แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมมะสวัสดีค่ะท่านผู้ชม ในรายการวรรณกรรมกับธรรมมะในวันนี้นะคะ ดิฉันอยากจะนำท่านผู้ชม ได้มาพบกับวรรณกรรมหรือหนังสือเรื่องหนึ่ง ซึ่งท่านผู้ชมหลายท่านอาจเคยได้อ่านหนังสือเรื่องนี้มาแล้วก็ได้ เพราะเป็นเล่มเล็กๆ ไม่ใหญ่เลย คือเรื่องบ้านพิลึก ของ ว.วินิจฉัยกุล
เป็นหนังสือที่จัดได้ว่าเป็นหนังสือสำหรับวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มต้น ที่ว่าเป็นวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มต้นก็เพราะเหตุว่า ตัวละครที่เป็นจะเรียกว่าเป็นตัวเอก หรือเป็นตัวนำเรื่องในเรื่องนี้ก็ได้ อายุเพียง ๑๐ ขวบเท่านั้น ฉะนั้นในระหว่าง ๙ ขวบ ๑๐ ขวบ ๑๑ ขวบ เราก็ถือว่าอยู่ในวัยรุ่นเริ่มต้นนะคะ เนื้อความย่อๆของเรื่องบ้านพิลึกก็ เป็นครอบครัวหนึ่งมีพ่อ แม่ และก็ลูกสาวสองคน แต่ทว่ามีความเป็นอยู่ที่เมื่อเปรียบเทียบครอบครัวของชาวไทยอื่นๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรในระแวกเดียวกัน ก็มีความแตกต่าง ไม่เหมือนกับเขา
เพราะฉะนั้น หลายคนอาจจะมองดูว่า บ้านนี้มีความเป็นอยู่พิลึกๆ ไม่เห็นเหมือนกับชาวบ้านอื่นเขาเลย และก็เลยทำให้เกี้ยว เด็กหญิงเกี้ยว ซึ่งเป็นตัวนำเรื่องในเรื่องนี้ เกิดความไม่แน่ใจ อึดอัดขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! เรานี้ หรือครอบครัวของเรานี้ พิลึกจริงๆตามที่ใครเขาว่าหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ตามคำค่อนแคะของเด็กชายบอย ที่เป็นเพื่อนบ้านร่วมโรงเรียน และก็เผอิญมาอยู่บ้านติดกันเสียด้วย แต่ว่าบ้านของบอยนั้นน่ะ เป็นบ้านใหญ่ เขามีห้องตั้ง ๑๐ กว่าห้อง มีรถยนต์ตั้ง ๓ คัน และก็มีเครื่องอุปโภคบริโภคอะไรต่างๆ ที่มองดูแล้วมันมั่งคั่งมหาศาลนะคะ มันมากกว่าที่บ้านของเกี้ยวมี และก็ไม่เหมือนกันด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาลองดูว่า ความพิลึกในเรื่องของบ้านเกี้ยว ที่ใครๆเขาว่าเป็นบ้านพิลึกนี่นะคะ มีอะไรบ้าง ดิฉันเมื่ออ่านแล้วก็ลองนำมาเขียนดูว่า คือเขียนไล่ดูว่ามันมีสักกี่ข้อ ข้อของความพิลึกนี่
ก็ได้ข้อแรกทีเดียว ครอบครัวนี้ใช้จักรยานเป็นพาหนะ เช่นพ่อก็ขี่จักรยานไปทำงาน แม่ก็ขี่จักรยานไปตลาด พี่สาวของเกี้ยว คือแก้ว ก็ขี่จักรยานไปโรงเรียน โดยมีเกี้ยวนั่งซ้อนท้าย การขี่จักรยานในบ้านเมืองใหญ่ๆ ของเมืองไทยเราขณะนี้ ท่านผู้ชมก็คงรู้สึกนะคะ ว่ามันน่าแปลก เพราะใครๆเขาก็ใช้อย่างเลวที่สุดก็จักรยานยนต์ และก็ต่อไปก็รถยนต์คันเล็กๆ แล้วก็รถยนต์คันใหญ่ๆ และก็ใหญ่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดน่ะ บางคนก็อาจจะยังมีเครื่องบินส่วนตัวอีกด้วยซ้ำไป แต่ว่านี่ทั้งครอบครัวใช้จักรยานเป็นพาหนะ และก็กระดิ่งของจักรยานของพ่อของเกี้ยวนี่ ก็มีเสียงก็มีเสียงแปลกกว่าคนอื่นเขา คือเสียงกระดิ่งจักรยานนั้นมันบอกว่า นิ้วโป้งอยู่ไหน นิ้วโป้งอยู่ไหน และก็บอกว่าอยู่นี่ค่ะ เพราะว่าผู้ที่ทำจักรยานคือพ่อของเกี้ยวนี่ ก็ทำเสียงจักรยานให้แปลกเป็นพิเศษ มากกว่าจักรยานของคนอื่น
ความพิลึกข้อที่สองก็คือว่า แม่ของเกี้ยวนุ่งผ้าโจงกระเบนอยู่บ้าน แทนที่จะนุ่งกางเกงเหมือนอย่างคุณแม่คนอื่นเขา หรือว่านุ่งกระโปรงที่เป็นชุดรุ่มร่าม ที่มองเหมือนกับว่าสบายๆหลวมๆ ก็กลับนุ่งผ้าโจงกระเบนอยู่บ้าน ซึ่งเกี้ยวก็รู้สึกอัดอัดใจมากเลย ที่ทำไมแม่ของเรานี่ ไม่แต่งตัวให้เหมือนแม่คนอื่นเขา ยิ่งกว่านั้นเวลาที่ไปงานไปการต่างๆ เช่นไปงานโรงเรียน แม่ก็ยังนุ่งผ้าซิ่นไปงานเสียอีก ในขณะที่แม่ของคนอื่นๆ ของเพื่อนๆนี่ เขานุ่งกระโปรงชุดสวยๆ หรือว่าแต่งกายเหมาะกับสมัยนิยม นี่ก็เป็นข้อพิลึกข้อที่สอง
ข้อพิลึกข้อที่สาม ก็คือว่า ที่บ้านของเกี้ยวนี่ แทนที่จะมีสนามหญ้าอยู่หน้าบ้าน กลับมีสนามผัก คือปลูกผักนานาชนิด รวมทั้งรั้ว รั้วบ้านก็ปลูกผักอีกด้วย และก็สนามหญ้าก็มีเหมือนกัน แต่สนามหญ้าสำหรับเล่นไปอยู่ที่หลังบ้าน
ข้อที่สี่ของความพิลึก ก็คือว่า แทนที่บ้านนี้ เด็กๆบ้านนี้ จะนิยมดื่มน้ำอัดลมเหมือนอย่างคนทั่วๆไปในปัจจุบันนี้ กลับไปชอบน้ำดื่มที่เด็กๆเดี๋ยวนี้น้อยคนนะคะที่จะชอบ ถ้าผู้ใหญ่อาจจะชอบบ้าง เช่นดื่มน้ำมะตูม ดื่มน้ำมะตูมแช่เย็น เอาไว้ในตู้เย็น และขนมแทนที่จะชอบขนมคุ้กกี้ หรือเค้ก อันที่ขายดีอย่างยิ่งเดียวนี้ ก็กลับมาชอบขนมไทยๆ เหมือนอย่างขนมลืมกลืน ขนมกรุบ ขนมบ้าบิ่น ขนมขี้หนู ข้าวเม่ามีเป็นต้น เพราะว่าแม่ของเกี้ยวกับแม่ของแก้วนี่ ทำขนมไทยเก่งนะคะ แล้วก็ทำขนมไทยนี่เลี้ยงลูก หรือไว้ให้สามี ให้ลูกรับประทานเป็นประจำ
ข้อพิลึกข้อที่ห้า ก็คือว่า พี่สาวของเกี้ยวที่ชื่อแก้วนี่ แทนที่จะมีสัตว์เลี้ยงเช่นลูกหมาเล็กๆที่น่าเอ็นดู หรือว่าลูกแมวสีสวาท ท่านผู้ชมที่อ่านเรื่องนี้แล้วก็คงทราบ สัตว์เลี้ยงของแก้วคือตุ๊กแก เขาเลี้ยงตุ๊กแก เพราะบอกว่าเขาบอกว่าตุ๊กแกมันเป็นสัตว์ที่ใครๆก็เกลียด จึงน่าสงสาร แต่ไม่ใช่ว่ามันเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์นะคะ ตุ๊กแกนี่ เพราะเหตุว่า มันช่วยกินตัวแมลงต่างๆ นอกจากตุ๊กแก ก็ยังมีคางคก มีอึ่ง มีเขียด โดยแก้วให้เหตุผลว่า ที่เขามาชอบเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ มันเป็นสัตว์น่าเกลียด คางคกใครๆก็เกลียด แต่ถ้าหากว่า เราพบเจ้าคางคกตัวนั้นบ่อยๆ ทำความเป็นมิตรกับมัน ยิ้มกับมัน เรียกมัน ตั้งชื่อให้มัน ไม่ช้ามันจะจำได้ แล้วประโยชน์สำหรับแก้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เขาบอกว่าเวลาที่เขารู้สึก เกลียดขี้หน้าใครขึ้นมานี่ เขามองคางคกแล้วเขาก็นึกถึงหน้าคนที่ทำให้เขาไม่ชอบใจ แล้วเขาหายเกลียดไปได้ หายชังน้ำหน้าไปได้
ข้อพิลึกข้อที่หก ก็คือว่า ที่บ้านนี้ไม่มีโทรทัศน์นะคะ ซึ่งโทรทัศน์เกือบจะว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในชีวิตของคนปัจจุบัน เหมือนอย่างเราต้องกินข้าว แต่ที่บ้านของเกี้ยวนี่ ไม่มีโทรทัศน์เลย ในขณะที่บ้านอื่นๆนี่ เขามีโทรทัศน์กันอยู่เต็มทีเดียว แล้วทำไมเขาจึงไม่มีโทรทัศน์ หรือทำไม่พ่อ แม่ ของเกี้ยวจึงไม่หาโทรทัศน์ไว้ ท่านผู้ชมก็ได้ทราบเหตุผลของเขาต่อไปนะคะ
นอกจากนี้ไม่มีเครื่องสะสมอื่น ที่จะแสดงถึงความมั่งคั่ง หรือความมีเกียรติตามความเข้าใจของคนโลกปัจจุบันนี้ที่บ้าน เช่น ไม่มีเครื่องลายคราม ไม่มีเครื่องถ้วยโถโอชามที่แสดงความโบร่ำโบราณมีประวัติศาสตร์มานานๆ เหมือนอย่างบ้านของบอย แต่ว่าตรงกันข้าม ความพิลึกของบ้านหลังนี้มีหนังสือเต็มไปหมดเลย มีหนังสือเต็มไปหมดทั้งบ้าน
ความพิลึกข้อที่แปด ก็คือ แทนที่บ้านนี้จะนิยมสเตอริโอ ที่เล่นเพลงได้ไพเราะ หรือว่าฟังเทปเพลงต่างๆ หรือว่าดูวิดีโอ ก็กลับพ่อ แม่ ลูกชวนกันเล่นดนตรีไทย และก็ดนตรีไทยนั่น ไม่ใช่ซอสามสายอย่างที่นิยมกันอยู่ มีชื่อมีเสียงนั้นนะคะ ก็กลับเล่นระนาด พ่อ แม่ ลูก ชวนกันเล่นระนาด คือตีระนาดกันสนุกสนานไป เวลาว่างที่มีอยู่ แทนที่จะไปใช้กับโทรทัศน์ วิดีโอ ก็กลับมาท่องสุภาษิตสอนหญิงเป็นต้น เพราะลูกทั้งสองคนเป็นหญิง หรือมิเช่นนั้นก็เล่านิทานจากหนังสือที่มีคติแง่คิด ชวนให้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอะไรต่ออะไรต่างๆ
และความพิลึกข้อที่สี่ ก็คือ เด็กๆที่บ้านนี้สองคนพี่น้อง ขอประทานโทษข้อที่สิบนะคะ เด็กสองคนพี่น้องนี่ ไม่ชอบนินทาใคร คือหมายความว่าถ้าพูดอะไรพูดกันไปตรงๆ นี่รู้สึกว่าผิดกับธรรมชาติของคนทั่วไปเป็นอันมากเลยนะคะ เราอดกันไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่นินทาเอาจริงเอาจัง แต่เราอดที่จะนินทาเล็กๆน้อยๆ พอหอมปากหอมคอไม่ได้ แต่ว่าแก้วจะคอยเตือนเกี้ยวน้องสาวเสมอว่า พูดอะไรก็พูดให้ตรงๆ อย่าไปนินทา
และข้อสิบเอ็ดของความพิลึก ซึ้งอันนี้ก็หมายความว่ามีผู้อื่นนะคะ มาช่วยผสมความพิลึกให้มากขึ้น นั่นก็คือเด็กหญิงญี่ปุ่น ที่ชื่อชินฮายุ ที่ได้ทุนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรม แล้วก็ทางโรงเรียนของเกี้ยว อาจารย์ที่โรงเรียนนั้น ได้เลือกให้พ่อ แม่ของเกี้ยวเป็นผู้ปกครองของเด็กหญิงญี่ปุ่นคนนี้ เด็กหญิงญี่ปุ่นคนนี้ ก็กลับมาช่วยเพิ่มความพิลึกให้มากอีก คือแทนที่จะมาชอบไปเที่ยวชายทะเล พักโรงแรมใหญ่ๆ และก็น้ำในสระอาบน้ำที่ใสแจ๋วสะอาด แต่ทว่าไม่มีลูกคลื่น เด็กหญิงญี่ปุ่นคนนี้ก็กลับมาชอบคลอง ชอบต้นข้าว ชอบควาย ชอบเรือนไทยเสียมากกว่า ใครๆก็เลยมองดูว่าความเป็นอยู่ของบ้านของเกี้ยวนี่เป็นความพิลึกจริงเชียว
เหล่านี้คือความพิลึกที่เด็กหญิงเกี้ยว อายุประมาณ ๑๐ ขวบนี้นะคะ มีความรู้สึกเดือดร้อน แล้วก็อึดอัดในใจมาก เหตุผลที่เขารู้สึกอัดอัดในใจ ก็เพราะเขามีความรู้สึกว่า บ้านของเรานี้ไม่เหมือนคนอื่น จุดนี้มีความสำคัญนะคะท่านผู้ชม ประเด็นของความรู้สึกที่ว่า เราไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นก็คือบ้านที่เขามีบ้านกันใหญ่โต และก็มีการกระทำต่างๆที่แตกต่างไปจากครอบครัวของเกี้ยวที่ปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือเขาใช้รถยนต์ หรือเขาใช้มอเตอร์ไซค์ เขาดูโทรทัศน์ เขาดูวิดีโอ เขามีขนมเค้กรับประทานในเวลาที่มีงานวันเกิด เขาต้องใช้ขนมเค้ก พ่อ แม่ของเขาก็แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายงามๆ ผ้าที่สั่งมาจากเมืองนอกต่างๆ เป็นต้น ด้วยความรู้สึกเดือดร้อนในใจว่า เราไม่เหมือนคนอื่น นี่เป็นความอึดอัดของเด็กหญิงเกี้ยว
และอีกข้อนึงก็ เพราะเด็กชายบอยที่เป็นเพื่อน ที่อยู่บ้านติดกันนั้นน่ะ ปากอยู่ไม่สุขจริงๆเลย เป็นลูกเศรษฐีเพื่อนบ้าน แล้วก็อาจจะบอกได้ว่า เป็นบ้านที่มีวัตถุนิยมขึ้นสมอง คือมีจิตใจที่นิยมในวัตถุ จนกระทั่งเรียกว่าขึ้นสมอง เพราะเด็กชายบอย และก็อาจจะเป็นญาติพี่น้องของเขาด้วยก็ได้ ที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างซื่อๆ ก็ซื่อบริสุทธิ์แหละ แต่มันบริสุทธิ์ที่ไม่ชวนให้น่ารักสักเท่าไหร่
เพราะเขามีความเข้าใจว่า ถ้าหากเราอยากจะความแสดงความเป็นผู้มีวัฒนธรรมไทยแล้วก็ ต้องไปซื้อเอา
ทำไมถึงบอกต้องไปซื้อเอา ก็อย่างที่บอยอยากให้เด็กหญิงญี่ปุ่นชินฮายุนั้นน่ะ ได้ไปอยู่ที่บ้านเขา แทนที่ไปอยู่บ้านของเกี้ยว ก็พยายามไปบอกกับเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นว่า ถ้าจะมีเด็กชาวญี่ปุ่นมาอีกละก็ ให้มาอยู่บ้านเขาเถอะนะ เพราะบ้านเขานี่มีบ้านใหญ่ถึง ๑๐ กว่าห้อง มีรถยนต์ ๓ คัน และก็มีอุปโภคบริโภคอะไรต่ออะไรต่างๆอีกมากมาย คือมีอุปกรณ์สำหรับการอุปโภคบริโภคอีกเยอะแยะเชียว ขอให้ส่งมาอยู่เถอะ แล้วเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นก็บอกว่า อย่างนั้นมันก็ อย่างนั้นๆนะ มันธรรมดานะ ถ้าหากเขาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันแล้วก็ เขาก็อยากให้ได้มาศึกษาวัฒนธรรมของไทย
และบอยก็ถามอย่างซื่อๆว่า วัฒนธรรมนี่ไปซื้อได้ที่ไหน เพราะเขาเห็นพ่อแม่ของเขาใช้เงินซื้ออยู่ตลอดเวลา ไปซื้อเครื่องลายคราม ไปซื้อของที่เป็นโบราณ ไปซื้อสิ่งของอะไรต่างๆนี่มาประดับบ้านอยู่เสมอ เขาก็เลยถามว่า แล้ววัฒนธรรมไทยนี่จะไปซื้อกันได้ที่ไหนนะคะ
นอกจากนี้ เด็กชายบอยยังมีความรู้สึกอีกว่า ความมีเกียรติ ความมีหน้า ความมีชื่อของคน หรือความเป็นผู้เจริญของคนนี่ อยู่ที่การมีบ้านใหญ่ ๑๔ ห้อง มีรถยนต์ ๓ คัน เมื่อเวลาที่จะไปต่างจังหวัดที่ไหนก็ต้อง เช่นพัทยาก็ต้องไปพักโรงแรมที่ใหญ่ที่สุด แล้วก็เช่าห้องชุดที่ใหญ่ที่สุดในโรงแรมนั้นด้วย นี่คือความมีเกียรติ นี่คือความมีชื่อหน้า เกียรติยศชื่อเสียง ในความเข้าใจของเขา แล้ววัฒนธรรมนี้ก็ต้องซื้อเอาอย่างที่ว่าแล้วนั้น
แล้วเรื่องก็ดำเนินอย่างนี้ไปเรื่อยๆนะคะ ด้วยความรู้สึกเดือดร้อนใจของเกี้ยว ที่ถูกเพื่อนๆ โดยเฉพาะบอยนี่ค่อนขอดไม่ได้หยุดเลยว่า พ่อของเกี้ยวก็พิลึก แม่ก็พิลึก พี่สาวก็พิลึก ใครๆก็พิลึกไปทั้งนั้น เพราะมีการกระทำที่พิลึก รวมทั้งเด็กหญิงญี่ปุ่นที่มาพักอยู่นั้นน่ะ ก็พลอยพิลึกไปด้วย เพราะเหตุว่า บอยได้อุตส่าห์พยายามชักชวน คือพ่อ แม่ของบอยนี่ ได้ชักชวนไปเที่ยว ไปเที่ยวจนถึงพัทยานั้นน่ะ แล้วก็พาไปพักในสถานที่ของโรงแรมออกใหญ่โต กลับมาชินฮายุกลับบอกว่า ไม่เห็นสนุกเลย เขาไม่เห็นสนใจเลย ทำไมจึงไม่สนใจ ก็เพราะความใหญ่โตแบบนั้น ที่ญี่ปุ่นเขามีเยอะแยะไป และอาจจะมีมากกว่าที่เรามีก็ได้
แล้วก็ผู้เขียนคือ ว.วินิจฉัยกุล ก็ได้ให้อารมณ์ขันแก่ผู้อ่าน ด้วยการสร้างเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะส่งเสริม หรือกระตุ้นให้ผู้อ่านได้เกิดความเข้าใจ หรือสำนึกสำเนียกไปเองทีละน้อยๆว่า ระหว่างความพิลึกกับความไม่พิลึกของบ้านบอย กับบ้านอื่นๆนั้นนะ คือความพิลึกของบ้านของเกี้ยว กับความไม่พิลึกของบ้านของบอย กับบ้านอื่นๆนี่ อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และก็เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ ผู้เขียนไม่ได้บอก แต่ว่าก็มีวิธีที่จะกระตุ้นแนะนำให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านวัยเยาว์ ก็จะค่อยๆมองเห็นแล้วก็เข้าใจไปเองทีละน้อยนะคะว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ที่สมควรทำ
นอกจากนั้นก็จะมองเห็นด้วยอีกด้วยว่า อะไรคือวัฒนธรรมไทยที่แท้จริง เป็นวัฒนธรรมไทยที่เราซื้อขายก็ไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครมาเยื้อแย่งเอาไปจากเราได้ด้วย นอกจากจะมาเลียนแบบ หรือจะมาเอาอย่าง นอกจากนี้ก็ การเผยแผ่วัฒนธรรมไทยที่แท้จริง และก็การรักษาวัฒนธรรมไทยไว้อย่างถูกต้องนี้ จะทำอย่างไร ผู้เขียนก็บอกเป็นนัยๆ ให้คนอ่านผู้เยาว์ได้รู้จักเอง
ต่อไปก็ ผู้เขียนก็บอกอีกว่า อะไรคือวิถีทางของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งควรจะเป็นที่ยอมรับกันว่า นี่แหละคือความเจริญอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความเจริญจอมปลอม อย่างที่มีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก ความเจริญจอมปลอมนั้น บอกได้ว่าไม่ใช่เป็นการสร้างสรร แต่มันเป็นการสูญเสีย ทำลายเศรษฐกิจของชาติ ทำลายวัฒนธรรมของชาติ และก็ทำลายความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง อันเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของชีวิตของเราให้หมดสิ้นไปด้วย
และความพิลึกอันแท้จริง ที่ควรจะละอาย ความพิลึกที่ควรละอายทั้งเด็กและผู้ใหญ่คืออะไร ดิฉันรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขณะที่เราอ่านไปๆ เราจะพบ เราจะได้ความรู้สึกความสำเนียกในแง่นี้เพิ่มขึ้น ถ้าหากว่าเยาวชนทั้งหลายนะคะ สนใจและเข้าใจวิธีการที่จะอ่านวรรณกรรมในลักษณะนี้ ด้วยการนำความรู้ความเข้าใจในธรรมมะเข้ามาประกอบด้วย ย่อมจะได้แง่คิดมาส่งเสริมการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ยิ่งขึ้นๆ
นั่นก็คือจะสามารถเป็นผู้ที่รู้จักวิธีที่จะฝึกฝน อบรมใจ ให้สงบและก็เป็นสุขได้ทีละน้อยๆๆ อะไรที่ไม่ถูกใจที่จะต้องร้องเอาให้ได้ ก็จะรู้จักค่อยๆรู้จักแก้ไขใจของตัวเอง ว่าเราควรจะทำอย่างไรนะ มันจึงจะงดงาม และก็จะเหมาะสม นอกจากนั้นก็จะรู้สึกว่า ความสุขที่เราจะหาได้นี้ ในท่ามกลางความร้อน ความระอุนี้ เราจะทำอย่างไร เราจึงจะทำใจนั้นไม่ให้ร้อนระอุไปตามอากาศด้วย หรือร้อนระอุไปตามภาวะของเศรษฐกิจที่กำลังบีบรัดตัวอยู่อีกด้วย สิ่งเหล่านี้เราจะได้ข้อคิดจากเรื่องบ้านพิลึก ของ ว.วินิจฉัยกุล
สำหรับครั้งนี้เราจำเป็นจะต้องจบรายการ “วรรณกรรมกับธรรมมะ” ไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ แล้วเราจะได้สนทนาต่อไปอีกถึงเรื่องบ้านพิลึกในคราวหน้า ธรรมมะสวัสดีค่ะ