แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ เมื่อคราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของ “ความเย็น” อันเป็นลักษณะของจิตที่เป็นจิตที่มีนิพพาน คือหมายความว่า จิตใดที่สามารถรักษาความเย็นอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่มีความร้อนเพราะความวุ่นเกิดขึ้น จิตนั้นก็เป็นจิตที่เรียกว่าเป็นนิพพาน เพราะฉะนั้นก็พูดถึงว่าความเย็นในจิต หรือลักษณะของนิพพานที่จะเกิดขึ้นในจิตได้นี้ จะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง
เราก็ได้พูดว่าลักษณะแรกนั้น ก็คือต้องมี “ความสะอาด” สะอาดจากการรบกวนของกิเลสของนิวรณ์ทั้งปวง สะอาดจากความยึดมั่นถือมั่น และก็สิ้นการปรุงแต่ง คือ สะอาดเพราะว่ามันไม่ถูกรบกวนด้วยการปรุงแต่ง หรือการปรุงแต่งนั้นสิ้นสุด จะคิดก็ต่อเมื่อมันจำเป็นจะต้องคิดเพื่อประโยชน์แก่การทำงาน หรือเพื่อประโยชน์แก่สิ่งที่จะต้องการให้เกิดผลสำเร็จขึ้น และก็เมื่อเสร็จในการคิดเพื่องานอันนั้นแล้วก็หยุดคิด อย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่เป็นการคิดแบบปรุงแต่งเพื่อทำให้จิตนั้นเกิดความทุกข์
ทีนี้ ส. ที่สอง ก็คือ “ความสว่าง” ซึ่งเป็นลักษณะที่สองของความเย็น หรือของจิตที่เป็นนิพพาน ความสว่างในที่นี้ ก็แน่นอนแหละ เราก็หมายถึงความสว่างข้างใน ไม่ได้หมายถึงความสว่างของดวงอาทิตย์ข้างนอก หรือว่าความสว่างของแสงไฟ ความสว่างที่จะเกิดขึ้นภายในอย่างนี้ ก็แน่นอนที่สุด เราจะต้องเรียกว่าเป็นความสว่างของอะไร คือ ความสว่างของปัญญา ที่เราเปรียบว่าปัญญาอันเกิดจาก วิชชา ช สองตัว มันเปรียบเสมือนกับแสงสว่างที่มันสาดเข้าไปในจิตที่มืด มืดมัวเพราะมันสกปรก มันมีอะไรรบกวนมาก มันมีขยะรุงรัง มันมีขี้ผงรุงรัง มันถูกสาดไปด้วยความสว่างแห่งปัญญา ปัญญานี้เมื่อสาดไป มันก็กวาดสิ่งที่รบกวนจิตที่ทำให้จิตเศร้าหมองทั้งหลายนั้นสะอาด มันเริ่มทำความสะอาดเสียก่อน ทำความสะอาดข้างในที่รกรุงรังอยู่ด้วยความคิดปรุงแต่งบ้าง อยู่ด้วยการรบกวนของกิเลสของนิวรณ์บ้าง และก็ด้วยความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี้ มันถูกกวาดไปเกลี้ยง พอกวาดไปเกลี้ยง แล้วสิ่งที่เหลือก็มีแต่ความสว่าง มันไม่มีความมืดที่ถูกปกคลุมด้วยสิ่งโสโครกเหล่านั้น มันก็มีแต่ความสว่าง
เพราะฉะนั้นความสว่างอันนี้ สว่างด้วยอะไร ก็คือ สว่างอยู่ด้วยความรู้แจ้งในสัจธรรม อันเป็นปัญญาที่แหลมคมอย่างยิ่ง แจ้งประจักษ์จนเห็นชัดอยู่ในใจว่า ไม่มีสิ่งใดที่คุ้มค่าแก่การมี การเป็น หรือการเอา เลยสักอย่างเดียว ไม่มีอะไรเลยที่มันคุ้มค่าแก่การมี การเป็น การเอา หรือไม่มีอะไรที่คุ้มค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะว่ามันไม่คุ้มค่าเลยสักอย่างเดียว เข้าใจไหม เข้าใจ คือเราเคยมีมามากแล้วใช่ไหม เราทุกคนนี้เคยมีอะไร ๆ มา จะมากบ้างน้อยบ้าง แต่เราก็เคยมีมา เราผ่านการมี แล้วเสร็จแล้วเรารักษาไว้ได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ได้ มันมีแล้วมันก็ไป มันเกิดแล้วมันก็ดับ มันอยู่ในอาการอย่างนี้ มันไม่เคยมีอะไรที่เราจะรักษาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งของ หรือจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น ความรัก ความสุขสบาย ความสะดวก ความอบอุ่น อะไรที่เราเคยได้เห็น มันก็มี มีขึ้นแล้วมันก็จากไป มันมีแต่ความเกิดความดับ นี่เรียกว่ารู้มองเห็น เป็นเพราะเคยเป็นมามากในชีวิตนี้ เราเป็นลูก เราเป็นเพื่อน และเราก็เป็นผู้มีหน้าที่ในการงานในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นลูกน้องเขาบ้าง เป็นหัวหน้าบ้าง เป็นผู้บังคับบัญชาบ้าง แล้วมันก็เปลี่ยนไป มันไม่ได้คงอยู่คงที่อะไรสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาดูอย่างนี้แล้ว มีอะไรก็มีเถอะ จำได้ไหม ยามไหนก็ได้ ยามจะมีก็มีให้ถูก มันจะได้ไม่เป็นทุกข์ ยามจะเป็นก็เป็นให้ถูก มันจะได้ไม่เป็นทุกข์ ยามจะได้ก็ได้ให้ถูก มันจะได้ไม่เป็นทุกข์ คือ ได้อย่างถูกต้อง ใช้อย่างถูกต้อง เป็นอย่างถูกต้อง แค่เพียงเท่านั้นพอ แล้วเสร็จแล้วจิตนี้มันก็จะอยู่แต่กับความสว่าง เพราะมันรู้แน่เสียแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียว มันมีแต่เกิดดับ ๆ อยู่ทุกขณะในชีวิตนี้ นี่เรียกว่า “เป็นความสว่างด้วยสัจธรรม” เพราะเห็นชัดเลยว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนแล้วแต่เป็น “อนัตตา” อนัตตาก็คืออะไรคะ
ผู้ดำเนินรายการ : ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงกันข้ามกับ “อัตตา” ในขณะที่ อัตตา เป็นตัวเป็นตน อนัตตา นี้ก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งนี้เราต้องหันมา มาชี้ที่นี่เรื่อย เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้แหละคือตัวต้นเหตุ ตัวต้นเหตุที่เรามายึดมั่นถือมั่นกัน พอมีตัวนี้ พอมีตัวฉันขึ้นมา มันก็มีอะไรคะ มีอะไรตามมา มีของฉันตามมา พอมีตัวฉัน มันก็มีของฉันสารพัด ที่นั่งอยู่ด้วยกันนี้ ถ้าบอกว่าให้ทำรายการมีอะไรบ้างที่เป็นของฉัน โอ้ เยอะแยะเลยใช่ไหมคะ สิ่งเล็ก สิ่งน้อย สิ่งใหญ่ เรียกว่า สมุดปึ๊งหนึ่งก็ไม่พอเขียนในสิ่งที่เป็นของฉัน เพราะฉะนั้นมันก็หนัก ของฉันมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เพราะมีตัวฉัน ยึดมั่นถือมั่นในตัวฉัน มีตัวฉัน ถ้าไม่มีตัวฉัน ของฉันมันก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงทรงชี้ให้เห็นว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ผู้ที่เคยสวดมนต์ก็สวดอยู่ทุกวี่ทุกวัน ทั้งเช้าทั้งเย็น เป็นอนัตตา เป็นอนัตตา แต่ว่าเราต้องพยายามให้เห็น เห็นความเป็นอนัตตา ให้เกิดขึ้นในจิตได้จริง ๆ แล้วเมื่อนั้นจิตนี้จะสว่าง สว่างเพราะประจักษ์ชัดว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่ให้ยึดมั่นถือมั่นสักอย่างเดียว มันมีแต่เกิดดับ เกิดดับ มีอะไรก็มี มีก็ดี มีแล้วก็รู้จักใช้ให้มันถูกต้อง มีเงินก็ใช้เงินให้ถูกต้อง มีลูกมีหลานก็ใช้ลูกใช้หลานให้ถูกต้อง มีตำแหน่งการงานก็ใช้ตำแหน่งการงานให้ถูกต้อง แล้วชีวิตนี้ก็จะมีแต่ความสะอาดและก็มีความสว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ความสว่างนี้นะคะมันสว่างจนชัดเจน จนเห็นกระทั่งว่า เมื่อมันไม่มีสิ่งใดให้ยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตนี้ก็คืออะไร เมื่อยังหายใจอยู่ก็คืออะไร การทำหน้าที่ใช่ไหมคะ
สิ่งที่เหลืออยู่นี้คือ การทำหน้าที่ เราจะเป็นอะไร เราก็ทำหน้าที่ในฐานะที่เราเป็นในขณะหนึ่ง ๆ เรามีหน้าที่ทำอะไร เราก็ทำในขณะหนึ่ง ๆ ขณะนั้นให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง อย่างเต็มกำลังความสามารถอยู่เสมอ โดยไม่ต้องจิบยาพิษคืออะไร คือไม่ต้องหวัง โดยไม่ต้องหวัง ไม่ต้องหวังเลย ทำไป ทำให้เต็มที่ ทำให้ทุกอย่าง อย่างที่เราพูดกันหลายครั้งแล้วว่า ถ้าเราทำเต็มฝีมือความสามารถต้องหวังไหม ไม่ต้องหวัง
เพราะว่าทำเต็มที่ หวัง ไม่หวัง ผลย่อมเท่ากัน แล้วจะไปหวังให้เกิดความทุกข์ทำไมอีก เพราะพอหวังทีไรมันต้องมีอะไรแทรกโดยไม่รู้ตัว
อย่าลืมเชียว “โลภะ” ความโลภ มันแทรกอยู่โดยไม่รู้ตัวนะคะ นี่ไปดูให้ดี ๆ แล้วจะเห็น อย่างที่พอเราทำอะไรแล้วเราหวัง เราหวังรางวัล เหมือนอย่างเช่นนักเรียนนี้นะคะ เรียกว่าก็ตั้งใจเรียนหนังสือ แล้วก็ที่เคยสอบได้มา มันเลขสองตัวเรื่อย ได้เลขสองตัว ก็พยายามอยากจะได้เลขตัวเดียวเวลาสอบ แหม คราวนี้ก็สอบขึ้นมาได้ถึงที่แปด โอ้โห ดี เก่ง พอใจ แต่ในขณะเดียวกัน แหมนะ ถ้าเราไม่ทำตรงนั้นผิดเสียหน่อยเดียว เราจะต้องได้อย่างน้อย ๆ ที่สอง ที่สาม ยังไม่กล้าถึงที่หนึ่ง อย่างน้อยเราก็ต้องได้ถึงที่สอง ที่สาม เห็นไหม พอหวังเท่านั้น มันมีความโลภแทรกอยู่ แล้วไม่ใช่ว่าไม่ได้ ได้แล้วนะ เราเคยได้แต่เลขสองตัวเวลาสอบ ที่สิบ สิบห้า ยี่สิบ อะไรอย่างนี้ มันเรื่อย ๆ เลขสองตัว บัดนี้ก็ตั้งใจอุตส่าห์พากเพียรพยายามเต็มที่ ทำเต็มที่ แต่ก็หวังว่าจะได้เลขตัวเดียว ก็ได้ ได้แล้ว แต่ว่ามันได้ที่แปด ยังไม่พอใจ พอได้ที่แปด อยากได้ที่สอง ที่สาม แน่นอนแหละหวังที่หนึ่งอยู่ลึก ๆ แต่ยังไม่บังอาจ ยังไม่บังอาจในตอนนี้ ก็ออกอุทาน โอ๊ย มันน่าจะได้อย่างนั้น ในขณะที่เราน่าจะได้อย่างนั้น นี่แหละคือโลภแล้ว และมันก็ทำให้จิตกระตุก กระตุกจากความเป็นปกติ ถ้าปกติมันก็ราบเรียบ อืม...ได้ที่แปด ก็ดีนะ เราประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง เราก็บอกตัวเรา ประกอบเหตุปัจจัยถูกต้อง คราวหน้าถ้าอยากจะได้ ที่สอง ที่สาม หรือที่หนึ่ง ก็ทำอย่างไร ก็ประกอบเหตุปัจจัยใหม่ ให้มันเข้มแข็งยิ่งขึ้น เอาจริงเอาจังยิ่งขึ้น ทุ่มเทเวลาเสียสละเล่าเรียนให้มากขึ้น แล้วก็ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องให้จิตมันกระตุก ถ้าทำเต็มที่ มันก็ได้ไปเองตามเหตุตามปัจจัย
นี่เห็นไหม ถ้า “หวัง” นิดเดียว มันมี “โลภะ” อยู่ในตัวทุกอย่างเลย เหมือนอย่างพ่อแม่ก็เหมือนกัน หวังให้ลูกสอบได้ ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เอาเถอะ ขอให้ผ่านไปเถอะปีสามนี่ ขอให้ผ่านปีสี่ไปเถอะ ให้ผ่านไปได้ถึงปีสี่ สอบออกมาได้ปริญญาก็พอใจ พอลูกได้ปริญญาและก็ได้คะแนนค่อนข้างดี แหม ลูกนะน่าจะได้เกียรตินิยม น่าจะได้เกียรตินิยม น่าจะเอาอีกสักนิดนึง ให้ขยันอีกสักนิดนึง เห็นไหมพ่อแม่โลภหรือเปล่าคะ
ผู้ดำเนินรายการ :โลภ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : โลภ โลภะ นี่เรียกว่าโลภะในสิ่งที่มันไม่ใช่วัตถุ มันไม่ใช่เงินทองสิ่งของ มันเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นมันจึงดูยากและก็เห็นยากใช่ไหม แต่ขณะเดียวกันมันทำให้จิตนี้กระตุกอยู่เรื่อย ทีนี้กระตุก มันกระตุกด้วยความผิดหวัง และในความผิดหวังนี้อาจจะมีความหงุดหงิดนิด ๆ ขัดเคืองนิด ๆ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ มันมีลักษณะของความโลภแทรกอยู่ และนี่แหละคือการดื่มยาพิษ จิบยาพิษ ทำลายพลังในจิตของตัว ทำให้เป็นจิตอ่อนแออ่อนเปลี้ย เพราะว่าสะสมความผิดหวังเอาไว้ทีละนิดทีละหน่อย
เพราะฉะนั้น จิตที่สว่างคือที่มีความเย็น อยู่ด้วยความสะอาดและก็ความสว่าง ก็สว่างจนประจักษ์ชัดเจนเลยว่า เมื่อไม่มีสิ่งใดมีคุณค่าที่จะให้เพียงพอแก่ความยึดมั่นถือมั่นสักอย่างเดียว สิ่งที่เหลือก็คือ “การทำหน้าที่” ทำหน้าที่ให้เต็มที่ ประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องหวัง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องฆ่าตัวเองให้ตายไปทีละน้อย ๆ เพราะยาพิษของความหวังที่ดื่มเข้าไปทุกวัน ๆ ให้มันมีแต่การกระทำที่ท่านบอกว่า “เป็นการกระทำที่ไม่ใช่เราทำ” เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านมีกลอนบอกว่า “ทั้งวันเรามิได้ทำอะไร เพราะรู้แจ่มใจว่าเรานั้นไม่มีตัวตน” เรานั้นไม่ใช่ตัวตน เรานั้นไม่มีตัวตน จะทำอะไร ๆ ก็ให้มันเป็นเรื่องของกายของใจ แต่ไม่ใช่เรื่องของตัวของตนนี้
“ความสว่าง” ความหมายของความสว่างที่สาม ก็คือ ความสว่างที่เกิดขึ้นจาก “ธรรมะปัญญา” ที่มันเพิ่มพูนให้เกิดขึ้นจากการใคร่ครวญในธรรมอยู่ทุกขณะจิต แล้วก็อย่าลืมว่าการใคร่ครวญในธรรม ก็คือ ใคร่ครวญในเรื่องของกฎของธรรมชาติ ยิ่งดูจะยิ่งเห็น ยิ่งดูยิ่งลึก ยิ่งดูยิ่งประจักษ์ ยิ่งดูยิ่งชัด ฉะนั้นมันก็สว่างขึ้นเรื่อย ๆ ภายในนี้มันก็สว่าง เป็นความสว่างที่เกิดจากธรรมะปัญญา และเป็นความสว่างที่พรรณนาไม่ได้ เพราะแสงของความสว่างนี้จะมีความแรง ความลึก ความกว้างไกลไพศาลแค่ไหน เปรียบไม่ได้เลย แม้แต่แสงของดวงอาทิตย์เที่ยงวันก็ยังไม่อาจจะเทียบกับความสว่างของแสงสว่างที่เกิดจากธรรมะปัญญาข้างใน แล้วก็เชื่อไหมคะว่าแสงสว่างอย่างนี้ คนตาบอดจะมีได้ไหม มีได้ แล้วคนตาดี ๆ เชื่อไหมว่าจะมีแสงสว่างอย่างนี้กันทุกคน น้อยคนเต็มที เพราะฉะนั้นแสงสว่างอย่างนี้เป็นแสงสว่างที่วิเศษอย่างยิ่ง เพราะเป็นแสงสว่างที่ไม่เลือกบุคคล จะเป็นคนตาบอดก็เห็นได้ คนตาดีก็เห็นได้ คนยากจนก็เห็นได้ เศรษฐีผู้มีอำนาจก็เห็นได้ ทั่วถึงกันหมด ถ้าอะไร ถ้าเงื่อนไขใหญ่เชียว ถ้าอะไร ถ้าหมั่นศึกษาเพิ่มพูน “ศึกษาภายใน” คือศึกษาข้างใน
อย่าเอาแต่ศึกษาข้างนอกอย่างเดียว อย่างที่เราเคยเน้นแล้ว ศึกษาข้างนอกดีเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตที่จะได้เป็นหลักฐานทำมาหากินเป็นอาชีพต่อไป แต่ถ้ามัวแต่ศึกษาข้างนอก ละเว้นการศึกษาข้างใน ชีวิตนั้นจะไม่สำเร็จ คือมันจะเจริญแต่เรื่องของทางกาย แต่ทางใจนี้มันจะทรุดลง มันเปลี้ยลง เพราะความทุกข์ และผลที่สุดก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างคนปกติกับเพื่อนฝูงในโลกนี้ได้ ก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่ของตัวเองอย่างน่าสงสาร เพราะฉะนั้นความสว่างนี้นะคะจึงเกิดจากความสว่าง พูดง่าย ๆ ก็คือว่า เพราะมองเห็นแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว สิ่งที่เหลือเฉพาะหน้านี้ก็คือ “หน้าที่” หน้าที่ที่พึงกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์เท่านั้นเอง
ลักษณะที่สาม ความสะอาด ความสว่าง และที่สามคือ “ความสงบ” ความสงบในที่นี้เป็นความสงบ ไม่ใช่เพราะไม่มีเสียงดัง ไม่มีเสียงดังก็ได้ จะบอกว่าจิตนี้ไม่อึกทึกก็ได้ ถ้าจิตอึกทึก มันอึกทึกด้วยอะไร จิตที่ดัง ดังด้วยอะไร ดังด้วย “ความคิด” ความคิดที่ปรุงแต่ง นั่นแหละเป็นความดัง จิตที่มันดัง มันดังเพราะความคิดปรุงแต่ง ปรุงแต่งไม่หยุดหย่อนเลย มันก็เลยวุ่นวาย ไม่มีความว่าง ไม่มีความเย็น ไม่เลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นความสงบก็จะเกิดขึ้น ก็เนื่องจากว่า “มันเป็นจิตที่ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์” คือ สิ้นตัณหา ทุกข์คือตัณหา มันสิ้นทุกข์ ก็คือสิ้นตัณหา ก็เรียกได้ว่า “สังสารวัฏสิ้นสุดแล้ว” คำว่าสังสารวัฏ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือการเวียนว่ายตายเกิดทั้งหลายสิ้นสุดแล้ว แต่อย่าเข้าใจนะคะว่าตายแล้ว การเวียนว่ายตายเกิดที่สิ้นสุด คือสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดของกิเลส ของความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ของความคิดปรุงแต่ง ความรู้สึกที่การเกิดเป็นตัวตน
ความเกิดที่น่ากลัว เราเคยพูดกันแล้ว ความเกิดที่น่ากลัวคืออะไร คือการเกิดความรู้สึกเป็นตัวตน ทำไมการเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนจึงน่ากลัว เพราะพอเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นทีไร มันทุกข์ทุกที ทุกข์ทุกทีเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มันทุกข์ทุกที เพราะฉะนั้นการเกิดที่น่ากลัวคือการเกิดอย่างนี้ และการเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวตนอย่างนี้ต้องตาย คือหมายความต้องตายต้องหยุดหายใจแล้วหรือยัง เปล่าเลย ยังหายใจอยู่อย่างนี้ นี่หายใจอยู่อย่างนี้ วันหนึ่ง ๆ นะ เกิดกี่ครั้ง ตายกี่ครั้ง ได้เคยลองนับไหม เราไม่ค่อยได้นับกัน เพราะเราไม่รู้ว่าการเกิดอย่างนี้มันมี ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเกิดอย่างนี้มี ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเกิดอย่างนี้น่ากลัว เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เคยนับ ไม่เคยสนใจ แล้วเราก็เกิดตาย เกิดตาย อยู่ตลอดวัน เราไปกลัวการเวียนว่ายตายเกิดอย่างชนิดที่ว่าตัวนี้ตาย คือหยุดการเคลื่อนไหว เพราะมันหยุดหายใจ เราไปกลัวการเวียนว่ายตายเกิดอย่างนั้น การเวียนว่ายตายเกิดอย่างนั้นเราไม่พูดกันหรอก เพราะเหตุว่าจะเป็นอย่างไรเราก็ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ใช่ไหมคะ เพราะเรายังหายใจอยู่อย่างนี้
แต่สิ่งที่เราพิสูจน์ได้ในขณะนี้ เราควรจะมาดูเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดที่เราประจักษ์ได้ในขณะที่เรายังหายใจอยู่ คือการเวียนว่ายตายเกิดของความความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน เป็นตัวฉันเป็นตัวกูขึ้นมา แล้วเกิดทีไรทุกข์ทุกที แล้วก็ตาย ตายด้วยความคิด แล้วก็เกิดใหม่ แล้วก็ตายอีก เกิดแล้วก็ตายอีกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความสงบจะเกิดขึ้นได้ จิตจะสงบเย็น เย็นอย่างแท้จริง เพราะเป็นความสงบที่เกิดจากสังสารวัฏสิ้นสุดแล้ว หยุดเวียนว่ายตายเกิดของความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู เพราะมันมีแต่หน้าที่ บัดนี้มันมีแต่หน้าที่ มันมีแต่การกระทำ ตัวนี้ยังมีอยู่ ก็ใช้ตัวนี้ ร่างนี้ กายนี้ สติปัญญานี้ให้ดีที่สุด กระทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ยังใช้อยู่ ยังรักษาอยู่ ยังทะนุถนอมอยู่ตามหน้าที่ ไม่ประมาท เจ็บป่วยรักษา แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในมัน จิตนี้จึงจะสงบเย็นได้ และสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มภูมิของความเป็นมนุษย์เพื่อประโยชน์สุขที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
เรายังไม่จบนะคะ แต่วันนี้เราต้องธรรมะสวัสดีก่อนนะคะ