แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนอื่นก็ขออนุโมทนาด้วยกันทุกคน ๆ นะคะ ที่เราจะมาฟังการพูดคุยกันในวันนี้ ที่คิดว่าเราควรจะได้พบกัน ในความรู้สึกก็เห็นว่าเราอยู่ร่วมกันในวัดนี้ก็มานานพอสมควร แต่ว่าเหมือนกับต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด แล้วก็ต่างคนต่างปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ก็แล้วแต่ใจอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าถ้าเราได้มาพูดมาคุยร่วมกัน คงจะเป็นกำลังใจแก่กันและกัน ในขณะเดียวกันก็เหมือนกับเป็นการเตือนสติซึ่งกันและกันไปในตัวอีกด้วย ว่าการที่เราเข้ามาอยู่วัดนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงมาอยู่วัด แต่ว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น มากกว่าการมาอยู่วัด ทีนี้ถ้าหากว่าเราคิดว่าเรามาอยู่วัดเฉย ๆ บางทีเราก็ลืมไปว่า หน้าที่ต่อตนเองในฐานะผู้อยู่วัดนั้นควรจะเป็นอย่างไร ก็นึกว่าถ้าเราได้พูดคุยกันก็คงจะได้ในการเตือนสติกัน ในการให้กำลังใจแก่กันและกัน และในขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย จะรู้มากรู้น้อยไม่สำคัญ แต่ว่าเราแลกเปลี่ยนทั้งในการศึกษาและทั้งในการปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ก็มีความรู้สึกว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้ามีกัลยาณมิตรมันเป็นสิ่งประเสริฐ หมายความว่าเราเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ไม่ใช่ใครจะมาเป็นกัลยาณมิตร ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต่างคนต่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก็จะมีความหวังดี ปรารถนาดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกกรณีเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี่เป็นตอนที่เริ่มเข้าพรรษา ก็จะได้มาช่วยกันนึกว่าในพรรษานี้เราจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตของเรา ในฐานะที่เรามาอยู่วัดเพื่อเข้าพรรษา ก็ต้องช่วยกันคิดนะคะว่าเราควรจะทำอย่างไร ทีนี้ส่วนเวลาที่เรานัดว่าอาทิตย์ละสองครั้ง วันอังคาร วันเสาร์ บ่ายห้าโมงเย็น และอาจจะพูดกันไปเรื่อย ๆ จนถึงหกโมง หรืออะไรนี่ แล้วแต่ความสนใจของเราแต่ละคน ซึ่งไม่ตายตัวนะคะ ที่บอกว่าไม่ตายตัวก็หมายความว่า ให้ช่วยลองพิจารณาว่าพอใจช่วงเวลาอย่างนี้ไหม และอาทิตย์ละสองวันมากไปไหม ให้บอกนะคะ ไม่ต้องเกรงใจเลย ไม่มากนะคะ ถ้าไม่มากเราก็อยู่ด้วยกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ นะคะ นี่ก็เป็นจุดประสงค์ที่คิดว่าที่เราพบกัน ฉะนั้นเวลาที่เราจะใช้ในระหว่างตั้งแต่ห้าโมงเย็นไปนี่ ก็คงจะได้สนทนาพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ถึงเรื่องของการศึกษาธรรมะ แล้วก็การปฏิบัติธรรมะ หลังจากนั้นแล้วเราก็คงใช้เวลานั่งดูจิตหรือนั่งสงบ แล้วก็ดูจิตสำรวจใจของเรา ก็ขอเสนอว่าเราจะดูจิตสำรวจใจในเรื่องอะไร
ข้อแรกก็น่าจะถามตัวเราเองว่า เรามาปฏิบัติธรรมทำไม มาปฏิบัติธรรมทำไม เราไม่ได้มาอยู่วัดเฉย ๆ เรามาปฏิบัติธรรมทำไม เรามีคำตอบให้แก่ตัวเองไหมที่มาปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ทราบไหมว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร ที่เราพูดกันจนติดปากเรื่องการปฏิบัติธรรม แต่แท้จริงนั้นความหมายของการปฏิบัติธรรมคืออะไร นอกจากนี้อุปสรรคของการปฏิบัติธรรมในส่วนตัวของเรานั้นมีอะไรบ้าง ก็คงมีด้วยกันทุกคนนะคะ แต่ว่าอาจจะเหมือนกันหรืออาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างเล็กน้อย มีมากบ้าง มีน้อยบ้าง ฉะนั้นเวลาที่เราจะนั่งสงบใจเพื่อสำรวจจิตสำรวจใจของเราเองนั้น ก็เพื่อที่จะดูว่าจริง ๆ แล้วทำไมเราถึงปฏิบัติธรรมยังไม่ลึกซึ้ง หรือลึกซึ้งแล้วยังไม่เพียงพอ คือมันยังไม่ถึงคือความอิ่มใจ ความพอใจ อะไรที่เป็นอุปสรรคเราต้องคิดค้นขึ้นมา ถ้าไม่คิดค้นหาอุปสรรค มันก็จะขวางอยู่อย่างนั้น จะทำให้ไม่สามารถเดินก้าวหน้าไปได้อย่างเร็วเท่าที่สมควรจะเป็น นอกจากนี้ก็เนื่องจากเกี่ยวกับเข้าพรรษานี่นะคะ ก็เลยอยากจะให้ลองนั่งช่วยกันคิดอีกว่า แล้วทำอย่างไรถึงจะให้พรรษานี้เป็นพรรษาที่มีอานิสงส์มาก ชวนให้เราเกิดความประทับใจ ประทับใจและก็จับใจในความเป็นอยู่ในพรรษานี้ จนเกิดเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่จิตที่จะเดินต่อไปในหนทางธรรม มีความมั่นคง มีความเจริญงอกงามในทางธรรมต่อไป เราจะไม่คิดว่าพรรษานี้เป็นแต่เพียงพรรษาของฤดูฝนที่ท่านให้พักผ่อน เพื่อที่จะอยู่กับที่ ไม่เดินทางไกล เหมือนอย่างในสมัยพุทธกาลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขอร้องให้พระสงฆ์ทั้งหลายอยู่กับที่ เพราะเป็นฤดูฝนเดินทางลำบากอย่างหนึ่ง แล้วก็ยังอาจจะไปเป็นความเสียหายแก่ไร่นาของบรรดาชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ฉะนั้นเราก็จะมาช่วยกันคิดในสิ่งเหล่านี้นะคะ แต่ละคนก็ต่างคนต่างคิด แล้วก็มาพูดกันมาบอกกันว่า เราจะมีอะไร จะทำอย่างไร
ทีนี้ในการที่จะทำให้พรรษานี้ประทับใจนั้น ก็นึกถึงที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เคยปฏิบัติมา ก็ว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี่ที่ท่านได้มาเป็นครูบาอาจารย์ และก็สั่งสอนบรรดาศิษย์และพวกเราทั้งหลายนั้น ท่านได้มีการประพฤติปฏิบัติอย่างไร ท่านจึงมีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงในทางธรรม เท่าที่ได้ยินได้ฟังมา ก็รู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุดของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น คือการตั้งสัจจะ สัจจะก็คือมีความจริงใจ มีความซื่อสัตย์ มีความซื่อตรงต่อตนเองในการปฏิบัติ และเพื่อให้การรักษาสัจจะนั้นเป็นไปได้ ท่านก็จะมีการอธิษฐานจิต คงเข้าใจนะคะ อธิษฐานจิตก็คือตั้งใจเอาไว้ว่าเราจะทำอย่างไร จะอธิษฐานเพื่อจะทำอย่างไร เพื่อที่จะให้การปฏิบัติของเราที่ตั้งใจเอาไว้นั้นเป็นไปได้ แล้วก็สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ ฉะนั้นนี่ก็เป็นสิ่งที่เราคงจะพูดกันในวันนี้ ถ้ามีเวลาพอนะคะ แล้วก็จะขอให้ทุก ๆ ท่านลองคิดดูว่าพรรษานี้เราจะตั้งสัจจะและจะอธิษฐานจิตในเรื่องอะไร เพื่อความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมในส่วนแห่งตน
นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ปฏิบัติทุกคน ก็คือการที่จะรักษาความสงบของจิตใจ ทั้งในขณะที่จะนั่งทำสมาธิ แล้วก็ในขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทำไมมันถึงวุ่นวาย ทำไมมันถึงสับสน ทำไมจิตจึงสงบไม่ได้ นี่คือสิ่งที่นึกไว้ในใจว่า ถ้ามีโอกาสสามารถคุยกันได้ในวันนี้ทั้งหมด เราก็จะได้คุยกันในเรื่องนี้ ถ้าไม่หมด เราก็จะคุยกันเท่าที่เวลามีนะคะ มีท่านผู้ใดจะเสนออะไรเพิ่มอีกไหมคะ ว่าเราควรจะทำอะไรกันในชั่วโมงที่เรามาพบกันนี่ เชิญได้นะคะ เชิญได้ค่ะ คืออยากจะเพิ่มเติมที่ได้พูดไปแล้ว เพิ่มเติมได้ว่าอยากจะมีอะไร มีไหมคะ ไม่ต้องเกรงใจนะ แล้วก็นึกเสียว่าเราเป็นกันเอง พี่น้องกัน ไม่ใช่คนอื่น พี่น้องในการปฏิบัติธรรม อ๊อฟมีไหม ยังไม่มีเหรอ จะฟังไปก่อนใช่ไหมคะ ทีนี้ก็ถ้าอย่างนั้นจุดประสงค์ที่เราจะมาพบกัน ว่าส่งเสริมกำลังใจกัน เตือนสติกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน แล้วก็มาคิดดูว่าจะทำพรรษานี้อย่างไรจึงจะเป็นพรรษาพิเศษ เป็นแบบพิเศษสุดสำหรับเราในชีวิตนะคะ ก็ค่อย ๆ พูดกันไป นี่เป็นจุดประสงค์ ทีนี้อันแรกก่อนอื่น ก็ลองนั่งเงียบ ๆ สบายๆ สักห้านาที เป็นอย่างไรคะ ถ้าน้อยไปก็ค่อยเพิ่ม ท่านผู้ใดจะใช้จิตเป็นสมาธิด้วยวิธีไหนตามที่เคย ก็โปรดใช้ แต่อย่าสงบเฉย ๆ พอสงบแล้ว ลองตั้งคำถามตัวเองเชียว เรามาปฏิบัติธรรมทำไม การปฏิบัติธรรมคืออะไร ทราบแล้วหรือยัง ทราบแน่แท้แก่ใจหรือยัง ว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร
พอจะได้ไหมคะ มาปฏิบัติธรรมทำไม จะเล่าให้เพื่อนฝูงฟังไหมคะ ถ้าเล่าก็เชิญเลยค่ะ คุณวิไลวรรณก็เป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง แต่เผอิญยังมีภารกิจในส่วนตัวที่ยังไม่สามารถจะปลดปล่อยได้ ฉะนั้นการที่จะทุ่มเทเวลามาก็ยังต้องคอยไป แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง เท่าที่ได้สังเกต ฉะนั้นก็เชื่อว่าวันหนึ่งก็คงจะได้มีโอกาสที่จะปฏิบัติได้อย่างจริงจัง ท่านผู้อื่นล่ะคะ ถ้าอย่างนั้นคนที่อยู่บ้าน มีงานหรือต้องเรียนตลอดเวลาจะไม่มีหนทางปฏิบัติธรรมเลยหรืออย่างไร ถ้าหนูมาก็คงจะได้ฟังว่าเราจะคุยกันว่าอย่างไร แล้วเสียใจไหมที่มานี่ (มีเสียงลูกศิษย์พูด จับคำไม่ชัด) กำหนดจะไปเมื่อไหร่
ความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์ที่พูดตรง ๆ ที่บอกว่าไม่ได้เต็มใจจะมาเลย แต่ว่าฝืนใจตัวเองมาเพราะคุณแม่ชวนให้มา แล้วก็ที่ไม่ได้มานี่ก็เพราะว่าคิดถึงเพื่อน ติดเพื่อน ติดเล่น นี่เขาเรียกว่าความซื่อสัตย์ ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะก้าวหน้าต้องมีความซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อพระธรรม นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญเชียว ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติธรรมท่านใดไม่มีความซื่อตรงต่อตัวเอง ไม่มีความซื่อสัตย์ คอยหลอกตัวเองอยู่เรื่อย ถึงแม้ข้างนอกจะมองดูเหมือนกับว่าก้าวหน้า แต่ว่าก็จะรู้ตัวเองแหละว่าข้างในนั้นก็ยังคงถอยหน้าถอยหลังอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์นี่สำคัญมาก แล้วก็การที่ว่าหนูไปนี่จะไปพบอะไรนะข้างหน้า นอกจากจะรู้ว่าเราควรจะได้รับรู้อะไร เพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตที่โน่นเมื่อเวลาเกิดปัญหา ก็ควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องพระธรรมหรือพุทธศาสนา แน่นอนเลยต้องฝึกเพื่อนฝรั่ง อันนี้ควรจะต้อง ก็คงจะต้องหาหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาอ่านเอาไว้ แม่บ้านของคุณไกรสีห์มีไหม ไม่มีหรือคะ ก็เป็นอันว่าเราก็ได้ทราบจุดมุ่งหมายของแต่ละท่านซึ่งก็มีระดับต่าง ๆ กันตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เหตุปัจจัยก็เนื่องจากว่าเกี่ยวกับเวลาบ้าง เกี่ยวกับประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมที่มีมากบ้าง น้อยบ้าง หรือบางทีก็มีความรู้สึกว่าต้องการสิ่งแรกก่อน คือความสงบ ความสบาย แต่จะเป็นระดับไหนก็ตามเถอะ เมื่อเริ่มต้นแล้วคิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี แล้วก็จะเป็นหนทางสว่างที่จะเดินต่อไปทุกคนนะคะ
ทีนี้ถ้าเราจะมาพูดกันถึงว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร สรุปกันอีกสักครั้งหนึ่ง การปฏิบัติธรรม ธรรมะนี่ก็คือสิ่งที่จะช่วยทรงตัวผู้ปฏิบัติทุกคนให้ดำรงอยู่ในความเป็นปกติได้ เข้าใจไหมคะ ความปกติคืออย่างไร ความปกตินั้นก็คือความสงบเย็น ความสงบเย็นที่บังเกิดขึ้นในใจ นี่คือความปกติ สงบเย็นทั้งกาย วาจา ใจ อย่างที่ผู้ที่ได้กล่าวถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเวลาที่เขาติดตามพระองค์ไป เพื่อที่จะขอประทานพระพุทธโอวาท เป็นเวลาที่พระองค์กำลังเสด็จออกทรงบาตร เขาก็ต้องยังไม่กล้าเข้าไป เขาก็ชะลออยู่ คอยเฝ้ามองดูพระพุทธลักษณะทุกอย่างทุกประการ แล้วเขาก็พรรณนาว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดสิ่งแรกที่มองเห็นก็คือ ความสงบที่ปรากฏออกมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกมาจากไหน เรียกว่าออกมาจากพระสรีระของพระองค์ ตั้งแต่พระเศียรจนจรดพระบาท บางคนเขาบอกว่าแม้แต่ข้อนิ้วพระหัตถ์ของพระองค์ที่กำลังทรงอุ้มบาตรอยู่นั้น ก็มีความสงบ แสดงถึงความสงบให้เห็น ซึ่งความสงบอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ ก็แน่นอนออกมาจากพระทัยของพระองค์ เพราะฉะนั้นความสงบที่เราอยากจะกระทำให้บังเกิดมี หรือธรรมะนี้ คือการดำรงทรงตัวผู้ปฏิบัติให้อยู่ในความเป็นปกติได้ นั่นก็คือสามารถที่จะดำรงรักษาความสงบเย็นปรากฏขึ้นภายใน แล้วก็สะท้อนออกมาข้างนอก หรือจะเรียกว่าเรืองแสงออกมาข้างนอก จนกระทั่งผู้อยู่ใกล้จะสัมผัสได้
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ก็คือการที่จะมาหาวิธีการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเรา ว่าจะประพฤติปฏิบัติด้วยวิธีใด อย่างใด จิตใจจึงจะมีความสงบเย็น สงบเย็นจากการรบกวนของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มันผ่านมาอยู่เสมอ ๆ ทำอย่างไรถึงจะสามารถจัดจิตใจนั้นให้มีความสงบเย็นจากกิเลสได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมคืออะไร ก็คือ ก็เหมือนอย่างหลายท่านได้พูดแล้ว สรุปลงสั้น ๆ ก็คือ การมาฝึกอบรมเพื่อขูด ขัด กิเลสที่มันดองอยู่ในจิตใจมานมนาน อย่างที่คุณสุใช้คำว่าสันดานนั่นแหละ ซึ่งไม่ใช่คำหยาบ สันดานนี่เป็นคำไทย ที่เขาแสดงถึงธรรมชาติแท้ ๆ ลึกล้ำที่มันอยู่ในจิตใจของมนุษย์ มาขูดมาขัดมัน ทำไมถึงต้องขูดขัด เพราะมันซ่อนอยู่ ซ่อนอยู่ลึก นอกจากนั้นผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ค่อยอยากมอง ไม่ค่อยอยากดูสิ่งที่เป็นกิเลส โลภ โกรธ หลง ที่ซ่อนอยู่ในใจ ทำไมถึงไม่อยากดู กลัวที่จะไปพบสิ่งที่เรารู้สึกละอาย แต่ไม่อยากจะแสดงว่าเรามีสิ่งนี้ อยากจะเก็บซ่อนเอาไว้ เพราะการเก็บซ่อนเอาไว้นี่แหละ จึงทำให้ไม่สามารถรักษาความเป็นปกติแห่งกาย วาจา ใจ ได้ในบางครั้งบางคราว อย่างที่คงทราบแล้วนะคะ
ฉะนั้นเมื่อจะมาฝึกการปฏิบัติธรรม จึงตั้งใจทำอย่างเดียว ค้นหาในจิตนี้ยังมีความโลภอะไรแฝงอยู่บ้าง มีความโกรธมากน้อยเท่าใดแฝงอยู่บ้าง มีความหลงมัวเมาทั้งหลายเหล่านี้นี่ มันเหนียวแน่นแค่ไหนที่มันยังแฝงอยู่ จะต้องพยายามคิดค้น ทีนี้การคิดค้นนี่จะรู้จักมันได้อย่างไร เช่น จะรู้จักความโลภได้อย่างไร ก็โปรดนึกถึงใจของเรา พออาการเกิดความโลภขึ้นนี่ ใจเกิดความโลภขึ้น มันมีอาการอย่างไร พอใจเกิดความโลภมีอาการอย่างไร อยากได้หรือไม่อยากได้ โลภนี่อยากได้หรือไม่อยากได้ โลภนี่อยากจะดึงเข้ามา โกรธ โกรธนี่ สิ่งที่ทำให้เราโกรธนี่เราอยากจะดึงเข้ามาไหม ดึงเข้ามาเป็นของเราเหมือนอย่างโลภไหมคะ ไม่อยาก อยากจะทำไมตรงกันข้าม ตรงกันข้ามอยากจะทำอะไร ผลักมันออกไป ที่พูดอย่างนี้เพื่อจะเสนอแนะให้ดูในใจของเรา ว่าขณะนี้กำลังโลภหรือกำลังโกรธหรือเปล่า ก็ดูว่ามีอาการอยากจะดึงเข้ามาเป็นของฉัน เอามา ๆ ๆ โอ้ โลภแล้วนะ ถ้ามีสติทันก็รีบเตือนตัวเอง โอ้ โลภแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นโลภวัตถุสิ่งของ หรือโลภสิ่งที่เป็นนามธรรม คือมองไม่เห็นแต่เราพูดถึง เรารัก เราอยากได้ เช่น ความมีหน้ามีตา ความมีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี มีอะไรต่ออะไรต่าง ๆ ซึ่งมันไม่ได้เป็นตัวให้มองเห็น แต่โลภอย่างนี้มันลึกซึ้งนะ แย่งชิงกัน อิจฉากัน น่ากลัวมากเลย นี่คืออาการของความโลภ ลองนึกดูสิเคยเป็นไหม ฉันอยากเป็นที่หนึ่ง ฉันเป็นที่สองไม่ได้ เคยเป็นไหม ฉันจะต้องยืนข้างหน้า ฉันยืนข้างหลังไม่ได้ ถ้าฉันยืนข้างหลังแสดงว่าฉันด้อยกว่าเขา เป็นไหม ถ้าเห็นใครมายืนข้างหน้าล่ะ อื้อฮือ ฉึกฉัก ๆ อยู่ข้างใน แทบอยากจะผลักคนข้างหน้าให้กระเด็นไปเลย นี่คืออาการของความโลภ มันตรงกันข้าม ฉะนั้นนี่สังเกตในใจ นี่ถ้าหากว่าหนูจะไปคุยกับเพื่อนฝรั่งนะ โอ๊ย สิ่งที่น่ากลัวนี่แหละคือความโลภ ที่มันทำให้คนเราน่าเกลียด ความโกรธที่มันทำให้คนเราน่าเกลียด แล้วจะรู้ได้อย่างไร ก็อธิบายให้เขาฟังอย่างนี้ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ
ทีนี้ก็อีกอันหนึ่งความหลง โลภดึงเข้ามา โกรธผลักออกไป สังเกตไหมคะความหลง แล้วก็เคยได้ยินใคร ๆ ก็มักจะบอก โอ๊ย ฉันนี่ไม่หลงแล้ว เหลือแต่โกรธอย่างเดียว แท้ที่จริงที่บอกว่าไม่หลงน่ะเพราะอะไร เพราะไม่รู้จักมัน เพราะมันซ่อนตัวเก่งที่สุด ความหลงที่ชื่อว่าโมหะ มันซ่อนตัวเก่งที่สุดเลย มันซ่อน ไม่ค่อยเห็น ก็ลองนึกดูเวลาที่นอนไม่หลับนี่ ใครที่นอนไม่ค่อยหลับ เคยสังเกตตัวเองไหมคะว่าที่นอนไม่หลับเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่ก่อนจะนอนก็ง่วง แต่พอหัวถึงหมอนนอนไม่หลับ เพราะอะไร อะไรมันมากวนไม่ให้หลับ นึกออกไหมคะ ความกังวล คิดแล้วคิดอีก วนไปเวียนมาสารพัด แล้วเคยสังเกตไหมว่าความคิดที่วนเวียนไปมานี่อันเดียวกันหรือเปล่า เรื่องเดียวกันหรือเปล่า บางทีก็ไม่ใช่เรื่องเดียว เป็นห้าเรื่อง สิบเรื่อง หรือถ้าหากว่าใครเก่งมากก็เป็นร้อยเรื่องพันเรื่องก็มี มันหมุนไปเรื่อย ๆ ๆ แต่จับต้นชนปลายได้ไหม จับไม่ได้ ต้นอยู่ตรงไหน ปลายอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่ามันหมุน ๆ ๆ อย่างนี้ เหมือนกับหาทางออกไม่ได้ อย่างที่ท่านพูดว่าเหมือนกับพายเรือในอ่าง นี่แหละความหลง แล้วก็คิด ๆ ๆ ไปเถอะ นอนก็ไม่หลับ ฉะนั้นอาการของความหลงที่เกิดขึ้น ก็สังเกตได้อย่างไรล่ะคะ โลภดึงเข้ามา โกรธผลักออกไป พอหลงมันจะมีอาการอยู่อย่างไรข้างใน วนเวียน ๆ วนเวียนอยู่เรื่อย คิดไม่รู้จบ เหมือนกับสุนัขมันไล่งับหางตัวมันเอง วนเวียน ๆ อยู่เรื่อย นี่คืออาการของความหลง น่ากลัวมากที่สุด เพราะคนที่ไปอยู่โรงพยาบาลประสาทเพราะหยุดคิดไม่ได้ คิดอย่างไม่มีสาระแก่นสาร คิดอย่างฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ นี่แหละคืออาการของคนที่ไปอยู่โรงพยาบาลประสาท เพราะหยุดคิดไม่ได้ พอคิดมากเข้า ๆ ๆ ประสาทมันคงตึงเครียดน่ะแหละ มันก็ถึงอาการซึ่งวิปริตไป หรือที่เรียกว่าวิปลาส
เพราะฉะนั้นโมหะเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด แต่เห็นตัวมันยากที่สุด เห็นตัวยากมากเลยโมหะ มันซ่อนตัว คนจึงเลยคิดว่าเราไม่มีโมหะ แต่เพราะมีโมหะ คือมีความหลงนี่สิ จึงคิดว่าโลภแหละดี มันดีอย่างไร กวาดมาได้มาก ๆ กว่าเขา เรามันก็เก่งกว่าเขาน่ะ มีมากกว่าเขา ชมตัวเอง โลภสิดี ถ้าไม่โลภฉันจะมีถึงขนาดนี้เหรอ อะไรทำให้คิดอย่างนั้น ก็เพราะความหลงตัวเดียว จึงไม่รู้ว่าความโลภมาแล้วนี่มันไม่ได้ช่วยให้เกิดอะไรขึ้นเลย คือไม่ได้เกิดอะไรที่เป็นคุณงามความดี โดยเฉพาะความสุขสงบเกิดขึ้นไม่ได้ หรือโกรธแหละดี ทำไมโกรธถึงดี พูดเสียงดัง ท่าทางตึงตัง มันแสดงว่าฉันนี่เป็นคนอย่างไร มีอำนาจ ใคร ๆ ก็ต้องกลัวใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถึงต้องแสดงความอำนาจบาตรใหญ่บ่อย ๆ ด้วยวาจาบ้าง ด้วยการกระทำบ้าง ทำไมถึงทำอย่างนั้นล่ะ พอทำเสร็จเคยอายไหม อาย พอทำแล้วก็อาย แต่ตอนทำไม่ทันอาย อยากจะทำให้มากกว่านั้นด้วยซ้ำไป นี่อะไรล่ะที่มันมาทำให้เป็นอย่างนี้ กิเลสตัวไหนล่ะคะที่มันมาบงการทำให้เป็นอย่างนี้ ก็โมหะนั่นแหละ โมหะความหลง โมหะนี่พระท่านบอกว่าเป็นลูกน้องของอวิชชา เป็นลูกน้องชั้นหัวหน้าเลย อวิชชานี่คือความเขลา เพราะไม่มีวิชชา วิชชานี่ ใครที่เป็นนักเรียนก็ทราบไว้ด้วยว่า สะกดด้วย ช สองตัว ไม่ใช่ ช ตัวเดียว ถ้าสะกดด้วย ช ตัวเดียว ก็หมายถึงวิชาความรู้ที่เรียนในโรงเรียน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อะไร ๆ ศาสตร์ต่าง ๆ เป็นวิชาความรู้ซึ่งไม่รู้จบ ไม่มีรู้จบ แล้วเดี๋ยวก็เพิ่มขึ้นมา เดี๋ยวก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวก็ตัดทอนสารพัด เพราะมันเป็นสิ่งสมมติ วิชานี่ แต่วิชชา ช สองตัว แปลว่าแสงสว่าง แปลว่าความรู้ที่เกิดจากข้างใน เกิดจากการที่เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งเข้าใจสัจจธรรม นี่แหละวิชชา เพราะฉะนั้นพอเติม อ เข้าไป อะ มันก็แปลว่าอะไร ไม่ ก็ไม่มีวิชชา ไม่มีความรู้ที่เป็นปัญญาข้างใน ไม่มีความรู้ที่เป็นแสงสว่างของชีวิต มันจึงมืดมิดไงคะ มืดมิด แล้วก็เลยเห็นว่า โลภดี โกรธดี โดยไม่รู้ว่าเป็นที่น่าเกลียดน่าชัง และนั่นแหละกำลังทำบาป กำลังพาตัวเองเข้าสู่นรก ไม่รู้เพราะโมหะมันบัง น่ากลัวมากเลย
ฉะนั้นนี่การที่จะปฏิบัติธรรม ก็คือต้องรู้จักตัวกิเลส โลภ โกรธ หลง จะได้สังเกตได้ว่ามันเข้ามาครอบงำใจของเรานี่มากน้อยเพียงใด ตัวไหนเข้ามาอาศัยอยู่ในใจของเรามากที่สุด บ่อยที่สุด แล้วเราก็จะได้รู้ หาวิธีกำจัดมัน แก้ไข ไม่ให้มันมารุมล้อม เพราะถ้าหากมันเข้ามารุมล้อม แน่นอนชีวิตนั้นก็จะมีแต่ความร้อนรน หาความสุขสงบเย็นมิได้เลย ยิ่งมองหาไม่เห็น บางคนมองหาไม่เห็นว่าฉันมีโลภ มีโกรธ ก็อย่าคิดว่าฉันไม่มีแล้ว แท้ที่จริงฉันกำลังมีอะไรเต็มหัวใจ คืออะไรคะ คือโมหะ มันเข้ามาครอบงำจนบังหมดเลย ไม่เห็นเลยว่าจิตใจในขณะนี้มันมีอะไรรกรุงรังอยู่บ้าง ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นการที่ต้องมาขัด ขูด ขัดเกลา ขูด กะเทาะ เรียกว่าทำทุกอย่างทุกประการที่จะดึงความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ละลายออกไปจากจิตใจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าทำได้มากที่สุดเพียงใดก็จะเบาสบายมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น แล้วก็จะต้องดูต่อไปอีกล่ะว่า โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ เหล่านี้มันเกิดจากอะไร ซึ่งเป็นเรื่องยาว เราก็จะยังไม่พูดกันในวันนี้นะคะ แต่ขอเสนอให้พิจารณาเอาไว้ว่า การปฏิบัติธรรมนี่คืออะไรนะ เรามาอยู่วัด เราจะมาปฏิบัติธรรม เราจะต้องทำอะไรที่เป็นงานของผู้ปฏิบัติธรรม ถึงแม้จะอยู่บ้าน แต่ถ้าสนใจจะปฏิบัติธรรมเพื่อความมีปกติสุขของชีวิต เราจะต้องทำอย่างไร ก็ทำแบบเดียวกัน ฉะนั้นก็จึงควรเข้าใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรมให้ชัดเจน เราจะได้รู้ว่านี่เป็นงานที่เราจะต้องทำ แล้วก็ต้องรู้จักที่จะพิจารณาวัดผลของเราด้วย เออ วันนี้ขัดไปได้เท่าไหร่ ถึงขันไหม ขันใบหนึ่งนี่ ความจริงถ้าใครถึงขันนี่วิเศษมาก ถ้าใครขัดกิเลสได้วันละขันนะ ขันนี่มันยังมีหลายขนาด เพราะฉะนั้นถ้วยแก้วก็ยังใหญ่ไป เอาเถอะแค่เท่าขี้เล็บหนึ่งนี่ วันหนึ่งนี่จะได้สักเท่าขี้เล็บหนึ่งไหม แล้วที่ออกไปขี้เล็บหนึ่งนี่ อะไรที่มันออกไป อ้อ วันนี้ขัดความโลภได้เท่าขี้เล็บหนึ่ง พรุ่งนี้จะต้องเอาให้ได้ทั้งเล็บ สัญญาตัวเองนะคะ สัญญาตัวเองพรุ่งนี้ต้องขัดให้ได้ทั้งเล็บ ขี้เล็บวันนี้ได้แล้ว พรุ่งนี้ต้องเอาให้ได้ทั้งเล็บ เอ้า พอเสร็จสิ้นวันพรุ่งนี้ ได้ไหมทั้งเล็บ มันแค่ครึ่งเล็บ ก็ยังดีใช่ไหมคะ ยังเป็นกำลังใจ เออ มันขัดได้แค่ครึ่งเล็บ ก็ยังดีนะ ดีกว่าขัดไม่ได้เลย นี่เราก็เป็นการให้กำลังใจตัวเราเองด้วย แล้วก็วัดผลไปด้วย เพื่ออะไร เพื่อจะได้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในการที่เราจะฝึกปฏิบัติธรรมต่อไป ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมคือวิธีการที่ต้องมาขูดขัดสิ่งที่พูดง่าย ๆ คือสิ่งที่ไม่ดีที่ทำให้เราเป็นความทุกข์ ก็คือกิเลสสามตัว โลภ โกรธ หลง มีใครจะออกความเห็นซักถามอะไรไหมคะ ถ้ามีก็ได้ เราถือเป็นกันเอง มาคุยกัน ถ้าไม่มี มาปฏิบัติธรรมทำไม ก็คงทราบจุดหมายอย่างที่ได้เล่าให้ฟังเมื่อกี้ แต่ละท่านแล้ว
ทีนี้อุปสรรคในส่วนตัวในการปฏิบัติธรรม ความตั้งใจก็ตั้งใจ๊ ตั้งใจ จะต้องปฏิบัติธรรมให้ได้ แต่ทำไมมันถึงทำไม่ได้เหมือนอย่างที่ตั้งใจไว้ พบหรือยังคะอุปสรรคในใจของเรา พบหรือยังที่เป็นอุปสรรค คืออะไร ที่ทำให้ปฏิบัติธรรมไม่ได้ อย่างที่ตั้งใจไว้ คืออะไรคะ เพราะเราขาดอะไร ที่เราพูดเอาไว้ตอนต้นว่าเราจะพูดกันน่ะ หนึ่งขาดอะไร ขาดสัจจะ ต่อตัวเอง แล้วก็พอขาดสัจจะเข้า อย่างอื่นมันสำคัญกว่าหมด ธรรมะนี่มาที่โหล่ สำคั๊ญ สำคัญ ฉันตั้งใจมาปฏิบัติธรรม แต่ผลสุดท้ายมันมาที่โหล่ทุกที พอมาที่โหล่ มันก็ไม่มีเวลาเหลือให้แล้วสำหรับธรรมะ อย่างอื่นมันสำคัญกว่า มันก็มาเอาไปก่อน เพราะฉะนั้นการตั้งสัจจะเอาไว้จึงจำเป็น นี่ก็เรียกว่าการยังขาดสัจจะนะคะในการปฏิบัติธรรม ท่านผู้อื่นล่ะคะพบอุปสรรคในการปฏิบัติธรรมของตนหรือยัง แต่ก็เป็นสิ่งที่จะบอกให้เรารู้ว่านี่แหละประมาทไม่ได้ อย่างที่คุณสุเล่านี่ก็เป็นผู้ที่พบอุบัติเหตุมา ดังนั้นร่างกายก็เลยไม่แข็งแรงที่จะใช้มันได้อย่างเต็มที่ จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอน ก็ต้องทะนุถนอม มิฉะนั้นมันจะทรยศเอา มันจะไม่ทำตามคำสั่งของเรา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าอย่าประมาท ในขณะที่กำลังแข็งแรงต้องรีบใช้ร่างกายที่แข็งแรงให้เกิดประโยชน์เสีย เพราะการปฏิบัติธรรมมันยิ่งต้องการความแข็งแรงของร่างกาย ใช่ไหมคะ ทั้งสุขภาพกาย ทั้งสุขภาพใจ จะต้องมีกำลังใจแข็งแกร่ง ทำไมถึงต้องแข็งแกร่ง ก็รู้อยู่แล้ว ฝืนเดิน ฝืนนั่ง ฝืนข่มขี่บังคับกิเลส ขับไล่มันออกไป ของง่ายเสียเมื่อไหร่ มันยากเสียยิ่งกว่าทำงานหนัก ๆ ให้ไปทำอะไรที่หนัก ๆ นี่สักเท่าไหร่ ไปทำปริญญาเอกสักสามปริญญา ท้าให้ด้วย ง่ายกว่าที่จะมาเอาปริญญาของพระพุทธเจ้า ปริญญาของพระพุทธเจ้าคืออะไร ปริญญาชนะความโลภ ชนะความโกรธ ชนะความหลง นี่คือปริญญาของพระพุทธเจ้าสามปริญญา นี่แหละมันไม่ใช่ของง่าย เพราะฉะนั้นจึงต้องการกำลังกายแข็งแรง กำลังใจแข็งแรง แล้วก็สมองสติปัญญากำลังเฉียบคม เพื่ออะไร เพื่อจะได้ศึกษาธรรมะให้เข้าใจ จดจำได้ และสามารถแทงทะลุแจ้งในสัจจธรรมที่พระองค์ทรงสอน เช่น พระองค์ทรงสอนว่าชีวิตนี้ หรือว่าทุกสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงนะ ธรรมด๊า ธรรมดา ใคร ๆ ก็รู้ ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่ใครทะลุแล้วบ้างล่ะ ทะลุถึงความไม่เที่ยง ใครทะลุแล้วบ้าง ไม่ทะลุ ยังตันอยู่ เก่งแค่ปาก
เพราะฉะนั้นอันนี้ล่ะค่ะ มันจึงแสดงว่ามันต้องใช้สมอง ใช้กำลังใจ และใช้กำลังกายประกอบกันทั้งหมด ใครที่ยังรู้สึกว่าเครื่องเคราในร่างกายของเรานี่ยังเป็นเกวียนใหม่เอี่ยม พระพุทธเจ้าหรือในสมัยพุทธกาล ท่านมักจะเปรียบสังขารร่างกายเหมือนเกวียน อย่างของคุณแม่นี่ก็เกวียนเก่าคร่ำคร่าเต็มทีแล้ว พร้อมที่จะหักทำลาย เราก็ไม่รู้เมื่อไหร่ ก็ประคับประคองไปเรื่อย ให้มันคลานไปเรื่อย ๆ ของคุณสุนี่ก็อยู่กลาง ๆ เพราะว่าในส่วนจริงก็ยังเรียกว่ายังสาวอยู่ ยังเยาว์อยู่ แต่เผอิญมันมีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งสำคัญที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน ร่างกายของคุณสุทำไมจึงไม่เที่ยง ทั้ง ๆ ที่อายุเพียงเท่านี้ ยังควรที่จะเข้มแข็งแกร่งกล้า ทำอะไร ๆ ได้ ทำไมล่ะ ทำไมถึงมาเป็นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่ไปประสบอุบัติเหตุ อุบัติเหตุนี่ก็คือเหตุปัจจัย พอไปประสบอุบัติเหตุเข้า ก็จึงเป็นเหตุปัจจัยให้สังขารร่างกายเปลี่ยนแปลงไป คือมีความไม่เที่ยงที่แสดงให้เห็น นี่คือหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ถ้าถามว่าพระพุทธศาสนามีหลักสำคัญอะไร ก็คือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี่จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย กระทำเหตุปัจจัยอย่างไร ผลเป็นอย่างนั้น ผลเป็นอย่างไร มาจากเหตุอย่างนั้น จำเอาไว้ นี่เป็นหลักสำคัญ ถ้าจะไปคุยกับเพื่อนเขานะ แล้วก็มาดูชีวิตของเรา จริงไหม ฉะนั้นจึงอย่าประมาทเลย คุณสุมีอุปสรรคคือสังขารร่างกาย แต่ก็น่าชมที่พยายามที่จะแก้ไขตัวเอง อย่างชนิดที่ว่า เอาล่ะ ให้มันเจ็บไปแต่กาย อย่าให้จิตมันเจ็บไปด้วย ค่อย ๆ ฝึกไป นี่ก็เป็นวิธีที่ควรที่จะช่วยกันฝึกกระทำให้มาก ๆ เพื่ออะไร เพื่อให้จิตนี้มีอำนาจเหนือกาย ทีนี้ผู้อื่นมีอะไรอีกคะ มีอุปสรรคอะไรที่เห็นชัด ๆ ถ้าไม่มีก็ค่อย ๆ มองดู หรือยังไม่เห็นก็ค่อย ๆ คิดดูว่าอะไรคืออุปสรรคที่สำคัญของเรานะคะ แล้วเราจะได้หยิบมันมาแก้ไข
ทีนี้ทำอย่างไรถึงจะให้พรรษานี้เป็นพรรษาที่พิเศษประทับใจ จนกระทั่งเรารู้สึกมีความมั่นคงในพระธรรม ใครจะมาฉุดจะมาดึงไปจากไหน จะไม่มีวันออกจากธรรมะ เราจะมีธรรมะเป็นที่พึ่ง เราจะมีธรรมะเป็นสรณะ เราจะมีธรรมะเป็นสิ่งคุ้มครองชีวิต ทั้งกาย ทั้งจิต ทำอย่างไร ได้เคยนึกไว้ไหมคะ เออ พรรษานี้ หรือมันก็เหมือน ๆ พรรษาอื่นน่ะ เดี๋ยวมันก็หมดไป ลืมๆ ไปเดี๋ยวเดียว หมดแล้วพรรษาหนึ่ง วันคืนไปเร็วเหลือเกิน ออกพรรษาไม่รู้ตัว ถ้ายังไม่นึก ก็อยากจะขอเสนอแนะเรื่องการตั้งสัจจะและการอธิษฐานจิต เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม สัจจะ การตั้งสัจจะ การอธิษฐานจิต ทำอย่างไร
ก็อยากจะขอเล่าตัวอย่าง บางท่านอาจจะเคยได้ยินมาแล้ว ท่านอาจารย์ญาณธัมโม เป็นพระฝรั่งชาวออสเตรเลีย แล้วก็เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติองค์ปัจจุบัน นี่ท่านเล่าเองถึงชีวิตของท่าน มีผู้ถามว่าทำไมท่านถึงได้มาสนใจธรรมะ แล้วก็มาบวชเป็นพระภิกษุ แล้วก็เจริญในธรรมอย่างน่าชื่นใจ จนกระทั่งมาเป็นเจ้าอาวาสที่เรียกว่าดีมากองค์หนึ่ง ในพรรษาหนึ่งๆ นี่ ได้ยินว่าท่านควบคุมบังคับทั้งอุบาสกอุบาสิกา ทั้งภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในวัดนี่ เพื่อการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเข้มงวดกวดขัน แล้วก็ไม่ใช่ว่ามาอยู่ต้นพรรษาสักเท่าไหร่นึง พอใจแล้วก็จะไป จะต้องมีสัญญิงสัญญากันตั้งแต่ก่อนจะมาขออยู่ ว่าทำไมท่านถึงเจริญในธรรมได้อย่างนี้ ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านก็เป็นคริสต์ แล้วก็เป็นคาทอลิกด้วยนะคะ ใครที่รู้จักศาสนาคริสต์ ก็จะรู้ว่าคาทอลิกนี่เคร่งครัดเพียงใด แล้วก็วันหนึ่งตั้งแต่ท่านยังอายุไม่มาก ยังอยู่ในวัยรุ่นอายุสิบห้าสิบหก พ่อของท่านซึ่งก็เป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด เกิดมีความสงสัยในคำสอนของพระเจ้า เพราะพระเจ้านี่บอกว่าเป็นผู้ให้ เป็นผู้ไถ่โทษ เป็นผู้ช่วยทุกอย่าง แล้วก็ถ้าหากว่าใครเชื่อในพระเจ้า ก็จะได้รับอะไร ๆ อย่างที่ต้องการ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเชื่อในพระเจ้านี่มันเหมือนกับเสมอหน้ากันหมด ทีนี้เผอิญคุณโยมแม่ของท่านก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ท่านยังเล็ก ๆ แล้วโยมพ่อของท่านก็คงจะคิดถึงภรรยา ก็เกิดนึกว่า เอ พระเจ้านี่ไม่ยุติธรรมเลยนะ ทำไมถึงมาเอาภรรยาของเราไปตั้งแต่อายุยังไม่มาก แล้วตัวท่านเองก็นึก ทำไมมาเอาแม่เราไปเร็วเหลือเกิน อย่างนี้ไม่เสมอหน้านี่ ไม่ยุติธรรมทั่วถึง ท่านก็ศึกษา พากันศึกษาคำสอนต่าง ๆ ในศาสนาของท่าน ผลที่สุดท่านก็เกิดความไม่แน่ใจ พอไม่แน่ใจในคำสอนของศาสนาท่าน ท่านก็ศึกษาศาสนาต่าง ๆ หลายศาสนา ผลที่สุดก็มาสนใจพุทธศาสนา เมื่อได้อ่านหนังสือพุทธศาสนา แต่เป็นของพระฝรั่งเขียน ไม่ใช่ของพระไทย แต่ถึงกระนั้นท่านก็รู้สึกว่า เออ เป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่เป็นศาสนาที่ให้เชื่ออะไรอย่างเลื่อนลอย แต่มีเหตุมีผล จะเชื่ออะไรนี่ต้องมีเหตุอย่างนี้ผลเป็นอย่างนี้ ผลเป็นอย่างนี้เพราะมาจากเหตุอย่างนี้ ท่านก็ยิ่งสนใจมากยิ่งขึ้นในพุทธศาสนา แต่ว่าในเมืองของท่าน ในประเทศของท่านในตอนนั้น ก็จะหาหนังสือพุทธศาสนาอ่านได้ยาก ท่านก็พยายามสืบเสาะว่าในที่นี้มีสมาคมพุทธ ชมรมพุทธ หรือมีอะไรเกี่ยวกับพุทธอยู่ที่ไหนบ้าง ก็ได้ทราบว่ามีสำนักคล้าย ๆ กับสมาคมเล็ก ๆ ของชาวพุทธอยู่แห่งหนึ่ง ก็ดั้นด้นไป ท่านบอกว่าตอนที่ท่านไปนั้นยังเป็นฮิปปี้อยู่เลย ฮิปปี้ก็คงทราบแล้วใช่ไหมคะว่าเป็นพวกคนหนุ่ม หรือบางทีก็ผู้ใหญ่ที่แต่งเนื้อแต่งตัวไม่เอาไหน ไม่ต้องเหมือนใคร ให้มันแตกต่างเขาเท่าไหร่ยิ่งดี เอาไว้ผมยาว เอาใส่รองเท้าแตะ อะไรอย่างนี้ ท่านก็ไปที่สมาคมพุทธ สำนักงานสมาคมพุทธ ในลักษณะอย่างนั้น ผมยาว เป็นฮิปปี้ไป ใส่รองเท้าแตะ ไปถึงเขาก็บอกท่านว่าต้องถอดรองเท้าแตะก่อน ก่อนที่จะเข้าไปข้างใน ท่านก็ทำตามเขาทุกอย่าง คืออ่อนโยนว่าง่าย
พอไปถึงยืนอยู่ สิ่งที่ท่านสะดุดใจก็คือ กระดานที่เขาตั้งเอาไว้ที่ตรงหน้าสำนักงาน มีข้อเขียนเกี่ยวกับศีล 5 เรื่องของศีล 5 ทั้งห้าข้อ ท่านก็อ่านศีล 5 นั่น พออ่านไปตลบไปตลบมา ตลบไปตลบมา ท่านก็บอกตัวเองว่า เอ๊ นี่มีเหตุผลนะ เรื่องของศีล 5 นี่ ที่ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักขโมย ห้ามล่วงของรักของผู้อื่น ห้ามพูดจาที่ไม่เป็นสัมมาวาจา แล้วก็ห้ามหลงใหลในสิ่งที่มัวเมา นี่มีเหตุผล เพราะอะไร เพราะเหตุว่าเป็นการสอนไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย เออ เป็นคำสอนที่มีผล ท่านเกิดจับใจขึ้นมาเลย ขณะที่ยืนอ่านอยู่ตรงกระดานดำ คนเดียว ไม่มีใครมาสอนมาบอก แล้วท่านเกิดจับใจในคำสอนเรื่องศีล 5 ท่านสมาทานศีล 5 ทันทีในขณะนั้น จากกระดานดำ นี่ลองนึกสิอย่างเรา ๆ นี่จะไปทำอย่างนั้นไหม โอ๊ย ไม่เอาหรอก เดี๋ยวเขาจะว่าฉันบ้า ใช่ไหมคะ แต่ท่านไม่ได้ เรียกว่าไม่ได้สนใจ ใครจะคิดยังไงอย่างไรก็ช่าง เรียกว่าไม่มองดูคนอื่นด้วยซ้ำ แต่ท่านสมาทานทันทีเลย สมาทานศีล 5 แล้วก็ตั้งสัจจะว่า เรานี่แหละคือพุทธศาสนิกชน แล้วความเป็นพุทธศาสนิกชนก็คือต้องมีศีล แล้วท่านก็ประพฤติปฏิบัติศีล 5 ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยยังไม่ได้บวช ฟังแล้วน่าอนุโมทนาไหม นี่แหละคือผู้ที่สนใจธรรม ที่เกิดลึกซึ้งขึ้นมาจากรากฐานของจิตใจข้างในจริง ๆ ไม่ได้มีโอกาสเรียนกับใคร เรียนศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม สัจจะ แล้วท่านก็อธิษฐานจิต แล้วท่านก็หาวิธีที่จะเจริญก้าวหน้าในหนทางแห่งธรรมยิ่งขึ้น ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง แล้วก็ได้เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะตัวท่านเอง แต่กับผู้อื่นอีกนับจำนวนไม่ถ้วน นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องการอธิษฐานจิต ในเรื่องการตั้งสัจจะ
หรืออีกท่านหนึ่งที่ท่านเป็นพระภิกษุ ต้องเรียกว่าจัดว่าอยู่ในพระเถระล่ะ ซึ่งคุณสุรู้จักดีที่เคารพนับถือท่านมาก ที่เราเรียกท่านว่าพระภิกษุ ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ถ้าใครที่เคยได้ยินก็คงจะนึกได้ว่า ท่านเป็นพระภิกษุองค์เดียวที่พูดได้ว่า ตั้งแต่ท่านบวช ไม่เคยออกจากวัดเลย มีไหม ใครที่ไหนที่ไม่เคยออกจากวัดเลย ที่เราจะเคยได้ยิน นี่พอท่านจะบวช ก่อนอื่นท่านเลือกพระอุปัชฌาย์เอง ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็ได้ ท่านเลือกอย่างถี่ถ้วน เรียกว่าใช้วิจารณญาณ พระองค์ไหนนะที่ท่านจะเลือกมาเป็นพระอุปัชฌาย์ท่าน ผลที่สุดท่านก็ขอให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งท่านก็ล่วงลับไปแล้วในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วพอท่านจะบวช ท่านก็ขอพร ขอพรจากท่านพระอุปัชฌาย์ว่า ท่านไม่ขอรับกิจนิมนต์เลย ตลอดชีวิตเลยว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วท่านตั้งใจถวายบวชตลอดชีวิต จะไม่ขอรับกิจนิมนต์เลย คือกิจนิมนต์ออกนอกวัด ไปสวด ไปเทศน์ ไปอะไร ท่านจะไม่รับเลย ขอไม่รับ แล้วท่านพระอุปัชฌาย์ท่านก็เข้าใจ ท่านก็ให้อนุญาต ก็เรียกว่าท่านไม่ออกจากวัด ไม่ยอมรับกิจนิมนต์อะไรเลย
ข้อต่อไปอีก ท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานของท่านไว้ คืออธิษฐานจิตว่า ท่านจะต้องสวดมนต์ทำวัตรทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น จะไม่ยอมขาดเลย วันใดที่ไม่เห็นท่านนั่งตรงที่ที่ท่านนั่งในโบสถ์ นั่นก็คือไม่มีท่านแล้ว พูดง่าย ๆ คือท่านสิ้นแล้ว แล้วก็เป็นความจริง ยกเว้นครั้งหนึ่งที่เผอิญท่านเจ็บมาก อาพาธมาก ที่ท่านขาดไปครั้งเดียวในชีวิต แล้วอีกครั้งสุดท้ายที่ไม่มีใครเห็นก็คือ ท่านสิ้นแล้วอยู่ในกุฏิของท่าน นี่ท่านตั้งอธิษฐานจิตไว้อย่างนั้น อีกข้อหนึ่งก็คือ ท่านจะไม่รับแขกขึ้นกุฏิท่านเลย คือใครที่อยากจะไปหาท่าน ญาติโยมที่ศรัทธาในท่าน อยากจะขอพบ ขอสนทนา ขอฟังคำสอน ก็ไปคอยดักพบตอนที่ท่านจะไปโบสถ์ หรือมิฉะนั้นก็ระหว่างทาง หรือถ้าเผอิญท่านออกมายืนอยู่หน้ากุฏิของท่าน หรืออะไร ก็พูดกันอยู่ข้างล่าง ท่านจะไม่เรียกใครขึ้นกุฏิท่านเลย นี่ท่านตั้งสัจจะ หนึ่ง ไม่รับกิจนิมนต์ ทำไมถึงไม่รับกิจนิมนต์ เพราะอะไร ลองนึกดูสิคะ ทำไมท่านถึงไม่รับกิจนิมนต์ เพราะการรับกิจนิมนต์นี่ โดยทั่ว ๆ ไปอาจจะหมายถึงลาภสักการะก็ได้ ของพระผู้ที่รับกิจนิมนต์ แต่ท่านไม่รับ ท่านไม่ประสงค์
แต่ที่ลึกซึ้งกว่านั้นก็คือ ท่านต้องการถวายชีวิตเพื่อการบวช ทีนี้การบวชอย่างถวายชีวิตนี่เพื่ออะไร ก็เพื่อต้องบรรลุธรรมให้ได้ จะระดับใดก็ตาม แต่เมื่อจะบรรลุธรรมนี่ เวลาที่มีอยู่ทุกเวลานาทีมีคุณค่าเหลือแสน ไม่ควรที่จะปล่อยให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นการไปรับกิจนิมนต์ ก็จริงล่ะช่วยเหลือชาวบ้านเหมือนกัน แต่เมื่อเปรียบกับจุดประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ชีวิตนี้ท่านถวายเข้ามาในพระธรรม หันเข้ามาหาพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มาเล่น ๆ ท่านถวายชีวิตทั้งชีวิต ชีวิตของผู้ที่มีเกียรติยศ ท่านเป็นข้าราชบริพารของรัชกาลที่ 6 เป็นบริพารตั้งแต่ยังหนุ่ม มีหวังที่จะเจริญก้าวหน้าในราชการอีกมากมาย แม้รัชกาลที่ 7 ก็ประสงค์จะให้ท่านอยู่เพื่อช่วยเหลือในงานราชการต่อไป ท่านไม่ประสงค์ ท่านสละทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ ทุกอย่างเด็ดขาด หันเข้าหาพระพุทธศาสนา แล้วท่านก็ตั้งสัจจะพร้อมกับอธิษฐานจิต หนึ่งไม่รับกิจนิมนต์ เพื่อจะได้ใช้เวลาทุกเวลานาที เพื่อการศึกษา เรียนรู้ ปฏิบัติธรรม เพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้น ๆ จนถึงที่สุด แล้วก็ตามที่มีผู้เล่าให้ฟัง ท่านก็เป็นผู้ที่บรรลุถึงที่สุดองค์หนึ่ง แต่จะที่สุดในระดับไหน อันนี้ก็เกินกว่าที่เราจะทราบ แต่ท่านก็อยู่ในผู้ที่ตกกระแสเรียบร้อยแล้ว ท่านเป็นผู้ที่บรรลุแล้ว
นอกจากไม่รับกิจนิมนต์ จะลงทำวัตรทุกวัน สวดมนต์ทุกวัน เพื่ออะไร เพราะการทำวัตรสวดมนต์นี่ ท่านครูบาอาจารย์ผู้รู้ท่านบอกว่า เป็นการเฝ้าพระพุทธเจ้า เป็นการได้ไปเฝ้าแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า ทั้งเช้าและเย็น ถ้าพระพุทธเจ้าทรงอยู่นี่ คนทั้งหลายก็จะวิ่งกรูกันไป เพื่อที่จะไปกราบนมัสการท่านแทบพระบาท แต่พอท่านไม่อยู่ ไม่เห็นองค์ท่าน โอ๊ย ไม่เป็นไร ซื่อสัตย์ไหมนี่ ถ้าจะพูดไปนะคะ ก็เหมือนกับเราไม่ได้ซื่อสัตย์ ไม่ได้ซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้า เพราะเราจะเอาเฉพาะหน้าท่าน ถ้าท่านอยู่เราก็จะเป็นคนตรงคนดี แต่บัดนี้ท่านไม่อยู่ ท่านทิ้งไว้แต่คำสอนอันล้นค่าหาที่เปรียบมิได้ ไม่เอา แต่นี่ท่านตั้งสัจจะไว้เชียวว่า จะต้องลงสวดมนต์ทำวัตร ทั้งเช้าและเย็นทุกวัน แล้วที่นั่งของท่านนี่เป็นประจำ ใครเข้าไปก็มองก็จะต้องเห็นล่ะ ว่าท่านจะต้องนั่งอยู่ตรงนั้น เป็นที่รู้ แล้วก็นั่งเรียบร้อย นั่งอย่างเรียบร้อย จะเรียกว่าท่านเป็นชาววังก็ได้ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ชาย ท่านก็เรียบร้อย
แล้วก็อันที่สามก็ไม่รับแขก ท่านก็ไม่รับแขกที่บ้าน คือที่กุฏิของท่าน เพราะท่านไม่อยากเสียเวลากับสิ่งเหล่านั้น เพราะผู้ที่ไปหาไปเคารพท่าน เพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ก็อาจจะมีนะ ที่คนเราเดี๋ยวนี้ชอบ ได้ยินที่ไหนนี่ ท่านเก่งทางไหนก็ต้องวิ่งกรูกันไป เพราะขลัง เพราะศักดิ์สิทธิ์ อาจจะอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าสนทนาธรรม เชื่อว่าท่านไม่รังเกียจ ท่านยินดีที่จะให้ธรรมะและก็จะแนะนำหนทาง เพราะฉะนั้นจากการอธิษฐานจิตและก็ตั้งสัจจะ ท่านจึงบรรลุจุดหมายของท่าน ที่เล่าให้ฟังนะคะก็เพื่อเป็นตัวอย่างว่า ที่บอกว่าตั้งสัจจะและอธิษฐานจิตคืออะไร คือตั้งสัจจะว่าจะทำให้ได้ แต่ทีนี้สัจจะบางทีมันก็โลเล อย่างนี่อ่อนไป แล้วแต่อะไรมา เพราะฉะนั้นพออธิษฐานจิตอีกครั้งหนึ่งนี่ มันจะย้ำซ้ำลงไป ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้คนที่ตั้งอธิษฐานจิตนี่ ถ้าไม่ทำมันจะละอาย เพราะฉะนั้นหิริโอตตัปปะ เคยได้ยินไหมคะ หิริ คือความละอายต่อบาป โอตตัปปะ คือความกลัวต่อบาป แม้ไม่มีคนเห็น ที่สำคัญคือไม่มีคนเห็น ฉะนั้นหิริโอตตัปปะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมคนใดไม่มีหิริโอตตัปปะ หลอกตัวเองได้ตลอดเวลาแหละ ไม่ต้องกลัวหรอก หลอกตัวเองได้ แล้วก็ไม่ไปไหนหรอก อยู่กับที่ ไม่เฉพาะอยู่กับที่ ถอยหลังกรูด ๆ ไปลงอะไรก็ไม่รู้ ก็มี เพราะฉะนั้นอันนี้หิริโอตตัปปะ จะเตือนให้บุคคลนั้นสามารถรักษาอธิษฐานจิตที่อธิษฐานแล้ว เพื่อสนับสนุนให้เกิดสัจจะมั่นคง คือมีความมั่นคงในสัจจะได้ ฉะนั้นนี่ล่ะค่ะ ก็เล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง คงจะมีท่านองค์อื่นอีกเยอะ แต่เพียงสองท่านนี่ก็เห็นชัดแล้วใช่ไหมคะ ว่าคุณประโยชน์มหาศาลเพียงใด เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักตั้งสัจจะ และอธิษฐานจิตของตนเอง ฉะนั้นการที่จะทำให้พรรษานี้พิเศษสุดขึ้นมาสำหรับเรา จนประทับใจ ออกพรรษาแล้วนึกขึ้นมาเมื่อไหร่ ปลื้มใจ ปลื้มไม่หาย ปีติปราโมทย์ตลอดเวลา แล้วก็เชื่อว่าจะสามารถรักษาสัจจะเช่นนั้นได้ตลอดชีวิตของการเป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วย มีคุณค่ามหาศาลขนาดนี้ ก็ลองคิดเถอะค่ะ สมควรแก่การลงทุนไหม ในฐานะที่เรามุ่งหน้าเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่การลงทุนไหม ไม่ขาดทุนที่เข้ามาอยู่วัดเปล่า ๆ เพราะเราไม่รู้หรอกว่านาทีไหนจะหยุดหายใจ ไม่รู้จริง ๆ คุณแม่นึกทุกวัน พอเรานอนตอนกลางคืน พรุ่งนี้เราจะตื่นหรือเปล่า ตื่นอย่างนี้ เราจะตื่นหรือเปล่า เราไม่รู้ เราตื่นขึ้นมาวันนี้ สาย ๆ เราจะยังอยู่หรือเปล่า นี่เราไม่รู้ ไม่รู้อีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นนี่เราประมาทไม่ได้เลย ถ้าประมาทแล้ว มันก็เป็นที่น่าเสียดาย ไม่รู้จะมีคำอะไรมากกว่านี้ เป็นที่น่าเสียดาย เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำเอง อย่างที่คุณสุพูดตอนต้นน่ะนะ ที่พูดถึงว่าเราเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยตัวเอง อย่างคุณแม่ก็รู้สึกว่าเราไม่เป็นหนี้ใคร ไม่เป็นหนี้ใครทั้งเงินทองข้าวของ เราก็ไม่ใช่คนรวย แต่เราก็ไม่ได้เป็นหนี้ใคร เราไม่ได้เป็นหนี้สังคม เราอยู่ในสังคม เราก็ทำงานเพื่อสังคม เต็มกำลังของเรา เพราะฉะนั้นเราจะหันเข้ามาหาในทางธรรม เรามาได้อย่างอิสระเลย เพราะอะไรล่ะ ทำไมถึงหันเข้ามา เพราะนี่คือหนี้ที่เราจะต้องชำระ ชำระให้แก่ตัวเอง ไม่ใช่ชำระให้แก่คนอื่น และคนอื่นชำระแทนไม่ได้นี่ มันสำคัญแค่นี้ ถ้าคนอื่นชำระแทนได้น่ะ ก็มีคนรักกันเยอะ ๆ ล่ะ แต่ละคนก็มีคนรัก พ่อแม่พี่น้องรัก อยากจะช่วยชำระ แต่นี่ไม่มีใครชำระให้ได้ นี่เป็นหนี้ที่เราจะต้องชำระเอง และธรรมะไม่มีขาย ต้องปลูกขึ้น ฝึกขึ้น อบรมขึ้นให้เกิดในจิตของเราเอง นี่ค่ะ ถ้าอยากที่จะให้มีความพิเศษสุดของพรรษานี้เกิดขึ้น ก็ลองนึกดูว่าเราอยากจะตั้งสัจจะไหม แล้วเราควรจะอธิษฐานจิตในเรื่องอะไรบ้าง จะอธิษฐานจิตในเรื่องอะไรบ้าง ก็พิจารณาจากเราเอง ถึงความสามารถของเรา ถึงกำลังของเรา ทั้งทางกายทางใจ ว่าเราจะสามารถทำได้แค่ไหน พอจะนึกหรือยังคะ ว่าจะอธิษฐานจิตเรื่องอะไรดี เอาง่าย ๆ เช่น ตลอดพรรษานี้ฉันจะมีแต่สัมมาวาจา
นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง ตลอดพรรษานี้ฉันจะมีแต่สัมมาวาจา สัมมาวาจาเป็นอย่างไร เข้าใจไหมคะ วาจาก็คือคำพูดแหละ เราจะพูดแต่สิ่งที่เป็นสัมมา สัมมาก็คือความถูกต้อง เป็นคำที่มีความสำคัญมากเลยคำว่าสัมมานี่ ในพระพุทธศาสนาจะพบคำว่าสัมมาเยอะ ถ้าเราคุยกันต่อไปเราก็คงจะได้คุยเรื่องนี้ สัมมานี่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก สัมมาวาจา ก็หมายถึง วาจาหรือคำพูดที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ก็คือ ไม่ว่าให้เขาเจ็บใจ ไม่กระทบกระทั่งเขา เพราะอารมณ์ที่เกิดจากความโกรธ หรือความโลภ หรือความหลงก็ตามที จะไม่เบียดเบียนเขา ด้วยคำหยาบ ด้วยคำส่อเสียด ด้วยคำแม้แต่เพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน ก็อาจจะไม่เบียดเบียนใครโดยตรง แต่พอเพ้อเจ้อหรือฟุ้งซ่านขึ้น มันก็เบียดเบียนตัวเองให้เสียเวลา ซึ่งสัมมาวาจาเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งเลย ในสถานที่ที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือที่วัด หรือในสังคม ในโลกนี้ล่ะค่ะ ก็ดูสิที่เบียดเบียนกันฟ่อ ๆ อยู่ทุกวันมันเนื่องมาจากอะไร ก็เนื่องมาจากคำพูดที่ทำให้เจ็บใจกัน ไม่ถูกใจกัน ดูถูกกัน เสียศักดิ์ศรี ยอมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสัมมาวาจานี่ คือคำพูดที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ที่ใช้คำว่าไม่เบียดเบียนนี่เป็นคำรวม ไม่เบียดเบียนด้วยอาการอย่างไร ไม่ด่าเขา ไม่ว่าคำหยาบ ไม่ส่อเสียด ไม่ยุให้เขาโกรธกัน ไม่ทำให้คนที่เขาชอบพอกันแตกคอกัน แล้วก็ไม่พูดจาฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ อย่างเช่น ต้องเล่าเรื่องอะไรให้มันตลก ๆ สนุก เพราะเราเป็นดาราประจำวง ถ้าคุยกันเมื่อไหร่ อยู่ด้วยกันแล้วเขาไม่หัวเราะ โอ้ เสียยี่ห้อเรา ช่วงนั้นในขณะที่จะทำให้คนหัวเราะ นึกไหมคะว่าเราต้องเติมมุกนั้นมุกนี้เข้าลงไปให้มันเด็ด ๆ น่ะ เพื่อนฝูงจะได้หัวเราะดัง ๆ แล้วก็ แหม เป็นหน้าเป็นตา ว่าฉันนี่เป็นตัวชูโรง เพื่อนไปไหนขาดฉันไม่ได้ มิฉะนั้นจะเหงาหงอย แล้วมุกต่าง ๆ ที่เติมเข้าไป คิดไหมคะว่ามันจริงหรือไม่จริงเสมอไป มีเยอะเลยที่มันไม่จริง เพราะว่าเติมออกไป ฉะนั้นสัมมาวาจานี่เกี่ยวกับศีลข้อไหน นึกออกไหมคะ ศีลห้าข้อน่ะ เกี่ยวกับศีลข้อไหน เกี่ยวกับศีลข้อสี่ แหม เก่ง เก่งจริง ๆ แสดงว่าคงจำได้ทั้งห้าข้อเลยนะนี่ เก่งมากค่ะ เกี่ยวกับศีลข้อสี่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครไม่สามารถรักษาสัมมาวาจาได้ ก็แสดงว่าศีลห้าของผู้นั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างไรคะ ขาด ด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์แล้ว ภูมิใจได้ไหมว่าเราเป็นผู้มีศีล ภูมิใจได้ไหม อ้าว ยังขาดอยู่ แล้วจะภูมิใจได้อย่างไร ยังขาดอยู่ ไม่สมบูรณ์ ไม่บริบูรณ์ครบทั้งห้าข้อ
ฉะนั้นสมมตินะคะ เอาล่ะพรรษานี้ เราขอตั้งจิตอธิษฐานหรืออธิษฐานจิตว่า เราจะพูดแต่คำพูดที่เป็นสัมมาวาจา นี่เป็นตัวอย่างข้อเดียวก่อน ยังมีตัวอย่างอีกเยอะเลย แต่ฝากให้ไปลองพิจารณาว่าจะสามารถทำได้ไหม ว่าจะพูดสัมมาวาจาให้ตลอดเลย ตลอดทั้งพรรษานี้ ต่อให้ใครมายั่วเท่าไหร่ ยั่วอารมณ์ให้โกรธ ให้ไม่ชอบ ให้อิจฉา ให้หมั่นไส้ ให้เขม่น เราจะกัดลิ้นเอาไว้ จะไม่ยอมพูดมิจฉาวาจา มิจฉาวาจา ก็คือตรงกันข้ามกับสัมมาวาจา คือคำพูดที่ตรงกันข้าม แต่เราจะพูดแต่คำพูดที่เป็นสัมมาวาจา ก็นึกดูเถอะ คนที่มีสัมมาวาจานี่จะเป็นคนที่น่ารักหรือน่าเกลียด จะมีคนรักหรือจะมีคนชัง จะทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันนี้อยู่ร่วมกันด้วยความอยู่เย็นเป็นสุขหรือเปล่า ลองนึกดู นี่เป็นตัวอย่างเดียวที่ยกให้ฟังก่อน ฝากให้ไปคิด แล้วก็ลองไปคิดเพิ่มเติมว่า เอาล่ะ พรรษานี้ฉันจะตั้งอธิษฐานจิตในเรื่องอะไร แล้วก็จะมีสัจจะรักษาไว้ให้ได้ เพื่อความเจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรมของเราให้สูงขึ้น ๆ จนเป็นที่น่าพอใจและอิ่มใจได้ อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นที่ไว้ใจได้ ไว้ใจอะไรคะ ทราบไหมคะ ไว้ใจในเรื่องอะไร ไว้ใจได้ว่าอย่างต่ำ ๆ ก็คือไปสู่สุขคติ พ้นจากอบาย ถ้าสูงขึ้นไปอีก รอดพ้นจากความทุกข์ ตกกระแสใดกระแสหนึ่งในสี่กระแสนั้นน่ะ ฉะนั้นคุณแม่จะฝากไว้เพียงแค่นี้ เพื่อให้ไปคิดต่อ
(มีเสียงลูกศิษย์พูด ไม่ได้ยินเสียง)
เออ เดี๋ยวก่อนนะ สังคมไม่สงบ หมายความว่าจะทำให้เขาเกิดการแตกกันอย่างนี้หรือคะ
(มีเสียงลูกศิษย์พูด ไม่ได้ยินเสียง)
อันนี้ก็คงต้องอยู่ที่ศิลปะของการพูด ศิลปะของการที่จะใช้คำพูด ก็คงจะต้องฝึกนิดหน่อย ต้องสังเกตนิดหน่อย ว่าในสถานการณ์อย่างนี้ แล้วก็บุคคลอย่างนี้ คือให้ถูกกาลเทศะ บุคคล เราควรจะใช้คำพูดอย่างใด ความหมายเหมือนกัน แต่ควรจะใช้คำพูดอย่างใด และท่วงทำนองการพูดคือน้ำเสียงในการพูด ควรจะใช้น้ำเสียงอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับผู้ฟังคนนี้ บางคนอาจจะชอบพูดตรงไปตรงมาจบ แล้วก็บางคนอาจจะต้องพูดให้เสียงมีน้ำหนักหน่อย แต่บางคนอาจจะเป็นชอบไม้นวมไม้อ่อน นี่ล่ะค่ะเราก็ต้องดูให้เหมาะสม แล้วก็ถ้าเผอิญกาลเทศะไม่อำนวย ที่จะไม่ให้พูดชี้ผิดชี้ถูก หรืออย่างอาจารย์ถามนี่นะ เข้าในลักษณะชี้ผิดชี้ถูก ถ้าหากว่ากาลเทศะยังไม่เข้า จังหวะยังไม่อำนวย เราก็อย่าเพิ่งไปชี้ผิดชี้ถูกในตอนนั้น ก็คอยดูว่าจังหวะไหนจะเหมาะเจาะ ก็จึงค่อยพูด ศิลปะของการพูดนี่ค่ะจำเป็นต้องเรียนรู้ และก็ต้องฝึกเอาไว้เหมือนกัน จึงจะได้เกิดประโยชน์เต็มที่ มีอะไรจะถามบ้างไหมคะ ถ้ามีอะไรจะออกความเห็นอีกก็เชิญได้ มีไหมคะ โอ๋มีไหม
(มีเสียงลูกศิษย์พูด ไม่ได้ยินเสียง)
และความก้าวหน้านั้นก็เป็นไปโดยธรรมใช่ไหมคะ ไม่ผิด อย่างนี้ในทางธรรมท่านก็เรียกว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ คือมีความตั้งใจปรารถนาที่จะกระทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าโลภอย่างชนิดที่เป็นกิเลส ที่เกิดจากตัณหาความอยาก ที่ทำให้ดิ้นรน อันนั้นล่ะก็ มันก็จะมีการเบียดเบียนคนอื่นไปในตัว แต่ถ้าอันนี้เราไม่ไปเบียดเบียนใคร แต่ระวังอยู่นิดหนึ่ง อย่าเบียดเบียนตัวเอง คำว่าอย่าเบียดเบียนตัวเอง ก็คือ รู้ว่าความพร้อมของเรามีแค่นี้ กำลังกายแค่นี้ กำลังใจแค่นี้ เวลาแค่นี้ หรือว่าทรัพย์สินเงินทองที่อาจจะต้องใช้ในกรณีนี้มีเพียงแค่นี้ ต้องดูความพร้อมของเรา ถ้าหากว่ายังไม่พร้อม แล้วก็จะโลภให้จัด เราก็เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ก็เป็นตัณหาแทรก ฉะนั้นต้องดูว่าการโลภนี้เบียดเบียนคนอื่นไหม แล้วเบียดเบียนตัวเองหรือเปล่า ถ้าไม่เบียดเบียนทั้งสองอย่างก็ไปได้ ทำไปเลย ให้เกิดประโยชน์ตรงตามนี้ ถ้าเบียดเบียนตัวเองก็คือทำให้เกินกำลัง เกินกำลังของเราเองแล้วเราก็เป็นทุกข์ มีอะไรอีกไหมคะ ถ้าไม่มีก็ขออนุโมทนาต่อทุก ๆ ท่านนะคะ ขอให้ได้เป็นผู้มีจิตเจริญงอกงามในหนทางธรรมสมความปรารถนา เพื่อความสุขสงบร่มเย็นของชีวิตโดยทั่วกัน