แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
00:45 คุณแม่คะ วันนี้ดิฉันขอเรียนถามคุณแม่ว่า จริงหรือไม่ที่ว่าสิ่งมีชีวิตในโลกเกิดมาเพื่อใช้กรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ธรรมะสวัสดีค่ะ จริงหรือไม่ที่ว่าสิ่งมีชีวิตในโลกเกิดมาเพื่อใช้กรรม พอฟังคำถามแล้วนะคะก็อยากจะบอกว่าถ้าผู้ใดคิดว่าเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม รู้สึกมันชวนให้เศร้าหมอง รู้สึกงั้นไหมคะ โอ้โห ชีวิตนี้ไม่เป็นอิสระเลยถ้าเกิดมาเพื่อใช้กรรม แล้วก็ถ้าจะพูดไป ก็จะต้องตามด้วยประโยคว่า ไม่รู้เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อใช้กรรม แล้วมันดูเป็นชีวิตที่อับจนเหลือเกิน อับจนหมดหนทาง มันตันไปหมด เพราะว่ามันเป็นชีวิตเหมือนกับว่าเป็นลูกหนี้ใช่ไหม เกิดมาเป็นลูกหนี้เขา มันต้องใช้หนี้เขาไปเรื่อย มันชวนให้หดหู่เศร้าหมองเพราะไม่รู้ว่า ในชีวิตนี้มีหนี้อยู่สักเท่าไหร่ ประเดี๋ยวเจ้าหนี้มาทวงเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว ก็เลยต้องนอนสะดุ้งอยู่ตลอดเวลา ไม่อยากให้คิดอย่างนั้นนะคะ
ผู้ดำเนินรายการ
02:02 ค่ะ แต่ว่าคุณแม่คะ ส่วนใหญ่คนก็จะพูดอย่างนี้ว่า เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม ชดใช้หนี้กรรม อะไรอย่างนี้ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
แล้วก็ถามจริงๆ เถอะ ที่พูดอย่างนี้ รู้จริงรึเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ
ไม่จริงค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
อ้าว ไม่จริงแล้วก็พูดไปอย่างนั้นเพื่ออะไร เพื่อทำให้จิตใจตัวเองเศร้าหมองยิ่งขึ้น ทับถมตัวเอง ทำให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น แทนที่จะมีชีวิตอยู่กับความสุข ความสว่าง ความเจริญก้าวหน้า กลับหดหู่เศร้าหมอง หมดกำลังใจไปเลย เพราะฉะนั้นการพูดอย่างนี้หรือคิดอย่างนี้ เห็นจะต้องบอกว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนะคะ อย่าคิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้เป็นการทำลาย เป็นการบั่นทอนชีวิตของตนเอง แทนที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อก้าวเดินต่อไป กลับนั่งล้มแผละ ไม่มีแรง แล้วก็มีแต่จะถอยหลัง หรือจมดินลงไปเลย แล้วมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นถ้าคิดอย่างนี้มันจะเป็นชีวิตที่ไม่เป็นอิสระ เหมือนกับเป็นทาส ถูกอะไรกดขี่บังคับอยู่ตลอดเวลา ชีวิตมันจะมืดมนมาก ไม่มีความสว่างแจ่มใส ควรจะเปลี่ยนความคิดเสียใหม่นะคะ ท่านผู้ใดที่คิดอย่างนี้โปรดอย่าคิด นี่แต่การลงโทษตัวเอง อยากจะเสนอแนะว่า หรือให้คำตอบว่า การที่ได้เกิดมาในโลกนี้นี่ คือเกิดมาเป็นคน เกิดมาเป็นมนุษย์ ควรจะมีความเข้าใจว่า เราเกิดมาเพื่อศึกษา เพื่อเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ มีทุกคนละค่ะ เป็นหน้าที่ทีเดียว เกิดมาเพื่อศึกษาและเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ มันถึงจะคุ้ม พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแสวงหาตลอดระยะเวลาหกพรรษาที่ทรงอยู่ในป่า ถึงแต่เรื่องของความทุกข์ เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่า คนเราแต่ละคนกว่าจะได้เกิดมาเป็นคนนี่ ไม่ใช่ของง่ายนะคะ อย่าคิดว่าการเกิดมาเป็นคนนี่ง่ายๆ แท้ที่จริงยากมากเลย แม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นการยากมาก ที่อะไรต่ออะไรมันจะผสมกันออกมาเป็นตัวคน และก็เป็นตัวที่สมมติเรียกกันว่าเรานี่ ไม่ใช่ของง่ายเลย เป็นของยากมาก เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งใดที่ได้มาโดยยาก มันก็มีค่า มีค่าอย่างยิ่ง จะต้องทะนุถนอม จะต้องรักษา ประคับประคองให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตลอดปลอดภัย หรือพูดอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอนตลอดพระชนม์ชีพ ก็คือเรื่องไม่มีทุกข์ คือท่านสอนเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ ก็คือทรงสอนว่าเกิดมายังไงถึงจะอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ นี่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน แล้วก็อยากจะบอกด้วยว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ที่เขาพูดกันถึงสิทธิมนุษยชนน่ะนะคะ ตามหลักของสหประชาชาติหรืออะไรก็ตามทีที่เขาเขียนลงในกฎบัตรสหประชาชาติ นั่นเป็นสิทธิมนุษยชนที่เขากำหนดขึ้น แล้วก็มองดูเหมือนกับว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึงเท่าถึงกัน แต่ความเป็นจริงไปดูแล้วมันก็ยังมีอะไรที่เหลื่อมล้ำ แต่สิทธิมนุษยชนที่ทุกคนนี่มีอยู่โดยธรรมชาติและเท่าเทียมกัน นั่นก็คือสิทธิของการเกิดมาอย่างที่จะไม่ต้องมีความทุกข์ โปรดลองย้ำสิ่งนี้แก่ตัวเอง แล้วก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เกิดมาเพื่อใช้กรรม แต่มันเกิดมาเพื่อ กรรมคือการกระทำ ก็เพื่อจะมาเรียนรู้วิธีการกระทำอย่างใด จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อกระทำแล้วความทุกข์ไม่เกิดขึ้นแก่ใจของตนเอง การกระทำเช่นนั้นที่ทำแล้วจะไม่เกิดความทุกข์ ก็คือการกระทำที่พูดโดยสั้นที่สุดก็คือ ความสามารถในการทำหน้าที่ทุกหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง อย่างเกิดประโยชน์ ตั้งแต่หน้าที่ของความเป็นลูกใช่ไหมคะ เกิดมาทีแรกก็เป็นลูกที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ พ่อแม่ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ไปเป็นนักเรียน ไปเป็นลูกศิษย์ ครูก็รู้สึกสอนได้สบายอกสบายใจ ไม่รู้สึกต้องเกรงกลัวลูกศิษย์ หรือจะไปเป็นเพื่อน หรือจะเป็นพลเมือง หรือจะเป็นอะไรก็ตามที ทำหน้าที่นั้นได้อย่างถูกต้อง แล้วก็เกิดประโยชน์ จนกระทั่งเกิดความภูมิใจในตัวเอง สามารถเคารพตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ หรือไหว้ตัวเองได้ ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านชอบพูดเสมอ เคารพตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้ คนไหนที่สามารถยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ อย่างเต็มอกเต็มใจ คนนั้นรู้ว่าสิ่งที่เราได้กระทำไปมีคุณค่า มีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เฉพาะแก่ตัวเรา แต่แก่ส่วนรวม แก่ผู้อื่น แก่เพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้้นก็ภูมิใจ ชีวิตนี้เกิดมาชีวิตหนึ่งเป็นชีวิตที่มีคุณค่า มีความหมาย มีประโยชน์ต่อผู้อื่น มันจึงเคารพตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ เพราะฉะนั้นชีวิตอย่างนี้เป็นชีวิตที่เป็นไท ท ทหาร สระไอ เป็นไทคือเป็นอิสระแก่ตนเองอย่างแท้จริง แล้วก็เป็นชีวิตที่คุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมา เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่า จริงหรือไม่ที่ว่าสิ่งมีชีวิตในโลกเกิดมาเพื่อใช้กรรม คำตอบก็คือไม่จริง ที่ไปคิดอย่างนั้นเพราะคิดผิด
ผู้ดำเนินรายการ
08:33ค่ะ นี่ก็เพิ่งได้รับความกระจ่างจากคุณแม่ เพราะว่าฟังที่ใคร ๆ เขาพูดมาว่า ชีวิตเรานี้นะเกิดมาเพื่อรับกรรมนะ ก็เลยคิดมาอย่างนี้ตลอดเลยค่ะคุณแม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ก็อันที่จริงนี่ มนุษย์นี่เขาถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐใช่ไหมคะ ประเสริฐตรงไหน ประเสริฐตรงที่มีมันสมอง มีสติปัญญา แล้วมันเรื่องอะไรพอใครพูดแล้วก็เชื่อปุ๊บ คือได้ยินปุ๊บเชื่อปั๊บ แล้วก็รับเอามาใส่เข้าไปในใจ ทั้งที่มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดความเจริญงอกงามแก่ชีวิตเลย มันน่าควักมันสมองทิ้ง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังใครพูดอะไรอย่างไรมา เอามาใคร่ครวญก่อน เอามาคิดก่อน ด้วยสติปัญญา แล้วจึงค่อย ๆ พิจารณาว่า นี่ควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ หรือควรจะมองคิดในแง่มุมอื่นที่มันจะเกิดเป็นประโยชน์แก่ชีวิต ฉะนั้น ก็ไม่จริงนะคะที่เกิดมาเพื่อใช้กรรม แต่เกิดมาเพื่อศึกษาและเรียนรู้ว่า จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์ ถ้าทำได้อย่างนี้นี่แหละ คุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมา
ผู้ดำเนินรายการ
09:40ก็ได้รับความกระจ่างจากคุณแม่อย่างมากเลยค่ะ ไม่งั้นก็ยังเข้าใจผิด ๆ อยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ถ้ากระจ่างแล้วก็อย่าให้ผิดอีกนะคะ
ผู้ดำเนินรายการ
09:55 ค่ะ คุณแม่คะ การฝึกทำสมาธินี่นะคะ บางคนฝึกมาแล้วนี่ห้าหกปี แต่ก็ไม่ก้าวหน้า บางครั้งกลับหงุดหงิดมากขึ้น ทำไม่ถูกวิธีรึเปล่าคะ แล้วก็เพราะอะไรคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
อันนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำสมาธิใช่ไหมคะ ก็อาจจะมีหลายท่านที่มีความรู้สึกในลักษณะเดียวกันที่มาปฏิบัติสมาธิภาวนา บางท่านอาจจะนานมากกว่าห้าหกปีก็ได้ แล้วก็มีความรู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า แต่ว่าอยากจะขอติงตรงนี้สักนิดนึง คือได้ยินมีผู้พูดหลายคนเหลือเกินบอกว่า โอ๊ย ปฏิบัติสมาธิมานาน ที่ว่านานนี่ บางคนเป็นสิบปี กว่าสิบปี แต่ไม่ก้าวหน้าเลย ก็ถ้าจะย้อนถามไปว่า สิบปีหรือกว่าสิบปีนี่ ปฏิบัติทุกเวลารึเปล่า ทุกวัน ทุกชั่วโมงรึเปล่า ก็เปล่า ในสิบปีนั่นน่ะ ถ้ารวมเวลาปฏิบัติจริงจริงทีเดียว อาจจะได้สักเดือนเดียวใช่ไหมคะ อ้าว วันนี้ลองนั่งสมาธิสักสิบนาที แล้วก็ทิ้งไป เดือนนั้นนั่งอีกสักครึ่งชั่วโมง มันไม่ได้ติดต่อ แล้วก็ไม่รู้ว่าในระหว่างที่ลืมตาอยู่ไม่ได้นั่งสมาธินี่ควรจะระมัดระวังควบคุมจิตอย่างไร จิตจึงจะอยู่ในสภาวะของความเป็นสมาธิ แม้จะไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นการที่จะอ้างจำนวนปีนะคะ หรือเวลาของการทำสมาธิ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นพยานยืนยันว่า การทำสมาธินั้นจะก้าวหน้าตามเวลาที่ผ่านไป แต่มันจะก้าวหน้าอยู่ที่การฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จริงจัง และควบคุมจิตให้อยู่ในภาวะของความเป็นสมาธิ ไม่ดิ้นรนระส่ำระสายอยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตา ฉะนั้นคำถามที่ถามว่า ฝึกทำสมาธิมาตั้งห้าหกปีไม่ก้าวหน้า บางครั้งกลับหงุดหงิดมากขึ้น ทำไม่ถูกวิธีรึเปล่า ก็แน่นอนล่ะ ไม่ถูก มันถึงเป็นอย่างนั้น เพราะว่าการทำสมาธินั้นทำทำไม อันนี้สำคัญมากเลยนะคะ จุดแรกก็คือจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เรามาทำสมาธิเพื่ออะไร เรามาทำสมาธิก็เพราะเรารู้แล้วว่า สภาวะของจิตที่มันดิ้นรนระส่ำระสาย แล้วก็สับสน ไม่สงบนิ่งเลย มีแต่ความวุ่นวาย เป็นจิตที่ขาดคุณภาพ เป็นจิตที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แล้วก็เป็นจิตที่อ่อนแอ อ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง ไม่มีกำลัง ที่จะทำการงานหรืออะไรให้เป็นผลสำเร็จตามที่ปรารถนาได้ นี่รู้แล้วถึงโทษทุกข์ของภาวะของจิตที่สับสนกระวนกระวายอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงได้มาหาหรือมาฝึกวิธีการทำสมาธิ ก็คงจะได้รับการบอกเล่าว่า เมื่อมาฝึกทำสมาธิแล้ว จิตที่ดิ้นรนระส่ำระสาย หลง ๆ ลืมๆ เลอะๆ นั้น จะเป็นจิตที่สงบ นิ่ง แล้วก็มีความมั่นคง แน่วแน่ มีสติที่จะยับยั้งทำอะไร ก่อนที่จะทำอะไรก็จะรู้จักคิดให้ถูกต้องซะก่อน เพราะฉะนั้นก็โปรดเข้าใจว่า การมาฝึกสมาธิเพื่อสิ่งนี้ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น และผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำสมาธินั้น จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นที่ถามว่าทำไม่ถูกวิธีรึเปล่า ก็คงจะไม่ถูกวิธี และความไม่ถูกวิธีนั้น ก็คงจะเต็มไปด้วยความกังวลด้วยในขณะที่ทำสมาธิ ไม่ได้ตัดหรือว่าสลัดความวิตกกังวลที่หมักหมมอยู่ในใจ อาจจะกังวลกับเรื่องส่วนตัว กับการงาน หรือสารพัดเรื่อง แล้วก็พามันมานั่งสมาธิด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพาความกังวลต่างๆ มานั่งสมาธิด้วย จิตสงบไม่ได้ ถึงแม้จะนั่งไปนานกี่ชั่วโมงก็ตาม ตัวนั่ง นั่งนิ่งอยู่หรอก แต่จิตใจนั่นไปเที่ยวทั่วโลก มันระส่ำระสายไปตลอดเวลา ไม่มีประโยชน์อะไร อย่างที่บางท่านท่านบอกว่า อย่างนี้ไปนอนยังดีกว่า ไปนอนยังจะมีแรงมากกว่าที่จะมานั่งให้ระส่ำระสายอยู่อย่างนั้น แล้วก็ร้อนรน นี่แหละมันถึงหงุดหงิด มันหงุดหงิดเพราะว่ามานั่งสมาธิหวังว่าจะได้สงบแต่ไม่สงบ ทำไมถึงไม่สงบ เพราะทำไม่ถูกวิธี เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิให้ถูกต้องว่า เพื่อความสงบ เพื่อความสงบของจิต เพื่อความนิ่ง ความมั่นคง ความว่องไว ความบริสุทธิ์แจ่มใสที่จะเกิดขึ้นแก่จิต ฉะนั้นผู้ที่จะมาปฏิบัติสมาธิ ข้อแรกจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการปฏิบัติให้ถูกต้องดังที่ได้พูดกันมาแล้ว หรือตามที่ท่านได้เรียนรู้จากท่านครูบาอาจารย์ที่ได้สอนให้แล้ว ก็ทำความเข้าใจในวิธีของการปฏิบัตินั้นให้ถูกต้อง เมื่อรู้วิธีถูกต้องก็ไม่ต้องยึดมั่น แต่เรารู้ว่าตอนนี้เราจะทำอะไร เริ่มต้นอย่างไรแล้วก็ต่อไปอย่างไร นอกจากนั้นเมื่อรู้วิธีถูกต้องแล้ว ก็ต้องเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมก่อนการปฏิบัติสมาธิ นี่สำคัญมากนะคะ รู้วิธี รู้ทฤษฎี แต่ไม่เตรียมพร้อม เหมือนอย่างทหารนั่นแหละ รู้วิธีฝึกยุทโธปกรณ์ยุทธวิธีจะออกต่อสู้ แต่ไม่มีการเตรียมพร้อม อิเหละเขะขะ ศัตรูข้าศึกมาก็ถูกเขาไล่กระเจิงไปหมด เพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมทั้งกายทั้งใจสำคัญมาก เตรียมกายเตรียมอย่างไร ก็คือ อย่าให้หิว อย่าให้ง่วง อย่าให้เหนื่อย อย่าให้เพลีย เรียกว่าให้กายนี้เป็นกายที่กระฉับกระเฉง ว่องไว แล้วก็ตื่นตัว เสื้อผ้าไม่ให้คับในขณะที่จะนั่งสมาธิ แล้วก็สถานที่ที่จะนั่งสมาธิ ก็ให้มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นสัปปายะสักหน่อยนึงที่เอื้ออำนวยแก่การนั่งสมาธิ ทีนี้ใจที่จะต้องเตรียมสำคัญมาก นั่นก็คือ เตรียมใจให้ปลอดโปร่ง ให้พร้อมที่จะรับการนั่งสมาธิ นั่นก็คือต้องสลัดสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลทั้งหลายออกไปให้หมด ไม่ว่าเรื่องของอดีต หรือเรื่องของอนาคต ไม่เอาทั้งสิ้น อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันขณะนี้คือเรากำลังจะนั่งสมาธิ ฉะนั้นกวาดสิ่งที่มันรกรุงรังอยู่ในใจออกไปให้เกลี้ยง ให้เป็นจิตที่ว่าง ให้เป็นจิตที่พร้อมที่จะทำสมาธิ ให้เป็นจิตที่ผ่องใส แล้วก็มีความยินดีเบิกบานในการที่จะปฏิบัติสมาธิ อย่าทำใจให้รู้สึกว่า ถึงเวลาอีกแล้วจะต้องมานั่งบังคับตัวเอง ไม่น่าเลย ไม่น่ามานั่งทำเลย นี่อย่างนี้มันเริ่มต้นอย่างนี้ผิดแล้ว เริ่มต้นด้วยใจที่กังวล ด้วยใจที่มองไปในทางลบ เพราะฉะนั้นจิตมันก็ไม่รับ ไม่เปิด มันปิด การเตรียมใจจึงสำคัญมากทีเดียว ให้พร้อม พอเตรียมกายเตรียมใจพร้อมในการปฏิบัติ ก็เริ่มปฏิบัติด้วยใจที่เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง แจ่มใส อิสระจากอะไร ก็อิสระจากสิ่งที่เป็นเครื่องกั้นที่จะทำให้จิตนี้ไม่สามารถจะทำการงาน หรือโดยเฉพาะการทำสมาธิภาวนาที่กำลังจะปฏิบัตินั้นสำเร็จลุล่วงได้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคนี้ก็คือสิ่งที่ท่านเรียกว่านิวรณ์ คุณประสบพรเคยคุ้นเคยกับคำว่านิวรณ์ไหมคะ รู้จักไหมคะนิวรณ์ ก็เรื่องของนิวรณ์นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะคะ เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักให้จริงๆ รู้จักนี่คือทำความรู้จัก ทำความรู้ ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง แล้วก็ให้มองเห็นด้วยว่า จิตใจใดก็ตามที่ไม่เป็นอิสระจากนิวรณ์ จิตนั้นจะไม่มีวันเข้าถึงสมาธิภาวนาได้เลย จะได้ก็เพียงประเดี๋ยวประด๋าว อึดใจหายแล้ว สมาธิหลุดแล้ว ไปอย่างอื่นแล้ว นี่เพราะนิวรณ์เข้ามารบกวน เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่านิวรณ์นี่เป็นเครื่องกั้นความสำเร็จทุกชนิดเลย คือเป็นเครื่องกั้นที่จะไม่ให้บุคคลเข้าถึงความดี ความงาม ความสำเร็จ ความสุขใดๆ ทั้งสิ้น นี่ความร้ายของนิวรณ์ จึงต้องรู้จักมันให้ดี ทั้งในทางโลกและทางธรรม คนที่ทำงานแล้วก็ไม่ก้าวหน้า ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ทำอะไรก็ซ้ำซากย่ำเท้าอยู่นั่น ลองไปให้เขาศึกษาเปิดใจของเขาออกมา ก็จะมองเห็นในใจมันเต็มไปด้วยนิวรณ์ พอนั่งลงจะทำงานจะเขียนหนังสือ เขียนได้สักห้าบรรทัด แค่นั้นน่ะ หนึ่งชั่วโมงได้ห้าบรรทัด แล้วมันไปไหน จิตใจนั้นไปไหน ก็ไปอยู่กับนิวรณ์ หยิบปากกามาตั้งท่าเขียน แต่เปล่าหรอก ใจไม่ได้คิดที่จะเขียน แต่ใจไปอยู่กับความวิตกกังวลอารมณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ขอใช้เวลาที่จะอธิบายเรื่องนิวรณ์นะคะสักหน่อย เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านที่สนใจจะปฏิบัติสมาธิภาวนาจริงๆ ที่บอกว่าให้เตรียมใจให้พร้อมก่อนการปฏิบัติสมาธิ นั่นแหละคือสำรวจดูว่าในใจนั้นมีนิวรณ์อะไรที่เข้ามารบกวนอยู่บ้าง ขับไล่มันไปๆ นิวรณ์ทั้งหมดนั้นมีอยู่ห้าตัวด้วยกัน นิวรณ์แรกก็คือกามฉันทะ คงเคยได้ยินแล้ว ถ้าหากว่าจิตใจของผู้ใดถูกครอบงำด้วยกามฉันทะ ก็คือความพอใจในเรื่องของกาม ความพอใจในเรื่องของกามนี้ไม่ได้หมายถึงแต่เรื่องของกามารมณ์ คือเรื่องของทางเพศเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงเรื่องของกามคุณทั้งหลาย กามคุณห้า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ล้วนแล้วแต่ติดอยู่ในสิ่งที่เป็นสุข รูปก็จะเอารูปสวยๆ รสก็เอารสอร่อย กลิ่นก็เอากลิ่นหอม สัมผัสก็ต้องอ่อนโยนนุ่มนวลถูกใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่ก็ติดอยู่ในกามคุณห้า เพราะฉะนั้นถ้าในขณะที่นั่งสมาธิ นึกถึง โอ้โห เมื่อวานนี้เราไปกินเลี้ยง แหม อาหารโต๊ะนี้มันอร่อยจริงๆ รสชาติมันยังมาติดปากอยู่ในขณะที่นั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นแทนที่จิตนี่จะอยู่กับสมาธิ เช่น ถ้าใช้คำภาวนาว่าพุทโธ มันก็กลับไปอยู่กับอร่อยๆๆ ถูกใจ หรือนึกถึงคนสวยที่เพิ่งจะได้พบปะจากมา แหม ทำไมมันช่างสวยหยดย้อยอย่างนั้น มันมีเสน่ห์จริงๆ ก็แทนที่จะภาวนาหรือว่าดูลมหายใจเข้าออก มันกลับหายใจเป็นว่า แหม สวยๆๆ อยากได้ๆๆ นี่แหละคือกามคุณห้า กามฉันทะที่มันจะเข้ามารบกวนจิตใจ ถ้าไม่สลัดมันออกเสียก่อนแล้วละก็ จะไม่มีวันที่จะออกไปพ้นได้ หรือจิตจะสงบได้ ตัวที่สองก็คือพยาบาท พยาบาทนั่นก็คือความหงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ ขัดเคือง แม้แต่ความรำคาญ ความไม่ชอบใจนิดๆหน่อยๆ ก็รวมอยู่ในพยาบาท พยาบาทนี่ก็คือน้องของโทสะ น้องของความโกรธนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าในขณะที่พอนั่งสมาธิ จิตมันปุดๆๆ อยู่กับความขัดเคืองอะไรที่ไม่ถูกใจมาแต่ก่อนนี่ ไม่สามารถจะขับไล่มันได้ จิตนั้นมันก็ไม่เย็นได้ ตัวที่สามก็คือถีนมิทธะ ถีนมิทธะก็คือความง่วงเหงาหาวนอนอย่างหนึ่ง หรือความอ่อนเปลี้ยเพลียใจ มันละเหี่ยไปหมด มันมองอะไรมันก็หดหู่ เศร้าหมอง ไม่มีอะไรเบิกบานใจ มันมืออ่อนเท้าอ่อน หมดแรง ไม่อยากทำอะไร เหมือนอย่างตื่นนอนขึ้นแต่เช้า ทั้งๆ ที่เมื่อคืนก็นอนตั้งหลายชั่วโมง แต่พอลืมตามันไม่อยากลุกขึ้น ไม่มีแรง ไม่อยากจะออกไปพบอะไรทั้งนั้นวันนี้ นี่แหละคือลักษณะอาการของถีนมิทธะ แล้วก็อันตรายมาก ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จะกลายเป็นคนที่ไม่มีศักยภาพเลย ขาดสมรรถภาพในการทำการงาน ในการดำรงชีวิตทุกอย่างทุกประการ จะกลายเป็นคนที่ปล่อยตัวเองนี่ให้จมอยู่ในปลักของความมืดหรือความเศร้าหมอง ชีวิตก็เลยจะอับเฉาตลอดไป ต้องศึกษาให้ดีๆ ทีเดียว เรื่องของถีนมิทธะ นิวรณ์ที่สี่ก็คืออุทธัจจกุกกุจจะ อุทธัจจกุกกุจจะนี่ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ในขณะที่ถีนมิทธะนี่มันจิตตกนะคะ มันตกลงไปสู่ความเศร้าหมองหดหู่ อุทธัจจกุกกุจจะนี่มันลอยขึ้นบนฟ้า มันล่องลอย มันสติเฟื่อง มันคิดฟุ้งเฟ้อ เหลวไหล เลื่อนเปื้อนไปเรื่อยไม่มีจบ แต่ว่าทำใจเหมือนกับค่อนข้างมีความสุข แต่ที่จริงมันเลอะ มันไม่ใช่สุขจริง ตัวที่ห้าก็คือวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย อันนี้มาทีหลังคือมาเป็นตัวที่ห้า แต่ที่จริงมีความร้ายกาจมากที่สุด ตัววิจิกิจฉานี่ เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันรบกวนจิตใจของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา ให้สังเกตดูเถอะ ตั้งแต่ลืมตามาทีเดียว มันมีวิจิกิจฉาอยู่ในตลอด อยู่ในชีวิต แต่ไม่ได้คิด เช่น จะลุกดีหรือยัง แหม อากาศกำลังสบาย อีกสักนาทีนึงได้ไหม นี่คือวิจิกิจฉา เข้าร้านอาหารจะกินอะไรดี นึกไม่ออก จะสั่งอะไรดี ดูแล้วดูเล่า พูดซ้ำพูดซากอยู่นั่น นี่คือวิจิกิจฉา แล้วก็สะสมเอาไว้ทีละน้อยๆ บอกว่าไม่เป็นไรๆ ทีนี้มันสะสมมากเข้าก็เลยกลายเป็นคนที่มีความลังเลสงสัย ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ทำอะไรตัดสินใจไม่ได้ มันร้ายกาจไปถึงชีวิตอย่างนั้น แล้วเข้ามาอยู่ในการปฏิบัติธรรม ก็เป็นไปไม่ได้ นี่พูดอย่างรวบรัดมากในเวลาที่จำกัด แต่ให้เห็นเถิดว่า ถ้าจิตใจใดตกอยู่ในกามฉันทะ ซึ่งท่านเปรียบเหมือนน้ำเจือสี มองดูสีต่าง ๆ แหม มันก็สวยดี ก็เลยหลงเพลิดเพลินไปในเรื่องของกามคุณ รวมทั้งกามารมณ์ พยาบาทท่านเปรียบเหมือนน้ำเดือด ก็ร้อนปุดๆ เผาไหม้อยู่ในใจตลอดเวลา ถีนมิทธะท่านเปรียบเหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่ เพราะฉะนั้นจิตที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่ มันก็มืด มันก็มองอะไรไม่เห็น อุทธัจจกุกกุจจะท่านเปรียบเหมือนน้ำที่มีระลอกคลื่นพลิ้วๆๆ ไม่ใช่คลื่นใหญ่ เป็นคลื่นที่พลิ้วๆๆ มา มองดูมันก็สวยดี แต่มันก็อาจเวียนหัวได้นะคะ ส่วนวิจิกิจฉานั้นท่านเปรียบเหมือนน้ำในที่มืด ซึ่งมันร้ายมาก น้ำเจือสีก็ยังมองเห็น น้ำเดือดก็ยังรู้ น้ำมีจอกแหนปกคลุมก็ยังเอามือกวาดออกไปได้ หรือเอาอะไรกวาดก็ได้ หรือน้ำที่มีระลอกคลื่นพลิ้วๆ มันก็ยังรู้ว่ามันเป็นระลอกคลื่น แต่น้ำในที่มืดไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าในนั้นมีอะไร อาจจะมีจระเข้ อาจจะมีสุนัขเน่า อาจจะมีงู อาจจะมีอะไรอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉาท่านจึงบอกว่าร้ายมาก ฉะนั้นในการทำสมาธินะคะจึงต้องศึกษาเรื่องของนิวรณ์ และก่อนที่จะทำ กำจัดนิวรณ์ออกไป หรือแม้แต่ในขณะนั่งสมาธิมีนิวรณ์เข้ามารบกวนก็ให้รู้เท่าทัน แล้วก็กำจัดมันออกไป ถ้าสามารถควบคุมจิตให้รอดพ้นจากนิวรณ์ การทำสมาธินั้นจะเจริญก้าวหน้าและเห็นผลทันตา