แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
01:23อยากจะเรียนถามคุณแม่นะคะว่า สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยให้กิเลสเกิดคืออะไรคะคุณแม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยให้กิเลสเกิดคืออะไร ก็ต้องนึกดูว่า กิเลสเกิดแล้วมันเป็นยังไง ก็คือว่า เหมือนกับเกิดร้อนขึ้นมาทันทีนะคะ มันอาจจะมีความรู้สึกบางทีอาจจะร้อน ลิงโลด อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาทันที ก็ต้องย้อนดูต่อไปอีกว่า แล้วตรงจุดไหนที่มันทำให้เกิดร้อน หรือเกิดลิงโลดอะไรขึ้นมาในใจ ตรงจุดไหน หรือสิ่งไหนที่มันทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น ที่ทำให้กิเลสมันมีโอกาสเข้ามาทำงาน นั่นก็คือถ้าในทางธรรมท่านก็เรียกว่าผัสสะ เมื่อผัสสะเกิดขึ้น ผ-ไม้หันอากาศ-ส-ส-สระอะ ผัสสะ ผัสสะก็คือสิ่งที่มากระทบ ผัสสะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากนะคะ ที่เราทุกคน พุทธบริษัททุกคนควรจะเรียนรู้ แล้วก็รู้จักเรื่องของผัสสะ เพราะตรงจุดของผัสสะนี่แหละ เป็นตรงจุดที่จะทำให้ดีกรีของความรู้สึกภายในเกิดขึ้นอย่างไร หรือจะไม่ให้มันเกิดขึ้น ฉะนั้นต้องรู้จักผัสสะ ผัสสะคือสิ่งที่มากระทบผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าอายตนะ อายตนะคือสิ่งที่เป็นสื่อ แต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นอายตนะภายใน ซึ่งมันมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติ เกิดมาพร้อมกับชีวิตนี่แหละ มีร่างกายตัวตนนี่ คือมีร่างกายนนะคะไม่ใช่ตัวตน มีร่างกาย แล้วก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่พร้อม ธรรมชาติได้ให้มาพร้อม เพื่ออะไร ให้ตามาทำไม ให้ตามาเพื่อไว้ดูใช่ไหมคะ ไว้ดู ไว้เห็น ไว้มอง ให้หูมาทำไม ให้หูมาสำหรับฟัง จะได้ฟังอะไรที่อยากจะฟังนั่นแหละ ให้จมูกมาทำไม เพื่อไว้ได้กลิ่น ให้ลิ้นมาทำไม เพื่อไว้ลิ้มรส ให้กายมาทำไม เพื่อรับสัมผัส ให้ใจมาทำไม เพื่อรับรู้ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้น
04:14เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายใน มันก็จะสามารถที่จะสื่อไปถึงอายนตะภายนอก อายนตะภายนอก ก็คือสิ่งที่เป็นคู่กันกับอายตนะภายใน เช่น รูปก็คู่กับตา เสียงคู่กับหู กลิ่นคู่กับจมูก รสคู่กับลิ้น สัมผัสคู่กับกาย ธรรมารมณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกก็คู่กับใจ ฉะนั้นในขณะที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ก็เป็นอายตนะภายนอก แล้วมันก็คู่กันอย่างที่ว่านี่นะคะ ที่จริงตา ธรรมชาติก็ให้มาสำหรับเห็นสำหรับดูเท่านั้น ดูแล้วก็แล้วกัน เห็นแล้วก็แล้วกัน ควรจะจัดจะทำอย่างไรกับสิ่งที่ได้เห็น ได้ดู ก็ทำไป แต่ไม่ได้บอกให้ไปยึดถือเอามาให้เกิดเป็นทุกข์เป็นปัญหาเบียดเบียนตัวเอง ธรรมชาติไม่ได้ให้เป็นอย่างนั้น ให้มาแต่เพียงว่า สำหรับให้ดู หูก็เหมือนกันสำหรับฟัง จมูกก็เพียงแค่ได้กลิ่น ทีนี้เมื่อมันมีอายตนะภายใน แล้วมันก็มีอายตนะภายนอกคู่กัน ก็แน่นอนล่ะ มันต้องมากระทบกันเป็นธรรมดา ในตานี่จะไม่เห็นอะไรได้ไง มันก็ต้องเห็น มองไปมันก็ต้องเห็นเป็นธรรมดา เห็นรูป เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นอาการกิริยาท่าทาง เห็นภาพ เห็นอะไรต่างๆ หูก็เหมือนกัน เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงดนตรี เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ได้ยินวิทยุ เดี๋ยวได้ยินคนพูด นี่มันก็เป็นธรรมดา เสียงที่เข้ามานี่มันก็เป็นธรรมดา ที่มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง สิ่งที่ได้มองเห็นมันก็เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ท่านก็บอกว่า พอตาเห็นรูป ก็คือตากับรูปนี่มันมากระทบกัน มันมากระทบกันแล้วมันก็แล้วกัน มันเท่านั้น แต่ทีนี้ใจที่ขาดกุญแจสติ ไม่มีกุญแจสติจะคล้อง มันไม่เท่านั้น พอกระทบกันเท่านั้นน่ะ ใจนี่ก็ผวาเข้าไป ผวาเข้าไป เอาเรื่องกับมันว่างั้นเถอะ จะเอาเรื่องดีบ้าง เอาเรื่องร้ายบ้าง ถ้าหากว่ารูปนั้นถูกใจ ก็แหมชุ่มชื่นเบิกบานใจ ถ้ารูปนั้นไม่ถูกใจ แหมหมั่นไส้ขัดเคือง นี่ประตูใจที่ไม่มีกุญแจสติคล้อง มันก็จะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดการปั่นป่วน เวียนวนอย่างที่ว่าแล้ว การเบียดเบียนตนเองเกิดขึ้นแล้ว แต่เจ้าของก็หารู้ไม่ คิดว่าแหมนี่กำลังสนุก นี่กำลังดี นี่กำลังออกรสออกชาติ แต่ความจริงเปล่า ไม่ใช่ นี่เพราะไม่รู้ โมหะเข้าครอบงำ สิ่งที่มากระทบกัน คือตากับรูปมากระทบกัน หรือหูกับเสียงกระทบกัน หรือกลิ่นกับจมูกกระทบกัน รสกับลิ้นกระทบกัน สัมผัสกับกายกระทบกัน นี่สิ่งนี้คือเรียกว่าผัสสะ
08:08ผัสสะคือสิ่งที่กระทบ เมื่อมันมากระทบกันเข้า แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ทีนี้ ความไม่รู้ ความที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมใจเลย เพื่อจะให้รู้จักว่าผัสสะนี่ มันเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้น สักแต่ว่าเท่านั้นหนอ มันเกิดแล้วมันก็ดับ อย่างเราได้ยินเสียงนี่ ได้ยินเสียงคนพูด เมื่อกี้ได้ยินเสียงคนพูด เกิดแล้ว ดับแล้ว หายไปแล้ว หรือเสียงพูดมาอีก มันก็จริงแต่เป็นเสียงพูด แล้วมันก็เกิดดับ หรือถ้าจะเอาไปอีกมันก็เป็นคนละเรื่องไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันเกิดแล้วมันก็ดับ มันไม่ได้เคยอยู่คงทนเลย แต่เพราะจิตที่ไม่ได้ฝึก ใจที่ไม่ได้ฝึก ไม่ได้ควบคุมด้วยกุญแจสติติดเอาไว้ ก็ไปยึดเอาว่ามันเป็นจริงเป็นจัง ถ้าสมมุติว่าเป็นเสียงสรรเสริญ เยินยอ ยกย่อง ปลื้มไม่รู้แล้ว วันทั้งวันนั่งยิ้มหัวร่อ ใครมาหาอะไรก็อารมณ์ดี ถ้าเป็นคนค่อนข้างเพี้ยนๆหน่อยๆก็เอาเลยใครจะขออะไรควักให้หมด เพราะวันนี้มันอารมณ์ดี มันได้ยินคำยกย่อง นี่เห็นไหมคะ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งผัสสะที่เกิดขึ้น มันสักแต่ว่าเกิด แต่ไปยึดมั่นว่ามีความหมาย มีความหมายเพราะคำพูดนั้นมันถูกใจเรา หรือว่าคนที่ทำให้นี่เป็นคนที่รัก เป็นคนที่ชอบ มันก็ยิ่งชุ่มชื่น เบิกบาน อิ่มเอิบ มากกว่าปกติ อุปาทานมันเข้าไปผสม มันก็ทำให้มีตัณหามากขึ้น มันก็เลยทำให้เกิดอะไรต่ออะไรตามมา การเบียดเบียนนี่มันก็ยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นที่ถามว่า สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยให้กิเลสเกิดนี่มันคืออะไร มันก็คือผัสสะ คือจุดของผัสสะ พอผัสสะเกิดขึ้น เกิดอาการกระทบกันเกิดขึ้นเท่านั้น มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาทันที ความรู้สึกนี้ในทางธรรมท่านเรียกว่าเกิดเวทนา (เว-ทะ-นา) ไม่ใช่เวทนา (เวท-ทะ-นา) ถ้าเวทนา (เวท-ทะ-นา) นี้ก็เป็นคำภาษาไทยที่แปลว่าสงสาร แหมฉันเวทนา (เวท-ทะ-นา) เธอจริงๆนะ แหมน่าสงสารเธอจริงๆ เธอมันช่างไม่รู้อะไรซะเลย นี่เวทนา (เวท-ทะ-นา) เป็นคำไทย สะกดเหมือนกันแต่อ่านคนละอย่าง ถ้าเป็นในทางธรรมนี่ พอผัสสะเกิด แล้วก็จิตที่ไม่ได้ฝึกอบรม ผวาเข้าไปยึดเข้าไปเอาเรื่องกับผัสสะตัวนั้น ทั้งในทางลบทางบวกนี่ มันก็ทำให้จิตเกิดเวทนา (เว-ทะ-นา) เวทนา (เว-ทะ-นา) อันนี้ มันก็จะต้องเป็นอาการของกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง คือเนื่องมาจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง คือถ้าสมมติว่ามันเป็นสุขเวทนา คุณประสบพรเคยได้ยินคำว่าสุขเวทนาใช่ไหมคะ สุขเวทนาก็คือความรู้สึกเป็นสุข ทุกขเวทนาก็คือความรู้สึกเป็นทุกข์ แล้วบางทีก็ไม่แน่ คือไม่แน่บอกตัวเองไม่ได้ว่า นี่ฉันสุขหรือฉันทุกข์ มันครึ่งๆกลางๆมันไม่แน่ใจ อย่างนั้นก็เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา อทุกขมสุข คือสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ คือมันไม่เชิงอะไรเต็มที่ทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้นที่มันจะเป็นอย่างนี้ ที่มันจะเป็นสุขเวทนา นั่นมันคือได้อย่างใจ คือมันดึงเข้ามาแล้ว โลภแล้ว อยากได้แล้ว มันได้อย่างใจ มันก็เกิดสุขเวทนา เกิดความพอใจ แต่ถ้าหากว่ามันเกิดไม่ได้อย่างใจขึ้นมา มันก็กลายเป็นทุกขเวทนา คือไม่ชอบใจร้อนรุ่ม กลุ้มใจ แผดเผาไหม้สารพัด ไม่ชอบ แต่บางทีเอ๊ะไม่แน่ใจ ที่เราได้มานี่ มันดีไม่ดี มันก็อทุกขมสุขเวทนา นั่นก็คือโมหะ มันเนื่องจากโมหะ ถ้าเป็นสุขเวทนามันได้ตามที่โลภที่อยาก ทุกขเวทนามันไม่ได้ตามที่โลภ ที่อยาก ที่ต้องการ มันก็โกรธไม่ถูกใจ แต่อทุกขมสุขเวทนา ไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจว่ามันเป็นอะไรแน่ นี่มันคืออาการของหลง คือโมหะ เพราะฉะนั้นตรงจุดของผัสสะที่เกิดขึ้น คือการกระทบนี่ พอตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้รับสัมผัส สัมผัสอะไร เช่นลมร้อนผ่านมา หรือว่าลมหนาวเย็นยะเยือก หรือว่าใครเขาเดินผ่านกระแทกเอาเข้า อย่างนี้เป็นต้น นี่คือสัมผัส สัมผัสที่มันถูกกาย จะถูกศีรษะ ถูกแขน ถูกตัว ถูกอะไรก็แล้วแต่ นี่คือกายได้รับสัมผัส ส่วนใจนั้นก็รับธรรมมารมณ์ ธรรมมารมณ์นี้จะเกิดมาก็จากสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือบางทีก็ผ่านมาทางใจเอง เช่นนั่งๆอยู่ย้อนนึกไปถึงเรื่องเก่า เอาเก็บเข้ามาอีก ให้เจ็บแค้นบ้าง หรือว่ามาลิงโลดยิ้มอยู่คนเดียวบ้าง ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกอกถูกใจ นี่ธรรมมารมณ์ที่มันมากระทบใจ เพราะฉะนั้นตรงจุดของผัสสะ ที่เกิดอาการกระทบ คืออายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกันกับคู่ของมัน คืออายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ธรรมมารมณ์ จิตที่มันกระทบเกิดเป็นผัสสะนี่ เป็นจุดที่สำคัญมากเลย เปรียบเหมือนกับว่าเดินทางมา ถึงตรงทางสองแพร่ง ทางแยกจะไปซ้ายหรือไปขวา นี่สำคัญมากเลย จะไปซ้ายหรือไปขวา ไปซ้ายสมมตินะคะ ถ้าไปทางซ้าย คือทางซ้ายนี่คือไปทางที่ไม่มีกุญแจสติที่จะคล้องใจ คล้องจิตคล้องใจ ซึ่งแน่นอนที่สุดมันมีแต่ทุกข์เกิด แต่เป็นสุขเวทนาในทางธรรม ก็ยังไม่ใช่ความสุข ยังเป็นทุกข์ ทำไมถึงเป็นทุกข์ เพราะในขณะที่เกิดสุขเวทนาเพราะได้อย่างใจ ใจเป็นปกติไหมคะ ไม่ปกติมันลิงโลดมันตื่นเต้น สมมุติว่าโอ้โฮได้เลื่อนยศโดยไม่คาดฝัน ไม่เคยนึกว่าจะได้ อยู่ๆ ตกลงมา โอ๊ยกระโดดโลดเต้นไชโย เลี้ยง 3 วัน 3 คืน เสร็จแล้วปรากฏว่า ไม่ใช่ คนอื่น ชื่อเดียวกัน เห็นไหมคะ นี่มันไม่ใช่แม้จะสุขเวทนา ที่เรียกว่าได้ตามใจ ได้ตามที่ตนต้องการ ที่คาดหวังเอาไว้ ก็ยังไม่ใช่ความสุขในความหมายของทางธรรม เพราะมันทำให้จิตไม่ปกติ จิตก็ปั่นป่วนอยู่นั่นเอง ปั่นป่วนด้วยความลิงโลดตื่นเต้น เกิดความทรนงอะไรต่อไปต่างๆได้ตั้งหลายอย่าง หรือว่าเป็นทุกขเวทนา เพราะมันไม่ได้ ไม่ได้อย่างใจตามที่ต้องการ มันก็ทุกข์เห็นชัด เพราะว่าคนทั้งโลกก็บอกว่าอะไรไม่ได้ฉันก็ทุกข์ แล้วก็ถือว่าอะไรได้ฉันสุข แต่ก็อยากจะชี้ให้เห็นว่า สุขนั้นก็ไม่จริง เพราะมันยังคงปั่นป่วนอยู่นั่นเอง แล้วประเดี๋ยวมันก็หายไป ประเดี๋ยวก็อยากได้ใหม่ ประเดี๋ยวก็เอาเพิ่ม เพราะฉะนั้นนี่ ถ้าจะสมมติถ้าจะไปทางซ้ายนี่เมื่อถึงทางแยก ทางซ้ายนี้คือทางที่ขาดกุญแจสติที่จะคล้องใจ มันก็ทุกข์แน่ๆ เป็นการเบียดเบียนตัวเองแน่ๆ ถ้าไปทางขวา เป็นทางที่มีกุญแจสติคล้องใจ เพราะได้ฝึกฝนอบรมอยู่แล้ว ทำให้มองเห็นว่า พอผัสสะเกิดขึ้นนี่ อย่าเพิ่งนะ มีสติที่จะเตือนใจ อย่าเพิ่ง ยับยั้งไว้ก่อน อย่าเพิ่งพรวดพราดจะเอาเรื่องกับมัน ที่คุณแม่ใช้คำว่าเอาเรื่องนี่ คือไปผวากอดรัด พอเห็นผัสสะเห็นรูปสวย หรือว่าได้ยินเสียงเพราะ หรือว่าบางทีกลิ่นเหม็น หรือว่าแหมลิ้นกระทบรสอาหารที่ไม่อร่อยเลย ไม่ถูกปากเลย ก็อย่าเพิ่งไปเอาเรื่องกับมัน เฉยไว้ก่อน เฉยไว้ก่อน มีสติจะเตือนใจทัน ทำไมถึงเฉยไว้ก่อน ยับยั้งไว้ก่อน นี่พูดอย่างช้าๆอย่างชนิดที่ว่าสติยังไม่มั่นคง แต่ว่ามีพอที่มีพอเป็นพื้น ที่จะเตือนใจตัวเองได้ ก็เอาเป็นขั้นตอน เป็นตอนๆไป อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่ง ทำไมถึงอย่าเพิ่งล่ะ ถ้าหมั่นไส้ตัวเอง ทำไมถึงอย่าเพิ่งล่ะ โธ่เสียงดีๆ เสียงดีๆ ใสๆ สว่างๆ ของสติในใจก็จะบอกว่า ก็มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า มันเกิดแล้วก็ดับ จะไปเอาเรื่องอะไรกับมันล่ะ มันเพียงแค่นั้นเอง พออย่างนี้ได้มันก็จะค่อยๆวาง ค่อยๆวาง แล้วก็จะเห็นเช่นนั้นเอง เออมันแค่นั้นเอง มันไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แล้วมันก็จะค่อยหยุดไป ผัสสะนั้นก็จะหมดความหมาย นี่พูดถึงว่า ถ้ามาถึงผัสสะเกิด มันจะไปสองทาง คือมันจะมีทางไปสองทาง ฉะนั้นก็อยู่ที่เราอีกแหละ อยู่ที่พุทธบริษัทแต่ละคน ว่าจะเลือกเอาอะไร จะเลือกเอาอย่างไหน จะเลือกไปทางที่ขาดสติ หรือจะเลือกไปทางที่มีสติและปัญญาที่จะควบคุมใจของเรา ถ้าไปทางที่ขาดสติ ก็แน่นอน ทุกข์แน่ๆ ถ้าหากว่าเราจะไปทางที่มีสติ ก็ต้องฝึกฝนอบรม ต้องฝึกฝนอบรม ต้องควบคุมใจมาทีละน้อยๆอย่างที่เราพูดกันมาแล้วนี่นะคะ เพราะฉะนั้นจุดที่ผัสสะนี่ จึงเป็นจุดที่สำคัญมาก จะต้องระมัดระวังตรงจุดนี้ ทุกคนพุทธบริษัททุกท่านจึงควรศึกษาเรื่องของผัสสะให้ชัดเจนว่า ผัสสะคืออะไร
19:18ที่พูดมาอย่างนี้พอเข้าใจไหมคะว่าผัสสะคืออะไร ผัสสะคือสิ่งการกระทบ กระทบอะไรกับอะไร อะไรกระทบอะไรกับอะไร ก็คืออายตนะภายในกระทบกันกับคู่ของมันคืออายตนะภายนอก เราก็ต้องจำว่าอายตนะภายใน มี 6 อย่าง อายตนะนี่มี 6 อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่ยาก คู่ของมันก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส แล้วก็โผฏฐัพพะหรือสัมผัส แล้วก็ธรรมารมณ์ มันก็คู่ของมันอย่างที่เราทราบ ถ้านึกไม่ออกก็ ตามันสำหรับทำไม เราก็จะรู้ตาเห็นรูป อย่างนี้เป็นต้น พอมันกระทบกันเข้าเท่านั้น มันก็จะเป็นผัสสะ เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าผัสสะ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นตามธรรมดา ยกเว้นคนตาบอด หรือผู้ที่เขาเกิดมาอาภัพ เขาพิการตาบอด หรือเขาหูหนวก อย่างนี้เขาก็ขาดอายตนะไป แล้วเขาก็ไม่ต้องรับการกระทบกับสิ่งที่กระทบอย่างสำคัญอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผัสสะนี่คือ สิ่งกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทบกันหรือพบกันของอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก ทำไมมันจึงมีความสำคัญ ก็เพราะจุดนี้ จุดของผัสสะนี้แหละ เป็นจุดที่จะทำให้เกิดเวทนา คือความรู้สึกสุข หรือทุกข์ ซึ่งในทางธรรมท่านก็จะเรียกว่าไม่ใช่สุข แต่มันจะเป็นความทุกข์เพราะมันทำให้เกิดความปั่นป่วนเกิดขึ้นภายใน จะดีก็ปั่นป่วนอย่างดี อย่างดีๆ จะไม่ดีคือจะร้าย ก็ยิ่งปั่นป่วนใหญ่เลย ทีนี้มันปั่นป่วนทั้งสองทาง มันทำให้จิตนี้ขาดความเป็นปกติ การที่มีเวทนานี่ เวทนานี้ท่านจึงเรียกว่าเป็นสิ่งปรุงแต่งจิต คือจิตนี่มันอยู่ของมันดีๆ ไม่ได้ไปทำอะไร ไม่ได้มีอะไรเลย แต่พอเวทนาเกิดขึ้น มันจะปรุงจิตนี้ คือความรู้สึกที่ทีแรกมันก็สงบๆดีๆ ให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นมาทันที ทั้งทางดีและทางร้าย แล้วก็ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในจิต แล้วก็ควบคุมไม่ได้ มันก็กำเริบเป็นความรุนแรง เป็นความอาฆาต เคียดแค้น พยาบาท ชิงชัง หรือมิฉะนั้น ก็หลง ละเมอ เพ้อพก ฟุ้งซ่าน ลอยไปลอยมาในอากาศ หรือก็มิฉะนั้นก็วนเวียนซ้ำซาก จนกระทั่งตัดไม่ขาด มันล้วนแล้วแต่ทำให้จิตนี้ขาดสมรรถภาพ ขาดกำลัง ขาดพลัง มีความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เรียกว่าเป็นจิตที่ไม่มีสมรรถนะที่จะทำอะไรได้เลย ที่จะให้เกิดเป็นผลสำเร็จได้ คือหมายความว่ามันจะลดคุณภาพของจิตลงไปตามลำดับ ก็ทำให้ลดคุณภาพของชีวิตนั่นเอง ที่เราพูดกันถึงคุณภาพของชีวิต จะต้องพัฒนาชีวิตให้เป็นชีวิตที่มีคุณภาพ ก็พัฒนากันไปสารพัดตามที่เห็นได้ยินข่าวนั้น จากหนังสือพิมพ์บ้าง คนพูดกันบ้าง พัฒนากันไปสารพัด ประชุมโน่น สัมมนานี่ ก็ยังไม่ปรากฏผลว่าคุณภาพของชีวิตมนุษย์ในสังคมทุกวันนี้ดีขึ้นเลย มีแต่ได้ยินร้องทุกข์กันว่าเศรษฐกิจแย่ๆ ลำบากยากจนกันเหลือเกิน นี่ก็เพราะพัฒนาแต่ข้างนอกอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าการพัฒนาข้างนอกไม่มีประโยชน์ มี มีประโยชน์ แต่ทว่าถ้าข้างในมันไม่มีแรงใช่ไหมคะ กำลังใจมันไม่มีเลย มันไม่มี คือไม่มีแรง ไม่มีเรี่ยวแรงทางใจที่จะคิดต่อสู้ คิดใช้สมองสติปัญญาให้ถูกต้อง และกระทำอะไรให้มันเกิดผลจริงจังอย่างที่ได้สัมมนาพูดจาปรึกษากันอย่างข้างนอกนั่น การสัมมนาประชุมปรึกษากันข้างนอก ที่คิดทำมา มันก็แค่นั้นเองใช่ไหม มันเหมือนกับเป็นการสูญเปล่าด้วยซ้ำไป นี่เพราะอะไร ก็เพราะมองข้าม มองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต นั่นก็คือจิต หรือใจ ถ้าหากว่าชีวิตใดมีจิตใจที่มีกำลังมั่นคงเข้มแข็งหนักแน่น เรียกว่าแกร่งกล้า มั่นคงอยู่ในสิ่งที่ถูกต้อง แน่นอนที่สุดก็พร้อมที่จะทำอะไรฝ่าฟันไป จนกระทั่งสำเร็จลุล่วงได้ ฉะนั้นอันนี้จุดของผัสสะ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ เพราะถ้าไม่ระมัดระวังปล่อยให้มันมีอิทธิพลทำให้เกิดเวทนาขึ้น ชีวิตมันปั่นป่วนไปหมด เรียกว่าถ้าไม่ระมัดระวังมันถึงถอนรากถอนโคนของชีวิต ที่บอกว่ากลายเป็นคนสติวิปลาส หรือบางทีก็ทำลายชีวิตของตัวเอง ทำลายชีวิตของครอบครัว อย่างที่เราได้อ่านพบในหนังสือพิมพ์ นั่นก็เกิดจากอะไร ก็เกิดจากเพราะจิต จิตที่พอถูกผัสสะกระทบมาจากข้างนอกจะทางใดก็ตาม แล้วไม่มีความต้านทาน เพราะขาดพลัง ฉะนั้นที่พูดย้ำเรื่องผัสสะ ก็เพราะมันเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้มนุษย์เรามีความทุกข์ เกิดความทุกข์ เพราะเกิดเวทนาขึ้น แล้วก็ทำให้การเบียดเบียนตนเอง เป็นไปอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง แล้วก็ที่น่าสงสารก็คือว่า ไม่ทราบ ไม่รู้ ว่ามันเพราะจุดนี้เอง ฉะนั้นที่คุณประสบพรอาจจะเคยได้ยินที่ ท่านมีการบอกให้สำรวมอินทรีย์ ก็คือสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมทำไม ก็เพราะมันเป็นหนทาง เป็นทางผ่าน ที่มันจะรับสิ่งที่มากระทบ คือที่ทำให้เกิดเป็นผัสสะ แล้วก็ทำให้เกิดเวทนา ปรุงแต่งจิตให้ปั่นป่วน จนกระทั่งกำลังจิตอ่อนแอ กลายเป็นคนไร้สมรรถภาพ ไม่มีความต้านทานต่ออะไรเลย เพราะฉะนั้นก็มีแต่ความล้มเหลวของชีวิต คุณภาพของชีวิตเกิดขึ้นไม่ได้เลย ฉะนั้นอันนี้ จุดของผัสสะจึงเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง เพื่อที่จะไม่ให้มันเกิด และจะระมัดระวังอย่างไร ก็ต้องรู้เท่าทัน รู้เท่าทันด้วยสติและปัญญา อันแรกรู้จักเสียก่อนผัสสะคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมันมีอิทธิพลที่จะทำอะไรได้บ้าง พอเรารู้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องฝึกอบรม ให้มีสติมากขึ้น ให้สติเพิ่มพูนขึ้น หนักแน่นขึ้น ด้วยอะไร ก็ด้วยการหมั่นทำสมาธิภาวนาให้ติดต่อกัน ทั้งเวลาหลับตา ทั้งเวลาลืมตา ก็คือหมายความว่าทั้งตื่นทั้งหลับ หลับนี่หมายความว่า นั่งหลับตาทำสมาธิอย่างเป็นทางการ อย่างเป็นพิธีการ หรือเวลาที่ไม่สามารถจะไปนั่งสมาธิได้ ที่เวลาเราต้องทำงานทำการอยู่ ในที่ทำงาน หรืออยู่ที่บ้าน ทำกิจการที่บ้าน ก็ให้รู้อยู่กับลมหายใจ คือให้สติมีอยู่ตลอดเวลา ด้วยการที่จะมีอะไรเป็นเครื่องผูกสักอย่างหนึ่ง เช่นอยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจเข้าออก หรือมิฉะนั้นก็ ไปอยู่กับพุทโธ หรือว่าไปอยู่กับการภาวนาเช่น เกิดดับ สักว่าเท่านั้นหนอ อะไรที่จะเป็นเครื่องเตือนใจให้สติและก็ปัญญาเกิดขึ้น นี่ก็จะทำให้รู้เท่าทัน เมื่อเวลาที่ผัสสะเกิด เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสามารถพัฒนาสติและปัญญาภายในนะคะ ปัญญาภายในเกิดขึ้นอย่างนี้ พอผัสสะเกิด มันก็จะเตือนตัวเองอย่างที่ได้พูดเป็นตัวอย่างแล้วในตอนต้น ให้ยับยั้งไว้ก่อน หยุดไว้ก่อน อย่าเพิ่งผวาไปกอดรัด เอาจริงเอาจังกับมัน แต่ไม่ใช่หมายความว่าถอยหนีไม่เอาเรื่อง ปัญญามีอยู่ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้เราเห็นแล้วว่าผัสสะนี่คืออะไรอย่างไร ควรจะจัดการอย่างไร ควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ก็ทำ ทำด้วยการที่รักษาจิตข้างในให้สงบ ให้นิ่ง ให้มั่นคง เพื่อจะได้มีกำลังสามารถกระทำสิ่งนั้น ให้เรียบร้อยราบรื่น เป็นผลสำเร็จด้วยดีด้วยกันทุกฝ่าย นี่คือเรื่องของผัสสะที่่เป็นเหตุปัจจัยให้กิเลสเกิด หรือเวทนาเกิด จนปรุงแต่งจิตให้ชีวิตนี้เศร้าหมอง แล้วก็ขาดพลังของชีวิต