แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ
คราวก่อนนี้เราพูดกันถึงเรื่องของชีวิตใช่ไหมคะ ทีนี้ในเรื่องของชีวิตนี้เราก็พูดถึงช่วงของชีวิตที่เราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงๆ ชีวิตแห่งการศึกษา ช่วงชีวิตแห่งการเผชิญชีวิต ช่วงชีวิตแห่งการบริโภคผลของชีวิต และช่วงชีวิตแห่งการมีชีวิตเย็นและเป็นประโยชน์ เรายอมรับกันแล้วใช่หรือไม่คะว่า ช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เรานี้คือ ช่วงต้นของชีวิตที่เรียกว่าช่วงชีวิตของการศึกษาเพราะถ้าหากว่าการศึกษาของเราถูกต้องเราก็จะมีช่วงชีวิตต่อๆ ไปอย่างถูกต้องเพราะจะเกิดสติปัญญาที่จะดำเนินชีวิตไปสู่หนทางที่จะรอดพ้นจากปัญหาหรือถ้ามีปัญหาก็จะมีน้อยที่สุดนะคะ
ทีนี้ในการที่เราจะต้องเป็นผู้ที่สามารถในเรื่องของการศึกษาอย่างถูกต้องนั้น สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญคือ ความมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิๆ นี้จะต้องรู้อะไรหลายๆ จะเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องและสิ่งที่จะเป็นความรู้ที่ถูกต้องที่ควรรู้ก็ต้องพูดย้ำอีกเรื่อย ๆ กันลืม นั้นคือต้องรู้อะไร จะต้องรู้ว่าชีวิตนี้คือ “ขันธ์ 5” อย่าลืมทีเดียว ไม่ควรลืมเลยทุกเวลานาที ต้องจำเอาไว้ว่าชีวิตนี้คือ “ขันธ์ 5” มันประกอบขึ้นด้วย 5 กองเท่านั้นเอง ทำไมถึงเตือนใจไว้อย่างนี้เพื่ออะไร จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า “ขันธ์ 5” อันนี้เป็นตัวเป็นตนที่จริง เป็นแต่เพียงการรวมกอง 5 กอง หรือส่วน 5 ส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน พอแยกส่วน 5 ส่วนนี้ออกจากกัน ก็หาเป็นรูปร่างเป็นตัวตน แต่พอรวมตัวกันเข้าก็ทำให้เรามองเห็นเหมือนกับว่าเป็นตัวตน ที่นี้พอความที่เราฉลาดไม่พอหรือบางทีเพราะความเคยชินที่เราคุ้นมา เราก็มายึดเอาตัวตนนี้ว่าเป็นจริงเป็นจังว่าเป็นตัวตนของฉัน แล้วก็ทำให้เกิดความทุกข์ ฉะนั้นเราจึงต้องย้ำกันอยู่บ่อย ๆ
ท่านผู้ชมก็คงจะเห็นด้วยในความสำคัญที่เราต้องย้ำเพื่อกันการลืมว่าชีวิตนี้คือ “ขันธ์ 5” เห็นว่าชีวิตเป็น “ขันธ์ 5” ก็จะรู้ว่าสิ่งที่สำคัญของชีวิตนั้นหาใช่ที่ตัวตนนี้ไม่แต่อยู่ที่ตรงไหน
ผู้ร่วมสนทนา : อยู่ที่การกระทำที่ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยู่ที่การกระทำ ขึ้นอยู่ที่การกระทำถ้าการกระทำนั้นถูกต้อง เช่น เป็นการกระทำที่มีคุณประโยชน์มีความงาม มีความดีก็ทำให้เกิดความน่ายกย่องน่าเคารพนับถือ แต่ถ้าหากว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวเบียดเบียนผู้อื่น เรียกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดความเกลียดชังน่ารังเกียจไม่อยากเข้าใกล้ เพราะฉะนั้นคนเราเมื่อจะชอบกัน หรือจะชังกันก็อยู่ที่การกระทำ ถ้าหากว่าเราพอใจการกระทำของบุคคลใดก็ตามตัวบุคคลนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติหรือเป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง สิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามระลึกไว้เสมอ ฉะนั้นถ้าจะฆ่าฟันกันเพราะว่าไม่ชอบใจก็จงอย่าไปฆ่าฟันที่ตัวตนของบุคคลผู้นั้นเลยมันไม่สามารถที่จะล้มล้างความไม่ชอบนั้นออกไปได้ แต่จงฆ่าการกระทำ ที่นี้ในการที่จะฆ่าการกระทำนี้คือฆ่าที่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา : ฆ่าที่ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คะ ฆ่าที่ไหน แล้วอะไรคะที่การกระทำนั้นพูดผิดทำผิดมันเกิดจากอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : การคิดผิดคือที่ทิฐิของคนใช่ไหมคะ การที่เราจะฆ่านี่ต้องฆ่ากันที่ทิฐิ ที่นี้ทิฐิมีตัวตนให้ฆ่าไหม
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่มี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่มีตัวตนจะหยิบมาให้ฆ่า เพราะฉะนั้นต้องอาศัยอะไร การฝึกอบรมใช่หรือไม่ ต้องอาศัยการศึกษาที่ถูกต้องการสอนการอบรมที่ถูกต้อง ถ้าการสอนการอบรมที่ถูกต้องที่ได้รับมาตลอดมันก็จะค่อยหล่อหลอมๆ ความคิดที่จิตที่ยึดมั่นถือมั่น ความคิดเห็นแก่ตัวที่จะเอาให้ได้อย่างใจของตัว โดยการที่เอาเปรียบเบียดเบียนคนอื่น จะค่อยลดลงๆ จืดจางไป นี่เราถึงเรียกว่าความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นกำลังเข้าร่องรอยของความเป็นสัมมาทิฏฐิขึ้นทีละน้อย เพราะฉะนั้นก็อยากจะพูดให้ทุกท่านทั้งหลายได้เข้าใจให้ถูกต้องว่าการฆ่าฟันกันนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยเพราะไม่ใช่สิ่งที่แก้ปัญหาแม้ตัวบุคคลคนนั้นจะได้ตายไปแล้วสูญเสียชีวิตไปแล้ว การกระทำที่ทำให้เจ็บอกเจ็บใจมันก็ยังฝังอยู่นั่นเองยังไม่หมด เพราะฉะนั้นอันนี้เราอย่าไปฆ่าฟันกันที่ตัวตน แต่มาฆ่าฟันกันที่การกระทำด้วยการให้การศึกษาที่ถูกต้อง เพื่อจะหล่อหลอมความคิดของคนนั้นให้มีความคิดที่ถูกต้อง
ผู้ร่วมสนทนา : ถ้าทำได้มันก็ดีครับอาจารย์ แต่มันทำไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เพราะไม่ได้ทำ ที่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้ทำ ถ้าทำแล้วต้องทำได้จริงไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : อย่างเขามาฆ่าลูกเราแล้วกฎหมายทำอะไรเขาไม่ได้มันก็แค้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เดี๋ยวก่อน ที่เขาฆ่าลูกเรานี่นะคะ ทำไมเขาถึงมาฆ่าลองนึกสิคะ ทำไมเขาถึงมาฆ่า เขาคิดถูกหรือเขาคิดผิดที่เขาคิดมาฆ่า
ผู้ร่วมสนทนา : เขาคิดผิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะเขาคิดผิดเขาถึงมาฆ่า ทำไมเขาคิดผิดเพราะอะไร เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไรใช่หรือไม่คะ เขาจึงคิดผิดถ้าเขารู้ว่าการที่เขามาฆ่าลูกเรา เพราะว่าเขาชอบไม่ชอบลูกเราหรือเขาเกลียดพ่อเขาเลยมาฆ่าลูกเพื่อแก้แค้น เขาก็จะรู้ว่าฆ่าผิดตัวๆ เพราะมันไม่ใช่ตัวคนที่ทำให้เจ็บใจ การกระทำต่างหากที่ทำให้เจ็บใจ ฉะนั้นถ้าหากว่าเราทั้งหลายหันมาช่วยกันหล่อหลอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการกระทำที่ผิดที่เกิดจากการคิดผิดแล้วก็ทำให้พูดผิด แล้วก็ทำให้ทำผิด เรามาเปลี่ยนกันตรงนี้เสียมาให้การศึกษาสอนอบรมเสียตั้งแต่เกิดตั้งแต่รู้ความเลยทีเดียว ที่บ้านก็สอนให้ถูกต้องให้รู้จักว่าชีวิตคืออะไร ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาชีวิตนี้คือ ขันธ์ 5 แล้วสิ่งที่สำคัญของชีวิตคืออยู่ที่กระทำ
เพราะฉะนั้นฝึกการกระทำให้ถูกต้องด้วยการที่ไม่เห็นแก่ตัวไม่เบียดเบียนคนอื่นเขา ฝึกอย่างนี้มาเรื่อย ๆ พอมาถึงโรงเรียนๆ ก็สอนสิ่งนี้ต่ออีก แล้วลองนึกดูสิคะว่า คนที่เรียนจบไปแล้วพอจะไปเผชิญชีวิตแล้วนี้จะเผชิญอย่างชนิดที่เอาตัวเข้าชนกันหรือเปล่า
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่ต้องชนแล้วใช่ไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ใช้สติปัญญาช่วย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช้สติปัญญาแล้วจะมีเพียงการกระทำแต่เพียงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วจะมีน้ำใจเกื้อกูลต่อกันและกัน เราก็ค่อยๆ ลดปัญหาทั้งที่ทำงานทั้งที่บ้านลงทุกที เป็นไปได้หรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : อย่างยุคพระศรีอาริย์ที่ว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าลำบากก็เพราะไม่ทำ ลำบากเพราะไม่ทำ
ผู้ร่วมสนทนา : การทำอย่างที่อาจารย์ว่ายากลำบากมาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะเหตุว่ากลัวถึงไม่ทำ ทำไมถึงไม่ทำเพราะเห็นแก่ตัวคอยให้คนอื่นเขาทำก่อน ถ้าฉันทำก่อนฉันเสียเปรียบเขาจริงหรือไม่ กลัวจะเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นคือความเห็นแก่ตัว อันนี้แหละอย่าพูดว่าทำไม่ได้ไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์จะทำไม่ได้ ถ้ามนุษย์จะทำก็ลองนึกดูสินี่สมัยเราเด็กๆ เราเคยนึกหรือว่าเราจะมีอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราไม่เคยนึกจะมีจานบิน จะมีไทยคม จะมีอะไรเราไม่นึก แล้วเราไม่นึกด้วยว่าอากาศจะวิปริตอย่างที่เป็นอย่างนี้ เพราะไม่นึกว่าภูเขาจะถูกทำลาย ไม่นึกว่าป่าจะหมดไป ไม่นึกว่าน้ำจะแห้ง เราไม่เคยนึกนี่เป็นการกระทำของใคร
ผู้ร่วมสนทนา : มนุษย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ของมนุษย์ทั้งนั้น ทำถูกก็มนุษย์ ทำผิดก็มนุษย์ แล้วเราอยากให้มนุษย์ทำถูกหรือทำผิดคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ทำถูก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าอยากให้ทำถูก อยากให้อยู่ร่วมกันด้วยความเป็นสุข แล้วทำไมเราถึงไม่ช่วยกันที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิด มาช่วยกันอบรมสั่งสอนเสียตั้งแต่ที่บ้านแล้วที่โรงเรียนก็รับช่วงทุกระดับด้วยนะ ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลาย ถ้าเราร่วมมือกันอย่างนี้แล้ว คนเหล่านี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไปใช่หรือไม่ จะออกไปอยู่ในสังคม จะเป็นผู้ที่เป็นกำลังของสังคมหรือเรียกว่าช่วยกันพัฒนาสังคม สร้างสังคมต่อไป แล้วจะสร้างสังคมที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ผู้ร่วมสนทนา : ถูกต้อง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จะสร้างสังคมที่ร้อนหรือสร้างสังคมที่เย็นก็ลองนึกดูสิ
ผู้ร่วมสนทนา : ความเจริญ วิวัฒนาการ ทำให้เด็กติดโทรทัศน์ ติดอะไรต่ออะไรมาก ยากมากการจะเรียกเด็กมาอบรมสั่งสอน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ขอโทษนะคะ อันนี้เป็นเพราะผู้ใหญ่ตามใจเด็กและก็กลัวว่าลูกจะเกลียดก็เลยไม่กล้า เพราะฉะนั้น อันนี้ให้เราพูดกันในสิ่งที่เราเรียกว่า เราสามารถจะทำได้ ถ้าเราไม่หาข้อแก้ตัว แต่ถ้าเราจะหาข้อแก้ตัวละก็จะไม่จบแล้วจะไม่ไปสู่หนทางเลย เพราะฉะนั้นผู้ที่ควรคิดจะปรับปรุงทิฐิของตนเสียก่อน ถ้าจะให้พูดตรงไปตรงมาก็คือผู้ใหญ่ๆ จะต้องปรับปรุงทิฐิของตนเสียก่อนให้ถูกต้อง ถ้าผู้ใหญ่ปรับปรุงทิฐิของตนไม่ได้เด็กจะเอาที่ไหนมาเป็นตัวอย่าง เด็กไม่รู้จะไปตามใคร เพราะผู้ใหญ่บอกไม่ได้เด็กก็เลยต้องไม่ได้ ผู้ใหญ่เฉไฉเด็กก็ต้องเฉไฉตาม เพราะฉะนั้นอยากจะบอกว่าเด็กๆ เดี๋ยวนี้ในสังคมน่าสงสารที่สุดๆ เพราะไม่มีผู้ใหญ่ที่จะให้เป็นแบบอย่าง มีแต่ผู้ใหญ่ที่จะเลื้อยไปในทางลง ไม่มีผู้ใหญ่ที่จะพาขึ้นสู่ทางสูงของชีวิตเลย ฉะนั้นก็จึงต้องบอกว่ามันขึ้นอยู่กับการศึกษานี่แหละ แล้วก็พากันโทษสังคมอย่าลืมว่าสังคมนี่สังคมของใคร
ผู้ร่วมสนทนา : ของคน ของเรา ของมนุษย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ของคนของมนุษย์นี่แหละ แล้วสังคมจะเป็นอย่างไร ใครสร้าง ก็มนุษย์นั้นแหละ แล้วจะไปโทษใคร โทษสังคมก็คือโทษตัวเอง ถ้าหากทุกคนหยุดโทษตัวเอง หยุดโทษสังคม แต่หันมาแก้ไขเห็นแล้ว่าผิดเห็นแล้วว่าไม่ดีเห็นแล้ว ทำความร้อนให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ปรับปรุงเสียถ้าหากปรับปุรงเสียเดี๋ยวนี้ เรายังมีความหวังแต่ถ้าไม่ปรับปรุงเสียเราจะไม่มีความหวังเลย
ผู้ร่วมสนทนา : ผมพอเห็นทางว่าเราพอจะมีความปรับปรุงกันได้ให้มีสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในแต่ละคนนะครับ แต่ว่าเท่าที่ดูอย่างที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อสักครู่อย่างเราแต่ละคนมีสัมมาทิฏฐิที่ดี แต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเขายังไม่ปรับปรุงมันก็เกิดผลเฉพาะตัวเราแล้วสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราก็ยังไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้สักเท่าไรอันนี้จะแก้ยังไงดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ขอให้เราเป็นตัวอย่างถ้าเราสามารถเป็นตัวอย่าง เสร็จแล้วเรามีเพื่อนเรามีสมาชิกในครอบครัวของเรา พูดง่ายๆ ก็คือ จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 จาก 8 เป็น 16 ไปเรื่อย ๆ จะเพิ่มกำลังกันเรื่อย ๆ แต่ถ้าทุกคนมืออ่อนเท้าอ่อนลามือลาเท้า นั่นเขาเป็นอย่างนั้นแล้ว ฉันจะมาทำอย่างนี้ฉันก็เสียเปรียบคำตอบของดิฉันก็คือว่าก็พากันไปนรกทั้งหมดนั้นแหละไม่มีวันจะได้พบความสงบเย็น
เพราะฉะนั้นตอนนี้นะคะก็อยากจะขอเรียนท่านผู้ชมทั้งหลายว่า เราอยู่ในจุดที่จะต้องเลือก เราจะเลือกอะไร จะเลือกความเย็นหรือเลือกความร้อน สิ่งเหล่านี้อยู่ในมือของเราทุกคน เพราะฉะนั้นใครก็ตามเลือกความร้อนก็จะบอกว่าฉันทำไม่ได้แล้วใครก็ช่วยฉุดขึ้นมาไม่ได้ แต่ถ้าใครต้องการชีวิตเย็นเราเลือกปรับเปลี่ยนทิศทางคือทิฐิของตนเสียเดี๋ยวนี้ ก็มีหนทางที่จะขึ้นพ้นจากบ่อน้ำร้อนได้ สามารถที่จะมารับลมเย็นได้ขึ้นอยู่กับใจของเราเองว่าเราสามารถทำได้หรือไม่
เพราะฉะนั้นอย่าไปเป็นห่วงเลยคนอื่นเขายังไม่ทำแล้วฉันจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นจงรู้เถิดว่าเราทำเมื่อไรเราเย็นเมื่อนั้นใช่หรือไม่ เราทำเมื่อไรเราเย็นได้ทันที แต่ถ้าเราทำไมไม่ได้เราร้อนทันที นี่เราเห็นผลชัดตาอยู่แล้วๆ จะไปคอยคนอื่นเขาทำไมๆ เราถึงไม่เริ่มทำที่ตัวเรา แล้วก็ทำเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วย ฉะนั้นสิ่งที่คิดว่าจะช่วยให้เร็วขึ้นคือไม่ต้องต่างคนต่างทำนั้นก็คือเรื่องของการศึกษา ถ้าหากว่าในช่วงของระบบการศึกษาเรารับต่อกันเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ที่บ้านอนุบาล ประถม มัธยมและอุดมศึกษาไม่ทอดทิ้ง อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราได้หล่อหลอมหรือว่าอบรมบ่มนิสัยที่จะให้เป็นผู้มีความเห็นแก่ผู้อื่นอย่างนี้ตลอดเวลาก็จะสามารถเกิดประโยชน์ได้เป็นการปรับปรุงแล้วก็เปลี่ยนแปลงได้
ฉะนั้นวันนี้ก็อยากจะพูดกันต่อไปอีกว่าจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิที่แท้จริงนั้นจะต้องรู้อะไรบ้าง ก็จะต้องรู้สิ่งที่เป็นอุปสรรค อันหนึ่งก็คืออยากจะพูดว่าจะต้องรู้สิ่งที่เป็นอุปสรรค คืออุปสรรคของการพัฒนาจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเราลองนึกๆ ดูว่าอะไรที่เราทำไม่ได้ทำให้สิ่งที่ควรจะทำก็ทำไม่ได้อะไรที่เป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค อันแรกที่สุดก็อย่างที่พูดมาก็อยากจะชี้ให้เห็นชัดอีกว่าก็คือการตกเป็นทาสของวัตถุนิยมเข้าไปจับหัวใจของมนุษย์ทุกคนคือการตกเป็นทาสของวัตถุนิยมจริงหรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : จริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : วัตถุนิยมเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจอย่างเหลือเกินทีเดียวจริงหรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : จริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราควรจะพูดกันว่าการตกเป็นทาสของวัตถุนิยมมันเป็นอย่างไร วัตถุนิยมคืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : การน้าวโน้มคน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อยากจะพูดว่าวัตถุนิยมคืออะไร ส่วนการน้าวโน้มคนนั้นให้เป็นเรื่องของคนที่เขามีหน้าที่ๆ เขาจะต้องทำหน้าที่อันนี้ ที่นี้ถ้าหากจะพูดว่าวัตถุนิยมนี้คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : ข้าวของรอบตัวเรา วัตถุ รถยนต์ สิ่งต่างๆ สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายทั้งปวง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากจะพูดว่าวัตถุนิยมคืออะไร ถ้าพูดง่ายๆ ก็เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ง่ายๆ ด้วยรูปด้วยตา ก็จะต้องผ่านทางเครื่องมือทางการศึกษาของเราคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นเครื่องมือทางการศึกษาที่ธรรมชาติให้มาถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ รูป กลิ่น เสียง รส สัมผัส คือจะออกมาในรูปลักษณะของวัตถุนิยมในรูปแบบต่างๆ กันใช่หรือไม่
วัตถุนิยมในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น รูปที่อยากได้อาจจะเอาง่ายๆ ตั้งแต่เสื้อผ้าเปลี่ยนกันเกือบตลอดเวลา เดี๋ยวก็เดินไปตามร้านต่างๆ ไปเดอะมอลล์ ไปเซนทรัล ไปสำเพ็ง ไปพาหุรัดหรือจะไปอะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะไปหาซื้อผ้าแพรพรรณเอามาเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มตามที่ต้องการ อาหารการกินที่ให้ถูกปาก แล้วก็นอกจากนั้นสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบาย รถยนต์ที่จะต้องมีรถเก่าก็นั่งไม่ค่อยจะได้ ก็ด้วยไม่ค่อยจะสวย ไม่ติดแอร์ก็ไม่ได้ต้องมีแอร์ๆ เสร็จแล้วก็ต้องมีเทปๆ เสร็จแล้วก็ต้องมีอะไรอีก โทรทัศน์มีโทรทัศน์ เสร็จแล้วก็มีอะไรอีกต้องมีโทรศัพท์มือถือ ถ้าหากรถคันไหนไม่มีโทรศัพท์มือถือก็ดูไม่โก้ไม่ทันสมัย แสดงว่านี่เชยไปเสียแล้ว มีเพื่ออะไรที่มีเหล่านั้นมีเพื่ออะไร เอาว่านักธุรกิจเขาจะต้องติดต่อเรื่องการค้ากันเขาก็จำเป็นจะต้องมีโทรศัพท์มือถือหรือว่านักการเมืองเขาต้องปรึกษากิจการเขาต้องมีโทรศัพท์ มือถือ คนบางคนเขาก็ไม่ต้องมีกิจการมากถึงอย่างนั้นแต่ก็ต้องมีโทรศัพท์มือถือ แล้วพอเวลาลงจากรถก็ต้องถือลงมาให้เห็นว่าฉันมีๆ นี่คืออะไร นี่คือความตกเป็นทาสของวัตถุนิยมอย่างงมงายใช่หรือไม่เลยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นมีไว้ทำไมเพื่ออะไรอุตส่าห์ใช้เงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบากไปซื้อมาไม่ใช่ถูกเลยราคาแพงๆ ทั้งนั้น นี่เพื่ออะไร เพราะเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตใช่หรือไม่
ผู้ร่วมสนทนา : ไม่ใช่ เป็นเพื่อการประกอบฐานะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พูดถึงว่าจริงๆ ท่านบอกว่าชีวิตนี้ต้องการ ปัจจัย 4 เท่านั้น นี่เขาเรียกพื้นฐานอย่างยิ่ง ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค แล้วก็อาหารการรับประทาน นี่ถ้าหากเรามี 4 อย่างนี้เรียกว่าอยู่ได้แล้ว เราอยู่ได้แล้ว เรามีที่อยู่ขอให้เราอยู่สุขสบาย เรามีอาหารรับประทานที่จะเลี้ยงร่างกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ให้เรามีเครื่องนุ่งห่มให้เราพอกันร้อนกันหนาวและเหมาะเจาะแก่กาละเทศะ แล้วเราก็มียารักษาโรคเมื่อร่างกายเกิดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้าเราบริหารร่างกายให้ถูกต้องความที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็คงจะมีน้อย นี่เราก็เป็นพื้นฐานที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่านี่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ แต่เราก็จะเห็นว่า 4 อย่างนี้ ล้วนแล้วแต่บำรุงอะไร
ผู้ร่วมสนทนา : กาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บำรุงกายทั้งนั้นชีวิตประกอบด้วยกายจิต บำรุงแต่กายอย่างเดียวไม่ได้บำรุงอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์ต้องการอีกอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่เป็นปัจจัยที่ 5 นี้คืออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : วัตถุนิยม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : 4 อย่างยังไม่พออีกเหรอคะ
ผู้ร่วมสนทนา : ธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คือธรรม เราต้องการธรรมเพื่ออะไร
ผู้ร่วมสนทนา : เพื่อบำรุงจิตใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เพื่อบำรุงใจพัฒนาใจ แล้วขณะที่ปัจจัย 4 เพื่อพัฒนาร่างกายคือให้ความสะดวกสบายแก่ทางร่างกาย แต่เสร็จแล้วนี่พอการศึกษาก้าวหน้าความเจริญทางเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก เพราะฉะนั้นก็เลยมีการสร้างสิ่งที่อำนวยความสะดวกอย่างเกินความจำเป็นหรือยัง เกินความจำเป็นมากแล้ว เหมือนอย่างที่เคยพูดมาหลายครั้งมาแล้วว่าแต่ก่อนนี้เวลากินข้าวเราก็ใช้มือ เดี๋ยวนี้ก็ใช้ช้อนเพียงแต่ตักข้าวเข้าปากเคี้ยวกลืนกินไปให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย เดี๋ยวนี้กินข้าวแต่เพียงใช้มือใช้ปากแล้วก็ใช้ตามองดูสำรับกับข้าวมีอะไรบ้างไม่พอ ต้องกินด้วยหู ต้องมีเพลงฟัง ต้องกินด้วยสัมผัส มีคนมานั่งใกล้ๆ มาป้อนให้ก็ยิ่งดูมีรสเอร็ดอร่อยขึ้นแล้วจะกินแค่อาหารก็ไม่พอจะต้องได้เห็นรูปใครมาเต้นยึกยักๆ อยู่ข้างหน้าให้ประกอบเพลงให้น่าดู อย่างนี่เราเรียกเรากินพร้อม 5 ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่กินพร้อม แล้วสิ่งที่กินจริงๆ นั้นคืออะไร คือใจๆ นี่ดูดทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันดูดเข้ามาๆ มันถึงไม่อิ่มไม่พอ
เพราะฉะนั้น อันที่จริงถ้าจะพูดถึงเรื่องของว่าสิ่งที่ชีวิตต้องการสำหรับวัตถุนิยม พอเราเรียนจบจากวัยของการศึกษาเข้าถึงวัยดำเนินชีวิตเราก็อยากจะ นี่พูดถึงหลักทั่วๆ ไป อยากจะมีบ้าน มีงานก่อน พอจะหาเงินเดือนได้แล้วก็มีบ้านเสร็จแล้วก็มีครอบครัวแล้วก็มีทรัพย์สินเงินทองพอใช้จ่ายใช้สอยนี่เราก็อยากมีแค่นี้ แล้วส่วนมากก็พอมีเท่าที่ตนกะเอาไว้อยากจะได้มี แต่แล้วทำไมถึงหยุดแค่นี้ไม่ได้ ทำไมถึงต้องดิ้นรนต่อไป นี่แหละก็เพราะมองดูคนอื่นเขามีอย่างนั้นเขามีอย่างนี้เราจะต้องมีเหมือนอย่างเขาก็เลยเกิดความโลภ ความต้องการต่างๆ ให้มากมายยิ่งขึ้นมันก็เลยหยุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงจะต้องมีเงินให้มากขึ้น จะต้องมีบ้านให้ใหญ่ขึ้น บ้านก็อยู่สุขสบายดีแต่ต้องเพิ่มให้ใหญ่ขึ้นแล้วก็มีครอบครัวแล้วนี่ก็เล็กไป คนเดียวไม่พอต้องมีอีกคน บ้านอีกสักหลัง หลังที่ 2 ยังไม่พอ เอามีหลังที่ 3 หลังที่ 4 หลังที่ 5 ล้วนแล้วแต่นำปัญหามาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองและให้เกิดขึ้นแก่สังคมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นบอกได้ว่าชีวิตของมนุษย์ตกเป็นทาสของวัตถุนิยมจนสิ้นเนื้อประดาตัวจริงหรือไม่สิ้นเนื้อประดาตัวๆ ที่ต้องไหน ตรงใจนี่ที่ขาดทุนมันหมดไปทุกวันๆ หมดจนไม่เหลืออะไรเลย แล้วก็สิ้นเนื้อประดาตัวเพื่ออะไร ก็เพื่อบำเรอๆ ใจที่หิวกระหายที่ไม่เคยหยุดไม่เคยพอนั้นเอง ที่จะให้ได้มากยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นอุปสรรคประการแรกที่สุดที่เราควรจะสังวรณ์เอาไว้แล้วควรระมัดระวังก็จงถามใจของตัวเองสิว่าเราเป็นทาสของวัตถุนิยมแค่ไหนหรือวัตถุนิยมนี้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรามากน้อยแค่ไหน เราตกจมลงไปจนกระทั่งเราถอนใจไม่ขึ้นหรือเปล่า ถ้าหากว่าเราเป็นอย่างนั้นก็จงทราบเถอะว่าขณะนี้จิตนั้นหาใช่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นจิตสำนึกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างเต็มตัวเลย แล้วในชีวิตนี้จะไม่มีวันยอมให้มีความสงบสุขเย็นเลย อย่าว่าจะทำชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแม้แต่ตนเองก็หาความเย็นให้แก่ชีวิตไม่ได้
สำหรับวันนี้ก็ขอธรรมสวัสดีแค่นี้ก่อนนะคะ