แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ธรรมสวัสดีนะคะ
บ่ายนี้ก็จะขอพูดเรื่องของสัปปุริสธรรม 7
ที่นำสัปปุริสธรรม 7 มาพูดเพราะมีความรู้สึกว่าเป็นธรรมะที่จะช่วยให้บุคคลผู้ประสงค์ความสำเร็จหรือความเจริญก้าวหน้าในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมควรที่จะได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ท่านบอกว่าเป็นหลักธรรมที่จะจำเป็นแก่ทุกคนที่ประสงค์จะอยู่อย่างไม่มีอุปสรรค แต่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในวิสัยโลกและวิสัยธรรม นี่คือคุณประโยชน์หรืออานิสงส์ของสัปปุริสธรรม 7 สัปปุริสธรรมก็หมายถึงธรรมะของบัณฑิต สัปปุริสก็คือบุคคลผู้เป็นบัณฑิตบุคคลผู้รอบรู้สัปปุริสธรรมก็คือธรรมะของผู้เป็นบัณฑิต ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 7 ประการ ถ้าพูดสั้นๆ ก็คือเรื่องของ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน แล้วก็บุคคล สัปปุริสธรรม 7 ถ้าพูดย่อๆ จำง่ายๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาลเวลา แล้วก็ประชุมชน บุคคล คือในการที่จะดำรงชีวิตเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหลาย รวมทั้งในการทำงาน ทั้งส่วนตัว ในทางโลกและทางธรรม บุคคลควรจะรู้เรื่องของเหตุ ของผล ของตน ของประมาณของกาล ของประชุมชน ของบุคคล รู้อย่างทั่วถึง แล้วจึงลงมือทำ จะได้เกิดความถูกต้องนะคะ
ข้อที่ 1 ของสัปปุริสธรรม 7 ก็คือ ธัมมัญญู สะกดตรงตัว
ธัมมัญญู คือความเป็นผู้รู้จักเหตุ เหตุในการที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำ ทำตามเขาไป เรื่อยๆ แต่ทว่า ก่อนจะทำอะไร จะต้องมีความเป็นผู้รู้จักเหตุ ว่าเหตุนี้จะให้เกิดผลอะไร คือเมื่อจะลงมือทำอะไร ต้องรู้จักเหตุ ที่ต้องทำ ทำทำไมเพราะอะไร พร้อมทั้งมองดูไปด้วย ว่าผลมันจะเกิดขึ้นยังไง หรือผลที่จะเกิดตามมานั้นคืออย่างไร
ฉะนั้น ธัมมัญญู ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ก็หมายถึงว่า เมื่อจะกระทำการอันใด บุคคลควรต้องมีหลัก คือหลักการนะคะ ในการกระทำนั้น ไม่ใช่ทำอย่างเลื่อนลอย ตามอารมณ์ หรือตามความอยาก ถ้าทำอย่างเลื่อนลอยตามอารมณ์ตามความอยาก มันก็มีผลไปในทางลบ มากกว่าทางบวก หรือผลที่จะถูกต้องก็ยาก มักจะผิดพลาดมากกว่า เพราะไม่ได้คิดการให้รอบคอบ จะไม่ทำอย่างเลื่อนลอย หรือเพียงเพื่อสนองความอยากของตัวเอง พอมันเกิดอยากขึ้นมามันต้องทำ มันหยุดอยู่ไม่ได้ ถ้าทำเพียงสนองความอยาก ในขณะที่ความอยากเข้าครอบงำจิต เหตุผลความถูกต้องย่อมไม่มี ไม่เกิดขึ้นในใจเลยในขณะนั้น ฉะนั้นธัมมัญญูก็หมายถึงว่าต้องมีหลัก มีเหตุ มีจุดมุ่งหมาย ในการกระทำนั้น ด้วยสัมมาทิฏฐิ จุดมุ่งหมายของการกระทำตามเหตุนั้น พยายามไตร่ตรองว่าเป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่นะคะ นี่คือความหมายของข้อหนึ่ง ธัมมัญญู ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายความว่าอย่างนี้
ข้อที่สอง อัตถัญญู อัตถัญญู คือความเป็นผู้รู้จักผล ว่าผลนี้เกิดมาจากเหตุอะไร เท่ากับว่าเป็นการไตร่ตรอง สอบทาน ให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อความไม่ประมาท เพราะในขณะที่คิดถึงธัมมัญญู คือคิดถึงเหตุ ในตอนข้อแรก ก็ได้มองไปถึงผลแล้วว่าผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร แต่ในทางธรรมนั้นท่านพยายามที่จะชี้กระตุ้นให้ระลึกถึงความไม่ประมาท เพราะว่าจะเป็นทางแห่งความตาย ก็คือความผิดพลาด และความทุกข์ก็ตามมา จึงให้ไตร่ตรองซ้ำ เพื่อเป็นการสอบทานย้ำให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง ว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นมันจะเป็นอย่างนี้ ไปได้จริงจริงหรือไม่
ทีนี้ข้อที่สามอัตตัญญู ความเป็นผู้รู้จักสถานะแห่งตน ความเป็นผู้รู้จักสถานะแห่งตนตามวิสัยโลก ว่ามีอยู่หรือเป็นอยู่อย่างไร การรู้จักสถานะแห่งตนก็หมายถึงว่ารู้จักสมรรถนะแห่งตนสมรรถนะก็คือหมายถึงความสามารถความรู้ความสามารถของตน สมรรถนะความสามารถในด้านความรู้ความถนัดสติปัญญาประสบการณ์ความเข้าใจในเหตุที่จะทำนั้นตลอดจนความสนใจความมีฉันทะความพร้อม เช่น ความมีเวลาความเสียสละอุทิศตนตลอดจนจุดยืนหรืออุดมการณ์แห่งตนทั้งหมดนี้รวมเรียกว่ารู้จักสถานะแห่งตน สถานะแห่งตนก็คือ ความรู้ความสามารถสถานะแห่งตนนั้นอยู่ในระดับไหนอยู่ในแค่ไหน เพียงพอแก่การที่จะกระทำงานตามเหตุที่ต้องการจะทำนี้หรือไม่เพื่อจะให้ได้ผลดังกล่าว ฉะนั้นที่พูดถึงการรู้จักสมรรถนะแห่งตนในด้านต่างๆดังกล่าวมาแล้วนั้นหนักไปในทางเรื่องโลกคือตามวิสัยโลก ถ้าตามวิสัยธรรมอัตตัญญูตามวิสัยธรรมนะคะก็คือ รู้จักพร้อมภายในของตน ความพร้อมภายในก็คือพร้อมด้วยพลังแห่งสติสมาธิและปัญญา ที่จะมั่นคงยืนอยู่ได้ในการที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แห่งเหตุนั้นๆ คือจิตใจมั่นคงไหม พร้อมแล้วหรือยังจิตใจ หรือเป็นจิตใจอ่อนไหว รวนเร กระทบกระเทือนง่าย
นี่คือ รู้จักความพร้อม ตามวิสัยธรรม พูดง่ายๆ ก็คือว่า สามารถทันต่อผัสสะได้มากน้อยเพียงใด ถ้าอยู่เฉยๆ ผัสสะมันก็มีเหมือนกัน เช่น ทางธรรมารมณ์ แต่มันก็น้อย แต่เมื่อประกอบการงานต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นอันมาก ผัสสะมันก็มีพร้อมผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ใจ เข้าสู่ประตูใจ ฉะนั้นความพร้อม ตามวิสัยธรรมก็คือดูข้างใน ความพร้อมตามวิสัยโลกก็ความรู้ความสามารถความถนัดอะไรต่างๆ ดังกล่าวแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ก่อนที่จะทำการอันใดควรจะศึกษาทำการรู้จักตัวเอง อย่างเที่ยงตรง โดยไม่หลงตัวเอง หรือเข้าใจว่าเราดีเราเก่งกว่าที่เราเก่ง หรือเราดี แล้วก็ในขณะเดียวกันก็ไม่คิดหลงไปว่า เราด้อยกว่าเขา นั่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ ไม่ดีทั้งสองทาง ดีก็อย่าหลง ด้อยก็อย่าหลง แต่ดูจริงๆ ว่าจริงๆ แล้วนี่ เราแค่ไหน ทั้งข้างนอกและข้างใน
ข้อที่สี่ก็คือ มัตตัญญู มัตตัญญูคือความเป็นผู้รู้จักอัตรา อัตรานะคะไม่ใช่อัตตา ความเป็นผู้รู้จักอัตราที่ถูกต้องพอดี แห่งกรณีนั้นๆ ที่ตนจะต้องเกี่ยวข้อง รู้จักอัตราที่ถูกต้องพอดีแห่งกรณีนั้นๆ ที่ตนจะต้องเกี่ยวข้อง ซึ่งคำว่าความพอดีมันก็เป็นปัญหาที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องหรือชัดเจนว่า พอดีนั้นคืออะไร ฉะนั้นเพื่อให้การตัดสินความพอดีนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นก็หมายถึงความพอเหมาะพอดีที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา
กระทำไปแล้วมันไม่เกิดปัญหามันเกิดประโยชน์ ปัญหาก็เช่นการโต้เถียงขัดแย้งโดยไม่โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น การต่อต้านหรือความผิดพลาดสูญเสียที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นมันจะต้องเกินไปในทางใดทางหนึ่งหรือไม่เช่นนั้นก็ขาดไปในทางใดทางหนึ่ง มันจึงมีปัญหาตามมา ซึ่งข้อนี้การที่บุคคลผู้ใดจะสามารถมีมัตตัญญูคือรู้จักความถูกต้องพอดีเรียกว่าพอประมาณได้นั้นนี่ยากมากเลยนะคะ ต้องอาศัยประสบการณ์อย่างหนึ่งอาศัยความรอบคอบ ด้วยสติสมาธิปัญญาจึงจะชวนให้เกิดความไม่ประมาทระมัดระวัง ฉะนั้นมัตตัญญูก็หมายถึงความพอเหมาะพอดีที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา เมื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งนั้นย่อมอยู่ในหนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลาง และมัชฌิมาปฏิปทานี้ย่อมมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำทำไมถึงเน้นว่ามีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำท่านทั้งหลายก็นึกออกนะคะว่าเมื่อใดมีมิจฉาทิฏฐิเป็นตัวนำมันจะเอาอะไรเป็นที่ตั้งคะ เอาอะไรเป็นที่ตั้ง ตัวเอง อัตตา เอาอัตตาของตัวเองเป็นที่ตั้งเมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ นั่นก็คือเอาเรื่องของงานเหตุที่จะทำเป็นที่ตั้ง แล้วก็เอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นที่ตั้ง ดึงตัวออกมาเสียได้จากที่นั้นก็จะใช้แต่สติปัญญาสติปัญญามีเท่าใดก็ใส่ลงไปทุ่มเทลงไปการกระทำนั้นก็ชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา หรือถ้าเผอิญจะมีปัญหามันก็น้อยที่สุด
ฉะนั้นที่ว่ามีสัมมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำก็เพื่อที่จะขจัดกิเลสตัณหาอุปาทานที่มันมักจะมีอยู่ตามสัญชาตญาณของมนุษย์หรือธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ให้มาเป็นสิ่งถ่วง ถ่วงอะไร ถ่วงความถูกต้องพอดีไม่ให้สามารถจะทำอะไรให้ถูกต้องพอดีอย่างเป็นกลางเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นที่เราพูดเน้นกันหลายสิบครั้งเรื่องความสามารถ สามารถหรือความพยายามที่จะกระทำการตามหน้าที่อย่างถูกต้องโดยธรรมก็เพื่อให้มันเกิดมัตตัญญูนี่ล่ะค่ะ ถ้าเราหมั่นกระทำโดยไม่มีตัวผู้กระทำได้มากเท่าใด ความเป็นมัตตัญญูก็จะค่อยๆ เกิดมากขึ้นเท่านั้นคือความรู้จักประมาณอย่างถูกต้องพอดีจะค่อยๆ เกิดขึ้นมากเท่านั้น
ข้อที่ห้า กาลัญญู กาลัญญูก็คือความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะสมแก่กรณีนั้นๆตามที่ตนจะต้องเกี่ยวข้อง เหมือนอย่างจำเป็นจะต้องไปหาผู้ใหญ่จะเป็นใครก็แล้วแต่ ก็ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปในเวลาที่รู้ว่าเขาจะต้องรับประทานอาหาร เขาจะต้องพักผ่อน เขาเพิ่งกลับมาจากงานเหนื่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าต้องไปเวลากินนี่แหละดีเพราะว่าหนีไปไหนไม่พ้นยังไงก็ต้องนั่งกิน เพราะงั้นไปเวลานี้ล่ะดีนั่นก็คือความเป็นผู้ไม่มีกาลัญญู เพราะกำลังกินนี่เขาไม่ค่อยอยากต้อนรับ ไม่ใช่หวงกินน่ะแต่มันทำให้การกินเขาระส่ำระสาย เพราะฉะนั้นกาลัญญูคือความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะสม หรือจะจัดการงานก็ต้องดูดินฟ้าอากาศให้มันเหมาะสม อย่างเช่นจะจัดงานกุศลอะไรอย่างนี้เป็นต้นนะคะ ก็หมายถึงความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ ถ้าจะอธิบายกาลัญญูอีกก็คือความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาเทศะ สถานที่ รู้จักทั้งเวลาทั้งสถานที่อย่างถูกต้องพอดี รู้จักจังหวะรู้จักโอกาสที่สมควร การติดต่อทั้งหลายนั้นจัดจังหวะโอกาสเวลาสถานที่อย่างพอเหมาะพอเจาะ การติดต่อนั้นก็ย่อมราบรื่นแล้วก็ได้ผลสมประสงค์เพราะอยู่ในความสบายด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ข้อที่ 6 ปริสัญญู ปริสัญญูคือความเป็นผู้รู้สิ่งที่ควรรู้ ทุกแง่มุมของสังคม รู้สิ่งที่ควรรู้ทุกแง่มุมของสังคมหรือชุมชน หรือประชุมชนที่ตนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ ก็คือว่าเมื่อจะไปเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก คือต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ก็ต้องรู้จักประชุมชนหรือว่าสังคมนั้นอย่างดีว่ามีกี่กลุ่ม มีกี่ชมรม หรือมีกี่แก๊งในชุมชนนี้ในสังคมนี้ เป็นต้น และการที่จะรู้จักประชุมชนก็เลือกดูว่าแง่มุมใดบ้างที่เราควรจะศึกษาทำความรู้จัก เช่น ความสนใจ ชุมชนนี้ กลุ่มนี้เขาสนใจอะไร มีสัก 5 กลุ่ม หรือ 5 ชมรม แต่ละชมรมมีความสนใจเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ท่าทีของแต่ละกลุ่มต่อเหตุการณ์ คือต่อเรื่องที่เรากำลังจะมาทำมาเกี่ยวข้อง ก็มีท่าที มีทัศนคติ คือความรู้สึกคิดเห็นอย่างไร ต้องดูให้ละเอียด แต่ละกลุ่มแต่ละชมรมนั้นมีอุดมการณ์อย่างไร อุดมการณ์แต่ละกลุ่มแต่ละชมรม อุดมการณ์อย่างชนิดที่มีคุณธรรม หรืออุดมการณ์เอาอำนาจเข้าว่า เอากำลังเข้าว่า หรืออุดมการณ์ว่าถ้าพวกฉันเป็นต้องถูกเสมอ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ดูแล้วก็ศึกษา ตลอดจนปัญหา ปัญหาของชมรมนั้น ของกลุ่มนั้น มีอะไรเป็นปัญหาหลัก มีอะไรเป็นปัญหารอง ตลอดไปถึงวิธีแก้ปัญหาว่าพอปัญหาเกิดขึ้น เขาแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้นว่าเขาแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือแก้ปัญหาด้วยความอะลุ่มอล่วย หรือว่ากล้าแก้ปัญหาแบบถอย หรือว่าแบบตั้งรับหรือว่าแบบเดินหน้าชนอย่างนี้เป็นต้น หรือแก้ปัญหาด้วยคุณธรรม เขาเอาอะไรเข้ามาแก้ปัญหา เอาคุณธรรมเข้ามาแก้ปัญหาหรือเอาเงินเข้ามาแก้ปัญหา หรือเอาอำนาจเข้ามาแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราได้รู้จักสังคมหรือชุมชนนั้นชัดเจนขึ้น และการที่จะเข้าไปติดต่อก็จะมีทางหนีทีไล่ที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ แล้วก็ควรจะรู้จักตลอดไปจนกระทั่งถึงอายุ กลุ่มอายุของคนในกลุ่มนี้เฉลี่ยเท่าไหร่ เพศใดมาก ระดับการศึกษาระดับไหน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีพื้นฐานทางคุณธรรมหรือจริยธรรม แล้วก็ต้องดูซ้ำว่าความเป็นไปได้ในการที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ที่ชุมชนนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หรือบางทีอะไรอย่างอื่นมันก็ดูดี แต่ความเป็นไปได้นี่มองหาทางยาก ก็แสดงว่ากาลัญญูก็ยังไม่พร้อมก็จำต้องรอไว้ก่อน นี่คือปริสัญญู
ข้อที่เจ็ด คือข้อสุดท้ายปุคคลปโรปรัญญู ปุคคลปโรปรัญญูนั่นก็คือ ความเป็นผู้รู้สิ่งควรรู้เกี่ยวกับบุคคลแต่ละคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในข้อหกนั้น รู้ประชุมชนกลุ่มชนที่ต้องไปเกี่ยวข้อง ทีนี้เจาะลึกลงไปอีกถึงบุคคลแต่ละคนที่เป็นแกนนำ เป็นหัวหน้า เป็นตัวจักรสำคัญของชุมชนนั้นเป็นต้น หรือเป็นตัวถ่วงของชุมชนนั้น เป็นตัวปัญหาของชุมชนนั้น ศึกษาลงไปรู้จักให้ละเอียดละออในทุกแง่มุมให้มากที่สุดที่จะมากได้ แง่มุมที่ควรต้องรู้จักก็ในลักษณะเดียวกับข้อหก คือการรู้จักประชุมชนอย่างไรก็เอามาศึกษาในแง่ของบุคคล แล้วก็อาจจะเพิ่มเติมเช่น คนนี้มีรสนิยมอะไรเป็นพิเศษ มีทัศนคติต่อชีวิตหรืออุดมคติต่อชีวิตอย่างไรบ้าง เฉพาะตัวเขามีอัธยาศัยยังไง หยาบหรือละเอียด หรือกระด้างหรืออ่อนโยน หรืออหังการมมังการนี่มาก และความเคยชินที่เป็นกิจวัตรของเขามีความเคยชินเป็นกิจวัตรที่กระทำเป็นประจำเช่นอะไร เพื่อว่าการเข้าไปติดต่อก็จะได้สอดคล้องเหมาะเจาะแม้จะเป็นคนแปลกหน้าไม่เคยพบกันแต่ถ้าศึกษาอย่างนี้พอเข้าไปติดต่อก็เหมือนกับว่าได้รับความสนิทสนมความคุ้นเคยมาครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะจะสามารถประสานต่อกับสิ่งที่เขามีหรือเขาเป็นได้โดยง่ายขึ้น แล้วก็ความมีน้ำใจบางคนเขาชอบเรียกว่าเหตุผลกับอารมณ์ แต่เหตุผลกับความมีน้ำใจ ถ้าอารมณ์แล้วก็มันเนื่องด้วยกิเลส ถ้าความมีน้ำใจมันเป็นเรื่องของคุณธรรม แต่ส่วนเหตุผลมันเป็นเรื่องของการวินิจฉัยในด้านของทางโลกถึงปัจจัยอะไรต่ออะไรต่างๆ ว่ามันสอดคล้องรับกันส่งเสริมแก่กันและกัน มันเป็นเหตุเป็นผลที่จะช่วยให้การดำเนินงานนั้นไปได้แต่ในด้านน้ำใจนั้นก็หมายถึงในเรื่องของคุณธรรมที่มีอยู่ นี่ก็พูดถึงสัปปุริสธรรมอย่างชนิดที่เป็นธรรมะกลางๆนะคะว่ามันมีอย่างนี้พอจะทำอะไรเราก็ต้องศึกษาเรื่องเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชนบุคคล ท่องง่ายๆ ซึ่งบางท่านอาจจะทราบมาแล้ว ถ้ายังไม่ทราบก็ท่องเอาคำที่จะเป็นตัวคีย์ของมันเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน บุคคล ส่วนคำที่เป็นบาลีนั้นก็จำเอาตามสมควร ทีนี้ก็จะลองยกตัวอย่างว่าเราจะใช้สัปปุริสธรรมในเรื่องต่อไปนี้อย่างไร เช่นเรื่องการมีคู่ครอง หนุ่มสาวจะเลือกคู่ครองเอง หรือผู้ใหญ่จะเลือกคู่ครองให้ลูกให้หลาน จะใช้สัปปุริสธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้อย่างไร นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ลองคิดเสนอนะคะเพื่อพิจารณาว่ามันจะเป็นไปอย่างนี้ได้ไหม
ข้อแรก ถ้าเราเอาธรรมะอยู่คือเหตุเข้ามาจับก็จะต้องนึกทีเดียวว่า ทำไมถึงต้องมีคู่ครอง มันก็คล้ายคล้ายอริยสัจสี่ทำไมถึงต้องมีคู่ครอง ทีนี้พอพูดอย่างสัปปุริสธรรมก็คือความเป็นผู้รู้จักเหตุ ก็คือจะต้องมีเหตุมีหลักการอย่างไรหรือจุดหมายอย่างไรในการที่จะมีคู่ครอง ไม่ใช่จู่ๆ ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็จับคู่กันไปตามเรื่องตามราว บางทีก็เพราะเหงา บางทีก็เพราะจังหวะโอกาสมันให้อะไรอย่างนี้เป็นต้นนั่นไม่ใช่ นั่นไม่ได้ใช้สัปปุริสธรรม แต่ถ้าเป็นสัปปุริสธรรมก็จะต้องมีหลักการในใจว่าจะแต่งงานทำไม พูดง่ายๆ นะคะ จะมีคู่รักทำไม จะแต่งงานทำไม ซึ่งจากจุดหมายที่ตั้งตั้งคำถามถามตนเองหรือผู้ใหญ่จะถามให้ลูกให้หลานนี่นะคะก็จะมาเป็นเหตุหรือเป็นหลักการให้ใคร่ครวญในข้อต่อไปได้ว่า เช่น หนึ่งเพื่อมีกัลยาณมิตรเป็นผู้ร่วมเดินทางชีวิต คิดอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ว่าผู้ใดก็ตามจะอยู่ในวัยใดก็ตามไม่อยากจะมีคู่สักคนหนึ่ง เคยนึกบ้างไหมว่าเราต้องการกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรก็คือมิตรที่ดีที่พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมปัญหาในทุกกรณี ไม่ใช่เป็นเฉพาะเพื่อนร่วมสุขหรือว่าร่วมสนุก หรือว่าร่วมเล่นร่วมกินร่วมเที่ยว แต่เป็นผู้ที่จะร่วมปัญหากันในทุกกรณีนี่คือมีกัลยาณมิตรเป็นผู้ร่วมเดินทางของชีวิตและเมื่อพูดว่าร่วมเดินทางของชีวิตก็คงไม่ได้หมายว่าเอาล่ะตอนนี้เราอยู่ด้วยกัน ปีหน้าคิดกันใหม่เป็นการทดลองกัน ลองกันก่อน อยู่ด้วยกันได้ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างที่เดี๋ยวนี้คำว่าฟรีเซ็กซ์เริ่มมีมากแล้วก็แผ่เข้ามาบ้างแล้วในบางกลุ่มบางแห่งของเมืองไทย เห็นด้วยไหม
ถ้าหากว่าบุคคลใดเห็นอย่างนั้นก็ย่อมจะรู้สึกเองว่าการกระทำอย่างนี้ไม่แตกต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่คนก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน พอใจก็พบกันประกอบเหตุตามปัจจัยของเขา พอเสร็จแล้วก็แยกกันไปพอไม่ถูกใจก็ฟัดกันต่อไปอีกแล้ว พอถูกใจเมื่อไหร่ก็มาร่วมกันใหม่ ถ้าอย่างนั้นมันไม่ใช่การกระทำของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์นะคะ เพื่อมีกัลยาณมิตรเป็นผู้ร่วมเดินทางของชีวิตก็คือหวังว่าจะเป็นกัลยาณมิตรกันได้ตลอดไปหรือเปล่ามีสิ่งนี้เป็นหลักการในใจหรือเปล่า
นอกจากนี้เพื่อเป็นการรวมพลังพลังของคนสองคนที่มีพร้อมทั้งสติปัญญามีทั้งคุณธรรมอยู่ในใจรวมพลังของคนสองคนที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ไม่ใช่เพียงแต่มาอยู่ด้วยกันเฉยๆ แต่ประสงค์ที่จะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น เพราะมีความรู้หรือว่าสำนึกอยู่ในใจว่าครอบครัวนั้นคือรากฐานที่สำคัญของสังคม ครอบครัวที่เป็นปึกแผ่นสังคมก็เป็นปึกแผ่น ครอบครัวที่อบอุ่นสังคมก็อบอุ่นครอบครัวที่หิวกระหายสังคมก็หิวกระหาย ครอบครัวที่อยู่ด้วยกันด้วยความเบียดเบียน ความเบียดเบียนในครอบครัวมันก็เป็นอนุสัยของสมาชิกในครอบครัวแล้วก็เป็นอาสวะไปเที่ยวเบียดเบียนคนอื่นเขาต่อไปฉะนั้นเราดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัวเราก็ดูได้ว่ามันมาพื้นฐานจากครอบครัวทั้งนั้น
ฉะนั้นเคยนึกบ้างไหมพอจะแต่งงานกันแล้วล่ะก็เพื่อรวมพลังสร้างสรรค์ครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ทำไมถึงต้องการครอบครัวที่เป็นปึกแผ่น ก็เพื่อเป็นการช่วยสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไปด้วยในตัวโดยอัตโนมัติ เมื่อประกอบเหตุปัจจัยด้วยการสร้างครอบครัวที่เป็นปึกแผ่น อบอุ่น มั่นคง ผลก็สะท้อนไปถึงสังคม
จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือเป็นปัญหาแก่สังคมต่อมา นั่นก็เช่นเมื่อมีลูกเต้าเข้า ลูกเต้าก็จะเป็นกำลังแก่สังคมต่อไป เป็นกำลังแก่ครอบครัวนั้นแน่นอน แต่จะเป็นกำลังแก่สังคมต่อไปไม่กลายเป็นปัญหาภาระหนักแก่สังคมที่จะต้องมาช่วยแก้ไขโอบอุ้มค้ำชูเหมือนอย่างที่เราเห็นอยู่แล้วทุกวันนี้ นี่คือหลักการมีอย่างนี้ไหม หรือว่าทั้งสามข้ออย่างนี้ไม่เคยอยู่