แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการใช้จิตดูจิตที่พูดไปเมื่อกี้นี้นะคะ ว่าหมายความว่าอย่างไร ยังไม่ค่อยชัดเจน ขอให้อธิบายเพิ่มเติม แล้วก็ถามว่าจิตนี้มีหลายดวง หรืออย่างไร
ตอบ: ก็ขอตอบว่า ดวงเดียว และเมื่อถึงที่สุดแล้ว ดวงไหนที่จะสว่าง จะว่าง ก็ดวงนี้ ดวงที่มันมืดๆ อยู่นี่ ฝึกไป อบรมไป ขัดเกลาไป เช็ดถูไป ปัดกวาดกิเลสไป ฝุ่นกิเลสไป แล้ววันหนึ่งมันก็ค่อยๆ เกลี้ยง ขาวสะอาดขึ้นไปเอง ดวงนี้ดวงเดียว แย่แล้วใช่ไหม ดวงเดียวนี่ก็แย่แล้ว เหลือแหล่เกินงานที่จะทำแล้ว ถ้าไปอีกหลายสิบดวงละก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นดวงนี้ดวงเดียวนี่
ทีนี้ใช้จิตพิจารณาจิต หมายความว่าอย่างไร นักศึกษาอย่าลืมนะคะที่เราพูดกันถึงเรื่องชีวิตเมื่อวานนี้ ชีวิตนั้นถ้ามันจะสมบูรณ์ มันจะต้องประกอบด้วยสามอย่างใช่ไหม สมบูรณ์ทางกาย สมบูรณ์ทางจิต สมบูรณ์ทางสติปัญญา สติปัญญา คือที่เรียกว่าวิญญาณ ทางวิญญาณ คือสติปัญญา หมายความว่า จะต้องมีสติปัญญาที่ถูกต้อง และอันที่จริงจิตนี้ มันจะเป็นจิตที่สมบูรณ์ ขาวสะอาดเกลี้ยงเกลาได้ มันก็ต้องอาศัยอะไร จำได้ไหมคะ อย่าลืม ต้องมาจากอะไร ต้องอาศัยสติปัญญาที่ถูกต้อง ที่เราพูดถึง Growth (การเจริญเติบโต) สามอย่าง Physical Growth (การเจริญเติบโตทางร่างกาย) Mental Growth (การเจริญเติบโตทางจิต) Spiritual Growth (การเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ) นี่ถ้าเรามาเปรียบกับการพัฒนาชีวิตของเราก็ต้องพัฒนาสามอย่าง คือ กาย จิต วิญญาณ Spiritual Growth หมายถึง วิญญาณ ความเจริญเติบโตทางวิญญาณ แต่วิญญาณนั้นถ้าแปลตามตัวก็แปลว่า การรับรู้ ไปเที่ยวตามรู้โน่น รู้นี่อะไรอย่างนี้ นี่คือวิญญาณ การรับรู้ ภาษาอังกฤษเขาก็ใช้ว่า Consciousness Consciousness นั่นคือวิญญาณ ทีนี้พอเรามาพูดว่าวิญญาณในทางพุทธศาสนา พัฒนาวิญญาณพัฒนาอย่างไร ก็พัฒนาการรู้ การรู้ต่างๆ นั้นให้เป็นการรู้ที่ถูกต้อง นั่นก็คือสติปัญญานั่นเอง หมายถึงสติปัญญา การพัฒนาสติปัญญาให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าจิตมันจะรู้สึกอย่างไร นึกอย่างไร คิดอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับว่า รู้ถูกหรือเปล่า ใช่ไหมคะ คือสติปัญญาถูกหรือเปล่า ถ้ารู้ถูก จิตมันก็นึกถูก รู้สึกถูกต้อง ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าสติปัญญามันยังพัฒนาไม่ถูกที่ มันยังพัฒนาไม่แหลมคม ไม่สว่างจริง มันก็ยังผิดๆ ถูกๆ อยู่
ทีนี้การที่จะบอกว่าจิตพิจารณาจิตอย่างไร มันก็ต้องเนื่องด้วยสติปัญญา ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างนักศึกษามาที่นี่ หลายๆ คนอาจจะมีความรู้สึกว่า ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน คือความเป็นฉัน มันดีนี่ เพราะมันมีฉัน ฉันนี่แหละจะเป็นคนทำอะไรต่ออะไรให้แก่ชีวิตนี้ ถ้าไม่มีฉันแล้วใครจะเป็นคนทำ แล้วมีฉันนี่มันยังมีพ่อฉัน แม่ฉัน พี่ฉัน น้องฉัน เพื่อนฉัน บ้านฉัน ทรัพย์สมบัติของฉัน อะไรอะไรของฉันอีกเยอะแยะเลย อบอุ่นดีใช่ไหมคะ มันอบอุ่น ถ้าไม่มีว้าเหว่ตายเลย อยู่ได้ยังไงในโลกนี้ นี่เพราะเราเคยชิน เราเคยชินกับความคิด ความรู้สึกอันนี้มานาน ทีนี้พอมานี่ สองสามวันนี่ก็เริ่มจะได้ยินละ ใช่ไหมคะ ว่าท่านมีตัวฉัน และก็ยึดมั่นในตัวฉัน นั่นคือความเห็นแก่ตัว แล้วความเป็นจริงนั้น ตัวฉันนี่มันมีหรือไม่มี เรายังไม่ได้พูดกันให้กระจ่างแจ้ง เป็นแต่เอ่ยถึงนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น แต่นักศึกษาก็เริ่มจะได้สัมผัสกับความรู้อีกอย่างหนึ่ง ที่เขากำลังบอกว่ายึดมั่นถือมั่นในตัวฉัน นี่แหละมันเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ ความทุกข์ของคน ชีวิตที่ถูกกัด มันอยู่เพราะว่าตรงนี้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ ไม่ใช่เพราะอะไรอื่น จะเชื่อดี หรือไม่เชื่อดี นี่กำลังอยู่ในระหว่างทางสองแพร่งในใจ ใช่ไหมคะ เชื่อดี หรือไม่เชื่อดี เชื่อได้หรือเปล่านี่ พูดอย่างนี้ เชื่อได้หรือเปล่า เพราะถ้าหากว่าไม่มีเรา คือไม่มีตัวฉัน ไม่มีพ่อแม่ฉัน ฉันจะมาจากไหน แล้วฉันจะเล่าเรียนมาจนเป็นนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัย จนจะจบอยู่แล้วนี่ได้อย่างไร ก็นี่มันฉันทั้งนั้นนะ ใช่ไหมคะ ความจริงที่เคยอยู่ นี่คือสภาพด้านหนึ่งของจิตที่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ เพราะเราได้เคยรู้มาอย่างนี้ด้วยสติปัญญาอันนี้ ก็ไม่ว่าว่าผิดหรือถูกนะคะ ก็เป็นสิ่งที่ได้เคยรู้มาอย่างนี้ แต่ก็ขอให้นึกดูนิดหนึ่งว่า และเพราะว่าเรายึดว่าเป็นฉัน เป็นของฉันนี่ พอมีอะไรเกิดขึ้นกับฉัน กับของฉัน ใจเรามันวาบหวิว ใช่ไหม มันเป็นทุกข์ มันไม่สบายเลยใช่ไหม มันเศร้าหมอง มันขมขื่น เจ็บปวด เพราะฉัน และของฉัน ใช่ไหม ใช่หรือเปล่า ถามตัวเองเดี๋ยวนี้ ได้คำตอบหรือยัง นี่เป็นประเด็นที่ให้คิด
เพราะฉะนั้นในทางธรรม ท่านจึงบอกว่า ความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันว่าเป็นฉัน ของฉัน อะไรอะไรก็กวาดเอาเป็นของฉันนี่แหละ มันทุกข์เพราะตรงนี้ ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นสิ่งใดทุกข์เพราะสิ่งนั้น ท่านบอกอย่างนั้น นี่เราก็ฟังไว้ มันก็เข้าที ใช่ไหมคะ มันไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่ว่าไม่ได้เรื่องเสียเลย มันเข้าทีเหมือนกัน ใช่หรือเปล่า ทำไมถึงว่ามันเข้าที ก็เพราะว่าเราหันไปดูว่าที่เราทุกข์ ที่เราถูกกัดนะ เพราะเรายึดมั่นใช่ไหม อันนี้ปฏิเสธไหม ว่างั้นเถอะค่ะ ปฏิเสธหรือเปล่า ที่ชีวิตเราถูกกัดนี่ ที่เราขึ้นๆ ลงๆ ที่เราเป็นทุกข์อยู่นี่ เพราะเรายึดมั่นใช่ไหม ใครปฏิเสธ ยอมรับว่าเป็นความจริง เราเป็นทุกข์เพราะเรายึดมั่นถือมั่น ชีวิตถูกกัดเพราะยึดมั่นถือมั่น นี่ยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะฉะนั้นเมื่อมาได้ยินว่า ความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละเป็นเหตุให้ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เราปฏิเสธได้ไหม ปฏิเสธคำของพระพุทธเจ้าได้ไหมคะ ถามจริงๆ ปฏิเสธได้ไหม ใครปฏิเสธไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้ คำกล่าวนี้คือความจริง ใครปฏิเสธ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ แม้ใจจะยังไม่ค่อยยอมรับ ใช่ไหมคะ ใจยังไม่ค่อยยอมรับ เพราะเรายังอยากมีนี่ตัวฉันนี่ ปัดโธ่ เป็นของฉันมาตั้งยี่สิบปี แล้วจู่ๆ จะมาบอกว่าไม่ใช่ของฉัน ไม่ใช่ของฉัน แย่เลย จะให้ปล่อยได้ทันทีได้อย่างไร เราก็ไม่ได้บอกให้ปล่อย แต่จากการที่ได้รับรู้อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่านี่เป็น Information (ข้อมูล) อีกอย่างหนึ่ง ที่เราได้ยินได้ฟังว่า มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ความทุกข์เกิดเพราะสิ่งนั้น นี่เราเริ่มคิดแล้วในฐานะที่เราเป็นปัญญาชน เราเป็นคนฉลาด เราเริ่มรับรู้อันนี้ แม้ใจจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะยอมตาม หรือไม่ยอมตามก็ตาม แต่เราเริ่มคิดใช่ไหมคะ เราเริ่มคิด เริ่มใคร่ครวญ จิตมันก็เริ่มนึกละ เริ่มนึก เริ่มรู้สึก
เมื่อใดที่จิตมีความรู้สึกเตือนตัว คือเตือนจิตเองด้วยสติ พอเรารู้สึกว่าใจมันกำลังจะกวัดแกว่ง สติดูลงไปทันที อ๋อ เพราะกำลังยึดมั่น ยึดมั่นในสิ่งนี้ ในจุดนั้นน่ะเมล็ดพืชของโพธิมันบานออกมานิดหนึ่ง อย่างน้อยมันก็แย้มออกมานิดหนึ่ง ใช่ไหม นี่เพราะมันนึกรู้ อ๋อ ใช่ที่ได้ยินเขาว่าอย่างนั้น เขาว่ายึดมั่นสิ่งใดเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ความยึดมั่นคืออุปาทาน นี่คือการรับรู้ของสติปัญญาอีกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง แล้วมันเป็นคนละสติปัญญาหรือเปล่า ของคนละคนหรือเปล่า คะ เป็นของคนละคนหรือเปล่า ของคนเดียวกันใช่ไหม นี่ ก็ต้องยอมรับว่าของคนเดียวกัน เรียกว่าถ้าสมมติว่าสติปัญญานี่ มันจะเป็นวัตถุสักก้อนหนึ่ง มันก็ก้อนเดียวกันนั่นแหละ ก้อนหนึ่ง คือหมายความว่าด้านหนึ่งนี่ มันมีการรับรู้มาอย่างนี้ เรียนรู้มาอย่างนี้ รับรู้มาอย่างนี้ เคยฝึกปฏิบัติมาอย่างนี้จนรวบยอดเป็นคอนเซ็ปต์ (Concept) ว่า นี่เป็นของฉัน มันเป็นตัวฉัน อะไรๆ ก็ของฉัน แล้วรู้สึกชีวิตมีความมั่นคง แต่พอมาได้ยิน มาเรียนรู้อีก Information (ข้อมูล) หนึ่งว่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น มันก็ในสติปัญญาดวงเดียวกันนั่นแหละ แต่มันเป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้รับการฉายแสงของคำพูดที่ทำให้เกิดความสว่างวาบขึ้นมาในจิต อีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้แหละส่วนที่สว่างวาบนี่จะน้อยจะมากก็ตาม มันก็จะส่องเข้าไป และส่วนที่ยังไม่สว่าง ที่ยังคุ้นเคยอยู่กับความรู้ความคิดเดิมๆ ที่เป็นจิตที่นึกที่รู้สึกเดิมๆ มันก็คือจิตดวงเดียว อันเดียวกันนั่นแหละ แต่ว่าในส่วนที่มันได้รับการรับรู้มาอีกอย่างหนึ่ง เรียนรู้มาอีกอย่างหนึ่ง มันก็กำลังคล้ายๆ กับว่า กำลังจะเอามาใคร่ครวญ พิจารณาสอบสวนซึ่งกันและกัน เพื่อจะหาผลสรุปว่า ผลที่สุดแล้ว อะไรมันจริงแน่ละ อะไรมันถูกแน่ อะไรมันใช่แน่ แต่ในขณะที่กำลังสอบสวนนี้ จิตนั้นก็รู้สึกถ้าสติมาทัน ทุกครั้งก็จะรู้สึกว่า พอจิตมันกวัดแกว่งเริ่มกระเพื่อม เตือนทัน นี่กำลังยึดมั่นอีกแล้วนะ ยึดมั่นแล้วก็จะเอาให้ได้อย่างใจอีกแล้วนะ พอนึกเท่านี้เป็นทุกข์ หยุด! นี่แหละ คือการที่บอกว่า จิตดูจิต คือจิตที่ได้รับความรู้จากสติปัญญาที่ถูกต้อง มันก็จะดูส่วนที่ยังไม่รู้ นี่คือจิตดวงเดียวนั่นแหละ ในส่วนที่รับรู้ เรียนรู้อย่างถูกต้อง สว่างขึ้น มีปัญญาขึ้น ก็จะส่องเข้าไปในส่วนที่ยังไม่รู้ เพื่อจะชำระกันดูสิว่าอะไรแน่ถูกต้อง ถ้าหากว่าส่วนที่ได้รับรู้เรียนรู้มาใหม่ มันถูกต้อง มันก็จะสอดสาดแสงสว่างอันนี้เข้าไปมากเข้า มากเข้า มากเข้า ในส่วนของเดิม แล้วจิตอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเดิมนั้น ก็จะค่อยสว่างมากเข้า รับรู้ Information (ข้อมูล) ใหม่นี้ ไปชำระ หรือฟอกส่วนเก่าที่เคยรู้ เคยเรียน เคยปฏิบัติมา จนเป็นความเคยชิน นี่จึงเรียกว่า จิตพิจารณาจิต
จิตที่เริ่มฉลาดพิจารณาในส่วนที่ยังไม่ฉลาด คำว่าฉลาดในที่นี้ หมายความว่าฉลาดในทางธรรม ฉลาดในสิ่งที่เป็นสัจธรรมของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใคร แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบประจักษ์แจ้งด้วยใจของพระองค์เอง แล้วก็นำมาบอกคนทั้งหลาย ถ้าจะเปรียบให้เป็นรูปธรรม ถ้าจะอุปมาให้เป็นรูปธรรม ก็อาจจะเปรียบเหมือนกับเด็กผู้หญิงชนบทไกลๆ คนหนึ่งที่ถูกพ่อแม่ส่งมาเป็นลูกจ้างเขาในเมืองกรุงครั้งแรก มาถึงก็เหม็นทั้งตัว เผ้าผมก็ไม่รู้จักสระ น้ำท่าก็ไม่รู้จักอาบ เข้ามาใกล้ก็เหม็น ก็ได้รับการสั่งสอนบอกกล่าวจากนายจ้าง นี่นะ ต้องอาบน้ำอย่างนี้ ต้องสระหัวอย่างนี้ สบู่ฟอกตัว ซักผ้าของตัวเองอย่างนี้ รู้จักเปลี่ยนเสื้อผ้า วันแรกๆ น่ะมันไม่ค่อยอยากทำตามหรอก เพราะมันสบายไม่ต้องอาบ ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องซักผ้า ไม่ต้องถูตัวไม่อยากทำตาม ก็เคี่ยวเข็ญกันไป สามวันเจ็ดวันก็ค่อยๆ ทำตาม ถ้าต่อมาวันหลังพบแม่คนนี้ แหมหน้าตาสะอาด กลิ่นเหม็นหายไป คนใหม่หรือเปล่า ก็คนเก่าคนเดิมนั่นแหละ แต่เสื้อผ้ายังยับยู่ยี่ อ้าวก็บอกต่อไปอีก นี่นะหน้าตาสะอาดสะอ้านดีแล้ว ถ้ารู้จักซักผ้าให้สะอาด นี่เตารีดก็มี เขารีดอย่างนี้นะ พาไปรีดไปสอน ทำให้ดู แล้วก็ลองใส่ดูสิ เสื้อที่ซักสะอาด ที่รีดเรียบแล้วเป็นยังไง นี่ก็ได้ลองใส่เสื้อผ้าสะอาด ที่ซักแล้ว รีดแล้ว มันก็เนื้อตัวสบาย แล้วเป็นเด็กผู้หญิง ก็รักสวยรักงาม หรือผู้ชายเดี๋ยวนี้ก็รักสวยรักงามไม่แพ้ผู้หญิง ส่องกระจกดู หน้าตามันก็เข้าที แหมมันสะอาดสะอ้าน มันน้องๆ นางสาวไทย มันอาจจะบอกตัวเองอย่างนั้นเวลาส่องกระจก ก็เกิดกำลังใจ อยากจะแต่งเนื้อแต่งตัวให้สะอาดสะอ้านมากขึ้น ถ้ามันไม่รู้หยุด มันอาจจะสะอาดยิ่งขึ้นคว้าเสื้อผ้าของนายมาใส่ก็ได้ มันคนใหม่หรือเปล่า มันก็คนเก่านั่นแหละ ใช่ไหมคะ นี่แหละเป็นอุปมาเปรียบเหมือนกับว่า จิตดูจิต คืออย่างนี้ ก็เด็กคนนั้นเมื่อมันได้รับการสั่งสอนอบรมอีกอย่างหนึ่ง พอแต่งเนื้อแต่งตัวอย่างนี้นะจึงจะสะอาด มันก็ค่อยๆ แก้ไข ปรับปรุง วิธีการแต่งเนื้อแต่งตัวของตัวเอง ด้วยการอาบน้ำอาบท่า ถูขี้ไคล สระผม ซักเสื้อผ้า รีดผ้า แล้วมันก็เป็นคนสะอาดขึ้น น่ารักขึ้น เข้าใจหรือยังว่า จิตดูจิต หรือจิตพิจารณาจิตคืออย่างไร จิตดวงเดียวนั่นแหละ แต่มันเนื่องด้วยสติปัญญา
ฉะนั้นในขณะนี้ ถ้าจะถามว่าเรามาฝึกอบรมอะไร ในสามอย่างนี้ กาย จิต วิญญาณ ก็อาจจะบอกว่า เราฝึกอบรมทั้งสามอย่างนี้แหละ มันต้องทำไปพร้อมๆ กัน แต่เราเน้น หรือเราเริ่มด้วยวิญญาณ คือสติปัญญาที่ถูกต้องก่อน ที่เรามาพูด พูดอะไรกันอยู่นี่ ตั้งแต่เมื่อวานนี้จนวันนี้ เราพูดกันนี่พูดไปทำไมมากมายยังไม่ได้ฝึกอะไรจริงๆ สักทีหนึ่งเลย ก็เพราะเราต้องทำความเข้าใจกันก่อน ใช่ไหมคะ ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เรามาที่นี่มาทำไม ที่บอกมาฝึกปฏิบัติจิตตภาวนา มาทำไม มันเป็นอย่างไร และมันทำเพื่ออะไร มันจะได้ประโยชน์อะไร และวิธีทำ เขามีวิธีอย่างไร นี่เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อน เข้าใจให้ถูกต้องจะได้รู้ ว่าเรากำลังทำอะไร แล้วก็ทำอย่างลืมตา ไม่ใช่ทำอย่างหลับตาตามๆ เขาไป ซึ่งไม่ใช่วิสัยของปัญญาชน ใช่ไหม
นิสิตนักศึกษาจะต้องทำอะไรด้วยความรู้ รู้เสียก่อนว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร แล้วทีนี้เราก็จะรู้แล้วว่า เรากำลังเดินไปไหน สู่ทิศทางอะไร ไม่ใช่ให้คนเขาจูงไปอย่างคนตาบอด นี่เป็นความจำเป็น พุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญา พุทธะ นี่แปลว่า ปัญญา เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนนั้น ก็หมายถึง ชนแห่งปัญญา เราจะทำอะไร เราต้องทำด้วยปัญญา เราจึงต้องมาพูด ทำความเข้าใจให้รู้กันเสียก่อน ว่าเราจะ กำลังมาทำอะไร แล้วฝึกปฏิบัติอะไร เพื่ออะไร ด้วยวิธีไหน แล้วก็ในขณะเดียวกัน เราก็รู้ว่า สิ่งที่จะต้องฝึก เพราะมันบังคับควบคุมกาย นั่นคือ จิต แต่เราเน้นมาที่สติปัญญา หรือวิญญาณ ก็เพื่อที่จะให้วิญญาณนี้มีสติปัญญาที่ถูกต้อง แล้วมันก็จะได้ช่วยให้จิตนี้ รู้คิด รู้นึก รู้กระทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วกายนี่ก็ไม่มีปัญหา เพราะมันจะได้รับการรู้ การกระทำ การจัดการให้เหมาะสมแก่ความต้องการของร่างกาย เพื่อกายนี้จะได้แข็งแรง ไม่ต้องมีปัญหา ไม่ต้องมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามา นี่ที่เรามาพูดกันเพื่อประโยชน์อันนี้ ก่อนที่เราจะลงมือปฏิบัติ แล้วทีนี้นิสิตนักศึกษากลับไป ใครถามว่ามาทำไม มาเพื่ออะไร เขาทำอะไรกันบ้าง แล้วได้อะไร เราจะสามารถตอบเขาได้เต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่ว่า ไม่รู้ เขามาฉันก็มากัน สมไหมที่จะเป็นนิสิตนักศึกษาที่จะไปตอบอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่ที่เราพูดกัน เพื่ออย่างนี้ เพราะว่าเรามาอย่างผู้มีปัญญา แล้วก็สู่ศาสนาแห่งปัญญา องค์สมเด็จพระศาสดาของเรานี่ เราตอบได้เลยอย่างภาคภูมิว่า ทรงมีปัญญาล้ำเลิศจริงๆ สิ่งที่ทรงสอนนั้นมีสิ่งที่แตกต่างจากศาสนาอื่นอยู่บ้าง และนอกจากนั้นยังเป็นศาสนาที่ให้เสรีภาพ ให้อิสรภาพแก่ผู้ปฏิบัติอย่างยิ่ง เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ถ้าเราจะดูว่าประชาธิปไตยของพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน อยู่ในทุกที่ทุกแห่งเลย ในการปฏิบัติ ในการฝึกอบรม ในการที่จะเรียนรู้เรื่องของธรรมะ นี่คือคำตอบนะคะ มีจิตดวงเดียว และจิตดวงนี้แหละ ก็จะดูฝึกอบรมจิตดวงนี้ดวงเดียวกันนี้ ในส่วนที่ยังไม่เกลี้ยงเกลา ยังไม่สะอาด ให้มีความสะอาดหมดจดขึ้น
คำถาม: ทีนี้คำถามต่อไป ถามว่า ตอนที่ไปฟังธรรม ไปเยี่ยมโรงปั้น ของท่านอาจารย์ไสวนะคะ แล้วก็ท่านกล่าวว่า จิตเกิดดับห้ามไม่ได้ แต่ถ้าเกิดสงสารอย่าให้ถึงเวทนา หมายความว่าอย่างไร แล้วก็จะมีวิธีห้ามไม่ให้ไปถึงเวทนาอย่างไร
ตอบ: การที่เรามาฝึกจิตนี่ เราก็จะมาดูความเกิดดับของจิต และเราก็จะฝึกเพื่อให้ความเกิดดับนั้น ไม่ให้มันมาทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตนี้เป็นทุกข์ ไม่ให้จิตนี้ถูกกัด เพราะความเกิดดับ เกิดดับ เพราะเกิดดับ เกิดดับนี้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่เพราะจิตนั้นยังไม่มีวิญญาณที่ฉลาดพอ คือไม่มีสติปัญญาที่ฉลาดพอ ก็ไปยึดเอาความเกิดเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็เป็นสุข เป็นทุกข์กับความเกิด ไปยึดเอาความดับเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็เป็นสุข เป็นทุกข์กับความดับ เราจะมาฝึกให้รู้ถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ ว่าเกิดก็เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ดับก็เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง
ทีนี้ที่บอกว่า ถ้าหากว่าเกิดสงสารแล้ว อย่าให้ไปถึงเวทนา อันที่จริงพอสงสาร จิตมันก็กระเพื่อมแล้ว ใช่ไหม เข้าใจคำว่า จิตกระเพื่อมไหม ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องรู้จักจิตปกติ ลักษณะของจิตปกติ จะราบเรียบ อย่างนี้ มันราบเรียบ มันเยือกเย็น ผ่องใส ราบเรียบแต่ไม่ใช่ ไม่เซื่องซึม ไม่ใช่เซื่องซึม เงอะงะ ไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นเขาเรียกจิตโง่ ที่เซื่องซึม เซ่อเซอะ ไม่รู้เรื่องนะ จิตโง่ แต่ว่าจิตที่เป็นปกติ ราบเรียบด้วยความเยือกเย็น ผ่องใส แต่ในขณะเดียวกันว่องไวอย่างยิ่งเลย ว่องไวในการรับรู้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นรอบตัว รับรู้ทันที นี่เป็นลักษณะของจิตที่ราบเรียบ จิตที่ปกติ เมื่อใดที่มันมีการกระเพื่อม กระเพื่อมก็เริ่มต้นตั้งแต่กระดิกนิดหนึ่ง แล้วกระเพื่อมขึ้นลง เหมือนอย่างกับมีระลอกคลื่น พลิ้วมาเล็กๆ น้อยๆ ระลอกคลื่นเล็กๆ นั่นน่ะเป็นอาการกระเพื่อมถ้าเราจะเปรียบกับอาการกระเพื่อมของจิต ซึ่งเราจะรู้เอง มันจะมีอาการ ตึกตัก ตึกตัก ขึ้นข้างในใช่ไหม เราก็บอกหัวใจ เต้น นั่น ตึกตัก ตึกตัก ตั้งแต่ตึกตักนิดๆ จนกระทั่ง ตึกตัก มากๆ นั่นนะเป็นอาการกระเพื่อมของจิต ถ้ามันตึกตักมากๆ มันก็เกินกระเพื่อม มันโยนขึ้นโยนลงเป็นคลื่นลูกใหญ่ละ โถมเข้ามาหาฝั่ง ถ้าใครไม่ระวังก็ถูกมันพัดหายไปในทะเลก็ได้ เพราะฉะนั้นความสงสารที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดความรู้สึกสงสารเท่านั้นนะ จิตมันกระเพื่อมแล้วละ แล้วแต่ว่าสงสารมาก หรือสงสารน้อย ถ้าสงสารน้อยก็กระเพื่อมนิดๆ เหมือนอย่างเห็น อะไรที่มันไม่เกี่ยวข้องกับเรา เพราะมันไม่ใช่ของเรา เหมือนอย่างเสียงหมาร้อง ถูกเขาตี ถ้ามันไม่ใช่หมาเรา น่าสงสารคนบ้าชอบรังแกหมา แล้วกันจบ แต่ถ้ามันเป็นหมาของเราต้องวิ่งไปเอาเรื่อง ใครนะ ตีหมาฉัน เป็นใครมาจากไหนอวดดีตีหมาฉัน เห็นไหม ความสงสารหมา เปลี่ยนเป็นความโกรธขัดเคืองใจคนที่มาตีหมาของเรา เพราะฉะนั้นมันเป็นเวทนาแก่กล้าขึ้นมาทันที แต่เมื่อสงสารนี้จิตก็กระเพื่อมแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะได้พูดกันถึงเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งเราจะต้องระมัดระวัง เพราะเรารู้แล้วว่า เวทนา คือสิ่งปรุงแต่งจิต ทำให้จิตนี้ไม่เป็นอันสงบได้เลย เราจึงต้องเรียนรู้มัน ว่ามันเกิดมาจากอะไร แล้วเราจะควบคุมมันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อสงสารเกิดขึ้น เวทนาเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นน้อยๆ แล้ว ถ้าสมมติว่าเราสามารถทันต่อมัน สิ่งที่ทำให้เกิดเวทนา สิ่งนั้นคือผัสสะ สิ่งนั้นเป็นผัสสะ ที่มันทำให้จิตเกิดเวทนา แต่ถ้าเราสามารถที่จะควบคุมผัสสะนั้นได้ เวทนาก็จะไม่เกิด ไม่ว่ามากหรือน้อย มันจะมีแต่ความรู้เท่านั้นว่า มันคืออะไร และเป็นอะไร
คำถาม: ส่วนคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการตามลมหายใจ ว่าแม้แต่จะตามได้ ใจก็นึกถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้หยุดไม่ได้ ได้ก็แค่สองสามนาที เดี๋ยวก็นึกอีก
ตอบ: ก็ขอให้รับรู้ว่า นี่คือความเป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติ เป็นเช่นนั้นเอง นั่งกันอยู่ร้อยกว่าคน ลองถาม เหมือนกันทุกคนนะคะ ไม่ใช่เฉพาะเรา เหมือนกันทั้งนั้น นั่งอยู่ได้รู้อยู่กับลมหายใจ นาทีเดียว แว็บ ไปแล้ว หายไปไหนไม่รู้หาไม่เห็น อ้าวเรียกกลับมาอยู่ได้อีกสักนาที ไปอีกแล้ว นี่เป็นธรรมดา ก็อย่างที่พูดแล้วเมื่อคืนนี้ เราปล่อยให้มันเพ่นพ่านมาเสียนาน ตั้งยี่สิบปี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องชักเย่อกับมันเต็มที่ตอนนี้ เล่นชักเย่อกับมันอย่ายอมแพ้นะคะ แล้วก็เห็นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นไม่ต้องหงุดหงิด ไม่ต้องรำคาญ มีกำลังใจดึงมันกลับมาเท่านั้นเป็นพอ ถ้าหากว่าเราไม่หงุดหงิด ไม่มีเวทนา ถ้าเราเกิดหงุดหงิด เราโกรธตัวเอง เออเรานี่มันเป็นอย่างไรนะ มันถึงทำไม่ได้เหมือนอย่างคนอื่นเขา นี่พอโกรธนี่ นั่นเป็นเวทนาแล้ว แต่ถ้าเราสามารถทำใจให้เห็นเป็นธรรมดา อ๋อมันเช่นนั้นเอง เราปฏิบัติใหม่ๆ มันก็เช่นนั้นเอง ไม่ต้องเป็นอย่างนี้ เอาใหม่ ตั้งต้นใหม่ มันก็ล้มลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ไม่ยอมแพ้ ผลที่สุดก็ต้องยืนได้ วิ่งได้ กระโดดได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้รักษาใจให้สงบเย็นไว้ แล้วก็เห็นเป็นธรรมดา เหมือนกันทุกคนนะคะ
แม้ใครเขาจะนั่ง ข้างนอกคือมองดูข้างนอก แหมฟอร์มเขาดี ท่าทางเขาสงบเยือกเย็น คงไปถึงไหนถึงไหนแล้วไม่รู้ ก็ถึงไหนเหมือนกัน แต่ถึงไหนไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าถึงไหนสงบเยือกเย็นผ่องใส เพราะฉะนั้นจงรู้เถอะว่า นั่งอยู่ในห้องร้อยกว่าคนนี่ ถึงแม้เราจะไม่พูดกัน แต่เราเป็นเพื่อน อยู่ในเรือลำเดียวกัน คือเรือที่มันชอบวิ่งไปโน่นไปนี่ ไม่ค่อยอยู่กับที่ เราก็ต้องช่วยกันที่จะแก้ไขใจของเราเอง โดยสำนึกเสมอว่า เราไม่ได้เลวร้ายกว่าเพื่อนฝูงทั้งหลายหรอก เหมือนกันทั้งนั้น แต่เรากำลังพยายามกันด้วยกันทุกคน พยายามที่จะลุกขึ้นใหม่ ยืนขึ้นให้ได้ ทำให้ได้อยู่ตลอดเวลา
คำถาม: (เสียงไม่ชัด)
ตอบ: ถูกต้องโดยธรรมะ และคำว่า ถูกต้องโดยธรรมะ ก็มีความหมายว่า เพื่อเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์ตั้งแต่ตัวเองและผู้อื่น ไม่มีการเบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น โปรดจำอันนี้ให้ถูกต้องนะคะ การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง
เพราะฉะนั้นที่ถามมาบอกว่าเช่น ขอทานทำตามหน้าที่ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าขอทานไม่ได้รับเงินบริจาคทาน ไม่ถือว่าปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ ถ้าหากว่าขอทานจำเป็นต้องขอทาน คำว่าจำเป็นต้องขอทาน ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า จำเป็นเพราะขี้เกียจ ถ้าขี้เกียจไม่ถือว่าเป็นความจำเป็น ถ้าสมมติว่า ร่างกายบริบูรณ์พร้อมที่จะทำมาหากินได้ สติปัญญาก็มี แต่ถ้าไม่ทำ อย่างนี้ถือว่าเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว เบียดเบียนคนอื่น ไม่ถูกหน้าที่ของตน เพราะฉะนั้น ขอทานคนนั้นนะไม่ได้ปฏิบัติธรรม เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง ทีนี้ถ้าขอทานแล้วเผอิญวันนั้นไม่ได้เงิน ไม่มีใครบริจาคทาน จะถือว่าขอทานปฏิบัติธรรมไหม การที่ขอทานจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าได้เงินหรือไม่ได้เงิน แต่ขึ้นอยู่กับจิตของขอทานในขณะที่มาปฏิบัติธรรม ถ้าสมมติว่าเขาอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถจะทำมาหากินได้ จำเป็นที่จะต้องใช้อาชีพนี้ เขาก็มาขอทาน และในขณะที่เขามาทำหน้าที่ขอทาน เขาก็ตั้งจิตสงบ ไม่ได้คิดว่าถ้าไม่ได้แล้วจะโกรธ ถ้าใครเดินผ่านไม่ให้จะสาปแช่ง ถ้าทำอย่างนั้นนะจิตมันไม่เป็นธรรมแล้ว จิตมันเป็นกิเลสตั้งแต่ต้น ขอทานคนนั้นไม่มีธรรมะ แต่ถ้าขอทานรู้เหตุปัจจัยของตน และเสร็จแล้วก็พยายามที่จะขอทาน ตามหน้าที่ เมื่อได้ก็อนุโมทนาขอบใจ เมื่อไม่ได้ก็มองเห็นว่าเพราะเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนี้ เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มีอีกหลายอย่างเลยที่จะพูดกัน แล้วขอทานก็คงสามารถรักษาใจของเขาไม่ให้เศร้าหมอง นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมอยู่ตรงจุดนี้ จิตใจไม่เศร้าหมอง แต่ถ้าเมื่อใดมีความเศร้าหมอง มีความขัดเคืองเกิดขึ้น นั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ฉะนั้นโปรดเข้าใจอันนี้ให้ถูกต้องนะคะ ว่าการทำหน้าที่คือ อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เหมาะสม
คำถาม: ทีนี้ ที่ถามมาว่า โจร มีหน้าที่ต้องทำการปล้นฆ่าคนอื่นเพื่อยังชีพ ถือเป็นหน้าที่ที่เหมาะสมหรือไม่
ตอบ: อันนี้ไม่ใช่แล้ว นี่เรารู้อยู่แล้วการที่ไปปล้นคนอื่นเขา คือการเบียดเบียนคนอื่นเขา จะหารวยทางลัด เอาสบายทางลัด เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมเลย ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้องเลย เพราะเริ่มต้นก็ด้วยการเบียดเบียนเขา การทำงานคือการปฏิบัติธรรม หมายความว่าทำด้วยจิตใจที่เป็นปกติ สบายเยือกเย็นผ่องใส ปัญหาเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะแก้
คำถาม: คำถามต่อไปว่า ทำดีไประยะหนึ่ง รู้สึกสับสนวุ่นวายขัดแย้งภายในใจมาก เพราะบางครั้งแม้กระทำโดยเต็มกำลัง งานก็ไม่เป็นดังหวัง ถ้าไม่ยึดเอาความดีใจเสียใจ จะเอาสิ่งใดเป็นเครื่องให้กำลังใจแก่การทำงาน
ตอบ: ก็นึกดูสิว่า ถ้าพอทำงานไปแล้ว ประเดี๋ยวก็ไม่ได้ เสียใจ มีกำลังใจไหม ไม่มี มันกลับตกต่ำ เรียกว่าจิตตกไปเลย ไม่มีกำลังใจจะทำอะไรต่อไป หรือดีใจตื่นเต้นลิงโลด มันก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่มันยังดีกว่าเสียใจ เพราะฉะนั้นการดีใจ เสียใจนี่ คือจิตที่ไม่ปกติ เพราะมันขึ้นลง การทำงานแล้วจะเอากำลังใจก็คือ เริ่มต้นการทำงานอย่างเต็มฝีมือความสามารถเต็มกำลังสติปัญญาของตน แล้วเสร็จแล้ว เมื่อได้ผลเพียงใดก็รับผลเพียงนั้น พร้อมกับศึกษาว่าทำไมผลจึงไม่มากกว่านี้ เหตุปัจจัยอะไรที่เป็นอุปสรรคหรือบั่นทอน และเสร็จแล้วก็ จำเอาไว้เพื่อแก้ไขปรับปรุง แล้วเมื่อหันมามองดูตัวเอง เราตำหนิตัวเองได้ไหมว่าเราทำอะไรชุ่ยๆ มักง่ายไม่เต็มที่ ถ้าดูแล้วก็ตอบตัวเองว่า เราทำเต็มที่แล้ว อิ่มใจ พอใจได้ใช่ไหมคะ ว่าเราได้ทำเต็มฝีมือของเราแค่นี้ ขณะนี้เรามีฝีมือแค่นี้ เราทำเต็มที่แล้ว นี่คือกำลังใจ เราอิ่มใจ พอใจได้ ความอิ่มใจ พอใจนี่แหละ คือกำลังใจ แต่ถ้าจะไปเอาความเสียใจดีใจเป็นกำลังใจ เป็นไม่ได้ มันมีแต่บั่นทอน
คำถาม: ทีนี้ชีวิต ประกอบด้วย กาย และจิต ชีวิตที่ปราศจากจิต เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่สามารถทำอะไรได้ การเครียดของร่างกายก็เกิดจากจิต จิตไม่ได้ดังต้องการ ก็เลยทำให้ร่างกายเครียด ที่จริงจิตมันเครียด และมันก็เลยเป็นผลสะท้อนไปถึงร่างกาย ที่ทำให้เซลล์ ซึ่งควรจะทำงานต่างๆ ตามหน้าที่ ไม่สามารถจะฟังก์ชัน (Function) ตามหน้าที่ของมันได้ ก็เลยทำให้ประสาทมันเครียด ก็อยากถามว่า ทำไมเวลาเครียด ทำไมยาสามารถบำบัดความเครียดได้ ในเมื่อยาไปบำบัดร่างกาย ไม่ได้บำบัดจิต คือหมายความว่าเมื่อกินยาเข้าไปแล้ว ทำไมจึงรู้สึกร่างกายสบาย
ตอบ: ร่างกายสบายก็เพราะว่า ประสาทมันเกิดความผ่อนคลาย มันก็มีความสบายขึ้น ยามันก็ช่วยบำบัด แต่แล้วลองนึกดูนะคะว่า ถ้าเราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุใช่ไหมคะ ต้นเหตุยังอยู่ ประเดี๋ยวก็ปวดหัวตัวร้อนเครียดอีก ต้องกินยาอีก เพราะฉะนั้น ยาจึงบำบัดได้เพียงชั่วคราว แต่บำบัดไม่ได้ตลอดไป เราจึงต้องหันมาหา แก้ว่าอะไรคือต้นเหตุ ถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุได้ เราจะไม่ต้องกินยาบ่อยๆ เพราะเรากินยาธรรมะโอสถเรียบร้อยแล้ว
คำถาม: อยากให้อธิบายความหมายของชีวิต ชีวิตเกิดมาทำไม ให้สามารถเข้าใจง่าย
ตอบ: ที่จริงเมื่อวาน เมื่อวานนี้ก็คิดว่าพูดเรื่องของชีวิตอย่างเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว ว่าชีวิตประกอบด้วยกายกับจิต เพราะฉะนั้นก็จะต้องพัฒนาชีวิตทั้ง กาย จิต วิญญาณ ชีวิตเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะไม่เป็นทุกข์ เกิดมาทำไม เกิดมาเพื่อไม่เป็นทุกข์ การที่จะไม่เป็นทุกข์ได้ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง คือถูกต้องโดยธรรม เหมือนอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้นะคะ นี่คือชีวิต ที่บอกว่าการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น โดยการศึกษาที่ถูกต้อง อยากให้อธิบายว่า ให้ดีขึ้นว่าเป็นการพัฒนาตัวเองหรือพัฒนาสิ่งอื่น พัฒนาใจของตนเอง พัฒนาชีวิตของตนเอง ดีขึ้น ดีขึ้นในทางธรรม ก็หมายความว่า ทีแรกมันเต็มไปด้วยความทุกข์ มันถูกกัดตลอดเวลา ชีวิตที่ยังไม่ได้พัฒนา มันถูกกัดตลอดเวลา เวลานี้เข้าใจคำว่าถูกกัดแล้วหรือยังคะ มีใครไม่เข้าใจ เราเข้าใจตรงกัน ว่าถูกกัดตลอดเวลา ทีนี้พอเราพัฒนามัน จนมันถูกกัดน้อยลง น้อยลง น้อยลง เจ็บปวดน้อยลง น้อยลง นั่นแหละ คือความหมายว่า พัฒนาดีขึ้น งอกงามในทางที่ถูกต้อง ความหมายคืออย่างนี้ อยู่ตรงที่ถูกกัดน้อยลง การพัฒนาสิ่งอื่น เครื่องจักรเครื่องกลอะไรเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้อง มันเป็นเรื่องของวัตถุ นั่นเราก็ปรับปรุงพัฒนามันเพื่อให้ใช้ประโยชน์ในทางการงาน แพร่เชื้อไวรัส แพร่เชื้อเอดส์ แน่นอนอันนี้ไม่ใช่การพัฒนา ถ้าจะใช้คำว่าพัฒนาก็เป็นการรกรุงรัง เป็นการทำให้เกิดโรคร้ายต่อไปอีก ไม่ใช่ ต้องเข้าใจคำว่าพัฒนาให้ถูกต้อง จะมีใครถามเรื่องของชีวิตอีกไหมคะ ที่นั่งอยู่นี่ จะมีใครต้องการถามเรื่องของชีวิตอีกไหม มีใครจะถามเรื่องชีวิตอีกไหมคะ เข้าใจดีแล้วนะคะ จะได้ต่อคำถามอื่น คือขณะที่ตอบไปนี่ ถ้าอะไรไม่แจ่มแจ้ง ก็อนุญาติให้ซักได้ ซักต่อได้
คำถาม: ผมไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อนเลย จึงรู้สึกปวดเมื่อยจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ธรรมดาก็มีอาการปวดหลังบ้างเป็นบางครั้งคราวอยู่แล้ว
ตอบ: ก็เป็นธรรมดานะคะ การปวดเมื่อย ถ้าเวลาไปที่บ้านนี่ เห็นฝรั่งที่เขาใช้ คือเวลาเราเข้ารีทรีท (Retreat) ฝรั่ง ฝรั่งเขายิ่งกว่าเราอีก เขาไม่คุ้นเคยเลยนะคะ เพราะฉะนั้นเขาจะใช้หมอน หมอนให้มันรองก้นให้สูงหน่อย คือเวลานั่งแล้วก็ รองก้นข้างหลังนี่ แล้วพอก้นสูงขึ้นเวลาเรานั่ง หัวเข่าก็จะไม่กดลงไปกับพื้น ที่เราปวดมากนี่ก็เพราะหัวเข่ามันกดลงไปกับพื้น แต่ถ้าหากว่าก้นสูงขึ้น น้ำหนักก็ไม่กดลงไปมากที่หัวเข่า ก็จะช่วยให้การปวดเมื่อยในการนั่งลดลง แต่ถ้าเราไม่มีปัญหาในเรื่องสุขภาพร่างกาย เช่น ไม่เคยไปผ่าตัดหลัง ผ่าตัดแข้งขาอะไรมาก่อน ก็ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ได้เกิดอันตราย พอเรานั่งไปจนชินอีกหน่อยหนึ่ง ความปวดเมื่อยจะค่อยลดลง นอกจากนี้สิ่งสำคัญก็คือ ทัศนคติในใจ พอเริ่มจะนั่งนี่ กลัวก่อนหรือยัง ถ้าพอเริ่มจะนั่ง เดี๋ยวปวดอีกแล้ว มันก็ปวด มันต้องปวดแน่นอน เพราะแนวโน้มมันบอกแล้วว่าจะปวดใช่ไหมคะ ตามหลักจิตวิทยา เพราะฉะนั้นก็อย่าไปนึกถึงมัน ทำใจให้สบายแล้วก็นึกว่า เรานั่งอย่างถูกต้อง อย่างถูกวิธีดีที่สุด และกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ ถ้าจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจได้ จะไม่ปวดไม่เมื่อย จะสบาย แล้วถ้าไปอยู่บ้าน ถ้าเผอิญเกิดปัญหาเกี่ยวกับการนั่ง จะใช้เก้าอี้ก็ได้ แต่ว่าต้องนั่งอย่างสำรวม
คำถาม: คำถามต่อไป ท่ามกลางสังคมรอบข้าง ที่เห็นว่าความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องปกติ ทำอย่างไรเราจึงจะใช้ชีวิตอยู่ได้ ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว อย่างมีความสุข และไม่ถูกเอาเปรียบจนเกินไป นี่เป็นคำถามที่ดีมาก น่าจะได้ฟังกันทั้งห้องประชุมนี้นะคะ
ตอบ: ข้อแรกก็คือว่า เราเห็นหรือเปล่าว่า ความเห็นแก่ตัวนี่เป็นความร้ายกาจ เป็นความใช้ไม่ได้ เป็นการเบียดเบียนสังคมอย่างยิ่ง เห็นด้วยไหม เห็นด้วย ทีนี้ถ้าเราเห็นด้วย เราเห็นไหมว่า การที่เราจะดำรงชีวิตอย่างไม่เห็นแก่ตัว เป็นการดำรงชีวิตที่ถูกต้องอย่างมนุษย์ เห็นด้วยไหมคะ อย่างถูกต้องของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ คือผู้มีใจอันประเสริฐ คนที่ทำได้อย่างนี้ คนนี้มีใจประเสริฐจริงๆ สมแก่คำว่ามนุษย์ ถ้าเราเห็นด้วย เราก็แน่ใจว่า เราได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ใช่ไหมคะ เราพอใจได้ไหม ภูมิใจได้ไหมในการกระทำ ถ้าเราภูมิใจได้ เราพอใจได้ แน่ใจว่าเราทำอย่างถูกต้อง แล้วกลัวอะไรละ ใช่ไหมคะ ไม่มีอะไรที่ควรกลัว เพราะเราทำสิ่งที่ถูกต้อง เราหยุด มีจุดยืนที่ถูกต้อง ถ้าจะมีการอภิปรายพูดจากัน เราก็สามารถจะอธิบาย ให้ชัดเจนได้ อย่างแน่ใจ มั่นใจ ว่านี่คือ ธรรมะ เรายืนอยู่บนจุดของธรรมะ ฉะนั้นความสำคัญจึงขึ้นอยู่กับเราเองก่อน เราแน่ใจไหม ถ้าเราแน่ใจแล้วเดินต่อไป
ทีนี้คำถามต่อไปที่บอกว่า ไม่ถูกเอาเปรียบจนเกินไป จะไม่ถูกเอาเปรียบเลย เพราะการที่ปฏิบัติธรรมนี้ เราปฏิบัติเพื่อให้จิตนี้พร้อมด้วย สติ สมาธิ ปัญญา เมื่อมันพร้อมด้วย สติ สมาธิ ปัญญา อะไรเกิดขึ้น มันรู้ทันทีว่า นี่เราควรจะแก้ไขอย่างไร เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็น หมู กลายเป็นหมูให้เขาเถือเอาเถือเอา ไม่ใช่เลย ผู้ปฏิบัติธรรมคือผู้ที่สามารถปฏิบัติอย่างถูกต้อง ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันไม่จำเป็นจะต้องเสียเปรียบ ให้เขาเถือเอาเถือเอา ไม่จำเป็นเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมที่มีจิตพร้อมด้วย สติ สมาธิ จะสามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง แล้วก็ยังจะช่วยสอนคนอื่น เป็นตัวอย่างให้สังคมได้มองเห็นว่า แท้ที่จริงอย่างนี้ น้ำใจอย่างนี้ยังมีอยู่ในโลก และคนเหล่านั้นแม้จะเห็นแก่ตัวเพียงใด ถ้าเขาได้ลิ้มรสของความเย็นของน้ำใจ เขาย่อมจะมีความรู้สึกที่ดีเกิดขึ้นใช่ไหมคะ และมันอาจที่จะชักจูงเขา ให้ลดละความเห็นแก่ตัวอีกด้วย เพราะฉะนั้นอย่ากลัวเลยที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนมนุษย์
คำถาม: เวลานั่งสมาธิ ท่าขัดสมาธิ เมื่อนั่งตัวตรงจะเมื่อย นั่งไม่ได้นาน มีวิธีแก้ไขไหม
ตอบ: นั่งตัวตรงจะเมื่อย ก็เพราะตัวตรงแอ่น แข็ง ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นอย่างที่บอก ตัวตรงแต่ว่ามีความสบาย อยู่ในการนั่ง ทีนี้ปวดเมื่อย ขอให้รับรู้ว่าเป็นของธรรมดา ก็มีผู้บอกว่าถ้าปวดเมื่อยนี่ให้ทุบ ทุบตรงขา เวลาปวดเมื่อย ทุบ แต่ไม่ใช่ทุบเอา ทุบเอา ทุบให้มันมีจังหวะ อย่างสบายๆ นี่อย่างนี้ ทุบ นี่ทั้งสองข้างทั้งตรงข้างๆ ขา นี่ทุบให้มีความรู้สึก ค่อยๆ เหยียดเท้าออก ประเดี๋ยวความปวดเมื่อยก็จะค่อยยังชั่ว
คำถาม: เวลานั่งสมาธิรู้สึกเครียด และปวดศีรษะมาก แล้วก็ลำดับเรื่อง ลำดับของเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ จะเข้ามาในสมอง ทำให้ไม่อยากนั่ง เพราะไม่อยากเจอภาพเหล่านั้น
ตอบ: นี่ก็เพราะไม่ทำตามวิธีของการปฏิบัติ คือไม่ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ ปล่อยใจไปอยู่กับเรื่องที่คิด มันถึงได้เครียด มันถึงได้ไม่สบาย เรามาฝึกสมาธิ เพื่อให้จิตหยุดคิด เพื่อตัดกระแสของความคิด ที่มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไหลมาเทมาไหลมาเทมา จนทำให้จิตนี้ไม่สุขสงบ เรามาเพื่อฝึกตัดกระแสความคิดที่ไม่เกิดประโยชน์ ด้วยการเอาจิตผูกเอาไว้กับลมหายใจ ใช้ลมหายใจเป็นหลัก นี่ยังไม่ได้ทำตามนี้ ความเครียดจึงไม่หาย ขอให้ลองทำดูเสียก่อน ทำให้ได้ แล้วจะรู้ว่ามันไม่เครียด ไม่ใช่เครียดก็นั่ง แต่เครียดเพราะคิด และก็ไม่สามารถจะดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจได้ ไม่ให้โอกาสแก่ตัวเอง
คำถาม: การบริโภคต่างๆ ควรเป็นไปอย่างเพียงพอแต่การมีชีวิตอยู่เท่านั้น การกล่าวเช่นนี้ถือว่าเป็นการขัดต่อความเจริญทางโลกหรือไม่
ตอบ: ไม่ขัด แต่ช่วยให้โลกได้มีกินมีใช้ พอเพียงกันอย่างทั่วถึง ใช่ไหมคะ เพราะเป็นการรู้จักแบ่งกันกิน ไม่กินส่วนเกิน จนเกินความพอดี ถ้าหากบริโภคด้วยความพอดีอย่างว่าจริง สาระธรรมต่างๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ คำว่า สาระธรรมนี่ไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร แต่ตัวอย่างบอกว่า เช่น ศาสนสถานต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นจากทรัพยากรธรรมชาติ มีขนาดใหญ่โต หรืออาคารสถานที่ต่างๆ ที่เราถือว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ อันที่จริงถ้าหากว่าสิ่งที่สร้างขึ้น เพื่อจุดประสงค์เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกในประวัติศาสตร์ จะเป็นประวัติศาสตร์ทางโลก ประวัติศาสตร์ทางธรรม อันนั้นเราถือว่ามันเนื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อเป็นอนุสรณ์ในทางประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานเหลนได้รู้เอาไว้ เป็นมรดกอย่างหนึ่งของชาติ อย่างนี้ก็อาจจะอยู่ในกรณียกเว้น แต่ก็ต้องดูอีกแหละว่า ในสถานที่นั้น เมืองนั้น ประเทศนั้น อยู่ในฐานะที่จะสร้างได้หรือเปล่า สร้างแล้วเดือดร้อนไหม ถ้าต้องไปกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศเขามาเพื่อมาสร้างสิ่งเหล่านี้ นั่นย่อมไม่ใช่ความถูกต้อง และไม่ใช่ความพอดี เป็นสิ่งที่เราควรจะประท้วงว่าไม่ควรทำอย่างนั้น ส่วนวัดวาอารามอะไรต่างๆ ที่สร้างจนเกินความพอดี โบสถ์ใหญ่ๆ ศาลาใหญ่ๆ แต่มีพระอยู่สองสามองค์ อย่างนั้นเราก็เรียกว่าเกินความพอดี แต่ก็นี่แหละ ได้เงินมาจากไหน ก็ได้เงินมาจากญาติโยมจากฆราวาส ฉะนั้นเราจึงต้องหันมาทางฝ่ายฆราวาส มาช่วยกันแก้ไขเสียก่อน มาช่วยกันแก้ไขสติปัญญาในการที่จะทำบุญทำทานให้ถูกต้อง ทำแล้วให้เกิดประโยชน์ก็จะเป็นการตัดทอน ไม่ให้การก่อสร้างที่สิ้นเปลืองอย่างสูญเปล่าอย่างนี้เกิดขึ้น ต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายโลก และฝ่ายธรรม
คำถาม: นี่ก็เรื่องบริโภคอุปโภคทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นไปอย่างพอดี และจะเกิดความสุขยืนนาน คำนี้ขัดกับความเจริญในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่
ตอบ: ก็ตอบไปแล้วเมื่อกี้นี้นะคะ แล้วก็ถามว่า เหมือนอย่างเตียงไม้ ตัวข้างหลังนี่ถือว่าบริโภคเกินพอดีไหม นี่ก็เชื่อว่าท่านไม่ได้ไปซื้อมา มีผู้ถวายมาให้ ก็ไม่รู้จะไว้ตรงไหน ก็อยู่ตรงนี้ ก็ดีกว่าเอาไปทิ้งใช่ไหม อย่างน้อยพระท่านก็นั่งได้ ก็อยากจะบอกว่าฆราวาสนี่แหละ จะถวายอะไรพระ จะทำบุญทำทานกับพระ ถ้ารู้สึกว่าท่านมาขอในสิ่งที่เกินความจำเป็น เราไม่จำเป็นจะต้องทำบุญ ไม่เชื่อว่าจะได้สวรรค์เพราะอันนั้น ถ้าหากว่าเราไม่ร่วมมือในทางที่ไม่สมควร ท่านคงไม่มีโอกาสสร้าง เพราะท่านหาเงินไม่ได้ เพราะฉะนั้นวัดกับบ้านนี่ บางทีวัดจะดีก็เพราะบ้าน คือพระจะอยู่ในทำนองคลองธรรมของธรรมะ ก็เพราะชาวบ้านช่วยกันรักษาพระ ช่วยส่งเสริมท่านให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง
คำถาม: พรหมจรรย์ คืออะไร
ตอบ: พรหมจรรย์ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิต ความเป็นพรหมในที่นี้ก็หมายถึง ความที่เป็นผู้อยู่ในพรหมวิหาร พรหมวิหาร คือความเป็นผู้ประกอบอยู่ด้วย ความเมตตา กรุณา แต่การรักษาพรหมจรรย์ ในที่นี้ หมายถึง ความเมตตา กรุณา อันสูงสุด ด้วยจิตที่อยู่กับความว่าง เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ความที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และก็พร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างถูกต้อง นั่นคือการฝึกหัดขัดเกลาจิต การประพฤติพรหมจรรย์ คือการฝึกหัดขัดเกลาจิตให้หลุดพ้นจากกิเลส ให้ล่วงพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง จนเป็นจิตที่เป็นอิสระ ประกอบอยู่ด้วย สติ สมาธิ และภาวนา นี่คือการประพฤติพรหมจรรย์ อย่างที่เรามาฝึกจิตตภาวนา ก็เรียกว่าเป็นเบื้องต้นของการเรียนรู้การปฏิบัติ หรือการประพฤติพรหมจรรย์ แต่ทีนี้เราจะประพฤติได้จริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำได้ต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด
คำถาม: จิตฟุ้ง เหนื่อยอย่างไร หมายความว่าที่พูดว่า จิตฟุ้งเหนื่อยอย่างไร
ตอบ: ก็เมื่อมันฟุ้ง มันคิดไปมาก มันเหนื่อยไหม มันเสียแรงในการคิด เหนื่อยคือเหนื่อยใจ จนรู้สึกเปลี้ยอ่อนแรง นอน ทั้งที่บางทีไม่ได้ทำงานทำการอะไรเลย แต่มันเหนื่อย เพราะคิด คิดไม่หยุด มันคือความเหนื่อยใจ จนมันดูดเอาแรงนี่ไป
คำถาม: การศึกษาธรรมะ คือการกดอารมณ์ ใช่ไหม
ตอบ: ไม่ได้กดอารมณ์ แต่เป็นการที่จะศึกษาเพื่อจะรู้ว่า จะปล่อยอารมณ์ออกไปอย่างไร จึงจะเป็นการปล่อยที่เป็นอิสระ ไม่เกิดโทษทุกข์ คือไม่มีความทุกข์ เกิดขึ้นในขณะนั้น
คำถาม: การรู้การเข้าใจในพระธรรม แต่การทำให้รู้แจ้งจะทำอย่างไร
ตอบ: นี่แหละเรากำลังฝึกปฏิบัติไป ถ้าเราฝึกปฏิบัติผ่านขั้น สมถะภาวนา ไปถึง วิปัสสนาภาวนา ทำได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเกิดการรู้แจ้งในธรรม
คำถาม: การหาสาเหตุของทุกข์ คือต้นเหตุแห่งทุกข์ ทำได้ยาก เพราะยังมีกิเลส มีอัตตาอยู่ ทำอย่างไรจึงจะหาได้
ตอบ: เราจะพูดกันต่อไป
คำถาม: การไม่ยึดถือตัวเราของเรานั้น ถ้าจะนัดพบเพื่อนเก่าเป็นประจำทุกสองเดือน ถือว่าเป็นการขัดกันหรือไม่
ตอบ: ก็ไม่ขัด เพราะเรายังอยู่ในโลก เพียงแต่ในการที่ไปพบเพื่อนเก่านั้น อย่าเอาตัวตนของเราออกไปพบนัก คือไปพบตามธรรมเนียมที่ควรจะเป็น จะควรพูด ควรปรึกษาอะไรกัน ก็พูดจาปรึกษา แต่ระมัดระวังจิต อย่าให้จิตมันขึ้นลงหรือโลดเต้นไปกับการพบปะ ถ้าอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นธรรมะ ไม่ได้หมายความว่า มาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องขาดการสมาคม ยังคงสมาคมได้ ไปเที่ยวได้ ดูหนังดูละครได้ ไปปาร์ตี้ต่างๆ ได้ แต่จิตนี่มันจะมีสติ รู้อยู่ว่า ควรทำอะไรอย่างใดแค่ไหน จึงจะเหมาะจะงาม
คำถาม: การปฏิบัติธรรม คือการฝึกจิตเงียบ เมื่อออกไปอยู่ในสังคม ก็ควรพูดน้อยๆ มีเพื่อนน้อยๆ ใช่ไหม
ตอบ: ไม่ใช่ ถ้าจำเป็นจะต้องพูดมาก เช่น สมมติว่าไปเป็นครูบาอาจารย์เขา ก็ต้องพูดละ ไม่พูดไม่ได้ ก็พูด พูดตามหน้าที่ของผู้เป็นครู แต่พูดให้มันถูกต้อง ถ้าจะสอนจะให้วิชาความรู้ ก็ให้วิชาความรู้ที่ถูกต้องแก่ลูกศิษย์ จะต้องอบรมลูกศิษย์ ให้อยู่ในแนวทางการประพฤติที่ถูกต้องอย่างไร ก็ทำให้ถูกต้องตามนั้น ก็พูด พูดจบแล้วก็จบ ไม่ใช่ว่าไม่พูด แต่ก็พูดอย่างถูกต้อง พูดตามความจำเป็น พูดตามสิ่งที่จะมี เพื่อนก็มีได้ แต่ให้รู้จักคบเพื่อน คบเพื่อนที่จะเป็นกัลยาณมิตร จะได้ส่งเสริมชีวิตให้อยู่ในความถูกต้องยิ่งขึ้น
คำถาม: ถ้าแม่เรา พ่อเรา เพื่อนเรา ประสบเคราะห์ร้าย ไม่ควรเสียใจใช่ไหม
ตอบ: ไม่ควรเสียใจ ไม่ควรร้องไห้ แต่ควรที่จะช่วยเหลือ ในกรณีที่เขาประสบเคราะห์กรรม อย่างนั้นให้เต็มสติกำลังของเรา ช่วยด้วยแรงกาย แรงใจ ปลอบประโลมใจ ชี้แนะเขา อย่าให้เขาต้องตกอยู่ในความทุกข์ จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่มีหลัก ไม่มีหลักใจ จนจะสลบไสล มีทรัพย์สินเงินทองจะช่วยเหลืออย่างไร ช่วย ช่วยให้เต็มที่ นี่คือเพื่อนผู้เป็นกัลยาณมิตร ผู้อยู่ในหนทางธรรม ที่ท่านบอกว่าไม่ต้องเสียใจใช่ไหม ก็เพราะเหตุว่า พอเสียใจเข้าแล้วนี่ มันจะหมดกำลังใจ ทำอะไรไม่ถูก เคยเห็นใช่ไหมคะ อย่างที่พ่อแม่เกิดลูกตายกะทันหัน หรือลูกพ่อแม่ตายกะทันหัน เสียใจจนตัวเองสลบไป คนหนึ่งก็ตายไปแล้ว อีกคนหนึ่งก็ต้องไปเข้าโรงพยาบาลซ้ำด้วย เพราะว่าเป็นลม ต้องไปรักษาตัว ก็เลยไม่มีใครได้มาช่วยเหลือกันจัดงานจัดการให้มันเรียบร้อยใช่ไหมคะ นี่ที่ท่านสอนว่า อย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ ก็เพื่อไม่ให้เสียหลักของใจ ใจนี้จะได้มั่นคงอยู่ สติปัญญาก็ยังใสแจ๋ว แล้วก็จะสามารถคิดได้ว่าในกรณีอย่างนี้ควรจัดอย่างไร เรื่องมันจึงจะเป็นไปได้โดยเรียบร้อย ประโยชน์ตรงนี้ค่ะ แต่ไม่ใช่ให้ทอดทิ้ง
รู้สึกคำถามที่ให้มาหมดแค่นี้ มีคำถามอะไรอื่นอีกไหมคะ
คำถาม: ทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เหตุใดบางสิ่งบางอย่าง ยังคงต้องทำตามกติกาของสังคม
ตอบ: การละวางทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่ต้องละวางด้วยสติปัญญา คำว่าละวางในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่เอาเรื่อง หรือไม่เกี่ยวข้อง ละวางในทางธรรมนี่ หมายความว่าไม่เอามาแบก เป็นภาระหนักอยู่ในใจ นั่งก็คิดถึงมัน นอนก็คิดถึงมัน จนทำให้ไม่สามารถจะทำกิจการอื่นที่ควรจะทำได้ นี่คือการละวาง แต่ไม่ใช่ไปทอดทิ้ง ไม่เอาใจใส่ เหมือนอย่างเป็นต้นว่า เราเรียนหนังสือ เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เราก็ไม่เอาการศึกษามาแบกเอาไว้ นั่นก็คือ ไม่เอามันมาคิดหมกหมุ่น จนกระทั่งเสียสุขภาพ ไม่สามารถที่จะบริหารกาย หรือว่าหาความเพลิดเพลินบ้างในบางครั้ง เรียกว่าจนกระทั่งจัดเวลาไม่ถูกต้อง นั่นเรียกว่า เรียนศึกษาอย่างยึดมั่นถือมั่น พอเราละวางมัน ละวางการศึกษา นั่นก็คือว่า เรายังคงเรียน ยังฟังเลกเชอร์ (Lecture) ยังดูหนังสือ ยังทำแบบฝึกหัด แล้วก็ฝึกฝนอบรมตน ในเรื่องการเรียนอย่างเต็มที่ แต่ทำอย่างเต็มที่ สุดกำลังความสามารถ แล้วก็ไม่เอามากังวลว่า จะสอบได้เกียรตินิยมไหม เราจะล้าหลังเพื่อนไหม ไม่เอามาเป็นทุกข์เป็นร้อน นั่นคือการละวาง แล้วพอเราละวางอย่างนี้ จิตก็ไม่หนัก ไม่ได้มาแบกไว้เป็นภาระ จิตก็มีความสบาย มีกำลังที่จะทำการเรียน การศึกษานั้นให้ดียิ่งขึ้น ได้ผลยิ่งขึ้น นี่คือการละวางในทางธรรม เข้าใจให้ถูกต้องนะคะ ยังคงทำอยู่ ไม่ได้ทิ้ง การละวางในทางธรรม ไม่ได้ทิ้ง ยังคงเรียน ยังคงศึกษาต่อไปอย่างดีที่สุด อย่างเต็มฝีมือความสามารถ แต่ไม่แบก ไม่ลากมันไป ไปถึงที่ไหนก็พูดอยู่แต่เรื่องนี้เรื่องเดียว จนเป็นที่น่ารำคาญของคนอื่นเขา พออ้าปาก มาอีกแล้ว มีแต่เรื่องจะได้เกียรตินิยมไหม จะได้เกียรตินิยมไหมอยู่เรื่องเดียวนั่นเอง นี่เรียกว่าเรียนหนังสืออย่างแบกเอาไว้เป็นภาระด้วยความยึดมั่น ฉะนั้นละวางไม่ใช่ทิ้ง แต่ไม่เอามาแบกเอาไว้ ให้มันหนักหัวใจจนเป็นภาระ แต่คงเล่าเรียนเต็มฝีมือความสามารถ นี่คือละวางในทางธรรม แล้วก็มีความหมายเช่นเดียวกับ เมื่อเกี่ยวข้องกับ สิ่งอื่นๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน หรือวัตถุสิ่งของ
ทีนี้ที่บอกว่า เมื่อละวางแล้วเหตุใด บางสิ่งบางอย่างยังคงต้องทำตามกฎกติกา กฎกติกาของสังคม อันนี้มันเป็นเรื่องของ กติกาของสังคม เมื่อเรายังอยู่ร่วมกัน แล้วก็คนในสังคมนี้ก็แตกต่างกันใช่ไหมคะ ธรรมชาติบางคนเอาเปรียบ บางคนเห็นแก่ตัว บางคนกระด้างหยาบ บางคนชอบช่วยเหลือคนอื่น พร้อมที่จะให้ มันมีหลายอย่าง คนไม่เหมือนกัน ทีนี้ถ้าไม่มีกติกาของสังคม มันก็ตีกันแย่เลย ทั้งๆ ที่มีกติกาแล้วเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ค่อยจะทำตามกติกา ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีกเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นการมีกติกาก็เป็นเพียง เพื่อที่จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข ในเมื่อระดับของจิตใจของคนในสังคมยังไม่ได้พัฒนาอยู่ในระดับเดียวกัน หมายความว่าอย่างนี้ เราจึงต้องมีกติกา มีกฎหมาย มีระเบียบ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันนั้นเป็นไปด้วยความราบเรียบยิ่งขึ้น ทีนี้ถ้าสมมติว่าเราเป็นผู้ที่ประพฤติธรรมมีธรรม เราจะไม่รู้สึกเดือดร้อนกับกฎกติกาต่างๆ เลย เพราะว่าความมีธรรมะอยู่ในใจ การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องนั้น ย่อมไม่เป็นการล่วงล้ำหรือล่วงเกินกติกา หรือว่ากฎระเบียบอันใดทั้งสิ้น
คำถาม: การทำอานาปานสติภาวนา โดยนั่งสมาธิ และการกำหนดลมหายใจ กับทุกอิริยาบถ ต่างกันหรือไม่
ตอบ: ก็ไม่ต่างกันค่ะ การกำหนดลมหายใจ รู้ลมหายใจทุกอิริยาบถ ก็คือการทำอานาปานสติภาวนา
คำถาม: การยึดมั่นถือมั่นไม่ควรทำ แต่มีบางสังคมอ้างยึดมั่นถือมั่นในศีลธรรมจรรยาอันดี และความประพฤติเขาก็ดีจริง อย่างนี้ผิดไหม
ตอบ: ก็ไม่ผิด ถ้าเขาไม่ทุกข์ เพราะความยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าเขาประพฤติดีแล้วเขาก็ยึดมั่นในความประพฤติดีของเขา แล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วคอยจับผิดคนอื่น นั่นนะ คนนั้นไม่ดี ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ได้ สู้ฉันไม่ได้ อย่างนี้ก็เรียกว่า ยังไม่ดีจริง เพราะว่ายังชอบเปรียบเทียบ แบ่งแยก แล้วก็ตัดสินคนอื่น แล้วถ้าไม่มีใครเขารับรองคำตัดสินนั้น ตัวเองก็เป็นทุกข์ ตัวเองก็ไม่มีความสุขเลย อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ธรรมะจริง ก็ต้องแก้ไขต่อไป
คำถาม: วิธีการศึกษาในปัจจุบัน ที่เป็นความสำเร็จ เราจะปรับเปลี่ยนเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นการรอดทางกาย ใจ สติ ปัญญา สามารถทำได้โดยวิธีใด อย่างไร
ตอบ: ก็อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ ในขณะนี้ในฐานะที่เราเป็นเพียงปัจเจกบุคคล คือคนๆ หนึ่ง เรายังไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้บริหาร เรายังไปจัดการกับระบบอะไรไม่ได้ เราก็มาปรับของเราเอง อย่างที่ว่าแล้วเมื่อวานนี้ ปรับจุดหมายของการศึกษา แนวทางของการศึกษาที่เรากำลังกระทำอยู่ ให้ไปสู่จุดหมายของการที่จะพัฒนากายให้รอด จิตให้รอด วิญญาณ คือสติปัญญาให้รอด อยู่ในหนทางของความถูกต้อง แล้วก็ใช้ความรู้วิชาการที่เราได้เล่าเรียนจากมหาวิทยาลัยนี่แหละ มาเป็นส่วนประกอบ ในการที่จะประกอบอาชีพ หรือการกระทำ การดำรงตนในชีวิต ประกอบกับ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เราได้สั่งสม ฝึกฝนอบรมแล้ว เอามาประกอบกัน จนต่อเมื่อเผอิญใครที่อยู่ในที่นี้ ไปมีโอกาสเป็นผู้บริหารการศึกษา อยู่ในกระทรวง อยู่ในทบวง แล้วก็เห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรจะใส่เข้ามาเป็นเป้าหมายของการศึกษา ถ้าทำได้ ทำเลยทันที นั่นจะเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้เราสามารถช่วยสร้างพลเมือง เพื่อเป็นกำลังที่แท้จริง ที่ถูกต้องของสังคม
คำถาม: จากรายการหนึ่งเก้าเก้าสอง เครียดชะมัด จะขจัดได้อย่างไร มีวิทยากรท่านหนึ่งกล่าวว่า ตัวเรามีอยู่สามลักษณะ สังคมมองเรา อย่างไร ตัวเรามองตัวเราอย่างไร และก็ตัวเราที่แท้จริงเป็นอย่างไร ยังไม่เข้าใจความหมาย เราจะรู้จักตัวเราที่แท้จริงได้อย่างไร
ตอบ: นี่แหละ การที่เรามาฝึกจิตตภาวนานี่แหละ เรากำลังมาฝึกการที่จะรู้จักตัวเราที่แท้จริง ก็คือรู้จักจิตที่แท้จริงของเราว่ามันเป็นอย่างไร ที่สังคมมองเราอย่างไร ในฐานะนิสิตนักศึกษา สังคมมองอย่างไร สังคมมองนิสิตนักศึกษาว่าเป็นปัญญาชน เป็นผู้ที่เมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว จะเป็นกำลังของชาติประเทศ จะเป็นผู้ที่มีโอกาสไปนั่งอยู่ในจุดสำคัญๆ ของการบริหารประเทศ ในกระทรวงทบวงกรม หรือในวงการธุรกิจการเมือง ก็หวังว่าจะเป็นกำลังที่จะนำประเทศชาติ นำสังคมไปสู่ความรอด สู่ความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง นี่สังคมมองสังคมหวัง ทีนี้ตัวเรามองตัวเราอย่างไร เรามองตัวเราอย่างที่สังคมมองเราไหม นี่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ หรือวิญญาณของแต่ละคน ที่ได้ฝึกฝนอบรมมาเฉพาะตัว เรามองตัวเราอย่างไร หรือเราบอกว่าสังคมมองเราอย่างนั้นหวังมากเกินไป เรามองตัวเราว่าตัวเราเล็กแค่นี้ เราทำได้แค่นี้ ในส่วนที่เราทำ การที่เรามองว่าเราทำได้แค่นี้ บางทีอาจจะเป็นการมองอย่างถ่อมตัวก็ได้ มองอย่างชนิดที่ว่ามันไม่เป็นจริงอย่างที่เราจะเป็นก็ได้ คือเราอาจจะเป็นได้มากกว่านั้นก็ได้ หรือบางคนอาจจะมองตัวเราว่า เรานี่เป็นจีเนียส (Genius) เป็นจีเนียส เป็นหัวกะทิ เพราะฉะนั้นพอออกไปนี่ เราจะทำอะไรอะไรได้อีกตั้งหลายอย่าง เรานี่จะเป็น Great Leader ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ และก็มองว่าเราจะต้องเป็นอย่างนั้น พอออกไปแล้ว เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราก็ฟุบ แฟบ เสียใจเจ็บปวดขมขื่น นี่ก็อยู่ที่เรามองตัวเราอย่างไร แล้วแต่ว่าเราจะรู้สึกว่าอัตตาเราโตหรืออัตตาเราเล็ก ถ้าอัตตาเล็ก เราก็มองอย่างอย่างถ่อมตัวเรียกว่า Underestimate (การประเมินค่าต่ำเกินไป) ถ้ารู้สึกว่าอัตตาโตก็มองอย่าง อย่างใหญ่ บางทีปน ความยโสโอหัง Overestimate (การประเมินค่าสูงเกินไป) มันแล้วแต่ว่าเราจะมองอย่างไร แต่ตัวเราจริงๆ เป็นอย่างไร นี่จากการที่เรามาฝึกปฏิบัติจิตตภาวนา ที่เราจะคิดค้น ในหมวดที่สาม คือหมวดจิตตานุปัสสนาภาวนา อย่างที่พูดเมื่อเช้า นี่แหละคือวิธีที่เราจะมาศึกษาเพื่อรู้จักตัวเราเองแท้ๆ คือจิตแท้ๆ มันมีธรรมชาติลักษณะอย่างไร ฉะนั้นการที่สังคมมองก็ดี หรือเรามองโดยประมวลเอาจากประสบการณ์ก็ดี ยังล้วนแล้วแต่…