แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ แด่ท่านอุปนายกสมาคม พุทธสมาคม และท่านผู้สนใจในการที่จะใฝ่หาความสุขที่แท้จริงของชีวิตทุกท่าน ดิฉันขอขอบพระคุณพุทธสมาคม ที่ได้ให้โอกาสมาพบเพื่อนชาวพุทธและก็ญาติสนิทมิตรสหายเป็นจำนวนมาก ในเมืองที่ดิฉันถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษในตระกูลอินทรกำแหง เพราะฉะนั้นเมื่อได้มาก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้กลับบ้านที่เคยอยู่อย่างอบอุ่นเป็นสุข แต่เผอิญได้พลัดพรากไปเป็นเวลานาน กว่าจะได้มาอีกทีนึงก็เห็นจะเป็นเวลาหลายสิบปีนะคะ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโอกาสได้มาเพราะพุทธสมาคมเป็นผู้ที่ได้เชื้อเชิญให้มา แนะนำให้มา ก็ขอขอบพระคุณอีกครั้งนึง และขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ได้สละเวลามาพบกัน มาสนทนากันในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็อยากจะขอเรียกว่าบรรดาลูกหลานทั้งหลาย ที่กำลังเจริญตาเจริญใจ อยู่ในวัยที่คิดว่า เป็นวัยที่กำลังจะเป็นกำลังสำคัญ คือจะเป็นผู้รับมรดกตกทอดจากท่านผู้ใหญ่ในวันนี้ เพื่อที่จะได้รักษา ป้องกัน ความบริสุทธิ์สะอาดของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ เพื่อเป็นที่พึ่ง และก็เป็นที่พักใจของบรรดาพวกเราทั้งหลาย ให้ได้มีความสุขมีความสงบเย็นต่อไปในภายภาคหน้า จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งทีเดียว ที่มีบรรดาผู้เยาว์ที่ถือว่าเป็นลูกเป็นหลาน พากันมาเป็นจำนวนมาก การที่บรรดาลูกหลานในวัยเช่นนี้ มีความสนใจในเรื่องของธรรมะนั้น อยากจะขอบอกว่าเป็นกำไรอันประเสริฐ เป็นกำไรที่หาไม่ได้ง่ายๆ ทำไมถึงว่าเป็นกำไรอันประเสริฐ ก็เพราะเหตุว่า กำลังที่จะสะสม สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่มีค่ามากมายมหาศาล ยิ่งกว่าเงิน ยิ่งกว่าแท่งทองทั้งหลาย นอกจากนั้นแล้ว ก็เป็นทรัพย์ที่จะอยู่กับเรา ทุกหน ทุกแห่ง ทุกขณะ และไม่มีทรัพย์ที่มีผู้ใดจะมาปล้น หรือมาจี้เอาไปได้ นี่เป็นสิ่งที่น่าจะคิดนะคะ เพราะฉะนั้นจึงขอแสดงความยินดี และก็ขอให้รักษา ความสนใจในเรื่องของธรรมะนี้ให้ยั่งยืนตลอดไป
ทีนี้การที่เราจะมาคุยกันถึงเรื่องว่า เราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์นั้น ก็อยากจะบอกว่า มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องฟังกันด้วยใจ ฟังด้วยใจ ไม่ใช่ฟังด้วยหูเท่านั้น หูนี่เป็นแต่เพียงสื่อ ที่จะพาเข้าถึงใจ แล้วก็ไม่ได้ฟังด้วยสมองเท่านั้น สมองนี่ก็เป็นแต่เพียงเครื่องมือที่จะทำให้เข้าใจได้ แต่สิ่งที่เราจะต้องใช้ ในการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของธรรมะนั้น ต้องใช้ใจ ก็อยากจะถามว่าใจของทุกท่านในขณะนี้ พร้อมแล้วหรือยังคะ ที่จะฟังสิ่งที่เรียกว่าเป็นธรรมะ พร้อมแล้วนะคะ แล้วลูกหลานทั้งหลายล่ะคะ พร้อมหรือยัง เพราะฉะนั้น ก็เพื่อที่จะให้เราเข้าใจตรงกันในความพร้อมของใจนี้ คือหมายความว่าอย่างไร ก็คือหมายความว่าใจของเรานั้นในขณะนี้ จะไม่ไปไหน ทีนี้ที่พูดว่าไม่ไปไหนนี่ ก็อาจจะมีผู้เถียงว่า จะไปได้ยังไง ก็ตัวนั่งอยู่นี่ ใจก็ต้องอยู่ที่นี่สิ แล้วหลายท่านก็จะรู้ว่า ไม่จริง ไม่จริงอย่างนั้นหรอก ถึงแม้ว่าตัวจะอยู่ที่นี่ แต่ใจนี่มันท่องเที่ยวไปได้สารพัดแห่งใช่ไหมคะ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวที่มองเห็นนี้เสมอไป เพราะฉะนั้นถึงได้ถามว่า ที่ว่าพร้อมนี่ เข้าใจความหมายของคำว่าพร้อม แล้วก็ใจนั้นก็ต้องอยู่ ณ ที่เดียว หรือไม่ ไม่ไปอื่น ทีนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกันนะคะว่า คำที่ว่าใจจะต้องรวมอยู่ที่เดียวกันนี้คือหมายความว่าอย่างไร ก็จะขอเล่าเรื่องพระภิกษุ ๓ รูป ในสมัยพุทธกาลให้ฟัง บางท่านอาจจะเคยได้ยินแล้ว ในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านเล่าว่า มีพระภิกษุ ๓ รูป ซึ่งมาตกลงกันว่า เราจะอยู่จำพรรษาร่วมกัน ในที่แห่งเดียวกันคือในวัดแห่งเดียวกัน แล้วก็ตลอดพรรษานี้ เราจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะไม่พูด ไม่คุย ไม่คลุกคลี ไม่พบปะสนทนากันเลยเชียว ตลอดทั้ง ๓ เดือน จนกว่าเมื่อเสร็จสิ้น ๓ เดือนแล้ว เราจึงจะมาพบกัน หรือเมื่อเผอิญมีท่านองค์ใดเกิดเจ็บป่วยขึ้น นั่นแหละเราก็จะมาช่วยดูแลกัน ทีนี้เมื่อท่านสัญญาตกลงกันอย่างนั้นแล้ว ท่านก็มาอยู่ในวัดเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าในวัดนั้นจะมีบริเวณกว้างขวางสักเท่าใด แต่ท่านก็มาอยู่รวมกัน และก็ต่างองค์ต่างแยกกันปฏิบัติ เมื่อถึงเวลาสิ้นพรรษานะคะ ท่านก็มาพบกัน และก็สนทนากันว่า ในการปฏิบัติของท่าน ในระหว่าง ๓ เดือนนี้เป็นยังไงบ้าง ให้เล่าสู่กันฟัง องค์หนึ่งท่านก็บอกว่า ใน ๓ เดือนนี้นะ ใจของท่านนี่ ท่านองค์นี้ ไม่เคยออกนอกบริเวณวัดเลย องค์ที่สองก็บอกว่าใน ๓ เดือนนี้นะ ใจของท่าน ไม่เคยออกนอกกุฎิของท่านเลย องค์ที่สามก็บอกว่า ใน ๓ เดือนนี่ ใจของท่านไม่เคยออกนอกกายนี้เลย ทีนี้เมื่อฟังแล้ว ก็พอจะทราบไหมคะว่า ใน ๓ องค์นี้ ท่านองค์ใด ที่มีใจรวมอยู่ ณ ที่เดียว ไม่เคยออกไปอื่นเลย องค์ที่สาม ถูกแล้วค่ะ
เพราะฉะนั้นเพื่อความเข้าใจตรงกัน ก็อยากจะบอกว่า ถ้าท่านผู้ใด โดยเฉพาะลูกหลานบางคนอาจจะบอกว่า ใจของผมหรือว่าใจของหนูไม่ได้ออกนอกวัดสุทธจินดาเลย อยู่ภายในบริเวณนี้ หรือบางคนก็อาจจะบอกว่า จิตใจของหนูไม่เคยออกนอกห้องประชุม ก็อยู่ในห้องประชุมชั้น๒ นี่แหละ ก็ต้องขอบอกว่า ไม่พอ ยังไม่พอ แล้วก็ยังไม่ดีจริงด้วย ใจยังไม่ได้อยู่ที่เดียวจริง แต่ถ้าท่านผู้ใดบอกว่า ขณะนี้ใจนั้นจดจ่ออยู่ที่ใจ ไม่ออกไปอื่นเลย นี่แหละคือการที่เรียกว่า จิตนั้น รวม นิ่ง อยู่ ณ ที่เดียว จดจ่ออยู่ ณ ที่เดียว แล้วก็รวมความสนใจทั้งหมดอยู่ ณ ที่เดียว ไม่ไปอื่น นี่คือจิตที่พร้อมที่จะฟัง เรียกว่าฟังด้วยจิตหรือว่าฟังด้วยใจ เราเข้าใจตรงกันแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นก็ ทีแรกที่คิดว่า จะนั่งกันสัก ๕ นาที ก็คงไม่ต้องให้นั่งกันสัก ๕ นาทีแล้ว เพราะดูรู้สึกว่าทุกท่านนี่ พร้อมที่จะนั่งอยู่ในใจ ทุกคนแล้วนะคะ ก็อยากจะพูดต่อไปเลยถึงเรื่องของเราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์
การที่พูดถึงหัวข้อนี้ เราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นทุกข์ ก็เนื่องด้วยความรู้สึกว่า ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นชาวพุทธหรือเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น มีจำนวนไม่น้อยเลย ร้องไห้บ่อยๆ คร่ำครวญบ่อยๆ ปวดหัววิตกกังวลบ่อยๆ หงุดหงิดบ่อย ๆ รำคาญโน่น รำคาญนี่ หมั่นไส้โน่น หมั่นไส้นี่บ่อยๆ ในทางพุทธศาสนาท่านบอกว่า นี่แหละคืออาการของความทุกข์ บางคนก็เข้าใจว่า ถ้าเป็นทุกข์ล่ะก็ ต้องไฟไหม้บ้าน ล้มละลาย อุบัติเหตุร้ายๆ ที่ถึงกับสิ้นชีวิตเป็นครอบครัว อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าเป็นความทุกข์ ความจริงแล้วมันก็ใช่ แต่มันไม่ได้เกิดแก่ทุกคน แล้วก็ไม่ได้เกิดทุกวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ทุกคนที่เป็นอาการของความทุกข์ก็คือความหงุดหงิด รำคาญ ความหมั่นไส้ ความขัดใจ จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ นั่นก็ไม่ถูกใจ นี่ก็ไม่ถูกใจ ตื่นขึ้น มองเห็นเด็กทำอะไรก็ขัดอกขัดใจ เป็นไหมคะ เป็น โดยเฉพาะผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้นเราเป็นกันทั้งนั้น แล้วเคยได้สังวรหรือเคยคิดสักนิดนึงไหมคะว่า นี่แหล่ะคืออาการของความทุกข์ ทำไมถึงว่าเป็นอาการของความทุกข์ ก็เพราะเหตุว่า มันทำให้จิตใจนั้นไม่ปกติ สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนก็คือว่า หน้าที่ของชาวพุทธนั้น จะต้องรักษาจิตใจให้ปกติ จิตใจที่เราเกิดมาทีแรกนั้นน่ะ ที่เราออกมาจากท้องของคุณแม่ ท้องของมารดานั้น ก็มีความเป็นปกติ อย่างที่ท่านเรียกว่า จิตของมนุษย์ที่ออกมาครั้งแรก คลอดออกมาครั้งแรกนั้น มีความบริสุทธิ์ อยู่ในระดับหนึ่ง แต่ความบริสุทธิ์นี้ จะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรม เหมือนกับเพชร ที่ได้มาสักก้อนนึง แล้วก็เอามาเจียระไน ก็งาม วาววับยิ่งขึ้น แต่ถ้าเอาเพชรก้อนนั้นไปทิ้งลงไปในโคลน ก็แน่นอนที่สุดใช่ไหมคะ แสงแวววับของเพชรนั้นก็หายไป กลายเป็นคราบดำ ดูไม่ได้ ฉะนั้นจิตก็เหมือนกัน ถ้าหากปล่อยให้ความทุกข์ คือความหงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ หมั่นไส้ รำคาญ ขวางโน่น ขวางนี่ อยู่ตลอดเวลา มันมากลุ้มรุมจิตใจอยู่เรื่อยๆ นี่แหละ จิตนั้นขาดความเป็นปกติ และก็สะสม สิ่งที่เรียกว่า เป็นอาการของความทุกข์ เพิ่มมากขึ้น ๆ ๆ โดยไม่รู้ตัว ผลที่สุดก็ลงเอยด้วยโรคประสาท โรคหัวใจ หรือว่ามะเร็ง โรคร้าย ซึ่งดิฉันอยากจะเรียกว่าอาการที่เราสะสมแล้วให้เกิดเป็นโรคขึ้นที่ใจ นี่แหล่ะคือโรคมะเร็ง มะเร็งที่ใจ โรคความทุกข์ที่ใจ และเราก็สะสมเอาไว้ทีละนิดๆ ๆ แล้วก็บอก ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ใครๆ เขาก็เป็นกัน พอวันหนึ่งถึงอาการที่เราเป็นมะเร็งเข้า คนอื่นเขาไม่เป็นกันอย่างเราก็มี เพราะเขารู้ตัวทัน แต่ถ้ารู้ตัวไม่ทันนี่คืออาการสะสม ฉะนั้น จึงอยากจะคุยกันว่า แล้วเราจะเป็นชาวพุทธกันอย่างไร เราจึงจะไม่เป็นทุกข์ เพราะคำว่า “พุทธะ” หมายถึงปัญญา พุทธศาสนา เป็นศาสนาของปัญญา เป็นศาสนาของเหตุและผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนบรรดามนุษย์ทั้งหลายเพื่อจะบอกให้รู้ว่า เกิดมาเป็นคนนี่ มีสติปัญญากำกับมากับชีวิตด้วย แล้วเราจะใช้สติปัญญาของเรา เพื่อที่จะสะสาง แก้ไข มิให้ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตนั้น ได้อย่างไร เราควรจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงจะไม่เป็นทุกข์ คือความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น
จึงอยากจะขอเชิญให้ลองใคร่ครวญพระพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสแก่พระพุทธสาวกทั้งหลาย ที่ป่ามะม่วงของหมอชีวก พระองค์ได้ตรัสว่า “ธรรมที่ตถาคตแสดงนั้น เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ ระงับ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับ เย็นสนิท เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความรู้ครบถ้วน” ถ้าจะฟังดู ก็มีอยู่ ๓ ประการ พระองค์จะไม่ตรัสธรรมะอย่างอื่น ธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงนั้น จะมีจุดประสงค์เพื่อ
๑. ให้บังเกิดความสงบระงับขึ้นในใจของผู้ฟัง
๒. ให้บังเกิดความดับเย็นสนิทขึ้นในใจของผู้ฟัง
๓.ให้บังเกิดความรู้ครบถ้วน
ความสงบระงับ ระงับจากอะไร ระงับจากกิเลส จากความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มากลุ้มรุมใจ ประเดี๋ยวก็โลภอยากได้จะเอา ดึงเข้ามาๆ ๆ เป็นของเรา มือยาวเท่าไหร่ สาวได้ สาวเอา ประเดี๋ยวก็เกิดความโกรธ ไม่ถูกใจ ผลักไสออกไป ตรงกันข้ามกับความโลภ ผลักไสออกไป ไม่เอาๆ ประเดี๋ยวก็เกิดความหลง อาการของความหลงก็คือ วนเวียน วนเวียนเหมือนกับพายเรือในอ่าง ในขณะที่โลภ ดึงเข้ามา โกรธ ผลักออกไป หลง คือวนเวียน ซึ่งร้ายมาก ท่านผู้ใดที่มักจะนอนไม่หลับ ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ พลิกไป พลิกมา กระสับกระส่าย จนกระทั่งใกล้รุ่งถึงจะหลับตาได้ ขอให้ลองนึกดูเถอะค่ะว่า อะไรเป็นเหตุให้ไม่หลับ คิดแล้วคิดอีก ใช่ไหมคะ คิดซ้ำ คิดซาก สลัดมันไม่ออก มันมาในรูปของความวิตกกังวลบ้าง ความขัดเคืองบ้าง ความอยากจะเอาบ้าง หลงวนเวียน คิดซ้ำ คิดซากอยู่นั่นแหละ นี่แหละ มันเป็นเหตุที่ทำให้จิตไม่สามารถจะสงบระงับได้ มีแต่ความทุรนทุราย มีความระส่ำระสาย มีความสับสน มีความขึ้นๆ ลงๆ โยนไปโยนมาตลอดเวลา ลักษณะของจิตอย่างนี้ คือภาวะของจิตที่ไม่ปกติ และผู้ที่เป็นเจ้าของจิตอย่างนี้ เหนื่อย เหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง นึกออกไหมคะ เหนื่อยไหมคะ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องไปออกแรงแบกหามอะไร แต่เหนื่อย เหนื่อยจนเปลี้ย ไม่มีแรง พอลืมตาตื่นขึ้น ไม่อยากลุก อยากจะนอนทอดหุ่ยอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่อยากลุก ไม่อยากทำอะไร มองดูโลกรอบตัว แหมมัน มันไม่น่าพิศมัย มันมองดูดำมืดสลัวไปหมด นี่แหละ เรียกว่าอาการหนักของจิตที่ไม่ปกติ ที่เป็นทุกข์ เพราะถูกกิเลสกลุ้มรุมในลักษณะต่างๆ ทีนี้ ที่ท่านทรงบอกว่า เพื่อความดับเย็นสนิท ดับเย็นสนิทจากอะไร หรือดับเย็นสนิทได้ด้วยอะไร ก็แน่นอน จะต้องเริ่มมาจาก จิตที่ได้ฝึกอบรมจนพัฒนาถึงความสงบระงับ เป็นปกติมากขึ้นๆ ในระดับหนึ่ง แล้วผลที่สุด ก็ถึงซึ่งความดับเย็นสนิท คือดับซึ่งความร้อน ไม่มีความร้อนมารบกวน ไม่มีความร้อนที่จะมาทำให้จิตเกิดความระส่ำระสาย ไม่มีเลย ก็ดับ เย็นสนิท ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมายั่วยวนให้อยากได้ มันก็เท่านั้นเอง ไม่ต้องยื้อแย่ง ไม่ต้องอยากเอา มีสิ่งใดจะมายั่วให้โกรธ มันก็เช่นนั้นเอง มันเป็นของธรรมดา มันเกิดแล้วก็ดับ ไม่เห็นจะต้องโกรธ มีสิ่งใดมาชวนให้หลง ก็ไม่ต้องหลง เพราะรู้แล้วว่า หลงไปมันก็เท่านั้นเองอีกเหมือนกัน ทำไมถึงเท่านั้นเอง เพราะไม่สามารถจะไปเอาอะไรมาเป็นของเราได้จริงๆ เลยสักอย่าง มันเพียงแต่เกิดขึ้น และมันก็ดับไป มันมา แล้วมันก็ผ่านไป มันมีอยู่แค่นี้จริงๆ ในชีวิตของเรา ขอให้ลองนึกดูนะคะ ที่มันผ่านมาในชีวิตนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ธรรมะที่พระองค์แสดงนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสงบระงับ ขึ้นในจิตของชาวพุทธทั้งหลาย ที่ได้มีความเยือกเย็นเป็นสุข มีความสบาย มีความโปร่ง มีความเบา อย่างที่ทุกคนต้องการ ถ้าจะทำได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็ผลที่สุด ก็คือ เป็นธรรมเพื่อความรู้ครบถ้วน ความรู้ครบถ้วนคืออะไร เดี๋ยวเราจะพูดกันต่อไปนะคะ เพราะถ้าเราดูในจุด ๓ จุดนี้ ความสงบระงับ ความดับเย็นสนิท คือผล ผลของการที่มีเหตุ เหตุแห่งความรู้ครบถ้วน ได้ศึกษา เล่าเรียน ฝึกอบรม ปฏิบัติ จนกระทั่งมีความรู้ครบถ้วน ทีนี้ถ้าจะพูดถึงเรื่องของความรู้ครบถ้วนนี่นะคะ มีมาก มากเหลือเกิน เพราะหลายท่านก็คงทราบว่า ในพระไตรปิฎกนั้นน่ะ รวบรวมพระธรรมเอาไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี่ อะไรคือแก่น แก่นของความรู้ครบถ้วน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสอยู่เสมอ ทรงพร่ำสอนพระพุทธสาวกอยู่เสมอ นั่นก็คือ “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” นี่เป็นธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอน เรียกว่าพร่ำสอนแล้วสอนเล่า แก่พระพุทธสาวกทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา จงสำเหนียก จงสำนึก จงสังวร ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สังขารคืออะไร สังขารนั้นก็คือหมายถึง ร่างกายนี้ก็ได้ ร่างกายที่เรามองเห็นอยู่นี้ อย่างนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้นะคะ เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลง ของสภาวะของสังขาร ของมนุษย์ได้ชัดเชียว มีตั้งแต่หนุ่มสาว อายุน้อยๆ อย่างที่บอกว่ากำลังเจริญตาเจริญใจ ผิวพรรณเกลี้ยงเกลา หน้าตาเปล่งปลั่ง แข็งแรงสดชื่น มีชีวิตชีวา มาจนกระทั่งตามลำดับ ถึงผู้ใหญ่ แล้วก็ถึงผู้อาวุโส ผู้ที่มีอายุแล้ว เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังขาร สังขารของวัตถุ ที่เป็นรูปธรรม นี่คือความหมายของสังขาร ที่มีความหมายว่า รูปร่าง ร่างกายก็ได้ วัตถุก็ได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ สังขารที่หมายถึงความคิด ความคิดที่เกิดขึ้นในจิตของเราอยู่ตลอดเวลานี้ เที่ยงไหมคะ ตั้งแต่มานั่งในห้องนี้ ไม่ต้องไปเอาที่อื่นนะคะ เอาระยะสั้นๆ ตั้งแต่มานั่งในห้องประชุมนี้ เมื่อย่างเข้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ สังขารคือความคิดนั้นอยู่จุดเดียวหรือเปล่าคะ แน่นอนไม่ใช่ มันเปลี่ยนมาตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนบ่ายสองโมงจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มันเปลี่ยนตลอดเวลา พระองค์จึงตรัสเพื่อให้สังวรว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือเป็นนามธรรม คือจะเป็นรูปเป็นวัตถุ หรือเป็นความคิด ความรู้สึก เป็นอารมณ์ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยั่งยืน มันเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน ซึ่งอันนี้ก็อยู่ในหัวข้อธรรมที่เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทุกคน จำเป็นจะต้องศึกษา และก็ต้องรู้ และก็ต้องเข้าใจ แล้วก็ต้องเข้าถึง นี่ใช้คำพูดหลายคำนะคะ ต้องรู้ ต้องเข้าใจ และก็ต้องเข้าถึง เข้าถึงนี่นะคะสำคัญมากเลย ถ้าเข้าไม่ถึงแล้วล่ะก็ ความรู้จะไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดถึง ที่พระองค์รับสั่งว่า ธรรมทั้งปวง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อยู่ในธรรมะข้อใด นั่นก็คือข้อที่เรียกว่าไตรลักษณ์ คือลักษณะอันเป็นธรรมดา ๓ ประการ มันเป็นธรรมดาสามัญที่สุด เพราะมันเกิดขึ้นทุกขณะของชีวิต ไม่ใช่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันเกิดขึ้นทุกขณะของชีวิตทีเดียว
ทีนี้ ลักษณะของไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการที่เป็นธรรมดาสามัญนี้คืออะไร ก็เชื่อว่าทุกท่านคงทราบแล้ว ที่ขึ้นต้นด้วย อนิจจังนั่นเอง อนิจจังคือความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากพูดเพียงแค่นี้ ก็เชื่อว่าทุกท่านเข้าใจใช่ไหมคะ ส่งกระดาษให้สักแผ่น ไหนเขียนเรียงความเรื่องอนิจจังให้อ่านหน่อยซิ เขียนกันได้เยอะแยะ บางคนหน้านึงยังไม่จบเลย ต้องสองหน้าสามหน้าที่จะเล่าถึงเรื่องอนิจจัง แต่ถ้าจะถามว่าท่านผู้ใดเห็นอนิจจังแล้วบ้าง เข้าใจไหมคะ รู้ว่าอนิจจังนี่แปลว่าอะไร แต่ท่านผู้ใดได้เห็นอนิจจังแล้วบ้าง ยกมือได้ไหมคะ ท่านผู้ใดเห็นแล้ว เห็นอนิจจัง ชัด ประจักษ์ ซึมซาบ อยู่ในหัวใจ มีไหมคะ และคำว่าเห็นในที่นี้ เราใช้อะไรเห็น แน่นอน ไม่ใช่ตาเนื้อคู่นี้ ไม่ใช่ตาเนื้อคู่นี้ที่จะมองเห็น ตาเนื้อคู่นี้น่ะนะคะ มันจะมองเห็นอะไร มันก็มองเห็นตามสมมุติ มันไม่มองเห็นสิ่งที่มันลึกลงไปกว่าสิ่งที่สมมุติกันอยู่ข้างนอกนี่หรอก เพราะฉะนั้นก็อยากจะลองเล่านิทานชาวบ้าน ซึ่งบางท่านอาจจะเคยฟังแล้วก็ได้ ให้ฟัง เพื่อลูกหลานที่กำลังตาหรี่ จะได้ตาเบิกสักหน่อยนะคะ นิทานชาวบ้านนั้นก็ชื่อว่า มีดีในเสีย มีเสียในดี เคยได้ยินหรือยังคะ ก็พูดถึงครอบครัวนึง มี พ่อ แม่ ลูก ลูกกับแม่นี่มักจะเป็นคนขี้ตื่นเต้น ตื่นเต้นเสมอ มีอะไรมาก็ตื่นเต้น ตื่นเต้นขึ้นบ้าง ตื่นเต้นลงบ้าง คือลบบ้าง บวกบ้าง อยู่ตลอดเวลา แต่พ่อนี่นะคะ จะมีปกติที่จะพูดประโยคว่า มีดีในเสีย มีเสียในดี ถ้าหากลูกหรือเมียมาตื่นเต้นเรื่องอะไรก็ตาม พ่อจะพูดด้วยประโยคนี้เสมอ มีดีในเสีย มีเสียในดี แล้ววันนึง พ่อก็ไปป่า คือเข้าไปในป่า บ้านเขาก็คงจะอยู่ไม่ไกลป่ามากนัก ก็ไปได้ม้าตัวนึงมา มาบ้านด้วย เป็นม้าที่มีรูปร่างสวยงาม ลักษณะดีมากเลย แหม ลูกเมียก็ตื่นเต้น โอ้โห ม้านี่ เป็นม้าลักษณะดี อาจจะไปเข้าใกล้ม้าอาชาไนยกระมังนะคะ เลยตื่นเต้นกันมากเลย ก็พร่ำรำพันถึงความงาม ความดี ความโชคดีของตัว ของครอบครัว ที่สามารถได้ม้าตัวนี้มา พ่อก็บอกว่า มีเสียในดี มีดีในเสีย และพ่อก็จะพูดด้วยเฉยๆ อย่างนี้ วาจาของพ่อนี่ เฉยๆ ไม่มีอาการตื่นเต้น สงบ นิ่งอยู่เสมอ มีเสียในดี มีดีในเสีย ข้างลูกเมียก็รำคาญ ก็นี่มันดีแท้ๆ ก็ม้าตัวนี้นี่มันดีแท้ๆ แล้วจะว่ามันไม่ดีได้ยังไงล่ะ แล้วจะพูดว่ามีดีในเสีย มีเสียในดี ไม่กี่วันนะคะ ม้าตัวนั้นก็หายไป หายไปเฉยๆ ก็แหม เที่ยวตามหาเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ ตอนนี้ก็เดาได้นะ จิตตก คือลูกกับเมียจิตตก โธ่ ม้าของเราดีๆ สวยๆ งามๆ ได้มาไม่กี่วันเลย มันหายไปไหนนะ แหม โชคร้ายจริงๆ เห็นไหมคะ โชคดีอยู่ไม่กี่วัน เออ โชคร้ายจริงๆ มันหายไปไหน ก็นึกออก พ่อได้ยินเข้าจะพูดว่าอย่างไร มันก็มีดีในเสีย มันก็มีเสียในดี เห็นไหม ก็พูดอยู่อย่างนี้ นี่ก็ฟังไม่รู้เรื่อง ทั้งลูกทั้งเมียฟังไม่รู้เรื่อง รำคาญ ต่อมาไม่กี่วัน เจ้าม้าตัวนั้นกลับมา พร้อมกับพาม้าตามมาอีกหลายตัวเลย ม้าจากในป่านั่นน่ะ มันก็พามาเป็นเพื่อนอีกหลายตัว ก็แน่นอนล่ะ ลูกกับเมียนี้ก็ตื่นเต้น แหมดูสิ โอ้โห ม้าตัวนี้ของเรานี่นะ มันเป็นม้าเก่ง ม้าฉลาด ดูสินี่ มันไปพาพรรคพวกอีกตั้งเยอะแยะเลย จากในป่า แหม ก็ตื่นเต้นดีใจในโชควาสนา ที่ได้ม้า ม้างามกลับมา และยังได้ม้าอื่นตามมาอีกด้วย ก็พร่ำรำพันความโชคดีของตัว ก็แน่นอน ถ้าพ่อฟังแล้วก็ โอ๊ย มันมีเสียในดี มันมีดีในเสีย ก็ยังฟังไม่รู้เรื่องอย่างนั่นเองนะคะ ทีนี้ลูกชายก็รู้สึกว่า แหมเรามีม้าตั้งหลายตัว ก็อยากจะหัดขี่ม้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็จะพยายามขี่ม้าอาชาไนยตัวนั้นให้ได้ ม้าดี มันก็ต้องรู้จักเลือกคนขี่ ใช่ไหมคะ เพราะมันมีสติปัญญา มันก็ต้องรู้จักเลือกคนขี่ แล้วมันก็มีความฉลาดพอที่จะรู้ว่า คนที่จะมาขี่หลังเรา ขี่เป็นหรือเปล่า สามารถจะบังคับเราได้ไหม เพราะฉะนั้นพอเจ้าลูกชายซึ่งไม่เคยขี่ม้า ไม่มีฝีมือในการขี่ม้า เก้งก้างเข้าไปใกล้ แล้วก็พยายามจะจับจะฟัด และก็จะขึ้นหลังมันให้ได้ ก็ขึ้นได้นิดนึง มันก็สลัดลงมา ตกอย่างไม่เป็นท่า ปรากฎว่าขาหัก แน่นอน ทั้งลูกทั้งเมียจะเป็นยังไง เสียใจ โอ๊ยทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ มันดุร้ายอย่างนี้ มันเกเรอย่างนี้ มันสลัดเอาลูกชายตกลงมาขาหักเลย แล้วก็ไปรักษา รักษามันก็หาย คือกระดูกมันก็ติด แต่กลายเป็นคนขาเป๋ ก็แหม ยิ่งเสียใจ ยิ่งเจ็บใจไปใหญ่ พ่อก็คงพูดประโยคเดิม มีดีในเสีย มีเสียในดี ก็อยู่ไปหลายปีนะคะ ต่อมาลูกชายก็ถึงคราวอายุเกณฑ์ทหาร ๒๐ ปีจะต้องเกณฑ์ทหาร ก็แน่นอนล่ะ แม่ก็ไม่อยากให้ลูกจากไป จะต้องไปเป็นทหารลำบากอยู่ไกล แหมเวลาถึงคราวเกณฑ์ทหารเข้าก็จิตใจตุ้มๆ ต่อมๆ ไม่อยากเลย ก็พอถึงเวลาไปเกณฑ์ทหารเข้า ก็ปรากฏว่าเขาก็ไม่รับ เพราะใครเขาจะอยากได้คนขาเป๋ไปเป็นทหารใช่ไหมคะ แหม แม่ก็ดีอกดีใจใหญ่เลย เห็นไหมคะ มีดีในเสีย มีเสียในดี ไม่ได้มีอะไรดีทั้งหมด ไม่ได้มีอะไรเสียทั้งหมด ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านจะบอกว่า ดูให้ดี มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น จะทำให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกว่า เราได้มันก็เท่านั้นเอง เราเสียมันก็เท่านั้นอง เพราะมันจะมีอาการสับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้เสมอๆ
เพราะฉะนั้นนิทานชาวบ้านเรื่องนี้ ให้คติอะไรแก่เราบ้าง นึกออกไหมคะบรรดาลูกหลานทั้งหลาย ได้คติอะไรบ้างนิทานชาวบ้านเรื่องนี้ อันแรกที่สุดทีเดียว เตรียมใจเรา ให้เป็นไงคะ ไม่ประมาท ใช่ไหมคะ จะได้อะไรมา มากมายแค่ไหนก็ตาม อย่าเพิ่งดีใจ อย่าเพิ่งยึดมั่นว่าจะได้อย่างนี้ตลอดไป เพราะมันมีดีในเสีย มันมีเสียในดี มันเปลี่ยนได้ มันได้มาแล้ว มันก็เสียไปได้ ไม่ว่าจะได้คน ได้ข้าวของ ได้อำนาจ ได้ตำแหน่ง ได้ทรัพย์สินเงินทอง เราก็ผ่านชีวิตมา เราก็มองเห็น ไม่มีอะไรคงที่ มันเปลี่ยนได้ นี่ก็เรียกว่า เตือนไม่ให้ประมาท เมื่อไม่ประมาท มีสติ ก็จะมีความเป็นปกติ เกิดขึ้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม เพราะฉะนั้นกิเลส จะไม่สามารถเข้ามารบกวนในอารมณ์ได้ นอกจากนั้น นิทานชาวบ้านธรรมดานี่ ยังจะแนะนำเรา ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า เป็นกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติก็คือกฎที่เกิดขึ้นตามสัจธรรมของธรรมาติ สัจธรรมก็คือความจริงที่ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง คำว่าไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงนั้นหมายความว่า ไม่มีสิ่งใดจะไปทำให้อนิจจังนั้นเปลี่ยนเป็นอื่นตามใจของเราได้ มันจะต้องเป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้น ตลอดไป เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นสัจธรรม ที่มันเกิดแล้วมันก็ดับๆ ไม่มีอะไรที่จะดีอยู่ตลอดไป ไม่มีอะไรที่จะชั่วอยู่ตลอดไป ลองนึกดูซิคะว่า อย่างนักเรียนนี่ อยู่ในวัยที่รักเพื่อน แล้วก็มีเพื่อน ลองนึกดูซิว่า เพื่อนรักกันในวันแรกที่เราพบในโรงเรียน จนเดี๋ยวนี้ ยังเป็นเพื่อนรักอยู่สม่ำเสมอหรือไม่ หรือคนที่เราพบหน้าทีแรกเราเกลียดขี้หน้า จะไม่สามารถเป็นเพื่อนได้เลย แล้วกลับมาเป็นเพื่อน มีไหม นี่แหละค่ะ มันแสดงถึงความเป็นอนิจจัง ทีนี้ ลักษณะที่สองของไตรลักษณ์ก็คือทุกขัง ทุกขังของไตรลักษณ์ก็หมายถึงความทนอยู่ไม่ได้ มันจะทนอยู่ในสภาพเช่นนั้น เป็นอย่างนั้น อยู่ไม่ได้ เพราะอะไร ก็เพราะเหตุว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จะให้มันคงทนอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น อยู่ได้ตลอดไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงถึงทุกขัง สภาวะของทุกขัง อย่างเราจะเห็นได้ถึงร่างกาย สภาพของร่างกาย ของสังขารนี้ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง จากทารกจนกระทั่งมาถึงวัยรุ่น จนกระทั่งมาถึงผู้ใหญ่ จนกระทั่งถึงมาเป็นผู้มีอายุ มันจะต้องแสดงถึงสภาพของความทนอยู่ไม่ได้ ที่จะทนเป็นเด็กเล็ก น่ารัก อยู่ในวัยแข็งแรงกระฉับกระเฉง อยู่ในวัยฉกรรจ์ มันจะคงทนอยู่อย่างนั้นไม่ได้ มันจำเป็นที่จะต้อง ไม่อยู่ได้เพราะอะไร เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อได้มองเห็น ได้ศึกษา ทีละน้อย ละน้อย จนกระทั่งเข้าใจถึงสภาวะของอนิจจัง เข้าใจถึงสภาวะของทุกขัง ไม่ช้าก็จะซึมซาบ ถึงสภาวะของความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรับสั่งว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆ ตัวตนที่มองเห็นที่จับต้องได้นี้ มันหาใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ เพราะถ้าเป็นตัวตนจริงๆ มันย่อมจะไม่เปลี่ยนแปลง เราย่อมจะควบคุมมันได้ นี่ทำไม ความกระฉับกระเฉงมันถึงหายไป แข้งขาที่มันเคยอ่อนนุ่มนวล จะยืดหยุ่นอย่างไรก็ได้ แต่นี่ทำไมมันถึงแข็ง ทำไมมันถึงปวด ทำไมมันถึงขยับเขยื้อนไม่ค่อยจะได้ ผิวพรรณที่เคยเกลี้ยงเกลา ทำไมมันถึงเริ่มเหี่ยวย่น นี่มันแสดงถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆ ของเรา ซึ่ง ตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ นี่นะคะ ก็ชอบแนะนำว่า ลองหยิบเอาภาพถ่าย ภาพถ่ายที่เคยถ่ายตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และก็มาเรียงแถวเข้า มาเรียงแถวตั้งแต่ภาพที่หนึ่งจนกระทั่งถึงภาพสุดท้าย เหมือนกันไหมคะ ไม่เหมือน และปฏิเสธไหมคะว่า ปฏิเสธได้ไหมว่า นี่ไม่ใช่คนคนเดียวกัน นี่ไม่ใช่ฉัน ปฏิเสธได้ไหม ปฏิเสธไม่ได้ อุ๊ย ตอนนั้นนี่น่ารัก แก้มยุ้ย ตานี่ใสแจ๋ว มองดูแล้ว น่ารัก น่าเอ็นดู น่าอุ้ม เหมือนลูกแมวเปอร์เซีย น่ารักจริงๆ เอ๊ะ แล้วเดี๋ยวนี้ ทำไมถึงมีแต่ยายแก่ มันกลายเป็นยายแก่ เส้นเอ็นนี่แหมขึ้นเป็นรากไทรเชียว ถ้ามองดูที่มือ หรือจะมองดูที่แขน หรือมันเป็นที่คอ เหมือนเป็นรากไทร ไม่สวยเลย ถึงจะไปแก้ไขยังไงๆ มันก็หนีไม่พ้น ผลที่สุดมันก็กลับมาที่เดิม เห็นไหมคะ เราปฏิเสธไม่ได้ แล้วเราจะเอาตัวตนจริงๆ เราจะชี้เข้าไปที่รูปไหน เราจะบอกว่านี่ตัวตนจริงๆ ยิ่งเวลาเกิดอุบัติเหตุ อย่างเช่นอุบัติเหตุเครื่องบินตกลงไปในทะเล จมลงไป เมื่อหลายปีมาแล้วนี่ แล้วเสร็จแล้วก็ ประดาน้ำก็ลงไปงมในทะเลนั่น พองมขึ้นมา ก็จะได้ขามาท่อนนึงบ้าง ได้ตัวบ้าง ตับไตไส้พุงบ้าง ได้มือบ้าง แล้วบรรดาลูกเมียญาติมิตร พ่อ แม่ ก็จะไปคอยชี้ นี่แหละใช่แน่ ขาอันนี้ใช่แน่ ข้อมืออันนี้ใช่แน่ ใช่แน่เพราะจำได้มีนาฬิกาผูก อันนี้ หัวอันนี้ใช่แน่ เพราะว่าถูกปลาตอด ถูกอะไรต่างๆ แล้วด้วยความรัก ด้วยความยึดมั่นในรูป ก็จะต้องขอว่าหยิบเอามา หัวนี้ ตัวนี้ ขานี้ แขนนี้ ต่อกันเข้า นี่แหละ คือพ่อของฉัน สามีของฉัน ภรรยาของฉัน ลูกของฉัน เพื่อนของฉัน จริงหรือเปล่า ไม่มีใครสามารถจะชี้ได้ หรือพิสูจน์ได้ เพราะอาจจะเป็นตัวที่สมมติว่าเป็นคนๆ นี้ แต่ขามันอาจจะเป็นอีกของคนนึงก็ได้ แต่เพราะอยากจะให้เป็น นี่ค่ะ จะมองเห็นชัดเลยว่า สภาวะของอนัตตานี่ มันก็แสดงอยู่ทุกขณะ แต่เพราะความรัก ความรักในรูปนี้ ในตัวนี้ ไม่อยาก ไม่อยากจะยอมรับ ว่ามันเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงมีความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ในความเป็นของฉัน แล้วก็ทิ้งไม่ได้ ยอมไม่ได้ นี่ก็คือเป็นอุปสรรค อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นอนัตตา หรือเข้าถึง เข้าใจ ความเป็นอนัตตาได้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ถ้าจะถามว่าอะไรคืออุปสรรค ที่จะทำให้มนุษย์เราไม่สามารถเข้าถึงความเป็นอนัตตาได้ คำตอบก็คือความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ตัวตนอันนี้ ว่า “เป็นฉัน” แล้วก็เป็นของฉัน อยู่ตลอดเวลา แน่นอนที่สุด เมื่อมีตัวฉันเกิดขึ้น มันก็ต้องมีของฉันตามมา เมื่อเด็กๆ เล็กๆ ของฉันก็ไม่กี่อย่างหรอก เพราะยังไม่มีปัญญา จะหาได้เอง แต่พออายุมากขึ้น ของฉันนี่แหมมันก็ทวีเพิ่มพูน เอาเกวียนมาขนก็ไม่พอ เอารถมาขนก็ไม่พอ เอาเทรลเลอร์มาขนก็ไม่พอ มันมาก มากเหลือเกิน แล้วก็เมื่อมากเข้านี่ เจ้าของเป็นยังไง หนัก หนัก เหน็ดเหนื่อย แบบไม่ไหว จะนอนก็ห่วง จะตื่นก็ห่วง จะไปไหนก็ห่วง จะทำอะไรๆ ก็ห่วง เพราะฉะนั้นจิตใจนี้ไม่มีความเป็นปกติ ไม่มีความสุขเลย ฉะนั้นอุปสรรคที่ขัดขวาง การเข้าถึงอนัตตา ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา มันเป็นความน่าเกลียด น่าเกลียดเพราะอะไร เพราะมันส่งเสริมให้เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้น โดยไม่รู้ตัว
ก็อยากจะเล่านิทานชาดกให้ฟังสักเรื่องนึง เคยได้ยินไหมค่ะ เรื่องลิงล้างหู เคยได้ยินไหมคะ เรื่องลิงล้างหู ก็ในชาดกนี้นะคะ ก็เล่าถึง ในป่าแห่งหนึ่ง มีฝูงลิงอยู่มาก เยอะแยะเชียว และก็พญาลิงนี่ มีรูปร่างงามมาก แล้วก็เล่าว่าเป็นลิงโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้นจึงฉลาดมีปัญญาหลักแหลม แล้วก็ขนนี่ ขาว นุ่ม มองดู เป็นปุยไปทั้งตัว เป็นลิงที่มีความงามมาก ก็เป็นที่เลื่องลือ ไปว่า ในป่านี้ มีลิงที่งดงามมาก พวกพรานก็อยากจะมาได้ลิง พญาลิงตัวนี้ไป เพราะเชื่อว่าถ้าได้ แล้วก็นำไปถวายพระราชาจะต้องได้รับรางวัลมากมายก่ายกอง ก็มีนายพรานพยายามที่จะมาจับพญาลิงตัวนี้ให้ได้ และพญาลิงนี่ก็ด้วยความฉลาด และก็ด้วยความรักบริวาร ลูกน้อง ด้วยความเสียสละก็รู้ว่า ถ้าหากว่าจะขัดขืน ซึ่งจะหลบหนีอย่างไรก็สามารถจะทำได้ แต่ก็ด้วยความรักบรรดาบริวาร ถ้าหากว่าไม่ยอมให้พรานจับตัวไปล่ะก็ แน่นอนพรานจะต้องหาโอกาส มารังแก เบียดเบียนบรรดาลูกน้อง จนเจ็บป่วย ทำร้ายกันก็ได้ ผลที่สุด พญาลิงตัวนี้ก็ยอมให้...