แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ถาม: มีคนชอบมาถามดิฉันบ่อย ๆ ไม่ชวนบวชหรือ พอมาคุยธรรมะกันหน่อยและก็ถามไม่ชวนบวชหรือ
ตอบ: ดิฉันถาม ชวนทำไม ชวนทำไมมาบวช เรื่องของการบวชเป็นเรื่องของแต่ละคน ที่ว่าเรื่องของแต่ละคนก็คือว่า เมื่อจิตของบุคคลนั้นพร้อม พร้อมทั้งกาย พร้อมทั้งใจ พร้อมเพราะรู้แน่ใจว่ากำลังทำอะไร โดยไม่ได้หลงตามใครเขา แต่ว่าเพราะตัดสินใจเองในใจ จากการที่ได้ฝึกทดลองปฏิบัติแล้ว และก็แน่ใจแล้ว และก็แน่ว่า การบวชของเราไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนใครก็คือไม่เบียดเบียนคนที่ทิ้งไว้เป็นภาระข้างหลัง เราจึงจะบวชได้อย่างสบายใจ เพราะฉะนั้นไม่ชวน ชวนมาบวชและก็ยังไม่พร้อม แทนที่ตัวเองจะได้บุญ ได้กุศล กลับมาเป็นบาป เป็นภาระแก่คนอื่นเขาด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้จึงขึ้นอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละคนอย่างถี่ถ้วนอย่างรอบคอบ
ถาม: บางคนปฏิบัติธรรมตอนกลางคืน คือสวดมนต์ทำสมาธิ พอตอนเช้าก็อารมณ์เสียจะแก้อย่างไร
ตอบ: ก็เราคงแก้เขาไม่ได้นะคะ นอกจากให้โอกาสที่เขาจะได้รู้วิธีการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ว่ามันต้องมีทั้งความสงบ คือสมถะภาวนาและก็วิปัสสนาภาวนา ถ้าเขาได้ศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรมด้วย มีวิปัสสนาภาวนาด้วย และเขาก็จะได้เข้าใจว่ามันไม่เพียงแค่ความสงบ แต่มันต้องพยายามดูให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติ จะได้ลดละได้
ถาม: จะชักจูงเด็กสาวมาฟังธรรมได้อย่างไร
ตอบ: ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราทำตัวอย่างให้เขาดูได้ไหม สิ่งแวดล้อมในบ้าน ที่โรงเรียน สังคม ส่งเสริมสิ่งนี้ไหม ถ้ามันยังไม่ส่งเสริมสิ่งนี้ก็ยาก แต่ว่าจะทำได้ด้วยการทำเป็นตัวอย่าง
ถาม: เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ชอบใช้โทรศัพท์นานมาก จะแก้ไขอย่างไร
ตอบ: ถ้าหากว่าเราไม่ได้อบรมให้เขารู้จักความพอดี ให้เขารู้จักหน้าที่ มีความเกรงใจลูก มีความกลัวลูก หรือว่าผู้ใหญ่เองก็ทำตัวอย่างให้ดูอยู่บ่อย ๆ ยากที่จะไปแก้ เพราะฉะนั้นการฝึกอบรมเด็กให้รู้จักทำหน้าที่อย่างถูกต้องเสียตั้งแต่เล็ก ๆ จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่และครูบาอาจารย์พึงกระทำ เพื่อเขาจะได้ไม่ทำสิ่งที่เป็นปัญหาให้ขัดใจต่อไปข้างหน้า
ถาม: ที่พูดว่าสามารถกำหนดจิตให้ตื่นนอนขึ้นได้เองตอนเช้า ได้ยินว่าถ้าฝึกการควบคุมจิตใต้สำนึกก็ทำเช่นเดียวกัน เพราะจิตใต้สำนึกมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายในส่วนที่จิตสำนึกปกติไม่ได้สั่งหรือควบคุมได้ อยากฟังความเห็น
ตอบ: ก็บอกได้ว่าถ้าเราปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมนะคะ อย่างที่เราปฏิบัติตั้งแต่ขั้นที่ 1 จนถึงขั้นที่ 16 และก็ปฏิบัติต่อเนื่องสม่ำเสมอด้วยศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจพากเพียรอย่างดี มันจะควบคุมได้ทั้งหมด ทั้งจิตใต้สำนึกและก็จิตสำนึก จิตสำนึกนี่มันอยู่เบื้องต้น หรือว่าเบื้องบน จิตใต้สํานึกคือสิ่งที่เราสั่งสม สั่งสมสิ่งต่าง ๆ เอาไว้จนกระทั่งบางทีก็ลืม และพอเหมาะ ๆ มันก็จะโผล่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าฝึกปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามลำดับอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมนั้นมันจะเกิดขึ้นเองทั้งกายทั้งใจ ไม่ว่าอยู่ในชั้นไหน สามารถจะทำได้
ถาม: คนที่ชอบทำบุญทำคราวละมาก ๆ เช่น สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร แต่ไม่เคยปฏิบัติธรรมจะได้บุญไหม
ตอบ: เขาก็ได้บุญ ได้บุญตามความรู้สึกของเขา คือได้หน้าได้ตา ได้มีชื่อเสียงจารึกเอาไว้ที่โบสถ์ ที่วิหาร และพอกลับบ้านก็คง หรือว่าพอในชีวิตประจำวันก็คงโลภ โกรธ หลง เหมือนอย่างมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นทำบุญอย่างนี้ ก็ได้แต่บุญข้างนอก คือเขาทำบุญที่เรียกว่าทำทาน แต่เขายังไม่ได้มีการบริจาคหรือจาคะที่แท้จริง คือยังไม่ได้จาคะความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ในใจ ยังคงมีอยู่เต็มที่ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่การทำบุญที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ดีกว่าไม่ทำ แต่ถ้าทำเพื่ออวด เพื่อความมีหน้ามีตา ก็เรียกว่าทำบุญด้วยความยึดมั่นถือมั่น ยิ่งเป็นโทษทุกข์ต่อไปอีก
มีเรื่องสั้น ได้อ่านเรื่องสั้นนานแล้วนะคะ แต่อ่านแล้วก็จำติดใจ ตั้งแต่ยังไม่ได้สนใจธรรมะอะไรมากมายนักหนา พูดถึงเรื่องชาวบ้านไปทำบุญ แต่ในตำบลนั้น ก็มีคุณนายคนหนึ่งซึ่งฐานะดีหน่อย พวกชาวบ้านก็ยกย่องให้เป็นคุณนาย เวลาไปทำบุญ ก็ถึงวันพระที ก็มักจะทำอาหารไป ดูมากมาย พอไปถึงบนศาลา ก็ต้องจาระไนนั่นอะไร นี่อะไร ทำมาเอร็ดร่อยแค่ไหน วันหนึ่งก็ทำปลาร้าหลน แล้วก็เดินผ่านมา ก็เห็นยาย ยายแก่จน ๆ คนหนึ่งซึ่งแกมีอาชีพด้วยการปลูกผักบุ้งขาย วันนั้นแกก็กำลังเก็บผักบุ้งอ่อน ๆ ทอดยอดสวย น่ากิน มองดูรู้สึกว่าอ่อนน่ากินเหลือเกิน ยายคุณนายคนนี้ก็บอก ยาย ยายคนจนขายผักบุ้ง ชื่ออะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว บอกว่า แหม วันนี้ฉันทำปลาร้าหลนจะเอาไปถวายพระ กำลังหาผักที่จะจิ้มปลาร้าหลนให้อร่อย ให้น่ากิน แหม ผักบุ้งนี่ น่ากินดีเหลือเกิน อ่อนเชียว ฉันขอซื้อหน่อยได้ไหม
ยายแก่คนจนก็นึกในใจว่าเรานี่เป็นคนจน ไม่เคยมีโอกาสได้ทำบุญทำทานอะไรกับเขาเลย วันนี้คุณนายคนนี้เขาจะทำปลาร้าหลน และเราก็มีผักบุ้งอ่อน ๆ ไปจิ้มปลาร้าหลน แหม เราคงมีโอกาสได้ทำบุญ ก็เลยบอกยายคุณนายว่า ไม่ต้องซื้อหรอกค่ะ ฉันขอทำบุญร่วมด้วย ก็เก็บเลือกผักบุ้งอ่อน ๆ อย่างงาม ส่งไปให้กำใหญ่ ยายคุณนายนี้ก็รับไป และก็ยายแก่จน ๆ ก็รีบเก็บผักบุ้งของตัวเองเตรียมไปขาย เสร็จแล้วก็อาบน้ำอาบท่าอย่างรวดเร็ว เพื่อว่าวันนี้วันพระ เราจะไปวัดกับเขาเสียหน่อย เพราะว่าจะได้ไปโมทนาผักบุ้งของเราที่จะไปร่วมกับน้ำพริกปลาร้า ปลาร้าหลนของเขา ก็แต่งเนื้อแต่งตัว
พอไปถึงศาลาขึ้นบันได ก็ได้ยินเสียงคุณนายคนมั่งมี คุยโอ่อยู่ข้างบนศาลา นี่ ทำนั่นมา ทำนี่มา วันนี้มีปลาร้าหลนอร่อยมาก แล้วก็ผักบุ้งนี่อ๊อน อ่อน เห็นยายคนนั้นน่ะ ก็เอ่ยชื่อ แกกำลังเก็บผักบุ้งขาย สงสารแก แกคนจน แกขายผักบุ้งกว่าจะได้แต่ละทีลำบาก ก็เลยซื้อแกมา ซื้อผักบุ้งแกมา นึกว่าช่วยแกด้วย ช่วยให้แกขายได้เร็ว และก็ยังได้มาทำบุญด้วย ยายแก่คนจนที่กำลังเดินขึ้นบันไดเพื่อจะไปอนุโมทนาผักบุ้งของเรา ที่เราอุตส่าห์เก็บให้ เพื่อให้เขาเอาไปทำบุญ ขอร่วมด้วย เพราะเราไม่มีปัญญา พอได้ยินอย่างนั้น ก็แน่นอน เดาได้ ถ้าเป็นเรา ใจจะรู้สึกอย่างไร มันก็แฟบ แต่ก็ต้องนับว่ายายแก่คนจนขายผักบุ้ง แกมีคุณธรรมในใจ
ในนั้นเขาก็บอกว่า พอพระท่านยะถาสัพพีเสร็จ ทุกคนก็กรวดน้ำใช่ไหมคะ ยิ่งทางชาวบ้านเขาต้องกรวดน้ำ มีน้ำมา มีชามรอง ยายแก่คนจนแกก็นั่งกรวดน้ำ และคนเขียนเรื่องสั้นเขาก็บอกว่า วันนี้แกกรวดน้ำนานกว่าทุกครั้ง เพราะแกกรวดน้ำให้ทั้งคนตายและคนเป็น
นี่ ฟังแล้วแหม มันก็จับใจ นี่แหละตัวอย่าง ทำบุญอย่างนี้ เขาเรียกว่าทำบุญเอาหน้า ทำบุญแล้วยังผิดศีลเสียอีก และนี่คงรับศีลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เห็นไหมคะ และศีลมุสานั้นก็เต็มประดา และก็ยังเท่ากับว่าอทินนาด้วย อทินนาก็อะไร ขโมยบุญคนอื่นเขา เพื่อไปเอาหน้าของตัวเอง นี่ เห็นไหม ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ความเห็นแก่ตัว มันทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวอย่างปราศจากความละอาย ก็คงนึกไม่ถึงว่ายายแก่ขายผักบุ้งแกจะไปร่วมอนุโมทนา ถึงได้นั่งคุยโอ่อยู่บนศาลา
ถาม: ทำไมคนที่ปฏิบัติธรรมถึงต้องยิ้มตลอดเวลาทั้งวัน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ยิ้มกันได้อย่างไร
ตอบ: นี่จะรำคาญที่ได้ยินเสียงบอกว่าให้ยิ้ม ๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ อันที่จริงแล้วละก็มองดูพระพักตร์พระพุทธรูปนี่ค่ะ มองดูพระพักตร์พระพุทธรูป ท่านหน้าบึ้งไหม ท่านหัวเราะไหม ท่านยิ้มแป้นหรือเปล่า ไม่ได้ยิ้มแป้น อย่างนี้เรียกว่าแย้มยิ้ม แย้มยิ้มเพราะมีความเบิกบานอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นผู้ที่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมจริงนี่นะคะ เราก็จะเห็นท่านมีความผ่องใส เพราะว่ามีความเบิกบานในธรรมอยู่ภายใน จะผ่องใสมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าความรู้สึกมีธรรมในใจนั้นมากน้อยเพียงใด ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องหัวร่อ คือถ้าหากว่าปฏิบัติธรรมไป การหัวเราะ การร้องไห้ เห็นไหม เป็นของคู่กัน ถือว่าเป็นสิ่งสุดโต่งทั้งสองทาง เดี๋ยวก็ซ้าย เดี๋ยวก็ขวา เดี๋ยวก็ซ้าย เดี๋ยวก็ขวา
ทีนี่ถ้าพูดอย่างคนโลภจะเข้าใจได้ ที่กลาง ๆ ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ เฉย ๆ แต่เฉย ๆ นี่มันอาจจะบึ้งข้างในก็ได้ ฉะนั้นเขาจึงใช้คำว่ายิ้ม แต่ที่จริงแล้วไม่ต้องถึงกับยิ้มแย้มมากมาย แต่มีความแย้มยิ้ม คือมีความไม่บึ้ง แต่ทีนี่ทั่ว ๆไปก็ยังยิ้มไม่ค่อยได้ใช่ไหมคะ เพราะในใจมันเครียด เพราะฉะนั้นการที่จะทำใจให้ยิ้มเอาไว้ ก็เท่ากับว่าเป็นการเอาน้ำเข้ามาพรมที่ฟองน้ำที่มันถูกบีบเสียจนแห้ง ไม่มีน้ำเหลือเลยสักหยดเดียว นึกออกไหมคะ เราใช้ฟองน้ำ ใช้ไป บีบไป ใช้ไป บีบไป จนกระทั่งมันไม่อมน้ำอะไรอีกแล้ว อยากจะเปรียบเหมือนกับใจที่เครียด เครียดเพราะความทุกข์ ถูกความทุกข์บีบ จนกระทั่งไม่เหลือรอยของความเบิกบานชุ่มชื่นอยู่เลย ก็เท่ากับว่าเราฝึกเท่านั้นเอง และต่อไปเราก็จะรู้ว่ามันจะลดลงมา ๆ จนกระทั่งถึงความพอเหมาะแค่ไหน
ถาม: คนหนึ่งปฏิบัติบำเพ็ญกุศลและกุศลนี้จะส่งไปถึงคนอื่นได้ไหม
ตอบ: อันนี้ก็ไม่ทราบนะคะว่าจะส่งไปถึงคนอื่นได้ไหม แต่ถ้าคนที่อยู่ใกล้ ๆ เขาได้มองเห็นอยู่เสมอ เชื่อว่ามันส่งถึงกันได้ ส่งถึงกันได้ในลักษณะไหน ก็คือเป็นการที่ชักชวนโดยปริยายโดยตัวอย่าง ทำให้เขามองเห็นว่ามันคงจะดี เพราะว่าผู้ที่ทำเช่นนั้นมีความเบิกบานแจ่มใส เพราะเป็นการทำบุญที่บริสุทธิ์
ทีนี้ก็ยกตัวอย่างว่าผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า ลูกสาวนั้นชอบร้องกรี๊ด ๆ บางทีก็ชอบเอาหัวโขกพื้นตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ ก้าวร้าว แต่หลังที่แม่ปฏิบัติธรรม ช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม ลูกสาวก็หายจากอาการดังกล่าว ตอนนี้อายุประมาณยี่สิบ และก็ยังปฏิบัติธรรมเหมือนแม่ นี่ก็ต้องบอกว่า ที่ลูกร้องกรี๊ด ๆ เอาหัวโขกพื้นอะไรต่ออะไร ตอนนั้นแม่เป็นอย่างไร แม่ก็ชอบกรี๊ด ๆ ชอบก้าวร้าวกับลูก ดุว่า ลูกทำอะไรซนหน่อยไม่ถูกใจ ก็ตีเอา ๆ หรือเปล่า ถ้าแม่ทำอาการอย่างนี้ ก็นั่นแหละความกระด้างของแม่ มันก็เข้าสู่ลูก ลูกก็มีปฏิกิริยาตามสัญชาตญาณ ทีนี้เมื่อแม่มาปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมจริง จะอ่อนโยนขึ้น มีความเมตตากรุณาขึ้น วิธีที่ปฏิบัติต่อลูกในลักษณะนั้น ก็เปลี่ยนเป็นการทำความเข้าใจ เห็นใจ อบรมด้วยเมตตากรุณา ลูกที่กระด้างก็อ่อนโยนขึ้น เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็เรียกว่า จะบอกว่ามันเป็นผลส่งถึง ไม่ใช่ผลส่งถึงหรอก มันเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะว่าแม่ปฏิบัติถูกต้อง มันก็ส่งผลไปถึงลูกที่ยังพอจะแก้ไขได้ ไม่ทันสายเกินไป
การกรวดน้ำก็เพื่อตามความเชื่อว่าจะให้แผ่กุศลถึงผู้อื่น แต่ส่วนผู้อื่นจะได้รับหรือไม่ได้รับนั้น ข้อนี้ดิฉันก็ตอบไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดก็ตอบได้ว่าเมื่อเราทำแล้ว ใจเราสบาย การที่เราทำบุญ จะทำบุญให้กับผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย หรือจะทำให้แก่บุคคลที่เราระลึกถึงในพระคุณ ก็ถือว่าเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมีคุณสมบัติสำคัญ คือความกตัญญู ในขณะที่เราทำสิ่งที่ถูกต้อง ใจเราเป็นอย่างไร ชื่นชม ชื่นบานตัวเอง มีความพอใจ มีความอิ่มใจตัวเอง ทีนี้เพื่อที่จะทำให้ใจมีความสบายยิ่งขึ้น ท่านก็บอกว่าอุทิศกุศลเสีย
ทีนี้ในขณะที่อุทิศกุศลนี่ ในการกรวดน้ำ สังเกตไหมคะว่าคนทั่วไปเขาทำอย่างไร ก็เอาน้ำมา และก็เอามือนี่รองลงไปที่น้ำ และก็ยังมีความยึดมั่นกันว่าต้องไม่ให้น้ำขาดตอนนะ ไม่ต้องให้ขาดตอน ถ้าขาดตอนเดี๋ยวกุศลจะไม่ถึง และถ้าหากว่าจะกรวดน้ำกันแล้วก็ มาใคร ๆ ใครจะกรวดน้ำ เคยเห็นไหมคะ เกาะหลังกัน ทางยาวเหมือนงูกินหาง เพื่อที่จะให้กุศลมันไปถึงกัน เกาะกันไป ถ้าจะถามว่านั่นเกาะไปไหน ตอบไม่ได้ ตอบไม่ได้ แต่เกาะกันไปอย่างไสยศาสตร์ นี่เห็นไหมคะเรียกว่ากรวดน้ำอย่างไสยศาสตร์ ไม่ใช่กรวดน้ำอย่างพุทธศาสตร์
อันที่จริงที่ท่านให้เอาน้ำและก็มารอลงบนมือเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะทำให้จิตของคนที่กำลังจะทำบุญทำกุศลนั้น มีจิตเป็นสมาธิเสียหน่อย ใช่ไหมคะ เพราะจิตนั้นจะจดจ่ออยู่ที่สายน้ำ จุดประสงค์เพียงแค่นั้นเอง เพื่อให้จิตนั้นเป็นสมาธิจดจ่อ เพราะบางคนไปทำบุญ ข้างในนี่มันก็ยังไม่สบาย มันก็ยังสับสนอลหม่าน โยกซ้ายย้ายขวาอยู่นั่นน่ะ เพราะฉะนั้นก็เอาจิตนี่มาอยู่ที่สายน้ำ จิตนี้ก็จะมั่นคงเป็นสมาธิขึ้น เท่านั้นเอง เรียกว่าเป็นกลอุบาย หรือเป็นวิธี
แต่ถ้าหากผู้ที่แน่ใจว่าจิตของเราเป็นสมาธิเพียงพอ ไม่จำเป็นจะต้องเอาแก้วน้ำมา เราก็สามารถจะนึกถึงบุคคลนั้นในจิต ไม่จำเป็นต้องกรวดน้ำโดยวิธีนี้ก็ได้ แต่ใครได้ ผู้ทำได้แล้ว ผู้ที่ทำถูกได้แล้ว มีความอิ่มใจพอใจที่ได้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้นก็ยังได้กระทำสิ่งที่เป็นตัวอย่างต่อบุคคลอื่น ต่อเยาวชนต่อไปอีกด้วย ก็มีความชื่นใจได้ และถ้าผู้ที่ตั้งใจทำให้อยู่ ณ ที่ใด ย่อมมีความสุขเช่นเดียวกัน
ถาม: ทีนี่ก็เรื่องของบารมีนะคะ นี่ก็ แหม เป็นผู้ประหยัดเหลือเกิน ในกรณีที่เราทำ “ค.” และก็ “ดี” นี่ก็เคราะห์ดีที่รู้เรื่องตัวย่อมาบ้าง ก็เลยอ่านว่าความดี เดี๋ยวนี้ล่ะ แหม ตัวย่อมากมายก่ายกองในสังคมทุกวันนี้ ไม่รู้ตัวย่ออะไรต่ออะไร จนกระทั่งคนที่ตั้งตัวย่อเองก็ต้องเปิดสมุดเปิดรหัสนั่นน่ะว่ามันหมายความว่าอะไร นี่ ขนาดเขียนแค่นี้ เขียนไม่ได้แล้วหรือ นี่ คืออะไรทราบไหม นี่คืออิทธิฤทธิ์ของข้อสอบปรนัย ใช่ไหม เพราะคุ้นเคยกับการขีด ขีดผิดขีดถูก หรือว่าโยงคู่กันจนกระทั่งจะเขียนอะไรเพื่อให้มันเป็นความถูกต้องอย่างสมบูรณ์ เป็นภาษาที่สมบูรณ์ เขียนไม่ได้ เสียดายเวลา วอแหวนสระอามออีกสามตัวก็ขี้เหนียวและก็ขี้เกียจ นี่คือแสดงความรีบร้อนของสังคม ของชีวิตคนในสังคมทุกวันนี้ ข้อสอบปรนัยนี่ก็ช่วยให้ภาษาไทยเจริญลงทุกที ๆ และก็เป็นสิ่งที่ทอนสติปัญญาของหนุ่มสาว ของเยาวชนด้วย เพราะว่าไม่มีโอกาสที่ได้จะแสดงความคิดเห็นอย่างใช้สติปัญญาที่ถูกต้องเลย เอาแต่ขีด เอาแต่ขีด มันก็เลยสั้นเข้า ๆ สั้นเข้าทุกทีทุกอย่าง นี่ในฐานะที่เป็นครูเก่านะ พอเห็นอย่างนี้ก็ แหม รู้สึกขัดใจ อยากจะจับมือมาคัด “ความดี” สัก 5 ครั้ง 10 ครั้ง นี่เขาถามเรื่องบารมีว่า ถ้าทำแล้วหวังผลบุญเพื่อให้เกิดผลดีและก็สร้างบารมีในอนาคตหรือชาติหน้า เป็นการทำที่เห็นแก่ประโยชน์ของตนใช่ไหม
ตอบ: ก็ใช่ ทำเพราะหวัง และเชื่อตามที่เขาบอกว่าต้องสร้างบารมีเอาไว้เรื่อย ทีนี้คนที่มีบารมีคือคนที่เป็นอย่างไร นึกสิคะ คนที่เราบอกว่า แหม เขามีบารมีมาก คือเขามีอะไรมาก ความดี เขามีความดีมาก บารมีที่จะอยู่นานแล้วก็จะสามารถเรียกศรัทธาจากผู้อื่นได้ต้องเป็นบารมีที่เกิดจากความดี ไม่ใช่บารมีจากอำนาจหรือว่าจากทรัพย์สินเงินทองหรือว่าจากอื่น ๆ ตำแหน่งการงาน บารมีมีอย่างนั้นมันเป็นบารมีตามสมมุติ มันสิ้นเมื่อไรก็ได้ มันกุดเมื่อไรก็ได้ แต่บารมีของความดีนั้นจะอยู่ยืนนาน ทีนี้ก็ถามว่าการที่จะสร้างบารมีนี้จะทำอย่างไร ก็ทำความถูกต้อง ขอใช้คำว่าทำถูกต้อง ถ้าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะในหน้าที่ใดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อเกิดแก่ตัวเองนะคะ แต่แก่งานและแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าเราทำอย่างนี้ ๆ ทำอย่างนี้ นั่นคือการเรียกร้องศรัทธา ความเชื่อถือ ความไว้วางใจจากผู้อื่น นี่คือการมีบารมี เพราะฉะนั้นวิธีสร้างบารมีอย่างพุทธศาสตร์ก็จงรู้จักการทำหน้าที่อย่างถูกต้องให้มากยิ่งขึ้น ๆ ยิ่งขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน หน้าที่อะไร เล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ
อย่างที่สวนโมกข์นี่ เราก็ เวลาที่ อย่างตัวดิฉันนี่ก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไรให้กับตัวเอง พออะไรเลอะเทอะ เช่น ต้นหมากรากไม้รอบที่พักสกปรก ก็จะต้องไปจ้างคนเขามาช่วยทำ