แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สวัสดีนะคะ อยากจะขอทบทวนหมวดที่ 1 ที่เราได้ปฏิบัติไปแล้ว หมวดที่ 1 ของอานาปานสติ หรือที่เรียกว่า จตุกกะที่ 1 คือ กายานุปัสสนาภาวนา หมายความว่า การเริ่มต้นการปฏิบัติด้วยวิธีของอานาปานสติ ที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดนั้น ในหมวดที่ 1 สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำ ก็คือ หนึ่ง ทำความรู้จักกับลมหายใจทุกอย่างทุกชนิดให้แจ่มแจ้ง ว่ามันมีกี่อย่าง แล้วก็แต่ละอย่างนั้นมีธรรมชาติ ลักษณะ อาการอย่างไร ปรุงแต่งกายอย่างไร จะใช้ประโยชน์อะไรได้เมื่อไหร่ นี่เป็นจุดมุ่งหมายว่าจะต้องรู้เรื่องลมหายใจ เพราะเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ จึงต้องรู้จักมันเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เมื่อรู้จักลมหายใจเป็นอย่างดีอย่างทั่วถึงแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะต้องสามารถควบคุมลมหายใจนั้นได้ คำว่าควบคุม มีความหมายว่า จะควบคุมให้ลมหายใจชนิดใดเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ จะควบคุมไม่ให้เกิดเมื่อไหร่ก็ได้ พูดง่ายๆ ว่า บังคับได้ ป้องกันได้ กำจัดได้ คือกำจัดลมหายใจที่ไม่ต้องการได้ ป้องกันลมหายใจที่ไม่ต้องการ ไม่ให้เกิดได้ และก็ทราบดีอยู่เองว่า ที่ไม่อยากให้มันเกิดเพราะอะไร ก็เพราะมันปรุงแต่งกายไม่สบายและมันก็สะท้อนไปถึงใจ พลอยทำให้วุ่นวายไปด้วย นอกจากนี้ ก็สามารถที่จะควบคุมลมหายใจนั้นให้สงบระงับได้ อย่างที่เราได้ทดลองปฏิบัติกันเมื่อคืนนี้ คือควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ มันหยาบก็คอยควบคุมให้มันค่อยละเอียด มันหนักก็คอยควบคุมให้มันค่อยเบาลง มันเร็วก็ควบคุมมันให้ช้าลง เพราะอาการของความหนัก ความอยาก ความเร็ว นี่คืออาการของลมหายใจที่แสดงถึงความไม่ปกติ ที่มันจะปรุงแต่งกายให้มีอาการของความเหนื่อย ความหนัก ความอึดอัด ความไม่สบาย ลมหายใจที่มีลักษณะหยาบ หนัก เร็ว สั้น สั้นมากๆ นี่เราจะสังเกตได้ มันปรุงแต่งกายไม่ให้สบาย เพราะฉะนั้นเมื่อลมหายใจสั้นมากๆ เกิดขึ้น เราก็ควบคุมให้มันยาวออกไปทีละน้อยๆ ถ้าหากว่ามันเร็ว ก็ควบคุมให้มันช้าลง ถ้าหากว่ามันหนัก ก็ควบคุมให้มันเบา ถ้ามันหยาบก็ควบคุมให้มันละเอียด ซึ่งการที่จะควบคุมได้อย่างใจอย่างนี้ ไม่มีวิธีอื่นนอกจากการปฏิบัติ ในปฎิบัติขั้นที่ 1 ช้าๆ ใจเย็นๆ จนรู้ลมหายใจดี ยาวดีทุกอย่าง ขั้นที่ 2 ลมหายใจสั้น แล้วก็ขั้นที่ 3 นี่แหละต้องปฏิบัติอย่างเรียกว่าหมุนไปหมุนมาๆ จนชำนาญ มีความรู้สึกชำนาญ ไม่มีอะไรติดขัดเกี่ยวกับเรื่องของลมหายใจอย่างไหนให้เป็นที่สงสัยเลยซักอย่างเดียว จะต้องทำอย่างนี้ มิฉะนั้นเมื่อถึงขั้นที่4 เราจะควบคุมลมหายใจไม่ได้อย่างที่เราต้องการ อย่างที่มีคำถามมาบ่อยๆ ว่า หายใจไม่เต็ม หายใจสั้นจะแก้ไขอย่างไร ลมหายใจมันไม่สบาย มันหงุดหงิด ใจมันไม่ว่าง มันวุ่น จะแก้ไขยังไง ถ้าหากว่าฝึกขั้นที่1 2 3 อย่างช่ำชอง จะไม่มีคำถามอย่างนี้ เพราะพอไม่สบายข้างใน มันวุ่น มันหงุดหงิด มันอึดอัด รู้ทันทีว่าจะแก้ด้วยลมหายใจอย่างไหน ง่วงเหงาหาวนอนจะใช้ลมหายใจอย่างไหนเพื่อขับไล่มันไป และเมื่อขับไล่ได้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป นั้นก็คือรีบดึงจิตที่พอมีกำลังนิดหน่อยเพราะขับไล่ตัววุ่นวายออกไปแล้วให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะกระทำได้ การปฏิบัติในขั้นที่ 4 นั้นจะเกิดผลก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติขั้นที่ 1 2 3 อย่างชำนิชำนาญ รู้จักลมหายใจอย่างทั่วถึง เรียกว่าทุกแง่ทุกมุม ไม่มีอะไรที่ติดขัดเลย
ฉะนั้น แม้ว่าเราจะพูดถึงหมวดอื่นต่อไป คือ หมวด 2 หมวด 3 หมวด 4 แต่การปฏิบัตินั้นเราจะต้องมาลง คือ เริ่มด้วยขั้นที่ 1 2 3 4 ในหมวดที่ 1 เสมอไป โปรดทราบไว้ว่านี่เป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐาน และการปฏิบัติในเรื่องนี้ คือ ในหมวดที่ 1 นี้ มีวิธีปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง ก็คือ เริ่มด้วยการตามดูลม คำว่า ตามดูลม ก็คือ กำหนดจิตจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจทุกขณะ ลมหายใจจะไปไหน ก็ให้จิตตามไปด้วยอย่างใกล้ชิดเรียกว่าเกี่ยวก้อยกันไปไม่มีห่าง นั่นคือตามลมหายใจทุกอย่างทุกชนิด ตามให้ตลอด เป็นการปฏิบัติในขั้น 1 2 3 ซึ่งจะทำให้จิตตื่น จิตจะสงบไม่ได้ เพราะต้องวุ่นอยู่กับการตาม ต้องเอาใจใส่ตามลมหายใจตลอดสายทั้งเข้าและออก เรียกว่าไม่ให้คลาดคลา เพราะฉะนั้นจิตในขณะนั้นก็จะสงบไม่ได้ จะนิ่งไม่ได้ เพราะเป็นจิตที่กำลังต้องทำงาน ต้องทำงานตามหน้าที่ ตามเหตุปัจจัยของมัน เพื่อให้เกิดผล คือความสามารถในการควบคุมลมหายใจได้ในขั้นที่ 4 ของหมวดนี้ จึงขอย้ำว่า ไม่ต้องปรารถนาความสงบ อย่าอยากได้ความสงบ ในขั้นที่ 1 2 3 ขอให้ทำให้ถูกต้อง แล้วผลของความสงบจะเห็นได้เมื่อเรามาปฏิบัติในขั้นที่ 4
ทีนี้ในการปฏิบัติขั้นที่ 4 นั้น เราก็เปลี่ยนวิธีการปฏิบัติจากการตาม คือวิ่งตามลมหายใจจากจุดแรกที่มันผ่านเข้าจนถึงจุดสุดท้าย จากจุดสุดท้ายผ่านออกจนผ่านช่องจมูกไป เราเปลี่ยนวิธีวิ่งตามเป็นการเฝ้าดู เหมือนอย่างที่ได้ทดลองทำเมื่อคืนนี้ เป็นการเฝ้าดู เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งแถวๆ ช่องจมูก ซึ่งเป็นแถวที่จะรู้สึกได้ง่าย เพราะเป็นบริเวณแรกหรือว่าเป็นพื้นที่แรกที่เมื่อลมหายใจผ่านเข้า จะต้องผ่านเข้าทางช่องจมูกและจะต้องกระทบจมูกก่อน แต่ที่นี้ในการกระทบนั้นเราต้องสังเกตว่าตรงไหนที่กระทบชัดที่สุด แต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ตรงไหนก็ได้ ไม่เจาะจง ไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่ผู้ปฏิบัติรู้อยู่แก่ใจว่า พอลมหายใจผ่านเข้า รู้ปั๊บเลยว่ามันกระทบตรงนี้ เพราะมันชัดเหลือเกิน มันแตะ มันสัมผัส เวลามันผ่านเข้า เรากำหนดจิตแล้วเรารู้ ถ้าเราเอาจิตเฝ้าดูอยู่ตรงนี้ เหมือนเรากำลังจะจับหนูซักตัวนึง แหมเจ้าหนูนี่มันมารบกวนเหลือเกินในบ้านนี้ ก็มองหาว่ามันเข้ามาได้ยังไง ก็อุตส่าห์ทำบ้านอย่างมิดชิดดีแล้ว จนกระทั่งพบช่อง มีช่องอยู่นิดเดียว เจ้าหนูมีความสามารถมาก ก็พยายามเฝ้าดูตรงช่องนั้นว่าเจ้าหนูนั้นมันเข้ามาเมื่อไหร่ แล้วมันออกไปทางช่องนี้หรือเปล่า เฝ้าจดจ่ออยู่ตรงนั้น นี่เราก็มาเฝ้าดูลมหายใจของเรา โดยเลือกจุดที่เราคิดว่ามันแน่ มันชัดเจนกว่าเพื่อน แล้วก็กำหนดจิตคือกำหนดความรู้สึกให้มันรออยู่ตรงนี้ รอเฝ้าดูอยู่ตรงนี้ไม่ไปที่ไหน