แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ: ท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหงจะมาบอกเทคนิควิธีการฝึกสมาธิให้เรากันต่อนะครับว่า ควรจะทำอย่างไร เรื่องหนึ่งคือเรื่องสถานที่ เป็นปัญหากันมากเลยครับว่าจะนั่งสมาธิที่บ้านดี ที่วัดดี กับครูบาอาจารย์คนไหนดี ไปฟังคำตอบจากท่านอาจารย์ คุณรัญจวน อินทรกำแหงกันนะครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เรื่องของปัญหาต้องมีแน่นอนนะคะ ถ้าสมมติว่าในด้านครูบาอาจารย์ก็เป็นที่น่าพอใจ คือท่านสามารถสอนสั่งอบรมได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน แจ่มแจ้ง แล้วสถานที่ก็สงบสงัด ส่งเสริมการปฏิบัติเป็นอย่างดี ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเราเอง ตัวเราเองนี่แหละเป็นปัญหาสำคัญที่สุด เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่าการที่จะมาฝึกอบรมในการที่จะปฏิบัติธรรมนั้น เราจะต้องการความเข้มแข็งของจิตใจเป็นอย่างยิ่งเลย แล้วต้องบอกว่าจิตใจต้องแข็งแกร่ง เพราะอะไร ก็เพราะว่า มันจะต้องมาควบคุม บังคับตัวเอง ควบคุมบังคับตัวเองในสิ่งที่น่ากลัวด้วย คือควบคุมความอยาก ควบคุมความยึด ควบคุมความโลภ ความโกรธ ความหลง ควบคุมความคิดที่มันกระจัดกระจายเวียนวนไปสารพัดทั่วทุกแห่ง ควบคุมอารมณ์ที่ประเดี๋ยวร้อนประเดี๋ยวเย็น ประเดี๋ยวไปโน่นไปนี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยใช่ไหมคะ
เราเคยมี เคยปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เราคุ้นเคยอยู่กับฝ่ายกิเลส พอไปถึงเราจะปฏิบัติธรรม สิ่งนี้ก็มาเป็นปัญหา คือหมายความว่า เป็นอุปสรรคอย่างมากเลยที่เราจะต้องทำอย่างไรถึงจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ นอกจากนี้การที่เราเคยอยู่บ้าน มีพี่มีน้องมีญาติมิตร หรืออยู่ที่ทำงานมีเพื่อนมีฝูง แล้วก็มีงานการทำ เป็นที่สนุกสนาน มีความสำเร็จ มีความสุขในทางโลกๆ มันก็เป็นความอบอุ่นอย่างโลกๆ อย่างหนึ่ง แต่พอเราไปอยู่อย่างนั้นเราต้องไปอยู่คนเดียว แล้วก็โดดเดี่ยว คือชีวิตของการปฏิบัติธรรม แม้ในสถานที่แห่งหนึ่ง คือ ในวัดหนึ่งนี่อาจจะมีคนอยู่กันมากตั้งเป็นห้าเป็นสิบ ยี่สิบอะไรก็ตาม แต่วิธีของการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง แม้จะอยู่กันสักเท่าใดก็เหมือนอยู่คนเดียว ถ้าหากว่าพออยู่กันหลายคนแล้วก็รู้สึกไม่เป็นไร นั่นก็เพื่อน นี่ก็เพื่อน นั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะจะเกิดการคลุกคลี การสนทนา การพูดคุยกันอย่างสนุกสนานแล้วก็ลืมตัว กลายเป็นเหมือนกับว่า ไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง สังคมซึ่งตัวจะมีโอกาสที่สนุกสบาย นั่นไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพียงแต่วางภาระรับผิดชอบทางโลกหรือทางบ้านออกไป แล้วก็เลยไปสนุกสนานเพลิดเพลินอีกอย่างหนี่ง นี่คืออันตราย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความยากลำบากคือ ทำอย่างไรถึงจะข่มขู่บังคับใจ แล้วก็ตัดอนุสัย จำอนุสัยได้ใช่ไหมคะ สิ่งที่เราปฏิบัติมา จะเป็นความเคยชินที่ล้วนแล้วแต่ดึงจิตเราลงนี่ ให้มันหายไปให้ได้ ซึ่งมันไม่หายง่ายๆ หรอก มันยาก มันติดอยู่นาน และอนุสัยนี่เราจะต้องขัดเกลาตั้งแต่อนุสัยอย่างหนา อย่างหยาบ ไปจนกระทั่งให้มันละเอียดเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ ๆ ไป หมดอนุสัยเมื่อไหร่ก็จบการปฏิบัติเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นของยากมากที่จะต้องควบคุมเรื่องของอนุสัย ควบคุมใจให้อยู่
ทีนี้ในตอนแรกๆ ที่ไปปฏิบัตินี่ พอบางทีปฏิบัติแล้วมันไม่ได้อย่างใจ มันควบคุมใจไม่ได้ ก็จะหันไปมองรอบตัวแล้วก็เพ่งโทษเขา เพ่งโทษเพื่อนฝูงนี่ คุยกันพูดกัน แล้วก็ทำเสียงหนวกหู ไม่เห็นมาปฏิบัติเลย มาทำไม คิดอะไร ปรุงแต่งไป ที่จเลิศพูดว่าเลื่อนเปื้อนนั่นแหละ สารพัดไปเลย แล้วก็ลืมไปเลย แล้วก็คิดว่านี่แหละคือการปฏิบัติธรรม แต่ความจริงหาใช่ไม่ นี่คือการเพ่งโทษคนอื่นเขา เหมือนอย่างที่เราอยู่ในโลกนี้เราก็เพ่งโทษว่าคนนั้นว่าคนนี้ นี่อีกอันหนึ่งที่เราลืมตัว เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสติให้มากขึ้น ฝึกสติสมาธิภาวนาให้มากขึ้น จะได้ระลึกรู้ได้ทันว่า ขณะนี้ที่เรากำลังรู้สึก เรานึก เราคิด นี่ไม่ใช่ธรรมะแล้วนะ มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นนะ เราจะได้รู้ทัน พอรู้ทันเราจะได้ดึงจิตที่ออกข้างนอกนี่ให้มันเข้าสู่ข้างใน
ผู้ดำเนินรายการ: เดี๋ยวท่านอาจารย์ครับ ขอขัดตรงนี้นิดนึง มีความรู้สึกพอเราความคิดมันเลื่อนเปื้อนอย่างที่ว่านี่ วิธีการดึงกลับ ท่านอาจารย์ทำอย่างไรครับตอนนั้น เวลาเราไปวัด เรามักจะบอกคนนั้นคนนี้มัวคุยกัน ไม่มาปฏิบัติ เวลาเราจะดึงกลับ ดึงสติตรงนั้น กำหนดรู้ได้อย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: การที่จะกำหนดรู้ได้นี่นะคะด้วยสมาธิภาวนาเท่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกว่า ถ้าความคิดมันล่องลอยวนเวียนออกไปอื่นเพราะใจขณะนั้นเป็นใจที่ไม่มีหลัก เป็นใจที่ล่องลอย มันไม่มีหลัก เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องหาหลักให้แก่ใจ หลักที่จะเกิดขึ้นแก่ใจก็คือ การฝึกสมาธิ เพราะฉะนั้นก็สุดแล้วแต่ว่าผู้ใดฝึกสมาธิด้วยวิธีใด ถ้าสมมติว่า ฝึกสมาธิด้วยวิธีการบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ ก็รีบนึกถึงคำบริกรรมนั้น เอาจิตอยู่กับคำบริกรรมทันที แต่อย่างที่เราเคยปฏิบัติ ถ้าสมมติเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด ดึงจิตให้มาอยู่กับลมหายใจ รีบหายใจยาวแรงลึก เพื่อให้ลมหายใจไล่ความคิดที่ไม่สมประกอบนั่นออกไปเสียก่อนให้จิตมันว่าง แล้วเสร็จแล้วก็จิตก็จะมีความมั่นคงขึ้น มีสติรู้ทันแล้วก็นำเอาเรื่องของปัญญาเข้ามาพิจารณา เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ไข คือ แก้ไขด้วยสมาธิภาวนา
ผู้ดำเนินรายการ: ผมก็กำลังมีปัญหาอยู่ตรงนี้ท่านอาจารย์ครับ พอดึงลมหายใจยาวลึกอย่างที่ว่านี่ สักครู่ก็กลับมาอีก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ทำใหม่อีก
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่สำเร็จครับ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพราะเราอยากเมื่อไหร่จะสำเร็จ ในขณะนั้นมันมีความอยากแทรกเข้ามา โดยเราไม่รู้ตัว แล้วพอเราอยากแทรกเข้ามาเท่านั้น มันกลายเป็นอุปสรรค แล้วใจขณะนั้นร้อนแล้ว อยากนี่ก็เกิดความโลภ กิเลสเข้ามาแทรก ตัณหาเข้ามา แล้วความโลภเข้ามา เสร็จแล้วโทสะก็ตามมา หงุดหงิดกับตัวเอง ทำไมถึงทำไม่ได้ นี่เห็นไหมคะ เพราะเราหวังและเราอยากว่าทำได้ ซึ่งอันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ เป็นความยากลำบากของผู้ปฏิบัติทุกคน พอเริ่มนั่งสมาธิหลับตา เมื่อไหร่สงบๆ นี่แทนที่จะอยู่กับลมหายใจกลับไปพูดกับตัวเองเมื่อไหร่สงบๆ แล้วพอไม่สงบก็โกรธตัวเอง นี่ละค่ะเหมือนกับผงเข้าตาโดยไม่รู้ตัว ท่านจึงบอกว่า พอจะเริ่มปฏิบัติล่ะก็กวาดล้างอะไรๆ ที่จะมาเป็นอุปสรรคเสียให้หมด ทำจิตใจให้มันคลี่คลาย ให้จิตใจมันสว่าง ให้มันว่าง ไม่ให้มีอะไรเข้ามา แล้วเราจะได้อยู่กับการปฏิบัติสมาธิโดยใช้สิ่งที่เราใช้เป็นเครื่องกำหนดเข้ามา
ฉะนั้นจเลิศให้ดูใจของตัวเองจริงๆ เถอะนะคะว่า ในขณะที่เราดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจนี่ แล้วทำไมมันถึงอยู่ไม่ได้นาน ประเดี๋ยวกลับไปอีก ก็เพราะว่าพอเราดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจแล้ว เราก็จดจ่อจิตให้อยู่กับลมหายใจให้ยิ่งขึ้นๆ จนจิตรู้สึกมั่นคง มีน้ำหนัก พอมีน้ำหนักแล้ว เราก็ผ่อนลมหายใจให้เป็นลมหายใจที่สงบ แล้วก็อยู่กับความสงบนั้นต่อไป ไม่ต้องเร่งร้อน แล้วก็ความคิดทั้งหลายก็จะเข้ามามิได้ ซึ่งผู้ปฏิบัติทุกคน ครูก็มีปัญหามาก มีปัญหามากเลยทีเดียว เพราะคนทำงาน คนที่เรียกตัวเองว่า ปัญญาชน มันต้องคิดใช่ไหมคะ มันอดคิดไม่ได้ มันคิดเป็นนิสัยมาไม่รู้กี่สิบปีเท่าชีวิตของเรานี่ แล้วพอเรามาเข้าปฏิบัติธรรม เราจะตัดความเคยชินที่เคยทำอย่างนี้ได้ทันที มันไม่ง่ายอย่างนั้น มันขัดไม่ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นนี่คือความลำบาก แต่ถ้าเรารู้แล้วว่า นี่คือความลำบาก นี่คือปัญหาที่เราต้องประสบ มุ่งมั่นต่อไปโดยใช้สมาธิเป็นเครื่องกำหนดเพื่อที่จะบังคับควบคุมใจให้ได้ แล้วในขณะเดียวกันก็เอาปัญญาเข้ามา คือ นึกถึงไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง มันเกิดดับ ความคิดอันนี้มันก็ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา มันสักแต่ว่าความคิด มันจะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย นี่ถ้าเราดูอย่างนี้ประกอบ มันก็จะค่อยๆ ขัดเกลาปัดกวาดไปได้ทีละน้อยๆ