แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถามที่ได้พยายามอธิบายแล้วในวันก่อนๆ เช่นคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติของผู้ที่ใจร้อนก็ยังมีมาอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เรายังไม่ได้พิจารณาธรรม เรายังไม่ได้ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิตามเหตุผลที่ได้ชี้แจงไปแล้ว เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าถามซ้ำเป็นการทำให้ต้องตอบซ้ำและเสียเวลาไปโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นอย่างที่ว่า นั่งนานเท่าไรถึงจะพิจารณาธรรมได้ อย่างนี้ไม่จำเป็น มันจะต้องเกิดจากการปฏิบัติอย่างหนึ่งและอีกอย่างหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดต่อไป คือคำถามนี่อยากจะตอบของทุกคนเลยนะคะ แต่ถ้าหากว่าเป็นคำถามซ้ำมันก็ทำให้เสียเวลาแก่คนอื่น คือคำถามอื่นที่ควรจะได้ตอบ แล้วก็อาการที่เกิดขึ้นนะคะ ประเดี๋ยวก็ปวด ประเดี๋ยวก็เมื่อย ประเดี๋ยวก็ชา แล้วก็เปลี่ยนไปทั่วตัว ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ก็ขอตอบสรุปเหมือนอย่างเมื่อวานนี้ว่าเป็นธรรมดา ถ้าใครมาปฏิบัติแล้วไม่ปวด ไม่เมื่อย ยังไม่เคยได้ยินนอกจากคนที่ไม่ปฏิบัติ ถ้าเขาไม่ปฏิบัติ เขาไม่ต้องปวด ไม่ต้องเมื่อย เขาก็นั่งเหยียดแข้งเหยียดขา นอนทอดหุ่ยตามสบาย ไม่มีการปวดการเมื่อย เพราะฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติแน่นอนที่สุดค่ะ แล้วก็อย่างที่ดิฉันบอกมาไม่รู้กี่ร้อยคนแล้วแต่ไม่เชื่อ นั่นคือเครียด พอความเครียดเกิดขึ้นมันทำให้อาการมึน อาการชาอาการปวดทวีขึ้นด้วย นี่คือความเครียด แล้วความเครียดเกิดจากไหน ก็เพราะความตั้งใจมากเกินไป ที่จริงอันนี้ก็เป็นสิ่งดีนะคะเพราะมาทำก็อยากจะตั้งใจทำให้ได้ แต่อย่าลืมมัชฌิมาสิคะ มัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้า อะไรที่เกินความพอดีมันก็ต้องทำให้เกิดผลในทางที่ไม่พอใจคือเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงพยายามรักษาความพอดี แล้วก็ดิฉันสังเกตที่ได้มาอยู่ในทางธรรมมากขึ้นนี่ ก็ยิ่งสังเกตเห็นชัดเลยว่า ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ทำให้เกิดเป็นความทุกข์เพราะต้องทน อย่างที่เคยพูดแล้ว แล้วที่ต้องทนนี่ทนอะไร ทนความที่มันไม่พอดี ใช่ไหมคะ แล้วเราก็มักจะนึกว่าคนนั้นก็ไม่พอดี คนนี้ก็ไม่พอดี ทำนั่นเกินทำนี่ขาด คนอื่นเกินๆ เลยๆ เราจึงต้องทน แต่เราไม่เคยนึกว่าเรานี่ล่ะเกินเลย มันสุดโต่งอยู่หรือเปล่า มันจะเอาอย่างสุดโต่งหรือเปล่า มันถึงให้จิตนี้พอดีไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้แล้วนั้น โปรดทราบเถิดว่าใช้ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่เรื่องขี้ปะติ๋วนิดเดียวก็ดูเถอะ อ๋อ เพราะมันจะเอา มันจะเอาเกินความพอดี เพราะฉะนั้นใจก็ไม่สบาย เกิดนิวรณ์ต่างๆ ขึ้นมา นิวรณ์ห้าตัวนี่เกิดขึ้นเพราะจะเอา ฉะนั้นโปรดทราบนะคะ เอาละวันนี้มันโปรดตรงนี้ อ๋อมันเป็นอย่างนั้นเอง ท่องเอาไว้ประโยคนี้ มันเช่นนั้นเอง คือ “ตถาตา” มาจากคำบาลีว่า ตถาตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองของอะไร เช่นนั้นเองของความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เช่นนั้นเองของความทนได้ยาก เช่นนั้นเองของความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
คือเช่นนั้นเองนี้มาจากสภาวะของการที่พยายามเข้าใจอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเกิดขึ้น ถูกใจไม่ถูกใจ มันก็เช่นนั้นเอง ก็มันไม่คงที่ เพราะมันไม่คงที่ มันเปลี่ยน มันจึงทนได้ยาก แล้วมันก็แสดงถึงสภาวะของความเป็นอนัตตา คำถามที่ถามเกี่ยวกับอนัตตานั้นก็คอยอีกนิดนะคะ จะอธิบายให้ละเอียดขึ้นเมื่อเราพูดถึงหมวดที่สี่ เพราะหมวดที่สี่นั้น เราจะพิจารณาในเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะพูดในตอนนั้นให้ชัดขึ้น ฉะนั้นก็ขอรอไว้ก่อน
ฉะนั้นถ้าเกิดความรู้สึกอะไรนะคะ พยายามท่อง เช่นนั้นเองๆๆๆ เหมือนกับเป็นคาถาก็ได้ กำกับใจเอาไว้ที่มันจะเอาอย่างนั้น หรือว่าจะเอาให้ขลังก็ ตถาตาๆๆๆ ท่องเอาไว้ในใจให้มันกำกับใจ จนกระทั่งใจที่กำลังจะพุ่งขึ้นมาตามอารมณ์นั้นค่อยๆ ลดลง แล้วก็จะอยู่ในความพอดีนะคะ
คำถาม: ถามว่าการปฏิบัติข้อทุกขสัจที่พูดเมื่อวานนี้ ที่บอกว่ามีอาการสามคืออย่างไร
ตอบ: อาการสามก็คือ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ พอมีปัญญารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้แล้วก็ต้องทำ ฉะนั้นอาการที่สองก็คือทำ คือทำการกำหนดรู้ลักษณะอาการของความทุกข์ ทุกแง่ทุกมุมอย่างละเอียดลออ จนกระทั่งไม่สงสัย พออะไรเกิดขึ้นรู้เลยว่านี่เป็นอาการลักษณะของความทุกข์อย่างไร ชนิดไหน แล้วก็เกิดอาการของความรู้สึกว่า รู้แล้ว กำหนดรู้ได้แล้ว ประจักษ์แจ้งขึ้นมาภายใน กำหนดรู้ได้แล้วอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงกำหนดรู้เรื่องทุกข์ คือรู้ว่าทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ แล้วก็ทรงกำหนดรู้ พอกำหนดรู้ชัดเจนแล้วจากนั้นก็จึงทรงประกาศว่า เรากำหนดรู้ได้แล้ว เรากำหนดรู้ได้แล้ว นี่เป็นการเป็นพยานกับพระองค์เองว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นทำได้แล้ว นี่ก็เป็นสามอาการนะคะ
คำถาม: เมื่อนั่งสมาธิจนจิตสงบแล้ว ใช้ลมหายใจยาวสั้นสลับกันไป ควรใช้เวลานั่งนานเท่าใด
ตอบ: ก็สุดแล้วแต่ความสะดวกนะคะ
คำถาม: การพิจารณาธรรม เขาทำกันอย่างไร ไม่เข้าใจ บางครั้งนั่งเงียบ ตามลมหายใจแต่ไม่ได้ทำสมาธิ
ตอบ: ถ้าเราตามลมหายใจได้ตลอดเวลา นั่นคือจิตจดจ่อไม่ไปไหน มันจดจ่ออยู่กับสิ่งเดียวคืออยู่กับลมหายใจ สมาธิเกิดขึ้นแล้วโดยอัตโนมัติ ถ้าเราตามลมหายใจนะคะ สมาธิเกิดขึ้นแล้วโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าตามลมหายใจแต่ไม่ได้ทำสมาธิ นี่เข้าใจผิด เมื่อใดที่จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด จดจ่ออยู่นานกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นจิตมันรวมไม่กระจายออกไปไหนเพราะมารวมจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น จะทำหรือไม่ทำก็เป็นสมาธิขึ้นโดยอัตโนมัติ สมาธิแปลว่าความรู้สึกตั้งมั่นที่มันเกิดขึ้นในจิต จิตนั้นมันรวมอยู่มันไม่ไปไหนแต่มันยังไม่ได้รวมหนักแน่นเป็นสมาธิอย่างลึกซึ้ง แต่มันรวมอยู่ มีความมั่นคง มีสติรู้ตัวอยู่ในนั้นเรียกว่าในระดับหนึ่ง จะมากหรือจะน้อยก็อยู่ที่ว่าเราจดจ่อกับสิ่งนั้นอย่างมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ฉะนั้นที่บอกว่าตามลมหายใจแต่ไม่ได้ทำสมาธินี่เข้าใจผิด จิตมันเป็นสมาธิโดยอัตโนมัติ ถ้าตามลมหายใจจริงนะคะและอยู่กับลมหายใจจริง
คำถาม: มองต้นไม้ใบหญ้า คิดอะไรบางอย่างออกมาเช่น นั่งปาก้อนหินลงในน้ำสลับกับปาทราย ขาดการฝึกฝนรวบรวมสมาธิไม่ค่อยมั่นคงก็เหมือนกับปาทรายกำมือหนึ่งลงไปในน้ำ มันก็กระจายเป็นฟองคือจิตมันก็ไม่ตั้งมั่น มันก็กระจายไปเหมือนจิตที่ขาดการฝึกฝนก็รวนเรซัดส่ายได้ง่าย ตัวอย่างที่ว่ามานี้เกิดจากอะไร พิจารณาธรรม หรือใจลอย คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย
ตอบ: ก็เรียกว่าจิตมันเป็นสมาธิในระดับหนึ่งโดยอัตโนมัติ แล้วก็เกิดปัญญาแวบขึ้นมา คือมีปัญญาอยู่เป็นพื้น มันก็มีปัญญาแวบขึ้นมาเกิดการเปรียบเทียบ ทีนี้ที่เปรียบเทียบได้อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี รู้จักเปรียบจิตที่เป็นสมาธิเหมือนกับก้อนหินที่มันมีน้ำหนัก แล้วก็รู้จักเปรียบจิตที่ซัดส่ายเหมือนกับทรายก็เรียกว่าเป็นปัญญา แต่ถ้ามัวแต่เปรียบเทียบแล้วไม่ลงมือทำ ปัญญานั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้แล้วก็ทำเสีย ทำเสียทีจะได้เกิดประโยชน์จริงๆ จะมีทั้งจิตที่เป็นสมาธิอย่างแท้จริงแล้วก็จะมีปัญญาเข้ามาผสมผสานกัน จะทำให้จิตนั้นพร้อมด้วยสติ สมาธิและปัญญา เพราะฉะนั้นถ้ามัวแต่คิด มัวแต่นึก ก็จะนอกลู่นอกทางไปในวันหนึ่งก็ได้ ในขณะอย่างนี้เท่าที่พูดมานี่ยังไม่นอกลู่นอกทางแต่ไม่ควรประมาท ถ้าจะเอาให้ได้ในการปฏิบัติธรรมจริง ก็ลงมือทำเสียเดี๋ยวนี้
คำถาม: เห็นสัตว์จำพวกกบ จิ้งจก หนู แมลงสาปทีไร ต้องร้องกรี๊ดตกใจกลัวมาก ทำอย่างไรถึงจะหายกลัว
ตอบ: ดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่งเห็นมันเป็นเช่นนั้นเอง แล้วก็แผ่เมตตา มันเป็นสัตว์มีชีวิตอย่างหนึ่ง มันก็ต้องการความเห็นอกเห็นใจเหมือนกัน มันไม่ได้ตั้งใจจะให้เกลียดมันหรอก ใจเราไปยึดมั่นถือมั่น เห็นไหมคะ เราอยู่กับสมมติสัจจะ นึกออกไหม สมมติสัจจะที่เราพูดกันเมื่อวานนี้ เราสมมติว่าถ้ามีลักษณะอย่างนั้นๆ เหมือนจิ้งจก เหมือนตุ๊กแก เหมือนหนู นี่น่าเกลียด สัตว์อย่างนี้น่าเกลียด นี่ตามสมมติสัจจะ แล้วอย่างเรานี่ล่ะ ถ้าหนูเห็นเข้า มันจะรู้สึกว่าสัตว์ตัวโตนี่น่าเกลียด แล้วยังใจร้ายอีกด้วย คอยทำลายหนู หนูถ้ามันคิดได้ มันคิดอย่างนี้ก็ได้ ตามสมมติของมัน นี่คือตามสมมติสัจจะ เหมือนอย่างลูกหมาหรือลูกแมว ถ้าตัวหนึ่งอ้วน กระปุกกระปุย ขนฟู ตาแจ๋ว สมมติสัจจะก็บอกว่านี่น่ารัก ถ้าตัวไหนโกโรโกโส พุงป่อง มิหนำซ้ำแถมขี้เรื้อน สมมติสัจจะก็บอกว่านี่น่าเกลียด แต่น่าเกลียดกับน่ารักก็คืออันเดียวกัน ถ้าตัวที่น่าเกลียดนั่นมันได้รับการดูแล อาบน้ำฟอกสบู่ถูขน รักษาให้พ้นจากตัวเชื้อโรคผิวหนัง ให้ได้กินนมกินอาหารอย่างถูกต้อง ไม่ช้ามันก็อ้วนท้วนแข็งแรงกลายเป็นแมวน่ารัก หมาน่ารัก ตัวเดียวกันใช่ไหมคะ แล้วก็ตัวน่ารักนั่นแหละถ้ามันถูกทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่มีใครดูแลรักษามัน ข้าวปลาอาหารนมต้มก็ไม่เคยกิน วันหนึ่งมันก็ผอมโกโรโกโส สกปรก กลายเป็นหมาสกปรก แมวสกปรก ตัวเดียวกันหรือเปล่า นี่แหละสมมติสัจจะ ฉะนั้นดูให้เห็นชัดว่าเราติดอยู่กับสมมติสัจจะเป็นทาสของสัจจะ ถึงต้องสะดุ้งหวาดหวั่นอยู่เรื่อยตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็หมั่นดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเห็นเช่นนั้นเอง
คำถาม: ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ที่บิดวิ่งไปมากรี๊ดๆ นี่ อารมณ์ประสาทจะเสีย แช่งด่าในใจ ทนไม่ไหวจริงๆ เพราะได้ยินอยู่ทุกวัน จะควบคุมสติอารมณ์อย่างไร
ตอบ: คนอื่นเขาได้ยินหรือเปล่า ได้ยินกันทุกคน ก็มีคนเขาบอกว่าวิธีจะแก้พวกนี้ต้องจับพวกนี้มายืนเข้าแถว แล้วก็เอามอเตอร์ไซค์มาเปิดเครื่องแล้วบิดให้มันดังๆๆ ใส่แก้วหูพวกนี้จะได้สำนึกขึ้นบ้างว่าวิธีที่ตัวบิดอย่างนี้มันรบกวนมนุษย์ทั้งหลายเขาเพียงใด เผื่อจะได้รู้ แต่อันที่จริงแล้วสิ่งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำอย่างนั้นคือคนที่เป็นอย่างไร เหมือนอย่างไม่ใช่เฉพาะรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ที่ไปแต่งซิ่งต่างๆ กัน แล้วก็เอาท่อไอเสียให้มันดังๆ ยิ่งดังเท่าใดดูมันเก๋ มันดี นั่นน่ะทำทำไม ก็คือทำด้วยความเห็นแก่ตัว ใช่ไหมคะ คิดว่ามันเก๋ คิดว่ามันเรียกความสนใจโดยไม่นึกว่ามันรบกวนประสาทเพื่อนมนุษย์เพียงใด นี่แสดงถึงอะไร ความเห็นแก่ตัวกำลังมากขึ้นๆ นั่นก็คือแสดงถึงศีลธรรม จริยธรรม กำลังขาดไปจากจิตใจของมนุษย์ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ส่วนมากนะคะ ไม่ใช่ทั้งหมด มันจึงยังอยู่ได้
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการที่สุดในสังคมทุกวันนี้คืออะไร ไม่ใช่ NIC (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ไม่ใช่เทคโนโลยี ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง หรือการศึกษาสูงๆ หรือว่าเลื่อนซีมากๆ สิ่งที่ต้องการคือจริยธรรม ต้องการปลูกฝังจริยธรรมขึ้นในใจ จนกระทั่งมนุษย์ลดละความเห็นแก่ตัว จะได้ไม่เอาแต่ใจของตัวแล้วก็รบกวนเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์อย่างที่เราพบกันทุกวันนี้ นี่น่าสงสารมากเลย ถ้าจะพูดไปแล้วสังคมเดี๋ยวนี้น่าสงสารมาก เปิดหนังสือพิมพ์ดูทุกวันมองดูสิคะ ถ้าเขามีรูปคนที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ จะรูปคนที่กำลังอยู่ในงานเลี้ยง กำลังมีชื่อมีหน้า ดูไปเถอะดูให้ดีๆ แห้งทั้งนั้น แห้ง เหี่ยว สลด เหนื่อย หนัก เบื่อ เอียน กับชีวิตของตัวเอง แต่ถึงกระนั้นสลัดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะอีโก้ (ego) ความเห็นแก่ตัวที่มันแฝงอยู่ในใจ ตะเกียกตะกายต่อไป ทำต่อไป ยื้อแย่งกันต่อไป เบียดเบียนกันต่อไป ดูหนังสือพิมพ์ทีไรแล้วน่าสงสาร น่าเสียดาย น่าเวทนาทั้งนั้น นี่คือสภาพที่สังคมกำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ เหี่ยวแห้ง
คำถาม: สวดมนต์ทำวัตรเย็น ท่าหมอบกราบ บางคนไม่หมอบจะแก้อย่างไร
ตอบ: ให้เขาแก้ของเขาเอง ถ้าเป็นลูกศิษย์เรา เราก็ต้องสอนให้ได้
คำถาม: จากนิทานเซ็นที่เล่าให้ฟังแต่ครั้งแรก ซามูไรที่ไปเป็นชู้กับภรรยาของเขานั่นน่ะ ผู้ปฏิบัติคนหนึ่งก็ถามมาว่า เป็นเพราะซามูไรคนนั้นยึดมั่นถือมั่นจึงมีความทุกข์ในความผิดของตัวเอง ใช่ไหม
ตอบ: ตอนต้นเขาก็ต้องมีเพราะว่าเขายังไม่ได้รู้อะไร แล้วเขาก็ยังเป็นเด็กอยู่เขาก็ต้องมีเป็นธรรมดา แต่เมื่อเขามาทำงานขุดอุโมงค์ด้วยมือของเขาเองอย่างนั้น ในขณะที่เขาทำงานเขาทำด้วยความพอใจ เขาทำเต็มกำลังความสามารถไม่ได้ไปคิดถึงอะไรทั้งนั้นจนกระทั่งมีลูกชายของขุนนางซามูไรมาคอยพร้อมที่จะตัดหัว เขาก็ไม่ได้ใส่ใจไม่ได้สะดุ้งสะเทือน เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเขายังมีอุปาทาน เขาจึงไม่หายทุกข์ ถ้าเขาทำตามหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่เขาไม่ทุกข์หรอก เพราะฉะนั้นอย่าไปปรุงแต่งกับเรื่องของคนอื่น แก้ไขเรื่องของเรา ฟังอะไรแล้วก็เอาแต่คติไว้จะดีกว่านะคะ
คำถาม: เกิดในครอบครัวที่มีสัมมาทิฏฐิระดับหนึ่ง ฐานะปานกลาง ลูกเรียนดี ครอบครัวอบอุ่น ลูกเริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเล็ก พอจบชั้นมัธยมก็ขอบวชโดยไม่มีกำหนดสึก ก็ขอร้องให้เรียนจบปริญญาตรีลูกก็ทำตามและเรียนได้ดี พอจบแล้วก็ขออนุญาตบวชอีกไม่มีกำหนดสึก ก็อดใจหายไม่ได้ ขอให้ให้ความเห็น
ตอบ: อันที่จริงแล้ว ลูกที่จะบวช นี่เคยได้ยินหลายรายแล้วนะคะที่มาพูดอย่างนี้ ก็ขึ้นอยู่กับคำสอนที่คนหนุ่มคนสาวไปได้รับมา แล้วก็เน้นไปที่เรื่องว่าในชีวิตนี้ต้องบวชเท่านั้นจึงจะเป็นกุศลสูงสุด ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงคิดว่าทุกคนจะบวชได้ ถ้าบวชได้ก็ดีแต่ไม่ได้ทรงคิดว่าทุกคนจะบวชได้เพราะคนแต่ละคนมีหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องกระทำให้มันถูกต้อง ให้มันเรียบร้อย ถ้าสมมติว่าเป็นลูกคนเดียวแล้วก็ไม่มีพี่น้องอื่นที่จะช่วยดูแลพ่อแม่ นั่นก็เรียกว่าความกตัญญูที่จะทำหน้าที่ของลูกขาดหายไป ฉะนั้นผู้ที่จะตัดสินใจบวชโดยไม่สึกแล้วก็เมื่อบวชไปแล้วท่านบอกว่าไม่ให้มีปลิโพธ ปลิโพธคือสิ่งที่จะมารบกวนจิตให้เกิดสำนึกบาป ให้เกิดกังวล ให้เกิดไม่สบายภายหลัง นั่นก็คือหมายความว่าเราไม่มีภาระรับผิดชอบที่เราจะต้องเกี่ยวพันต่อไป หรือบางทีภาระที่เราทำอยู่นี่แต่เราเห็นว่าพอแล้ว มีผู้อื่นจะรับช่วงได้ต่อไปอย่างนั้นก็ถือว่าหมดภาระได้
แต่ในกรณีอย่างนี้ยากที่จะพูดว่าเขาหมดภาระเพราะเขายังเด็กอยู่ แต่เมื่อเขาได้รับการสอนการแนะนำในลักษณะนั้น แล้วจิตเขาก็มีความเบิกบานหรือว่ากำลังดื่มด่ำในธรรมะ ก็อยากจะทำ นี่ก็สุดแล้วแต่ว่าพ่อแม่จะสละลูกเพื่อพระธรรมหรือเพื่อพระศาสนาได้เพียงใด ถ้าหากว่านึกว่าอย่างไรเสียก็รั้งเขาไม่อยู่แล้วเขาไปในทางนี้ อย่างน้อยเขาก็ไปในหนทางที่งดงาม ก็ดีกว่าที่เขาจะดิ้นรนไปทางอื่น ถ้าคิดเสียอย่างนี้ความอาลัยอาวรณ์ก็อาจจะลดลง