แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะ เมื่อคราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่อง สมุทัย ของทุกข์ ใช่ไหมคะ สิ่งนั้นคืออะไรนะคะ?
“ความอยาก” หรือที่เรียกกันว่า ตัณหา เราจะใช่ศัพท์ทางธรรมะสักหน่อย ก็คือ ตัณหา และก็พูดกันถึงเรื่อง โทษของความอยากกันมาหลายอย่างแล้วนะคะ ทีนี้ก็มาพบกลอนของเจ้าประคุณท่านอาจารย์ของวัดสวนโมกข์ ท่านเขียนเอาไว้ว่า “ยามไหนก็ได้” ก็อยากจะอ่านให้ฟัง
“ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย
ยามจะมี มีอะไร มีไม่เป็น ก็เป็นทุกข์ ถึงมีสุข ก็ยิ่งทุกข์เพราะสุขนั่น
ดูให้ดี อย่าเสียที ให้กับมัน จะพากันมาเพิ่มทุกข์ให้ทุกที
ยามจะใช้ ใช้ให้เป็นไม่เป็นทุกข์ ยามจะกิน กินให้ถูกตามวิถี
ยามจะถ่าย ถ่ายให้เป็น เห็นสุดดี ถ้าอย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ ทุกคืนวัน”
ฟังแล้วได้คติอะไรจากกลอนนี้บ้างคะ?
ทีนี้เราพูดกันถึงเรื่องของ ตัณหา คือ ความอยาก เพราะฉะนั้นวันนี้ก็น่าจะเป็นหัวข้อว่า “อยาก ยามไหนก็ได้”
เรื่อง “อยาก” น่ะ ไม่เป็นไรหรอก และก็ยามไหนก็ได้ด้วย แต่ทีนี้จะอยาก กันอย่างไรถ้าสมมติว่าจะดูไปตามลำดับของร้อยกรองนี้นะคะ ก็เริ่มจากว่า
“ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี
ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี ถ้าอย่างนี้ ไม่มีทุกข์ ทุกวันเอย”
ก็ลองนึกดูกันนะคะว่า “ยามจะได้” ได้อะไรกันบ้าง?
เราอาจจะแบ่งออกได้ เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็ได้สิ่งที่เป็น “วัตถุ” อีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่เป็น “นามธรรม” คือ สิ่งที่ไม่มีรูปร่างให้จับต้อง หรือ มองเห็นได้ เราก็มีการได้ กัน ๒ อย่าง ก็อยากจะยกตัวอย่างเพื่อให้ ท่านผู้ฟังลองกรุณา คิด ดูนะคะ
พอยามจะได้ เราได้อะไรบ้าง ? วัตถุสิ่งของ ก็เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ใช่ไหมคะ เป็นวัตถุสิ่งของ หรือว่า ได้สัตว์เลี้ยงที่ถูกใจ หรือได้คู่รัก ได้ลูก เป็นต้น ทีนี้ถ้าเราได้สิ่งที่เป็นวัตถุนี่ เราจะได้อย่างไร มันถึงจะ เรียกว่า ยามไหนก็ได้ และก็ได้ให้เป็น แล้วจะไม่เป็นทุกข์ ได้อย่างไรถึงจะไม่เป็นทุกข์ ?
ถ้าสมมติว่า ได้เงิน มีเงิน ทรัพย์สินเงินทอง ที่จริงเราก็พูดมาบ้างแล้ว ทีนี้ถ้ามาพูดให้ชัดๆ อีกหน่อยนึงว่า ถ้าเราได้เงินมา แล้วได้อย่างไรถึงจะไม่เป็นทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เคยมีเงินหรือยังคะ?
ผู้ดำเนินรายการ: มีครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มีมากพอหรือเปล่า หรือมีพอใช้สอย พอกินไปวันนึง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: พอใช้สอย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงพอ เพราะว่าคนมีเงินเดือนนี่ เขาบอกไม่ค่อยชนเดือนเลยนะ แล้วทำไมถึงพูดว่าพอ
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะมีแค่ไหน ก็ใช้แค่นั้นก็พอ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มีแค่ไหน ก็ใช้แค่นั้น แล้วก็ มีความลำบากในการใช้บ้างไหม คือมีความลำบากเมื่อได้เงินมาแล้ว ที่ว่าใช้ให้เป็นนี่ ถ้าว่ามีแค่ไหนใช้แค่นั้นแล้วก็มีความสุข ก็เรียกว่า อย่างนี้ได้มา ก็เรียกว่า ได้เป็น ก็เงินนั้นก็ไม่ทำโทษ ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ ทีนี้ถ้าสมมติว่า “ยามจะได้ ได้ให้เป็น” ได้เงินมา มีเงินมาก มีเงินมากมหาศาล จะใช้เงินนั้นอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์ และก็เรียกว่า “ได้ให้เป็น” บางคนมีมากเลย มีมากเกินกิน มีมากเกินอยู่ เกินใช้ มีมากเกินเลี้ยงลูกหลาน เราจะทำอย่างไรกับส่วนเกินที่มี
ผู้ดำเนินรายการ: สะสม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สะสม ส่วนหนึ่งก็สะสม อีกส่วนหนึ่งใช้ด้วยสติปัญญา ใช้ยังไงด้วยสติปัญญา
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้ามีเกินก็สะสม ทำบุญ ทำทาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำบุญ ทำทาน อย่างที่เรียกว่า ส่วนเกินที่เรามีอยู่ในเงินนั้น ก็แบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์ ก็มองดูว่า เพื่อนมนุษย์กลุ่มใด ที่ไหน ที่มีความขาดแคลน และก็มีความต้องการ แล้วเราก็เห็นว่าสมควรที่จะให้ นั่นแหล่ะเป็นการใช้ให้เป็น แต่ในขณะเดียว กัน ที่เราได้เงินทองมา ที่เราใช้ในส่วนตัวนั้น ก็ใช้กินอยู่ กินใช้ นี่ก็หมายความว่า แต่พอดี ไม่ใช่ใช้กระทั่งเกินพอดี อย่างที่บางคนมีเงินมาก แล้วก็ใช้เงินนั้นไม่เป็น ก็เอาเงินไปซื้อสิ่งของที่ไม่ควรจะกิน กินแล้วมันก็ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะเป็นโทษแก่ร่างกายเพราะ ว่ามันมากเกินไป หรือว่าเอาเงินนั้นมาจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงดูลูกหลาน แล้วก็มาบ่นว่า ให้เท่าไหร่ๆ ก็ไม่เห็นเขารัก ไม่เห็นเขานึกถึงบุญคุณ ไม่มีความกตัญญูเลย นั่นก็เป็นเพราะว่า อาจจะเป็นว่าเขาเอาเงินเลี้ยงลูก แทนที่จะเลี้ยงลูกด้วยความรัก เราจะเห็นผู้ที่มีเงินอุดมสมบูรณ์ จำนวนไม่น้อยเลยที่มีลูกไม่ได้ดั่งใจ แล้วก็พอมีลูกไม่ได้ดั่งใจ เลี้ยงในเมืองไทยไม่สามารถจะอบรมให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ ก็เอาเงินนี่แหล่ะ ส่งลูกไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ แล้วพ่อแม่ก็อยู่ทางนี้ ไม่มีโอกาสได้ติดตามไปดูลูก เพราะฉะนั้นเงินที่ส่งไปให้ลูกเท่าไหร่ๆ ก็ไม่พอ ก็ไม่รู้ว่าลูกใช้เงินไปในทางไหน เพราะฉะนั้นพอลูกกลับมา ถึงเวลาเรียกตัวกลับมา ลูกก็กลับมา แต่กลับมาอย่างชนิดไม่สมใจพ่อแม่ เพราะไม่ได้ทำอะไรเป็นที่ถูกใจหรือเกิดประโยชน์แก่ตนเองและเกิดประโยชน์แก่พ่อแม่ พ่อแม่ก็เสียใจ นั่นเพราะอะไร ก็เพราะใช้เงินเลี้ยงลูก แต่ไม่ได้ใช้น้ำใจ ไม่ได้ใช้ความรักอันอบอุ่นที่พ่อแม่จะพึงมีแก่ลูกให้แก่ลูก ฉะนั้นเมื่อใช้เงิน เงินมันเป็นวัตถุ ลูกก็กลับมาอย่างวัตถุ ไม่ได้มีจิตใจที่จะมีความอบอุ่น มีความกตัญญู รู้คุณแก่พ่อแม่ เพราะฉะนั้น เงินนี้ดี คือได้มาก็ดี เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับชีวิต แต่จะใช้อย่างไร เงินนั้นจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองแก่ลูกหลาน แก่ครอบครัว และก็แก่เพื่อนมนุษย์ แก่เพื่อนมนุษย์นี่ก็รวมตั้งแต่สังคมของเรา ไปจนกระทั่งถึงสังคมที่กว้างออกไป เช่น สังคมของชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ ใช้อย่างประหยัด ไม่ใช่ว่ามีมากก็ใช้อย่างสาดเสียเทเสีย ใช้อย่างประหยัด เพื่อจะได้เหลือส่วนที่ไม่ควรเสียนั้นให้เป็นประโยชน์แบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ นี่จึงจะเรียกว่าเป็นการใช้ให้เป็น และก็อย่างนี้แหละ ที่เขาบอกว่า ทำไมต้นไม้ใหญ่ถึงได้มี นก มี กา บินมาเกาะ ก็เพราะเหตุว่า ได้อาศัยร่มเงา ฉะนั้นถ้าหากท่านผู้มีเงิน และท่านก็รู้จักใช้เงินส่วนตัวนั้นแต่เพียงพอดี ไม่ให้เหลือเฟือจนเกินความจำเป็น และก็แบ่งส่วนที่เหลือ หรือส่วนที่เกินนั้นให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ความสุขจะมีไหมคะ แน่นอนที่สุด มันมีความรู้สึกอิ่มใจ พอใจในตัวเอง และก็นึกขึ้นมาเมื่อไหร่เนี่ย ถ้าจะยิ้ม มันก็ยิ้มได้ ยิ้มด้วยความผาสุกใจจริงๆ เพราะเหตุว่าเราได้แบ่งเงินนั้นให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และก็รู้ว่า เพื่อนมนุษย์อีกหลายคนเลย ที่ไม่มีกินไม่มีใช้ เพราะเหตุปัจจัยไม่อำนวย ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข นี่ถึงจะเรียกได้ว่า ใช้ให้เป็น
ผู้ดำเนินรายการ: แต่ว่าทุกวันนี้ คนเรามักจะแสวงหาอะไรมากๆ เพื่อที่จะให้เป็นอย่างคนอื่น แล้วทำให้เราบางทีอยากเป็นอย่างคนอื่นเขาบ้าง เช่น เขามี ทีวี เครื่องโตๆ อยากมีกับเขาบ้าง เขามีเครื่องสเตอรีโอเครื่องใหญ่ๆ อยากมีอย่างเขาบ้าง อย่างนี้ทำไงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็เรานึกสิคะว่า เรามีทีวีไว้ทำไม
ผู้ดำเนินรายการ: ไว้ดูครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ดูอะไร ดูข่าว ดูละคร คือหมายความว่า ดูทั้งข่าวสารเพื่อความรู้ และก็ดูทั้งรายการอื่นๆ เพื่อความบันเทิง แล้วมีตากี่ตา
ผู้ดำเนินรายการ: สองครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตาสองตา ตาสองตานี่ต้องการอาณาเขตในการดูแค่ไหน ครั้งหนึ่งต้องการทีวีกี่เครื่อง
ผู้ดำเนินรายการ: เครื่องเดียว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เครื่องเดียว เหมือนอย่างที่ว่า มีรถยนต์ เราใช้รถยนต์เพื่ออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ไปมาสะดวก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เพื่อเป็นพาหะนะ ช่วยส่งเราให้สะดวกในเรื่องการคมนาคม เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า ยานพาหะใดสามารถจะพาเราไปถึงที่จุดหมายได้ ที่สำเร็จประโยชน์ตามต้องการหรือยัง
ผู้ดำเนินรายการ: สำเร็จ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สำเร็จประโยชน์ตามต้องการแล้ว เพราะฉะนั้น รถอะไรต่ออะไร ที่มันใหญ่ไป ยี่ห้อใหม่ๆ ทันสมัยนั้น มันก็เรียกว่า สนองกิเลส หรือถ้าพูดอีกอย่างคือ สนองตัณหา แต่ว่ามันเกินพอดี มันเกินความพอดี เพราะฉะนั้นนี้แหละ จึงได้ดิ้นรน ฟาดหัวฟาดหางกันก็เพราะเหตุว่า ไม่ได้อย่างเขา อยากจะมี ทั้งที่เมื่อหันมาดูก็จะเห็นว่า เรามีพอแล้ว เราสมควรแล้ว แต่เราไม่รู้จักใช้ต่างหากที่จะให้มันเกิดประโยชน์
ผู้ดำเนินรายการ: แต่ยังไม่มีรถยนต์นี่ครับ อยากมีรถยนต์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แล้วขณะนี้ไปยังไง
ผู้ดำเนินรายการ: ก็อาศัยรถโดยสารประจำทาง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วพอไปได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ไปได้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็ไปได้ ก็ไป ไปก่อน ไม่ต้องดิ้นรนให้มันเดือดร้อนกับหัวใจของเราทำไม
ผู้ดำเนินรายการ: เห็นคนอื่นเขามีก็อยากมีบ้าง จะได้สะดวกขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เราพูดเรื่อง ความทุกข์ มาแล้วใช่ไหม แล้วเป็นยังไงล่ะ
ผู้ดำเนินรายการ: อยากแล้วทุกข์ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ถ้าหากไม่อยากทุกข์ ก็หยุด หยุดอยาก ในสิ่งที่มันไม่สมควรแก่เหตุปัจจัย แต่ถ้าหากอยากทุกข์ ก็ดิ้นต่อไป จนกว่าจะผอมกว่านี้ ทีนี้ถ้าสมมติว่า อยากมีคู่รัก ได้คู่รัก จะใช้คู่รักยังไงถึงจะเป็น ไม่ว่าคู่รักชาย หรือคู่รักหญิง จะใช้คู่รักยังไงถึงจะเป็น
ผู้ดำเนินรายการ: หมายความว่าไงครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยากได้คู่รักทำไม ที่เขาอยากได้คู่รักกัน เขาอยากได้คู่รักทำไม
ผู้ดำเนินรายการ : มีความสุขดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เขาคิดว่ามีคู่รักแล้วมันมีความสุข โลกที่มันมองดูว้าเหว่วังเวงมันจะมีความอบอุ่น โลกที่เป็นสีเทาๆ มันจะกลายเป็นสีชมพู ที่จริงโลกอันนี้คือโลกอะไร อยู่ที่ไหน โลกที่เราพูดถึงนี่ค่ะ อยู่ที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ที่จิต
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ อยู่ข้างใน ที่พูดนี่อยู่ข้างใน ไม่ใช่โลกวัตถุ ที่เรานั่งอยู่นี่ ที่ว่าเป็นโลกกลม โลกเอียง อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่โลกขรุขระใบนี้ แต่หมายถึงโลกที่มันอยู่ข้างใน ซึ่งมนุษย์เราจะสร้างโลกต่างๆ นี้ขึ้น วันหนึ่งก็หลายๆ ใบ ตามความคิดคำนึง หรือตามความคิดฟุ้งซ่านที่จะมีมากน้อย เพราะฉะนั้น การที่คนเราอยากจะมีคู่รักสักคน จะเป็นหญิงก็ตาม ชายก็ตาม ประโยชน์ไม่ใช่อะไรอื่น ประโยชน์เพื่อว่า จะได้ทำให้โลกนี้มีความหมาย เพราะว่าฉันมีใครคนหนึ่งนี่อยู่ข้างๆ ตัว พออยากจะพูดอะไร ก็หันมาก็มีคนคอยรับการพยักพเยิด และก็จะสนทนาอะไรก็มีคนโต้ตอบ จะทุกข์ก็คิดว่ามีคนร่วมทุกข์ เขาจะร่วมจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ความรู้สึกมันคิดอย่างนั้น พอเรามีสุขก็จะมีคนร่วมยินดี ก็เลยคิดว่าโลกนี้มีความหมาย หรือเวลาจะฮึดฮัดโกรธเกรี้ยว เรียกว่า ออกฤทธิ์กับใครไม่ได้ ก็หันมาออกกับคนใกล้ๆ อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นก็เรียกว่า มีคู่รักสักคน เป็นได้ทุกอย่าง ไปคิดเอาเอง เสร็จแล้ว คู่รักนั่นน่ะก็เลยกลายเป็นภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็น เสื้อผ้าเครื่องใช้ รองเท้าก็ได้ หรือ เป็นหมวกก็ได้สุดแต่ว่าจะเอาวางไว้ที่ไหนในหัวใจของตัว ถ้าเอาวางไว้อย่างรักใคร่เทิดทูน ก็เปรียบเหมือนมีหมวกเอาไว้สวมเป็นสง่าราศี ถ้าเอาไว้สำหรับรองบาทา ก็เปรียบเหมือนเกือก เหมือนรองเท้า เรียกว่าเหยียบไป ย่ำไปขยำขยี้ไปด้วยวาจา ด้วยการกระทำ ไม่ต้องทะนุถนอมน้ำใจกัน เพราะนี่ เรียกว่าฉันอยากได้คู่รักสักคนสำหรับเป็นเครื่องรองรับอารมณ์ รองรับความเกรี้ยวกราด โดยถือว่า ฉันเองต่างหากเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น คู่รักนี่ก็คือ เครื่องสำรอง สำรองสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า “ได้” ถ้าสมมติว่าได้คู่รักมาสักคน ได้อย่างไรล่ะถึงจะได้ให้เป็น และก็อยู่เย็นเป็นสุขด้วยกัน ไม่ต้องมีความทุกข์ ได้คู่รักนี่ ได้อย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : เป็นเพื่อน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ได้อย่างเป็นเพื่อน ถูกแหละ เพื่อน ความหมายของคำว่าเพื่อนนี่เป็นยังไงคะ
ผู้ดำเนินรายการ : มีสุขร่วม
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ คือหมายความว่าเป็นเพื่อนนี่ก็ต้องเป็นผู้ที่สุดนี่ต้องเข้าใจกัน คนที่จะเป็นเพื่อน เหมือนอย่างเราคบเพื่อนนี่เราต้องเข้าใจกัน เข้าใจในอะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ความรู้สึกของกันและกัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความรู้สึกของกันและกัน โดยเฉพาะที่มีความคิดว่า หรือมีความเห็นว่า สิ่งที่ต้องเข้าใจกันสำคัญมากนี่ก็คือ ความเข้าใจในจุดบกพร่องของกันและกัน จุดดีของกันและกันน่ะ มองเห็นแล้วแหละว่ามีอะไรดีถูกใจ แต่พอเห็นดีเข้ามักจะมองข้ามจุดบกพร่องซึ่งอาจจะมีอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้น ซึ่งควรจะดูให้มากๆ ถ้าหากเราจะเอาธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็มองเห็นแล้วว่า ดีก็ตาม มันเป็นสิ่งสมมติ เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ คืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ความเปลี่ยนแปลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อนิจจัง เปลี่ยนได้ ดีมันก็เปลี่ยนได้ตามเหตุปัจจัย ไม่ดี หรือ เลว มันก็เปลี่ยนได้ตามเหตุปัจจัยอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรามองดูอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า ดี มันก็เปลี่ยนได้ ถ้าเหตุปัจจัยนั้นมันจะเกิดจากการที่เราสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คอยตักเตือนกัน คอยแนะนำกัน คอยบอกกล่าวกันฉันท์มิตร กัลยาณมิตรที่ดี
หรือ จุดบกพร่องที่มี ต้องดูให้มากๆ ทำไมถึงต้องดูให้มากๆ เพราะมนุษย์เราที่เป็นปุถุชน มันยังมีความบกพร่องอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราก็ดูจุดบกพร่องของกันและกัน และก็ดูสิว่า ไอ้จุดบกพร่องอย่างนี้มันจะรับกันได้ไหม คือ ยอมรับได้ไหม ? ถ้ายอมรับได้ มันก็จะเป็นคู่รักที่มีแต่ความสดชื่น มีแต่ความอบอุ่น มีความหมาย เป็นสีชมพูอยู่ตลอด เวลา ฉะนั้นที่บอกว่า อยู่กันอย่างมีคู่รัก ก็มีเพื่อน เป็นเพื่อนนี่ถูก เพราะความเป็นคู่รักหวานชื่นนี่มันก็ไม่ค่อยนาน ใช่ไหมคะ มันมีวันจืดจาง พอความรัก ความใคร่ อย่างนั้นมันจืดจางไปแล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ ก็คือ “ความเป็นมิตร” ความอยู่กันอย่างฉันท์เพื่อน ถ้าหาก ว่าผู้ใดมีคู่รัก ก็รู้จักที่จะมีคู่รักในลักษณะนี้ ก็แน่นอนที่สุด ด้วยความเห็นใจกันอย่างนี้ ก็จะไม่มีความทุกข์เลย เพราะมันจะไม่มีความอยากที่จะดิ้นรน เพื่อให้คู่รักเป็นอย่างใจฉัน ถ้าอยู่กันอย่างเข้าใจ นี่เรียกว่า อยู่กันอย่างไม่เห็นแก่ตัว แต่ถ้าอยู่กันอย่างชนิดที่ว่า จะเอาแต่ใจของตัวเอง คู่รักนั้นก็เป็น เครื่องสำรอง สำรองอารมณ์ สำรองความรู้สึก สำรองอะไรที่ฉันต้องการในขณะที่ฉันขาด อย่างนั้นถ้าจะสุข มันก็สุขคนเดียว อีกฝ่ายหนึ่งต้องกล้ำกลืนความทุกข์อยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีความจำกัดเหมือนกัน ฝ่ายที่ต้องกล้ำกลืนนี่ มันก็ตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจัง วันหนึ่งก็เกิดกล้ำกลืนไม่ไหว ต้องหันหลังให้จากกัน ก็แยกกันไป อย่างที่ผู้ใหญ่โบราณท่านว่า ก้นหม้อข้าวยังไม่ทันดำ ทำไมถึงแยกกันไปแล้ว ก็เพราะอย่างนี้ ทีนี้พอยามที่ได้ลูก อยู่กันไปแล้วก็มีลูก โดยปกติพอคนที่เป็นพ่อแม่มีลูกขึ้นมา ยิ่งลูกคนแรกล่ะก็ มันมีความดีใจ ดีใจมาก ดีใจทำไม ส่วนมาก ?
ผู้ดำเนินรายการ : คอยมาตั้งนาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คอยมาตั้งนาน ได้สักที แต่โดยปกติเลย เราจะได้ยินพ่อแม่ ถึงไม่พูดออกมาดังๆ ก็นึกอยู่ในใจ นี่แหละ จะเป็นที่พึ่งของเรา ยามเราแก่ เราเฒ่า เพราะว่า นี่ก็นึกถึงตัวเองนั่นล่ะ ถึงกระนั้นมันก็เป็นธรรมดา เป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่จะได้เป็นที่พึ่ง ได้ลูกเป็นที่พึ่งยามแก่ยามเฒ่า แต่เท่าที่เราได้พบมา ส่วนมาก พ่อแม่ได้พึ่งไหม ไม่ค่อยจะได้ ส่วนมากไม่ค่อยจะได้ มีแต่ความทุกข์ แล้วก็มักจะบอกว่า ตั้งแต่มีลูกนี่ ตกนรกทั้งเป็น ทำไมถึงตกนรกทั้งเป็น เป็นห่วงไปหมด กลัวลูกจะไม่ดี กลัวลูกจะไม่เป็นสุข กลัวกลัวลูกจะไปพบปัญหา จะไปพบอันตราย นี่ด้วยความห่วงสารพัดอย่าง และนอกจากนั้นก็ ด้วยความขัดเคือง ใช่ไหมคะ ว่าลูกไม่ได้อย่างใจ สอนแล้วไม่เห็นทำตาม ให้เรียนหนังสือวิชานี้ก็กลับไปเลือกเรียนวิชาอื่น พอถึงเวลาโตขึ้นจะทำงาน ให้ทำงานกระทรวงนี้กลับไป ทำงานบริษัทเสีย มีครอบครัว หาผู้หญิงคนนี้ไว้ให้ กลับไปหาคู่รักเอง สารพัด พ่อแม่ก็ รู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น และก็ยิ่งเห็นลูกนั้นมีความร้อนมีความกระวนกระวาย ไม่ได้มีความสุขสงบเย็นเลย พ่อแม่ก็ยิ่งตกนรกซ้ำไปอีกเพราะความรักลูก ลูกทุกข์เท่าไหร่ พ่อแม่ทุกข์มากกว่า อย่างที่เขาบอกอย่างนั้น ถ้าใครอยากทำร้ายนายคนนี้ไม่ต้องไปทำเขาหรอก ทำลูกเขา นั่นแหละ มันเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าที่จะไปทำตัวเขาเองอีก เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า การที่พ่อแม่ต้องตกนรกเพราะลูกนี้ และมีลูกแล้วก็ไม่สามารถที่จะมีความสุขในการที่จะได้ลูกเป็นที่พึ่งอย่างใจ เพราะอะไร? ก็ต้องไปดูว่า เพราะว่า พ่อแม่นั่นน่ะ พอได้ลูก มีลูก ก็มีไม่เป็น ได้ลูกมาได้ไม่เป็น อยากได้ลูก แต่พอได้มาแล้ว จะเลี้ยงลูกอย่างไร ลูกนี้จึงจะเติบโตเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ได้ ลูกนี้จึงจะเป็นผู้ที่มีความสุข มีความสงบเย็น เหมือนอย่างที่พ่อแม่อวยพรอยู่ในใจทุกค่ำคืน และก็เหมือนอย่างที่ทุกๆ คนมาอวยชัยให้พร เมื่อเวลาได้ลูกคนแรก ทำอย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไร ลูกนี้จึงจะเป็นที่พึ่งแก่พ่อแม่ได้ และก็ลูกนี้จึงจะเป็นบุคคลที่เติบโตขึ้นด้วยความผาสุก คิดว่า เราคงจะต้องไปพูดในเรื่องนี้ในคราวหน้านะคะ สำหรับวันนี้ ธรรมะสวัสดี ก่อนค่ะ