัน
อุปมากับที่เรากวาดความสกปรกข้างใน เพราะเมื่อจิตวุ่นวายคือจิตสกปรก สกปรกด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง สกปรกด้วยตัณหา ความอยาก ก็กวาดมันไปอย่างนี้ ยอมเสียเวลากวาดสักหน่อย จะนานสักเท่าไรก็ค่อยๆ กวาดมันไปช้าๆ โดยไม่หวังแล้วก็ไม่หงุดหงิดในการกวาด ถ้าใครจะทำความสะอาดห้องด้วยความหงุดหงิด จะได้ยินเสียงตึงตัง ปึงปัง โป๊กเป๊ก บางทีก็ปนด้วยคำด่าว่าติดตามมาด้วย ไม่รู้ด่าใคร ไม่รู้เคาะใคร ไม่รู้กระแทกใคร ก็เคาะตัวเองกระแทกตัวเองนั่นแหละ ให้ตัวเองยิ่งเจ็บยิ่งเหนื่อยยิ่งลำบากยิ่งขึ้น นี่อวิชชาทั้งนั้น แต่ถ้าเราทำอย่างเบาๆ อย่างสบาย ปล่อยให้มันเป็นไป แล้วใจก็จะค่อยๆ วาง ทีนี้แหละในขณะนั้น จุดนี้จะค่อยๆ สัมผัส สัมผัสกับความเบาความสบายที่เกิดขึ้น แล้วจะค่อยๆ เข้าใจเองว่าที่ว่าผลักจิตเข้าข้างในคืออย่างไร การที่เขาหลับตาเพื่อจะปิดการติดต่อ การปะทะกับข้างนอก ปิดตาเสียไม่รับรู้ แล้วก็จะอยู่ข้างใน มันก็จะค่อยๆ ย้อนความรู้สึกที่จะพุ่งออกข้างนอก มันจะย้อนอยู่ข้างในแล้วก็จะทำงานอยู่ข้างใน ทีนี้เราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดความรู้สึกอันนี้ที่อยู่ข้างใน มันก็จะกำหนดคือมันจะสัมผัสอยู่กับลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกตลอดเวลา นี่คือวิธีที่เราจะตามความรู้สึก คือตามอย่างนี้ด้วยการขจัดสิ่งข้างนอกออกไปเสียให้หมดก่อน ที่จริงก็ได้ฝึกกันมาเรื่อยๆ นะคะ แล้วถ้าลงมือทำ ฝืนใจทำเรียกว่าคลำไปด้วยการปฏิบัติของตัวเอง จะเห็นชัดมากกว่าให้คนอื่นบอกนะคะ ที่จริงก็พูดบอกไปหลายครั้งแต่ถ้าลงมือทำแล้วจะเห็นชัด ชัดยิ่งขึ้น
คำถาม: คำถามต่อไปถามว่าการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อนำตัวเองให้บรรลุเพียงอย่างเดียวเช่น ออกธุดงค์หรือไปอยู่ตามป่าตามเขา กับการปฏิบัติธรรมไประยะหนึ่งแล้วก็ต้องสอนผู้อื่นด้วย อาจทำให้เวลาในการปฏิบัติธรรมของตนเองน้อยลง ช้าลง อย่างไหนจะมีคุณค่ามากกว่ากัน อย่างไร
ตอบ: อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของแต่ละบุคคลนะคะ แต่อันที่จริงแล้วการที่เข้ามาปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าผู้ที่ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อการปฏิบัติธรรมจริงๆ ก็ย่อมจะมีจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติอยู่ที่การพัฒนาจิตให้สงบเยือกเย็นผ่องใส พร้อมกับสามารถชำระล้างสิ่งที่เรียกว่าอวิชชาให้ออกไปจากจิตได้ นี่เป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อปฏิบัติจริงๆ แต่ส่วนผู้ที่เข้ามาปฏิบัติวับๆ แวมๆ ก็อาจจะเพียงแต่ว่าขอให้มีความสงบ แล้วก็เอาไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันบ้างก็พอแล้ว ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ที่ปฏิบัติจริง แทนที่ว่าจะได้ใช้เวลาเพื่อฝึกปฏิบัติให้เต็มที่กลับต้องมาทำงานอื่น เหมือนอย่างเช่นเป็นต้นว่าต้องมาพูดธรรมะ มาสอนธรรมะ อย่างนี้เป็นการเสียเวลาไหม นี่คือคำถามของผู้ถามนะคะ
ก็อาจจะตอบได้ว่า วิธีที่จะเข้าใจธรรมะหรือว่าประจักษ์แจ้งในธรรมะนี่มีหลายอย่าง วิธีที่ชัดเจนแน่นอนที่สุดก็คือด้วยการปฏิบัติด้วยตัวเองนะคะ หลังจากที่มีปริยัติคือได้รับคำสอน ศึกษาเล่าเรียนคำสอนที่ถูกต้องแล้วก็นำมาปฏิบัติ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็รับสั่งว่า วิธีที่จะบรรลุธรรมนั้นก็มีหลายอย่าง นอกจากการที่จะฝึกปฏิบัติด้วยการนั่งทำสมาธิอย่างเดียวแล้ว การสาธยายธรรมเหมือนอย่างการสวดมนต์ทำวัตรอย่างนี้ ก็อาจจะเรียกว่าสาธยายธรรม เพราะในขณะที่เราสวดมนต์ทำวัตร ถ้อยคำในบทสวดมนต์ทำวัตรนั้นล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เกิดวิปัสสนาภาวนา คือเกิดปัญญาในการที่จะพิจารณาธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติ คอยจิตให้ซาบซึ้ง คละเคล้าอยู่กับถ้อยคำเนื้อความในบทสวดมนต์ ความสงบเกิดขึ้นแล้วเพราะจิตจดจ่ออยู่กับถ้อยคำ แล้วทีนี้เมื่อเอาจิตนั้นคละเคล้า ซึมซาบ ปัญญาก็เกิดขึ้นมีความเข้าใจ เหมือนอย่างบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าอย่างที่ว่าแล้ว นี่เรียกว่าบางทีอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ชัดเจน ที่ท่านใช้คำว่า “โพลง” ในทางธรรม มันโพลง มันสว่าง อ๋ออย่างนี้เอง อ๋อๆๆ นั่นแหละคือความสว่างที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุปุ๊ปทันทีนะคะ แต่มันจะค่อยๆ สว่าง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น หรือบางทีก็อาจจะเกิดจากการพูดธรรมะ ในขณะที่พูดไปสิ่งที่บางทีมันยังเป็นเหมือนกับปมหรือขมวดที่ยังไม่เข้าใจชัดเจน มันเกิดคลี่คลายขึ้นมาในขณะนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นจากคำถามนี้ ก็ยังมีวิธีอื่นอีกหลายวิธีที่จะบรรลุธรรมได้ ทีนี้ถามว่าเสียเวลาไหม จะว่าเสียเวลามันก็เสียเวลาเหมือนกัน แต่ว่าได้ประโยชน์บ้างไหม ก็ต้องตอบว่าก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน เพราะว่าอย่างตัวดิฉันนี่ ถ้าจะยกตัวอย่างอย่างตัวดิฉัน เวลาที่จะมาพูดธรรมะหรือเวลาที่จะมาอบรมทุกครั้ง ทั้งๆ ที่อบรมมาก็เป็นเวลาหลายปี แต่ก็ต้องบอกว่าทุกครั้งที่ดิฉันจะมานั่งพูดตรงนี้ ไม่ว่าที่ไหนทั้งนั้น ดิฉันจะต้องเตรียมทุกครั้ง ทั้งๆ สิ่งที่เตรียมจะว่าซ้ำซากก็ได้เพราะมันอยู่ในใจ สอนมาตั้งหลายปีแล้ว แต่ถึงกระนั้นดิฉันต้องเตรียมทุกครั้ง ไม่เคยที่จะว่าพอถึงเวลาสอนก็มานั่งพูดๆๆ เพราะยังไม่รู้สึกตัวว่ามีความชำนาญอย่างนั้นก็ได้ และอีกอย่างหนึ่งในฐานะที่เคยเป็นครู มีความรู้สึกถ้าเราทำอย่างนั้นเหมือนกับเราดูถูก เราสบประมาทผู้ที่เขาอุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจสอน...