แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ท่านผู้ชมครับขณะนี้ที่ลานหินโค้งที่สวนโมกข์คึกคักเป็นพิเศษนะครับ มีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาที่ลานหินโค้งในขณะนี้ เพื่อที่จะมาฟังปาฐกถาพิเศษ เป็นปาฐกถาพุทธทาสมหาเถระครั้งที่ 4 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนากับการพัฒนาชีวิต โดยอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง เราจะไปติดตามการแสดงปาฐกถาของท่านอาจารย์คุณรัญจวนกันต่อไปนะครับ
หัวข้อที่เราพูดในวันนี้ก็คือการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิต หัวข้อค่อนข้างจะยาว แต่ถ้าไม่ยาวก็อาจจะไม่ทำให้เข้าใจชัดเจน ว่าเจตนาในการที่เราจะพูดกันในคืนนี้นั้นมีจุดประสงค์ หรือความมุ่งหมายอย่างไร ก็ขออนุญาตทำความเข้าใจเพื่อความเข้าใจอันถูกต้องว่า หัวข้อที่บอกว่า การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น เป็นการปฏิรูป คือเราจะพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา
แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการที่เราจะไปบังอาจปฏิรูปพุทธศาสนาเลยนะคะ เราจะไม่บังอาจเลยสักนิดเดียว เราจะพูดถึงแต่ว่าพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์สะอาดเลิศล้ำที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงพระธรรมคำสอน ที่เป็นหัวใจอันบริสุทธิ์สะอาดงดงามเหลือประมาณ เป็นที่เย็น เป็นที่เป็นสุขแก่เราทั้งหลายนั้นให้เข้าถึงได้ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดแก่ชีวิตของเราเอง ฉะนั้นหัวข้อนี้จึงบอกว่าปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา มิใช่การปฏิรูปพระพุทธศาสนา
ก่อนอื่นก็อยากจะขออนุญาตอ่านคำตรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสที่ป่ามะม่วงของหมอชีวกนะคะแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า “ธรรมะที่ตถาคตแสดงนั้นเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับเย็นสนิท เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความรู้ครบถ้วน เป็นธรรมที่ประกาศไว้โดยพระสุคต” เราผู้เป็นพุทธบริษัทได้ใกล้ถึงการมีความสงบระงับหรือความดับเย็นสนิท หรือความรู้ครบถ้วนบ้างแล้วหรือยัง ถ้าเรารู้สึกว่ายัง ดิฉันก็คิดว่าหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่สมควรแก่กาลเวลาที่เราจะได้พูดสนทนากันเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลาย เราทั้งหลายในที่นี้รวมถึงเพื่อนมนุษย์ของเราด้วย สำหรับสิ่งที่ควรจะทำความเข้าใจต่อไปก็คือความหมายของคำที่เราพูด ที่เป็นหัวข้อ ก็มีคำว่าปฏิรูป มีคำว่าศึกษา มีคำว่าพุทธศาสนา มีคำว่าพัฒนา แล้วก็คำว่าชีวิต ดิฉันว่าเพื่อความเข้าใจอันถูกต้อง เราควรจะได้ทำความเข้าใจในความหมายของคำทั้งห้าที่กล่าวแล้ว ว่ามีความหมายในคำคือในตัวของมันเองอย่างไร
“ปฏิรูป” ตามคำอธิบายของเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ ซึ่งท่านเขียนไว้ในหนังสือ 10 ปีในสวนโมกข์ท่านบอกว่า การปฏิรูปนั้นเป็นการที่ไม่เพิกถอนของเก่า ของเก่ามีอยู่แล้วอย่างไร คงรักษาไว้ แต่ต่อยอดขึ้นไปให้มีความพอดีแก่การที่จะดับทุกข์หรือแก้ปัญหา นี่คือความหมายของปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติถ้าปฏิวัติเราจะยกเลิกหมดเลยทุกอย่าง แต่ปฏิรูปเรายังมองเห็นว่าสิ่งที่มีอยู่แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ดีงามอยู่ในตัวพอแล้วพอสมควร แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีความดีงามถึงที่สุด เพราะฉะนั้นปฏิรูปคือการต่อยอดนะคะ ก็อยากจะเรียนเพื่อนผู้สนใจในธรรมทุกท่านในขณะที่เราคุยกันนั้นก็โปรดลองนึกดูว่า ฐานของเราอยู่ตรงไหน เราจะต่อยอดขึ้นไปอย่างไรถึงจะเป็นพระเจดีย์ที่งามสง่าอันเหมาะสมแก่ชีวิตของเราเองนะคะ ทีนี้ตัวอย่างของการปฏิรูป เพื่อให้ชัดเจนสักนิดหนึ่งก็อยากจะขออนุญาตยกตัวอย่างว่า คำว่าเราจะปฏิรูปนี่จะทำอย่างไร ก็เหมือนอย่างบทสวดมนต์โอวาทปาฏิโมกข์ที่ท่านได้สวดกันในทำวัตรเย็นที่ผ่านมานี้เอง
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
เอตัง พุทธานะสาสะนัง ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพื่อนทั้งหลายมองเห็นไหมคะว่า การที่เราจะต่อฐานขึ้นไปเพื่อให้ถึงยอดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ก็ลองนึกดู
ข้อแรก การไม่ทำบาปทั้งปวง การไม่ทำบาปทั้งปวง พุทธบริษัทส่วนมากมักจะมีความนึกคิดว่า เป็นการไม่ทำบาปข้างนอก ข้างนอกก็เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ทำร้ายร่างกายของผู้อื่น อย่างนี้เป็นต้น หรือไม่ลักขโมยทรัพย์สิน แต่นั่นเป็นการทำบาปข้างนอก ซึ่งก็ดี ดีงามอยู่แล้ว แต่ถ้าเราจะต่อยอดขึ้นไปอีกสักนิดหนึ่ง ก็ควรจะมีการไม่ทำบาปข้างในด้วย การไม่ทำบาปข้างในนั้นก็คือว่า ในขณะที่กำลังไม่ทำบาปข้างนอกนั้น ในภายในนั้นก็รักษาจิตเอาไว้ไม่ให้จิตนั้นดิ่งลงไปสู่ความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลง หรือความมุ่งหวังสิ่งใดที่จะได้รับตอบแทนเพื่อกลับคืนมาในสิ่งที่กระทำที่คิดว่าเป็นความดีนั้น
ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้การไม่ทำบาปนั้นก็จะเป็นบุญอันบริสุทธิ์ แล้วก็ขึ้นถึงกุศลคือการทำกุศลให้ถึงพร้อมโดยสามารถรักษาจิตนั้นให้พ้นจากการอยาก อยากได้ อยากเอาเพื่อประโยชน์ส่วนตนแต่ผู้เดียว ถ้าหากว่าสามารถทำได้อย่างนี้กุศลนั้นจะถึงพร้อม เป็นกุศลที่งดงาม และในขณะที่ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อมนี่คือการเลื่อนขั้นหรือต่อยอดของพระเจดีย์ของเราเอง ขึ้นไปทีละน้อยๆๆ ในที่สุดก็จะถึงซึ่งการชำระจิตของตนให้ขาวรอบ เพราะจิตที่ไม่ทำบาป ทำบาปไม่ได้ ทำชั่วไม่ได้มุ่งแต่จะกระทำความดีในสิ่งที่เป็นกุศล ก็แน่นอนที่สุดที่จะต้องพยายามขัดเกลาความโลภความโกรธความหลง ที่เกิดจากตัณหาความอยากทะเยอทะยานจะให้ได้ ให้มีให้เป็นเท่ากับผู้อื่น และโดยเฉพาะมากยิ่งกว่าผู้อื่นที่เขามีอยู่ แล้วก็มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นจะต้องเอาให้ได้จะต้องเป็นให้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าลดละสิ่งเหล่านี้ลงไปได้ จิตที่เคยดำ ที่เคยป่าเถื่อน ที่เคยเห็นแก่ตัวก็ย่อมจะเป็นจิตที่สะอาดเกลี้ยงเกลามากขึ้นๆ จนสามารถเห็นแก่ผู้อื่นได้อย่างเต็มหัวใจ เหมือนกับเจ้าประคุณท่านอาจารย์ของเรา ที่เราได้มามีงานเพื่อที่จะเฉลิมฉลองแบบอย่างอันงดงามอย่างที่ยากที่จะหาตัวอย่างเช่นนี้ ให้เจริญรอยตามได้ภายในระยะเวลาที่หลายท่านกล่าวว่า ในร้อยปีจะมีสักหนึ่งอัจฉริยะ ที่จะบังเกิดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เราทั้งหลาย ฉะนั้นนี่ก็คือเป็นแต่เพียงตัวอย่างสั้นๆ ภายในเวลาอันจำกัดว่า คำว่าปฏิรูปนี้ หมายความว่าอย่างไร ก็โปรดนึกถึงโอวาทปาฏิโมกข์นะคะ ที่ว่าเราจะปฏิรูปไปจากการไม่ทำบาป จนกระทั่งถึงการทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วก็ทำจิตของเราให้ขาวรอบให้ได้ ในที่สุด
“ศึกษา” ในที่นี้ดิฉันขออธิบายตามความเข้าใจของดิฉันว่า จะต้องเป็นการเรียน ให้รู้เรื่อง ไม่ใช่เพียงแต่เรียนเหมือนนกแก้วนกขุนทองจำได้ แต่ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นต้องเรียนให้รู้เรื่อง คือเรียนเรื่องของพระพุทธศาสนา เรื่องของธรรมะ จนรู้เรื่อง รู้เรื่องด้วยสมอง ด้วยสติปัญญา และจากนั้นก็นำเข้าสู่ใจ จนให้เข้าใจด้วยใจ สัมผัสได้ด้วยใจ เพราะเรื่องของการเรียนพุทธศาสนาหรือธรรมะนั้น ต่างกับการเรียนวิชาที่เป็นศาสตร์ต่างๆ ในห้องเรียนทุกระดับของการศึกษา เราจะต้องเรียนด้วยใจเราต้องเปลี่ยนจากการคิด คิดด้วยเหตุด้วยผลด้วยมันสมอง ด้วยไอคิวสูงๆ นั้น เป็นการดู ดูลงไปหยั่งลงไปด้วยความรู้สึก ความรู้สึกที่จะสัมผัสถึงสิ่งที่เป็นสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงนำมาประกาศให้แก่บรรดาชาวโลกที่พระองค์ทรงรำลึกถึงด้วยความเมตตา อยากให้มีความสุขสงบเย็นทั่วกันทุกคน
เพราะฉะนั้นการศึกษาจึงเรียนให้รู้เรื่องจนให้เข้าใจด้วยใจ เรียนเข้าไปข้างใน ไม่ใช่เรียนข้างนอก เรียนเข้าไปข้างในจนรู้จักจนเห็นจนประจักษ์ชัดที่ใจ และที่สุดก็จนได้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งที่ปรารถนาจะเรียน สิ่งที่ปรารถนาจะให้บังเกิดให้มีมีอยู่สถิตอยู่ในจิตใจของเรา สิ่งที่เราต้องการคืออะไร คือความไม่เป็นทุกข์ ความสงบเย็นดับสนิทอยู่เสมอ นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ดูไปเถิด แล้วจะเห็นเอง ทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร แล้วจะดับไปได้อย่างไร และในนาทีของความดับที่สำนึกอยู่ในจิตนั้น มันเย็นเพียงใด สัมผัสความเย็นนั้นเอาไว้ จำเอาไว้ ลิ้มรสให้นานให้ดูดดื่ม และสิ่งนี้แหละ จะเป็นการเรียนให้รู้เรื่องจนเข้าถึงจนประจักษ์ และเป็นการต่อยอด ให้ขึ้นถึงยอดของพระเจดีย์ไปในตัวเอง นี่คือการปฏิรูป อันที่จริงแล้วดิฉันเชื่อว่าเพื่อนผู้สนใจในธรรมทุกท่าน ที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ หรือไม่ได้อยู่ ณ ที่นี้ แต่สนใจในการปฏิบัติธรรม ก็คงจะได้มีการทดลอง มีการปฏิบัติ มีการศึกษาในลักษณะนี้ จนได้สัมผัส แล้วก็มีสิ่งนั้นสถิตอยู่ในใจ ฉะนั้นท่านที่ได้เคยฝึกเคยลองแล้วย่อมจะเข้าใจความหมายที่ดิฉันกำลังพยายามที่จะชี้ลงไปตรงจุดนี้นะคะ ถ้าหากจะพูดในทางพระพุทธศาสนาหรือในทางธรรม การศึกษาในลักษณะนี้ก็คือ ต้องมีพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ แล้วก็จึงจะเกิดปฏิเวธ เมื่อใดที่ถึงพร้อมทั้งสามส่วน การศึกษานั้นจึงจะสมบูรณ์
ทำไมถึงจะต้องมาปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา ทำไมถึงไม่ไปปฏิรูปการศึกษาเศรษฐกิจการเมือง วัฒนธรรม หรือวิศวกรรมศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ หรืออะไรต่างๆ อีกมากมาย ทำไมถึงจะต้องมาปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา คำตอบของดิฉันก็เพราะว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาของการพัฒนา เป็นยอดของการพัฒนา หรือจะบอกว่าเป็นสุดยอดของการพัฒนาก็ได้ ตั้งแต่ระดับศีลธรรมจนถึงระดับปรมัตถธรรม หรือตั้งแต่ระดับโลกียธรรมจนถึงระดับโลกุตตรธรรม พัฒนาได้ทั้งปัจเจกบุคคลและสังคมพัฒนาจากความไร้สมรรถภาพไปสู่ความเป็นผู้มีศักยภาพ และในขณะนี้ในขณะที่สังคมกำลังมีปัญหาอย่างที่เราทุกท่านทราบดี นี่เป็นเวลาที่เป็นวิกฤตการณ์ของชีวิตทั้งส่วนบุคคลและทั้งของสังคม
เราจะเอาอะไรเล่ามาเป็นรากฐานของการพัฒนาที่จะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้คลี่คลาย ด้วยความเรียบร้อย ด้วยความประสบสิ่งที่กลมกลืนด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ต้องหักล้าง ไม่ต้องเบียดเบียน ไม่ต้องทำลายกัน จะมีสิ่งใดนอกจากธรรมะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีแก้วอยู่ในมือเรามีเพชรอยู่ในมือแล้ว ทำไมเราไม่จึงไม่รู้จักนำมาเจียระไน ที่จริงเจียระไนอยู่แล้ว ท่านเจียระไนของท่านพร้อมอยู่แล้ว แต่ทำไมเราไม่นำมาเจียระไนเข้าในดวงใจของเรา เพื่อที่เราจะได้มีเพชรอันล้ำค่านั้นอยู่ในใจ ฉะนั้นสิ่งนี้เราจึงต้องพูดกันถึงการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาอย่างอื่น
คุณสมบัติ ขอประทานโทษ ต้องใช้คำว่าทุสมบัติ ทุสมบัติที่ไม่พึงปรารถนา เช่นอะไรบ้าง ก็เช่น ความอ่อนแอ ความขี้ขลาด ความเกียจคร้าน ความเหลาะแหละโลเล ความหยาบกระด้าง ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ ความฉลาดเทียมๆ ความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ความเห็นแก่ตัว เหล่านี้เป็นต้น เราคงยอมรับว่าสิ่งนี้คือทุสมบัติที่มันถ่วงความเจริญทั้งในส่วนบุคคล แล้วก็ถ่วงความเจริญของชาติบ้านเมืองของสังคมด้วย แต่ขณะนี้เมื่อเราจะมองดูไป ทุสมบัตินั้นกำลังเพิ่มอัตราขึ้นหรือเปล่า แล้วก็ได้พยายามกัน ด้วยวิธีการต่างๆ จากข้างนอก ยังไม่เห็นประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น แต่มันกลับยิ่งกำเริบขึ้นทุกที เจ้าทรัพย์สมบัติเหล่านี้ เพราะฉะนั้นขณะนี้จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่บุคคลในประเทศไทยส่วนใหญ่เรียกตัวเองว่า เป็นพุทธบริษัท เป็นชาวพุทธ แต่เสร็จแล้วได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ได้เข้าใจธรรมะ อย่างตรงตามแก่นของหัวใจที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นำมาทรงสอนหรือเปล่า ก็เพราะเปล่านั่นแหละ ทุสมบัติมันจึงกำเริบ ส่วนสิ่งที่เป็นคุณสมบัติเพื่อจะช่วยสร้างความเป็นศักยภาพให้เกิดขึ้นนั้นหามีไม่ หรือมีก็น้อยและกำลังลดลง คุณสมบัติที่น่าปรารถนาของผู้เป็นพลเมืองของสังคมนั้นเช่นอะไร ก็ความเข้มแข็ง ความองอาจกล้าหาญ ความขยันขันแข็ง ความมั่นคงหนักแน่น ความประณีตนุ่มนวล หรือความเห็นถูกต้องที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความฉลาดแท้ๆ เพราะฉลาดจากปัญญาที่เกิดจากข้างในที่ได้สัมผัสแล้วกับสิ่งที่เป็นความจริง ไม่ใช่ภาพมายา หรือเป็นความลวง ความรู้จักทำหน้าที่ได้ถูกต้องในทุกกรณี และก็ความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือว่าพุทธศาสนาสามารถที่จะพัฒนาความมีลักษณะนิสัยที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทั้งของตนเองและสังคม ให้ไปสู่ความมีคุณสมบัติของมนุษย์ที่มีศักยภาพ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณประโยชน์อย่างสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและสังคม ตลอดถึงชาติบ้านเมืองและโลกด้วย แต่ทำไมจึงไม่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะขาดการศึกษาพุทธศาสนาอย่างถูกต้องนี่เอง ไม่ใช่เหตุอื่นเลย ศักยภาพที่มนุษย์สามารถจะมีได้อย่างสมกับความเป็นมนุษย์จึงขาด แล้วก็บกพร่องไป และพุทธบริษัทส่วนมากจึงมีชีวิตตกจมอยู่ในปลักของปัญหาหรือความทุกข์จนเกิดความตึงเครียดอย่างพร้อมที่จะขาดผึงในเวลาใดก็ได้ แล้วยังทำให้เกิดการเข้าใจผิดพลาดไปว่าพุทธศาสนาไม่สามารถช่วยพัฒนาสังคมได้ ไม่เป็นประโยชน์ มิหนำซ้ำยังถ่วงสังคมอีก เคยได้ยินใช่ไหมคะที่เราได้ยินหนาหูขึ้นทุกวันๆ ความบกพร่องของชีวิตและความเข้าใจผิดเช่นนี้เกิดขึ้นก็เพราะไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้อง จึงไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่มีพุทธศาสนาหรือไม่มีธรรมะเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต
“พัฒนา” เป็นคำที่คุ้นหู คือพอพูดถึงคำว่า พัฒนา นี่นะคะเราคุ้นหูกันทุกคน แต่อย่างไรจึงจะเป็นการพัฒนาที่แท้จริง ก็ขอเสนอเพื่อลองพิจารณาดูว่า การพัฒนาที่แท้จริงนั้นย่อมแสดงให้เห็นลักษณะอย่างน้อยสามอย่าง ที่จริงมีมากกว่านี้นะคะ แต่ขออนุญาตพูดเพียงสามอย่าง
อันแรกก็คือว่า การพัฒนาที่แท้จริงนั้นจะต้องมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะที่มากกว่า ดีกว่าหรือสูงกว่าเดิม ทั้งปริมาณและคุณภาพ ต้องคู่กันเสมอนะคะ เวลานี้เราก็มีอะไรมากกว่า แต่ว่าพูดได้เพียงแค่มากกว่า เพราะมันไม่ดีกว่ามันไม่สูงกว่ามันขาดคุณภาพ ขณะนี้เราเพิ่มกันในด้านปริมาณการที่จะพัฒนาและเพิ่มเพียงด้านปริมาณ ไม่อยากจะพูดว่าบางครั้ง แต่อยากจะพูดว่าส่วนมากมันมักจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่า เพราะฉะนั้นจึงจะต้องมีทั้งปริมาณและคุณภาพให้สมส่วนกัน
ลักษณะที่สองก็คือ มีความเป็นบวกมากขึ้น ความเป็นลบลดลง ที่ว่าบวกมากขึ้นลบลดลงเช่นอย่างไร ก็เช่นความเป็นที่น่าพอใจยินดีมีมากขึ้น และก็สิ่งใดที่เป็นความทรมานใจน่ะมันต้องลดลง ถึงจะเรียกว่าบวกมากขึ้นและก็ลบลดลง
ลักษณะที่สาม การพัฒนาที่แท้จริงจะต้องเป็นความเป็นไปเพื่อหมดปัญหา มิใช่เพิ่มปัญหา ข้อนี้เชื่อว่าท่านสาธุชนทุกท่านทราบดีอยู่นะคะ ทีนี้สิ่งที่พึงสังวรเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาคือ “การไม่พัฒนาหมายถึงความตาย” การไม่พัฒนาหมายถึงความตาย ทำไมจึงว่าการไม่พัฒนาหมายถึงความตาย ก็เพราะว่าสิ่งมีชีวิตใดหยุดพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นต้นหมากรากไม้ หรือว่าสัตว์ หรือว่าคน เมื่อใดที่หยุดพัฒนาคือหยุดงอกงามหยุดเจริญเติบโต ก็หมายถึงความสิ้นสุดหรือความตายของชีวิตนั้น แต่เผอิญสิ่งที่มันทรมานก็คือว่ามันไม่ใช่ความตายจริงๆ มันยังหายใจอยู่ แต่มันตายแล้วเพราะว่าหมดการพัฒนา แล้วก็หมดคุณค่าของชีวิต มีอยู่ก็เหมือนไม่มี ถ้ามีอยู่เหมือนไม่มี ในความหมายของธรรมะคงดีมากใช่ไหมคะ ดีมากทีเดียว แต่นี่เผอิญไม่ใช่อย่างนั้นมันตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น การไม่พัฒนาหมายถึงความตาย ก็หมายถึงความตายทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่คือตายทั้งเป็น แต่การพัฒนาที่ถูกต้องจะนำไปสู่การตายเสียก่อนตาย ตามที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านได้นำมาสอนพวกเราอยู่เสมอๆ ตายเสียก่อนตายเถอะ แล้วถึงเวลาตายจริงๆ ของร่างกายนั้นไม่มีความหมาย ไม่มีความหมายว่าตายหรือไม่ตาย เพราะว่าตายมานานแล้วด้วยใจ ตายจากความทุกข์ ตายจากปัญหา ตายจากความโลภโกรธหลง ตายจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา หรือตัวตนนี่นั่นเอง
“ชีวิต” คืออะไร ชีวิตก็คือองค์รวม องค์รวมของรูปนาม หรือกายจิตที่ต้องทำงานร่วมกัน อย่างที่แยกจากกันไม่ได้จึงจะมีสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ถ้าหากว่าแยกจากกันเมื่อใด สิ่งที่เรียกว่าชีวิตก็หมดไป มันอาจจะมีลมหายใจอยู่ แต่ว่ามันไม่มีความหมาย มันไม่เป็นชีวิต มันขาดชีวิตชีวา ความจริงเกี่ยวกับชีวิตที่จะขออนุญาตเสนอเพื่อลองรับไว้พิจารณานะคะ
การพัฒนาชีวิตคืออย่างไร ก็คือจะต้องทำให้ดีขึ้นให้สูงขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ให้อายุยืน อายุยืนอยู่เฉยๆ โดยปราศจากการพัฒนา หามีค่าไม่ เพราะฉะนั้นชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและก็พัฒนาได้ พัฒนาเมื่อใดเห็นผลเมื่อนั้น พัฒนาได้ทั้งภายนอกและภายใน เพื่อให้ดีขึ้นให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นการพัฒนาที่จะทำสิ่งใดให้ดีขึ้นให้สูงขึ้น แน่นอนไม่ใช่ของง่าย เป็นของยากลำบากอย่างยิ่ง มันจึงต้องมีการต่อสู้ อย่างข้างนอกทุกท่านคงทราบดีเราต่อสู้เพื่อความมีครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสุข ร่มเย็นอยู่ร่วมกัน เราต่อสู้เพื่อจะมีการงานที่มั่นคงเจริญรุ่งเรือง เราต่อสู้เพื่อที่จะมีฐานะตำแหน่งในสังคมที่คนจดจำได้งดงาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ ต้องกระเสือกกระสน ต้องดิ้นรน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ทุกอย่าง และถ้าไม่มีธรรมะเป็นรากฐาน ก็เหมือนกับถูกเผาไหม้ เกรียม อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นการต่อสู้ข้างนอก การต่อสู้ข้างนอกที่มันไหม้เกรียมเพราะอะไร ก็เพราะไม่มีการต่อสู้ข้างใน หรือการต่อสู้ข้างในที่ได้ดำเนินไปนั้น มันไม่ถูกต้อง มันยังเต็มไปด้วยความจะเอา มันไม่ใช่เป็นความจะให้ หรือยอมปล่อยยอมวาง เพราะฉะนั้น ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา และพัฒนาได้ ชีวิตนั้นจึงต้องต่อสู้ ถ้าต่อสู้ถูกต้อง การพัฒนานั้นก็จะเป็นการพัฒนาที่มีผลที่ชุ่มชื่นใจ เพราะฉะนั้นก็คงจะมองเห็นแล้วนะคะว่า เมื่อจะพัฒนาชีวิต สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องพัฒนาก่อนอื่นก็คือที่จิต
พัฒนาจิตให้เป็นจิตที่เจริญ เจริญด้วยอะไร พูดสั้นๆ ก็คือเจริญอยู่ด้วยความสะอาดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ความหมายของชีวิตตามภาษาคน ก็คือสิ่งที่ยังไม่ตาย ถ้าเราเห็นต้นไม้เจริญงอกงามอยู่ เราก็บอก แหมต้นไม้นี่สดชื่น มันมีชีวิตดีนะ น่าดู ถ้าเห็นสุนัขปุกปุยน่ารัก แหมเจ้าสุนัขตัวนี้น่ารัก ดูมีชีวิตชีวา ร่าเริง ถ้าชีวิตใดได้ทำลายชีวิตของตนเองจนกระทั่งสูญสิ้นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นั่นก็คือ มองเห็นสิ่งใดที่จะเป็นคุณค่าแก่เพื่อนมนุษย์ไม่เหลือ มีแต่เป็นปัญหา มีแต่เพิ่มภาระ มีแต่ทำลายเบียดเบียน ถึงแม้จะมีร่างกายแข็งแรง ลมหายใจก็ยังกระชั้นถี่ แต่นั่นคือชีวิตที่ตายแล้ว
อยากจะขออนุญาตเล่าประสบการณ์ที่พบแล้วก็ประทับใจมาก ให้ฟังสักเล็กน้อยนะคะ ท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ ถ้าหากว่าท่านใดเคยมาสวนโมกข์ ในระยะ 10 กว่าปีนี้ คงจะนึกภาพออก เวลาเจ้าประคุณท่านอาจารย์ในระยะนั้น ท่านจะเดินไปที่ตรงไหน จะนั่งตรงไหน หรือจะยืนตรงไหนก็ตาม ก็จะมีสุนัขตัวโตๆ กลุ่มหนึ่ง ตามล้อมรอบท่าน ชื่อเกย่า กาโย่ กาโม่ กาเย่ ดุ๊ก อะไรต่างๆ เหล่านี้นะคะ และในบรรดาที่เอ่ยชื่อมานี่ ตัวที่เป็นหัวหน้าก็คือเกย่า เกย่านี่ ถ้าท่านที่เคยพบเขาก็จะนึกได้ว่า ตัวเขาค่อนข้างใหญ่ เป็นสุนัขใหญ่พอสมควร ขนเกรียนสีเหลืองนวล แล้วก็หน้าตาเขาก็เกลี้ยงเกลาสะอาดสะอ้าน เกย่าเขาจะดูแลบริเวณสถานที่ที่ในรอบกุฏิท่านอาจารย์ แล้วก็แถวหินโค้งในรอบบริเวณนี้ดีมาก ถ้าใครเดินผ่านมาก็จะถูกเกย่าขู่เห่าคำรามไล่ตามอย่างนี้เป็นต้น ดิฉันก็เหมือนกัน เมื่อมาใหม่ๆ ก็ถูกเกย่าขู่ เห่า ไล่ อยู่เป็นเวลาพอสมควรแต่ต่อมาไม่นานนักเราก็เป็นเพื่อนกัน คือเขาเห็นดิฉันเมื่อไหร่ เขาก็ต้อนรับไม่มีการเห่า ไม่มีการกระโชก ทีนี้ค่ำวันหนึ่งประมาณสักใกล้สองทุ่มแล้ว ดิฉันก็นึกขึ้นได้ว่ามีสิ่งที่ดิฉันจะต้องกราบเรียนท่านอาจารย์เพราะเป็นงานที่จะต้องทำในตอนเช้า ถ้าหากว่าคอยมากราบเรียนตอนเช้าก็อาจจะไม่ทันก็ได้ ดิฉันก็จึงเดินมาที่กุฏิท่านอาจารย์ ทีนี้ตรงที่ทางเข้ากุฏิท่านอาจารย์ก็จะมีโซ่เล็กๆ นี่ค่ะห้อยแขวนขวางอยู่ พอดิฉันเดินมาถึง เกย่าเขามองเห็น เขาก็วิ่งมายืนอยู่ตรงหน้าดิฉัน แล้วก็ยืนตรงเฉยๆ อย่างนั้นน่ะ ทีแรกก็ยืนตรงเฉยๆ แต่ไม่เห่าไม่ขู่ แล้วดิฉันก็ยังจำใบหน้าเขาประทับใจมาก เขาเงยหน้ามองดิฉัน แล้วก็พูดได้ว่าเขาก็ยิ้ม ยิ้มได้ด้วยดวงตา แล้วส่วนหางเขาก็กระดิกนิดๆ แล้วตัวเขาก็เริ่มบิดไปบิดมา เพื่อแสดงว่าเรารู้จักกัน เราเป็นเพื่อนกัน แต่ความเป็นเพื่อนจะสูงกว่าหน้าที่ของฉันไม่ได้ เพราะหน้าที่ของฉันขณะนี้นี่ คือผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยของท่านอาจารย์ เรียกว่าเกย่าเขาเป็นหัวหน้าของรปภ. เพราะฉะนั้นแม้จะเป็นเพื่อนกันก็ตามเถิด จะยอมให้ก้าวข้ามเจ้าโซ่อันนี้มาไม่ได้ ดิฉันก็บอกเขาว่า เกย่า ขอไปกราบท่านอาจารย์หน่อยนะ มิตรรักจะกราบเรียนท่าน เขาก็คงมองยิ้มแล้วก็บิดตัวไปมากระดิกหางอยู่หน่อยๆ อย่างนั้น เป็นที่ประทับใจดิฉันมากเลย ดิฉันจึงจำได้ แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งท่านสิงห์ทองท่านได้ยินเสียง ท่านก็เดินออกมาดู แล้วท่านก็ร้องเรียกเกย่า เกย่าก็เลยถอยห่างออกไป แล้วก็สิ่งที่ทำให้ดิฉันประทับใจก็คือว่า เพื่อนก็เพื่อนเถอะ ถึงจะเป็นมิตรก็เป็นมิตร แต่หน้าที่ต้องสำคัญกว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้เราจำได้ จำเกย่าได้
เกย่ามีชีวิตที่พัฒนาขึ้นมาจากความเป็นลูกหมาใช่ไหมคะ ที่รู้จักเห่า รู้จักกิน รู้จักเล่น รู้จักนอน พอหนุ่มขึ้นมาก็รู้จักสืบพันธุ์ แต่เขาไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเขาเพียงเท่านั้น เราก็คงจะไม่กล่าวถึงเกย่า จำเขาไม่ได้ ลืมไปแล้ว เหมือนหมาอีกตั้งร้อยตัวที่เราเคยพบมา แต่นี่จำได้ก็เพราะมันเกี่ยวพันกันกับเรื่องของชีวิต เรื่องของการพัฒนา เรื่องของหน้าที่ แม้ว่าจะเป็นแต่เพียงสุนัขตัวหนึ่ง แต่เมื่อใดที่เขารู้จักว่าเขาพัฒนาตัวเขา และพัฒนาอย่างถูกทาง เคารพหน้าที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ชีวิตเขาไม่ตาย ก็ขอเล่าถึงเกย่าต่ออีกนิดหนึ่ง เกย่าก็สิ้นชีวิตไปหลายปีแล้ว ตอนที่เขาตายนะดิฉันก็ไม่อยู่ มีธุระต้องไปกรุงเทพฯ กลับมาก็ทราบว่าเกย่าไม่อยู่แล้ว ก็กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าเกย่าเป็นอะไร ท่านก็เล่าว่า วันนั้นน่ะมีการตัดต้นไม้ใหญ่กัน ก็อยู่ไม่ไกลจากหน้าม้าหินที่ท่านอาจารย์นั่ง ตรงลานหินโค้งของเราทางมุมด้านนี้น่ะค่ะ ในขณะที่กำลังตัดต้นไม้กันอยู่ เกย่าก็เผอิญเดินไปทางแถวนั้นแล้วต้นไม้ที่ถูกตัดนี่มันก็ล้มฟาดลงมาทันทีอย่างเร็วและแรงฟาดลงไปบนตัวเกย่า เกย่าสลบทันที แล้วก็ผู้ที่ต้องมาช่วยยกต้นไม้อันนั้นขึ้นนี่ได้ยินว่าตั้งสามสี่คน ก็โปรดนึกดูเถิดว่าต้นไม้ต้นนั้นมันจะหนักเพียงใด แล้วก็ตัวเกย่าภายในนี่คงจะช้ำชอก ไม่มีอะไรเหลือเลยนะคะ เขาก็สลบหลายชั่วโมง ผลที่สุดก็ฟื้นแล้วก็นอนหายใจระรวย อยู่อย่างนั้นวันหรือสองวัน ดิฉันจำไม่ได้แน่ แต่สิ่งที่ท่านอาจารย์เล่าก็คือว่า ไม่ปรากฏเสียงครวญครางแม้สักแอะเดียวออกมาจากเกย่ามีแต่นอนหายใจระรวยอยู่เฉยๆ แล้วก็วันที่เขาจะสิ้นใจ เขาก็พยุงตัว เขาโซเซขึ้นมาแล้วก็หันไปมองทางที่ท่านอาจารย์นั่งอยู่ที่ม้าหิน และอาจจะมีท่านสิงห์ทองซึ่งเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดยืนอยู่ใกล้ๆ แถวนั้นก็ได้ เขายืนโซเซมอง แล้วเขาก็ล้มลงนอนสิ้นลม และท่านอาจารย์ท่านก็แถมด้วยประโยคว่า มันตายอย่างผู้ฏิบัติธรรม จะอย่างไรก็ลองนึกดูเองก็แล้วกันนะคะ เพราะฉะนั้นแม้ร่างกายเกย่าจะตายไปแล้ว แต่เขาหาตายไม่ เขายังคงมีชีวิตอยู่จนบัดนี้นี่คือความหมายของชีวิตพัฒนา หน้าที่ มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร
ขออนุญาตพูดสั้นๆ ว่า ถ้อยคำของท่านอาจารย์ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่คมคายมากที่ท่านใช้ ก็คือว่า ในขณะนี้ในสังคมปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เฉพาะปัจจุบัน มันย้อนหลังกลับไปภายในระยะเวลาสักสิบปี สิบกว่าปีมานี้นั้น มันมีความพิรุธทางศีลธรรมของสังคมเกิดขึ้นเป็นอันมากทีเดียว จนกระทั่งเหมือนกับจะเป็นสัญลักษณ์แสดงว่านี่จะเป็นสังคมที่กำลังจะวิปริตหรือเปล่า ความพิรุธทางศีลธรรม มีอะไรให้เราเห็นบ้าง ถ้าหากว่าจะขอให้ท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ช่วยกันให้ตัวอย่าง ก็จะมีเป็นสิบเป็นร้อย อาจจะถึงพันก็ได้ ถ้าเราจะแยกลงไปในรายละเอียด แต่ถ้าพูดอย่างรวมๆ นั่นก็คือ คำว่าฉลาดหรือโง่ ถูกใช้อย่างเบี่ยงเบนเป็นอันมาก เช่นผู้ใดสามารถทำการทุจริตได้มากๆ ได้มากกว่าเขา รวยกว่าเขา ใหญ่กว่าเขาด้วยการทุจริต ได้ชื่อว่าเป็นคนฉลาด เคยได้ยินไหมคะ นี่เบี่ยงเบนแล้วหรือเปล่า ความฉลาดที่ถูกต้อง ถ้าผู้ใดถือว่าความสุจริตนี่แหละ คือเกียรติศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ ถูกตราหน้าว่าเป็นคนโง่ นี่คือความพิรุธทางศีลธรรม ฉะนั้นความหมายของความฉลาด หรือความโง่ หรือของคนโง่คนฉลาด กำลังเบี่ยงเบนไปเป็นอันมาก และการเบี่ยงเบนอันนี้มันแสดงถึงความบวกหรือความลบของสังคม ความเจริญหรือความเสื่อม นี่เป็นสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องคิดและดิฉันก็เชื่อว่าเรากำลังคิดกันอยู่ แต่เรายังมองไม่เห็นหนทางในฐานะที่เป็นเพียงอาจจะนึกว่าเราเป็นแต่เพียงปัจเจกบุคคล แต่เราต้องคิดเพราะนี่คือสังคมของเรา สังคมที่เราอยู่ที่เราอาศัย เราจะเย็น เราจะร้อน เราจะเป็นสุขตลอดถึงลูกหลานเหลนข้างนอก เราก็มีส่วนรับผิดชอบในขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ในขณะนี้ หรือความมีสัจจะ ถ้าใครรักษาสัจจะเอาไว้พูดแล้วต้องรักษาคำพูดโง่ ไม่รู้จักเอาตัวรอด แต่ถ้าหากว่าใคร ความพลิกพลิ้ววาจาจนไร้สัจ กลับกลายเป็นคนฉลาดเป็นคนเก่ง เราคงเห็นใช่ไหมคะจากสื่อมวลชนที่แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ มีมากมาย
เพราะฉะนั้นก็ขอยกตัวอย่างเพียงง่ายๆ สั้นๆ นิดเดียวนะคะ เพราะยังมีเรื่องอื่นที่จะพูดกันอีกเยอะ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกท่านทราบแล้ว ความพิรุธทางศีลธรรม กำลังรุนแรง อัตราสูงมากขึ้นทุกทีๆ อย่างชนิดที่ยิ่งกว่าน่าเป็นห่วง มันน่าสยดสยองว่า วันหนึ่งวันสุดท้ายจะมาถึงเมื่อไหร่ ถ้าเราจะปล่อยให้มันคงเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป สิ่งที่ควรกระทำก็คือ ทำไมจึงไม่ตราลงไปว่าจะต้องมีการศึกษา จัดการศึกษาที่มีจริยธรรม หรือธรรมะเป็นรากฐานของการศึกษา เพื่อที่จะได้คนให้เป็นคน ให้เป็นมนุษย์ ช่วยกันสร้างสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข นี่ต่างหาก ถ้าทำอย่างนี้ได้เมื่อใด นั่นแหละคือการแก้ปัญหาที่ถูกจุด แม้เราจะต้องใช้เวลาเพื่อรอคอย สักยี่สิบปี เพราะเรื่องของการศึกษา ไม่ใช่เรื่องของการที่เหมือนกับการหุงข้าว ยกขึ้นตั้งไฟ ก็อาจจะสุกได้กินภายในไม่เกินหนึ่งชั่วโมง นี่เราต้องรอเวลาสักยี่สิบปี เพราะกว่าคนคนหนึ่งจะเจริญเติบโตขึ้นมา เพื่อทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองนั้น ต้องให้เวลา หากว่าเรารอคอยอย่างนี้ได้ เรานำจริยธรรมมาเป็นรากฐานของการศึกษาได้ เราจะมองเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้นั้นสามารถแก้ได้ และเมื่อมันวิกฤตจริงๆ แก้ยังไม่ได้สมความปรารถนา 100% แต่ที่จะมองเห็นก็คือว่า เราทุกคนจะร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ด้วยความเห็นใจซึ่งกันและกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะได้จริงๆ หรือไม่ได้จริง ๆ นะคะ ก็ขออนุญาตเสนอเอาไว้ เพื่อช่วยกันคิดต่อ ถ้าเราแต่ละคนคิดต่อ หนึ่งเป็นสอง สองเป็นสี่ สี่เป็นแปด นั่งกันอยู่ที่นี้ ดิฉันว่าหลายร้อย เท่านี้เราได้กันเป็นพันๆ เราได้กันเป็นหมื่นๆ ดิฉันก็ชื่นใจพอแล้ว เราเริ่มกันตรงนี้
ข้อแรกก็คือ ดิฉันคิดว่าที่เราพูดกันนี้ ถ้าเรามองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แล้วก็น่าจะทำ ก็จะได้ช่วยกันปฏิรูป ความรู้สึกดีๆ สิ่งดีๆ ที่งดงามที่มันยังเหลือหลงอยู่ในใจของเรา หรือในใจของมนุษย์ทั่วๆ ไปมันยังไม่หมดเสียทีเดียว มันยังหลงเหลืออยู่ก็จะได้ช่วยกันปฏิรูปให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่จะกำลังจะหายละลายไปจากสังคมและจากชีวิต สิ่งดีๆ งามๆ ก็เช่น ความดี ความถูกต้องที่พอดีที่เกิดประโยชน์ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ความสะอาดบริสุทธิ์ เหล่านี้เป็นต้น ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาสู่ความเป็นปกติของสังคมของชีวิตคนต่อไป และสิ่งที่สองที่คิดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ ความมีชีวิตที่เยือกเย็นและเป็นประโยชน์อยู่ทุกขณะ นี่คือความประสงค์ ความมุ่งหมายของเจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านปรารถนาเหลือเกินที่จะเห็นชีวิตทุกชีวิตนั้นมีชีวิตที่เยือกเย็น เยือกเย็นอยู่ด้วยความสุขความสงบ ความอิ่มเอิบเบิกบานเฉพาะตัว และเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ให้ทุกขณะ นี่คือความมีคุณค่าของความมีชีวิตของความเป็นมนุษย์ ถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้วอยู่ไปทำไม มีชีวิตอยู่ทำไม เพื่ออะไร
ข้อที่สามก็คือ เพื่อการมีสังคมมนุษย์ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อก่อเกิดศานติในสังคม ในระยะนี้ ในความรู้สึกส่วนตัวของดิฉัน ดิฉันรู้สึกว่าจริยธรรมกำลังถูกเหยียบย่ำ เกือบจะยับเยิน อยู่แล้วในขณะนี้ พูดกันไม่รู้เรื่อง ในเรื่องของจริยธรรมเก็บเอาไว้ก่อน เพราะมันเห็นผลไม่ทันตาเห็น มันไม่ผลิตผลเอามาเป็นเงินเป็นทองเป็นดาวเป็นเดือน เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จริยธรรมกำลังถูกเหยียบย่ำ แต่ถ้าหากว่าเราช่วยกันปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาชีวิตให้ถูกต้องก็เชื่อว่า เราจะมีสังคมมนุษย์ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อก่อให้เกิดศานติร่วมกันในสังคมได้
ต่อไปก็เพื่อมนุษย์สามารถเผชิญความแก่ได้อย่างสง่า เผชิญความเจ็บได้อย่างสบายและก็เผชิญความตายได้อย่างสงบเพราะมีอิสรภาพสูงสุดเหนือสมมติพันธะทั้งปวง ความแก่ความเจ็บความตาย คนส่วนใหญ่มนุษย์ส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นศัตรูตัวร้ายที่คุกคาม ความสุขของเราเหลือเกิน ไม่อยากแก่ก็ต้องแก่ ไม่อยากเจ็บก็ต้องเจ็บ ไม่อยากตายก็ต้องตาย แต่ใครเล่าที่จะหลีกเลี่ยงพ้นกฎธรรมดาอันนี้ได้ นี่มันเป็นกฎธรรมชาติ แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นกฎธรรมชาติก็พากันอกสั่นขวัญหาย ตระหนกตกใจ พอมองเห็นสภาพว่าแก่แล้ว ตกใจ เจ็บ ตกใจ พอตายยิ่งกลัวตัวสั่นอย่างนี้ มันไม่ใช่ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ แต่ถ้าหากว่าศึกษาพุทธศาสนาให้ถูกต้องจากปริยัตินำมาให้เกิดปฏิบัติ แน่นอนปฏิเวธนั้นจะย่อมมีความสามารถเผชิญความแก่ได้อย่างสง่า เผชิญความเจ็บได้อย่างสบาย เผชิญความตายได้อย่างสงบ เพราะรู้แล้วว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งธรรมดาที่เราจะต้องพบมนุษย์ทุกคนต้องพบ ก็เพราะในใจของผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความเป็นไท มีอิสรภาพสูงสุดเหนือสมมติพันธะทั้งปวง
ไม่ว่าสิ่งใดที่เราสมมติกันว่านี่เป็นพันธะ เป็นความเกี่ยวข้อง เป็นความผูกพันเป็นความของฉัน มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสมมติมันหาใช่สิ่งจริงไม่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความกลัวว่าจะตายพรากไปจากสิ่งที่รัก หรือสิ่งที่พอใจ หรือสิ่งที่โสมนัส มันเป็นแต่เพียงสมมติเข้ามาเกี่ยวข้องกันตามเหตุปัจจัย และมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ถ้าเราช่วยกันก็จะเป็นการช่วยตัวเราเองในการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้นเกิดความถูกต้องขึ้น นอกจากนี้ก็เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ด้วยความรักและกตัญญูต่อธรรมชาติจนเกิดความปรารถนาแรงกล้าที่จะคืนความเป็นธรรมชาติให้แก่ธรรมชาติ ซึ่งอันนี้เชื่อว่าเราทั้งหลายสำนึกดีเหลือเกิน ในปีนี้อากาศวิปริตเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฤดูหนาวฤดูร้อนฤดูฝน โดยเฉพาะฤดูร้อนไม่ว่าจะถิ่นไหนทั้งนั้นต่างก็บ่นว่าแหมร้อนเหลือเกินไม่เคยร้อนเหมือนอย่างนี้ และตัวดิฉันเองก็พอจะเข้าใจที่เขาพูดกันว่า พอคนที่ความร้อนเกิดขึ้นมากๆ แล้วก็ตายเพราะความร้อน ทนความร้อนไม่ได้ ปีนี้ดิฉันรู้สึกว่าเขาจะตายเพราะความร้อนกันอย่างนี้เอง นี่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เพราะความใจร้ายความอกตัญญูของคนบางคน หรือหลายๆ คนใช่ไหมที่ทำลายธรรมชาติ ทำลายความเขียวชอุ่ม ทำลายต้นน้ำลำธาร จนกระทั่งกลายเป็นความแห้งแล้งและก็ผลก็เกิดขึ้นตามกฎอิทัปปัจจยตา อย่างที่เราพบกันแล้วในเรื่องความวิปริตของอากาศในปีนี้ และในขณะเดียวกัน ขณะที่มีความรัก มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ การกระทำเช่นนี้ก็จะเป็นเครื่องมือให้มนุษย์สามารถเรียนรู้อย่างเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมะได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ได้ช่วยให้มนุษย์ได้รอดพ้นจากการตกเป็นทาสของวัตถุนิยม ที่เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์แก่ทั้งชีวิตของตน ของสังคม และของโลก
และข้อสุดท้าย ก็เพื่อให้มนุษย์ได้ประจักษ์ในความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว มนุษย์เกิดมาเป็นเพื่อนกัน มีความแก่ ความเจ็บ ความตายเหมือนกัน มีชีวิตที่ถูกบีบคั้น ด้วยอำนาจของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทานเหมือนกัน และทุกคนต่างก็ปรารถนาชีวิตเย็น ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน แล้วจะมาคอยประหัตประหารกัน เบียดเบียนกัน ทำลายล้างกันทำไม ทำไมถึงไม่เกิดมาด้วยความรู้สึกว่า เราเกิดมาเพื่อให้แก่กันและกัน ไม่ใช่เกิดมาเพื่อมาเอา หรือมาตักตวงจากกันและกันด้วยการเบียดเบียนด้วยประการต่างๆ ถ้าหากว่าเราจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาได้จริงๆ ก็เชื่อว่าสิ่งที่ต่างๆที่กล่าวมาแล้วนี้ย่อมจะเกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัวและในชีวิตของสังคมเป็นแน่นอน
การจะปฏิรูปนี้จะกระทำด้วยวิธีใด เมื่อตอนที่สปช. มีการปรับปรุงการสอนจริยธรรมซึ่งท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็ที่ได้มีส่วนร่วม ก็ย่อมจะจำได้เมื่อประมาณสักสิบปีมาแล้วนั้น แล้วก็พากันมาที่สวนโมกข์ แล้วก็กราบเรียนขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดแนะนำว่า ในการที่เราจะปรับปรุงจริยธรรมเพื่อเด็กๆ ของเรา แม้จะในระดับประถมก็เถอะ เราควรจะใช้หลักธรรมข้อใดเป็นหลักธรรมที่จะนำมาสอน เจ้าประคุณท่านอาจารย์ก็แนะนำให้ใช้อริยมรรคมีองค์แปด ทีแรกท่านทั้งหลายนักวิชาการทั้งหลายก็มีความตกใจ โอ้โหเอาอริยมรรคนี่มาสอนเด็ก จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะว่ามักจะเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าเรื่องของอริยมรรค เรื่องของอริยสัจสี่ เรื่องของปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องชั้นสูงเบื้องบน ลึกมาก ต้องเก็บไว้บนหิ้ง จะนำลงมาพูดกันไม่ได้เพราะว่าศักดิ์สิทธิ์เกินไป ยากเกินไป แต่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านถือว่าอริยมรรคนี้แหละเป็นหนทางดำเนินอันประเสริฐ แม้ว่าทุกคนจะยังไม่สามารถดำเนินในชั้นประเสริฐเลิศที่สุด แต่เราก็สามารถที่จะดำเนินตามอริยมรรคด้วยการมีสัมมาทิฏฐิ คือความคิดเห็นที่ถูกต้องเป็นระดับๆๆ ขึ้นไป เช่นเป็นต้นว่า ถ้าเป็นเด็กมองเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต ต้องขะมักเขม้นทุ่มเทเวลาศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้มีวิชาความรู้จนสำเร็จ นี่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว แม้จะยังไม่รู้ว่าการที่จะประพฤติปฏิบัติในทางธรรมเป็นอย่างไร แต่ก็จะเป็นไปตามระดับจนกระทั่งเมื่อโตขึ้นอีกหน่อยก็จะรู้เองว่าสิ่งที่เราสัมผัสที่มันเป็นความร้อน ที่มันเป็นความเผาไหม้เกรียมในจิตใจ ความไม่สมปรารถนาต่างๆ นั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่อาการของความทุกข์ แล้วก็ชอบไหม ไม่ชอบ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ก็จะเริ่มรู้สึกสำนึกว่า แล้วทำยังไงล่ะ ถึงจะมีวิธีที่จะแก้ไข ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นในใจต่อไปอีก นี่ก็เริ่มแสวงหา แสวงหาสิ่งที่จะมาดับทุกข์ นี่ก็เริ่มมีสัมมาทิฏฐิในอีกระดับหนึ่ง ที่เป็นระดับสูงแล้ว เพราะฉะนั้น เจ้าประคุณท่านอาจารย์จึงแนะนำว่าเราต้องใช้อริยมรรคนี่แหละ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำอริยมรรคทั้งดุ้นไปพูดกับเด็กๆ ในระดับประถม ว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา เป็นไปไม่ได้ ท่านก็มีวิธีที่จะย่อย ย่อยอริยมรรคทั้งแปดองค์นั้น ออกมาในลักษณะที่เด็กๆ จะเข้าใจได้ และครูก็พอจะสัมผัสเพื่อนำไปสอนได้ นี่ก็เป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะเรียนว่า
ในการที่จะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น ข้อแรก ก็คงจะต้องดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด ที่เป็นทางดำเนินอันประเสริฐที่จะเป็นสะพานนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผล โดยเราจะต้องเริ่มต้นที่การปรับทิฏฐิเสียก่อน ทิฏฐินี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของมนุษย์ ถ้าจะกระทำการสิ่งใด ไม่ว่าส่วนตัวหรือส่วนรวม เรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ดูที่ทิฏฐิในการเริ่มต้นว่าถูกต้องหรือไม่ ใช้ได้หรือไม่ หรือมันเป็นทางที่ผิดเพี้ยนไป ถ้าไม่เริ่มต้นตรงนี้ให้ถูกทางเสียก่อน การงานอันนั้นไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ ไม่ว่าส่วนตัวส่วนรวม จะประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะดำเนินตามรอยของพระอริยมรรคเช่นนี้ ในการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา สิ่งที่ควรจะต้องทำอันแรกที่สุดคืออะไร ก็คือว่ามีทิฏฐิในเรื่องนี้อย่างไร ทิฏฐิในเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาอันนี้ มีทิฏฐิในเรื่องนี้อย่างไร เห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควร เห็นว่าเป็นสิ่งที่ถึงเวลาแล้ว หรือไม่เป็นอย่างนั้น ถ้ายังไม่เป็นอย่างนั้นก็แน่นอน ไม่มีน้ำใจที่อยากจะทำ ไม่เกิดศรัทธา ที่อยากจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาชีวิตให้เกิดความถูกต้องขึ้นในชีวิต เพระฉะนั้นจึงต้องดำเนินรอยตามพระอริยมรรคด้วยการปรับทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิคือความคิดเห็นที่ถูกต้อง จึงจะเกิดความปรารถนาตั้งใจที่แรงกล้าอยากจะกระทำให้เกิดผลให้จงได้ และสัมมาวาจาก็จะตามมาด้วยการคิดประชุมปรึกษาพูดกันว่า ทำอย่างไรถึงจะมีหนทางในการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนานี้ให้เป็นไปได้ เพื่อประโยชน์แก่ชีวิต และสัมมากัมมันตะการกระทำก็จะตามมา แล้วก็สัมมาอาชีวะการที่จะดำรงตนให้อยู่ในหนทางแห่งสัมมาทิฏฐิที่ตั้งใจแล้วไม่พาตนออกไปนอกหนทาง ไม่พาตนออกไปสำมะเลเทเมา หรือว่าทำลายตัวเองด้วยอบายมุขต่างๆ แต่ดำรงตนอยู่ในหนทางอันถูกต้องและสัมมาวายามะคือความพากเพียรที่จะกระทำให้ยิ่งขึ้นๆๆ ก็เกิด สัมมาสติจะระลึกได้ทันทีที่กำลังจะพลาดพลั้งเผลอไผลออกนอกทาง สัมมาสมาธิจะมั่นคงในการกระทำนี้อย่างไม่ถอย ไม่ถอยเลยสักก้าวเดียว แต่ในขณะที่พูดนี้ฟังดูเหมือนกับว่าอริยมรรคแต่ละองค์นั้นจะเป็นไปตามลำดับคือมาตามลำดับเหมือนกับขึ้นบันได แต่ท่านที่ได้สนใจในเรื่องของอริยมรรคก็จะทราบแล้วว่า แท้ที่จริงพอสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นเท่านั้น อีกเจ็ดองค์ตามมาทันที เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ปรากฏตัวชัด แต่ก็ซ่อนอยู่ภายในนั่นเอง เพราะฉะนั้นเรื่องของอริยมรรคนี้ แม้ว่าจะพูดสั้นๆ ว่าแปดองค์ แต่การที่จะศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ ถึงความหมายตลอดจนการปฏิบัติในเรื่องของอริยมรรคมีองค์แปดนั้น เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งที่จะต้องศึกษากันอย่างใช้เวลามากพอสมควรทีเดียวนะคะ นอกจากนี้
ข้อที่สอง ด้วยการดำเนินตามอริยมรรคแล้ว ก็อยากจะขออนุญาตพูดต่อไปสักนิดหนึ่งว่า แล้วการปฏิรูปหรือการต่อยอดขึ้นไปนี้ หมายความว่าอย่างไร ก็คือหมายความว่า ต่อยอดขึ้นไปเพื่อให้พอดีแก่การดับทุกข์ หรือการแก้ปัญหานี้ ก็เราก็จะเริ่มจากฐาน ฐานที่มีอยู่ จะเป็นฐานใหญ่ฐานเล็กแค่ไหน ดิฉันว่าไม่สำคัญ แต่โปรดได้มีการเริ่มต้น เริ่มต้นที่จะปฏิรูป ให้เป็นรูปทรงที่สมบูรณ์ นั่นก็คือให้สามารถนำมาแก้ปัญหาได้ ในระดับที่เริ่มต้น เราไม่หวังว่าจะเป็นระดับที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะเป็นระดับที่เราพอใจ พอใจว่า อ๋อนี่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้วนะ และการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปในหนทางที่ดีขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุด ปัญหานั้นมีการแก้ไข ความร้อนที่เคยร้อนเกรียมไหม้ มันลดอัตราของความร้อนลง มันร้อนบางเบาลงเป็นอันมากตามลำดับ ทีนี้ก็จะขออนุญาตยกตัวอย่างว่า การปฏิรูปนั้นที่จะต่อยอดนั้น เช่นอย่างไรบ้าง ในตอนต้นก็ได้ยกตัวอย่างในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ เป็นหลักรวม แต่ตอนนี้ก็อยากจะขอแยกย่อยออกมา เช่น เป็นต้นว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร ถ้าถามใครๆ คนทั่วไป ต้องการความสุข ที่ทำอะไรๆ อยู่นี่ก็ต้องการความสุข แสวงหาสุข ก็อยากจะขอเสนอว่า ฐานคือ การแสวงหาสุข เราจะปฏิรูปจากการแสวงหาสุขเป็นขึ้นไปสู่การศึกษาเรื่องทุกข์ จะดีไหม บางท่านก็อาจจะบอกว่า ทำไมถึงเอาทุกข์นี่ต้องขึ้นไป คือขึ้นไปดูเป็นของสูง แล้วเอาสุขนี่ อยู่ข้างล่าง เหมือนกับสุขนี่เป็นของต่ำ ในความรู้สึกของชาวโลก ก็จะเห็นว่าเรื่องความสุขนี่เป็นของสูง มันต้องไขว่คว้ากัน
แต่ในเรื่องของทางธรรมนั้น เรื่องของทุกข์นี่สิ เป็นเรื่องสูง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ที่เราจะต้องศึกษา ต้องทำความเข้าใจ เพราะอะไร ก็เพราะชีวิตที่เราพยายามวิ่งหนี แล้วก็ไปหาสิ่งที่บอกว่าสุขนี่ ก็เพราะเรากลัวความทุกข์ใช่ไหม แล้วก็ถามกันจริงๆ แต่ละคนละคน ใครพบความสุขที่แท้จริงแล้วบ้าง สุขที่ไม่ต้องแสวงหาอีก และใครหนีความทุกข์พ้นบ้าง คือพ้นอย่างชนิดอยู่เหนือ อยู่กับความสะอาด สว่าง สงบ มีบ้างไหมคะ ท่านผู้โชคดีที่นั่งอยู่ในที่นี้ มีบ้างไหมคะ ยังไม่มีเลย เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่ลอง ลองปฏิรูปจากการแสวงหาสุขเปลี่ยนเป็นขึ้นไปสู่การศึกษาเรื่องของความทุกข์ ถ้าเราเปลี่ยนไปศึกษาเรื่องของความทุกข์ก็เท่ากับว่า เราหันไปเผชิญกับสิ่งที่มันทิ่มแทงเราอยู่ทุกวัน ทำให้ชีวิตนี้ปราศจากความสงบปราศจากความเย็น ปราศจากความอิ่มเอิบชุ่มชื่นเบิกบานมันทิ่มแทง ทิ่มแทงเราอยู่ทุกวัน ถ้าเรามัวแต่หันหลังให้วิ่งหนีก็มีแต่ถูกทิ่มแทงเหยียบย่ำ เพราะฉะนั้นหน้าที่คือต้องหันเข้าไปสู้ ดูสิว่าสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี่มันคืออะไร หน้าตามันเป็นอย่างไรดูให้เห็นชัด ให้จำได้และเราก็จะได้รู้จักว่า อ๋อนี่คือตัวศัตรู หน้าตาเป็นอย่างนี้ ทีนี้จะใช้อาวุธอะไรล่ะสู้ ถ้าเราหันไปเผชิญหน้ารู้จักแสวงหาอาวุธเพื่อสู้ด้วยปัญญา ก็มีหวังชนะใช่ไหมคะ นี่ก็ยกตัวอย่างสั้นๆ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง มีบางคนชอบขอ ช่างขอจริง เห็นอะไรอยากได้ ชอบขอไปหมด ขอเงินขอทองขอข้าวของ ขอตำแหน่งขอโน่นนี่ ถ้าเราปฏิรูปจากขอวัตถุไปสู่การขอธรรมะบ้างจะดีไหม ก็จะขอเล่าเรื่องในพระไตรปิฎก จากสุปปพุทธะกุฎฐิสูตรนะคะ ซึ่งเล่าถึงสุปปพุทธะนี่ เป็นชายยากจนเข็ญใจ มิหนำซ้ำยังเป็นคนโรคเรื้อน น่าเกลียดน่าชังไม่มีใครอยากเข้าใกล้ วันหนึ่งสุปปพุทธะก็เดินผ่านที่ประชุมที่ก็มองเห็นแต่ไกลก็บอก นั่นอะไรนะ คนมาชุมนุมกันอยู่มากเลย เขาก็คิดในใจว่านี่ที่ตรงนั้นนี่คงจะต้องมีการแจกทานกันเป็นแน่เลยคนถึงได้มาประชุมกันมากมาย เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะเข้าไปที่นั่นเขาบอกตัวเขาเองว่าอย่างนั้น เราก็ควรจะเข้าไปที่นั่นเพื่อที่เราจะได้รับทานด้วย แต่เมื่อสุปปพุทธะเดินไปถึง สถานที่นั้นก็กลายเป็นที่ประชุม ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังจะแสดงธรรมแก่ที่ประชุมนั้น ก็เป็นหมู่ชนหมู่ใหญ่ทีเดียว กำลังนั่งกันอยู่อย่างสงบ พอสุปปพุทธะมองไปแล้ว เขาก็บอกตัวเองว่า ที่นี่คงไม่มีการแจกทานกันแน่ เห็นจะไม่มีหวัง แต่ว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดากำลังจะแสดงธรรม แก่บรรดาหมู่ชนที่ประชุมแห่งนี้ เราเองก็น่าที่จะได้รับฟังธรรมด้วย น่าเอ็นดูไหมคะ คนขอทานขี้เรื้อนคนนี้ เราเองก็ควรน่าที่จะได้ฟังธรรมด้วย พอเขาคิดดังนั้นแล้ว เขาก็เดินเข้าไป หาที่นั่งอย่างเหมาะสม แล้วก็นั่งเตรียมใจที่จะฟังธรรมด้วยความสงบเรียบร้อย ตามธรรมดาเมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจะแสดงธรรม พระองค์ก็มักจะทรงตรวจดูก่อนว่า ในบรรดาในที่ประชุมแห่งนี้ จะมีใครที่มีจิตใจที่พร้อมที่จะรับฟังและเข้าถึงธรรมได้ เมื่อพระองค์ทรงตรวจดูไปแล้ว ก็ทรงทราบว่า สุปปพุทธะ ผู้ชายขี้เรื้อนคนนี้จะมีโอกาสที่จะรับฟังธรรมและเข้าถึงธรรมได้ เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ทรงเริ่มแสดงธรรมด้วยอนุปุพพิกถา ก็คือพูดด้วยเรื่องทาน แล้วก็ศีล แล้วก็เรื่องของสวรรค์ เรื่องของโทษของกามและก็คุณของการออกจากกามคือเนกขัมมะ แล้วก็ทรงตรวจดูอีกครั้งหนึ่ง ก็ทรงทราบว่าจิตใจของสุปปพุทธะในขณะนี้สะอาด เกลี้ยง เป็นภาชนะที่พร้อมจะรองรับพระธรรมะชั้นลึก เลิศขึ้นไปอีก
พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมเรื่องของอริยสัจสี่ เมื่อสุปปพุทธะที่ตั้งใจฟัง เรียกว่าทั้งจิตใจกายน้อมอ่อนโยนประณีตนุ่มนวล ก็ซึมซับดื่มเอาพระธรรมนั้นเข้าสู่ใจของตน จนกระทั่งบรรลุธรรมในระดับหนึ่ง พอเขาบรรลุธรรมแล้วเขาก็รู้สึกมีความองอาจกล้าหาญ แต่ก่อนนี้คงจะแอบๆ ย่องๆ นะคะ เพราะเราเป็นคนขอทานยากจน เราเป็นคนขี้เรื้อน จะเข้าไปเสนอหน้าใกล้เคียงกับใคร ก็ระมัดระวัง แต่พอเขารู้สึกว่าเขามีธรรมะเป็นรากฐานมั่นอยู่ในจิตใจเท่านั้น เขารู้สึกมีความมั่นคง องอาจกล้าหาญ เขาก็ลุกขึ้นจับเสื้อผ้าของตัวให้เรียบร้อย แล้วก็เดินเข้าไปใกล้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบนมัสการแทบพระบาทแล้วก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมเปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจะเห็นได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดจำข้าพระองค์ไว้ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วก็กราบนมัสการทูลลา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสสาธุการอนุโมทนาให้สุปปพุทธะ มีความชุ่มชื่นอิ่มเอิบเบิกบานใจยิ่งขึ้น แล้วเขาก็กราบทูลลาออกไป
ชั่วไม่นานก็ไปถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดตาย ก็บรรดาพุทธสาวกบางท่านก็กราบเรียนถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงคติของสุปปพุทธะว่าเขาไปไหน พระองค์ก็ตรัสว่า สุปปพุทธะนี้ก็จัดว่าเป็นบัณฑิตได้คนหนึ่ง เพราะเหตุว่าไม่ทำความลำบากให้แก่เราเลยในการที่จะสั่งสอน พระองค์ทรงแสดงธรรมเพียงเท่านั้นแหละในที่ประชุม สุปปพุทธะก็ฟังเหมือนคนอื่นๆ แต่สุปปพุทธะเข้าใจ แล้วก็เข้าถึงธรรมได้ จึงตรัสว่า ไม่ทำความลำบากให้แก่เราเลย เป็นบัณฑิตผู้หนึ่ง น่าชื่นใจไหมคะ เมื่อไหร่เราจะได้ยินคำตรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่เราบ้าง พระองค์จะตรัสที่ไหนเมื่อไหร่ได้ทั้งนั้น เมื่อไหร่เราจะได้ฟังอย่างนี้บ้าง แล้วพระองค์ก็ตรัสว่าสุปปพุทธะนั้นบรรลุธรรมแล้วเป็นพระโสดาบันแล้ว
นี่พอดิฉันอ่านพบดิฉันก็นึกขึ้นมาทีเดียวว่า นี่คือตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาในอีก ลักษณะหนึ่ง คือจากความที่มีฐานที่ชอบขอ ที่อาจจะถูกใครๆ เขาหมิ่นประมาท ดูถูก แต่เราก็ปฏิรูปได้ แล้วก็ไป สู่การขออันประเสริฐเสียด้วย คือขอธรรมะ นี่ก็เป็นตัวอย่างอีกอย่างหนึ่ง หรือตัวอย่างการปฏิรูปที่อยากขอเสนอก็ สิ่งที่เรารู้จักกันดีแล้วก็พูดถึงกันมากอยู่ ก็คือเรื่องของนรกเรื่องของสวรรค์ ใช่ ไหมคะ ใครๆ ก็หมายสวรรค์ แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยง อย่าให้ฉันตกนรกเลย โดยเฉพาะเวลาจะตาย ขอ ให้ฉันได้ไปสวรรค์ โดยลืมไป ลืมนึกว่าในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ทำอะไรไว้เพื่อไปสวรรค์บ้างหรือเปล่า
ทีนี้ก็เรื่องของนรกสวรรค์นี่ แทนที่จะนึกถึงสวรรค์บนฟ้า นรกใต้ดิน อย่างที่คุ้นเคยกันอยู่ เราก็จะปฏิรูปจากนรกใต้ดินมาเป็นนรกในกาย สวรรค์บนฟ้ามาเป็นสวรรค์ในใจ ซึ่งส่วนมากในขณะนี้ก็ปฏิรูปกันแล้วนะคะ มารู้ว่าเมื่อใดที่จิตใจนั้น มันร้อนรุ่มเหมือนกับถูกเผาไหม้ นี่คือนรกกำลังอยู่ในนรกแม้จะนั่งอยู่ในห้องแอร์ เมื่อใดที่จิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน แม้จะนั่งอยู่ในกระท่อมที่ร้อนนี่ก็คือสวรรค์แล้ว นี่ปฏิรูปจากนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้า มาสู่ความเข้าใจถึงเรื่องของนรกในใจสวรรค์ในใจ อย่างที่ปู่ย่าตาทวดได้บอกว่า สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ ท่านก็แนะนำไว้แล้วให้ปฏิรูปอยู่แล้ว จากนั้นก็ปฏิรูปต่อไปถึงนรกสวรรค์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย นรกสวรรค์นี่อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่เอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คืออยู่ที่อายตนะหก นรกสวรรค์อยู่ที่นี่ใช่ไหมคะ ที่มันร้อนก็ดีคือร้อนข้างในก็ดีหรือเย็นข้างในก็ดีมันเกิดความรู้สึกอันนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นก็คือเมื่อตาเห็นรูป เห็นรูปที่ถูกใจ เย็นสบายใจชอบใจ ปิติอิ่มเอิบ เห็นรูปที่ไม่ถูกใจ ร้อนรุ่มกลัดกลุ้มไม่ชอบเลย อยากจะผลักไสให้ไป เพราะฉะนั้นนรกสวรรค์ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคืออายตนะหกนี่เอง ที่เป็นเครื่องมือที่ธรรมชาติให้มาเพื่อการศึกษา แต่ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่รู้จักใช้เครื่องมือที่ธรรมชาติให้มาคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทำการศึกษาให้ถูกต้องอย่างเป็นพุทธศาสตร์ สิ่งนี้ก็จะนำนรกมาสู่ใจ แต่ถ้าสามารถศึกษาอย่างถูกต้องอย่างพุทธศาสตร์สิ่งนี้คืออายตนะหกนี้ก็จะนำสวรรค์มาสู่ใจทุกขณะ อย่างเป็นพุทธศาสตร์คืออย่างไรก็คือสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่กระทบนั้นมันเป็นเพียงสิ่งสักว่า เช่นนั้นเอง เกิดดับๆ อยู่เช่นนั้นเอง ถ้าเห็นอยู่ทุกขณะก็จะไม่นำให้เกิดอารมณ์ที่พอใจหรือไม่พอใจ มันก็ไม่ต้องเป็นนรกไม่เป็นสวรรค์ แต่เป็นความปกติ ปกติสุข ซึ่งท่านเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านบอกว่าความสุขที่ประเสริฐของมนุษย์ คือความรู้สึกอันเป็นปกติอยู่เสมอ ถ้าสามารถรู้สึกปกติอยู่เสมอได้นี่คือความสุขที่ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่งนะคะ ในเรื่องของการปฏิรูป ก็เช่นปฏิรูปจากอัตตาตัวตนที่คิดว่าเป็นตัวตนที่มีอยู่นี้จากความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวตน จากความรู้สึกมีเป็นตัวตนขึ้นไปสู่ความเป็นอนัตตา จะดีไหม ถ้าหากว่าฝึกปฏิรูปสิ่งที่มีเป็นตัวตนไปสู่อนัตตาจะปฏิรูปอย่างไร ก็อย่างเช่นได้ยินคำถามบ่อยๆ เมื่อเราพูดถึงเรื่องของอนัตตาก็จะมาบอกว่า รูปร่างตัวตนนี่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เป็นเราไม่ใช่เป็นเขาได้ยังไง ในเมื่อจับดูมันก็ถูกต้องคือมันก็ถูกต้องได้ เมื่อมองด้วยตาเนื้อ มันก็มองเห็น แล้วจะบอกว่ามันไม่ใช่ได้ยังไง ก็จะว่าคำตอบก็จะบอกว่า ใช่ก็ใช่ ว่าเป็นตัวเป็นตนก็เป็น
แต่ในความเป็นนี้น่ะ ให้รู้จักใช้ความเป็นตัวตน หรือตัวตนที่มีอยู่นี้ให้มันเป็นตัวตนที่ดี คือใช้มันให้เกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง ในทางที่สร้างสรรค์ และก็เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น คือเพื่อนมนุษย์ด้วย ถ้าเรารู้จักใช้อย่างนี้ มันก็จะเป็นอัตตาที่เป็นประโยชน์ และเมื่อรู้จักใช้อัตตาตัวนี้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ นั่นก็คือฝึกตนเองให้มีความสามารถในการที่จะเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นๆๆ การเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นๆ นั้น แน่นอนที่สุดมันนำไปสู่ความลืม ลืมความเป็นตัวตนของตัวเอง ลืมอัตตาของตัวเอง เพราะฉะนั้นใจนั้น มันจะมีความเอื้อเฟื้อถึงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา นี่ก็คือการฝึกปฏิรูปความมีอัตตา ไปสู่ความเป็นอนัตตาทีละน้อยๆๆ โดยไม่ต้องหวังว่าเมื่อไหร่อัตตาจะหมด เมื่อไหร่จะถึงอนัตตา แต่ถ้าฝึกอยู่ทุกขณะ แน่นอน อนัตตาอยู่ใกล้เอื้อม จะไม่ไกลเลย นี่เป็นตัวอย่าง เพียงบางตัวอย่างนะคะที่ขอนำมาเล่าภายในเวลาที่เราพอมีอยู่
จะดำเนินตามรอยพระบาทและคำสอนขององค์เสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว ตั้งแต่พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่ในวังที่แสนบรมสุข ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องหมายของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ในความรู้สึกของคนโลกเลยสักอย่างเดียว แต่แล้วทำไมเจ้าชายสิทธัตถะถึงทรงสละทุกสิ่ง เสด็จออกสู่ป่าเพื่อแสวงหาโมกขธรรม สิ่งที่ข้องอยู่ในพระทัยจนกระทั่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสละทุกสิ่งเสด็จออกป่านั้นคืออะไร คำตอบคืออะไรคะ ทั้งๆ ที่ทรงมีสุข พร้อมหมดทุกอย่าง คำตอบก็คือทุกข์ คนอื่นๆ มองไม่เห็น เจ้าชายสิทธัตถะทุกข์ได้ยังไง มีพร้อมหมดทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดขาดเลยตามที่เราทราบแล้ว แต่ก็ด้วยที่ทรงเป็นผู้มีพระปัญญาฉลาดล้ำจึงไม่ทรงหลงอยู่ในกามสุขทั้งหลายที่พระองค์ทรงมี แต่ทรงมองลึกลงไปข้ามลงไปและก็มองเห็นความทุกข์ที่มันแฝงอยู่เบื้องหลังของความสุขนั้น อย่างน้อยที่สุดก็คือความจากพรากหรือความพลัดพรากที่จะเกิดขึ้น จากบรรดาผู้เป็นที่รักตั้งแต่สมเด็จพระราชบิดามาจนกระทั่งถึงพระชายาโฉมงาม จนถึงพระราชโอรสที่ซึ่งประสูติมาไม่นานนัก เพราะฉะนั้นเมื่อทรงมีสิ่งนี้ข้องอยู่ในพระทัย ก็จึงตัดพระทัยสละทุกสิ่งออกไปสู่ป่าเพื่อแสวงหาโมกขธรรม สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นก็คือทุกข์ โปรดสังเกตไว้นะคะว่าเริ่มต้นด้วยอะไร
ทีนี้ คำถามข้อ 2 ทรงมีสถานที่ใด เป็นสถานที่ศึกษาของพระองค์ พระองค์เสด็จไปศึกษาที่ไหน ทุกท่านตอบได้ เสด็จเข้าป่า ศึกษาในป่า ในป่านั้นศึกษาอะไร ก็คือศึกษาจากธรรมชาตินั่นเอง ทรงศึกษาจากสิ่งใด ย้ำลงไปอีก คำถามต่อไป ทรงศึกษาจากสิ่งใด มีสิ่งใดที่ท่านทรงรับว่าเป็นครูของท่าน ธรรมชาติ ธรรมชาติที่แวดล้อมภายนอก คือภายนอกองค์ท่าน และก็ธรรมชาติภายในพระองค์เอง พูดง่ายๆ ก็คือว่า ไม่ได้ทรงศึกษาแต่เฉพาะธรรมชาติจากป่าเขาลำเนาไม้เท่านั้น แต่สิ่งที่ทรงถือเป็นศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมาก ก็คือตัวท่านเองพูดง่ายๆ ศึกษาภายในในพระองค์เองคือ เบญจขันธ์นี้ ทรงศึกษาอย่างยิ่งยวดอย่างลึกซึ้งอย่างถี่ถ้วนอย่างรอบคอบ นี่คือคำตอบ
ทีนี้คำถามต่อไป ตลอดเวลา 6 ปีนั้นทรงมีสิ่งใดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา หรือทรงมีสิ่งใดเป็นศูนย์กลางของการแสวงหา คำตอบก็คือทุกข์ พระองค์ไม่ได้ทรงแสวงหาสิ่งอื่น นอกจากเรื่องของทุกข์ คำถามต่อไป ทรงจดจ่อค้นหาสัจธรรมในเรื่องใดจนทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็คงตอบได้เองนะคะ นั่นก็คือทุกข์และความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นตลอดพระชนม์ชีพแห่งการเป็นพระบรมศาสดาจึงไม่เคยทรงสอนเรื่องอื่นนอกจากเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์
คำถามต่อไป ที่จริงได้ตอบไปแล้วคือ คำถามต่อไปก็จะถามว่าแล้วตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์หลังจากการตรัสรู้แล้วทรงสอนเรื่องอะไรที่ถือว่าเป็นหัวใจของคำสอน ก็คือเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ ทีนี้คำถามต่อไปหลักธรรมที่ทรงนำมาแสดงเพื่อให้ศึกษาให้รู้เรื่องของทุกข์และการดับทุกข์ คือเรื่องอะไร คือธรรมะที่ชื่อเรื่องอะไร ก็คงตอบได้อีกเช่นเคยใช่ไหมคะอริยสัจสี่ และปฏิจจสมุปบาท
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะเรียนสิ่งที่เป็นหัวใจของธรรมะ แล้วก็ไม่เรียนถึงเรื่องของอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท ก็คงยากที่การปฏิรูปนั้นจะถึงที่สุด คำถามต่อไปอะไรคือเครื่องมือของการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ เราพูดมาแล้วในตอนต้นในข้อแรกเมื่อก่อนนี้ก็คืออริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง นี่เป็นเครื่องมือของการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ ทีนี้คำถามต่อไป อะไรคือคาถาที่ควรพิจารณาประจำใจ ในฐานะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่มีพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านได้แสดงธรรมเรื่องนี้เอาไว้เอง และท่านพูดรวบเอาไว้อย่างนี้ด้วย ธรรมะอันนี้ มีพร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติปฏิเวธ แล้วก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา นึกออกไหมคะ
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น
ที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นเครื่องขุดเพชร ท่านแสดงไว้ในปีที่ท่านดูเหมือนเมื่อท่านแปดสิบพรรษาที่ท่านไม่สู้จะสบายแล้วท่านก็พูดถึงเครื่องมือขุดเพชร ถ้าดิฉันจำไม่ผิดนะคะ “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น” เป็นคาถาประจำใจ ถ้านึกอะไรไม่ออกนะคะที่จะเป็นหลักธรรมที่จะนำมาเตือนใจตัวเอง หรือจะเรียกว่านำมาเป็นข้อปฏิบัติ
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่น ก็จะค่อยๆ บรรเทาความรุนแรงของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจให้ลดลง เพราะในขณะที่อารมณ์เกิดความรู้สึกรุนแรง ก็เพราะยึดมั่นยึดมั่นจะเอาให้ได้อย่างใจที่ต้องการ ตามที่เรานึกว่าอันนี้มันถูก อันนี้มันจริง อันนี้มันใช่ แต่พอนึกถึงคาถานี้ขึ้นมา อ๋อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นถือมั่นจะค่อยๆ จางลงไป จางลงไป และถ้าหมั่นบริกรรมเอาไว้บ่อยๆ คาถานี้นะคะก็จะค่อยๆ ถึงยอดของการดับทุกข์เองโดยไม่รู้ตัว คำถามต่อไป อะไรคือสิ่งที่กำกับใจ ให้มั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันทิฏฐิโกและปัจจัตตัง คือเป็นศาสนาที่ต้องประจักษ์ด้วยตัวเอง รู้ด้วยตัวเอง ไปให้ใครเขาบอกไม่ได้ เขาบอกก็อย่าไปเชื่อ คำตอบคืออะไรคะ เจ้าประคุณท่านอาจารย์ ท่านถือหลักธรรมข้อนี้ตลอดชีวิตของท่าน กาลามสูตร ใช่ไหมคะ กาลามสูตรนั่นเอง ที่ไม่เชื่อจนกว่าจะพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง
ข้อต่อไป หลักธรรมข้อใดบ้าง ที่พึงใคร่ครวญให้ทุกขณะ ในฐานะที่เป็นสัจธรรมของธรรมชาติ หรือ กฎของธรรมชาติ อาจจะตอบกันได้หลายอย่าง เช่น ไตรลักษณ์ นี้ถือเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นสัจจะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีสิ่งใดเที่ยง ไม่มีสิ่งใดคงที่ ไม่มีสิ่งใดที่จะทนอยู่ได้ เพราะมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนมันเป็นแต่เพียงสิ่งที่สมมติเอาเท่านั้นเอง หรืออิทัปปัจจยตา เหตุปัจจัยอย่างใดผลอย่างนั้น ชีวิตของมนุษย์นี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้งนั้น แต่เผอิญเราไม่ค่อยได้คิดกัน เหมือนอย่างเช่นเรื่องของกรรมเราก็มักจะนึกถึงแต่เรื่องของกรรม กรรมที่เกิดจากคนอื่นทำ กรรมที่พระพรหมบันดาล แต่หาน้อยเหลือเกินที่จะนึกถึงว่าแท้ที่จริงแล้วมันเป็นอิทัปปัจจยตาของชีวิตเราต่างหาก เราประกอบเหตุปัจจัยอย่างใดผลก็อย่างนั้น ถ้าผลมันเกิดอย่างนี้ลองสืบสาวไปหาเหตุ ด้วยใจเป็นกลาง ตรงไปตรงมาก็จะพบเอง อริยสัจสี่ เป็นต้น
ทีนี้คำถามสุดท้ายนะคะ เป็นตัวอย่างคำถามว่า อะไรที่เป็นอุปสรรคที่ให้การปฏิบัติสมาธิภาวนาดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นสัมฤทธิ์ผล ตั้งใจ ตั้งใจ พยายาม สละเวลามา ทิ้งอะไรที่เป็นภาระไว้มานั่งปฏิบัติสมาธิภาวนา พยายามจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนา ก็ไม่สำเร็จ ไม่ราบรื่น อะไร สิ่งนี้ร้ายมาก ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาต้องรู้จักสิ่งนี้ นิวรณ์ ใช่ไหมคะ นิวรณ์
เราไม่มีเวลาจะมาพูดในรายละเอียดแต่เชื่อว่าท่านทั้งหลายสามารถจะหาคำอธิบายในสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ยากนะคะ จากตัวอย่างคำตอบคำถามข้างต้นนี้ ก็ย่อมพอเป็นแนวทางให้เห็นได้ว่าข้อธรรมที่จำเป็นแก่การปฏิรูปการศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะให้เข้าสู่หัวใจของการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้นมีอะไรบ้าง ก็อาจจะสรุปย่อๆ ว่าสิ่งที่จะต้องรู้ อริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท อริยมรรคมีองค์แปด ขันธ์ห้า อายตนะหก ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตา สัพเพธัมมานาลังอภินิเวสายะ กาลามสูตร จนกระทั่งนิวรณ์ ตถตา มัชฌิมาปฏิปทา เป็นต้นนะคะ เมื่อมีคำถามต่างๆ เหล่านี้มาได้คำตอบ แล้วก็มองเห็นแล้วว่าธรรมะที่จะต้องศึกษาเพื่อนำมาช่วยในการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้นนั้นมีอะไร
สิ่งที่จะช่วยอีกอย่างหนึ่งก็คือควรที่จะได้มีการทำความเข้าใจในคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา จากที่เราได้ศึกษาพระพุทธประวัติในระหว่างการแสวงหาโมกขธรรม จนตรัสรู้ตลอดถึงข้อธรรมคำสอนต่างๆ แล้ว ก็คงจะประมวลลงโดยย่อ ถึงลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาว่า ข้อแรก พุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญา เป็นศาสนาของเหตุและผล มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์คือสามารถพิสูจน์และประจักษ์ได้ด้วยใจของตนเอง ใช่ไหมคะ เช่นสัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ยึดมั่นเมื่อไร ทุกข์เมื่อนั้น หยุดยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ความทุกข์หายดับไป เพราะฉะนั้นคำสอนใดที่มิใช่เหตุมิใช่ผล ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้ คำสอนนั้นไม่ใช่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะที่สองพุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้เชื่อ แต่จะเชื่อเมื่อปรากฏผลของการศึกษาและการปฏิบัติที่เป็นสันทิฏฐิโกตามหลักกาลมสูตร เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าคำสอนใดตรงกันข้าม พิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ใช่พุทธศาสนาอีกเหมือนกัน ข้อที่สาม หลักกาลามสูตรนั้นต้องการให้มีปัญญาก่อนที่จะมีศรัทธา ถ้าศรัทธามาก่อนจะพาไปสู่ความงมงาย แต่ถ้าปัญญามาก่อนจะพาไปสู่ความสว่าง เพราะฉะนั้นหลักกาลามสูตรนี้ต้องการให้มีปัญญาก่อนที่จะมีศรัทธา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้มีศรัทธาที่คลอดออกมาจากปัญญาเป็นจุดตั้งต้น คุณลักษณะพิเศษต่อไปโดยนัยเดียวกันกับอริยมรรคมีองค์แปดที่เอาปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิเป็นจุดตั้งต้น เพื่อให้ศรัทธาคลอดออกมาจากปัญญาหรือสัมมาทิฏฐินั้น ทำไมจึงต้องทำอย่างนี้ เพราะนี่คือลักษณะของพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญาเป็นศาสตร์ของปัญญาของโพธิ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงควรจะต้องนำหน้าศรัทธาเพื่อจะเป็นแสงสว่างนำไป และศรัทธานี้ก็จะเกิดความถูกต้องในการกระทำ ข้อต่อไป กาลามสูตร ไม่ได้ห้าม ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง ไม่ได้ห้ามเลยนะคะ หากแต่ให้เชื่อ ด้วยความเป็นไท ของสติปัญญา คือด้วยความเป็นอิสระของสติปัญญา ไม่งมงาย ไม่ให้ใครเขาจูงจมูก ข้อต่อไป กาลามสูตร ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับฟังสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง
หากแต่ให้รับฟัง ด้วยความไม่เป็นทาสทางสติปัญญา นี่คือพุทธศาสน์ แสดงลักษณะของความเป็นพุทธศาสน์ของพุทธศาสนา และเป็นวิทยาศาสตร์ คือ สบลักษณะของวิทยาศาสตร์ ในทำนองนี้ เพราะสามารถพิสูจน์ได้ แม้ว่าจะเป็นไปในทางนามธรรม อีกข้อหนึ่ง พุทธศาสนาจึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยโดยแท้ ที่แตกต่างจากศาสนาอื่นที่ให้อิสรภาพ ยิ่งกว่าเสรีภาพ ทำไมดิฉันจึงพูดว่าอิสรภาพยิ่งกว่าเสรีภาพ เพราะเสรีภาพที่กำหนดกันเอาไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ เสรีภาพนั้นมันเกิดขึ้นตามกำหนดของกฎหมาย แต่อิสรภาพที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดขึ้นจากจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญา ที่ได้พิสูจน์และประจักษ์ได้ด้วยตัวเอง อย่างเป็นสันทิฏฐิโกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นประชาธิปไตยโดยแท้ ที่ให้อิสรภาพยิ่งกว่าเสรีภาพ คือความเป็นไท ที่มีสติปัญญาเป็นประทีปส่องทาง นำชีวิตแก่ผู้ที่เข้าถึงพุทธศาสนา พร้อมทั้งส่วนสาม คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ การที่เราจะศึกษาให้เข้าใจคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา เกิดประโยชน์อะไร ดิฉันเข้าใจว่า จะช่วยให้เกิดประโยชน์สองอย่าง
นั่นก็คือ ข้อแรก จะเป็นแนวทาง ให้ได้พิจารณาคำสอน ที่ได้รับฟังจากครูบาอาจารย์ท่านใดก็ตาม ถ้าเรามีหลัก มีความรู้ในเรื่องคุณลักษณะพิเศษของพุทธศาสนา ก็จะทราบว่าคำสอนนี้ เป็นคำสอนที่ตรงกับคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา หรือเป็นคำสอนที่สวนทางกับคำสอนของพระองค์ แน่นอน ถ้าคำสอนไหนสวนทาง ก็ถอยหลังออกมาได้แล้วก็แสวงหาคำสอนที่ถูกต้อง ตามหนทางขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาต่อไป แล้วก็ประการที่สองก็คือเพื่อเป็นแนวทางเพื่อสอบสวนทบทวนการปฏิบัติของตนเอง นี่สำคัญมากสำคัญยิ่งกว่าไปสอบสวนทบทวนผู้อื่นอีก ที่จะสอบสวนทบทวนการปฏิบัติของตนว่ากำลังปฏิบัติถูกต้องตรงตามแนวทางคำสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือว่ากำลังพลาดไถลออกนอกทาง พอเห็นว่ากำลังพลาดไถลก็จะสามารถปรับตัว ปรับได้ทันทันที ปรับการปฏิบัติของตนให้เข้าสู่แนวทางหรือหนทางที่ถูกต้องอย่างไม่ต้องเสียเวลาให้เนิ่นช้า ดังนั้นการจะปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตจึงสมควรที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาให้ชัดเสียก่อนและการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตที่มีคุณค่าสูงสุดต่อชีวิตได้ดังประสงค์
ทีนี้เมื่อได้เข้าใจชัดเจนแล้วก็จะได้ใช้สติปัญญาความรู้ที่มีอยู่นี้สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นอย่างพุทธศาสนา พุทธศาสน์ก็คือศาสตร์ที่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องตัด ถ้าจะแปลความหมายนะคะ พุทธศาสน์ก็คือศาสตร์ที่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องตัด ตัดสิ่งที่ควรตัด อะไรคือสิ่งที่ควรตัด กิเลส ตัณหาอุปาทานนั่นเอง เพื่อให้เกลี้ยงจากปัญหาและความทุกข์ให้จิตใจได้เกลี้ยงจากปัญหาและความทุกข์หรือให้สิ้นจากอุปสรรคและความทุกข์ทุกประการ เพราะฉะนั้นพุทธศาสน์เป็นศาสตร์ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อันมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่าง เป็นศาสตร์ที่แตกต่างจากไสยศาสตร์ ที่เป็นศาสตร์ของความหลับ ความสงสัย ความสะดุ้ง ความหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา นั่นคือลักษณะของไสยศาสตร์ ความสงสัยความสะดุ้งความหวาดผวาเป็นอาการของความทุกข์ ที่จำต้องหาทางระงับดับอาการเช่นนั้นเสียเพื่อให้ล่วงเสียจากปัญหาและความทุกข์ และเพื่อให้มีความเป็นพุทธบริษัทที่สมบูรณ์ตามพระพุทธประสงค์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นจะต้องกระทำในการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตก็คือการสร้างกระบวนการศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกต้องอย่างพุทธศาสน์ ก็เสียดายที่ดิฉันจะไม่มีโอกาสพูดให้จบในเรื่องนี้ได้เพราะเวลากำลังจะหมดแล้ว แต่อยากจะขอเรียนเพื่อได้มีแบบอย่างอันเป็นรูปธรรมอยู่ในใจและก็ให้ประจักษ์ชัดเจนนะคะ แต่ก่อนนั้นก็ขอพูดนิดหนึ่งว่าในกระบวนการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ สิ่งแรกจะต้องแน่ใจ มั่นใจว่าสิ่งที่ต้องการศึกษานี่คืออะไร
สิ่งที่ต้องการศึกษาในการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาก็คือข้อแรก ความจริงเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ ในการศึกษาพุทธศาสนานั้นจะมีแต่เรื่องของความจริงเท่านั้นไม่มีเรื่องของมายา แต่ความจริงสิ่งแรกก็คือความจริงเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์
ความจริงข้อที่สองที่จะต้องศึกษาก็คือ ความจริงเกี่ยวกับเรื่องตัวเรา หรือตัวตนหรืออัตตา และ
ข้อที่ 3 ก็คือวิธีการปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ หรือถึงที่สุดแห่งการสิ้นความรู้สึกของความมีตัวตนไปตามลำดับ นี่เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายอยู่ในกระบวนการศึกษาที่จะต้องกำหนดเอาไว้นะคะ
ทีนี้ที่ดิฉันพูดถึงว่าจะมีตัวอย่างนั่นก็คือว่า เมื่อเรามีสิ่งที่ต้องการจะศึกษาแล้ว ต่อไปควรจะทำอย่างไร นั่นก็คือจะต้องเริ่มด้วยวิธีการศึกษา จะศึกษาอย่างไรก็ต้องมีตัวตนคือตัวเราที่เรียกว่าตัวตนหรือตัวเองนี่นะคะ เป็นศูนย์กลางของการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยการวิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัยจนรู้จักและเข้าถึงฐาน ฐานของจิตของตนเองได้แจ่มกระจ่าง การที่จะเข้าถึงฐานได้ต้องมีความซื่อตรงต่อตัวเอง แล้วก็ซื่อตรงต่อพระธรรม ในขณะที่ทำการวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ เพื่อให้รู้จักฐานของตัวเองก็คือรู้จักความบกพร่อง จุดอ่อน จุดแข็ง ความมี ความไม่มี ในเรื่องของธรรมะ แล้วก็จากนั้นก็จะต้องมุ่งประโยชน์สูงสุด มุ่งประโยชน์สูงสุดเอาไว้ก่อนในการกระทำแล้วมันจะลดลงมาเองตามอัตโนมัติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยปัจจัยของความพากเพียร มุ่งสูงสุดเอาไว้ก่อน ถ้าหากว่ามุ่งเอาไว้เตี้ยๆ มันก็เลยลดลงไปใต้ต่ำไม่ขึ้นมา แต่ถ้ามุ่งสูงสุดลดลงมาก็ยังอยู่ในระดับที่จะขึ้นต่อไปอีกนะคะ
นอกจากนั้น เมื่อมุ่งสูงสุดเพื่อตนเองแล้ว ก็ต้องมุ่งเพื่อผู้อื่น คือมุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่นกํากับไปด้วย ในขณะที่ทําการปฏิรูปการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ เพราะอะไร ก็เพราะว่า เราจะศึกษาความจริงเกี่ยวกับเรื่องของตัวตน อัตตา ตัวเรา ถ้ามุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่นไปด้วย นั่นคือการทําลาย ความเป็นอัตตา ความเป็นตัวตนออกไปทีละน้อย ด้วยการยกเอาความสนใจไปสู่ผู้อื่น ก็จะมีการช่วยเหลือให้น้ำใจแก่ผู้อื่นไปได้ตามลําดับ แล้วก็จากนั้นก็จะต้องมีคุณสมบัติของความเป็นผู้มีความตั้งใจจริง มองเห็นชีวิตที่พัฒนานั้นอยู่ที่คุณค่าของความสามารถในการทําหน้าที่ แล้วก็ฝึกอบรมตนเอง ให้มีคุณสมบัติของมนุษย์ผู้มีศักยภาพ อีกหลายๆ ประการ ตัวอย่างหรือแบบอย่างที่มองเห็นอยู่ก็เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์นี้เอง ที่คุณหมอประเวศได้พูดเอาไว้ในหนังสือปัจฉิมอาพาธของเจ้าประคุณท่านอาจารย์ คุณหมอประเวศพูดว่ามันน่าที่จะมาใคร่ครวญคิดนะว่า ทำไมคนคนเดียวจึงมีศักยภาพและทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ถึงเพียงนี้ ในยามที่ท่านอาพาธเข้าขั้นโคม่าแล้ว พูดไม่ได้ สอนไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นคำสอน เป็นการแสดงธรรมแก่เพื่อนมนุษย์อยู่ตลอดเวลา คุณหมอประเวศก็บอกว่านี่เป็นสิ่งที่น่าจะต้องศึกษาเพราะมนุษย์คนๆ เดียวทำไมถึงมีศักยภาพมหาศาลถึงเพียงนี้
คำตอบของคุณหมอประเวศก็คือ อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ คือการศึกษาการเรียนรู้ของเจ้าประคุณท่านอาจารย์นั้น น่าจะศึกษาดูว่าท่านมีการเรียนรู้ ท่านมีการศึกษา ท่านมีการเรียนรู้อย่างไรบ้าง ก็จะเห็นว่าข้อแรกทีเดียว เจ้าประคุณท่านอาจารย์มีความเป็นอิสระอย่างยิ่งในการศึกษาของท่าน ทำไมท่านถึงไม่สอบเปรียญธรรมต่อไป ท่านสอบเปรียญ 3 ได้ ทำไมท่านไม่สอบประโยค 4 ประโยค 5 ต่อไป พอท่านสอบประโยค 4 ตก ก็พูดได้ว่าไม่ใช่เพราะท่านไม่มีความรู้ แต่เพราะท่านมีความอิสระเป็นไทในการแปล ในการแปลภาษาบาลีเป็นภาษาไทย การที่ท่านตกไม่ใช่ว่าท่านไม่รู้บาลี แต่เป็นเพราะความประสงค์หรือท่วงทำนองของการแปลของผู้ตรวจกับของท่านไม่เหมือนกันต่างหาก ที่ดิฉันพูดอย่างนี้มีอะไรเป็นข้อยืนยัน ก็กล่าวได้ว่าหลังจากที่ท่านอาจารย์ท่านได้ทิ้งการเรียนภาษาบาลีแล้วก็กลับมา ท่านก็ศึกษาภาษาบาลีต่อไปอีกตลอดเวลา อาจจะพูดได้ว่าจนกระทั่งท่านล่วงลับไปจากโลกนี้แล้วท่านก็ไม่ได้ละทิ้ง แล้วท่านก็ได้มาแปลหนังสืออีกมากมายหลายเล่ม จนกระทั่งได้รับคำนิยมยกย่องจากสมเด็จพระวันรัต ที่ท่านชื่อตัวว่า เฮง ของวัดมหาธาตุในสมัยโน้น ว่าท่านอาจารย์แปลเพราะมาก เช่นมหาสติปัฏฐานสูตรฉบับย่อ ไพเราะเหลือเกิน แล้วก็ฉบับอื่นๆ ด้วยแล้วก็คราวหนึ่งสมเด็จพระวันรัตพระองค์นั้นก็ได้ขอให้เจ้าประคุณท่านอาจารย์ไปพบ แล้วท่านก็ได้มอบผ้าไตรแพร ถวายให้แก่ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเครื่องแสดงว่าในการที่ท่านไม่สอบเปรียญสี่ต่อจนกระทั่งไปถึงเปรียญต่อไปนั้น ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถ แต่เพราะท่านมีความเป็นอิสระในการทำงาน เพราะฉะนั้นท่านจึงเห็นว่าไม่จำเป็น หรือเมื่อมีคำถามถามท่านในหนังสือเล่าไว้เมื่อวัยสนธยาว่า ทำไมในขณะที่ใครๆ เขาก็ไม่เชื่อกันว่าในสมัยนี้นี่จะยังมีพระอรหันต์เกิดขึ้นได้ แล้วทำไมเจ้าประคุณท่านอาจารย์ถึงได้มาสอนมาโน้มน้าวใจแล้วก็ยั่วยุให้เดินตามหนทางของพระอรหันต์ นั่นก็คือเดินตามหนทางของอริยมรรค ท่านก็ตอบว่าเพราะว่าเรามันเป็นคนมีความคิดอิสระ ธรรมชาติของเราเป็นอย่างนี้ เราเป็นคนคิดอิสระ เราไม่ชอบคิดอะไรเหมือนใคร และเมื่อเราไปศึกษาจากพระบาลี จากพระไตรปิฎกฉบับพระบาลี ก็ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่ๆ เหลือเกินว่ามีได้ เพราะหลังจากนั้นแล้วท่านจึงได้มาเขียนเรื่องตามรอยพระอรหันต์
นี่คือแสดงถึงว่าในการที่จะปฏิรูปการศึกษาพระพุทธศาสนาให้ได้ผลเพื่อพัฒนาชีวิตนั้น อันแรกที่สุด ผู้ที่จะศึกษานั้นต้องมีความเป็นไทแก่ตน แต่ว่าไม่ใช่เป็นไทอย่างชนิดอคตินะคะ หรือหลงว่าตนเป็นไท แต่เป็นไทอย่างชนิดหูตาสว่างมองดูล้อมรอบตัว แล้วก็มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถจะทำได้ นอกจากนี้เจ้าประคุณท่านอาจารย์จะมุ่งประโยชน์สูงสุดเสมอ ไม่ว่าท่านทำอะไร ตั้งแต่ท่านยังอยู่บ้านเป็นผู้เยาว์อยู่ ท่านเลี้ยงปลากัด ในสมัยนั้นใครๆ เลี้ยงปลากัด เขาเลี้ยงแล้วเขาก็นำไปกัดกัน แต่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านเลี้ยงเฉยๆ ท่านไม่ได้นำไปกัดกับใครเพราะคุณโยมแม่ท่านห้ามไม่ให้นำไปกัด แต่ท่านสามารถจะมีวิธีเลี้ยงปลากัด ด้วยการพลิกแพลงแล้วก็ผสมพันธุ์จนกระทั่งปลากัดของท่านนี่มีชื่อเก่งมากทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปกัดกับใคร เพราะท่านมีวิธีทดลอง ถ้าสมมติว่านำกระดาษที่คั่นโหลออกจากกัน มันเห็นกัน นี่มันจะทำท่ากัดกันจนตัวพองจนกระทั่งต้องเอามากั้นใหม่ แล้วก็เมื่อเปรียบดูลักษณะของปลากัดของท่านแล้วกับของตัวที่เคยชนะๆ นี่ก็ปรากฏว่าของท่านนั้นเข้าลักษณะ จนที่ท่านเลี้ยงเอาไว้ในโหลที่บ้านก็ได้เล่าว่า บางครั้งเมื่อกลับมาดูปลากัดของท่านหายไปก็มี คือมีผู้เข้ามาในห้องในบ้านแล้วก็แอบลักเอาปลากัดตัวเก่งๆ ของท่านไป นี่แสดงว่าเมื่อท่านจะทำอะไรแม้แต่เรื่องธรรมดาท่านจะต้องทำให้ดีที่สุด และท่านมีความรู้สึกว่าถ้าเราจะทำอะไรเราจะต้องทำให้ดีแล้วก็ดีกว่าคนอื่นเขาด้วย ดีเท่าๆ เขาก็ไม่พอ ท่านก็บอกว่ามันอาจจะเป็นการอวดดี แต่ก็เป็นการอวดดีโดยไม่เจตนา เพราะอะไรเพราะแน่ใจว่าเราสามารถทำได้ ทำไมเราถึงสามารถทำได้เพราะเราทำอย่างมุ่งมั่นจริงๆ ทุ่มเทความจริงใจความตั้งใจจริงลงไปทุกอย่าง ท่านเล่าว่าเมื่อท่านเหลียวมองไปทางไหนจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จะต้องทำ จะต้องไปจนทะลุสิ่งนั้นได้ ท่านบอกว่าจะต้องไปจนทะลุ อย่างชนิดครึ่งๆ กลางๆ ท่านไม่รู้จักไม่เคยทำ นี่ดิฉันอาจจะเติมไปหน่อยนะ แต่ความหมายหมายความว่าอย่างนั้น ท่านจะมองไปทางใดต้องทำจนทะลุ จะต้องทำสิ่งที่ใหม่ที่แปลกให้ยิ่งกว่าเขา
ข้อพิสูจน์คืออะไร ก็มีผู้ถามเมื่อเร็วๆ นี้เอง ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ลูกศิษย์สวนโมกข์ เขาบอกว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสนี่ ทำไมท่านถึงมีถ้อยคำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คมๆ ลึกซึ้งกินใจ ทำให้คนคิดแล้วก็ติดตาม ท่านไปได้มาจากไหน ก็บอกว่า อ้าว ก็ท่านเป็นนักคิดนี่ แล้วท่านคิดอะไรต้องให้แปลกให้ใหม่ เพื่อจะสะกิดใจดึงใจพุทธบริษัททั้งหลายเหล่านั้นให้กลับมา กลับมาสู่คำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธเจ้า ที่ท่านกระทบแล้วก็แทงลงไปในใจมนุษย์ให้เกิดปัญญาเสมอๆ เพราะฉะนั้นท่านทำอะไรที่ต้องมุ่งประโยชน์สูงสุดอยู่เสมอ และก็ในขณะเดียวกัน ท่านจะต้องทำเพื่อผู้อื่น มุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่น เหมือนอย่างตอนที่ท่านบวชใหม่ๆ คือท่านทำอะไรหลายอย่างนะคะ มากมาย แต่นี่เวลาไม่พอก็จะหยิบมาเป็นเพียงบางอย่าง ท่านก็ พอมีเวลา ท่านก็จะเขียนหนังสือพิมพ์ คือออกหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ของท่านก็เป็นเพียงแค่กระดาษ เหมือนกับกระดาษฟุลสแก๊ปสักสี่แผ่น แล้วท่านก็เขียนก่อนทำวัตรเย็น พอทำวัตรเย็นเสร็จท่านก็จะส่งให้เพื่อนๆ พระหนุ่มด้วยกันนี่อ่าน และส่วนองค์ท่านเองก็จะไปนอนคอยฟังอยู่ในห้องของท่าน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับห้องประชุม แล้วท่านก็บอกว่ามีความสุข ที่ได้ฟังเขาอ่านกันแล้วเขาก็วิจารณ์กัน แล้วเขาก็ออกความเห็นอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วเราก็นอนหัวเราะอยู่คนเดียว แล้วเราก็มีความสุข เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นความสบายใจ แล้วก็เป็นบุญเป็นกุศลด้วย ที่ทำให้เพื่อนๆ ของเรานี่ เขาก็มีความสุขด้วย มีความสบายใจด้วย นี่คือความรู้สึกเพื่อผู้อื่นแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในขณะนั้นยังไม่ได้ขึ้นถึงสูงสุดเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ แต่ท่านก็มีอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเพื่อผู้อื่นอย่างสูงสุดนั้น ดิฉันคงไม่ต้องอธิบายแล้ว การที่เรามีโอกาสมานั่งร่วมกันอยู่ที่นี่ในคืนนี้ แต่มีโอกาสท่องเที่ยวไปในสวนโมกข์ อันเป็นอารามแห่งความหลุดพ้น จนกระทั่งไปสวนโมกข์ฟากโน้นที่มีการอบรมทั้งแก่เพื่อนชาวไทยและต่างประเทศทั่วโลก เหล่านี้นี่คือประโยชน์เพื่อผู้อื่นใช่ไหม แล้วที่เกิดขึ้นเช่นนี้เพราะอะไร เพราะท่านฝึกองค์ท่านเอง ให้ทำงานอย่างอนัตตา ทำงานอย่างอนัตตา ไม่ใช่ทำงานอย่างอัตตา ท่านฝึกอัตตาของท่านที่มีอยู่ให้ค่อยๆ ละลาย จากความมีอัตตา ไปสู่ความเป็นอนัตตา ถ้าจะดูตัวอย่างง่ายๆ ก็รูปที่แขวนไว้ที่โรงมหรสพทางวิญญาณ เชื่อว่าเดี๋ยวนี้คงยังอยู่ ที่เป็นรูปท่านอาจารย์ยืนแล้วก็หันหน้าเข้าหาองค์ท่านเอง เป็นรูปท่านอาจารย์ 2 รูป แล้วหันหน้าเข้าหาองค์ท่าน ที่สำคัญก็คือประโยคที่เขียนว่า ทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร ทั้งๆ ที่งานมหาศาลเป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์อย่างมหาศาล สวนโมกข์ขจรขจายไปทั่วโลกเป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งดับความร้อน ให้แก่เพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกชาติภาษา แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังเขียนว่า ทั้งวันเราไม่ได้ทำ ทำไมท่านถึงทำได้ ก็เพราะทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไร ท่านจึงทำได้ ใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าใครนึกว่า โอ้โห วันนี้เราคนเดียว เราคนเดียวแท้ๆ ถ้าไม่มีเรานี่มันจะสำเร็จไม่ได้ ก็ตายอยู่กับอัตตานี่แหละ จมตายอยู่กับอัตตา เหนียวแน่นอยู่กับอัตตา แต่นี่เพราะท่านบอกว่าทั้งวันเราไม่ได้ทำอะไรท่านจึงสามารถทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อเพื่อนมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้
เพราะฉะนั้นก็อยากจะสรุปการปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิตว่าที่เรามาพูดกันวันนี้อย่างชนิดที่ไม่ได้จบนะคะ ยังไม่จบ มิใช่สิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่ดิฉันเห็นจะพูดได้ว่าเรารู้ๆ กันอยู่ ท่านทั้งหลายก็มาพูดได้อย่างที่ดิฉันพูดวันนี้ เรารู้ๆ กันอยู่ทั้งนั้นว่ามันเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนี้ แต่เพราะรู้ๆ กันอยู่แต่ไม่นำมันออกมาเสียที เราจึงควรจะได้มาพูดคุยทบทวนกันเป็นระยะๆ เพื่อเร้าพลังแห่งการรักษาทะนุถนอมประคับประคองความรู้สึกที่ดีๆงามๆ ที่ยังมีอยู่นี่นะคะให้พลิกฟื้นคืนชีวิต เพื่อจรรโลงชีวิตให้มีกำลังที่จะก้าวเดินต่อไปตามหนทางของพระอริยมรรค ไพเราะไหมคะ “พระอริยมรรค” ถ้าเราไม่นำมาออกเสียงดังๆ เราจะไม่สัมผัสกับความไพเราะของคำนี้เลย พระอริยมรรค ทั้งนี้เพื่อให้บังเกิดซึ่งความสงบรำงับความดับเย็นสนิทและความรู้ครบถ้วนตามที่องค์พระสุคตได้ประกาศ ให้ทวียิ่งขึ้นไปตามลำดับตามเหตุปัจจัยแห่งการปฏิบัติของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามนะคะเพื่อความอบอุ่นของพวกเราที่อยู่ที่นี่ ก็ขออนุญาตนำถ้อยคำของเจ้าประคุณท่านอาจารย์ที่ท่านได้กล่าวเอาไว้ใน ทางฟ้าสางความลับสุดยอดในมรดกในหนังสือ อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ นะคะบางข้อ ท่านบอกว่า แม้เราจะมองเห็นว่าโลกปัจจุบันของเรามีความเลวร้าย มดเท็จ หลอกลวง บาป เหลือกำลังที่เราคนเดียวจะแก้ไขได้แล้ว เราก็ยังไม่วางมือแต่จะชักชวนให้ร่วมมือกันหาธรรมะที่สามารถแก้ไขได้ ให้ยิ่งไปกว่าที่แล้วมา นี่เป็นฟ้าสางความลับสุดยอด สุดยอดข้อ211 ทีนี้มรดกข้อที่41ที่ท่านฝากไว้ ถ้าคนทั้งโลกเขาไม่เห็นด้วยในการทำโลกให้มีธรรมะ เพราะเห็นว่าเหลือวิสัยก็ตามใจเขา เราคนเดียวก็อาจจะทำตนเองให้ดับทุกข์ได้ด้วยธรรมะอย่างถึงที่สุด ดังนั้นอย่าได้ท้อใจเลยในการที่คนทั้งหลายเขาไม่สนใจในเรื่องของธรรมะ หรือไม่สนใจใยดีกับธรรมะ มรดกข้อที่40 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่จะอ่าน ขอให้เรามีความมุ่งหมายเป็นพิเศษกันไว้สักข้อหนึ่ง ว่าไม่เร็วก็ช้าจะมีโลกสักยุคหนึ่งอันเป็นโลกสมบูรณ์ด้วยธรรมะ โดยที่ทุกคนทำหน้าที่ของตนของตน โดยมีสติสัมปชัญญะรู้สึกอยู่ในใจว่า หน้าที่อันถูกต้องนั้นแหละคือธรรมะ ที่จะช่วยให้คนเราอยู่เหนือปัญหาทั้งปวงได้ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่มีได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จงให้ปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลง เพื่อความเป็นอย่างนี้แก่โลกเถิด
เพราะฉะนั้น ดิฉันก็ขออนุญาตเชิญชวนเพื่อนผู้สนใจในธรรมะทั้งหลายทุกท่าน ให้ช่วยกันอธิษฐานจิตร่วมกันว่า ขอให้ปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลงจงบังเกิดมีแก่โลกที่สมบูรณ์ด้วยธรรมะ โดยเราทั้งหลาย จะเริ่มต้นปฏิรูปตนเองในเรื่องการศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อให้มีความสมบูรณ์ของธรรมะ เกิดขึ้นในตนแต่บัดนี้