แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: การทุ่มเทอุทิศเพื่องานของสังคมส่วนรวมเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง หากมันล้ำหน้าจนแย่งเวลาทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งการปฏิบัติธรรม ควรแก้ไขและเตือนตนเองอย่างไร
ตอบ: ก็ดูโทษทุกข์ของความสุดโต่ง ดูวันที่หอบแฮกๆๆๆ กลับมาถึงบ้าน กว่าจะได้นอนก็ทิ้งตัวหมดเรี่ยวหมดแรง เลยมานอนแบ็บ ลุกไม่ขึ้น พอตอนเช้าไม่มีแรง แต่ต้องเซซังลุกขึ้น ตะเกียกตะกายดึงร่างนี่เดินสะลึมสะลือเพื่อไปสงเคราะห์คนอื่นเขาต่อไป ดูโทษทุกข์อันนี้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้มากๆ แล้วก็ถามตัวเองว่า เรานี่ทำเป็นเมตตากรุณาคนอื่น แล้วคนที่ควรเมตตากรุณาที่สุดคือตัวนี้ เมตตาแล้วหรือยัง ลากไปทำธุระสารพัด เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ดูโทษทุกข์ที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นโทษทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ จะค่อยๆ มองเห็นว่าเรานี่เกินพอดี ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า จึงทำงานอย่างชนิดที่ว่าเพื่อประโยชน์คนอื่นจริง แต่ตัวเองมีความทุกข์ นี่ก็ไม่ใช่ถูกต้อง เพราะยังไม่ได้ทำหน้าที่ถูกต้องโดยธรรม หน้าที่ถูกต้องโดยธรรมแล้วล่ะก็ไม่มีใครเป็นทุกข์ มีแต่ความสุขเบิกบาน ประโยชน์ที่ได้เกิดขึ้นร่วมกัน ฉะนั้นหมั่นดูโทษทุกข์ของความสุดโต่งแห่งการกระทำของตนเอง แล้ววันไหนมันชัดเหลือเกินในเรื่องความทุกข์ก็จะค่อยๆ หยุดไปเอง
คำถาม: ตั้งใจแผ่เมตตาให้กับคนอื่นได้แล้ว คนนอกบ้าน คนที่ไม่ชอบ คนที่เคยเกลียดก็แผ่เมตตาให้ได้แล้ว แต่กับคนในบ้านเช่น พี่น้อง ลูกหลาน กลับอารมณ์เสีย แผ่ไม่ได้ เพราะอะไร
ตอบ: คนอื่นเรารักเขามากไหมคะ เราไม่ได้รักเขาเท่าไร แต่ถ้ากับลูกหลานไม่ได้ ยอมไม่ได้ ต้องโกรธ ต้องหงุดหงิด เพราะอะไร เพราะเขาเป็นลูกหลานของเรา ของฉัน นี่คือเรายึดมั่นถือมั่น ความที่รักเขามากยึดว่าเขาเป็นลูกเราเป็นหลานเรา เป็นญาติพี่น้องเรา เพราะฉะนั้นเราก็หวังว่าเขาต้องดีอย่างนั้น ต้องดีอย่างนี้ เห็นไหมคะ โทษทุกข์ของอุปาทาน แต่ส่วนคนอื่นก็หวังดีกับเขาหรอก แผ่เมตตากับเขาได้บ้าง ที่จริงไม่ได้จริงๆ คนที่เกลียดจริงๆ ก็ยังไม่ได้ ก็เพราะเขาไม่ใช่เรา คือไม่ใช่ของเรา อย่างที่เราได้ยินลูกคนอื่น หลานคนอื่นเขาทำผิดเสียหาย พ่อแม่ชอกช้ำ ร้องไห้เสียใจ เราก็ไปเสียใจกับเขาด้วยแต่เสียใจแล้วก็แล้วกัน เราไม่ได้เอามาติดใจเราใช่ไหมคะ เพราะเขาไม่ใช่ของเรา ฉะนั้นนี่จงดูเถอะ ความทุกข์ที่เกิดขึ้น วันนี้เราจะพูดถึงเหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัย ก็ดูมันให้มากๆ แล้วก็ละต้นเหตุนั้นเสีย ความทุกข์ก็จะได้ไม่เกิด
คำถาม: จิตสงบมีลักษณะเป็นอย่างไร ที่มีผู้กล่าวว่า สงบมาก สงบน้อย สงบตลอดไป เป็นเช่นนั้นหรือไม่
ตอบ: ถ้าสงบตลอดไปก็คือ ปฏิบัติได้สม่ำเสมอ ถูกต้องเป็นเวลาพอสมควร ความสงบนั้นจึงมั่นคง หนักแน่น จะรู้เองเหมือนกับกินข้าว เหมือนกับการนอนพอหรือไม่พอ เราจะรู้เองเมื่อปฏิบัติ
คำถาม: ขณะฝึกสมาธิยังตามลมได้ไม่มากนัก คอยเผลอสติ คิดโน่นคิดนี่ หรือเพลินไปเลย ในโอกาสดังกล่าวผู้ฝึกจะมีสภาวะจิตสงบได้บ้างไหม
ตอบ: อาจจะมีได้เหมือนกันค่ะถ้าบรรยากาศล้อมรอบตัวแจ่มใส เย็นสบาย เคยไหมคะ เหมือนอย่างไปเที่ยวป่า ไปเที่ยวชายทะเล หรือไปนั่งภูเขา หรือแม้แต่นั่งอยู่ในสวนที่บ้าน หรือบางทีมุมห้อง ในห้องในบ้านของเรา แต่มันสงัด สงบ สงัด ไม่มีสิ่งใดรบกวน แล้วตอนนั้นจิตก็เฉยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจนั่งสมาธิ แต่มันสงบ อย่างนี้ท่านเรียกว่าความสงบที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ อาศัยสิ่งแวดล้อมช่วยหรืออำนวยให้ เป็นไปได้เหมือนกันนะคะแต่ก็ประเดี๋ยวประด๋าว ก็จำเป็นจะต้องทำถ้าเราต้องการให้เกิดมาก
คำถาม: ถ้าจิตใจสบาย ไม่มีอารมณ์ใดมารบกวนแล้วเอาไตรลักษณ์มาใคร่ครวญ ทำให้จิตใจจางคลายจากอารมณ์โลภ โกรธ หลงได้บ้าง แม้จะไม่มากและไม่ยาวนานนัก อย่างนี้จัดเป็นวิปัสสนาหรือไม่
ตอบ: ก็เป็นวิปัสสนาน้อยๆ
คำถาม: ควรทำบ่อยๆ ไหม
ตอบ: ควร ยิ่งทำได้มากเท่าใด การเห็นไตรลักษณ์ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น และควรทำในชีวิตประจำวันด้วย
คำถาม: เคยมีประสบการณ์ว่า เวลานั่งสมาธิแบบจับลมหายใจนี้ นั่งไปสักพัก มันเพลินๆ เหมือนจะหลับแต่ไม่หลับ เพราะรู้ตัวอยู่ หายใจก็รู้ว่าหายใจ แต่ใจไม่ได้อยู่ที่ลมมันนิ่งเฉย อยู่ลอยๆ อยู่ คำบริกรรม “พุทโธ” ก็หายไป เป็นอยู่ไม่นานนัก บางครั้งไม่กี่นาที บางครั้งเกือบยี่สิบนาที สภาวะดังกล่าวเป็นอะไร ถูกวิธีหรือไม่
ตอบ: ถ้ามันลอยๆ อยู่เฉยๆ ไม่ควรจะให้มันลอยๆ อยู่เฉยๆ ตั้งสติขึ้นมาใหม่จะถูกต้องกว่า
ก็ยังมีคำถามเหลืออยู่บ้างนะคะ แต่ก็ตั้งใจว่าอยากจะให้ปฏิบัติซ้ำอีกก่อนที่เราจะเลิกตอนเช้า ก็อยากจะขอใช้เวลาตอนนี้ปฏิบัติสัก 15 นาที ขยับเนื้อขยับตัวให้สบายค่ะ ให้หายเมื่อย นวดต้นคอนวดหน้าศีรษะเสียเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย แล้วนั่งในท่าที่สบาย สบายแต่ว่าสำรวม ให้เป็นธรรมชาติไม่แข็งขืนนะคะ จะได้ไม่เครียดและนั่งได้นาน ไม่ต้องหลับตา ถ้ายังรู้สึกไม่พร้อมไม่ต้องบังคับ
สำรวจลมหายใจปกติเสียก่อน ตามลมหายใจปกติ ที่หายใจอยู่ตามธรรมดานี่นะคะ ตามรู้มันทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย สบายๆ ให้เป็นธรรมชาติ แล้วก็ผ่อนลมหายใจนั้นให้ยาวขึ้น ตามลมหายใจยาวขั้นที่1 ตามเองค่ะ ไม่ต้องบอก เปลี่ยนลมหายใจยาวหลายๆ อย่าง เหมือนอย่างที่เราทำแล้วเมื่อเช้านี้ และวิธีการเปลี่ยนเพื่อที่จะไม่ให้มันมากระทบอาการที่เราปฏิบัติ เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนอย่างที่แนะนำเมื่อเช้า ค่อยๆ ผ่อนให้เป็นธรรมชาติ พอรู้สึกเหนื่อยก็มาอยู่กับยาวเบา หรือยาวธรรมดาเพื่อเป็นการพัก แล้วก็ลองขยายจากยาวเบาธรรมดาเป็นยาวลึกเบา ยาวลึกหนัก เปรียบเทียบกันดูด้วย
ทดลองทุกอย่างนะคะ อย่าไปหายใจอยู่อย่างเดียว ไม่ต้องเกรงใจเพื่อน ต่างคนต่างปฏิบัติค่ะ สบายๆ ไม่ต้องเครียดนะคะ ไม่ต้องหวัง ทำให้ถูกวิธีเท่านั้นพอ ขยายมันให้ยาวออกไปทีละนิด ทีละนิด ช้าๆ จนเป็นยาวลึกเบา จนเป็นยาวลึกเบา ตามลมหายใจยาวลึกเบาให้ตลอดสายทั้งเข้าและออก เปลี่ยนเป็นยาวลึกหนัก อย่าลืมกำหนดว่าปรุงแต่งกายอย่างไรด้วยสติ ค่อยๆ ผ่อนยาวลึกหนักให้ช้าลง เบาลงเป็นยาวธรรมดา ยาวธรรมดา คงกำหนดจิตตามลมหายใจยาวธรรมดาด้วยสติทั้งเข้าและออก เปลี่ยนยาวธรรมดาเป็นสั้นแรง เปลี่ยนเป็นสั้นเบา สั้นเบา เพื่อเป็นการพัก พักเหนื่อยนิดหน่อยแต่คงตามรู้ด้วยสตินะคะ เปลี่ยนเป็นยาวแรง ค่อยๆ ผ่อนยาวแรงให้ช้าลง เบาลง ให้เบาลงเสียก่อนแล้วก็ช้าลง จนเป็นยาวช้าเบา เป็นยาว ช้าๆ เบาๆ กำหนดจิตตามลมหายใจยาว ช้า เบา ทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย มันจะยาวถึงไหนไม่สำคัญ ตามรู้ ให้รู้ทั้งเข้าและออก แล้วค่อยๆ รู้มากขึ้นทีละน้อยๆ โดยไม่หักโหม ไม่หวัง แต่ค่อยๆ ทำไป ทำไปให้เป็นธรรมชาติด้วยความรู้สึกสนุก แล้วจะเพลิดเพลินไม่เบื่อหน่าย