แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: คำนิยามของจิตคืออะไร
ตอบ: จิตก็คือธาตุรู้ ที่มีความรู้สึกนึกคิดได้ ก็ที่บอกแล้วคือสิ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดได้ นี่คือจิต แต่ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นสิ่งที่ควบคุมการกระทำทั้งหมดของชีวิต ทั้งการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือทางจิตเอง ก็ขึ้นอยู่กับจิต
คำถาม: มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการมีแฟน ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่
ตอบ: ก็ไม่แปลกอะไรถือว่าเรามีเพื่อน และในขณะที่เรามีเพื่อนก็ถือว่าจะเป็นเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้นการที่จะมีแฟนหรือมีคู่รักในระหว่างเป็นนักศึกษาอยู่ ถ้ามีแล้วเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการเรียน ส่งเสริมกำลังใจ ส่งเสริมที่จะช่วยกระตุ้นกัน จูงกัน ให้เดินไปในหนทางที่ถูกต้องเพื่อความเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคตอย่างนี้ไม่เสียหาย
แต่ถ้าสมมุติว่ามีแฟน แล้วเกิดหลงไหล ติดใจในแฟน จนเสียการเรียนเสียการงาน เสียเวลาที่จะต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นตามหน้าที่ที่ควรกระทำ อย่างนี้ก็ควรจะใคร่ครวญเสียใหม่ ดูว่าควรจะจัดอย่างไรถึงจะอยู่ในทางสายกลาง เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
สำหรับบางคนที่รักกัน แล้วก็มาอยู่ด้วยกันเฉยๆ ถ้าฝ่ายผู้ชายก็ไม่ค่อยจะเป็นอะไร ถ้าฝ่ายผู้หญิงก็ในสังคมไทยในวัฒนธรรมไทยก็ยังถือว่าเป็นสิ่งเสียหายและก็มักจะนินทาว่าร้ายกันพวกชาวบ้าน เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ญาติพี่น้องหรือคุณพ่อคุณแม่นั้นมีจิตใจเป็นทุกข์เศร้าหมองไม่เป็นสุข แต่เรื่องก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ข้อสำคัญก็คือว่าผู้ชายไม่ทำงานแล้วก็มาอยู่ด้วยกันที่บ้านผู้หญิง นี่เป็นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรที่จะคิดแก้ไข ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วช่วยไม่ได้ แล้วก็เรื่องของชาวบ้านที่เขาจะพูดจะว่าจะนินทาก็ห้ามเขาไม่ได้อีกเหมือนกัน สิ่งที่ควรดูก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนี้ให้เป็นผลดีที่สุด นั่นก็คือจะหาวิธีพูดอย่างไรที่จะเสนอแนะ กระตุ้นเตือน ชักชวนให้ผู้ชายรู้จักทำงาน ถ้าหากผู้ชายรู้จักทำงาน ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในชีวิตคู่ คำกระทบกระแทกหรือคำนินทา ก็จะค่อยๆ จางหายไป จะค่อยๆ เกิดความรู้สึกเฉยๆ ไม่อยากจะว่า ก็เออ อย่างน้อยก็ช่วยกันทำมาหากิน และถ้าหากว่าทำมาหากินเป็นหลักฐานยิ่งขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือคู่ครองได้ แล้วก็ยังช่วยเหลือญาติพี่น้องได้ ที่คำนินทาแต่แรกก็จะกลายเป็นคำชมเชย ยกย่องนับถือตามมา ความเศร้าหมองความเสียใจของญาติพี่น้องก็จะค่อยๆ จางหายไปด้วย การที่จะอยู่ด้วยกันมาร่วมคู่กันและก็อยู่กับผู้ใหญ่ก็รู้เห็นก็ไม่ถึงกับน่าเกลียดอะไรมากมาย ขึ้นอยู่ว่าจะจัดเดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ให้ถูกต้องได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจุดที่เห็นก็คือรีบสนับสนุนหาหนทางที่จะให้มีหนทางทำมาหากินโดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องเริ่มต้นงานใหญ่ งานอะไรที่พอจะทำได้ก็จงทำ เริ่มต้นไปทีละน้อยแต่ให้มีความตั้งใจมานะพากเพียรจนกระทั่งช่วยตัวเองได้และก็ช่วยผู้อื่นได้
คำถาม: (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: แล้วก็สั่งสมเอาไว้จากการทำตามกิเลสเรื่อยๆ แล้วก็เกิดเป็นความเคยชิน ความเคยชินจากการที่ทำบ่อยๆ เนี่ย อันนี้เรียกว่าอนุสัย แล้วก็จากอนุสัยที่สั่งสมเอาไว้มากๆ จนผลที่สุดก็ไหลออกมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เนี่ยที่ท่านเรียกว่าเป็นอาสวะ เพราะฉะนั้นถ้าจะถามสามคำนี้ต้องให้ตามลำดับ กิเลส อนุสัย อาสวะ
กิเลส อยาก เอ้าอยากพูด ยกตัวอย่างอยากพูด พอได้ยินใครเขาพูดเรื่องอะไร ก็ต้องพูด ทีแรกก็มีความรู้สึก อืม ไม่เหมาะที่พูดอย่างนี้ไม่ถึงคราวจะพูด แต่เสร็จแล้วก็พูด เอ้าก็เคยทำด้วยเคยทำอย่างนี้ครั้งหนึ่ง แล้วเสร็จแล้วพอถึงเวลาอื่นอีกก็พูดอีกโดยที่ยังไม่ถึงเวลาที่ควรพูด ก็เคยชินขึ้นมาเป็นกำลังสอง ต่อไปกำลังสาม กำลังสี่ ทีแรกก็ก่อนจะพูดมีอาการนึก คล้ายๆ กับระมัดระวังยับยั้งนิดหน่อยแต่ยับยั้งไม่ได้ ทีนี้ทีหลังเนี่ยพอชินมากเข้า ทีนี้พูดโดยไม่ต้องดูหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่ต้องเอากาลเทศะ นี่แหละเรียกว่าเป็นอาสวะไหลออกมาเองเหมือนกับน้ำที่เต็มตุ่ม เรารองน้ำทีแรกก็หยดติ๋ง ติ๋ง ติ๋ง ทีละน้อย ละน้อย ละน้อย เสร็จแล้วพอเต็มที่เข้าทีนี้ก็ไหลออกเรื่อย ไหลออกเรื่อย นี่คืออาสวะ ก็หมายความว่าอาสวะนี้ก็คือลูกน้องของกิเลสนั่นแหละ จากการที่เกิดจากอนุสัยคือการที่ทำซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ ตามอำนาจของกิเลส อยากพูด พูด อยากกิน กิน อยากทำ ทำ อยากโกรธ โกรธ เรียกว่าทำตามใจซ้ำซาก จนกระทั่งทีหลังทำโดยอัตโนมัติ จนพูดกันว่ายายคนนั้นแกขี้งก ยายคนนี้แกขี้งอน ยายคนนั้นแกขี้เอาแต่ใจตัว หรืออะไร ยายคนที่เขามองแล้วเขาก็สรุปมา ว่าเป็นคนอย่างงั้น อย่างงั้น เพราะเขาเห็นอาสวะ คือการกระทำที่ออกมาเป็นอาสวะ ก็ไหลออกจากอนุสัยอย่างนี้เรื่อยๆ เขาก็เลยสรุป อ่อ ยายคนนี้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นกิเลส อนุสัย อาสวะ และอนุสัยบางทีก็นอนเนื่องอยู่ภายในไม่ปรากฏตัวชัดเจน แต่คนก็คิดว่าไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร แต่ที่จริงเป็น
คำถาม: สภาวะของนิพพานยังเป็นไปตามสามัญลักษณะหรือไม่
ตอบ: ไม่เป็น มันเที่ยงอยู่อย่างนั้น นี่หมายถึงนิพพานที่แท้จริงนะ นิพพานที่แท้จริงแล้ว
คำถาม: เวลารับประทานอาหารจะเป็นเวลาที่กิเลสสามารถเกิดได้ง่าย เราจะมีวิธีใช้สติพิจารณาอย่างไรในขณะรับประทานอาหาร จำเป็นไหมที่ต้องงดกินของชอบของตนเองเพื่อไม่ให้ตามใจกิเลสของตน
ตอบ: การที่จะงดรับประทานก็เพื่อเป็นการฝึกห้ามใจกิเลส การที่งดนั้นนะคะ แต่ไม่ต้องงดตลอดไปหรอก ห้ามตามใจกิเลสแล้วลองดูซิจะเป็นยังไง ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องงดกินตลอดไป พอเรารักษาใจได้แล้วว่าไม่ให้กินอย่างโลภะ กินเพื่ออยาก กินตะกรุมตะกรามด้วยความอยาก แล้วก็จะต้องอยากกินบ่อยๆ ทีหลังพอเราสามารถจะระงับความอยากนั้นได้แล้ว เราก็กินด้วยสติ ทีนี้ที่ท่านบอกว่าเวลารับประทานอาหารเป็นเวลาที่กิเลสสามารถเกิดได้ ก็พอใส่ปากเคี้ยว อืม อร่อยดี หรือพอเห็นสี เห็นสีสันอยู่ในจานทีแรก น่ากิน แล้วก็คาดคะเนว่าคงจะอร่อย ก็ใส่ปากเคี้ยว พอเคี้ยวไป อืม ดี ดีเหมือนสี เอ้าพอเคี้ยวไปอีกหน่อย ตายจริงเผ็ดเหลือเกิน เผ็ดอะไรอย่างนี้ ใช้ไม่ได้เลยยายคนนี้ น่ากลัวแกจะกินเผ็ดจี๋ไปเลย นี่เห็นไหม กิเลสที่เกิดขึ้นในจิต ขึ้นลง ขึ้นลง ประเดี๋ยวชอบ ประเดี๋ยวโกรธ ประเดี๋ยวก็เคี้ยวเคี้ยวไปอีก อืม นึกว่าจะดีจริง ไม่ดี ก็อร่อยตอนแรกๆ กลืนไปเสร็จ ก็อย่างนั้นเอง เห็นไหม นี่คือกิเลส เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครอยากจะฝึกใจโดยฝึกเวลากินข้าว จะเห็นรอบของปฏิจจสมุปบาทเนี่ยผ่านไปผ่านมาเต็มไปหมดเลยตลอดเวลา รอบของปฏิจจสมุปบาทเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คือที่เปลี่ยนก็คือเวทนาที่จะเกิดขึ้น เกือบจะว่าทุกทุก ทุกคำที่ ที่ขย้ำลงไป ที่เคี้ยวลงไป ที่กดฟันลงไป ก็เกิดรสชาติ แล้วใจนี้ก็ติดอยู่ในรสชาติ ก็จะอร่อยหรือไม่อร่อย เคยไหมบางทีคำเดียวเนี่ยกว่าจะกลืนไปเนี่ย บ่นเรื่องคำเดียวนั้นอยู่หลายครั้งเลย เคยเป็นไหม นั่นแหละกิเลส รอบของปฏิจจสมุปบาท คำข้าวคำดียวกว่าจะกลืน ปฏิจจสมุปบาทหมุนหลายรอบเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติรู้ลมหายใจอยู่ เราดู เราก็จะเข้าใจ แล้วเราก็จะสามารถหยุดกับผัสสะนั้นได้ ฉะนั้นที่ท่านพูดแนะนำให้ฟัง ก็ควรจะใช้เป็นข้อสังเกตปัจจเวก นั่นก็คือหมายถึงการที่่จะพิจารณา พิจารณาให้เห็นถึง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง จากอาหาร จากเครื่องนุ่งห่ม จากที่อยู่ที่นอนอะไรทุกอย่างให้มองเห็น เป็นการพิจารณาให้เห็นถึงไตรลักษณ์ ถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพิจารณาอะไรจะลงท้ายด้วย สุญโญ สุญโญคือไม่มีความเป็นตัวเป็นตนเลยสักอย่างเดียว เพื่อเตือนใจ เตือนใจให้นึกถึงไตรลักษณ์ นึกถึงอนัตตา จะได้ไม่หลงติด
คำถาม: มองสิ่งหนึ่งคือจะมองอะไรก็แล้วแต่ ตาเห็นรูป รู้สึกพอใจ อยากจะมองจ้องอีก ทั้งที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น แก้ไขจะทำอย่างไร
ตอบ: เลิกมอง เลิกสนใจ เพราะเมื่อมองจะเกิดความปรุงแต่งมากมายก็ถูกแล้ว วิธีแก้ไขก็คือดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจเสีย แล้วก็ดูสิ่งที่มองนั้นว่าเป็นเพียงเช่นนั้นเอง สมมุติว่าน่ารัก น่าพอใจ ก็เช่นนั้นเอง นึกถึงความเป็นเช่นนั้นเอง นึกถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ดึงจิตบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจให้ได้ จะได้บังคับใจไม่ให้หันกลับไป
คำถาม: พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักจาคะกับผู้ที่สมควรให้ แต่ปัจจุบันนี้มีคนหลอกลวงมากมาย ทำให้ไม่รู้ว่าผู้ใดควรให้หรือไม่ควรให้ เช่น ขอทานที่เป็นแก๊งเด็กที่มาหลอกขายสติกเกอร์ โดยเด็กหรือขอทานพวกนี้จะมีผู้คุ้มครอง มารับตัวไปขอทานทุกทั่วมุมเมืองเรียกว่าทำเป็นอาชีพ อย่างนี้จะพิจารณาอย่างไรในการจาคะ
ตอบ: ถ้าหากว่าเรารู้ ว่าเขามีแก๊ง มีคนมารับไปทุกอาชีพให้ไปทุกทั่วมุมเมือง เราผู้รู้ก็น่าจะรู้ รู้ไปถึงว่าคนนี้ควรจะสมควรแก่การให้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเรารู้ไม่ลึกซึ้งว่าเป็นแก๊ง เราก็ถือเอาสิ่งที่เรามองเห็นสภาพที่เป็นอยู่ แล้วจากนั้นก็สังเกต ถ้าเผอิญเราต้องผ่านทางนั้นบ่อยๆ เราก็สังเกต เฝ้าดู คอยดู ว่าขอทานคนนี้มีความต้องการ มีความเดือดร้อน มีความลำบากจริงไหม แล้วก็มาพบความจริงเข้าเราก็หยุดเสีย ที่จริงไม่เฉพาะขอทาน คนดีๆ ทอดกฐิน ผ้าป่า เคยได้ยินไหม บางทีก็อยู่ในรูปแบบฟอร์มต่างๆ ด้วยซ้ำไป แล้วก็มาขอมาเรี่ยไรยิ่งแล้วใหญ่ แล้วคนก็หลงให้ง่ายเพราะอยากได้บุญได้สวรรค์ ฉะนั้นก็จึงใคร่ครวญดูให้ดี หูหนัก ใจหนัก อย่ามือเบา ควักกระเป๋าง่ายเกินไป
คำถาม: (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: จะพูดถึงเรื่องการนำสัตว์มาศึกษาในวิชาการแพทย์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา อันนี้เราพูดในแง่ของว่า ถ้าจะผิดศีล หลักของการผิดศีลเริ่มด้วยเจตนา แล้วพอเจตนาก็ลงมือทำ แล้วการกระทำนั้นสำเร็จ นี่ก็ถือว่าผิดศีลผิดครบองค์แห่งการทำผิด แต่ที่นี้ในเรื่องของวิชาการศึกษาแล้วก็นำมาฝึกอบรมทดลอง นี่ถ้าจะว่าไปแล้วเจตนาในการฆ่ามีหรือไม่ คือฆ่าเพื่ออะไร ฆ่าเพื่อให้ได้อย่างใจ คำว่าได้อย่างใจคนที่จะฆ่ากันเบียดเบียนกันนั้นเพราะมีใจประทุษร้ายต่อกัน แต่ว่าอันนี้จิตใจก็หาได้มีความตั้งใจประทุษร้ายไม่ แต่จำต้องทำตามหน้าที่ของการศึกษาในเรื่องของวิชาแพทย์ แต่ในการทำนั้นก็ยังมีว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือประโยชน์ในการที่จะช่วยรักษากำจัดโรคร้ายนี้ต่อไป ไม่ใช่เพื่อความดังกว่าแต่เป็นเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แล้วถ้าสมมุติว่าสามารถกำจัดโรคร้าย ต้นเหตุของโรคทั้งหลายได้ การที่จะต้องทำทารุณต่อสัตว์โดยไม่เจตนาอย่างนี้ ก็อาจจะมีน้อยลง น้อยลง ฉะนั้นพูดในแง่ของศีล เกี่ยวกับเรื่องของเจตนา
คำถาม : (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: ในปฐมโอวาท หมายความว่า ในตอนต้นเมื่่อท่านตรัสรู้ ท่านตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทแล้ว ท่านก็ค้นพบแล้วว่า อ่อ ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ อาศัยเหตุปัจจัยอย่างนี้ อย่างนี้ ต่อเนื่องกัน แล้วท่านก็รู้ว่า ถ้าสรุปลงกล่าวในคำคำเดียวจะบอกว่าเพราะตัณหากระตุ้น เพราะฉะนั้นตัณหานี้แหละ คือ เจ้า ที่หมายถึง เจ้าจะมาหลอกเราไม่ได้อีกต่อไปเพราะโครงเรือนคือความอยากทั้งหลาย แล้วที่นำกิเลสโลภะ โทสะ โมหะ มา บัดนี้รู้เท่าทันแล้ว หักทำลายแล้ว สี่ล้อแห่งตัณหา กงเกวียนแห่งตัณหา ดุมล้อแห่งตัณหา หักหมดสิ้นไม่มีเหลืออีกแล้ว ก็หมายความว่า จิตนี้แข็ง แกร่ง เต็มอยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา อย่างมั่นคง เป็นจิตที่เป็นอิสระอย่างยิ่ง จะไม่ไปหลงติดกับของตัณหา ความอยากหรือเป็นทาสของอวิชชาอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการประกาศบอกให้ทราบว่าจิตนี้จะไม่หลงในเหยื่ออีกต่อไปแล้ว อวิชชาท่านก็บอกว่าเป็นธาตุอย่างหนึ่ง วิชชาก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง แต่เสร็จแล้วจิตของมนุษย์ มักจะเอนเอียงไปทางอ่อนแอจึงยอมตกเป็นทาสของอวิชชา อวิชชาเข้ามาครอบงำได้ง่าย แต่วิชชานี่ยาก เพราะต้องอาศัยความเข้มแข็งแห่งจิต แต่ถ้าเมื่อรู้ตัวว่าอวิชชาครอบงำ ก็มาฝึกฝนอบรมเสีย แล้วอวิชชาธาตุก็จะได้ถอยไป อันที่จริงอวิชชาธาตุก็อยู่ของเขาเฉยๆ แต่เพราะความที่หลงไหล ชอบพอสิ่งที่ได้ง่ายเป็นง่ายก็เลยเข้ามาครอบงำ
คำถาม : (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: เสา 5 ต้น ที่บอกว่าจะหมายถึงขันธ์ 5 ก็ได้ คือธรรมะอะไรที่มี 5 ข้อ ขันธ์ 5 พละ 5 อินทรีย์ 5 เบญจศีล เบญจธรรม อะไรที่ 5 หรือจะนิ้ว 5 นิ้วก็ได้ ก็ทำให้เรามองดูสวยงามหน่อย
คำถาม: ขณะนั่งสมาธิบางครั้งเกิดความสงบ รู้สึกเหมือนกับตัวหมุนแบบสว่านอยู่กับที่ จากหมุนช้าๆ เป็นแรงแล้วเร็วขึ้น ตัวค่อยๆ ลอยขึ้น รู้สึกตัวเบาดีเหมือนอยู่บนอากาศ อยากจะลองลืมตาดู กลัวจะตกมากระแทกพื้น อาการแบบนี้ชอบมาก อยากจะรู้เพราะเหตุใด จะว่าคิดไปเองก็ไม่ใช่ รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ
ตอบ: ก็เป็นอาการที่อาจจะเกิดขึ้นแก่บางคน ในเมื่อจิตนั้นเป็นสมาธิหนักแน่น เป็นพลังของจิตอย่างหนึ่ง ทีนี้ก็อย่าไปหลงชอบ ถ้ารู้สึกว่าเกิดขึ้นก็เพียงแต่รู้ว่าเกิดขึ้น อย่าไปหลงชอบหลงติด ถ้าหลงชอบหลงติด พอนั่งสมาธิทีไร ก็จะนึกอยากให้ตัวลอย ถ้าตัวไม่ลอย ใจก็เลยเกิดตัณหา ความอยาก ก็เลยเป็นนิวรณ์เป็นอุปสรรค แทนที่จะไปพอใจอย่างนั้น ควรจะรู้จักใช้ภาวะของจิตที่เต็มไปด้วยสมาธิหนักแน่นใคร่ครวญธรรมต่อไป จะเกิดประโยชน์ในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้นมากกว่าที่จะพอใจกับตัวลอย
คำถาม : หลักเกณฑ์ในการเลือกคู่ครองที่ดี
ตอบ: พูดแล้วเมื่อวานนี้ในสัปปุริสธรรมนั่น ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน การเป็นภรรยาสามีที่ดี ที่จริงถ้าหากว่าเรารู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรารู้ว่าการประกอบเหตุปัจจัยที่ถูกต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของสามีที่ดีทำอย่างไร หน้าที่ของภรรยาที่ดีทำอย่างไร ก็เอาใจเขามาใส่ใจเราเท่านั้นเอง เราต้องการให้เขาทำอย่างไรกับเรา เราก็ทำอย่างนั้นกับเขา แต่ว่าทำด้วยความรู้สึกที่ไม่มีตัณหาความอยาก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปแทรกแซง ถ้ามีตัณหาความอยากหรือว่าความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปแทรกแซงก็จะเอาตามใจของตัว นั่นก็ไม่ใช่การทำหน้าที่อย่างถูกต้อง
คำถาม : ทำไมคนเราจึงรักพ่อรักแม่ไม่เท่ากัน
ตอบ: หมายความว่ารักพ่อมากรักแม่น้อย หรือรักแม่มากรักพ่อน้อย ทำนองนั้นใช่ไหม นี่ก็ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิด ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่าเรารักไม่เท่ากันก็ดูว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่หรือเหตุปัจจัยอยู่ที่เรา ถ้าเหตุปัจจัยอยู่ที่เราเราก็แก้ไขเสีย เพราะหน้าที่ของลูกคือหน้าที่ของการเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ที่ดีต่อทั้งคุณพ่อและคุณแม่
คำถาม: ทำอย่างไรจึงจะตอบแทนพระคุณของคุณพ่อที่เสียไปแล้วให้ถึงท่านได้
ตอบ: คุณพ่อเคยสอนว่าอะไร เคยบอกว่าอะไร ว่าอยากจะเห็นลูกโตขึ้นเป็นบุคคลที่เป็นอย่างไร ก็น้อมคำสอนคำอบรมของคุณพ่อให้มาอยู่ในใจเสมอ แล้วก็พยายามทำตามที่ท่านบอก ท่านต้องมีความชื่นใจ มีความเป็นสุขและสวรรค์ก็อยู่ที่่ตรงนั้น
คำถาม: (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: ทำให้เขาดูซิ เราไม่โกรธ อย่างนี้เราไม่โกรธ ถ้าจะไปบอกเขาเวลาโกรธเขาคงไม่ฟัง นอกจากจะแอบถ่ายรูปไว้ บันทึกเทปไว้ เสียงที่เขาพูดเวลาโกรธแล้วเปิดให้เขาฟังเวลาเขาอารมณ์ดีๆ เขาจะได้รู้ว่ามันน่าเกลียด ท่าทางมันน่าเกลียดแค่ไหน แล้วก็ถ้าจะใช้คำพูดอธิบายเราเองจะต้องสามารถเป็นตัวอย่างเขาได้ เราจะไปบอกไปเตือนเขาคือเราไม่ทำอย่างเขา ถ้าเรายังทำอยู่ต้องแก้ไขที่ตัวเราก่อน
คำถาม : (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: โดยทำการอยู่กับลมหายใจ ให้จิตหยุดคิดนี่แหละคือการพักผ่อนทางธรรม ถ้าเราปล่อยให้จิตคิดวุ่นวายไปกับอารมณ์ความรู้สึก ความคิด จิตไม่ได้พัก ก็นำจิตมาอยู่กับลมหายใจเสีย อยู่กับอานาปานสติ ทีละขั้น ละขั้น เรื่อยไปตามลำดับ นี่คือการพักผ่อนทางธรรม หรือว่าเมื่อพูดจาคุยกันในหมู่คนที่รู้เรื่องธรรมะด้วยกัน แล้วก็คุยกันเรื่องของธรรมะ เรื่องของการปฏิบัติ เรื่องของผัสสะ เรื่องของปฏิจจสมุปบาท ใจมันก็เย็นใช่ไหม คุยอย่างนี้จะไม่ทะเลาะกัน ยกเว้นธรรมะของฉันถูก ธรรมะของแกผิด นั่นก็ให้รู้ว่าอุปาทานขึ้นมาอีกแล้ว แต่ถ้าเราคุยกันในเรื่องของธรรมะเป็นการที่ละวางความยึดมั่นถือมั่น เป็นการพักผ่อนเพลิดเพลินเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของชีวิต
คำถาม : (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: ถ้าชื่นชมแล้วก็ไม่ได้มีความอยากอะไรเกี่ยวกับตัวเขา เป็นเหมือนเขาก็ไม่เป็นไร เราก็ตั้งใจทำ อยากแล้วก็ตั้งใจดูซิว่า ที่เขาเป็นอย่างนั้นได้ แล้วเราชอบ เป็นเพราะอะไร เขาฝึกหัดอบรมตัวเขาให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร แล้วเราก็มาฝึกปฏิบัติของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องโกรธแค้นชิงชังตนเองหรือน้อยใจตัวเอง ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่กิเลส เป็นความอยากที่เป็นสังกัปปะ
คำถาม: (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: อันนี้ก็พูดถึงคุณพ่อคุณแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน แล้วก็ไปนิยมชมชอบแต่ลูกคนเก่ง ลูกคนไม่เก่งก็เลยไม่ใส่ใจ นี่ก็คุณพ่อคุณแม่นั่นแหละที่ท่านประกอบเหตุปัจจัยไม่เหมาะสม เพราะเมื่อลูกคนหนึ่งเก่งก็ดีแล้วก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เก่งต่อไป แต่คนไม่เก่งก็ควรจะให้กำลังใจ จะแก้ใครก็ต้องไปแก้คุณพ่อคุณแม่ ใครจะไปกล้าบอกคุณพ่อคุณแม่ นอกจากว่าจะต้องให้ญาติพี่น้องผู้ใหญ่ แล้วก็ลูกคนที่ถูกรักน้อยก็ไม่ควรที่จะไปแก้ชดเชยตัวเองอย่างนั้น ตัวเองนั่นแหละทำไม่ถูก ถ้าประชดตัวเองก็ยิ่งทำให้ตัวเองยิ่งใช้ไม่ได้ยิ่งขึ้น ก็ควรจะเตือนสติคนนั้นว่าควรจะคิดแก้ไขในทางที่ถูก ทำอย่างนั้นไม่ใช่ทำการพัฒนาให้ดีขึ้นแต่เป็นการพัฒนาให้เลวลง
คำถาม : เป็นน้องเตือนยาก
ตอบ: น้องก็เตือนยาก ก็ควรจะเป็นเพื่อนควรจะเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เรามีที่เราจะไปบอกเค้าว่าให้ญาติผู้ใหญ่นั่นช่วยมาเตือนแทนที ถ้าน้องไปเตือนเขา พี่อาจจะไม่ฟังเพราะเขาถือว่าเป็นคู่แข่ง
คำถาม : (ไม่ได้ยินเสียงคำถาม)
ตอบ: อันนี้ไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา เป็นเรื่องของวัด เป็นเรื่องของคนที่จัดเซียมซีออกมา ไม่ใช่เรื่่องของ พระพุทธศาสนา นั่นก็เป็นเพราะว่า แต่สมัยก่อนมามีเรื่องของพิธีพราหมณ์เข้ามาแทรก อย่างของไทยเราที่กรุงเทพ เรายังมีโบสถ์พราหมณ์อยู่ใช่ไหม อันนี้เป็นความปะปนกัน ปะปนของศาสนาพราหมณ์เข้ามาแทรกในศาสนาพุทธเพราะฉะนั้นเมื่อเรามาศึกษาพุทธศาสนา เราจึงควรพยายามที่จะรู้จักสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา และเมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะรู้จักแยกเอง ว่าอะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก อะไรคือกระพี้ แล้วเราปรารถนาจะไปยังแก่น คืออยากได้แก่นให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วไหม ถ้าเราต้องการอย่างนั้นเราก็ปฏิบัติตามแก่นหรือแกน นี่แหละคือแก่น แก่นของพุทธศาสนาเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เราทราบอะไรที่ถูกต้องก็ไว้เพื่อพิจารณาเอาเองว่าเราจะเลือกอะไร
คำถาม : คนฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาขาย ถือว่าเจตนาทำผิดศีลหรือไม่
ตอบ: ใช่
คำถาม : ขณะทำสมาธิอยู่ มีแมลงวันมาตอมกวน ตอนแรกก็นึกว่าเพียงเวทนา ต่อมาก็ยังไม่ยอมไป จึงทำสมาธิอยู่กับลมหายใจไม่ได้นึกโกรธแมลงวัน พยายามพิจารณาเวทนาก็ไม่หายโกรธ ถามว่าเวลาโกรธอยู่กับลมหายใจไม่ได้ จะทำอย่างไร
ตอบ: แมลงวัน คือผัสสะ ค่อยมองเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของแมลงวัน การที่มาตอมก็คงไม่ตอมตลอด 24 ชั่วโมง มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป มองเห็นเหตุปัจจัยอันนี้ แล้วก็ดึงจิตมาอยู่กับเวทนา มาอยู่กับลมหายใจ แต่ถ้าเรายังไปมัวนึกอยู่ที่แมลงวัน ก็เป็นโอกาสของเวทนาจะเข้าครอบงำได้มากขึ้น ตอนนี้ต้องอาศัยกำลังจิต กำลังจิตที่เข้มแข็งและเพิ่มความเมตตาแมลงวันให้มากขึ้น เนี่ยเป็นสัตว์โง่จริงๆ ไม่รู้ว่ามาตอมอะไร ไม่ได้มีขยะ ไม่ได้มีอะไรให้กินสักนิดนึงก็ยังมาตอม หรือถ้าจะดูให้เกิดประโยชน์ อ๋อ ตอมของเหม็นของเน่า นี่ก็แสดงว่ากายนี้หาได้สะอาดหมดจดไปหมดไม่ เอาไตรลักษณ์มาดูกายไปเลย นี่ก็เป็นวิธีที่จะแก้ไขอีกเหมือนกัน ทำให้ใจเกิดปลงได้มากขึ้นก็เลยลืมโกรธแมลงวัน
คำถาม : นั่งสมาธิก่อนนอนดีไหม
ตอบ: ดีแน่ นั่งตอนเช้าจะง่วง ก็ตามใจ ดูก่อนตอนไหนดี จะก่อนนอนนั่งได้ดีก็นั่งตอนก่อนนอน ถ้าก่อนนอนนั่งแล้วจิตเป็นสมาธิ เชื่อไหมคะ ความง่วงเหงาหาวนอนจะค่อยๆ หายไป ตื่นขึ้นจะแจ่มใส แล้วถ้าหากว่านอนอย่างชนิดจิตมีสมาธิ แม้นแต่จะสั่งให้ตื่นเวลาไหนก็สามารถจะสั่งได้
คำถาม: รู้สึกว่ามีเพื่อนน้อย คิดว่ามนุษย์สัมพันธ์คงไม่ค่อยดีเพราะพูดไม่เก่ง ถ้าเป็นคนพูดไม่เป็นจะมีเพื่อนใหม่ๆ เยอะได้อย่างไร นี้พูดปลอบใจตัวเอง และการมาสนใจพุทธศาสนา เช่น อยู่กลุ่มน้ำใจ ก็ไม่มีเพื่อนมาด้วยเลย จะชักชวนเพื่อนมาได้อย่างไร
ตอบ: ทำให้เขาดู ทำให้เขาดู มีน้ำใจกับเพื่อนฝูงให้มากขึ้น แต่อย่ามีมากจนกระทั่งตัวไม่เหลืออะไร เมื่อเขาเห็นเรามีน้ำใจ ธรรมดาของมนุษย์โดยปกติก็จะมีน้ำใจตอบ เราสนใจในสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ช้าเขาก็จะมีน้ำใจมาสนใจในสิ่งที่เราสนใจ ต้องให้เวลาและก็ช้าๆ การพูดน้อยดีกว่าพูดมาก เพ้อเจ้อ ไร้แก่นสาร การพูดน้อยแต่มีสาระตรงจุด มีคติดีกว่าเพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าเป็นคนพูดไม่เก่ง ขอให้พูดมีสาระประโยชน์ นั่นแหละการพูดนั้นมีค่า แต่ถ้าหากว่าพูดเก่ง แล้วก็พูดเรื่อย พูดไม่จบ พูดอะไรก็ไม่รู้ เรียกว่าปากหุบไม่ได้ นั่นก็เป็นการพูดที่น่ารำคาญมากกว่าก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการพูดน้อยไม่ใช่เป็นปัญหา ขอให้รู้จักพูดให้เป็นให้มีสาระประโยชน์ให้ตรงจุด
เหมือนอย่างที่ถามเมื่อตะกี้ที่พูดถึงเรื่องความมีน้ำใจของเพื่อน นี่แหละ นี่คือน้ำใจที่ว่าเราทำอะไรให้เขา แล้วทำไมเขาไม่ทำอะไรให้เรา เพียงแต่จะขอให้ช่วยเก็บชีท เก็บกระดาษ อธิบายไว้ด้วยเขาก็ยังไม่มีน้ำใจ ถ้าอย่างนี้ก็ต้องพูดกัน ต้องบอกกัน ต้องสั่งกันเลย บอกขอเลย ฉันขอเลย ขอแล้วก็ไปทวง ข้อสำคัญเราอย่าแสนงอน ถ้าเขาไม่ทำแล้วก็งอน ไม่หาไม่ให้ก็ไม่อยากได้ ไม่เอาไม่ให้ก็ไม่ขอ เลิกงอนซะ ไม่รู้ว่างอนหรือเปล่านะ นี่พูดไปตามเรื่อง เราก็ไม่งอน แล้วก็นึกเอาไว้เสมอว่าการงอนเพราะเรานึกถึงตัวเรา นึกถึงตัวเราว่าอยากให้เขาทำตามที่เราต้องการ แต่เขาไม่ทำเราก็เลยน้อยใจ เพราะฉะนั้นต้องพูดกันตรงไปตรงมาและก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเชื่อว่าเมื่อเราขอร้องเขาก็คงทำให้