แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ ดิฉันคิดว่าในตอนนี้ อยากจะขอเชิญชวนท่านผู้ฟังทุกท่าน ลองทำจิตใจให้สงบ ว่างจากภาระทั้งปวงเป็นเวลาสัก 20 นาทีเท่านั้นเองนะคะ ลองให้เวลาแก่จิตของตนเองให้ได้มีโอกาสพักบ้าง ชีวิตของคนเราประกอบด้วยกายและจิต ตามที่เราทราบกันแล้วทุกท่าน แต่ก็ตลอดเวลาอีกเหมือนกัน ที่เราให้โอกาสแก่กายเท่านั้นได้พัก ได้นั่งพัก ได้นอนพัก ได้นอนหลับ แต่ว่าส่วนจิตนี้ ทั้งๆที่เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ของทางกาย เป็นสิ่งที่บ่งการชีวิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา จิตสำคัญต่อกายเพราะอะไร เพราะมันจะบ่งการกายให้กระทำผิดก็ได้ ให้กระทำถูกก็ได้ เราไม่ได้ให้เวลา ไม่ได้ให้โอกาสแก่จิต ในขณะที่กายมีโอกาสพัก จิตไม่มีโอกาสได้พักผ่อนเลย จิตต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ทำงานหนักตลอดเวลาอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจิตนี้ทำงานหนัก ก็เพราะว่า แม้แต่เวลาที่จะนั่งอยู่คนเดียวเฉยๆ จิตนี้ก็ยังไม่สงบนิ่ง มันจะคิดวุ่นวายไปกับสิ่งโน้น วุ่นวายไปกับสิ่งนี้โดยตลอด เรียกว่านั่งอยู่ตรงนี้ แต่จิตนั้นไปเที่ยวรอบโลก และในการไปเที่ยวนั้น เดี๋ยวก็เที่ยวด้วยความร้อน เดี๋ยวก็เที่ยวด้วยความตื่นเต้น ลิงโลด เดี๋ยวก็เที่ยวด้วยความห่อเหี่ยว เศร้าหมอง แห้งแล้ง สารพัดจะเปลี่ยนไป นี่เรียกว่าจิตทำงานตลอดเวลา ไม่ได้พักผ่อน น่าสงสาร น่าสงสารจิตใช่ไหมคะ ทั้งๆที่เราเรียกร้อง เราบ่นหาความสุข อยากจะได้มีความสุขให้เกิดขึ้นข้างใน แต่เมื่อเราไม่ให้โอกาสจิตพัก แล้วจิตจะเกิดพลัง ที่จะนำความสงบ สร้างสรรความสงบให้เกิดขึ้นในจิตได้อย่างไร เพราะฉะนั้น โอกาสที่เราควรจะให้แก่จิต
ก็คือสักวันหนึ่ง คือสักเวลาในวันหนึ่ง จะเป็นเวลา 10 นาที 15 นาที 20 นาที ตามแต่จะสละได้ ลองกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ เริ่มแรก เราอาจจะไม่รู้ว่าเมื่อไรลมหายใจเข้า เมื่อไรลมหายใจออก ก็ไม่เป็นไร หายใจให้ยาวลึก ช้าๆ อย่างนี้นะคะ ลมหายใจเข้า ออก ลึก ช้าๆ ทั้งเข้าและออก เราก็จะต้องรู้สึกเองเมื่อลมหายใจเข้า ทำความรู้สึก กำหนดความรู้สึกลงไปที่ลมหายใจนั้น ตามลมหายใจนั้นตลอดสาย ลมหายใจเมื่อเข้าสู่กายจะไปถึงไหน กำหนดความรู้สึก คือการกำหนดจิตลงไปที่ความรู้สึก ตามลงไป ให้ตลอดสาย พอถึงเวลาจะออก กำหนดจิตให้รู้ว่าลมหายใจจะออก และก็ตามลมหายใจที่ออกนั้นตลอดสาย แล้วก็ต้อนรับลมหายใจที่เข้า แล้วก็ตามไปอีกตลอดสาย เรียกว่าลมหายใจไปไหน ให้จิตไปด้วย ผูกจิตไว้กับลมหายใจ เป็นการผูกที่มีประโยชน์ ทำไมจึงว่าเป็นการผูกที่มีประโยชน์ ก็เพราะเหตุว่า เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจ
จิตก็ไม่สามารถจะฟุ้งซ่านไปที่ไหนได้ มันจะตัดความวิตกกังวล ความยุ่งเยิง ความหนักอกหนักใจ ความยึดมั่นถือมั่น ความเศร้าหมองเสียใจในขณะนั้น จะไม่สามารถเข้ามาในจิตได้ เพราะจิตมันอยู่กับลมหายใจสักแล้ว มันก็ไม่มีโอกาส ไม่มีที่ว่าง สำหรับสิ่งที่จะก่อเกิดปัญหาให้เกิดขึ้นในจิต สอดแทรกเข้ามาได้ เพราะฉะนั้น จงกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจทุกขณะ กำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจทุกขณะ รู้ทุกขณะที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วเราจะรู้สึกว่าจิตนี้มีโอกาสได้พัก จิตนี้มีโอกาสได้พักมากยิ่งขึ้นตามลำดับ แม้ว่าบางท่านอาจจะบอกว่าไม่มีเวลาจริงๆ ทั้งที่บ้าน ทั้งที่ทำงาน ที่จะมานั่งกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ ไม่มีเวลาจริงๆ เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่ามันมีกิจจำเป็นที่ต้องทำอยู่ทุกขณะ ถ้าเช่นนั้น
นะคะ ไม่ว่าจะทำอะไร จะนั่ง เดิน ยืน นอน จะทำกับข้าวอยู่ที่บ้าน จะถูบ้าน จะกวาดบ้าน จะเข้าห้องน้ำ หรือจะรับประทานอาหาร หรือว่าไปที่ทำงาน จะต้องกำลังทำงานอยู่ จะต้องทำงานอยู่กับสิ่งใดก็ตาม แต่เราก็ยังหายใจอยู่ เพราะฉะนั้น ก็จงกำหนดจิตให้รู้ลมหายใจอยู่ทุกขณะ ทุกอิริยาบท ของการเดิน ยืน นั่ง นอน เพราะอิริยาบทของมนุษย์ก็มีอยู่ 4 อย่าง เท่านี้เอง คือยืนบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ฉะนั้นจะอยู่ในอิริยาบทใดไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญก็คือ จงรู้สึกอยู่ในอิริยาบทนั้น กำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นอารมณ์ให้จงได้ ทุกขณะจิต นี่ก็เรียกได้ว่า จิตจะมีสติเกิดขึ้น จะเป็นจิตที่มีความสงบ จะมีความรู้สึกยั้งคิด การทำงานก็จะเป็นการทำงานที่ราบรื่น ด้วยจิตใจที่ผ่องใส ปัญหาที่เคยพลั่งพลูเข้ามา ก็ดูเหมือนจะลดน้อยลง และหน้าตาที่เคยยิ้มไม่ได้ บัดนี้ก็จะยิ้มออก เพราะข้างในมันสบายนะคะ หรือเมื่ออยู่ที่บ้าน จะเคยพบปัญหาจากเด็กๆที่บ้านบ้าง ปัญหาจากลูกหลานบ้าง ปัญหาจากเศรษฐกิจส่วนตัวบ้าง แต่เมื่อจิตกำหนดอยู่กับลมหายใจ มันก็ช่วยผ่อนคลายปัญหานั้น เพราะอะไร ก็ว่าเพราะจิตมันมีโอกาสที่ได้ว่าง ได้อยู่เฉยๆ ได้อยู่นิ่งๆ เมื่อมันมีโอกาสได้ว่าง ได้อยู่เฉยๆ ได้อยู่นิ่งๆ มันก็มีโอกาสที่จะได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น อย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยความรอบครอบและด้วยจิตใจที่เป็นกลาง คือไม่นึกถึงแต่เพียงตัวเอง หรือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ใคร่ครวญด้วยการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่จะมองปัญหานั้นอย่างใจเป็นกลาง พอมองปัญหาอย่างใจเป็นกลาง มันจะช่วยให้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ดูมันไม่ผูกมัด ไม่ผูกมัดจิตใจ ไม่ผูกมัดความรู้สึกของตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของปัญหามากจนเกินไป ก็จะค่อยๆ เห็นหนทางสว่าง ว่าเราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความสามารถ ก็จะนำเข้ามาใช้อย่างเต็มที่นะคะ ถ้าหากว่าผู้ใดสามารถกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจได้ทุกขณะอย่างนี้ ก็บอกได้ว่าเป็นวิธีของการทำจิตภาวนาอยู่ทุกขณะจิต แม้จะเป็นขณะที่เรากำลังลืมตาอยู่ เราก็สามารถทำจิตภาวนาได้ ฉะนั้นถ้าผู้ใดจะบอกว่าไม่มีเวลาจะนั่งสมาธิโดยเฉพาะ ก็ไม่เป็นไร ขอแต่เพียงให้สามารถกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจให้ได้ทุกขณะเถอะนะคะ แล้วเมื่อมีเวลาใดที่พอจะเจียดเวลาได้สัก 5 นาที 10 นาที ก็ปล่อยจิตให้ว่างเต็มที่จากสิ่งที่รบกวน กำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ ให้สงบเงียบ ให้เฉย ให้นิ่ง ให้หยุด แล้วก็ตามลมหายใจทั้งเข้าและออก ทั้งเข้าและออกอยู่ตลอดเวลา กำหนดจิตให้รู้ลมหายใจ ทั้งเข้าและออก ทั้งเข้าและออกอยู่ตลอดเวลา อย่างเดียวเท่านั้นนะคะ ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย แล้วต่อจากนี้ก็จงรู้ว่าเมื่อใดหายใจยาว ก็ให้รู้ว่าหายใจยาว ถ้าเรากำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นอารมณ์ได้อยู่ตลอดเวลา เราจะค่อยๆรู้ลักษณะของลมหายใจละเอียดถี่ถ้วนขึ้น เมื่อใดที่เรารู้จักลักษณะของลมหายใจอย่างถี่ถ้วนขึ้น ว่านี่กำลังหายใจยาวนะ นี่กำลังหายใจสั้นนะ นั้นก็แสดงว่าจิตนั้นเริ่มสงบ จิตนั้นเริ่มมีความว่าง เริ่มมีความเย็น สติเริ่มเกิดขึ้น จิตเริ่มเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะแยกแยะลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออกได้ว่า เมื่อใดเป็นลมหายใจยาว เมื่อใดเป็นลมหายใจสั้น เมื่อหายใจยาว ก็ตามลมหายใจยาวอีก คือกำหนดจิตลงไปที่ลมหายใจยาว แล้วก็ตามลมหายใจยาวนั้นให้ตลอดสาย ตั้งแต่เข้าที่ช่องจมูก
ผ่านช่องอก เข้าสู่ช่องท้อง ผ่านจากช่องท้อง เข้าสู่ช่องอก ผ่านออกช่องจมูก ก็ตามลมหายใจยาวช้าๆ ด้วยความเบิกบาน ผ่องใส ยิ้มแย้ม ให้มีความชื่นบานอยู่กับลมหายใจ ที่กำลังผ่านเข้า ผ่านออกอยู่ตลอดเวลานั้น แล้วก็จะสังเกตได้เองอีกนะคะ ว่าลมหายใจที่ยาวนั้นครั้งแรกอาจจะหยาบ แม้ว่ายาวแต่มันหยาบ มันดัง ลึก แต่พอต่อไป เมื่อจิตนั้นอยู่กับลมหายใจได้มากเข้าๆๆ ลมหายใจที่ยาวนั้นก็จะค่อยๆละเอียด บางเบา แล้วจิตนี้ก็จะมีความเยือกเย็น ผ่องใสมากยิ่งขึ้นตามลำดับ แล้วก็ผู้ปฎิบัติก็จะสังเกตได้อีกว่าในขณะที่หายใจยาวนั้นจิตเป็นอย่างไร โดยสามารถเปรียบเทียบกับลมหายใจสั้นที่มันเปลี่ยนแปลงไป หรือว่าแทรกซ้อนเข้ามาในบางขณะ เมื่อลมหายใจสั้น ผู้ปฎิบัติจะสังเกตได้ว่า เมื่อลมหายใจสั้นนั้น จิตมันไม่เบาสบายเหมือนอย่างเวลาลมหายใจยาว พอหายใจสั้น ถี่ มันชักจะพาให้จิตมีความเหนื่อย มันไม่เยือกเย็น มันไม่ผ่องใสเหมือนเดิม พอเรารู้เช่นนี้ และเราก็รู้ว่า ลมหายใจยาวมีประโยชน์ ทำให้จิตเยือกเย็น ผ่องใส สงบ เราก็จะค่อยๆผ่อนลมหายใจที่สั้นนั้น ให้ยาวออกไปทีละนิดๆๆ อย่างธรรมชาตินะคะ ไม่ต้องพรวดพราด เรากำลังหายใจสั้น ก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ (เสียงสูดลมหายใจ) เฮือก(ลมหายใจ) ออกไปอย่างนี้ นั้นเรียกว่าก็ดีเหมือนกัน ขับไล่มันออกไป แต่ว่าบางทีมันมีอารมณ์ของการที่ไม่พอใจสอดแทรกเข้ามา ก็บังคับออกไปอย่างรุนแรง แต่ถ้าหากว่าเราหายใจรู้อยู่ด้วยสติ พอลมหายใจสั้นเกิดขึ้น ก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจสั้น ทีละนิดนะคะ สมมุติว่าลมหายใจสั้นอยู่แค่นี้ เราก็ผ่อนลมหายใจสั้นให้ยาวออกไปทีละน้อย ยาวออกไปทีละน้อยให้เป็นธรรมชาติ ยาวออกไปทีละน้อยให้เป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องบังคับ แล้วถ้าเราผ่อนออกไปทีละน้อยๆๆอย่างธรรมชาติ จะไม่รู้สึกเหนื่อย แต่จะรู้สึกเบาสบายและก็เยือกเย็น ผ่องใส แล้วจิตนั้นก็จะมีความเป็นปกติมากยิ่งขึ้นๆๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้น แบบฝึกหัดที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้นของการทำจิตภาวนา หรือการทำจิต การพัฒนาจิต เพื่อให้เป็นจิตที่เจริญ ก็คือ ด้วยการเริ่มต้นฝึกจิตนี้ให้มีความสงบ ให้มีความสงบเกิดขึ้นในจิตสักก่อน เพราะถ้าหากว่าจิตขาดความสงบแล้ว มันจะไม่มีแรง ไม่มีแรงที่จะพิจารณา ใคร่ครวญ ดูสิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ สิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติอันเป็นสิ่งที่ควรรรู้ ที่ควรรู้อย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง มันจะไม่สามารถมองทะลุเข้าไปได้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะฝึกจิตภาวนา อย่างที่เรียกว่าการทำวิปัสสนานั้น จะต้องเริ่มต้นทำจิตให้สงบเสียก่อน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่าต้องฝึกสมถะเสียก่อน ทำจิตให้สงบ เยือกเย็น ผ่องใส แล้วเราจึงจะสามารถใช้จิตที่สงบอันเป็นสมาธิ มีความหนักแน่น มั่นคง บริสุทธิ์ สะอาด ว่องไว พร้อมที่จะทำงานการนี้ ปฎิบัติในด้านวิปัสสนา คือใคร่ครวญธรรม ใคร่ครวญธรรมอะไร ก็คือธรรมที่เป็นกฏของธรรมชาติ ธรรมที่เป็นกฏของธรรมชาตินี้ให้มากยิ่งขึ้นตามลำดับ แล้วเราก็จะเห็นลึกขึ้นๆ ลึกขึ้นไปถึงสิ่งที่เป็นความจริงของธรรมชาตินั้น อย่างเช่นเป็นต้นว่า เราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือ เราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการที่จะลองฝึกวิปัสสนา ถ้านึกว่าเรานึกไม่ออกว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือนะคะ ก็ขอแนะนำว่าดูลมหายใจนี่ละคะ ลมหายใจที่เราหายใจเข้าและออกนี่ละ เราสามารถที่จะฝึกเพื่อดูให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ความเป็นจริงของธรรมชาติในข้อนี้ก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่า อนิจจัง คือความเปลี่ยนแปลง ความเกิดดับ เกิด ขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิด ขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ลองดูลมหายใจสิคะ เป็นอย่างไรคะ ลมหายใจของเรา เที่ยงไหม คงที่ไหม ดูเอาเอง มันไม่มีคงที่เลย มันไม่เคยอยู่เฉยเลย มันหายใจเข้าบ้าง ใช่ไหมคะ ลองดู หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวหายใจยาวบ้าง เดี๋ยวหายใจสั้นบ้าง เดี๋ยวลมหายใจหยาบบ้าง เดี๋ยวลมหายใจละเอียดบ้าง เดี๋ยวลมหายใจก็ติดต่อกันอย่างราบรื่น เดี๋ยวลมหายใจก็กระชั้นถี่ ขาดเป็นห้วงๆ ก็มี ใช่ไหมคะ เพียงแต่ลมหายใจนี่สารพัดจะเป็น เพราะฉะนั้น ถ้าบางทีในขณะที่เราเริ่มฝึกปฎิบัติจิตภาวนาใหม่ๆ บางทีมันก็มีอุปสรรคหลายอย่าง เป็นต้นว่า ความง่วงงาว หาวนอนอาจจะเกิดเข้ามาแทรกแซง หรือว่าเป็นอุปสรรคก็ได้ เป็นของธรรมดา เป็นของธรรมดาๆนะคะ จงรู้ เมื่อเราเกิดง่วงงาวหาวนอน ยืดตัวตรง ยืดตัวตรง นั่งให้ตัวตรงขึ้น หายใจให้ลึกยาวนะคะ หายใจให้ลึกยาว ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ หายใจลึก ยาว ไล่ความง่วงงาวหาวนอนนั้นออกไป ยิ้ม บังคับจิตให้ยิ้ม พอใบหน้ายิ้ม กล้ามเนื้อมันจะผ่อนคลาย มันเป็นการบริหารกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่หน้า ที่แก้ม มันจะผ่อนคลายความง่วงจะค่อยๆหายไป ความเบิกบานจะเข้ามาแทนที่ จากนั้นก็หายใจยาว ยาวเข้า ยาวออก ยาวเข้า ยาวออก ตามลมหายใจยาวนั้นให้ได้มากขึ้น ทุกขณะ ทุกขณะที่มันผ่านเข้า ผ่านออก ผ่านเข้า ผ่านออก ตามลมหายใจยาวให้ได้ทุกขณะ ถ้าลมหายใจเกิดเปลี่ยนเป็นสั้น ก็รู้ลมหายใจที่เข้าสั้นทุกขณะ สั้นเข้า สั้นออก โปรดอย่าลืมนะคะ รู้ด้วยความรู้สึก อย่าคิดๆว่าขณะนี้กำลังหายใจเข้า ขณะนี้กำลังหายใจออก ถ้าคิดแล้วจะไม่มีวันเห็น จะไม่มีวันรู้สึกเข้าถึงความสงบของลมหายใจนั้นได้จริงๆ เพราะฉะนั้น จงเอาแต่เพียงว่า ผ่านเข้า ผ่านออกด้วยความรู้สึก ถ้าเราสามารถจะรู้สึกในลมหายใจที่เข้าและออกได้ตลอดเวลา พอจิตสงบ จิตสงบ เรารู้สึกว่าจิตนี้สงบ เป็นสมาธิ มีความเยือกเย็น ผ่องใส ก็ใช้โอกาสนี้ปฎิบัติวิปัสสนา ด้วยการกำหนดจิตดูลงไปให้เห็นอนิจจังของสิ่งที่เกิดขึ้น โดยรู้ที่ลมหายใจนี่ละ ก่อนสิ่งอื่น ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจ ที่มันเปลี่ยน เกิดดับ เข้าออก เกิดดับมาแล้วก็ไป ดูให้อย่างนี้ทุกขณะ พร้อมทั้งกำหนดรู้ที่ลมหายใจ เข้าและออก เข้าและออก ลองฝึกดูด้วยตัวเองนะคะ ถ้าเราฝึกดูวันหนึ่ง 5 นาที แล้วเมื่อรู้สึกว่าทำได้ สบาย ผ่องใส ก็ขยายเวลาให้เป็น 10 นาที ก็ยังทำได้สบาย ผ่องใส ก็ลองขยายเวลา 15 นาที แต่พอ 15 นาที ชักจะรู้สึกไม่ค่อยได้เหมือนเดิม ก็ไม่แปลก เป็นของธรรมดา ทุกอย่างตกอยู่ภายใต้กฎของความเปลี่ยนแปลงคือ กฏของอนิจจัง ก็จงทำเหมือนเพื่อนชาวต่างประเทศเราว่า จงมีความอดทน พากเพียร พยายาม ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ความสำเร็จจะต้องเป็นของเราแน่นอน และความสำเร็จนี้ไม่ใช่อื่น จิตของเราจะได้ทำมีความสงบ สบาย เยือกเย็น ผ่องใส แล้วชีวิตนี้จะเป็นชีวิตที่มีระบบ ระเบียบ แบบแผน มีความกลมกลืน มีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งความสุขสงบที่แท้จริง ธรรมสวัสดีนะคะ