แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม : การเวียนว่ายตายเกิดและกรรมมีจริงหรือไม่ ความเชื่อ ความคิดในเรื่องดังกล่าว เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดต่อการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลากิเลส
ตอบ : ถ้าหากว่าเข้าใจความหมายของการเวียนว่ายตายเกิดและความหมายของคำว่ากรรมไม่ถูกต้อง มันก็จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม เป็นอุปสรรคอย่างไร ก็เพราะว่าใจของบุคคลผู้นั้น จะไปยึดมั่นในเรื่องของกรรมเช่นอย่างสมมติว่าปฏิบัติไป ทำไม่ได้ อยู่กับลมหายใจไม่ได้ มันเป็นกรรมของเรา เรามีบุญแค่นี้เอง เลิกปฏิบัติ เห็นมั้ยคะ มันเป็นอุปสรรค ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่ากรรมให้ถูกต้อง กรรมคือการกระทำ อย่าลืมนี่คือกรรมในพระพุทธศาสนา นี่เป็นสิ่งที่เราควรจะสอนลูกเด็กๆหรือว่านักเรียนลูกศิษย์ให้เข้าใจความหมายของคำว่ากรรมอย่างถูกต้อง ถ้าเขาเข้าใจถูกต้องแล้ว เขาจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย นี่จริงๆนะคะ แล้วจะดำเนินหรือมีหน้าที่ในการกระทำได้อย่างอิสระ มิเช่นนั้นแล้วเขาก็จะเป็นทาสของการยึดมั่นอยู่ตลอด ฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายของกรรมให้ถูกต้อง และการเวียนว่าย ตายเกิด ซึ่งเราจะพูดกันในปฏิจจสมุปบาท แต่ตอนนี้ก็ขอพูดสั้นๆว่า รู้สึกว่าเมื่อวานจะได้พูดว่าการเวียนว่ายตายเกิดนี้คือการเวียนว่าย ตายเกิด อยู่ในวงของความทุกข์ เพราะกิเลสเกิด ทำกรรม ทำกรรมแล้วมันก็มีวิบากผลของกรรม แล้ววิบากมันก็กระตุ้นให้ย่ามใจ ทำอีกมันก็เลยวนเวียน มีการเวียนว่ายตายเกิดของความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ที่เราเห็นได้เดี๋ยวนี้ เอาที่เราเห็นได้เดี๋ยวนี้ ที่เราเห็นไม่ได้อย่าเพิ่งไปพูดเลย ที่เราเห็นได้เดี๋ยวนี้เรายังไม่สามารถจะเห็นได้มันจริงๆเลย ไม่สามารถจะเข้าใจมันจริงๆเลย เพราะฉะนั้นจึงควรเข้าใจการเวียนว่ายตายเกิดในปัจจุบันนี้คือการเวียนว่ายตายเกิดของความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายใน ถ้าหากว่าเรามองเห็นอย่างนี้ถูกต้อง จะส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างไร ก็คือส่งเสริมให้เกิดกำลังใจ พอการปฏิบัติธรรมเป็นไปได้ ทำได้ เพราะว่าทุกอย่างนั้น ผลอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการประกอบเหตุให้ถูกต้อง ตามกฏอิทัปปัจจยตา ประกอบเหตุให้ถูกต้องก็คือประกอบกรรมการกระทำให้ถูกต้อง
คำถาม : วิธีปฏิบัติทำสมาธิ ในทางพระพุทธศาสนานั้นมีกี่วิธี ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ในปัจจุบันเห็นว่ามีอยู่หลายแนวทาง ทางใดจะนำไปสู่ความสำเร็จมรรคผล ตอบ - ตามที่ได้ยินพูดกันก็มีมากตั้ง 40 กว่าวิธี แล้วก็วิธีอานาปานสตินี้ที่ถามมาว่าเป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติใช่มั้ย ก็ใช่ แล้วก็มีในพระไตรปิฎกตามที่อ่านให้ฟังแล้ว มีมากมายนะคะ แล้วดิฉันก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องไปศึกษาทุกวิธี ถ้าเราพบว่าวิธีไหนเราใช้ได้ ก็น่าจะใช้วิธีนั้นไปเลย ไม่ต้องเสียเวลา
คำถาม : ศาสนาสอนว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เมื่อตนกระทำสิ่งใดไว้ ย่อมได้รับผลตอบแทนเช่นนั้นเสมอ ในหนังสือก็กล่าวว่า การบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน สามารถช่วยแก้กรรมได้เท็จจริงเพียงใด การสะเดาะเคราะห์เป็นพิธีทางพราหมณ์สามารถสะเดาะเคราะห์กรรมได้หรือไม่
ตอบ : ถ้าเราแปลว่ากรรม หรือเข้าใจกรรมว่าการกระทำ ผู้ที่จะสะเดาะเคราะห์ได้ดีที่สุดก็คือใคร คือตัวเราเอง ตัวเราเอง ถ้าเราเปลี่ยนการกระทำที่เกิดจากการที่คิดผิด พูดผิด ทำผิด อันเนื่องจากความยึดมั่น ถือมั่น ในตัวตนเป็นที่ตั้ง แล้วเปลี่ยนการกระทำเสียใหม่เท่านั้นเอง ผลมันก็ย่อมถูกต้องและก็หมั่นทำให้มันถูกต้องอย่างนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ เหมือนการเทน้ำใสลงไปในแก้วน้ำที่สกปรก คงเคยได้ยินมาแล้วใช่ไหมคะ ตัวอย่างอันนี้ แก้วน้ำมันสกปรกอยู่ เราไม่เก่งพอ ถ้าเก่งพอก็คว่ำแก้วสาดน้ำทิ้งหมดเลย แต่นี่เราไม่เก่งพอ เราก็ค่อยๆปฏิบัติทีละน้อยด้วยการเพิ่มน้ำใส รินน้ำใสลงไปทีละน้อย ละน้อย ละน้อย มันก็จะไล่น้ำขุ่นในแก้วน้ำสกปรกในแก้วให้หมดไป แล้วก็หมั่นทำอย่างนั้น จนวันหนึ่งทั้งแก้วก็มีแต่น้ำใส เพราะฉะนั้นเรื่องของกรรม จะเป็นฉันใดขึ้นอยู่กับการกระทำ ถ้าเราสามารถทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้องผลย่อมถูกต้อง ฉะนั้นที่ถามว่าแก้กรรมได้มั้ย แก้ได้เรานี่แหละคือผู้แก้กรรมเอง แล้วถ้าหากว่าไปยึดมั่นในกรรม ผลในทางที่ ที่ไม่ถูกต้องหรือผลร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเองและสังคมเป็นยังไงบ้าง คนในสังคมนี้ไม่น้อยที่ถือว่าเป็นเรื่องของกรรม อุ๊ยของมันต้องเป็นอย่างนั้นเป็นเรื่องของกรรม นี่ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ไม่ยื่นมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็จะทำให้คนๆนั้นไม่คิดหาความเจริญก้าวหน้าแก้ไขปัญหาให้แก่ตัว เพราะไปคิดซะแล้วว่าเป็นเรื่องของกรรม ปัญหามันก็เลยยิ่งทับถมซับซ้อน ฉะนั้นขอให้เข้าใจให้ถูกต้องนะคะ และการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจะแก้ได้มั้ย ถ้าบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานคือปฏิบัติอย่างถูกต้อง แก้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องคือปฏิบัติอย่างงมงายอาจจะยิ่งจมลึกลงไปอีกก็ได้
คำถาม : ควรจะตอบโต้หรือไม่ตอบโต้ หรือทำใจอย่างไรต่อคนซึ่งคดโกงหักหลัง แอบเอาผลงานหรือลอกข้อสอบจนหัวหน้าอาจารย์ชมเชยเลื่อนชั้น ทั้งที่เป็นงานจากความคิดของเรา คนซึ่งมองเห็นว่าเป็นคนไม่ดีเอาเปรียบไม่มีน้ำใจ เห็นแก่ตัว เป็นตัวปัญหาขององค์กรทุจริต หยาบคาย คนที่มีความเห็นต่างจากเราดูหมิ่น ดูแคลนการปฏิบัติธรรม เห็นเรื่องการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องตลก คนที่เยาะเย้ยสมเพชเรา เมื่อเราไม่โต้ตอบใคร จะหาว่าเป็นคนไม่สู้คน แหย น่าสงสาร
ตอบ : นี่เห็นมั้ยคะว่าปัญหาเกิดจากอะไร จากคำถามที่อ่านให้ฟังนี่มองเห็นมั้ยคะว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร เพราะมีเราใช่รึเปล่าคะ เพราะมีเรา มีเราเป็นตัวเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา เราจะตอบโต้เขายังไง เขาว่าเราอย่างนั้นเราเห็นเขาเป็นอย่างนั้น พอมีเรามันก็มีเขา ฉะนั้นถ้าหากว่าจะแก้ปัญหาอย่างนี้ซึ่งเกิดขึ้นในทุกวงการไม่ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือที่ทำงานแม้ในวงสังคม นั่นก็คือจงแก้ที่ใจของเราก่อน อย่าไปยุ่งแก้คนอื่น การปฏิบัติในทางพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงย้ำปฏิบัติที่ใจของเรา ปฏิบัติที่ใจของเรา แก้ไขที่ใจของเรานี่ ถ้าเราแก้ไขใจของเราได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เราจะมองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความใสกระจ่างและการที่จะกล่าวโทษ หรือมองเห็นคนนั้นดี มองเห็นคนนี้ไม่ดี เราจะเห็นว่านี่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจะช่วยชี้ให้เขาเห็นเหตุปัจจัยและก็แก้ไขได้ แต่ทั้งนี้เราเองก็ต้องไม่เห็นแก่ตัว เราเองก็ไม่ทำอย่างนั้น เราจึงจะสามารถช่วยแก้ไขเขาได้ นี่ก็ขอตอบสั้นๆว่า เมื่อใดที่เรารู้จักที่จะมองดูตัวเราเอง แล้วก็มองให้เห็นชัดถึงความยึดมั่นถือมั่นในตัวเรา ถ้าเราเห็นชัดอันนี้และลดละความยึดมั่นถือมั่นลง เขาก็จะลดลง ความเป็นเขาก็ลดลง ความเลวร้ายของเขาก็ลดลง ความเมตตาเพิ่มมากขึ้น และตอนนี้ที่พอจะพูดกันได้ ถ้าในขณะที่จิตเรายังไม่มีความเมตตากรุณาจะแก้ไม่ได้ จะช่วยไม่ได้
คำถาม : บทสวดมนต์กับคาถาต่างกันอย่างไร
ตอบ : บทสวดมนต์ก็ทราบแล้วนะคะเพราะว่าได้รับฟังคำอธิบายต่างๆ แต่คำถามก็คือหมายถึงบทพระคาถาที่มีมากมาย ที่ได้เคยอ่านในหนังสือบางเล่ม หรือบางทีก็มีแจกกัน แล้วก็บอกให้ท่องแล้วก็บอกว่าจะศักดิ์สิทธิ์ช่วยป้องกันอันตรายได้ ซี่งก็มีอยู่หลายท่านหลายคาถาเยอะแยะเลย ซึ่งมีจากท่านอาจารย์ ครูบาอาจารย์ต่างๆที่ท่านสนใจทางนี้ได้ให้เป็นคาถา คำถามที่ผู้ถามก็คงอยากจะถามว่าและคาถาเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์จริงมั้ย ดิฉันอยากจะตอบว่าในขณะที่ท่องคาถาเหล่านั้นจิตของเราอยู่ที่ไหนคะ ในขณะที่สวดมนต์และก็จบท่องพระคาถาบางทีก็สิบ ยี่สิบ หรือเหมือนอย่างในทางฝ่ายมหายานเขาก็ท่องเกี่ยวกับพระกวนอิม ถ้าหากว่าผู้ใดท่องชื่อของท่านพระกวนอิมเป็นเวลาตั้งกี่พัน คือหมายถึงว่าต้องให้ได้กี่พันครั้งในวันหนึ่ง ซึ่งดิฉันจำไม่ได้ นั่นคล้ายๆกับว่าจะมีโอกาสได้ไปสวรรค์เร็ว อะไรทำนองอย่างนั้น ในขณะที่ท่อง ท่องคาถาหรือท่องนามออกนามท่านกวนอิมก็ตาม ในขณะนั้นนี่จิตอยู่ที่ไหนคะ จิตอยู่ที่ไหนคะ ท่องคาถาทำไม ในขณะที่ท่องคาถานั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร อยากจะปลอดภัยใช่มั้ยคะ อยากจะให้คาถานั้นศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวงพร้อมกับให้มีโชค มีลาภ ใจมุ่งมั่นอยู่ตรงนั้นโชคลาภแก่ใครแก่ฉัน ให้ใครรอดพ้นจากอันตราย ฉัน เพราะฉะนั้นความหวังดีแก่ตัวฉัน ความเห็นแก่ตัวฉันมันก็มีกำลังใจใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นในขณะที่ท่องนี่ จิตก็เพ่งอยู่ที่คาถานั้นไม่ได้ไปที่อื่นเพราะฉะนั้นจิตก็มีความสุขเป็นสมาธิ ในขณะนั้นจิตเป็นสมาธิ เพราะจดจ่ออยู่อย่างเดียว พอจิตเป็นสมาธิกำลังมันก็เกิดขึ้น กำลังความมั่นคงมันเกิดขึ้น มันมีความรู้สึกไม่กลัวอันตราย รู้สึกเหมือนกับได้ความคุ้มครอง เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่ามีประโยชน์มั้ย ก็มีประโยชน์ในแง่ของการให้กำลังใจ แต่ถ้าหากว่าเราฝึกปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง กำลังใจมันก็เกิดขึ้นอีกเหมือนกันโดยอัตโนมัติ ก็เลือกเอาก็แล้วกันนะคะ ก็มีนิทานที่เขาเล่า ก็พูดถึงผู้หญิงจีนคนหนึ่งน่ะ แกก็บอกว่าแกเป็นคนใจบุญสุนทาน เคร่งครัดศาสนาแล้วก็ตลอดวันน่ะแกก็ท่องแต่นามของท่านพระกวนอิม แล้วก็ท่องไปก็เคาะระฆังไป ท่องไปก็เคาะระฆังไป แล้วเสียงท่องก็ไม่ใช่เงียบๆ แล้วบ้านก็ไม่ใช่อยู่ห่างๆบริเวณกว้าง เพราะฉะนั้นเพื่อนบ้านก็ต้องพลอยได้ยิน ได้ฟังทั้งเสียงท่องและก็เสียงระฆังไปตลอดวัน ตลอดคืน แล้ววันหนึ่งเพื่อนบ้านคนหนึ่งก็มาเคาะประตูเรียก พอเปิดมาถามว่ามีธุระอะไร ก็ไม่มีธุระอะไรก็ไป เดี๋ยวก็มาเคาะอีก วันนึงก็มาเคาะสองสามครั้ง คนนั้นก็ถาม แหมนี่มาเคาะทำไมหนวกหูรำคาญ ไม่เห็นหรือว่าชั้นกำลังทำอะไรอยู่ นายเพื่อนบ้านก็บอก อ๋อเรียกสองสามครั้งก็รำคาญแล้วไม่นึกว่าพระท่าน พระกวนอิมท่านจะรำคาญบ้างรึ เพราะว่าเอ่ยนามท่าน แหมวันนึงตั้งหลายพันครั้ง นี่ก็เป็นนิทานที่เขาเล่ากันสนุกๆนะคะ เพราะฉะนั้นอันนี่นะคะ ก็ให้เราระลึกดูเถอะว่าเราควรจะทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมแก่กรณี
คำถาม : ในเรื่องของความอดทน ถ้าเราไม่พอใจสิ่งใดแล้วเราก็อดทนต่อสิ่งนั้นโดยการไม่แสดงอาการใดๆ แต่เราก็ไม่ได้ใช้สิ่งเสพติดใดๆช่วยให้เราสบายใจขึ้นในกรณีอย่างนี้จะเหมือนกับเรากลบทุกข์หรือไม่ หรือจะกลายเป็นการเก็บกด
ตอบ : ถ้าหากว่าเรารับเอาไว้ รับเอาไว้นะคะ แล้วไม่แสดงออก แต่ในขณะเดียวกัน ข้างในมันอึดอัด มันแน่นมากยิ่งขึ้น นั่นคือการเก็บกด แล้วก็ไม่ควรทำเพราะว่าจะทำให้วันนึงมันระเบิดขึ้นมา แล้วก็เป็นอันตราย วิธีที่เราฝึกปฏิบัตินี่เป็นวิธีที่เราจะปล่อยออก แต่เป็นวิธีการปล่อยออกด้วยสมาธิและปัญญาซึ่งไม่ทำอันตรายแก่บุคคลใด กลับจะยิ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีความแจ่มใสยิ่งขึ้น วิธีนี้อาจจะเหมาะกว่าดีกว่านะคะ
คำถาม : การพูดโกหกหรือพูดเพ้อเจ้อ ถ้ามีเรื่องไม่สบายใจอะไร แต่ไม่ยอมบอกพ่อแม่เมื่อท่านถาม เพราะเกรงว่าท่านจะไม่สบายใจอย่างนี้ผิดมั้ย
ตอบ : ถ้าเก็บเอาไว้ในใจคนเดียวแล้วมันจะระเบิดนะคะ แล้วปัญหาก็ทับถม พูดบ้างดีกว่า ถ้าเรารู้ว่าท่านถามด้วยความเห็นใจอยากจะช่วยให้คำปรึกษาแนะนำ แล้วก็ขึ้นชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นมิตรอันประเสริฐของลูกเพราะฉะนั้นพูดให้ฟัง เล่าให้ฟัง ขอคำแนะนำจากท่านแล้วเราจะรู้สึกสบายขึ้นเป็นอันมากนะ
คำถาม : ถ้าพูดปลอบใจผู้ที่มีความทุกข์ ทั้งที่ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผิดหรือไม่
ตอบ : นี่แสดงว่ากำลังอยู่ในวิจิกิจฉา เพราะฉะนั้นอย่าไปแนะนำใครเลย เราหาสิ่งที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้จิตเราอยู่ในนิวรณ์นี้ก่อน เคลียร์อันนี้ออกไปให้เกลี้ยงเสียก่อน แล้วถึงค่อยไปช่วยเหลือแนะนำผู้อื่นนะคะ
คำถาม : พลังจิตเป็นสิ่งเร้นลับ ชาวตะวันตกกำลังค้นคว้า พบหลักฐานมากมายในการใช้พลังจิตให้เป็นประโยชน์ อยากทราบความเห็นว่าเป็นอย่างไร
ตอบ : อันนี้นะคะเรื่องของพลังจิตนี่ อย่างการที่เรามาฝึกปฏิบัติธรรม เราก็ฝึกเพื่อที่จะมาปรับปรุงแก้ไขจิตที่หวั่นไหวซวนเซซัดส่ายวุ่นวายให้เป็นจิตที่ตั้งมั่น หนักแน่น มั่นคง เข้มแข็งยิ่งขึ้น นี่ก็เท่ากับเป็นการสร้างพลังจิต คือทำให้พลังจิตเกิดมีขึ้น แต่ว่าเป็นการสร้างพลังจิตอย่างใช้ปัญญา เพราะเราจะพูดว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรมีทางที่จะไปได้ ตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ เราไม่ได้แสแสร้งที่จะพูดสิ่งที่ผิดไปจากความจริง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพิสูจน์ได้ ว่าถูกต้องหรือไม่ด้วยใจของตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราปฏิบัติอย่างนี้ พลังจิตมันเพิ่มมากขึ้น ถ้าคนที่อยู่ด้วย แล้วก็เป็นคนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง จะร่วมมือกันทำอะไรพลังมันก็อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของพลังจิตนี้ไม่ต้องไปค้นคว้าที่ไหนก็ได้ ค้นคว้าจากตัวของเราเอง โดยเฉพาะการปฏิบัติในหมวดที่ 3 จิตตานุปัสสนาภาวนา นั่นแหละเป็นการฝึกหัดเพื่อทดสอบพลังจิตของตน แต่เกิดจากการฝึกปฏิบัติของเราเองแต่ละคนว่าเราได้ฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้อง และก็อบรมเพื่อสร้างสรรค์พัฒนากำลังจิต หรือพลังจิตให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดไม่ต้องไปหาที่ไหนนะคะ
คำถาม : เรื่องของซิกส์เซ้นส์คือสัมผัสที่หก ผู้รู้ท่านบอกว่าเป็นสัญญาขันธ์ที่มีมาแต่เดิม ไม่เข้าใจ แต่เคยประสบกับตัวเองบ่อยๆว่าสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ อยากขอทราบความเห็นในเรื่องนี้
ตอบ : ดิฉันก็ไม่มีความเห็นเพราะไม่ค่อยมีซิกส์เซ้นส์ซักเท่าไหร่นะคะ เพราะฉะนั้นก็สำหรับดิฉันก็พยายามอยู่กับการกระทำที่ถูกต้อง ถ้าสิ่งใดที่มีปัญหาเกิดขึ้น ย้อนไปดูว่าเราทำอะไร มันถึงเป็นปัญหา หรือถ้าอะไรมันดีก็ย้อนไปดูว่าเราทำอะไรที่มันดี แล้วเราก็รักษาสถิติของสิ่งเหล่านั้นไว้ เพื่อที่จะเป็นข้อมูลเป็นแบบฝึกหัดในการที่เราจะดำเนินชีวิตต่อไป แล้วถ้าหากว่าเราสะสมเหตุ คือหมายความว่าสะสมบทเรียน สถิติ ข้อมูลที่ถูกต้อง นี่มันก็เป็นเสมือนกับการสะสมประสบการณ์ที่จะทำให้เกิดความสามารถในซิกส์เซ้นส์ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว
คำถาม : การที่จะทำความดีช่วยเหลือคนอื่น เช่น จูงคนตาบอดข้ามถนน เสียสละที่นั่งบนรถประจำทางให้คนแก่ ก็รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจชื่นชมยินดี ในการทำความดีนั้น นี้เป็นการยึดมั่นถือมั่นในความดีหรือไม่
ตอบ : ก็ขึ้นอยู่กับในขณะที่ทำ อิ่มเอิบอิ่มใจพอใจถูกต้องก็ควรจะเป็นอย่างนั้นนะคะ เพราะได้ทำสิ่งที่ดีอย่างไม่เห็นแก่ตัว นี้ไปอวดเขารึเปล่า พอไปถึงบ้านหรือไปถึงมหาวิทยาลัยก็ไปอวดกับเพื่อนกับคุณพ่อคุณแม่ แหมวันนี้ลุกให้คนแก่นั่ง แหมรู้สึกดีใจ แล้วก็อวดกับคุณพ่อคุณแม่ไม่พอ ต้องอวดกับเพื่อน ต้องอวดกับเพื่อนบ้านอวดต่อไปเรื่อย ถ้าอวดอย่างนี้แสดงว่าทำอย่างมีตัว ไม่ได้มีความเมตตากรุณาจริงๆ ทำอย่างยึดมั่นถือมั่น ทำเพราะอยากให้เขาชมว่าเราดี นี่ควรแก้ไข แต่ถ้าทำเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เราแข็งแรงกว่าเราก็สมควรที่จะทำ เป็นหน้าที่ที่ควรจะช่วยเหลือซึ่งกัน ทำแล้วก็ลืมซะด้วยซ้ำไปว่าทำไปแล้ว แต่พบอีกเมื่อไหร่ก็ทำอีก อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าทำอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วถ้าทำอย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นการทำความดีเพื่อความดี เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัวนะคะ
คำถาม : ถ้าหากพบคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ สามารถจะแนะนำช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง
ตอบ : ถ้าหากเขามีอาการมาก ก็ต้องแนะนำให้เขาไปหาจิตแพทย์
เวลาหมดแล้วนะคะ คำถามยังอยู่อีกเยอะไม่ทราบว่าวันนี้จะตอบหมดมั้ย นี่ก็พยายามที่จะเคลียร์ปัญหาเดี๋ยวจะน้อยใจ ว่าถามแล้วไม่ตอบ ตั้งใจจะตอบทุกคนนะคะ ถึงเวลาพักซะแล้วล่ะคะ เชิญพักได้