แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ เราได้พูดกันถึงเรื่องของอริยสัจ ๔ คือ ความจริงที่รู้แล้วจะทำให้เราพ้นไปจากข้าศึก หรือจะดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากข้าศึก และก็ได้พูดไปแล้วถึงเรื่องของ ทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ ก็คือ ตัณหาความอยาก เป็นสิ่งที่จะต้องละ และก็นิโรธ คือความดับ ความดับซึ่งความทุกข์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง และเมื่อเราได้พูดถึงเรื่องของนิโรธ ก็จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเรื่องของนิพพาน เพราะว่าถ้าหากว่าผู้ใดทำนิโรธให้แจ้ง คือแจ้งในเรื่องของความดับ ความเย็นมันก็เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องหวังไม่ต้องอยาก จะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นเราก็ได้พูดกันถึงเรื่องของนิพพานด้วยว่า นิพพานนั้นคืออะไร เพราะว่าเราเคยกลัวนิพพานกันนักใช่ไหมคะ เหมือนอย่างเมื่อครั้งสมัยที่ครูยังเด็ก ๆ ก็เหมือนกัน ก็มีความรู้สึกว่านิพพานอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ไกล ไกลลิบ ไกลโพ้นเชียว ไม่รู้อยู่ที่ไหน รู้แต่ว่าไกล และเราก็คงไม่สามารถไปถึงนิพพาน แล้วก็เลยไม่อยากจะสนใจเรื่องนิพพาน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสุดเอื้อม แต่เมื่อหันมาสนใจในเรื่องการศึกษาธรรมะ ฝึกปฎิบัติธรรม ก็ค่อยมีความเข้าใจทีละน้อย ๆ ว่า อันที่จริงแล้วนิพพานไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนเลย และนิพพานนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของความตาย ว่าต้องตายแล้วจึงจะนิพพาน ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ได้มีความรู้ขึ้นทีละน้อยว่า อันที่จริงนั้น “นิพพาน” โดยความหมายของคำมันเอง ก็คือแปลว่า “เย็น” หรือมีความหมายว่า เย็น อย่างที่ในภาษาธรรมดาเขาพูดกันอย่างที่เราพูดกันในคราวที่แล้วว่า สิ่งใดที่มันร้อน พอเราทิ้งไว้สักระยะนึงแล้วมันเย็น คือพูดถึงวัตถุนะคะ เช่นอาหาร เช่นแกง เช่นข้าว หรือว่าน้ำต้มที่เดือดแล้ว พอทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้วมันก็คลายความร้อน เราก็จะไปหยิบ ไปกิน ไปใช้ได้ ไปดื่มได้ นั่นก็คือมันเย็น ซึ่งในประเทศอินเดียเมื่อก่อนโน้นสมัยโน้น เขาก็ใช้คำว่า นิพพาน เหมือนกับคำพูดในภาษาธรรมดาว่า น้ำนี้นิพพานแล้ว แกงนิพพานแล้ว ข้าวนิพพานแล้ว มากินกันได้ หรือไฟที่เราก่อเอาไว้ลุกโพลงเพราะเราทิ้งไว้จนมอด หรือเอาน้ำไปดับ ความร้อนคลายไปมันก็เย็น นี่เขาเรียกว่า นิพพาน นี่เป็นความหมายของคำว่า นิพพาน โดยภาษาธรรมดา แต่พอเรานึกถึงในแง่ของภาษาธรรมะเมื่อมาปฏิบัติธรรม คำว่าความเย็นที่พูดในภาษาธรรมดามันเป็นความเย็นของเรื่องข้างนอก แต่บัดนี้เมื่อพูดในภาษาของธรรมะ หรือในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ความเย็นในที่นี้ก็คือความเย็นที่จะเกิดขึ้นภายใน และความเย็นภายในนี่แหละที่มนุษย์ปรารถนากันนัก เพราะว่าในชีวิตของเรา เรามักจะร้อนอยู่ตลอดเวลา ร้อนด้วยความอยาก ดิ้นรนด้วยความอยาก กระเสือกกระสนด้วยความอยาก แล้วหยุดมันไม่ได้ และก็คิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา
เพราะฉะนั้นเรื่องของนิพพานนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราได้พูดกันมากเลยนะคะ ก็หวังว่าเรื่องของนิพพานหรือความเย็นที่ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องเดินไปหา แต่มันอยู่ที่การกระทำที่เราจะต้องทำให้ความเย็นนี้ปรากฏขึ้นแก่จิต คือปรากฏขึ้นภายใน ถ้าปรากฏขึ้นภายในเมื่อไหร่ ถ้าหากว่าชั่วขณะชั่วครั้งชั่วคราว ก็เรียกว่าเป็นความเย็นชั่วครั้งชั่วคราว หรือจะพูดเพื่อให้เป็นกำลังใจแก่ตัวเองว่า นี่นะ เราได้ลิ้มรสของนิพพานน้อย ๆ แล้ว มันเกิดกำลังใจว่าในชีวิตนี้มีหนทาง มีหนทางที่จะพัฒนาหรือกระทำให้สิ่งที่เป็นความเย็นนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่สิ่งสุดเอื้อมตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ แล้วก็เดินให้ถูกหนทาง ก็มีหนทาง มีโอกาสที่จะทำความเย็นคือ นิพพาน ให้เกิดขึ้นในจิต ถ้าจะกล่าวโดยง่าย ๆ ก็คือว่า สิ่งที่มันมาหุ้มห่อจิต ทำให้จิตนี้ไม่สามารถที่จะถึงซึ่งถึงนิพพานหรือความเย็นได้นั้นคืออะไร นึกออกไหมคะอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : กิเลสใช่ไหมครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : “กิเลส” กิเลสที่เกิดตามอำนาจของความอยากหรือตัณหา ตัณหาที่อยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องพยายามปัดเป่า หรือว่าทำลายการห่อหุ้มของมันให้พ้นไปเสียจากจิตของมนุษย์ สิ่งนั้นก็คือ “อวิชชา”
อวิชชา ก็คือ สภาวะของความไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ หรือสภาวะของจิตที่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เราก็พูดกันมามากแล้วใช่ไหม รู้สารพัดรู้ จนกระทั่งรู้มากยากนาน ทำไมถึงยากนาน เพราะว่ายิ่งรู้ยิ่งร้อน ไม่ใช่ว่ายิ่งรู้ยิ่งเย็น นี่ก็คือการรู้ต่าง ๆ สารพัดรู้ แต่ปราศจากความรู้ในสิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่ควรรู้คืออะไร
ผู้ดำเนินรายการ : วิชชา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : วิชชา คือปัญญา ที่ต้องมาพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้น วิชชาในที่นี้ก็จะเกิดจากการที่เราศึกษาธรรมชาติ จนกระทั่งเรารู้ในเรื่องของกฎของธรรมชาติ นั่นก็คือความรู้ในเรื่องของธรรมชาติ ในเรื่องกฎของธรรมชาติ จนกระทั่งมีวิชชา ช ช้างสองตัวนะคะ เกิดขึ้นในจิต และวิชชานี่แหละก็คือปัญญา หรือแสงสว่างที่จะมาสาดไล่ความมืดที่เกิดเพราะอวิชชาครอบงำจิตให้หมดไป แล้วจิตนี้ก็จะมีแต่ความสว่าง และก็มีความเย็น เพราะฉะนั้นนิพพานนี้ก็จึงเป็นสิ่งที่จะต้องรู้จักให้ถี่ถ้วน ให้ถ่องแท้ เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง ถ้าแจ้งในนิพพาน ก็คือหมายความว่า เราแจ้งแล้วซึ่งความดับแห่งความทุกข์ มันมีลักษณะอย่างนี้
นิโรธ คือสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง ก็คือแจ้งในการที่จะทำความเย็นให้เกิดขึ้นในจิต เรียกว่าเป็นลำดับ ๆ ไป จนกระทั่งถึงความเย็นถึงที่สุด เพราะฉะนั้นอันนี้จึงอยากจะขอย้ำในเรื่องของ “นิโรธ” และก็ในเรื่องของ “นิพพาน” ว่าเป็นสิ่งไม่ไกลเอื้อมของมนุษย์เลย มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำความเย็นให้เกิดขึ้นในจิต และก็เย็นจนถึงที่สุดได้ วันนี้เราก็จะพูดกันต่อไปถึงเรื่องของอริยสัจข้อที่ ๔ ซึ่งเรียกว่า มรรค
มรรค หรือหนทาง แต่เราจะขอใช้คำว่า “อริยมรรค” เพราะไม่ใช่หนทางธรรมดาแต่เป็นหนทางอันประเสริฐ หนทางที่ผู้ใดดำเนินแล้วก็จะดำเนินไปสู่การดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระ ปราศจากข้าศึก คือปัญหาหรือความทุกข์ที่จะมารบกวนด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นอริยมรรคจึงเป็นหนทางอันประเสริฐที่มนุษย์ทุกคนพึงศึกษา พึงทำความเข้าใจ แล้วก็พึงเดินไปตามหนทางนี้ เรียกว่าดำรงชีวิตอยู่บนหนทางของอริยมรรค แล้วชีวิตนี้จะมีแต่ความปลอดภัยอย่างแท้จริง
อริยมรรค ก็เชื่อว่าคงได้ทราบกันแล้วว่ามี ๘ องค์ อริยมรรคจะต้องประกอบด้วยองค์ ๘ เสมอ แล้วก็ “อริยมรรคมีองค์ ๘” นี้ จะต้องเริ่มต้นด้วยคำว่า “สัมมา” ส เสือ ไม้หันอากาศ ม ม้า และก็ ม ม้า สระอา “สัมมา” ก็คือ ถูกต้อง ความถูกต้อง และความถูกต้องในที่นี้ หมายถึง ความถูกต้องที่เป็นไปเพื่อนิพพาน หรือความเย็น เป็นไปเพื่อนิพพานคือความเย็น เราเห็นจะต้องพูดถึงเรื่องของอริยมรรค เริ่มต้นเป็นองค์ ๆ ไปก่อนนะคะ
จากองค์แรก ก็คือ “สัมมาทิฏฐิ” คำว่า ทิฏฐินี้ แปลก็คือแปลว่า “ความเห็น”อันที่จริงมนุษย์เราก็มีความเห็น คือมีทิฏฐิกันทุกคน มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับตัว แต่ว่าความเห็นนี้บางครั้งมันก็ถูกต้อง คือเห็นแล้วมันทำความเย็น ทำความราบเรียบ หมดปัญหา แต่ว่าบางครั้งพอมีความเห็นแล้ว มันกลับทำให้เกิดความร้อนขึ้นในใจ อย่างนั้นมันก็เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ถ้าลองนึกดู พอเราจะพูดจะคุยสนทนาด้วยเรื่องอะไร เรานั่งกันอยู่กี่คน มันก็มีจำนวนทิฏฐิเท่านั้น เหมือนอย่างนี้เรานั่งกันอยู่ ๘ คน เราก็มี ๘ ทิฏฐิ ถ้าเผอิญเรามาจากที่ต่าง ๆ กัน แต่ถ้าหากว่าเรามาจากที่แวดล้อมอันเดียวกัน ได้รับการศึกษาอบรมมาในทำนองเดียวกัน ทิฏฐินั้นมันก็จะไม่สู้แตกต่างกันมากนักในหลักการ อาจจะแตกต่างกันก็ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะฉะนั้นอริยมรรคนี้จึงจะต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า สัมมา และองค์แรกก็คือ “สัมมาทิฏฐิ” คือ ความเห็นที่ถูกต้อง
ความเห็นที่ถูกต้องนี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็แน่นอนแหละ พอเราได้ยินได้ฟัง หรือว่าได้อ่านได้รู้อะไรมา ธรรมดาของคนที่มีสติปัญญา ก็คือไม่ใช่คนโง่ ก็จะต้องนำสิ่งที่ได้รู้ได้ยินได้ฟังนั้น มาคิด มาใคร่ครวญใช่ไหมคะ คิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง จนกระทั่งสรุปออกมาเป็นความเห็นว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้ใช่หรือเปล่า
เหมือนอย่างเช่นเราพูดกันถึงว่า “ความอยาก” ตัณหานี้ มันเป็นต้นแหตุของความทุกข์จริง ๆ เลย พอได้ฟังทีแรกก็อาจจะไม่ยอมรับ ไม่อยากจะรับ มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเรา “อยาก” น่ะสิ จึงทำให้เรามีกำลังใจ หรือกระตุ้นเราที่จะให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าไม่อยาก มันก็งอมืองอเท้ากลายเป็นคนขี้เกียจและก็เฉยเมย ชีวิตนี้ก็ไม่ก้าวหน้า ก็ไม่เดิน ก็อยู่กับที่ พอฟังทีแรกก็อาจจะมีปฏิกิริยามีความรู้สึกอย่างนั้น แต่หยุดพักนิดหนึ่งแล้วก็ลองนำเอาเรื่องนี้มาใคร่ครวญว่าจริงไหม ที่ชีวิตนี้มันร้อนเพราะความอยาก เพราะตัณหาที่ต้องการสิ่งโน้นสิ่งนี้ จนบังคับให้ชีวิตต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ก็ลองมาคิดใคร่ครวญ ใคร่ครวญกับอะไรล่ะ ใคร่ครวญกับของจริงหรือของหลอก ก็ชีวิตที่ผ่านมาเคยพบบ้างไหมคะ ว่าความอยากมันเป็นอย่างไร แล้วไม่อยากแล้วมันเป็นอย่างไร เคยพบไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ทุกข์ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันก็ทุกข์น่ะสิ เพราะฉะนั้นที่ว่ามาคิดมาใคร่ครวญกับอะไร ก็คิดใคร่ครวญกับของจริงสิคะ จะไปหาของหลอกทำไม ทุกคนเคยพบทั้งนั้นเลยในชีวิต ก็มาคิดใคร่ครวญกับประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาว่าจริงไหม ที่เราทุกข์ เราร้อน เราดิ้นรน เรากระเสือกกระสนไม่มีวันสงบเย็น เรากระเสือกกระสนเพราะอยาก ตัณหาความอยากด้วยอำนาจอวิชชาที่ครอบงำนี้ มันผลักดันเราให้จะเอา ๆ ท่าเดียว ทำตามที่กิเลสมันบอก เพราะอวิชชามันบงการอยู่ เสร็จแล้วพอเอาไม่ได้ก็ฟาดหัวฟาดหาง ขัดเคืองโกรธแค้น ทำอย่างไรถึงจะได้ และก็อย่างไรก็ยังไม่ได้ ก็มาเที่ยวคิดวนเวียนวิ่งวุ่นเหมือนสุนัขไล่กัดหางตัวเองอยู่ตลอดเวลา จิตมันก็เลยหมุน มันก็เลยร้อน มันก็วุ่นวาย มันไม่ได้มีความสงบ ลองมาใคร่ครวญดูว่าจริงไหม จริงหรือเปล่า ใช่หรือเปล่า ใช่ไหมคะ
ใช่ พอใคร่ครวญดูแล้วมันไม่ใช่อื่น นี่ไม่ใช่เพราะว่ามาพูดเพื่อบอกให้ท่านผู้ชมเห็นว่าใช่ แต่ขอเชิญชวนท่านผู้ชมลองใคร่ครวญดูเองนะคะ เราทุกคนได้ประสบ มีประสบการณ์จากสิ่งนี้ในชีวิตขึ้นมาตลอดเวลา ก็โปรดใคร่ครวญดูว่าใช่ไหม ถ้าหากว่าใช่ เราสรุปแล้วก็ อ้อ มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น คือมีความเห็นที่ถูกต้องเกิดขึ้นว่า จริงทีเดียวว่าชีวิตที่ร้อนนี้ มันเป็นเพราะเหตุว่าเราหมกมุ่นยอมตนเป็นเหยื่อของตัณหา หรือความอยากตลอดเวลา และก็ยังได้ยินมาอีกว่า ถ้าหากว่าไม่อยากร้อน อยากหยุดความทุกข์ อยากหยุดปัญหา อยากมีความเย็น จงรู้จักทำอะไร
อยากก็อยากเถอะ แต่ “ให้อยากด้วยสติปัญญา” เพื่อจะได้สามารถทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ได้ จะได้รู้ว่าสิ่งที่เหลือสิ่งที่ควรกระทำเพื่อไม่ทุกข์ ก็คือการทำหน้าที่ ทำโดยไม่ต้องหวังและไม่ต้องจิบยาพิษทีละน้อย ๆ ให้จิตนี้มันชอกช้ำขมขื่นจนหมดกำลังอ่อนเปลี้ย นี่เราได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ แหม มันก็ยากนะ เพราะทำหน้าที่เหน็ดเหนื่อยใช่ไหมคะ ทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจ แล้วจะไม่ให้หวังมันอย่างไรอยู่ มันไม่ยุติธรรมเลย เราอาจจะบอกอย่างนั้น ไม่ยุติธรรมเลย ไม่ให้หวังด้วย มันจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ต้องใคร่ครวญอีกใช่ไหมคะ ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรียกว่ามีมันสมอง เราก็ใช้มันสมองให้ถูกต้อง ใคร่ครวญไตร่ตรองสิ จริงไหมว่าทุกข์ที่เกิดนี้เพราะเราหวัง ทำหน้าที่จริง ทุ่มเทด้วยความอุตสาหะเสียสละ เรียกว่าเสียสละอย่างเต็มที่ แต่เสร็จแล้วก็ยังทุกข์เพราะ “หวัง” ใช่ไหม แต่ถ้าเราเปลี่ยนสักนิดเดียว เรียกว่าหมุนปุ่มสักนิดเดียวเท่านั้นเอง ทีนี้เราจะฝึกทำหน้าที่อย่างเต็มที่โดยไม่หวัง มันคงจะมีบางวันเหมือนกันที่เราเคยทำอย่างนั้น พองานเสร็จในวันหนึ่ง แหม มันชื่นบานแจ่มใส หัวเราะได้ ตั้งแต่เริ่มทำงาน ระหว่างทำงาน จนงานเสร็จ ไม่มีหน้าบึ้งหน้างอ ไม่มีหงุดหงิดอึดอัด เคยมีไหมคะ ถ้าหากเรานึกดูว่าทำไมวันนั้นเราถึงไม่เป็น ทำไมเราถึงรู้สึกหัวเราะสนุกสนานได้ เพราะเราสนุกในการทำงาน ทำไมถึงสนุก ทำไมความสนุกจึงเกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะวันนั้นน่ะ นึกให้ดีนะคะ มีตัวเข้าไปทำงานไหม มีตัวฉันเข้าไปทำงานไหม วันที่สนุกสนานน่ะ มีไหม ลองนึกให้ดี ๆ ไม่มี ลืม ลืมตัว ที่เราบอก โอ้ยตาย วันนี้งานเสร็จเมื่อไหร่ไม่รู้ตัวเลย ใช่ไหม เคยใช่ไหม ไม่รู้ตัว ก็ตัวนี้ล่ะมันไม่รู้เลยว่างานเสร็จเมื่อไหร่ เพราะมันสนุกในการทำงานจนมันลืมไปหมดเลย นี่แหละวันนั้นไม่มี “ตัว” เข้าไปทำงาน อัตตานี่มันหายไปไหนไม่รู้ มีความลืมตัว แต่ลืมตัวอย่างนี้เรียกว่าเป็นความลืมตัวในภาษาธรรม เพราะว่ามันละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตนนี้ออกไป ถ้าลืมตัวในภาษาโลกไม่ดีแน่นอนใช่ไหม ยโสโอหัง ความลืมตัวในภาษาโลกนี้ หรือภาษาคนนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากอะไรคะ ก็เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวนี้ใช่ไหม
เมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในตัวนี้เราก็แบกหามมันอยู่ตลอดเวลา เราก็ลืมมันไม่ได้ และก็เห็นแต่ความดี ความเก่ง ความวิเศษของตัวนี้อย่างเดียว อะไรที่บกพร่องที่ไม่ดี มองไม่เห็น เพราะมันเป็น “ตัวของฉัน” เห็นไหมคะ ความรักตัว ให้อภัยตัว เข้าข้างตัวเอง ก็เห็นแก่ตัวนั่นเอง ไม่ใช่อะไรอื่น แต่วันไหนที่เราลืมตัว ทิ้งตัวนี้ มันก็ไม่มีมาตรฐานของฉัน ไม่มีความถูกต้องของฉัน ไม่มีความรู้ประสบการณ์ของฉัน มันมีแต่ทุ่มเทลงไป รู้เท่าไหร่ทุ่มเทลงไป ประสบการณ์มีเท่าไหร่ทุ่มเทลงไป ความสามารถ ความถนัด ทุ่มเทเต็มที่ลงไปเพื่อการทำงาน แล้วก็ทำด้วยความรอบคอบ ด้วยความสนุกสนาน ไม่คอยวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่คอยจับผิด คนนั้นขี้เกียจ คนนี้ชุ่ย คนนี้ไม่ทำให้เต็มกำลัง คนนั้นไม่ไหวเลย มันสักแต่ว่าจะมาเอาเงินอย่างนี้ มันจะไม่คอยจับผิด ไม่วิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้จิตนี้หงุดหงิด ดังนั้นมันก็เลยสนุก เคยใช่ไหมคะ ท่านผู้ชมก็คงเคยพบและเคยมีวันเช่นนี้ในชีวิตไม่มากก็น้อย และดิฉันเชื่อว่ามีมากกว่าครั้งเดียวในชีวิตของการทำงานที่ผ่านมา มีหลาย ๆ ครั้ง นั่นแหละคะ นี่แหละคือการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่โดยไม่หวัง มันวิเศษอย่างนี้ มันวิเศษตรงที่มันมีแต่ความเย็น ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน และก็มีแต่มิตรรอบข้าง เราจะได้มิตรเพิ่มขึ้น ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น กัลยาณมิตรเกิดขึ้นมา เพราะว่าเรามีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความให้อภัยกัน มีความช่วยเหลือเกื้อกูล ทำนองถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน นี่แหละค่ะการทำงานเพื่อหน้าที่ คือทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ มันเป็นอย่างนี้ เพราะทำด้วยความลืมตัว ไม่มีตัวเข้ามาทำ นี่นะคะ ถ้าเราได้ยินเขาพูด เขาบอก เราก็ลองมาใคร่ครวญตริตรองดู พร้อมกับมาสอบสวนกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และก็สรุปลง เออ มันจริงไหม จริง
การที่เราจะทำงานโดยไม่ต้องอยาก ไม่ต้องหวัง เพื่อจะไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน มันถูกต้อง และก็ลองทดลองทำงานทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แล้วพอทำได้ เออ มันก็ถูกต้อง ก็สรุปมาเป็นความเห็น และก็ความเห็นเพื่อไว้ใช้เป็นหลักการ เพื่อไว้ใช้กับตนเอง และก็อาจจะยังแนะนำบอกกล่าวลูกหลาน เพื่อนฝูง พี่น้องต่อไปอีก นี่คือสัมมาทิฏฐิ
“สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งท่านจัดว่า สัมมาทิฏฐิ นี้มีความสำคัญมากเลย ท่านเปรียบเสมือนกับรุ่งอรุณ ถ้าสมมติว่าเช้าวันนี้พอเราลืมตาขึ้น เราเห็นแสงสว่างสีทองของดวงอาทิตย์ ก็เป็นที่แน่ใจว่าวันนี้จะต้องมีเที่ยงวัน คือมีความสว่างในตอนเที่ยงในตอนกลางวัน ก็หมายความว่า ถ้าเราเดินตามความเห็นที่ถูกต้อง ชีวิตนี้ก็ต้องแจ่มใส จะต้องรุ่งเรืองต้องสว่างแน่นอน แล้วท่านยังเปรียบอีกว่า สัมมาทิฏฐิ นี้เปรียบเสมือน “เข็มทิศ” หรือเปรียบเสมือน “แผนที่” ทราบใช่ไหมคะว่าเข็มทิศมีความสำคัญอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : นำทาง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นำทาง ผู้ที่เดินเรือ หรือผู้ที่ขับเครื่องบิน หรือแม้แต่ว่าการเดินทางอย่างอื่น ๆ ก็ตาม ก็จำเป็นที่จะต้องมีเข็มทิศเพื่อไม่ให้หลงทาง เพราะฉะนั้นอย่างคนเดินป่าก็ต้องมีเข็มทิศ ฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดมีเข็มทิศของชีวิต คือมีสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นเสมือนเข็มทิศของชีวิต จะไม่มีวันหลงทาง มีแผนที่อยู่ในมือ ถ้าเผอิญจะเกิดหลงทางที่ตรงไหนก็กางแผนที่ ก็จะรู้ว่าเราจะเดินไปสู่ทิศทางใด นี่คือความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญญาที่เป็นแสงสว่างที่จะสาดส่องไล่ความมืดออกไป สำหรับวันนี้เราก็คงต้องจบเพียงแค่นี้ก่อนนะคะ ธรรมะสวัสดีค่ะ