แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ปฏิบัติพร้อมกันนะคะ ขอได้โปรดระลึกไว้เสมอว่าการปฏิบัติอานาปานสตินั้น จะต้องเริ่มด้วยขั้นที่1 ก่อนเสมอ แม้จะช่ำชองแล้วเพียงใด พอเริ่มต้นก็เริ่มขั้นที่1 แต่ถ้าช่ำชองแล้วก็ไม่ต้องปฏิบัติในขั้น 1,2,3 นานนัก ก็พอ อยู่ขั้นที่4พอจิตสงบเป็นสมาธิก็จะต่อไปได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังใหม่ ยังเริ่มปฏิบัตินี้ จำต้องปฏิบัติหมวดที่1 โดยเฉพาะขั้น 1,2,3 จนกระทั่งเกิดความชำนาญ ด้วยความไม่เบื่อหน่าย ใจเย็นๆ อย่ารู้สึกว่าต้องอดทน ให้นึกว่าเพื่อประโยชน์ที่เราจะได้ต่อไป ที่จะเป็นรากฐานของการปฏิบัติอย่างมั่นคง สติสมาธิจะได้หนักแน่น ไม่ซวนเซง่ายๆ นะคะ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งในท่าที่สบาย แต่ให้มีความสำรวม นั่งตัวตรงเพื่อให้ลมหายใจผ่านเข้าออกได้สะดวก อย่าทำไหล่ห่อ ถ้าไหล่ห่ออย่างนี้ ลมหายใจก็เข้าไม่ค่อยสะดวก แล้วตัวเราเองก็รู้สึกอึดอัด มันไม่เป็นอิสระ นั่งสบายอกผายไหล่ผึ่ง แต่ว่าผึ่งธรรมดา ไม่ต้องผึ่งจนแข็ง แข็งแล้วมันก็จะเกร็งแล้วก็จะปวดเมื่อยต้นคอ หน้าก็เงยตรง ในระดับพระพักตร์พระพุทธรูป ให้มีความแย้มยิ้มในใบหน้าเล็กน้อย เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย แล้วก็เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน เกิดความรู้สึกสนุก ในการที่จะตามลมหายใจ
การเตรียมพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจก่อนปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญนะคะ ทุกท่านทราบดีจะทำอะไรต้องมีความพร้อม พอพร้อมแล้วอุปสรรคจะไม่ค่อยเกิดขึ้น เช่นความหนักเหน็ดเหนื่อยปวดเมื่อย จะไม่ค่อยมาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นการปฏิบัติ รู้สึกสบายหรือยังคะ สบายแล้วก็หายใจธรรมดา ซ้อม ซ้อมลมหายใจธรรมดาดูก่อนว่าคล่องแคล่วดีไหม ถ้ายังไม่คล่องแคล่วก็ขับไล่ความติดขัดที่มีอยู่ภายในออกไปเสียก่อน ด้วยลมหายใจชนิดไหนก็จัดการเลย แต่คงตามลมหายใจทุกขณะไม่ว่าจะเป็นลมหายใจอะไร สบายๆ ให้เป็นธรรมชาติ
ต่อไปนี้เราเริ่มปฏิบัติขั้นที่1 ด้วยกันนะคะ กำหนดจิตจดจ่อที่ลมหายใจที่เริ่มเคลื่อนเข้าช่องจมูก แล้วก็ตามมันไป ให้สัมผัสกับลมหายใจที่เคลื่อนเข้านั้นทุกระยะ จนถึงระยะสุดท้ายคือมันหยุด ก็หยุดความรู้สึกด้วย แล้วกำหนดความรู้สึกตามออกมาพร้อมกับผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ขณะนี้ลองหายใจยาวสบายๆ ก่อน ตามลมหายใจยาวสบายๆ ทั้งเข้าและออก ตามให้รู้ว่าเข้าถึงไหนออกถึงไหน เข้าอย่างไรออกอย่างไร เปลี่ยนเป็นยาวแรง คงตามลมหายใจด้วยสติ เปลี่ยนเป็นยาวลึก เบา คือผ่อนลมหายใจยาวแรงให้ยาวออกไป ช้าลง ยาวจนถึงที่สุดแล้วจะเป็นยาวลึก ลึกเบา สบายๆ แล้วดูสิมันปรุงแต่งกายอย่างไร กำหนดตามเข้าตามออกให้ตลอดสาย ตามด้วยความรู้สึกที่ประกอบด้วยสติ เปลี่ยนเป็นยาวลึกหนัก หายใจให้เต็มที่ เมื่อรู้สึกเหนื่อยก็ค่อยๆ ผ่อน ให้เบาลง ให้สั้นลง เพื่อให้เป็นยาวธรรมดา ตามลมหายใจยาวธรรมดานั้นด้วยสติ ตามรู้ให้ตลอดสายทั้งต้นและปลาย ทั้งตอนกลาง ขยายลมหายใจธรรมดาให้ช้าลงให้เบาลง สังเกตว่าลมหายใจยาวช้าเบา ปรุงแต่งกายอย่างไร ในขณะที่ตามนั้นสังเกตด้วยความรู้สึกด้วยสติ ขณะนี้เรายังไม่ต้องการความสงบนะคะ อย่าลืมเรากำลังทำการศึกษา ฉะนั้นต้องศึกษาด้วยสติที่ว่องไว เปลี่ยนลมหายใจยาวเบา เป็นยาวลึก เป็นยาวลึกหนัก เปลี่ยนเป็นยาวลึกเบา ยังคงลึกอยู่แต่ให้เบา เบาสบายขึ้น และคงตามมันด้วยสติ ด้วยความรู้สึก เปลี่ยนเป็นยาวแรง มันต่างกับยาวลึกอย่างไร กำหนดรู้ด้วยสติ ผ่อนยาวแรงเป็นยาวธรรมดา ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจให้สั้นเข้า ทีละนิดๆ แล้วเปลี่ยนเป็นหายใจสั้นแรง สั้นแรง สั้นเบา คงตามลมหายใจสั้นนั้น ด้วยสติ ทั้งเข้าและออก อย่างลมหายใจสั้น ให้สามารถตามได้ที่ตอนต้นคือจุดแรก กับจุดสุดท้าย ทำแค่นี้ได้ก็ดีมากแล้ว เพราะลมหายใจสั้น มันเร็ว ตามให้ได้จุดแรกและจุดสุดท้าย เปลี่ยนเป็นสั้นถี่ เปลี่ยนเป็นสั้นเบา สั้นแรง สั้นถี่ สั้นเบา
ต่อไปนี้ปฏิบัติในขั้นที่3 นะคะ ตามลมหายใจ ทั้งยาวและสั้น ทุกอย่างทุกชนิด ให้รู้จักลมหายใจ ทุกอย่างทุกชนิดอย่างทั่วถึง จนสามารถควบคุมได้ บังคับได้ ให้เกิดก็ได้ไม่ให้เกิดก็ได้ ปฏิบัติเองค่ะ ตั้งใจ จะสั้นอย่างไหนยาวอย่างไหน กำหนดรู้ด้วยสติ คงตามอยู่นะคะ ตามอยู่ด้วยสติ เล่นกับลมหายใจให้เต็มที่ในขั้นที่3 เล่นให้สนุก จะได้ไม่รู้สึกเบื่อในการตามลมหายใจ ความสำเร็จของการปฏิบัติขั้นต่อไปขึ้นอยู่กับความชำนาญคล่องแคล่วในการปฏิบัติขั้นนี้ ถ้ามีสิ่งใดมารบกวน ขับไล่ออกไปทันทีนะคะ อย่าไปยอมให้จิตติดพันกับมัน เดี๋ยวจะดึงยาก ดึงกลับมาที่ลมหายใจทันที ท่านผู้ใดรู้สึกว่ายังตามได้ยาก ก็ขะมักเขม้นเข้านะคะ ด้วยใจสบายๆ ไม่ต้องเคร่งเครียด เรามาปฏิบัติธรรมเพื่อคลายความเครียด ฉะนั้นทำใจให้เบิกบานให้สนุก อย่ายอมให้ความง่วงเข้ามาครอบงำนะคะ จัดการมันออกไปทันที นิวรณ์ตัวไหนเข้ามากำจัดทันที อย่าให้มันอ้อยอิ่งอยู่ เดี๋ยวมันจะเคยตัว สมมติว่ารู้จักลมหายใจดีพอสมควรนะคะ สมมติกัน ค่อยๆ ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ ด้วยการเปลี่ยนจากการตามดู มาเฝ้าดู ที่จุดใดจุดหนึ่ง แถวช่องจมูกที่เลือกแล้ว ว่าเมื่อลมหายใจผ่านเข้าจะแตะตรงนั้นชัดที่สุด เมื่อผ่านออกก็แตะตรงนั้นชัดที่สุด แล้วกำหนดจิตจดจ่อเฝ้ารับรู้การกระทบหรือการแตะของลมหายใจที่ตรงจุดนั้นแต่อย่างเดียว เพื่อหาจุดกระทบให้แน่นอน ก็ลองหายใจยาวแรงก่อนค่ะ เพื่อให้การเคลื่อนไหวแรงชัดและการกระทบที่ตรงช่องจมูก จะได้ชัด