แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคำถามอีกไหมคะ ไม่มีปัญหาอะไรเลยหรือคะ
คำถาม: (เสียงไม่ชัด)..คุณแม่หวังผลอะไร
ตอบ: ก็เป็นเพราะว่าท่านยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘นิพพาน’ และก็ยังเชื่อตามที่เราได้ยินผู้ใหญ่คนโบราณเขาพูดกัน เมื่อเล็กๆ เมื่อก่อนนี้ก็เหมือนกัน ก่อนที่จะเข้ามาสนใจธรรมะก็มีความรู้สึกว่านิพพานมันอยู่ที่ใดที่หนึ่งไกลๆ แล้วเราจะต้องไปให้ถึง แล้วก็ไม่รู้จะไปถึงไหม เพราะฉะนั้นคนส่วนมากก็เลยเห็นว่ามันเป็นการยากเกินกว่าที่จะทำได้ ก็จึงบอกว่า เอาเถอะทำไปก่อนได้แค่ไหนก็แค่นั้น สะสมไปแล้ววันหนึ่งก็จะถึง เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทจะเป็นสิ่งที่จะอธิบายให้รู้เลยว่า นิพพานอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้
เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้ท่านได้มีโอกาสได้เข้าใจว่านิพพานคืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร มันไม่ใช่สถานที่ที่จะไปหรือจะมา เมื่อบ่ายวันนี้จะพูดถึงบ้างเหมือนกันมันไม่ใช่เป็นที่ที่จะไปหรือจะมา แต่เป็นที่ที่มันอยู่ภายในจิตนี่เอง ถ้าทำถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา จิตนั้นก็เย็น ถ้าทำไม่ถูกต้อง จิตนั้นก็ร้อนมันอยู่ตรงนี้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องให้คุณแม่ได้เข้าใจ แล้วก็เข้าใจความมุ่งหมายของการทำสมาธิหรือการฝึกจิตภาวนา เพื่อให้ใจสงบพร้อมด้วยสติสมาธิปัญญาเพื่อที่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ถูกต้อง นี่คือจุดประสงค์ ก็ลองไปฝึกปฏิบัติให้คุณแม่ดู เป็นตัวอย่างที่เราทำได้ มีอะไรอีกไหมคะ
คำถาม: รูปลิ้นอยู่ในปากงูใช่ไหม ที่เขาบอกว่าอยู่ให้เหมือนลิ้นอยู่ในปากงู
ตอบ: นี่เขาก็แนะนำมนุษย์ทั้งหลายว่าการอยู่ในโลกนี้ อยู่ให้เหมือนลิ้นอยู่ในปากงู คืออย่าให้มีชีวิตอยู่อย่างถูกขบกัด เรากลัวงูก็เพราะเหตุว่ามันมีพิษใช่ไหมคะ เรากลัวว่าถ้าเข้าไปใกล้มันจะถูกขบกัด นั่นเราถูกขบกัดทางกาย แต่การที่ใจถูกขบกัดอยู่ตลอดเวลาเราไม่ได้สังเกต การถูกกัดของใจก็คือ ใจที่ซัดส่าย กระเพื่อมขึ้นลง เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา รุ่มร้อนกระวนกระวาย นี่คืออาการของความทุกข์ เมื่อความทุกข์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ก็เรียกว่าจิตนั่นถูกกัด แต่ลองดูงู หันไปดูในปากงูสิ ลิ้นที่อยู่ในปากงูเสียดสีอยู่กับฟันซี่ที่มีพิษอยู่เรื่อยๆ แต่ทำไมมันไม่เห็นเคยถูกกัด ไม่เห็นเคยถูกพิษงู มันมีความสุขสบายอยู่ในปากงูตลอด นี่ผู้เขียนก็ Emanuel Sherman อีกเหมือนกัน เขาตั้งใจจะเปรียบให้มนุษย์ได้สังวรว่า โลกที่เราอยู่นี้มันก็เหมือนปากงู คือมันมีพิษร้าย พร้อมที่จะขบกัดผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างปราศจากสติ
ถ้าดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างปราศจากสติจะถูกพิษของโลกขบกัดตลอดเวลา พิษของโลกคืออะไร พูดง่ายๆ ก็ศีลคู่ที่เรียกว่าโลกธรรมแปด รู้จักไหมโลกธรรมแปด ฝ่ายที่พอใจลาภยศ สรรเสริญ สุข เราติดอยู่ในอันนี้ ถ้าเป็นลาภเป็นยศเป็นสรรเสริญสุข เอาเอามาๆๆ ฉันชอบ แต่ถ้าเป็นเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ไม่เอาเพราะถือว่าเป็นความเสียเอาไปๆๆ เป็นของคนอื่น มนุษย์เราถูกขบกัดด้วยโลกธรรมแปด คือการที่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ศีลคู่ นอกจากลาภยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ สี่คู่ มันก็ยังมีอย่างอื่นอีกเยอะแยะเลย ชื่อเสียงเกียรติยศหน้าตาเหล่านี้เราก็คิดเป็นคู่ๆๆๆ เขียนขึ้นมาดูเองได้ ดีชั่ว ได้เสีย กำไรขาดทุน จิตมนุษย์ติดอยู่กับอันนี้ แล้วก็ร้อนด้วยความจะเอา เอาสิ่งที่ชอบคือศีลบวก แล้วก็ร้อนในการที่จะผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบคือ ศีลลบให้ออกไปเสีย นี่คือพิษงูหรือพิษของโลกที่ชีวิตมนุษย์เราถูกขบกัด ถูกขบกัดที่ไหน ก็ถูกขบกัดที่ใจตลอดเวลา แต่เราไม่เคยได้สังวรเลยใช่ไหมคะ
ทีนี้เขาก็เขียนรูปพระพุทธรูปไว้ที่ปากงู ก็เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ หรือต้องการจะชี้ให้คนทั้งหลายได้สังวรว่า ถ้าไม่อยากถูกเขี้ยวพิษของโลกขบกัดก็จงศึกษาธรรมะ ฝึกฝนอบรมธรรมะให้จิตมีธรรมะเกิดขึ้นในใจ เหมือนอย่างที่เราฝึกฝนอบรม ถ้ารู้ปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว จะเป็นเหมือนลิ้นที่อยู่ในปากงู อยู่เย็น เป็นสุข มีแต่ความเยือกเย็นผ่องใส ไม่ต้องเป็นทุกข์ไม่ต้องถูกขบกัด เพราะพอผัสสะเกิดขึ้น จิตมันฉลาดพอที่จะเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเองๆ ไม่ไปเอาเรื่องกับมัน แต่ควรจะแก้ไขจัดการให้ถูกต้องอย่างไร ทำทันที และก็สำหรับ Emanuel Sherman เขาก็แนะนำว่าให้ดู ดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ คืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นนี้ทั้งสิ่งที่เกิดและสิ่งที่ดับ ทั้งสิ่งที่สร้างสิ่งที่ทำลาย มันเป็นแต่เพียงPhenomena เป็นแต่เพียงปรากฏการณ์เท่านั้น เหมือนกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ฝนตกแดดออก ฟ้าร้องแผ่นดินไหว อะไรเหล่านี้ที่เป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ มันเคยอยู่ตลอดไหม อย่างภาคใต้ฝนตกมากนาน อย่างมากก็เจ็ดวันเจ็ดคืน อย่างที่จะตกเป็นเดือนเป็นปีก็ไม่มี แดดออกมันก็มีออกบ้าง แดดหุบหลบไปบ้าง ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นตลอด นี่ดูปรากฏการณ์ตามธรรมชาติมันก็ยังมีเกิดดับๆๆๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ จะเป็นความพอใจก็ดี ความไม่พอใจก็ดี ขอให้เราดูมันว่าเป็นแต่เพียงปรากฏการณ์เหมือนอย่างปรากฏการณ์ข้างนอก แล้วจิตนี้ก็จะไม่ถูกขบกัด คือจะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมันก็ไม่ถูกขบกัด ก็จะมีจิตที่เย็น ผ่องใส เบาสบาย นี่เป็นคำอธิบายว่าจงอยู่ในโลกให้เหมือนลิ้นที่อยู่ในปากงูที่ไม่เคยถูกขบกัดเลย ด้วยการศึกษาธรรมฝึกฝนอบรมธรรมให้เกิดขึ้นในจิตให้ยิ่งขึ้นๆๆๆ แล้วจิตนี้ก็จะถึงซึ่งจุดแห่งความเย็นที่แท้จริงสักวันหนึ่ง แล้วจะไม่ถูกขบกัดเลย
คำถาม: ...เราเรียน แล้วเอาสัตว์มาทดลอง.....
ตอบ: คือต้องดูว่าการที่เราเรียนแล้วเอาสัตว์มาทดลอง ทดลองเพื่ออะไร ก็อย่างเช่นในวิชาแพทย์ก็ต้องเอาสัตว์มาทดลอง ทดลองเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้ที่จะรับจากการทดลองจากสัตว์นั้นให้ไปทำประโยชน์แก่มนุษย์ ใช่ไหม แก่เพื่อนมนุษย์ให้เขารอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บใช่ไหม เราเจตนาจะเอาสัตว์เหล่านั้นมาทดลองเล่นๆ หรือเปล่า ไม่มี เพราะฉะนั้นในทางของศีล ถ้าจะพูดแล้วท่านถือเจตนาเป็นสำคัญ ถ้ามีเจตนาที่จะทำให้เขาเจ็บ ให้เขาป่วย ให้เขาตาย เจตนาที่จะทำเพื่อประโยชน์เพราะมันสนุกที่อยากจะเห็นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะเป็นคนเป็นสัตว์ก็ตาม มันสนุกใจ มันสนุกที่จะเห็นเจ็บ ป่วย ตาย แต่นี่ทำเพื่อประโยชน์และไม่ได้มีเจตนาในสิ่งนั้น แต่นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ในทางศีลท่านถือเจตนาเป็นสำคัญ ศีลนั้นจะผิดก็ต่อเมื่อครบ มีเจตนาที่จะทำลงมือทำและก็สัมฤทธิ์ผล ถ้าครบอย่างนี้แล้ว นั่นแหละองค์ศีลก็ไม่ครบแล้ว ศีลก็ขาดแล้ว
คำถาม: …………………...…
ตอบ: ถ้าหากว่าเป็นทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทจะหมายถึง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน ที่เกิดจากความพอใจ ไม่พอใจ และจิตนี้ก็เป็นทุกข์ ที่เราเรียกว่าเป็นทุกข์ แต่ถ้าหากว่า ทุกขัง ในไตรลักษณ์ นั่นอธิบายถึงสภาวะว่า คือทนได้ยาก ความทนได้ยาก เช่นเดียวกับทุกข์ในอริยสัจ ก็บอกให้รู้ว่า คำว่าทุกข์มันมีสองอย่าง คือทุกขลักษณะกับ ทุกขเวทนา ถ้าทุกขลักษณะมันเป็นแต่เพียงลักษณะที่น่าจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าใจไม่ไปยึดมั่นเอามา ใจก็ไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่มีทุกขเวทนา ถ้าทุกข์ในไตรลักษณ์ก็หมายถึงว่า ทนได้ยาก
คำถาม: ................................
ตอบ: มันก็จิตเดียวนั่นแหละแต่ว่ามันอาจจะทำหน้าที่สองอย่างแต่มันก็ควบเป็นอันเดียวกันได้ คือในขณะที่เรากำหนดจิตย้อนเข้าไปมันก็รู้ รู้ลมหายใจ รู้ลมหายใจเข้าออกๆๆๆ การรู้นั่นแหละคือการรู้ เรารู้ด้วยการดู ดูด้วยอะไร ดูด้วยการสัมผัส สัมผัสด้วยความรู้สึก มันก็จิตเดียวเท่านั้นที่มันทำหน้าที่ของมันอยู่ในขณะนั้น
สมมติว่าในขณะที่เรากำลังจะดูลมหายใจ แล้วจิตนี้มันออกไปใช่ไหม ไปวิ่งวุ่น เราก็ดึงมันกลับมา ก็ใช้กำลังใจดึงจิตอันนั้นกลับให้มาอยู่กับลมหายใจ ไม่ใช่ใช้ลมหายใจไปดึงจิต แต่ว่าเราดึงจิต นั่นก็คือเอาจิตนี้จดจ่อควบคุมด้วยการบังคับลมหายใจ ให้เป็นลมหายใจที่ยาวแรงลึกหนัก ที่มันพลังเป็นลมหายใจที่มีพลัง เพื่อที่จะให้จิตนั้นหยุดคิด พอหยุดคิดมันก็ต้องอยู่กับลมหายใจ ที่พูดว่าดึงกลับมานี้เป็นคำอุปมา เพราะเวลาที่ความคิดมันออกมันเร่ร่อนไปก็เหมือนมันไปไกล ก็เลยเป็นคำเปรียบเทียบว่าให้ดึง แต่อันที่จริงก็คือ หมายแต่เพียงว่าบังคับลมหายใจให้แรงหนักให้มีพลังแล้วมันก็จะหยุดความคิด ใช่ไหม พอมันหยุดความคิดแล้วมันก็ต้องอยู่กับลมหายใจ ไปอื่นไม่ได้ นี่เป็นคำเปรียบเทียบ
คำถาม: …ปฏิเสธที่จะโกหกตัวเอง....
ตอบ: ปฏิเสธที่จะโกหกตัวเองหมายความว่ายังไง อธิบายอีกหน่อยสิ หมายความว่า อยากทำอะไรก็ทำอย่างนั้น นั่นก็คือตามใจกิเลส อยากทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นเพื่อที่จะไม่เกิดความกดดันจะได้สบาย นั่นคือการตามใจกิเลส เพราะฉะนั้นก็ไม่ถูกต้องในทางธรรม ทางธรรมนั้นจะไม่ตามใจกิเลส เพราะยิ่งตามใจกิเลสจิตนี้จะยิ่งไหลลงต่ำ เหมือนอย่างที่อยากจะกรี๊ดก็กรี๊ด อยากจะดิ้นก็ดิ้น อยากจะทำอะไรที่น่าเกลียดไม่น่าดูก็ทำเพราะใจมันอยากทำ ก็จะยิ่งทำให้คนที่ชอบทำอย่างนั้นนี่แหละลดค่าของตัวเองใช่ไหม
ที่เมื่อกี้เกี่ยวกับคำถามที่ว่า ลดค่าของคนปฏิบัติธรรมแล้วจะไม่ลดไปเหรอ นี่แหละการตามใจกิเลส นี่แหละเป็นการลดค่าของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ลดค่าของความเป็นคนลดลงทุกอย่าง เพราะใครๆ เขามอง เขามองดูน่าเกลียด แต่ถ้าสมมติว่า ใจที่อยากทำนั้นอยากทำความดี อยากทำสิ่งที่ดีที่เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นก็ดี อันนี้ดี แต่ก็มีประเด็นอยู่นิดหนึ่งว่าในขณะที่ทำนั้นมีความยึดมั่นในความดีของตัวหรือเปล่า ถ้ามีความยึดมั่นในการทำดีก็อยากก็มีความหวังใช่ไหม มีความหวังอยู่ในนั้น อยากให้คนอื่นเขาชม อยากให้เขายกย่อง ให้เขารับรอง ให้เขาเห็นด้วย และถ้าไม่เป็นอย่างนั้นจิตก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่พ้นความทุกข์อยู่ดี ยกเว้นว่าทำดีอย่างชนิดไม่ยึดมั่น ทำดีเพื่อความดีเพื่องานที่เกิดขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเขามีจิตที่เป็นธรรม เขาจะเคยศึกษาพุทธศาสนาหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ แต่การกระทำของเขาเราบอกว่าเป็นธรรมะได้ถ้าปราศจากความยึดมั่นถือมั่น
คำถาม: …ใคร่ครวญธรรม…
ตอบ: ในขณะที่เราฝึกปฏิบัตินี่ใช่ไหม เราก็จะนำเหตุการณ์มาใคร่ครวญธรรม ได้ แต่อย่างที่บอกไว้ ให้ระมัดระวังให้มีสติกำกับเพื่อจะได้ไม่เผลอไปกับอดีตที่นำมาใคร่ครวญ
ได้อีกหนึ่งคำถาม มีไหมคะ ถ้าไม่มีก็เตรียมตัวสำหรับที่จะนั่งสมาธิต่อไป....
เพราะฉะนั้นอย่ารอเวลาเลย เราทำได้เท่านี้แหละ เราเริ่มทำแต่เดี๋ยวนี้แหละเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแล้ว แล้วก็คิดถูกแล้วด้วย
คำถาม: ที่ว่าผู้ใดถึงซึ่งนิพพานก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นความคิดที่ถูกไหม
ตอบ: ก็เวียนว่ายตายเกิดในวนของกิเลส กรรม วิบาก โปรดเข้าใจ จากการกระทำที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลส และก็เป็นการกระทำ และก็เป็นวิบาก และก็ที่ใช้ว่าหมายถึงการที่เราสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากปฏิจจสมุปบาท ถ้าจะหลุดจากวงของปฏิจจสมุปบาท ก็หมายความว่า หลุดจากวงของความทุกข์ คือปฏิจจสมุปบาทนี่มันอธิบายสองอย่างใช่ไหมคะ อย่างหนึ่งอธิบายว่าอะไรอาศัยอะไร แล้วทุกข์เกิด นั่นก็คือหลุดจากการเกิดความทุกข์คือจากการเป็นทุกข์ และอีกอย่างหนึ่งอธิบายว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์ดับ นั่นก็คือเมื่ออวิชชาดับสังขารดับ สังขารดับวิญญาณดับ นั่นคือการดับตามลำดับของเหตุปัจจัย แต่ถ้าหากว่าจะใช้คำว่าหลุดพ้นจากปฏิจจสมุปบาทจะทำให้เข้าใจผิด หมายความว่าหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จากวังวนของความทุกข์ ฉะนั้นที่ถามว่าถ้าสมมติค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ตัดไปทีละอย่างๆ จนที่สุดหมดไปคือนิพพาน เป็นความคิดที่ถูกไหม ถูก ค่อยๆ ทำไปเถอะ ถูกต้อง
คำถาม: ขณะที่นอนหลับมักเกิดอาการละเมอบ้าง กรนบ้างและกัดฟันบ้าง เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ใช่ความเครียดไหม จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อานาปานสติช่วยได้ไหม
ตอบ: ในขณะที่นอนหลับอาจจะไม่ใช่ความเครียด แต่เกิดจากอนุสัยที่เมื่อตอนเล็กๆ ที่เคยนอนกรนนอนละเมอแต่ไม่ได้รับการแก้ไขเสียตั้งแต่เล็กๆ มันก็เลยเป็นนิสัยติดตัวมา แต่ถ้าจะเครียดก็อาจจะเป็นได้ในบางคืน ถ้าก่อนนอนในคืนนั้นหรือว่าในวันนั้นมีอาการเครียดอยู่แล้วด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง มันก็มาประสมกันเป็นได้ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อานาปานสติช่วยได้ไหม ช่วยได้ ไม่ต้องอธิบายนะ วันนี้วันสุดท้ายแล้ว
คำถาม: จิตสามารถสื่อกันได้ไหม
ตอบ: ที่ว่าคนจิตแข็งสามารถสะกดจิตคนที่มีจิตอ่อนกว่าได้ ก็หมายความว่าคนที่มีจิตอ่อนแอนี่โดยปกติธรรมชาติก็พร้อมที่จะเชื่อ พร้อมที่จะเชื่อ พร้อมที่จะรับจากผู้นั้นผู้นี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าคนที่มีบุคลิกลักษณะแข็งกว่าก็มักจะเป็นผู้นำเพื่อน หรือมิฉะนั้นก็ครอบงำเพื่อน นี่ก็เป็นเครื่องแสดงถึงเรื่องของพลังจิต แต่พลังจิตหรือกำลังของจิตมันเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์พัฒนาได้ เมื่อรู้ว่าจิตอ่อนแอก็มาแก้ไขพัฒนามันเสีย มันก็จะเป็นจิตที่มีพลังมากขึ้น
คำถาม: รู้สึกลมหายใจขั้นที่สี่สั้น เวลาที่กำหนดจิตให้อยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ทำให้ลมหายใจยาวขึ้นก็ไม่ใช่การเฝ้าดู เนื่องจากยังทำขั้นที่หนึ่งถึงขั้นที่สาม ไม่ดีใช่ไหม
ตอบ: ก็หมายความว่าการปฏิบัติขั้นที่หนึ่งถึงขั้นที่สามยังไม่เพียงพอ ก็จะต้องทำอีกจนมีความชำนาญ พอควบคุมได้ก็จะรู้สึกว่าการมากำหนดเฝ้าดูไม่เป็นปัญหานะคะ ก็อุตส่าห์มีกำลังใจทำอีก
คำถาม: เวลาทำขั้นที่สี่รู้สึกว่าเคลิ้มบ่อยมาก แต่ก็วูบนิดเดียว และลมหายใจหลังเคลิ้มรู้สึกว่าสบายเป็นธรรมชาติดี จะต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง
ตอบ: ต้องแก้ไขแน่นอน เพราะที่มันสบายเพราะมันได้เคลิ้ม ถ้าการเคลิ้มไม่ใช่มาจากการนอนไม่พอ เป็นเพราะอากาศร้อน เพราะเป็นทุกครั้งที่นั่งสมาธิ อากาศร้อนก็เป็นได้ แต่อย่าให้สิ่งนี้เป็นข้อแก้ตัวให้เสมอๆ มันจะกลายเป็นติดนิสัย
คำถาม: อนัตตากับสุญญตาต่างกันอย่างไร
ตอบ: ที่จริงเมื่อวานก็ได้อธิบายแล้วนะคะ อนัตตามาก่อนสุญญตา ถ้าอธิบายง่ายๆ จิตนั้นจะต้องประจักษ์ในความเป็นอนัตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเสียก่อน พอมันประจักษ์ชัดมันก็มีวิราคะ คือความรู้สึกจางคลายจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน แล้วก็ถึงซึ่งนิโรธ คือดับสนิท ไม่อยากที่จะไปเอาอะไรอีกแล้ว เพราะมันประจักษ์ชัดในสภาวะของความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แล้วจิตนั้นก็ยืนมั่นอยู่กับความดับ คือเป็นจิตที่เป็นอตัมมยตา ไม่เอาอีกแล้ว แล้วนั่นแหละเมื่อมันอยู่กับความที่ดับหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นมากเข้าๆ จิตนั้นก็มีความว่างคือมีลักษณะของสุญญตาเกิดขึ้นในจิต เป็นลักษณะของความว่างที่เต็มไปด้วยสติปัญญา มีความโปร่งเบา สบาย เยือกเย็น ผ่องใสแต่ว่องไว ว่องไวพร้อมที่จะรู้พร้อมที่จะจัดในสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าจำเป็นจะต้องกระทำ นี่คือสุญญตา สุญญตามาทีหลังอนัตตา คืออนัตตาต้องชัดเจนเสียก่อน แล้วก็มาตามลำดับของเก้าตานั่นแหละนะคะ
คำถาม: ขอบเขตของการปล่อยวางในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นควรมีแค่ไหน
ตอบ: ก็อาจจะลองใช้หลักง่ายๆ ว่า การปล่อยวางนั้นไม่ก่อให้เกิดปัญหา คือปล่อยวางแล้วมันก็เลยเกิดปัญหาที่ทับถม ซับซ้อนเป็นดินพอกหางหมู หรือทำให้เกิดปัญหาเกิดความขัดแย้งกับคนอื่น หมายความว่าสมมติว่าเป็นหัวหน้านะคะ เป็นผู้ดูแลเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นหัวหน้าอยู่ที่บ้านก็ปล่อยวางอะไรๆก็แล้วแต่ ช่าง คนในบ้านก็ทะเลาะกันขัดแย้งกันแตกสามัคคีกัน ปล่อยปละละเลยการงาน อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่เป็นการปล่อยวางด้วยสติปัญญา แต่เป็นการปล่อยวางด้วยโมหะ ใช้ไม่ได้ ต้องแก้ไข เพราะฉะนั้นก็ขอให้เกณฑ์สำหรับที่จะไปพิจารณาง่ายๆ ว่า การปล่อยวางที่อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องนั้น คือ จิตของผู้ปล่อยวางมีความเบาสบายเพราะประจักษ์แล้วในสิ่งที่เป็นอนัตตา แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้ละเลยการทำหน้าที่ ยังคงทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอย่างถูกต้อง เต็มกำลังความสามารถโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นการปล่อยวางในขอบเขตที่ถูกต้องต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาอันใดตามขึ้นมา และใจของผู้ที่บอกว่าปล่อยวางก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะมันประจักษ์อยู่ด้วยสติปัญญาว่าได้กระทำสิ่งถูกต้องแล้ว
คำถาม: ให้อธิบายเต่าหินตาบอด
ตอบ: ที่เป็นภาพอยู่ที่นั่นก็เป็นภาพเต่าหิน คือไม่ใช่เต่าธรรมดาเป็นเต่าหิน และก็บนหลังเต่าก็มีพระไตรปิฎกผูกมัดอยู่บนหลังเต่า มีความหมายว่าอย่างไร เราก็อาจจะตีความหมายได้หลายอย่าง อันแรก ก็ลองดูว่าเจ้าเต่าตัวนี้มันแบกตำราคือ แบกคัมภีร์แบกพระไตรปิฎกอยู่บนหลัง ก็อาจจะมองในแง่หนึ่ง ก็บอกว่ามันมีความรู้อยู่ในหัวคือมันมีหัวสมอง มันรู้ มันรู้หมด มันแบก มันกอดรัดเอาไว้ เรียกว่ารู้ในตำรา แต่ในใจนั้นไม่เคยสัมผัสกับสิ่งที่รู้ที่อวดว่ารู้นั้นเลย มันจึงเป็นเต่าหินตาบอด เรียกว่ามันกอดรัดอยู่กับตำรา แต่ใจไม่เคยได้สัมผัส หรือมองอีกแง่หนึ่งมันมีตำราอยู่ติดตัวอยู่กับตัว แต่ก็ไม่สนใจจะเรียนรู้ ถ้าจะพูดถึงตำราที่อยู่กับตัว พระไตรปิฎกที่อยู่กับตัวคืออะไร ก็ได้เคยพูดให้ฟังแล้วว่าคือร่างกายนี้แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ คือร่างกายนี้ มันติดอยู่กับตัว ติดอยู่กับใจ ติดอยู่กับชีวิตนี้ แต่มนุษย์สักกี่คนที่จะมาศึกษา ศึกษาร่างกายนี้ ให้มองเห็นความเป็นธรรม หรือมองเห็นธรรมะมองเห็นสัจธรรมดีกว่า ให้มองเห็นสัจธรรมในร่างกายนี้ ไม่เคยมี มีน้อย ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ ไม่สนใจที่จะฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิต เพราะฉะนั้นมันจึงตาบอด มันจึงแข็งทื่อไม่รับรู้อะไรเลย นี่เราจะมองในแง่นี้ก็ได้
หรืออีกแง่หนึ่ง เราจะดูภาพปริศนาธรรมนี้ในลักษณะที่ว่าเมื่อพูดถึงเต่า ถึงแม้ใครๆ จะปรารภว่าเต่านี่มันช้า ทำอะไรงุ่มง่าม อืดอาด แต่เต่าก็มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง จากนิทานเต่าแข่งกระต่ายนั่นคืออะไร ความพากเพียรมีวิริยะอย่างยิ่ง วิริยะนี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากเลยนะคะ ที่คนทำอะไรไม่สำเร็จโดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมไปไม่ถึงไหนทั้งๆ ที่มีปัญญามีความรู้มากก็เพราะขาดวิริยะ แต่เต่านี่มันมีความพากเพียร มีความอดทน นี่เรามองในลักษณะนี้ก็ได้ นอกจากนั้นมันตาบอด ตาบอดในที่นี้ถือว่าเป็นอุปมาคือตาบอดต่อผัสสะ ตาบอดต่อผัสสะคืออย่างไร ก็คือไม่เข้าไปเอาเรื่องกับผัสสะ เพราะใจนั้นมันรู้ทันต่อผัสสะว่าเป็นเช่นนั้นเอง เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเต่าหิน หินมันเป็นยังไง เมื่อเราเอามือไปลูบหินมันเย็นใช่ไหมคะ หินมันมีลักษณะของความเย็น มีลักษณะของความหนักแน่นมั่นคงอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปอาจจะพูดได้ว่า ถ้าเรามองในแง่ที่สามนะคะ ว่าภาพเต่าหินตาบอดที่แบกคัมภีร์อยู่บนหลังนี้ ก็คือแสดงถึงผู้ฝึกปฏิบัติด้วยความพากเพียร จนประสบความเย็นโดยไม่ยึดมั่นในตำรา ตำราก็รู้คือมีความรู้ แต่ไม่ยึดมั่นในตำรา หรือว่าการที่จะต้องปฏิบัติจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในความจริงจนจิตเย็นได้นั่นเป็นสิ่งสำคัญ นี่แล้วแต่ใครจะมอง นี่เราก็ลองมองดูก็อาจจะมองได้ถึงสามแง่มุม แต่ว่าท่านอื่นท่านอาจจะดูได้มากกว่านี้อีกก็ได้
คำถาม: อยู่กรุงเทพฯ อากาศเสียมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าป้ายรถเมล์ริมถนนบนรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัย จะหาโอกาสสูดลมหายใจให้เต็มปอดสักทีก็ยาก พอรอรถเมล์จนหงุดหงิดแล้วสูดหายใจยาวจะแก้ปัญหาได้ยังไงเพราะมีแต่ควันพิษ
ตอบ: รู้สึกว่าแม้แต่เขียนอย่างนี้ก็เต็มไปด้วยความหงุดหงิด มันออกมาในน้ำเสียงของตัวหนังสือ ก็อยากจะขอแนะนำว่า ให้ใช้สติปัญญาจัดให้เหมาะสมแก่กรณี เราหลีกเลี่ยงได้ไหม มลพิษทั้งหลายมันกำลังเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และเมื่อวานนี้เราพูดแล้ว มลพิษมลภาวะทั้งหลายข้างนอกมันเกิดจากอะไร เกิดจากมลภาวะในใจของมนุษย์ที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวความยึดมั่นในอัตตายิ่งขึ้นๆ และก็เห็นว่ามันดีก็ช่วยกันใหญ่ กิจการหรือกิจกรรมที่กระทำกันอยู่เดี๋ยวนี้ ที่มีกันอยู่เดี๋ยวนี้ ตั้งแต่สำหรับเด็กเล็กขึ้นไปจนเด็กโตเลยส่งเสริมอะไร ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมอัตตา ให้หลงให้เห่อให้ตื่นในสิ่งที่อยู่ข้างนอกมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์เราช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างมลภาวะเหล่านี้เกิดขึ้น เราก็อยู่ในสังคมนี้เราจะได้ช่วยสร้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ก็เรียกว่าเป็นเหยื่อ คนสร้างสร้างแล้วตัวก็มาเป็นเหยื่อของมลภาวะ แต่ไม่รู้ว่าตัวเป็นเหยื่อ อย่างนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องใช้สติปัญญาแก้ไข การฝึกอานาปานสติจะช่วยให้รู้จักปรับการหายใจแทนที่จะสูดเข้าไปเต็มปอด ก็เรื่องอะไรจะไปสูดควันพิษเข้าไปเต็มปอด ก็รู้จักควบคุมลมหายใจให้มันรับแต่เพียงครึ่งนิดหนึ่งพอ…