แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม คำถามมีหลายคำถามนะคะ คำถามนี้ถามว่า “พี่เขาไม่สนับสนุนให้มาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้เท่าไรนัก เขาบอกว่าคนที่มานั่งภาวนาเป็นการทำเพื่อตนเอง ถ้าหากว่าทุกคนในประเทศมานั่งภาวนากันทั้งวันทั้งคืนบ้านเมืองก็ไม่เจริญ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย... ซึ่งตัวเขาก็นับถือพุทธศาสนา แต่ไม่สนใจในเรื่องธรรมะ เขาบอกว่า มนุษย์ถ้าเข้าใจชีวิตแล้ว ศาสนาก็ไม่จำเป็น และตัวเขาเองเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้านของชีวิต มีแต่คนบอกว่าเขาเป็นคนดี เป็นคนเก่ง ซึ่งผู้ถามก็เห็นว่าจริง... เพราะ เขาไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โกงใคร ไม่ทุกข์ใจในชีวิต ไม่ทำบุญตักบาตร แต่บริจาคช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก นอกจากนี้เขายังว่าอีกว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แล้วก็ยังถามอีกว่าคำสั่งสอนนี้มาจากพระพุทธเจ้าทั้งหมดหรือ”
คำตอบ คำตอบก็บอกว่า... ต้องมาลองดู ให้พี่คนนี้นะคะมาทดลองดูเอง เพราะว่าองค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยทรงชักชวนให้ใครเชื่อท่าน คงจะจำ”กาลามสูตร”ได้ใช่ไหมคะ และก็ได้รับแจกเอกสารเกี่ยวกับกาลามสูตรแล้วใช่ไหมคะ ขอได้โปรดไปอ่านเอง...
นี่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงถึงความมั่นคงแน่นอนของสัจธรรม เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงท้าให้พิสูจน์”กาลามสูตร”นั้น ก็เพราะว่าชาวกาลามะได้มากราบทูลถามว่า หมู่บ้านของเขานี้ มีพวกครูบาอาจารย์ผ่านมา ไม่รู้จักเท่าไร อาจารย์คนนี้มาก็สอนเรื่องนี้ คนนั้นมาก็สอนเรื่องนั้น คนโน้นมาก็สอนเรื่องโน้น แต่ละคนก็สอนไปแต่ละอย่าง จนชาวกาลามะเองรู้สึกสับสนเต็มที ไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร ไม่รู้จะเอาคำสอนอย่างไหนมาปฏิบัติแล้วมันจะเกิดประโยชน์ ก็ขอกราบทูลขอคำแนะนำจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ก็ตรัสว่า... คือแทนที่พระองค์จะตรัสว่าเชื่อคนนั้นสิ เชื่อคนนี้สิ เพราะอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนอย่างเราที่ธรรมดาใครมาถามอะไรเรา เราก็มักจะบอกอย่างนั้น ตามเหตุผล ตามทิฐิของเรา พระองค์ก็รับสั่งอย่างที่อ่านไว้ 10 ประการนั่นแหละค่ะ ว่าอย่าเชื่อตามที่เขาบอก อย่าเชื่อตามที่ทำ ๆ ตามๆ กันมา อย่าเชื่อเพราะว่ามันตรงกับทิฐิ คือความเห็นของเรา เหมือนอย่างพอเขาเล่า “เออจริง..ฉันว่าอย่างนั้นน่ะจริงเลย” หรือพอเขาพูดถึงคนโน้น “เออจริง..มันไม่ใช่ คนนั้นมันใช้ไม่ได้ ฉันก็ว่าอย่างนั้นน่ะ” หรือพอได้ยินเขาพูด “แหม..ถูก ถูกจริง” นี่แหละเขาเรียกว่าถูกตามทิฐิของเรา แล้วเราก็เชื่อเอาง่ายๆ... หรืออย่าเชื่อว่ามีอยู่ในตำราในพระไตรปิฎก หรืออย่าเชื่อเพราะว่า มันถูกต้องตามตรรกวิทยา หรือปรัชญา หรืออะไรก็แล้วแต่ จนผลที่สุด แม้ว่าคนที่พูดนั้นเป็นครูของตนเองก็ไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะได้นำคำสอนนั้นมาฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง แล้วก็เห็นผลว่า “เออ มันจริงอย่างนั้น” ใช้ได้อย่างประจักษ์แจ้ง “อ๋อ” ขึ้นมาในใจของตนเองนั่นแหละจึงเชื่อ
เห็นไหมคะ ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพุทธศาสนา ไม่เคยบังคับให้ใครเชื่อ เพราะฉะนั้น พี่คนที่ถามเนี่ย ก็เชิญให้มาศึกษาด้วยตนเอง มาลองฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วก็รู้เองว่าจริงหรือไม่จริง พระพุทธเจ้านั้นได้เสด็จปรินิพพานไป 2,500 กว่าปีแล้วโดยพระกายหรือวรกายของท่าน จนกระทั่งถวายพระเพลิงกันไปเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นโดยทางกายไม่มีเหลืออยู่ แต่ทำไมเรายังพูดถึง ทำไมเรายังนำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติตาม นี่คือสิ่งที่เหลืออยู่ และสิ่งนี้คือสัจธรรม อันเป็นธรรมชาติ ฉะนั้นต้องมาดูเองนะคะ
ทีนี้ในคำถามนี้ก็มีหลายประเด็นนะคะ เช่นประเด็นหนึ่งประเด็นแรก บอกว่า “คนที่มานั่งภาวนาเป็นการทำเพื่อตนเอง...” นี่ก็เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าสมาธิภาวนานั้นคืออย่างไร ซึ่งเราจะพูดกันในวันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นจะยังไม่ตอบในวันนี้นะคะ ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วจะไม่พูดอย่างนี้ เพราะว่าทุกท่านจะประจักษ์ใจเองอย่างชัดเจน เมื่อมาอยู่ด้วยกัน 11 วันนี้นะคะ ก็จะรู้เองว่าการมาปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นการมานั่งหลับตา สงบเงียบอยู่คนเดียว แต่มันมีอะไรหลายๆ อย่าง ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ที่จะทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย และเป็นชีวิตที่เกิดประโยชน์ ไม่แก่ตนเองเท่านั้น แต่แก่เพื่อนมนุษย์ที่จะไม่ไปเป็นตัวปัญหาของเพื่อนมนุษย์ จะช่วยนำความสงบเย็นของตนเองออกเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ แล้วก็ช่วยให้สังคมที่เราอยู่ด้วยนั้น เกิดความสงบเย็นยิ่งขึ้น มันมีประโยชน์มากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่อยู่ในวัยชักจูงง่าย
“...ถ้าไปช่วยเหลือคนยากจน หรือพัฒนาชนบทจะดีกว่า...” ได้เคยพบนักพัฒนามาไม่น้อยเหมือนกัน ได้เคยคุยเป็นส่วนตัวบ้าง ได้เคยคุยเป็นกลุ่มบ้าง ก็ขอพูดด้วยความเห็นใจว่า นักพัฒนาเองก็มีปัญหาใช่ไหมคะ มีนักพัฒนาอยู่ในนี้บ้างรึเปล่าไม่ทราบ... นักพัฒนาเองก็มีปัญหา ก็คือว่าพอไปพัฒนาชาวบ้าน เพื่อให้เขาพ้นจากปัญหาของเขาในเรื่องการทำมาหากิน เรื่องอาชีพ เรื่องอะไรต่ออะไร ก็แล้วแต่ นักพัฒนายิ่งพัฒนาไป ยิ่งเป็นทุกข์ มีความทุกข์ยิ่งขึ้นๆ เพราะอะไร ก็เพราะนักพัฒนามีความรู้ คือมีความรู้ทางวิชาการ มีประสบการณ์ที่ใช้ในการพัฒนา ได้รับการฝึกฝนอบรมมา แต่นักพัฒนาเองไม่เคยพัฒนาใจของตนเองเลย ไม่เคยให้การศึกษาแก่ทางใจ ทางวิญญาณ สติปัญญาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นพอไปพัฒนาเข้า พบสิ่งที่เป็นปัญหาเลยย้อนมาทุกข์หัวใจตนเอง ดังนั้นนักพัฒนาบางครั้งก็ต้องการการพักผ่อน เพื่อมาพัฒนาใจของตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะไปพัฒนาผู้ใด แล้วก็เพื่อไม่ให้การพัฒนานั้นย้อนมาเป็นปัญหา นำความทุกข์มาสู่ใจตนเองก็ควรจะพัฒนาใจของตนให้พร้อมซะก่อน แล้วจึงไปพัฒนาผู้อื่น จะเป็นการพัฒนาที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
แล้วประเด็นต่อไปที่บอกว่า “ถ้ามนุษย์เข้าใจชีวิตแล้ว ศาสนาก็ไม่จำเป็น…” อันนี้พูดกันในอย่างนี้ยาก เพราะเราก็ไม่ทราบว่าผู้นั้นเข้าใจชีวิตอย่างไร แล้วเข้าใจชีวิตว่าอะไร แล้วศาสนาไม่จำเป็นหมายความว่าอะไร ศาสนาแปลว่าอะไร แล้วตัวเขาเอง “เป็นคนประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน... เป็นคนดี เป็นคนเก่ง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โกงใคร ไม่ทำบุญตักบาตร แต่บริจาคช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก…” การทำบุญตักบาตรก็คือการทำทานอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเราทำทานแก่พระสงฆ์ เราก็เรียกให้งามว่าเป็นการทำบุญ การตักบาตร ก็เป็นการบริจาคในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าเราทำให้แก่คนที่ยากจน หรือคนที่รู้สึกต่ำต้อยกว่าเรา เราก็ใช้คำว่าทำทาน เพราะที่จริงเหมือนกันนะคะ ทำเหมือนกัน
ทีนี้ที่ผู้ถามบอกว่า “พี่ไม่เคยทุกข์ใจในชีวิต…” รู้ได้ยังไง เรารู้ได้อย่างไร ว่าเขาไม่ทุกข์ใจในชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพูดกัน คือความหมายของคำว่า “ทุกข์” หรือ “ความทุกข์” เราจะต้องมาขยายความให้เข้าใจกันถูกต้องอยู่ในประเด็นเดียวกันซะก่อน แล้วเราถึงจะพูดได้ว่าใครที่กล้าหาญ รับว่าไม่เคยมีความทุกข์เลยนะคะ ฉะนั้นนี่มีหลายประเด็น และคำตอบสรุปก็คือว่า มาลองด้วยตนเอง
คำถาม คำถามต่อไป “คนเราควรยึดถือเดินทางสายกลางคือพอดี แต่ทำไมบางคนที่ยึดถือทางธรรม ยังต้องตรำงานหาเงิน ในขณะก็มีฐานะดีอยู่แล้ว”
คำตอบ คำว่าตรำงานหาเงิน ถ้าหากว่าการทำงานนั้นทำเกินพอดี ทำงานเกินพอดีก็คือสุดโต่ง หาเวลาพักผ่อนทางกายก็ไม่พอ จนร่างกายก็ซูบผอม เจ็บป่วย สุขภาพทรุดโทรม อย่างนี้ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในทางธรรมอย่างถูกต้อง เพราะสุดโต่งเกินความพอดี ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา แต่ถ้าหากว่าตรำงานด้วยความอดทน อดกลั้น แล้วก็รู้จักทำงานนั้นอย่างชนิดพอเหมาะพอสม แก่กำลังกาย กำลังสติปัญญา อย่างนี้ก็เรียกว่าอยู่ในหนทางแห่งความพอดี... ทีนี้ การที่ยังทำอยู่ต่อไปก็เพราะเขาเห็นประโยชน์ว่ายังควรทำอยู่ แล้วถ้าหากว่ารายได้หรือเงินทองที่หาได้มา ไม่ได้เก็บงำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่คนเดียวอย่างเห็นแก่ตัว แต่นำออกมาแบ่งปันแจกจ่ายแก่ผู้ที่ขาดแคลน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งอันนี้ดิฉันตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบสถานการณ์ว่าบุคคลผู้นี้ ทำแล้วได้เงินมาแล้ว เอาเงินมาทำอย่างไร แต่ก็เพื่อประโยชน์แบ่งปันแก่ผู้อื่น ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
คำถาม คำถามต่อไปว่า “คนเราควรอยู่กับธรรมชาติ แต่ถ้าไม่รับความเจริญทางด้านวัตถุเทคโนโลยี แล้วจะถือว่าล้าหลังหรือไม่ ควรปฏิบัติตนอย่างไร”
คำตอบ คือที่เริ่มต้นว่า “คนเราควรอยู่กับธรรมชาติ…” ก็แสดงว่าผู้ถามก็ค่อนข้างเห็นด้วยในคุณค่าของธรรมชาติ แล้วก็เห็นด้วยว่าเราควรจะอยู่กับธรรมชาติ แต่ก็ยังกริ่งเกรงใจ คือเกรงใจขึ้นมาในใจว่าถ้าไม่รับความเจริญทางวัตถุซะเลย จะเป็นล้าหลังไหม แล้วควรจะปฏิบัติตนอย่างไร ก็อยากจะขอยกตัวอย่าง คนไทยซึ่งทุกท่านพอเอ่ยชื่อมาคงเคยได้ยิน ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เคยได้ยินชื่อใช่ไหมคะ ท่านผู้นี้ดิฉันก็ไม่เคยรู้จักตัวท่าน แต่ว่าได้เคยอ่านประวัติ ได้มีผู้เล่าให้ฟัง ก็เป็นผู้ที่เป็นเกษตรกร แล้วก็เริ่มต้นด้วยการทำเกษตรแผนใหม่ถูกต้องตามวิชาการ เป็นเวลา 20 ปี ตอนแรกก็มีที่ดินราว ๆ 200 ไร่ ทำไปเพื่อที่จะหาผลผลิตออกไปขายตามวิชาการและก็ให้ได้เงินทองจากผลผลิตกลับคืนมาเป็นการตอบแทน แต่ยิ่งทำหนี้สินยิ่งพอกพูน จนผลที่สุดก็ต้องตัดที่ดินนั้นขายไป 190 ไร่ เหลืออยู่ตอนสุดท้ายประมาณ 9 ไร่เศษ หมดหนทาง มีแต่หนี้สิน ใช้หนี้สินหมด ไม่มีกิน
ก็มานึกย้อนดูว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ที่สุดคืออะไร อันแรกต้องมีกิน คืออาหารต้องมาก่อน เพราะร่างกายนี้จะอยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารต้องมาก่อน มีที่ดินอยู่ 9 ไร่ จาก 200 ไร่ ผู้ใหญ่วิบูลย์ท่านก็ใช้วิธีลงมือปลูกพืชที่จะเป็นอาหารก่อน พืชอะไรที่เป็นอาหารกินได้ ปลูกหมดทุกอย่าง ทั้งพืชที่เป็นผัก ทั้งพืชที่เป็นไม้ผล เพื่อจะเป็นอาหารและเมื่อเหลือกินเหลือใช้จากในครอบครัวก็ไปขาย ขายไปก็ได้คืนมาเรียกว่าเป็นต้นทุนทั้งหมด แล้วก็เป็นกำไรทั้งหมดอีกด้วย เพราะว่าไม่ต้องไปเสียต้นทุนอะไร แล้วการปลูกตอนหลังนี่ เรียกว่าปลูกแบบเกษตรธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “วนเกษตร” จากนั้นก็มองเห็นว่าชีวิตของมนุษย์จะต้องมีอาหาร ต้องมีที่อยู่ ต้องมีเครื่องนุ่งห่ม ต้องมียารักษาโรค แล้วจะทำอะไรได้จากผืนดินนี้...
จากอาหารก็ปลูกสิ่งที่จะเป็นยาสำหรับรักษาโรค ยาทั้งหลายที่เป็นเครื่องสมุนไพร ก็เอามาปลูกภายในเนื้อที่ที่มี แล้วก็ให้มันเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ คือให้มันอยู่อย่างชนิดอาศัยซึ่งกันและกัน ไม้ใหญ่อาศัยไม้เล็ก ไม้เล็กก็ยังอาศัยพืชพันธุ์ที่ช่วยปกคลุมรากของมันให้ได้รับความชุ่มชื่น เมื่อรากได้รับความชุ่มชื่น ไม้ใหญ่ก็สามารถอยู่ได้อย่างสงบเย็น แล้วพืชพันธุ์ไม้เล็กที่อยู่ข้างล่างไม้ใหญ่ ก็มีความเย็นเพราะได้รับร่มเงาจากไม้ใหญ่...เห็นไหมคะนี่คือความเป็นธรรมชาติที่มันอาศัยซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่วิบูลย์ท่านก็ใช้วิธีนี้ปลูกพวกพืชพันธุ์ที่จะเป็นอาหารแล้วก็เป็นยา จากนั้นสิ่งที่ขายไปก็ได้เงินมาทำที่อยู่ ใช้สิ่งที่มีอยู่ในไร่นั้น ส่วนใดที่จะนำมาทำที่อยู่ได้..ใช้ สิ่งใดที่ขาด ใช้เงินที่ได้จากการขายพืชพันธุ์พืชผลนี่แหละเอามาซื้อ แล้วก็เมื่อเจ็บป่วย มันก็ไม่เจ็บป่วย คือหมายความว่าความเจ็บป่วยก็มีน้อยที่สุด เพราะอยู่กับธรรมชาติ อยู่ในบรรยากาศที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ทั้งอาหาร บริสุทธิ์ทั้งอากาศ บริสุทธิ์ทั้งน้ำ เพราะฉะนั้นเชื้อโรคอะไรที่จะเล่นงานมันก็เข้ามาไม่ได้ง่ายๆ แล้วก็เมื่อจะมีเชื้อโรคบ้าง มีโรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง สามารถใช้สมุนไพรได้ก็ใช้ ถ้าเผอิญจะมีโรคอะไรที่เกินกำลังของสมุนไพร นั่นแหละก็ไปหาหมอด้วยเงินที่หาได้ เพราะฉะนั้นรวมความว่าปัจจัย 4 ที่บอกว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานทางธรรมชาติของมนุษย์สามารถใช้ได้อยู่ได้อย่างสบาย จนทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็ไปดูงานที่สวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แล้วก็มีความสุขสำเร็จหลังจากที่ได้ใช้ธรรมชาติเป็นครู ใช้ธรรมชาติเป็นสิ่งแวดล้อม ใช้ธรรมชาติชุบชีวิตใหม่ ปราศจากหนี้สิน แต่มีแต่ความสุขมีความสบายสมควรแก่การดำเนินชีวิต เพื่อประโยชน์ตนเองและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น นี่คือคำตอบที่ถามว่าแล้วจะทำยังไง