แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จะต้องสะอาด เรียบร้อย เกลี้ยงเกลา เราเพียงแต่ไปเดินดู ไม่ต้องไปออกปาก ตอนแรกก็บอกเท่านั้นว่า ทำอะไร ๆ ทำอะไร ๆ แล้วไม่ต้องไปควบคุม พอเสร็จแล้วก็ไปดูอีกที ทุกครั้งไม่เคยที่จะต้องออกปากตำหนิเลย นี่แหละ คือการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และเมื่อพูดกับใคร ดิฉันต้องบอกว่าดิฉันนับถือแกจริง ๆ คนนี้ และก็นับถือมากกว่าคนบางคนที่เรายกมือไหว้อีกด้วย ที่พยายามทำอะไรอย่างชนิดปัดสวะไปให้พ้นท่าน้ำ หรือมิฉะนั้นก็ไปอาศัยคนอื่นทำ แล้วก็อ้างว่าเป็นของตัว อย่างนี้คือตัวอย่างของการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง และก็จะสามารถสร้างบารมีขึ้นได้ บุพเพสันนิวาสที่แท้จริงก็ต้องประกอบเหตุกับปัจจัยให้ถูกต้อง ไม่งั้นก็จะเป็นบุพเพสันนิวาสลมเพลมพัด
คำถาม
การตั้งตบะมีความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมเพียงใด
คำตอบ
ตบะ แปลว่า การบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลากิเลสให้มันหมดไป และตบะที่สุดโต่ง ก็เหมือนอย่างที่ชาวอินเดียเขาทำกันในสมัยก่อน เคยได้ยินใช่มั้ยค่ะ นอนบนตะปู หรือว่าไม่กินอาหาร หรือว่ายืนตีนเดียว เหนี่ยวตีนลมเหมือนนางสวาหะ หรือบางทีก็ปล่อยเล็บยาวจนกระทั่งแทงทะลุไปจากหน้ามือไปจนกระทั่งถึงหลังมือ หรือบางทีก็เปลือยกาย ไม่สวมเครื่องแต่งกายเลย และถ้าไปถามก็คือการบำเพ็ญตบะ อย่างนั้นเป็นบำเพ็ญตบะที่สุดโต่ง และอาจจะบอกว่าไม่ได้ใช้ปัญญา แต่ถ้าหากว่า การบำเพ็ญตบะเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสอย่างที่การปฏิบัติธรรมเพื่อที่พยายามที่จะปฏิบัติให้ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่เป็นการสุดโต่ง และจะต้องอาศัยความเพียร จากคำถามนี้ มันไม่ใช่เป็นการบำเพ็ญตบะ จะต้องบอกว่าพอตั้งตบะแล้วมักจะมีมารมาทดสอบ เช่น บ่ายนี้ คือเมื่อวานนี้ ตั้งใจจะไม่กินอะไรแล้ว ก็มีไอศกรีมของชอบมาเสนออย่างไม่คาดฝัน ทำให้ตบะแตก นี่เป็นการพูดอย่างชาวบ้าน อย่าตั้งเลยดีมั้ย อย่างนี้ไม่ใช่ใช้คำว่าตบะ ต้องใช้คำว่าตั้งสัจจะ ต้องตั้งสัจจะปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ หรือจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ นี่เรียกว่าตั้งสัจจะว่าจะไม่กิน แต่ว่าสัจจะนั้นมันเทียม มันไม่แท้ พอเห็นไอศกรีมเข้าก็กินเลย เพราะฉะนั้นอย่างนี้ต้องเปลี่ยนคำว่า ตบะ เป็นคำว่า สัจจะ คือตั้งสัจจะปฏิญาณกับตนเอง และที่จริงผู้ปฏิบัติธรรม ก็ควรจะมีสัจจะในการปฏิบัติเหมือนกันนะคะ ว่าจะต้องปฏิบัติ เช่น จะต้องนั่งสมาธิให้ได้วันหนึ่งครึ่งชั่วโมง จะต้องตามลมหายใจให้ทุกขณะ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อไม่ให้หลงลืมการปฏิบัติ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัจจะ
คำถาม
มาปฏิบัติธรรมอาบน้ำวันละสี่ครั้ง นี่ไม่น่าถาม ถือว่ารักสะอาดเกินไปหรือไม่ ถ้าทนร้อน ทนเหนียวตัวบ้าง กุศลธรรมจะเจริญขึ้นหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร ปฏิบัติธรรมแบบรักสบายกับฝึกลำบาก อันไหนจะได้ผลกว่ากัน (ถามเผื่อคนอื่น) นี่ยังว่าตัวดีอีกน่ะนี่ ตบะก็แตกไปแล้ว ยังว่าตัวดีซะอีก
คำตอบ
อันที่จริงนั้น จะสกปรก จะสะอาด ก็ถือมัชฌิมาปฏิปทา อย่างองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราได้ศึกษาพุทธประวัติมาแล้ว เราก็จะทราบว่าก่อนที่พระองค์จะมาสอนมัชฌิมาปฏิปทา เพราะพระองค์ได้ทรงทดลองแล้วทั้งสองอย่าง คือ อย่างที่สบาย ที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยโค หรือกามสุขัลลิกานุโยค คือการอยู่สบาย กินสบาย นอนสบาย ทำอะไรตามสบาย และอีกทางที่ตรงข้ามกันอย่างสุดโต่ง อัตตกิลมถานุโยโค หรืออัตตกิลมถานุโยค นั่นก็คือการปฏิบัติอย่างเคร่งเครียด เอาจริงเอาจัง ทรมานกายด้วยประการทั้งปวง อย่างที่เราได้ยินว่า ทรงทนไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร แล้วก็ไปนั่ง ถึงเวลาที่แดดออกจัดที่สุด ก็จะทรงไปประทับนั่งกลางแดด หนาวที่สุดก็ไปประทับนั่งกลางแดด และก็ไม่สวมอะไรเลย จนกระทั่งทรุดโทรมอย่างที่เราได้เห็นจากพระพุทธรูปปางทรมาน มีแต่ซี่โครงเต็มไปหมด พอทรงใช้พระหัตถ์ลูบตัวสักนิด เพื่อให้เกิดความสบายขึ้นสักหน่อย ขนทั้งหมดก็ร่วงลงมา ขนที่ผิวหนังร่วงเกลี้ยงลงมาหมด นี่เป็นการแสดงว่าทรงทดลองแล้ว ว่าถ้ามันสุดโต่งแล้วไม่ให้ผล เพราะฉะนั้นต้องให้พอดี พอดีก็ต้องระมัดระวังอีกอย่างหนึ่งคืออย่าหลง มักเจอความเห็นแกตัวนี่แหละมักจะหลง มักจะหลงว่าเราพอดี แท้ที่จริงนี่มันเกินพอดีนิดหน่อย เอาให้สบายมากหน่อย เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องระวัง ต้องให้พอดี ก็คือไม่มากไม่น้อยเกินไป
คำถาม
ยังไม่เข้าใจคำว่า “อนัตตา”
คำตอบ
อันนี้เอาไว้ก่อน เรื่องกรรมก็เหมือนกัน เอาไว้ก่อน แต่ก็อยากจะพูดสักนิดหนึ่ง ที่บอกว่าสามี ภรรยา ภรรยาตั้งท้อง แพ้ท้องอยากกินปลา สามีก็ไปตกปลาให้กินทุกวัน พอลูกออกมา ลูกปากแหว่งเพดานโหว่ ก็ถามว่าทำไปผลของการกระทำของคนอื่น ถึงเป็นไปตกผลกับคนๆหนึ่ง ทราบได้อย่างไรว่าไม่ตกกับตัวเอง คนที่มีลูกนี่ อะไรเป็นที่รักที่สุดในชีวิต ลูกใช่มั้ยค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำร้ายอะไรพ่อแม่ ไม่ต้องไปทำตัวพ่อแม่ ทำกับลูก เมื่อวานนี้หนังสือพิมพ์ ผู้หญิงคนหนึ่ง นี่ก็เป็นการแสดงถึงการขาดสติ ทะเลากับสามี สามีจะไปกินเลี้ยง ไม่ยอมให้สามีไป เอาปืนมาขู่ สามีก็เลยไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ไม่ไป แต่จะอีท่าไหนไม่รู้ได้ ปืนไปถูกลูกชายคนเล็ก ลูกชายคนเดียวอายุเจ็ดขวบตาย รูปที่ลงในหนังสือพิมพ์ เขาอุ้มมาทุลักทุเล ไปโรงพัก เพราะว่านี่เท่ากับฆ่าลูกโดยไม่เจตนา ตัวเองก็สลบสไลเป็นลม ใจจะขาดตามลูก แต่เพราะความขาดสติจึงได้ทำสิ่งเหล่านี้ เพราฉะนั้นลูกนี่แหล่ะเป็นสิ่งที่รักสุดชีวิตของพ่อแม่ พ่อแม่ปกติธรรมดาจะต้องรักลูกสุดชีวิต เพราะฉะนั้นการทำลูก หรือเกิดขึ้นแก่ลูก มันเจ็บปวดยิ่งกว่าเกิดกับพ่อแม่ซะอีก แต่เรื่องของกรรมนั้น เราก็จะพูดกันต่อไป เรื่องอนัตตาก็จะพูดต่อไป
คำถาม
การนั่งวิปัสสนา สามารถรักษาโรค เช่น โรคกระเพาะได้มั้ย ถ้าปฏิบัติสม่ำเสมอ
คำตอบ
นี่ก็พูดกันแล้วน่ะค่ะ ว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอก็ไม่เป็นโรคประสาท นอกจากจะเป็นอยู่แล้ว แต่ที่จะไปรักษาคนอื่นได้หรือไม่นั้น ก็ขอตอบว่ารักษาตัวเองก่อน อย่างเพิ่งไปคิดรักษาคนอื่น
คำถาม
เวลาพูดหรือสวดมนต์ เสียงหายเป็นช่วง ๆ ควรแก้ไขด้วยการหายใจแบบไหน
คำตอบ
ต้องฝึกให้สม่ำเสมอเสียก่อนถึงจะนำมาแก้ได้ ที่เราต้องพยายามฝึกซ้ำซากในครั้งที่ 1, 2, 3 ก็เพื่อที่ว่าจะได้หยิบมาใช้เมื่อยามต้องการนี่ล่ะค่ะ อย่างคำถามนี้เป็นตัวอย่าง ถึงจะบอกว่าให้ใช้อย่างไหน ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเรายังควบคุมลมหายใจไม่ได้ เรายังไม่ได้รู้จักแต่ละอย่าง อย่างแท้จริง ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ที่มันหายใจเป็นช่วงๆ นั่นก็คือ เป็นลมหายใจแบบไหนคะ นึกออกมั้ย อยู่ในพวกลมหายใจสั้นหรือยาว เอาพวกใหญ่เสียก่อน สั้นหรือยาว สั้น อยู่ในพวกลมหายใจสั้น หายใจเป็นห้วง ๆ ก็เหมือนกับสั้น กระชั้น ถี่ เพียงแต่ว่าจะถี่มากหรือถี่น้อย เพราฉะนั้นอาการที่สั้น กระชั้น ถี่ เพราะอะไร เพราะเหนื่อย เพราะตื่นเต้น เพราะมีอาการประสาทน้อย ๆ ทำให้สั้น กระชั้น ถี่ ทั้งในเวลาพูด ในเวลาทำงาน หรือเวลาเดิน เวลาวิ่ง เพราะฉะนั้นเราจะแก้ได้อย่างไร เราก็ต้องรู้จักผ่อนลมหายใจ กำลังสั้น กำลังขาดเป็นห้วง ๆ ผ่อนมันออกทีละน้อย ๆๆๆ จนกระทั่งมันกลายเป็นลมหายใจปกติ ทำได้มั้ย ทำได้ ถ้าเราฝึกจนกระทั่งเราสามารถควบคุมลมหายใจได้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น จะควบคุมได้ก็เพราะเรารู้จักลมหายใจดี ดีจริงทุกอย่าง พออาการเกิดขึ้น รู้ทันที และก็เพราะความสามารถที่ควบคุมได้ จะหยิบมันมาใช้ได้ทันที เหมือนกับนักดาบ นักดาบที่เขาชำนาญเพลงดาบอย่างยอดเยี่ยม พออะไรผลุบมาเขาหยิบดาบนั้นใช้ได้ทันที ถ้าหากอยากจะเป็นนักดาบแล้วก็ห้อยดาบ แต่ไม่ได้ฝึกให้เชี่ยวชาญ พอมีอะไรเกิดขึ้น เพียงแต่จะหยิบดาบออกจากฝัก ก็ถูกคนร้ายเขาแย่งดาบมาตัดคอตัวเองเสียก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ ที่เราฝึก ๆ อยู่นี่เพื่อประโยชน์อย่างนี้ ฉะนั้นจงโปรดอย่าเบื่อ อย่ารำคาญ และก็พยายามทำเองให้มากขึ้นด้วย
คำถาม
ถ้าเราวางเฉย คิดว่าเขาเป็นเช่นนั้น ให้เขาเป็นไปคนเดียว จะเป็นการบาปกับตัวเราหรือไม่ ที่ปล่อยให้เขามีอารมณ์โกรธและประสาทเช่นนั้น
คำตอบ
เราช่วยเขาได้มั้ย ถามตัวเอง ถ้าเราช่วยเขาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้น จนกว่าเขาจะสำนึกได้เอง ถ้าเขายังสำนึกไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขาไปก่อน ระวังแต่เรา อย่าให้เป็นประสาทตามเขา แล้วก็ทำตัวอย่างให้เขาเห็นความใจเย็น แล้วบางทีเขาอาจจะค่อยๆใจเย็นขึ้น
คำถาม
ถ้าเบื่อหน่ายชีวิตครอบครัวที่เข้ากันไม่ได้ มีความคิดเห็นขัดแย้งกันแทบทุกเรื่อง และเขาจะไม่ยอมรับฟังเหตุผล คือจะต้องเป็นฝ่ายถูกตลอดเวลา จะต้องใช้วิธีแก้แบบไหน เคยแก้โดยวางเฉยไม่โต้ตอบ แต่ก็ยังร้อนและประสาทอยู่คนเดียว
คำตอบ
ก็ดีแล้วนี่ที่เขาประสาทไปคนเดียว เราไม่ต้องไปร้อนกับเขาด้วย ถ้าเราไม่โต้ตอบได้ ดีที่สุด แล้วเราก็ฝึกปฏิบัติให้เย็นมากขึ้น ๆ และเชื่อว่าจะช่วยเขา ความเย็นจาก 1 ก็จะแผ่ออกไปได้เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 เพราะฉะนั้น ขอให้ตั้งใจทำต่อไป อย่าไปกังวลในคนอื่น ในเมื่อเรายังไม่สามารถจะช่วยได้ ก็เรียกว่าต้องทำใจอุเบกขาไว้ก่อน อุเบกขาในที่นี้ อุเบกขาถูกต้องในทางธรรมน่ะคะ แปลว่า ความวางเฉย วางอยู่ตรงกลาง แต่ไม่ใช่เฉยเมย โปรดเข้าใจให้ถูกต้องน่ะคะ ไม่ใช่เฉยเมย ไม่ใช่บอกว่าเอาล่ะปล่อย ฉันไม่เอาเรื่องอีกแล้ว นั่นไม่ใช่อุเบกขา นั่นเป็นพยาบาทของนิวรณ์ ใช่ไหม มันขัดใจ มันหงุดหงิด บอกเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง สอนเท่าไหร่ก็เชื่อ แนะนำตักเตือนก็ไม่เอา ไม่เอาแล้ว ปล่อย อย่างที่ใช้คำว่า ตัดหางปล่อยวัด เห็นไหม อะไรไม่ดี ๆ ก็เอาไปใส่วัด วัดก็แย่ เพราะฉะนั้นที่พูด ”ตัดหางปล่อยวัด” นี่ก็เป็นเครื่องแสดง เพราะฉะนั้นเราไม่ทำแบบนั้น อุเบกขาในทางธรรม เราวางเฉย เอาใจของเราไว้ตรงกลาง แต่ในใจนั้น ให้พร้อมอยู่ด้วยเมตตา กรุณา อุเบกขา ก็คือข้อสุดท้ายของพรหมวิหาร 4 ซึ่งเริ่มต้นด้วย เมตตา กรุณา เพราะฉะนั้น อุเบกขาที่ถูกต้อง คือ เราวางเอาไว้ก่อนแต่ไม่ใช่เฉยเมย วางเฉย เพื่อไม่เอามาให้กระทบจิตให้ทุกข์ แต่ในใจนั้นคงเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา และก็ชำเลืองมองดูอยู่ว่า โอกาสเปิดให้ช่วยหรือยัง คำว่าโอกาสเปิดให้ช่วยนั้น หมายความว่า เราเองมีเหตุปัจจัยที่จะช่วยด้วย จะช่วยได้ด้วย และตัวผู้นั้นพร้อมที่จะรับด้วย พอเปิดให้ เราทำทันที ช่วยทันที นี่เรียกว่าไม่ได้เฉยเมย เพราะว่าไม่ได้เกลียด ไม่ได้โกรธ แต่ว่ามันยังไม่ไหว มันสุดวิสัย ก็ต้องวางเฉยไว้ก่อน นี่คืออุเบกขาที่ถูกต้องนะคะ เพราะฉะนั้นก็อย่าทำใจให้เป็นทุกข์ อุเบกขาไว้ก่อน แล้วเราก็หมั่นเพิ่มพูนคุณธรรมให้เพิ่มยิ่งขึ้น ๆ จนใจสามารถสงบเยือกเย็นผ่องใสได้จริง แล้วทีนี้ก็จะไม่เป็นทุกข์ เพราะรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง