แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
01:18ผู้ดำเนินรายการ: คุณแม่คะ วันนี้ดิฉันขอเรียนถามคุณแม่ว่า อะไรที่เป็นอุปสรรคไม่ให้เข้าถึงการรู้เห็นตามที่เป็นจริง เช่นไม่รู้ว่าผัสสะเป็นเพียงสิ่งสักว่าเป็นมายา ไม่ใช่สิ่งจริงค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อะไรที่เป็นอุปสรรค ไม่ให้เข้าถึงการรู้เห็นตามที่เป็นจริง ตามที่เป็นจริงอันนี้ก็หมายถึงตามที่เป็นจริงตามธรรมชาตินะคะ แล้วก็ตัวอย่างที่คุณประสบพรถามมาก็เช่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าผัสสะนี่ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า มันเป็นมายา มันไม่ใช่ของจริง แต่ทำไมถึงต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของผัสสะทุกทีใช่ไหมคะ ผัสสะเกิดขึ้น ก็ตามมันไปทุกที เพราะอะไร อะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่ให้เข้าถึงการเห็น การรู้เห็นตามที่เป็นจริง คำตอบที่ในทางธรรมที่ตรงที่สุดก็คืออวิชชา เคยได้ยินไหมคะ อวิชชา วิชชานี่สะกด ช สองตัวนะคะ แล้วก็คำว่าวิชชาก็แปลว่า แสงสว่าง ความรู้ ความรู้ที่เกิดจากปัญญาข้างใน ซึ่งก็เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิต ในทางสมาธิภาวนา การศึกษาใคร่ครวญธรรม จนกระทั่งความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎของธรรมชาติชัดเจนขึ้น ทีนี้พอเติม “อ” เข้าไป อวิชชา ก็คือไม่ ไม่มีวิชชา ก็คือหมายถึงสภาพของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้คืออะไร เพราะว่าหลายคนก็จะบอกว่า จะว่าฉันไม่รู้ได้ไง ฉันรู้สารพัด มีปริญญายาวๆ มีความสำเร็จในการงานมากมาย ได้รับความยกย่องเชื่อถือทั่วไป แล้วจะบอกไม่รู้ได้ยังไง เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า รู้มีความรู้เยอะแยะ แต่ก็ยังปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ คือสิ่งที่ควรรู้นี้จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตมากเลย จะช่วยให้ชีวิต ก็คือมีจิตใจที่มั่นคงหนักแน่น เข้มแข็งมีพลังอย่างที่เราพูดกันแล้วเมื่อคราวที่แล้วนะคะ
ทีนี้สิ่งที่ควรรู้นั่นน่ะคืออะไร ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นกฎของธรรมชาติ ตามคำถามที่บอกว่า ไม่เข้าถึงการรู้เห็นตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรศึกษาให้รู้ ก็คือเรื่องกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติหมายความว่าอะไร ก็หมายความว่า เป็นกฎที่มันเกิดขึ้นในธรรมชาติเอง ธรรมชาติไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นหรอก หรือไม่ได้บอกหรอก ว่านี่คือกฎธรรมชาติ แต่มันมีอยู่ในธรรมชาติ มีอยู่ในเนื้อ ในน้ำ ของธรรมชาติเอง นี่พูดตามประสาธรรม คำธรรมดาๆ มันมีอยู่ในนั้น อย่างที่พอเราจะมองไปในธรรมชาติรอบๆ ตัว เราก็จะเห็นกฎของธรรมชาตินี่ปรากฏอยู่ในนั้น ที่เห็นชัดเจนก็เช่น กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา กฎไตรลักษณ์ก็คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง มองดูต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน น้ำ ฟ้า อากาศ ทุกอย่าง ตลอดจนกระทั่งชีวิต คือตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวคนทั้งหลายที่ว่าๆ กันนี่ มีอะไรเที่ยงบ้าง เราจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาใช่ไหมคะ ความเปลี่ยนแปลงของคน ความเปลี่ยนแปลงของสัตว์ ความเปลี่ยนแปลงของต้นหมากรากไม้ ของฟ้า น้ำ ทะเล ของเหตุการณ์ ของความเป็นไปต่างๆ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยมีความเที่ยงเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นอันนี้แหละ จึงเรียกว่าเป็นกฎของธรรมชาติ ที่มันแสดงตัวให้เห็นอยู่ตลอดเวลาเลย โดยไม่มีใครไปจัดสรรนะคะ จัดสรรไม่ได้ มีเองอยู่แล้ว แล้วก็มีตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอบไม่ได้ มันมีมานับกัปนับกัลป์ เรียกว่ามีสิ่งที่เรียกว่าโลกจักวาลเกิดขึ้นเมื่อใด กฎของธรรมชาติมันก็อยู่ตรงนั้น แล้วก็จะมีต่อไปอีกนานเท่าใด ก็จนกว่าจะสิ้นอะไรไปทุกอย่างกระมัง แต่มันก็คงยังไม่สิ้นอีก เพราะว่ากฎของธรรมชาติมันก็คือธรรมชาติ จะมีอะไรสิ้นอะไรเปลี่ยนแปลง มันก็คงแสดงตัวให้เห็นถึงความเป็นอนิจจังอยู่นั่นเอง ชัดเจนอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นก็จึงบอกว่า อวิชชาคืออะไร อวิชชาก็คือการปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้นะคะ หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ อวิชชาก็คือความไม่รู้ ความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้คืออะไร สิ่งที่ควรรู้คือ กฎของธรรมชาติ เช่นกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎอิทัปปัจจยตา ที่อธิบายบอกว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมมีแดนเกิด คือมีเหตุปัจจัยเป็นที่เกิด ผลอันใดย่อมมาจากเหตุปัจจัยอย่างนั้น ไม่มีสิ่งใดในโลกเลย ไม่มียกเว้นนะคะ ที่จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน หรือว่าเหตุการณ์ หรือว่าเป็นความรู้สึก หรือเป็นอะไรทั้งนั้น ทั้งทางวัตถุและทั้งนามธรรม มันล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของเหตุปัจจัยนี่เป็นเรื่องหลักในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่พุทธบริษัทควรที่จะต้องรู้ต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน ถ้าหากว่าศึกษาเรื่องของเหตุปัจจัย หรือกฎอิทัปปัจจยตาชัดเจนแล้ว จะหยุดการโทษ โทษโน่น โทษนี่ หรือการเพ่งโทษทั้งหลาย แต่จะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เพราะอะไร ฉะนั้นเมื่อมันไม่ถูก ก็แก้ไข ถ้ามันถูก ทำต่อไป แล้วก็ทำให้ดียิ่งขึ้น มันก็จะไม่ทำให้เกิดความปั่นป่วนเกิดขึ้นข้างใน
นอกจากนี้ ก็เช่นอริยสัจ 4 ก็เป็นกฎของธรรมชาติอีกเหมือนกัน เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน ประกอบเหตุปัจจัยอย่างใด มันก็เป็นทุกข์อย่างนั้น อริยสัจ 4 นี้บอกให้เห็นเลย เช่นถ้าในจิตใจเต็มไปด้วยตัณหา มีแต่เพิ่มพูนตัณหา สะสมตัณหา ผลก็คือทุกข์แน่นอนเลย แต่ถ้าหากว่าปรับทิฏฐิเสียใหม่ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เดินตามหนทางของอริยมรรค คือหนทางดำเนินอันประเสริฐ 8 ประการ ที่เป็นหนทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมาแล้ว ทรงประจักษ์แล้ว แล้วก็ทรงนำมาสอนในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่เรียกว่าธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงในวันอาสาฬหบูชา เราพูดกันมาแล้วใช่ไหมคะ นั่นแหละก็ทรงแสดงให้เห็นว่า การดำเนินตามหนทางนี้ ถ้าผู้ใดปฏิบัติดำเนินชีวิตตามหนทางนี้ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นที่ถูกต้อง ในเรื่องของกฎธรรมชาติอย่างที่ว่ามาแล้ว แน่นอนที่สุดเลยจะต้องถึงซึ่งนิโรธ นิโรธก็คือความดับแห่งทุกข์ ความดับของความทุกข์นี้จะแจ้งขึ้นมา จะแจ่มแจ้งขึ้นมาเลย ขอให้เดินต่อไปเถิด เดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไม่ต้องเกรงความเหน็ดเหนื่อย เดินต่อไป นี่มันเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน ความดับทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าความดับของความทุกข์คือความทุกข์นั้นดับลงไปเป็นผล มันเกิดจากไหน ก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ได้ดำเนินตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ 8 คือหนทางของมรรคที่เป็นหนทางอันประเสริฐ ถ้าผลของทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ เกิดเพราะอะไร ก็เพราะจิตที่มีตัณหา สะสมตัณหาเอาไว้ เห็นไหมคะ แม้แต่ในอริยสัจ 4 ก็ยังแสดงให้เห็นถึงเหตุปัจจัย ว่าทุกอย่างมีแดนเกิด ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ แล้วสิ่งที่แสดงเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นก็คืออิทัปปัจจยตา กฎของอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้นสภาพของจิตที่เต็มไปด้วยอวิชชา หรือถูกอวิชชาครอบงำ ก็คือสภาพของจิตที่ไม่เคยใส่ใจ ที่จะสนใจในเรื่องของความรู้ ในเรื่องกฎของธรรมชาติ จึงเป็นจิตที่มีลักษณะมืด ตื้อตัน คือมันตื้อไปหมด มันตันไปหมด มันหาทางทะลุออกไปให้พ้นจากความมืดไม่ได้ ตื้อตันต่ออะไร ก็ตื้อตันต่อความรู้ที่ถูกต้อง ต่อการกระทำที่ถูกต้อง มันเป็นความมืดอย่างที่บอกว่า แสงสว่างใดๆ ก็ส่องเข้าไปไม่ถึง จะอาศัยแสงไฟที่สว่างจ้าที่สุดในโลก ไม่รู้ว่าอะไร จะสปอร์ตไลท์ขนาดไหนก็ตาม ส่องไม่ถึงจิตที่มีอวิชชาครอบงำ มันน่ากลัวมาก จะสังเกตได้อย่างไร ว่าจิตใดนี่ เป็นจิตที่อยู่ในสภาพของการถูกครอบงำของอวิชชา ก็สังเกตได้จากการที่ต้องการทุกอย่างทุกสิ่งให้เป็นไปอย่างใจฉัน นี่แหละถ้าหากว่าพุทธบริษัทท่านใด ยังคงเปล่งวาจาแต่ฉัน ของฉัน ต้องเอาอย่างใจฉัน ต้องอย่างนี้ ฉันว่าอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ โปรดรู้เถิด ขณะนั้นกำลังปล่อยให้อวิชชาเข้าครอบงำจิตแล้ว เพราะการที่จะเอาให้ได้อย่างใจฉันนี่ใช่ไหม ที่ทำให้ใจปั่นป่วน ความปั่นป่วนเกิดขึ้นภายใน ขณะที่บอกว่าฉันจะเอาอย่างนี้ ใจสงบไหม เย็นไหม นิ่งไหม ปั่นป่วนแล้วใช่ไหม ปั่นป่วนด้วยความขัดเคือง ด้วยความคาดหวัง ด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียความหวัง จะไม่ได้อย่างที่ต้องการ ตามที่หมาย เพราะฉะนั้นความปั่นป่วนเกิดขึ้นแล้ว การเบียดเบียนตนเองเกิดขึ้นแล้ว นี่ก็เวทนาคือความรู้สึก มันเกิดขึ้นแล้วในใจ ทำไมล่ะ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็จะเอาให้ได้อย่างใจของฉัน ก็ยึดมั่นในฉัน ในตัวฉัน ในของฉัน เพราะฉะนั้นอะไรที่ออกจากของฉันไป มันต้องถูกเสมอ มันต้องดีเสมอ มันต้องใช้ได้เสมอ แล้วสิ่งนี้มีกันทุกคนนะคะ มากบ้างน้อยบ้าง ถ้าฝึกฝนอบรมขัดเกลาไป มันก็จะค่อยๆ บางเบา เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก คุณแม่เองก็ผจญกับมันมาตลอดเวลา เวลานี้ก็ยังพยายามที่จะต้องต่อสู้เพื่อจะขัดเกลา เพราะรู้แล้วว่ามันคือต้นเหตุ ถ้าตราบใดที่จะยังเอาใจของฉันอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องใดสิ่งใดก็ตาม ถ้าต้องการเต็มร้อย เอาให้ได้เต็มร้อยอย่างใจของฉัน อวิชชาเข้าครอบงำเต็มดวงใจ มืดสนิท ถ้าลดเปอร์เซ็นต์ลงมาได้บ้าง เพราะฝึกอบรมไป ก็ลดเปอร์เซ็นต์ลงมาได้บ้าง ก็ยังจะพอมีแสงสว่างสาดส่องเข้าไปเจือปนอยู่ในใจ ถ้าเมื่อใดยอมรับใจของผู้อื่นบ้าง คือผู้อื่นก็บอกว่า ฉันจะเอาอย่างนี้ ผมต้องการอย่างนี้ ยอมรับ ยอมฟัง ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ประนีประนอมได้ อวิชชาก็จะจางคลาย แล้ววิชชาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น คือนี่มันแสดงถึง เมื่อจางคลายนี่ก็แสดงถึง ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของตัวฉัน มันลดลง มันถึงได้ยอมรับของผู้อื่นได้ เริ่มมีการแบ่งปัน แม้จะไม่ได้แบ่งปันกันด้วยเงินด้วยทอง แต่แบ่งปันด้วยการยอมละลดทิฏฐิของเรา ที่จะรับความเห็นของผู้อื่น คือรับทิฏฐิของผู้อื่นบ้าง ความรู้ของผู้อื่นบ้าง การกระทำของเขาบ้าง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็แสดงว่าเป็นการลดละลง ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้เป็นข้อสังเกตของตนเอง ว่าจะสังเกตว่า เอ๊ะของเรานี่มันยังมีอยู่มากน้อยเพียงใด คืออวิชชานี่มันเข้าครอบงำอยู่ในใจของเรามาก หรือวิชชากำลังมีมากขึ้น ก็ให้สังเกตเอาได้ด้วยวิธีนี้ แต่เมื่อใดที่ว่าฉันๆ นี่ ยังดังฟังชัดเหลือเกิน ก้องกังวานว่าจะต้องฉันอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะนั่งเก้าอี้ตัวโตแค่ไหนก็ตาม ก็จงทราบเถิดว่า กำลังมีอวิชชาเป็นนายเหนือใจ เหนือหัวก็เหมือนเหนืออยู่ในใจ ครอบงำอยู่ในใจ
แล้วถ้าหากว่า ใจที่เต็มไปด้วยฉันนี่ ล้นไปด้วยอัตตาของตัวฉัน ไปนั่งที่ตรงไหน ร้อนที่นั่น ตัวเองร้อน แต่ไม่รู้ แล้วก็เอากระจายความร้อน เอาความร้อนกระจายไปทั่วไปหมดเลย เพราะฉะนั้นตอนนี้คนอื่นที่ถูกความร้อน ที่รับความร้อนจากอัตตาตัวฉัน ตัวโตๆ นี่ ก็ต้องรู้วิธี รู้วิธีที่จะทำอย่างไรต่อผัสสะที่มันมากระทบ ถ้าหากว่าลองฝึกฝน แก้ไขอย่างที่เราได้พูดกันมาเมื่อคราวที่แล้ว ก็จะผ่อนเบา แล้วความร้อนอันนั้น ก็จะไม่มาเผาไหม้เรา ก็เผาไหม้ตัวใหญ่นั่นแหละ ตัวตนที่ใหญ่ๆ นั่นแหละ เผาไหม้ไปเถอะ เพราเหตุว่าปั่นป่วนว่าไม่ได้อย่างฉัน เพราะฉะนั้นเรื่องของตัวตนนี่น่ากลัวมากเลย ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งทุกข์เท่านั้น ลดลงได้ก็จะเบาบาง แล้วก็จะมีความสุข เยือกเย็น ผ่องใสเกิดขึ้นตามนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของอวิชชา อวิชชา “ช” 2 ตัวนี่ ต้องศึกษา ต้องศึกษา ต้องทำความเข้าใจกับมันให้ชัดเจน ให้มองเห็นความร้ายกาจ หรือว่าโทษทุกข์ของอวิชชานี่ให้มากๆ ว่ามันมีอิทธิพลที่จะทำให้จิตนี่เห็นผิดไปด้วยประการต่างๆ เหมือนอย่างที่โบราณท่านพูดว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นี่แหละอวิชชาครอบงำเมื่อไหร่ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เช่นเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี เห็นได้เป็นเสีย เห็นเสียเป็นได้ อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิโดยตรง และมิจฉาทิฏฐินี้ก็ขอพูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ได้หมายความว่า จะไปเป็นมิจฉาชีพ เป็นคนเกะกะเกเร ลักเล็กขโมยน้อย หรือว่าไปก่ออาชญากรรม แต่หมายถึงทิฏฐิที่คิดผิดเห็นผิด เพราะเห็นเอาตัวฉันนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็ยึดมั่นในตัวฉัน แล้วก็ปั่นป่วนเป็นทุกข์เพราะตัวฉัน แล้วถ้าเผอิญไปเป็นผู้ที่อยู่ในเก้าอี้สำคัญๆ ก็จะเอาความร้อนของตัวเองไปแผ่กระจายให้คนอื่นไปด้วย ก็ทำให้เกิดปัญหาทั่วกันไปหมด เรียกว่าถ้าอัตตาเล็กมันก็ทุกข์น้อย อัตตาใหญ่ก็ทุกข์มาก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นลูกน้องตัวเล็กๆ นี่ หรือเป็นสมาชิกเล็กๆ ของครอบครัว จะไม่มีอัตตา มีอัตตาใหญ่ได้เหมือนกัน แล้วก็ผู้ที่นั่งในเก้าอี้ตัวใหญ่ๆ และเป็นคนสำคัญๆ จะมีอัตตาใหญ่เสมอไปก็หามิได้ ที่มีอัตตาตัวตนเล็กก็มีเหมือนกัน ถ้าท่านผู้นั้นได้ศึกษาและรู้แล้วว่าอวิชชามันคืออะไร และสิ่งที่ควรจะต้องเพิ่มให้มีคือวิชชา เพื่อจะให้แสงสว่างเกิดขึ้นในใจ แล้วก็ละลาย ละลายความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนให้ลดลง
ฉะนั้นที่พูดนี้ก็พูดตามหลักของธรรมะที่มันเป็นดำเนินไปอย่างนี้ แต่ควรจะได้ทราบเพื่อที่จะแก้ไขแล้วก็ผ่อนปรน เพื่อให้ความทุกข์นั้นลดลง การเบียดเบียนตัวเองลดลง ฉะนั้นความร้ายกาจ หรือโทษทุกข์ของอวิชชานี่มันเป็นถึงอย่างนี้ มันทำให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี เห็นได้เป็นเสีย เห็นเสียเป็นได้ เหมือนอย่างเช่นการเล่นการพนัน เห็นว่าการเล่นการพนันเป็นของดี เพราะเล่นแล้วมันได้ เพราะมีศิลปะต่างๆ ในการที่จะเอาเปรียบผู้ที่เล่นการพนันด้วยกัน และเป็นของดี เห็นว่ามันเป็นของดี เพราะว่าเราได้ แต่แท้ที่จริงแล้วคือไม่ใช่ของดี อย่างที่ทุกท่านก็รู้กันอยู่แล้ว แต่เพราะเห็นผิดเป็นถูก เห็นชั่วเป็นดี ก็เลยไปคิดว่ามันเป็นดี แท้ที่จริงแล้วมันทำให้ชีวิตนี้ห่างไกลจากสิ่งที่เป็นมงคลแก่ชีวิตไปหลายอย่างทีเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องของการพนัน หรือเรื่องของอบายมุข จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรส่งเสริม ถึงแม้ว่าจะทำรายได้อะไรให้ก็ตาม แต่ว่ามันทำลายเสียให้เกิดขึ้นแก่บุคคลและสังคม และก็เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเป็นอันมากทีเดียว เพราะฉะนั้นความร้ายกาจหรือโทษทุกข์ของอวิชชานี้ พูดได้ว่ามีอิทธิพลให้จิตเห็นผิดเป็นชอบ ไปด้วยประการต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือกระทำให้เป็นจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งตรงกันข้ามกับสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นหนทางดำเนินไปสู่ความดับซึ่งความทุกข์ มันก็จะมีแต่การเพิ่มทุกข์ถ้าจิตนั้นเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะฉะนั้นผลที่มองเห็นก็คือเบียดเบียนตนเองให้เกิดทุกข์ตลอดเวลา แต่กลับไปเห็นว่าถูกผู้อื่นเบียดเบียน อย่างนี้เป็นต้น ทำชีวิตให้มีปัญหา ตัวเองมีปัญหา แล้วก็ยังก่อปัญหาไปถึงผู้อื่น ส่วนรวม สังคม ครอบครัว แล้วเราก็จะสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่มีปัญหา ที่บอกว่าครอบครัวนี้มีปัญหา ตัวหนังสือว่าครอบครัว หรือป้ายครอบครัวมันไม่มีปัญหา แต่คนในครอบครัวน่ะมีปัญหา มีปัญหาเพราะอะไร ก็เพราะไม่สามารถจะดำเนินตามหนทางของมรรค หนทางดำเนินอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอน หรือสังคมมีปัญหา ก็เพราะคนในสังคมนั่นแหละ ปล่อยให้จิตใจนี้ถูกครอบงำด้วยอวิชชามากกว่าวิชชา เมื่อคนมีปัญหา สังคมอยู่ได้เพราะคน คนนี่แหละสร้างสังคม พยุงสังคม ประคับประคอง จะให้สังคมไปในทางไหนมันก็อยู่ที่คนสมาชิกของสังคมนั้น เพราะฉะนั้นอวิชชาจึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้รู้จักให้ชัดเจน เพื่อจะได้รอดพ้นจากการเป็นทาสของมัน เพราะฉะนั้นตลอดพรรษานี้ควรปฏิบัติตนอย่างไร ก็คือฝึกอบรมการหยุดการเบียดเบียนตนเองนะคะ พยายาม พยายามทำให้ได้ ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา ตามที่ได้ฝึกได้เล่าเรียนมาแล้ว ศึกษาให้รู้จักเรื่องของกิเลสให้ละเอียดชัดเจน ให้เห็นว่าทุกข์เกิดเพราะใจแพ้ต่ออำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็หมั่นอบรมใจให้เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว มั่นคง จนอยู่เหนือกิเลส ตัณหา อุปาทานได้ ไปตามลำดับ ให้มันได้ไปตามลำดับ ไม่ได้ทั้งหมดหรอกก็ไม่เป็นไร แต่ให้ได้ตามลำดับ แล้วก็ฝึกใจให้รู้จักใคร่ครวญในกฎของธรรมชาติ คืออริยสัจ 4 ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา ให้ลึกซึ้งจนชัดแจ้งไปตามลำดับ ก็จะรู้สึกว่าทั้งพรรษานี้เป็นพรรษาที่มีคุณค่า มีความหมาย แล้วก็จะสามารถอยู่เข้าพรรษาไปได้จนตลอดชีวิตของเรา ซึ่งจะเป็นชีวิตที่เป็นมงคลและเป็นชีวิตที่นำความสุขที่แท้จริงมาสู่อย่างแน่นอน