แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ไปที่วัดป่าหนองไผ่ จังหวัดสกลนคร ไปที่บ้านธรรมะบารมี ของท่านอาจารย์คุณรัญจวน อินทรกำแหง กัน ไปฟังหลักธรรมเรื่องราวของวิธีฆ่าอัตตาตัวตนของเรากันนะครับ โดยใช้กฎที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนไว้คือกฎของไตรลักษณ์อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คำว่าไตรลักษณ์ที่ถือว่าเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พูดถึงว่าธรรมดาอันเป็นสามัญสามอย่างก็คืออนิจจังความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ทุกขังความทนอยู่ไม่ได้ ความตั้งอยู่ไม่ได้ แล้วก็อนัตตาความไม่ใช่ตัวตน มันจะค่อย ๆ เริ่มมองเห็นชัดทีละน้อยละน้อย ตอนแรก ๆ นี่ก็รู้สึกว่าเราต่อสู้กับเรื่องของตัวตน เราก็จะไปเล็งที่อนัตตาจะพิจารณาอนัตตาอย่างเดียว เวลาที่จะสวดมนต์บทที่ว่าด้วยเรื่องของไตรลักษณ์ก็จะมุ่งจ่อไปที่พิจารณาอนัตตา เราก็จะข้ามอนิจจัง ทุกขัง แล้วก็คิดว่าเรานี่เก่ง เห็นไหม แม้แต่เข้ามาปฏิบัติธรรมก็ยังอวดเก่งจะไปเอายอดเลยคืออนัตตา เสร็จแล้วครูบาอาจารย์ท่านก็มองดูท่านก็รู้ว่านี่ผิดขั้นบันไดของการปฏิบัติ ท่านก็ไม่ว่าอะไรแต่ท่านบอกให้รู้เอง รู้ไปรู้มาเราก็จะรู้ว่าเราจะดูอัตตา อนัตตา ดูไปเถอะ ดูเท่าไรก็ไม่เห็น เพราะเราไปมองข้ามสิ่งสำคัญที่เป็นเบื้องต้นคือไม่ดูถึงเรื่องของอนิจจังเสียก่อน ก่อนเริ่มต้นนี่เราจะต้องพยายามมองเห็นทุกอย่างให้เป็นอนิจจังที่อยู่ในสภาวะของความไม่เที่ยง แปรปรวนเปลี่ยนไปเป็นธรรมดาอย่างนี้เอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ต้องดูอันนี้ให้เห็นชัดก่อน ถ้าไม่เห็นชัดในสิ่งนี้แล้วจะข้ามไปถึงอนัตตาไม่ได้เลย เพราะเราจะยังมองเห็นอัตตามันทนโท่อยู่นี่มันยังไม่ได้ละลาย มันยังไม่ได้ละลายไม่ได้เสื่อมสลายไปเลย แล้วก็ย้อนไปนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเป็นพระบรมศาสดาเป็นพระบรมครู เวลาที่ท่านทรงสอนพระพุทธสาวกทั้งหลายคงเคยได้ยินตั้งแต่พระราหุลพระโอรสอายุเพียง 7 ขวบไปจนกระทั่งถึงพระสาวกที่อายุมากจนแก่จนอะไรก็แล้วแต่ ท่านยังทรงเริ่มต้นสอนด้วยรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านยังต้องเริ่มด้วยอันนี้เสมอเลย พระสาวกก็จะตอบว่าไม่เที่ยงพระเจ้าข้า พระองค์ก็จะทรงถามต่อไปสิ่งใดไม่เที่ยงมีความแปรปรวนเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ก็ต้องตอบว่าเป็นทุกข์ คือมันต้องตอบไปเองโดยอัตโนมัติว่าเป็นอย่างนี้จริง ๆ เมื่อมันไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ มันก็เกิดความเสียใจ ใจหายเสียดายอาลัยที่สิ่งนั้นมันจะเปลี่ยนแปลงไปไม่อยู่กับเราเสียแล้วใช่ไหมคะ มันก็เป็นทุกข์และพระองค์ก็จะทรงถามต่อไป สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ควรหรือที่จะไปยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นเรา นั่นเป็นเราเป็นของเรา เป็นอัตตาของเราเป็นตัวตนของเรา เห็นไหมพระองค์ทรงย้ำ แล้วก็ความอวดวิเศษของตัวเอง แหมทำไมพระองค์ทรงสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเวลาที่อ่านในพระไตรปิฎกนะคะ ก็จะถามตัวเองทำไมทรงสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าพระสาวกทั้งหลายนี่ไม่ค่อยจะฉลาดเลย พระองค์จึงต้องทรงถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่แต่ว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยงอย่างนี้ แล้วก็พระสาวกก็ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ก็จะพูดว่าเป็นทุกข์พระเจ้าข้า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควรหรือที่จะยึดถือว่านั่นเป็นเรานั่นเป็นของเรานั่นเป็นตัวตนของเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า
นี่พระองค์ให้ทรงตอบย้ำถามไปถามมาเพื่ออะไร คนตอบจะได้สำนึกใช่ไหมคะว่า ไม่ควรเลยพระเจ้าข้าที่จะยึดมั่นถือมั่นแล้วทำไมยังยึดอยู่ล่ะทั้งที่ตอบพระองค์ว่าไม่ควรเลยที่จะยึดมั่นถือมั่น แต่ก็ยึดอยู่ตลอดเวลา เสร็จแล้วพอเปลี่ยนจากรูป พระองค์ก็จะทรงถามต่อไปอีกล่ะรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง พอเสร็จจากรูปก็เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง เวทนาก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ประเดี๋ยวรักประเดี๋ยวชัง ชอบ ชัง รัก เกลียด ประเดี๋ยวโกรธ ประเดี๋ยวดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า นั่นอีกเหมือนกัน และสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ด้วยประโยคเดียวกัน จะทรงถามอย่างนี้เป็นทุกข์พระเจ้าข้า สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ควรหรือที่จะไปยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นเรานั่นเป็นของเรา บางทีฟังแล้วอาจจะสงสัยว่าเวทนานี้จะเป็นเราได้ยังไง เป็นไหมรู้สึกเป็นไหมเวทนาเป็นเราไหม ก็เวลาที่เรารู้สึกโกรธนี่เรารู้สึกแหมมันโกรธจริงๆ นะ ฉันโกรธมันร้อนอยู่ในหัวอกมันอยากจะทำอะไรตามอำนาจของความโกรธที่กำลังเกิดอยู่ จะด้วยวาจาหรือด้วยการกระทำก็แล้วแต่ นี่ก็แสดงว่าเวทนานี่ฉันกำลังมีอยู่มันเป็นของฉัน ฉันกำลังโกรธอยู่ เวทนานี่คือความรู้สึก หรือว่ารักก็แหมรักจี๋หวานจ๋อย จนกระทั่งพร้อมจะสละทุกอย่างให้เลย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตจิตใจทรัพย์สินเงินทองเอาเถอะยอดที่รักเธอจะเอาอะไรสละให้ได้หมดทุกอย่าง นี่พอถึงเวลารักเข้าก็เอาจริงเอาจังว่าเป็นรักของฉัน เพราะฉะนั้นฉันยินดีพร้อมที่จะสละให้หมดทุกอย่างอีกเหมือนกัน ท่านจึงต้องทรงถามย้ำ เมื่อเวทนาไม่เที่ยงเป็นทุกข์แปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นเราเป็นของเราเป็นตัวตนของเรา เป็นอัตตาของเรา ก็เปล่า เวทนามันก็เกิดแล้วก็ดับ ถ้าลองมานึกดูว่านับไม่ถ้วนนะในชีวิตของเราตั้งแต่เกิดมาจนเดี๋ยวนี้ได้เคยโกรธ เคยรัก เคยหลงมากี่ล้านล้านล้านครั้ง จะพูดถึงว่าเป็นหมื่นแสนไม่ได้แล้ว เพราะอายุเรามาก และก็เวทนาที่มันเกิดขึ้นนี่มันเร็วใช่ไหมคะ ประเดี๋ยวเดียวเกิดแล้ว ประเดี๋ยวเดียวเกิดแล้วภายใน 10 นาทีนี่อาจจะมีเวทนาตั้งหลายอย่าง ประเดี๋ยวรักประเดี๋ยวโกรธประเดี๋ยวชิงชังประเดี๋ยวหลงประเดี๋ยวดี ประเดี๋ยวชั่ว ประเดี๋ยวรู้สึกได้รู้สึกเสียมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะแยะนับไม่ถ้วน มันรวดเร็วเสียยิ่งกว่ารูปอีก รูปนี่ยังเปลี่ยนอยู่หรอกแต่มันยังไม่เปลี่ยนเร็วเท่าเวทนา แต่คนเราพอเวทนาเกิดขึ้นก็ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นจริงเป็นจังเป็นฉันเป็นของฉันอยู่ตลอดเวลาแล้วก็ถูกเวทนานี่มันย่ำยีมันย่ำยีจิตใจให้ต้องเป็นทุกข์ มันย่ำยีจิตใจให้ไม่มีความสุขเลย แล้วก็จนกระทั่งเกิดการทำร้ายอาชญากรรมต่างๆ ที่พบในหนังสือพิมพ์หรือตามข่าวโทรทัศน์อะไรเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากเวทนาทั้งสิ้น บางทีก็เป็นเวทนาโลภ เวทนารัก เวทนาโกรธ สลับกันไปเรื่อยต่างๆ นานา
นี่แหละเพราะฉะนั้นเรื่องของเวทนาก็อยากจะย้ำให้ฟังว่าอย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่ายคือเป็นเรื่องง่ายที่จะหยุดมันเมื่อไรก็ได้ สำหรับเราๆ นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเป็นเรื่องยากมากแม้จะมีความตั้งใจว่าจะหยุดเวทนาก็ยังหยุดไม่ได้เพราะอะไร เพราะท่านก็ทรงสอนเอาไว้แล้วว่าถ้าสามารถหยุดเวทนาได้เท่านั้น คนใดหยุดเวทนาได้ คำว่าหยุดนี่ไม่ว่าจะมีอาการกระทบเกิดขึ้นทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจนี่หยุดไม่รับเวทนานั้นเลยเข้ามาสู่ใจจะไม่มีเลย ถ้าใครสามารถหยุดได้นี่เป็นเจ้าโลกเราได้ ทีนี้เมื่อในการที่ได้ฝึกสอนตัวเองก็นึกถึงหลักธรรมของพระพุทธเจ้าว่าสิ่งที่จะเอามาเข่นฆ่ากับอัตตาที่เรายึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นตัวตนของเรามันอยู่อย่างนี้นี่มันคืออะไร มันอยู่ได้จริงไหม นั่นก็ต้องเอาหลักพระไตรลักษณ์เข้ามาที่จะพิจารณา ก็พิจารณาให้เห็นถึงว่าต้องเริ่มต้นด้วยความเป็นอนิจจังว่าเรื่องของความเป็นอนิจจังเรื่องความไม่เที่ยงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาอย่างนี้เองไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นเลยสักอย่างเดียว จริงหรือไม่จริง ก็นั่งเงียบๆ สงบๆ อยู่คนเดียว ไม่ต้องพูดไม่ต้องคุยกับใครยิ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ทุกอย่างก็ล้วนเป็นไปตามธรรมดาของมันเองไม่มีอะไรปรุงแต่งจะยิ่งดีมาก เพราะจะยิ่งทำให้จิตเกิดความสงบเย็น แล้วเมื่อจะมองย้อนให้ลึกซึ้งเข้าไปข้างในก็จะเห็นได้ง่ายมากกว่าอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่วุ่นวาย ฉะนั้นก็นั่งมองดูให้เห็นเถิดว่าที่ท่านพูดว่าเป็นอนิจจังความไม่เที่ยงมันจริงไหม อะไรๆ มันก็แปรปรวนเปลี่ยนไปไม่มีอะไรคงที่เลยสักอย่างเดียวจริงไหม พอเราดูแล้วล่ะก็ชอบถามตัวเองว่าจริงไหม ถ้าไม่ถามตัวเองว่าจริงไหม มันไม่ค่อยได้ยืนยันมันเหมือนกับไม่ค่อยได้ยืนยัน แต่ถ้าถามว่าจริงไหมนี่มันก็จะได้คำตอบมาเองว่าไม่จริงคือไม่มีอะไรเที่ยงจริง ไม่มีอะไรเลยที่จะอยู่จริงคงที่จริง ไม่มีอะไรสักอย่าง ดูจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาจากรูปร่างตัวตนของเราที่ยึดมั่นว่าเป็นฉันเห็นชัดที่สุดเลยใช่ไหมคะ ตั้งแต่เส้นผมไปจนกระทั่งถึงรองเท้าไม่มีอะไรคงที่เลยสักอย่าง เปลี่ยนแปลงทุกเวลา ถ้าจะให้เห็นชัดก็เว้นเวลานานหน่อย อาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง หรือว่า 5 ปี 10 ปี ก็มามองดูตัวเองเข้าในกระจกไม่ต้องให้คนอื่นมองมันเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปอย่างนี้เอง แล้วไหนตัวตนอันนั้น ถ้าหมั่นถามอย่างนี้มันก็จะค่อยๆ เหมือนกับว่า หยิบเหล็กดำๆ มาฝนมันให้มันแหลมเข้าให้มันคมเข้าให้ขี้สนิมต่างๆ มันหลุดออกไปมากเข้า มันก็จะได้มีโอกาสแสดงตัวให้เห็นว่าความเฉียบแหลมสติปัญญาที่แท้จริงนั้นมันซ่อนอยู่ที่ไหน มันจะโผล่ออกมาได้ แล้วก็จะใช้มันได้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นก็ดูจากเรื่องความไม่เที่ยง ของความเป็นตัวตนของตนเองนี่ แล้วก็ดูสิ่งที่รบกวนความรู้สึกที่สุดคือเวทนาที่พูดในคราวก่อน นี่เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเวทนาจะเกิดขึ้นได้จากอะไร สิ่งที่ทำที่เป็นเหตุปัจจัยให้เวทนาเกิดก็คือสิ่งที่มากระทบด้วยวาจาคำพูดหรือด้วยการกระทำที่ผ่านทางตาบ้าง หูบ้างได้ยินเป็นเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส และกายได้สัมผัส และใจนี่ก็เอาตามใจถ้าว่าถูกใจ เออดีๆ อย่างนี้ใช้ได้ ถ้าไม่ถูกใจก็อย่างนี้ใช้ไม่ได้ทำไมถึงทำอย่างนั้นก็เป็นเรื่องเป็นราวไป เพราะฉะนั้นอันนี้ก็หมั่นดู ต้องหมั่นดูให้ทุกขณะทีเดียว พอผัสสะเข้ามาต้องหมั่นดู แล้วถ้าหากว่าหมั่นดูมันก็จะเร็วขึ้นนี่จะสังเกตพัฒนาการของการปฏิบัติของตนเองก็คือจะเห็นเร็วขึ้น เร็วขึ้นก็คือรู้ทันอารมณ์ของตนเร็วขึ้น แต่บางทีสติมาไม่ทันมันก็ออกไปเสียก่อนแล้ว คือแสดงอาการออกไปเสียก่อนแล้ว แต่ทว่าพอทันก็จะหยุดได้ หยุดได้แล้วก็เมื่อก่อนนี้ก็จะค้างเอาไว้นานๆ เก็บเอาไว้นานๆ เป็นวันๆ เป็นอาทิตย์ บางทีเป็นเดือนเป็นปี เสร็จไปแล้วก็เอาสัญญาเก่ากลับมาคิดมานึกอีกอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อหมั่นฝึกหมั่นขัดเกลาหมั่นตัดมันออกไปเรื่อยๆ ขัดทิ้ง ขัดทิ้งขัดทิ้งไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลง ลดลง ลดลง ทีละน้อยละน้อยไปเรื่อยๆ นี่ก็จะเห็นด้วยตัวเองไม่ต้องให้คนอื่นบอกหรอก เห็นข้างในของตัวเองว่ามันเบาลง ความที่ไม่อยากจะเอาเรื่องกับอะไรมันเบาลง แต่คำว่าไม่เอาเรื่องไม่ได้หมายความว่าเห็นแก่ตัว หรืองอมืองอเท้าไม่ช่วยเหลืออะไรใครเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เอาเรื่องกับเรื่องของกิเลสต้องย้ำว่ากิเลสที่มันมายั่วด้วยประการใดก็ตาม มันออกมาในรูปลักษณะของผัสสะ อย่างใดก็ตาม เราไม่เอาเรื่องมัน ปล่อยมันไปปล่อยมันไป เราปล่อยได้เท่าไรเราก็ว่างเราก็เย็นเราก็สบายมากเท่านั้น ปล่อยได้น้อยก็สบายน้อย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ฝึกในเรื่องของผัสสะพยายามฝึกในเรื่องของผัสสะให้มากยิ่งขึ้น ถ้าหากพยายามฝึกในเรื่องของผัสสะให้มากยิ่งขึ้นเวทนาลดลงได้เท่าใด จิตใจก็จะสบายมากขึ้นเท่านั้น แล้วอะไรอะไรที่เคยเห็นว่าเป็นของหนักมันก็ลดลง นี่แหละก็คือการพิจารณาพระไตรลักษณ์เริ่มต้นตั้งแต่อนิจจังไม่เที่ยง พอเห็นความไม่เที่ยงก็จะเห็นความตั้งอยู่ไม่ได้ของทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะเป็นในรูปของขันธ์ 5 หรือจะเป็นในรูปของกามคุณ 5 รูป เสียง กลิ่น รส ก็ไม่อยู่อีกเหมือนกัน หยิบเอามาทุกอย่างทุกอย่างที่เคยติดอกติดใจที่เคยชอบมากรักมากหยิบมาพิจารณาให้ทุกอย่างก็จะเห็นไม่มีอะไรอยู่ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลงๆๆ พอเปลี่ยนแปลงมากๆ เข้า ความรู้สึกก็จะค่อยๆ มีความรู้สึกว่าโอมันไม่มีอะไรที่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นของจริงเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดความอยากจะปล่อยอยากจะปล่อยอยากจะไม่เอาให้มากเข้ามากเข้าทีละน้อยละน้อยไปเรื่อยๆ นี่อันนี้จิตก็จะมีความสบายมากขึ้น พอจิตมีความสบายได้สัมผัสกับการไม่เอาแล้วก็ปล่อยวางอย่างนี้ ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนนี่มันก็ลดลงไปเองมันก็จะเกิดความจางคลายในความยึดมั่นถือมั่น เกิดความสลดสังเวชสลดสังเวชในสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับตัวเองสลดสังเวชในความยึดมั่นถือมั่นที่เราเคยมีเคยเป็นอะไรก็ยอมไม่ได้อะไรก็ให้ไม่ได้อะไรก็อย่ามาหมิ่นเลยนิดนึงก็ไม่ได้เลย บัดนี้มันไม่มีอะไรให้หมิ่นเขาจะเห็นว่ามันไม่มีอะไรให้หมิ่น มันล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไปอย่างนี้เองทีละน้อยละน้อยๆ นี่ก็คือการพิจารณาพระไตรลักษณ์