แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
แต่ถ้ารักษาความสงบในใจไม่ได้ เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความรำคาญ ก็แน่นอนล่ะมันจะต้องสูดเอาๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะสูด เราก็ต้องใช้สติปัญญาแก้ไข เหมือนอย่างบางทีเรานั่งรถแท็กซี่ ถึงอยู่บ้านนอกนี่ อากาศดีกว่าในเมือง แต่ก็มลภาวะก็ไม่พ้น จ้างรถแท็กซี่เสียเงินแล้ว รถแท็กซี่ก็เห็นแก่ตัว ไม่ดูแลเครื่องเคราของตัวให้เรียบร้อย ปล่อยควันไอพิษนั่นแหละเข้ามาในรถ คนนั่งทั้งๆ ที่นั่งในรถ รถแอร์ แต่ก็ต้องสูดไอที่มันส่งเข้ามาในรถ แล้วเราทำไง เราก็ต้องใช้วิธีเปิดกระจกยื่นจมูกออกไป หายใจอากาศข้างนอกเข้ามาสักหน่อย เสร็จแล้วก็ปิดกระจกกลับเข้ามาอยู่ข้างในตามเดิม แล้วประเดี๋ยวก็เปิดกระจกยื่นจมูกออกไปหายใจ นี่เราก็ใช้แก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เผอิญมันเกิดมาในสังคมที่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นที่เราพูดเรื่องความเห็นแก่ตัว พูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท ไม่ใช่พูดเล่นๆ เราพูดกันจริงๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าวิธีที่จะแก้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้มีวิธีเดียวที่เราจะต้องช่วยแก้ปลายเหตุ พร้อมกับเริ่มแก้ไขที่ต้นเหตุ เพื่อให้งานที่จะต้องแก้ไขปลายเหตุลดลง
01:43คำถาม:นี่ก็คำถามที่ว่าบทบาทนักศึกษาที่จะประท้วงความไม่ถูกต้องในสังคม แล้วก็แนะนำให้ใช้สัปปุริสธรรมพิจารณาตน
ตอบ: ก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิด การที่จะใช้สัปปุริสธรรมไม่ใช่พิจารณาข้อเดียว โปรดเข้าใจนะ ต้องพิจารณาทั้งเจ็ดข้อ แล้วเจ็ดข้อนั้นมันประสมกลมกลืน มันเหมาะเจาะกัน แล้วถ้ากระทำ นั่นแหละมันจะถูกต้อง แล้วผลมันจะถูกต้อง ไม่ใช่ดูแต่เรื่องของตนเรื่องเดียว ทุกอย่างมันต้องเข้ามารวมกันหมดอย่างเหมาะเจาะ ทีนี้คำถามก็เห็นว่าการที่จะไปประท้วงนี่มันถูกต้องล่ะ เพราะมันเหมาะเป็นการแสดงพลังประชาชน เรียกร้องความเป็นธรรม เห็นชัดในหลักการของเรา นี้ของเขาล่ะ อย่าลืมว่าต้องมองดูประชุมชนและข้อหก มองดูบุคคลที่จะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แต่ละจุดที่เป็นคีย์ เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าการใช้สัปปุริสธรรมนั้นต้องใช้ใคร่ครวญทั้งเจ็ดข้อ เหมือนอย่างตัวอย่างที่ยกให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของการมีชีวิตคู่ เราไม่ได้ดูข้อใดข้อหนึ่ง เราดูทุกข้อ แล้วเราก็พยายามมองว่าเหตุผลในแต่ละข้อๆ มันเป็นอย่างไร คือเหตุปัจจัยของแต่ละข้อ มันเหมาะเจาะ มันถูกต้อง มันเป็นไปได้ จึงลงมือทำ ถ้ามันยังไม่ถูกต้อง เราก็คอยจังหวะ คอยจังหวะเพื่ออะไร เพื่อว่าสงวนเวลา สงวนกำลัง สงวนชีวิต ไว้โอกาสเหมาะที่จะได้ทำงานที่มันมีผลสัมฤทธิ์ผลที่เห็นชัดกว่า มันจะมีความสัมฤทธิ์ผลที่ชัดกว่า มันจะมีความสำคัญมากกว่า มันจะมีความที่จำเป็นยิ่งยวดกว่า หรืออย่างเราดูอย่างที่มีกลุ่มน้ำใจขึ้นมา นี่ก็ไม่ใช่ว่ามาเชียร์กลุ่มน้ำใจหรืออะไร แต่พูดไปตามเนื้อผ้า กลุ่มน้ำใจก็เป็นกลุ่มของนิสิตนักศึกษาที่หลายคนก็คุ้นเคยกับการประท้วงด้วยวิธีการที่เคยทำกันมา แต่เราก็จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้การประท้วงยิ่งมีความหมายน้อยลง หรือพลังที่ว่ามีนี่มันก็ไม่ค่อยจะหนักแน่นมั่นคงเข้มแข็งเหมือนเมื่อก่อนๆ โน้น เพราะฉะนั้นถ้าเรามามองดูว่าการประท้วงแบบนี้ที่เราเคยทำนี่ แล้วจะมีวิธีอื่นอีกไหม กลุ่มน้ำใจก็มาลองดูว่า เราก็ประท้วงเหมือนกันแต่เป็นการประท้วงด้วยธรรมะ และการประท้วงด้วยธรรมะนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องประท้วงด้วยกำลังข้างนอก แต่เป็นการประท้วงด้วยกำลังข้างใน อย่างที่จัดการให้มีการอบรมอานาปานสติ นี่ก็เพื่อให้คนหนุ่มสาวได้มีโอกาสที่จะมาฝึกพลังจิต แล้วก็จะได้รู้ด้วยว่าจุดยืนของชีวิตไม่ว่าจะทำกิจการใด จุดไหนคือจุดที่ถูกต้อง และจังหวะที่สมควรแก่การกระทำคือจังหวะไหนและเมื่อไหร่ นี่เรามาฝึกเพื่อเราจะประท้วงให้ถูกต้อง ประท้วงโดยธรรม และเมื่อประท้วงอย่างนี้แล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมาอย่างชัดแจ้งยาก ใครที่จะมาขัดแย้งธรรมะนี่ขัดแย้งยาก และการประท้วงอย่างนี้จะเป็นการประท้วงที่พร้อมด้วยเหตุด้วยผล เพราะใช้สติปัญญาเต็มที่ในการประท้วง และคนที่จะเข้าไปประท้วงทุกคนรู้ว่าจะทำเพราะอะไร ไม่ใช่เพียงเพราะถูกเรียก ถูกชักชวน หรือว่าจูงใจด้วยประการใด เพราะฉะนั้นการใช้สัปปุริสธรรมนะคะต้องใช้ทุกข้อ
05:51คำถาม: นี่ที่พูดเรื่องตีนหนาหน้าบางแล้วคำถามก็มี พูดง่ายๆ ก็คือว่ามีเพื่อนที่เห็นแก่ได้ อยากแต่จะได้ เห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่รู้จักให้ใคร แล้วก็มาเป็นเพื่อนกัน เพื่อนสนิทด้วย แล้วผู้ถามก็รู้สึกแห้งแล้งในใจ
ตอบ: ก็แล้วไปคบเป็นเพื่อนทำไม เอาคนอย่างนั้นมาเป็นเพื่อนทำไม เพื่อประโยชน์อะไรให้ใจเหี่ยวแห้ง เพราะฉะนั้นก็เมื่อประจักษ์อย่างนี้แล้ว ก็ควรจะห่างๆ เสียบ้าง ถ้ารู้จักใช้สติปัญญาของเราก็ห่างๆ เสียบ้าง ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพื่อนสนิท หรือว่าไม่มีใครคบแล้ว ถ้าหากว่าเราเป็นผู้มีธรรม เราเป็นคนที่ไม่ได้เห็นแก่ตัว ไม่ต้องกลัวเลยว่าเราจะไม่มีเพื่อนถ้าเรามีน้ำใจต่อผู้อื่น หรือถ้ารู้สึกว่ายังเป็นคนที่พอจะแนะนำได้ ก็อาจจะพูดกับเขาอย่างในฐานะมิตรหรือกัลยาณมิตร ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำนี่ระวังนะ ถ้าทำกับเรานี่เราเป็นเพื่อนกัน เราชอบไม่ชอบเราก็ยังเก็บเอาไว้ในใจ แต่ถ้าไปทำกับคนอื่นที่เขาไม่ใช่เพื่อน เขาก็จะเอาไปนินทาว่าร้ายต่างๆ แล้วเราก็เป็นผลเสียหายมีแต่ถูกเขาสบประมาท อันนี้เราก็อาจจะพูดให้เขาฟัง ถ้าพูดให้เขาฟังเขาเห็นว่าเราไม่หวังดีกับเขา ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ห่างๆ กันเสีย จิตใจจะได้สดชื่นขึ้น ที่จริงอันนี้จากในหนังสือเรื่องผู้ดีของดอกไม้สด แต่ว่าคนหนุ่มสาวเดี๋ยวนี้ยังอ่านหนังสือดอกไม้สดกันบ้างไหม มีบ้างไหม จำได้ไหมว่าวิมลเขามีคติ เขาจำมาจากเจ้าคุณพ่อว่ายังไง ว่าถูกใครขอๆๆ อย่างในเรื่องนั่นนายสุดใจเขาคนช่างขอ เมื่อหน้าด้านขอก็ไม่หน้าด้านพอที่จะไม่ให้ นั่นตอนที่สุดใจมาขอเสื้อตัวสวยของวิมล ซึ่งวิมลตั้งใจจะเก็บไว้ แต่สุดใจนี่ไม่ได้ชอบวิมลเลย นินทาว่าร้ายสารพัดลับหลัง แต่ก็อยากได้ของเขา วิมลเขาก็ไม่ได้อยากให้หรอก แต่เขาบอก เอาเถอะ ถ้าเธออยากจะได้ เดี๋ยวก่อนจำได้ไหมเจ้าคุณพ่อเคยพูดว่าอะไรเวลาใครมาขอของท่าน ไหนลองว่าให้ฟัง แล้วสุดใจก็ว่าให้ฟัง คนหน้าด้านขอก็ไม่หน้าด้านพอที่จะไม่ให้ แล้ววิมลก็บอก เอาเถอะ เสื้อตัวนี้เป็นของเธอแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถึงที่สุดจะลองใช้คติของวิมล วิมลก็คงไม่หวงห้าม
08:40คำถาม: การใคร่ครวญธรรมที่ได้ฟังมา โดยคิดถึงอดีตของตนที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างในการใคร่ครวญเพื่อเห็นชัดเจนมากขึ้น ไม่ทราบว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่
ตอบ: ถ้ามีสติกำกับในขณะใคร่ครวญก็ได้ แต่ถ้าไม่มีสติกำกับ สังขารการปรุงแต่งมันจะเข้ามาแทรกแซง
09:06คำถาม: คำถามต่อไปว่าถ้ามีความรู้สึกว่าตัวเองชอบงานศิลปะ เช่นการวาดรูป แต่ขณะเดียวกันการลงมือวาดรูปจะทำให้เกิดความคิดฟุ้งกระจายและหนักอึ้ง ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น
ตอบ: ทำไมศิลปินทุกคนนี่พอจะเริ่มทำงาน แทนที่จิตใจแจ่มใสเบิกบานได้ทำงานที่ตัวชอบ ทั้งงานที่มีศิลปะอันสุนทรีย์คืองดงามจรรโลงใจ กลับหนักอึ้งฟุ้งกระจาย มันไม่น่าจะใช่ มันน่าจะเป็นความรู้สึกของคนที่จิตใจระส่ำระสายมากกว่า ไม่น่าจะใช่ของศิลปิน เพราะศิลปินถ้าเขาลงมือจะทำ ศิลปินที่มีสติสมาธิ จิตเขาจะจดจ่อเลย เขารู้ว่าเขาจะเขียนภาพอะไร จะเขียนภาพพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ก็ไปนั่งจ้องดูตรงจุดที่จะได้เห็นภาพพระอาทิตย์ที่งามที่สุดที่เขาจะได้เขียน หรือจะเขียนภาพวิวป่า ภาพชายทะเล หมู่บ้านชาวประมง เขาก็จะไปนั่งตรงนั้น แล้วเวลาเขาเขียนออกมาหมู่บ้านชาวประมง เราไปยืนใกล้ๆ ดูภาพเขา ความเก่งของเขานี่ เรารู้สึกเหมือนกับได้กลิ่นไอน้ำเค็ม กลิ่นคาวปลา ที่เขาไปจับเอามานี่จากหมู่บ้านชาวประมง ออกมาจากภาพนั้นเลย นี่แสดงถึงว่าจิตเขาไม่ได้ฟุ้งไปไหน จิตเขาจดจ่ออยู่กับจุดที่เขาจะเขียน เขาจึงสามารถที่จะบรรยายภาพด้วยฝีมือของเขาออกมาเป็นจริงจังถึงแค่นั้น เพราะฉะนั้นถ้าศิลปินหรือผู้ที่จะเป็นศิลปินคนไหนมีความรู้สึกอย่างนี้นะคะ ข้อแนะนำก็คือฝึกสมาธิให้มากขึ้น ให้สม่ำเสมอ
10:54 คำถาม: คำถามต่อไป เราคิดว่าเราชอบเอาชนะคนด้วยคำพูด คือคิดว่าเราเก่ง เราถึงเอาชนะคนด้วยคำพูด
ตอบ: นี่ก็คงรู้เหมือนกันละว่ามันไม่เกิดประโยชน์อะไรถึงได้ถาม เพราะฉะนั้นเราควรมีวิธีแก้ไขตนเองอย่างไรนอกจากนิ่งเงียบ และในการเงียบบางทีก็ไม่ทำให้สงบได้เพราะใจมันคุ้นเคยกับการพูด คือมีอนุสัยในการพูดก็พูด ใจก็ไม่สงบ ก็ใช้ลมหายใจสิ แทนที่จะพูดก็เอาจิตมาอยู่กับลมหายใจ นอกจากนี้ก็อาจจะบอกตัวเองว่า เอาเถอะ เราหัดทำบุญบ้าง ไม่ต้องลงทุน คือทำบุญด้วยการฟัง รู้ไหมว่าสิ่งที่ขาดมากในสังคมทุกวันนี้คือคนฟัง คนพูดนี่เยอะเลย คนพูดนี่มากมายก่ายกองแต่หาคนฟังยาก เพราะฉะนั้นเราทำบุญเสียบ้างด้วยการฟัง ยอมฟังเขา นี่เป็นการทำบุญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนที่อยากระบายก็เปลี่ยนเสีย บางทีจะช่วยให้เราพูดน้อยลง
คำถาม: ขณะนั่งสมาธิก็คิดถึงเหตุการณ์ในอดีต เช่นขณะที่กำลังทำงานอยู่คือเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น เช่นเวลาที่ทำงานก็จะมีเพื่อนๆ คอยกวนตลอดเวลา ยืมของบ้าง จะเอาสิ่งนั้นบ้าง จะเอาสิ่งนี้บ้าง ไม่ให้ก็ดูไร้น้ำใจ แต่เราเองก็อยากรีบทำงานให้เสร็จ บางทีให้ไปแล้วก็ยังไม่รักษาของนั้น ไม่รับผิดชอบ ไม่คืน ทำหาย ถามเข้าก็ไม่พอใจ จะมีวิธีแก้ไขเพื่อนคนนี้ได้อย่างไร
ตอบ: ก็เหมือนกับเพื่อนคนเมื่อสักครู่นั่นแหละ เพราะมีความรู้สึกไม่ดีต่อเพื่อนคนนี้ตลอดเวลาที่พบหน้า ทำให้ใจเป็นทุกข์ ก็นี่ก็อีกเหมือนกัน แล้วต้องไปดูหน้าเขาทำไม ต้องไปพบหน้าเขาทำไมบ่อยๆ ในเมื่อใจเป็นทุกข์ ทำไมไม่หลีกเลี่ยงเสีย ฉะนั้นข้อแนะนำก็ลองมานึกว่า เรานี่เป็นไงเพื่อนเขาถึงไม่เกรงใจ อยากจะเข้ามาขออะไร อยากจะเข้ามายืมอะไร อยากจะเข้ามากวนเมื่อไหร่ ทำไมไม่ดูกาลเทศะ เราเป็นยังไงเขาจึงไม่เกรงใจ ลองมาดูแก้ไขตัวเรา แล้วก็ทำตัวเรา เรียกว่าเปลี่ยนกิริยาท่าทางหรือพฤติกรรมของเราให้เพื่อนรู้จักมีความเกรงใจขึ้น เขาจะได้รู้จักจังหวะโอกาส นอกจากจะทำเหมือนอย่างกับเพื่อนคนนั้นที่พูดไปแล้วนะคะ นอกจากนี้การที่ให้ไม่ให้นี่ กลัวว่าจะไร้น้ำใจ ก็อยากจะบอกว่าน้ำใจนี่ดี แต่ถ้าน้ำใจนั้นฟุ่มเฟือยเกินไป มันจะกลายเป็นน้ำท่วมหัวใจของคนนั้นเอง เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา การที่เกรงใจนี่นะคะลองนึกดูว่าอะไรเกรง ก็คือตัวนี่ล่ะเกรงใช่ไหม กลัวว่าเขาจะว่าไม่ดี กลัวเขาจะว่าไม่มีน้ำใจ ก็เลยต้องมีน้ำใจสักหน่อย ทั้งที่ใจไม่ได้อยากมีน้ำใจ เพราะอะไร ก็เพราะบอกว่ามันทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ทำในสิ่งที่ถูกต้องดีกว่า
14:17 คำถาม: เวลาดูหนังอ่านหนังสือเกิดอารมณ์ร่วมง่ายมาก บางครั้งก็ร้องไห้ฟูมฟาย จนเขาคิดว่าโอเว่อร์ ก็เว่อร์ๆ นะ บางตอนคนอื่นเขาดูเฉยๆ เราก็สะเทือนใจมาก เหมือนอย่างเรื่องเวลาในขวดแก้วนั่น พอเอามาพูดอีกก็รู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วม ถ้าไม่มีอารมณ์ร่วมละมันไม่คุ้ม ในใจรู้สึกว่ามันไม่คุ้มกับการดู ไม่คุ้มกับการอ่าน แล้วก็อีกอย่างหนึ่งรู้สึกว่าการมีอารมณ์ร่วมอย่างนี้เป็นการซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ของตัวเอง นี่ล้วนแล้วแต่ดีๆ ทั้งนั้นเลยที่ไม่ได้เสแสร้ง แต่ว่าเมื่อดูหรืออ่านจบ คือหลังจากที่ร้องไห้หัวเราะเสร็จแล้วนะ ก็ไม่ได้เก็บมาคิดกลุ้มใจ แล้วถ้าเรื่องไหนมีอารมณ์ไวได้มากก็รู้สึกประทับใจเรื่องนั้นมากเป็นปกติ อย่างนี้ผิดปกติเรื่องเวทนาไหม
ตอบ: ก็คงตอบตัวเองว่าผิดหรือไม่ผิดปกตินะคะ ก็อยากจะแนะนำว่าเมื่อจะอ่านหนังสือ ดูละคร หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำไมถึงจะเอาแต่เพียงหัวเราะและร้องไห้ ทำไมไม่นำมาเป็นข้อคิด หรือเป็นแบบฝึกหัดในการปฏิบัติทางจิต หรือการพัฒนาชีวิตของตัวเองบ้าง มันจะได้ประโยชน์ที่แท้จริงมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นก็ควรจะฝึกผัสสะในปฏิจจสมุปบาทให้มาก หนังสือที่อ่านหรือเรื่องที่ดูนั่นน่ะมันก็เป็นผัสสะ แล้วก็หยุดการตามใจตัวเองสักที หยุดหลงตัวเองสักทีว่าการร้องไห้หัวเราะอย่างนี้ดี แสดงว่าฉันนี่อารมณ์ศิลปิน เพราะฉะนั้นอะไรล่ะมันติดใจประทับใจง่าย ไม่ใช่นะคะ แก้ไขเสีย
16:11 คำถาม: ถ้าเราเป็นคนเฉยสามารถรับได้หมดทุกสถานการณ์ด้วยใจสงบ จะเรียกได้ว่าเราปล่อยให้ใจไหลไปตามกิเลสใช่หรือไม่
ตอบ: แหม นี่ทำไมถึงมาเข้าใจอย่างนี้เอาวันสุดท้ายแล้วนะ การที่สามารถทำใจสงบได้นี่ หมายความว่าใจนั้นอยู่ใต้อำนาจของกิเลสหรือเปล่า มันอยู่เหนือสิคะ ใจมันถึงสงบได้ ถ้ามันอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ไปตามกิเลสแล้วล่ะก็ มันต้องหวั่นไหว หวั่นไหว สะทกสะท้าน ตื่นเต้น หรือว่าเจ็บปวดไปตามอำนาจของผัสสะที่กิเลสมันเข้ามาครอบงำในขณะนั้น นี่ยังเข้าใจไม่ชัดอีกเหรอ ถ้าตามใจกิเลส การที่เรามาทำอย่างนี้เราฝืนกิเลสไม่ใช่ตามใจกิเลส หรือใครคิดว่าการที่จะควบคุมใจให้สงบระงับนี่มันทำง่าย พอใครเขาด่าเข้าสักทีนึงก็เฉย ใครเขาจะไปนินทาให้ร้าย เฉย ใครเขาจะเอากลิ่นอะไรเหม็นๆ มาโปะจมูก เฉย ใครทำได้ มันไม่เฉยหรอก พอมันเป็นอย่างงั้นเข้ามันพร้อมที่จะปฏิกิริยาตอบไปทันที เพราะฉะนั้นนี่คือการฝืนควบคุมบังคับใจให้อยู่เหนือกิเลส เพราะประจักษ์แล้วในสัจธรรม คือกฎของธรรมชาติ
17:49 คำถาม: จำเป็นไหมที่จะต้องออกบวชเพื่อบรรลุธรรม
ตอบ: ไม่จำเป็น ถ้าเรามีจิตใจเข้มแข็งพอ แล้วก็รู้วิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง แล้วก็หมั่นพากเพียรกระทำอย่างสม่ำเสมอ อยู่บ้านได้ ทำงานได้ พร้อมกับประพฤติธรรมไปด้วย
18:04 คำถาม: การมีชีวิตคู่จะผิดต่อศีลแปดหรือไม่
ตอบ: ถ้าคิดจะแต่งงานก็รับศีลห้าพอ แล้วก็ถ้าดำเนินชีวิตคู่อย่างที่เราพูดกันแล้วเมื่อวานนี้ ก็จะเป็นการดำเนินชีวิตคู่อย่างมีจุดมุ่งหมาย แล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร
คำถาม: ในกรณีที่จะรักษาศีลแปดตลอดชีวิต จำเป็นไหมที่ต้องประพฤติพรหมจรรย์
ตอบ: แน่นอน อ๋อ จะผิดต่อศีลแปดไหม ในกรณีที่จะรักษาศีลแปดตลอดชีวิตแล้วก็จะมีชีวิตคู่ด้วย ก็แน่นอน ไม่ควร ควรจะจัดให้มันเหมาะสมแก่เหตุปัจจัย ทีนี้ถ้าจะประพฤติ ถ้าต้องการที่จะบรรลุธรรม จะต้องประพฤติพรหมจรรย์ไหม ต้อง อยากจะแนะนำผู้ถามคำถามนี้ว่า อย่าไปเอาอะไรหลายอย่างมาสับสนกัน ในขณะที่เหตุปัจจัย จังหวะ โอกาส มันยังไม่เหมาะนะคะ ขณะนี้ขอแต่เพียงว่าเราตั้งใจจะเป็นผู้ประพฤติธรรม ด้วยการรู้จักที่จะฝึกฝนอบรมจิตด้วยการประพฤติคือปฏิบัติอานาปานสติเพียงหมวดที่หนึ่ง เริ่มต้นหมวดที่หนึ่งให้เราได้เสียก่อน พอเราได้จิตใจสงบแล้ว จิตใจจะผ่องใส แล้วจะค่อยมองเห็นหนทางว่าเราจะตั้งจุดมุ่งหมายอย่างไร ตอนนี้อย่าเพิ่งคิดหลายอย่าง มันจะทำให้สับสนรวนเรนะคะ
19:40 คำถาม: หากเราลดความเป็นอัตตาของตัวเองลง เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการโต้แย้งเช่นนี้ จะไม่เป็นการเพิ่มความเป็นอัตตาให้กับผู้ที่เราโต้แย้งหรือ
ตอบ: นี่ยังเกิดการห่วงหรือว่าโลภ โลภะ กลัวว่าประเดี๋ยวจะไปเพิ่มอัตตาให้คนอื่นเขา ไม่ต้องกังวลเลย ถ้าในขณะที่เราพูดสนทนากันนั้น เราลดอัตตาของเราลง เราพูดแต่สิ่งที่ถูกต้อง แล้วเราไม่สนใจว่าเขาจะโกรธหรือไม่โกรธ หรือแม้ว่าเขาจะทำตามหรือไม่ทำตาม เราก็ไม่รู้สึกว่าเราจะเดือดร้อนหรือจะอยากบังคับเขา เพราะได้พูดสิ่งที่ดีที่สุด อธิบายสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว แล้วถ้าเราทำอย่างนี้เสมอแล้วเป็นตัวอย่างได้ อัตตาของเขาที่ยิ่งใหญ่นั้นจะค่อยๆ ลดลงเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปห่วงเขาหรอกนะคะ
20:38 คำถาม: ต้องโต้แย้ง ต้องงอนกับพี่บ่อยๆ จะมีทางแก้ไขอย่างไรดี
ตอบ: เป็นกันทั้งคู่ พี่ก็งอน น้องก็งอน ก็ชักชวนให้เขามาปฏิบัติอานาปานสติด้วยกัน ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำกับ พอรู้สึกอยากจะงอน หยุด ถ้ามันหยุดไม่ได้ หันหลังให้เขาเสีย แล้วก็เดินห่างเขาไป แต่ไม่ใช่หันหลังอย่างสะบัดพรวด แล้วก็เดินป่องๆ ๆ ไม่ใช่อย่างงั้น หันหลังช้าๆ ธรรมดา เหมือนกับว่าเราจะไปมองต้นไม้หรือมองอะไรอย่างอื่น แล้วก็ค่อยๆ เดินไป แล้วในขณะนั้นก็ใช้ลมหายใจควบคุมอารมณ์ ถ้าพี่เขางอนบอก แหม เมื่อกี้นี้เป็นยังไง ฉันพูดด้วยต้องหันหลังให้ ตอนนี้ใจเราเย็นละ เรามีสติ เราก็ค่อยๆ อธิบาย บอกรู้ไหมเมื่อกี้ก็อยากจะงอนด้วยเหมือนกัน แต่นี่พยายามที่จะควบคุมระงับใจ ถึงได้มาพูดด้วยดีๆ ได้ยังไงล่ะ ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ เชื่อไหมว่าพี่เขาจะงอนตอบไหมคะ อย่างน้อยเขาก็ประหลาด แหม ไม่น่าเชื่อ เป็นไปได้นะ เป็นไปได้ ตอนนี้แหละเขาอยากจะลองบ้างล่ะ เพราะเขาก็คงไม่อยากงอน เพราะเขารู้ว่างอนมากๆ มันไม่น่ารัก งอนนิดๆ หน่อยๆ ก็พอน่าเอ็นดู แต่มากเกินไปมันไม่น่ารัก ถ้าเราสามารถทำเป็นตัวอย่างเขาได้ เขาคงจะอยากทำตาม เพราะฉะนั้นก็เริ่มลองทำด้วยตัวเราเองเสียก่อน
22:08 คำถาม: เมื่อวานก็พยายามอธิบายอนิจจัง ทุกขังแล้วนะคะ แต่ยังมีคำถามว่ายังไม่เข้าใจชัดเจน
ตอบ: ก็อย่างน้อยที่สุดก็นึกถึงคำแปล ความหมายของมันก็ต่างกัน อนิจจังแปลว่าความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความเกิดดับ นี่คือความหมายของอนิจจัง ทุกขัง ความทนได้ยาก ทนได้ยากเพราะมันเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ถ้ามันไม่ทุกขังมันก็ต้องทนอยู่ได้ แต่นี่มันทนไม่ได้ พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมันทนไม่ได้ ก็เหมือนอย่างคนบางคนที่เรามองดูบอกว่า แหม รู้สึกว่าเขาแข็งแรง มองดูสุขภาพดี แต่เสร็จแล้วพอมากระทบอากาศที่เปลี่ยนแปลงเข้า เปลี่ยนเร็ว สะบัดร้อนสะบัดหนาว ที่มองดูแข็งแรงนั่นน่ะ สุขภาพนั้นเกิดเป็นไข้เป็นหนาวขึ้นมา อาการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง คือพอมากระทบเหตุปัจจัยของความร้อนหนาวที่สลับกันอย่างรวดเร็ว ประเดี๋ยวตากแดด ประเดี๋ยวอากาศเย็น แล้วเสร็จแล้วเหตุปัจจัยอันนี้ก็ทำให้ร่างกายที่เคยแข็งแรงนั่นน่ะเกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงคือเกิดเป็นไข้ การเปลี่ยนแปลงทีแรกคือแสดงอนิจจัง อนิจจังของสุขภาพร่างกาย แล้วก็การที่ร่างกายเป็นไข้นี่แหละมันแสดงถึงทุกขัง ที่เราจะบอกว่า ปัดโธ่เอ๊ย นึกว่าจะแข็งแรงทนทาน ทนแดดทนฝนได้ แท้ที่จริงทนไม่ได้เลย นี่แหละคือสภาวะของทุกขัง คือความทนได้ยาก ซึ่งไม่มีอะไรที่มันจะทนได้ เหมือนอย่างที่เขาบอกว่าน้ำเซาะหิน หินนี่มันแข็งเท่าไหร่ แต่ถ้าหากว่ามันถูกน้ำเซาะบ่อยๆ คือน้ำนั้นน่ะ หยดลงมาๆๆ ทุกวันๆๆ เป็นปีๆ ปีแรกก็หินนั้นก็สม่ำเสมอราบเรียบดี พอปีต่อไปมาดูก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหินนั้น คือมันมีรอยแหว่งรอยเว้าเข้าไป น้อยบ้างมากบ้าง สุดแต่ว่าแรงน้ำที่กระทบจะมากน้อย คือจะแรงหนักแรงเบาแค่ไหน นั่นคือสภาวะของทุกขังของก้อนหินอันนั้น คือความทนอยู่ไม่ได้ นี่คือกฎของธรรมชาติ มันแสดงความเปลี่ยนแปลงให้เห็น มันมีความเปลี่ยนแปลง ถ้ามันอยู่ได้เรื่อยๆ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่มีทุกขัง พูดอย่างนี้พอจะเข้าใจรึยัง คำแปลก็คนละอย่างนะคะ
25:02 คำถาม: คนนอนหลับแล้วฝันเนื่องจากสาเหตุอะไร เนื่องจากจิตไม่สงบหรือเปล่า
ตอบ: เป็นได้ แต่ถ้าหากว่าวันไหนก็นอนก็สงบไม่มีอะไรกังวล สิ่งที่มาฝันนั้นท่านก็บอกว่าอยู่ในจิตใต้สำนึกที่เราเก็บเอาไว้ แล้วเผอิญมันก็ออกมา เรื่องที่ฝันของคนบางคนเป็นจริง บางคนตรงกันข้าม เพราะอะไร ก็เพราะบางคนฝันที่มาจากการคิด การวิตกกังวล หรือการฟุ้งซ่าน สร้างวิมานเอาไว้ คือปรุงแต่งน่ะ ปรุงแต่งคิดไว้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คิดมากๆ เข้าจนใจก็รู้สึกว่ามันจะต้องเป็นจริง แล้วมันก็ออกมา บางคนตรงกันข้าม มันก็อยู่ในใจอีกนั่นแหละ ใจนึกว่าจะเป็นจริง แต่อีกใจหนึ่งก็บอกว่าน่ากลัวมันจะเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของจิตเป็นเรื่องซับซ้อน เรื่องของการปรุงแต่งเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะฉะนั้นก็จงค่อยๆ ดูให้ดี แล้วก็อย่าไปสนใจว่าเรื่องฝันดีหรือฝันร้าย อย่างไรเสียจะฝันดีฝันร้ายมันก็ยังอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง ไม่เที่ยง อยู่นั่นเอง
26:11คำถาม: ทำสมาธิแล้วหดหู่ เหนื่อยหน่าย ไม่สบายเลย ใช้ลมหายใจไล่หลายครั้งก็ไม่ยอมไป ทำอย่างไรดี
ตอบ: ทำต่อไป คำตอบก็คือทำต่อไป ทำจนชนะมัน
26:25 คำถาม: ที่กล่าวว่าตอนเช้าตื่นมาให้ดื่มน้ำจะได้สดชื่น แต่พอดื่มแล้วรู้สึกปวดท้อง จุก คลื่นไส้
ตอบ: เป็นได้สำหรับผู้ที่ไม่เคยนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าอย่างนี้ก็อาจจะดื่มแต่น้อยๆ ก่อน ทีละแก้วก่อน แล้วก็ใช้น้ำอุ่น แล้วก็ถ้ารู้สึกว่ามันดี ต่อไป วันต่อๆ ไปก็ค่อยๆ เพิ่มทีละน้อย แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ถูกกันก็ไม่ต้องทำ
27:03 คำถาม: ตอนออกกำลังตอนเช้าเป็นเพราะอะไร ทำไมไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ก็เพราะยังงัวเงีย แต่กลับเวียนศีรษะและหมดแรงเหมือนจะเป็นลม
ตอบ: ก็คงนอนไม่เต็มที่ ก็น่าจะยืนตรง สูดลมหายใจช้าๆ อากาศบริสุทธิ์ตอนเช้ามันจะช่วยไปชำระปอด แล้วก็จะได้มีโลหิตที่บริสุทธิ์สะอาดขึ้นหมุนเวียนไปทั่วถึงร่างกายมากขึ้น ความที่รู้สึกเวียนศีรษะก็หมดไป
27:32 คำถาม: จะคิดท่าสมาธิเองได้ไหม โดยเป็นท่าที่ถนัดและสบายของตัวเอง แต่ตัวยังมีสติจะไม่ทำให้ง่วงหลับ โดยไม่ใช้ท่านั่งขัดสมาธิหรือเดินจงกรม แต่เป็นท่าที่คนทั่วไปภายนอกมองเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นการทำสมาธิอยู่
ตอบ: ก็มันเรื่องอะไรถึงจะต้องหาท่าพิเศษ ท่าพิเศษนั้นก็เป็นท่าที่ตัวสบายด้วย ชอบด้วย เพราะจะได้นั่งทอดหุ่ย อย่างนี้ก็คือสมาธิใช่ไหม แล้วก็บอกว่าใจนี้อยู่กับสมาธิ อย่าหลงหลอกตัวเองถึงอย่างนั้นเลย ลองใช้ท่านั่งสมาธิตามปกติไปก่อน ถ้าเราไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับร่างกายนะคะ คือไม่ได้แข้งขาหัก ไม่ได้ผ่าตัดหลัง ไม่ได้อะไรต่ออะไร อย่าคิดหลอกตัวเองเลย ว่าแหม เรานี่หาท่าสมาธิเพื่อเหมาะสม แท้ที่จริงเพราะเราทำท่านี้ไม่ค่อยจะได้ เราก็เลยคิดจะหาท่าอื่น เพราะฉะนั้นอย่า อย่าเพิ่ง ลองใช้ท่านี้ไปก่อน นอกจากว่าเผอิญว่าเราเป็นคนมีปัญหาเกี่ยวกับการผ่าตัดร่างกาย
28:39 คำถาม: การที่มีความคิดแปลกใหม่ที่คิดว่าเป็นการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น และน่าที่จะจดจำไว้เกิดขึ้นมาในขณะทำสมาธิ ถือว่าเป็นนิวรณ์หรือไม่
ตอบ: อันนี้ตัวเองจะรู้เอง ถ้ามันเกิดขึ้นเพราะจิตมันฟุ้งไป มันคิดฟุ้งไป จิตไม่ได้อยู่กับลมหายใจ จิตไม่ได้เป็นสมาธิ นั่นคือนิวรณ์ แต่ถ้าเผอิญมันเกิดเป็นความคิดดี แล้วก็น่าจะนำมาใช้ได้ เราจะจำเอาไว้ก็ไม่เสียหาย แต่จะเป็นนิวรณ์หรือไม่ ก็ดูว่าจิตนั้นสงบหรือเปล่า
29:13 คำถาม: มีวิธีอะไรที่จะให้ผู้ที่ชอบเล่นอบายมุข เช่นชอบเล่นหวยเป็นต้นให้หยุดเล่น
ตอบ: แหม ยากจริงๆ ถ้าสมมติว่าเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพ เป็นญาติผู้ใหญ่ หรือจะเป็นผู้ที่เคารพมากอะไรอย่างนี้ น่าจะลองด้วยวิธีที่ทำให้ท่านผู้นั้นเกิดความรัก ความเมตตา ความเอ็นดู ความสงสาร ความเห็นใจ ด้วยการรับใช้ ด้วยการทำความดี ด้วยการตอบแทนทุกอย่าง ให้ท่านรู้สึกเมตตาสงสาร ให้เห็นความเสียสละ ถ้าเป็นลูกก็ที่มีต่อคุณแม่ ถ้าเป็นหลานก็จะมีต่อคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือต่อผู้มีพระคุณ ทำตัวให้เมตตา จนกระทั่งเกิดความสงสาร แล้วจึงใช้โอกาสที่เหมาะเจาะพูดให้เห็น พูดเพื่อที่จะไม่ใช่ไปสั่งสอน แต่พูดเพื่อขอร้องว่าเราผู้เป็นลูกเป็นหลานมีความรู้สึกไม่สบายใจ นั่นเพราะอะไร เพราะรู้สึกว่ามันมีอะไรขาด มันมีอะไรสูญ มันมีอะไรเสีย มันมีอะไรที่หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งเวลา ทั้งเงิน แล้วก็ถ้าหากว่าเผอิญจับได้ ลองนึกดูสิว่าผลจะเป็นอย่างไร ให้นึกถึงความรู้สึกในทางลบที่จะเกิดขึ้นในใจของเรา จะทำให้เราเจ็บปวด เราเสียใจ เราเศร้าหมอง ใช้ความรักเรียกร้องความรัก แล้วถ้าเผื่อท่านมีความรักมีความเมตตาจริงๆ สงสารลูกหลานจริงๆ ก็อาจจะค่อยๆ ตัดใจ ตัดใจทีละน้อยจากการเล่นทุกงวด เป็นการที่เล่นห่างเข้าๆ จนผลที่สุดอาจจะเลิกไปเลย ก็ต้องลองใช้