แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรมถ้าหากว่าเป็นอินทรีย์ห้า อินทรีย์ก็หมายความว่าเป็นใหญ่ ก็คือเราจะใช้ธรรมะข้อใดข้อหนึ่งเป็นใหญ่เป็นผู้นำ และธรรมะข้ออื่นก็มาทำงานประสานกันเหมือนอย่างเช่นในการปฏิบัติจิตตภาวนา โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการทำวิปัสสนาภาวนา ปัญญาต้องนำหน้า ปัญญาต้องเป็นใหญ่ แต่ปัญญานั้นจะต้องพร้อมด้วยสติ สมาธิ วิริยะ และก็ศรัทธาที่ถูกต้อง เรียกว่าทั้งห้าองค์ทำการสามัคคีกันที่เรียกในทางธรรม ท่านใช้คำว่าสมังคีคือทั้งห้าข้อมาทำงานพร้อมกันอย่างสอดประสานกัน เช่นเดียวกับอริยมรรคมีองค์แปด เพราะฉะนั้นห้านี่จะนึกว่าอะไรก็ได้ที่เป็นเลขห้า แต่ว่าจะให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์แก่จิตใจ หรือว่านิ้วห้านิ้ว เรามองดูนิ้วห้านิ้วใคร่ครวญไปก็อาจจะได้ข้อคิดจากห้านิ้วนี้ด้วยเหมือนกัน
คำถาม: จะปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในภาวะผู้ครองธรรมได้อย่างไร ในเมื่อสังคมรอบข้างตลอดจนบุคคลรอบข้างไม่ได้ถือปฏิบัติเช่นเรา และเมื่อท้อแท้เพราะไม่สามารถยอมรับสภาพสังคมได้ควรจะทำอย่างไร เพราะสภาพสังคมปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติตลอดเวลา เพราะทุกคนต้องกินต้องอยู่ สู้เพื่อให้ชีวิตตนเองอยู่รอด
ตอบ: การฝึกปฏิบัตินี่นะคะจะทำให้เรามีกำลังใจในการต่อสู้อีกหรือเปล่า นึกดูอย่างนี้ การฝึกปฏิบัติธรรมจะช่วยให้จิตนี้เข้มแข็ง มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิต ต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นยิ่งขึ้นหรือเปล่า ถ้ายิ่งขึ้นเราก็ควรจะยิ่งปฏิบัติเพื่อว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นจะได้สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างใจและก็ถูกต้องตรงตามความต้องการ ทีนี้เราก็จะบอกว่าสังคมรอบข้างไม่มีใครเขาปฏิบัติ ก็พูดแล้วว่าในเรื่องของทางธรรมนั้นไม่ต้องไปเป็นห่วงว่าคนอื่นเขาจะทำหรือไม่ทำ ขอให้เริ่มต้นที่เราก่อน ถ้าเราสามารถทำได้เราก็จะเป็นตัวอย่างกับคนอื่นด้วย เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้อื่น แล้วก็ให้กำลังใจแก่ตัวเอง ตัวเองก็จะมีกำลังใจที่จะกระทำเพราะเห็นผล เพราะฉะนั้นอย่าไปคอย ถ้ามัวแต่คอยกันสังคมจะไม่มีโอกาสพัฒนา ถ้าต่างคนต่างทำจะช่วยกันพายคนละที จะพายพร้อมๆ กัน แล้วก็จะทำให้เรือไปเร็วขึ้น
คำถาม: การพักผ่อนด้วยการนอนหลับแตกต่างจากการพักผ่อนด้วยการทำสมาธิอย่างไร
ตอบ: ก็การนอนหลับก็คือหลับตามความต้องการเมื่อร่างกายอ่อนเพลียเต็มที่ ก็ต้องการการพักผ่อนตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย ก็หลับ แต่ส่วนการทำสมาธิ การพักผ่อนด้วยการทำสมาธินั่นเป็นการที่เราฝึกกระทำเพื่อให้ทุกอย่างผ่อนคลายทั้งทางกายและทางจิต เหมือนอย่างเราปฏิบัติสมาธิอย่างที่เราทำอยู่นี่ ใหม่ๆ ก็ยังเกร็งตอนนี้ยังไม่ผ่อนคลาย แต่ถ้าปฏิบัติไปจะเกิดความผ่อนคลายทั้งทางกายและทางใจ กายนี้กล้ามเนื้อทุกอย่างผ่อนคลาย ไม่เกร็งไม่เครียด และก็ร่างกายนี้ก็หลั่งสารที่ล้วนแล้วส่งเสริมให้ร่างกายมีความสดชื่นขึ้น ส่วนทางใจก็มีความเยือกเย็นผ่องใส ฉะนั้นลมหายใจก็ลองสังเกตดู คนนอนหลับหายใจก็ไม่เหมือนกัน บางคนหายใจหยาบ หายใจฟืดฟาด หายใจดัง แต่บางคนก็หายใจสบาย แต่สำหรับการทำสมาธิแล้ว ผลที่สุดลมหายใจจะเป็นลมหายใจที่เป็นไปตามธรรมชาติและก็เบาสบายเหมือนอย่างลมหายใจในขั้นที่สี่
คำถาม: การอ่านหนังสือกับการฟังเทปในการบรรยายธรรมเรื่องเดียวกันจะต่างกันไหม
ตอบ: อันนี้น่าจะลองพิสูจน์ด้วยตัวเองนะคะ บางคนก็ชอบฟังเทป บางคนก็ชอบอ่านหนังสือ นี้แล้วแต่อัธยาศัย ถ้าใครถนัดอย่างไหนก็รู้สึกว่าการทำอย่างนั้นจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน การอ่านหนังสือมีโอกาสใคร่ครวญได้ละเอียดลออดี เวลาที่เรารู้สึกสงสัยตรงไหนเราก็พลิกกลับไป แต่ในการฟังธรรมถ้าเราสามารถควบคุมจิตให้อยู่ในเสียงที่ฟังได้ และเสียงนั้นเป็นเสียงที่พูด ที่จะสามารถจะให้ความเข้าใจ ให้น้ำหนัก หนักเบาของคำพูดก็จะทำให้ผู้ฟังมีความเข้าใจรวดเร็วขึ้น แล้วเสียงนั้นก็จะช่วยเหนี่ยวใจไม่ให้ล่องลอยไปได้ง่าย ในขณะที่การอ่านหนังสือผู้อ่านจะต้องใช้สมาธิของตัวเองเต็มที่ ฉะนั้นจะบอกว่าอะไรดีกว่ากันต้องขึ้นอยู่กับอัธยาศัยความเคยชินของแต่ละคน แต่ถ้าสมาธิดีนะคะ จิตสงบเป็นสมาธิใช้ได้ทั้งสองอย่าง ดีเท่ากัน
คำถาม: นี่ก็อ่านปรัชญาของซาร์ตร์ และก็บอกว่ามองอะไรอย่างปรากฏการณ์ มองอย่างที่เกิดขึ้นจริง เห็นอย่างไรก็ว่าอย่างนั้นตรงกับหลักธรรมข้อใด
ตอบ: มองอะไรอย่างปรากฏการณ์อย่างที่เกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นจริงนี้แล้วก็บอกว่าเห็นอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น อะไรเห็นๆ เมื่อถามว่าอะไรเห็นนี่เข้าใจไหมคะคือเห็นด้วยอะไร เห็นด้วยตาหรือเห็นด้วยใจ ถ้าเห็นด้วยตาแล้วก็ว่าไปตามนั้นก็จะอยู่ในสัจจะอย่างไหน นึกออกไหมคะ ก็เท่ากับว่าอยู่ในสัจจะอย่างไหน พูดตามที่ตาเห็นว่าตามที่ตาเห็น สัจจะสองอย่างคืออะไร สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ ปรมัตถสัจจะคือสัจจะสูงสุดที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง สมมติสัจจะก็คือสัจจะที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ว่าขึ้น ที่นี้ถ้ามองตามตาเห็นนั่นก็คือตามสมมติบัญญัติ แต่ถ้าตามตาถ้าตามใจเห็นนี้คือใจที่ได้ใคร่ครวญแล้ว ใคร่ครวญโดยปราศจากอคติ ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นตามสมมติสัจจะ ก็ลองนึกดูอย่างไหนจะจริงกว่ากัน ทีนี้ถามว่าตรงกับหลักธรรมข้อใด ก็อย่างที่ได้อธิบายเนี่ย ต้องถามว่าเห็นด้วยอะไร
คำถาม: จะใช้วิธีหรือกุศโลบายอะไรชักชวนให้คนที่ไม่สนใจธรรมให้เขาเห็นคุณค่าและก็นำไปใช้ประโยชน์
ตอบ: กุศโลบายด้วยการทำเป็นตัวอย่าง ทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น ถ้าไปบอกเขาด้วยปากว่าดี ดี ดี แต่เราทำอีกอย่างหนึ่ง เขาจะเชื่อไหม เพราะฉะนั้นกุศโลบายที่วิเศษที่สุดคือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
คำถาม: ธรรมะมีอยู่หลายหมวดหลายหมู่มาก ควรจะศึกษาธรรมะเรื่องใดก่อนหลังและเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อที่จะได้เข้าใจง่ายสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่อง ที่มีความรู้เรื่องธรรมะน้อย
ตอบ: ปฏิจจสมุปบาท ศึกษาปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวันและจะรู้ธรรมะทั้งหมด และธรรมะข้อใดจะรวมอยู่ในอันเดียวในนี้หมดเลย ขอให้ศึกษาปฏิจจสมุปบาท ทุกอย่างจะมารวมอยู่ในอันนี้อันเดียว พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ ก็ลองนึกดูซิ เอางั้นเอาไว้พูดตอนชั่วโมงปฏิจจสมุปบาท
คำถาม: การทำจิต การทำให้จิตสงบโดยการนั่งจ้องมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่จุดเดียวเป็นเวลานาน เช่น มองเทียน เป็นต้น โดยขณะนั้นก็รู้ลมหายใจเข้าออก ถือว่าเป็นการทำสมาธิได้หรือไม่
ตอบ: ได้
คำถาม: ผิดกฎอานาปานสติไหม
ตอบ: ไม่ผิด ก็เรียกว่าอานาปานสติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อานาปานสติในระบบสิบหกขั้น เข้าใจใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าจิตเราจดจ่ออยู่ที่เปลวเทียนทุกลมหายใจเข้าออก รู้ลมหายใจเข้าออกด้วย แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตามลำดับขั้น โดยหมวดหนึ่งเน้นเรื่องลมหายใจ หมวดสองเน้นเรื่องเวทนา หมวดสามเน้นเรื่องจิต หมวดสี่เน้นเรื่องธรรม เราไม่ได้เน้นในสิ่งเหล่านี้ ก็เรียกว่าอานาปานสติเหมือนกันแต่ไม่ใช่อย่างสิบหกขั้น
คำถาม: การพิจารณาใคร่ครวญธรรมโดยใช้ความคิดกับโดยใช้จิตพิจารณาในหมวดที่สี่ของอานาปานสติ ให้ผลต่างกันอย่างไร
ตอบ: ก็ให้ผลที่ว่าถ้าเราพิจารณาด้วยการคิดคือใช้มันสมองอย่างที่ฟัง เราก็รู้ เราก็เข้าใจแต่เราจะไม่เห็น ไม่ได้สัมผัสกับความจริงนั้นด้วยใจของเราเอง พูดง่าย ๆ ก็คือว่าจะไม่ประจักษ์ จะเห็นจะรู้ด้วยมันสมอง เขียนได้อธิบายได้ แต่พออะไรเกิดขึ้น ผัสสะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็มีเวทนาทุกที เข้าใจไหมคะ มีเวทนาทุกทีเรียกว่าแพ้ทุกที แต่ถ้าเราเอามาใคร่ครวญที่ใจ เราจะได้สัมผัสด้วยใจจริง แล้วก็เห็นความจริงของมันว่าเป็นอย่างนี้ๆ อย่างนี้จริงๆ จนจิตคลายความยึดมั่น พูดง่ายๆ ก็คือว่าถ้าคิดด้วยมันสมอง ยังไม่คลาย มีแต่ความรู้ กลายเป็นเพียงวิชาอย่างหนึ่งแต่วิชชายังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้านำมาใคร่ครวญภายใน ค่อยสัมผัสๆ สัมผัสกับความจริง อย่างที่เขาบอกชีวิตชนบทเป็นอย่างไงนะ ผู้ที่เรียนอยู่ในเมืองก็รู้ว่าเรื่องชีวิตชนบทเยอะแยะมากมายก่ายกอง แต่ก็ไม่ได้สัมผัส ไม่ได้บรรยากาศจริงๆ ของชีวิตอย่างนั้น เหมือนอย่างที่เขาเล่าเป็นเรื่องตลกขบขัน สมัยที่เมืองไทยใช้วิทยากรเมืองนอกเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญเป็น expert มาจากเมืองนอก expert ทางเกษตรกรรม ก็แนะนำข้าว อย่างโน้นอย่างนี้สารพัด พอมาถึงเมืองไทยเขาก็พาออกไปชนบท ก็ผ่านทุ่งนาข้าว expert ก็ถามว่านั้นต้นอะไร นี่แหละคือคิดมีความรู้เยอะ อธิบายได้เรื่องต้นข้าว แต่พบต้นข้าวจริงๆ ไม่รู้ว่านี่่คือต้นข้าว นี่ก็เช่นเดียวกันถ้าเราไม่ฝึกใคร่ครวญภายใน ไม่ได้สัมผัส จิตก็ยังคงยึดมั่นอยู่เต็มที่ พอผัสสะเกิดก็เวทนาทันที ทุกที แต่ถ้าเราเอามาใคร่ครวญเราจะเท่าทัน พอผัสสะเกิดก็สามารถเห็นเช่นนั้นเองแล้วจิตก็ไม่ต้องเป็นทุกข์หรืออย่างน้อยก็ทุกข์น้อยลง
คำถาม: กำลังจะสอบเพื่อเข้ารับราชการซึ่งต้องอ่านกฎหมายที่ไม่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก ควรทำสมาธิก่อนอ่านและเมื่อขณะอ่านก็กำหนดลมหายใจเข้าออกด้วย จะช่วยให้เข้าใจและจำเรื่องที่อ่านได้ดียิ่งขึ้นเป็นวิธีที่ถูกต้องไหม
ตอบ: ถูกต้อง และก็ควรพยายามที่จะทำใจให้อยู่กับลมหายใจอยู่เสมอ จิตจะได้มีสติสมาธิทุกขณะ ก่อนจะหลับก็อยู่กับลมหายใจจนหลับไปพร้อมกับความรู้สึกลมหายใจ จะแจ่มใส พอตื่นขึ้นจิตใจก็แจ่มใสก็รู้ลมหายใจเสียก่อน จะไม่มีอะไรค้างในสมอง จะปลอดโปร่ง แล้วก็พอลืมตาจะทำกิจวัตรก็รู้ลมหายใจให้ทุกขณะ และทีนี้พอถึงเวลาจะดูหนังสือ สติสมาธิก็จะหนักแน่นก็จะจำอะไรได้ดีขึ้น
คำถาม: นี่ก็เอาเรื่องบทปัจจเวกขณ์องค์อุโบสถศีลข้อที่เจ็ดที่มีใจความว่า แม้เราในวันนี้ตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่งนี้ก็เป็นผู้เว้นขาดจากฟ้อนรำการขับเพลงการดนตรีและก็อื่นๆ บทสวดนี้มีความขัดกับพระราชดำรัสขององค์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ว่าชนใดไม่มีดนตรีกาลในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
ตอบ: อันนี้ของพระพุทธเลิศหล้าเหรอ สงสัยว่าจะอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ที่รัชกาลที่หกเป็นผู้แปลเสียมากกว่าใช่ไหม ชนใดไม่มีดนตรีกาลในสันดานเป็นคนชอบกลนัก รู้สึกจะอยู่ในเวนิสวาณิชใช่หรือเปล่า ลองไปเปิดดูก็แล้วกันนะเผื่อจำผิด ทีนี้นี่คนละอย่างคนละเรื่องนะคะ จะมาเปรียบกันไม่ได้ รัชกาลที่สองของเราท่านทรงเป็นกวี ท่านมีอารมณ์ของกวีและก็ของศิลปิน ท่านทรงเก่งทั้งเรื่องการละคร แล้วอะไรต่ออะไรต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นท่านก็พูดในแง่ของกวี ในแง่ของศิลปิน แต่นี้เรื่องของศีลองค์ที่เจ็ดสำหรับผู้ที่ได้ตั้งใจแล้วว่าต้องการที่จะรักษาศีลเพื่อช่วยให้เกิดให้ใจนั้นสามารถรักษาความเป็นปกติได้ยิ่งขึ้น จึงได้รักษาศีลตามที่บัญญัติไว้ คนละเรื่อง ไม่มีอะไรขัดกัน เป็นเรื่องของทางโลกกับทางธรรม ไม่มีอะไรขัดกัน ยกเว้นว่าตั้งใจมารับศีล แล้วเสร็จแล้วยังมาร้องเพลง ยังมาเล่นดนตรีในวันที่รับอุโบสถนี่นะคะ อย่างนี้ละขัดกันแน่
คำถาม: ถ้าพระหรือใครก็ตามที่รักษาศีลข้อนี้ ไม่ควรจะร้องรำทำเพลง ถึงแม้จะเป็นเพลงชาติหรือเพลงสรรเสริญพระบารมีหรืออย่างไร
ตอบ: ท่านก็ไม่ต้องยุ่งไม่ต้องเกี่ยวข้อง แต่ก็มีเพลงธรรมะเพลงที่เป็นเพลงธรรมะก็มีเยอะแยะ แล้วก็บางทีถ้าเผอิญจะต้องไปสอนเด็กๆ เกี่ยวกับจริยธรรมง่ายๆ ก็อาจจะเอาเพลงง่ายๆ เข้ามาสอนมาบอกก็ได้เหมือนกัน แต่พระท่านจะไม่ร้องเพลง แต่ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ยังจะแนะนำยังจะช่วยอะไรอย่างนั้นได้ แต่ในขณะที่ทำอย่างนั้นก็ต้องรักษาสติให้อยู่กับจิตไม่ใช่ไปเพลิดเพลินจนกระทั่งสนุกสนานยิ่งกว่าเด็กที่จะสอนให้
คำถาม: ตามหลักธรรมะที่บอกว่า จงอย่าทำอะไรด้วยความหวังแต่จงทำด้วยสติปัญญาหรือทำเพราะเป็นหน้าที่นั้น เราจะเอาอย่างไรเป็นตัววัดหรือเป็นมาตรฐานว่า แค่ไหนคือหน้าที่ เช่น อ่านหนังสือบางทีเราอ่านวันละสี่ชั่วโมง ก็ว่าเราทำหน้าที่เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเราตั้งความหวังว่าต้องอ่านหนังสือกว่านั้นวันละสิบชั่วโมงเพื่อเอาชนะคนอื่นๆ หรือเพื่อให้สอบได้ที่หนึ่งก็จะมีพลังใจหรือกำลังใจมากกว่าหรือไม่ใช่
ตอบ: ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีกำลังใจและกำลังกายที่จะทำอย่างนั้นได้มากน้อยเพียงใด ทีนี้การที่จะบอกว่าเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าทำหน้าที่หรือว่าทำถูกต้องไหม มีวัดอยู่นิดเดียวล่ะ ว่าในขณะที่ทำจิตวุ่นวายเป็นทุกข์หรือเปล่า ถ้าเราทำแล้วจิตไม่วุ่นวาย จิตไม่เป็นทุกข์ มีแต่ความพอใจว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องและความถูกต้องนั้นคือสิ่งที่เกิดประโยชน์ ใช้ได้ ไม่ต้องไปเที่ยวถามใคร เอาใจของเราเองเป็นสิ่งวัด ไม่ต้องไปถามใจคนอื่นนะคะ เพราะคนอื่นก็คนละคน
คำถาม: ในการฝึกสมาธินั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้จิตใจสงบเย็น แล้วทำไมจึงต้องเริ่มจากขั้นที่หนึ่งไปถึงขั้นที่สี่ ทำไมเราไม่เริ่มจากขั้นที่สี่ซึ่งเป็นขั้นที่ทำให้จิตสงบเลย เพราะเวลาเรามาทำให้จริงๆ เราก็ใช้แค่ขั้นที่สี่ซึ่งจะทำให้จิตสงบเท่านั้น
ตอบ: ตัวอย่างพอเรา เด็กๆ โตออกมา พอเริ่มต้นเราก็คลานแล้วคืบ แล้วก็คลาน มีไหมเด็กออกมาแล้วก็วิ่ง นี่ก็เหมือนกันการปฏิบัติสมาธิทีแรกที่จะทำให้จิตสงบมันยากใช่ไหมคะ ที่จะดึงจิตให้มาอยู่กับลมหายใจคือดึงจิตที่วิ่งให้สงบยาก ทีนี่สำหรับอานาปานสตินั้นเขาก็มีวิธีปฏิบัติบอกเอาไว้ว่า ถ้าต้องการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักว่าสิ่งที่เราใช้เป็นเครื่องมือคืออะไร ใช่ไหมคะ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่ง สอง สามเสียก่อน ถ้ามิฉะนั้นเราจะไม่รู้จักเครื่องมือของเรา พอถึงเวลาที่ต้องการใช้หรือมีปัญหาก็จะหยิบมาแก้ไขไม่ได้ เราจึงต้องปฏิบัติอันนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นไปตามลำดับขั้นเพื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เราทำจิตสงบ เรามีความชำนาญจากขั้นหนึ่ง สอง สาม เราก็จะควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ แล้วปรุงแต่งกายให้สงบระงับ แล้วใจก็พลอยสงบระงับไปด้วย ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
คำถาม: ตามนิทานที่เล่าในวันนี้เรื่องหญิงมีชู้ อยากทราบว่าผู้ชายคนนั้นเกิดความรู้สึกดับและเกิดความว่างนั้น หมายความว่าชายผู้นั้นมีความสุขจากการลืมความรักครั้งนี้ใช่หรือไม่ แล้วจะไม่มีความรักครั้งต่อไปใช่หรือไม่ ความขยะแขยงหมดไปเพราะเหตุใด ถ้าเค้าจะไม่มีความรักครั้งต่อไป เค้าหมดความทุกข์จริงๆ หรือ
ตอบ: เปล่า เข้าใจผิดนะ ที่ยกตัวอย่างให้ฟังนะคะ อุปมาให้ฟัง อุปมาอุปไมยให้ฟังว่า จิตที่บอกว่ามีวิราคะคือความจางคลาย ความเหนื่อยหน่ายความจางคลายและก็นิโรธะดับ คือจางคลายจากความยึดมั่นและก็ดับความยึดมั่นถือมั่นได้จริงๆ จนกระทั่งพร้อมที่จะปล่อย ไม่เอาอะไรเลย ที่นี้ก็เกรงว่าความรู้สึกที่อธิบายอย่างนี้เรายังไม่ได้เคยสัมผัส ก็ยากที่จะคาดคะเนว่าความรู้สึกของวิราคะที่ว่าจางคลาย จางคลายยังไง
ความรู้สึกของนิโรธะที่ว่าดับ ดับความยึดมั่นถือมั่นโดยเฉพาะความเป็นตัวตน ดับจริงๆ ไม่เหลือเลยเป็นยังไง และก็ปฏินิสสัคคะพร้อมที่จะปล่อยคืนให้ธรรมชาติเป็นอย่างไร ก็เลยอุปมานิทานเรื่องนี้ให้ฟังตามที่เขามีภาพเขียนในโรงมหรสพทางวิญญาณที่ฟากโน้น เขามีภาพเขียนบอกเอาไว้ เขาให้เปรียบว่าความรู้สึกที่ไม่เอาเลย มันนิโรธะ มันดับจริงๆ เหมือนกับจิตของผู้ชายในขณะที่สิ้นความอาลัยไยดีกับภรรยาที่มีชู้ เพราะเกิดความรังเกียจเดียจฉันท์ตามลำดับมาจนกระทั่งไม่อยากแตะต้องเพราะรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้สกปรก ปันใจไปให้คนอื่น ร่างกายไปให้คนอื่น ความรู้สึกที่รังเกียจไม่ชอบขยะแขยงที่จะไปแตะต้อง แต่นั่นเป็นความรู้สึกโลกๆ ไม่ใช่ความรู้สึกในทางธรรม แต่อธิบายให้ฟังว่าความสิ้นอาลัยไยดีอย่างชนิดที่ไม่กลับมาไยดีอีกเหมือนกับความรู้สึกของวิราคะ นิโรธะ ปฏินิสสัคคะ ที่เราพูดอุปมาให้ฟัง แต่ทีนี้ผู้ชายคนนั้นจะเลยเกลียดผู้หญิงไปจนตายหรือจะเกิดความรักขึ้นมาอีกอันนี้ก็แล้วแต่อะไร ตอบได้ไหม เหตุปัจจัยใช่ไหมคะ ถ้าเผอิญเหตุปัจจัยให้เขาไปพบผู้หญิงอีกคนหนึ่งคนใหม่ ที่มีอะไรๆ ถูกใจ แล้วก็ทำให้เขาเกิดความเชื่อใจได้ คงจะไม่เป็นเหมือนอย่างนั้นกระมัง เขาก็อาจจะลองใหม่อีกก็ได้เพราะเขายังไม่ได้บรรลุอะไรเลย เป็นแค่เพียงเขาแค้นจริงๆ เขาก็เลยตัดเสีย เขาเรียกว่าตัดถูกคือตัดใจของตัวไม่ไปเกี่ยวข้อง แทนที่คิดไปทำร้ายยิงฟันให้ตายทั้งคู่เขาก็ไม่ทำ นี่อุปมาให้ฟังนะคะ
เขาหมดความทุกข์จริงๆ ไหม เขาก็หมดจากเรื่องนั้นจากเรื่องที่ต้องไปขัดแค้นกับภรรยานั่น ก็เรียกว่าถ้าเขาตัดใจได้เขาก็หมดทุกข์ แต่เขาตัดใจไม่ได้เขาก็อาจจะตัดได้แต่เพียงความข้องเกี่ยวคือไม่ข้องเกี่ยว เรียกว่าตัดไปเลยจะไปเป็นไปตายไปให้พ้น แต่ในใจอาจจะเจ็บแปลบปลาบเข้ามาเป็นครั้งคราวก็เป็นได้เพราะเขายังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังจนถึงที่สุด
คำถาม: เพื่อนข้างๆ ห้องปิดประตูเสียงดัง วันแรกรู้สึกโกรธมากอยากจะออกไปว่า แต่รู้ตัวก็ระงับได้ทัน วันต่อมาก็รู้สึกธรรมดา คิดว่าตัวเองหายโกรธแล้วเพราะวันต่อมาเขาทำเสียงดังอีกก็ไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์หรือโกรธ แต่มาวันนี้เขายังทำอีกจึงฉุกคิดว่าเขาทำติดต่อกันมาเจ็ดวันแล้ว เราควรจะบอกเขาหรือเปล่าว่าให้ทำเสียงเบาๆ ในขณะนี้ยังสับสนว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร และควรจะทำอะไรที่คิดว่าถูกต้องที่สุดและดีที่สุด
ตอบ: อันที่จริงก็อาจจะบอกกับอาสาสมัครก็ได้นะคะ บอกอาสาสมัครว่าช่วยกรุณาบอกด้วยเพราะว่าตอนนี้เรากำลังอยู่เงียบกันหรือว่าจะเขียนลงในกระดาษสักแผ่นหนึ่ง ขอความกรุณานะคะปิดประตูเบาๆ สักนิด ขอบคุณมาก แล้วก็ไปปิดไว้หน้าห้องเขาหรือว่าตรงเสาที่ตรงกันข้ามห้องเขาเพื่อให้เขาอ่าน แสดงว่าเราพูดด้วยความไม่โกรธ อย่างนี้ก็ได้ และถ้าหากว่าเรารู้สึกว่าเราไม่โกรธเวลานี้ เราแก้ไขผัสสะอันนี้จนกระทั่งจิตเป็นธรรมดาได้แล้วนี่ก็เป็นความพัฒนาในส่วนใจของเรา แต่การที่เราจะไปบอกเขาก็เท่ากับว่าเราไปบอกเขาในฐานะเราเป็นกัลยาณมิตรด้วยกันคือเป็นเพื่อนเป็นมิตรของผู้ปฏิบัติ ถ้าจะมีวิธีบอกที่ดีที่สุดอาจจะเขียน เขียนด้วยคำสุภาพ ขอความกรุณาและก็ขอบคุณ ทีนี้เราก็อุตส่าห์จำได้ตั้งเจ็ดวันว่าเขาปิดประตูดังไปแล้วตั้งเจ็ดวัน ก็อุตส่าห์จำ อุตส่าห์นับวันไว้ ดูใจของเราจริง ๆ ซิว่าเรานี่ไม่โกรธจริงๆ หรือเปล่านะ
คำถาม: ขณะที่ฝึกขั้นที่หนึ่ง เมื่อจิตเผลอคิดก็ดึงจิตกลับมาตามลมหายใจด้วยลมหายใจยาวแรง เมื่อขึ้นไปฝึกขั้นสองพอจิตเผลอก็ดึงจิตกลับมาด้วยลมหายใจสั้นแรง เมื่อฝึกขั้นสี่จิตเผลอก็ดึงจิตด้วยลมหายใจยาวแรงและสามารถกลับมาใช้วิธีเพ่งจุดสัมผัสเหมือนเดิมได้อีกหรือไม่
ตอบ: ได้ ถ้าสมมติว่าเราดึงจิตกลับมาแล้วเราปฏิบัติต่อไปได้ไม่มีอุปสรรค ไม่มีตะกุกตะกัก จิตไม่วุ่นวาย ต่อไปได้เลย
คำถาม: วิธีฝึกขั้นหนึ่งสองตามที่เล่ามานี้ถูกต้องไหม
ตอบ: ถูก ใช้ได้ หรือในการปฎิบัติขั้นที่สองด้วยลมหายใจสั้น แต่เอาเถอะใช้สั้นแรงก็ดีแล้วนะคะ
คำถาม: เราจะป้องกันการเข้าใจผิดเรื่องธรรมะอย่างไร และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเข้าใจธรรมะถูกต้องแล้ว
ตอบ: ก็ดูว่าใจเป็นทุกข์ไหมในขณะนั้นนะคะ ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าอะไรเกิดขึ้นใจไม่เป็นทุกข์ ใจสบาย แต่ แต่ตัวโตนะ แต่สิ่งใดที่ถูกต้อง การแก้ไขอย่างไรที่ถูกต้อง ทำทันทีถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่ถ้าเผอิญไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะโอกาสไม่ให้ จังหวะไม่เหมาะเหตุปัจจัยยังไม่พร้อม คอยไว้ก่อน แล้วพอเหมาะเมื่อไหร่ทำทันที นี่เราสังเกตอย่างนี้ ดูอย่างนี้ แล้วเราจะไม่หลงทางธรรมคือดูใจเสมอ แต่ถ้าเราไม่ดูใจเราก็จะไม่รู้เราจะคิดว่าเราเป็นธรรม ต้องกลับไปดูที่ใจ
คำถาม: การลดอัตตา จะไม่ทำให้ความมีศักดิ์ศรีหรือว่าความรักเกียรติของตนหมดไปหรือคุณค่าของความเป็นคนหมดไปหรือเปล่า
ตอบ: นี่ก็แสดงว่าอุตส่าห์พูดปฏิจจสมุปบาทกันมาสองวันนี่ ยังมองไม่เห็น ยังมองไม่เห็นว่าเป็นเพียงกระแส ยังจะเห็นเป็นตัวตนอยู่ใช่ไหมคะ เจ้าของคำถามนี้ใช่ไหม นี่ยังเห็นเป็นตัวตนอยู่ ถึงมีตัวตนที่มีศักดิ์ศรี มีเกียรติ มีความเป็นคน ถ้าหากว่าเราเข้าใจปฏิจจสมุปบาทชัดเจน มันมีแต่การเกิดดับๆ เกิดดับของเหตุปัจจัยใช่ไหม แล้วก็นึกดูเถิด พูดแล้วว่าคนเราจะมีศักดิ์ศรีที่ไหน ที่ตรงไหน การกระทำใช่ไหมคะ ถ้าเรากระทำถูกต้อง ความรักความยกย่องความเคารพมาเอง ศักดิ์ศรีก็ตามมาเอง แต่ถ้าเราจะติดป้าย นี่คนนะคนมีศักดิ์ศรีนะ ต้องยกย่องนะ คิดไหมว่าเขาจะยกย่อง เขาก็เห็นว่าบ้า แล้วเราจะเอาศักดิ์ศรีมาบอกเขาตรงไหน มาติดไว้ตรงไหนที่ว่าเสียศักดิ์ศรี นี่ถ้าเรากระทำถูกต้องเสมอแล้วศักดิ์ศรีอยู่ตรงนั้น ความเคารพยกย่องอยู่ตรงนั้นอย่าเป็นห่วงเลย
คำถาม: การเป็นคนเฉยๆ ปล่อยวาง มีสติ จะไม่ทำให้คนอื่นว่าเราเป็นคนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นหรือ
ตอบ: นี่เข้าใจผิด การที่คนอยู่ร่วมกันไม่ได้เพราะอะไรคะ ในบ้านก็ดี ในชุมชนในสังคมก็ดี ที่อยู่ร่วมกันไม่ได้เพราะอะไร เพราะกิเลสหรือเพราะธรรมะ พูดง่ายๆ เพราะกิเลสหรือเพราะธรรมะ อ้าวยังตอบไม่ได้อีก ก็เพราะกิเลสนะซิคะ กิเลสเข้ามาสิงอยู่ในใจ จะเอาอย่างใจ จะเอาด้วยความโลก จะเอาด้วยความโกรธ จะเอาด้วยความหลง นี่จึงทำให้คนแตกกัน เพราะฉะนั้นนักมนุษยสัมพันธ์ถึงจะไปอยู่ในตำแหน่งเป็นประชาสัมพันธ์เป็นนักมนุษยสัมพันธ์ ถ้ามีกิเลสเข้าครอบงำจิตก็ไม่รู้จะไปสัมพันธ์กับใคร ไม่มีใครเค้าอยากสัมพันธ์ด้วย แต่การมีธรรมะเป็นการที่จะช่วยพัฒนาจิต หล่อหลอมจิตที่กระด้างที่เห็นแก่ตัวให้เป็นจิตที่อ่อนโยน ให้เป็นจิตที่เห็นแก่ผู้อื่น มีน้ำใจ รักคนอื่นรักเพื่อนมนุษย์เหมือนเพื่อน อย่างนี้สัมพันธ์กันได้ไหมความรู้สึกที่มีในใจ ไม่ต้องไปเรียนวิชาประชาสัมพันธ์ที่ไหน ไม่ต้องไปเรียนวิชามนุษยสัมพันธ์ที่ไหน มีขึ้นในใจเอง เพราะฉะนั้นอย่ากลัว นี่แสดงว่าฟังธรรมะด้วยมันสมอง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไป เริ่มเอาใจฟังด้วยใจหน่อยนะ จะไม่เข้าใจผิดนะคะ
คำถาม: รู้จักครูผู้หนึ่ง สอนหนังสือดูแลเด็กอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นที่รวมของเด็กเร่ร่อนที่มีกลุ่มอาสาสมัครชวนมาอยู่ด้วยความสมัครใจ ครูคนนั้นบอกว่ารู้สึกอยากทำงานนี้เพราะอยากช่วยเหลือเด็กๆ ได้ทำแล้วมีความสุขพอใจเป็นการตอบสนองความพอใจของตัวเอง ถือว่าเป็นการสนองอัตตาหรือไม่
ตอบ: ถ้าหากว่าครูคนนั้นทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัวเพื่องานเพื่อประโยชน์สุขของเด็กก็ไม่เป็นการสนองอัตตา แต่เขามีการตัดสินใจที่ถูกต้องว่าเขามีความสามารถอะไร แล้วก็รู้จักใช้ความสามารถนั้นอย่างถูกต้อง เลือกงานได้เหมาะสมอันนี้ต้องดูจากการกระทำ แต่ถ้าหากว่าทำไปก็ถือเอาใจของตนเองเป็นสำคัญไม่ได้ถือสิ่งที่เด็กควรจะได้ ประโยชน์ที่เด็กควรจะได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว