แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ
เราพูดกันถึงเรื่องของทุกข์เป็นเรื่องแรกใช่ไหมคะ แล้วก็เหตุของทุกข์ก็คือตัณหา แล้วเราก็รู้ว่าตัณหาความอยากไม่เคยทำให้ใครสบายเลย แล้วเราก็อยากสบาย อยากเป็นสุข อยากเย็น อยากอิ่มอกอิ่มใจทั้งนั้น แล้วเราก็รู้ว่าถ้าเราเปลี่ยนอยากที่มันเป็นตัณหาด้วยอำนาจของอวิชชาเสียเมื่อไหร่ เป็นอยากด้วยสติปัญญาเมื่อไหร่ ก็สบายเมื่อนั้น เพราะไม่ว่าจะมีอะไร จะใช้อะไร จะเป็นอะไร มันเกิดความถูกต้องไปหมดทุกอย่าง แล้วก็ฟังดูมันไม่ยาก มันก็น่าจะง่าย แล้วทำได้หรือยัง ทำได้หรือยัง นั่นสิ มันน่าคิดนะ อยากทำ เห็นด้วย แต่ทำไมทำไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ: เพราะยังอยากอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อยากก็อยากไปสิ เขาก็ไม่ว่าอะไร อย่างไหนก็ได้ แต่ให้รู้จักอยากด้วยสติปัญญา วิธีที่จะให้จิตดำรงอยู่ด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง คือสติปัญญาข้างใน มันยากตรงนี้
ผู้ดำเนินรายการ: ต้องคอยพิจารณาอยู่เรื่อยใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ค่ะ อะไรที่มันมาเป็นสิ่งที่ขวางกั้น ที่เป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นวันนี้ เราก็น่าจะได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าอุปสรรคขวางกั้นความเจริญ ทุกอย่างทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือขวางกั้นความเจริญที่เป็นความดีงาม ความดีงาม เช่น ความสุขสงบเย็น หรือแม้แต่สิ่งที่เรียกว่านิพพาน ที่มันดูยาก ดูทำกันไม่ได้ นิพพานไม่ได้ ก็เพราะสิ่งนี้ สิ่งนี้ท่านเรียกว่า นิวรณ์ วันนี้เราก็จะพูดกันถึงเรื่องของนิวรณ์ คือสิ่งที่ขวางกั้น หรือปิดกั้นหนทางแห่งความเจริญทุกอย่างทุกประการ แต่มันไม่ปิดกั้นหนทางกิเลส มันเป็นเพื่อนกันเลยกับกิเลส มันพร้อมที่จะส่งเสริมกิเลสให้งอกงามยิ่งขึ้น เจ้านิวรณ์นี่ แต่มันจะปิดกั้นสิ่งที่เป็นความดีงาม ทุกอย่าง ไม่ให้เกิดขึ้นในจิต เพราะฉะนั้นเราจึงควรรู้จักเจ้านิวรณ์นี่ให้ชัดๆ ให้ดีๆ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เราทุกคนถูกกลุ้มรุมอยู่ด้วยนิวรณ์ตลอดเวลา รู้หรือเปล่า รู้จักมันไหม มองเห็นมันไหม ไม่เห็นเลย ไม่เห็น ปรือๆ เมื่อไหร่ นั่นแหละนิวรณ์ หนุบหนับ ห่อเหี่ยวเมื่อไหร่ นั่นแหละนิวรณ์ หรือว่าเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ลอยคว้างขึ้นฟ้า นั่นก็นิวรณ์ อึดอัดขัดใจ หงุดหงิด ไม่ชอบ นั่นก็นิวรณ์ นี่แหละเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ทุกวันใช่หรือเปล่า แล้วเราก็ไม่รู้ แล้วเราก็บอก ธรรมดาใครๆ เขาก็เป็นกัน นี่แหละประโยคนี้ ใครๆ เขาก็เป็นกันนี่มันร้ายนัก ใครๆ เขาก็เป็นกันนี่เป็นความประมาท แล้วที่เขาเป็นกันดีๆ ไม่ยักจะบอกว่าใครๆ เขาก็เป็นกัน ฉันเป็นไม่ได้ ยกให้ ยกให้เขาเถอะ เขาเป็นคนพิเศษ นี่โง่หรือฉลาดที่พูดอย่างนี้ โง่หรือฉลาด บรรดาผู้มีปริญญาทั้งหลาย โง่หรือฉลาด
ผู้ดำเนินรายการ: จริงๆ คือโง่ครับ ถ้าอย่างนั้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่ตอนนี้ฉลาดขึ้นแล้ว ไม่ยอมรับว่าโง่ เขาเรียกว่าฉลาดขึ้น ตราบใดที่ยังขืนเถียงว่าฉันฉลาดนั่นแหละคือโง่ ถ้ารู้จักว่าโง่เมื่อไหร่ นี่เริ่มฉลาดขึ้นแล้ว เพราะรู้ว่าต้องแก้ไขแล้ว ปล่อยไปอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้นิวรณ์เป็นสิ่งที่เราควรต้องศึกษาให้รู้จัก เพื่อไม่ให้มันมาเป็นอุปสรรค หรือเป็นสิ่งที่ขวางกั้นความดีของเราต่อไป เราจะได้ดี ได้เจริญ ได้งดงามไปในหนทางที่ถูกต้อง ก่อนอื่นก็น่าจะดูว่า สิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ มันเกิดจากอะไร ท่านก็บอกว่า มันเกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า อนุสัย เคยได้ยินไหมคะอนุสัย อนุสัยนี้มันก็อยู่ในพวกเดียวกับกิเลสนั่นแหละ แต่มันเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสะสมเอาไว้ในใจ จนเป็นความเคยชิน คือหมายความว่าพอกิเลสเกิดขึ้นอย่างหนึ่งในใจ เราก็สะสม เราก็กระทำตามกิเลส พอกิเลสเกิดขึ้นในใจจะเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะก็ตาม พอเกิดขึ้นในใจ พออยากเท่านั้นแหละ พอทำตามอยาก จะอยากโลภ ก็จะเอา เช่นสมมติว่าเราชอบเสื้อผ้า เดินผ่านไปดูที่เขาเรียกว่า window shopping ใช่ไหม เดินดูซื้อของตามหน้าต่างที่เขาตั้งโชว์เอาไว้ พอเห็นเสื้อชุดนี้ชอบ เงินในกระเป๋าไม่มี รีบกลับบ้านไปเอาเงินมาซื้อจนได้ ทำได้ครั้งหนึ่งก็ย่ามใจ อีกสักเดือนเดินต่อไปพบเสื้อสวยๆ งามๆ ที่นั่น เงินในกระเป๋าไม่มี ที่บ้านก็ไม่แน่ใจ มีเพื่อนไปด้วย ก็ขอยืมหน่อย ขอยืมกระเป๋าเพื่อนหน่อย ซื้อ ก็เกิดความเคยชิน ว่าเมื่อเห็นแล้วจะต้องเอาให้ได้ นี่แหละโลภะใช่ไหม กิเลสเกิดขึ้นในใจครั้งหนึ่ง ทำตามกิเลสมันก็สั่งสม หรือนอนอยู่ในจิตที่ท่านเรียกว่านอนอยู่ในสันดาน พออยากครั้งที่ 2 ในเรื่องเดิม ทำอีกซ้ำอีก สิ่งที่มันนอนอยู่เนื่องอยู่ในสันดานมันก็มากขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือตะกอนค่อยๆ เป็นก้อนใหญ่ขึ้น พอครั้งที่ 3 ทำอีก คือไม่มีการยับยั้ง ไม่มีการหยุด เกิดขึ้นครั้งหนึ่งทำตาม ครั้งที่ 2 ทำตาม ครั้งที่ 3 ทำตาม ครั้งที่ 4 ทำตาม จนกระทั่งทีนี้ พอเห็นเข้ามันต้องทำตาม เหมือนอย่างคนที่ไปเที่ยวหยิบของคนอื่นเขานั่น ก็หยิบเพราะเห็นว่าไม่เป็นไร ของเพื่อน ไม่เป็นไรของเพื่อน จนเพื่อนไหนๆ เขาก็ระอา เขาทนไม่ไหว นี่มันเป็นอนุสัย แล้วเสร็จแล้ว ผลที่สุดมันเก็บไว้ไม่ได้ มันมากเข้า สะสมมากเข้าๆ มันก็เต็ม เหมือนกับใส่ของในโอ่ง หรือว่าเทน้ำลงในโอ่ง ไหลจากก๊อกก็ตาม เปิดน้ำใส่ เปิดน้ำใส่ จนกระทั่งเต็มก็ยังไม่ปิด ไม่ปิดมันก็ล้น ไหลออกมาจากโอ่ง นี่แหละสิ่งนี้ท่านเรียกว่า อาสวะ
อาสวะก็คือเป็นสิ่งที่มันไหลออกจากคลังสะสมของอนุสัย อนุสัยนี่ก็เกิดจากความเคยชิน ของการที่กระทำตามกิเลส ทำตามซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จนมันดองอยู่ในจิตโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวเลย แล้วที่มนุษย์เรากระทำอะไรอย่างที่ไม่ตั้งใจจะทำ มาจากอนุสัย อนุสัยในเรื่องของการกิน อนุสัยในเรื่องของการแต่งตัว อนุสัยในเรื่องของการนอน อนุสัยในเรื่องของการอยู่ อนุสัยในเรื่องของการทำงาน สารพัด ดูไปเถอะมีทั้งนั้นเลย แล้วก็ทำไมจึงทำอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่ามันเคยชิน ฉันเคยนอนอย่างนี้ บางคนพอถึงเวลาจะนอน ไม่ต้องค่อยๆ ที่จะอาบน้ำให้เรียบร้อยแล้วก็แต่งเนื้อแต่งตัว ให้สบายแล้วก็นอนให้มันเป็นกิจลักษณะ พอเข้าถึงที่นอนก็เสือกตัวพรวด ไม่รู้ว่าทางหัวทางท้ายอยู่ทางไหน หมอนอยู่ที่ไหน ผ้าห่มอยู่ที่ไหนปลายทาง หลับสิ้นสติสมประดี ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะอะไรเหลืออยู่เลย เขาก็ทำอย่างนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งอยากจะแต่งงาน เผอิญผู้หญิงเขามาเห็นเข้าล่วงหน้าว่าตาคนนี้ถึงเวลาแกนอน แกนอนแบบไม่มีสติสมประดี เพราะว่ามันเป็นอนุสัยที่เคยทำ ทำมาๆ จนกระทั่งเป็นอาสวะ มันไหลออกมา ถึงเวลาเห็นที่นอนเสือกพรวดไปแล้ว ไม่ว่าจะมีใครไปอยู่หรือไม่ไปอยู่ จะไปแคมป์กับเพื่อนหรืออะไรก็ทำตามนั้น นี่แหละมันเป็นอนุสัย ที่มันเกิดมาจากอนุสัย จนกระทั่งเป็นอาสวะไหลหลั่งออกมา เพราะฉะนั้นนิวรณ์ก็เกิดจากอันนี้ เกิดจากอนุสัยที่มันหมักดองอยู่ในจิตของเราโดยเราไม่รู้ตัว หรือบางที คือเราจะเห็นว่า มันหลั่งไหล ขอโทษนะย้อนกลับไปนิดหนึ่ง จะเห็นว่ามันเป็นอาสวะ หลั่งไหลออกมาจากอนุสัยได้ชัดเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะคืออะไร ก็คือสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส แล้วก็กายได้สัมผัส ใจก็มีธรรมารมณ์ คือความรู้สึก นึก คิด อารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในจิต เช่น หูได้ยินเสียง นี่เรากำลังได้ยินเสียง เสียงของอะไร น่าจะเป็นเสียงจักจั่นที่กำลังร้องอยู่นี่ ทีแรกเราก็รู้แต่ว่าเสียง แล้วเสร็จแล้ววิญญาณทางหูคือการตามรับรู้ก็บอกว่า อ้อนี่เป็นเสียงจักจั่น ถ้าหยุดเพียงแค่นี้ก็สิ่งสักว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่เกิดเป็นเวทนาว่าจะชอบไม่ชอบ หรือว่าเพลิดเพลินในการฟัง แต่ถ้าว่า โอ้ เป็นเสียงจักจั่น จักจั่นมันอยู่ที่ไหนนะ ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ต้องไปเอาให้ได้ มันอยู่ที่ไหน
ผู้ดำเนินรายการ: เอามาทอดกรอบกิน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: นี่เห็นไหม ไปถึงไหนแล้ว ไปถึงเรื่องอะไร ไปถึงเรื่องปาณาติบาตโดยไม่รู้ตัว เห็นไหม ชั่วประเดี๋ยวเดียว มันไปเลย เห็นไหม ถ้าสมมติว่าเราไม่ระมัดระวัง เพราะเหตุว่าเราเคยอยากแล้วเราต้องเอาให้ได้ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอนุสัยที่มันฝังอยู่ในจิต เป็นอาสวะออกมาทันที ตามตัวอย่างที่จเลิศพูดเอง โดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ตั้งใจเลยแต่ว่ามันออกมาเสียแล้ว ถ้าเผอิญมาอยู่ใกล้ๆ ก็อาจจะไปคว้ามาทอดจริงๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ท่านจึงบอกว่านิวรณ์มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วมันก็เลยปิดกั้น เช่น สมมติว่าเรากำลังทำการงาน งานนี้ควรจะเดินไป ควรจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่เผอิญมันมีสิ่งมากระทบ เรียกว่ามาคั่นกลางก็เลยผวาเข้าไปหามัน ก็ทำให้การทำงานนี้หยุดชะงัก เสียเวลา เห็นไหม มันปิดกั้นหนทางความเจริญของการทำงาน เช่น ถึงกำหนดแล้ว 4 โมงต้องเฮฮา นี่เวลา 4 โมงถึงแม้ว่างานเลิก 4 โมงครึ่ง ไม่ได้มันต้องเฮฮา เพราะว่าเราเคยจนกระทั่งมันเป็นอาสวะมันไหลออกมาอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็บอกว่าเมื่อไหร่เราจะได้สองขั้น เมื่อไหร่จะได้เป็นหัวหน้าเขาสักที มันจะได้อย่างไร ก็นี่แหละนิวรณ์ นิวรณ์ ที่เรากระทำมันก็ขวางกั้นหนทางความเจริญความก้าวหน้าความดีงามทุกอย่างทุกประการ นี่ตัวอย่างอย่างโลกๆ ยิ่งทางธรรมก็ยิ่งเห็นได้ชัดใหญ่เลย เพราะมันจะยิ่งยากยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นนิวรณ์ก็เกิดจากอนุสัย อนุสัยที่จะมองเห็นว่ามันไหลหลั่งออกมาทันทีเมื่อผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็สู่ใจก็รับทันที เพราะไม่เคยศึกษาในเรื่องของกฎของธรรมชาติจนสติปัญญาภายในมันเกิดไม่ทัน มันตามไม่ทัน นึกแต่ว่ามันเป็นจริงเป็นจัง จะต้องเอาให้ได้ตามใจอยาก นอกจากนี้ท่านก็บอกว่านิวรณ์นี้มันเกิดขึ้นได้จากการดำรงชีวิตอยู่อย่างประมาท อย่างเป็นคนประมาท ประมาทต่อชีวิต หรือเรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างมักง่าย อะไรก็ได้ อะไรก็ได้ อันที่จริงนึกดูแล้วว่าถ้าอะไรก็ได้อย่างทางธรรมก็ดีนะ ถ้าอะไรก็ได้อย่างทางธรรม มันหมายความว่าอะไร เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ถ้าอะไรก็ได้ในทางธรรม เช่นนั้นเองคืออะไร ไม่รู้หรือว่าเช่นนั้นเองคืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ: ตถาตา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตถาตา ตถาตาคืออะไร คือเช่นนั้นเอง ก็ไปมาอยู่ตรงนี้ ลองอธิบายหน่อยสิ ว่าเช่นนั้นเองคือตถาตา ตถาตาคือเช่นนั้นเอง ก็คือหมายความว่ามันเป็นเพียงสิ่งสักว่า สิ่งสักว่าคืออะไร ก็มันมีแต่ความเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ไม่มีอะไรเที่ยงไม่มีอะไรคงทน ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงสักอย่าง นอกจากสมมติ เพราะฉะนั้นถ้าอะไรก็ได้ในภาษาธรรมดีมากเลย แต่ที่เราพูดๆ กันมันไม่ใช่อะไรก็ได้ภาษาธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: ชุ่ยครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ มันอะไรก็ได้ภาษาโลก เพราะอะไร วงเล็บที่มันแฝงอยู่ข้างหลังเพราะอะไร ที่บอกว่า ไม่เป็นไร อะไรก็ได้ ขี้เกียจใช่หรือเปล่า ขี้เกียจก็เลยชุ่ยเข้าว่า มักง่ายเข้าว่า เพราะความขี้เกียจ เอาน่านอนให้ดีๆ เอ้อไม่เป็นไร อะไรก็ได้น่า นอนยังไงก็นอนได้ แหมเป็นเพราะฉันนี่คนง่าย ฉันนี่เป็นคนเรียบง่าย ไม่ใช่เป็นคนยุ่งยาก ไม่เลือกเลย อะไรๆ ก็ได้ แท้จริงฉันขี้เกียจ ฉันขี้เกียจต่างหากฉันถึงบอกว่าอะไรก็ได้ นี่แหละเป็นสิ่งหรือเป็นหนทางที่ทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น หรือบางทีก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร อย่างที่เขาเคยล้อกันว่า เมืองไทย ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด ลืมเสียเถิด ถ้าลืมเสียเถิดในทางธรรมก็ดี คือมันมีอะไร มันมีการอะไรกัน ให้อภัย มีการให้อภัย เป็นอภัยทาน ซึ่งถือว่าเป็นทานอันสูงสุด ถ้าในทางธรรม แต่นี่มันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เป็นไรในทางโลกคืออะไร ก็ขี้เกียจอีกนั่นแหละ ไม่เป็นไร นิดเดียว ก็มักง่ายขี้เกียจเดี๋ยวนี้ โอ้ยนิดเดียวเอง นิดเดียวเอง เองนี่ก็สั้นขึ้นมาอีก แม้แต่คำพูดเดี๋ยวนี้ นั่นล้วนแล้วแต่เป็นความมักง่าย หรือช่างหัวมันก็เหมือนกัน เอาน่าช่างหัวมัน ช่างหัวมันช่างหัวเผือกคืออะไร คือการให้อภัยตัวเองใช่ไหม เขาเรียกว่า Excuse ตัวเอง ถ้าคนอื่นให้อภัยไม่ได้ แต่ถ้าตัวเองมันช่างสรรหาข้อแก้ตัวมาให้ เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ ช่างหัวมันเถอะไม่เป็นไรหรอก นี่แหละเป็นหนทางที่ทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น และมันก็เลยเป็นสิ่งที่กีดกั้นหนทางแห่งความเจริญ ความดีความงามทุกอย่างในชีวิต เพราะฉะนั้นลองคิดดูนะคะ เมื่อไหร่ที่เรานึกว่าทำไมเราถึงไม่ได้เงินเดือนขึ้น ทำไมถึงไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ทำไมถึงไม่ร่ำรวยสักที ทำไมถึงอย่างนั้นอย่างนี้ โปรดดูเถอะว่าเพราะมักง่ายใช่ไหม เพราะเหตุว่ามีความเป็นอยู่อย่างลวกๆ ใช่ไหม และการที่ทำอย่างนี้ถ้าจะว่าไปแล้วนี่ เคารพตัวเองหรือเปล่า ไม่มีความเคารพตัวเองด้วย เรียกว่ามีความเป็นอยู่อย่างชนิดที่ขาดความเคารพตัวเอง ขาดความนับถือตัวเอง ทีนี้เมื่อเรานับถือตัวเองไม่ได้เราจะไปหวังคนอื่นเขานับถืออย่างไร มีหลายคนชอบมาถามทำอย่างไรถึงจะให้คนเขาเคารพนับถือ ก็อดไม่ได้ที่จะย้อนถามไปว่าแล้วคุณนับถือตัวคุณเองได้ไหม ถ้าตัวเราเรายังนับถือตัวเราเองไม่ได้ มนุษย์เรารักตัวเองเป็นที่สุด แล้วยังนับถือคนที่รักที่สุดไม่ได้ จะไปหวังให้คนอื่นเขานับถือได้อย่างไร นี่ค่ะเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ผู้อื่นนับถือเราเคารพเรา เราก็ต้องรู้จักประพฤติปฏิบัติอย่างชนิดที่สามารถเคารพตัวเองได้ คือพอมองตัวเองเมื่อไหร่แล้วเป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ: น่าเลื่อมใส
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันรู้สึกสบายใจ ไม่ต้องเอาถึงน่าเลื่อมใส เอาว่ามันรู้สึกสบายใจ คือสบายใจว่ามันหาข้อตำหนิอะไรที่จังๆ ที่จะตำหนิตัวเองให้จังๆ ตำหนิให้มันน่าเกลียด ให้มันน่าเสียใจ น่าต้องมาสำนึกบาปมันไม่ค่อยจะมี แค่นี้ก็ยังพอเคารพตัวเองได้แล้วก็ค่อยๆ ขัดเกลาให้มากยิ่งขึ้นๆ มันก็จะเป็นผู้ที่เขาเลื่อมใสเอง ไม่ต้องบอกให้เขามาเลื่อมใสฉัน เขาจะมาเลื่อมใสเองด้วยความยกย่อง เพราะมองเห็นแล้วว่าบุคคลผู้นั้นได้ดำรงชีวิตอย่างชนิดที่เรียกว่าเชื่อได้ ฉะนั้นการว่าช่างหัวมันนี่อยากจะเอามาพูดก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้จักช่างหัวมันด้วยอะไร ด้วยสติปัญญา ช่างหัวมันด้วยสติปัญญานั่นก็หมายความว่าไม่เอาแล้วไม่เอากับมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นมันอีกต่อไปแล้ว นั่นก็คือว่าจะกระทำด้วยหน้าที่ กระทำเป็นหน้าที่ แต่ว่าไม่เอาความหวัง ไม่เอาความอยากเข้าไปสอดแทรก นั่นเป็นช่างหัวมันด้วยสติปัญญา ดี แต่ถ้าหากว่าช่างหัวมันเพราะเห็นแก่ตัวกู เห็นแก่ตัวฉันนี้ โปรดอย่าทำ เพราะถ้าหากว่าขืนทำอย่างนี้บ่อยๆ ชีวิตจะไม่มีความเจริญ ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งในทางส่วนตัว และทางการงาน จะไม่มีความเจริญเลย ฉะนั้นช่างหัวมัน ก็ช่างหัวมันเถอะ แต่ว่าขอให้ช่างหัวมันด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเป็นเรื่องของนิวรณ์ ที่เราจะต้องศึกษาให้ชัดเจนว่ามันคืออะไรแน่ เมื่อฟังอย่างนี้แล้วลองใคร่ครวญดูสักนิดหนึ่งว่า ชีวิตวันหนึ่งๆ เราเคยปิดกั้นหนทางความเจริญความก้าวหน้าของตัวเราเองบ้างไหม
ผู้ดำเนินรายการ: เยอะไปหมดเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: อะไรบ้างนึกสิ วันหนึ่งๆ ที่ปิดกั้นหนทางความเจริญของตัวเองอะไรบ้าง เช่น
ผู้ดำเนินรายการ: กินอยู่อะไรอย่างนี้ ก็ชุ่ย
ถ้าหากพูดคำว่าชุ่ยมันก็รวมความหมด รวมความการดำรงชีวิตตั้งแต่เช้าคือตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นจนกระทั่งหลับตาในวันนั้นในคืนนั้น ลองสำรวจดูสิว่าวันนี้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมักง่าย อย่างประมาท อย่างชุ่ยๆ อย่างชนิดที่เคารพตัวเองไม่ได้เลย เหมือนอย่างคนที่ชอบทำอะไรเวลาที่คนอื่นเขาไม่เห็น เวลาคนอื่นเขาเห็นก็เรียบร้อยน่ารัก เรียกว่าไม่มีที่ติ แต่พอไม่มีใครเห็นก็เรียกว่าทุกอย่างตรงกันข้าม เคยกินอยู่อย่างช้าๆ ละเมียดละไมก็มูมมามดูไม่ได้ เคยเดินเข้าห้องน้ำช้าๆ ถึงเวลาส่วนตัวก็วิ่งตาลีตาลานเถลือกถลนดูไม่ได้ นี่ก็เรียกว่าไม่มีใครเห็น แต่ตัวฉันเห็น แล้วฉันเป็นอะไร เป็นคนเหมือนคนอื่นเขาหรือเปล่า เป็นคนเหมือนคนอื่นเขานี่ดูถูกตัวเองนะ นี่ดูถูกตัวเองอย่างมักง่าย แล้วก็ไม่ได้คิดว่าการทำอย่างนี้ดูถูกตัวเอง เพราะความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเอง ขอให้ตัวเราได้สบาย ตัวฉันได้สบาย ตัวฉันได้อะไรเร็วๆ เลยลืมว่าการทำอย่างนี้ คือการปราศจากความเคารพตัวเอง ดูถูกตัวเอง นี่เห็นไหมเหตุปัจจัยใครทำให้ ทำเองทุกอย่างแล้วจะไปโทษใคร เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะร้องว่าทำไม ทำไม จงหยุดร้องเสียเถิดเรื่องทำไม แต่จงหันไปดูเหตุปัจจัยทันที ว่าเราประกอบเหตุปัจจัยอะไร ทำอะไร ผลมันจึงเป็นอย่างนี้ แล้วแก้ไขเหตุปัจจัยเสียให้ถูกต้อง แล้วผลมันก็จะถูกต้องเอง แล้วชีวิตนี้ก็จะดำเนินไปสู่หนทางแห่งความดีงามได้ ธรรมสวัสดีนะคะ