แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
01:15ผู้ดำเนินรายการ: ดิฉันขอกราบเรียนถามคุณแม่ว่า กรรมมีจริงหรือไม่? ส่งผลถึงชาตินี้ และชาติหน้าอย่างไรคะ?
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เรื่องของกรรมนี่รู้สึกว่าพูดกันได้เรื่อยๆ นะคะ ไม่มีจบ เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปเป็นอันมากทีเดียว ที่ถามว่ากรรมมีจริงหรือไม่ คุณแม่ก็ต้องตอบว่า กรรมมีจริง แต่ต้องขอแปลคำว่า ‘กรรม’ นี้ให้ชัดๆ ว่ากรรมนี้คือการกระทำ กรรมคือการกระทำ เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังทุกท่านก็คงไม่ปฏิเสธเพราะว่าชีวิตของเรามีการกระทำอยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้อยู่เฉยเลยใช่ไหมคะ เรามีการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำงาน ทำเรื่องส่วนตัว ทำเรื่องของสังคมและก็อื่นๆ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นกรรมมีจริง คือการกระทำนี้มีจริง ทีนี้ที่เราสนใจกันถึงเรื่องของกรรม สนใจกันมากเรื่องของกรรมนี่คุณประสบพรพอคาดคะเนได้มั้ยคะว่าเพราะอะไร ถึงได้สนใจเรื่องของกรรมกันมาก
ผู้ดำเนินรายการ: ที่เคยเรียนถามคุณแม่ว่า ได้ฟังคนตั้งแต่ปู่ย่าตายายว่า เกิดมา ทุกคนเกิดมาเพื่อรับกรรมกัน จนมาฟังคุณแม่ได้บรรยายว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น คือถ้าฟังแล้วรู้สึกว่ามันหนัก มันทำให้ชีวิตหดหู่ท้อแท้อย่างนี้นะคะคุณแม่ ก็เลยคิดว่าคงจะไม่ใช่ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับการกระทำของคนว่าทำดีหรือทำชั่ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ก็น่าจะรับความจริงข้อนี้ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท น่าจะรับความจริงข้อนี้ว่าเรื่องของกรรมคือเรื่องของการกระทำ แล้วเราก็ได้ยินว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ ที่เราพูดกัน แล้วก็มีคนหลายคนที่เคยอะไรดีๆ ที่เป็นความดี คุณงามความดี แล้วก็หยุดทำ ก็บอกว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย แล้วก็หยุดทำ นี่ก็เพราะว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาให้ทั่วถึง ให้ติดต่อและให้ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นจึงไปนึกเอาว่าที่ทำดีไม่ได้ดี ก็เพราะว่าไปนึกถึงผลตอบแทนความดีเป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้ รับได้ รับอย่างชนิดที่มีผู้ให้ หรือนึกถึงอย่างนั้น พอไม่ได้รับ ไม่ได้มีผู้ให้อย่างนั้น ก็เลยบอกว่าทำดีไม่ได้ดี มิหนำซ้ำยังบอก ทำดีกลับได้ชั่วตอบไปเลย ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น นี่ก็เพราะไม่ได้เข้าใจคือไม่ได้ศึกษาเรื่องของพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ทำดีนี่น่ะ พอทำนี่คุณประสบพรว่าได้แล้วหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: ได้ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำเดี๋ยวนั้นก็ได้แล้วเดี๋ยวนั้น
ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้อะไรล่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: ก็ได้ความสุขใจค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้ความสุขใจ ถูกแล้ว ได้ความสุขใจได้ความอิ่มใจที่เราได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ และถ้ามั่นคงจริงๆ ก็ยังจะบอกตัวเองว่า จะมีใครเห็นหรือไม่มีใครเห็นก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะว่าเราก็รู้ เราก็รู้เห็นว่าเราได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วถ้าหากว่าจะต้องพูดต้องชี้แจงอะไรเมื่อไหร่ อธิบายเมื่อไหร่ เราก็มีคำพูดที่ถูกต้อง ที่จะอธิบายได้จะบอกได้ นี่มันก็เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มันก็ดีอยู่แล้วนี่ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นทำดีมันดีแล้ว เช่นเดียวกับการทำชั่ว พอทำลงไปนี่ ชั่วหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: ก็ชั่วทันทีค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ชั่วแล้ว ชั่วทันที แล้วก็ยิ่งบางคนเราจะสังเกตได้จากบางคนที่เป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกับการทำความชั่ว พอไปทำเข้าเท่านั้นล่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: มันไม่สบายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ จะไม่สบายใจจะเดือดร้อนในใจ ทุกข์โศกเศร้าหมอง มีความละอายมีความสำนึกบาปมากมายเลย นั่นเห็นไหม ทำชั่วได้ชั่วทันที ส่วนคนที่ทำไปจนกระทั่งชินกับความชั่วแล้ว นั่นอาจจะไม่รู้สึกในตัวของตัวเอง เพราะเกิดความเคยชิน แต่คนทั้งหลายเขาก็มองเห็น เขาก็รู้ว่านี่แหละคือการกระทำชั่ว ทำชั่ว มันไม่เป็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้นทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มองเห็นคำว่า ‘กรรม’ อยู่ในประโยคสองประโยคนี้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มองเห็นเรื่องของคำว่า ‘กรรม’ นี่ เกี่ยวข้องอยู่ในประโยคสองประโยคนี้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: เห็นว่าเป็นกรรมดีกับกรรมชั่วใช่ไหมคะคุณแม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มองเห็นแล้วว่า‘กรรม’ แปลว่าการกระทำ กระทำดีก็ได้ความดี ผลก็เป็นความดี กระทำความชั่วผลก็เป็นความชั่ว นี่ก็คือเรื่องของกฎอิทัปปัจจยตา ใช่ไหมคะ คือกฎที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมมีจริงหรือไม่จริง มี มีจริง เพราะมันเป็นเรื่องของการกระทำ มนุษย์ทุกคนมีการกระทำอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่ากระทำสิ่งที่ถูกต้อง ผลก็คือไม่เป็นทุกข์ ถ้ากระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผลก็คือทุกข์ จะทุกข์ด้วยการที่สำนึกเองหรือคนอื่นบอก มันก็คือความรู้สึกที่เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมนั้นมีจริงแน่ ฉะนั้นเมื่อมันมีจริงแน่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการกระทำ ที่ต้องระมัดระวังในการกระทำนั่นก็คือว่า เมื่อรู้แล้วว่ามันมีผลจริงแน่ ก็ไม่มีใครหรอกที่อยากได้รับผลชั่วหรือผลร้ายในทางที่เสียหายให้เกิดขึ้นแก่ตนเองจากการกระทำนั้น ทุกคนหวังจะได้รับประโยชน์ หวังจะได้รับคำยกย่องสรรเสริญ หวังจะได้รับความสุขจากการกระทำ ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องของการกระทำ ถ้าสนใจเรื่องของกรรมก็ควรที่จะระมัดระวังในเรื่องนี้
ทีนี้ที่บอกว่า ส่งผลถึงชาตินี้และชาติหน้าอย่างไร ก็อย่าไปเอาชาติหน้า ชาติก่อน ซึ่งเราไม่สามารถจะพิสูจน์กันได้ จะเถียงกันเท่าไหร่คนธรรมดาอย่างเราก็พิสูจน์กันไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะเราไม่มีทางพิสูจน์
ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะแต่คุณแม่ค่ะ เท่าที่สังเกตบางคนที่ทำกรรมอะไรไว้แล้ว มันจะส่งผลในชาตินี้ แล้วมีตัวอย่างเห็นได้หลายคนค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าอย่างนั้น คำพูดของคุณประสบพรก็คือการสนับสนุนว่า ที่เห็นได้หลายคนส่งผลในชาตินี้ ก็คือการกระทำในชาตินี้ ที่เรามองเห็นผลในชาตินี้ อันนี้ก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ทรงเน้นนักเลยว่า สิ่งที่เราควรจะสังวรระมัดระวังนั่นก็คือ ปัจจุบัน เรื่องของอดีตผ่านพ้นมาแล้ว จะดีก็ตามจะชั่วก็ตาม แก้ไขไม่ได้ ผ่านพ้นมาแล้ว อนาคตยังไม่มาถึง จะไปกังวลกับมันทำไมให้เสียเวลาให้ลำบากเปล่าๆ แต่ปัจจุบันนี่แหล่ะ เป็นช่วงจังหวะที่เป็นโอกาสของชีวิตที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นก็ควรจะทำสิ่งนี้ ในเดี๋ยวนี้ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต้องไปคำนึงถึงชาติหน้าและชาติหลัง
ฉะนั้น‘กรรม’ มีจริง และมีจริงโดยเกิดขึ้นจากการกระทำ ที่มีผลพิสูจน์ที่การกระทำของบุคคลนั้นเอง ส่งผลถึงชาตินี้คือในปัจจุบันกาลนี้ ที่ขณะที่ทำไปแล้วจะเกิดขึ้นอย่างไรจะรู้สึกอย่างไร มันเห็นชัดด้วยใจของตนเอง ไม่ต้องขอให้ผู้อื่นพิสูจน์ให้
ส่วนชาติหน้านั้น ถ้าเราจะเอาพิสูจน์กันให้เห็นชัดด้วยใจของเราเอง ชาติหน้าก็ทำไมไม่เอาชาติใกล้ๆ ชาติพรุ่งนี้ ชาติอาทิตย์หน้า ชาติเดือนหน้าปีหน้า หรืออดีตก็ที่ผ่านไปแล้วเมื่อวานนี้ อาทิตย์ก่อนนี้ เดือนก่อนนี้ ปีก่อนโน้นแล้วก็ย้อนหลังไป ซึ่งถ้าเรามองเห็น เราก็จะมองเห็นเลยว่า การกระทำเหล่านี้มันเป็นลูกโซ่กันมาตลอดในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน เรื่องของการศึกษาเป็นต้น เรื่องของการมีครอบครัวเป็นต้น เรื่องของการตั้งหลักฐานเป็นต้น เรื่องของการทำงานเป็นต้น มีท่านผู้ใดบ้างที่มองแล้วไม่เห็นลูกโซ่ของชีวิตที่มันต่อเนื่องกันมาจากการกระทำของตนเองนั่นเอง ถึงแม้จะอ้างว่า คนนั้นทำ คนนี้ทำ หรือคนนั้นเป็นต้นเหตุคนนี้เป็นต้นเหตุ แล้วใครเป็นคนทำ ใครจะเป็นคนต้นเหตุก็ตาม แล้วใครเป็นคนทำ และในการกระทำนั้นทำอย่างดีที่สุดหรือเปล่า พูดง่ายๆ ก็ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กๆ บางคนหรือเยาวชนบางคน จะบอกว่าที่ผมมาเรียนวิชานี้ ผมไม่ได้อยากเรียนเลยนะ พ่อแม่บังคับผม บังคับให้เรียน เพราะงั้นผมก็เลยเรียนไปอย่างนั้นเอง แล้วจะมาเอาอะไรกับผมล่ะ นี่มองดู สมมติว่ามองดูจากคำพูด ฟังดูจากคำพูด มองเห็นเรื่องของกรรม ของการกระทำเกิดจากใคร ใครเป็นคนทำ จริงล่ะ พ่อแม่มีส่วน แต่ทีนี้ถึงเวลาทำจริงๆ ใครทำ
ผู้ดำเนินรายการ: ก็ตัวของตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตัวของเราเองคือตัวผู้ทำเอง นี่เราไม่พูดถึงคนอื่น ยังไม่พูดถึงปัจจัยอื่น ตัวเราเป็นคนทำ ทีนี้ถ้าสมมติว่า จะชอบหรือไม่ชอบก็ตามแต่ได้มาเรียนวิชานี้แล้ว แล้วก็มองเห็นว่าอย่างไรก็หลีกเลี่ยงการเรียนนี้ไม่พ้น ถ้าจิตนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ควรทำอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: ก็เรียนต่อไปค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วเรียนยังไงคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ก็พยายามฝึกฝน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ต้องเรียนให้ดีที่สุด คำว่า ‘ดีที่สุด’ก็คือ ต้องทุ่มเทสติปัญญา ความสามารถ ตลอดจนเวลาความสนใจความเอาใจใส่ลงไปในการเรียนให้เต็มที่ แล้วข้อแรกที่สุดก็ต้องทำใจของตนให้ชอบ ในเมื่อจำเป็นต้องเรียนแล้วทำใจของตนให้ชอบในการเรียนในวิชานั้น แล้วทุ่มเทความรู้ความสามารถ สติปัญญาที่มีอยู่ลงไป วิชาที่ไม่ชอบ มันอาจจะชอบขึ้นมา ดูท่าที่จะเรียนไม่ได้ มันก็จะเรียนดีได้ประโยชน์ขึ้นมา ยกเว้นบางกรณีก็มีเหมือนกัน ที่เผอิญวิชานั้นมันไม่สามารถจะเข้าได้กับความถนัดตามธรรมชาติของผู้นั้นเลย คือบังเอิญไม่มีความถนัดในธรรมชาติที่จะไปเรียนในวิชานั้น ฝึกฝนอบรมมันก็ขาดทักษะ ฝึกทักษะไม่ได้เพราะความถนัดไม่มี ถ้าอย่างนี้ได้เรียนเต็มที่ทำสุดความสามารถแล้ว แล้วผลออกมาอย่างนี้ ก็เชื่อว่าพ่อแม่ต้องเห็นใจ เป็นเหตุปัจจัยที่พ่อแม่จะต้องเห็นใจว่า นี่ลูกไม่ได้เรียนๆ เหลวๆ เละๆ เลย เรียนเต็มที่เลย
ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ ได้ใช้ความสามารถแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช้ความสามารถเต็มที่ในการกระทำนั้น นี่ก็แสดงว่า กรรม กรรมคือการกระทำของลูกผู้นั้นทำให้พ่อแม่เกิดความเห็นใจเปลี่ยนแปลง นี่ในกรณีที่บอกว่าตัวเองว่าไม่เหมาะสม
ในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าหากว่าได้ตั้งใจเรียนอย่างดี อย่างสุดความสามารถของตน เกิดกลายเป็นเรียนดี เกิดกลายเป็นชอบ เกิดมองเห็นประโยชน์ของวิชานั้น ผลที่เกิดขึ้นเกิดกับใคร
ผู้ดำเนินรายการ: เกิดกับตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เกิดกับตนเองอีกเหมือนกัน เพราะอะไร ก็เพราะการกระทำที่ถูกต้องอย่างเต็มความสามารถ เต็มความรู้ความสามารถ ไม่ได้เฉื่อยแฉะ ไม่ได้เถลไถล ไม่ได้ทิ้งๆ ขว้างๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรมมีจริงไหม ก็มีจริงอย่างนี้ ใช่ไหมคะ ก็คือการกระทำอย่างใดผลอย่างนั้น แต่การกระทำที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นที่จะมาเกี่ยวข้องด้วย มันมี แต่เรายังไม่จำเป็นที่จะต้องไปพูดถึงคนอื่น ควรจะพูดถึงในเรื่องของตนเองที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีสิทธิในการตัดสินใจ ในการพิจารณาเรื่องราวที่จะทำเรื่องใดด้วยตนของตนเองได้แล้ว ตอนนี้แหละเรื่องของกรรมจะยิ่งปรากฏให้เห็นชัด เพราะถ้าหากว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมนั้นๆ ในการกระทำนั้นๆ ในเรื่องใดก็ตาม แล้วจิตนั้นเป็นจิตที่พร้อมอยู่ด้วยสติและปัญญา คือมีทั้งปัญญาภายในและมีทั้งปัญญาภายนอก ภายนอกคือวิชาความรู้ วิชา ‘ช’ ตัวเดียว วิชาความรู้ที่ได้เล่าเรียนสะสมมาจากโรงเรียนจากมหาวิทยาลัย พร้อมกับสะสมวิชชา ‘ช’ สองตัว ภายใน ให้เกิดขึ้นตามลำดับ ตอนนี้แหละกรรมที่กระทำ ผลที่มันส่งขึ้นมา ย่อมจะเป็นผลที่ทำให้เกิดความชื่นใจเกิดความพอใจและความทุกข์นี้ก็ดับไป
โบราณท่านก็บอกว่า กรรมนั้น เป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เคยได้ยินใช่ไหมคะ กรรมเป็นแดนเกิด เป็นแดนเกิดของอะไร ก็เป็นแดนเกิดของผลที่ตามมา เป็นแดนเกิดของทุกสิ่งทุกอย่าง มันมีกรรมเป็นแดนเกิด กรรมมีเผ่าพันธุ์ เผ่าพันธุ์ก็คือสืบต่อกันมา ใช่ไหมคะ ถ้าเราดูความหมายของคำว่าเผ่าพันธุ์ นี่ก็มีผลที่สืบต่อกันมา แต่ที่เราพิสูจน์ได้ก็อย่างที่พูดกันแล้วว่า ตั้งแต่เราจำความได้ตั้งแต่เล็กๆ มาจนกระทั่งบัดนี้ นี่มันก็เป็นเผ่าพันธุ์ของการกระทำที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด แล้วก็กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ชีวิตของบุคคลใดจะเจริญก้าวหน้าหรือจะร่วงโรย ก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันก็มาจากกรรมคือการกระทำนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว เรื่องของกรรมนี้พูดเท่าไหร่ก็พูดไม่จบ แต่เราน่าจะจบเรื่องของกรรมตอนนี้ แค่นี้ แล้วถ้ามีอย่างอื่น เรื่องของกรรมประเด็นอื่นในแง่อื่นมาอีก เราถึงค่อยพูดต่อไปอีก หรือคุณประสบพรมีอะไรจะซักถามเรื่องของกรรมในตอนนี้
ผู้ดำเนินรายการ: อย่างนี้นะคะคุณแม่คือ คนที่ได้รับกรรมเท่าที่เห็นคนที่ฆ่าสัตว์ ฆ่าวัวหรือว่าฆ่าหมูนี่ เวลาที่เขาใกล้จะตาย มันส่งผลนะคะ เพราะเคยเห็นเขาทำท่าเหมือนกับตอนที่หมูหรือวัวอย่างนี้น่ะค่ะ ถือว่าเป็นกรรมชนิดหนึ่งใช่ไหมคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: หมายความว่าตัวอย่างที่คุณประสบพรเล่าให้ฟังนี่ ก็เท่ากับเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า กรรมนั้นมันมีผลจริง ใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เรียกว่ากรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย แต่ตัวอย่างที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งอาศัยที่น่าอภิรมย์ชมชื่น มันกลายเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการเป็นที่พึ่งแต่เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าเมื่อเบียดเบียนอย่างใด ผลของการเบียดเบียนนั้นก็มาถึงตนได้เหมือนกัน นี่เป็นการเบียดเบียนที่มองเห็นแล้ว ถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่มีใครเบียดเบียนเขาเขาก็เบียดเบียนตัวเองอีกเหมือนกัน ใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันจึงไม่หนีการเบียดเบียนตนเอง ที่ควรจะหยุดเสีย ทั้งทางกายทางวาจา ทางความคิดหรือทางใจ ควรจะหยุดเสีย ถ้าหยุดการเบียดเบียนได้ ผลก็จะไม่ตามมาในทางที่ทำให้เรามีความเสียใจเศร้าหมอง มีคำถามต่อไปอีกไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่มีแล้วค่ะ คุณแม่มีอะไรก็เชิญคุณแม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากไม่มีคำถามต่อไป ก็อยากจะขอฝากท่านผู้ฟังให้ช่วยลองพิจารณาตัวเองซ้ำสิว่า เวลาที่ยังเหลืออยู่ต่อไปนี้ มันก็คงจะมีอีกซักเดือนเดียว ประมาณสักเดือนนึงก็จะออกพรรษาแล้ว ภายในเวลาที่ผ่านมาร่วมสองเดือนที่เข้าพรรษามาแล้วนี้ ท่านพุทธบริษัทได้ฝึกอบรมใจของท่านเองให้คุ้มกับเวลาที่ผ่านมาร่วมสองเดือนของการเข้าพรรษานี้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่คุ้ม โปรดลองนึกดูสิว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถจะฝึกอบรมใจของเราให้มั่นคงอยู่ในหนทางธรรม แล้วก็ลดละการเบียดเบียนตนเองได้ มีอะไรเป็นเหตุ หาสาเหตุนั้นให้พบ ที่บอกว่าต้องหาสาเหตุให้พบเพราะว่าในทางพุทธศาสนานั้นเมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นท่านบอกว่าอย่าเพ่งโทษ และโดยมากการเพ่งโทษก็มักจะเพ่งโทษไปที่คนอื่น เพราะฉะนั้นอย่าเพ่งโทษ ยิ่งเพ่งโทษเท่าใด ปัญหายิ่งรัดตัว มันจะยิ่งรัดตัวมากขึ้น คือมันจะขมวดกันเป็นปมซับซ้อนขึ้นมา มันจะมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นอย่าเพ่งโทษ แต่จงสืบสาวไปที่ต้นเหตุทันที นี่คือคำสอนในทางพระศาสนาว่าจะต้องหาสาเหตุ เหมือนอย่างในอริยสัจสี่ เรื่องของความทุกข์ต้องรู้จักทุกข์ แล้วต้องหาสาเหตุของความทุกข์ ว่าอะไรคือต้นเหตุของความทุกข์ ก็จะพบว่า ตัณหา อุปาทาน อวิชชา นี่แหล่ะคือต้นเหตุของความทุกข์ แล้วเราก็มาจัดการแก้ไขในเรื่องของตัณหา ในเรื่องของอุปาทาน ในเรื่องของอวิชชา โดยเดินตามทางของอริยมรรค และปัญหานั้นก็จะค่อยๆน้อยลงจางคลายลง ความทุกข์ก็จะหยุดหรือว่าดับไป นี่เป็นวิธีการของพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธบริษัทน่าที่จะได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองอย่างยิ่ง อย่างยิ่งที่สุดเลย
ถ้าหากว่าพอเราค้นพบสาเหตุที่เป็นสิ่งถ่วงหรือบั่นทอนไม่ให้เราสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ดังที่ต้องการได้ เพราะอะไร เพราะขี้เกียจ แล้วก็อ้างว่าไม่มีเวลา เพราะการงานมาก ใช่ไหมคะ หรือเพราะอะไรๆ อย่างอื่นอีกหลายๆ อย่างเลย ก็ดูว่าถ้าจะดูอย่างที่หลวงพ่อท่านอาจารย์ชาท่านชอบถามว่า แล้วยังมีเวลาหายใจอยู่ไหม ถ้าตลอดเวลาที่ว่าไม่มีเวลานั่นน่ะ แต่ก็ยังหายใจอยู่ตลอดเวลา ลมหายใจนี่ก็คือเครื่องมือ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เราจะใช้เป็นสิ่งผูกจิต จิตที่มันวุ่นวายวิ่งวน ปั่นป่วนไปมา ให้มันหยุดนิ่งด้วยการดึงมันมารู้อยู่กับลมหายใจ เอาลมหายใจนี่เป็นสิ่งควบคุมประกบติดเอาไว้ให้อยู่ตลอดเวลา ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ นี่คือการพัฒนาสติ อย่างที่เราเคยพูดกันแล้วและเอามาพูดซ้ำอีก นี่คือการพัฒนาสติ ให้สติเกิดขึ้น พอสติเกิดขึ้นก็จะหยุดดูข้างใน อ้อ นี่กำลังปั่นป่วนเหลือเกินนะ จิตของเรานี้ ไม่มีเย็นไม่มีสงบเลย แย่จริงๆ ไม่คุ้มเลยกับการที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธหรือพุทธบริษัท พุทธบริษัท คือสมาชิกบริษัทของพระพุทธเจ้า ไม่จริงเลยนี่ เพราะถ้าเป็นสมาชิกบริษัทพระพุทธเจ้าต้องสงบลงเย็นลง แจ่มใสมั่นคงสดชื่นเบิกบานในทางธรรม เพราะรู้ว่าเรานี้กำลังเริ่มหยุดการเบียดเบียน เมื่อเราหยุดเบียดเบียนตัวเองได้ ขอได้โปรดลองนึกดูเถอะนะคะว่า แล้วการเบียดเบียนผู้อื่นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ใช่ไหมคะ เพราะว่าโดยมากตามทางโลก สมมติกันก็ว่าตัวเองนี่แหละเป็นที่รักที่สุดในโลกของตนเองไม่รักคนอื่นมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นการที่จะไปเบียดเบียนคนอื่นก็เบียดเบียนไม่ได้ เพราะว่าตัวเองยังเบียดเบียนไม่ได้แล้วจะไปเบียดเบียนคนอื่นได้อย่างไร
นี่คุณแม่พูดอย่างนี้ บางท่านอาจจะบอกว่า อ้าว ก็คนอื่นเราไม่ได้รักนี่ เราก็เบียดเบียนสิ ส่วนตัวเรารักเราก็ไม่เบียดเบียน นี่พูดกันคนละแง่หรือมองกันคนละมุม ที่คุณแม่พูดว่าเมื่อตัวเองยังเบียดเบียนไม่ได้เลยแล้วจะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้อย่างไร ก็หมายความว่าบุคคลผู้นั้นได้มองเห็นแล้วว่า ตัวของตัวเองที่เราเรียกว่าตัวฉัน ตัวตนของฉัน มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงสิ่งสมมติซึ่งมันกำลังจะเสื่อมสลาย หายไป ดับไปตามกฎของธรรมชาติ มันหาอยู่คงทนไม่ พอเรามองเห็นอย่างนี้ ก็แสดงถึงจิตใจที่ผ่อนคลายลงไปแล้วจากความยึดมั่นถือมั่น อวิชชากำลังจางคลาย วิชชากำลังเข้ามา พอวิชชาเข้ามา แสงสว่างเข้ามา เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนทีเดียวว่า คนอื่นก็คือเรา คือเพื่อนมนุษย์เหมือนเรานี่แหละ ที่มีความรู้สึกมีความต้องการอะไรๆ เหมือนเรานี่แหละ คือต้องการความเย็น ต้องการความสุข ต้องการความสงบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดน้ำใจรักใคร่ แล้วก็แบ่งปัน แล้วก็มองเห็นความร่วมกันในหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นมันก็เบียดเบียนกันไม่ได้ ที่คุณแม่พูดอันนี้ หมายความในแง่ที่ว่าผู้ใดที่สามารถหยุดการเบียดเบียนตนเองได้ ผู้นั้นสามารถเข้าถึงหัวใจของธรรมะลึกซึ้งยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งเห็นเพื่อนมนุษย์ เห็นมนุษย์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมเกิดแก่เจ็บตายที่เราจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มีความสุขร่วมกันอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นก็ขอได้โปรดสำรวจดูนะคะ แล้วก็ไม่ต้องเสียใจถ้ารู้สึกว่าเรายังไม่ได้เต็มที่ เพียงแต่เริ่มต้นทำใหม่แต่เดี๋ยวนี้และพรรษานี้ก็จะเป็นพรรษาที่มีความสุขยิ่งขึ้น แล้วก็จะสามารถดำเนินตลอดไปได้ด้วยการเข้าพรรษาตลอดชีวิตดังที่พูดแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ: คุณแม่คะ ดิฉันกราบขอบพระคุณคุณแม่เป็นอย่างมากนะคะ ที่กรุณามาเป็นผู้ตอบปัญหาธรรมะในช่วงนี้ค่ะ เราควรจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้พุทธบริษัทประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา งดเว้นอบายมุข ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญทาน รักษาศีล ละเว้นความชั่วทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อกุศลผลบุญจะตกแก่ตัวท่านและครอบครัวค่ะ