แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมสวัสดีค่ะ
เมื่อคืนนี้มีใครนอนหลับไม่ดีบ้างมีไหม หลับสนิทกันทุกคน เป็นยังไงถึงหลับไม่ดี ขาเจ็บก็ต้องรักษานะ แล้วมาดูว่าต้องการยาอะไร เผื่อมียาก็มาแบ่งปันกันได้ มองดูหน้านี่ หน้าของคนบางคนฟ้องเมื่อคืนนี้หลับไม่ดี เพราะฉะนั้นก็อย่าให้หน้าฟ้องอีก เพราะว่ามาอยู่ที่นี่แล้วควรจะหลับดี ควรจะแจ่มใสเพราะว่าไม่ควรจะมีอะไรที่เป็นความกังวลใจ ที่ท่านเรียกว่าเป็นปลิโพธน่ะไม่ควรจะมีอะไรเป็นปลิโพธ ปลิโพธคือความกังวล ห่วงบ้านห่วงเรือน ห่วงลูกหลาน ห่วงการงาน ห่วงอะไรสารพัดที่เคยห่วงน่ะ ปลิดทิ้ง
ขณะนี้เราเป็นอนาคาริกา เป็นผู้มีความอิสระเหมือนนกจะไปที่ไหนจะอยู่อะไรอย่างไรได้ทั้งนั้น ไม่มีปัญหา คนไม่มีปัญหาก็คือคนมีความว่าง ว่างอยู่กับใจ เป็นอิสระอยู่กับใจ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนอย่างนั้น แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้ที่นั่งอยู่ทุกคนนี่มีใจที่รู้สึกว่าอยากจะยินยอมแล้วก็เชื่อฟังคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากน้อยเพียงใด ลองถามใจตัวเองว่าที่เราสนใจธรรมะอยากจะเข้าถึงพระธรรม เรามีความรู้สึกรักพระพุทธเจ้า เทิดทูนพระพุทธเจ้ายกย่องบูชาพระองค์ด้วยจิตใจในส่วนลึกของเรานี่มากน้อยแค่ไหน ลองนึกดูว่าตอบตัวเองได้ไหม เมื่อเวลาที่สวดมนต์ในตอนทำวัตรเช้า พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ มีอะไรเกิดขึ้นในใจบ้างไหม มีความรู้สึกเยือกเย็นผ่องใสวาบขึ้นในใจบ้างไหม เคยสัมผัสกับความรู้สึกอย่างนั้นบ้างไหม ถ้าหากว่าพอเราเริ่มสวดบทนี้ในความรู้สึกส่วนตัวรู้สึกว่าไพเราะเหลือเกิน ไพเราะแล้วก็มีความหมายที่ลึกซึ้ง ถึงพระเมตตาคุณ พระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าอย่างหาที่เปรียบมิได้ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ เราวาดไม่ได้หรอกว่าห้วงมหรรณพนั้นจะกว้างยาวขนาดไหน จะลึกขนาดไหน
แต่ว่าพระมหากรุณาของพระองค์ขนาดนั้น เรานี่เป็นตัวอะไรกระจิริดอยู่สักอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ก็ยังอยู่ในข่ายของพระมหากรุณาพระมหาเมตตาของพระองค์ เรามีจิตสำนึกที่จะรักและก็จะเทิดทูนในพระองค์นั้นมากน้อยเพียงใด ที่พูดอย่างนี้ก็เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้สึกได้ว่าเมื่อเราอยากจะทำอะไรตามใครสักคนหนึ่งนี่ มันต้องเริ่มต้นด้วยฉันทะใช่ไหมคะ มีความรัก มีความเคารพ เมื่อมีความรักมีความเคารพก็จะนำให้เกิดซึ่งศรัทธา เลื่อมใสศรัทธาอยากจะเชื่อฟัง แล้วก็อยากจะทำตาม จึงอยากจะให้ถามตัวเองว่าเรารักพระพุทธเจ้าพอหรือยัง จริงล่ะเราไม่เคยเห็นพระองค์ พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีจะมาถามได้ยังไงว่ารักไหม แต่ก็นั่นแหละ ถ้าผู้ใดที่เขาหันเข้ามาหาธรรมด้วยจิตที่สำนึกในพระคุณย่อมจะต้องรักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากับพระธรรมก็คือสิ่งอันเดียวกัน มีพระพุทธเจ้าจึงมีพระธรรม มีพระธรรมเกิดขึ้น จะต้องทำให้เรารำลึกถึงพระองค์พระคุณของพระองค์อันสูงยิ่งอยู่เสมอ เพราะเป็นผู้ที่ได้ทรงนำธรรมทั้งหลายมาบอกกล่าวมาเล่าให้เราฟัง เพราะฉะนั้นวันนี้ก็อยากจะชวนให้คุยกันหรือสนทนากันในเรื่องพระคุณของพระพุทธเจ้า จะอ่านให้ฟังหน่อยหนึ่งนะคะที่ได้ยินได้เห็นท่านเขียนเอาไว้สั้นๆ ว่า “พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก เพื่อเป็นดวงประทีปของโลก เพื่อทรงประทานธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความดับเย็นสนิท และเพื่อความรู้อันครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์แก่มวลมนุษย์”
ที่มีคำกล่าวอย่างนี้ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นจริงไหม เพราะเราจะได้ยินครูบาอาจารย์ท่านพูดเสมอว่า ถ้าในโลกนี้ไม่มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าจะไม่อุบัติขึ้นหรอก ถ้าเราอ่านตามประวัติของพุทธศาสนา ก็นับไม่ถ้วนแล้วว่ามีพระพุทธเจ้ามากี่พระองค์ แต่ทุกครั้งที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ในขณะนั้นโลกกำลังเกิดยุคเข็ญ ยุคเข็ญในทางจิตใจ ในทางจิตใจหมายความว่าอย่างไร ก็คือหมายความว่าจิตใจนั้นกำลังรุ่มร้อน เพราะตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทาน ถูกรึงรัดถูกครอบงำ จิตจึงมืดมองไม่เห็นอะไร มีแต่ความร้อนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็อยากให้พิจารณาว่าที่ท่านกล่าวว่าอย่างนี้จริงไหม ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนี่เพื่อเป็นดวงประทีป จริงไหม ใจเรายอมรับไหมความจริงข้อนี้ ถ้ารับ ทำไม อย่ารับเฉยๆ เพราะเขาบอกทำไมจึงยอมรับ เพื่อทรงประทานธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ จริงไหม แต่ก่อนนี้เราเคยมีความรุ่มร้อนเจ็บปวดทรมาน ทุรนทุรายขมขื่นหรือว่าเศร้าหมองระทมอัดอั้นตันใจ จนบางครั้งบอกตัวเองอยากจะกลั้นใจตายเสียให้รู้แล้วรอดไปเคยมีบ้างไหมสักขณะหนึ่ง ถ้าใครไม่มีก็ดีมาก ดีมากก็คือหมายความว่ายังไม่ถูกผลักตกไปในจุดนั้น
ถ้าหากในขณะที่เกิดความดิ้นรน กระวนกระวาย กระเสือกกระสนอย่างนั้น เคยนึกไหม ว่าเราอยากจะพบอะไร อยากจะพบอะไรที่จะมาช่วยบรรเทาความรุ่มร้อน ความเจ็บปวดขมขื่นทรมาน ความเจ็บแสบเผ็ดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น อยากได้อะไร เงินก็มี แต่ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหนเครื่องดับความร้อนอย่างนั้นน่ะ แอร์ที่เขามีเครื่องแอร์คอนดิชั่นที่เขามี มันดับความร้อนได้หรอกแต่มันดับความร้อนเพียงแค่กาย และในขณะเดียวกันมันก็ให้ความเย็นที่มีความร้อนตามมาอยู่ในตัวของมันด้วย ไม่มีขายหาซื้อไม่ได้ หรือบางทีก็เกิดความเอือมระอา อะไรๆ มันก็มีครบ แต่มันเกิดเบื่อ มันเกิดเอือมมันเกิดระอามันเกิดความรู้สึกเศร้าอยู่ลึกๆ ทั้งที่อะไรๆ ก็มีแต่ก็เกิดความเศร้าอยู่ลึกๆ แล้วก็ไม่รู้หรอกว่าที่เศร้าลึกๆ นี่อยากได้อะไรมันถึงจะมาแก้ความเศร้าลึกๆ อะไรมันทำให้เศร้าลึกๆ ก็ตอบตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าใครได้คุ้นเคยเข้ามาสัมผัสกับพระธรรมอยู่บ้าง ก็คงจะตอบตัวเองอ๋อนี่แหละมันอยาก มันอยาก จิตมันดิ้นรนเพราะความอยาก มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มีครบหมดทุกอย่างแล้วมันยังอยาก ใครอ่านเรื่องหลายชีวิตของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช คงนึกถึงแม่ทองโปรยได้ ไม่ทราบว่ามีใครเคยอ่านหรือเปล่า ไม่มีสักคน หานักอ่านไม่ได้เลย ถ้างั้นไม่ยอมอ่านอะไรนี่ก็ยากนะที่จะอ่านตัวเองได้
แม่ทองโปรยนี่เป็นชีวิตที่มีพร้อมบริบูรณ์ เกิดมาหน้าตาดี พ่อแม่รัก เฉลียวฉลาด เงินทองมีให้อยากได้อะไรได้หมดทุกอย่างอยู่บ้านนอก แล้วในสมัยโน้นบ้านนอกนี่ เด็กบ้านนอกคนไหนที่จะมีโอกาสไปได้เที่ยวกรุงเทพนี่ ถือว่าเป็นพิเศษเชียว แล้วเด็กบ้านนอกก็ตะเกียกตะกายอยากจะไปเที่ยว แม่ทองโปรยนี่ก็เป็นคนที่มีโอกาสดีก่อนคนอื่นเขา เพราะพ่อแม่มีสตางค์ เอาละเบื่อแล้วเราอยู่บ้านนี่ มีกินมีใช้มีสุขมีสบายพ่อแม่ตามใจ ตุ๊กตาของเล่นเยอะแยะ เบื่อ เบื่อซ้ำซาก อยากไปกรุงเทพฯ พ่อแม่ก็ออกเงินให้ไป ไปถึงอยู่ไม่นานเบื่อกรุงเทพอีก กลับบ้าน กลับบ้านก็มีหน้ามีตาอยู่พักหนึ่งเพราะเป็นเด็กบ้านนอกคนแรกที่ได้ไปเที่ยวกรุงเทพฯ เพื่อนฝูงคนอื่นเขาไม่ได้ไป อยู่ไปไม่นานก็เบื่อความมีหน้ามีตาที่ใครๆ ว่าแหมเธอมีบุญจริงนะ เธอได้ไปเที่ยวกรุงเทพฯ เราอยากจะไปเราไม่มีโอกาสเลย เบื่อหน่ายชีวิตที่มันได้ทุกอย่างนี่เบื่อ ในขณะที่เบื่อ อาจจะบอกเบื่อจนอยากจะตายเสีย แม่ทองโปรยก็อาจจะบ่นกับเขาตัวองอย่างนั้น วันหนึ่งก็พอดีมีพระเอกมาแก้ความเบื่อ ให้แม่ทองโปรย เป็นปลัดอำเภอหนุ่มของที่นั่น มองไปมองมาเป็นปลัดอำเภอหนุ่มก็มาต้องตาต้องใจที่แม่ทองโปรย หน้าตาดีแล้วพ่อแม่ก็ยังมีฐานะดี พ่อแม่ก็เต็มใจจะยกให้เพราะว่าตำแหน่งปลัดอำเภอ ในสมัยโน้นก็นับว่ามีหน้ามีตามากพอสมควร แม่ทองโปรยก็ได้ของตื่นเต้นชนิดใหม่ขึ้นมาในชีวิตของตัวเอง เริ่มมีความสุข ความสุขตามประสาของคนโลก เริ่มพอใจในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ช้าไม่นานสักปีหนึ่งผ่านไป เบื่ออีก เบื่อพ่อสามี ช่างรักเสียเหลือเกิน ใจดีเสียเหลือเกิน ตามใจหมดทุกอย่าง จะเอาอะไรให้หมดทุกอย่าง เบื่อ เบื่อเขาได้หมด เอ่ยอะไรขึ้นมา พ่อสามีที่เป็นปลัดอำเภอประเคนหาให้ อยากจะไปไหนพาไปทุกอย่าง ไม่เคยมีอะไรที่แม่ทองโปรยอยากแล้วไม่ได้
ผลที่สุดก็เกิดความไม่พอ เบื่อ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรจะมาทำให้ตื่นเต้น ในขณะที่อ่านนึกอยู่ในใจนี่แหละนะ ถ้านายปลัดอำเภอสามี ลงมือลงไม้กันสักครั้งสักคราวล่ะก็ แม่คนนี้คงตื่นเต้นขึ้น ชีวิตคงจะมีรสชาติขึ้นเป็นแน่เชียว นี่เผอิญสามีก็ใจดีสิ ตามใจหมดทุกอย่าง เบื่อ พอเบื่อมากๆ เข้า เกิดโรคขึ้นในใจ ก็เป็นโรคของความเครียด เบื่อเพราะได้ทุกอย่าง แต่มันก็เครียดอยู่ข้างใน เพราะมันอยากได้อะไรก็ไม่รู้ที่ตื่นเต้นใหม่ๆ เพราะความอยากนี่มันร้อนรน มันไม่ทันสักที ไม่ทันกับใจอยากสักที ก็เลยไม่ค่อยสบาย กลายเป็นสามวันดีสี่วันไข้ พ่อแม่เขาก็รักษาอย่างดีที่สุดแหละในชนบทนั้น
แต่ก็คิดว่าน่าจะมีหมอดีที่กรุงเทพ ก็ให้ลงเรือมา ลงเรือลำเดียวกันกับหลายๆ คน แล้วเผอิญเรือก็มาล่มลงที่บ้านแพนแล้วก็ เอาศพมาวางเรียงไว้ที่ชายหาด แล้วก็เรื่องหลายชีวิตก็เกิดจากการที่มันไปมองมองดูชีวิตที่เรียงรายอยู่นั้น เป็นผู้ชายก็มีผู้หญิงก็มี คนธรรมดาก็มี คือเป็นฆราวาสก็มี เป็นพระสงฆ์ก็มี ก็มีเรื่องเล่ามาแต่ละชีวิตชีวิต
ทีนี้เขาก็เล่ากันว่าในขณะที่เรือล่มนี่ทุกคนก็พากันตะเกียกตะกายเพื่อจะเอาชีวิตรอด แต่เขาบอกแม่ทองโปรยนี่เฉย มือไม้ไม่กระดิกเลยทั้งที่เป็นคนว่ายน้ำเป็น ไม่ยอมกระดิก ใครจะไปช่วยไปฉุดแม่ทองโปรยก็เฉย ไม่แสดงความอยากมีชีวิตอยู่แล้วเมื่อเขามามองดูศพของแม่ทองโปรยที่นอนอยู่บนชายหาด ใบหน้ายิ้มอย่างพอใจ พอใจที่ได้พบความตื่นเต้นอย่างใหม่คืออะไร ความตาย ยังไม่เคยตาย พอตายเขานี่ตื่นเต้นมีความสุข เพราะฉะนั้นถึงได้ทำตัวแข็งทื่อไม่ยอมกระดิกกระเดี้ยมือไม้เลย เพราะคิดว่าลองตายดูสิ บางทีมันจะมีอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ที่ไม่เคยพบมาบ้าง ที่เล่าให้ฟังนี่ก็หมายถึงว่าผู้เขียนท่านก็เขียนดีแหละที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนที่ได้ทุกอย่างนี่อย่าคิดว่ามีความสุขนะ บางคนมันก็ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ เกิดเอือมระอา เพราะความได้ตามความอยากทุกอย่างทุกประการนั้น
ทีนี้ถ้าหากว่าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น คนทุกคนน่ะแหละก็จะพูดทุกข์ ทุกข์เหลือเกิน ใช่ไหม เราเองก็เคยรำพันไหม มันทุกข์ ทุกข์จริงๆ แต่เคยรู้บ้างไหมว่าความทุกข์นั้นคืออะไร ความทุกข์มันมีลักษณะอย่างไร มันมีเหตุมาอย่างไรจึงทำให้ทุกข์ ถ้าไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม จะมีโอกาสไหมที่จะรู้ว่าทุกข์นี้น่ะมันคืออะไร มันเกิดมาจากไหน มีไหม ก็ตอบตัวเองว่าไม่มี ได้แต่คลำ มะงุมมะงาหราไปเหมือนอย่างคนที่มีทุกข์ในโลกทุกวันนี้ ในสังคมทุกวันนี้ ก็ใช้วิธีกลบทุกข์ ไปกินเหล้าบ้าง ไปติดยาเสพติดต่างๆ บ้างไปสนุกสนานตามบาร์ตามที่เต้นรำอะไรต่ออะไรก็แล้วแต่ ไปมั่วสุมกันเป็นกลุ่มในทางกามารมณ์ทางเพศสารพัดที่เราได้พบข่าวในทุกวันนี้ นี่ก็เพราะความทุกข์ไล่ไปผลักดันไปไม่ใช่อะไรอื่นนะคะ ความทุกข์ทั้งนั้น ความทุกข์ดิ้นรนเพราะมันไม่ได้อย่างใจแต่ไม่รู้ว่าจะไปแก้ไขอย่างไร ก็แก้ไขด้วยการคลำไปด้วยความมืดของตัวเอง ความมืดของความเขลา ของความโง่เพราะกิเลสตัณหาอุปาทานมันผลักดันไป แต่ถ้าได้มาสัมผัสกับพระธรรม ได้มาได้ยินได้ฟังสิ่งที่บัณฑิตท่านพูดท่านสอน ก็จะได้พอรู้ว่าสิ่งที่เป็นความทุกข์มันมีลักษณะอาการอย่างนี้อย่างนี้นะต้นเหตุของความทุกข์นี่มันมาจากนี้นะ สรุปย่อที่สุดก็คือความอยาก คือตัณหา ความอยาก อยากแล้วก็เกิดความดิ้นรนไปตามกิเลสของความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง
ท่านผู้รู้ท่านก็จะอธิบายขยายความให้รู้อีกว่า อาการของความอยากที่เกิดเพราะความโลภเป็นยังไง มันดึงเข้ามาหาตัว อาการของความอยากที่เกิดเพราะความโกรธเป็นยังไง มันผลักออกไปเพราะไม่ถูกใจไปๆ ให้พ้น อาการของความอยากที่เกิดจากความหลงเป็นยังไง วนเวียน หาทางออกไม่ได้ เหมือนคนพายเรือในอ่าง แล้วท่านผู้ใดล่ะที่เป็นผู้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกมากล่าวให้คนทั้งหลายรู้ให้เราทั้งหลายรู้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก มนุษย์จะได้มีโอกาสรู้ไหม จะยังสามารถพาตัวเองให้รอดพ้นจากความมืด มืดข้างใน ข้างนอกนี่พระอาทิตย์ก็ยังส่องแสงตามปกติ กลางคืนเดือนหงายก็ยังมีแสงจันทร์ตามปกติ แต่จิตมันมืด บางคนบอกว่าแหมมองดูแสงจันทร์วันเพ็ญแล้วมันเศร้า ไปเศร้าทำไม แสงจันทร์วันเพ็ญก็ส่องกระจ่างงามไปทั่วแล้วไปเศร้าทำไม ความเศร้ามันเกิดจากอะไร คิดไหมเศร้าเกิดจากอะไร มันก็เกิดจากใจกิเลสที่มันเศร้า บางทีก็เศร้ามีสาเหตุเพราะมันผิดหวัง ไม่สมหวัง แต่บางทีมันเศร้าอย่างแม่ทองโปรยก็มี มันอยาก อยากได้ไม่รู้จบ ได้หมดแล้วก็อยากต่อไป ไม่มีใครสนองความอยากได้บริบูรณ์ ก็เกิดความเศร้ามองดูแสงของจันทร์วันเพ็ญใครๆ เขาก็ชอบก็เกิดความเศร้า
แต่ถ้าบางครั้งแม้แต่ในคืนเดือนมืด ทำไมมันสว่างมันแจ่มมันสบายอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เดือนมืด เคยมีไหม เพราะอะไร ก็เพราะใจนั่นเอง ใจที่มันรู้สึกสว่าง มันสบาย มันปลอดโปร่ง มันไม่มีอะไรเป็นปัญหา ไม่มีอะไรเป็นความทุกข์เข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็เลยรู้สึกสว่าง เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ที่ใจ และผู้ที่มาสอน มาบอกให้รู้ว่าทั้งหมดทั้งนั้นนี่มันเกิดจากใจนะ ชีวิตนี้มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน ท่านผู้ใดล่ะ ก็ตอบตัวเองได้ พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ที่ท่านทรงบอกเป็นท่านแรก เป็นองค์แรกที่ให้เราได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่บอกว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเพื่อเป็นดวงประทีปของโลกเพื่อทรงประทานธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับให้จิตที่รุ่มร้อน เผาไหม้เกรียม ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาอุปาทานเย็นเข้า จางคลายจากความยึดมั่นถือมั่นเข้า ถ้าจางคลายได้มากเพียงใด ความสงบระงับก็จะค่อยๆ กระจายไปแล้วก็คืบคลานไปสู่ความดับ แล้วความดับนี้ก็จะค่อยๆ เย็นลงๆ ทีละน้อยจนกระทั่งเย็นสนิท เหมือนอย่างดับเตาถ่าน
ทีแรกมันก็ดับ แต่ขี้เถ้ามันยังคุอยู่ข้างในน้อยๆ แต่ก็ให้เวลาผ่านไป พยายามเอาน้ำพรมไป ผลที่สุดก็ดับเย็นสนิท เมื่อถึงกาลอันสมควร และเพื่อความรู้อันครบถ้วน บริสุทธิ์ บริบูรณ์ แก่มวลมนุษย์ มิได้ทรงสอนหรือบอกแต่เพียงสั้นๆ หรือบอกแต่เพียงหกข้อ แต่ว่าทรงอธิบายอย่างชัดเจน ถี่ถ้วน รอบด้าน เพราะฉะนั้นความรู้ ความเข้าใจในทางธรรมในความเป็นไปของโลกนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ขยักสิ่งใดไว้เลย ได้ตรัสเสมอว่าสิ่งใดที่พระศาสดาควรจะบอก ควรจะสอนแก่บรรดาสาวกนั้น รวมทั้งมวลมนุษย์ทั้งหลายด้วย เราได้บอกหมดแล้วทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง มิได้มีปิดบังเลยตลอดจนกระทั่งศิลปะของการที่จะนำความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่นั้นมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไร ก็ทรงบอกหมดแล้วทุกอย่าง เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย ที่ต้องกระทำแล้วก็ปฏิบัติด้วยตนเอง จึงอยากจะให้นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ถ้าเราอยากให้ชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นที่เบิกบานชุ่มชื่นแก่ใจมีพลังใจที่อยากจะประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เต็มกำลังของเรา หมั่นรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ลองเปิดดูหนังสือสวดมนต์ที่หน้าแปด สังเวคปริกิตตนปาฐะ ที่เป็นถ้อยคำที่สำแดงถึงความสลดสังเวช ความสลดสังเวชอันนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความสลดเศร้าหมองใจ แต่ทำให้เกิดความสลดสังเวชเพื่อเกิดความสำนึก เกิดความสำนึกขึ้นมาถึงสิ่งที่เป็นความจริง ความจริงอันเป็นความจริงของชีวิต พระตถาคตเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง และพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นธรรมเครื่องออกจากทุกข์ นี่เน้นทีเดียว ธัมโม จะ เทสิโต นิยยานิโก นิยยานิโกนี่เป็นธรรมที่แสดงเป็นเครื่องออกจากทุกข์ พระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสิ่งอื่น โปรดจำนะคะ สิ่งเดียวอย่างเดียวเท่านั้นคือออกจากความทุกข์ เป็นเครื่องสงบกิเลสจะออกจากความทุกข์ได้ก็ต้องสงบกิเลสตัณหาอุปาทาน แล้วก็จะดำเนินไปสู่นิพพานคือความเย็น ตั้งแต่เย็นธรรมดาจนกระทั่งเย็นดับสนิท
มะยันตัง ธัมมัง สุตวา เอวัง ชานามะ พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้วจึงได้รู้อย่างนี้ว่า ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขัง แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าเป็นธรรม 3 ประการ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเพื่อจะชี้แจง ถึงสภาวะของความจริง 3 อย่างนี้ คือความเกิด ความแก่ ความตาย นี่ให้สังเกต เน้นเรื่องความเกิด ความแก่ ความตาย เพราะอะไร ก็เพราะเรื่องของความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ละความเจ็บเอาไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะคนบางคนเกิดมาไม่ทันเจ็บตายเลย อุบัติเหตุเป็นลมตาย ไม่ทันได้เจ็บในระหว่าง ความเจ็บก็อาจจะเกิดกับบางคนเท่านั้น ไม่ได้เกิดกับทุกคนก็ได้ หรือโสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิทุกขา ความระทมขมขื่นใจด้วยประการทั้งปวงก็ตามที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแก่ทุกคนเหมือนกัน อาจจะมีคนบางคนที่แหมมีบุญอย่างวิเศษ อย่างแม่ทองโปรยนี่ก็มีบุญอย่างวิเศษ แต่กลายเป็นคนมีเวร มีเวรอยู่กับตัวเอง ถึงไม่ได้สำนึกในความมีบุญของตัว ในความมีกุศลที่เกิดมามีพร้อมทุกอย่าง แล้วก็ใช้สิ่งที่ตัวมีเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและเกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ เปล่า นี่เพราะอะไร ตอบได้ไหม อย่างแม่ทองโปรยนี่เป็นตัวอย่างของอะไร ความเห็นแก่ตัว ตื่นเช้าขึ้นมาไม่ได้นึกถึงคนอื่นเลย นึกถึงแต่ตัวเรา วันนี้จะคิดอยากอะไรดี แล้วจะได้ไหม สมใจอยาก อยู่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เคยแบ่งปันใคร มีแต่จะเรียกร้องจะเอา เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่มีทุกอย่าง ไม่ควรที่จะต้องมี โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสอะไรเลย แต่ก็หาเรื่องใส่ตัว หาเรื่องใส่ชีวิต คนอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นคนมีเวร ไม่ใช่มีกรรมนะ เขาบอกมีเวร เพราะฉะนั้นจึงทำให้จิตใจนี่เป็นถึงขนาดนั้น สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน อาจจะมีคนบางคน ที่มีบุญอย่างยิ่ง ที่เผอิญเกิดมาก็ได้อยู่ในสิ่งที่แวดล้อมที่สัปปายะ เป็นสุข มีพ่อแม่พี่น้องมีคู่ครองมีบริวารล้วนแล้วแต่น่าพึงพอใจ ก็อาจจะไม่ได้ประสบกับสิ่งนั้น แต่น้อยคนนะต้องเป็นคนมีบุญจริงๆ ทีเดียว แต่เมื่อถึงเวลาเข้า อยู่ไปนานเข้า วัยผ่านไปเข้าก็ต้องประสบกับความแก่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วอาการต่าง ๆ ของความแก่มันก็เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติของสังขารที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วไม่ช้าไม่นานก็เข้าสู่ความตายซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกไม่ได้
เพราะฉะนั้นความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นสิ่งที่พอพูดขึ้นมาแล้วล่ะก็มนุษย์ธรรมดาทั่วไปสะดุ้งกันทุกคน สะดุ้งบ้างไหม คงเคยสะดุ้งมาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เกิดมีสติขึ้นมาก็เลยไม่ค่อยจะสะดุ้ง เพราะรู้แล้วว่าเมื่อมันเป็นอย่างนี้มันแก่ แล้วมันก็จะตายนี่จะต้องเตรียมตัวอย่างไร คือเตรียมใจของตัวเองอย่างไร เพราะฉะนั้นธรรมะนี้เป็นธรรม 3 ประการ ที่เป็นสภาวธรรมของธรรมชาติอย่างแท้จริง และคนที่ไม่ได้มีความทุกข์อย่างอื่นคือ โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัส อย่างที่พูดแล้วนี่ก็ยังอุตส่าห์มามีความทุกข์สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในใจเพราะกลัวความเกิด ความเกิดนั้นไม่มีใครกลัวเพราะไม่เคยสังวรสำเหนียกว่าความเกิดนี่มันเป็นต้นเหตุของอะไรๆ หลายๆ อย่างนะ ไม่เคยสังเกตไม่เคยสำเหนียกในสิ่งนั้นเลย เพราะฉะนั้นพอพูดถึงความเกิด ก็ตาแจ๋วแหววกัน พอมีใครเกิดมีเด็กใหม่เกิดขึ้นในบ้านใด ก็พากันถือของขวัญไปให้ แสดงความยินดีอวยพรพร้อมกับมีการทำขวัญกัน เป็นงานใหญ่โตก็มี ทำขวัญรับเด็กเกิดใหม่ นี่เพราะไม่รู้ว่าในความเกิดนั่นน่ะมันซ่อนอะไรไว้บ้าง ตอบได้ใช่ไหมคะ ในความเกิดนี่มันซ่อนอะไรไว้บ้าง อ้าวไม่รู้เหรอนั่งมาจนอายุขนาดนี้ สี่สิบห้าสิบหกสิบสามสิบกันแล้วนี่ มองไม่เห็นเหรอความเกิดนี่มันซ่อนอะไรบ้าง ซ่อนความแก่ใช่ไหมยังเหมือนเดิมไหมล่ะ ยังเหมือนเมื่อตอนเป็นเด็กหญิงไหมล่ะ ลองนึกดูก็แล้วกัน เมื่อตอนเป็นเด็กหญิงต่างๆ นั่นน่ะแจ่มใส น่ารักน่าเอ็นดู บัดนี้มันค่อยๆ เริ่มแปรเปลี่ยนแล้ว ในความเกิดมันก็ซ่อนความแก่เอาไว้ ในความสาวมันก็ซ่อนความแก่เอาไว้ ในความหนุ่มความแข็งแรง มันก็ซ่อนความเจ็บไข้โรคภัยไข้เจ็บเอาไว้ในวันหนึ่งมันอาจมาถึงได้ แล้วก็ในความเกิดนี่แหละ มันก็ซ่อนสิ่งที่มนุษย์กลัวอย่างยิ่งคืออะไร ความตาย มันก็ซ่อนความตายเอาไว้ เพราะฉะนั้นพอเกิดขึ้นมานี่มีความเกิดนี่ถ้าหากว่าเกิดในครอบครัวของบัณฑิต บัณฑิตในทางธรรม พ่อแม่ที่เป็นบัณฑิตครูบาอาจารย์ที่เป็นบัณฑิตก็ย่อมจะต้องมีอุบาย ที่จะพูดให้ลูกหลานเล็กๆได้สำนึกเอาไว้แต่เล็กๆ ทีเดียวว่า ในความเกิดนี่ชีวิตที่เกิดมานี่มันจะต้องผ่านอะไรบ้างและที่สุดแล้วนี่มันจะต้องพบอะไร สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกนะ ไม่ใช่ของพิเศษสำหรับเราคนเดียว แต่มันเหมือนกันทุกคน เรียกว่าเป็นสิ่งธรรมดาที่ทุกคนจะต้องพบ ลูกหลานเล็กๆ ก็จะรู้จักเตรียมตัวเตรียมใจพบกับสิ่งที่เป็นธรรมดา พอเริ่มได้พบเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังขารร่างกายก็ไม่ต้องตกใจจนเกินไปเพราะได้เตรียมใจเอาไว้แล้ว
ฉะนั้นในความเกิดนี่ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในระหว่างความเกิดความแก่ความตาย รู้สึกไหมคะว่าสามอย่างนี้อะไรน่ากลัวที่สุด คะ ความเกิดน่ากลัวที่สุด อย่าพูดแต่ปากก็แล้วกันนะ ทุกคนน่ะอย่าพูดแต่ปาก ความเกิดน่ากลัวที่สุด ถูกต้อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้ระมัดระวังพิจารณาอยู่เสมอก็คือจงระมัดระวังความเกิด ทำความเข้าใจกับเรื่องของความเกิด ให้รู้ว่าความเกิดที่น่ากลัวนั่นคือความเกิดของอะไร ที่มันทำให้น่ากลัว แต่ถ้ารู้จักมันแล้วน่ากลัวไหม ไม่น่ากลัวเลย ถ้ารู้จักมันแล้วไม่น่ากลัวเลย ทำไมถึงไม่น่ากลัว เพราะมีวิธีที่จะจัดการกับมันจนมันไม่น่ากลัว มันต้องมาอยู่ในอำนาจของที่สมมติว่าเป็นเรานั่นแหละที่รู้วิธีจัดการ ก็จัดการกับมันได้ ความเกิดนั้นก็ไม่มีพิษสง แต่มันเป็นสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ ถึงความแก่ก็แก่อย่างธรรมชาติ ถึงความตายก็ตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่ของพิเศษไม่ใช่ของแปลกเกิดมาชีวิตหนึ่งไม่ว่าชีวิตของอะไรทั้งนั้น จะเป็นสัตว์โลกไม่ว่าสุนัขหมาแมวหรืออย่างอื่นหรือจะเป็นพวกต้นหมากรากไม้พืชพันธุ์ธัญญาหาร มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ตาย ที่เกิดแล้วไม่ดับ ธรรมดา ธรรมดาแท้ๆ เลย นี่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเพื่อจะบอกให้มนุษย์ทั้งหลายได้รู้ว่า ความเกิดความแก่ความตายเป็นของธรรมดา เป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติอย่ากลัวเลยอย่าตกใจไปเลย จงศึกษาทำความรู้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่าความเกิดเถอะ และจะชนะ จะชนะความเกิด เมื่อชนะความเกิด น่าแปลกไหม จะกลายเป็นอะไร ทราบไหมคะจะกลายเป็นอะไร ใครทราบถ้าชนะความเกิดแล้วจะกลายเป็นอะไร ใครนึกได้ จะกลายเป็นอะไร ก็กลายเป็นผู้ไม่ตาย
เวลานี้ยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ฟังไปก่อน แต่ก่อนสี่เดือนคงจะเข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร ถ้าชนะความเกิดก็กลายเป็นคนไม่ตายเป็นผู้ไม่ตาย มันไม่น่าจะเป็นไปได้แต่เป็นไปได้ และเป็นไปได้เพราะอะไรล่ะ ก็เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยความที่มีมหาเมตตามหากรุณาของพระองค์ และพระองค์ก็ทรงอธิบายต่อไปว่า ความเกิด ความแก่ ความตายที่เป็นธรรม 3 ประการของมนุษย์ ของสภาวะธรรมของธรรมชาติที่มนุษย์ได้พบ แล้วพอมันเกิดขึ้นมาแล้วนี่เป็นตัวเป็นตนที่มองเห็นตามสมมติเหล่านี้ ที่หน้าเก้า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เกิดมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนที่เกิดโดยสมมตินี่ ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นฉัน เป็นของฉัน
รูปูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป ยึดเอารูปที่มองเห็นตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเพราะมันเห็นได้ง่ายภายนอก นี่แหละตัวฉันล่ะ แล้วก็ตกแต่งตัวฉันนี่ ยิ่งผู้หญิงในทางโลกที่รักความงาม ร้านคลินิกที่ชะลอความงามที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดนี่เพราะอันนี้ รักรูป อยากจะให้รูปสวย สดชื่น เปล่งปลั่งอยู่เสมอ ชนะไหม ชนะไหม เสียเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านก็มี เพื่อชะลอ ชะลอรูปนี้ตัวตนนี้ให้มันสาวเสมอ ให้มันหนุ่มเสมอเดี๋ยวนี้หนุ่มก็มี น่าแปลกที่ชะลอความหนุ่มก็มี ชะลอไว้ได้ไหม ได้ เข้าไปเถอะไม่รู้กี่ครั้ง เสียเงินครั้งหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่ๆ มีแต่จะยับยู่ยี่ยิ่งขึ้นผลที่สุด ไม่มีชนะ เพราะเขาไม่รู้ ไม่รู้อะไร เขาไม่รู้ว่าคลินิกที่ชะลอความแก่ที่เป็นนิรันดรนี่คือคลินิกของใคร ลองนึกดูสิ คลินิกของใคร คลินิกของพระพุทธเจ้ามีแห่งเดียวในโลก นี่มีแห่งเดียวในโลก ถ้าใครเข้าคลินิกนี้นะ สาวจนตายหนุ่มจนตาย จริงหรือไม่จริงก็ลองทดลองดู ถ้าไม่ทดลองก็ไม่รู้ นี่ไม่ได้หลอกนะนี่พูดความจริงนะลองทดลองดู มีคลินิกนี้แห่งเดียวเท่านั้นน่ะ และของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้แหละ ที่ทรงสอนทรงบอกมาตลอด ถ้าใครอยากจะสาวจนตายหนุ่มจนตาย ก็จงมาเข้าคลินิกของพระพุทธเจ้าเถิด และจะได้รับเองในสิ่งนั้น
เวทะนูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา เวทนาก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้น เดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเจ็บเดี๋ยวปวด เดี๋ยวสบายเดี๋ยวไม่สบาย เดี๋ยวรักเดี๋ยวเกลียด เดี๋ยวพอใจเดี๋ยวไม่พอใจ เวทนาที่มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นตามอะไรล่ะก็เกิดขึ้นตามต้นเหตุนั่นแหละ ต้นเหตุที่ไปยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เป็นไปตามความผลักดันของกิเลสที่มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยแห่งตน ตัณหาความอยากหยุดไม่ได้ ยิ่งอยากยิ่งกำเริบ ความอยากยิ่งกำเริบมากขึ้นๆ หยุดไม่ได้ เวทนามันก็ยิ่งไม่รู้ว่ามันขึ้นยังไง มันซัดส่ายขึ้นมา มันสับสนขึ้นมา มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอย่างชนิดไม่รู้หยุด เหนื่อยหนัก แล้วก็ไปยึดว่าเวทนานี่เป็นของฉัน ที่จริงมันเป็นของธรรมดาที่มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย หยุดอยากเสียเวทนาก็หยุด เพราะมันไม่โลภ มันไม่อยากโลภ ไม่อยากโกรธ ไม่อยากหลง เวทนามันก็หยุดมันไม่ทำงานแล้ว เพราะไม่มีอะไรกระตุ้นให้มันมาทำงาน แต่นี่ไปยึดเวทนานี่เป็นของฉัน เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นทุกข์
สัญญูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสัญญา ความจำได้หมายมั่น ที่ได้เคยรู้ได้เคยอ่าน ได้เคยได้ยินได้ฟังมา ฉันจำได้นะมันต้องอย่างนี้ เคยใช่ไหม ที่เป็นปากเป็นเสียงกันในการทำงานบ้าง ที่บ้านบ้าง พ่อแม่ลูกบ้าง หรือในเพื่อนฝูงบ้าง ฉันว่าต้องอย่างนี้แน่ ฉันจำได้แม่น ฉันไม่เคยผิดนะเธอ ฉันจำอะไรแล้วไม่เคยผิด ที่พูดอย่างนั้นน่ะมันผิดแล้ว
ตั้งแต่พูด แต่ฉันจำได้นะไม่ได้ผิด ผิดแล้วตั้งแต่พูด เพราะฉะนั้นแม้แต่สัญญาความจำได้หมายมั่น ก็หาแน่ไม่ เหมือนอย่างอาจารย์จิตใสเขียนไว้ในกลอนบอกบริสุทธิ์นั่นแหละ สัญญาของป้ามันก็ไม่เที่ยง ก็เป็นไปตามวัยที่ผ่านไป ไม่มีอะไรเที่ยง ความจำได้หมายมั่นเราเคยจำได้ ยิ่งแก่เท่าไหร่เราต้องยิ่งรู้ตัวเรา ต้องยอมรับอยู่เสมอความจำของเรานี่อย่าไปยืนยันกับใครจะถูกเขาดันเอาหงายไปทุกที เพราะสัญญามันก็ไม่เที่ยง มันไม่มีอะไรคงที่มันเปลี่ยนแปลงได้
สังขารูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือสังขาร สังขารในที่นี้ก็หมายถึงความคิดปรุงแต่ง คงทราบแล้วว่าสังขารนั้นเป็นนามได้ นามก็คือร่างกาย หรือความคิดปรุงแต่งที่เป็นอาการนาม แต่ในที่นี้ก็หมายถึงคิดปรุงแต่ง พอเวทนาเกิดขึ้นปรุงแต่งไปเรื่อย สัญญาเกิดขึ้นปรุงแต่งไปเรื่อย คงเข้าใจแล้วนะคะคำว่าปรุงแต่ง แล้วก็ไปยึดเอาว่า ที่ฉันปรุงแต่งคือฉันคิดอย่างนี้ ฉันว่าใช่นะ ถูกต้องนะ มันไม่ผิดหรอก นี่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งที่ท่านบอกว่ามันไม่เที่ยง แต่ปุถุชนจะยึดมั่นว่ามันเที่ยง ก็เอาไปทะเลาะกันไปเถียงกัน
วิญญาณูปาทานักขันโธ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือวิญญาณ ก็คือการตามรู้ ตามรู้ตามที่เวทนารู้ รู้สึก ตามที่สัญญาจำ ตามที่สังขารปรุงแต่ง วิญญาณก็ตามรับรู้ด้วยในสิ่งนั้นๆ
ทีนี้เมื่อรู้ด้วยความยึดมั่นถือมั่นก็แน่ล่ะสรุปแล้วมันก็ทำให้เกิดแต่ความทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็คงทราบแล้วว่าทั้งสี่ตัวหลังนี่ก็แทนนามธรรม ในขณะที่รูปก็เป็นรูปธรรมที่หมายถึงร่างกาย แต่เนื่องจากว่านามธรรมนี่มันมองไม่เห็น มันก็เลยต้องอธิบายแยกแยะออกไป ว่าจิตใจข้างในนี่มันแยกออกไปได้ คือมันมีเวทนารู้สึกได้ มีสัญญาจำได้ มีสังขารคิดนึกได้ มีวิญญาณตามรู้ได้ และถ้ามันได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างถูกต้อง วิญญาณนี้ก็จะรู้จนกระทั่งถึงรู้แจ้ง ตอนรู้แจ้งนี่แหละมันรู้จริงล่ะ รู้ไม่ผิดพลาด เพราะว่ารู้ตามธรรม ไม่ได้รู้ตามกิเลส นี่ท่านก็บอกให้รู้ แต่เวลาสวดมนต์ สำนึกในสิ่งนี้ไหมสำนึกไหม ถ้าใครสำนึกก็ควรจะสำนึกเข้าไปให้ลึกๆ ในใจ แล้วก็จะได้เตือนตัวเอง เมื่อกลัวแก่กลัวตาย เมื่อไปเถียงกับเขาว่าสัญญาฉันเที่ยง สังขารฉันถูก ก็จะได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านี้มันก็คืออะไรรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็คืออะไร ก็คือสักแต่ว่าเบญจขันธ์ สักแต่ว่าเบญจขันธ์เท่านั้นหนอ อย่างที่ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่โบราณท่านจะบอกว่า สมัยก่อนโน้นพุทธกาลนี่ เวลาพบกันเขาก็จะถามเรื่องของเบญจขันธ์เป็นยังไง ยังอยู่ดีอยู่หรือ ไม่ต้องถามเธอสบายดีเหรอ เธอไปไหนมา เธอทำอะไรมาบ้างอะไรอย่างที่คนเดี๋ยวนี้ทักกัน ไม่ทักในสิ่งข้างนอกแต่จะทักเจาะลงไปถึงความจริงของชีวิต ถึงเรื่องของเบญจขันธ์ เพราะฉะนั้นคนโบราณถึงเข้าถึงธรรมได้ง่ายและก็เร็วกว่าคนยุคของเรา เพราะคนยุคของเรานี่จะสนใจในสิ่งข้างนอกนั้นมากกว่า
ทีนี้พอท่านบอกอันนี้แล้วเห็นไหมคะ พอท่านบอกว่านี่นะเหตุของทุกข์นี่เพราะอุปาทานยึดมั่น แล้วยึดมั่นในอะไรนี่ก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับยึดมั่นในเบญจขันธ์ เบญจขันธ์ที่ธรรมชาติให้มา มีรูป มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ธรรมชาตินี่เป็นนายช่างที่ประเสริฐเลิศล้ำ เก่งกาจสามารถที่สุด สร้างทุกสรรพสิ่งนี่ขึ้นมาในโลก สร้างเราให้เป็นมนุษย์ แล้วก็มีสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์ป่าสัตว์บ้านที่เชื่องและก็ที่ไม่เชื่อง มีต้นหมากรากไม้พืชพันธุ์ต่างๆ มากมาย มีภูเขามีน้ำมีทะเล เพื่อให้เป็นโลกที่มนุษย์จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความเป็นสุข อย่าเผอิญมนุษย์ไม่รู้จักใช้ ให้เบญจขันธ์นี้มาเพื่อจะได้ใช้ ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตัวเองแล้วก็เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ให้มาอย่างนี้แต่กลับเอามายึดมั่นถือมั่นเสียนี่ พอยึดมั่นถือมั่นก็เลยเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง พระองค์จึงได้ตรัสบอกเอาไว้ว่า รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยงนะ เตือนสติ เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเที่ยงเลยสักอย่างนะ อย่าไปมืดบอดไปยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มี ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา รูปังอนัตตา พระองค์ข้ามไม่พูดถึงทุกขังที่เป็นสภาวะของความตั้งอยู่ไม่ได้ ดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันจะตามมากันกับอนิจจัง เมื่อมีอนิจจังแล้วทุกขังก็ตามมาอยู่ตรงนั้น ถึงแม้จะไม่เอ่ยถึงก็อยู่ตรงนั้น เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงแปรปรวนก็แสดงถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ดำรงอยู่ไม่ได้ เวทนาอนัตตารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาอนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขาราอนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณังอนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตนนี่ท่านเจาะเข้าไปถึงธรรมะสูงสุด
ที่ได้พูดแล้วว่าไม่มีศาสนาใดที่กล่าวถึงเรื่องความไม่มีตัวตน ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีในพุทธศาสนาคือในพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะบอกให้เราได้ทราบว่าที่สุดของทุกข์นี่จะต้องอยู่ที่เข้าถึงซึ่งความไม่ใช่ตัวตน เข้าถึงซึ่งเรื่องของอนัตตาถึงจะถึงที่สุดของทุกข์ ถ้าหากว่ายังอยู่แค่อนิจจัง ยังไม่ถึงที่สุดของทุกข์ อย่างในอินเดียสมัยโน้นที่ได้ยินท่านอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังท่านก็บอกว่าอนิจจังนี่เป็นเรื่องที่เขาพูดกันแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น
ชาวอินเดียในสมัยโน้นเขารู้เรื่องอนิจจังเขาพูดกันแล้ว แต่ไม่มีใครพูดถึงอนัตตา แต่พระพุทธเจ้านี่มาตรัสถึงอนัตตา นี่ก็คาดเอาอย่างปัญญาที่ไม่ฉลาดของเรานี่ว่า ท่านคงทรงเห็นแล้วว่า ถ้ารู้แต่อนิจจังคือความไม่เที่ยง ทุกขังความตั้งอยู่ไม่ได้ แต่มันยังมีตัวคนเห็น ใช่ไหมคะ ยังมีตัวคนเห็นยังมีตัวคนบอกว่า เรานี่แหละรู้ว่าอะไรก็ไม่เที่ยง รู้ว่าอะไรก็ตั้งอยู่ไม่ได้ มันยังมีตัวอยู่ ตราบใดที่ยังมีตัวอยู่ มันก็ไม่สิ้นสุดทุกข์ เพราะยังมีตัวตนผู้รับทุกข์ ยังมีตัวตนที่จะมาเถียงมาพูดมาบอกมาขัดแย้ง มีทิฏฐิต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเสร็จสิ้นเด็ดขาดอยู่ที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเลยสักอย่าง ซึ่งจะเข้าใจชัดเจนขึ้นตามลำดับ เมื่อเราพูดถึงปฏิจจสมุปบาทที่พูดอยู่ทุกวันทุกวันนี้เพื่อเป็นการปูพื้นฐานไปสู่ปฏิจจสมุปบาท เพราะปฏิจจสมุปบาทไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ จะต้องรู้พื้นฐานจะต้องมีความเข้าใจให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะปฏิจจสมุปบาทก็ถือว่าเป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ในคืนที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พระองค์ก็ตรัสบอก
สัพเพ สังขารา อะนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขาราก็คือหมายถึงสิ่งนั่นเอง สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงก็หมายถึงสิ่งทุกสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงเลยสักอย่างเดียว แต่ใช้คำว่าสังขาร สังขารก็คือหมายถึงสิ่ง คำว่าสิ่งนี่ ท่านก็รวมหมายไปถึงความหมายของคำว่าธรรมะ ธรรมะนี่ถ้าแปลเอาความหมายของตัว ตัวธรรมะก็คือหมายถึงสิ่ง แล้วก็ในของภาษาอังกฤษ ถ้าไปเปิดดิกชันนารีภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะดิกชันนารีที่เกี่ยวกับศาสนา ก็จะมีคำว่าธรรมะอยู่ในดิกชันนารีนั้น d h a m m a แล้วเขาก็บอกว่า thing ความหมายของธรรมะในดิกชันนารีของเขาก็บอกว่า thing thing ที่แปลว่าสิ่ง t h i n g ฉะนั้นธรรมะนี่ก็คือสิ่ง ฉะนั้นทุกสิ่งทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยง
สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนดังนี้ ทุกสิ่งชี้มาเถอะ มีอะไรเป็นตัวตน ไม่มีเลยสักอย่างเดียวที่เป็นตัวตน ไม่มีเลย อย่างนี้จะเรียกว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเปิดโลกให้เราได้ไหม พูดว่าพระองค์ทรงเปิดโลกให้ได้ไหม ก็นี่แหละทรงเปิดแล้วทรงเปิดด้วยการเป็นประทีปส่องทางให้เห็นว่า ความสว่างของชีวิตนี่ต้องเข้าใจถึงสัจธรรมอย่างนี้ สัจธรรมที่เป็นความจริงแท้ๆ มันคืออย่างนี้
มันคือไตรลักษณ์ ลักษณะเป็นสามัญธรรมดาสามอย่าง ไม่มีสิ่งใดเที่ยง ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ได้ดำรงอยู่ได้ ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตน ล้วนแล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนทั้งสิ้น นี่พระองค์ทรงเปิดโลกให้มนุษย์ได้เห็นความสว่างที่ตกอยู่ในความมืดบอดของความยึดมั่นถือมั่น อะไรๆ ก็เป็นตัวตน อะไรๆ ก็เป็นฉันเป็นของฉัน แล้วก็นำความทุกข์มาสู่ตนอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ นี่เปิดลูกนัยน์ตาเนื้อให้ได้อ่าน เปิดหูให้ได้ยิน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าคนไหนเอาหูที่ได้ยิน เอาตาที่ได้เห็นที่ได้อ่านมาใคร่ครวญพิจารณาน้อมเข้าสู่ใจ ใจนั้นก็จะเปิดออกอย่างเต็มที่ ได้รับแสงสว่างแห่งพระธรรม พ้นจากความมืดบอดรอดพ้นจากความมืดบอด มืดบอดของอะไร ของการตกอยู่เป็นทาสของตัณหา กิเลสตัณหาอุปาทานซึ่งมีอวิชชาเป็นหัวหน้าใหญ่ อวิชชา วิชชา (ช สองตัว) เป็นหัวหน้าใหญ่ที่มันคุมอยู่หัวแถว ไม่อยากให้ใครรู้อะไรถูกต้องไม่อยากให้เข้าใจถูกต้อง อวิชชานี่ถ้ามีชีวิต มีตัวตนก็สมมติเหมือนกับว่ามุ่งร้ายอย่างเดียวต่อโลกนี้ ต้องการให้โลกนี้มีแต่ความร้อน ให้โง่อยู่อย่างนั้น ให้ยึดมั่นอยู่อย่างนั้น ให้เป็นทาสของกิเลสอยู่อย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานวิชชา ตัดตัว “อ” ออก ประทานวิชชา คือความรู้ที่เป็นแสงสว่างภายใน เปิดใจให้ได้รู้ ได้เห็นว่า สิ่งที่เป็นสัจธรรมที่แท้จริงนั้นคืออะไร อย่างไร และควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงได้พูดว่า พระองค์เป็นดวงประทีปของโลก ประทานธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความดับเย็นสนิท เพื่อความรู้อันครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ใช่ความรู้ครึ่งๆ กลางๆ จบถ้วนบริบูรณ์
เพราะฉะนั้นในบทที่พูดถึงการ ปลงสังเวชอันนี้ ก็เท่ากับว่าเตือนให้ได้สำนึกนะ ให้มีจิตที่เกิดสำนึกมีความถูกต้องเข้า แล้วก็ว่า ตา มะยัง โอติณณามหะ พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ถูกครอบงำแล้ว ชาติยา โดยความเกิด ชะรามะระเณนะ โดยความแก่และความตาย จะอยากถูกครอบงำต่อไปไหม ถามตัวเรา ไม่เอาแล้วถูกครอบงำมาจนอายุเท่านี้พอแล้ว เจ็บปวดพอแล้ว ทุกข์ทรมานพอแล้วขอเลิกกันที ถ้าเลิกกันทีก็อย่ามัวแต่เพียงขอร้องอ้อนวอนเหมือนอย่างคำพูดในตอนสุดท้ายนั่น ในตอนสุดท้ายของบทสวดนี่ ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ มัวแต่ถามอยู่นั่น ทำไฉนก็ลงมือทำเสียทีสิ แล้วก็ทำจริงๆ ด้วย ไม่ต้องมาถามว่าทำไฉน รู้แล้วก็ทำเลย อย่ามามัวขอร้องมาอ้อนวอนอยู่ เพราะฉะนั้นการขอร้อง การรำพันร้องทุกข์การอ้อนวอนช่วยไม่ได้นอกจากลงมือปฏิบัติ ถ้าหากว่าลงมือปฏิบัติแล้ว พอเริ่มต้นสวดพุทโธ สุสุทโธ จะรู้สึกเย็นวาบ ผ่องใสอย่างบอกไม่ถูก ในพระมหากรุณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ประทานธรรมให้แก่เรา ทรงเปิดโลกให้แก่เรา นี่ก็เป็นพระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างหาที่สุดมิได้แล้วอย่างหนึ่ง ที่พูดให้ฟัง
ทีนี้ก็ยังมีอย่างอื่นอีกที่อยากจะเล่าให้ฟัง ถ้าสามารถที่จะช่วยสร้างสรรค์เพิ่มพูนจิตใจของคนใดได้ ที่ฟังอยู่นี่ ให้มีความเคารพรัก มีความศรัทธา มีความเทิดทูนยกย่องในพระพุทธเจ้าเพิ่มพูนขึ้น จะรู้สึกยินดีมากเลย ไม่เสียทีที่มาพูดมาคุยกัน เพราะฉะนั้นก็อยากจะเล่าต่อไปอีก ว่าพระองค์ตั้งพระทัยว่าจะประทานอะไรให้แก่โลกมนุษย์หรือให้แก่มวลมนุษย์ วันหนึ่งก็มีพราหมณ์ผู้หนึ่งไปกราบทูลถามพระองค์ว่า พระองค์นี่ทรงบัญญัติอะไรให้เป็นทรัพย์สมบัติของคน พระองค์ก็ตรัสย้อนถามว่าแล้วพราหมณ์ล่ะบัญญัติยังไง พราหมณ์ก็บอกว่าตามคัมภีร์ของพราหมณ์นี่พูดอ้างตามคัมภีร์ของพราหมณ์ก็บัญญัติไว้ว่าการร้องขอ คือสิทธิในการขอเป็นทรัพย์สมบัติของพราหมณ์เพราะวรรณะพราหมณ์เขาถือว่าเป็นวรรณะของผู้สอน คือเป็นครูบาอาจารย์สอนให้วิชาความรู้แก่ผู้คนทั้งหลาย เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ทำมาหากินอย่างอื่น นอกจากการสอนให้ความรู้ ก็มีสิทธิที่จะขอ คือขอทรัพย์สมบัติหรือขออุปโภคบริโภคอะไรจากลูกศิษย์ทำนองนั้น แต่อันที่จริงถ้าหากว่าลูกศิษย์ที่มาเรียนรู้ลูกศิษย์ก็มักจะนำมาให้แล้ว แต่ในคัมภีร์เขาก็ระบุว่า สิทธิในการขอเป็นทรัพย์สมบัติของพราหมณ์แล้วในคัมภีร์ของพราหมณ์ก็ระบุต่อไปว่า คันศรลูกศร เป็นทรัพย์สมบัติของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์นี่เป็นวรรณะนักรบ ก็จะต้องเรียนเรื่องวิชารบต่างๆ เขาก็บัญญัติว่าคันศรลูกศร เป็นทรัพย์สมบัติของกษัตริย์ แล้วก็การทำนา การเลี้ยงสัตว์ ทำสวนอะไรพวกนี้ เป็นสมบัติของคนธรรมดาๆ ก็คือหมายถึงวรรณะแพศย์ แพศยะ หรือไวศยะ ที่เรามักจะพูดกันว่า วรรณะพ่อค้า คือวรรณะนี้ก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น ทำแต่งานพวกนี้ พูดง่ายๆ เหมือนกับเป็นนักธุรกิจ เป็นนักปศุสัตว์ เป็นนักเกษตรอะไรต่ออะไรที่ทำมาหากิน แล้วก็เคียวกับไม้คาน เป็นทรัพย์สมบัติของวรรณะศูทร ที่ถือว่าเป็นวรรณะที่เขาเหยียดหยามกันว่าต่ำต้อย เพราะต้องเป็นผู้ทำงานหนักแล้วก็ไม่สามารถจะไปเสมอหน้ากับใครได้เลยในวรรณะอื่นๆ รังเกียจ พราหมณ์เขาก็ทูลพระพุทธเจ้าว่าในคัมภีร์ของพราหมณ์เขาบัญญัติอย่างนี้ แล้วพระองค์ล่ะบัญญัติอย่างไร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐเป็นทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทุกคน เข้าใจไหม โลกุตตรธรรมอันประเสริฐเป็นทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทุกคน อะไรคือโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ โลกุตระก็คือฝ่ายสูง โลกุตตรธรรมอันประเสริฐคืออะไร ที่พระองค์ประทานให้แก่มนุษย์ทุกคน อย่างทั่วหน้ากัน ไม่มีการบอกว่าคนนั้นได้อันนี้ คนนี้ได้อันนั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับโลกุตตรธรรมอันประเสริฐเหมือนกัน ให้คิดหนึ่งนาที คิดได้หรือยัง โลกุตตรธรรมอันประเสริฐคืออะไร คิดได้ยังคะ นึกไม่ออกอีก คืออะไร นิพพาน ก็ถูกละ แต่ทว่าอยู่ดีๆ นิพพานไม่ได้ ต้องอะไรเสียก่อน โลกุตตรธรรมอันประเสริฐ ก็คือหมายถึงธรรมะที่เมื่อศึกษาเรียนรู้นำมาปฏิบัติแล้วก็จะถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ และนั่นแหละก็คือถึงนิพพาน ที่ว่าถึงนี่ นิพพานไม่ได้อยู่ที่ไหน นิพพานก็จะเกิดขึ้นในใจจะมีความเย็นอันสนิท เพราะว่ามันสิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นโลกุตตรธรรมอันประเสริฐก็หมายถึงอริยสัจสี่นั่นเอง ให้จำไว้เถิดว่าถ้าหากว่าประสงค์จะสิ้นทุกข์ต้องศึกษาเรื่องของอริยสัจสี่ให้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติด้วยใจจริงสม่ำเสมอ ทุกแง่ทุกมุม ก็แน่นอนจะถึงซึ่งนิโรธคือความดับแห่งทุกข์ได้ในวันหนึ่ง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าเราให้โลกุตตรธรรมอันประเสริฐเป็นทรัพย์สมบัติ หรือว่าเราบัญญัติว่าโลกุตตรธรรมอันประเสริฐนี่ เป็นทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครที่ว่าจะไม่ได้ มีสิทธิ์ได้เท่าเทียมกันแต่สิทธิอันนี้เกิดจากอะไร พระพุทธเจ้าประทานให้แล้วว่าโลกุตตรธรรมอันประเสริฐนี่คืออะไร อย่างไร ทำยังไง ทรงบอกหมด หมดจดสิ้นทุกอย่าง แต่สิทธิอันนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็คือปฏิบัติ ก็คือต้องทำหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ในพุทธศาสนานี่อธิบายหรือแสดงถึงเรื่องหน้าที่และสิทธิชัดเจนที่สุดในทุกเรื่องทุกกรณี อย่างนี้ก็เหมือนกันทุกคนมีสิทธิที่จะมีนิพพานด้วยกันทั้งนั้น พูดง่ายๆ ก็คือมีสิทธิที่จะพ้นทุกข์ด้วยกันทุกคน
ได้เคยพูดหลายครั้งว่าสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงนี่ทั่วโลกเลย สิทธิมนุษยชนที่แท้จริงก็คือสิทธิที่จะไม่เป็นทุกข์เหมือนกันทุกคนเพียงแต่ถ้าไม่ทำ ไม่ปฏิบัติ ไม่ทำหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ทำหน้าที่ของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่ถูกต้อง จริงใจ ซื่อตรง สม่ำเสมอ สิทธินี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าหมั่นทำหน้าที่ สิทธิก็เกิดมีเหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์ท่านพูดถึงสิทธิของพระสงฆ์ในการที่จะออกบิณฑบาต บิณฑบาตเหมือนกับไปขออาหารของผู้อื่น แต่ถ้าหากว่าได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์อย่างถูกต้อง สั่งสอนอบรมประชาชนชาวบ้าน ให้รู้จักธรรมะที่เป็นแก่นแท้เป็นหัวใจของธรรมะ เข้าถึงหัวใจของพระธรรม ด้วยความสุจริตใจอยู่เป็นนิจ ก็มีสิทธิ ตอนเช้าก็มีสิทธิออกไปบิณฑบาต อย่างชนิดเบิกบานอิ่มเอิบ เพราะได้ทำหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ที่พึงทำ หรือของพระพุทธสาวกที่พึงทำอย่างเต็มที่แล้ว อย่างเราทุกคน หรือคนที่เรียกตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน ถ้าทำจริงทำหน้าที่ผู้ปฏิบัติธรรมที่จริง ก็มีสิทธิที่จะได้รับโลกุตตรธรรมอันประเสริฐเท่าๆ กัน ไม่มีว่าคนจนไม่ได้ คนมีถึงจะได้ คนมีปริญญาถึงจะได้ คนไม่มีการศึกษาไม่ได้ ไม่เป็นอย่างนั้น ทุกคน ถ้าประพฤติปฏิบัติเท่าๆ กัน มีสิทธิ์ได้เท่าเทียมกัน นี่เห็นไหม เห็นพระทัยอันสม่ำเสมอขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม ไม่มีเลยที่จะทรงเลือกที่รักมักที่ชัง อย่างที่มีผู้กล่าวว่า แม้พระเทวทัตที่คิดร้ายต่อพระองค์ เรียกว่าทุกอย่างทุกประการ คอยหาโอกาสอยู่ทุกเวลานาทีพระองค์ก็ยังทรงพระเมตตา แล้วก็มีการนำไปเปรียบกับพระราหุลซึ่งเป็นพระโอรส ทรงเมตตาพระราหุลอย่างไรก็เมตตาพระเทวทัตเท่าเทียมกัน ไม่ได้เคยที่จะทรงมีเลือกที่รักมักที่ชังเพราะพระทัยของพระองค์นั้นดับสนิทแล้ว ดับสนิทแล้วจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนไม่มีแล้ว ทรงว่าง ดับเย็นสนิท เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่พระองค์ประทานให้ไม่ใช่ของจิ๊บจ๊อยแต่เป็นสิ่งที่สูงสุด สูงสุดที่จะสามารถให้ได้เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมว่าอย่างนั้นเถอะ เป็นการให้ที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะประทานชีวิตที่สมบูรณ์ ที่บริบูรณ์ สมบูรณ์บริบูรณ์เพราะชีวิตนั้นประกอบด้วยไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่เราได้พูดกันแล้ว ผู้ที่จะถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ได้ ปฏิบัติตามอริยสัจสี่นั้น แน่นอนที่สุดจะต้องเป็นผู้ที่ค่อยๆ บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไปตามลำดับ
นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจไหมที่เราได้มีโอกาสเกิดมาในพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็อยากจะเล่าต่อไปอีกถึงความงามที่เราได้พบ แล้วก็ที่เราได้ประสบกับใจ คงเคยได้ยินชื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลใช่ไหม ที่เป็นกษัตริย์ของแคว้นโกศล ก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เคารพรักพระพุทธเจ้ามากเหลือเกิน พระชนมายุก็เท่ากัน คือเกิดปีเดียวกันกับพระพุทธเจ้า แล้วก็เคารพรักพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง สรรเสริญ ยกย่อง เชิดชู เทิดทูนทุกอย่าง เวลาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จะเข้าไปใกล้กราบที่พระบาท บางครั้งก็จุมพิตพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วก็เอามือลูบคลำนวดเฟ้นพระบาทของพระพุทธเจ้า แสดงความรักความเคารพ ความเทิดทูนอย่างสูงส่ง แล้ววันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปทรงทำอาการใกล้ชิดอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ พระพุทธเจ้าท่านก็รับสั่งถามว่าวันนี้เป็นอย่างไรมหาบพิตรถึงได้มาทำความสนิทสนมคุ้นเคยถึงเพียงนี้ คือกอดพระบาท จุมพิตพระบาทแล้วก็นวดเฟ้นให้ ก็รำพัน รำพันถึงความรักเคารพ นิยม ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ซึ่งสรุปความก็คือว่า รำพันถึงความงดงามของพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงตั้งพระธรรมวินัยอันนี้ขึ้น แล้วก็สั่งสอนอบรมพระพุทธสาวกให้ปฏิบัติตามนั้น แล้วก็ปรากฏเป็นความรู้สึกที่ประทับใจพระเจ้าประเสริฐที่โกศล ซึ่งไพเราะมาก มีปรากฏอยู่ในพระธรรมที่ชื่อว่าเจติยสูตร
ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงฟังคำรำพัน พรรณนาทั้งหลายของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วก็รู้สึกว่าน่าฟัง แล้วก็มีเหตุผลมีแก่นสาร ก็ทรงสั่งให้พระสาวกทั้งหลายนี่จดจำเอาไว้ แล้วก็เลยมาเป็นพระสูตรสูตรหนึ่ง ชื่อว่าเจติยสูตร พระเจ้าปเสนทิโกศลก็รำพันพรรณนาว่า พระสงฆ์สาวกขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ปฏิบัติดีแล้ว นี่พูดโดยย่อที่สุดนะคะ ปฏิบัติดีแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ มอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า นี่พระองค์ก็สังเกตจากการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ ที่มองดูแล้วงดงาม มีพระวินัยน่าเลื่อมใส นอกจากนั้นก็มีความเชื่อฟังในพระพุทธโอวาททุกอย่างทุกประการ
ข้อต่อไป พระเจ้าปเสนทิโกศลก็พรรณนาอีกว่าพระภิกษุทั้งหลายมีความสมัครสมานสามัคคีกัน เข้าหากันได้สนิทเหมือนน้ำกับน้ำนม มองดูกันและกันด้วยสายตาที่เปี่ยมอยู่ด้วยความรัก คือความสมานสามัคคีกันนี่เป็นหนึ่ง เหมือนน้ำกับน้ำนมก็คงทราบแล้ว เอาน้ำเติมเข้าไปในน้ำนมก็มองดูแล้วแยกไม่ออก ตรงไหนเป็นน้ำตรงไหนเป็นน้ำนม ไม่เหมือนน้ำกับน้ำมันที่มันเข้ากันไม่ได้ แต่นี่พระภิกษุสงฆ์นี่ในหมู่ของพระภิกษุสงฆ์ของพระองค์มองดูแล้วรักกันเข้าหากันเหมือนน้ำกับน้ำนม แล้วก็มองดูกันและกันด้วยความรักด้วยความปรารถนาดีต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลพลอยปิติยินดีอิ่มเอิบใจไปด้วย
ข้อต่อไปก็สรรเสริญว่าพระภิกษุทั้งหลายมีใจร่าเริงชื่นบาน มีอินทรีย์ผ่องใส มีความขวนขวายน้อย ไม่หวาดกลัว เลี้ยงชีพด้วยของที่ผู้อื่นให้ ท่านเหล่านี้คงรู้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแน่ ก็ไม่ผิด สิ่งที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพูดมาตรัสมาไม่ผิด ถูกต้องทั้งนั้น เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ในหมู่สงฆ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ช่างสังเกตนะ ช่างสังเกตช่างพินิจพิจารณา แล้วก็ช่างพรรณนา ก็พูดต่อไปอีกในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ที่ประชุมแห่งพระภิกษุสงฆ์สงบเงียบ ไม่มีแม้เสียงไอหรือจามแสดงถึงเป็นบริษัทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ฝึกดีแล้วโดยไม่ต้องใช้อาญาหรือศาตราเลย แล้วพระองค์ก็เปรียบกับที่ประชุมของพระองค์คือของพระเจ้าปเสนทิโกศล เวลาประชุมข้าราชการเสนาบดีอำมาตย์อะไรทั้งหลายนี่ ทั้งๆ ที่เป็นกษัตริย์ แล้วก็เป็นกษัตริย์เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชมีสิทธิ์ที่จะลงอาญา หรือประหารชีวิตก็ได้ แต่ก็ยังมีเสียงสอดขึ้นมาพูดในระหว่างที่ข้าพระองค์กำลังพูดอยู่ แล้วก็ยังมีเสียง มีท่าทางที่แสดงความไม่เคารพทั้งๆ ที่พระองค์นี่มีสิทธิ์ที่จะใช้ศาตราอาญาอะไรก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงใช้อาญาหรือศาตราเลย ก็ลองนึกเปรียบเทียบดูก็แล้วกัน ว่าพระคุณของพระองค์ พระเมตตา พระมหากรุณา เลิศล้ำยิ่งใหญ่เพียงใด จึงสามารถควบคุมอบรมบรรดาพระพุทธสาวก ได้งดงามถึงเพียงนี้โดยไม่ต้องใช้อาญาและศาตรา
นอกจากนี้ กษัตริย์หรือบัณฑิตบางพวกชอบอวดอ้างว่า จะสามารถโต้วาทะกับพระสมณโคดม และจะสามารถยังพระพุทธองค์ให้พ่ายแพ้แก่วาทะนั้น แต่พอได้เผชิญพบกับพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมิกถาของพระองค์ ที่ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ก็กลับยอมตนเข้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งอันนี้ ถ้าไปอ่านในพระไตรปิฎกจะพบเยอะเลย เกือบจะว่าตลอดเวลา พวกเดียรถีย์ต่างๆ พวกคนที่อวดเก่ง อวดดี อวดรู้ ก็ต้องการที่จะมาทดลองวาทะกับพระพุทธเจ้า จะชนะไหม ถ้าชนะพระโคดม เราเอาเรื่องลือทั่วโลกเลย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดชนะ ต่อไปก็ยังย้ำอีก พระองค์ก็ย้ำอีกว่า พราหมณ์คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิต ก็กล่าววาจาว่า จะโต้วาทะกับพระสมณโคดม แต่ที่สุดแล้วก็เป็นเหมือนกษัตริย์ บัณฑิต ที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้ และบางคนก็ยังขอประทานโอกาสเพื่อบวชในสำนักของพระองค์อีก เห็นไหม ความน่าอัศจรรย์ของพระธรรม เราทั้งหลายฟังแล้วอัศจรรย์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ไม่อัศจรรย์ก็ทำให้อัศจรรย์หน่อยนในใจ จะได้รู้สึกตื่นเต้นดื่มด่ำ ซึมซาบ ลึกซึ้ง ในพระคุณของพระพุทธเจ้าขึ้นมาบ้าง ไม่งั้นการประพฤติพรหมจรรย์จะยากนะ
ต่อไปนี้รู้สึกขันนะ ขันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพูด ท่านก็อุตส่าห์พรรณนาให้ฟัง บอกว่าคือพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ก็เล่าถึงช่างไม้ของพระองค์เอง พูดง่ายๆ ก็คือเป็นข้าราชการของพระองค์น่ะ มีช่างไม้อยู่สองคนชื่อนายอิสิทัตตะ กับนายปุราณะ บอกสองคนนี่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้าเหลือเกินสุดที่จะพรรณนา ถึงตอนกลางคืน ตอนหัวค่ำยังไม่นอน จนตอนดึกก็จะพูดกันในเรื่องของธัมมิกถา คือสนทนาธรรมกันตลอดสองคนนี่นะ พอถึงเวลานอน ก็ต้องดูกันแล้วว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ทิศไหน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเมืองเดียวกัน คนละเมืองก็ตาม ต้องให้รู้เมืองนั้นอยู่ตรงไหน แล้วก็จะหันศีรษะไปทางทิศที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ แต่หันเท้ามาทางพระเจ้าปเสนทิโกศล น่าขันเรื่องนี้นะ ทั้งๆ ที่ 2 คนนี่ก็เหมือนกับเป็นลูกจ้างเป็นข้าราชการ แต่ดูสินี่ ไม่มีความเคารพไม่มีความเกรงกลัวเลย ทั้งที่เงินเดือนที่กิน อะไรที่ใช้ ที่อยู่อะไรทั้งหลายมาจากพระเจ้าปเสนทิโกศลทั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็อัศจรรย์ตัวเองทำไมเขาเคารพพระพุทธเจ้าถึงขนาดนั้น แต่เหมือนกับเขาไม่เคารพเราเลย ทั้งๆ ที่พูดง่ายๆ ก็คือว่าเขาจะดีจะชั่วนี่จะเลื่อนตำแหน่งหรือไม่เลื่อนตำแหน่งนี่ก็อยู่ที่เรา เพราะฉะนั้นนี่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็น่าเอ็นดูเหมือนกันนะไม่ได้รู้สึกเป็นปมด้อยนำมากราบทูลเล่าให้ฟัง แล้วก็ยิ่งชื่นชมในพระคุณ ในพระกรุณา ในความงดงามต่างๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกระทำ ถ้าจะพูดไปแล้วผู้ฟังคงจะนึกว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่คงต้องบรรลุธรรมเป็นแน่เลย ใช่ไหมรู้ สึกคิดอย่างนั้นไหม ถ้าใครคิดอย่างนั้นก็คาดผิด
นี่แหละที่เล่าให้ฟังนี่เพราะอยากจะให้ฟังเป็นอุทาหรณ์ นี่ก็ต้องบอกว่าอุทาหรณ์จากพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ด้วยความที่รักนี่ รักเคารพพระพุทธเจ้าเหลือประมาณอย่างที่ได้เล่าให้ฟังแล้วนี่นะคะ ก็อยากเหลือเกินอยากจะเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า ทำยังไงจะได้สนิทสนมใกล้ชิด ก็เลยส่งทูตไปทูลขอเจ้าหญิงธิดาของศากยะ พระพุทธเจ้าอยู่ในวงศ์ศากยะ ก็ไปขอเจ้าหญิงศากยะมาองค์หนึ่งมาเป็นมเหสี ก็ปลาบปลื้มใจว่าเราได้เป็นญาติพระพุทธเจ้า แต่ก็เป็นแค่ญาตินั่นแหละนะ แล้วก็แสดงความรักความเทิดทูนพระพุทธเจ้ามาก ก็ขอกราบอาราธนาให้ไปเสวยในวังทุกวัน พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่าไม่ได้หรอก เพราะหน้าที่ของพระพุทธองค์ก็ต้องเสด็จไปโปรดตามที่ต่างๆ จะไปอยู่ประจำที่แห่งใดแห่งหนึ่งไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากขัดใจก็รับสั่งว่าเอาเถอะจะให้พระอานนท์ เป็นผู้พาพระภิกษุไปห้าร้อยองค์ เรียกว่าไปรับภัตตาหารเช้าที่ในวัง ในวันแรกๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เป็นผู้มาประเคนภัตตาหารนี่ถวายพระทุกวัน ต่อมานานๆ เข้าก็อาจจะทรงมีราชกิจอะไรมากก็ลืมเลือนไปบ้าง พระก็ไปคอยอำมาตย์ราชบริพารก็ไม่กล้าที่จะประเคนอาหาร เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้สั่งเอาไว้ บางวันพระก็เลยอดก็เลยต้องกลับอาราม โดยไม่ได้ฉันอาหาร ผลที่สุดพระก็ร่อยหรอไปเพราะบางวันพระเจ้าปเสนทิโกศลนึกได้ก็มาประเคนภัตตาหาร บางวันนึกไม่ได้ก็เป็นอย่างนี้ ก็ผลที่สุดเหลือพระอานนท์องค์เดียว นี่ความน่ารักของพระอานนท์นะ ถ้าหากพูดถึงพระพุทธสาวกที่น่าเลื่อมใส น่าเคารพ พระอานนท์นี่ก็เป็นองค์หนึ่งทีเดียว ก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า ก็เสด็จไป แล้ววันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จออกมาเพื่อจะมาประเคนภัตตาหาร ก็เอะอะว่าทำไมไม่เห็นมีพระมา ทำไมถึงมีพระอานนท์องค์เดียว แต่ว่าพระอานนท์ท่านก็ไม่กล้าที่จะบอกว่า ก็พระองค์ไม่มาประเคน ก็ไม่มีใครเขาอยู่ แล้วข้าราชการเขาก็ไม่กล้า ก็เลยอด ก็เลยไม่มากัน ก็ไม่มีใครพูด พระอานนท์ก็ไม่พูด ท่านก็เลยไม่รู้หรอกว่าผลที่เกิดขึ้นน่ะมันเหตุมาจากไหน นี่คือพระเจ้าปเสนทิโกศล
ทีนี้ถ้าเราจะดูว่า เราก็พยายามมองค้นหาว่า การปฏิบัติธรรมของพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ แสดงไว้ที่ตรงไหนบ้าง ในพระราชประวัติ ในพระไตรปิฎก ก็ไม่พบการปฏิบัติธรรม มีแต่การแสดงความรัก ความเทิดทูน ความยกย่องต่อพระพุทธเจ้าเป็นที่สุดอย่างที่ว่านี่ ไม่มีแสดงว่าการปฏิบัติธรรม แล้วก็ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าถึงธรรมในระดับไหน ก็ไม่ปรากฏ แต่ทรงทำบุญทำทานนี่ทำ ทำมาก ทำบุญทำทานอยู่เสมอ แต่ในการปฏิบัติธรรมประพฤติธรรมอย่างผู้ประพฤติธรรมทั้งหลายด้วยใจด้วยการปฏิบัติไม่ปรากฏ ก็นึกดูเถอะ อยากจะเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า ก็ไปหาเจ้าหญิงมาเป็นมเหสี ลืมนึกไปอย่างที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่เห็นอะไร ลองนึกสิ เท่าที่เล่าให้ฟังนี่พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่เห็นอะไร ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่เห็นอะไร คะ นึกไม่ออกเหรอ เห็นอะไรเห็นเราหรือเห็นธรรม และเราที่เห็นน่ะคือเราอะไร เราที่เห็นคือเราอะไร คะ งงแล้วเหรอ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เห็นเรา คือเห็นเราเห็นพระพุทธเจ้าแต่เห็นพระพุทธเจ้าอย่างไหน อย่างบุคคล เห็นพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล รักพระพุทธเจ้าก็รักอย่างบุคคล พอใจในคุณธรรมความดี พอใจในความงดงามของพระรูปโฉมโนมพรรณด้วยก็ได้ พอใจในคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงสั่งสอน แต่ก็ผ่านไปมา ไม่ได้ทรงรับเข้ามาน้อมที่ใจเลยสำหรับพระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะฉะนั้นต่อให้พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ได้เข้าเฝ้าจนถึงเนื้อถึงองค์ของพระพุทธเจ้าก็หาได้เห็นพระพุทธเจ้าไม่ ใช่ไหม หาได้เห็นพระพุทธเจ้าไม่ เพราะอะไรจึงไม่เห็นพระพุทธเจ้า เพราะไม่เห็นธรรม ไม่ได้เห็นธรรม จิตของพระองค์ไม่ได้สัมผัสกับธรรม นึกมาถึงตัวเรานะ อย่าไปนึกหัวเราะแต่พระเจ้าปเสนทิโกศล รีบหันมานึกถึงตัวเราทีเดียว ว่าเรานี้ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงบ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็จงรีบขวนขวายยังมีโอกาส ยังมีเวลาตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ หมดลมหายใจก็คือหมดโอกาส นี่เป็นโอกาสทองของชีวิตรีบเร่งขวนขวายเสีย เพราะฉะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ก็แค่เห็นองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นตัวเนื้อ เป็นบุคคล เป็นคนๆ หนึ่งที่ถูกอกถูกใจแค่นั้นเอง แต่มิได้รับสิ่งที่เป็นคุณธรรมความดีอันงดงามสูงส่ง โลกุตตรธรรมที่พระองค์ประทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ได้รับเพราะว่าทรงทำแต่เพียงแค่ทำบุญทำทาน สร้างสิ่งที่อาจจะเป็นเสนาสนะ อาคารอะไรให้แก่วัดแค่นั้น มันก็เรื่องอยู่ข้างนอกทั้งนั้น ไม่ได้เข้าข้างใน การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมต้องเข้าข้างใน ถ้าใครยังจะอยู่ข้างนอก รีบแหวกเข้าข้างในเสีย ถ้ายังจะอยู่ข้างนอกตลอดไปก็จะเป็นอย่างนี้ จะเหมือนอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งในตอนวาระสุดท้ายของพระองค์ก็น่าสงสาร
เพราะฉะนั้นที่เล่าให้ฟังนี่ก็เพื่อเป็นข้อเตือนใจ เป็นข้อให้คิด ได้เคยฟังท่านครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาเคารพรักมาก และในความเคารพรักมากก็ต้องบอกว่ามะรุมมะตุ้มท่านเหลือเกิน ลูกศิษย์คนนี้ก็อยากจะให้ท่านอย่างนั้น ศิษย์คนโน้นก็อยากจะให้ท่านอย่างนี้ รวมความว่าอยากให้ท่านทำ ให้ท่านอาจารย์ทำอะไรตามใจฉันว่างั้นเถอะ ท่านก็คงเอือม เหนื่อย วันหนึ่งก็ได้ยินท่านปรารภออกมาว่า เอาธรรมเถอะอย่าเอาคนเลย เข้าใจไหม ครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านร้องบอกออกมา เอาธรรมเถอะอย่าเอาคนเลย นี่นึกดูสิสภาพที่เราเห็นทุกวันนี้ในวงการของผู้ที่เรียกตัวเองว่า ปฏิบัติธรรม มันเป็นยังไง เข้าอีหรอบนี้หรือเปล่า เข้าแบบนี้หรือเปล่า ถ้าเข้าแล้วล่ะก็เราจะไปรวมพวกกับเขาไหม อยากจะถาม ที่นั่งอยู่นี่อยากจะไปรวมพวกกับเขาไหม ถ้าไม่อยากรวมพวกเพราะมองเห็นแล้วว่านี่ไม่ใช่หนทางที่จะถึงธรรม ก็รีบถอนตัวออกมา ทำในสิ่งที่ถูกต้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จปรินิพพานไปตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ยังมีคนรักพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลอยู่อีกไหม ลองนึกดูสิ ทุกวันนี้ยังมีไหม ที่ยังรักพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลน่ะมีไหม ลองคิดดูสิ มีไหม มีหรือไม่ ที่ว่ามีนี่ มียังไง ไม่ใช่ว่ามีเฉยๆ มันต้องมีคำอธิบาย มียังไงที่ว่ามี เป็นยังไงที่ว่ามี ก็ท่านก็เสด็จปรินิพพานไปแล้ว เนื้อหนังของพระองค์ก็เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนสภาพแล้ว ไปเป็นธรรมชาติ คืนสู่ธรรมชาติหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือหรอ แล้วคนทุกวันนี้ยังรักพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล หมายความว่าอะไร คือยังมีอยู่ ไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ยังมีอยู่ ที่รักพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล หมายความว่ายังไง พระพุทธรูป รักพระพุทธรูป ต้องปางนั้นปางนี้อย่างนี้ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้งามอย่างนี้อะไรสารพัด แล้วก็ยึดมั่นในพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ยึดมั่นอยู่ในพระพุทธรูปอย่างเดียว ถ้าประพฤติธรรมด้วยไม่เป็นไร แต่ถ้ายึดมั่นอยู่ในพระพุทธรูปอย่างเดียว ถึงพระธรรมไหม ก็ไม่ถึง คงเห็นเราแต่ไม่เห็นธรรม แต่นี่พระองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ยังไม่จบนะยังมีอีก และพรุ่งนี้ค่อยพูดต่อแต่เวลาหมดแล้ว ก็หวังว่าทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้คงพยายามจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงให้ได้ วันนี้ยังไม่ได้ก็คงได้ภายในวันหนึ่งที่ไม่นานนักไม่ไกลนัก แล้วก็ลองนึกดูว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นเป็นอย่างไร ธรรมสวัสดีค่ะ