แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สวัสดีค่ะ เริ่มคำถามหรือว่าจะให้เริ่มพูดคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ประเด็นก่อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ให้เริ่มประเด็นก่อนนะคะ ถ้าให้เริ่มก่อนก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรามีความรู้สึกกัน หรือว่าเราอยู่ใกล้ชิดมันอยู่ทุกวันในสังคมทุกวันนี้หรือในชีวิตประจำวันทุกวัน แล้วจนกระทั่งเรามาบ่นกันว่า สิ่งนี้แหละทำให้เกิดปัญหานั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเห็นแก่ตัว” ความเห็นแก่ตัวนี้เป็นคำธรรมดา เป็นคำธรรมดาจริงๆ แต่ว่าความเห็นแก่ตัวนี้ พอหยิบมาพูดขึ้นคนไม่คอยยอมรับ ไม่ค่อยยอมรับคำนี้ว่าความเห็นแก่ตัวนี้มันเป็นสิ่งที่เราน่าจะนำมาใคร่ครวญให้มากๆ แล้วก็ลองนึกดูว่า มันก่อให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตอย่างไร สนใจไหมคะ เรื่องความเห็นแก่ตัว
ผู้ดำเนินรายการ: คือที่จริงแล้วไม่ได้สนใจเท่าไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ได้สนใจเท่าไร
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะว่ามันเข้าตัวเองครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อ๋อ นี่แหละคือความเห็นแก่ตัว ตัวอย่างของความเห็นแก่ตัว พอจะพูดอะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง ก็ไม่อยากจะพูดเพราะกลัวตัวเองจะขาดทุน ใช่ไหม แต่ถ้าความเห็นแก่ตัวนี้ช่วยให้ตัวเองได้ เอาเถอะฟัง ฟัง ฟัง ไว้ ก่อน แต่พอเราจะขาดทุน ไม่อยากฟัง ใช่ไหมคะ ทีนี้ถ้าหากจะถามว่าความเห็นแก่ตัวนี่คืออะไร อธิบายง่ายๆ ที่สุดเลย อย่างคำชาวบ้านก็คือความที่นึกถึงแต่ตัวเองอยู่เสมอ คนไหนที่นึกถึงแต่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่แหละคือความเห็นแก่ตัว ทีนี้ก็คงยากที่จะรับ ก็ต้องขยายความไปอีกหน่อยว่า ความที่นึกถึงแต่ตัวเองอย่างไร ถึงจะเรียกว่า ความเห็นแก่ตัว นั่นก็คือความที่นึกถึงแต่ตัวเองแล้วก็จะเอาให้ได้อย่างใจตัวเองต้องการ นี่แหละคือความเห็นแก่ตัว ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ผมมีคำถามว่า ถ้าเราไม่เห็นแก่ตัวแล้ว จะเห็นแก่ใคร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เราจะไปเห็นแก่ใคร
ผู้ดำเนินรายการ: เราก็ต้องเห็นแก่ตัวเองทั้งนั้นในโลกนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วสนุกไหม ที่อยู่กันทุกวันนี้ ถ้าใช้คำให้มันแรงหน่อยก็กัดกันอยู่ทุกวันนี้สนุกไหม กัดกันอยู่ตลอดเวลา คำว่ากัดนี้คือหมายความว่า เบียดเบียนกัน ต่อสู้กันด้วยการ แก่งแย่งชิงดีกัน มันมี แต่ไม่อยากเลือกเพราะมันลำบาก มี ทางเลือก มี เราไม่จำเป็นที่เราจะต้องอยู่กันด้วยการชนิดแก่งแย่ง ฟันต่อฟัน ตาต่อตาตลอดเวลา ไม่จำเป็นเลย เรามีวิธีที่จะอยู่กันด้วยความรัก ความอ่อนโยน ความเห็นอกเห็นใจกันใช่ไหม ทำไมเราถึงจะต้องอยู่ด้วยวิธีที่จะต้องต่อสู้แก่งแย่งกันตลอดเวลา ถามจริงๆ เถอะ เหนื่อยบ้างหรือเปล่า ชีวิตทุกวันนี้ เหนื่อยไหม จเลิศคงไม่เหนื่อย ใช่ไหม จเลิศถึงได้พอใจ
นี่ เราเหนื่อยกันอยู่ทุกวัน เหนื่อยเพราะอะไร เหนื่อยเพราะความที่เรานึกถึงแต่ตัวเราเอง เราจะเอาให้ได้อย่างใจของเราเอง เราเหนื่อยทุกวัน พอเราอยากจะกินให้ได้ดั่งใจ เหนื่อยแล้ว จะไปหาที่กินที่ไหนดี นี่พูดถึงมีสตางค์ ถ้าไม่มีสตางค์ก็เหนื่อยยิ่งขึ้นไปอีก จะไปหาสตางค์ที่ไหนดี แล้วก็บางคนถึงกับไปจี้เขามาเพื่ออะไร เอาเงินมากิน เอาเงินมาดื่ม มาเลี้ยงกัน กับเพื่อนฝูง นี่เห็นความเห็นแก่ตัวที่เราว่าไม่สำคัญ แล้วเรื่องกินเป็นเรื่องเล็กแท้ๆ แต่ก็ถึงกับทำให้คนไปจี้ ไปปล้นกัน ไปเบียดเบียนคนอื่น นี่เห็นแก่กิน นึกถึงแต่จะกิน หรือบางคนมีรถที่จะไปกินได้ที่อื่น พอขับรถออกจากบ้าน เป็นทุกข์อีกแล้วเพราะจราจรไม่เอื้อ ใช่ไหม ถนนเต็มไปด้วยรถทั้งหมด มันก็ทำให้การที่จะไปในสถานที่ที่ต้องการไม่เป็นไปตามใจ เท่านั้นแหละก็นั่งฮึดฮัด กัดฟัน ด่าคนโน้น ด่าคนนี้ มันขับรถยังไง มันปาดหน้า มันไม่ดี มันเห็นแก่ตัว ใช่ไหม ลงเอยด้วยว่า นั่นมันเห็นแก่ตัว แต่ในขณะที่เราว่าเขาเห็นแก่ตัว เราเห็นแก่ตัวหรือเปล่า นี่มนุษย์มักจะลืมนึกแล้วทำไมถึงไม่นึก ก็ซ้อนลงไปอีกเพราะเห็นแก่ตัว จึงไม่นึกใช่ไหมคะ มานึกถึงแต่เรื่องว่าคนอื่นเห็นแก่ตัว แต่ตัวเองเห็นแก่ตัวไม่มีปัญหา
ผู้ดำเนินรายการ: ภาพบังตา หรือมันเกิดขึ้นเพราะอะไร ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความโง่ คือตอบให้ตรงที่สุด ความโง่ แต่ก็อีกนั่นแหละ พอใครถูกว่าว่าโง่ โกรธ ฉันนี้ล้วนแต่ปัญญาชนทั้งนั้น ท่านผู้ชมท่านผู้ฟังที่ฟังอยู่ก็คงโกรธนะคะ แต่ถ้าโกรธก็ดี โกรธแล้วเอาไปคิด โกรธแล้วอย่าทิ้ง ถ้าโกรธแล้วคิด เอาไปใคร่ครวญจะได้ประโยชน์มาก เพราะว่าในขณะที่ใคร่ครวญ เขาว่าเราโง่นี้นะคะ ความฉลาดค่อยๆ เกิดขึ้น แสงสว่างของความฉลาดที่จะมองเห็นว่าอะไรคือเหตุของความโง่จะเกิดขึ้นทีละน้อย นี่คือวิธีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอน ให้เราหันมาดูที่เราเอง มาใคร่ครวญเรียกว่าแยกแยะ วิเคราะห์ออกมา แล้วเราจะเห็นเองว่า อ๋ออะไรคือสาเหตุของความเห็นแก่ตัว แล้วก็จะรู้ว่าเพราะ เราโง่ตรงนี้ โง่ตรงนี้ โง่ตรงนี้ พอเราเห็นว่าเราโง่เท่านั้น ปัญหามันหลุดไป เปราะ เปราะ เปราะเลย พอออกไปเป็นเปราะๆ เท่านั้น จิตมันก็มีความสว่าง เพราะฉะนั้นความเห็นแก่ตัวนี้คือความที่นึกถึงแต่ตัวเอง จะเอาให้ได้อย่างใจของตัวเอง เหมือนอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องกินซึ่งเป็นเรื่องเล็ก นี่เมื่อกี้ยังไม่ทันถึงร้าน เลย ใช่ไหม เพียงแต่นั่งรถไป มันก็ไม่ได้อย่างใจ ใช่ไหม จราจรมันขัดขวาง มันก็ฮึดฮัด พอไปถึงร้านเข้า แหมหิวเต็มที่ เหนื่อยด้วยใช่ไหม ขับรถมาไกล บริกรก็มาไม่ทันใจ นี่มัวแต่ไปรับใช้โต๊ะอื่น ไม่มารับใช้โต๊ะเรา เห็นเราเป็นไง เห็นเราเล็ก เห็นเราไม่มีเงินจ่าย ใช่ไหม เคยได้ยินไหม หรือบางทีเราก็ว่าอย่างนั้นเหมือนกัน นี่เห็นว่าเงินเราไม่มีค่าสินะ เงินคนอื่นใหญ่เขากว่าเรา ถึงได้ไปรับใช้เขา ไม่มารับใช้เรา อะไรทำให้พูดอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่า เงินมันก็เท่ากัน ความเห็นแก่ตัวไง เห็นแก่ตัวที่จะเอาให้ได้อย่างใจเร็วๆ มาคอยรับคำสั่งเราเร็วๆ แล้วก็เอาอาหารมาให้เราเร็วๆ ทุกอย่างให้เร็วๆ หมด เห็นไหมนี่ ความเห็นแก่ตัวนั้น ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มต้นคิดจะกิน จนกระทั่งเดินทางไปจะกิน จนกระทั่งระหว่างกิน สงบสบายไหม สงบสบายไหม เอร็ดอร่อยไหม รื่นรมย์ คุ้มค่า กับการที่ขับรถไป คุ้มไหม เรานี่ไม่รู้หรอก เราไม่รู้ เราไม่เคยนึกเลยว่า นี่คือสาเหตุของความเห็นแก่ตัวของเรานะนี่ ที่ทำให้เราต้องเดือดร้อน ดิ้นรน วุ่นวาย มาได้กินของอร่อยถูกใจ แต่ใจมันก็ยังไม่อร่อย มันอร่อยเพียงแค่ปาก แต่ใจมันไม่อร่อย เพราะมันยังขัดใจ ว่าแหมนี่เรา.. ดูสิจราจรนี่มันใช้ไม่ได้เลย ตำรวจจัดจราจรอะไร รถไม่เคยว่างถนนเลย ขับรถไม่เคยสบาย คนขับรถ มันก็เห็นแก่ตัวกันทุกคนเลยนะ มันจะเอาแต่ได้ โดยนึกว่าเราดีตลอดเวลาที่เราขับรถมา ไม่เคยนึกถึง..พอมาถึงที่เข้าก็หาว่าคนอื่นเห็นแก่ตัว นี่เห็นไหมว่าอะไรที่บังตาก็เพราะปล่อยให้ ความโง่ ที่เราจะนึกถึงตัวเราเองเป็นใหญ่ แล้วก็นึกว่าสิ่งนี้ ฉะนั้นความเห็นแก่ตัว ที่พูดง่ายๆ ก็คือ ความที่นึกถึงแต่ตัวเอง เมื่อใดที่เรานึกถึงแต่ตัวเอง พอลืมตาตื่นขึ้นก็นึกถึงตัวเองแล้ว วันนี้เราจะเอาอะไร หรือสิ่งที่ค้างอยู่เมื่อคืนนี้ที่เรายังนึกไม่ หรือยังแก้ไขไม่ได้ หรือมันยังไม่ได้อย่างใจ นึกย้อนปุ๊บมาที่ใจ เช้าวันนี้ ทำยังไงถึงจะให้ได้ตามที่เราต้องการ จะขายที่ก็ต้องให้ได้ แล้วก็ได้ราคาดีด้วย แล้วก็ต้องให้ได้เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราเป็นนายหน้าก็แหม มันจะบอกว่าเขาขายได้ไหม จะไปหาใคร แล้วเขาจะให้นายหน้า เปอร์เซ็นต์นายหน้าเรานี้เหมือนดังที่เราเรียกร้องหรือเปล่า ก็นึกๆๆ อยู่นั่นเอง แต่ก็ไม่ได้นึกหรอกว่า ผู้ขายหรือผู้ซื้อเขาควรจะได้รับประโยชน์อย่างยุติธรรมอย่างไรบ้าง นี่ก็นึกถึงแต่ใจของตัวเอง เมื่อใดพอที่ลืมตาขึ้น ก็นึกถึงและพอนึกถึง นึกถึงอะไร นึกถึงแต่สิ่งที่จะได้ ใช่ไหมคะ ไม่ค่อยนึกถึงสิ่งที่จะเสีย ถ้าจะนึกถึงสิ่งที่จะเสียก็คือ ก็ต้องป้องกัน อะไรมันจะเสียบ้าง ที่จะทำให้เราต้องขาดทุน หรือเราต้องเสียเล็กเสียน้อย ต้องเพิ่มเติม กันไว้หมดเลย อะไรที่จะเสีย ไม่ได้ ปิดหมด ปิดรูโหว่หมด แต่อะไรที่จะได้ละก็ มองหาเชียว มันมีช่องโหว่ตรงไหนที่เราจะเอื้อมมือไปดึงเอามาได้เป็นของเรามากๆ เอาเลย เห็นไหม นี่แหละคือความนึกถึงแต่ตัวเอง อันเรียกได้ว่าเป็นสาเหตุจากความเห็นแก่ตัว
ผู้ดำเนินรายการ: มันเป็นมาจากสาเหตุ ที่คนเราอยากร่ำ อยากรวยกันทั้งนั้นใช่หรือเปล่าอาจารย์ ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เอาอย่างนี้เถอะมันมาจากสาเหตุเพราะตัณหา คือความอยาก แล้วก็อยากทุกอย่าง อยากร่ำอยากรวย มันก็เป็นหนึ่งในความอยากทั้งหลาย นั่นก็เพราะตัณหาเพราะความอยาก ทำไมตัณหาความอยากมันจึงเกิดขึ้นได้ ก็เพราะความที่ยึดมั่นอยู่ในตัวเองหรือบางทีไม่ใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของวัตถุ ไม่ใช่เรื่องของเงินของทอง แต่อาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของทางจิตใจ เช่นจิตใจของเรานี่ เรากลุ้มรุมอยู่ด้วยความรู้สึกว่าทำไมคนอื่นเขาถึงว่าเราอย่างนั้น ทำไมเขาถึงเข้าใจเราผิดๆ อย่างนั้น เรานี่เป็นคนดี เห็นแก่คนอื่นมาตลอด เรานี่ทำอะไรเพื่อคนอื่นมาตลอด ทำไมเขาถึงว่าเราเห็นแก่ตัว นี่ก็เอามาโกรธ มาขัดใจแต่ไม่มองดูลงไปว่า จริงๆ แล้วนี่เราเห็นแก่ตัวรึเปล่า ก็ไม่นึกอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าหากว่าเรานึกขึ้นในใจ พอลืมตาขึ้นก็นึกถึงแต่ใจของตัวเองตลอดเวลา นั่นแหละ ความเห็นแก่ตัว มันฝังราก มันก่ออยู่ในจิตตลอดเวลา ถ้าเราจะดูถึงว่า คนเรานี้มีความเห็นแก่ตัวไหม อย่างพ่อแม่ นี่มักจะบอกว่า ฉันนี้ไม่เห็นแก่ตัว ทุกวันนี้ชีวิตของฉันเสียสละเพื่อลูก อุตส่าห์ไปทำงาน เหน็ดเหนื่อยนี่ก็เพื่อลูก ตลอดเวลาเลย เหน็ดเหนื่อย ตรากตรำ ทั้งกาย ทั้งใจ หาเงินหาทองมาไว้ก็เพื่อลูก แต่เสร็จแล้วทำไมพ่อแม่นี่ถึงได้โกรธกับลูก พ่อแม่โกรธลูกมีเยอะเลย
ผู้ดำเนินรายการ: ตัดเป็น ตัดตาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงโกรธ ทำไมถึงตัดเป็นตัดตาย เพราะอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ลูกไม่ทำตามใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะลูกไม่ทำตามที่พ่อแม่บอก ความรักของพ่อแม่จริง พ่อแม่รักลูก แต่ในความรักของพ่อแม่นั้น รักยังไง รักยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: รักอย่างหวง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รักอย่างหวง รักอย่างหวัง ก็คือรักอย่างอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: เห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อย่างเห็นแก่ตัว ก็คือให้ได้อย่างใจ พ่อแม่ ใช่ไหมคะ พ่อตั้งกฎไว้ว่าอย่างนี้ ลูกต้องกลับบ้านเวลานั้น ลูกต้องทำตามนี้ แม่ก็ตั้งกฎไว้อย่างนี้ พอตื่นขึ้น ลูกต้องรับใช้งานในบ้านอย่างนี้ แล้วก็ลูกอย่าไปคบคนอย่างนั้นๆ เป็นเพื่อน แล้วก็ลูกต้องใช้เงินอย่างนั้น อย่างนั้น ถ้าใช้เกินก็ไม่ได้ รวมความว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ พ่อแม่ตั้งระเบียบต่างๆ พ่อแม่ตั้งไว้ให้ พ่อแม่ก็คิดว่า ดีแล้ว ดีแล้วตามใจของพ่อแม่ ใช่ไหม ใจของพ่อแม่เห็นว่าอย่างนี้ดีแล้วสำหรับลูก ลูกก็มีใจของลูก ลูกก็มีใจของลูก ลูกก็เป็นทุกข์พ่อแม่ตั้งไว้ไม่ยุติธรรม พ่อแม่เห็นแก่ตัว ลูกก็อยากจะไปเที่ยวบ้าง ลูกอยากไปเที่ยว อยากไปสนุก พอเลิกเรียนแล้วมันเหนื่อย มันเหนื่อยตลอดวัน ลูกก็อยากจะไปเที่ยว จะไปบ้านเพื่อน ไปเล่นกีฬา หรือว่าจะไปปรึกษาอะไรกันก็แล้วแต่สนุกสนานไป เพราะฉะนั้นลูกก็กลับบ้านตามที่พ่อแม่กำหนดไม่ได้ ถึงแม้ว่าลูกจะรู้ว่าที่บ้านนี่พ่อแม่ก็ไม่ค่อยมีสตางค์ ถ้าหากเรากลับไปบ้านจะได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่ว่า ความสนุกที่จะได้คุยกับเพื่อน ที่จะได้ไปเล่นกับเพื่อน มันก็เรียกร้องอยู่ แล้วอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ลูกต้องการนี่ ลูกก็ไป
ผู้ดำเนินรายการ: ลูกก็เห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ต้องสงสัย แน่นอนที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ: เหมือนกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เหมือนกัน ก็นี่ไงถึงได้บอกว่า ความเห็นแก่ตัว ลูกรักพ่อแม่ไหม รัก
ผู้ดำเนินรายการ: รัก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รัก พ่อแม่รักลูกไหม รัก รักดั่งดวงใจ แต่นี่ความรักของทั้ง 2 ฝ่ายก็เรียกได้ว่า เป็นความรักที่ปนอยู่ด้วยความเห็นแก่ตัว หรืออยู่บนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นพ่อแม่กับลูกถึงได้หันหลังให้กัน หรือว่าลูกหนีเตลิดออกไปจากบ้านของพ่อแม่ ก็ด้วยความเห็นแก่ตัวของตนเอง อยากที่จะเอาให้ได้อย่างใจตัว แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะบอกว่า เป็นความเห็นแก่ตัวของพ่อแม่ที่ไม่มีการผ่อนปรนให้มันเหมาะสมแก่กาลเทศะ หรือว่าเหมาะสมแก่สภาวะแวดล้อม เหมาะสมแก่เหตุปัจจัย ต่างก็จะนึกถึงใจของตัวเองเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นอันนี้ปัญหาจึงเกิด
หรือเหมือนอย่างครูกับลูกศิษย์ที่เป็นปัญหาระหว่าง ครูกับลูกศิษย์ที่โรงเรียนใช่ไหม ลูกศิษย์ก็ไม่ค่อยจะรักนับถือครู ครูก็มักจะเห็นว่าแหมลูกศิษย์มันข่มขู่ จะเป็นลูกศิษย์บังเกิดเกล้าเสียให้ได้ นี่ก็เพราอะไร ครูก็ตั้งกฎเกณฑ์แบบพ่อแม่ตั้งกับลูก ลูกศิษย์ก็ตั้งกฎเกณฑ์ แบบที่เคยตั้งกับพ่อแม่ เพราะเดี๋ยวนี้ลูกศิษย์ก็รู้สึกว่าการที่มาบังคับให้เราเรียนอย่างนั้น ต้องทำการบ้านอย่างนั้น ต้องอยู่ในระเบียบวินัยอย่างนั้น ไม่ใช่แล้วล่ะ เดี๋ยวนี้มันสมัยเสรีภาพประชาธิปไตย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยของลูกศิษย์นี่ ลูกศิษย์ก็ต้องสามารถทำอะไรตามใจตัวได้ อยากเรียน เรียน ไม่อยากเรียน ลูกศิษย์ก็ควรมีสิทธิไม่เรียน นี่ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรื่องของความเห็นแก่ตัว ที่ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างลูกศิษย์กับครู
หรือเหมือนอย่างบางทีที่ท่านพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างนายงานกับลูกจ้าง นี่เป็นปัญหาที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน ปัญหาระหว่างนายงานกับลูกจ้าง นายงานก็อยากได้งานเยอะๆ แต่ให้ได้งานมีผลดี แต่ในขณะเดียวกันขอเสียค่าจ้างน้อยๆ หน่อย ถ้าเป็นไปได้ เขาจะใช้แรงงานเต็มที่ ส่วนแน่นอนคนที่มาเป็นลูกจ้างเขาก็หวังว่าจะได้รับค่าแรงงานให้พียงพอแก่ความต้องการของเขา ซึ่งบางทีเราก็จะเห็นว่า ลูกจ้างบางคนหรือบางกลุ่มก็นับว่าโชคดี ได้ไปพบนายจ้างที่มีคุณธรรมซึ่งนายจ้างก็พยายามที่จะให้ค่าแรงงานอย่างยุติธรรม แต่ก็ยังเกิดมีปัญหาขึ้นเพราะว่าลูกจ้างเกิดคิดอยากจะ...มาก หรือว่าเกินความเป็นจริง เกินความเป็นธรรม ก็ก่อให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นกรณีพิพาทกันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เพราะความคิดนี้
หรือแม้แต่คนที่รักกัน รักกันปานจะกลืนกิน ตลอดรอดฝั่งที่เราพบๆ อยู่ทุกวัน ตลอดรอดฝั่งไหม ไม่ค่อยตลอดรอดฝั่ง เรียกว่า แยกกันเสียตั้งแต่ยังรักกัน หรือว่าแต่งงานกันแล้ว เป็นสามีภรรยากันแล้ว ก็แยกกันหย่าร้างกัน สถิตินี่เพิ่มมากขึ้นทุกปีตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า แม้ในความรักของมนุษย์ทุกวันนี้ที่ว่ารักกันเหลือเกิน สาเหตุแห่งความแตกแยกของความรัก ความร้าวรานของความรัก มาจากอะไร ความเห็นแก่ตัว พอรักเข้าก็อยากให้ได้อย่างใจตัว ต้องเอาใจ เอาใจฉัน อย่างที่ฉันบอกนะ ตอนใหม่ๆ ก็ไหว ก็ไหวกันทั้งสองฝ่าย ผู้ชายก็พอใจที่เอาใจผู้หญิง ไปถึงบ้านตามกำหนดนัด ข้างผู้หญิงก็พร้อมที่จะอ่อนหวาน เอาใจผู้ชาย เพียงแต่ว่าพอมันนานเข้า ใกล้ชิดกันนานๆ เข้าก็ค่อยๆ จางหายไป เพราะฉะนั้นความที่จะมาเอาใจกันอย่างเดิมมันก็ไม่ค่อยได้ นิสัยเดิมคือความเห็นแก่ตัวที่มีอยู่เยอะ ก็ค่อยๆ โผล่ทีละน้อย ทีละน้อย ผลที่สุดความรักเลยกลายเป็นโกรธ เลยเป็นความเกลียดชัง แล้วก็ความแยกทางกันไป นี่ล่ะคือความเห็นแก่ตัว
เพราะฉะนั้นเห็นไหมว่า ความเห็นแก่ตัวนี้แหละคือ รากเหง้าของปัญหาในชีวิตของมนุษย์ รากเหง้าของปัญหาของสังคม แล้วก็รากเหง้าของปัญหาของโลก นี่คือเรื่องของความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นเรื่องของความเห็นแก่ตัวจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เราควรจะสนใจให้มาก ถ้าต้องการมีชีวิตอยู่อย่างสงบ อย่างเยือกเย็นผ่องใส แล้วอยู่ด้วยกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ด้วยความรักใคร่กลมเกลียวกัน ก็ควรจะศึกษาเรื่องของความเห็นแก่ตัว
ความเห็นแก่ตัวนี้ในทางธรรม ในทางธรรมะ ก็จะตรงกับคำว่า อัสมิ อัสมิมานะ อ ไม้หันอากาศ ส อัสมิ มานะ อัสมิ ก็แปลว่า ความรู้สึกว่า เรามี เราไม่มี เราอยู่อย่างนี้ เรามีอย่างนี้ เราอยู่อย่างนี้ เราเป็น นี่คือความหมายของอัสมิ ส่วนมานะ คือ ความสำคัญ สำคัญมั่นหมายว่า เรามีอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้ เช่น เรามีเงิน ก็สำคัญมั่นหมายว่า เรามีเงิน เรามีความสวย ก็สำคัญมั่นหมายว่า เราเป็นคนสวย เรามีความเก่ง สติปัญญามาก ก็สำคัญมั่นหมายว่า เราเป็นคนเก่ง นี่ก็คือมีอัสมิมานะ ก็คือมีความรู้สึกว่า เรามีอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นที่ทะเลาะวิวาทกัน ขัดแย้งโต้เถียงกันก็มาจากอันนี้ จากความรู้สึกว่าเราเป็นคนสวยนี่ ถึงคนนั้นสวย เราก็ยังสวยกว่า ยังสู้เราไม่ได้ เราเป็นคนเก่ง ถึงคนนั้นเก่ง เราก็เก่งกว่า อะไรๆ แล้วนี่ความเห็นแก่ตัว จะบอกว่าดีกรีของเราสูงที่สุด แต่ต้องสูงไปในทางบวก ไม่ใช่สูงในทางลบ หากว่ามันสูงในทางลบของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา ถ้าสูงไปทางบวก อ๋อใช่ๆ เรานี่แหละเป็นอย่างนี้ เรานี่แหละ นี่คืออัสมิมานะ ที่มันอยู่ในใจของมนุษย์ โดยเราไม่รู้ แล้วเราก็ฝังมันเอาไว้ เก็บมันเอาไว้มานมนานพันปี
แล้วผลที่สุด ผลที่สุดของความมีอัสมิมานะ หรือความยืดมั่นถือมั่นในความว่าเรามีเราเป็น มันก็ออกมาว่า นี่แหละฉันมี ฉันเป็น ก็กลายเป็นตัวเป็นตน อย่างที่ท่านใช้คำว่า เป็นตัวกู เป็นของกู แล้วคนก็บอกว่า ตัวกู ของกู หยาบ พูดอะไร หยาบ นี่ไม่เคยได้รับการอบรม นี่เขาภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหง นี่มันสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว แล้วก็รัตนโกสินทร์มา 200 ปีมาแล้วด้วย เจริญแล้ว ศิวิไลซ์แล้ว แต่ก็นึกถึงแต่ว่า คนที่รู้สึกว่า เป็นตัวกูของกูนี่ เป็นคนศิวิไลซ์รึเปล่า ศิวิไลซ์ แล้วก็บอกว่า เป็นหยาบ คนที่เป็นตัวกู ของกู พูดตัวกู ของกู หยาบ ก็นึกดูสิว่า ถ้าใจมันละเอียด มันจะออกมาอย่างนี้ได้ไหม ว่าเป็นกู ก็ออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นนี่ มันก็มาจากความหยาบของกิเลส ของความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ในใจแล้วจะมาเรียกร้องความละเอียดเอาที่ไหนละ ถ้าเราไม่รู้จักฝึกหัด ขัดเกลา จิตใจของเราให้มีความประณีต อ่อนโยน จนกระทั่งลดละความเห็นแก่ตัว ให้ลดลง ลดลงจนหมดได้ในที่สุด วันนี้ เราเห็นจะพูดได้เพียงแค่ก่อนนี้นะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ