แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เนื้อหา อริยสัจ 4 เป็นธรรมะที่เป็นหลักสำคัญยิ่งในทางพุทธศาสนา หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของอริยสัจ 4 เป็นอย่างยิ่ง ดังที่พระองค์ได้ตรัสอุปมาถึงความสำคัญของอริยสัจ 4 ไว้ว่า อุปมาดังรอยเท้าช้าง โดยกล่าวกับพระภิกษุทั้งหลายในสมัยพุทธกาลว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปบนผืนแผ่นดินสิ้นทั้งปวง ย่อมประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างนั้นกล่าวได้ว่า เป็นยอดเยี่ยมในบรรดารอยเท้าเหล่านั้น โดยมีความขนาดใหญ่ฉันใด กุศลธรรมทั้งสิ้นทั้งปวงก็สงเคราะห์ลงในอริยสัจ 4 ฉันนั้น” เป็นคำตรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า รอยเท้าช้างนั้นอุปมาเหมือนดังความสำคัญของอริยสัจ 4 เพราะเหตุว่ารอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่ยอมรับว่าช้างนั้นเป็นสัตว์ตัวโตรอยเท้าใหญ่ เพราะฉะนั้นสัตว์ใดก็ตามที่เดินผ่านมาในทางนั้นแล้ว ไม่มีทางไหนที่จะไป ก็จะต้องย่ำลงไปในรอยเท้าช้าง และอยู่ในรอยเท้าช้างโดยที่เป็นรอยเท้าเล็ก ๆ ที่อยู่ในรอยเท้าใหญ่ เช่นเดียวกันกับเรื่องของอริยสัจย 4 ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ และความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่
ดังที่เราได้ยินว่า ในพระไตรปิฎกนั้นประกอบไปด้วยพระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ โดยข้อธรรมนั้น ๆ ไม่ได้กล่าวถึงอริยสัจ 4 โดยตรง แต่เป็นข้อธรรมที่สนับสนุนส่งเสริมความเข้าใจและความหมายในความลึกซึ้งของอริยสัจ 4 ให้ยิ่งขึ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสแก่บุคคลที่สมควรแก่การฟัง นั่นก็คือมีพื้นจิตที่สะอาดนุ่มนวลอ่อนโยน พร้อมทั้งมีปัญญาที่จะฟังแล้ว สามารถที่จะเข้าใจและเข้าถึงความหมายของอริยสัจ 4 ด้วย
โดยปรกติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ทรงเสียเวลาตรัส คือพูดหรือถกเถียงปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือหมายถึง ในขณะที่กำลังมีลมหายใจอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นขณะที่จะมีความรู้สึกถึงสุขหรือทุกข์ หรือมีความรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปฉันใด ฉะนั้น ถ้าพูดถึงช่วงเวลา 3 ช่วง คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คงจะทราบว่าในช่วงปัจจุบันนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นช่วงที่แต่ละบุคคลสามารถรู้สึกได้ สัมผัสได้ในสิ่งที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างที่จะแสดงถึงความจริงข้อนี้ คือตัวอย่างที่เป็นพุทธพจน์นะคะ ที่จะแสดงถึงความจริงข้อนี้ก็คือว่า การที่พระองค์จะไม่ทรงพยากรณ์ถึงเรื่องว่า โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เมื่อเวลามีผู้ใดมากราบทูลถามว่า โลกนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกนี้สิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุด สัตว์หลังจากตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่ คือตายแล้วจะไปไหน ตายแล้วจะยังอยู่หรือเปล่าหรือไม่ พระองค์จะไม่ตรัส เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ แม้จะทรงบอกให้รู้ก็หาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบันนี้แต่อย่างใดไม่ ซึ่งพระองค์จะทรงเปรียบว่า เหมือนบุรุษคนหนึ่งถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ซึ่งเมื่อลูกศรอาบยาพิษนั้น หน้าที่หรือวิธีในการรักษา ก็ควรได้รับการรักษาอย่างฉับพลัน ด้วยการผ่าตัดเพื่อจะได้ถอนพิษกำจัดพิษนั้นให้ออกไปจากร่างกาย แต่ชายหนุ่มผู้นั้นจะไม่ยอมให้ผ่าตัด จนกว่าจะได้รู้ว่าคนยิงนั้นคือใคร ธนูที่ใช้ยิงเป็นธนูชนิดใด และสายธนูล่ะทำด้วยอะไร ทำด้วยปอ ผิวไม้ ผิวไม้ไผ่ หรือทำด้วยเอ็น ป่าน หรือทำด้วยเยื่อไม้ อยากจะรู้เสียทั้งหมดในรายละเอียด พอรู้แล้วก็ยังอยากจะรู้ต่อไปอีกว่า ลูกธนูที่ใช้ยิงทำด้วยอะไร เป็นไม้เกิดเองตามธรรมชาติหรือเป็นไม้ที่ปลูกขึ้น พอรู้แล้วก็ยังอยากรู้ต่อไปอีกว่า แล้วหางเกาทัณฑ์เสียบด้วยขนปีกอะไร คือขนปีกของนกอะไร เป็นปีกนกแร้ง นกตะกรุม นกเหยี่ยว หรือนกยูง พอรู้ว่าหางเกาทัณฑ์เสียบด้วยอะไร ก็ยังอยากจะรู้ต่อไปอีกว่า แล้วตัวเกาทัณฑ์พันด้วยอะไร พันด้วยเอ็นวัว เอ็นควาย เอ็นค่าง หรือเอ็นลิง พอรู้แล้วก็ถามต่อไปอีกว่า ลูกธนูนั้นเป็นชนิดใด ซึ่งก็คงจะเห็นได้แล้วนะคะว่า ถ้าผู้ใดเมื่อโดนลูกธนูอาบยาพิษขนาดนี้ แล้วก็มามัวซักถามสิ่งไม่เป็นสาระแก่นสารดังที่กล่าวแล้ว ก็แน่นอนล่ะ กว่าจะรู้เรื่องราวทั้งหมดก็คงตายแล้ว ตายเพราะว่ายาพิษนั่นแล่นซาบซ่านเข้าไปถึงหัวใจโดยไม่ทันได้รับการผ่าตัด ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้ตรัสว่า พระองค์จะไม่บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบัน เช่น มาถามว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง สิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุด ตายแล้วไปไหน อย่างนี้เป็นต้น รู้แล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ควรใช้เวลาในปัจจุบันนั้น พยายามศึกษาสิ่งที่ควรรู้อันจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบันนี้ ก็จะสมควรแก่การมีเวลา หรือใช้สติปัญญานั้นอย่างคุ้มค่ามากกว่า
ตัวอย่างของความสำคัญอันนี้ ก็เชื่อว่าคงจะได้เคยได้ยินกันมาบ้างแล้วนะคะ ในขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในป่าสีสปาวัน ใกล้กับพระนครโกสัมพี ก็ได้ทรงหยิบใบประดู่ลายจำนวนเล็กน้อยถือไว้ในพระหัตถ์ และตรัสถามพระพุทธสาวกในสมัยนั้นว่า ใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์กับใบไม้ในป่านั้น อันไหนจะมากกว่ากัน ก็แน่นอนนะคะ เราทุกคนทราบว่าใบไม้ในป่าย่อมมากกว่าใบไม้ในพระหัตถ์อย่างที่เปรียบประมาณกันไม่ได้เลย พระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า การที่พระองค์หยิบใบไม้กำเอาไว้ในพระหัตถ์ แล้วก็มาถามดังคำถามที่กล่าวมาแล้วนั้นก็เพื่อเปรียบให้เห็นว่า ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้ยิ่งแล้ว มิได้บอกแก่เธอทั้งหลายมีมากมายกว่าใบไม้ในกำมือนี้เหลือประมาณ แต่เพราะเหตุใดเราจึงมิได้บอก ก็เพราะว่าสิ่งนั้นมิได้ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่หลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
พรหมจรรย์ก็คือการประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐเหมือนพรหม คือพรหมในที่นี่ไม่ได้หมายถึงพระพรหมลูกฟักดังที่กล่าวกันมา ที่นอนกลิ้งไปกลิ้งมา แต่หมายถึงการประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐ อันหาตำหนิติเตียนอะไรไม่ได้เลย เป็นการประพฤติปฏิบัติที่มีแต่ความบริสุทธิ์สะอาด ประกอบไปด้วยจริย คือ จริยา ก็คือความประพฤติที่ประกอบไปด้วยความรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาประมวลรวมกันเข้าแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นแบบอย่างของชีวิตอันประเสริฐ สิ่งที่พระองค์ไม่นำมาสอนที่มีอยู่มากมายเหล่านั้น เพราะมิใช่หลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา นิพพิทาก็คือเมื่อฟังแล้วก็ไม่ชวนให้เกิดความสลดสังเวช จนกระทั่งเกิดความเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่คลุกคลีเกลือกกลิ้งอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะยิ่งถลำตัวเข้าไปตกไปเป็นทาสยึดมั่นถือมั่นให้ยิ่งขึ้น ๆ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ เมื่อไม่มีความสลดสังเวช ไม่มีความเบื่อหน่าย ความจางคลายในสิ่งที่หลงใหลติดบังอยู่นั้นก็ย่อมไม่เกิดขึ้น มีแต่จะยิ่งติดมากขึ้น ๆ ไม่เป็นไปเพื่อนิโรธ นิโรธก็คือความดับ ดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์นั้น ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่นำความสงบให้เกิดขึ้นในจิต ไม่นำความรู้อันยิ่งให้เกิดขึ้นในจิต และที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพื่อนิพพาน หมายถึง ความสงบเย็นที่จะบังเกิดขึ้นภายใน
เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่เราบอก เราบอกว่าอันนี้ทุกข์ เราบอกว่านี้สมุทัย เราบอกว่านี้ทุกขนิโรธ เราบอกว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทุกข์กับสมุทัยก็คือเหตุแห่งทุกข์ ทุกขนิโรธก็คือความทุกข์ที่ดับ หรือว่าการทำให้แจ้งซึ่งความทุกข์ ซึ่งการดับของความทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็คือหนทางแห่งการดำเนินเพื่อไปให้ถึงซึ่งความดับแห่งทุกข์นั้น เพราะเหตุไรเราจึงบอกในข้อเหล่านี้ ก็เพราะข้อนี้ประกอบด้วยประโยชน์ ข้อนี้เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้อนี้ทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็คืออริยสัจ 4 นั่นเอง ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้อนี้เป็นไปเพื่อนิพพิทา เมื่อเรียนรู้ศึกษาเข้าใจจนเข้าถึงความจริงอันประเสริฐทั้ง 4 ประการนี้แล้ว ก็จะทำให้จิตใจของบุคคลนั้นเกิดนิพพิทา คือความเหนื่อยหน่ายเอือมระอาในสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยความสลดสังเวชใจ เพื่อวิราคะ เกิดความจางคลายในความกำหนัดยึดมั่นถือมั่น เพื่อนิโรธเกิดความดับสนิทแห่งความยึดมั่นถือมั่นนั้น เพื่อความสงบ มีความสงบเย็นบังเกิดขึ้น เพื่อความรู้ยิ่ง มีความรู้ที่ยิ่งในเหตุแห่งนี้ หรือในอริยสัจอันเป็นความจริงอันประเสริฐนี้ยิ่งขึ้น ๆ และก็เพื่อนิพพาน เมื่อรู้ยิ่งขึ้น ๆ ก็เป็นหนทางอันหมดจดถึง หรือบังเกิดขึ้นซึ่งนิพพานนั่นเอง
ฉะนั้น เราจึงบอก เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และพระองค์ก็ได้ทรงย้ำพระภิกษุทั้งหลาย สอนให้ชาวบ้านรู้เข้าใจอริยสัจนี้ คือหมายความว่าเมื่อมีชาวบ้าน มีฆราวาสที่สนใจในเรื่องของธรรมะมาหา จงสอนในเรื่องนี้ คือจงสอนในเรื่องของอริยสัจให้เข้าใจในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำคัญแก่ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ สมควรที่จะได้ชักชวน สอนให้ดำรงอยู่ในการรู้ตามเป็นจริงซึ่งอริยสัจ 4 ประการ นี่คือความสำคัญของอริยสัจ 4 ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์ชัดในพระทัยทีเดียวว่า ถ้าหากว่าบุคคลใดประสงค์ที่จะศึกษาพุทธศาสนา ศึกษาพระธรรมจะต้องรู้ในเรื่องของอริยสัจ 4 เพื่อที่จะเป็นหนทางนำไปสู่นิพพิทา วิราคะ นิโรธ ความสงบ ความรู้ยิ่ง จนบังเกิดนิพพาน คือความสุขสงบเย็นดับเย็นสนิทบังเกิดขึ้นในจิต
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ติดตามในการแสดงพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามที่ได้เรียนรู้จากครูบาอาจารย์ หรือจากในพระไตรปิฎกก็ตาม ก็จะสังเกตได้ว่าเมื่อพระองค์จะทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน หรือแก่ประชุมชน แล้วก็ทรงรู้สึกว่าในคราวนี้ ควรที่จะได้แสดงเรื่องของอริยสัจ 4 ก่อนที่จะทรงแสดงอริยสัจ 4 พระองค์ก็จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นเทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อประโยชบน์ในการที่จะฟอกอัธยาศัยของสัตว์ ของสัตว์ก็คือของมนุษย์ ของคนที่กำลังฟังพระธรรมเทศนานั้นให้หมดจดเป็นชั้น ๆ ไป หมายความว่า โดยปรกติจิตใจของมนุษย์เรานั้นมักจะคลุกเคล้าอยู่กับสิ่งเศร้าหมอง หรือสิ่งสกปรกที่เราเรียกว่าเป็นกิเลส โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง พร้อมด้วยตัณหาความอยากนานาประการ พร้อมด้วยอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ล้วนแล้วแต่ทำให้จิตนี้มันรกรุงรัง ไม่มีความว่าง ความสงบ ความสบาย
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะฟังพระธรรมเทศนาอันเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา คืออริยสัจ 4 พระองค์ก็ทรงทราบว่าจำเป็นจะต้องชำระจิตของผู้ฟังให้มีความสะอาดหมดจดเป็นชั้น ๆ ไป คือจากความหยาบ ความกระด้าง ความขรุขระมาก ๆ ให้ค่อย ๆ เกลี้ยงเกลา ละเอียดหมดจดประณีตเข้า เพราะฉะนั้น จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาจากเรื่องง่าย ๆ ไปหาเรื่องยาก ๆ เพื่อที่จะเป็นการเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะฟังอริยสัจ 4 ต่อไป อนุปุพพิกถาที่กล่าวนี้ มีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน อย่างแรกจะทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องของทาน คือจะทรงพรรณนาผลของทาน ให้รู้ว่าการทำทานนั้นคืออะไร มีคุณค่ามีประโยชน์อย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังฟังแล้วก็มีความชุ่มชื่นเบิกบานในการทำทาน ซึ่งก็คงทราบว่า การทำทาน คือการบริจาคของภายนอก ของภายนอกในที่นี้ ก็หมายถึง เช่น วัตถุ สิ่งของ ทรัพย์สิน เงินทอง หรือข้าวปลาอาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งชาวพุทธค่อนข้างจะมีความสามารถและมีจิตใจเมตตา กรุณา พร้อมที่จะบริจาคทานในลักษณะนี้ ทีนี้เมื่อพระองค์ทรงพรรณนาถึงเรื่องของทาน ตลอดจนอานิสงส์ของทาน ผู้ที่ฟังเมื่อฟังไปก็จะเกิดความชุ่มชื่นเบิกบานในใจ และจิตที่สมมติว่ากำลังจะนุงนังรุงรังอยู่กับสิ่งที่เป็นกิเลสบ้าง ตัณหาบ้าง อุปาทานบ้าง ก็จะค่อย ๆ ลดละจางหายไปเองตามลำดับ เพราะมีความชุ่มชื่นสงบเย็นตามลำดับ
จากนั้นพระองค์ก็จะทรงพรรณนาถึงเรื่องของศีล ที่เรียกว่า ศีลกถา จากทานกถาเป็นเรื่องของศีลกถา เป็นเรื่องการพรรณนาถึงอานิสงส์ของการสมาทานศีล ซึ่งก็คงทราบแล้ว ศีลที่เป็นพื้นฐาน คือ ศีล 5 ในเรื่องไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ผิดเรื่องกาม หรือการประทุษร้ายของรักของผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายผู้อื่นด้วยวาจา คือการเบียดเบียนให้เขาต้องเจ็บช้ำน้ำใจ เป็นต้น และข้อสุดท้าย คือไม่ประทุษร้ายตัวเอง ด้วยความหลงใหล งมงายหรือมัวเมาในสิ่งมึนเมาทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ก็จะทรงพรรณนาถึงอานิสงส์ของการมีศีลว่า จะช่วยสามารถรักษาความปกติให้เกิดขึ้นแก่ทางกาย ทางวาจาที่มองดูแล้ว หรือฟังแล้วมันนุ่มนวลอ่อนโยนงดงาม ชวนให้ผู้ฟังและผู้มองเห็นเกิดความนิยมยินดียกย่องนับถือ นี่ก็แสดงถึงความเป็นปกติของจิตอันเกิดมาจากจิตที่ปกติ และกายก็เลยปกติ วาจาก็เลยปกติไปด้วย เรียกว่า เป็นผู้ที่มีความปกติด้วยการสมาทานศีล และสามารถที่จะรักษาศีลนั้นไว้ด้วยความหมดจดบริสุทธิ์สะอาด
จากนั้นก็จะทรงพรรณนาถึงสวรรค์ที่เรียกว่า สัคคกถา คือความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม กล่าวถึงอานิสงส์ของการที่จะอยู่ในสวรรค์ ซึ่งสวรรค์ในที่นี้ ถ้าพูดถึงสวรรค์ที่อยู่เบื้องบนก็ไม่สู้จะมองเห็น ก็อาจจะมองดูสวรรค์บนดิน อาจจะมีบางคนหรือบางกลุ่มที่สามารถที่จะหาความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม กามในที่นี้ คืออะไร นอกจากกามอารมณ์ก็หมายถึง ความสุขที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบแห่งรูป สิ่งใด ๆ ก็ตาม จะเป็นรูป เป็นวัตถุทั้งหลายทั้งปวง ก็ล้วนแล้วแต่สวยงาม พอตาพอใจ เสียงที่ได้ฟัง ก็มีแต่เสียงที่ไพเราะเสนาะโสต จะเป็นเสียงคำพูดก็ดีหรือเสียงดนตรีก็ดี เป็นต้น หรือจมูกที่ได้กลิ่นก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลิ่นที่หอมหวนชวนใจให้สบาย หรือจะเป็นรสที่ได้ลิ้มผ่านลิ้น ก็ล้วนแล้วเป็นรสที่เอร็ดอร่อยน่าที่จะเอมโอษให้ยิ่งขึ้น หรือสัมผัสที่ได้รับทางกายก็มีความนุ่มนวลอ่อนโยน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้พระองค์ก็จะทรงพรรณนาให้ฟังว่า ผู้ที่จะได้รับความสุขที่พรั่งพร้อมอย่างนี้ อันประกอบด้วยกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดังกล่าวแล้วนี้ เนื่องมาจากอะไรบ้าง ก็อาจจะบอกได้ว่า เนื่องมาจากการบริจาคทาน การสมาทานศีล
แต่เสร็จแล้วต่อไป พระองค์กลับทรงพรรณนาถึงโทษของกาม ในขณะที่การแสดงพระธรรมเทศนาในลำดับ 3 นั้น เป็นสัคคกถาทรงพรรณนาถึงความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกามในสวรรค์ แต่พอมาต่อไปกลับทรงพรรณนาถึงโทษของกามที่เรียกว่า กามาทีนวกถา ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ เราก็คงจะเข้าใจกันนะว่า พระองค์ปรารถนาที่จะเตือนให้สำนึก ให้สำเหนียกว่า การที่จะหลงมัวเมาจมอยู่ในกามที่เรียกว่ากามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นดูเป็นความสุขก็จริงอยู่ แต่หาใช่ความสุขที่ยั่งยืนไม่ มันเป็นเสมือนกับเป็นความสุขที่ร้อน เพราะแม้จะได้จมอยู่ซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่พอใจ แต่เป็นการได้ที่ไม่รู้อิ่ม เท่าไรก็ไม่พออยากจะเรียกร้องให้มากขึ้น ๆ ให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นความพรั่งพร้อมด้วยความสุขด้วยกามนั้น จึงหาใช่ความสุขที่แท้จริงไม่ พระองค์ก็ไม่ปรารถนาที่จะให้หลงไปเช่นนั้น จึงได้แสดงให้เห็นถึงโทษของการที่ตกจมอยู่ในกาม ว่าจะยิ่งมัวเมาตกอยู่ในหล่มแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงแห่งตัณหาแห่งอุปาทานยิ่งขึ้น ๆ
ในที่สุดของอนุปุพพิกถาก็จะทรงกล่าวถึงเรื่องของ เนกขัมมานิสังสกถา เป็นข้อสุดท้ายซึ่งหมายถึงว่า เป็นการพรรณนาถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกาม คือการที่บุคคลใดก็ตามสามารถจะดึงจิตของตนที่ตกอยู่ภายในอำนาจของกามนั้นให้หลุดออกมา ให้เป็นอิสระ ให้มองเห็นโทษทุกข์ของการตกอยู่ในกาม และวิธีการที่จะดึงใจ หรือดึงชีวิตออกจากการเป็นทาสของกามได้ อย่างดีที่สุดนั้นก็คือการดึงตัวออกจากเรื่องของกาม เนกขัมมะ ก็คือการอยู่อย่างลำพัง ไม่คลุกคลี อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ในความโดดเดี่ยวนี้ไม่ใช่เป็นความเปล่าเปลี่ยว เป็นความวังเวง หรือเป็นความเหงาหงอย แต่เป็นความโดดเดี่ยวด้วยความสมัครใจ ด้วยความสมัครใจก็เพราะเหตุว่า รู้แล้วถึงโทษแห่งกาม และในขณะเดียวกันก็ได้เห็นคุณของการอยู่เดี่ยว อยู่แต่ลำพัง หรือจะออกไปวิเวกข้างนอก ไม่อยู่ข้างในกลุ่ม อยู่ในบ้าน ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในที่อันสงบสงัด หรือไม่ไปอยู่ในป่า แต่อยู่ในสถานที่ที่มีความเป็นเอก เป็นเอกก็คือความเป็นเดี่ยวอยู่คนเดียวได้ ก็จะพรรณนาอานิสงส์ต่าง ๆ ให้ฟังจนกระทั่งผู้ฟังมีความรู้สึกว่า สิ่งนี้ การที่จะออกเนขขัมมะได้ ที่บางท่านส่วนใหญ่จะบอกว่า คือการออกบวช จะไปบวชจริง ๆ หรือบวชที่ใจของตน คือไม่ข้องเกี่ยวกับการอยู่ในกาม ก็ได้เหมือนกัน มันช่างเป็นส่งที่วิเศษ วิเศษขนาดที่ว่า ไม่สามารถจะพรรณนาหรือบรรยายด้ ว่ามันมีความวิเศษ มันมีความสุขที่เปี่ยมล้น สงบเย็นอยู่ภายในได้เพียงใด ในขณะที่ผู้ฟัง ฟังพระธรรมเทศนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีเจตนาที่ตั้งใจที่จะฟอกอัธยาศัยของสัตว์ หรือของผู้ฟังที่ขรุขระอยู่นั้น ให้ค่อยหมดจดเป็นชั้น ๆ ไป พอมาถึงในตอนสุดท้ายนี้ก็กล่าวได้ว่า จิตของผู้ฟังนั้นมีความสะอาดหมดจดในระดับหนึ่ง และมีความอ่อนโยน มีความนุ่มนวล มีความละเอียดประณีตเหมือนกับเป็นภาชนะที่สะอาด และน้ำที่อยู่ในนั้นก็เป็นน้ำฝนที่สะอาดเหมือนกัน ไม่ใช่มีน้ำโสโครกหรือว่าสกปรกเจือปน กล่าวได้ว่า เป็นจิตที่พร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะรับฟังธรรมะขั้นสูงต่อไป ซึ่งธรรมะขั้นสูงในที่นี้ก็หมายถึง อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่กล่าวแล้วนั่นเอง
ตอนนี้เมื่อพระองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า บุคคลที่อยู่ในที่ประชุมนั้นแม้จะไม่ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่แล้วมีจิตใจที่สะอาดหมดจดพร้อมที่จะฟัง พระองค์ก็จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องของอริยสัจ 4 ซึ่งก็คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่ถ้าผู้ใดรู้ เข้าใจ และเข้าถึงก็จะทำให้บุคคลนั้นมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก นึกๆ นะคะว่า ข้าศึกที่กล่าวถึงในที่นี้ คืออะไร ก็อยากจะบอกว่า ข้าศึกนี้ไม่ใช่คน ที่ว่ามีชีวิตอยู่โดยปราศจากข้าศึก โดยทั่วๆ ไปก็จะนึกว่า ข้าศึกนี้ คือคน คนที่จะมาทำร้ายส่วนตัว หรือเป็นกลุ่มคนเป็นกองทัพที่จะมาทำร้ายรุกรานประเทศชาติ หามิได้ ข้าศึกในที่นี้ไม่มีชีวิต ไม่ใช่เป็นคน ไม่ใช่เป็นสัตว์ แต่ทว่า เป็นสิ่งที่คนทั้งหลายมักจะมองเมิน หรือมองอย่างผิวเผินและก็ประมาทไปว่า สิ่งนี้ไม่มีความสำคัญ แต่แท้จริงแล้วมันคือข้าศึกที่น่ากลัวที่สุดที่มนุษย์ควรจะรู้จัก ทั้ง ๆ ที่คลุกคลีอยู่กับมันตลอดเวลาแต่ไม่ได้สำเหนียกเลย ข้าศึกนี้ก็คือเจ้าสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั่นเอง ฉะนั้น อริยสัจ 4 ก็คือกล่าวถึงความจริงอันประเสริฐ ที่จะทำให้มนุษย์เมื่อรู้แล้ว เข้าถึงแล้ว จะมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก ก็นึกดูนะคะว่า การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากข้าศึกมันจะมีความสุข มีความไร้กังวล หรือไม่มีความกังวลกับชีวิตเลย อยู่ได้อย่างปลอดภัย อยู่ได้อย่างสง่า อย่างมั่นคง เพราะมีความแน่ใจแล้วว่า ชีวิตนี้ไม่มีอันตรายใดที่จะเข้ามากระทบรุกรานได้เลย
อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ มีอะไรบ้าง ก็เชื่อว่า คงจะได้ยินมาแล้ว เพราะว่าแต่ละคนคงจะได้เรียนในโรงเรียนมาแล้ว แต่อาจจะไม่ได้สนใจที่จะทำความรู้จักหรือศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้ง จึงยังคงเกลือกกลิ้งอยู่กับความทุกข์ ก็อยากจะพูดถึงอริยสัจ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือข้อแรก อริยสัจข้อที่ 1 ที่เรียกว่า ทุกขสัจให้ละเอียดพอสมควร คำว่าทุกข์ โดยพยัญชะก็คือ โดยตัวหนังสือ ก็มีความหมายว่าทนยาก ดูแล้วน่าเกลียด ว่างอย่างน่าเกลียดเพราะความเป็นจริงแล้วมันไม่มีอะไร แต่ทว่าไปเห็นว่ามันมี เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่หาสารประโยชน์อะไรไม่ได้เลยในเรื่องของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ จึงไม่ควรที่จะไปเกลือกกลิ้งกับมัน แต่ถ้าหากว่า พูดถึงความหมายของคำว่าทุกข์ ตามภาษาของอริยสัจแล้ว มีอยู่ 3 ความหมายด้วยกัน
ความหมายแรก คือ ความเจ็บปวดทรมาน คือทุกข์ในอริยสัจ วันก่อนพูดถึงทุกข์ในไตรลักษณ์ที่หมายถึงลักษณะ แต่ว่าทุกข์ในอริยสัจหมายถึงเวทนา คือความรู้สึก มันจึงหมายถึง ความเจ็บปวดทรมาน แม้แต่สิ่งที่สมมติเรียกว่า ที่สมมติเรียกกันว่า ความสุขก็ยังต้องทน จริงหรือเปล่าไม่ทราบ แล้วจะคิดว่าเชื่อไหมหรือเปล่า ก็ลองนึกดูถ้าจะยกตัวอย่างที่ท่านว่า ความสุขก็ยังต้องทน อย่างเช่น ผู้ที่มีครอบครัวเมื่อตกลงใจจะมีครอบครัว ก็เพราะคิดว่ามันเป็นความสุขไม่ใช่ความทุกข์ ก็ตกลงมีครอบครัวอยู่ด้วยกัน แรก ๆ ก็มีความสุขดี ยังไม่ทันมีปัญหามีอุปสรรค แต่พอต่อไปชีวิตเกิดมีปัญหาเนื่องด้วยการงานบ้าง อาชีพบ้าง มีลูกน้อย และสุขภาพส่วนตัวบ้าง หรือความสม่ำเสมอที่เคยมีต่อกันในตอนต้น ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีความรู้สึกยังไงคะ เอาล่ะ แต่ยังไงก็มีความสุข สุขมากกว่าการอยู่คนเดียว มีความรู้สึกว่าอย่างนั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่ลองถามตัวเองสิ ตอนนี้กับตอนแรก ๆ มันต่างกันมั้ย ความรู้สึก ตอนหลังก็ยังเป็นความสุข แต่ต้องมีความทนแทรกอยู่ด้วยหรือเปล่า ในขณะที่มีความรู้สึกว่าเป็นสุข อาจต้องทนอดนอน ไม่ได้กินเป็นเวลา ทนเหนื่อยและทนทำอะไรต่ออะไรหลายอย่างที่ไม่อยากทำ ต้องทนพูดเพราะเพื่อให้ถูกใจต่อกันและไม่ให้เกิดปัญหาแก่กันและกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าทุกข์ในความหมายของอริยสัจข้อแรก ก็คือความเจ็บปวดทรมาน ไม่เฉพาะสิ่งที่มองเห็นกันว่าทุกข์หรอกนะคะ แม้แต่สิ่งที่สมมติเรียกกันว่า ความสุขก็ยังต้องทน ฝากไว้ให้คิดก่อน โดยอย่าเพิ่งพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ใคร่ครวญดูจนกระทั่งเห็นเองด้วยใจ
ความหมายที่ 2 ก็คือ เป็นสิ่งที่ดูแล้วน่าเกลียด น่าเกลียดเพราะอะไร น่าเกลียดเพราะมีการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับมันหลอกลวงตลอดเวลา มันไม่ใช่ของจริง แต่ทว่าไม่ค่อยมีใครเห็นทุกข์เป็นสิ่งหลอกลวงหรอก อย่างมากก็จะเห็นว่า สุข คือสิ่งหลอกลวง แต่ที่จริงแล้วความทุกข์นี้ ดูแล้วน่าเกลียดเพราะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อนี้ในความรู้สึกส่วนตัวก็อยากจะพูดว่า ถ้าผู้ใดมองเห็นว่า มันมีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ทุกข์นี้มันก็มีการเปลี่ยนแปลง ตามที่ท่านได้พูดแล้วในเรื่องของไตรลักษณ์ ว่าตกอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ตามกฎของทุกขัง เพราะมันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่สิ่งที่มีตัวมีตน ถ้าผู้ใดเห็นความทุกข์นี้มันเปลี่ยนแปลงได้ อยากจะบอกว่าดีมากเลยทีเดียว เป็นคนที่มีโชค มีบุญที่เห็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะจะได้ไม่ไปยึดถือในความทุกข์จนกระทั่งมันกัดกินใจให้เป็นทุกข์ จนกระทั่งต้องร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญ หรือบางทีถึงกับลาโลกไปเลย ถ้าผู้ใดเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงก็จะดีมากทีเดียว
ความหมายที่ 3 คือ มันมีความว่างอย่างน่าเกลียด เพราะปราศจากสารประโยชน์ สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี้ มนุษย์ก็ไปเกลือกกลิ้งกับมัน กอดรัดมันว่าเป็นความทุกข์ของฉัน และก็เอามาทำร้ายตัวเองให้เจ็บปวดทรมานจนกระทั่งเหี่ยวแห้งผอมโซ หรือกลายเป็นโอกาสให้โรคร้ายอื่น ๆ เข้ามารัดรึง หรือเข้ามาสู่ร่างกาย นี่ก็น่าสงสาร เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นั่นเอง เพราะอันที่จริงแล้วมันไม่มีอะไรเลย ไม่มีแก่นสาร ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เห็นมั้ยคะ ตามที่เราได้พูดถึงเรื่องไตรลักษณ์ในวันก่อนว่า ถ้าผู้ใดเห็นไตรลักษณ์อย่างเข้าถึงแล้วล่ะก็ จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ก็คือได้รับความสุขที่แท้จริงอย่างสูงสุด เป็นความสุขอันประเสริฐ เพราะจะมีแต่ความสงบเย็นดับสนิท สิ้นซึ่งความร้อนทุกอย่างทุกประการ
ทีนี้อาการของความทุกข์เป็นอย่างไร ก็ควรจะได้รู้จักอาการของความทุกข์ เพื่อเอาไว้สังเกต เนื่องจากเรารู้จักแต่คำว่าทุกข์ที่เราเรียกกันว่าทุกข์ แต่จะมีสักกี่คนที่จะได้ใช้เวลาสังเกตเข้าไปที่ข้างในว่า อาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายใน สิ่งที่เขาเรียกว่าความทุกข์นี้มันมีอาการอย่างไร
ประการแรก อาการที่เกิดขึ้นมันเป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ หรือเรียกว่า เป็นสภาวธรรมตามธรรมชาติ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือความโศก ความร่ำไร รำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ความปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้สิ่งนั้น พอพูดอย่างนี้นึกออกไหมคะว่ามีอยู่ที่ไหน ถ้าหากท่านผู้ใดสนใจทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าทุกค่ำ ย่อมจะนึกออกว่านี่ปรากฏอยู่ในการทำวัตรเช้านั่นเอง ที่ท่านอธิบายถึงลักษณะของความทุกข์ อาการความทุกข์ของคนเป็นไปอย่างนี้ แต่อันที่จริงแล้ว มันเป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติโดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดก็คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิดนี่ไม่ค่อยนึกกัน ทั้ง ๆ ที่ความเกิดมีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีความเกิด ความแก่ก็ไม่มี ความเจ็บก็ไม่มี ความตายก็ไม่มี ใช่ไหมคะ นี่ค่อนข้างพูดเป็นโวหารไปสักหน่อย แต่อยากจะฝากให้คิดเอาไว้แล้วจะเห็นเอง ถ้าหากว่าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในความเกิดซะอย่างเดียวเท่านั้น ความแก่ก็สักแต่ว่าเป็นความแก่ที่เป็นไปตามสภาวธรรมตามธรรมชาติ ความเจ็บก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ความตายก็เป็นสภาวะธรรมที่จะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยอีกเหมือนกัน นี่เรียกว่าเป็นอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
อาการที่ 2 ก็คือความเป็นไปตามอำนาจของกิเลส พอพูดถึงอาการที่ 2 นี่ก็พอจะมองเห็นใช่ไหมคะ ก็คือมีอาการของกิเลส ก็คือ โลภ โกรธ หลง แต่ถ้าเราแจกแจงออกมาเป็นรายละเอียดจากโลภ โกรธ หลง เราก็จะได้พบ รัก โกรธ เกลียด กลัว ตื่นเต้น วิตก กังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงแหน หึง เป็นต้น นี่เป็นอาการที่แตกแยกออกมาจากโลภ โลภนี่ก็จะมองเห็น รัก นี่คือโลภ มาจากอาการของกิเลสตัวโลภ เพราะเหตุว่าอะไร เพราะเหตุว่าอยากได้ โลภ คืออยากได้ อยากเอามา โกรธ เกลียด ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ อยากผลักออกไป เพราะฉะนั้น โกรธ เกลียดก็อยู่ในโกรธ โทสะ กลัว ตื่นเต้น วิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉา ริษยา หวงแหน หึง เหล่านี้รวม ยาวหลายคำ แยกออกไปแล้วได้หลายคำ แต่ทั้งหลายคำทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในคำกิเลสที่ว่าโมหะ คือ หลง เห็นมั้ยคะ ตัวโมหะนี่น่ากลัวมาก สำคัญเพราะว่ามันเห็นได้ยาก หากว่าโลภ ดึงเข้ามา เมื่อเกิดอาการโลภอยากจะดึงเข้ามาเป็นของเราเมื่อไร อ่อ นั่นโลภแล้ว เห็นได้ง่าย หรือพอไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เพราะโกรธ คือโทสะ ก็ผลักออกไป มองเห็นง่าย แต่หลงเนี่ยมันวนเวียน วุ่นวาย วนเวียน วุ่นวาย คิดไปคิดมาไม่ตกเหมือนกับอยู่ในอ่าง หรือว่าพายเรืออยู่ในสระ ไม่สามารถที่จะออกทะเลออกแม่น้ำอะไรได้ ก็วนอยู่นั่นเอง มันจึงทำให้รู้จักยาก และก็โปรดทราบเถิด ถ้ามีอาการวนเวียนเกิดขึ้นในใจเมื่อใด วนเวียนและก็เอามาคิดซ้ำคิดซาก คิดแล้วคิดอีก คิดถอยหน้าถอยหลัง จนกระทั่งเกิดความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ตัดสินใจตกลงใจไม่ได้ รีบหยุดทันทีนะคะ เพราะคืออาการของความหลง และเจ้านี่แหละเป็นตัวการที่ทำให้นอนไม่หลับ บางทีโกรธ โกรธแล้วก็หายไป ถ้าหากว่าไม่เอามาคิดวิตกกังวล หรือว่าไม่ถูกอกถูกใจต่อมาอีก มันก็จบแค่นั้น แต่พอเอามาคิดซ้ำคิดซากคิดวนเวียนมันกลายเป็นอาการของความหลง คือโมหะไปซะแล้ว
ฉะนั้น ถ้าเราสังเกตอาการที่เกิดขึ้นภายในด้วยการเฝ้าดูจิต คือดูความรู้สึกภายในของตนอยู่เสมอ ๆ ก็จะทำให้รู้จักลักษณะอาการของความทุกข์ได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น เมื่อรู้จักได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นก็จะได้รู้ได้ว่า อ๋อ สิ่งที่ท่านเรียกว่าข้าศึกของมนุษย์คือความทุกข์ มันมีอาการมีหน้ามีตาอย่างนี้เอง แล้วชอบไหมล่ะ อยากคบมันไว้ไหม อยากมีมันไว้ติดตัวไหม ถ้าคำตอบ คือไม่เอา ไม่อยากมี พอเห็นอาการมันมาต้องรีบผลักมันออกไปทันที ผลักด้วยวิธีไหน หายใจยาวช้า ๆ แล้วค่อย ๆ ไล่มันออกไป ด้วยหน้ายิ้ม ๆ ให้กล้ามเนื้อคลาย พอกล้ามเนื้อคลาย จิตใจสบายขึ้น หายใจยาวช้า ๆ อีก ค่อย ๆ ไล่มันออกไปอีก พอจิตใจสบายขึ้นแล้ว จดจำไว้ให้แม่น แล้วก็พยายามฝึกอบรมสติให้มากขึ้น ๆ พร้อมด้วยปัญญา เพื่อที่จะเป็นอาวุธป้องกันควบคุมประตูบ้าน คือประตูใจ ไม่ยอมเปิดออกรับข้าศึกเหล่านั้นอีกนะคะ
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักอาการของความทุกข์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะได้ไว้สังเกต รู้จักมันจับตัวมันได้ และจะได้มีวิธีป้องกันกำจัดมันออกไป ไม่ให้มันมาเป็นข้าศึกที่ทิ่มแทงจิตใจหรือกัดกินชีวิตของเราอีกต่อไป ฉะนั้น ถ้าหากว่าจะอยากดูรายละเอียดของอาการของความทุกข์อีก ก็จะสังเกตได้อีกว่า ถ้าดูเข้าไปในความรู้สึกข้างใน ก็จะปรากฏเป็นอาการของความหงุดหงิดบ้าง อึดอัดบ้าง รำคาญบ้าง หมั่นไส้บ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้ บางคนบอกว่า อุ๊ย ธรรมดาใคร ๆ เขาก็เป็นกัน แต่เป็นบ่อย ๆ แล้วดีไหม ประเดี๋ยวก็หงุดหงิด ประเดี๋ยวก็อึดอัด ประเดี๋ยวก็รำคาญ ประเดี๋ยวก็หมั่นไส้ เดี๋ยวก็ทุรนทุราย เร่าร้อนอยู่ไม่เป็นสุข ผุดรุกผุดนั่ง วุ่นวายสับสนไปมาจนกระทั่งอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เหนื่อย ขยับเขยื้อนไม่ไหว ดีไหม ถ้าชีวิตเป็นอย่างนี้บ่อย ๆ ดีมั้ย ถ้าจะเห็นว่า หงุดหงิดก็ธรรมดา อึดอัดก็ธรรมดา รำคาญบ้าง หมั่นไส้บ้างก็ธรรมดา มันไม่ธรรมดาซะแล้ว เพราะมันทำให้ชีวิตนี้วุ่นวาย ไม่เป็นปรกติสุขเลย ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าให้หมั่นสังเกต หมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้น โดยดูเข้าไป ดูเข้าไปที่ความรู้สึก เอาสติจับจ้องเข้าไปที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน
อีกอย่างหนึ่งท่านก็เตือนว่า การปรากฏของความทุกข์นี้ บางทีก็มาอย่าเปิดเผย สง่าผ่าเผย แต่บางทีก็มาอย่างซ่อนเร้น มาอย่างซ่อนเร้นนั้น คืออย่างไร ก็คือมาในรูปที่เรียกว่าความสุข สิ่งที่เรียกว่าความสุข โดยความสุขจริง ๆ นั้นหามีไม่ ถ้ามีแล้วมันควรจะต้องอยู่คงที่ ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เมื่อมันมีอาการเปลี่ยนแปลง ทนอยู่ไม่ได้ แล้วสิ่งที่เรียกว่าสุขนั้นมันจะจริงได้อย่างไร หากว่ามันจริงมันก็ต้องอยู่ตลอดไป แต่มันหาอยู่ตลอดไปไม่ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงกลับไป สิ่งที่เรียกว่าสุขก็หายวับไปกับตา เหมือนกับเป็นสิ่งที่เป็นมายา เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะทิ้งมันให้ได้ แต่ถ้าหากมันมาอย่างเปิดเผย ก็คือสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ พอทุกข์เมื่อใดก็เหมือนกับนรก พอสุขเมื่อใดก็เปรียบเหมือนกับสวรรค์ เพราะฉะนั้น การปรากฏของความทุกข์อย่างเปิดเผยก็คือในขณะที่คนผู้นั้นบอกว่าทุกข์ ทุกข์เหลือเกิน ทุกข์อย่างกับอยู่ในนรก และมันมาอย่างเปิดเผยแสดงตัวให้เห็น กระทบกระแทกกัดกินอย่างไม่เกรงใจ แต่ถ้ามาอย่างซ่อนเร้นก็เหมือนกับเอาสวรรค์มาให้ ขณะนี้กำลังอยู่ในสวรรค์ สวรรค์ของความสุข แต่ประเดี๋ยวมันก็หายวิบ หายไปชั่วพริบตา ฉะนั้น การปรากฏของสิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์ก็มาได้ 2 อย่าง เปิดเผยก็ได้ ซ่อนเร้นก็ได้ ถ้าเปิดเผยก็จับตัวง่าย แต่ถ้าซ่อนเร้นนี่ยาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับความทุกข์ต่อไปอีกก็คือ ความจริงเกี่ยวกับความทุกข์ หรือสัจจะเกี่ยวกับความทุกข์ ท่านก็บอกว่า ประการแรก ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ นี่จำเป็นทีเดียวนะคะ เราจะกำหนดรู้ได้อย่างไร ก็คือรู้ความหมายของความทุกข์ รู้ลักษณะอาการปรากฎของความทุกข์เหมือนดังที่กล่าวแล้ว ต้องสังเกตมาตามลำดับอย่างละเอียดลออถี่ถ้วน นี่คือการกำหนดรู้สิ่งที่เป็นความทุกข์ นอกจากนี้ก็รู้เหตุแห่งทุกข์ คือ ทุกขสมุทัย รู้ว่าพอรู้เหตุแห่งทุกข์แล้ว เป็นสิ่งที่ต้องละ คือต้องละ ต้องเลิกสิ่งที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ อย่าไปรักษามันไว้ อย่าไปเก็บมันไว้ อย่าไปเป็นเพื่อนกับมัน ถ้าเป็นเพื่อนกับสิ่งที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ คือสิ่งที่เรียกว่าตัณหาแล้ว ความทุกข์ก็ไม่มีวันดับเพราะเราเก็บต้นเหตุไว้ แล้วผลของเหตุนั้นคือทุกข์จะหมดไปได้อย่างไร ท่านจึงบอกว่า เหตุแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องละ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คือ นิโรธ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง ต้องทำให้แจ้งให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องดับให้ได้ อันที่ 4 ก็คือทางปฏิบัติให้ลุถึงความดับแห่งทุกข์ คือ มรรคนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มี คือให้เกิดขึ้นที่เราเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 ต้องทำให้มี ให้เกิดขึ้นดำเนินชีวิตไปตามนั้น ฉะนั้น ท่านผู้ใดที่คุ้นเคยกับการสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็จะได้ฟังสิ่งเหล่านี้ ที่ท่านกล่าวถึงเรื่องของทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัยของทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องละ นิโรธ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง แล้วก็ทางปฏิบัติให้เป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มี คืออริยมรรคมีองค์ 8 นี่คือ สัจจะ คือความจริงเกี่ยวกับเรื่องของทุกข์ที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อท่านตรัสรู้แล้ว และท่านเสด็จไปแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกหลังจากที่ตรัสรู้แล้วแก่ปัญจวัคคีย์นั้น ท่านก็ได้ทรงกล่าวถึงสิ่งนี้ เพื่อเป็นพยานหรือเป็นสิ่งอ้างอิงให้ปัญจวัคคีย์ได้ทราบว่า พระองค์สามารถกำหนดสิ่งที่กำหนดรู้สิ่งที่เป็นความทุกข์ได้ชัดเจน พอรู้แล้วพระองค์ก็ทรงละสิ่งที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ และได้ทรงทำความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ให้แจ้ง จนแจ้งประจักษ์ใจ ด้วยวิธีการปฏิบัติให้ลุถึงความดับแห่งทุกข์ตามอริยมรรคมีองค์ 8 เพราะฉะนั้นระองค์จึงทรงสามารถดับทุกข์ได้สิ้นเชิงด้วยพระองค์เอง จึงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วพระองค์จึงนำมาสอน นี่ก็คงจะได้เห็นนะคะว่า อริยสจ 4 เป็นธรรมะที่สำคัญสูงสุดเพียงใด ที่พุทธศาสนิกชนพึงศึกษาทำความเข้าใจให้ชัดเจนและเข้าถึง นอกจากนี้ สัจของความทุกข์อีกข้อหนึ่งที่อยากจะพูดให้ฟังก็คือว่า อันที่จริงแล้วทุกข์นี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เพิ่งจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยของทุกข์มาเกิดขึ้น จริงไหมคะ เราได้ยินบางคนบ่นว่าชีวิตฉันนั้นมีแต่ความทุกข์ ไม่เคยมีความสุขกับเขาเลย ฟังแล้วเหมือนกับว่า 24 ชั่วโมงอยู่แต่กับความทุกข์เพียงอย่างเดียว แต่ถ้านึกดูให้ดี ๆ ผู้ที่บอกว่าไม่เคยได้มีความสุขกับเขาเลย เคยมีเวลาหัวเราะบ้างไหม กินข้าวได้บ้างไหม นอนหลับบางไหม เคยนึกอยากไปช้อปปิ้งบ้างไหม เคยอยากจะดูอะไรเพลิน ๆ บ้างไหม ฟังดนตรีบ้างไหม แม้จะเป็นเวลาสักสิบนาที ครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงก็ตาม แน่ล่ะว่าต้องเคย หากว่าไม่เคยเลยตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ๆ จะอยู่ได้อย่างไร ใช่ไหมคะ คงอยู่ไม่ถึงจนมาเที่ยวประกาศว่าฉ้นมีความทุกข์ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่คิดว่าตนเองทุกข์ตลอดเวลา ดูให้ดี ๆ แล้วก็จะเห็นว่าอนิจจังได้เข้ามาแทรกในช่วงเวลาที่บอกว่ามีความทุกข์ จริงไหมคะ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้ขาดใจตาย ไม่ได้จมหรือสำลักความทุกข์ตาย เพราะมีอนิจจังมาแทรก ทำให้ความทุกข์นั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอยู่ทุกขณะ ฉะนั้น นี่จึงเป็นสัจจะของความทุกข์ ว่าความจริงแล้ว ทุกข์ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยของทุกข์ เอาง่าย ๆ ก็อาจจะยกตัวอย่างได้ว่า เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เช่น ถูกการด่าว่าโดยผรุสวาจาอย่างรุนแรง ในขณะจิตที่ได้ยินได้ฟัง ก็ทุกข์ เจ็บปวด โกรธแค้นเหลือแสน เรียกว่าอึดอัดขัดใจ คับแค้นใจเป็นอย่างยิ่ง แต่เสร็จแล้วความจริงมันเกิดและก็ดับ แต่สัญญาต่างหากที่ไม่ยอมปล่อย จำเอาไว้ จำเอาไว้เพื่อที่จะย่ำยีใจของตนเองให้ทุกข์ยิ่งขึ้น แล้วมันก็เลยไปแล้ว กินได้นอนหลับพูดคุยไปกับเพื่อนฝูงหรือกับผู้คนในบ้าน พอขณะใดนึกถึงขึ้นได้ก็ทุกข์อีก คือโกรธ อึดอัด ขัดแค้นจะไปแก้แค้นให้จงได้ นี่ก็คือเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น เพราะเอามาคิดปรุงแต่งคิดต่อไปอีก ความจริงแล้วทุกข์นั้นไม่ได้เกิดตลอดเวลา มันมีเวลาหยุดให้พักผ่อนให้หายใจ จึงยังมีชีวิตรอดต่อไปได้
ความจริงประการที่ 3 ก็คือ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นอกจากทุกข์แล้วหามีอะไรเกิดและดับไม่ ที่พูดข้อนี้มิได้ค้านกับข้อที่ 2 เลย แต่เป็นคำพูดที่อยากยืนยันว่า ความทุกข์นี้มันเกิดขึ้นก็จริง มันตั้งอยู่ก็จริง แต่แล้วมันก็ดับไปตามกฎของไตรลักษณ์ ลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ มันหาอยู่คงทนตลอดไปไม่ ใช่ไหมคะ ฉะนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนทำให้จิตใจนี้ถูกกัดกินเพราะความทุกข์ แล้วชีวิตที่เกิดมานี้ก็เลยไม่คุ้มกับการเกิดมาเลย เพราะจะมาจมอยู่ในนรกตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่อยู่ในโลกที่มีสิทธิ์จะหาสิ่งที่ชุ่มชื่นใจมายังชีวิตนี้ให้สดชื่นเบิกบานต่อไป ฉะนั้น ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป นอกจากทุกข์แล้วหามีอะไรเกิดและดับไม่ ประโยคนี้ก็มิได้ค้านกับข้อที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน แต่เป็นข้อที่จะยืนยันให้รู้ว่า อย่าไปหลงสิ่งที่เรียกว่าความสุขอันเป็นมายา หรือเป็นสวรรค์ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวเลย เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่เรียกว่าสุขหรือสวรรค์นั้น มันเป็นความทุกข์ที่มาอย่างซ่อนเร้น โปรดเข้าใจ โปรดรู้จัก จะได้จำมันไว้ จะได้ ไม่ไปหลงกลของมัน
ฉะนั้น ถ้าหากว่าเข้าใจในสัจจะของความทุกข์และมองเห็นความจริงอันนี้ก็จะเป็นสิ่งเตือนสตินะคะ เตือนสติคอยยับยั้งเมื่อรู้สึกว่าชีวิตกำลังจะตก จมอยู่ด้วยความทุกข์ ทีนี้นอกจากสัจจะของความทุกข์แล้ว ก็ควรได้รู้จักกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทุกข์ด้วย เพื่อที่จะได้ศึกษาและเอามาช่วยตัวเรา ให้ได้พ้นจากสิ่งที่เรียกว่าข้าศึก คือความทุกข์นี้ ที่สำคัญก็คือท่านบอกว่า ความทุกข์เกิดที่ตรงไหน ต้องดับที่ตรงนั้นนะคะ นี่เป็นสิ่งสำคัญ ครูบาอาจารย์ทุกท่านจะสอนอย่างนี้ ทุกข์เกิดที่ไหนต้องดับที่ตรงนั้น ความรู้สึกว่าเป็นทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน ก็ทราบดีว่า เกิดขึ้นที่สิ่งที่เรียกว่า ใจ เกิดที่ข้างในไม่ได้เกิดที่ข้างนอก ใจนี่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะเป็นนามธรรม ไม่รูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จับต้องไม่ได้ แต่ว่ารู้สึกได้ รู้ได้ รู้สึกได้ แต่ไม่มีรูปให้เห็นเหมือนอย่างกายที่เป็นวัตถุที่มองเห็น
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ารู้ว่าทุกข์เกิดที่ข้างใน พอรู้สึกทุกข์ มันไม่ได้ปรากฎมาให้เราเห็นด้วยตาเนื้อ หรือมาตั้งอยู่ตรงนี้ แต่มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน สิ่งที่เรียกว่าทุกข์นี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน เพราะฉะนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นภายในที่เรียกว่าจิต ก็ต้องดับที่จิต คือดับที่ตรงนั้น ไม่ใช่ไปดับที่อื่น เพราะฉะนั้นการที่จะดับที่จิตจะต้องดับที่อะไร ท่านก็บอกว่า ต้องดับที่ปัจจัยแห่งทุกข์ เหมือนอย่างเราจะแก้เชือกที่มันเป็นปม ต้องการใช้เชือก ก็ต้องหาว่าปมอยู่ตรงไหนและต้องแก้ที่ตรงนั้น ถ้าไปแก้ที่ปลายเชือกหรือที่ต้นเชือกมันก็ไม่ทำให้เชือกเส้นนั้นเป็นเส้นเดียวกันอย่างเรียบร้อยได้ ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าต้องดับที่ปัจจัยของความทุกข์ และในขณะเดียวกันต้องศึกษาเรื่องทุกข์จากสิ่งที่กำลังมีชีวิตก็คือที่กำลังหายใจอยู่นี้ เรามีสิทธิ์ มีโอกาส และก็เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่จะศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่าไปคอยให้ตายเสียก่อน ตายเสียก่อนหยุดหายใจแล้ว จะไม่สามารถศึกษาอะไรได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าเรื่องของความทุกข์หรือเรื่องของอะไรทั้งสิ้น เพราะสิ้นเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยกันทำการศึกษา ฉะนั้น การศึกษาเรื่องความทุกข์ จะต้องศึกษาจากสิ่งที่มีชีวิตก็คือหมายความว่า ในขณะที่กำลังหายใจอยู่ และเมื่อศึกษาก็จะสังเกตได้ คือศึกษาด้วยความพากเพียรบากบั่นมานะมุ่งมั่นจะศึกษาให้ได้ พร้อมด้วยสติและปัญญา ก็จะเห็นได้เลยว่า ทุกข์เกิดขึ้นที่ใดนั้น ก็เพราะทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา
กฎอิทัปปัจจยตา คืออะไร ถ้าพูดอย่างง่ายๆ ที่สุด อย่างที่จะเข้าใจเร็วที่สุด ก็คือเป็นกฎแห่งเหตุและผล ถ้าจะแปลตามความหมายของคำก็จะเข้าใจอย่างนิดหน่อย เมื่อแปลตามถ้อยคำ ท่านก็บอกว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี นั่นก็คือเมื่อสิ่งนี้มีเหตุ สิ่งนี้ก็มีผล เมื่อสิ่งนี้ไม่มีเหตุ สิ่งนี้ก็ไม่มีผล ถ้าจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ นั่นก็คือ อุปาทานเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ถ้ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ยึดมั่นในความรักก็เป็นทุกข์เพราะความรัก ยึดมั่นในความเก่งก็เป็นทุกข์เพราะความเก่ง เป็นทุกข์เพราะความเก่งเป็นอย่างไร กลัวจะไม่เก่งตลอดไป หรือกลัวคนอื่นเขาจะเก่งกว่า หรือยึดมั่นในความดีก็เป็นทุกข์เพราะความดี ทั้ง ๆ ที่ความดีเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาของทุกคน สังคมก็ต้องการความดี ต้องการคนดี โลกก็ต้องการคนดีต้องการความดี แต่กระนั้นถ้ายึดมั่นในความดีก็ต้องเป็นทุกข์เพราะความดี จริงมั้ยคะ
เชื่อเหลือเกินว่า ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีทั้งหลาย รักที่จะทำดี และรักที่จะได้รับคำชมเชยยกย่องในการทำความดีของตน ไม่สามารถทนทานในการตำหนิติเตียนใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะทำให้เสียเครดิต หรือเสียเกียรติของความเป็นคนดี เพราะฉะนั้นคนดีนี้เมื่อยึดมั่นในความดีแล้วน่าสงสารมาก เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่าเมื่อจะทำสิ่งใดก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ซึ่งก็ดีเมื่อจะทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ แต่มันไม่ดีจริงตรงไหน ตรงที่พอทำไปแล้วยึดมั่นในความดี ว่าสิ่งที่ทำนั้นต้องดี ต้องเป็นที่ได้รับการรับรองจากทุกคน ได้รับการยกย่อง ได้รับการชมเชย จนกระทั่งได้รับรางวัล หรืออย่างน้อยที่สุดต้องได้รับคำขอบใจ จริงไหมคะ แต่เมื่อไม่เป็นไปอย่างนั้น แม้แต่ขอบใจก็ไม่มี อย่าหวังว่ามีรางวัลอะไรให้เลย เท่านั้นคนที่ยึดมั่นในความดีก็ช้ำใจ โถ อุตส่าห์เหน็ดเหนื่อยทุ่มเทกำลังแรง กำลังใจ กำลังสติปัญญา แม้แต่กำลังทรัพย์สารพัด ไม่มีใครเห็นความดีของเราเลย เห็นไหมคะ ยึดมั่นในความดีเพราะอะไร ก็เพราะมันเป็นความดีของเรา มันเป็นอัตตาของเรา ใช่ไหมคะ เจ้าอัตตาตัวนี้เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อไหร่ มันนำนำทุกข์มาเมื่อนั้น
เพระฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ทุกข์เกิดขึ้นทุกที ก็เพราะทำผิดอิทัปปัจจยตา คือไม่ได้ทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง เมื่อกระทำเหตุปัจจัยด้วยความยึดมั่นถือมั่น ผลมันก็คือทุกข์ เพราะฉะนั้นหากประกอบเหตุปัจจัยทำความดีเสียใหม่ ทำความดีโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำความดีเสร็จก็เสร็จ เพราะแน่ใจว่าสิ่งที่ได้ทำที่เป็นความดีนั้นทำอย่างเต็มที่สุดฝีมือแล้วเพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลกับผล ผลมันย่อมดีแน่ และดีที่เห็นชัดก็คือไม่เป็นทุกข์เลย มีแต่ความอิ่มใจพอใจที่ได้ทำแล้ว นี่แหละค่ะ ท่านถึงได้บอกว่าทุกข์เกิดที่ไหนต้องดับที่นั่น ทุกข์เกิดที่จิตก็ต้องดับที่จิต แต่สิ่งที่ต้องดับให้ได้ก็คือที่เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ต้องดับที่ตรงนั้น นั่นก็คือหมั่นประกอบเหตุปัจจัยด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่น คือทำให้เต็มที่ เต็มฝีมือความสามารถ แต่ทำเสร็จแล้วก็วาง ให้ผลมันปรากฎเอง และจิตของผู้กระทำก็มีแต่ความอิ่มใจที่ได้ทำหน้าที่อย่างคุ้มค่าแก่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ หรืออย่างน้อยก็คุ้มค่ากับการที่ได้รับผิดชอบในเรื่องนั้นแล้ว นี่ท่านก็บอกว่า นี่คือกฎเกณฑ์ของความทุกข์ ถ้าหากว่ารู้จักกฎเกณฑ์ของความทุกข์ดังนี้ แล้วก้อปฏิบัติตาม ความทุกข์นั้นก็ย่อมจะลดลง ๆ เป็นแน่นอน
ทีนี้ทุกข์โดยอุปมา ถ้าเราจะเปรียบความทุกข์นั้น เราจะเปรียบกับอะไรได้บ้าง เปรียบได้หลายอย่าง แต่อยากจะเปรียบซัก 5-6 อย่าง ท่านก็เปรียบข้อแรก คือ เหมือนกับการแบกของหนักทั้งที่ไม่ได้แบกอะไรเลย แต่มันหนักอยู่ข้างใน มันหนักหน่วงอยู่ที่จิตใจ มันอึดอัดจนจะหายใจไม่ออก อย่างที่บอกทุกข์เครียดจนจะหายใจไม่ออกตลอดเวลา จนกระทั่งเปลี่ยนเสียเมื่อไหร่ จิตก็จะมีความสุขสบายขึ้น หรือทุกข์เหมือนกับไฟ พอเกิดความทุกข์ขึ้นเหมือนกับไฟเผารนอยู่ข้างใน เผาเฉย ๆ ไม่พอ เผาจนไหม้ ไหม้จนเกรียม บางทีก็อาจจะเป็นเถ้าถ่านไปเลย เพราะฉะนั้น ถ้าหากชีวิตใดมีทุกข์จนรู้สึกเหมือนไฟเผา ไหม้จนเกรียมเป็นเถ้าถ่าน ชีวิตนั้นก็เหลือแต่ซาก เดินได้ พูดได้ ยังหายใจอยู่ กินได้ แต่เหมือนซากไม่มีชีวิตวิญญาณ ที่เขาเรียก ไม่มีชีวิตชีวาแฝงอยู่ในนั้นเลย
นอกจากนี้ ท่านก็เปรียบความทุกข์เหมือนโรคเสียบแทง ไม่ใช่เสียดแทงนะคะ เสียบแทง มันเสียบเข้าไป มันแทงเข้าไปให้เจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา มีความรู้สึกยอกแสยงอยู่ภายในอกตลอดเวลา เพราะมันเสียบแทงเอา ยอกหัวใจ หายใจก็ไม่เต็ม เปรียบเหมือนข้าศึก แน่นอนล่ะ เมื่อเป็นข้าศึกก็ย่อมไม่มีความปรารถนาดีต่อกัน มีแต่ความอยากจะทิ่มแทง ประหัตประหาร ฆ่าให้ตาย หรือบางทีก็เปรียบเหมือนกับอยู่ในความมืด พอมีความทุกข์ขึ้นมา จะทุกข์เพราะอะไรก็แล้วแต่ นี่เราไม่แจกแจงนะคะ เพราะรู้กันอยู่แล้วทุกคน เพราะฉะนั้น พอทุกข์เข้ามากลุ้มรุม รู้สึกเหมือนอยู่ในความมืดอยู่ในทางตันหาแสงสว่างไม่พบ นี่แหละ ถ้าไม่นึกถึงกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เข้าถึง ก็จะรู้สึกว่ากำลังติดทางตัน หมดหนทาง ผลที่สุดก็หยุดหายใจทิ้งโลกนี้เสียดีกว่า น่ากลัว
เพราะฉะนั้นถ้ารู้อุปมาของความทุกข์ และเมื่อรู้สึกแบบนี้ เหมือนอยู่กับความมืด ให้รีบหายใจยาว แล้วก็มองเห็น พิจารณาความไม่เที่ยง ความแปรปรวนเปลี่ยนไป ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีสิ่งใดคงที่ ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่ได้ตลอด เพราะมิใช่ตัวตน รำลึกเอาไว้เสมอให้ติดใจ ท่องไว้ก่อนก็ได้ ท่องไว้จนกระทั่งมันซึบซาบ จนภายหลังผุดขึ้นมาเอง ก็จะช่วยกำจัดความทุกข์ระทมที่ตกเป็นทาสของทุกข์นั้นให้จางคลายหายไปได้
หรือท่านอาจจะเปรียบความทุกข์เหมือนกับคางคกที่มีเพชรอยู่ในหัว คำเปรียบอันนี้ดีนะคะ เพราะว่าเป็นคำเปรียบหรือเป็นคำอุปมาที่ให้กำลังใจ เปรียบความทุกข์เหมือนคางคก ก็แน่ล่ะ ไม่มีใครรักอยากที่จะเข้าใกล้คางคก มันเป็นสัตว์ที่อาภัพ เกิดมาก็มีรูปร่างหน้าตาไม่น่าเข้าใกล้เลย ไม่มีใครอยากจับคางคก ไม่มีใครอยากเอาคางคกมาเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะฉะนั้น จึงเปรียบเอากับความทุกข์ เพราะความทุกข์ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ไม่มีใครอยากได้ เรียกร้องหาแต่ความสุข หารู้ไม่ว่าความสุขนั้นเป็นมายา แต่ท่านบอกว่าคางคกนี้มีเพชรอยู่ในหัวนะ ไม่ใช่ธรรมดา นั่นก็หมายความว่า ถ้าผู้ใดศึกษาจนรู้ลักษณะอาการ รู้ความหมายของความทุกข์ กำหนดรู้อาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ แล้วนำเอากฎไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาในเรื่องของความทุกข์นั้น จนกระทั่งสามารถเกิดความเหนื่อยหน่าย จางคลายในความทุกข์ คือความยึดมั่นถือมั่นในความทุกข์นั้นได้ ความทุกข์จางคลายหายไป ชีวิตนั้นก็มีความสุขสงบเย็นสนิท นี่แหละที่ท่านเปรียบเหมือนกับเพชรในหัวของคางคก ถ้าไม่เคยพบความทุกข์เลยจะไปสามารถพ้นจากความทุกข์ได้อย่างไร ความทุกข์เป็นครูช่วยสอนเป็นกำลังใจและทำให้ฉลาดขึ้นจนสามารถหาหนทางออกมาจากความทุกข์ได้
ทีนี้ความทุกข์ที่คนทั้งหลายเกลียดกลัวนั้น มีอานิสงส์บ้างไหม อานิสงส์ของความทุกข์ ประการแรก ความทุกข์เป็นครู เป็นครูที่สอนดี สอนเก่ง สอนถูก สอนความจริง ไม่ใช่สอนสิ่งที่เป็นมายา สอนให้ฉลาด แต่ว่าค่อนข้างจะสอนรุนแรงสักหน่อย เป็นครูที่เอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้น อย่าเกลียดกลัวความทุกข์เลย เพราะความทุกข์เข้ามา ให้เผชิญหน้าทันที ศึกษาคุ้ยเขี่ยค้นหาเพื่อให้เกิดความฉลาด เกิดสติปัญญาที่แยบคายที่จะสามารถพาตนให้หลุดรอดพ้นจากความทุกข์ได้
นอกจากนี้ ท่านก็บอกว่า อานิสงส์ของความทุกข์ก็คือจะทำให้เกิดศรัทธาแน่นแฟ้นในสิ่งที่เป็นที่พึ่ง สิ่งใดเล่าจะเป็นที่พึ่งของมนุษย์ ก็แน่ล่ะ อาจจะมีคำตอบหลายอย่าง บางคนก็อาจจะบอกว่า มีเงินสิ เป็นที่พึ่งเพราะเงินซื้ออะไรก็ได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่แน่เสนอไป ซื้อความทุกข์ได้ไหม ซื้อไม่ได้ หรือบางคนก็อาจจะบอกว่า มียศสิ มีอำนาจสิ มีตำแหน่งการงาน มีเกียรติยศชื่อเสียงสิ นั่นแหละจะเป็นที่พึ่ง ก็หาได้ไม่ เพราะอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มีความจีรังยั่งยืน ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ทั้งนั้น อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ อนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันมีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งอันถาวรของมนุษย์ ไม่มีอะไร นอกจากพระธรรม เพราะธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่เป็นขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นของธรรมชาติโดยแท้ พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทดลองทดสอบด้วยพระองค์เองจนกระจางแจ้งในเรื่องของความทุกข์ และพระองค์ก็นำมาสั่งสอน แล้วเราเรียกสิ่งนั้นว่า พระธรรม ซึ่งก็หมายถึงว่า คือธรรมชาตินั่นเอง
เพราะฉะนั้น เมื่อมีความทุกข์ อานิสงส์ของความทุกข์ก็คือจะทำให้บุคคลผู้นั้น ซึ่งต้องใช้คำว่าโชคดีนะคะ ที่ได้มาสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม ศึกษาธรรมะด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ด้วยการมาฝึกอบรมปฏิบัติ ในชีวิตของผู้ประพฤติธรรม ในตอนแรก ๆ อาจจะไม่มีศรัทธาสนใจเท่าใด แต่พอความทุกข์เกิดขึ้น ก็ได้มีโอกาสทดสอบแล้วว่า พระธรรมที่ได้เรียนรู้มานั้น จะช่วยแก้ความทุกข์ได้จริงไหม ดับทุกข์ได้จริงไหม ก็ลองนำมาประพฤติปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอน
แต่ขอแทรกนิดนึงนะคะ ไม่ใช่พอมีทุกข์แล้ว นึกถึงพระธรรม บนบานศาลกล่าว หรือไปขอน้ำมันต์รดจากที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ แล้วความทุกข์จะหาย ไม่หาย แต่จะเป็นกำลังใจชั่วครั้งชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ความทุกข์นั้นหายได้ และจะเห็นคุณค่าของพระธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ทำความเข้าใจและฝึกปฏิบัตินั้น มาประพฤติปฏิบัติให้จริงจัง อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เช่น เอาเรื่องของกฏไตรลักษณ์มาดูว่า ความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปจริงไหม แล้วก็เห็นว่าความทุกข์ก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเอามาคิดมาผูกพันยึดมั่นมันก็ทุกข์ยิ่งขึ้น ท่านบอกแล้วว่า อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ทุกข์เพราะสิ่งนั้น แม้แต่มายึดความทุกข์มันก้อเป็นทุกข์และทำให้ทุกข์ยิ่งขึ้น
พอนำมาคิดใครครวญพิจารณาไปมาก็จะเห็นว่าจริงนะ พอเราสละละปล่อยว่างความยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนตัวฉัน ถ้าเพียงแต่สละละให้จงได้ เท่านั้นเองความทุกข์ก็หาย
นี่แหละค่ะ ท่านจึงบอกว่า อานิสงส์ของความทุกข์ จะทำให้เกิดศรัทธาแน่นแฟ้นในสิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น จึงมีคำพูดว่า ถ้าไม่มีความทุกข์ก็จะไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อใดนั่นแหละจึงจะเห็นคุณค่าของธรรมะ เพราะความทุกข์มันร้อน เหมือนกับกำลังเดินอยูในแดดร้อนเปรี้ยง ๆ ก็จะต้องวิ่งเข้าหาที่ร่ม เพราะเห็นเงาไม้ร่มเงาไม้อยู่ก็วิ่งเข้าหาไปยืนอยู่ใตร่มไม้ก็จะผ่อนคลายความร้อนจากกาย แต่มันยังไม่พอที่ใจหรอกนะคะ นี่เป็นเพียงอุปมา แต่ถ้าเกิดว่าได้นำเอากฎของไตรลักษณ์มาพิจารณา แม้แต่ความร้อนนี้มันก็หายั่งยืนไม่ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปอยู่เช่นนั้นเอง มันไม่มีอะไรเที่ยง อะไรคงทนเลยสักอย่างเดียว แม้แต่แดดเปรี้ยง ๆ เดี๋ยวก็อาจจะมีเมฆลอยมาทำให้ความเย็นเกิดขึ้น ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว ทำให้เป็นการปฏิบัติจธรรมอยู่ทุกขณะ ขีวิตก็จะค่อย ๆ จางคลายหายจากความทุกข์
นอกจากนี้ อานิสงส์อีกข้อหนึ่งท่านก็บอกว่า เป็นบทเรียนของชีวิตที่ทำให้เข้มแข็งนะคะในการแก้ไขต่อสู้อุปสรรค จริงไหม ก็เชื่อว่าถ้ามีความทุกข์พบความทุกข์อยู่เรื่อย ๆ มันก็ทำให้ได้ต่อสู้ ได้ลับฝึมืออยู่เรื่อย ๆ ก็แน่นอนจะต้องมีความเข้มแข็ง แกร่งกล้า สติปัญญาก็จะเพิ่มพูน ก็จะแก้ไขปัญหาหรือทุกข์ให้จางคลายหายไปได้ตลอดเวลายิ่งขึ้น ๆ
และอานิสงส์ข้อที่สี่ก็คือ แท้จริงแล้วความทุกข์มิได้มีมาเพื่อให้เราเป็นทุกข์ โปรดจำไว้นะคะ พอทุกข์ขึ้น เราก็ต้องรีบเตือนตัวเอง ความทุกข์ไม่ได้มีเพื่อให้เราเป็นทุกข์นะ แต่มีเพื่อให้เราเป็นคนเก่ง จริงไหมคะ มีทุกข์มากเท่าไหร่ จะเก่งขึ้นเท่านั้น และเราก็จะเห็นว่า ผู้ที่มีอุปสรรคในชีวิต มีความทุกข์มาก ๆ แต่ไม่ยอมแพ้ แก้ไขไปเรื่อย ๆ ผลที่สุดกลายเป็นคนที่มีความสำเร็จในชีวิต เหมือนอย่างที่เขาพูดกันเป็นสำนวนในทางโลก ๆ ว่า ปัญหาเกิดขึ้นไม่ใช่เป็นทุกข์ แต่ปัญหามีเพื่อให้แก้ นี่ก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน นี่เป็นอานิสงส์ของความทุกข์
เมื่อเห็นว่า ความทุกข์ก็ยังมีอานิสงส์ ก็หวังว่าจะไม่เอาความทุกข์มารัดตัวเอง รัดใจของตัวเอง ผูกรัดใจของตนเองจนกระทั่งหายใจไม่ออกนะคะ เพียงแต่ให้รู้จักเรื่องของการปฏิบัติกับความทุกข์ คงจะดีกว่า นั่นก็คือ วิธีการที่จะปฏิบัติต่อความทุกข์ ก็เหมือนเป็นการทบทวนนะคะ
ข้อแรกก็คือ ศึกษาให้รู้จักลักษณะของควาทุกข์ ที่ไหน ที่เบญจขันธ์ คือร่างกายนี้ การที่จะศึกษาเรื่องของความทุกข์นั้น ก็ศึกษาที่เบญจขันธ์ คือขันธ์ห้า นั่นคือร่างกายนี้ ที่ชีวิตนี้ อย่าไปศึกษาที่อื่นเลยนะคะ ที่กายนี่แหละ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ประเดี๋ยวก็จะมีความทุกข์เกิดขึ้นที่แขน ที่ขา ที่ตัว ที่สมอง ที่ใจ ที่ปอด ที่ตับ แต่ศึกษาพอรู้ที่จะเป็นทุกข์ เอากฎไตรลักษณ์เข้ามาดูทันที พิจารณาว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับใป หาใช่ตัวตนไม่ สลัดมันออกไปให้หลุด ความทุกข์ก็จะหายไป
นอกจากนั้น ให้มีสติป้องกันการขึ้นของทุกข์ ให้ทันท่วงที นั่นก็คือโดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะ คงจำได้นะคะ ผัสสะคือสี่งที่มากระทบผ่านทางตา ตาเห็นรูป รูปถูกใจ พอรูปเกิดขึ้น ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง พอเห็นว่าถูกใจ กอดทุกข์แล้ว เสี่ยงที่ผ่าน
ทางหู ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง พอได้ยินเสียง ทุกข์แล้ว หรือว่าจมูกได้กลิ่นหอมเหม็น ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ทุกข์แล้วทั้งนั้น ลิ้นได้รส อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง กายได้สัมผัส อ่อนโยนบ้าง กระด้างบ้าง ถ้าหากว่าเกิดอาการเป็นสิ่งคู่ ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบใจ ไม่ชอบ นี่เป็นอาการที่ผิดปรกตินะคะ ผิดปรกติของชีวิต ไม่ชอบ ไม่ใช่ความปกติของชีวิตแล้ว
เพราะฉะนั้นพอมีผัสสะเกิดขึ้น ต้องมีสติป้องกันให้ทันท่วงที ทันที ทันท่วงที ทันที คืออย่างไร ก็เอากฎไตรลักษณ์มาพิจารณาทันที มันไม่อยู่นานหรอก มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่เดี๋ยวเดียว แล้วมันก็ดับไป อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันเลย จะได้ไม่เป็นทุกข์ ปลอบตัวเองอย่างนี้นะคะ เชื่อว่า หลายคนเคยปลอบคนอื่น ปลอบเพื่อน ๆ ไม่สำคัญเท่ากับปลอบตัวเอง หมั่นปลอบตัวเองแล้วความทุกข์จะเข้าสู่ใจไม่ได้ มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป มันอยู่ไม่ได้นานหรอก เดี๋ยวมันก็หมดไป อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย แล้วมันก็จะจางหายไป
นอกจากนั้น การปฏิบัติต่อความทุกข์ก็ต้องพร้อมด้วยสมาธิและปัญญา สมาธิก็คือความหนักแน่นมั่นคงอยู่ภาย เข้มแข็ง ว่องไว ปัญญาที่จะรู้เท่าทันอาการของความทุกข์ที่เกิดขึ้น แล้วก็นำเอากฏไตรลักษณ์มาพิจารณาจนเข้าใจประจักษ์แจ้งในใจสามารถที่จะเกิดนิพิทธา คือความเหนื่อยหน่าย ไม่เอาแล้ว เรื่องความทุกข์ ไม่เกี่ยวข้อง เกิดวิราคะ จางคลายความยึดมั่นในความทุกข์ เกิดความดับเย็นสนิท ควาทุกข์จางหาย มีแต่ความว่าง โปร่ง เบาสบาย เยือกเย็นผ่องใสอยู่เป็นนิจ
นอกจากนี้ก็หมั่นฝึกใคร่ครวญธรรมะตัวแยบคาย ที่ท่านเรียกว่า ใช้โยนิโสมนสิการ คืออย่าดูอะไรอย่างลวก ๆ พอรู้เรื่องกฎของไตรลักษณ์ไปแล้ว ก็อย่าเอาแต่ท่องว่า อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ต่อให้ท่องไปได้สักพันเดียวต่อวัน ไม่เกิดประโยชน์ ต้องนำมาฝึกใคร่ครวญที่ใจ ที่ใจดูให้เห็นชัดอยู่เสมอ ว่ามันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไปจริง ๆ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ใคร่ครวญธรรมโดยแยบคาย โดยละเอียดสุขุมประณีตด้วยความอ่อนโยน ขุดคุ้ยลงไปที่ภายในใจของเรานะคะ
นอกจากนี้ ข้อสุดท้ายของการปฏิบัติต่อความทุกข์ก็คือ พบบัณฑิต หรือมีบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร นี่สำคัญมากเลย เพราะบัณฑิตก็คือผู้ที่จะแนะนำบอกกล่าวหรือว่าชักชวนไปสู่หนทางที่ถูกต้องเหมาะสมงดงาม หนทางที่ถูกต้องก็คือ หนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา จะมีความพอดี มีการดำเนินชีวิตที่อยู่บนหนทางแห่งความพอดีเป็นสายกลาง ไม่สุดโต่งไปซ้าย ไม่สุดโต่งไปขวา คือไม่สุดโต่งไปยึดมั่นในสิ่งที่เป็นคู่ สุขทุกข์ ดีชั่ว ได้เสีย กำไรขาดทุน เป็นต้น เมื่อไม่ติดซ้ายไม่ติดขวา ก็จะมีทางเดินที่คล่องปลอดโปร่ง ปลอดจากภัยอันตรายเพราะอยู่ตรงกลาง ไม่โด่งไปซ้ายหรือขวาจนสุดเหวี่ยง จนทำให้ชีวิตนี้ไม่สามารถจะตั้งหลักได้
ฉะนั้น ทั้งหมดเหล่านี้ท่านเรียกว่าเป็นการปฏิบัติต่อความทุกข์ เราก็ได้พูดถึงลักษณะของความทุกข์ อาการ ตลอดจนกระทั่งสัจจะ กฎเกณ์และการปฏิบัติแล้ว ก็ขอได้ลองดูนะคะ นี่เราเพิ่งพูดอริยสัจ 4 ข้อที่ 1 เท่านั้น คือ ทุกขสัจ แล้วเราก็จะได้พูดอริยสัจ 4 ข้อที่ 2 ข้อที่ 3 ข้อที่ 4 ต่อไปในภายภาคหน้า