แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
00:46 สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกันในช่วงธรรมะชำระใจนะคะ ในการสนทนาธรรมะหรือตอบข้อข้องใจของท่าน มีท่านผู้ฟังเขียนจดหมายมาถามปัญหาธรรมะเข้ามาในรายการนี้ ซึ่งท่านที่กรุณามาเป็นผู้ตอบปัญหาก็คือ ท่านศาสตราจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหงค่ะ และต่อจากนี้ไปท่านที่สนใจในรายการธรรมะจะได้รับฟังการตอบปัญหาธรรมะทุกๆวันพระนะคะ ขอเชิญติดตามรับฟังค่ะ
01:18ดิฉันขอเรียนถามคุณแม่นะคะว่า การพิจารณาไตรลักษณ์มากๆนี่ค่ะ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการทํางาน เป็นเพราะว่าพิจารณาผิดวิธีหรือเปล่าคะ และควรจะพิจารณาอย่างไรดีคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
01:33 การพิจารณาไตรลักษณ์ใช่ไหมคะ มากๆทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการทํางาน หมายความว่า ผู้ถามคงพยายามที่จะพิจารณาธรรมในเรื่องไตรลักษณ์ แต่พอยิ่งพิจารณาไปเลยเบื่อไม่อยากทำงาน ทำนองนั้นใช่ไหมคะ หรืออีกอย่างหนึ่งก็จะเป็นเพราะว่าเลยเบื่อโลกไปเลยก็ได้ ก็มาพิจารณาธรรมมาก แล้วก็เลยถามว่า นี่เป็นเพราะพิจารณาผิดวิธีหรือเปล่า และควรจะพิจารณาอย่างไร
02:09 ก็เห็นจะไม่ถูกวิธีนั่นแหละถึงเกิดความเบื่อหน่ายในการทํางาน เพราะในการมาศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมนั้น ท่านครูบาอาจารย์หรือเชื่อว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประสงค์ที่จะให้ธรรมะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ผู้ฝึกปฏิบัติ จนกระทั่งมีกำลังใจที่มั่นคงเข้มแข็งแล้วก็สดชื่นเบิกบาน ในการที่จะประกอบการงาน ทั้งในเรื่องส่วนตัว และก็ในเรื่องการงาน อาชีพ ฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดมาพิจารณาไตรลักษณ์มากๆ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายนะคะ ก็เชื่อว่าจะต้องมีอะไรไม่ถูกต้องอยู่ในการพิจารณานั้น
02:55 ทีนี้ไตรลักษณ์คืออะไรก็ควรจะพูดย้ำกันสักนิดเพื่อความเข้าใจให้ตรงกัน ไตรลักษณ์ก็คือลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ คือเป็นที่ว่าเป็นธรรมดานี้ก็หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นธรรมดาทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกขณะ ทุกเวลานาทีแม้แต่ขณะที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ในห้องนี้ก็ตามนะคะ ไตรลักษณ์ก็แสดงตัวให้เราเห็นอยู่ตลอดแหละ เพียงแต่เราจะสังเกตหรือไม่สังเกตเท่านั้น ฉะนั้นลักษณะเป็นธรรมดา 3 ประการที่ท่านบอกว่า ประกอบด้วย อนิจจังคือความไม่เที่ยง หรือที่เราพูดว่ามันมีแต่อาการของการเกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับอย่างนี้นะคะ ไม่มีอยู่คงที่เลย นี่เป็นลักษณะที่เป็นธรรมดา ซึ่งถ้าหากว่าท่านผู้ใดลองพิจารณาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เอาในวันหนึ่งๆ ในวันนี้ตั้งแต่เช้าลืมตาขึ้นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ มีอะไรที่ยังคงที่อยู่บ้าง นึกถึงตั้งแต่อาการกิริยาของทางร่างกาย การเคลื่อนไหว แล้วก็การประกอบกิจต่างๆในอิริยาบถต่างๆ มันก็ไม่ได้คงที่ แม้แต่อิริยาบทมนุษย์เรา เราก็ยังมีถึง 4 อิริยาบถใช่ไหมคะ ยืน-เดิน-นั่ง-นอน เราไม่ได้นั่งตลอดเวลา เราไม่ได้ยืนตลอด หรือว่าเดินนอนตลอด แต่เรามีการสับเปลี่ยนกันไปเรื่อยตามเหตุปัจจัย คือเหตุปัจจัยมันสมควรจะต้องนอน ก็นอน เหตุปัจจัยสมควรจะต้องนั่ง ก็นั่ง มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เรื่อย ยิ่งกว่านั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนประเดี๋ยวสุขประเดี๋ยวทุกข์ ประเดี๋ยวชอบประเดี๋ยวชัง นี้ก็คืออนิจจังอีกเหมือนกัน หรือเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาในชีวิต ไม่มีอะไรคงที่เลย นี่คือเรื่องของอนิจจัง
05:11เพราะฉะนั้นการที่พิจารณาไตรลักษณ์ พอพูดถึงอนิจจังดังนี้ ก็หมายถึงแต่เพียงว่า ให้เรามองดูให้เห็นว่า อ๋อสิ่งนี้มันเป็นสัจธรรม มันเป็นความจริงที่มันเกิดขึ้นทุกขณะ แล้วก็มองดูเฉยๆ ไม่ได้มองดูด้วยความรู้สึกที่ต้องใส่เข้าไปว่า ชอบหรือไม่ชอบ รับได้หรือรับไม่ได้ ไม่ต้องมีความรู้สึกใส่เข้าไป ในขณะที่เรามองดูไตรลักษณ์นี่ค่ะ เริ่มต้นจากอนิจจัง มองดูเฉยๆ มองดูเพื่อให้จิตนี่มันสัมผัสเข้าไปในใจ ในสิ่งนั้น เข้ามาสู่ใจของเรา จนกระทั่งมีความรู้สึกซึมซาบ แล้วก็ชัดเจนอยู่ในใจ นี่ก็คือการพิจารณาลงไปเฉยๆ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เข้าซึ้ง ลึกซึ้งถึงความจริงอันนี้ จนจิตใจประจักษ์ชัดว่า มันเป็นอย่างนี้จริงๆ อย่างชนิดที่จะปฏิเสธไม่ได้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง คือไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มันปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ดูอนิจจังนานๆมากๆเข้า จนชัดเข้า ก็จะค่อยๆเห็นสภาวะของ ทุกขังคือความทนอยู่ไม่ได้ ซึ่งเราก็เคยพูดกันแล้วว่า ทุกขังในที่นี้มันแสดงลักษณะอาการที่มันทน ทนอยู่ไม่ได้ ทนที่จะเป็นอยู่อย่างเดิมไม่ได้ เพราะว่า มันเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างนี่ ไม่มีสิ่งใดคงทนอยู่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ตัวตนที่สมมุติเรียกว่าตัวตน ที่ว่าตัวฉันร่างกายนี้ มันก็เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วเมื่อดูลงไปพิจารณาด้วยการดูลงไปมากเข้าๆจากอนิจจัง ทุกขัง ก็จะค่อยๆมองเห็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่างตัวตนของเรานี้ ร่างกายของเรานี้ ดูไปๆก็จะค่อยๆเห็นว่า โอ้ที่เราหลงยึดว่าเป็นของเรา แท้จริงมันหาใช่ของเราไม่ ประเดี๋ยวมันก็สดชื่นแจ่มใส ประเดี๋ยวก็เหี่ยวแห้งร่วงโรย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามเหตุปัจจัยของการเวลา ก็จะยิ่งทำให้เห็นชัดจนผลที่สุดมันก็ค่อยๆสูญสลายไปเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เหมือนอย่างที่เราไปงานศพใช่ไหมคะ ตั้งแต่ไปรดน้ำศพนี่ เราก็มองเห็นแล้ว เห็นไตรลักษณ์ชัดอยู่ในนั้นแล้วใช่ไหมคะ เห็นอนิจจังความเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่นานนี้เลย ยังพูดได้เดินได้เคลื่อนไหวได้ หัวเราะร้องไห้เหมือนอย่างเรา ชอบชังเหมือนอย่างเรา แต่เสร็จแล้วหาทนอยู่ได้ไม่ มีทุกขัง เปลี่ยนมาเป็นสภาพนอนตัวแข็ง ไม่มีความรู้สึกรู้สมอะไรแล้ว นี่ก็จะพูดได้ว่า ไหนล่ะตัวตนตัวนั้น ที่เป็นตัวของเขาคนนี้ เมื่อตอนที่เขายังมีลมหายใจอยู่ เขาก็อวดอ้างนัก ว่านี่ฉัน ตัวของฉัน ความคิดของฉัน ความเห็นของฉัน ความชอบของฉัน อะไรๆมันของฉันไปหมด บัดนี้อยู่ที่ไหน ดูไปๆก็จะค่อยๆเห็นเองว่า อ๋อนี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า ทุกสิ่งนั้นมันเป็นอนัตตา ที่ท่านสอนนี่ ไม่ใช่ท่านมากะเกณฑ์เอาเอง แต่ท่านทรงศึกษาใคร่ครวญ พิจารณาจากสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติ ท่านก็ประจักษ์ว่า อ๋อมันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆนะ เพราะฉะนั้นในการพิจารณาไตรลักษณ์เพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อที่จะได้เตือนใจบุคคลผู้นั้นว่า แล้วเราจะมาถือมั่นมันทำไม
09:21 ความทุกข์ที่มันเกิดในใจของมนุษย์ทุกวันนี้ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นใช่ไหม โดยเฉพาะก็คือยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรานี่ เราจึงยอมไม่ได้ ยอมไม่ได้เลย ยอมให้ไม่ได้เลย ยิ่งเรื่องของศักดิ์ศรีที่มองไม่เห็นนี้ แหมถือกันนักถือกันหนาทีเดียว ทั้งๆที่ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน รูปร่างหน้าตาของศักดิ์ศรีเป็นยังไง แต่ก็ถือเอาไว้จนหนัก แบกไว้จนหนัก จนกระทั่งไปไหนๆก็แสนจะลำบากทุลักทุเลเพราะศักดิ์ศรีอันนี้ ยอมไม่ได้ ยอมไม่ได้ นี่แหละค่ะดูไปๆก็จะเห็นว่า อ๋อเพราะความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นอัตตาตัวตนของฉัน มันจึงทุกข์หนักทุกข์หนาทุกข์เหลือเกิน สลัดความทุกข์ไม่ลง แต่เมื่อใดพิจารณาไปจนกระทั่งเห็นซึมซาบในอนัตตา ถึงแม้จะเห็นไม่ได้ทั้งหมด เห็นไม่ได้ทุกเวลา เห็นไม่ได้ตลอดไป แต่ให้เห็นบ้าง ให้เห็นบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แล้วเราก็ค่อยๆซึมซาบความรู้สึกในขณะจิตที่มองเห็นน่ะ ว่าเป็นไง อ๋อมันเย็น มันเบา เพราะอะไร เพราะมันมีความปล่อย ความรู้สึกปล่อยเกิดขึ้น ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่นนั่นน่ะ มันค่อยๆปล่อย พอปล่อยเท่านั้นแหละ มันก็เบา ก็เหมือนอย่างที่เราแบกของหนักนั่นแหละใช่ไหมคะ ที่ท่านบอกว่าแบกก้อนหิน แบกกระสอบข้าวสาร พอเราวางลงมันก็เบา นั่นเป็นวัตถุ แต่นี่พูดถึงแบกข้างในนี่ บางคนอาจจะมองไม่เห็นแต่นึกดูจริงๆก็จะเห็น เพราะฉะนั้นพอเราวางลงไปเท่านั้น โอ้มันเบาเหลือเกิน เราก็จำความรู้สึกที่เบาสบาย เพราะมันมีการปล่อยเกิดขึ้นนี่เอาไว้ ให้เห็นคุณประโยชน์ ให้เห็นคุณค่าของการปล่อยวางได้ แล้วก็จะเกิดกำลังใจ ที่จะพยายามศึกษาใคร่ครวญมองดูไตรลักษณ์ ตั้งแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้ซึมซาบมากเข้าๆ แล้วทีนี้ระยะของการเข้าถึงไตรลักษณ์ก็จะเพิ่มมากขึ้น คือยาวนานมากขึ้น ยิ่งยาวนานเท่าใด ความจางคลายในความยึดมั่นถือมั่น มันก็จะเพิ่มมากขึ้นทุกที ความเย็นสบายก็เพิ่มมากขึ้น ก็หมายความว่าความทุกข์ก็ลดลงใช่ไหมคะ
12:02เพราะฉะนั้นคุณผู้ถาม ที่ถามว่าพิจารณาแล้วเกิดความเบื่อหน่ายในการทํางาน นี่มันคงจะมีอะไรผิดในการพิจารณา คือพิจารณาด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เข้าใจความหมายของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาผิดไปว่า อ๋อพิจารณาแล้วเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายขึ้นมาแล้วเราก็เลยปล่อย แต่การปล่อยอย่างนี้ ปล่อยด้วยความเบื่อ ปล่อยด้วยความรำคาญ ถ้าหากมีความเบื่อความรำคาญอยู่ในนั้น หมายความว่ามันมีความโกรธ ความโกรธมีโทสะ มีความไม่พอใจ มีความพยาบาท พยาบาทนี่หมายถึงความอึดอัดรำคาญ ความไม่ชอบแฝงอยู่ในนั้น นี่เป็นกิเลส มันมีกิเลสแฝงอยู่ในการพิจารณา เพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดมืออ่อนเท้าอ่อนไม่รู้จะทำไปทำไมใช่ไหมคะ ทำไปแล้วก็ไม่เกิดผลอะไร ทำไปแล้วมันก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทำไปแล้วมันก็ไม่ใช่ของเรา เห็นไหมนี่มันมีกิเลสเข้ามาแล้ว อ้อมันไม่ใช่ของเรา เราจะไปทำทำไมล่ะ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้พิจารณาไตรลักษณ์นี่ ให้เห็นว่าไม่ใช่ของเราเพื่อที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น สลัด ปล่อยวาง และในขณะเดียวกันก็จะเกิดกำลังใจอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาแทน กำลังใจอย่างนี้ก็จะเป็นกำลังใจที่ต้องบอกว่ามีคุณสมบัติพิเศษ แล้วก็สร้างสรรค์ เพราะมันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า อ๋อถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เรายังเหลืออยู่คือสติปัญญาสมองอะไรที่เรามีอยู่นี่ เราจะทำยังไง แล้วเราจะเอาไปใช้ยังไงมันถึงจะเกิดประโยชน์ ก็จะได้คำตอบเองว่า อ๋อในฐานะที่เราเป็นมนุษย์นี่ เรายังมีลมหายใจอยู่ มันก็มีหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องกระทำ
14:13 มนุษย์คืออะไร ก็คงทราบแล้ว มนุษย์คือผู้มีใจสูงใช่ไหมคะ มนุษย์ก็มาจากคำว่า มน บวกกับ อุษย มน ก็ใจ อุษย ก็สูง เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็คือบุคคลผู้มีใจสูง สูงกว่าสัตว์โลกชนิดอื่น จนกระทั่งเขาบอกว่า มนุษย์นี่เป็นสัตว์ประเสริฐ ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ตรงไหน ก็ตรงที่มนุษย์สามารถจะทำอะไรๆด้วยสมอง สติปัญญา ที่เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แก่ส่วนรวมมากกว่าสัตว์โลกชนิดอื่น เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าหากพิจารณาไตรลักษณ์อย่างถูกต้อง สลัด สละความยึดมั่นในความเป็นตัวตนลงไปทีละน้อยๆๆ ความที่เคยทำการงานอะไรก็หวังที่จะกอบโกยเอามาเป็นของเรา หรือเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้ได้มากกว่าเขา มันก็จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนเป็นการยอมสละให้ สละให้สิ่งที่เรามีแก่ผู้อื่น ยอมทำงานเพื่องานไม่ใช่ทำงานเพื่อสองขั้น ไม่ใช่ทำงานเพื่อตำแหน่ง หรือทำงานเพื่อความดีความชอบ แต่ทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของงาน ของส่วนรวม ให้เพื่อนร่วมงานได้มีความสุขร่วมกันในการทำงาน ให้งานนั้นเกิดประโยชน์แก่สังคม หรือแก่ชาติบ้านเมืองต่อไป ฉะนั้นตอนนี้ที่มีคำที่พูดว่า การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ นี่แหละมนุษย์ที่จะมีใจประเสริฐ ก็ประเสริฐตรงนี้ ตรงที่สามารถทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่างเต็มกำลังความสามารถของตนโดยไม่หวัง โดยไม่หวังว่าจะมีสิ่งใดตอบแทน แต่เรารู้ว่าความตอบแทนมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แม้จะไม่เป็นของเราโดยตรง แต่เราก็ได้รับด้วย นั่นก็คือว่า สิ่งที่เราได้รับหรือว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นนั้น ก็คือความเจริญก้าวหน้าของงาน ความร่มเย็นเป็นสุขในการทำงาน ความสมานสามัคคีกลมเกลียวกันในระหว่างผู้ร่วมงาน เพราะว่ามันมีการยอมให้แก่กัน เพราะไม่ยึดมั่นมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน เราผู้ซึ่งเป็นผู้หนึ่งอยู่ในที่ทำงานแห่งนั้น ก็แน่นอนที่สุด เราก็ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขใช่ไหมคะ ได้รับความสุขใจที่มีความสมานสามัคคีกลมเกลียวรักใคร่กัน ช่วยกันทำงาน ตอนนี้แหละยิ่งทำงานเท่าไหร่ก็ยิ่งไม่มีเหนื่อย นี่คุณค่าหรือประโยชน์ของไตรลักษณ์อยู่ตรงนี้
17:00 เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าการพิจารณาไตรลักษณ์แล้ว เกิดผลเป็นทางลบในอีกทางหนึ่งไม่ตรงกับที่ได้พูดมาแล้วนั้น ก็ขอได้โปรดลองพิจารณาดูนะคะ มันคงจะมีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องในการพิจารณา คือมีกิเลสเข้ามาบวกในการพิจารณานั้น จึงทำให้เกิดเป็นความเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ซึ่งอันนี้ตรงกันข้าม พุทธศาสนาจะแนะนำ กระตุ้นให้มีความสนใจในการที่จะกระทำการงานเพื่อเกิดประโยชน์แก่ชีวิต แล้วก็เกิดประโยชน์แก่ครอบครัวให้ยิ่งขึ้น ฉะนั้นการพิจารณาไตรลักษณ์นี่นะคะ หรือการพิจารณาธรรมะในทุกๆข้อธรรม ก็ขอเสนอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า วิธีของการพิจารณานั้นอย่าใช้ความคิด อย่าคิดเอา มันสมองที่ไอคิวสูงๆนี่ไม่ต้องเอามาใช้ เอาไปใช้เวลาไปเรียนหนังสือเรียนศาสตร์ต่างๆที่เป็นวิชาการ แต่พอหันมาศึกษาธรรมะพิจารณาธรรมะเพื่อให้เกิดปัญญา คือปัญญาข้างใน ต้องใช้วิธีดู ดูลงไป เราก็เคยพูดกันมาหลายครั้งแล้วนะคะ ก็ต้องย้ำอีกว่า การดูนี้ไม่ใช้ตาเนื้อ ตาเนื้อ 2 ข้างนี่มองไม่เห็น มันจะเห็นอะไร ก็เห็นแต่สิ่งที่เป็นไปตามสมมุติ เช่นเห็นรูปร่างร่างกายนี้เป็นตัวตน เห็นสิ่งของอันนั้นตามชื่อ เช่นเป็นไมโครโฟน เป็นเครื่องบิน เป็นจักรยาน เป็นปืน เป็นบ้าน เป็นอะไรอย่างนั้น เห็นตามสมมุติ ตามที่เค้าสมมุติเรียกกันมา แต่จะไม่เห็นสิ่งที่เป็นธรรมะที่มันจะต้องดูด้วยตาใน ไม่ใช่มองดูอย่างเผินๆ ฉะนั้นจึงต้องใช้ความรู้สึกดูลงไป ลงไปที่ความจริงนั้น หรือว่าใช้สติกำกับเพ่งดูลงไปที่สิ่งที่เป็นความจริงนั้น ดูด้วยความรู้สึกที่สัมผัสได้ สัมผัสได้ในลักษณะอันเป็นธรรมดานั้น แล้วก็แน่นอนที่สุด ถ้าจิตนั้นเป็นจิตที่เป็นสมาธิ สามารถจะรวบรวมจิตให้นิ่งอยู่เสมอเป็นสมาธิอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้การพิจารณานั้นลึกซึ้ง ชัดเจน ประจักษ์แจ้ง ได้ดีมากขึ้น ที่นี้ก็ดูไปๆ ดูจนกระทั่งใจของผู้ดูนั้นเกิดความสลดสังเวช รู้สึกสลดสังเวชโดยไม่ต้องบอกนะคะ ไม่มีใครบอก แต่มันจะเกิดความรู้สึกสังเวชขึ้นมาในใจเอง ความรู้สึกสังเวชนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะสลดสังเวชในความเขลา ในความเขลาของตัวเราเอง เขลาว่าโอ้ยทำไมมันถึงโง่อย่างนี้ หลงไปยึดมั่นถือมั่นเอามาแบกให้หนักจนเป็นทุกข์ จนจะแทบล้มประดาตาย ทำไมมันถึงเขลาอย่างนี้ แล้วบัดนี้มาประจักษ์ในความจริงที่เห็นว่า มันไม่มีอะไรให้ยึดเลย มันล้วนแล้วแต่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเท่านั้น ก็เลยเกิดความสลดสังเวชในสิ่งที่ได้เป็นมาในตัวเองนี้ ที่นี้พอความสลดสังเวชมันชัด มันจับใจมากขึ้น สิ่งที่เกิดตามมาก็คือความรู้สึกเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายคลายกำหนัด คือเบื่อหน่ายในความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ งานก็ของเรา บ้านก็ของเรา เงินเดือนก็ของเรา ตำแหน่งก็ของเรา ลูกหลานอะไรๆของเรา เบื่อ เบื่อเพราะประจักษ์แล้วว่านี่มันไม่มีสาระแก่นสารเลย อะไรของเราเราก็รักษามันตามหน้าที่สิ นี่มีบ้านของเราก็ดูแลรักษามัน ให้มันเรียบร้อย มีลูกก็ดูแลอบรมลูก ให้เป็นลูกที่ดี ให้เป็นคนที่รักการเล่าเรียน มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป งานของเราก็ทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ไม่ใช่เบียดบังเวลาของงานเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในความยึดมั่นถือมั่น แต่จะทุ่มเทความรู้ความสามารถเวลาลงไปในการทำงานให้มากขึ้น เพราะความยึดมั่นมันจางคลาย ดังที่กล่าวแล้ว
21:42 และในขณะเดียวกัน ก็จะเกิดความรู้สึกปล่อย ปล่อยวาง ที่ท่านบอกว่าปล่อยวาง ไม่ใช่เอามือจับแล้วก็ปล่อยแล้วก็วาง แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน มันวางเอง มันปล่อยเอง โดยไม่ต้องมีอาการสลัดอะไรให้เห็นเหมือนอย่างนกสลัดขนอย่างนี้ ไม่ต้องมีการสลัด แต่มันปล่อยวางไปเอง มันสลัด มันสลัดคืน คืนให้ใคร คืนให้ธรรมชาติ เพราะว่าที่สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมานี้ก็ล้วนแล้วแต่ว่า เป็นไปตามธรรมชาติ ก็สลัดคืนให้กับธรรมชาติ ไม่เอา ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยึดถืออีกต่อไป แล้วความปรารถนาที่จะทำตามหน้าที่ให้ถูกต้องเกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น ด้วยความเมตตากรุณาต่อกันอย่างไม่มีขอบเขต คือความเมตตากรุณาตอนนี้จะขยายออกไปไม่มีขอบเขต ตอนต้นๆนี่คนดีก็จะมีความเมตตากรุณาต่อลูกหลานญาติมิตร พรรคพวก เพื่อนฝูง แต่ว่าถ้าคนแปลกหน้าก็เอาไว้ก่อน ยังไม่ค่อยจะเมตตากรุณา แต่พอความรู้สึกจากการปฏิบัติขึ้นมาถึงขั้นนี้ มันจะเป็นความเมตตากรุณาที่เป็นอัปปมัญญา คือไม่มีขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นใคร รู้จักหรือไม่รู้จัก ถ้าเห็นว่าเขากำลังมีความทุกข์ ก็พร้อมที่จะช่วยตามกำลังที่สามารถจะทำได้ เพราะสำนึกว่า นี่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่เรามีต่อกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าพิจารณาถูกต้องแล้ว ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตนั้นมหาศาลทีเดียวนะคะ เพราะว่าจะพบแต่ความสุข สงบเย็น ที่เกิดจากความสละ ความยอม ความปล่อยวาง ด้วยปัญญาที่แท้จริง
23:36ก็อยากจะขอให้คุณผู้ถามนะคะ ได้ลองใคร่ครวญดูวิธีการพิจารณาของคุณอีกครั้งหนึ่ง ว่าคุณได้พิจารณาธรรมะโดยเฉพาะในเรื่องของไตรลักษณ์ในลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าหากว่าคุณพิจารณาอย่างนี้ ด้วยจิตใจที่เป็นสมาธิ คือนิ่ง สงบ ไม่ระส่ำระสาย ถ้าหากว่าพิจารณาไตรลักษณ์ในขณะที่จิตใจระส่ำระสายว้าวุ่นด้วยอะไรต่ออะไรต่างๆ รับลองไม่เห็นไตรลักษณ์ เห็นแต่ความคิดที่คิดเอาเองเป็นอย่างอื่น และมันก็จะเกิดผลไปทางลบ แต่ถ้าหากว่าเราพิจารณาด้วยใจด้วยความรู้สึกอย่างนี้เสมอๆ แม้จะไม่ได้นั่งทำสมาธิเป็นทางการ แต่จิตก็จะเป็นสมาธิในตัวโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นวิธีการที่เราจะทำใจให้เป็นสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ด้วยการกำหนดใจนั้น ให้อยู่กับข้อธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่ากำลังสนใจ แล้วก็อยากจะศึกษาพิจารณาข้อธรรมนั้นให้ชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไตรลักษณ์ ที่สามารถจะพิจารณาได้ทุกเวลานาทีของชีวิตนะคะ