แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ ท่านผู้ชมคงจะนึกแปลกใจว่ารายการธรรมะของเราในวันนี้ เราจะพูดกันเรื่องอะไร ก็อยากจะขอเรียนให้ทราบว่าเราใช้ชื่อหัวข้อของรายการธรรมะว่าธรรมสนทนานะคะ เพราะรู้สึกว่าชื่อหัวข้อนี้จะให้ความหมายที่กว้าง เราอาจจะนำเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งท่านผู้ชมมีความรู้สึกสนใจในหัวข้อใดก็อาจจะบอกให้เราทราบ แล้วเราอาจจะสนทนา นำมาเป็นหัวข้อสนทนาในรายการนี้ก็ได้ ผู้ที่มาร่วมสนทนากันนะคะ ก็เหมือนอย่างที่ท่านผู้ชมได้เคยรู้จักแล้ว ก็มีคุณจเลิศมีคุณเจี๊ยบ เพื่อที่จะมาสนทนาซักถามเหมือนหนึ่งว่าท่านผู้ชมมีความสนใจในเรื่องอะไร หรืออยากจะทราบในเรื่องอะไร ทั้งสองท่านนี้ก็จะทำเป็นเสมือนว่าตัวแทนของผู้ชมนะคะ หัวข้อของรายการที่เราจะพูดกันในวันนี้ก็คิดว่าเราน่าจะพูดกันถึงเรื่องพุทธธรรมกับสังคม มีความเห็นอย่างไรคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ท่านอาจารย์ครับ ก่อนที่เราจะไปสนทนาถึงพุทธธรรมกับสังคมนั้น ผมอยากจะให้ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายความหมายให้พวกเราได้ฟังกันเสียก่อนครับ โดยเป็นเชิงตีความหมายของคำ อย่างเช่น เริ่มด้วยคำว่าพุทธะนี้คืออะไรเสียก่อนนะครับ อาจารย์ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ อันที่จริงน่ะเชื่อว่าทั้งคุณจเลิศคุณเจี๊ยบ เคยได้ยินความหมายของคำนี้มาหลายครั้งแล้วนะคะ ท่านผู้ชมก็เหมือนกัน ท่านผู้ชมก็คงจะเคยได้ยินมาแล้ว เพราะเราได้พูดกันในรายการธรรมะมา สำหรับคำว่าพุทธะ พอเอ่ยถึงพุทธะ ส่วนมากเราก็จะนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าคำว่าพุทธะนั้นคือหมายถึงองค์ท่าน อันที่จริงทำไมท่านจึงได้รับพระนามว่าพุทธะ ก็คงจะจำได้ว่าเพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงปัญญาอันเลิศล้ำนั่นเอง และจากพระปัญญาอันเลิศล้ำที่ได้ตรัสรู้ถึงสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาตินี้ ว่าท่านตรัสรู้แล้วนี่ ความเป็นพุทธะ พุทธะของท่านก็จึงหมายถึงความเป็นผู้รู้ เริ่มต้นด้วยความเป็นผู้รู้ ผู้รู้ในที่นี้คืออะไร คือรู้อะไร ก็หมายถึงรู้ถึงสัจจะของธรรมชาติ สัจจะก็คือสิ่งที่เป็นความจริงของธรรมชาติอันไม่มีใครเถียงได้ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ นึกออกไหมคะว่าความจริงของธรรมชาติคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา: แก่ เจ็บ ตาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แก่ เจ็บ ตาย ใคร ๆ ก็แก่ ใคร ๆ ก็เจ็บ ใคร ๆ ก็ตาย ไม่มีใครที่จะหนีพ้นสิ่งนี้ไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยกมาให้ฟังนี่ เราเรียกได้ว่านี่แหละเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสัจจะของธรรมชาติก็คือสิ่งที่มันจะแสดงให้เห็นถึงความคงที่ แต่ความคงที่ในที่นี้คือความคงที่ของความเปลี่ยนแปลงที่มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย เกิดมาทีแรกก็ดูแข็งแรงดีใช่ไหมคะ เสร็จแล้วก็ตัวเล็ก ๆ น่ารัก ก็เปลี่ยนจากตัวเล็ก ๆ มาเป็นตัวโตขึ้น แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้น แล้วก็แก่ขึ้น ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวอะไรไปตามลำดับ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตายนะคะ เพราะฉะนั้นอันนี้มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ
เจ้าชายสิทธัตถะท่านทรงค้นพบสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาตินี้ว่า ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตใดในโลกนี้ที่เกิดขึ้นมาแล้วนี่ จะหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงอันนี้ไม่ได้ พอท่านทรงค้นพบแล้ว ท่านก็รู้ชัดขึ้นมาในใจ พอรู้ชัดท่านก็ตื่น เป็นผู้ตื่น ตื่นจากความหลับใหลหลงใหลอยู่ในความมัวเมาอันตกอยู่ภายใต้ของกิเลส ประเดี๋ยวก็จะเอาอย่างนั้น ประเดี๋ยวก็จะเอาอย่างนี้ให้ได้อย่างใจนะคะ แล้วพอไม่ได้ เพราะเหตุมันเปลี่ยน มันไม่เป็นไปอย่างใจ มันเปลี่ยนไปเรื่อย ก็เกิดความทุกข์ แต่ว่าเมื่อท่านทรงพบสัจจะนี้แล้ว ท่านก็ไม่หวนที่จะกลับไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีก แต่ท่านยอมรับสภาวะของสัจจะ ฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ตื่น ถ้าจะเรียกว่าเปรียบกับการตื่นจากหลับของเรา อย่างเวลาเรานอนหลับนะคะ แล้วเราตื่นขึ้น มันก็เป็นการตื่นที่อาจจะเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่นั่นเป็นการตื่นของกายใช่ไหมคะ เรานอนหลับด้วยกาย แล้วเราก็ตื่นด้วยกาย แต่ผู้รู้ผู้ตื่นในที่นี้หมายถึงว่าเคยหลับด้วยใจ ใจนั้นน่ะหลับด้วยความมัวเมาหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่ากิเลส คืออยู่ภายใต้การครอบงำของกิเลส บัดนี้พอตื่นขึ้นมาก็ตื่นที่ใจอีกเหมือนกัน คือใจนั้นสว่างผ่องแผ้วด้วยปัญญา ด้วยปัญญาที่อยู่ภายใน เพราะมองเห็นชัดแล้วว่ามันไม่มีอะไรให้เที่ยง ให้ยึดมั่นได้เลยสักอย่าง ท่านก็ ถ้าใช้คำธรรมดานะคะ ก็จะบอกว่าหยุดเอา ไม่เอาอีกแล้ว อะไร ๆ ที่เคยเอาน่ะหยุด ไม่เอาอีกแล้ว เพราะเอาทีไร มันหนัก มันเหน็ดเหนื่อยทุกที มันเคร่งเครียด มันเป็นทุกข์ ก็หยุดเอา พอท่านรู้สิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติอย่างชัดแจ้งในใจ ท่านก็ตื่นจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย เป็นผู้ที่เป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระก็คือเป็นผู้เบิกบานนั่นเอง เบิกบานเหมือนดอกบัวที่บานเต็มที่แล้ว มีทั้งกลิ่นหอมหวาน แล้วก็งดงามอย่างยิ่ง เป็นอิสระอย่างยิ่ง ฉะนั้นความหมายของพุทธะก็คือหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระปัญญาภายใน
ผู้ร่วมสนทนา: อาจารย์คะ ธรรมะล่ะคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าธรรมะนี่ก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แล้วก็เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงเคารพ เชื่อว่าคงจะเคยได้ยินใช่ไหมคะที่มีผู้ทูลถามท่าน ว่าผู้ใดเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน คือท่านเคารพสิ่งใด ท่านก็ทรงตอบว่าท่านเคารพพระธรรม พระธรรมอันนี้ท่านทรงค้นพบจากไหนล่ะ ก็ทราบอีกเหมือนกันล่ะว่าท่านเสด็จออกป่าใช่ไหมคะ แล้วท่านก็ไปค้นพบธรรมะนี่จากธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้าความหมายของธรรมะอย่างง่าย ๆ ก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติคืออย่างไร ก็คือความเป็นธรรมดา เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี่เป็นความธรรมดา ไม่ใช่เป็นความแปลกใหม่อะไรเลย แต่ถึงกระนั้นพอเห็นผมหงอกสักเส้นหนึ่ง หรือว่ามีรอยเหี่ยวขึ้นบนใบหน้านะ อย่างที่ผู้หญิงเขาบอกว่ามีตีนกา แหม ก็ตกใจ ตกใจจริง ๆ เลยนะ ความตกใจอันนี้มันตกใจเสียยิ่งกว่าได้ยินเสียงฟ้าร้องหรือฟ้าผ่าอีก เพราะอะไรล่ะ เพราะกลัวจะสูญเสียความสาว ความสวย ความหนุ่ม ความหล่อ อะไรทั้งหลายนี่ มันเกิดความตกใจ แต่แท้ที่จริงแล้วล่ะก็มันเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง แล้วมันเป็นความเป็นปกติธรรมดาด้วย เพราะเหตุว่าธรรมะนี่ถ้าตามความหมายของตัวอักษร ก็หมายถึงสิ่งที่สามารถทรงตัวอยู่ได้ตามปกติ
ทีนี้ถ้าจะอธิบายถึง “ตามปกติ” สักหน่อยหนึ่งนะคะ ว่าที่ว่าเป็นปกตินี่คืออย่างไร เอาง่าย ๆ ดูเหมือนจะเคยพูดแล้ว เหมือนอย่างเช่นความเป็นปกติของแผ่นดิน ของแผ่นดินที่ใครจะเดินเหยียบย่ำลงไปแรง ๆ ดัง ๆ หรือใครจะเดินเบา ๆ หรือใครจะเอาดอกไม้มาโปรยลง หรือว่าใครจะเอาขยะมาทิ้ง แผ่นดินไม่แสดงอาการว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรเลย นั่นแหละคือความเป็นปกติ เรียกว่าไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่กระเทือนเลยสักนิดเดียว ฉะนั้นความหมายของธรรมะก็คืออย่างนี้ ธรรมชาติ ธรรมดา เป็นปกติ ทีนี้สิ่งที่เกิดเป็นปกตินี่ ถ้าจะมาอธิบายถึงความหมายของธรรมะอย่างสั้นที่สุด มันก็คือทำตามหน้าที่ของมันตามธรรมชาติ ฉะนั้นท่านก็อาจจะอธิบายถึงความหมายของคำว่าธรรมะได้อีกอย่างสั้น ๆ “ธรรมะคือหน้าที่”
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าอย่างนั้นในหัวข้อที่เราจะสนทนาให้ท่านผู้ชมได้ฟังกันนี่นะครับว่า “พุทธธรรมกับสังคม” ผมอยากให้อาจารย์ได้กรุณาอธิบายความหมายของคำว่าพุทธธรรมลงลึกลงไปอีกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พอคำสองคำนี้มารวมกันเข้านะคะ ถ้าพูดอย่างตามตัวก็อาจจะบอกว่า ธรรมะของพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทีนี้ถ้าจะถามว่าธรรมะของพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คืออะไร คืออะไรที่เราพูดกันเมื่อกี้นี้
ผู้ดำเนินรายการ : ความเป็นปกติใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ก็คือหมายถึงความเป็นปกติธรรมดา หรือความเป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง ที่พระองค์ได้ทรงค้นพบแล้วในสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ มันไม่มีอะไรที่จะแปลกจะใหม่ แต่พอเกิดขึ้นกับเรา เรารู้สึกว่าใหม่ เรารู้สึกว่าใหม่แล้วเราก็กลัว แล้วเราก็ตกใจ แล้วเราก็ประหวั่นพรั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จริงมันก็เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าสัตว์หรือมนุษย์นะคะ แต่เราจะรู้สึกว่ามันแปลกใหม่ เพราะฉะนั้นพุทธธรรม ธรรมะของพระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าพูดลงไปอีกอย่างคำธรรมดาก็คือว่า เป็นธรรมะหรือเป็นหน้าที่ของผู้ฉลาด ฉลาดอย่างมีปัญญาภายใน ไม่ใช่ฉลาดแต่เพียงรู้ภายนอก แต่เป็นฉลาดอย่างภายในนั่นเอง
ผู้ร่วมสนทนา: แล้วสังคมล่ะคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าสังคม เรานั่งกันอยู่นี่เราก็เป็นสังคมแล้วใช่ไหมคะ สามคนที่เรานั่งกันอยู่ด้วยกันนี่ เพราะฉะนั้นก็อาจจะบอกได้ว่าสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร สังคมก็เกิดขึ้นได้เมื่อมีคนมารวมกัน มาอยู่รวมกันมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไปนะคะ พอรวมกันเข้า ถ้าน้อยคนก็เป็นสังคมเล็ก มากคนก็เป็นสังคมใหญ่ เป็นสังคมหมู่บ้าน สังคมเมือง สังคมชาติ สังคมโลก สังคมชนบท สังคมในเมืองอะไรอย่างนี้ นั่นก็คือหมายถึงการรวมกลุ่ม เมื่อที่ใดมีการรวมกลุ่มกันขึ้นของบุคคล แล้วบุคคลเหล่านั้นก็อยู่ร่วมกัน พอคนเราอยู่รวมกันเข้านี่ เพื่อที่จะให้ความเป็นอยู่ในสังคมนั้นเป็นปกติอยู่ได้ก็จะมีอะไรล่ะ ต้องมีกฎ มีระเบียบ มีข้อบังคับ ใช่ไหมคะ เพื่อที่เราจะได้ประพฤติตามกัน ฉะนั้นเราก็มีกฎหมาย แล้วเราก็มีระเบียบอะไรต่าง ๆ ออกมา เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันเป็นสุข ทีนี้ที่เรามาใช้หัวข้อว่าพุทธธรรมกับสังคมนี่ ก็คิดว่าทั้งคุณเจี๊ยบ ทั้งคุณจเลิศคงจะมองเห็นว่าเราก็อยู่กัน คือสังคมก็มีระเบียบน่ะ มีกฎหมายมีอะไร แต่ความสงบเย็นเป็นสุขนี่ เรารู้สึกว่าเรายังไม่มีใช่ไหมคะ เท่าที่ควรจะมี มันขาดอะไรไป สังคมขาดอะไรไป
ผู้ดำเนินรายการ : ขาดธรรมะหรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นล่ะค่ะ ก็อยากจะขอเชิญท่านผู้ชมได้ลองใคร่ครวญดูด้วยนะคะว่า เรามีถนนหนทางเจริญมาก เรามีตึกรามสูง ๆ มากมายก่ายกอง เทคโนโลยีต่าง ๆ นี่ก้าวหน้ากว่าสมัยปู่ย่าตาทวด จนจำไม่ได้นะคะ จนบอกไม่ได้ เรียกว่าบัดนี้เราเป็นชาติที่พัฒนาแล้ว เป็นชาติที่เจริญแล้ว แต่ว่าความสงบสุขเยือกเย็นอย่างที่เราเคยมี ที่พูดกันว่าร่มเย็นเป็นสุขนี่ ดูมันจะไม่เท่ากับสมัยที่เทคโนโลยียังไม่เจริญหรือว่ายังล้าหลังอยู่ มันขาดอะไร กฎหมายก็มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดจนถึงกฎหมายธรรมดานี่นะคะ แต่ว่าเพราะอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเรามามองดูก็เหมือนอย่างที่คุณจเลิศว่า เป็นเพราะว่าเราขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ขาดการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนอย่างถูกต้องในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือเปล่า พูดง่าย ๆ ก็คือว่าขาดสิ่งที่เรียกว่าพุทธธรรมนี่ใช่ไหม คือธรรมะของผู้มีปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำอะไรต่ออะไรนี่ มันก็จึงทำให้ขาดความสมดุล พอสังคมขาดความสมดุลเข้า ความสงบเงียบอยู่เย็นเป็นสุขมันก็เลยขาดไป
ผู้ดำเนินรายการ : แต่อาจารย์ครับ ถ้าไปบอกคนอื่นเขา บอกว่า แหม คุณนั้นขาดธรรมะนี่ มาถามผม ผมก็คงไม่ค่อยยอมรับนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วก็โกรธด้วยใช่ไหมคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ถามใครก็คงไม่ยอมรับครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วทำไมล่ะคะถึงไม่ยอมรับ
ผู้ดำเนินรายการ : ก็คิดว่าตัวเองดีแล้ว
ผู้ร่วมสนทนา: ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง คิดว่าดีแล้ว อันนี้แหละ ที่คิดว่าดีแล้วนี่ แหม อันตรายมากเลย เพราะคำว่าดีนี่เราจะพูดกันได้ตั้งหลายอย่างใช่ไหมคะ ให้คุณเจี๊ยบอธิบายสิว่าดีคือยังไง คุณจเลิศอธิบายสิ นี่นั่งกันเพียงเท่านี้ก็จะได้ความหมายของคำว่าดีเป็นสอง เป็นสาม เป็นอยู่ห้าก็จะได้ความหมายห้า อยู่สิบก็ได้ความหมายสิบ ใช่ไหมคะ มันไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอพูดคำว่าดีนี่มันกว้างมาก แต่ถ้าหากว่าพูดถึงธรรมะหรือพุทธธรรมนี่ มันเจาะจงลงไปเป็นหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดว่าพุทธธรรมกับสังคม สิ่งที่สังคมขาดนี่มันคืออะไร ก็คือธรรมะน่ะ คือการปฏิบัติหน้าที่ใช่ไหมคะ ถ้าเราจะมองดูนี่ คือการปฏิบัติหน้าที่ที่มันไม่ถูกต้อง หรือมันไม่ตรงตามหน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติ แล้วก็บางทีก็มักจะสับหน้าที่กัน ไม่มีใครเขาสับหรอก ไม่มีใครเขาสับเปลี่ยนหน้าที่ สับเปลี่ยนกันเอง แล้วก็ไม่ได้สับเปลี่ยนกันเองด้วยความยินยอมนะ แย่งเขาทำ ส่วนหน้าที่ของเราไม่ได้ทำให้เต็มภาคภูมิ เรียกว่าพอใจทำหน้าที่คนอื่นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์เขา แล้วเสร็จแล้วหน้าที่ของตนที่ควรจะทำมันก็เลยบกพร่องไป เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงว่าธรรมะคือหน้าที่ พุทธธรรมนี่คือหน้าที่ของผู้มีปัญญา การที่จะทำหน้าที่ก็จำต้องใช้ปัญญา ใช้ปัญญาอย่างไรจึงเมื่อกระทำไปแล้วจะได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ที่พูดมาอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้บรรลุแล้ว จึงจะตื่นหรือว่าเบิกบานนะคะ แต่เราสามารถที่จะพัฒนาการกระทำของเรานี่ให้มีความเป็นไปได้แต่ละระดับ แต่ละระดับขึ้นไปทีละน้อย ๆ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าหัวข้อว่า พุทธธรรมกับสังคม นี่ก็เพื่อจะขอฝากท่านผู้ชมให้ลองช่วยกันใคร่ครวญว่า พุทธธรรมกับสังคมนี่ คำว่า "กับ" นี่มันทิ้งกันได้ไหม หรือมันควรจะต้องไปด้วยกัน
ผู้ดำเนินรายการ : น่าจะไปด้วยกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ใช่น่าหรอก ควรจะต้องเชียวนะคะ ก็ควรจะต้องเชียว ถ้าสังคมใด ถ้าสังคมใดขาดพุทธธรรม สังคมใดขาดธรรมะนี่ สังคมนั้นยากที่จะมีความเย็น มันจะมีแต่ความร้อนมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงอยากที่จะให้เราช่วยกันคิดดูนะคะ ลองใคร่ครวญดูสิว่าถ้าเราใช้หัวข้อ หรือเรานำมาเพื่อชวนให้คิดว่าพุทธธรรมกับสังคมนี่ เราควรจะนำมันมาเพื่อคิดใคร่ครวญและปฏิบัติ ก่อให้เกิดการปฏิบัติในวิถีทางใด มันถึงจะทำให้พุทธธรรมกับสังคมนี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ผู้ร่วมสนทนา: แล้วจะมีวิธีไหมคะ สมมติถ้าคนทุกคนนี่ คือเรามองแล้วว่าเขาขาดธรรมะใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราบอกเขาตรง ๆ เขาก็คงไม่ยอมรับ มีวิธีที่อ้อม ๆ ไหมคะ แบบบอกให้เขารู้ตัวโดยที่เขาไม่รู้ว่าเราว่าเขา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันแรกที่สุดก็คือทำให้เขาดู นี่สำคัญมากเลยนะคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ตัวเราก่อนเลยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ตัวเราก่อนนี่แหละค่ะ เราทำให้เขาดู เพราะถ้าเราไม่ทำให้เขาดู เราไปบอกเขา แล้วเขาย้อนมาแล้วคุณทำหรือยัง แล้วคุณก็ยังไม่ค่อยทำเลย แล้วคุณจะมาบอกให้ผมทำ ให้ดิฉันทำได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอันแรกที่สุดนี่ก็คือทำให้เขาดู เพื่อให้เห็นว่าถ้าเราอยากจะเป็นผู้ที่มีธรรมะ แล้วก็มีชีวิตเป็นธรรมะ คืออย่างนี้ ทำหน้าที่อย่างนี้ และคำว่าหน้าที่ในที่นี้ เมื่อกี้ไม่ถามเรื่องหน้าที่ ว่าหน้าที่นี้มันกว้างหรือมันแคบ มันไม่ได้แคบแต่เพียงว่าหน้าที่การงาน เรามีหน้าที่เป็นข้าราชการตำแหน่งใดก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่นั้นใช่ไหมคะ มันกว้างยิ่งกว่านั้นอีก หน้าที่ของผู้ที่เป็นพ่อ หน้าที่ของแม่ หน้าที่ของลูก หน้าที่ของครูบาอาจารย์ หน้าที่ของทุกคนที่มีหน้าที่อยู่ในโลกนี้ แม้แต่คนงาน ภารโรง หรือบางทีท่านบอกว่า แม้แต่หน้าที่ขอทาน ถ้าเขาขอทานให้ดี ๆ ก็ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน คือไม่รู้สึกรำคาญ กลับจะมีเมตตาในการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสียอีก เพราะฉะนั้นพูดถึงหน้าที่นี่ ต้องทำหน้าที่ทุกระดับ นอกจากทุกระดับ แล้วก็ทุกโอกาสทุกขณะด้วย
หน้าที่ส่วนตัวนี่แหละสำคัญที่สุดเลย ดูเหมือนเราจะเคยพูดกันบ้างแล้วนะคะ ท่านผู้ชมก็อาจจะจำได้ ที่ว่าพอเราลืมตาขึ้นนี่ เรามีหน้าที่แล้วที่เราจะต้องกระทำ ทำอะไรนึกออกไหมคะ พอตื่นขึ้นก็เข้าห้องน้ำใช่ไหมคะ ถ้าเราไม่ทำหน้าที่นี้ วันนั้นไม่เป็นสุขเลย อาจจะเดินทางไม่ตลอดถึงที่ทำงานก็ได้ใช่ไหมคะ หน้าที่เข้าห้องน้ำ หน้าที่ทานอาหารเช้า หน้าที่แต่งตัว หน้าที่เดินทาง ไปจนกระทั่งถึงหน้าที่ทำงาน แล้วก็นี่ก็หมายความว่าเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำอย่างง่ายๆ ที่มองดูเหมือนกับไม่ใช่หน้าที่ แต่อันที่จริงแล้วมันเป็นหน้าที่ใช่ไหมคะ วันไหนถ้าเราไม่นอน รุ่งขึ้นก็สะโหลสะเหล ปวดหัว ทำงานไม่รู้เรื่อง นี่เป็นหน้าที่ ถ้าหากว่าเราทำหน้าที่ธรรมดาๆ อย่างนี้ให้ถูกต้อง ร่างกายปกติ พอร่างกายปกติ มันก็ส่งเสริมให้จิตใจมีสุขภาพดีขึ้น แล้วก็รักษาจิตเอาไว้ให้ได้ ทำหน้าที่ของจิตให้ได้ คือให้มองเห็นความเป็นธรรมดา ความเป็นปกติอย่างที่เราพูดกันแล้วนี่ อะไรจะเกิดขึ้นให้เห็นมันเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะได้มีความเบิกบานอยู่ในจิตทีละนิด นี่เราทำหน้าที่ในฝ่ายจิตของเรา ทีนี้พอการงานอะไรมานี่มันใส คำว่าใสคือสมองมันใส ใจมันใส แล้วมันก็ว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน มันก็เลยสนุก พอสนุกไปเท่านี้ เพื่อนร่วมงานที่อยู่ใกล้ๆ ก็สนุกด้วยใช่ไหมคะ เพราะเราแจ่มใส เขาก็แจ่มใสด้วย ทำเท่านี้แหละไม่ต้องไปบอกเขาหรอก อย่างน้อยเขาก็ต้องรู้สึกว่าจะต้องปรับปรุงตัวเขาเองขึ้น ฉะนั้นถ้าหากว่าแต่ละหน่วยของสังคมนี่นะคะพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องของธรรมะ เรื่องของพุทธธรรม แล้วก็นำมาปฏิบัติกับชีวิตของตน แต่ละหน่วยทุกคนต่างคนต่างทำ โดยไม่ต้องไปดูว่าใครจะทำหรือไม่ทำ แต่ทุกคนต่างทำเท่านั้นแหละ พุทธธรรมกับชีวิตจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พุทธธรรมกับสังคมจะเกิดขึ้น และผลก็คือเราจะอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน จริงไหมคะ ก็หวังว่าเราจะช่วยกันนะคะ ขอให้ธรรมสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ชมทุกท่านค่ะ