แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถาม: ทำสมาธิจิตสงบขนาดไหนถึงจะพิจารณาธรรมตามไตรลักษณ์ได้
ตอบ: จะรู้เองถ้าทำ เหมือนกับว่ารับประทานอาหารอิ่มแค่ไหนพอดี อิ่มแค่ไหนเกินไป อิ่มแค่ไหนยังน้อยไป รู้เอง
ถาม: การเกิดนิมิตต่าง ๆ จะเกิดเมื่อสมาธิมีมากเพียงใด
ตอบ: นี่ก็ตอบไม่ได้ บางคนช่างปรุงแต่ง พอนั่งสมาธิประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละ มีต่าง ๆ มาสารพัด ที่ดีถูกใจก็มี ไม่ดีถูกใจก็มี เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับว่า เป็นสมาธิ เป็นนิมิตยังไง ถ้าเป็นนิมิตสารพัดนิมิต มันจะเกิดขึ้นจากความปรุงแต่ง ประเดี๋ยวก็เห็นนู่นเห็นนี่ เดี๋ยวก็เห็นผู้คน เดี๋ยวก็เห็นดอกไม้ เดี๋ยวก็เห็นผีปีศาจ เดี๋ยวก็เห็นอะไรที่น่ากลัว เห็นต่างๆ ท่านอาจารย์ดุลย์ ที่เรียกกันว่าหลวงปู่ดุลย์ ผู้ปฏิบัติบางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อท่าน ดิฉันก็ไม่มีโอกาสได้กราบนมัสการท่าน แต่ได้อ่านหนังสือที่มีลูกศิษย์ท่านรวบรวมแล้วก็ใช้ชื่อว่า หลวงปู่ฝากไว้ ในนั้นก็มีอยู่ตอนหนึ่งที่เล่าถึงว่า พวกลูกศิษย์ฆารวาทที่ปฏิบัติธรรม ก็แน่แหละพอปฏิบัติอะไรได้ก็ยังมีความยึดมั่นถือมั่นก็ชอบไปอวด แหมปฏิบัติแล้วเห็นนู่นเห็นนี่อย่างนั้นสารพัดจะเห็น หลวงปู่ท่านก็หัวเราะหึ ๆ ท่านก็ไม่ได้ตอบว่าอะไร พอเขากลับไปแล้ว ลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยที่เป็นพระภิกษุเนี่ย ก็ถามท่านว่า ที่คนนั้นเขาบอกว่าเขาเห็นเขาเห็นจริงไหม หลวงปู่ท่านก็ตอบว่าที่เขาบอกว่าเขาเห็นเนี่ยเขาเห็นจริง แต่สิ่งที่เขาเห็นนั้นไม่จริง เข้าใจไหมคะ ว่าหมายความว่ายังไง ที่เขาบอกว่าเขาเห็นน่ะเขาไม่ได้โกหก เขาเห็นเอง เขาเห็นจริง แต่มันเห็นไปบางครั้งและส่วนมากตามอาการปรุงแต่งของตน สิ่งที่มันแฝงอยู่ในจิตใต้สำนึกนั่นแหละค่ะ มันจะขึ้นมา เป็นความรักความชังความโกรธความเกลียดแล้วก็มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมประกอบมาด้วย แล้วก็บอกว่าเห็น มันก็เห็น แต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง ไม่จริงเพราะมันไม่ใช่สิ่งจริง ซึ่งอาจจะเกิดจากการปรุงแต่ง หรือสมมุติมันจะเกิดขึ้นมาจริง มันก็อยู่ในกฏของไตรลักษณ์ อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนได้ยาก อนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นอย่าสนใจเรื่องนิมิตเลย จงสนใจกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ ภายในจิตของตนเถอะ แล้วก็อย่าถามนะ เมื่อไหร่จะเกิดอะไรต่ออะไร มันยังไม่ถึง เรากำลังอยู่ขั้นต้น เมื่อคืนดิฉันก็ย้ำพูดปัจจุบันขณะ ว่าปัจจุบันขณะสำคัญอย่างไร ขอทุกท่านผู้ปราถนาจะได้ธรรมเร็ว ๆ อยากได้เร็ว ๆ จงโปรดอยู่กับปัจจุบันขณะ ถ้าสามารถอยู่กับปัจจุบันขณะ คือตามอยู่กับลมหายใจได้มากเพียงใด นั่นแหละจะได้เข้าถึงธรรมเร็วยิ่งขึ้นเพียงนั้น แต่ถ้ามัวแต่หวัง ปราถนาต้องการอยากได้ธรรมเร็วๆ จะไม่มีวันได้ ไม่มีวันถึง นี่คือตัวอุปสรรค เรื่องของอภิญญา เรื่องของเกจิอาจารย์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปสนใจ ขณะที่นั่งฟังธรรมบรรยายนึกขึ้นมาได้ก็ตามดูลมหายใจ คือพอนึกไม่ได้ก็ไม่ได้ตามดู ถามว่าถูกหรือผิด ก็ถูกแล้ว เรายังเป็นผู้ปฏิบัติใหม่จะตามดูตลอดเวลาไม่ได้ แต่อุตส่าห์นึกได้ก็รีบตามดูทันที แล้วประเดี๋ยวมันก็จะหลุดไปอีกเพราะยังไม่ชำนาญ แล้วก็พอนึกได้ก็ตามดูทันที นี่เป็นการฝึกที่ถูกต้องค่ะ แต่ถ้าต้องการที่จะให้เกิดปัญญานะคะ ก็ต้องใคร่ครวญทำ ซึ่งก็ทำเมื่อมันถึงเวลา
ถาม: การหายใจสั้นแรง และเบาทำให้เวียนหน้า
ตอบ: พูดได้ง่ายว่าลมหายใจสั้นไม่ถูกกับอัถธยาศัยนะคะ ก็เวียนศีรษะ ถ้าทำเกินไปสามสี่ครั้งก็ยิ่งไม่สบาย ก็อยากจะว่าหายใจยาวลึกธรรมดานี่สบายดี แต่อย่างไรเราก็ต้องทำเพื่อให้รู้จัก แต่ถ้ารู้ว่าเราไม่สบายนะผลเกิดขึ้นไม่สบายก็อย่าทำนาน แล้วในระหว่างที่ทำพอรู้สึกไม่สบายก็มาพักอยู่กับลมหายใจปกติทันที ทีนี้ที่บอกว่าให้ลมหายใจยาวให้ตามให้ตามให้ตลอดสายเนี่ย จะยาวแค่ไหน จะตามได้อย่างไรถึงท้องไหม ขออนุญาตอธิบายซ้ำนะคะ และก็โปรดทำความเข้าใจว่าที่พูดว่าลมหายใจยาว ไม่ยาวเท่ากันทุกคน ลมหายใจสั้นก็ไม่สั้นเท่ากันทุกคน อาจจะมีเท่ากันบางนะคะ แต่ว่าไม่เท่ากันทุกคน ยาวธรรมดา บางคนอาจจะยาวธรรมดาแค่นี้ บางคนอาจจะยาวธรรมดาลึกกว่านั้น คือลงไปมากกว่านั้น พอยาวลึก บางคนก็ถึงสุดที่เรียกว่าที่สะดือเลย ลงในช่องท้องสุดเลย แต่ว่ามันไม่อาจจะเท่ากัน ถ้าผู้ที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เพราะมีอาการตื่นเต้น อาการประสาทอยู่ จะหายใจติดขัด ติดขัดอยู่เรื่อย ๆ แถว ๆ นี้ หายใจอึดอัดนอนไม่ค่อยหลับ ไม่ค่อยสบายด้วย มันอึดอัดมันแน่น เพราะฉะนั้นลมหายใจไม่เท่ากัน โปรดจำไว้นะคะ
ทีนี้ถ้าถามว่า ตลอดสายจะต้องไปถึงไหน ดิฉันจะบอกไม่ได้หรอกค่ะ จะบอกไม่ได้ว่าต้องตามจนกระทั่งถึงช่องท้องนะ เพราะบางคนไม่ถึงช่องท้อง บางคนอาจจะแค่นี้ ก็ขอสรุปว่า ดูเอาเองนะคะว่า เมื่อหายใจยาวอย่างนี้ก็ดี สั้นก็ดี ของเราถึงแค่ไหนในขณะนั้น ก็จงตามเท่านั้น และเมื่อเราชำนาญเข้า จิตใจสบายเข้า ลมหายใจผ่านเข้าออกสะดวกเข้า มันจะยาวออกไปเองโดยอัตโนมัติ อัตโนมัติ ท่านเปรียบลมหายใจเหมือนกับเสียงระฆัง สังเกตไหมคะเวลาที่ได้ยินเสียงระฆังเป๊งแรก พูดง่ายๆ ว่าพอโป๊กแรกที่เขาโขกเข้าไปเสียงเป็นยังไง ฟังดูสั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด หยาบ เผอิญว่านี่ใบเล็กไป จะตีให้ฟังมันก็มองไม่เห็นชัด แต่พอโขกไปทีแรกเนี่ย เห็นไหมคะ เสียงมันจะดัง ดังสั้น แล้วก็หยุดแล้วก็หยาบ แต่พอตอนสุดท้ายก่อนที่มันจะหยุด เห็นไหมคะมันจะค่อย ๆ จางหายทีละน้อย ละน้อย ๆ นั่นก็เปรียบเหมือนกับลมหายใจที่ค่อยเป็นธรรมชาติ ค่อย ๆ เป็นธรรมชาติมากขึ้นมากขึ้นเท่าใด มันจะค่อย ๆ ยาวออกไปโดยอัตโนมัติ นั่นคือหมายถึงสภาพของความรู้สึกที่เป็นปกติที่เกิดขึ้นภายใน เมื่อความเป็นปกติเกิดขึ้นมาก จิตนี้ก็ค่อย ๆ สบายปลอดโปร่ง เพราะฉะนั้นลมหายใจมันก็ปลอดโปร่งยิ่งขึ้น จึงตอบไม่ได้นะคะว่า เท่าไหร่ตรงไหน ถ้าหากว่าเรากำหนดจิตตามด้วยความรู้สึกให้สัมผัสอย่างว่า พอมันหยุด เราก็หยุดความรู้สึกที่ตามไว้ตรงนั้น แล้ววิธีจะทดสอบก็คือ การหายใจแรง เนี่ยลมหายใจมันหยาบ ยาวแรงเนี่ยมันหยาบ มันต้องรู้แน่ๆ พอลมหายใจมันเข้า แล้วก็มันออกใช่ไหมคะ ยาวลึก ถ้าใครไม่รู้ก็คิดว่าไม่อยู่ละ ชีวิตไม่อยู่ละถึงไม่รู้ ถ้าชีวิตยังอยู่ต้องรู้แน่ ๆ ไม่รู้ได้ไง ใช่ไหมคะ มันเข้าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นกำหนดตามเข้าไปทันที แล้วก็ตามออกมาทันที ฉะนั้นผู้ที่บอกว่าไม่รู้ตามไม่ได้ จงทดลองด้วยลมหายใจยาวแรง ยาวลึกหนัก ลองด้วยอันนี้ก่อน เพราะมันหยาบ อะไรหยาบมันจับง่าย มันสัมผัสง่ายกว่าละเอียด พอสัมผัสที่หยาบ ๆ ได้ ทีนี้ก็จะสัมผัสที่ละเอียดได้ทีละน้อยนะคะ แล้วพอมันหยุดเนี่ย พอมันเข้าแล้วมันหยุดตรงไหนเราก็อึดใจของเราเพ่งจดจ่อ หยุดความรู้สึกที่ตามด้วย แล้วค่อย ๆ ผ่อนออกช้า ๆ ก็จะค่อย ๆ ตามได้ แล้วจะสนุกนะคะ จะสนุก แล้วพอสัมผัสกับความสงบที่เกิดขึ้นจากการตามลมหายใจ มันสบายบอกไม่ถูก เพราะฉะนั้นก็ถือหลักกาลามสูตร คือต้องทำไม ปฏิบัติเอง อย่าเชื่อคำพูดที่เขาว่า ปฏิบัติเองแล้วจะเห็นผลเอง เขาว่าก็เพียงแต่เขาว่า แล้วก็เป็นของเขาไม่ใช่ของเรา
ถาม: ฟังธรรมะแล้วรู้สึกปีติจนกระทั่งนอนไม่หลับ
ตอบ: ก็มีบางคนเหมือนกัน คนบางคนทำสมาธิได้ ยิ่งทำสมาธิจิตยิ่งตื่น อาการปีติมันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อปีติมันเกิดขึ้นนะคะ ถ้าจะนอนไม่หลับหรือจะอย่างไรก็ตาม ก็ใช้กำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ พอจิตสงบนิดหน่อยก็ดูอาการของปีติที่เกิดขึ้น แล้วก็พยายามให้เห็นลักษณะของปีติที่เกิดขึ้นนั้น พร้อมกับดูให้เห็นว่ามันเป็นเพียงสักว่าปีติ ปีติมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันหาอยู่ไม่ ฉะนั้นถ้าหากว่าสามารถมองอย่างนี้ แล้วก็ใช้ความชำนาญในการใช้ลมหายใจ ที่เรารู้จักลมหายใจแล้วค่อย ๆ ผ่อน ความปีติที่มันตื่นเต้นอิ่มเอิบเบิกบานพองฟูจะค่อย ๆ ลดลงทีละน้อย ฉะนั้นปีติเกิดขึ้นก็ดี ดีกว่าไม่มีปีติ แต่อย่ายึดมั่นในปีตินั้น ระมัดระวัง ถ้ายึดมั่นแล้วจะกลายเป็นทุกข์เพราะปีตินั้น
ถาม: จะแก้ไขอย่างไรกับผู้ปฏิบัติธรรมที่กลายเป็นผู้ติดดี ไม่ยอมฟังใคร เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ แล้วตัวเองก็ไม่ทราบ
ตอบ: คำตอบของดิฉันก็คือว่า บุคคลผู้นั้นหาได้ปฏิบัติธรรมไม่ เขาอาจจะนั่งหลับตา แต่ใจเขาไปไหนก็ไม่รู้ เขาอาจจะพูดธรรมมะ แต่ว่าเขาไม่ได้เคยประจักษ์แจ้งในเรื่องของธรรมะนั้นเลยสักเรื่องเดียว เพราะฉะนั้นก็เพราะเขายังไม่ได้ปฏิบัติ เขาถึงเป็นอย่างนั้น
ถาม: ถ้าเดินจงกรม เดินไปพร้อมกับใคร่ครวญธรรมไปด้วย ก็ยังรู้สึกถึงเท้าที่เหยียบพื้นด้วย ไม่เข้าใจว่า การที่ใคร่ครวญธรรมขณะเดินจะเป็นการนึกคิดรึเปล่า มันเหมือนไม่ใช่ความรู้จัก
ตอบ: อย่าเพิ่งไปใคร่ครวญธรรมในระหว่างเดินจงกรมเลยนะคะ รอไว้ให้เราชำนาญในการรู้จักลมหายใจ แล้วก็สามารถควบคุมมันได้ซะก่อน แล้วถึงค่อยใคร่ครวญธรรมเวลาเดิน