แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ วันนี้จะพูดกันถึงเรื่องของทั้งหมดของพระธรรมที่ต้องรู้เพื่อดับทุกข์ได้นะคะ เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านได้ทำเป็นแผนผังเพื่อให้มองเห็นได้ง่าย ๆ
เริ่มต้นก็ด้วยหัวข้อว่า ทั้งหมดของพระธรรมที่ต้องรู้เพื่อดับทุกข์ได้ ทีนี้เมื่อแยกออกมาทั้งหมดของพระธรรม ก็เริ่มด้วย พระรัตนตรัย จากพระรัตนตรัยก็แยกออกได้เป็น 3 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระธรรมโดยเฉพาะนี่นะคะ ก็จะแยกออกมาได้เป็น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ออกเป็น 3 ส่วน
ปริยัติ ก็คือ ความรู้ในพุทธศาสนา
ปฏิบัติ ก็คือ การปฏิบัติประพฤติปฏิบัติ ตามพระพุทธโอวาท ตามปริยัติที่ได้เรียนรู้ในพระพุทธศาสนา
ส่วนปฏิเวธ ก็คือ ผลของการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ทีนี้จากการประพฤติ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี้ ส่วนที่สำคัญที่สุด ก็คือปฏิบัติ เพราะฉะนั้นท่านก็แยกให้เห็นว่า ในการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น จะแยกออกเป็นเรื่องอะไรบ้าง ก็แยกออกเป็น 3 คือ
มีการปฏิบัติในเรื่องของศีล เพราะศีลนี้เป็นบาทฐานของสมาธิ แล้วก็สมาธิ ซึ่งเป็นบาทฐานของปัญญา คำว่า “บาทฐาน” ก็หมายความว่า เป็นพื้นฐาน เป็นรากฐาน ที่จะทำให้เกิดปัญญา หรือพัฒนาปัญญาต่อไป จากสมาธิ ก็ไปสู่ปัญญา ซึ่งเป็นความรู้แจ้งในสัจธรรมนะคะ ทีนี้จากปัญญาซึ่งเป็นตัวสำคัญนี้จะต้องพิจารณาอะไร จึงจะสามารถเข้าใจ และเข้าถึงพระธรรม จนกระทั่งเกิดความรู้แจ้งในสัจธรรม ก็เริ่มด้วย ไตรลักษณ์ ซึ่งหมายถึง ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ ที่เราได้เคยพูดกันมาแล้วอย่างละเอียดนะคะ ไตรลักษณ์นี้ก็แยกออกเป็น 3 คือแยกออกเป็น
อนิจจตา อนิจจังและก็อนิจจตา อนิจจตานี่ก็เป็นคำนาม หมายถึง ความเป็นอนิจจัง หรือความไม่เที่ยง
ทุกขตา ความน่าเกลียด ความขมขื่น ความทรมาน ที่ต้องเผชิญอยู่กับความไม่เที่ยง
อนัตตตา ความไม่มีตัวตน ที่สามารถต่อต้านอนิจจตา ทุกขตา สำหรับจะยึดมั่นถือมั่นเป็นที่พึ่งได้
ทีนี้จากไตรลักษณ์ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา นี้นะคะ ที่แยกออกเป็นส่วนใหญ่ 3 ส่วน แล้วเมื่อแยกรองลงมาอีกมีอะไร ก็มี
ธัมมัฏฐิตตา การตั้งอยู่ตามธรรมดา
ธัมมนิยามตา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมดา
อิทัปปัจจยตาความเป็นเหตุ เป็นปัจจัย อาศัยกันเกิดขึ้น
เมื่อเป็นไปตามลำดับอย่างนี้ต่อไปก็จะบังเกิดเป็น
สุญญตาความว่างจากตัวตน
ตถตา ความเป็นเช่นนั้นเอง
อตัมมยตา ความไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอีกต่อไป
จากนั้นก็จะบังเกิด นิพพานญาณ ความรู้ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ทีนี้ก่อนที่จะถึงซึ่งนิพพานญาณ จะมีอาการใดปรากฏขึ้นภายใน เพื่อเป็นสัญญาณว่า นิพพานญาณกำลังจะบังเกิดขึ้นแล้วนะคะ ก็จะบังเกิด “นิพพิทา” คือความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวงก่อน แล้วก็จะบังเกิด“วิราคะ”ตามมา คือความคลายกำหนัดจากสิ่งยึดมั่นถือมั่น แล้วก็บังเกิด“วิมุต” “วิมุตติ” คือการหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นตามมา และสุดท้ายก็เกิด“วิมุตติญาณทัสสนะ” ความรู้ว่าจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างสิ้นเชิง นี่คืออาการที่จะบังเกิดขึ้น ตามลำดับ ก่อนที่นิพพานญาณจะปรากฏให้เห็นชัดเจน แล้วเสร็จแล้วก็จะมีนิพพานแท้ๆ คือความรู้สึก สงบเย็นดับสนิทจากสิ่งที่เป็นความทุกข์ หรือว่าเป็นปัญหา หรืออวิชชา ไม่สามารถเข้าครอบงำจิตได้เลย นี่คือดับทุกข์สิ้นเชิง นิพพานก็จะอยู่ตรงนี้นะคะ เพราะฉะนั้น นิพพานญานก็คือ ความเห็นแจ้ง ความรู้ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ก็คือรู้นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะแล้วนิพพานเอง คือความรู้สึกที่บังเกิดขึ้น หรือบังเกิดมีขึ้นภายใน นิพพานก็จะอยู่ตรงนี้นะคะ นี้เป็นทั้งหมดของพระธรรมที่ต้องรู้เพื่อดับทุกข์ได้ ฉะนั้นในเช้าวันนี้นะคะ เราก็ควรจะได้พูดกันถึง พระรัตนตรัย คือแก้ว 3 ดวงก่อน หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็ในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่เป็นแก่น หรือเป็นแกน ที่จะนำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติต่อไป ก็จะเน้นที่พระธรรม แล้วก็จะแยกออกมาเป็น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ พระธรรมนี้จะแยกออกมาได้เป็น 3 ฉะนั้นในตอนนี้ก็อยากจะขอพูดถึงเรื่องของ พระรัตนตรัยซะก่อนนะคะ ว่าพระรัตนตรัยนั้น ก็ทราบอยู่หรอกนะคะว่าหมายถึงแก้ว 3 ดวง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ถ้าหากเราจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธอย่างละเอียดสักหน่อยหนึ่ง ก็ควรจะได้พูดถึง หรือว่าเข้าถึง ในเรื่องใดบ้าง เราดูความหมายของคำว่าพุทธะซะก่อนนะคะ
พุทธะ ก็คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่เป็นคำที่เป็นความหมายตามศัพท์ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นความหมายแล้วโดยอรรถ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคำแปลนะคะ เป็นคำแปลตามตัวของคำว่าพุทธะ ทีนี้โดยอรรถ ก็คือโดยความหมาย หมายถึงว่าที่ว่ารู้ รู้อะไร ก็คือว่ารู้สิ่งที่ควรรู้ คือสิ่งที่ดับทุกข์ได้นะคะ รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงถึงที่สุด โปรดระลึกไว้นะคะว่า สิ่งที่ควรรู้ไม่มีอะไรอื่น สิ่งที่ควรรู้ไม่มีอะไรอื่นนะคะ จะต้องรู้สิ่งที่ดับทุกข์ได้ ถ้าไม่รู้สิ่งที่ดับทุกข์ได้ ก็ยังไม่รู้นะคะ ยังไม่เป็นพุทธะ คือยังไม่เกิดปัญญาอย่างแท้จริง ฉะนั้นจะต้องรู้สิ่งที่ควรรู้ คือสิ่งที่ดับทุกข์ได้ เพราะว่าจุดมุ่งหมายของการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ที่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือ ให้ดับทุกข์ได้ ฉะนั้นการที่จะดับทุกข์ได้ ก็จะต้องรู้สิ่งทั้งปวง ตามที่เป็นจริง อย่างถึงที่สุด ไม่ใช่รู้เพียงครึ่งๆ กลางๆ แต่ต้องรู้อย่างถึงที่สุด คือจนประจักษ์ใจกระจ่างแจ้งว่าไม่มีสิ่งใดเลย ที่มันจะเป็นสิ่งให้ยึดมั่น ถือมั่นได้ มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่หาใช่ตัวใช่ตน คือมิได้มีตัวต้นให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียว
ทีนี้ ผู้ตื่น ตื่นจากอะไร ก็คือตื่นจากหลับ นี่พูดอย่างคำธรรมดานะคะ ตื่นจากหลับ ทีนี้สิ่งที่ทำให้คนเราหลับ ทั้งๆที่ยังลืมตาอยู่นี่คืออะไร สิ่งที่ทำให้คนเราหลับ ทั้งๆที่ยังลืมตาอยู่ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า กิเลส ใช่ไหมคะ คือหลับจากความถูกต้อง จากความดีงาม อันควรทำเพื่อเกิดประโยชน์ มันหลับตรงนี้ เพราะกิเลสเข้ามา เข้ามาควบคุมใจ หรือเข้ามารบกวนจิตใจ มายั่วยุจิตใจจนหยุดไม่ได้ ก็ปล่อยใจให้ไปอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง มัวเมาอยู่กับโลภจะเอาให้ได้ โกรธผลักออกไป หลงก็วนเวียนอยู่นั่นเอง หลงก็คือโมหะ วนเวียนอยู่นั่นเอง นี่ก็เหมือนกับผู้หลับ หลับตาคือตาลืมอยู่แต่ใจนั้นหลับ หลับจากความถูกต้อง ความดีงาม อันเกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์สิ้นทั้งปวง หลับหมดเลย เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า เป็นผู้ตื่นจากหลับ ที่เน้นลงไปก็คือ จากกิเลส โลภ โกรธ หลง นอกจากนั้น ก็คือ จากตัณหาอุปาทาน สิ้นความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เพราะสามารถเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง นี่ต้องเน้นคำว่าตามที่เป็นจริงอยู่เสมอนะคะ ถ้าไม่เน้นคำว่าตามที่เป็นจริง ประเดี๋ยวก็จะไปรู้หลอกๆ ตามที่กิเลสมันมาลวง หรืออวิชชามันมาลวง ฉะนั้นตื่นจากหลับ คือตื่นจากกิเลส เพราะเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้อง ตามที่เป็นจริง
ทีนี้เป็นผู้เบิกบาน เบิกบานอยู่ด้วยอะไร ท่านก็อธิบายว่า เป็นผู้เบิกบานอยู่ด้วยสติปัญญา ที่รู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง จนกระทั่งอยู่เหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เคยยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มีแต่ความว่าง แห่งสุญญตาธรรม ปรากฏอยู่ในใจอยู่ทุกขณะ นี่ก็คือความหมายของคำว่า พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างที่เราสวดในทำวัตรเช้านะคะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าหากว่าในขณะที่ผู้ใดกราบพระพุทธรูป ที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธรูป แล้วก็มองเห็น หรือเข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานของพระองค์ พระพุทธรูปก็คือสัญลักษณ์แทนองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มิได้แทนองค์ที่เป็นรูปกาย แต่หมายถึงแทนองค์ แห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งเป็นนามธรรม ฉะนั้นสิ่งนี้ ในขณะที่ก้มลงกราบพระพุทธรูป น่าจะรำลึกเอาไว้ในใจนะคะ เพื่อที่จะได้น้อมใจของเรา เจริญรอยตามพระยุคลบาท การประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐของพระองค์ แล้วก็พยายามที่จะฝึกอบรมใจ พัฒนาใจ จนสามารถเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่แท้จริงอย่างพระองค์ได้ เพราะสามารถรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง นี่เป็นความหมายที่สำคัญ สำคัญของความหมายของคำว่า พุทธะนะคะ ทีนี้ถ้าหากว่า อยากจะพูดถึงประเภทของพุทธะ ก็อาจจะแบ่งประเภทได้ 2 อย่าง อย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่เข้าใจของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ ก็คือ ประเภทที่กล่าวโดยบุคลาธิษฐาน ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล เล็งไปถึงว่า พระนามเดิมของพระองค์คือ เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งศากยวงศ์ อย่างนี้เป็นต้น มันก็เรียกว่า เป็นอย่างบุคคล แล้วเมื่อเวลาที่นึกถึง ก็จะนึกถึงเหมือนกับว่ามีรูปร่างรูปกายของพระองค์นี่ปรากฏอยู่ในใจ นั่นเป็นบุคลาธิษฐาน ซึ่งถ้านึกเพียงเท่านั้นนะคะ เป็นหนทางที่จะทำให้เกิดความยึดมั่น ถือมั่น แล้วก็เมื่อเวลาที่จะไปกราบ กราบกรานที่หน้าพระพุทธรูปก็จะเป็นไปในลักษณะที่จะอธิษฐาน เพื่อขอร้อง ขอร้องให้ได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตามที่ปรารถนา หรือตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น โดยบุคลาธิษฐานนี้ ก็อยากจะพูดว่า เอาเป็นเพียงรู้ ประดับความรู้ ว่าแต่เดิมนั้นพระองค์เป็นใครมาจากไหน เพียงเท่านั้นก็พอ แต่สิ่งที่ ถ้าอยากจะรู้ให้เกิดประโยชน์ ก็คือรู้ว่าอันที่จริงแล้วพระองค์ก็เป็นมนุษย์เหมือนอย่างเรานี่แหละ ไม่ได้มีอะไรแปลกไปอย่างเราเลย แต่ก็ควรจะใคร่ครวญให้ลึกซึ้งๆว่า ในเมื่อพระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์อย่างเราๆ แล้วทำไมพระองค์นี่จึงได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ แล้วก็นำธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้ หรือสัจธรรมที่พระองค์ประจักษ์แจ้งแล้วนั้น มาสั่งสอนแก่บรรดามนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งตัวเราด้วย จนกระทั่งถ้าประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะผ่อนคลายความทุกข์ให้ลดลง ปัญหาให้ลดลง ตรงนี้สิที่ควรจะนำมาใคร่ครวญเสมอนะคะ เมื่อเวลาที่รู้สึกว่าเอ่อ ท้อใจ ละเหี่ยใจ เห็นว่าไม่สามารถล่ะที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดได้จนรู้แจ้งทุกอย่างตามสิ่งที่เป็นจริงได้ ก็รำลึกข้อนี้ไว้เสมอนะคะ
ทีนี้อีกประเภทหนึ่งก็คือ โดยธรรมาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานก็คือ โดยประเภทที่จะรำลึกถึงพระองค์ในฐานะที่เป็นธรรมะ คือ ธรรมะก็คือคำสอนที่พระองค์นำมาสอน เหมือนดั่งที่พระองค์ได้เคยตรัสว่า เคยตรัสตอบพระอานนท์เมื่อพระอานนท์กราบทูลถาม ว่าถ้าพระองค์ไม่อยู่แล้ว อะไรล่ะจะเป็นสิ่งแทนพระองค์ ที่จะให้มนุษย์ทั้งหลายนี่ รำลึกถึง ศึกษาๆ จนกระทั่งทำความเข้าใจ แล้วเสร็จแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติจนเกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตน พระองค์ก็ทรงเล็งไปที่พระธรรม เพราะฉะนั้น โดยธรรมาธิษฐาน ก็คือหมายถึงว่า เมื่อนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะนึกถึงพระธรรมคำสอน ที่พระองค์ได้นำมาอธิบายมาชี้แจง มาบอกกล่าว มาตักเตือน เพื่อให้มนุษย์ทั้งหลายนี้ ได้สำนึก ว่าสิ่งใดบ้างเป็นสิ่งที่ควรละ และก็สิ่งใดบ้างเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝน อบรม ปลูกฝัง ให้บังเกิดขึ้นจนถึงที่สุด ที่พระองค์ทรงได้ตรัสเอาไว้โดยธรรมาธิษฐานนี้ แล้วเราก็มารวมความให้เป็นจุดแห่งการเตือนใจรำลึกว่า เมื่อนึกถึงพระพุทธเจ้าให้นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างธรรม หรืออย่างธรรมะนั้น ก็ตามที่พระองค์ได้เคยตรัสไว้เองว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เห็นธรรมะ ก็คือเข้าถึงธรรมะ สัมผัสกับธรรมะที่ใจ ถ้าผู้ใดสัมผัสกับธรรมะ เห็นธรรมะประจักษ์แจ้งอยู่ที่ใจ มีธรรมะเต็มเปี่ยมอยู่ในใจ ผู้นั้นแหละจะเป็นผู้ที่เห็นเรา คือเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเห็นองค์ธรรมของพระองค์ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม นี่เป็นข้อสังเกตที่สำคัญนะคะ เพราะฉะนั้น เราจึงได้พูดกันถึงเรื่องของปฏิจจสมุปบาทค่อนข้างละเอียด เป็นเวลาถึง 3 ครั้ง ที่เราพูดถึงปฏิจจสมุปบาท เพราะเป็นธรรมะขั้นละเอียดชั้นสูง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จนกระทั่งสามารถดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะประจักษ์แล้วว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นความทุกข์ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย แล้วจึงเป็นเหตุให้ความทุกข์เกิด เพราะเหตุปัจจัยที่ประกอบนั้นไม่ถูกต้อง ดังที่เราได้พูดกันมาแล้วนะคะ หรือถ้าหากว่าต้องการจะสิ้นทุกข์ หรือดับทุกข์ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ในการประกอบเหตุปัจจัยนั้นอีกเหมือนกันจึงจะทำให้ความทุกข์ดับ ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า พระองค์จึงตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม เรียกว่าเห็นธรรมอย่างจะแจ้ง อย่างถึงที่สุด เพราะประจักษ์แก่ใจว่า จริงๆแล้วเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่าเท่านั้นเอง มันเป็นแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามธรรมดาของธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่มีผู้ใดเสกสรร หรือว่าบงการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นหรือว่าสิ่งนี้ดับไป ไม่มี ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจ แล้วนำมาฝึกประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งประจักษ์ใจว่า อ๋อแท้ที่จริงแล้ว เป็นแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุ ตามปัจจัยเช่นนั้นเองนะ ไม่มีอะไรจริงๆเลย อย่าไปยึดมั่นถือมั่นให้เสียเวลาไปเลย ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นได้ มันเป็นแต่เพียงสิ่งสักว่าธาตุตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง ฉะนั้นก็จึงเป็นการสมควรนะคะที่พุทธบริษัททุกคน จะได้ศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทให้ชัดแจ้งแก่ใจ ฉะนั้นก็อยากจะพูดว่า ถ้าโดยประเภท ก็โดยบุคลาธิษฐานและโดยธรรมาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานนี่แหละเป็นสิ่งที่ทุกคนควรที่จะพยายามศึกษาจนเข้าถึง ทีนี้องค์ประกอบของความเป็นพุทธะนะคะ มีอะไรบ้าง องค์ประกอบของความเป็นพุทธะก็คือ ข้อแรก ความบริสุทธิ์ ที่เราเรียกว่า มีพระบริสุทธิคุณ หรือเมื่อรำลึกถึง ก็รำลึกถึงพระบริสุทธิคุณ ก็คือสุทธิ มาจากว่าสุทธิ พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ปัญญาคุณก็คือ ความรู้อย่างทั่วถึง ทั่วถึงอย่างจะแจ้ง ถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างถึงที่สุด ไม่มีสิ่งใดเลยที่พระองค์จะไม่ทรงรอบรู้ เพราะฉะนั้นจึงได้รับพระนามว่า เป็นผู้ที่สัพพัญญู พระองค์เป็นสัพพัญญู ทรงรู้แจ้งทั่วหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ฉะนั้นองค์ประกอบของความเป็นพุทธะประการแรก สุทธิ คือความบริสุทธิ์ ปัญญา คือความรู้ทั่วถึง เมื่อพระองค์มีทรงมีทั้งความบริสุทธิ์ ทรงมีทั้งปัญญาที่รู้ทั่วถึง ในพระทัยของพระองค์ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระกรุณา พระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณ คือความเมตตา ความกรุณาแก่หมู่สัตว์ทั้งปวง ความเมตตา ก็คือปรารถนาจะให้แต่มีความสุข ความกรุณาปรารถนาจะให้พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นแม้เราจะพูดพระเมตตาคุณแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมครอบคลุมกรุณาอยู่ในนั้น เพราะอะไร เมื่อปรารถนาจะให้มีความสุขแล้ว จะไปทำให้ชีวิตนั้น บุคคลนั้น เกิดความทุกข์ขึ้นได้อย่างไรใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นความกรุณาก็มีอยู่ในนั้น มีอยู่ในพระเมตตาที่แฝงอยู่ ฉะนั้นนี่เป็นองค์ประกอบ 3 อย่างของความเป็นพุทธะ คือ สุทธิ ความบริสุทธิ์ ปัญญา ความรู้ทั่วถึง เมตตา ความเมตตาแก่หมู่สัตว์ซึ่งรวมพระกรุณาอยู่ในนั้นด้วย ทีนี้ถ้าหากว่า จะพูดต่อไปว่า แล้วถ้าโดยความจริง คือโดยสัจจะ ที่เกี่ยวกับเรื่องของคำว่าพุทธะแล้ว อาจจะอธิบายหรือทำความเข้าใจได้อย่างไรบ้าง เมื่อวันก่อนเราก็ได้พูดถึง เมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ หรือโพธิ เมื่อเราพูดถึงปฏิจจสมุปบาท ที่มีภาพปรากฏเป็นภูมิอยู่ในรอบในใช่ไหมคะ ว่า โดยสัจจะ คือโดยความจริงแล้วนะคะ ความเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ด้วยปัญญานี้ เป็นเมล็ดพืชอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคน เป็นเมล็ดพืชที่อาจพัฒนาได้ทุกคน ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว แต่เป็นเพราะว่าการตกจมอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน เพราะมีอวิชชาห่อหุ้มจิตอยู่ก็เลยทำให้ละเลย ไม่มองเห็นเมล็ดพืชแห่งโพธิ แห่งปัญญา ที่มีแฝงอยู่ในใจ แล้วก็ไม่ใส่ใจที่จะรดน้ำพรวนดินให้ปุ๋ย เพื่อพัฒนา ปลูกฝัง อบรม อบรมพืชของปัญญาที่มีอยู่แล้วในใจของทุกคนนี่ให้เจริญเติบโตงอกงาม เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ฉะนั้นพึงทราบเถิดว่า ในจิตของมนุษย์ทุกคนนั้นมีปัญญาอยู่ในระดับหนึ่ง ที่พร้อมจะพัฒนา ฝึกฝน อบรม ให้เป็นปัญญาที่รู้รอบขึ้นได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ขอให้ทุ่มเทความเอาใจใส่ ความพากเพียร จริงจัง มุ่งมั่น อย่างบากบั่น แล้วจะสำเร็จได้ นอกจากนี้โดยสัจจะ ถ้าต้องการจะรู้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นน่ะอยู่ตรงไหน ก็โปรดทราบนะคะว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริงก็คือธรรมะ ที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง นี่แหละคือพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ทำไมถึงพูดอย่างนี้ ก็พระองค์ได้ตรัสแล้วว่า ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นเรา ทีนี้ที่พระองค์ทรงค้นคว้าทุ่มเทตลอด 6 พรรษาที่เสด็จไปอยู่ในป่าเพื่ออะไร ก็เพื่อความดับทุกข์ ให้มองเห็นว่า อะไรอาศัยอะไรกันแล้วความทุกข์เกิด แล้วอะไรอาศัยอะไรความทุกข์จึงจะดับลงได้ พระองค์ทรงค้นคว้าอันนี้ เมื่อทรงประสบประจักษ์ด้วยพระองค์เอง พระองค์ก็ทรงทราบว่า ทรงทราบด้วยพระญาณว่า บัดนี้พระองค์หลุดพ้นแล้ว ได้ถึงซึ่งวิมุตแล้ว วิมุตติก็คือความหลุดพ้นอย่างแท้จริง เป็นความหลุดพ้นที่อันประเสริฐ จะทรงอยู่แต่กับความว่าง สุญตาอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าต้องการรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พุทธบริษัทก็จำเป็น สมควรที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจกับธรรมะ ที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาทให้ชัดเจน จะแจ้งจนประจักษ์ใจ และธรรมะที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาทนี้พูดได้ว่า มีอยู่ตลอดกาลชั่วนิรันดร์ไม่เคยหายไปไหน ไม่เคยจางคลายไปคงปรากฏอยู่ เพียงแต่มนุษย์เรา จะศึกษาไหม จะทำความเข้าใจไหม แล้วก็จะนำมาประพฤติปฏิบัติไหม ถ้าหากว่าศึกษาแล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงก็จะปรากฏอยู่ภายในใจของบุคคลผู้นั้นตลอดเวลาเรียกว่านิรันดร จิตนั้นก็จะมีแต่ความปกติ สงบเย็น ดับสนิทแห่งความทุกข์ที่ไม่สามารถปรากฏขึ้นได้เลย เรียกว่าไม่มีการเกิดดับ อยู่เหนือความเกิดดับทั้งปวง แล้วก็ไม่ต้องมีการประสูติ ตรัสรู้ หรือปรินิพพานอีก เพราะจะเป็นอยู่เช่นนี้ คือความประจักษ์แจ้ง ในสัจธรรมที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาทอยู่ทุกขณะ นี่คือโดยสัจจะนะคะ สัจจะความจริงที่จะกล่าวถึงพระพุทธะ เพราะฉะนั้นจึงได้มีการอุปมา พระพุทธะว่า เป็นเสมือนผู้เปิดประตูคอกแห่งอวิชชา ผู้ที่ไม่สนใจจะศึกษา ฝึกฝน อบรมจิต ปล่อยให้จิตนั้นตกอยู่ภายใต้ของความป่าเถื่อน ป่าเถื่อนที่จะเอาตามใจของกิเลสตัณหาอุปาทาน เพราะอวิชชาเข้าครอบงำ ฉะนั้นพระองค์มาแล้ว เสด็จมาเสด็จมาด้วยการที่นำพระธรรมมาสั่งสอน มาบอกกล่าวแก่มนุษย์ พระองค์ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 2500 กว่าปี แต่พระธรรมยังอยู่ เพราะฉะนั้นจึงเปรียบพระองค์เป็นเสมือนผู้เปิดประตูคอกแห่งอวิชชา คือเปิดประตูคอกแห่งความเขลา ความไม่รู้ ความที่ไม่สนใจจะศึกษาสิ่งที่ควรรู้ เพราะฉะนั้นพระองค์เปิดหนทางนำแสงสว่างมาประทานให้ ว่าถ้าต้องการจะออกจากคอกของความเขลา ของความมืด หนทางอยู่ตรงนี้ หนทางอยู่ตรงนี้ หนทางที่จะเดินไปเพื่อให้ออกจากคอกแห่งอวิชชาคืออะไร นึกถึง อริยสัจ 4 ทันทีนะคะ ก็คงจะตอบได้ว่า หนทางที่จะออกจากประตูคอกแห่งอวิชชาก็คือ ต้องเดินตามหนทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 พยายามฝึกฝน อบรมใจ สมาทานในใจว่า วิถีชีวิตของเราจะต้องดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ จะเดินไปอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายแต่ด้วยความมั่นคง หนักแน่น แล้วก็เด็ดขาด อาจหาญ จนกระทั่งสามารถถึงที่สุดแห่งความทุกข์ให้จงได้ พระองค์จึงเปิดประตูให้แล้ว ให้เลือกเอาจะเดินหรือไม่เดิน ก็เชื่อว่า มนุษย์ที่มีเมล็ดพืชแห่งโพธิอยู่ในจิต สำนึกได้ถึงคุณค่าของเมล็ดพืชแห่งโพธินี้ หรือแห่งพุทธะนี้ ย่อมจะพากันรีบเดินใช่ไหมคะ รีบเดินออกจากคอกแห่งอวิชชาที่เป็นคอกของความมืด ความเขลา อึดอัดหายใจไม่ออก ไปสู่แสงสว่าง อากาศโล่งบริสุทธิ์ เพื่อที่จะเข้าถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์ มีแต่ความสงบเยือกเย็นผ่องใสอยู่เป็นนิจ นอกจากนี้ก็เปรียบว่า พระองค์ทรงเป็นเสมือนบิดาผู้ให้กำเนิดใหม่ทางจิตวิญญาณ กำเนิดเก่าก็คือครั้งแรกที่ออกจากครรภ์ของมารดาเป็นทารก นั่นเป็นกำเนิดครั้งแรก เป็นการให้กำเนิดทางกาย คือทางกายก็มีรูปร่างหน้าตา มีชีวิตเมื่อเป็นทารก นั่นเป็นการกำเนิดครั้งแรกแต่การกำเนิดครั้งแรกนี้ ยังไม่ได้รับการขัดเกลาใช่ไหมคะ เพราะสิ่งที่เป็นประธานของชีวิตคือใจ ใจที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝน อบรม ขัดเกลาให้เกลี้ยงให้สะอาด ก็ยังมีความขรุขระอยู่ ขรุขระเพราะอวิชชาห่อหุ้ม ก็เลยไปสนใจแต่กับเรื่องของกิเลสตัณหาอุปาทาน เพราะฉะนั้นเมื่อสนใจที่จะออกจากคอกแห่งอวิชชา ประพฤติปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน พระองค์จึงเปรียบเสมือนกับพระบิดา ผู้ได้ประทานให้ความกำเนิดใหม่ทางจิตวิญญาณ ทางจิตวิญญาณในที่นี้หมายความว่าอย่างไร ไม่ใช่ไปชุบนะคะ ไม่ใช่ไปชุบชีวิตเหมือนอย่างที่คิดกันตามทางไสยศาสตร์ แต่หมายถึงว่า สติปัญญา จิตวิญญาณทางสติปัญญาในที่นี้ ก็หมายถึงพระองค์ได้ทรงขัดเกลาจิตวิญญาณหรือสติปัญญาที่ยังเขลาอยู่ ยังไม่รู้อะไรถูกต้องตามเป็นจริง
เมื่อประพฤติปฏิบัติตามคำสอน ตามพระพุทธโอวาทของพระองค์ ก็จะค่อยๆมีความเกลี้ยงเกลามีความสะอาดเพิ่มมากขึ้นมากขึ้นมากขึ้น เพราะฉะนั้นจนวันหนึ่ง จิตวิญญาณคือสติปัญญานี้เฉียบคมจนถึงที่สุด ก็สามารถจะตัดสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาอุปาทาน โดยเฉพาะอวิชชาให้สิ้นไป เหลือแต่วิชชาภายในจิต ฉะนั้นจิตวิญญาณหรือสติปัญญาเช่นนี้ก็เรียกว่าเจริญงอกงามอย่างถึงที่สุด โดยมีพระองค์เป็นพระบิดาโดยสมมตินะคะ โดยอุปมา ทีนี้โดยทางปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึง ให้เข้าถึงความมีจิตวิญญาณที่เจริญงอกงามอย่างถึงที่สุดควรจะทำอย่างไร ก็ไม่มีอะไรอื่นค่ะ นอกจากจะต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติตามสิ่งที่เราเคยพูดกันมาแล้ว ก็คือค้นหา ค้นหาด้วยความสนใจ แล้วก็พยายามที่จะขุดคุ้ยศึกษาจนพบความจริงเรื่องของอริยสัจ หรือเรื่องของปฏิจจสมุปบาท หรืออีกนัยหนึ่งก็ต้องบอกว่า จนเข้าถึงความจริงเรื่องของอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท อย่างที่เราได้พูดกันมาแล้วนะคะ เมื่อรู้แล้วก็ฝึกปรืออบรมจิตใจฝึกปฏิบัติ จนกระทั่งบังเกิดมีความรู้แจ้งในความเป็นจริงอย่างถึงที่สุด แล้วก็เมื่อรู้แจ้งในความเป็นจริงอย่างถึงที่สุดอย่างถูกต้องแล้ว ก็ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ด้วยสติปัญญา ให้มีสติปัญญาเป็นแสงสว่างนำหน้าตลอดไป พร้อมอยู่ด้วยความเมตตา ความกรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ เปี่ยมอยู่ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวก็เพราะปราศจากแล้วซึ่งความรู้สึกยึดมั่น ถือมั่นในความเป็นอัตตาตัวตน ที่จะเป็นเครื่องดึง เครื่องถ่วงให้มีจิตใจที่คับแคบเห็นแต่แก่ตัวเอง เรียกว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว พูดง่าย ๆนะคะ เมื่อเห็นแก่ตัวก็มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกันอย่างที่ปรากฏเป็นตัวอย่างอย่างที่ทราบกันทุกคนแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติปัญญาเจริญงอกงามอย่างถึงที่สุด จิตนั้นก็มีความเมตตา กรุณา ที่เป็นอัปปมัญญา ไม่มีขอบเขต กว้างขวาง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ควรแก่การได้รับความเมตตา กรุณา อย่างเสมอเหมือนกัน เพราะจิตนั้นเป็นจิตที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว เห็นแต่แก่ผู้อื่น คือแก่เพื่อนมนุษย์ที่อยากจะให้ได้ความประสบความสุขเสมอเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในทางภาษาธรรมนะคะ หรือถ้าพูดถึงในทางภาษาคนที่พูดถึงพระพุทธะกัน ส่วนมากก็จะนึกถึงในลักษณะของความเป็นตัวตน คือเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่เรียนกันตามพุทธประวัติ เพราะฉะนั้นก็จะมีการเรียนรู้ เรียนรู้นี่ดี แต่ก็จะไปเพ่งหรือว่าไปเน้นในการท่องจำ เรื่องการประสูติเมื่อไหร่ เป็นพระโอรสของใคร ที่ไหน อย่างไร ตรัสรู้เมื่อไหร่ ตรัสรู้อย่างไร ปรินิพพานเมื่อไหร่ ไปเน้นเอาที่ตัวเลข ไปเน้นเอาที่ตัวบุคคล ซึ่งก็ดี ไม่ใช่ไม่ดีนะคะ ที่จะได้เรียนรู้กับชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผ่านมาแล้ว แล้วก็จะเจริญรอยตามการศึกษาปฏิบัติของพระองค์ แต่ทว่ามันจะทำให้เกิดจุดอ่อนถ้าไปย้ำ แล้วก็ยึดมั่นอยู่แต่เฉพาะตามความหมายในภาษาคน คืออย่างบุคคล ก็จะทำให้ละเลยธรรมะ ไม่สนใจในการที่จะดำเนินตามพระพุทธโอวาท คำสอน แล้วก็วิ่งออกจากคอกอวิชชา แต่กลับจะตกอยู่ในคอกอวิชชา ฉะนั้นก็จึงควรที่จะทราบถึงความหมายของคำว่าพุทธะ ตามภาษาธรรมบ้างนะคะ เมื่อพูดถึงพระพุทธะตามภาษาธรรมเมื่อรำลึกนึกถึงองค์พระพุทธะก็ควรจะต้องรำลึกนึกถึงควบคู่กันไปในทันที คือเรื่องกฎของความจริงของธรรมชาติ ที่พระองค์ได้ตรัสรู้และก็นำมาสอน นั่นก็คือ อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นิรันดร คำว่านิรันดรก็คือถาวร ไม่ว่าจะมีโลกนี้จะผ่านพ้นไปสักกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นปี แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสัจจะ เป็นความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจึงควรศึกษาในสิ่งนี้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงธรรม จนกระทั่งมีธรรม มีธรรมะ แล้วก็เป็นธรรมะอยู่ในเนื้อในตัวหรือในใจยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิต นั้นก็คือสามารถที่จะพัฒนาจิตวิญญาณ เจริญงอกงามจนถึงที่สุดนะคะ นี่เป็นในส่วนของพระพุทธะที่อยากจะพูดถึงกันในวันนี้ ทีนี้เมื่อต่อจากพระพุทธะ ก็คือพระธรรม พระธรรมโดยคำอธิบายที่เป็นคำแปล คำแปลของธรรมะ หรือพระธรรม ก็หมายถึงทรงตัวเอง คือจะทรงตัวเองอยู่ได้ไม่มีวันล้ม ไม่มีวันเซไปเป็นอื่น แต่คงทรงตัวเองอยู่ได้อย่างมั่นคง นี่คือความหมายของธรรมะ แล้วก็สิ่งใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมะ ก็จะสามารถทรงตัวเองอยู่ได้ ในความรู้สึกส่วนตัวก็มีความรู้สึกว่า เมื่อพูดถึงว่าสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วก็ทรงตัวเองอยู่ได้คืออย่างไร ก็คือบุคคลที่ได้ศึกษา ทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมะอย่างละเอียดลออจะแจ้งแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติอยู่เป็นนิจ จนกระทั่งจิตนี้มีธรรมแล้วก็เป็นธรรมดังที่พูดมาแล้ว ฉะนั้นบุคคลที่จิตใจมีธรรม แล้วก็เป็นธรรม สถิตแน่น หนักๆ เข้มแข็ง อยู่ตลอดเวลา บุคคลผู้นั้นก็ย่อมสามารถทรงตัวเองอยู่ได้ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นคำว่าทรงตัวเองอยู่ได้ก็คือไม่ซวนเซ ไม่ล้มไปเพราะผัสสะที่มากระทบ แล้วก็เกิดเวทนา เกิดเป็นทุกข์ เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจ แล้วที่นี้ก็เกิดซัดส่ายละ ซัดส่ายไปมาด้วยอารมณ์ ส่วนทางกายก็จะปรากฏลักษณะอาการวิ่งพล่านไม่อยู่กะที่ ไปที่โน่นที่นี่ ล้มบ้าง เซบ้าง ลุกขึ้นมาได้บ้าง นั่งบ้าง คลานบ้าง อะไรทำนองนั้น ก็แสดงอาการของการที่ทรงตัวเองอยู่ไม่ได้ เพราะปราศจากธรรมะ เพราะฉะนั้นที่ว่า ธรรมะโดยพยัญชนะคือหมายความว่าทรงตัวเอง แล้วก็รวมถึงสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ก็โปรดนึกดูนะคะว่า ถ้าเราจะเกี่ยวข้องกับอะไรสักอย่างหนึ่ง สมควรไหมที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เพื่อให้ตัวของเรา ชีวิตของเรานั้นมีความมั่นคง ทรงตัวเองอยู่ได้ ยืนอยู่ได้ พึ่งตัวเองได้ ทั้งข้างนอกข้างใน และยังสามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นอีกด้วย นี่คือความหมายตามตัวหนังสือหรือพยัญชนะ ถ้าพูดถึงโดยอรรถ คือโดยอรรถก็คือโดยความหมายที่ขยายความออกไป ก็จะพูดได้ว่า ธรรมะโดยอรรถก็คือทรงตัวเองอย่างที่กล่าวแล้วและทรงผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะไว้ด้วยเป็นธรรมดา อยู่อย่างนี้นะคะ ความหมายที่ 2 ก็คือความหมายของธรรมะที่ 2 ก็คือหมายถึงธรรมชาติ หมายถึงธรรมชาติ ซึ่งไม่มีความหมายว่า สุข ทุกข์ ดีชั่ว แต่ประการใดเลย ธรรมชาติคงมีความเป็นกลางไม่ได้เอนเอียงไปในทางไหน ไม่ได้บอกว่านี่ดี นั่นชั่ว นี่สวย นั่นขี้เหร่ นี้น่ารัก นั่นน่าชัง ธรรมชาติไม่เคยบอก แต่กิเลสที่อยู่ในใจของมนุษย์ที่ยึดมั่นเอาไว้ตามทิฐิของตนนั่นแหละมาบอก มาตั้งขึ้น ที่เรียกว่าเป็นสมมติสัจจะและด้วยความเขลาก็เลยยึดมั่นถือมั่น แต่ความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาตินี้ไม่มีความหมายว่า สุข ทุกข์ ดี ชั่ว แต่ประการใดเลย ถ้าพูดเน้นลงไปก็คือว่าไม่มีความหมายเป็นสิ่งคู่นะคะ โปรดเข้าใจตรงนี้ให้ชัดๆ สักนิดนะคะ ถ้าเรามองเห็นว่าธรรมชาติ ไม่มีความหมายว่าเป็นสิ่งคู่ ทีนี้จิตของเราจะอยู่ตรงไหนล่ะ นึกได้ใช่ไหมคะ จิตของเราก็จะอยู่ตรงกลาง อยู่ตรงกลางที่เรียกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะสิ่งใดที่เป็นสิ่งคู่นะคะ มันจะต้องเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวาสุดโต่งอยู่เสมอ กระทบซ้ายก็เจ็บ กระทบขวาก็เจ็บ เพราะเหตุว่ามันถูกกระทบ มันถูกกระทบแล้วเจ็บทั้งกาย ที่ร้ายกว่านั้นก็คือเจ็บที่ใจ เพราะฉะนั้นก็โปรดระลึกว่า ธรรมชาตินี้ไม่มีความหมายว่าเป็นสิ่งคู่แต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเข้าใจและเข้าถึงธรรมะ คือ ธรรมชาติอย่างแท้จริง จิตนี้จะสามารถอยู่ตรงกลาง จะเป็น มัชฌิมาปฏิปทา อันจะเป็นจิตที่มีแต่ความเป็นปกติ และก็สงบเย็น ทีนี้ถ้าเราจะแยกขยายความหมายของธรรมะออกไป ให้ชัดขึ้นอีกสักนิดนะคะ ก็จะแยกได้ออกเป็น 4 อย่าง ตามที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านได้นำมาชี้แจงอธิบายให้เข้าใจ เพื่อให้สามารถที่จะมองเห็นความหมายของคำว่า ธรรมะ ได้ชัดเจนขึ้น
ประการแรก ธรรมะ ก็หมายถึงตัวธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า สภาวธรรม สภาวธรรม คือตัวธรรมชาติ สภาวะ คือ ความเป็นเอง หรือสิ่งที่เป็นเองตามธรรมดาอย่างนั้นเอง สภาวธรรม ก็คือหลักแห่งความเป็นเอง ของสิ่งที่เป็นเองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นเองโดยใครกำหนด แต่มันเป็นไปเองตามเหตุ ตามปัจจัย นี่คือสภาวะของ นี่คือความหมายของสภาวธรรม ทีนี้สิ่งที่เป็นเองไปตามเหตุตามปัจจัยที่เป็นสภาวธรรม ที่เห็นได้ง่ายๆ และพูดถึงกันอยู่เสมอคืออะไร ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันเป็นสภาวธรรมที่จะต้องเกิดขึ้นแก่มนุษย์ทุกรูปทุกนาม ไม่มีเว้นแก่ชีวิตใดทั้งสิ้น เมื่อมีความเกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดาอย่างนี้เอง ทีนี้สิ่งนี้ เราก็มองเห็นหรอก คือเราก็ได้ยินหรอก เพราะเกิดมาเราก็มองเห็น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิดของทารกใหม่ ที่ทยอยกันออกมาอยู่เรื่อย ๆ แต่เราก็เห็นแต่ว่ารู้ว่านี่เรียกว่าความเกิด นี่เรียกว่าความแก่ นี่เรียกว่าความเจ็บ นี่เรียกว่าความตาย เพียงแต่รู้ สักแต่ว่ารู้ แต่ไม่ได้รู้อย่างธรรมะ รู้ตามตามเขาว่ากัน ทำไมถึงพูดอย่างนี้ ก็เพราะว่าพอความแก่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดิ้นรนแล้ว ไม่อยากแก่ พยายามที่จะหาทางชะลอความแก่ ตามหลักการแพทย์การวิทยาศาสตร์ หรือตามแต่เขาจะมาบอกหลอกล่ออย่างไรก็แล้วแต่ ดังที่เราได้ยินได้เห็นกันอยู่ในสังคมนี้ นี้ก็บอกได้ว่า รู้ว่าความแก่มันต้องมี ตามๆ เขาไป แต่ไม่ได้รู้จริง ทำไมถึงไม่รู้จริง พอความแก่เกิดขึ้น กลัว ตกใจ ประหวั่น พรั่นใจ หาหนทางจะหนีความแก่ ทั้งๆ ที่รู้ว่า จะหนีไปทิศใดก็ไม่มีพ้น ความแก่อยู่ทุกที่ ทุกหนทุกแห่ง เพราะเป็นหนึ่งในสภาวธรรม แต่กระนั้นก็พยายามดิ้นรนหนี ด้วยวิธีชะลอความแก่ดังกล่าวแล้ว แล้วก็ดูไปเถอะค่ะ จะไปชะลอความแก่สักกี่ครั้ง ผลที่สุดหนีความแก่ได้ไหม ก็หนีไม่ได้อยู่นั่นเอง
ความเจ็บเกิดขึ้น ดิ้นรนด้วยความกลัว บางทีก็ด้วยความโกรธ ทำไมฉันจึงจะต้องเจ็บด้วย ไม่ดูว่าความเจ็บที่เกิดขึ้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่นเดียวกับความแก่มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยของกาลเวลาใช่ไหมคะ กาลเวลาที่ผ่านพ้นไป เมื่ออายุ 15 สดสวย น่ารัก น่าชม 20, 30 ก็ยังเปล่งปลั่ง แต่พอย่างเข้าไป 40, 50, 60 รั้งไว้ไม่ไหวแล้ว ที่จะให้ความเปล่งปลั่ง นวลเนียนยังคงอยู่ ความเหี่ยวแห้ง ย่น ทั้งหลายมันจะติดตามมา ตามเหตุ ตามปัจจัย ของกาลเวลาที่ผ่านไป เช่นเดียวกับความเจ็บที่เกิดขึ้น มันก็มีเหตุปัจจัย ละเลยการดูแลสุขภาพ ในเรื่องการกิน การนอน การพักผ่อน หรือการทำงาน มันไม่ได้สัดส่วนกัน จะเอาแต่หักโหมไปทางใดทางหนึ่งอย่างสุดโต่ง นี่เป็นเหตุปัจจัย โรค มันก็เข้ามาเยือน เมื่อยิ่งพอทำงานไป หรือว่าปล่อยใจไป ตามเหตุตามปัจจัยแห่งความลุ่มหลง แล้วก็ความเจ็บเข้ามาเยือน ความแก่เข้ามาเยือน ก็เกิดความเครียดขึ้นมาในใจ พอแก่ก็เครียด พอเจ็บก็เครียด โทษนั่นโทษนี่ไปสารพัด แทนที่จะคิดได้ว่า เมื่อเจ็บ หน้าที่ของมนุษย์ก็คือ รักษาสิ จะต้องรักษาอย่างไรความเจ็บนี้จึงจะไม่เข้ามารุกราน แล้วก็ไม่มารุกลาม ให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นโรคร้ายแรงเกิดขึ้น ถ้าหากว่ารู้อย่างนี้แหละ จึงจะเรียกว่าเห็นธรรม คือรู้จักสภาวธรรมโดยธรรมะ
หรือพอความตายใกล้เข้ามา ยิ่งประหวั่นพรั่นใจ ตัวสั่นกลัวทีเดียว กลัวความตาย จะมาพรากไปจากสิ่งที่รักทั้งปวง แล้วก็กลัวเพราะไม่รู้ว่า จากความตายที่หยุดหายใจนี้จะไปไหน มันมืดตื้อ มันมองไม่เห็น มันกลัว กลัวที่จะต้องทิ้งปัจจุบัน ที่คิดว่าเป็นความอบอุ่น อยู่ในท่ามกลางผู้เป็นที่รัก สิ่งที่รัก แล้วก็จะไปสู่อะไรที่ไม่สามารถจะบอกได้แก่ตัวเอง ก็เพราะไม่เคยพิจารณา ในเรื่องของความตายเลยสักนิดเดียว มันจึงเกิดเป็นความทุกข์ขึ้น นี่ก็เรียกว่ารู้จักสภาวธรรมตามเขาว่าด้วยปาก แต่ไม่เคยที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม จนเข้าถึงและยอมรับว่า สภาวธรรมก็คือสภาวธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นเองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ตามกฎธรรมชาติ ไม่มีผู้ใดจะไปเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไขหรือขอร้องวิงวอน อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย ได้เลยเป็นอันขาด นี่คือความหมายของธรรมชาติประการแรกนะคะ คือสภาวธรรมที่เป็นตัวธรรมชาติ ที่เป็นสิ่งที่เป็นเอง ที่ควรจะศึกษา เข้าถึง จนมองเห็นและจิตนั้นยอมรับได้
ข้อที่สอง หรือความหมายที่สอง ก็คือ กฎธรรมชาติ หรือสัจธรรม สัจธรรม ก็คือความจริง ตามธรรมชาติที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ก็ดังที่เราเคยพูดกันมาหลายครั้งแล้วก็จะขอเพียงแต่เอ่ยชื่อเท่านั้นก็คงพอใช่ไหมคะ กฎของธรรมชาติอันเป็นสัจธรรม ก็คือ อริยสัจ 4 กฎแห่งอริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท กฎไตรลักษณ์ กฏอิทัปปัจจยตา นี่แหละเป็นกฎธรรมชาติที่สำคัญ ที่พุทธบริษัท หรือมนุษย์ทุกคนควรศึกษาเรียนรู้เข้าถึงเอาไว้ เพื่อว่า พอความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาถึง จะยิ้มรับมันได้ เพราะมันเป็นความเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง เมื่อมันถึงกาลเวลาตามเหตุตามปัจจัย ก็ดูว่าจะมีอะไรแก้ไข ทำให้มันดีขึ้น ได้ไหม ถ้าหากว่าได้ลองทำแล้วมันเป็นไปได้เพียงเท่านี้ก็ยอมรับ เพราะได้กระทำเหตุปัจจัยอย่างถูกต้องที่สุด ดีที่สุด แต่จะแก้ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ได้ ก็มันเป็นกฎธรรมดา เป็นสภาวธรรม ใช่ไหมคะ นี่คือประโยชน์สูงสุดของการที่จะเรียนรู้เรื่องของกฎธรรมชาติ อันเป็นสัจธรรม แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติอันเป็นสัจธรรม นั้นจนกระทั่งเข้าถึง
ประการที่สาม ก็คือความหมายที่สาม ก็คือหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตตามกฎธรรมชาติ นี่ก็ได้พูดไปแล้วเมื่อกี้นี้นะคะ ได้กล่าวถึงไปแล้วนิดหน่อย หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตก็คือหน้าที่ของพุทธบริษัท หรือของมนุษย์ทุกคน ที่สมควรจะต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ที่ได้เรียนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว จากความหมายที่สองที่พูดมา ฉะนั้นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม คือนำมาประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่รู้เฉย ๆ เข้าใจเฉย ๆ แล้วก็ไปบอกกล่าวแก่ผู้อื่น แต่ใจของตัวเองไม่ได้เคยนำมาปฏิบัติแก่ชีวิตเลย ก็ยังคงมีชีวิตที่ดิ้นรนอยู่อย่างนั้น ร้อนอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์ จะรู้สักเท่าใดก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงต้องนำมาปฏิบัติ ปฏิบัติให้เต็มที่เต็มกำลังความสามารถ เต็มความอุตสาหะพากเพียรที่จะทุ่มเทลงไปได้ ด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญนะคะ
แล้วความหมายที่สี่จะปรากฏขึ้นเอง ตามเหตุตามปัจจัยโดยอัตโนมัติ ซึ่งเราเรียกว่า ความหมายที่สี่ก็คือ ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือจากปฏิบัติธรรม ก็จะปรากฏปฏิเวธธรรม ปฏิเวธ หรือเรียกให้เต็มว่า ปฏิเวธธรรม คือผลของการปฏิบัติ นี่เป็นความหมายของธรรมชาติ ซึ่งแสดงถึงกฎของธรรมชาติอยู่ในตัวของมันเอง ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่ารู้แล้วนำมาปฏิบัติ ตามเหตุตามปัจจัยก็จะเกิดผล คือ ได้มีความสุขสงบเย็น ความทุกข์ไม่รบกวน จนถึงความทุกข์นั้นดับอย่างสิ้นเชิง หนีพ้นไหมคะเรื่องกฎของธรรมชาติ แม้จะพูดถึงเรื่องของธรรมะ พูดเรื่องใดจะเป็นเรื่องของข้างนอกเรื่องข้างใน กฎของธรรมชาติเข้ามาแทรกอยู่ในชีวิตทุกเวลานาที คือกฎอิทัปปัจจยตา รวมทั้งกฎไตรลักษณ์ด้วย เพียงแต่เราจะเห็นหรือไม่เห็น คือสัมผัสหรือไม่สัมผัสเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงในเรื่องของธรรมะโดยอรรถนะคะ ก็ยังอธิบายขยายความได้อีกว่า ธรรมะ คืออะไร คือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอด ทั้งทางกายและทางจิต ระบบปฏิบัติที่ถูกต้อง คือต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระธรรมคำสอน ไม่ใช่ตามใจของตน แต่ตามพระธรรมคำสอน ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของชีวิต ไม่ว่าชีวิตนี้จะอยู่ในวัยใด จะอยู่ในกาลเวลาใด จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่อย่างไร จะเจริญก้าวหน้าหรือจะเผอิญพบกับความวิบัติเสื่อมโทรม ยังคงมั่นคงอยู่กับธรรมะ ถ้าหากว่ามั่นคงอยู่ในการปฏิบัติกับธรรมะแล้ว จะปรากฏความรอดเกิดขึ้นที่จิตทุกขณะ ก็จะมีคำถามว่ารอดอะไร เวลานี้นี่กำลังสูญเสียความเป็นผู้มีเศรษฐกิจที่มั่นคง ถ้ามีคำถามอย่างนี้ คำตอบก็คือรอดจากความทุกข์ไงล่ะคะ จริงอยู่จะสูญเสียวัตถุ สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง หรือว่าตำแหน่งฐานะเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่อย่างไรเสีย ชีวิตนี้ยังอยู่ ยังมีลมหายใจอยู่ แม้จะอยู่ในท่ามกลางที่คนโลภเขาสมมติกันว่าความสูญเสีย แต่ก็ยังมีความรอดภายใน ความรอดภายในนั้นก็คือว่า จะมองปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเฉพาะหน้านี้ มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง หน้าที่ของมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับปัญหา ก็มีหน้าที่ต้องแก้ไข ด้วยสติปัญญาที่มีอยู่ ส่วนจะแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด ประสบผลสำเร็จสักกี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องใช่ไหมคะ จะไปหวังว่าได้แก้ไขเต็มสติปัญญาแล้วมันต้องได้ผลเต็มที่สิ จะกำหนดเองไม่ได้ เพราะว่าทุกอย่างนั้นอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะก็คือ กฎอิทัปปัจจยตา ที่แสดงถึงว่าต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นเหตุปัจจัยเฉพาะตัว คือตัวบุคคลเองอาจจะบอกว่า ได้ปฏิบัติแล้วเต็มที่สุดกำลัง แล้วทำไมผลมันถึงออกมาแค่นี้ ก็อย่าลืมว่า ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมิได้อยู่คนเดียวในโลกใช่ไหมคะ ในการดำรงชีวิตอยู่นี้เรามีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ ในหลายแง่มุม หรือพูดง่ายๆ ทุกแง่มุมก็ว่าได้ทั้งในส่วนตัว ทั้งในการงาน ทั้งในสังคม ทีนี้ในเรื่องของเศรษฐกิจนี่มันไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัว แต่มันเป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ กับบุคคลมากมายหลายอย่าง มันก็ต้องย้อนดูว่า องค์ประกอบก็ดี เหตุการณ์ก็ดี บุคคลที่เกี่ยวข้องก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยหนึ่ง เหตุปัจจัยหนึ่ง ที่จะต้องเกี่ยวข้องทั้งสิ้น เหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องนั้นอยู่ในความพร้อมแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่อยู่ในความพร้อม แม้ในส่วนเฉพาะของเรา จะได้พยายามประกอบหรือกระทำ อย่างเต็มที่อย่างดีที่สุด แต่เหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังไม่อยู่ในความพร้อม ก็ต้องใจเย็นหน่อยนะคะ ใจเย็นเพื่อที่จะคอยได้ รอได้ แต่ในขณะที่คอยและในขณะที่รอ ไม่นิ่งดูดาย ไม่งอมืองอเท้า หรือว่ามืออ่อนเท้าอ่อน ยังคงกระทำสิ่งที่สามารถทำได้ อย่างเต็มที่ เต็มสติกำลังความสามารถ เต็มตามประสบการณ์ความรู้และด้วยจิตใจที่มั่นคง ด้วยจิตใจที่มั่นคง ด้วยความเย็น ด้วยความสงบ ด้วยความยิ้มได้ ถ้าเช่นนี้แล้วพลังใจไม่หมดใช่ไหมคะ จะมีพลังใจพร้อมที่จะเดินต่อไป ด้วยความกล้าหาญ และชีวิตที่เดินต่อไปด้วยความกล้าหาญบุกบั่นอย่างไม่ถอยหลัง แน่นอนความสำเร็จย่อมอยู่ที่จุดหมายปลายทาง จะเป็นความสำเร็จที่เป็นความรอดแก่ชีวิต ทั้งทางกายและทางจิต นี่ล่ะค่ะความหมายที่บอกว่า ธรรมะคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอด ทั้งทางกายและทางจิต มีความหมายอย่างนี้นะคะ ไม่ใช่มีความหมายว่าจะเกิดขึ้นเอง เป่าพรวดแล้วก็เกิดขึ้น แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติพอเกิดขึ้นแล้วจะไม่มีประโยชน์เฉพาะตน แต่จะมีประโยชน์ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วย ฉะนั้นถ้าจะกล่าวโดยสรุป ก็จะสรุปสั้น ๆ เอาตรงจุดสำคัญเลยทีเดียวนะคะ เพื่อจะให้เกิดความรอดแก่ชีวิตว่า ธรรมะ หมายถึง หน้าที่ หรือ ธรรมะ คือ หน้าที่ เป็นหน้าที่ที่สิ่งมีชีวิตจะต้องทำเพื่อความรอดอยู่ได้ เพราะฉะนั้นนี่เป็น เป็นสิ่งที่เรียกว่า มันเป็นไปตามอัตโนมัติ ดังที่เราได้พูดกันถึงเรื่องธรรมะมาแล้วโดยตลอดนะคะ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่านึกว่า อ๋อ ธรรมะคือหน้าที่ แล้วก็ปฏิบัติธรรมะตามหน้าที่ โดยหน้าที่ที่พึงกระทำ ให้เต็มสติปัญญาความสามารถ หมายความว่าอะไร จึงจะเกิดความรอดอยู่ได้ ทั้งทางกาย และทางจิต ก็แน่นอนที่สุด ความรอดนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็คือการกระทำ แต่หน้าที่ เพื่อหน้าที่ โดยไม่มีตัวผู้กระทำ คือไม่มีตัวแห่งความรู้สึกว่าเป็นตัวตน หรือเป็นตัวฉัน เข้าไปทำในขณะนั้น ถ้าหากว่าทำหน้าที่โดยมีความรู้สึกตลอดเวลาว่า เออฉันกำลังทำนะ นี่เป็นมันก็จะเป็นความรู้สึกตามมาว่า เป็นงานของฉัน เกิดความหวัง เกิดความต้องการผลตอบแทน ติดตามมา นี่ไม่ใช่การทำหน้าที่เพื่อความรอด คือรอดจากความทุกข์ หรือปัญหา แต่เป็นการทำหน้าที่ อย่างชนิดที่ เพิ่มปัญหา ให้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว มันจะมีปัญหาตามมา และปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นง่าย ๆ ก็คือความดิ้นรน เร่าร้อน กระสับกระส่าย วุ่นวาย สับสนภายในใจ เพราะความประหวั่นพรั่นใจว่า จะไม่ได้ดั่งที่ได้กระทำแล้ว จะไม่เกิดผลตามที่หวัง เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ หรือหมายถึงหน้าที่ ที่สิ่งมีชีวิตจะต้องทำ แล้วก็จะทำให้เป็นธรรมะที่แท้จริงละก็ ระมัดระวังนะคะ อย่าให้มีตัวตน อย่าให้มีตัวตนเกิดขึ้น นี่แหละที่พูดถึงว่าความเกิดที่สำคัญ ที่ต้องใคร่ครวญ รำลึกถึง ระมัดระวังอยู่เสมอ ก็คือความเกิด ของความรู้สึกเป็นตัวตน ตามที่เราได้พูดแล้ว ในปฏิจจสมุปบาท ถ้าบังเกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นอัตตาขึ้นมาเมื่อใด ปัญหาความทุกข์ตามมาทันทีค่ะ มากบ้าง น้อยบ้าง อย่าลืมเป็นอันขาดนะคะ ถ้าต้องการจะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นความรอดแก่ชีวิตที่แท้จริง อย่าให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมาได้เลย ทีนี้ถ้าจะพูดถึงลักษณะของธรรมะ ว่ามีลักษณะที่สำคัญอย่างไร ก็ย้อนกลับไปที่ความหมาย หรือคำแปลของธรรมะที่บอกว่า ทรงตัวอยู่ได้ ด้วยตัวของธรรมะเอง ทรงตัวอยู่ได้ ด้วยตัวของธรรมะเอง ไม่มีอะไรอื่นนะคะ เพราะฉะนั้นลักษณะที่สำคัญของธรรมะก็คือทรงตัวอยู่ได้ แล้วก็ทรงตัวผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องให้อยู่ได้ด้วยความรอด ด้วยความปกติ ด้วยความมั่นคง ด้วยความเย็นสบาย และธรรมะนี้มีลักษณะเป็นอนัตตา โปรดจำอีกเหมือนกันนะคะ เหมือนดังที่เราได้สวดมนต์ในทำวัตรเช้า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมคือสิ่ง ธรรมะคือสิ่ง ทุกสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ธรรมะเองที่เราเอามาพูด มาศึกษา มาปฏิบัติ ก็เป็นอนัตตา พอเข้าถึงตรงนี้นั่นก็คือ การตัดเสียซึ่งความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนจะไม่บังเกิดขึ้นเลยค่ะ ทีนี้ถ้าหากว่าจะแบ่งประเภทของธรรมะ ก็อาจจะแบ่งประเภทเป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งก็คือ สังขตธรรม สังขตธรรม ก็คือ ธรรมะที่เกิดจากการปรุงแต่ง อสังขตธรรมก็คือธรรมะที่ไม่มีการปรุงแต่ง นั้นก็คือเป็นตัวธรรมชาติล้วน ๆ ไม่มีการปรุงแต่ง ที่จะทำให้เกิดอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมา หรืออีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าแบ่งออกได้เป็น 1.โลกิยธรรม คือธรรมะอย่างโลกๆ ธรรมะอย่างโลกๆ ก็คือธรรมะตามที่สมมติกัน ว่าดี ว่าชั่ว ว่าได้ ว่าเสีย ว่าสุข ว่าทุกข์ เหล่านี้เป็นต้น นี่อย่างโลกิยธรรม คือตามที่คนโลกยึดถือกัน แล้วก็จะประพฤติปฏิบัติกันว่า ถ้าดีต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ดีคืออย่างนั้นอย่าทำ นี่ยังตกอยู่ในสิ่งคู่ จึงเรียกว่าเป็นโลกิยธรรม โลกินะคะ สระอิ โลกิยธรรม อีกอย่างหนึ่งที่เป็นคู่กันก็คือ โลกุตรธรรม โลกุตรธรรมก็คือ ธรรมะที่เหนือโลก เหนือโลกก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดที่ข้องเกี่ยวทั้งสิ้นทั้งปวง จึงเรียกว่าเหนือโลก เพราะฉะนั้นธรรมะที่ไม่ข้องเกี่ยวกับสิ่งใดก็ย่อมจะเป็นธรรมะที่เป็นอสังขตธรรมดั่งที่พูดเมื่อกี้นี้
อีกอย่างหนึ่งที่จะแบ่งได้เป็นประเภทสองก็คือ ศีลธรรม คือธรรมะในระดับศีลธรรม ในระดับศีลธรรมก็คือในระดับที่เราเรียกว่า ตามสมมติสัจจะ ในระดับของความเป็นคนดี คือจากความเกิดมาครั้งแรก ก็จะอยู่ในระดับของปุถุชน ปุถุชน ก็คือ ชนที่มีความหนา หนาด้วยอะไร หนาด้วยกิเลส กิเลสตัณหาอุปาทานเพราะอวิชชาห่อหุ้มจิต เนื่องจากยังไม่ได้รู้วิธี ที่จะฝึกฝนอบรมขัดเกลาจิตใช่ไหมคะ ก็ตกอยู่ในระดับของสมมติสัจจะ สมมติกันว่าดีก็ทำไปอย่างนี้ แต่ทั้งๆที่ดี เป็นคนดีในระดับศีลธรรม ก็ยังร้องห่มร้องไห้ ยังรู้สึกเป็นทุกข์ ยังรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยังมีอยู่ จนวันหนึ่งรู้ว่า ไม่ไหว ไม่พอแล้ว ก็จะพยายามตะเกียกตะกายปีนขึ้นไปสู่ธรรมะขั้นสูงขึ้น หรือขั้นสูงสุดที่ท่านเรียกว่า เป็นปรมัตถธรรม คือธรรมะขั้นสูงสุด ธรรมะอันประเสริฐ เมื่อผู้ใดศึกษา ปฏิบัติเข้าถึงแล้ว ผู้นั้นก็จะมีความรอด ทั้งกายและจิตชั่วนิจนิรันดร์ นั่นก็คือการปฏิบัติที่เข้าถึงกฎของธรรมชาติ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว ทุกอย่างทุกประการนะคะ ฉะนั้นปรมัตถธรรมนี้ก็เป็นอยู่ในระดับของปรมัตถสัจจะ คือความจริงอันประเสริฐที่ไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงอีกเลย สิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจะเช่นอะไร ก็ต้องพูดซ้ำอีกละค่ะ กฎธรรมชาตินั่นล่ะค่ะ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา กฎอริยสัจ4 กฎปฏิจจสมุปบาท จะคงเป็นอยู่อย่างนี้ตามที่ได้พูดกันมาแล้ว ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น เพราะมันแสดงถึงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ตามธรรมดาของธรรมชาติเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ นี่แหละเป็นปรมัตถสัจจะ ทีนี้ถ้าพูดว่าโดยกฎเกณฑ์ โดยสัจจะ คือย้ำลงไปให้ชัดอีกที เพื่อความเข้าใจให้แน่นอน ก็คือว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี่คือเป็นสิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอ พอบอกว่าธรรมทั้งปวง ก็นึกถึงความหมายของคำว่าธรรมะ ที่ถ้าจะแปลลงไปอีกอย่างหนึ่งเหมือนอย่างเราไปเปิดในดิกชันนารีภาษาอังกฤษเล่มใหญ่ ๆ นะคะ ก็จะพบเขาเขียนเอาไว้ คำว่าธรรมะ แปลว่า thing t h i n g thingที่แปลว่าสิ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำว่าสิ่งนี้มันรวมทุกอย่างในจักรวาลนี้ ไม่ว่าสิ่งเล็กเท่าปลายเล็บ หรือว่าสิ่งโตขึ้นมาหน่อย หรือว่าใหญ่ หรือว่าใหญ่มหึมาที่สุด รวมอยู่ในคำว่าธรรมะทั้งสิ้น และสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าสิ่งที่ละเอียดเล็กนิดเดียวจนกระทั่งถึงโตขึ้นมาตามลำดับ จนเป็นภูเขา เป็นแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทรอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตาทั้งสิ้น ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนให้ยึดถือเลยสักอย่างเดียว แม้แต่การตั้งชื่อกันเป็นภูเขาชื่อนั้น แม่น้ำชื่อนี้ มันก็เป็นไปตามสมมติเท่านั้นเอง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี่เป็นธรรมะสูงสุดที่ถ้าเข้าถึงแล้วละก็ก็เป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะสิ้นความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เพราะมองเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรให้ยึดได้เลยนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงธรรมะตามภาษาธรรม ก็คือความจริงของธรรมชาติ ความรู้และการปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้ และก็รวมถึงทั้งโลกิยธรรม และโลกุตรธรรม คือธรรมะในระดับโลก และธรรมะในระดับเหนือโลก ฉะนั้นหน้าที่ของมนุษย์ ก็คือ ต้องปฏิบัติจนกระทั่งสามารถดับทุกข์ได้ นี่คือความหมายของพระธรรม ที่เราพูดกันเพื่อให้เกิดธรรมะปัญญาอย่างพุทธศาสตร์ เป็นธรรมะปัญญาอย่างพุทธศาสตร์ อย่างชนิดที่เรียกว่า เป็นปัญญาที่เพิ่มเติมให้เจริญงอกงามจนกระทั่งเฉียบคมยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ทีนี้พระรัตนตรัยองค์สุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือ สังฆะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังฆะ ความหมายของสังฆะ หรือคำแปล ก็แปลว่าหมู่นะคะ อย่างเช่น หมู่สงฆ์ หรือรวมกันเข้า
การที่จะอยู่นั้นไม่ใช่หมู่สงฆ์ ไม่ใช่องค์เดียว ก็รวมกันอยู่หลายองค์ อย่างในวัดต่าง ๆ นั้นแหละก็เป็นสังฆะ คือเป็นหมู่คณะของพระสงฆ์ ถ้าในสมัยพุทธกาล ก็จะเรียกว่าเป็นหมู่คณะของพระอริยะเจ้า คือพระสงฆ์ผู้ประเสริฐ พระภิกษุผู้ประเสริฐ ผู้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุแล้ว ถึงซึ่งโลกุตรธรรม แต่ในปัจจุบันนี้เราก็จะแปลกันอย่างธรรมดา เพียงว่า เป็นหมู่คณะของพระภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุสงฆ์ถ้าในสมัยพุทธกาลที่ท่านเข้าถึงความเป็นพระอริยะเจ้า อย่างแน่นอนแล้วนั้น ท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติสมควร นี่ก็คงนึกได้นะคะว่ามาจากไหน ก็มาจากที่เราสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยในบทของพระสงฆ์ใช่ไหมคะ ที่ว่าท่านเป็น สุปฏิปันโน ต่อไปเรื่อยจนกระทั่งถึงปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติสมควร และที่สำคัญที่สุดนะคะ ก็อยากจะขอย้ำว่า ที่สำคัญที่สุดของความเป็นพระสงฆ์ ก็คือ ต้องปฏิบัติสนองตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอะไรบ้าง มากนะคะ มากที่จะพรรณนา แต่ถ้าจะพูดอย่างสั้น ๆ ก็อยากจะพูดว่า ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงสอนเรื่องอะไร ก็คงทราบแล้วใช่ไหมคะ พระองค์ทรงสอนแต่เรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์มาโดยตลอดเลย ตลอดพระชนม์ชีพ แม้จะได้ทรงอ้างเอ่ยถึงธรรมะข้ออื่น ๆ บ้าง แต่ธรรมะทั้งหลายเหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมเพื่อจะให้เข้าถึงเรื่องของความทุกข์ และความดับทุกข์ให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าในสมัยใดในกาลวาระใด จะเป็นในอดีตที่ผ่านมาสมัยพุทธกาล หรือในสมัยปัจจุบันนี้ หรือในสมัยอนาคตกาลก็ตาม ย่อมจะต้องสนองพระพุทธประสงค์ ด้วยการสอนพุทธบริษัททั้งหลาย ให้รู้ถึงเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ นั้นก็คือเรื่องของอริยสัจ4 เรื่องของปฏิจจสมุปบาท เรื่องของกฎธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ กฎอิทัปปัจจยตา เพื่อให้เข้าถึงธรรม แล้วจะได้สามารถเห็นหรือเข้าถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยความเป็นองค์ธรรมได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพระภิกษุสงฆ์องค์ใดมิได้สอนพุทธบริษัทเน้นอยู่ที่เรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์แล้ว ก็เห็นจะขาดการปฏิบัติหน้าที่ ที่จะสนองพระพุทธประสงค์ เพราะเมื่อพระองค์ทรงนำเรื่องของอริยสัจ4 มาทรงสอนแก่พระพุทธสาวกในสมัยพุทธกาลคงจำได้ใช่ไหมคะ ที่พระองค์ทรงกำใบไม้ใบประดู่ลายในพระหัตถ์ แล้วก็มาตรัสถามว่า ใบไม้ในมือเรา กับใบไม้ในป่า ไหนจะมากกว่ากัน แล้วก็พระพุทธสาวกก็ต้องตอบเป็นแน่นอนละว่า ใบไม้ในป่ามีมากกว่า แล้วพระองค์ก็ตรัสย้ำว่า แต่เรานำใบไม้กำมือเดียวมาสอน เพราะว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจ เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบันขณะ คือ เรื่องของความทุกข์ และการดับทุกข์ เพราะฉะนั้นนี่คือพระพุทธประสงค์ และเมื่อพระองค์ได้ทรงสอนเรื่องของอริยสัจ4จบแล้ว ก็ยังทรงกล่าวเน้นอีกว่า ขอให้บอกกล่าว ขอให้สอนเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์ คือความจริงอันประเสริฐ4ประการนี้แก่มนุษย์ทั้งหลาย แก่พุทธบริษัท แก่ชาวบ้านที่ขอมาฟัง เพราะฉะนั้นนี่เป็นพระพุทธประสงค์ที่แจ้งชัด แน่นอน แล้วก็จะเรียกว่าเป็นคำสั่งของพระองค์ด้วยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ก็คือ ต้องสอนตรง สอนลัดเพื่อตัดเข้าสู่เรื่องของความทุกข์ให้เกิดความรอดจากความทุกข์ จนถึงซึ่งความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ไปตามลำดับนะคะ จึงจะเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง และปฏิบัติสมควร อย่างที่ควรแก่การอนุโมทนา เคารพบูชา ยกย่อง ในโดยกฎเกณฑ์และสัจจะเกี่ยวกับสงฆ์ ก็คือ ต้องปฏิบัติตามธรรมะ และตามวินัย คือตามธรรมวินัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดวางไว้อย่างครบถ้วน จะเว้นข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้นะคะ จะคิดว่าข้อนั้นไม่สำคัญ ข้อนี้ไม่สำคัญไม่ได้ ต้องสำคัญทั้งสิ้น ต้องให้ครบถ้วน นอกจากนี้ โดยกฎเกณฑ์และสัจจะของการที่เข้ามาเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ต้องแน่ใจว่า พร้อมที่จะรับภาระในการสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้แผ่ไพศาล ให้กว้างไกล เพื่อนำความสุขสงบเย็นมาสู่เพื่อนมนุษย์ นี่ควรจะเป็นสัจจะปฏิญาณในใจของผู้ที่อยู่ในเพศแห่งพระภิกษุสงฆ์ คือ บรรพชิต นอกจากนั้นความเป็นหมู่สงฆ์ คือเป็นสังฆะ ควรจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสมานสังวาส ก็คืออยู่ร่วมกันอย่างผู้เสมอกัน คือมีสิทธิเสมอกัน แต่ก็ย่อมจะมีความเคารพกันตามระดับของอาวุโสอันเป็นธรรมดานะคะ โดยหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์นั้น จะต้องขวนขวายในการประพฤติพรหมจรรย์ ให้ก้าวหน้า นี่คือหน้าที่เด่นชัด และก็เป็นหน้าที่เดียวด้วย พระภิกษุสงฆ์ไม่มีหน้าที่อื่น หน้าที่ประพฤติพรหมจรรย์ แล้วก็สั่งสอนเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์ คือเรื่องอริยสัจ4แก่หมู่มนุษย์ หรือพุทธบริษัท ประพฤติพรหมจรรย์ส่วนตนให้ก้าวหน้าจนถึงที่สุด แล้วก็ประพฤติตนเป็นตัวอย่างและเป็นผู้นำ ในการกำจัดความเห็นแก่ตัว การกำจัดความเห็นแก่ตัวก็คือ การพยายามที่จะลดละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาตัวตนให้ลดลง ลดลง ลดลง มิใช่เอาความรู้สึกเป็นอัตตาตัวตนมาเพิ่มพูน ในเพศแห่งบรรพชิตนะคะ ซึ่งมิใช่พุทธประสงค์ เพราะคำสอนสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือเรื่องของอนัตตาใช่ไหมคะ ฉะนั้นจึงควรที่จะต้องประพฤติตนเป็นตัวอย่างและเป็นผู้นำในการกำจัดความเห็นแก่ตัว และหน้าที่อีกประการหนึ่งก็คือ พระภิกษุสงฆ์ ควรจะเป็นกัลยาณมิตรทางวิญญาณ ทางจิตวิญญาณ ก็คือทางสติปัญญาของพุทธบริษัททุกคน เพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะนำพุทธบริษัทที่ยังคงอยู่ในความเขลาความมืด ให้เข้าสู่ความสว่าง และความเจริญงอกงามในปัญญาอย่างสูงสุด นอกจากนั้นก็คือ สนองพระพุทธประสงค์ในทุกความหมายแห่งคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีละเว้นและไม่มีละเลย ฉะนั้นโดยอานิสงส์ของการที่มีพระภิกษุสงฆ์ หรือกลุ่มสงฆ์ อยู่ในสังคม อยู่ในวงแห่งพุทธศาสนานั้น ถือว่าพระภิกษุสงฆ์ควรจะเป็นหลักของสังคมในการสร้างสันติสุขในส่วนบุคคล และก็สร้างสันติภาพแก่ส่วนรวม เป็นผู้นำในการทำความรอดทั้งทางกายและทางจิต
เพราะเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์อยู่แล้ว เป็นฐานที่ตั้งแห่งสังคมสงเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ที่ว่าอย่างลึกซึ้งนั้นไม่ใช่เพียงแต่ให้สังคมสงเคราะห์ทางกาย ให้อาหารหรือให้เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งบางทีก็นอกวิสัยของพระภิกษุสงฆ์ เพราะท่านก็เป็นผู้ขอ ผู้บิณฑบาตจากผู้อื่นเหมือนกัน แต่ทว่าเป็นฐานที่ตั้งแห่งสังคมสงเคราะห์ที่สำคัญก็คือ สงเคราะห์ในทางใจ เรียกว่าปลูกฝัง อบรม กล่อมเกลาจิตใจที่มืด ยังมืดอยู่ของพุทธบริษัทหรือชาวพุทธบางคน บางส่วน บางกลุ่มให้ได้เจริญงอกงามเข้าสู่ความสว่าง สงบเย็นให้ยิ่งขึ้น เป็นตัวอย่างและผู้นำในการปิดประตู ปิดประตูนะคะ ปิดประตูอบายทุกชนิด สิ่งใดที่เป็นอบายเป็นความชั่วปิดหมด ไม่ทำ ไม่ให้มีภายในรั้วรอบแห่งสถานที่ที่เรียกว่าวัด ไม่ให้มี เพราะฉะนั้นเป็นตัวอย่างแห่งการปิดประตูอบาย และข้อสุดท้ายก็อานิสงส์ ของการมีพระภิกษุสงฆ์ หรือมีหมู่สงฆ์ในสังคมนั้น ก็เพื่อเป็นดวงประทีปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว นี้จึงมิใช่งานเล่น ๆ เลยนะคะ เป็นงานที่สำคัญแล้วก็เป็นงานอันหนักและก็ใหญ่ยิ่งของพระภิกษุสงฆ์ด้วย นี่เราก็ได้พูดถึงเรื่องของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยความหมาย โดยคำอธิบายเพื่อจะให้เข้าใจชัดเจนขึ้น มาโดยลำดับ ทีนี้ถ้าเราจะสรุปว่า ตอนนี้ก็เรียกว่า มีความรู้ล่ะนะคะ มีความรู้ มีความเข้าใจ ว่าพระพุทธคืออะไร พระธรรมคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเพียงแต่รู้เท่านั้น ก็คือการเข้าถึง ทำอย่างไรจึงทำให้ใจนี้เข้าถึงพระรัตนตรัย คือเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากนะคะ การเข้าถึง ที่ใช้คำว่าเข้าถึง ก็หมายถึงว่า การเข้าถึงจนสัมผัสกับสิ่งที่เป็นหัวใจของสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็คือพระพุทธศาสนา หรือพระธรรมอันเป็นตัวสำคัญที่เราได้พูดแล้ว การจะเข้าถึงพระธรรม กล่าวโดยสรุปก็คือ การเข้าถึงปฏิจจสมุปบาท หัวใจแห่งการปฏิจจสมุปบาท ด้วยการศึกษาและนำมาปฏิบัติ จนเข้าถึงความหมายของประโยคที่พูดอยู่ว่า มันเป็นแต่เพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่านั้นเองนะ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติ เช่นนั้นเองเท่านั้นนะ นี่เป็นประโยคสำคัญ ที่สรุปว่าอานิสงส์ ของการรู้หรือเข้าถึงปฏิจจสมุปบาท คือการเข้าถึงความหมายตรงนี้นะคะ ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงความหมายอันนี้ นี่อธิบายถึงคำว่าเข้าถึงนะคะ ไม่ใช่เพียงแต่รู้ แต่ต้องเข้าถึง คือสัมผัส แล้วก็ปฏิบัติจนเกิดขึ้นที่ใจ เพราะฉะนั้นการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเข้าถึงพระรัตนตรัย ที่จะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ หรือโดยเฉพาะพุทธบริษัท ก็คือ ต้องเข้าถึง แล้วสามารถนำมาเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สติก็คือการระลึกรู้ เพื่อเตือนใจตนเองในขณะที่จะพลาดพลั้ง หรือถลำๆเข้าไปในหนทางที่เป็นอบาย หรือหนทางที่มิใช่ความสุขสงบเย็นแต่เป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน ให้ยิ่งขึ้น รำลึกถึง พระพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เตือนตนเตือนใจ ให้ถอนใจถอนตนออกมาทันท่วงที ทีนี้ก็อยากจะถือโอกาสพูดสักนิดหนึ่งว่า แล้วพุทธานุสสติจะระลึกถึงอะไรล่ะ ก็อย่างที่เราได้กล่าวแล้วใช่ไหมคะ ก็รำลึกถึงพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระเมตตาคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามที่พระองค์ได้นำพระธรรมมาสั่งสอน ก็คือระลึกถึงความเป็นผู้รู้ ความเป็นผู้ตื่น ความเป็นผู้เบิกบาน แล้วก็พอระลึกได้อย่างนี้จริงๆที่ใจ สิ่งที่ตามมาก็คือความชุ่มชื่นเบิกบานใช่ไหมคะ เราจะมีความรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบานขึ้นมาในใจ เกิดความรู้สึกเป็นสิริมงคล เกิดความรู้สึกเป็นโชคอันประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่เสียทีเลย ที่ได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนา เป็นศิษย์ของพระตถาคต แล้วก็ได้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ก็จะเกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน เป็นการเติมพลังที่จะผลักเราให้เกิดการศึกษา ทำความเข้าใจ ประพฤติปฏิบัติธรรมะจนกระทั่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามรอยพระยุคลบาทได้อย่างแท้จริง นี่ก็เป็นพุทธานุสสตินะคะ ถ้านำมาระลึกในลักษณะนี้
ทีนี้ถ้าหากว่าจะเป็นธรรมานุสสติ ก็อยากจะขอเสนอว่า โปรดเลือกธรรมะที่ได้เรียนรู้มาแล้วหรือนำมาศึกษาปฏิบัติแล้ว พอนึกถึงธรรมะข้อนั้น หรือประโยคนั้น หรือคำนั้นแล้วมันเป็นสิ่งที่ชูจิต ไม่รู้จะใช้คำว่ายังไงนะคะ ก็อยากจะใช้คำว่ามันชูจิตนี่ ให้เกิดความเบิกบาน แช่มชื่น ขึ้นทันทีเลย สมมติว่ากำลังห่อเหี่ยวด้วยอะไรก็ตามที ก็เกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน มีกำลังใจที่จะยืนขึ้นใหม่ เดินต่อไป ปฏิบัติในการที่จะทำให้จิตใจนี้มีความสุขสงบเย็นยิ่งขึ้น เลือกเอานะคะ เราก็ได้พูดถึงธรรมะในข้อต่าง ๆ มาเยอะแยะแล้ว ก็ลองเลือกเอา ชอบคำไหนก็เลือกเอา เช่นคำว่า ตถตา เช่นนั้นเองนะ มันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองก็คือ มันมีแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี่คือความหมายของคำว่า ตถตา หรือเช่นนั้นเอง ครอบคลุมความอันนี้ไว้นะคะ พอนึกขึ้นได้ อ๋อ…กำลังจะเพลี่ยงพล้ำเสียใจ อื้มเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่น ใจเบิกบาน เอาใหม่ จะสะบัดหน้ากับสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็สะบัดไปเลยนะคะ หรือนึกถึงว่า อ๋อมันเป็นสักว่าธาตุ ตามธรรมชาติเช่นนั้นเองเท่านั้นหนอ เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ้นทั้งปวง ล้วนเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่นสักอย่างเลย แล้วจะไปยึดมั่นอะไรกับมัน จะไปเอาอะไรกับมัน นี่ปลอบใจตัวเองอย่างนี้ ก็จะเกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน หรือนึกอย่างที่เคยสวดปัจเวกขณ์ เวลาที่รับประทานอาหารใช่ไหมคะ ก่อนที่จะรับประทานอาหาร เราก็สวดบทยาวแหละแต่ก็มีคำหนึ่งที่น่านึกถึงมากเพราะมันติดใจ สูญโย สูญโย สูญโย ท่องอย่างนี้ก็ได้ สูญโย คืออะไร ก็คือทุกสิ่ง อาหาร ทุกคำข้าวที่ใส่เข้าปากไปนั้นไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามทีมันล้วนแล้วแต่เป็นสูญโย คือเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนทั้งนั้น หรือมันเป็นเพียงกระแสของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติเช่นนั้นเอง จากที่ได้ปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท โปรดเลือกเอานะคะ หรือจะชอบบทสวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่กล่าวถึงพระคุณของพระธรรม แล้วก็นำเข้ามารำลึกสวดอยู่ในใจก็ได้ นี่แหละที่เรียกว่า การกระทำรำลึกเช่นนี้จะชวนใจให้บังเกิดธรรมานุสสติ แล้วก็จะยับยั้งใจมิให้กระทำสิ่งที่พลาดพลั้ง ขาดสติ แล้วก็จะทำให้เกิดความทุกข์ และปัญหาต่อไป ทีนี้สังฆานุสสติจะทำอย่างไร ก็รำลึกถึงท่านพระสงฆ์ที่มีความเคารพ ที่ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตามจะมีความเคารพระลึกในท่านพระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์องค์ใด ที่พอนึกขึ้นมาแล้วล่ะก็มีความรู้สึกว่า คุณธรรมความดีความบริสุทธิ์สะอาดของท่าน หรือว่าความเป็นผู้มีปัญญารอบรู้ ความเป็นผู้มีความเมตตากรุณา อย่างถึงที่สุดไม่มีขอบเขตของท่าน ยังจิตของเราให้เกิดความชื่นบาน ให้เกิดความศรัทธาประสาทะ ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป รำลึกถึงพระสงฆ์องค์ที่ท่านที่รู้สึกว่าเคารพยกย่องบูชาอย่างสูงสุด แล้วก็ตั้งใจจะเจริญรอยตามคุณของท่านก็ได้นะคะ หรือถ้ายังนึกไม่ออก ถ้าผู้ใดนึกไม่ออกก็อยากจะขอให้ เสนอให้ลองนึกถึง พระพุทธสาวกในสมัยพุทธกาล ที่เคยได้อ่านหรือเคยได้ฟังมาก็ได้ อย่างในส่วนตัวนี้นะคะ พอรำลึกนึกถึงท่านพระสารีบุตรขึ้นมาทีใด มีความรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบาน แล้วก็มีความรู้สึกอยากจะเจริญรอยตามท่าน และเกิดศรัทธาประสาทะ ที่จะข่มขี่บังคับใจในสิ่งที่เรารู้ว่าทำไปแล้วนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม อยากจะละเลิกให้ได้ ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาใช่ไหมคะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับความเคารพยกย่องเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่จากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเอง ว่าเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ในการที่จะแสดงธรรม ละเอียด วิจิตร พิสดาร ลึกซึ้ง พระองค์ทรงยกย่องจนกระทั่งว่า ถ้าเราจะแสดงธรรมในเรื่องนี้ ก็จะเหมือนกับที่สารีบุตรได้แสดงไปอย่างนี้แหละ นี่ก็แสดงถึงว่าทรงมีความปรีชาสามารถในการแสดงธรรม มีความเมตตากรุณาที่จะแสดงธรรมแก่เพื่อนภิกษุสงฆ์ด้วยกันนั้น อย่างไม่มีขอบเขต เหนื่อยยากเท่าใดก็พอใจที่จะช่วยเหลือ แต่คุณสมบัติที่กล่าวกันว่า เป็นสิ่งที่น่าเจริญรอยตามเป็นอย่างยิ่ง ก็คือความไม่โกรธ ความไม่โกรธ จนกระทั่งมีพราหมณ์คนหนึ่งนี่อยากจะทดสอบ คงเคยได้ยินเหมือนกันใช่ไหมคะ ที่เล่ากันมาว่า ที่ร่ำลือกันนักว่าท่านพระสารีบุตรนี้ เป็นผู้มีความไม่โกรธนี้จริงไหม วันหนึ่งก็เดินตามหลังท่านไป ในขณะที่ท่านออกเดินไปบิณฑบาตตอนเช้า แล้วพราหมณ์ผู้นั้นก็ใช้ผ้าตีที่ทางด้านหลังของท่านพระสารีบุตรอย่างแรง แต่องค์ท่านพระสารีบุตรเองไม่ปรากฏว่ามีการกระทบกระเทือน หรือแม้แต่จะหันมาดูหรือว่าสะดุ้งสักนิดเดียวก็ไม่มี ว่าใครนะเป็นคนทำ คงดำเนินเดินต่อไปอย่างเฉย พราหมณ์ผู้นั้นเกิดตกใจ เกิดสำนึกในความผิดบาปอย่างใหญ่หลวงของตัว ที่มากระทำการเช่นนี้ต่อท่านพระสารีบุตร แล้วก็รู้ด้วยว่าประชาชนชาวพุทธที่ยืนอยู่สองข้างทาง ที่คอยใส่บาตรนั้น เขามองเห็น เขาต้องโกรธเคืองเป็นอันมาก ประเดี๋ยวเถอะเราจะต้องโดนประชาทัณฑ์ ก็รีบเดินไปข้างหน้าท่านพระสารีบุตร ก้มลงกราบขอลุกะโทษ แล้วก็ขอรับบาตรจากท่าน ท่านก็ส่งบาตรให้ด้วยความเมตตากรุณา พราหมณ์นั้นก็ถือบาตรตามหลังท่านไป ไปขอถือบาตรท่านทำไม ก็เอาบาตรท่านเป็นที่พึ่งนั้นล่ะค่ะ เพราะรู้ว่าในขณะที่กำลังถือบาตรตามท่านพระสารีบุตรไปเพื่อบิณฑบาตนั้นไม่มีใครมากล้าทำร้ายหรอก เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความเป็นผู้ไม่ผูกโกรธ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีความเมตตากรุณาอย่างสูงสุดอีกด้วย ที่จริงก็ยังมีสิ่งที่จะกล่าวถึงท่านพระสารีบุตรอันน่าประทับใจอีกมาก แต่เผอิญเวลาของเราหมดซะแล้วในวันนี้ ก็จะขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ ธรรมะสวัสดีค่ะ