แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก็อาจจะขลุกขลักหน่อย ต่อไปก็คงจะเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยดียิ่งขึ้นนะคะ อย่างวันนี้เราก็เคาะระฆังช้ากว่าธรรมดาสิบนาที เพราะเห็นใจว่าตั้งแต่ตอนเช้ารายการล่ามามาก รับประทานอาหารแทนที่จะได้รับประทานสักเจ็ดสี่สิบห้า วันนี้เราก็ไปเริ่มต้นเอาแปดโมง เพราะฉะนั้นก็เลยเลื่อนเวลามา แต่วันต่อไปก็จะพยายามให้อยู่ในกำหนดเวลา คงจะมากันพร้อมแล้วนะคะ
ธรรมะสวัสดีแด่ท่านผู้มีความสนใจในเรื่องของชีวิตทุกท่านนะคะ ก่อนอื่นก็จะขออนุญาตใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่ออธิบาย หรือชี้แจงว่าทำไมเราจึงจัดการอบรมด้วยวิธีนี้ เพราะเมื่อได้ยินว่าจะมาปฏิบัติธรรม หรือมาปฏิบัติสมาธิภาวนา บุคคลส่วนใหญ่ก็จะมีความรู้สึกแต่เพียงว่า เราไม่เห็นจะต้องเตรียมตัวอะไรมากเลย เราเตรียมเสื้อผ้าพอสบายๆ แล้วก็มาเพื่อจะมานั่งสมาธิ โดยความหมายที่มองเห็นกันในใจ ก็คือว่ามานั่งสมาธิ แล้วก็หลับตา แล้วก็ภาวนา ภาวนานี่คืออะไร ก็ไม่ทราบนะคะ รู้แต่ว่าหลับตาแล้วภาวนา โดยความโดยทั่วไปมักจะเข้าใจอย่างนั้น แต่คำว่าภาวนานี้แปลว่า ทำให้เจริญ เพราะฉะนั้น การที่จะมาปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือจะมาปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่เพียงแต่จะมานั่งหลับตาเฉยๆ เท่านั้น แต่มันจะต้องมีการกระทำที่จะทำให้เจริญ และเจริญในที่นี้ก็ต้องเจริญที่จิต ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน ฉะนั้นกลวิธี หรือวิธีการมันจึงควรที่จะต้องมีมากกว่าที่จะมาเพียงนั่งภาวนา คือหลับตาแล้วก็ทำความสงบใจเฉยๆ เท่านั้น ไม่เพียงพอ ฉะนั้นการอบรมศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยวิธีอานาปานสติภาวนา หรือถ้าเรียกเป็นโครงการตามที่ท่านครูอาจารย์จากโครงการฝึกหัดครู หรือจาก กทม. ได้ทราบ เราก็เรียกว่าเป็นโครงการชีวิตใหม่ในมือเรา เพราะการที่จะปฏิบัติจิต ปฏิบัติตนให้เจริญด้วยวิธีนี้นั้น อาศัยคนอื่นไม่ได้ ไม่มีใครทำให้ได้ ซื้อขายก็ไม่มีด้วย ไม่มีขายที่ไหน ไม่มีวางตลาดที่ไหน เราจะต้องทำด้วยตัวของเราเอง ผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดกระทำ ผู้นั้นได้ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ไม่ทำเลยก็ไม่ได้เหมือนกัน แม้จะมีหยิบยื่นเหมือนกับอาหารใส่จานมาวางให้ แต่ถ้าไม่หยิบใส่ปาก ไม่เคี้ยว ไม่กลืน ก็ไม่สามารถจะได้รับประโยชน์จากอาหารนั้น นี่ก็เช่นเดียวกันนะคะ ฉะนั้นในวิธีการจัดการอบรมในคราวนี้ เราจึงแบ่งออกเป็นหลายส่วน หรือหลายตอน เห็นจะมีที่ข้างหลังทางด้านโน้นอีกกระมังคะ ท่านผู้ใดนั่งตรงไหนแล้วก็มีที่ว่างช่วยกรุณายกมือให้เพื่อนที่มาทีหลังได้ทราบด้วยค่ะว่ามีที่ว่างอยู่ ช่วยยกมือให้ทราบว่ามีที่ว่าง คุณภูวดลช่วยจัดหน่อยค่ะ
วิธีการจัดการอบรมนะคะ ด้วยวิธีอานาปานสติภาวนานี้ ก็ขอเรียนให้ทราบว่า ข้อแรกที่สุด เราจะต้องอยู่กันอย่างมีวินัย ถ้าเราจะดูอย่างพระไตรปิฎกที่ท่านทรงแบ่งออกเป็นสามภาค ภาคแรกก็คือภาคของพระวินัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก และท่านที่เป็นครูอาจารย์โดยเฉพาะก็ย่อมทราบแล้วว่า ถ้าเราไม่สามารถควบคุมลูกศิษย์ให้มีวินัยของส่วนรวม และก็โดยเฉพาะวินัยในตัวเขาเองได้ เราจะไม่สามารถสอนเขาได้เลย แม้เราจะเตรียมการสอนอย่างดีเยี่ยมเพียงใดก็ไม่สามารถจะถ่ายทอดวิชานั้นเข้าสู่จิตใจของลูกศิษย์ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน แต่เพียงแต่ว่า พระวินัยที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้นนั้นจะกำหนดตามเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้วจึงจะทรงกำหนดวินัยตามนั้น นี่ก็เพื่อให้บรรดาพระสาวกทั้งหลายได้มองเห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้นนั้นมิได้กำหนดขึ้นตามพระทัยของพระองค์ หรือตามความเห็นของพระองค์ว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูก ต้องทำอย่างนี้ พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงต้องการให้พระสาวกทั้งหลายได้มองเห็นเองว่า วินัยที่ต้องกำหนดขึ้นมาแต่ละข้อ ละข้อ ละข้อนั้น มันเป็นเพราะมีเหตุเกิดขึ้น เนื่องจากว่าพระสาวกที่อยู่ร่วมกันนั้นไม่สามารถจะปฏิบัติตนให้อยู่ในความเรียบร้อยได้ ก่อปัญหา ก่อความเดือดร้อนให้แก่เพื่อน จึงกำหนดวินัยขึ้น ทีนี้เมื่อพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้แล้วอย่างดี เราผู้เป็นพุทธสาวก หรือพุทธศาสนิกชน เมื่อจะดำเนินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องของการปฏิบัติจิตตภาวนา เราก็มามองดูว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถที่จะสำรวมกาย สำรวมใจ และก็สามารถจะรวมจิตที่วุ่นวายระส่ำระสาย ระหกระเหิน ไปโน่นไปนี่ ด้วยความคิด ด้วยความรู้สึกอย่างที่เคยเป็นให้เข้าสู่ความสงบได้รวดเร็ว นั่นก็คือ ต้องมีวินัย และวินัยอย่างง่ายที่สุด เราไม่ใช่ผู้บวชอย่างเต็มอัตรา เราก็จึงไม่ต้องมีศีลสิบ หรือว่าศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด และเราไม่มีภิกษุณี ก็ไม่ต้องมีศีลสามร้อยสิบเอ็ดข้ออย่างนี้เป็นต้น แต่เราขอข้อเดียว คือขอข้อ “อยู่เงียบ”
อยู่เงียบ ก็คือการสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ก็มีอยู่หกอย่าง อินทรีย์หกอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่อินทรีย์ที่สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นอินทรีย์ที่ควบคุมอินทรีย์อื่นๆ อีกห้าอินทรีย์ได้ นั่นก็คืออินทรีย์ที่ชื่อว่า “ใจ” ถ้าควบคุมใจได้ ควบคุมใจให้เงียบได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็พลอยเงียบไปด้วย คำว่าเงียบ ก็คือไม่สอดส่าย ตาก็ไม่สอดส่าย หูก็ไม่สอดส่าย ลิ้น กาย จมูก ก็ไม่สอดส่าย มันรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาตามธรรมชาติ แล้วก็ปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติ เพราะจะพยายามเรียนรู้ และก็ฝึกอบรมควบคุมที่ใจให้เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเพียงสิ่งสักว่าเช่นนั้นเอง เกิดแล้วก็ดับ มาแล้วก็ไป ไม่มีอะไรมากกว่านี้ แต่การที่จะควบคุมใจให้อยู่ในความสงบได้อย่างนี้นั้น เบื้องแรกที่สุด ก็คือต้องควบคุมความเงียบ และก็ความเงียบที่มองเห็นง่ายที่สุด หรือสิ่งที่ทำลายความเงียบที่เห็นง่ายที่สุด ก็คือการพูดคุยสนทนา ซึ่งทุกท่านไม่ว่านิสิตนักศึกษา หรือท่านครูบาอาจารย์ย่อมประจักษ์ชัดในอิทธิพล หรืออิทธิฤทธิ์ของการพูดคุยสนทนาแล้วใช่ไหมคะ พอคุยเข้า มันก็เพลิด มันก็สนุก แล้วแต่ว่าจะคุยเรื่องอะไร ถ้าคุยเรื่องสนุกถูกอกถูกใจ จิตก็ฟู ฟูฟ่องล่องลอย ลิงโลดเพลิดเพลิน ถ้าคุยเรื่องที่ไม่ถูกใจ เรื่องที่ขัดใจ จิตก็ตก เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น อาการของจิตมันจะวุ่นวายระส่ำระสายอยู่ข้างในด้วยความชอบ ไม่ชอบ เราจึงตัดต้นเหตุเสียง่ายๆ ด้วยการขอร้องทุกท่าน โปรดหยุดคุย หยุดสนทนา เพราะการที่มาเข้าค่ายเพื่อจะฝึกศิลปะการพัฒนาชีวิตเช่นนี้ นั่นก็คือผู้ที่มายอมสละแล้ว สละความสนุก สละความเอาแต่ใจตัว สละความที่ชอบจะทำอะไรด้วยการพูดคุย สนทนา หรืออย่างอื่นๆ ก็จึงขอร้องว่า เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ขอได้โปรดรักษาอินทรีย์สังวรโดยเฉพาะใจ ให้ใจเงียบด้วยการหยุดสนทนา หยุดพูดคุย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องขัดเคือง หรือเคร่งเครียดนะคะ โปรดเข้าใจว่า เราอยู่กันอย่างเพื่อน เราอยู่กันอย่างเป็นมิตร เป็นมิตรในทางธรรม เป็นเพื่อนในทางธรรม เรามีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีปัญหาสิ่งใดเกิดขึ้น พร้อมที่จะช่วยแก้ไข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งก็มีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมที่มาทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครอยู่ช่วยงานเรา ซึ่งทุกท่านก็ได้พบแล้ว เพราะฉะนั้นมีปัญหาสิ่งใดโปรดบอกได้ทุกคน รวมถึงตัวดิฉันด้วย และเราก็จะได้รีบช่วยแก้ไข ฉะนั้นก็โปรดวางใจว่ามาอยู่ในหมู่เพื่อนนะคะ ถ้ามีสิ่งใดที่เผอิญไม่ถูกอกถูกใจก็ขอได้โปรดให้ทราบ
ฉะนั้นการอยู่เงียบเป็นสิ่งที่เราถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เป็นวินัยที่จะต้องรักษาในระหว่างนี้ ทำไมจึงขอให้อยู่เงียบ ก็เพราะว่าการอยู่เงียบจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้สามารถทำความรู้จักกับตัวเอง ท่านก็มีตัวของท่าน มีชื่อเสียง มีตำแหน่งการงานเป็นที่ปรากฏอยู่ และก็หลายท่านก็จะบอกว่า ฉันรู้จักแล้วตัวของฉันเอง ฉันรู้จักแล้ว แต่จะรู้จักแล้ว หรือยังไม่รู้จัก ก็อยากจะขอให้ใช้เวลาสิบเอ็ดวันที่อยู่ที่นี่ ลองสำรวจดู ทำความรู้จักกับใจของเราเองดู เพื่อจะดูให้จริงสิว่า เรารู้จักตัวเราเองจริงหรือเปล่า ที่รู้จักก็มักจะรู้จักว่า ฉันเป็นคนเก่ง เรียนอะไรไม่เคยพลาด เอนี่กล้วยมาก เอบวกละก็ต้องใช้ความพยายามหน่อย ฉันเป็นคนสวย โอ! ฉันเป็นคนหล่อ ไปที่ไหนเหรอ เขามาเที่ยวขอให้เป็นนายแบบนางแบบ ฉันต้องยืนอยู่แถวหน้า บางทีรู้จักฉันเป็นคนเก่ง ฉันเป็นคนสวย ฉันเป็นคนหล่อ ฉันเป็นคนรวย ฉันเป็นคนดี รวมความแล้วฉันวิเศษในทางบวก แต่เคยมองบ้างไหมคะ จริงๆ แล้วตัวนี้ ตัวตนนี้มีอะไรอะไรที่เป็นทางลบอยู่ตั้งเยอะแยะเลย แต่มนุษย์ส่วนมากไม่กล้าสำรวจ ไม่กล้ามองเข้าไป เพราะอะไร กลัวพบ กลัวพบสิ่งที่มันไม่น่าพึงปรารถนา สิ่งที่เราตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคนอื่นเขา เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วก็ไม่พอใจ แต่ว่าเราไม่กล้า ในขณะที่ว่าคนอื่นบางทีมันก็มีอะไรสะกิดบอกเหมือนกัน เราก็เป็นอย่างนั้นนะ แต่กลบมันเสียว่าฉันดี ไม่ยอมรับ ถ้าหากว่าตราบใดที่ยังไม่รู้จักใจของตนเอง ก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนา
เพราะฉะนั้นการอยู่เงียบ ก็คือการให้โอกาสทุกท่านได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง คุยกับตัวเอง ตอนนี้ละค่ะเป็นโอกาสให้คุยกับตัวเอง เราคุยกับผู้อื่นมามากมายนักหนาแล้ว บัดนี้ลองคุยกับตัวเองบ้าง คุยโดยไม่มีเสียง คุยด้วยการจ้องดูเข้าไปข้างใน ด้วยความรู้สึก นี่เป็นวิธีที่เราจะศึกษากัน ฝึกปฏิบัติกันที่นี่ เปลี่ยนจากการคิด เป็นการดู ถ้าการคิดเราจะใช้สมอง ใช้ไอคิวสูงๆ นั่นแหละคิด และก็คิดไปตามความรู้ ตามประสบการณ์ที่เราเคยมี คุ้นเคยอยู่ แต่บัดนี้เราหยุดคิด เพราะการคิดนั้นบางทีมีอคติเจือปนโดยไม่รู้ตัว และถ้าจะพูดไปมีอคติเจือปนอยู่เป็นอันมากเลยค่ะในการคิดนั้น เพราะมันผสมด้วยความเคยชิน เคยชินจากสิ่งแวดล้อม จากการอบรม จากการศึกษาเล่าเรียน จากประสบการณ์ที่เคยพบมา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่คิด เราหยุดคิด ในขณะที่มาอยู่ที่นี่สิบเอ็ดวันนี่นะคะ หยุดคิด แต่เปลี่ยนจากวิธีการศึกษาด้วยการคิดเป็นการดู ย้อนดูเข้าไปข้างใน ดิฉันทำมือว่าย้อนดูเข้าไปข้างใน ถ้าจะถามว่าดูเข้าไปที่ไหนข้างในนี่ ไปดูที่ตับ ที่ปอด ที่หัวใจ ที่ม้าม ที่ลำไส้ ที่กระเพาะอย่างนั้นหรือ เปล่า ไม่ใช่ดูในสิ่งที่เป็นวัตถุ หรือเป็นอวัยวะ แต่ดูเข้าไปในสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ เข้าใจใช่ไหมคะ ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นในใจตลอดเวลา เดี๋ยวชอบ เดี๋ยวไม่ชอบ เดี๋ยวถูกใจ เดี๋ยวไม่ถูกใจ เดี๋ยวเอา เดี๋ยวไม่เอา เดี๋ยวก็ซัดส่ายยกขึ้นยกลงไปซ้ายไปขวาตลอดเวลา ดูลงไปที่ความรู้สึกที่มันชอบเกิดในลักษณะนั้นบ่อยๆ ในใจของเรา ดูลงไปที่ตรงนี้ค่ะ ซึ่งถ้าหากว่าเราต้องคิดวุ่นวาย เราต้องยุ่งกับข้างนอก เราไม่มีเวลาดู เพราะฉะนั้นดูเข้าไปที่ความรู้สึก และการอยู่เงียบจะช่วยให้การดูชัดเจน แจ่มแจ้ง ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติได้มากขึ้น เราจึงต้องอาศัยการอยู่เงียบ เหมือนกับเรานั่งที่ข้างสระน้ำ ในขณะที่น้ำมันไหวพลิ้ว เพราะลมพัดบ้าง เพราะปลาว่ายบ้าง เพราะใครเอาก้อนหินโยนลงไปในบ่อน้ำ สระน้ำบ้าง น้ำมันก็พลิ้วตลอดเวลา เราจะพยายามมองลงไปจ้องลงไปในน้ำ เพื่อจะดูว่าใต้น้ำนี่มีอะไรบ้าง ก็ไม่เห็นชัด ใช่ไหมคะ เราไม่เห็นชัด เพราะน้ำมันพลิ้ว มันไหวอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่ง ลมสงบ ปลาหยุดว่าย ไม่มีใครเอาอะไรมาโยนลงไปในบ่อนั้น น้ำนิ่งสงบ ที่เป็นตะกอนก็ค่อยๆ ลงไปข้างล่าง มีความใส นั่นแหละ เมื่อเรามองลงไปในน้ำ เราจึงจะมองเห็นว่าในน้ำนั้นมีอะไร มีปลาเงินปลาทอง มีก้อนหินก้อนกรวด หรือว่ามีสัตว์อะไรที่มันแอบอาศัยอยู่ที่ตรงไหนบ้าง เราจะเริ่มมองเห็น เช่นเดียวกับจิต เมื่อจิตนี้เริ่มเงียบ เงียบจากความคิด จากความรู้สึก เงียบจากความจำได้หมายมั่นในอดีต เงียบจากความกังวลในอนาคต มันเงียบ มันเฉย มันไม่เอาอะไร มันหยุดนิ่ง จิตนั้นจะเริ่มสงบ แล้วก็ใส แล้วก็เกลี้ยงก็ได้ในชั่วขณะนั้น ตอนนี้แหละค่ะ เราจะมองลงไป เราจะค่อยๆ เห็น อ๋อ! ลักษณะของจิต ใจของเรานี่มันเป็นยังไง เราจะค่อยรู้จักมันยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีการที่เราจะศึกษา เราก็เปลี่ยนจากการคิด เป็นการดู ถ้าดูแล้วจะเห็น ถ้าคิดจะไม่มีวันเห็น ฉะนั้นนี่คือประโยชน์ของการอยู่เงียบนะคะ
นอกจากเราจะมีหลักเกณฑ์ในการอยู่เงียบแล้ว เราก็จัดให้มีการสวดมนต์ทำวัตร ซึ่งท่านก็คงได้ยินเกี่ยวกับเรื่องของประโยชน์สวดมนต์ทำวัตรบ้างแล้ว จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้การสวดมนต์ทำวัตรนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติทางจิต เพราะบทสวดมนต์นั้นมีคำอธิบายเป็นภาษาไทย ซึ่งเราเคยสวดมนต์เป็นภาษาบาลีมาตั้งแต่เล็ก เราไม่รู้ไม่เข้าใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร กลายเป็นว่าสวดมนต์แล้วมันขลัง เหมือนอย่างเวลาที่ทำน้ำมนต์ ก็ถือว่าเป็นขลัง เพราะเราไม่รู้ แต่การที่สวดอย่างไม่รู้ประโยชน์มันไม่ได้เท่าที่ควร เราใช้บทสวดมนต์แปล ถ้าหากว่าในขณะที่สวด ทุกท่านปล่อยใจที่เงียบสงบนี้ให้ซึมซาบไปในถ้อยคำในบทสวดมนต์ แต่ละคำ แต่ละคำ แต่ละคำ อย่างสวดทำวัตรเช้าเมื่อเช้านี้นะคะ ทุกบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทสรรเสริญพระรัตนไตร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะแสดงถึงกฎของธรรมชาติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เราได้เข้าใจชัดเจนในบรรยากาศที่สงบเงียบด้วย ฉะนั้นการที่เราให้มีการสวดมนต์ทำวัตรเพื่อประโยชน์อันนี้ เพื่อส่งเสริมให้จิตนั้นเงียบได้เร็วขึ้น สงบได้เร็วขึ้น แล้วก็จะมีความเข้าใจในธรรมะได้เร็วขึ้นด้วย การอ่านบทธรรมก็เช่นเดียวกัน ก็ได้พยายามเลือกเฟ้นบทธรรมที่จะสนับสนุนในการส่งเสริมการปฏิบัติ ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องของธรรมะ แล้วก็บางทีก็จะเป็นการที่จะแนะชี้หนทางของการปฏิบัติว่าควรจะกระทำอย่างใดจึงจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น สรุปแล้วก็คือให้กำลังใจในการปฏิบัติ แต่การให้กำลังใจนี้ก็อาจจะมีทั้งชี้แนะ และก็อาจจะมีทั้งขู่ขนาบ ซึ่งท่านผู้เป็นครูอาจารย์ก็ทราบ นี่เป็นวิธีการในเรื่องของการให้ความรู้ หรือการให้การอบรม บริหารกายบริหารจิต ท่านก็ได้ทดลองแล้วเมื่อเช้านี้ ก็จะเห็นว่าการบริหารกายบริหารจิตนั้นนอกจากประโยชน์ที่จะให้ บริหารกายให้ว่องไวกระฉับกระเฉงแล้ว ก็ยังผู้ที่แนะนำในเรื่องของบริหารกายบริหารจิตก็ยังได้พยายามที่จะใช้วิธีการบริหารกายนั้นผสมผสานกับวิธีการปฏิบัติอานาปานสติ ก็เป็นการส่งเสริมให้เกิดความชำนาญ และก็ให้เห็นว่าการปฏิบัติอานาปานสตินี้สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นจะต้องเมื่อนั่งสมาธิอย่างชนิดเป็นทางการเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ เราก็ยังมีการฝึกปฏิบัติทั้งสี่อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เพราะสี่อิริยาบถนี้เป็นอิริยาบถธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แต่เราจะเน้นในสามอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง มากกว่านอน เพราะเชื่อว่าในเรื่องของนอนปฏิบัตินั้น ทุกท่านคงจะมีความชำนาญอยู่ เราจึงคิดว่าท่านจะใช้อิริยาบถนี้ดีที่สุดเมื่อตอนที่พร้อมที่จะล้มตัวลงนอน ก็ฝึกการปฏิบัติในอิริยาบถนอน คือนอนสมาธิภาวนา นอกจากนี้ในการจัดตารางอบรมนั้น ท่านก็จะมองเห็นว่ามีทั้งการบรรยาย และก็มีทั้งการฝึกปฏิบัติ ที่เรามีทั้งสองอย่างนี้นะคะ เพราะมีความรู้สึกว่าในการที่จะกระทำการสิ่งใดก็ตาม จะไปศึกษาเล่าเรียนในเรื่องใดก็ตาม ความเข้าใจในเรื่องนั้นเสียก่อนอย่างถูกต้องว่าคืออะไร ทำทำไม ทำเพื่อประโยชน์อะไร แล้วผลที่เกิดขึ้นนั้นน่ะจะเป็นอย่างไร นี่เป็นสิ่งจำเป็นทีเดียว ไม่ว่าเราจะเรียนอะไรทั้งนั้น ผู้ที่เป็นปัญญาชนที่มีมันสมองย่อมจะไม่หลับหูหลับตาเรียน ถ้าหลับหูหลับตาเรียนก็เรียกว่าเรียนอย่างงมงายไม่ได้ใช้สติปัญญา ซึ่งไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญา พุทธะ ก็หมายถึงปัญญา หมายถึงความฉลาดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะได้รับพระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะทรงค้นพบสัจธรรมนี้ด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง ศาสนานี้จึงเรียกว่าพุทธศาสนา ฉะนั้นท่านผู้เข้ามาสนใจในการปฏิบัติสมาธิภาวนาของพุทธศาสนาจึงควรจะได้ทราบเหตุผลว่าคืออะไร ปฏิบัติสมาธิภาวนาที่เรากำลังปฏิบัติกันนี้คืออะไร ทำทำไม ทำเพื่ออะไร แล้วจะได้รับผลประโยชน์อย่างใดแก่ชีวิต ถ้าหากว่าเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก็เหมือนกับว่า เรารู้ รู้ว่าเราเริ่มต้นทำไม เริ่มต้นตรงนี้ทำไม กำลังเดินไปหนทางไหน และจุดสุดท้าย คือจุดหมายปลายทางนั้นคืออะไร ก็จะไม่ทำให้เกิดความสงสัยลังเล ไม่ต้องรีรอ ไม่ต้องนึกว่าจะทำดีหรือทำไม่ดี หรือไม่ทำดีนะคะ เพราะฉะนั้นจึงมีการบรรยาย และการบรรยายนี้ก็บรรยายทั้งทฤษฎีของเรื่องอานาปานสติ แล้วก็บรรยายเกี่ยวกับเรื่องธรรมะที่ถือว่าเป็นธรรมะหลักสำคัญๆ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น
ถ้าผู้ใดต้องการจะปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ควรที่จะได้มีความเข้าใจในข้อธรรมเหล่านี้ให้แจ่มชัด เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ เริ่มต้นด้วยการมีวินัย แล้วจากนั้นในภาคที่สองของพระไตรปิฎก ก็คือพระสูตร คำสอนคำอธิบายอย่างละเอียดลออ ทั้งทฤษฎี และวิธีการปฏิบัติ เพื่อจะบอกให้รู้ว่า ผู้ใดปฏิบัติถูกต้องตามนี้ทุกอย่างทุกประการ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อ ผู้นั้นจะพบกับพระอภิธรรม อภิ ก็คือ ยิ่งใหญ่ อภิธรรม ก็คือหมายถึง ธรรมะอันสูง สูงยิ่ง สูงสุด หรือจะเรียกว่าเป็นบรมธรรมนั่นเอง นี่ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่เราพยายามจะเลียนแบบของวิธีการสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางแบบไว้นะคะ รู้สึกอากาศร้อนไหมคะ พยายามลืมความร้อนเสีย ดึงใจเข้าข้างใน แล้วจะรู้สึกว่า ร้อนมันก็ร้อนเช่นนั้นเอง เหงื่อที่หยดมันก็เช่นนั้นเองอีกเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาใจของเราเข้าอยู่ข้างในให้ได้ ดิฉันทำ จำประสบการณ์ครั้งแรกที่สนใจในการปฏิบัติ แล้วก็ไปอยู่เงียบอย่างสำรวมอินทรีย์ หรืออินทรีย์สังวรที่เขาสวนหลวงนี้ได้ ตอนที่ไปตอนนั้นก็ยังทำงานอยู่นะคะ แล้วก็ลางานไป พอไปอยู่ตอนนั้นก็เป็นฤดูร้อน แล้วก็อากาศร้อนอย่างยิ่งที่เขาสวนหลวงนี่ ชื่อว่าเขามันน่าจะเย็น แต่เผอิญเป็นเขาที่กำลังถูกทำลาย เพราะว่ามีผู้ได้รับสัมปทานที่จะไปขุดเขาเอามา เอาอิฐ เอาหินอะไรมาทำถนน เพราะฉะนั้นทั้งร้อน แล้วก็ทั้งเสียงดังจากเสียงโรงงานที่เขาทำเกี่ยวกับการขุดหิน ขุดเขา แล้วก็ยังผงฝุ่นละอองของโรงโม่เขาปลิวมาตลอดเวลา แต่จำได้ว่าตอนนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่รู้สึกรบกวนเลย ยิ่งกว่านั้นกุฏิเล็กๆ ที่คุณแม่เขาสวนหลวงท่านจัดให้ ตอนนั้นท่านยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นกุฏิเล็กนิดเดียว แล้วหลังคาก็สังกะสีไม่มีฝ้าบังเลย ขณะที่นั่งอยู่ในเรือนกุฏิน้อยนั่นนะ เหงื่อนี่แตกโซมๆ ไหลพลั่กๆ อย่างกับอาบน้ำฝักบัว แต่จำได้ว่าใจตอนนั้นไม่มีความรู้สึกสะดุ้งกับความร้อน ไม่เดือดร้อนกังวลกับความร้อน ไม่มีเลย แล้วก็มาย้อนถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่มี อ๋อ! ตอนนั้นกำลังเต็มไปด้วยศรัทธา ศรัทธาที่อยากจะเรียนรู้ว่าธรรมะคืออะไร มันมีประโยชน์อะไรกับชีวิต แล้วมันจะช่วยชีวิตเราได้อย่างไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าได้ประจักษ์ขึ้นมาเองในใจค่ะว่า ความร้อนของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นะมันร้อนเสียยิ่งกว่าอากาศร้อนหลายพันเท่า พันเท่าพันทวีเชียว เปรียบกันไม่ได้เลย อาจจะเป็นเพราะกลัวความร้อนของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ที่มันเดือดร้อนอยู่ข้างในมากกว่าความร้อนข้างนอก ความร้อนข้างนอกเลยไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นขอลองทำใจนะคะ ลองเอาใจของเราเข้าข้างใน เราจะรู้สึกว่าความร้อนที่กำลังรบกวนนี้มันไม่สักเท่าไรเลย มันไม่สักเท่าไรเลยนะคะ ถ้ารู้สึกเมื่อยเพราะว่าต้องนั่งอยู่ในท่าเดียว จะขยับเนื้อขยับตัว เปลี่ยนท่านั่งโปรดอย่าเกรงใจนะคะ ไม่ต้องเกร็งค่ะ โปรดตามสบาย ดิฉันก็ขออนุญาตเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน เพราะว่าขาก็ไม่ค่อยจะทนทานนานนักนะคะสำหรับการนั่งในท่าเดียว
ทีนี้ก็จะได้มาเข้าเรื่องของเรานะคะว่า เมื่อจะมาพูดถึงเรื่องศิลปะการพัฒนาชีวิตด้วยวิธีอานาปานสติภาวนา คำที่เป็นกุญแจ หรือคำที่ว่าเป็นคีย์ในที่นี้ ก็คือคำว่า “ชีวิต” เหมือนดังที่ดิฉันธรรมะสวัสดีต่อทุกท่านผู้มีความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องของชีวิต ทั้งๆ ที่ชีวิตนี่เรามีมานานแล้ว คือ ตั้งแต่ลืมตา ตั้งแต่หายใจ จนอายุเท่านี้นะคะ เราก็เรียกว่านี่เป็นชีวิต แต่รู้จักชีวิตแล้วหรือยัง พอถามว่าชีวิตคืออะไร รู้จักชีวิตแล้วหรือยัง ถ้าจะให้คำอธิบายคำว่าชีวิตสักหน่อย นั่งกันอยู่ร้อยกว่าท่าน คงจะได้คำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ดิฉันคิดว่าจำเป็นที่เราจะต้องพูดกันถึงคำว่าชีวิต ว่าชีวิตคืออะไร มองไปรอบๆ ตัวนี่ค่ะ มองไปรอบๆ ตัว ต้นหมากรากไม้ ดินหญ้า ต้นไม้เล็ก ต้นไม้ใหญ่ ดอกบัวในสระ มีชีวิตไหมคะ มีชีวิต ทำไมเราถึงบอกว่ามีชีวิต เพราะมันกำลังงอกงาม แล้วมันก็แสดงอาการว่ามันจะงอกงามต่อไป มันไม่อับเฉา ไม่ตายเสียในท่ามกลางความร้อน ด้วยเหตุปัจจัยที่ผู้เป็นเจ้าของบ้านให้ความรัก ให้ความเอาใจใส่ ดูแลอย่างดี เพราะฉะนั้น ต้นหมากรากไม้ล้อมรอบตัวเรา มันจึงมีชีวิต เพราะมันแสดงถึงความงอกงาม ทีนี้หันมาดูท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ในศาลานี้ละคะ มีชีวิตไหมคะ มีชีวิตไหมคะ มี ถ้าไม่มีก็มานั่งตรงนี้ไม่ได้นะคะ ทำไมถึงมีชีวิต อะไรคือสิ่งที่แสดงความมีชีวิตของเราแต่ละท่าน ลมหายใจ ก็จะบอกว่า อ้อ! ก็ยังหายใจอยู่นี่ มันก็ยังมีชีวิตอยู่สิ ใช่ เรายังหายใจอยู่ เราก็ยังมีชีวิตอยู่...