แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวขวัญกันมากปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของข้าราชการ ว่าผู้บังคับบัญชาพิจารณาไม่เป็นธรรมบ้าง เรื่องนี้เราจะไปฟังปัญหาและคำตอบจากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน กันนะครับ ท่านอาจารย์ครับวันนี้เป็นปัญหาชุดของการทำงานนะครับ ซึ่งท่านที่ทำงานก็มักจะประสบปัญหาเหล่านี้เช่นว่าที่มีผู้ถามมา ในกรณีที่ทำงานเต็มความสามารถอย่างดีเยี่ยม (ผู้ร่วมงานทุกคนเป็นผู้บอก) จนเคยได้รับการพิจารณาเป็นข้าราชการดีเด่นของสถานที่ทำงาน และในปีนั้นการพิจารณาสองขั้นก็เสนอชื่อไปแล้ว แต่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นคนอื่นจากเจ้านายระดับสูงกว่า ถามว่าลักษณะเช่นนี้จะอธิบายด้วยกฎแห่งกรรมได้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ยังกฎอิทัปปัจจยตาอยู่นั่นเอง ก็เพราะว่าในที่ทำงานนั้น ผู้ที่ร่วมงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระดับผู้เหนือกว่านี่ ยังคงดำเนินงานอย่างปราศจากธรรมะ เพราะฉะนั้นถึงไม่ได้ถือผลของการกระทำเป็นสิ่งสำคัญ หรือเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ถ้าตามที่ว่ามานี่นะคะ ตามเหตุปัจจัยก็ควรที่จะได้ ไม่ควรที่จะมีอะไรแทรกแซง แต่ก็อย่างที่บอกแล้วนี่ว่า เรื่องของกฎอิทัปปัจจยตานั้น มันมีตัวเหตุปัจจัยที่อาจจะเข้ามาเป็นตัวแทรก ตัวแปรได้หลายเรื่องหลายอย่างในระหว่างหนทาง นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น
ทีนี้ถ้าจะถามว่าจะแก้ไขอย่างไร การที่จะแก้ไขอย่างไรนั้นนี่ ถ้าจะแก้อย่างถึงที่สุดก็คือว่า การศึกษาที่จะต้องมีธรรมะเป็นรากฐาน แล้วคนที่ไปเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาจะได้ใช้ธรรมะในการปกครองลูกน้อง ไม่ใช้อคติ ไม่ใช้ความชอบส่วนตัว แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เจ้านายคนนี้ก็คงต้องเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน เพราะสิ่งใดที่ฉันพูด ฉันทำไป สิ่งนี้ต้องถูกต้อง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จะแก้ไขอย่างไร สำหรับส่วนตัวผู้ที่ถามนี่นะคะ ก็คือว่าถ้าเราแน่ใจในการกระทำของเรา ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นถูกต้องจนกระทั่งลูกน้องก็ชมเชย แล้วยังได้รับรางวัลดีเด่น สิ่งเหล่านี้มันมีค่าเสียยิ่งกว่าการกระทำที่ปราศจากธรรมะของเจ้านายคนนั้นอีก แล้วถ้าใครเขารู้เรื่อง ได้ยินเรื่องอันนี้ ผู้ที่ควรจะได้รับการติฉินนินทาหรือว่าดูถูกเหยียดหยาม ไม่ใช่เรา เรามีแต่จะได้รับความเห็นใจใช่ไหมคะ แล้วก็จะได้รับการยกย่องว่า..นี่เขาเป็นคนมีขันติ เขาเป็นคนมีธรรมะ ถ้ามิฉะนั้นแล้วเขาจะอยู่กับเจ้านายอย่างนี้ไม่ได้หรอก นี่เป็นเกียรติของชีวิตนะ ในการที่เราเป็นคนที่มีธรรมะอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ : ฟังๆ ดูคำอธิบายคล้ายๆ กับให้เราปลงเสียเถอะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไม่ใช่ปลงเสียเถอะ
ผู้ดำเนินรายการ : กับเหตุปัจจัยที่มันเกิดขึ้น ถ้ามันมีตัวแปรเข้ามาอย่างที่ว่านี่
อุบาสิกา คุณรัญจวน : คำว่าปลงของจเลิศหมายความว่าไง
ผู้ดำเนินรายการ : คือยอมรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วไง
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะว่าเราก็ไม่สามารถไปแก้ไข
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วหมดกำลังใจไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ตรงนี้ที่หลายคนเกิด เป็นเหตุให้หมดกำลังใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าคำว่าปลงของจเลิศ แล้วก็หมดกำลังใจ นี่ไม่ใช่ธรรมะ นี่ไม่ใช่เป็นการปลงแบบธรรมะ ถ้าจะปลงแบบธรรมมะล่ะก็ หมายความว่า เราปลงเพราะเราเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง อ้อ..นี่แหละ แสดงถึงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่เมื่อยังไม่ได้รับการฝึกฝนขัดเกลา จะเต็มไปด้วยตามสัญชาตญาณของกิเลส คือจะทำอะไร ทำตามสัญชาตญาณของกิเลสที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลาฝึกปรือ นี่ถ้าหากว่าเราปลงอย่างธรรมะ อ้อ..มันเป็นเช่นนั้นเอง นึกถึงกฎไตรลักษณ์เห็นไหม มันเปลี่ยนแปลงได้ นี่มันไม่น่าจะเปลี่ยนเลย อนิจจัง ภายใต้กฎอนิจจัง เพราะฉะนั้นเราจะทำนายว่า ต้องอย่างนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ในทุกเรื่องเลย แล้วก็เราก็เห็นทุกครั้ง แล้วก็เห็นความเป็นอนัตตา ที่สองขั้นนี่ควรจะต้องเป็นของเราแน่ๆ ใช่ไหม ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามหลัก แต่นี่ก็คือตามกฎอิทัปปัจจยตา
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเราเข้าไปถามเจ้านายว่าทำไมเราไม่ได้ จะควรไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่าเรามีศิลปะในการถาม และเราก็แน่ใจ เราก็แน่ใจว่าการถามนั้นนี่เป็นสิ่งที่เหมาะแก่กาลเทศะ ในจังหวะนั้น เราต้องดูด้วย ดูสัปปุริสธรรมด้วย แล้วก็ถ้าหากว่าเราคิดว่าเรามีเหตุผลที่จะชี้แจง อย่างชนิดที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องยอมจำนนมากกว่า เราก็น่าจะทดลอง แต่ก็ต้องรักษาความสุภาพ แล้วก็รักษาความเหมาะเจาะของถ้อยคำ กาลเทศะเอาไว้
ผู้ดำเนินรายการ : ส่วนใหญ่ทำไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปถามเขา เพราะว่าจะต้องเป็นปัญหาเกิดขึ้นเปล่าๆ ทีนี้เมื่อหันมาพูดถึงคำว่า ปลง เราจะปลงอย่างธรรมะก็ได้ โดยเรามองเห็นอย่างนั้นนะ มองเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อตราบใดที่กิเลสยังควบคุมใจมนุษย์ จะต้องมีเหตุอย่างนี้เกิดขึ้นเสมอ ในวงสังคมหรือวงการทำงานทุกหนทุกแห่ง ทีนี้ถ้าเราอยากจะอยู่เย็นเป็นสุขในที่ทำงาน แล้วก็พร้อมๆ กับอยู่อย่างชนิดมีค่า เป็นคนมีค่าของความเป็นมนุษย์ เราก็คงทำหน้าที่ของเราให้ดีต่อไป เหมือนดั่งที่เราได้ทำมาแล้ว และนี่แหละเป็นรางวัลอันสูงสุดเสียยิ่งกว่าห้าขั้นอีกด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเราทำไป แล้ววันหนึ่งผู้บังคับบัญชาอย่างนี้ ถ้าไม่หนาจนเกินไป จะรู้สึกขึ้นมาได้เองว่า โอ..เรานี่มันไม่ควรเลยที่จะทำอย่างนั้น แล้วก็จะเกิดความละอาย อย่างนี้ถ้าเราสามารถทำได้อย่างถูกต้องเช่นนี้ คุณค่ามันยาว ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นมันยาว มันไม่มาขาดในระยะสั้น นี่คือเป็นการปลงอย่างธรรมะ ไม่ใช่ปลงด้วยกิเลส
ผู้ดำเนินรายการ : ขอบคุณมากครับ ท่านผู้ชมครับ ถ้าหากว่าเราอยากอยู่อย่างเป็นสุขในที่ทำงานนะครับ เราก็คงที่จะต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดต่อไปนะครับ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ตาม ขอให้เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดต่อไปดีกว่า แต่สำหรับท่านซึ่งอาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ทำดีแล้วไม่ได้ดี ไม่รู้จะทำไปทำไม มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต่างๆ ในผลงานที่ท่านทำไปนั้น อย่างนี้ผมว่าคงต้องให้ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน ช่วยหาคำปลอบใจให้กับท่านที่รู้สึกผิดหวังอยู่นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เท่าที่รำพันมานี่นะ ใครเป็นผู้แพ้ ใครเป็นผู้ชนะ
ผู้ดำเนินรายการ : เรา..ผู้ถาม แพ้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็นั่นนะสิ ถ้าเราเกิดมา เราอยากจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ
ผู้ดำเนินรายการ : เราอยากชนะ แต่เราแพ้ ทำอะไรก็ไม่ได้ครับ เขาใหญ่กว่า
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เปล่า นี่เข้าใจความหมายของคำว่าแพ้และชนะยังไม่ถูก นั่นแพ้ตามภาษาคน ตามภาษาคน ภาษาทางโลกก็คือว่า ถ้าไม่ได้อะไรอย่างใจคือผู้แพ้ แต่อันที่จริงดูไปให้ลึกๆ แล้วนี่ เราได้หรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : เราได้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เราได้
ผู้ดำเนินรายการ : เพราะถ้าทำความดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ เราไม่ได้ขาดทุนเลย เรากลับได้รับความยกย่อง ได้รับความเห็นใจจากเพื่อนฝูง เราได้ เราอาจจะได้มิตรสหายขึ้นมาอีกเยอะแยะเลย ทำไมไม่นึกถึงสิ่งที่เราได้ นี่บางคนคือคนส่วนมากก็ได้ มักจะไปนึกถึงสิ่งที่ตัวเสีย แล้วพอเสียไปสักหน่อยละ แหม..คิดว่าสูญเสียมาก ทั้งๆ ที่การเสียอันนั้นนี่ ไม่ได้ทำให้เราลดอะไรไปเลย เรายังคงได้อยู่ น่าจะคิดมองในแง่นี้มากกว่า แล้วการที่เราจะไปหมดกำลังใจจนไม่อยากทำอะไร ตอนนี้ใครล่ะเสีย
ผู้ดำเนินรายการ : เรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เราอีกนั่นแหละ เห็นไหมทั้งขึ้นทั้งล่องเลย เห็นไหมคะ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้เราเสียอย่างนั้น เพราะถ้าเสียนี่ก็ คนที่เขาไม่ให้เรานี่เขาพูดได้เลยใช่ไหมคะ เห็นไหมล่ะมันอย่างนี้เราถึงให้ไม่ได้ ก็กลายเป็นจริงอย่างเขาไปเสียอีก
ผู้ดำเนินรายการ : โดนกระหน่ำซ้ำเลยนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ควร ควรจะต้องรักษากำลังใจ ถ้าอยู่บนหลักของความถูกต้องตลอดไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้ววันหนึ่งเราจะเห็นผลของกฎอิทัปปัจจยตา ที่ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เคยมีอคติ เรียกว่าแฟร์ (fair) นะ กฎอิทัปปัจจยตานี่แฟร์ (fair) ต่อทุกคน ตลอดไป
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วทำไมหลายคนยังถึงอยากได้สองขั้นกันนักกันหนา บางคนบอกว่าเลิกเสียไม่ได้หรอครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่จริงน่าจะเลิก น่าจะเลิก เพราะว่าถ้าหากว่าการปฏิบัติวิธีการให้สองขั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการให้แก่การกระทำที่เป็นพิเศษ หรือการกระทำที่เกิดประโยชน์ที่สุดและก็ดีที่สุด แต่เป็นการให้อย่างชนิดหมุนเวียนกันไป เพื่อรักษาหน้า รักษาน้ำใจ โดยเฉพาะก็คือรักษาเก้าอี้หัวหน้านั่นนะ เพราะว่าถ้าได้เวียนกันไป เขาจะได้ไม่เกลียดเรา ถ้าเราไม่ให้ แต่คนที่ทำงานดีและคนที่ทำงานไม่ดีขี้เกียจไม่เคยได้ ก็จะมาเกลียดชังเรา นี่เห็นไหมอัตตา ความเห็นแก่ตัวของคนที่เป็นหัวหน้า เอาตัวรอดไว้ก่อน ให้เก้าอี้ฉันมั่นคงก่อน นี่เห็นไหม ธรรมะไม่หนี ไม่หนีเรื่องของธรรมะ นี่เป็นเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นจึงได้กระทำอย่างนั้น ฉะนั้นอันนี้เราจึงไม่ควรที่จะไปยอมแพ้ และก็ไม่ควรที่จะเอาให้มีการให้สองขั้น ด้วยเหตุผลอย่างนั้น .
แต่ถ้าให้สองขั้นเหมือนอย่างในสมัยก่อน หรือไม่ต้องสมัยก่อนหรอก ตามจรรยาบรรณที่ยังคงมีปรากฏอยู่ ขอให้ถือจรรยาบรรณเป็นหลักเกณฑ์ ถือจรรยาบรรณเป็นมาตรฐาน แล้วเสร็จแล้วก็ดำเนินการตามนั้น การให้สองขั้นยังมีความหมาย แล้วก็ยังมีค่า และใครได้รับก็รู้สึกว่าเรานี่มีคุณค่าในตัวเอง ไม่ใช่ว่าถึงคราวถึงตา เหมือนกับจิ้ม จิ้มสลากอะไรไป เผอิญจิ้มถูก คราวนี้ก็เลยเป็นของเรา ไม่เห็นมีค่ามีราคา เพราะฉะนั้นการที่หน่วยงานใดก็ตาม นำการให้สองขั้นมาดำเนินด้วยวิธีนี้ ก็หมายความว่าหน่วยงานนั้นนะ โดยเฉพาะหัวหน้างานของหน่วยนั้น กำลังลดมาตรฐาน แล้วก็ลดคุณภาพของการทำงานของหน่วยงานของตัวเอง นั่นก็คือลดประสิทธิภาพในการทำงานของคน ทำลายศักยภาพของคนในที่ทำงานของตัวเองด้วย แล้วในที่สุดก็คือทำลายเก้าอี้ของตัวเอง
ผู้ดำเนินรายการ : ทำไมจึงไปบอกว่า เจ้านายเห็นแก่ตัวได้ไง ในเมื่อก็สมมุติว่าลูกน้องคนนี้โปรดปราน รับใช้อยู่ใกล้ชิด นี่ก็ต้องให้คนนี้จะไปให้คนอื่นได้ยังไงนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ้าว..ก็นี่ไงเห็นแก่ตัวไง เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแต่ไม่ได้เห็นแก่การกระทำว่าถูกต้องหรือไม่ คือเห็นแก่ตัวตนที่มองเห็นนี่ อ้อ..คนนี้เอาอกเอาใจรับใช้ ทั้งๆ ที่ไอ้การรับใช้คนนี้นี่ รับใช้เฉพาะเจ้านายคนนี้คนเดียว แต่กับคนอื่นนี่ รีดนาทาเน้น เอาเปรียบเบียดเบียนสารพัด แล้วก็ให้ ก็นี่ก็เห็นแก่ตัวใช่ไหมคะ แสดงถึงความเห็นแก่ตัวของทั้งลูกน้องคนนั้น แล้วก็ทั้งเจ้านายคนนั้นด้วย ซึ่งไม่ควรให้มีในวงการการงานทั้งเอกชนและทั้งทางราชการ แล้วชาติประเทศจะเจริญขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ขอบพระคุณมากครับ ท่านผู้ชมครับ ปัญหาเรื่องของความเห็นแก่ตัวไม่ว่าเกิดขึ้นกับสังคมใดก็ตามนะครับ สังคมนั้นย่อมยุ่งเหยิงตลอดเวลา อย่างที่ท่านพุทธทาส ท่านได้พยายามสอนให้พวกเรา ลด ละ ความเห็นแก่ตัวมาโดยตลอดนั่นเองนะครับ แล้วก็ถ้าหากว่าพวกเรา ลด ละ ความเห็นแก่ตัวได้ เชื่อว่าสังคมนี้ประเทศชาติของเราคงจะมีความสุขมากกว่านี้แน่นอนทีเดียว อย่างไรก็ตามนะครับ ปัญหาของการทำงานยังคงมีต่อไป มีผู้เขียนมาถามว่า ถ้าหากว่าเขาต้องอยู่ร่วมทำงานกับคนที่เห็นแก่ตัวนะครับ ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง รับนั้นชอบนะครับ แต่ผิดไม่รับ แล้วจะมีวิธีอะไรไหมที่จะอยู่ร่วมทำงานกับคนเหล่านี้ได้อย่างมีความสุข มีหลักธรรมะข้อใดที่จะช่วยได้บ้าง คงต้องขอให้ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน ได้ตอบเรากันต่อไปนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อันดับแรกก็นึกถึงกฎอิทัปปัจจยตา เหตุปัจจัยของเขา เหตุปัจจัยของเรา ทีนี้เหตุปัจจัยของเขานี่ เมื่อเราแก้เขาไม่ได้ เราก็อย่าเกี่ยวข้องดีกว่า เราทำเหตุปัจจัยของเรานี่แหละ ให้ถูกต้องให้ดีอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันถ้าหากว่าได้แนะนำ ได้พูด ได้ตักเตือนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น เขาก็ยังไม่พยายามที่จะเปลี่ยนใจของเขา ที่ให้เห็นแก่ผู้อื่นบ้าง ไม่ใช่เห็นแต่แก่กับตัวฝ่ายเดียว อย่างนี้ถ้ามีหนทางที่จะแยกกันได้ ก็น่าจะแยก
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ หมายถึงว่าแยกที่ทำงานกับเขาอย่างนั้นหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ คือหมายความว่าแยกการร่วมงานกับคนในลักษณะนั้น ถ้าสามารถจะแยกได้ แต่ว่าในขณะที่คิดจะแยกนี่ เมื่อยังแยกไม่ได้ก็ต้องรักษาใจเอาไว้ อย่าให้ใจนี้ขัดเคือง หงุดหงิด โกรธ
ผู้ดำเนินรายการ : เอาหลักธรรมข้อไหนมาจับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จาคะ จาคะความโกรธ จาคะความโลภ จาคะความหลง
ผู้ดำเนินรายการ : โอโห..นี่ยากเลย ยากครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : จาคะไป เพื่อให้ใจเราสบาย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ทำของเราอย่างเต็มที่เต็มฝีมือ ความสามารถไม่ลดหย่อน แล้วเราก็จะเอาความชุ่มชื่นใจ จากที่เราทำหน้าที่เต็มที่ของเรานี่แหละ มาเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงใจ แล้วก็เชื่อว่าอาจจะมีคนที่มีเรียกว่าพอมีน้ำใจ พอมีความคิดนะคะ คงจะมารู้จักเห็นใจบ้าง มาร่วมมือด้วยบ้าง ถ้ายังไม่มีก็นี่แหละ แสดงให้เห็นถึงแล้วว่า ที่ใดที่ขาดการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ที่นั้นไม่มีธรรมะ คือที่ใดที่ทำหน้าที่อย่างเห็นแก่ตัว ที่นั้นไม่มีธรรมะ ก็คือคนนั้นนั่นแหละเป็นคนไม่มีธรรมะ แล้วถ้ามีคนอย่างนี้มากๆ ที่นั้นก็ไม่มีธรรมะ ก็กลายเป็นที่ของปัญหา หมักดองของปัญหา แล้วก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้างานแหละที่จะต้องคิดแก้ไข ถ้าหัวหน้างานปล่อยเฉยเมย แล้วก็เรียกว่าแล้วแต่ รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ถ้าหัวหน้างานขืนถืออย่างนั้น หัวหน้างานเองก็อยู่ไม่ได้นาน เพราะงานก็ต้องล้มเหลวไปเรื่อยๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้นคนที่เห็นแก่ตัวหรือเห็นว่า เวลานี้ไม่เป็นไรฉันยังอยู่ได้ ฉันยังไปได้ ระมัดระวังให้ดี อย่าลืมกฎอิทัปปัจจยตานี้ ไม่เคยลืมใคร ไม่เคยลืมใครทั้งดีและทั้งไม่ดี
ผู้ดำเนินรายการ : แต่ถ้าในกรณีที่เรียกว่าโตๆ กันแล้วนี่นะครับ ไหนจะต้องสั่งให้สั่งให้สอนอะไรกันมากมาย ก็รู้ว่าหน้าที่ต้องทำอะไรก็ทำตามหน้าที่ไป
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ทั้งโตๆ แล้วนี่ยังไม่รู้จักธรรม จะว่าไง
ผู้ดำเนินรายการ : ต้องเป็นภาระเจ้านาย หัวหน้าต้องลงมาเล่นด้วยหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อ้อ..แน่นอน เพราะการที่เขาแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างานนี่ ก็เพื่อทำหน้าที่ดูแลปกครอง ด้วยการแนะนำ อบรม ตักเตือน แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกน้อง เพื่อที่จะให้งานในสถานที่นั้นดำเนินไปด้วยอย่างมีประสิทธิภาพ นี่เป็นหน้าที่ของหัวหน้างาน เพราะหัวหน้างานมีทั้งศักดิ์ มีทั้งศรี มีทั้งตำแหน่งเงินเดือนมากกว่าเขาใช่ไหม ถ้าหากว่าเขาไม่มอบหน้าที่สำคัญอย่างนี้ให้ เขาจะมาให้อะไรต่ออะไรมากกว่าคนอื่นได้อย่างไร แล้วเมื่อเรากล้าหาญมารับหน้าที่ตำแหน่งหัวหน้างาน ก็ต้องทำงานให้มันสมศักดิ์ศรี คือทำให้มันทั่วถึง ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเอาแต่ตัวของตัวคนเดียว อย่างนั้นมันก็อาจจะดีอย่างหนึ่ง แต่ว่ามันเสียแก่ส่วนรวม
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ แล้วถ้าหัวหน้าไปฟาดฟันลูกน้อง แล้วลูกน้องไม่เชื่อฟังอะไรต่างๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เปล่า..ที่พูดนี่ ไม่ได้หมายความว่าให้หัวหน้าไปบู๊ฟาดฟันกับลูกน้อง มันไม่ใช่วิธีอย่างนั้น หัวหน้าจะต้องมี พรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร ๔ ในการทำงาน เพราะฉะนั้นต้องมีศิลปะ เหมือนอย่างถ้าเห็นลูกน้องทำผิดนี่ จะเรียกมาดุ ดุได้ แต่รักษาใจข้างในเอาไว้ให้มั่นคง
ผู้ดำเนินรายการ : ดุด้วยความเมตตา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ ดุด้วยความเมตตา คือถ้าคำพูดอาจจะใช้คำพูดที่รุนแรง เพื่อที่จะให้ได้สำนึก แต่ทว่าในใจเราไม่ได้พยาบาท ไม่ได้พยาบาท ไม่ได้โกรธแค้น ยังพร้อมที่จะให้โอกาส ให้โอกาสที่จะแก้ตัว ที่จะทำอะไรให้ถูกต้องใหม่อีก เพราะฉะนั้นอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นหัวหน้าที่มีคุณธรรม แล้วหัวหน้าจำเป็นที่จะต้องดูแลให้ทั่วถึง นี่เป็นหน้าที่
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ขอบพระคุณมากครับ ท่านผู้ชมครับ ถ้าหากว่าในที่ทำงานนั้นเราได้หัวหน้าที่มีพรหมวิหาร ๔ มีความเมตตากรุณา ผมเชื่อว่าในที่ทำงานนั้นคงมีความสุขแน่นอนทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามนะครับ เราเจอปัญหาของผู้ที่เขียนถามเรามาฉบับหนึ่งบอกว่า เขารู้สึกอึดอัดใจเหลือเกิน อึดอัดใจกับคนที่เป็นหัวหน้าของเขา บอกว่าในการทำงานนั้นย่อมมีการถกเถียงกันเพื่อหาทาง หาวิธีการที่จะแก้ปัญหา โดยมีการหาเหตุผลที่ดีที่สุดเพื่อจะแก้ไขปัญหาต่างๆ เขาพบว่าหัวหน้าของเขาเป็นคนที่ไม่ฟังความเห็นของลูกน้องเลย ชอบเผด็จการ เอาความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ทำให้ลูกน้องอึดอัดใจมาก แล้วก็ไม่อยากทำงานด้วยเลย คงต้องขอให้ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน ได้แก้ไขปัญหานี้ให้อีกครั้งหนึ่งนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ทำไมไม่รู้จักสไตรค์ (strike)
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ยุหรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ยุ อย่างนี้ลูกน้องควรจะประท้วง แต่ไม่ใช่ประท้วงอย่างชนิดที่ว่าจะคิดกำจัดเจ้านายนะ ไม่อย่างนั้นนะ ลูกน้องควรจะมีความสามัคคีกัน แล้วก็ลองมานั่งปรึกษากันเฉพาะลูกน้องสิ ว่าถ้าทุกคนรู้สึกว่าสถานการณ์อย่างนี้มันไม่ค่อยจะโสภาในการที่จะทำงาน ไม่ทำให้มีความสุขในการที่จะทำงาน ลูกน้องก็น่าจะช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้หัวหน้างานของเรานี่ได้มีความเข้าใจในวิธีของการทำงานที่ถูกต้อง เพราะคนที่เป็นหัวหน้านี่ ก็น่าจะฉลาดแหละ น่าจะมีสติปัญญามากกว่าลูกน้อง แต่ก็ไม่แน่ใช่ไหมคะ บางครั้งหัวหน้างานก็พลัดผลูนะ โดนอะไรก็มานั่งอยู่ตรงนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่ว่าลูกน้องควรจะมีธรรมะ คือปรึกษาหารือกันอย่างมีธรรมะ ว่าเราก็สงสารหัวหน้า เราก็เห็นใจหัวหน้าเหลือเกินที่ต้องมานั่งตรงเก้าอี้ตรงนี้ ต้องมาทำหน้าที่นี้ เขาคงไม่สนุกนักหรอก แต่ว่าทีนี้เราจะช่วยอย่างไรถึงจะให้หัวหน้านี่ได้เข้าใจว่า ถ้าหากเราจะปรับปรุงงานของเราให้ดีขึ้นนี่ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว ที่เขาพูดกันมาเป็นคำพังเพยยังใช้ได้ แล้วก็การประชุมแบบประชาธิปไตยที่พูดกันถึงว่า เวลานี้เราก็ปกครองประชาธิปไตย แล้วแค่ทำงานที่แคบๆ นี่ทำไมถึงมีประชาธิปไตยไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราช่วยกันคิดแล้วเราก็ร่วมใจกันที่จะเชิญหัวหน้ามานั่ง แล้วเราก็เล็คเชอร์ (lecture) หรือมิฉะนั้นก็เล่าให้หัวหน้าฟังถึงความในใจของลูกน้อง ลองจัดงานขึ้นมาสักวันหนึ่ง จะเป็นปาร์ตี้ (party) ใหญ่ว่า วันนี้เป็นวันแถลงความในใจ แล้วก็เชิญหัวหน้ามาเป็นประธาน แล้วเสร็จแล้วเราก็แถลงความในใจตามแต่ใครอยากจะแถลง แล้วก็ให้โอกาสหัวหน้าแถลงด้วย บางทีอาจจะเป็นวิธีการที่จะทำความเข้าใจกันอย่างชนิดที่เรียกว่าตรงไปตรงมา แล้วก็อย่างธรรมะ แล้วหัวหน้าก็จะเห็นว่าที่ลูกน้องเขาเชิญเรามา แล้วก็มาพูดอย่างนี้เขาไม่ได้ตั้งใจหวังร้ายเลย เขาไม่ได้หวังว่าจะกำจัด ว่าจะขอเขี่ยหัวหน้าออกไป เขาก็ยังอยากให้เป็นหัวหน้าอยู่ แต่ทว่าทำอย่างไรเราถึงจะร่วมงานกันด้วยดี ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะถ้าเอาหลายๆ เหตุผลมาพิจารณากัน งานน่าจะย่อมจะเดินได้ดีกว่าที่จะออกคำสั่งว่า ต้องอย่างนี้ตลอดเวลา เพราะมันทำลายน้ำใจกันด้วย นอกจากว่าความเห็นนั้นบางทีอาจจะคับแคบ
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่พังลงไปหมดหรือครับ คือเชิญเจ้านายมาพูดนี่ บรรดาลูกน้องนี่ก็เหมือนกับหนูจะเอากระดิ่งไปผูกคอแมว ไม่มีใครกล้าครับอาจารย์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เปล่า ก็ไม่ใช่หนูตัวเดียว ถ้าสมมุติว่าแมวมันมานี่นะ สมมุติว่าหนูเข้ามารุมซัก ๒๐ ตัวนะ แมวจะตะครุบไหวหรือ อย่างน้อยก็อาจจะตะครุบได้ แล้วตัวอื่นก็รีบช่วยกันสิ แย่งเพื่อนออกมาจากปากแมวเสีย ก็ทำไมไม่คิดมีความสามัคคีกันเหมือนกับนกกระจาบ ที่ถูกตาข่ายของนายพราน พอช่วยกัน เอ้า..บินนะ พอบินพร้อมกันเท่านั้นนะ ก็สามารถจะยกขึ้นได้ ก็นี่เพราะอะไรถึงทำไม่ได้ ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวใช่เปล่า นี่เห็นไหม ก็ลูกน้องนั่นแหละเอาตัวรอด ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว อา..ฉันก็ยังพออยู่ได้หยุดไว้ก่อนเถอะน่า อย่าเพิ่งหาเรื่องเลย ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวเอาตัวรอด เพราะฉะนั้นเมื่ออยากจะเอาตัวรอดเห็นแก่ตัว ก็อย่ามาร้องทุกข์สิ
ผู้ดำเนินรายการ : เอ..ไม่ได้เรียกเห็นแก่ตัวครับ เพิ่งนึกขึ้นได้ครับ เรียกว่าคนไทยชอบออมชอมครับ ประนีประนอมอะไรอย่างนี้นะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าประนีประนอมก็ไม่ต้องบ่น ต้องสบายใจที่เราประนีประนอมได้ แต่เมื่อยังมาบ่นมาร้องทุกข์นี่มันประนีประนอมแต่ปาก แต่ใจไม่ได้ประนีประนอม เพราะฉะนั้นไม่ควรจะหลอกตัวเอง รู้ไหมความทุกข์อันหนึ่งของคนนี่ชอบหลอกตัวเอง แล้วก็เมื่อใดที่หลอกตัวเองอยู่อย่างนี้นะ เมื่อนั้นจะไม่มีวันได้พบความจริง
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ เพราะฉะนั้นงานนี้ต้องสไตรค์ (strike) โดยสามัคคีกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ด้วยความสามัคคีกลมเกลียว แล้วก็ด้วยความเมตตากรุณา เห็นใจและเคารพในผู้เป็นนาย โดยไม่ได้หวังที่จะไปทำให้นายต้องเจ็บช้ำน้ำใจ หรือว่ากำจัดนายออกไป เปล่าเลย แต่เพื่อจะพัฒนาการทำงานของเราให้ดีขึ้น และอยู่ร่วมกันด้วยความรักความอบอุ่นมากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ : ครับ ขอบพระคุณมากครับ