แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ เชื่อว่าคงจะมองเห็นภาพที่อยู่ตรงหน้านี้แล้ว นึกสงสัยไหมคะว่าเป็นภาพเกี่ยวกับอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ยักษ์หรือเปล่าครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยักษ์ค่ะ ภาพนี้ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นธรรมะที่เราเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ปฏิจจ หมายความว่า อาศัยกัน , สมุปบาท : เกิดขึ้นพร้อม อธิบายถึงสิ่งที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ สักอย่างเดียว มันต้องมีเหตุมีปัจจัย และเหตุปัจจัยเหล่านั้นอาศัยกัน และมันก็มีการปรุงแต่งกัน แล้วก็เกิดขึ้น
ทีนี้ในรูปนี้ เป็นรูปที่มีผู้เขียนมาจากของทิเบต แต่ว่าเราจะนำมาดู เพื่อเป็นคล้ายๆ กับว่าเป็นสื่อที่จะช่วยให้สามารถเข้าใจในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาทได้ง่ายขึ้น หรือว่าเร็วขึ้นกว่าที่เราจะพูดกันโดยไม่มีสิ่งใดเป็นองค์ประกอบเลย ก่อนอื่นเมื่อเวลาที่จะอธิบายภาพนี้ มักจะชอบชี้ให้มองดูเจ้ารูปที่มองเห็นนี่ ที่ปากก็กัด มือก็จับ ทั้งเข่าทั้งขาหนีบวงกลมนี้เอาไว้แน่นเชียว ถ้าบอกว่าช่วยให้ชื่อ เจ้าสัตว์ตัวนี้ ควรจะชื่อว่าอะไร ใครจะให้ชื่อมันได้ถูกต้องบ้าง ว่าควรจะชื่อว่าอะไร เจ้าสัตว์ตัวนี้ ลองดูที่หางสิคะ ลองมองดูที่หาง มองดูหางคล้ายอะไร คล้ายเสือ มองดูเล็บ คล้ายอะไร ใครเคยเห็นบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ: เล็บควาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เห็นจะเป็นเพราะไม่เคยเห็นเล็บหมี มันอาจจะเป็นเล็บควาย เล็บวัว เล็บลิง เล็บอะไรก็ได้นะ แต่ว่าอันที่จริงแล้วมันคล้ายกับเล็บหมีมากกว่าอย่างอื่น หรือ ถ้าเราลองมองดูจมูก จมูกมันดูคล้ายอะไร ยังกับเป็นหมูก็ได้ เป็นวัวก็ได้ หรือลองมองดูลูกนัยน์ตามัน เหมือนอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ยักษ์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มองดูนัยน์ตานี่เหมือน ตายักษ์ ก็มองดูมันน่ากลัว มันมีอะไรลุกโชนอยู่ในดวงตานั้น แล้วก็ถ้ามองดูโดยทั่วไป ดูแขนดูขาดูอะไร ลองมองดูขาที่มันซ่อนอยู่ มันเหมือนอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: เสือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เหมือนเสือ หรือ เหมือนสิงห์ เท้าสิงห์ สิงโต สรุปรวมแล้วนี่ ถ้าเราจะเรียกมันว่า เสือ ใช่ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ใช่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: จะเรียกว่า วัว ได้ไหม จะเรียกว่า หมี ได้ไหม จะเรียกว่า ยักษ์ ได้ไหม มันก็ไม่ได้ เพราะมันมีอะไรหลายอย่างรวมกัน แต่ถ้าสรุปแล้วมันเป็นยังไง น่ารักน่าชมไหมคะ ไม่น่ารักน่าชม น่าเกลียดที่สุดเลย ใช่ไหม รูปร่างของเจ้าสัตว์ตัวนี้ แล้วดูอาการที่มันแสดงสิ ปากก็กัดแน่นไม่ยอมปล่อย มือก็จับแน่น ขาก็หนีบเอาไว้ หนีบวงกลม วงกลมนี่อะไร อาจจะเรียกว่าเป็น “วงวัฏฏะ” หรือ วงชีวิต มันกัดมันหนีบไว้แน่น ใครจะเรียกว่าอะไรก็ตามที แต่ตัวครูเองชอบเรียกเจ้าตัวนี้ว่า นี่แหละคือเจ้าตัว “อัตตา” เจ้าตัว อัตตา อ ไม้หันอากาศ ต เต่า ต เต่า สระอา “อัตตา” ทราบไหมคะแปลว่าอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ตัวตน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตัวตน มันแสดงถึงความมีตัวตนด้วยอะไร นี่ในรูปนี้มันแสดงถึงความมีตัวตนด้วยอะไร ลักษณะที่มันแสดงออกมาในภาพให้เห็นนี่คือมันทำยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: กอดรัดไว้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: กอดรัด แสดงถึงความยึดมั่นใช่ไหม ยึดมั่นถือมั่น นี่ถ้ามันมีอวัยวะเพียงแค่นี้ข้างนอกที่มันจะยึด จะเกี่ยวเอาไว้ได้ มันก็ใช้หมดทุกอย่างใช่ไหม มีปากก็คาบกัดไว้แน่น มีมือก็จับแน่นเชียว มีเข่าก็หนีบเอาไว้อีก ข้อเท้าก็หนีบเอาไว้อีก ถ้ามันมีอะไรมากกว่านี้ มันคงทั้งหนีบทั้งกอดทั้งรัดอย่างเหนียวแน่นที่จะไม่ปล่อยออกไปเลย นี่แสดงถึง “อุปาทาน” ความยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนที่เกิดขึ้นในจิต
ฉะนั้นอันนี้ ก็อยากจะชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดที่ อัตตา ความรู้สึกเป็นอัตตานี่มันเกิดขึ้นในจิต มันน่าเกลียดน่ากลัวเพียงใด ตัวนี้มันน่าเกลียดน่ากลัวเพียงใด อัตตาความเป็นตัวเป็นตน แต่ทว่าคนส่วนมากมักจะรู้สึกว่ามันน่ารัก น่ารักใช่ไหม แล้วก็ทะนุถนอมเหลือเกิน ความเป็นอัตตา ความเป็นตัวตน หารู้ไม่ว่าเมื่อใดที่ความรู้สึกเป็นอัตตาเป็นตัวตนเกิดขึ้น มันทำให้คนที่รูปร่างน่ารักน่าเอ็นดู หรือว่าหล่อเหลาสวยงามกลายเป็นคนน่าเกลียดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ผู้ดำเนินรายการ: ดูเหมือนเจ้าตัวนี้หรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: โอ แน่นอนที่สุด นี่แหละพอเราเห็นอะไรที่น่าเกลียด เราก็มักจะนึก นั่นเหมือนตาคนนั้นน่ะ เจ้าคนนั้นหรือแม่คนนั้น แต่ไม่ใช่ฉัน ฉันมักจะน่ารักเสมอ แต่หารู้ไม่ว่าฉันเองน่ะมันน่าเกลียดอย่างนี้บ่อยๆ บางทีวันหนึ่งอาจจะเป็นหลายๆ ครั้ง เมื่ออะไรเกิดขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: โมหะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เมื่อโมหะ โทสะ โลภะ เข้าครอบงำจิตเมื่อใด มันเกิดขึ้นเมื่อนั้น และมันแสนจะน่าเกลียด ดูไม่ได้เลย และก็บ่อยๆ ที่มันจะเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันน่าเกลียดมากเลย นี่แหละจึงอยากจะบอกว่าให้มองดูสิว่า เมื่อมันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เมื่อมันเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน ความยึดมั่นขึ้นมา นึกออกไหมคะว่าในจิตมันเป็นยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: ร้อนรุ่ม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ร้อนรุ่ม มันก็ตรงกับคำว่า ทุกข์ มีแต่ความทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตอย่างยิ่งเลย อย่างมากเลย แล้วเราก็มักจะร้องว่า ทุกข์จริง ชีวิตนี้ทำไมถึงเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่ไม่เคยมองดูว่า อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ ไม่เคยศึกษา ไม่เคยสังเกตว่าอะไรคือเหตุแห่งทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทรงมีพร้อมเมื่อสมัยที่ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เราก็อ่านพุทธประวัติแล้วใช่ไหมคะ เราก็ทราบสมัยที่ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรขาดเลย พร้อมบริบูรณ์ในที่สิ่งที่มนุษย์เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสุข หรือเป็นค่านิยมของความสุข ไม่ทรงขาดอะไรเลยสักอย่างเดียว แต่ถึงกระนั้นเจ้าชายสิทธัตถะก็ยังทรงมีความรู้สึกอยู่ในพระทัยว่า จิตนี้นี่ยังไม่ว่างยังไม่สงบยังไม่เยือกเย็นผ่องใสอย่างแท้จริง เพราะมันยังมีอะไรอีกสักอย่างหนึ่ง เช่น ความจากพรากที่เกิดขึ้น สมเด็จพระราชบิดาผู้ทรงเป็นที่รักที่เคารพอย่างสูง ถ้าวันหนึ่งเกิดมีอันเป็นต้องเสด็จจากไป จิตของพระองค์จะเป็นยังไง คือจิตของเจ้าชายสิทธัตถะจะเป็นยังไง หรือ พระนางพิมพา พระชายาที่แสนจะงดงามน่ารักอย่างยิ่ง เกิดมีอันเป็นไปในวันหนึ่ง จะทำยังไงกับจิตนี้ หรือเจ้าชายราหุล โอรสผู้เป็นที่รัก ยังข้าราชบริพาร เพื่อนมิตรสหาย พระสหายทั้งหลายอีก เมื่อวันนั้นมาถึงจะเป็นยังไง แม้ทุกอย่างที่มีอยู่ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน เกียรติยศ ความเป็นจักรพรรดิ์ ความเป็นเลิศในทุกทาง จะช่วยไม่ให้ความจากพรากเกิดขึ้นได้ไหม พอนึกขึ้นมานี่ ความทุกข์เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อพระองค์ยังไม่สามารถที่จะกำจัด สิ่งที่เรียกว่า ความทุกข์นี่ให้จางหายไปจากพระทัยได้อย่างเกลี้ยงเกลา จึงทรงรู้สึกว่า ยังมีงานที่จะต้องทำ งานนั้นก็คือทรงหาให้พบว่าอะไรที่จะมาช่วยกำจัดสี่งที่เรียกว่า ความทุกข์นี้ให้จางคลายหายไปได้ เพราะฉะนั้นถึงได้ตัดสินพระทัยออกจากพระราชวัง แล้วก็เสด็จดำเนินไปประทับอยู่ในป่า เพื่อแสวงหาความจริง หรือสิ่งที่เป็นสัจจะของชีวิต เป็นเวลาถึง ๖ ปี ใช่ไหมคะ ที่เราได้ทราบมา และในคืนที่พระองค์จะตรัสรู้ ที่ประทับนั่งอยู่ที่ใต้ต้นไม้ ต้นอัสสัตถะ แล้วก็ได้ทรงปฏิญาณในพระทัยว่า ถ้าไม่สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้ในคืนนี้จะไม่ทรงลุกขึ้นจากที่นั่งเลย
และธรรมที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ จนกระทั่งได้รับสมญาพระนามว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือปฏิจจสมุปบาท คืออันนี้นี่จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา พระองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” เห็นเราในที่นี้ไม่ใช่เห็นองค์ท่าน เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้องค์ท่านก็ไม่อยู่แล้ว เสด็จปรินิพพานไปตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่เราก็ยังเห็นพระองค์อยู่ เราเห็นพระองค์ที่ตรงไหน ก็ที่ธรรมะ ที่เรายังนำมาบอกกล่าว นำมาฝึกอบรมจิตของเรา นำมาปฏิบัติเพื่อให้จิตนี้ได้เกิดความสะอาดเกลี้ยงเกลาร่มเย็นเป็นสุขอยู่ทุกวันนี้ เรายังคงใช้ธรรมะอันนี้อยู่ เราก็ยังเห็นท่าน แต่พระองค์ก็ยังตรัสต่อไปว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นต้องเห็นปฏิจจสมุปบาท” ถ้าไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทจะไม่มีวันเห็นธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์จริง ก็คือ ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้และได้ประจักษ์ ได้เห็นชัดแล้ว คือปฏิจจสมุปบาทนี่เองจึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อตรัสรู้ในปฏิจจสมุปบาท ได้เห็นชัดในปฏิจจสมุปบาทแล้ว ธรรมะอันนี้ก็ได้ทำให้พระองค์ทรงหยุดความดิ้นรน ทรงอยู่กับสัจจะของธรรมชาติ คือ กฎของธรรมชาติ แล้วก็ดำเนินชีวิตของพระองค์ไปตามกฎของธรรมชาติ เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นก็ทรงมองเห็นว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ความทุกข์ก็ดับ
ผู้ดำเนินรายการ: ที่พระองค์ตรัสรู้ ตรัสรู้สิ่งนี้หรือครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ ตรัสรู้อันนี้ ตรัสรู้ว่าอะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์จึงเกิด อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์จึงดับ เพราะว่าสิ่งที่ทรงแสวงหาก็เพราะต้องการจะทรงทราบว่า อะไรคือต้นเหตุแห่งทุกข์และทุกข์นั้นจะดับด้วยอะไร เพราะความทุกข์นี่แหละคือเป็นปัญหา หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนี่แหละเราเรียกว่า ความทุกข์
เพราะฉะนั้นจึงทรงศึกษาเรื่องของความทุกข์ ฉะนั้นในปฏิจจสมุปบาทนี้ สิ่งที่จะบอกให้เรารู้ก็คือว่า ปัจจัยอะไรปรุงแต่งอะไรแล้วทำให้ความทุกข์เกิด ปัจจัยอะไรที่อาศัยกันแล้วจะทำให้ความทุกข์ดับ เพราะฉะนั้นก็จะบอกได้ว่า ปฏิจจสมุปบาท จะสอนเราให้รู้ในเรื่องของ ฝ่ายเกิดทุกข์ ว่าทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร และในขณะเดียวกันก็จะบอกให้รู้ว่า ฝ่ายทุกข์ดับนั้น ดับได้อย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: คล้ายๆ กับ อริยสัจ ๔ ใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คือ อริยสัจ ๔ นั้น เราอาจจะบอกได้ว่าเป็นหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงสอนว่า เมื่อต้องการจะศึกษาพระพุทธศาสนา สิ่งแรกที่ต้องศึกษาคือเรื่อง ทุกข์ แล้วเสร็จแล้วอันที่สอง ก็คือ สมุทัย เหตุของความทุกข์ แล้วเสร็จแล้วอันที่สามคือ นิโรธ ก็คือจะต้องรู้จักทำให้มันดับ คือ นิโรธหรือความดับนี่ก็ต้องทำให้แจ้ง ให้แจ้งให้ได้ในความดับนั้น และอันที่สี่คือ มรรค หนทางหรือวิธีที่จะไปถึงความดับนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นนี่เป็นอริยสัจซึ่งเป็นหลักแล้วก็มีวิธีการปฎิบัติ ทีนี้ในอริยสัจที่เป็นหลักนั้น จะมาทำให้ถึงความดับอย่างแท้จริงในอริยมรรคนั้นน่ะเป็นอย่างไร ก็ทรงใคร่ครวญ หารายละเอียดของการปฏิบัติ
ปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้าจะพูดอย่างคำธรรมดา ก็จะบอกได้ว่า เป็นรายละเอียดของการปฏิบัติที่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะมองให้เห็นว่า ทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะดับได้อย่างไร ถ้าหากว่าดับได้จริงแล้วก็ถึงซึ่ง นิโรธ และอริยมรรคก็มีอยู่ในนี้พร้อมหมดทุกอย่าง อริยสัจ ๔ ก็มีอยู่ในนี้พร้อมหมดทุกอย่าง ทั้งหมดนี้มี ๑๒ อาการ ท่านเรียกว่า มี ๑๒ อาการ
เริ่มต้นเราอาจจะดูได้สองทางนะ การศึกษาปฏิจจสมุปบาท ถ้าจะศึกษาจากเหตุที่เกิด เราก็จะเริ่มจากอวิชชา ลงมา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติ แล้วก็ ทุกข์ นี่เรียกว่า ศึกษาจากเหตุ จากเหตุลงมาไปหาผล ทีนี้ถ้าจะศึกษาอีกวิธีหนึ่ง ก็ ศึกษาจากผล คือจาก ทุกข์ ที่เราร้องว่าทำไมนะ จึงเป็นทุกข์ๆๆ
เราก็ศึกษาจากผล แล้วเราก็จะดูว่า ผลอันนี้มาจากเหตุอะไร ที่มันเป็นทุกข์ก็เพราะมี ชาติ
และชาตินี่ มันมาจากเหตุอะไร ก็เพราะมี ภพ
ภพนี่มาจากเหตุอะไร เพราะอุปาทาน
อุปาทาน มาจากเหตุอะไร เพราะตัณหา
ตัณหามาจากเหตุอะไร เพราะเวทนา
เวทนามาจากเหตุอะไร เพราะผัสสะ
ผัสสะมาจากเหตุอะไร เพราะอายตนะ
อายตนะเพราะเหตุอะไร นามรูป
นามรูปเพราะเหตุอะไร จากวิญญาณ
วิญญาณเพราะเหตุอะไร จากสังขาร
สังขารการปรุงแต่ง สังขารในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง ร่างกาย แต่หมายถึงการปรุงแต่งคือ ความคิดที่มันเกิดขึ้นในจิตแล้วหยุดไม่ได้ อย่างที่ว่าเวลาที่เรานั่งสมาธิกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจไม่ได้ คิดวุ่นวายไปกับอดีตบ้างอนาคตบ้าง นั่นแหละคือการปรุงแต่ง การปรุงแต่งของสังขารที่เกิดขึ้น และก็จิตมนุษย์ชอบคิดชอบปรุงแต่ง อะไรเป็นเหตุปัจจัย เพราะ อวิชชา อวิชชานี้คืออะไร อวิชชานี้ก็คือ สภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้อันที่จริงแต่ละคนก็จะบอกว่า มีความรู้เยอะแยะมากมาย เล่าเรียนกันมาก็มาก ได้ปริญญากันก็สูง รู้สารพัด ทำมาหากินจนเป็นหลักฐานกันมา แต่สิ่งที่ควรรู้จริงๆ ยังหารู้ไม่ สิ่งที่ควรรู้นั้นคืออะไร ก็คือสิ่งที่ควรจะทำให้ความทุกข์นั้นดับไป ทำให้จิตเยือกเย็นผ่องใสเป็นสุข สงบอยู่ได้ ชื่นบานอิ่มเอิบอยู่ได้ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ควรรู้ แต่รู้กันแล้วหรือยัง ก็ยัง เรารู้สารพัดที่จะรู้ แต่สิ่งที่ควรรู้ไม่ศึกษา ไม่ทำให้รู้ เพราะฉะนั้น อวิชชาที่เข้าครอบงำจิตของมนุษย์อยู่ ในจิตนี้ที่มีอยู่ ที่มันเข้ามาครอบงำจิตของมนุษย์ เมื่อจิตของมนุษย์ถูกครอบงำด้วยอวิชชา คือ สภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ มันจึงมัวเมาอยู่กับตัณหาคือ ความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะเอาใช่ไหม จะเอา กับไม่เอา เอา กับ ไม่เอา ชักขะเย่อไป ชักขะเย่อมาๆ อย่างนี้ตลอดเวลา เพราะไม่รู้สิ่งที่ควรรู้
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามาศึกษาปฏิจจสมุปบาทให้รู้ว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์เกิด อะไรอาศัยอะไรแล้วทุกข์ดับ ถ้าหากว่าเรารู้และทำได้เมื่อใด ก็หมายความว่าเราได้เอาความรู้คือ ปัญญาที่เกิดจาการพัฒนาจิตจากการศึกษาข้างใน ดูข้างใน ดูลงไปจนกระทั่งรู้สึกทีละน้อยๆ ชัดเข้าๆ ลึกเข้าประจักษ์ชัดเข้าทุกทีๆๆ ก็หมายความว่า สภาวะของจิตที่ถูกครอบงำด้วย อวิชชา อันเปรียบเหมือนกับจิตนั้นอยู่ในที่มืด ถูกครอบงำด้วยความมืด มันมองไม่เห็นแสงสว่างเลย เพราะฉะนั้น จิตที่อยู่ในที่มืด หรือถูกครอบงำด้วยความมืดก็เหมือนอย่างเรานี่ ไปงุมมะงาหราอยู่ในป่าใหญ่ ในท่ามกลางความมืดตอนกลางคืน เราก็ไม่รู้เราจะไปไหน ไฟฉายก็ไม่มี เทียนก็ไม่มี ตะเกียงก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว มิหนำซ้ำไม่รู้ทิศทางด้วยว่าจะเดินทางไปไหน ดวงดาวอะไรบนท้องฟ้า ก็ดูอะไรไม่เป็นสักอย่างไม่รู้ดาวเหนือดาวใต้อยู่ทางไหน นี่เรียกว่าถูกความมืดปกคลุมเต็มที่ แต่เมื่อเราศึกษาในเรื่องของ สัจจะ ของธรรมชาติ หรือ กฎของธรรมชาติ อย่างเช่นเราศึกษา กฎของไตรลักษณ์ อย่างนี้ เราก็รู้ว่าสภาวะของความเป็นจริงของธรรมชาตินั้นมันล้วนแล้วแต่เปลี่ยนไปไม่มีอะไรที่คงที่เป็นตัวเป็นตนสักอย่าง ทุกสิ่งนั้นมันอยู่ที่ อนัตตา คือ สักว่า ไม่ได้เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่ตัวใช่ตน
ถ้าเรารู้อยู่อย่างนี้เรื่อย ก็หมายความว่า เราได้นำปัญญา นำปัญญาภายใน เหมือนกับเรานำแสงสว่างสาดส่องเข้ามาในจิต พอแสงสว่างสาดส่องเข้ามามากเข้าๆ คือ ปัญญาความรู้อันถูกต้องเกิดมากเข้าๆ อวิชชาคือความมืดมันก็ต้องจางคลายไป ใช่ไหมคะ เหมือนกับเราจุดเทียนขึ้นในห้องมืด ในครั้งแรกเราจุดเทียนมันก็มีแสงสว่างพอเห็นอะไรสลัวๆ พอจะรู้ว่าควรจะเดินตรงไหนนั่งตรงไหนนอนตรงไหนไม่ไปชนอะไร แล้วเสร็จแล้ว พอเรารู้แสงสว่างมากขึ้น แสงสว่างจากเทียนนี่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า แล้วก็อาจจะเปลี่ยนเป็นแสงสว่างจ้าของดวงอาทิตย์ที่มันสอดส่องเข้ามาได้ แต่แสงสว่างของปัญญานั้นมันสว่าง มันตัดทุกอย่างหมด ไม่ว่าความมืดชนิดใด แสงสว่างของปัญญานั้นสามารถที่จะกำจัดความมืด อวิชชาแห่งความไม่รู้ออกไปหมด เพราะฉะนั้น จิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ มันก็จางคลายจากความทุกข์ มีแต่ความเย็นเกิดขึ้นๆๆ เพราะปัญญาสามารถที่จะกำจัดอวิชชานั้นออกไป ปัญญาก็เข้ามาครอบครองเต็มที่ พอเต็มที่จิตใจนั้นเต็มไปด้วยความรู้ที่ถูกต้อง จำได้ไหมองค์ประกอบของชีวิต
พอมีความรู้ที่ถูกต้อง มันก็มีแต่การกระทำที่ถูกต้อง ทั้ง กาย วาจา ใจ ชีวิตนี้ก็สุขสงบเย็น นี่เราเป็นแต่เพียงเริ่มต้นเท่านั้นนะคะ เรายังไม่ได้พูดอะไรในรายละเอียดกันเลยของปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่พูดว่าให้รู้ว่า ทุกข์ เกิดขึ้นได้อย่างไร และทุกข์นั้นจะดับได้อย่างไร ทำไมจิตจึงเป็นทุกข์ เพราะมนุษย์เราไม่เข้าใจ เราจึงปล่อยให้จิตนี้ถูกครอบงำด้วยอวิชชา
อัตตา จึงเกิดขึ้น ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนที่แสนจะน่าเกลียด แล้วให้วงเวียนชีวิตนี้หมุนไปๆๆ จนหมุนติ้ว วันใดที่เรารู้ว่าอ๋อ นี่เอง หยุดมันได้ วันนั้นวงเวียนชีวิตนี้ก็จะมีแต่ความว่างสงบเย็น
ธรรมสวัสดีนะคะ